foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan governance

ระบอบการปกครองบ้านเมือง อันเป็นกติกาควบคุมสังคมสมัยเก่านั้น คนไทยทางภาคกลาง หรือทางใต้ ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกมาก เพราะยึดถือหลักจากคัมภีร์พระมนู พระธรรมศาสตร์ ของสังคมชาวอินเดีย โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่มาจากทางด้านนี้ มักจะโน้มไปในทางจิตนิยม หรือเชื่อในสิ่งที่สมมติกันขึ้นมา เช่น นรก สวรรค์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไม่เคยเห็น

ส่วนระบอบการปกครองของชาวลาว และชาวอีสานสมัยเก่านั้น ยังมีอิทธิพลของความเชื่อดั้งเดิม ตกทอดมาจากทางเหนืออยู่มาก โดยเฉพาะอิทธิพลแบบจีน ซึ่งมักจะโน้มไปในทางวัตถุนิยม หรือเชื่อในสิ่งที่เคยเห็นคุณเห็นโทษมาแล้ว เช่น บิดา มารดา บรรพบุรุษ วีรบุรุษ ผู้ที่ล่วงลับ ตายเป็นผีไปแล้ว ได้รับการยกย่องเชิดชูมาก จนมีการเซ่นไหว้บวงสรวงกันหลายระดับ

(จารุบุตร เรืองสุวรรณ. ของดีอีสาน : หน้า 147)

isan people 1

ถึงแม้คนไทยทางใต้กับทางภาคอีสาน จะเป็นศิษย์ของชาวชมพูทวีปด้วยกัน แต่ลักษณะการปกครองของคนไทยใต้นั้น ค่อนไปในแบบที่ใช้ประมวลกฎหมายคล้ายฝรั่งเศส เช่น การใช้กฎหมายตราสามดวง ส่วนชาวอีสานนั้นไม่ปรากฏว่า มีประมวลกฎหมาย ข้อบังคับหรือกติกาของสังคมส่วนใหญ่ ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายแบบของอังกฤษ เผ่าชนซึ่งอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขงสมัยเก่า ใช้ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเครื่องมือ หรือวิธีการปกครองบ้านเมือง มากกว่าเผ่าชนทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกประเทศในสมัยเก่านั้นปกครองแบบราชาธิปไตย ซึ่งมีโครงสร้างหรือองค์กรฝ่ายปกครองดังนี้

ต่เดิมราษฎรหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งบ้านเรือนภูมิลำเนากระจัดกระจายกันอยู่ ยังไม่เป็นหลักแหล่งมั่นคง อยู่ห่างกันด้วยการเดินทาง 1 คืนบ้าง 2 คืนบ้าง บางแห่ง 4-5 คืน บรรดาหัวเมืองที่มีชื่ออยู่เวลานั้น เช่น เมืองสุรินทร์ กาฬสินธุ์ สังฆะ (สังขะ) ฯลฯ เหล่านี้ ก็เคยเป็นบ้านๆ หนึ่งมาก่อน ซึ่งมีผู้คนอยู่มากหลายสิบหลังคาเรือน และผู้คนซึ่งในบ้านนั้นค่อนข้างจะมั่งคั่งด้วยทรัพย์สิน มีสติปัญญาดี มีผู้คนนับถือมากกว่าคนอื่นๆ บรรดาที่อยู่ใกล้เคียงก็พากันมาร่วมขอร้องกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์อันตนได้ขึ้นอยู่ เพื่อทรงโปรดฯ อนุมัติตั้งบ้านขึ้นเป็นเมือง เช่น เมืองกาฬสินธุ์ เดิมก็ชื่อ "บ้านแก่งสำโรง" ผู้นำหรือผู้ปกครองเมือง ก็เรียกว่า "เจ้าเมือง" บางเมืองก็ตั้งมานานเป็นร้อยๆ ปี บางเมืองก็มาตั้งในภายหลัง ถือว่าเป็นเมืองธรรมดาเพราะเป็นเมืองมิได้มีกษัตริย์ปกครองมาก่อน

ส่วนเมืองที่มีกษัตริย์หรือมีเจ้าปกครองมาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่น หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ก็ยกเป็นนครใหญ่ เมืองรองลงมาก็เรียกเป็น เมืองเอก เมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวา โดยมี เจ้าเมือง ปกครอง การปกครองชนชาวอีสานหรือชาวตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้สืบเป็นจารีตประเพณีมาแต่โบราณนั้น เจ้าผู้ครองนคร นับเป็นตำแหน่งที่ 1 รองลงมาตำแหน่งที่ 2 เรียก เจ้าอุปราช (หรือ เจ้าอุปฮาด) เจ้าราชวงศ์ เป็นตำแหน่งที่ 3 เจ้าราชบุตร เป็นตำแหน่งที่ 4 (จากตำแน่งที่ 4 ถอยหลังถึงตำแหน่งที่ 2 อาจได้รับเลื่อนขึ้นโดยลำดับจนถึงผู้ครองนคร ตำแหน่งที่ 1 ก็ได้)

ครั้นมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวางระเบียบแน่นอน ให้ผู้ครองนครเป็นเจ้าตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าด้วย จึงทรงพระราชดำริตั้งฐานันดรศักดิ์ใหม่ขึ้นอีก ซึ่งเป็นตำแหน่งลูกเธอหลานเธอดังนี้

1. เจ้านคร          2. เจ้าอุปราช            3. เจ้าราชวงศ์                 4. เจ้าบุรีรัตน์
5. เจ้าราชบุตร    6. เจ้าราชภาคิไนย   7. เจ้าราชสัมพันธวงศ์

ถ้าเป็น เมืองเอก เมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวา ตำแหน่งเจ้าเมืองก็เรียกเพียง พระ เช่น พระนั่น พระนี่ ตามในสัญญาบัตร แต่ถ้าเจ้าเมืองนั้นๆ มีความชอบสามารถในราชการบ้านเมืองเป็นพิเศษ อาจได้รับพระราชทานบรรดาศุกดิ์เป็นชั้น พระยา ก็ได้ เช่น พระยาสุนทรธรรมธาดา (คำสิงห์) เจ้าเมืองโพนพิสัย พระยาขัติยวงศา (เหลา) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด หรือ พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์ เป็นต้น แต่เป็นการโปรดเกล้าฯ เฉพาะตัว

การพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่เจ้าเมืองต่างๆ ส่วนมากโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทินนามตามชื่อหรือมีความหมายถึงเมืองนั้นๆ เป็นตำแหน่งประจำ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้ หลวงภักดีจำนงค์ (พรหม) เป็น พระมโนจำนง เจ้าเมืองมโนไพร หรือให้ ท้าวเพ บุตรท้าวเชียง เป็นที่ พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาร เป็นต้น

ส่วนตำแหน่งของเมืองรองจาก เจ้าเมือง ก็เรียก อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ไม่มีคำว่า เจ้า นำหน้า นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งบุคคลผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในราชการเป็นความชอบพิเศษจริงๆ มีความสามารถสู้รบจับศึกมีชัยชนะ เมื่อตีบ้านเมืองได้แล้วก็มีใบบอกมายังกรุงขอถวายเมืองที่ตีได้เป็นขอบขัณฑสีมา ในกรณีเช่นนี้ก็อาจจะสถาปนาขึ้นเป็น เจ้า ก็ได้ เช่น พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) และทรงตั้ง เจ้าหน้า (พี่ชายพระประทุมฯ คำผง) เป็น พระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัติยราช มีความชอบตั้งแต่ครั้งปราบเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 และปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว บ้านเขาโอง โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี และก็มีเทือกแถวเป็นราชสกุลวงศ์อยู่แล้วเป็นประเทศราช และเจ้านครจำปาศักดิ์ประเทศราช ที่ได้กล่าวมาแล้ว

หรือเช่น เจ้าราชบุตร (คำ) เมืองอุบลราชธานี มีเครื่องราชอิสริยยศหมวกตุ้มปี่ กระบี่บั้งทอง เหมือนเจ้าราชบุตรทุกประการ แต่เทือกแถวยังคงเป็น ท้าว ดังนี้เป็นต้น และทั้ง 3 ตำแหน่งดังกล่าวนี้ก็อาจเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองในตำแหน่งที่ 1 ได้

ตำแหน่งการปกครองในหัวเมืองโบราณอีสาน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเมือง กอปรด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร 4 ตำแหน่งนี้เรียกว่า อาญาสี่ (หรืออาชญาสี่) และต้องแบ่งเขตแคว้นเมืองที่ตนปกครองออกเป็น 4 กอง คือ กองเจ้าเมือง กองอุปฮาด กองราชวงศ์ และกองราชบุตร แล้วก็ประกาศให้ราษฎรมาขึ้นสำมะโนครัวในกองทั้ง 4 ตามสมัครใจ ส่วนหัวเมืองนอกหรือกองนอกที่ขึ้นเมืองใหญ่ ก็จัดการปกครองเช่นเดียวกับหัวเมืองใหญ่

คำว่า กองนอก คือกำลังเตรียมภูมิลำเนาเกลี้ยกล่อมให้ราษฎรเข้ามาสมัครพอสมควรที่จะตั้งเป็นเมืองได้ ก็ขอตั้งเป็นเมืองต่อไปได้

ที่มา : ประวัติศาสตร์อีสาน โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ (289:2546)

bulletตำแหน่งในเมืองหลวง

เมืองหลวง ซึ่งเป็นเอกราชหรือเป็นประเทศราช จะมีตำแหน่งต่างๆ เรียกตามลำดับดังนี้

  1. ประมุขของรัฐ มีฐานะเป็นกษัตริย์ ดังนั้นจึงใช้คำนำหน้าว่า "พระเจ้า"
  2. อุปฮาด (อุปราช) เป็นตำแหน่งรองของกษัตริย์
  3. ราชวงศ์ เป็นตำแหน่งอันดับสาม
  4. ราชบุตร เป็นตำแหน่งอันดับสี่
    ตำแหน่งในอันดับ 2 - 3 - 4 นี้เป็นเชื้อพระวงศ์มีคำนำหน้าว่า "เจ้า"
  5. เมืองแสน
  6. เมืองจันทน์
    สองตำแหน่งนี้ส่วนมากทำหน้าที่เกี่ยวกับต่างประเทศหรือต่างเมือง และกิจการสำคัญ เช่น การรักษาความสงบตลอดจนตุลาการ
  7. เมืองขวา
  8. เมืองกลาง
  9. เมืองซ้าย
    สามตำแหน่งนี้ รักษาบัญชีกำกับการสักเลข (เกณฑ์ไพร่พล) ดูแลวัดวาอาราม ออกคำสั่งให้กักขัง - ปล่อยนักโทษ
  10. เมืองคุก
  11. เมืองฮาม
    สองตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่พัสดีเรือนจำ
  12. นาเหนือ
  13. นาใต้
    สองตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่ฝ่ายพลาธิการ เก็บส่วยภาษีอากร
  14. ซาเนตร
  15. ซานนท์
    สองตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่เลขานุการของเมืองแสน เมืองจันทน์
  16. ซาบัณฑิต ทำหน้าที่อ่านโองการ ท้องตราและประการอื่นๆ รวบรวมบัญชีรายงาน คำนวณศักราชปีเดือน
    ตำแหน่งในอันดับ 5 - 16 นี้ ถือว่าเป็นขุนนางชั้นเสนาบดีหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มีคำ นำหน้าว่า "พญา" (พระยา)

bulletตำแหน่งในหัวเมืองต่างๆ

มีโครงสร้างหรือองค์การเป็นแบบเดียวกับในเมืองหลวง แต่อาจจะเรียกชื่อต่างกันไปบ้าง คือ ประมุข หรือ หัวหน้า เรียกว่า เจ้าเมือง อุปราช เรียกว่า อุปฮาด ตำแหน่งในอันดับ 1 ถึง 4 ดังกล่าวข้างต้นมักจะเป็นเชื้อสายหรือวงศ์ญาติของเจ้าเมืองเอง ตำแหน่งในอันดับ 5 ถึง 16 เป็น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเมือง เป็นคณะกรรมการเมือง หรือ ตำแหน่งประจำ มีคำนำหน้าว่า "เพีย" (ไม่ใช่ เพี้ย เพราะในภาษาอีสาน ขี้เพี้ย คือขี้อ่อนวัว-ควายและไม่ใช่ เพลี้ย ที่หมายถึงแมลงศัตรูพืช) คำว่า พญา คือ เพีย นี้ก็คงมีที่มาจากคำว่า เพียร และ พีระ ตรงกับคำว่า พระยา ของคนทางใต้

ถ้าหากเมืองใดมีงานมาก อาจจะแต่งตั้งตำแหน่งพิเศษเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งจะมีคำนำหน้า ชื่อว่า เพีย ทั้งนั้น เช่น เพียนามเสนา เพียมหาเสนา เพียจันทรยศ เพียซามาตย์ เพียซานุชิต เพียแก้วดวงดี เพียสุวรรณไมตรี เพียอรรควงศ์ เพียเนตรวงษ์ เพียวุฒิพงษ์ เป็นต้น

อุปฮาด คำศัพท์ที่มาจาก อุปราช ด้วยคนอีสานออกเสียง ร. เป็น ฮ. จากราชจึงกลายเป็น ฮาด (แต่ไม่ได้สะกดเป็น ฮาช ด้วยเหตุผลใด ยังไม่มีที่มาครับ)

isan people 3

bulletตำแหน่งในชุมชนเล็ก

  1. ท้าวฝ่าย หรือ นายเส้น เทียบกับตำแหน่งนายอำเภอ
  2. ตาแสง คือ นายแขวง เทียบกับตำแหน่งกำนัน
  3. นายบ้าน หรือ กวนบ้าน เทียบกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน
  4. จ่าบ้าน เป็น ผู้ใหญ่บ้าน อาจจะมีหลายคนก็ได้
ขอขอบคุณ : ผศ. สุระ อุณวงศ์ ให้ข้อมูล

isan people 4 

การปกครองบ้านเมืองให้สงบสุข ร่มเย็นเป็นสุข นั้น ผู้ปกครองบ้านเมืองที่มีอำนาจ พระสงฆ์ และประชาชนทั่วไปจะต้องมีความสามัคคีกัน ยึดเหนี่ยวในจารีตประเภณีอันดีงาม ที่เรียกว่า "ฮีต 12 คอง 14" นอกจากนั้นยังปฏิบัติตามข้อห้าม "คะลำ" หรือ "ขะลำ" ซึ่งถือว่าเป็นข้อห้ามไม่ให้ประพฤติปฏิบัติ เพราะถ้าใครปฏิบัติฝ่าฝืนข้อห้ามนั้นจะเป็นอันตรายหรืออัปมงคลแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ข้อห้าม (คะลำ, ขะลำ) ดังกล่าว หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามไม่ถือว่าผิดกฎของสังคม เพราะการจะปฏิบัติตามหรือไม่นั้น ผลย่อมตกอยู่กับผู้ไม่ปฏิบัติตามนั่นเอง เช่น นั่งขวางประตูบ้าน บันได ขะลำ หรือ สามีไม่อยู่บ้าน ภรรยาใส่เสื้อแดง คะลำ เป็นต้น

การปฏิบัติตามข้อบัญญัติหรือข้อกำหนดของสังคม หรือที่เรียกว่า "กฎหมายบ้านเมือง" ซึ่งถือว่าเป็นข้อบังคับที่ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติ หากฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษหรือปรับไหม การลงโทษจะมีหลายลักษณะ เช่น การเสียค่าผี หรือเสียค่าปรับตามระบิลเมือง การชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งนี้เพื่อทำให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมเป็นไปอย่างสงบสุข ซึ่งข้อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวนี้ จะออกมาในรูปลักษณะขนบธรรมเนียมประเพณี จึงไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นข้อตกลงที่คนในสังคมยอมรับร่วมกัน ผู้อาวุโสในสังคมจะเป็นผู้ตัดสิน หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้นายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ตาแสง (กำนัน) หรือเจ้าเมืองกรมการ เป็นผู้ตัดสิน

กฎหมายโบราณอีสาน

กฎหมายโบราณอีสาน โดยมากจะเป็นเรื่อง "คองของคนทั่วไป" ซึ่งจะประกอบด้วยเรื่องของสามี ภรรยา นอกจากนี้ยังมีประเด็นชู้สาว และการสู่ขอ ซึ่งได้กำหนดสินสอดในจำนวนแตกต่างกันไปตามสถานะระดับทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น

“ถ้าราชตระกูลเดียวกันกับผู้ชายหากพูดจาสมัครรักใคร่ ได้จับมือถือนิ้วผู้หญิงลูกสาวท่านให้เอา ๒ บาท ถ้าจับนมชมแก้ม ให้เอาตำลึง ๑ ถ้าใครเถิงส่ำเลาบ่มีลูกให้เอา ๒ ตาลึง ถ้าเถิงส่ำเลามีลูกบ่ปลูกแปลงให้เอา ๗ ตำลึง ถ้าปลูกแปลงให้มีสินสู่ ๒ ตำลึง คำเบี้ย ๑ แล้วให้สำแดงเฮือนตามอย่างทุกข้อ” และ “ถ้าราชกูลลูกหลานพระยาแลลูกเสนาทามาส ไปขอลูกหญิงเสนาอามาสผู้ใหญ่ให้มีสินสู่ ๖ ตำลึง ถ้าล่วงประเวณีเข้าไปนอนอยู่กับลูกหญิงหลานหญิงเสนาอามาส จะให้อยู่กับด้วยกัน ให้เอาเงิน ๓ ตำลึง ถ้าผู้ชายบ่สมัครผู้หญิงบ่มีลูกให้เอา ๔ ตำลึง ถ้าหญิงมีลูกให้เอา ๓ ตำลึง ๒ บาท ถ้าสู่ขอลูกหญิงหลานหญิงเสนาอามาสผู้น้อยกว่านั้น ให้.......”

(กฎหมายโบราณวัดดาวดึงส์. ลาน 9 หน้า 1.)

ประโยคข้างต้นได้กำหนดค่าปรับไหม (ค่าปรับ) ในกรณีที่ชายหญิงในราชตระกูลเดียวกันได้จับมือลูกสาวท่าน ให้ปรับ 2 บาท ถ้าอนาจารและล่วงเกินร่างกายสตรีจะถูกปรับ 1 ตำลึง ถ้ากระทำชำเราสตรีแต่ไม่มีบุตรจากการกระทำดังกล่าว ปรับ 2 ตำลึง ถ้ากระทำชำเราแล้วมีบุตร แต่ไม่รับผิดชอบ ปรับ 7 ตำลึง ถ้ารับผิดชอบให้มีสินสอด 2 ตำลึง เงิน 1 เบี้ย แล้วให้ทำตามอย่างประเพณีการอยู่กันฉันท์สามีภรรยา

และอีกบทบัญญัติหนึ่งกล่าวว่า ถ้าลูกหลานท้าวพระยาไปสู่ขอลูกสาวของอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ ให้มีสินสอด 6 ตำลึง แต่หากอยู่กินฉันสามีภรรยาแล้วจะแต่งงานกันให้ปรับ 3 ตำลึง หากไม่พร้อมที่จะสมรสกัน แล้วฝ่ายหญิงก็ยังไม่มีบุตร ให้ปรับ 4 ตำลึง ถ้าหญิงมีบุตรให้ปรับ 3 ตำลึงกับอีก 2 บาท บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ค่าปรับในกรณีที่ทาผิดประเพณีก็จะมีราคาที่แตกต่างกันออกไปตามสถานะทางสังคม สภาพเศรษฐกิจของแต่ละบุคคล ค่าสินสอดก็เป็นเช่นลักษณะเดียวกัน

isan wedding

กฎหมายโบราณยังให้ความชอบธรรมแก่ผู้ถูกปกครอง โดยประเด็นหัวข้อราชการบ้านเมืองในกฎหมายโบราณฉบับวัดดาวดึงส์ ได้กล่าวไว้ว่า

เจ้าขุนมูลนายก็ดี อย่าได้เบียดเบียนไพร่บ้านพลเมือง ยามไร่ยามนาให้วางไพร่เมือหาไร่นาหานา
อย่าเอาไปฮักเฮื้อไว้ ”

ความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในสมัยโบราณ นอกจากชนชั้นผู้นำมีความสาคัญแล้ว ชนชั้นผู้ถูกปกครองก็ไม่ได้ถูกกดขี่มองข้ามแต่ประการใด เมื่อถึงฤดูกาลก็ให้อิสระในการกลับไปประกอบอาชีพกสิกรรมเช่นเคย สังคมในสมัยก่อนอาศัยอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงให้ความสาคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

นอกจากนี้กฎหมายโบราณยังมีประเด็น "สัตว์เหยียบย่ำพืชผล" ปรากฏความว่า

“เถิงเทศกาลปีใหม่เดือน ๗ ให้เสนาอามาสออกป่าวร้อง นายหมวดกอง นายคุ้ม และตาแสงนายบ้าน ในขอบเขตคันทะสีมาทั้งปวง แก่ผู้มีช้างม้า โคกระบือ ให้จับมัดผูกเลี้ยงไว้ อย่าปะปล่อยทิ้งไว้แรมคืน ไปกินข้าว พิดชะเครื่องปลูกของฝัง ไร่นา รั้วสวน ของท่านใดผู้หนึ่งได้เป็นอันขาดทีเดียว ถ้าเชือกขาดปอกขาดไปกินของท่านครั้งหนึ่ง ให้เจ้านาจับเอาช้างม้าโคกระบือไว้ เจ้าของสัตว์มาขอ ให้ขืนแก่เจ้าของสัตว์สาก่อน ถ้าพิดชะเครื่องปลูกของฝังเสียน้อยมากทอใด ให้ใส่เสียตามมากน้อย ค้าข้าวของของเถิงครั้งนึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง เจ้าไร่นาบ่ส่งสัตว์นั้นให้แก่เจ้าสัตว์ หากชักย้อเอาสัตว์ไว้ ถ้าสัตว์อันตรายตาย ให้เจ้าไร่นาใส่ค่าสัตว์ท่าน ตามอย่าง”

(กฎหมายโบราณวัดดาวดึงส์. ลาน 12 หน้า 1.)

บทบัญญัตินี้ สะท้อนให้เห็นถึง "การปลูกพืชผล" เป็นสิ่งที่กฎหมายโบราณให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถึงขนาดบัญญัติไว้ให้เป็นความผิดแก่ผู้เป็นเจ้าของสัตว์ ที่ปล่อยปละละเลยให้สัตว์เลี้ยงของตนไปสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรของผู้อื่น ถ้าสัตว์ไปกินพืชผลของผู้ใด ให้กักสัตว์นั้นไว้ก่อน เมื่อเจ้าของสัตว์มาขอสัตว์คืน ให้เจรจาค่าความเสียหายอันเกิดจากสัตว์นั้นก่อน เป็นต้น

กฎหมายโบราณถึงแม้จะมีน้อยมาตรา และมีการจัดเรียงไว้ไม่เป็นหมวดหมู่มากนัก แต่หากพิจารณาในอีกทางหนึ่ง คงจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า สังคมในสมัยก่อนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อนมากนัก เนื้อหากฎหมายจึงบัญญัติเฉพาะเท่าที่จำเป็น อาทิเช่น ประเด็นการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา การเคารพชนชั้นผู้ปกครอง ประเด็นชู้สาว ประเด็นสัตว์เหยียบย่ำพืชผล ประเด็นทาส ประเด็นราชการบ้านเมือง การทะเลาะวิวาท การลักขโมย และเรื่องหนี้ ซึ่งทั้งหมดมักจะอิงตามหลักของศีลห้าตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จาก : การศึกษากฎหมายโบราณอีสานในสยาม : การปกครองท้องถิ่นสาเกตุนคร พ.ศ. 2397 – 2414
โดย อำนาจ พรหมกัลป์ และ ศิวัช ศรีโภคางกุล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

toong na

ซึ่งข้อบัญญัติในเรื่องของ "สัตว์เหยียบย่ำพืชผล" ได้มีปรากฏใน "ลักษณะกฎหมายของหัวเมืองลาวตะวันออก" เกี่ยวกับเรื่อง "สัตวารักษกิจ" ดังนี้คือ

สัตวารักษกิจ  ผู้ใดมิได้ผูกช้าง ม้า โค กระบือ ในเวลากลางคืนหรือผูกแล้วแต่หลุดหลักแหล่งไป  ในเทศกาลที่ราษฎรลงมือตกกล้า ดำนา กำหนดแต่เดือน ๖ ข้างแรมไปถึงเดือนอ้ายข้างขึ้น

  • ถ้าช้าง ม้า โค กระบือ ไปกินข้าวกล้าของผู้ใดในเวลากลางคืน ต้องปรับของใช้ข้าวกล้าคืนตามจำนวน
  • ถ้าไปกินข้าวกล้าที่มีท้อง หรือออกรวง ต้องปรับเป็นเม็ดหรือฟ่อนตามมากหรือน้อย
  • ถ้าไปเหยียบย่ำลานข้าวหรือกินเมล็ดข้าวหรือพังและชนกองข้าว ต้องปรับให้เสียข้าวตามมากและน้อยที่เสียไป และปรับทำขวัญข้าว คือ ไก่ ๑ ตัว เหล้า ๑ แก้ว เป็นเครื่องบายศรีสู่ขวัญข้าว
  • หากวัว โค กระบือ ช้าง ไปกินกล้า เรือกสวน เจ้าของสวน นาจับไว้ก็ดี เจ้าของไม่ได้ติดตามภายใน ๗ วันก็ดี ๑ เดือนก็ดี หรือ ๓ เดือนก็ดี ช้าง ม้า โค กระบือ นั้นถือว่า "จำพลัด" ต้องตกเป็นของเจ้าเมืองกรมการทั้งสิ้น
  • ถ้าช้าง ม้า โค กระบือ ผู้ใดไปชนโค กระบือ ผู้อื่นที่ผูกไว้ ถ้าตายให้ใช้ค่าโค กระบือนั้นเต็มราคา
  • ถ้าขาหัก ตาบอด ให้แบ่งราคาโค กระบือ เป็นสามส่วน ให้ใช้เสีย ๑ ส่วน และให้รักษาพยาบาลจนหาย
  • ถ้าสุนัขใครดุเที่ยวกัดลูกโค ลูกกระบือนั้นตายให้ใช้ตามราคาเต็มของลูกโค ลูกกระบือ หากไม่ตายให้เสีย ๑ ใน ๓ ส่วน และให้รักษาพยาบาลให้จนหาย แต่ถ้าหากเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของพลัดหลงมาไม่มีความผิดอะไร... "

("มณฑลอีสานและความสำคัญทางประวัติศาสตร์" ของ นางสาวอุราลักษณ์ สิถิรบุตร จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.)

สำหรับการยึดถือและปฏิบัติตาม "ฮีต 12 คอง 14" มีรายละเอียดอีกมาก อ่านต่อได้จากการคลิกหัวข้อด้านล่างนี้

ฮีตสิบสอง | คองสิบสี่ | ระบบการปกครองของชาวอีสานโบราณ

redline

backled1

winyan5

นอีสานนั้น มีเอกลักษณ์ร่วมกันที่บ่งบอกถึงความเป็น "ฅนอีสาน" อันแท้จริง สามารถพิสูจน์ได้โดยง่าย ดังที่ปรากฏในท่อนหนึ่งของเพลง "โอ้ละน้อ" ของ ก้อง ห้วยไร่ ที่ว่า

เกิดเป็นคนอีสาน เลือดก็คนอีสาน มีบุญมีงาน ก็ต้องมีหมอลำ
มีลาบมีก้อย มีจุ๊ซอยจ้ำ ยังจดยังจำ วิถีบ้านเฮา
เสียงพิณห่าว เสียงแคนหย่าว หย่าวเจ้าหย่าว หมอลำเจ้าหย่าว
ยังเต้นรำวง โตดตีโต่งเกี้ยวสาว บ่ลืมเรื่องราว บุญฮีต ๑๒ และคอง ๑๔ ...
คงสิคือคำผู้เฒ่าเว้า คั่นเจาะเลือดเจ้า สิเห็นแต่ลาวอ้อยต้อย "

อันนี้แหละที่เขาเอิ้นว่า "ข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ หมอลำ และปลาแดก คือ วิญญาณ ๕ ของชาวอีสาน" ขาดบ่ได้คักๆ เด้อพี่น้อง

ข้าวเหนียว

ข้าวเหนียว (อังกฤษ: Glutinous rice; ชื่อวิทยาศาสตร์: Oryza sativa var. glutinosa) เป็นข้าวที่มีลักษณะเด่นคือ การติดกันเหมือนกาวของเมล็ดข้าวที่สุกแล้ว ปลูกมากทางภาคอีสานของประเทศไทย และ ประเทศลาว

ข้าวเหนียว เป็นที่นิยมบริโภคอย่างกว้างขวางในประเทศ และเป็นอาหารหลักของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ นอกจากการบริโภคโดยตรงแล้ว ยังมีการนำข้าวเหนียวมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสุราพื้นเมือง การผลิตแป้งข้าวเหนียว เพื่ออุตสาหกรรมอาหารและขนมขบเคี้ยว

ข้าวเหนียวมี 2 สี คือ สีขาว และ สีดำ (มักเรียกว่า "ข้าวก่ำ") แต่ข้าวเหนียวดำจะมีสารอาหาร ที่เป็นประโยชน์มากกว่าข้าวเหนียวขาว สารอาหารที่ว่า คือ "โอพีซี" (OPC) มีสรรพคุณช่วยชะลอการแก่ก่อนวัย และความเสื่อมถอยของร่างกาย โดยสารโอพีซีที่พบในข้าวเหนียวดำ เป็นสารชนิดเดียวกับสารสกัดที่ได้ จากองุ่นดำองุ่นแดง เปลือกสน

kao neaw

ข้าวเหนียว มีหลากหลายสายพันธ์ในประเทศไทย เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวเล้าแตก (ให้ผลผลิตมาก) ข้าวแลกหลาน ข้าวเหนียวแดงใหญ่ ข้าวก่ำล้านนา ข้าวไร่ลืมผัว ท่านสามารถคลิกดูรายละเอียด พันธุ์ข้าวเหนียวได้ที่นี่

เคยสงสัยมาตั้งนานแล้วว่า "ทำไมข้าวเหนียวถึงเหนียวกว่าข้าวเจ้า แล้วทำไมเมล็ดข้าวของมันจึงดูขุ่นกว่าด้วย" ข้างล่างนี้คือคำตอบที่ควรรู้ว่า จะข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้า มันก็คือข้าวเหมือนกัน

  • ทำไมข้าวเหนียวจึงเหนียว ข้าวเหนียวและข้าวเจ้านั้นมีส่วนประกอบสำคัญคือแป้งหรือ starch คือเป็น กลูโคสโพลีเมอร์ แบบหนึ่ง แต่ แป้งข้าวเหนียวนั้นประกอบด้วยสารที่เรียกว่า อะมิโลเพกติน ทั้งหมดหรือเกือบหมด อะมิโลสนี้ทำให้ข้าวเหนียวเกาะตัวกันเป็นก้อนเมื่อเคี้ยว แตกต่างไปจากข้าวเจ้าซึ่งมีอะมิโลสน้อยกว่า
  • ข้าวเหนียวและข้าวเจ้าในไทยนั้นเป็นพันธุ์อินดิก้าทั้งหมด คือเป็นสายพันธุ์ข้าวอินเดียนั่นเอง ยังมีสายพันธุ์ข้าวอื่นอีกคือ พันธุ์จาวานิกา คือสายพันธุ์ชวา และสายพันธุ์จาโปนิกา คือสายพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ข้าวเหนียวในเมืองไทยมีทั้งหมด 83 พันธุ์ แต่สถานีวิจัยข้าวของไทยแนะนำให้ปลูกเพียง 17 พันธุ์ เช่น ข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง และ กข 6 พันธุ์ข้าวเหนียวสันป่าตองได้จากการปรับปรุงพันธุ์มาจากพันธุ์พื้นเมืองเดิมโดยวิธีการทางเกษตร ส่วน กข 6 ได้จากการใช้รังสีปรับปรุงจากพันธุ์ข้าวเจ้าชื่อ ข้าวหอมมะลิ 105 นั่นก็คือพันธุ์ข้าวเหนียวและข้าวเจ้าอาจเปลี่ยนกันได้
  • ข้าวเหนียวมีโปรตีนมากกว่าข้าวเจ้าหรือเปล่า คำตอบคือไม่ได้มีมากกว่า ข้าวที่เรารับประทานทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้านั้น มีโปรตีนอยู่ในเมล็ดข้าวด้วยในราว 6 - 8 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้าวเหนียวบางพันธุ์อาจจะมีมากหน่อยถึง 11% แต่ก็ไม่จัดว่ามากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามข้าวที่มีเมล็ดสีแดงหรือน้ำตาลนั้นโดยปกติจะมีโปรตีนสูงกว่าข้าวที่มีเมล็ดสีขาว
  • ทำไมเมล็ดข้าวเหนียวจึงมีสีขาวขุ่น ในขณะที่เมล็ดข้าวเจ้ามีสีขาวใสกว่า คำตอบก็คือ ความโปร่งแสง และความใสของเมล็ดข้าวนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดเรียงตัวกันของ starch และ โปรตีนในเมล็ดข้าวที่อัดแน่นไม่เท่ากัน ภายในเมล็ดข้าวเหนียวมีช่องว่างอากาศมากกว่า ทำให้แสงที่ผ่านเข้าไปเกิดการเลี้ยวเบน และแพร่ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้งจึงมองเห็นเมล็ดขุ่นหรือทึบแสง
  • ข้าวเหนียวมีผลร้ายต่อคนเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ คาร์โบไฮเดรตนั้นล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดต่างกัน นักโภชนาการได้กำหนดดัชนีน้ำตาลไว้และเสนอแนะว่า ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงกว่า 70 สำหรับข้าวเจ้านั้น มีค่าดัชนีน้ำตาล 71 และ ข้าวเหนียว 75 จัดว่าสูงด้วยกันทั้งคู่ แต่ข้าวเหนียวสูงกว่าเล็กน้อย แต่ข้าวกล้องของทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว มีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวขัดสีพันธุ์เดียวกัน ดังนั้นจึงควรรับประทานข้าวกล้องมากกว่าข้าวที่ขัดสีแล้ว

ข้อดีของข้าวเหนียว

เป็นอาหารร่าเริง ทำให้สมองสงบ คลายเครียด กินแล้วจะรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้อิ่มท้องนาน เข้ากับยุควิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบัน (คำกล่าวของ นายแพทย์ กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ)

สารสำคัญในข้าวเหนียว คือ ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก มีสรรพคุณในการสร้างเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดสมบูรณ์ นอกจากนี้ข้าวเหนียวยังอุดมไปด้วยวิตามินอี มีสรรพคุณ ช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบ ป้องกันปัญหาวุ้นนัยน์ตาเสื่อม การนำข้าวเหนียวดำไปทำข้าวหมาก จะทำให้ได้วิตามินบี 12 ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง และการนำข้าวเหนียวไปทำเป็นของหวาน โดยเอาไปมูนกับน้ำกะทิ น้ำกะทิจะช่วยสกัดวิตามินอีออกมา แต่ไม่ควรรับประทานมาก เพราะอาจทำให้อ้วน และได้รับน้ำตาลมากจนเกินไป

ข้อเสียของข้าวเหนียวก็มีเช่นกัน

ข้าวเหนียวให้พลังงานเยอะ ก็จะให้อนุมูลอิสระเยอะตามไปด้วย เมื่อกินเข้าไปมากๆ จะทำให้ง่วงนอน นอกจากนี้ในข้าวเหนียว โดยเฉพาะข้าวเหนียวขาวยังมีสารกลูเต็น ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความเหนียวหนืด อาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ได้ ในกรณีผู้สูงอายุและเด็กอาจจะทำให้ติดคอ อุดตันลำไส้ หรือทำให้อึดอัดท้อง ระบบทางเดินอาหารไม่ปกติได้ ดังนั้นในผู้ที่มีปัญหาระบบการย่อยอาหารไม่ดี เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ไม่ควรกินข้าวเหนียวในปริมาณมาก และควรเน้นไปที่ข้าวเหนียวดำจะดีกว่า สิ่งสำคัญ คือ กินข้าวเหนียวทุกครั้งควรเคี้ยวให้ละเอียด เพื่อจะได้ย่อยง่ายๆ และควรกินในตอนเช้าจะเหมาะสมกว่าในตอนเย็น

ข้าวเหนียวดำ ยังช่วยยับยั้งและป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ กล่าวคือในเมล็ดข้าวเหนียวดำนั้นมีสาร “แกมมาโอไรซานอล (gamma oryzanol) ซึ่งสามารถลดไขมันอุดตันในหลอดเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้

ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง สาร “แอนโทไซยานิน (anthocyanin)” ที่พบในข้าวเหนียวดำของไทยมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดอย่างชัดเจน

นอกจากนี้แล้ว คุณสมบัติของข้าวเหนียวดำยังช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้ เพราะในข้าวเหนียวดำมีธาตุเหล็กที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งหากร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้

เพราะฉนั้น ถ้าคิดถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายที่คุ้มค่าแล้ว ข้าวเหนียวดำ นี่แหละถือว่าครบเครื่องที่สุุดทั้งอร่อย และมีประโยชน์มากเลยทีเดียว อย่าดูถูกดูแคลนลูกข้าวเหนียวเด้อ

new1234 เรื่องที่เกี่ยวข้อง :  หวดนึ่งข้าว | ก่องข้าว - กระติบข้าว | โบมส่ายข้าว new1234

redline

ลาบ

ลาบ น. อาหารประเภทพร่าและยำ ถือว่าเป็นอาหารประเภทชั้นสูงของชาวอีสาน ในการเลี้ยงแขกเลี้ยงคน หรือทำบุญให้ทาน ถ้าขาด "ลาบ" อย่างเดียวถือว่าเป็นการเลี้ยงขั้นต่ำ. minced meat or fish dish with added seasoning, a traditional Isan food for all important occasions. (สารานุกรม ภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง) เราจึงได้เห็นว่า ในภาคอีสานถ้าบ้านใดมีการทำบุญใหญ่ งานมงคลจะมีการล้มวัว ควาย หมู หลายตัวเพื่อการจัดเลี้ยงให้สมเกียรติของเจ้าภาพ

โดยทั่วไปแล้ว ลาบ จะทำมาจากเนื้อสัตว์ที่สับละเอียด หรือซอยเป็นชิ้นบางๆ จะทำแบบดิบ (ไม่โดนความร้อน) หรือที่ผ่านการปรุงให้สุก แล้วจึงนำมาผสมเข้ากับส่วนผสมและเครื่องปรุงต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันตามภูมิภาค รวมทั้งมีการใช้ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ เครื่องใน เลือด น้ำดี และน้ำขี้เพี้ย (น้ำย่อยที่อยู่ภายในลำไส้อ่อนของสัตว์พวกวัว ควาย) ตามด้วยเครื่องปรุงรสแบบง่ายๆ หรือที่มีความซับซ้อน รวมถึงเครื่องเทศ และสมุนไพรมากมายมาผสมเข้าด้วยกัน เป็นสูตรเฉพาะของแต่ละถิ่น ทำให้ได้อาหารจานหลักที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ลาบ ก้อย ซกเล็ก เลือดแปลง ตับหวาน น้ำตก ส้า และหลู้

วิธีการปรุงลาบใช้หลักการเดียวกันกับยำ โดยการผสมส่วนผสมต่างๆ เข้าด้วยกัน อันประกอบด้วย เนื้อสับหรือบดละเอียด เครื่องในสัตว์ เนื้อประเภทอื่นๆ หั่นเป็นชิ้น เครื่องเทศต่างๆ เครื่องปรุงรส และสมุนไพร เมื่อผสมเข้ากันดีแล้ว ลาบจะถูกนำออกเสิร์ฟ พร้อมกับเครื่องเคียงนานาชนิด อาทิ ผักสด ผักยอดอ่อน และพืชสมุนไพร

lab isan 01

ทั้งนี้ ลาบ ที่นิยมรับประทานมีอยู่สองประเภทหลักด้วยกัน แยกตามถิ่นกำเนิด ได้แก่ ลาบจากภาคอีสาน และลาบจากภาคเหนือ (ล้านนา) โดยลาบล้านนารู้จักกันในชื่อ ลาบเมือง (ผู้เขียนมีโอกาสไปท่องเที่ยวทางเวียงจันทน์ หลวงพระบาง สปป.ลาว ได้รับประทานอาหารประเภทลาบ ก็ได้รสชาติแบบเดียวกับลาบล้านนาเหมือนกัน คือมีกลิ่นสมุนไพร (มะแขว่น) ออกมานั่นเอง)

เรื่องราวของ "ลาบ" อาหารอีสานยอดฮิต ที่พบเห็นได้ทั่วไทยมากมายหลายสูตร ตามข้างถนนสายหลักสำคัญทั่วประเทศ จะต้องพบร้านอาหารข้างทางที่ขึ้นป้ายบอก ลาบอุบลฯ ลาบยโส ลาบร้อยเอ็ด ลาบกาฬสินธุ์ ลาบอุดร ลาบขอนแก่น ฯลฯ หลายสูตร หลายแซบ มักแบบใด๋เลือกกินกันได้ทั่วไทยครับ สำหรับสูตรทางบ้านผม (อุบลราชธานี) จะได้ทะยอยนำมาลงให้ได้ไปลองทำลองชิมกันครับ คลิกที่นี่

lab isan 02

การทำลาบ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การใช้เนื้อหมู วัว ควาย เท่านั้น เรายังสามารถนำเนื้อของสัตว์ชนิดอื่น เช่น เก้ง กวาง เป็ด ห่าน ไก่ นก ปลา อีกนานาชนิด มาพลิกแพลงทำลาบได้อีกหลายสูตร ที่ล้วนทรงคุณค่าทางอาหาร รสอร่อยล้ำได้หลายเมนู

new1234เรื่องที่เกี่ยวข้อง : อาหารประเภทลาบ ก้อย ซกเล็ก | ทำไมคนอีสานกินอาหารดิบnew1234

redline

ส้มตำ

ส้มตำ เป็นอาหารยอดฮิตของคนอีสาน รับประทานได้ทุกเวลา จะเช้า สาย บ่าย ค่ำยันดึก ส้มตำ หรือ ตำส้ม เป็นชื่อของวิธีการปรุงอาหาร คือ การทำให้อาหารออกมามีรสส้ม (เปรี้ยวนำ) จากการตำส่วนผสมให้เข้ากัน มีรสเปรี้ยวนำ ทางลาวและอีสานจะเรียกว่า "ตำหมากหุ่ง" คือ การนำมะละกอดิบ (หมากหุ่ง) มาสับฝานเป็นเส้นบางยาวมาตำในครก ร่วมกับเครื่องปรุงอื่น เช่น พริกสด/แห้ง กระเทียม มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะกอกนาสุก ถั่วฝักยาว มะนาว น้ำปลา น้ำปลาร้า น้ำตาลปิ๊บ เป็นต้น ให้มีรสเปรี้ยวนำ เผ็ด เค็ม ตาม

รายการกระจกหกด้านบานใหม่ ตอน ส้มตำความหลากหลายแห่งความแซบ

ส้มตำนิยมรับประทานกับข้าวเหนียว ไก่ย่าง ไข่ต้ม แคบหมู ขนมจีน หรือผัดหมี่ มีผักเคียงอย่าง ยอดอ่อนผักบุ้ง เม็ดกระถิน กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักหอมเป ถ้าอีสานขนานแท้อาจจะมี ซิ้นหลอดย่าง ปิ้งปลา ปิ้งกบ/เขียด ตามฤดูกาล

somtum 01

ส้มตำ มีมากมายหลายชนิด ไม่ได้จำกัดที่ หมากหุ่ง (มะละกอ) สามารถนำเอา ถั่วฝักยาวมาตำ เรียก ตำถั่ว ใช้ แตง แตงกวา มาตำ เรียก ตำแตง รวมทั้งการตำสำมะปิ (สามัคคีรวมกันหลายชนิด เช่น มะม่วง ฝรั่ง มะเฟือง แครอท ฯลฯ) แล้วเรียกชื่อต่างกันออกไปอีก เช่น

  • ตำปลาร้า คือ ส้มตำที่ใส่ปลาร้าหรืออีสานเรียกว่า 'ปลาแดก' เป็นหลัก เป็นนิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน และประเทศสปป.ลาว และถือเป็นตำไทยอีสานอย่างหนึ่ง ปลาร้าที่ใส่จะต้องมีกลิ่นหอมเฉพาะเรียก ปลาแดกต้วง
    ปลาแดกต้วง น. ปลาร้าที่มีรสหอมหื่น เรียก ปลาแดกต้วง ใช้ตำหมากหุ่ง ถ้าตำหมากหุ่งขาดปลาแดกต้วง รสจะแซบแต่ไม่นัว ขาดรสนัวอย่างเดียวความแซบชิเหมิดไปเคิ่งหนึ่ง อย่างว่า อย่าลืมซุบหมากมี้ของดีตั้งแต่ปู่ อย่าลืมปลาแดกต้วงตำส้มหมากหุ่งเฮา (เสียว). a kind of strong flavored, preserved, fermented fish sauce.
  • ตำปู คือ ส้มตำที่ใส่ปูเค็มหรือปูดองแทนกุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่ว รสชาติออกเค็มนำ บางแห่งนิยมปูดิบ บางแห่งนิยมปูสุก บางแห่งนิยมปูนา หรือปูทะเล
  • ตำปูปลาร้า คือ ส้มตำที่ใส่ทั้งปูและปลาร้าลงไป (ลูกผสม)
  • ตำไทย คือ ส้มตำที่ไม่ใส่ปูและปลาร้า แต่ใส่น้ำปลา กุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่วแทน รสชาติออกหวานและเปรี้ยวนำ บางถิ่นอาจใส่ปูดองเค็มด้วย เรียกว่า ส้มตำไทยใส่ปูเค็ม (ชาวอีสานแท้ๆ หรือทาง สปป.ลาว ถือว่า การทำส้มตำแบบโบราณที่โรยถั่วลิสงคั่วลงไปด้วย หรือทำรสให้หวานนำถือว่า "ขะลำสูตร" หรือผิดสูตรดั้งเดิม และผู้ตำมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไร้ฝีมือ)
  • ตำลาว คือ ส้มตำสูตรดัดแปลงของชาวลาวที่ได้รับอิทธิพลจากชาวไทย ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น นิยมใส่ปลาแดก และมะละกอดิบเป็นหลัก บางครั้งเรียกว่า "ตำปลาแดก" ที่เรียกว่าตำลาวนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและแยกกันระหว่าง ตำลาวกับตำไทย เดิมแล้วเรียกตำลาวว่า "ตำหมากหุ่ง"
  • ตำซั่ว (ตำซว้า, ตำซวั้ว) คือ ส้มตำที่ใส่ทั้งเส้นเข้าปุ้นหรือเส้นขนมจีน และเส้นมะละกอ ผักดอง น้ำผักดอง ข้าวคั่ว หอยจูบ(หอยขม) หอยเชอรี่ต้มสุกหั่น ถั่วงอก นิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน
  • ตำมั่ว คือ ตำซั่วที่ใส่เครื่องให้มากขึ้น เช่น กุ้งแห้ง ลูกชิ้น หอมบั่ว (ต้นหอม) หอมเป (ผักชีฝรั่ง) ตลอดจนปลาแห้ง ปลากรอบ แคบหมู หมูยอ หรือหมูหยอง เป็นต้น
  • ตำป่า คือ ส้มตำที่ใส่เครื่องและผักหลายชนิด เช่น หน่อไม้ ผักกะเสด (ผักกระเฉด) ผักกาดดอง ปลากรอบ ถั่วลิสง ถั่วงอก ถั่วฝักยาว รวมถึงหอยจูบต้ม หอยเชอรี่ต้มหั่น หอยแมลงภู่ เป็นต้น จะนิยมรับประทานในภาคอีสาน มีชื่อเสียงที่สุดคือ ตำป่าจากจังหวัดมหาสารคาม เรียกติดปากว่า "ตำป่าสารคาม"
  • ตำลงท่ง คือส้มตำอีสานอีกสูตรหนึ่ง มีขายที่จังหวัดอุบลราชธานี (ผู้เขียนไม่พบว่ามีขายที่อื่น ถ้ามีแจ้งมาด้วยครับ) เจ้าดังคือ ตำลงท่งยายเต่า เป็นการตำมะละกอโดยมีเครื่องปรุงที่หาได้ตามหัวไร่ปลายนา (ที่มาของ ลงท่ง ก็คือ ลงทุ่งนา นั่นเอง) เช่น พริกขี้หนูสดๆ ตำทั้งขั้วพริกเลยไม่ต้องเด็ดออก ใบมะขามอ่อน หรือมะขามอ่อน (ตัวนี้ขาดไม่ได้) มะเขือเปลาะ มะเขือขื่น มะเขือเทศ เม็ดกระถิน ปูนา และปลาแดกต่วง (ต้องใส่ตัวปลาแดกเป็นต่อนๆ ลงไปด้วย)

somtum 02

เรื่องของส้มตำย้งมีคำถามมาให้ค้นหาอีกมากมายเลย อย่าง "ตำโคราช" นี่มันมีที่มาที่ไปอย่างไรกัน คำตอบคือ โคราช (นครราชสีมา) นี่ก้ำกึ่งระหว่าง 2 ภาค คือภาคกลาง กับภาคอีสาน บ้านผมเลยเอิ้นว่า "พอกะเทิน" (ครึ่งๆ กลางๆ) การทำส้มตำก็เลยได้รับเอาวัฒนธรรมของคนภาคกลางมาคือ ตำไทย ชิมแล้วคงจะไม่ถูกใจนักเลยใส่ ปลาร้า ลงไปด้วย กลายเป็นส้มตำลูกผสมเรียกว่า "ตำโคราช" จะอร่อยยิ่งขึ้นถ้าได้กินคู่กับ "ผัดหมี่โคราช" มีเครื่องเคียงเป็นแตงกวาและถั่วฝักยาว เข้ากันๆ หลายๆ เด้อ

banner2 728x90
สนับสนุนให้เว็บเราคงอยู่ให้บริการด้วยการคลิกไปชมสปอนเซอร์ของเราด้วยครับ

หมอลำ

หมอลำ (อีสาน: หมอลำ, ลาว: ໝໍລຳ) เป็นรูปแบบของการแสดงเพลงลาวโบราณในประเทศลาว และการร่ายกลอนเล่าเรื่องในภาคอีสานของประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายอย่าง ตามลักษณะทำนองของการลำ เช่น ลำเต้ย ลำพื้น ลำกลอน ลำเรื่อง ลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน ลำซิ่ง รวมทั้ง ลำตัดในภาคกลางก็จัดได้ว่าเป็นหมอลำประเภทหนึ่ง

ลำเที่ยวสีพันดอน โดย เมกขะหลา สะถาพร (สปป.ลาว)

คำว่า "หมอลำ" มาจากคำ 2 คำมารวมกัน ได้แก่ "หมอ" หมายถึง ผู้มีความชำนาญ เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "หมอ" เช่น เก่งเรื่องยา สมุนไพร เรียก หมอยา เก่งเป่าแคน เรียก หมอแคน เก่งทางการทำนายทายทัก พยากรณ์ เรียก หมอมอ และ "ลำ" หมายถึง การบรรยายเรื่องราวต่างๆ ด้วยท่วงทำนองกลอนอันไพเราะ ดังนั้น หมอลำ จึงหมายถึง ผู้ที่มีความชำนาญในการบรรยายเรื่องราวต่างๆ ด้วยทำนองเพลงอันไพเราะ สะกดให้คนฟังจดจ่อในเรื่องราวเหล่านั้น และได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินใจ

morlum 01

หมอลำ มีวิวัฒนาการสืบต่อมาไม่สิ้นสุด มีการพลิกฟื้นสร้างความน่าสนใจให้ผู้ฟังได้รับความสนุกสนาน เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน รายละเอียดของหมอลำติดตามอ่านเพิ่มเติมได้จาก "หมอลำ : ศิลปะพื้นบ้านที่ไม่มีวันตาย"

รายการซีรีย์วิถีคน ตอน หมอลำขอข้าว อาชีพที่ยังดำรงอยู่ด้วยน้ำใจ

redline

ปลาแดก

ปลาร้า หรือ ปลาแดก เป็นอาหารหลัก และเครื่องปรุงรสที่สำคัญที่สุดในวัฒนธรรมของภาคอีสาน จนถือเป็นหนึ่งในวิญญาณห้าของความเป็นอีสาน ได้แก่ ข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ หมอลำ และปลาร้า ชีวิตชาวอีสานก่อนปี พ.ศ. 2500 ครอบครัวชาวนาทุกครอบครัวจะทำปลาร้ากินเอง โดยหมักปลาร้าไว้มากหรือน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและความอุดมสมบูรณ์ของปลา

ลักษณะของปลาร้าอีสานคือ มักทำจากปลาน้ำจืดขนาดเล็ก เช่น ปลาสร้อยขาว ปลากระดี่มาหมักกับรำข้าวและเกลือ แล้วบรรจุใส่ไห จะหมักไว้ประมาณ 7-8 เดือน แล้วนำมารับประทานได้ ในบางท้องที่มีค่านิยมว่า หมักให้เกิดหนอนจะยิ่งเพิ่มรสชาติยิ่งขึ้น ปลาร้าเป็นการถนอมปลาโดยการหมักไว้เป็นอาหารนอกฤดูกาล โดยมีข้อมูลเชิงสถิติระบุไว้ว่า กำลังการผลิตปลาร้าทั่วประเทศ 20,000 - 40,000 ตัน/ปี ครัวเรือนอีสานผลิตปลาร้าเฉลี่ย 27.09 กิโลกรัม/ปี อัตราการบริโภคปลาร้าโดยเฉลี่ยประมาณ 15 - 40 กรัม/คน/วัน ปริมาณการซื้อขายปลาร้าทั่วประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9 ล้านบาทต่อวัน

pladaeg plara

ปลาร้า นำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด ตั้งแต่ น้ำพริก หลน จนถึงนำไปทอด นึ่ง เผา แล้วแต่ขนาดของปลาร้า นำปลาร้าไปต้มกับน้ำ แล้วกรองเอาแต่น้ำเป็นน้ำปลาร้า เป็นเครื่องปรุงรสที่สำคัญของอาหารอีสาน อาหารที่ปรุงด้วยปลาร้าที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือ ส้มตำ โดยส้มตำที่ใส่ปลาร้านั้นจะเรียกว่า ส้มตำลาว หรือ ส้มตำปลาร้า เพื่อให้ต่างจากส้มตำใส่กุ้งแห้งที่เรียกส้มตำไทย ปลาร้าที่นิยมใส่ในส้มตำมี 3 แบบคือ

  1. ปลาร้าต่วงหรือปลาแดกน้อย ทำจากปลาตัวเล็ก หมักกับเกลือ รสเค็มกลมกล่อม
  2. ปลาร้าโหน่ง รสจืดกว่าปลาร้าต่วง โดยหมักปลากับเกลือและรำข้าว รำข้าวจะช่วยเร่งให้ปลาร้าเป็นเร็ว สีออกแดงและหอม
  3. ปลาร้าขี้ปลาทู ทำจากไส้ปลาทู มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ นิยมนำมาทำเป็นน้ำปลาร้าไว้ปรุงรสส้มตำ

รายการกระจกหกด้าน ตอน “จิตวิญญาณอาหารอีสาน”

อดีต-ปัจจุบันของ "คนกินปลาแดก"

ในอดีตนั้น "ฅนอีสาน" เมื่อจะบริโภค ปลาแดก หรือ ปลาร้า ในเมืองหลวง เมืองใหญ่ มักจะมีความเหนียมอาย แอบๆ ซ่อนๆ กลัวคนอื่นจะหาว่าตนไม่มีความศิวิไลซ์เพราะ "กินปลาแดก" ดังในตัวอย่างเพลง "แจ่วบองในกล่องคอมพ์" ของ ศิริพร อำไพพงษ์ ที่มีเนื้อหาว่า "หนุ่มบ้านนาไปทำงานหาเงินในเมืองกรุงคงจะโหยหาปลาร้า แจ่วบอง สาวที่บ้านนอกกลัวว่าหนุ่มไปทำงานแล้วจะไม่มีเรี่ยวแรงเพราะขาดปลาร้าในเส้นเลือด ครั้นจะส่งไหปลาร้าไปให้ตรงๆ ก็กลัวว่าหนุ่มจะอายคนอื่น เลยทำ "แจ่วบอง" บรรจุกระปุกพลาสติกใส่ในกล่อง (ลัง) คอมพิวเตอร์ไปให้ ก็ให้ระวังอย่าให้กลิ่นมันโชยไปให้คนอื่นรู้นะ"

moo plara 2

แต่ในปัจจุบันนี้ "ปลาร้า" หรือ "ปลาแดก" ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว นับว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อของคนไทยโดยทั่วไป สามารถหารับประทานได้ทั่วไป แม้แต่ในภัตตาคารหรูยังมี ส้มตำปลาร้า หมูปลาร้า เสต็กเนื้อ-หมู-ไก่ปลาร้า จำหน่ายกันแล้ว อีสานจงเจริญพี่น้อง!!! 😁🤣😂

redline

รู้หรือไม่?

ในปลาร้า 100 กรัม มีปริมาณโปรตีนประมาณ 17 กรัม ซึ่งสูงพอ ๆ กับเนื้อสัตว์ทั่วไปที่เรากิน รวมถึงมีแคลเซียมด้วย โดยเฉพาะการนำไปแปรรูปเป็นปลาร้าสับที่กินได้ทั้งก้าง ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณแคลเซียมมากขึ้น แต่ถ้าหากกินปริมาณมาก อาจได้รับโซเดียมมากเกินไป จะมีผลต่อความดัน ปลาร้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ คือปลาร้าสุก เท่านั้น การกินปลาร้าดิบ เสี่ยงต่อการเป็นพยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวจี๊ดที่จะส่งผลเสียต่อร่างกายต่อไป และการกินปลาร้าซ้ำไปซ้ำมา อาจจะทำให้มีโอกาสได้รับสาร "ไนโตรซามีน" ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อมูล : สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ

รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก ปลาร้า หรือ ปลาแดก วิญญาณที่ห้าของชาวอีสาน

somtum pla ra

ส้มตำ อาหารอีสานที่เป็นที่นิยมของคนทั้งชาติ

redline

backled1

isan knowledge

ความหมายของภูมิปัญญา | ภูมิปัญญาอีสานที่น่าสนใจ

ภูมิปัญญาคืออะไร?

ภูมิปัญญา หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า แสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบุคคลและสังคม ซึ่งได้สั่งสมและปฏิบัติสืบต่อกันมา ภูมิปัญญาจะเป็นทรัพยากรบุคคล หรือทรัพยากรความรู้ก็ได้

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หมายถึง การเอาทรัพยากรความรู้ ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง ซึ่งอาจเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน หรือเป็นลักษณะสากลที่หลายๆ ท้องถิ่นมีคล้ายกันก็ได้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่นเกิดจากการที่ชาวบ้านแสวงหาความรู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคทางธรรมชาติ ทางสังคมที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่น

การประกอบประเพณี พิธีกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้กระทำสบายใจ รู้สึกอบอุ่นไม่โดดเดี่ยว ให้คุณค่าทางจิตใจและความรู้สึกถือว่าเป็นพลังทางศีลธรรมหรือประเพณี การรวมกำลังช่วยกันทำงานที่ใหญ่หลวงที่เกินวิสัยที่จะกระทำได้สำเร็จด้วยกำลังเพียงคนเดียว เช่น การลงแขกสร้างบ้าน สร้างวัด สร้างถนนหนทาง หรือขุดลอกแหล่งน้ำ เป็นกิจกรรมที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันภายในชุมชน ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยทั่วไปภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนเป็นประโยชน์แก่คนทุกระดับ มีลักษณะเด่นคือ สร้างสำนึกเป็นหมู่คณะสูง ทั้งในระดับครอบครัวและเครือญาติ

isan indigenious

ถึงแม้ผู้คนไม่น้อยเห็นว่า ชุมชนอีสาน เป็นดินแดนแห่งความแห้งแล้ง ความโง่ ความจน ความเจ็บไข้ได้ป่วยอันน่าเวทนา แท้ที่จริงไม่มีมนุษย์ผู้ใดและสังคมใดที่ปล่อยให้วันเวลาผ่านเลยโดยไม่สั่งสมประสบการณ์ หรือไม่เรียนรู้อะไรเลยจากช่วงชีวิตหนึ่งของตน ไม่ว่าในภาวะสุขหรือทุกข์ คนอีสานได้ใช้สติปัญญาสั่งสมความรู้ ดังจะเห็นได้จากภาษิตอีสาน (ผญาก้อม) จำนวนไม่น้อย ที่แสดงทัศนะชื่นชมคุณค่าของความรู้ในการประกอบอาชีพ และค่านิยมประการหนึ่งของชาวอีสานคือ ยกย่องความรู้และการใช้ความรู้อย่างมีคุณธรรม ดังความว่า

  • เงินเต็มภา บ่ท่อผญาเต็มปูม (ภา = ภาชนะ, ท่อ = เท่า, ผญา = ปัญญา, ปูม = ภูมิ)
  • บ่มีความฮู้อย่าเว้าการเมือง บ่นุ่งผ้าเหลืองอย่าเว้าการวัด (ความฮู้ = ความรู้, เว้า = คุย)
  • เกิดเป็นคนให้เฮียนความฮู้ เฮ็ดซู่ลู่เขาบ่มียำ (เฮียน = เรียน, เฮ็ดซู่ลู่ = ทื่อมะลื่อ, ยำ = เคารพ)
  • ให้เอาความฮู้หากินทางชอบ ความฮู้มีอยู่แล้ว กินได้ชั่วชีวัง
  • บ่ออกจากบ้าน บ่เห็นด่านแดนไกล บ่ไปหาเฮียน ก็บ่มีความฮู้
  • แม้นสิมีความฮู้เต็มพุงเพียงปาก สอนโตเองบ่ได้ ไผสิย่องว่าดี (โตเอง = ตนเอง, ย่อง = ยกย่อง)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ผญา สุภาษิต คำคมอีสาน

ken dalao 05

ผู้ที่สามารถประกอบการงานได้ผลดี โดยใช้ภูมิปัญญาชาวอีสาน เรียกว่า หมอ เช่น หมอลำ คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการร้องลำนำประกอบเสียงแคน หมอแคน คือ ผู้เชี่ยวชาญในการเป่าแคน หมอมอ คือผู้รอบรู้ด้านโหราศาสตร์ ทำนายทายทักโชคชะตาราศี หมอว่าน คือ ผู้รอบรู้ด้านสมุนไพรต่างๆ หมอยา คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรค หมอผึ้ง คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการหาน้ำผึ้ง ผู้มีภูมิปัญญาทุกวิชาชีพได้รับการยกย่องจากชุมชนเสมอหน้ากัน ดังความว่า

        ครั้นสิเป็นหมอว่าน หมอยา หมอป่า
ครั้นสิเฮียนบีบเส้น เอ็นคั้นให้ส่วงดี
(บีบเส้น = การนวด, ส่วง = หาย)
หรือสิเฮียนคงค้อน คงหลาว หอกดาบ
เฮียนให้เถิงขนาดแท้ ดีถ้วนสู่อัน
หรือสิเฮียนหนังสือให้ เฮียนไปสุดขีด
ครั้นแม้เฮียนแท้ให้ เป็นคนฮู้สู่คน

(คนฮู้ = คนดี)
หรือสิเฮียนเป็นหมอเต้น หมอตี หมอต่อย
ให้เฮียนแท้ๆ คนจ้างสู่วัน
หรือสิเป็นหมอน้ำ ตึกปลาแหหว่าน
ทำให้ได้เต็มข้อง สู่วัน

(ข้อง = เครื่องจักสานใช้ใส่ปลา)
หรือสิเป็นหมอสร้าง นา สวน ฮั่วไฮ่
เอาให้ได้เกวียนซื้อ แก่ขาย

(ที่มา : พระยาคำกองสอนไพร่)

นอกจากมนุษย์จะใช้ "ภูมิปัญญา" เพื่อประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแล้ว มนุษย์ยังสังเกตลักษณะที่เป็นคุณและโทษของธรรมชาติ แล้วนำมาเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต กระบวนการทางสังคม คือ การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน เป็นเมืองและประเทศชาติ ชาวอีสานมีทัศนะในการใช้ชีวิตว่า อยู่เป็นหมู่ดีกว่าอยู่โดดเดี่ยว เพราะขีดจำกัดทางกายภาพและภูมิปัญญา การช่วยกันคิด ช่วยกันทำ การพึ่งตนเอง และการพึ่งกันเอง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทำอย่างไร? การอยู่ร่วมกันจึงจะเกิดประโยชน์สุข ผู้ฉลาดจึงร่วมกันกำหนดฮีตบ้าน-คองเมือง เช่น ฮีตสิบสอง-คองสิบสี่ กฎหมายท้องถิ่น วรรณกรรมคำสอน นิทานพื้นบ้าน บทเพลงและคติธรรม ซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง แม้บางส่วนอาจไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่กระบวนการทางสังคมหลายส่วนยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในสภาพสังคมปัจจุบัน

กระแสทุนนิยมกับการดูหมิ่นภูมิปัญญาชาวบ้าน

การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นไปตามกระแสทุนนิยม รัฐใช้อำนาจในการจัดการเปลี่ยนแปลงวิถีชาวบ้าน ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อค้าขาย เช่น ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ปลูกปอ ข้าวโพด การปลูกข้าว การผลิตเพื่อขายทำให้ขยายพื้นที่การเกษตร เกิดการทำลายสภาพป่าไม้และแหล่งน้ำ การผลิตเพื่อขายทำให้มีการโยกย้ายผลผลิตออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับผลตอบแทนที่ไม่สมดุลย์ ถูกเอารัดเอาเปรียบในตลาดการค้า กำไรตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางมากกว่าตกอยู่ในมือชาวบ้านผู้ผลิต พ่อค้าซื้อราคาถูกแต่ขายราคาแพง ชาวบ้านในกระแสทุนนิยมจึงประสบปัญหาหนี้สิน เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ค่าแรงงาน ค่ารถไถ (ค่างวดมอเตอร์ไซค์และสิ่งฟุ่มเฟือยอื่นๆ)

kratib

ปัญหานี้เอง ทำให้เกิดการแสวงหาแนวทางที่เป็นทางรอด และทางเลือกของท้องถิ่น จึงมีการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทั้งด้านทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรความรู้เพื่อเลือกตัวแบบ หรือแนวทางที่เหมาะสมแก่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่นาสวนผสม การดำรงชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง แนวทางการดำเนินชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านอีสาน อย่างเช่น

  • มหาอยู่ สุนทรธัย ปราชญ์ต้นตำรับผู้สร้างเกษตรผสมผสาน แห่งจังหวัดสุรินทร์
  • นายชาลี มาระแสง ปราชญ์ผู้พลิกนาแล้งสู่ความอุดมสมบูรณ์ด้วยความเพียร แห่งอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
  • นายทองดี นันทะ ปราชญ์ชาวบ้านผู้ถือติ "เฮ็ดน้อยได้หลาย เฮ็ดหลายได้น้อย" ชาวอำเภอหนองแวง จังหวัดขอนแก่น
  • นายคำเดื่อง ภาษี ผู้สร้างอาณาจักรสีเขียวหมื่นปี แห่งจังหวัดบุรีรัมย์
  • นายบุญเหล็ง สายแวว ปราชญ์ชาวบ้านผู้ทำตามแนวทางเกษตรพอเพียง แห่งจังหวัดอุบลราชธานี

ล้วนแต่เป็นต้นแบบที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน การใช้ธรรมชาติเป็นแม่แบบของวิถีชีวิต การศึกษาอย่างเข้าใจ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม ล้วนแต่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ การผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการอยู่การกินในครอบครัว เหลือแล้วขายหรือนำไปแลกกับสิ่งอื่นๆ ที่ต้องการ จะช่วยลดปัญหาหนี้สิน ชีวิตมีความสุขมากกว่าการที่จะมุ่งผลิตเพื่อขายนำเงินไปซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยมากมายนัก และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพ่อหลวงของเรา (รัชกาลที่ ๙) ที่ทรงย้ำเตือนให้คนไทยได้รู้จักกับเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้หลายๆ ฝ่ายได้หันมามองถึงความผิดพลาดในนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมา และกลับไปศึกษาภูมิปัญญาดั้งเดิมอีกครั้งหนึ่ง วันนี้เราจึงได้ยินคำว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น กันมากขึ้น

แล้วลูกหลานไทย ยังจะดูถูกความรู้ ความคิด ภูมิปัญญาของบรรพชน อยู่อีกละหรือ? "

ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการอ้างเพื่อกระแสธุรกิจ

กรณีศึกษา ที่น่าสนใจและเป็นข่าวครึกโครมมาช่วงหนึ่งคือ เรื่อง สุรา/เหล้าพื้นบ้าน มีคนบางกลุ่มได้หยิบประเด็นของภูมิปัญญาชาวบ้านมาอ้างว่า ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้มีการผลิตเพื่อการจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จนในช่วงปีก่อนๆ นั้นตามริมถนนหนทางเกือบทั่วประเทศ จะมีซุ้มจำหน่ายสาโท กระแช่ ไวน์ผลไม้ท้องถิ่น เหล้าพื้นบ้านกันไปทั่วสารทิศ

 sato

ความจริงเราน่าจะมองที่ 'ภูมิปัญญาชาวบ้าน' จริงๆ เป็นอย่างไร? ก่อนที่จะมาตีเหมารวมอย่างนั้นก่อนดีไหมครับ

ภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องเหล้า (ในวิถีชีวิตคนอีสาน) "การทำเหล้าสาโทของคนอีสาน จะทำเพื่องานบุญประจำปี หรือเพื่องานกิจกรรมใหญ่ๆ ของหมู่บ้าน ของท้องถิ่น ไม่ได้ทำตลอดทั้งปี ดื่มกินตลอดทั้งปีก็หาไม่" เช่น ทำเหล้าสาโทในงานบุญบั้งไฟตอนเดือนหก ทำเหล้าสาโทในการลงแขกเกี่ยวข้าว หรือนวดข้าว ซึ่งจะมีกิจกรรมเหล่านี้เพียงปีละครั้งเท่านั้น การถ่ายทอดทางภูมิปัญญา จึงเป็นการบอกเล่าผ่านจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นทอดๆ ไม่ได้มีมาตรฐานใดๆ รองรับ จึงมักจะได้ชิมเหล้าสาโทที่มีรสชาติแตกต่างกันไป ตามความรู้หรือความชำนาญของผู้ทำ ทั้งเปรี้ยวบ้าง หวานบ้าง ขมบ้าง ไม่แน่นอน

การที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตขายจึงไม่ใช่ภูมิปัญญาแน่นอน เพราะบรรพบุรุษของเรา ไม่เคยส่งเสริมให้ลูกหลานเป็นคนขี้เหล้าเมายา ต้องซื้อมาดื่มกินกันได้ทุกวี่วัน อย่าไปคิดแบบนักการตลาดโง่ๆ (คนภาคราชการที่ไม่เคยค้าขาย) ที่มาบอกว่าจะร่ำรวย ขายได้เป็นร้อยล้านพันล้าน เพราะไม่มีใครจะซื้อสินค้าที่ขาดมาตรฐานรองรับ การส่งเสริมให้ทำสิ่งใดต้องดูตลาดก่อน

เดี๋ยวจะช้ำหัวใจเป็นหนี้สิน ธกส. เข้าให้อีก เหมือนคราวปลูกพริก ปลูกมะม่วงหิมพานต์ ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกปอ ปลูกยางพารา ปลูกมะนาว ปลูกกล้วยหอมทอง เห็นเขารวยเร็ว เขาว่าดีก็แห่ไปปลูกตามกัน สุดท้ายก็น้ำตาตกเพราะราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินนั่นเอง ล่าสุดหลอกให้ ปลูกมันญี่ปุ่น (ที่ความจริงเป็นการปั่นราคาขายตันพันธุ์แต่ไม่ซื้อคืนตามที่โฆษณาไว้) ส่งเสริมให้ปลูกแต่ไม่เคยหาตลาดให้ สุดท้ายก็หนี้ท่วมหัว เหล้าสาโทนี่ก็มาทำนองเดียวกันนั่นแหละท่าน

แล้ววันนี้ เห็นสุรา สาโท ไวน์พื้นบ้าน ขายตามข้างทาง ร่ำรวยกันหรือยังครับ?

isan poom pan ya

ภูมิปัญญาอีสานที่น่าสนใจของบ้านเฮา

 candle festival 002

เครื่องดนตรี การแสดง และการละเล่น อีสานบ้านเฮา

 ponglang ubon

การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอีสานบ้านเฮา

redline

khon bannok

ได้รับ Forward mail มาว่า "หากคุณรู้จักผลไม้นี้เกินสามชนิด รู้ตัวไว้คุณน๊ะบ้านนอก!" ตอนแรกก็อ่านพอขำๆ แต่พอเอาไปให้เพื่อนๆ หลายคนดู ก็เลยถึงบางอ้อกันเลยว่า "ผมนะ โค ตะ ระ บ้าน นอก เลย ดิ รู้จักหมดเลย เคยชิม แล้วเกือบทุกชนิด บางชนิดนั้นถึงกับทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่นิ้วมือมาแล้ว"

bugben bugbok
บักเบ็น บักบก
bughad bughuadkha
 บักหาด  บักหวดข้า
bugkampom bugkeng2
 บักขามป้อม  บักเค็ง
bugkor buglebmaew
 บักค้อ  บักเล็บแมว
bugmao bugmeg
 บักเหม่า  บักเม็ก

banner 728x90
สนับสนุนให้เว็บเราคงอยู่ให้บริการด้วยการคลิกไปชมสปอนเซอร์ของเราด้วยครับ

bugpeepaun bugsommor
 บักพีพ่วน  บักส้มมอ
bugtauhae bugwha
 บักถั่วแฮ  บักหว้า
bug dua bug had
 บักเดื่อ  บักหาด
bug e koy bug hu ling
 บักอีโก่ย  บักหูลิง
bug kam pom bug kliang
 บักขามป้อม  บักเกลี้ยง
bug kluae bug kona
 บักเกลือ  บักโกนา
bug kor bug kuay noi
 บักก่อ (เกาลัคอีสาน)  บักกล้วยน้อย
bug mon bug muang pa
 บักม่อน  บักม่วงป่า
bug ngaew bug ngiew
 บักแงว  บักงิ้ว (นุ่น)
bug sang bug tae
 บักสัง  บักแต้
bug yang kreu bug yang ton
 บักยางเครือ  บักยางต้น
bug toom bug ta kob
 บักตูม  บักตากบ
bug tong lang bug ta kwang
 บักต้องแล่ง  บักตากวาง

อ่านถึงตรงนี้แล้ว ใครรู้ตัวว่าเป็น "ฅนบ้านน๊อก บ้านนอก" ก็รีบกลับบ้านไปชื่นชม ไปชิมรำลึกถึงความหลังนะครับ ก่อนที่มันจะสูญพันธุ์ไปเสียหมด เอาไปถามเด็กรุ่นหลังแล้วไม่ค่อยมีใครรู้จักกันเลย เฮ้อ... เรามันฅนโบราณบ้านนอกเสียจริงๆ 

danger weapon

แล้วเคยเล่นกันไหม? อาวุธของนักเลงบ้านนอกแบบนี้ (บ้านเจ้าเอิ้นว่าหยัง?)

บันทึกไว้โดย ทิดหมู มักหม่วน
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

redline

backled1

provinces header

ปฏิทินงานเทศกาลและประเพณี 20 จังหวัดภาคอีสาน

กำหนดการงานเทศกาล ประเพณีต่างๆ ในภาคอีสานอย่างคร่าวๆ เพราะบางงานขึ้นอยู่กับวัน/เดือน/ข้างขึ้น/ข้างแรมแบบไทย ที่อาจคลาดเคลื่อนไปจากเดือนปฏิทินสากลไปบ้างเล็กน้อย เพื่อให้ท่านได้เตรียมตัวไปเที่ยวชมกัน วันงานจริงในแต่ละปีอ่านได้จากหมวดข่าวสารงานประเพณี ที่จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าทุกเดือน หน่วยงาน องค์กร ชุมชนในท้องถิ่นใดๆ ในภาคอีสาน ต้องการเผยแพร่กิจกรรม งานบุญประเพณีในชุมชน หมู่บ้านของท่าน แจ้งมาได้ที่ webmaster at isangate.com หรือ tidmoo.mm at gmail.com ยินดีให้บริการทุกท่าน ฟรีๆ ครับ!

paothai mukdahan 1

มกราคม : งานกาชาดและงานปีใหม่ยิ้มรับตะวันก่อนใครในสยาม อุบลราชธานี
งานกาชาดและงานรวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขง จังหวัดมุกดาหาร
งานปฏิบัติธรรมอาจริยบูชา "พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)" วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
กุมภาพันธ์ : งานฉลองมรดกโลกบ้านเชียง 5,000 ปี จังหวัดอุดรธานี
งานกาชาด ดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย จังหวัดเลย
งานมหกรรมโปงลางแพรวา และงานกาชาด จังหวัดกาฬสินธุ์
งานบุญเบิกฟ้าและกาชาด จังหวัดมหาสารคาม
งานนมัสการองค์พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก บ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
มีนาคม : ประเพณีเผ่าไทศรีสะเกษและเทศกาลดอกลำดวน จังหวัดศรีสะเกษ
งานฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
ประเพณีกินข้าวปุ้นงานบุญผะเหวด จังหวัดร้อยเอ็ด
เมษายน : งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
งานประเพณีสงกรานต์ เทศกาลดอกคูณ-เสียงแคน จังหวัดขอนแก่น
งานประเพณีสงกรานต์ เทศกาลอาหารอินโดจีน จังหวัดอุบลราชธานี
พฤษภาคม : งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร
มิถุนายน : งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู
งานทุ่งดอกกระเจียวบาน จังหวัดชัยภูมิ
เทศกาลเงาะ-ทุเรียน ของดีศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
งานประเพณีการละเล่นผีตาโขน จังหวัดเลย

Dok krachiao 02

ไปชมทุ่งดอกกระเจียวบ้านที่ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ชัยภูมิ

candle festival 007

ประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี

กรกฎาคม : งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดนครราชสีมา
สิงหาคม : มหัศจรรย์ธรรมชาติ "กุ้งเดินขบวนที่น้ำตกแก่งลำดวน" จังหวัดอุบลราชธานี
กันยายน : งานบุญข้าวสาก (ฮีตบุญเดือน ๑๐)
ตุลาคม : งานประเพณีออกพรรษาแห่ปราสาทผึ้งและแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน จังหวัดสกลนคร
งานประเพณีไหลเรือไฟ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
งานเทศกาลบั้งไฟพญานาค อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
งานออกพรรษาจุดไฟตูมกา บ้านทุ่งแต้ จังหวัดยโสธร
พฤศจิกายน : งานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน จังหวัดบุรีรัมย์
เทศกาลเที่ยวพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
งานแสดงช้าง จังหวัดสุรินทร์
เทศกาลไหมประเพณีผูกเสี่ยว จังหวัดขอนแก่น
ธันวาคม : งานประเพณีฮีตสิบสอง "บุญกุ้มเข้าใหญ่" และงานกาชาด จังหวัดอำนาจเจริญ
งานมหกรรมว่าวอีสาน และงานขึ้นปล่องภูเขาไฟ จังหวัดบุรีรัมย์
งานดอกไม้เมืองหนาวอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

ชุมชน ท้องถิ่นใด จังหวัดใดอยากเพิ่มรายการ ประเพณีท้องถิ่นอีสาน ลงในปฏิทินนี้สามารถแจ้งได้ทางอีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ได้เลยครับ ฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หรือแจ้งผ่านทาง Facebook Fanpage ของเราก็ได้ครับ

 mai dok muang nao 1

 

Subcategories

จังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน

ภูมิปัญญาของชาวอีสาน ที่มีมาเนิ่นนานแล้ว

แหล่งท่องเที่ยวในแดนอีสาน

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)