foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว หิมะตกหนัก อากาศหนาวสุดขั้ว บางแห่งถึงขั้นติดลบ 46 องศาเซลเซียส ประเทศไทยเฮากะบ่หยอกคือกัน ทางตอนเหนือลดลงถึงศูนย์องศา เกิดแม่คะนิ้ง (น้ำค้่างแข็งบนยอดหญ้ากันแล้ว) ในช่วงวันที่ 10-13 มกราคมนี้ อุณหภูมิจะลดลงอีกมาก 5-7 องศา ในภาคเหนือและภาคอีสานบ้านเฮา รักษาสุขภาพกันดีๆ เด้อ อย่าสิเจ็บสิไข้ ซำบายดีครับ ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

แฟนๆ ของวงดนตรีลูกทุ่งพูดอีสาน "เพชรพิณทอง" ของ นพดล ดวงพร น่าจะเคยได้ยินชื่อนักแต่งเพลงเบื้องหลังของวงดนตรีวงนี้ที่ นพดล ดวงพร กล่าวถึงเสมอๆ ว่าผู้แต่งเพลงนี้คือ อาจารย์สัญญา จุฬาพร วันนี้เรามาทำความรู้จักกับนักร้องและนักประพันธ์เพลงท่านนี้กัน

สัญญา จุฬาพร

sanya juraporn 2สัญญา จุฬาพร หรือชื่อจริงคือ นายสวัสดิ์ สิงประสิทธิ์ หรือ สันต์ ศิลประสิทธิ์ คือ คนเดียวกัน เกิดวันที่ 14 มิถุนายน พุทธศักราช 2476 เกิดในครอบครัวคนจน บิดา-มารดา นายเจียม และนางศรีนวล สิงประสิทธิ์ เชื้อสายทางบิดามาจากเมืองจีน เชื้อสายทางมารดามาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพี่น้องร่วมท้อง 3 คน ที่ ตำบลกกบก อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (ตัวบ้านที่เกิดปัจจุบัน ไม่หลงเหลือซากและเค้าเดิม ว่ากันว่าบ้านท่านอยู่แถว ร้านศึกษาภัณฑ์ ที่อยู่ตรงข้ามสวนรัชดานุสรณ์ นั่นเองครอบครัว) ประกอบอาชีพเยี่ยงเดียวกับครอบครัว “เจ๊ก” (คนจีน) ทั่วไปในเมืองใหญ่ คือ ค้าขายในตลาด ปัจจุบันคือ ตลาดสดขอนแก่น สมัยก่อนข้างๆ ตลาดสดยังเป็นโรงภาพยนตร์ อาชีพของครอบครัวคือ ขายขนม แต่ไม่ได้ทำให้ฐานะทางครอบครัวดีนัก ในวัยเด็กระเหเร่ร่อนหลังจากจบชั้น ป.1-2 ที่โรงเรียนเทศบาล 2 สวนสนุก

เมื่อลูกๆ โตขึ้นครอบครัวก็ยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่าย และยิ่งทวีภาระให้กับพ่อแม่ จนกระทั่งพี่สาวไปแต่งงานกับพนักงานรถไฟ และย้ายไปประจำตามสถานีต่างๆ วิถีของลูกรถไฟ และล่าสุดย้ายลงใต้ไปอยู่ สถานีรถไฟทุ่งสง สวัสดิ์จึงได้ตามพี่สาวไปเรียนระดับชั้น ป. 2-3 ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชั้น ป.4 เรียนที่จังหวัดตรัง (ย้ายตามพี่เขย) แล้วมาต่อชั้น ม.1-5 ที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชา จังหวัดสงขลา ยังไม่จบมัธยมปลาย มีเหตุให้ต้องออกกกลางคัน

ต่อมา แม่ได้เดินทางจากจังหวัดขอนแก่นไปขออาศัยอยู่กับพี่สาวและพี่เขยด้วย ทำให้ครอบครัวพี่สาวและพี่เขยมีปัญหามากขึ้นอีก (เรื่องความเป็นอยู่และค่าใช้จ่าย) เขาจึงตัดสินใจเดินทางจากใต้เพื่อหวังจะไปทำงานที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว กับเพื่อนอีกคนหนึ่งชื่อ สุชาติ โดยพอไปถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองที่หนองคาย ไม่มีเอกสารใดๆ ไปแสดงจึงได้ถูกส่งตัวกลับไม่ได้ไปทำงานที่เมืองลาวตามความฝัน

rodfai korat

ขาไปที่ว่าลำบากแล้ว แต่ขากลับกลับยิ่งหนักหน่วงกว่า เพราะขาไปมีความฝันเป็นแรงขับเคลื่อน ส่วนขากลับมีแต่ความผิดหวังเป็นเพื่อนร่วมทาง ไหนจะต้องกลับไปสู่สภาพเดิม ๆ และยิ่งความผิดที่หนีออกจากบ้าน คงเป็นข้อหาหนักรออยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องกลับปักษ์ใต้ไปสู้กับความเป็นจริง

แต่การจะกลับไปสู่ความเลวร้ายก็ใช่ว่าจะง่ายดาย ทั้งคู่ต้องเอาแรงเข้าแลก เพื่อหาเงินเป็นค่าเดินทางและค่าอยู่ค่ากินระหว่างทาง ต้องรับจ้างขุดดิน ตัดไม้ และงานใช้แรงงานสารพัดตลอดรายทางตั้งแต่อีสาน-สงขลา โดยใช้เวลาเดินทางไปและกลับร่วม 3 เดือน และประสบการณ์ช่วงนี้เองที่เขาได้เอามาเป็นวัตถุดิบในการเขียนเพลง

และพอกลับถึงบ้าน สวัสดิ์เข้าเรียนต่อในโรงเรียนเดิมอีกครั้งจนจบ พร้อมกับสอบเข้าเป็นตำรวจ สอบผ่านแต่ต้องรอผล (เพราะมีการทุจริตในการสอบ ทางการระงับผลเพื่อทำการสอบสวน) เจ้าตัวไม่อยากรอนาน จึงเดินหน้าเข้าเมืองกรุงอีกครั้ง มุ่งตามฝัน เพราะฝันลึก ๆ ของเขาอยากเป็นนักร้อง

ได้มาหาที่พักพิงที่วัดสิริอำมาตย์ หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ แถบคลองหลอด หลังศาลอาญา สนามหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีพระและลูกศิษย์เป็นชาวปักษ์ใต้จำพรรษาและอยู่กันมาก จากนั้นก็เดินไปอีกซอย และตรงไปที่ซอยอำนาจศิริ ที่สำนักงานของวงดนตรีของ ครูล้วน (ล้วน ควันธรรม) นักร้องดังแห่งยุค ด้วยเสียงเพลงที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง เจ้าของเสียงอมตะมากหลาย แม้ในปัจจุบัน และแม้ตัวครูจะลาโลกไปนาน แต่เสียงเพลงของ ครูล้วน ควันธรรม ก็ยังอยู่คู่วงการและผู้ฟังชาวไทย เช่นเพลง แหวนประดับก้อย คำปฏิญาณ เสียงกระซิบสั่ง ค่ำแล้วในฤดูหนาว ผีเสื้อกับดอกไม้ เพลินเพลงเช้า ระกำดวงจิต พรานเบ็ด ใจเป็นห่วง เป็นต้น

laun kwantam 1

ครูล้วนรับสวัสดิ์ไว้เป็น “คนถือกระเป๋า” มีหน้าที่ล้างรถ วิ่งซื้อของ ส่งจดหมาย ตลอดจนติดตามครูไปงานรับเชิญ ขณะเดียวกัน เขาได้ฝึกหัดเรียนโน้ตดนตรีสากลจากครูล้วนพอได้แนวทาง ซึ่งขณะนั้น เป็นช่วงที่ครูล้วนลาออกจากวงดนตรีกรมโฆษณาการ ที่ก่อตั้งโดย หลวงสุขุมนัยประดิษฐ เมื่อ พ.ศ. 2482 โดยครูเป็นนักร้องแรกร่วมรุ่นกับ รุจี อุทัยกร, มัณฑนา โมรากุล

ครูล้วนตั้งวงดนตรีของตัวเอง เป็น วงดนตรีแชมเบอร์ มิวสิก ขนาด 4 คน มีงานเล่นประจำที่ศาลาเฉลิมกรุง และตระเวนเล่นตามวิกทั่วไป หน้าที่ของคนถือกระเป๋าจึงพอมีความสำคัญอยู่บ้าง ขณะเดียวกัน ครูล้วนก็ดัดแปลงดนตรีประกอบหนังตะลุงของภาคใต้ ให้เข้ากับจังหวะสากล เรียกว่า “ตะลุงเทมโป้”

sanya juraporn 1สำหรับสวัสดิ์แล้ว แม้ครูจะมีชื่อเสียงและมีความสามารถ แต่ก็ไม่ตอบโจทย์ของเขา เขาอยากเป็นนักร้อง อยากมีชื่อเสียง และอยากมีเงิน เขาถือกระเป๋าให้ครูล้วนอยู่ได้ไม่นานก็ลาออก เมื่อเห็นว่า สมยศ ทัศนพันธ์ กำลังเป็นนักร้องดาวรุ่งพุ่งแรง เจ้าของเสียงเพลง เซียมซีเสี่ยงรัก รอยแผลเก่า น้ำตาผู้ชาย ดาวร่วง รักครั้งแรก ขวัญอ่อน เกร็ดแก้ว เป็นต้น นักร้องและนักแต่งเพลงประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ ผู้ชื่นชอบเพลงของ ครูล้วน ควันธรรม โดยใช้เพลง “บางปู” ของครูล้วนสมัครเข้ากองดุริยางค์ฯ และได้รับการบรรจุเข้ารับราชการรุ่นเดียวกับ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, เสน่ห์ โกมารชุน, สมศักดิ์ เทพานนท์ และ ปิติ เปลี่ยนสายสืบ

สวัสดิ์อยู่กับสมยศในตำแหน่งเดิมกับที่เคยอยู่กับครูล้วน คือ คนถือกระเป๋า แต่ได้เขยิบฐานะเข้าใกล้วงการเพลง ด้วยการเป็นผู้จดบันทึกเพลงที่สมยศประพันธ์ และนานเข้าเขาก็ช่วย “พี่ยศ” แต่งเพลง และมีหลายเพลงที่เขามีส่วนร่วมในการประพันธ์แต่ไม่มีชื่อร่วม ซึ่งเขารู้สึกคุ้มค่าและพอใจในฐานะความเป็นอยู่ และอยู่กับสมยศยาวร่วม 10 ปี ซึ่งในระยะหลังที่สมยศรับราชการจนมียศเป็นเรือตรี และลาออกจากราชการในที่สุด แล้วตั้งวงดนตรี สมยศ ทัศนพันธ์ และออกเดินสายทั่วประเทศ

ความจำเจ ผสมปนเป กับกระแสความนิยมของสมยศตกต่ำลงทุกขณะ เขาเริ่มมีปากเสียง ทะเลาะเบาะแว้งกับสมยศ ประสาคนรักใคร่ และอยู่กันมายาวนาน จนที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากวงดนตรี บ่ายหน้าสู่อีสาน เปลี่ยนอาชีพชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ คือเป็น ชาวไร่ข้าวโพด โดยไปอยู่กับทหารสรรพาวุธจากสงขลา ที่ไปรับราชการที่กรมสรรพาวุธที่ปากช่อง และมีไร่ข้าวโพด

“ทำไร่ไม่รุ่ง” การทำไร่ที่อาศัยพันธุ์ข้าวโพด ปุ๋ย ยา จากนายทุน แล้วขายผลผลิตเมื่อเก็บเกี่ยว อันเป็นการทำไร่แบบพันธสัญญา แบบไทยๆ ที่เปิดโอกาสให้นายทุนเอาเปรียบเกษตรกร และไม่มีทางที่เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้ สวัสดิ์ สิงประสิทธิ์ ทนก้มหน้าทำไร่ข้าวโพดอยู่เพียงปีเดียวก็เริ่มมองหาทางออกให้ชีวิต

jurarat band

เมื่อวงดนตรีจุฬารัตน์ ของ ครูมงคล อมาตยกุล มีนักร้องชูโรงอย่าง ทูล ทองใจ, พร ภิรมย์ กำลังดังสุดขีด ปอง ปรีดา ที่โด่งดังมานมนาน “กุงกาดิน” ชื่อนักร้องของ ครูนคร ถนอมทรัพย์ พร้อมด้วย วันทนา สังข์กังวาน ประจวบ จำปาทอง ขณะที่ยังไม่มีแววของนายห้าง ได้เดินสายมาทำการแสดงที่โรงภาพยนตร์ที่ปากช่อง เขาจึงนำเพลงที่แต่งไว้ในช่วงที่ทำไร่ และร้องคร่าวๆ ให้ “ครูมงคล” ฟัง เพลงนี้คือเพลง กระท่อมชาวไร่ เนื้อร้องมีว่า

..พี่นี้ไม่มีสมบัติพัสถาน ที่จะบันดาลวิมานห้องหอ มีเพียงกระท่อมไม้ไผ่ ของชาวไร่มอซอ…."

เมื่อครูมงคลตอบตกลง เขาจึงอำลาไร่ข้าวโพดเข้ากรุง ตรงไปที่สำนักงานย่านวัดโบสถ์ สามเสนและร่วมงานกับวงดนตรีจุฬารัตน์ และที่นี่ ครูมงคล ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น “สัญญา จุฬาพร” และที่นี่อีกเช่นกัน ที่ทำให้สัญญา จุฬาพร ได้รู้จักกับ “นพดล ดวงพร” ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักร้องในวงจุฬารัตน์ สัญญา จุฬาพร ได้แต่งเพลงให้กับ นพดล ดวงพร ซึ่งเป็นเพลงที่ได้เค้าทำนองมาจากลาว ที่นำมาให้โดยตัวนพดล จนเป็นเพลง "หนุ่มอุบล" ดังเนื้อร้องมีว่า

… เดือนหก นกกาเหว่ามันฮ้อง ยูงทองออกมาร้องรำแพน จากถิ่นหากินไกลแดน นกยูงรำแพนจากแดนมาไกล.. "

sanya juraporn 4

ด้วยความชื่นชอบงานประพันธ์ และบทเพลงมาตั้งแต่ยังเด็ก จึงมีผลงานซึ่งเป็นบทเพลงจำนวนมาก เพลงแรกที่ได้รับบันทึกเสียงคือ “น้ำมนต์น้ำตา” โดย สมยศ ทัศนพันธ์ เป็นผู้ขับร้อง และมีโอกาสร่วมแต่งเพลงกับครูสมยศอีกหลายเพลง เป็นต้นว่า “ทำคุณได้โทษโปรดสัตว์ได้บาป” “เสียงขลุ่ยระทม” และยังได้ขับร้องบันทึกเสียงเพลงแรก ชื่อ “วิญญาณรัก” และ “ป่าเหนือรำรึก” สมัยนั้นถือว่าสำเร็จพอประมาณ ผลงานสร้างชื่อที่มีคนรู้จักแต่งโดยใช้ชื่อ ส.จุฬาพร สัญญา จุฬาพร คือ เพลง “แม่” หรือ “พระคุณแม่” “ลาก่อนบางกอก” “ซามาคักแท้น้อ” ซึ่งขับร้องโดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ “เซิ้งสวิง” “หนุ่มเมืองเลย” ขับร้องโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ “ดำขี่หลี” “อีสานบ้านเฮา” ขับร้องโดย นกน้อย อุไรพร “หนุ่มอุบล” และ “พ่อหม้ายเมียหนี” นพดล ดวงพร เป็นผู้ขับร้อง และยังมีอีกหลายเพลง

ผลงานที่มีความประทับใจ

  • ประพันธ์เพลงแรกสำหรับตัวเองร้อง “ป่าเหนือรำลึก”
  • เพลงแรกให้คนอื่นร้อง “น้ำมนต์น้ำตา” สมยศ ทัศนพันธ์ ร้อง
  • รางวัลเกียรติยศ คือ “เสาอากาศทองคำ” ของสถานีวิทยุเสียงสามยอด สมัยเปิดใหม่เป็นสถานีที่สนับสนุนเพลง “ลูกทุ่ง” อย่างจริงจัง ในยุค “ผ่องศรี วรนุช” ยังดังอยู่ ได้รางวัลเพลงยอดนิยมยอดเยี่ยม คือเพลง “ฝากฟ้า-สั่งลม” ผ่องศรี วรนุช ขับร้อง ประจำปี ๒๕๑๘
  • สิ่งที่ประทับใจ คือ วันที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าโดยในหลวงท่าน มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวัง เชิญ นายสัญญา จุฬาพร ไปในงาน สังคีตมงคล ทรงพระราชนิพนธ์เพลง ครบ ๒๐ ปี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 6 เมษายน 2509 เวลา 17.30 น. วงดนตรี “จุฬารัตน์” บรรเลงเพลง “ชะตาชีวิต” ถวาย ทรงพระราชทานเหรียญ ภ.ป.ร. ให้แก่ศิลปินทุกท่าน

ผลงานเพลงที่สร้างชื่อ

  • ไวพจน์ เพชรสุพรรณ “ลาก่อนบางกอก” “ซามาคักแท้น้อ” “เซิ้งกระติบข้าว” “เรือรักริมฝั่งโขง” “ตามเมีย” และเพลงแหล่ชื่อเพลง “แม่”
  • ทูล ทองใจ “กระท่อมชาวไร่” “สวนสน” “ทหารเสือพระราชินี”
  • มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ “ดอกฟ้าเวียงจันทน์”
  • พนม นพพร “เซิ้งสวิง” “หนุ่มเมืองเลย”
  • นพดล ดวงพร “หนุ่มอุบล” “แก้มเปินเวิน” “พ่อหม้ายเมียหนี”
  • นกน้อย อุไรพร “ดำขี่หลี่” “สัจจาหญิง”
  • เพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงมีประมาณ 200-300พลง หลากหลายนักร้องทั้งลูกทุ่งลูกกรุง.

สัญญา จุฬาพร สามารถนำรูปแบบเพลงพื้นบ้าน รวมถึงหมอลำ มาประยุกต์เป็นลูกทุ่งได้อย่างกลมกลืน เป็นเอกลักษณ์สะท้อนแนวคิดท้องถิ่นนิยม อันเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่บริสุทธิ์งานของท่านจึงมีกลิ่นไอความเป็นท้องถิ่นพื้นบ้านอย่างมีเสน่ห์ชวนฟังเป็นที่สุด

นายสัญญา สิงประสิทธิ์ ได้รับเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ ประเภทประพันธ์ (ลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2551 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

sanya juraporn 5

สิ้นครูเพลง สัญญา จุฬาพร

เมื่อเวลา 17.20 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา วงการลูกทุ่งสูญเสีย ครูสัญญา จุฬาพร ในวัย 90 ปี ด้วยโรคชราและโรคแทรกซ้อน หลังจากเกิดอาการท้องเสีย อาเจียนและญาตินำส่งโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ญาติตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่ศาลา1 วัดเขียนเขต ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี สวดพระอภิธรรมวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2566 เวลา18.00 น. ฌาปนกิจวันที่16 พฤษภาคม 2566 เวลา 16.00 น.

art local people

น้องเป็นสาวขอนแก่น ยังบ่เคยมีแฟน บ้านอยู่แดนอีสาน... น้องเป็นสาววัยอ่อน ได้แต่นอนตะแคง ยามเมื่อแลงฝันหวาน... จะมีชายใด ไผเดต้องการ จะมีชายใด ไผเดต้องการ... หมายปองน้องนั่น แม้ต้องการ จะคอย" 

เพลง "สาวอีสานรอรัก" ที่ขับร้องโดย อรอุมา สิงห์ศิริ ดังกระหึ่มทั่วบ้านทั่วเมือง จากนามปากกาของนักประพันธ์เพลงที่ชื่อ สุทุม ไผ่ริมบึง ทำให้มีการถามหาว่า คนแต่งเป็นไผ คือบ่เคยได้ยินชื่อมาก่อนนะ วันนี้จะพาท่านมารู้จักกับผู้อยู่เบื้องหลังเพลงดังและสร้างนักร้องอีสานมากมายหลายคนให้มีชื่อเสียง

สุมทุม ไผ่ริมบึง

soomtoom pairimbueng 1สุมทุม ไผ่ริมบึง​ หรือ​ "กัวราซ่า" นับเป็นอาจารย์ใหญ่อีกท่านหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสาน ประพันธ์เพลงดังมากมาย ชื่อและนามสกุลจริงคือ​ นายแสนคม พลโยธา เกิดเมื่อวันที่่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2492 เกิดที่บ้านหนองบะ ตำบลโคกสง่า อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรคนที่่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ของคุณพ่อที พลโยธา และคุณแม่พุฒ พลโยธา ทางครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม​เป็นชาวนา จบชั้นประถมที่บ้านเกิด เข้ากรุงเทพฯ มาหางานทำและเรียนเทียบจนสอบได้วุฒิระดับ ม.ศ.3 ที่ โรงเรียนวัดพิชัยญาติ กรุงเทพมหานคร

ปีพุทธศักราช 2516-2517 ไปทำงานรับจ้างขับรถให้้ฝรั่งในค่าย KM6 ที่่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในช่วงเหตุุการณ์์ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 เป็นการเริ่มต้นชีวิตศิลปะครั้งแรกที่่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ขณะที่ทำงานในประเทศลาว​ สุมทุม ไผ่ริมบึง ได้ไปฉายแววศิลปินให้ พลโทแพงสี พนาเพชร นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ค่ายโพนเค็ง นครหลวงเวียงจันทน์ ได้เห็น ก็เลยให้การสนับสนุนให้เป็นนักร้อง ได้บันทึกเสียงเพลง คณะผัวเผลอ กับเพลง เสน่ห์สาวโต้รุ่ง ร้องเอง/แต่งเองกลายเป็นเพลงฮิตที่ประเทศลาว​ โดยใช้ชื่อนักร้องว่า​ "กัวราซ่า" จากนั้นก็ได้สร้างงานเพลงต่อเนื่องมาอีกหลายเพลง​ จนเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทย ก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการเต็มตัวในฐานะคนเขียนเพลง มากกว่าบทบาทของคนร้องเพลงที่เคยทำ

ผลงานเพลงสร้างชื่อเพลงแรก "สาวอีสานรอรัก" ขับร้องโดย อรอุมา สิงห์ศิริ ที่​ สุมทุม​ ไผ่ริมบึง​ แต่งกลายเป็นเพลงสร้างชื่อให้ทั้งตัวผู้ร้อง และผู้แต่งได้แจ้งเกิดในเมืองไทยพร้อมๆ กัน​ กลายเป็นเพลงประวัติศาสตร์​ ดังลั่นวงการเพลง เป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุดเพลงหนึ่งของเมืองไทย​ เป็นเพลงลูกทุ่งที่ได้รับคัดเลือกให้ได้ไปร่วมโชว์ มหกรรมเพลงระดับนานาชาติ

on uma sing siri 03

เพลง 'คิดถึงทุ่งลุยลาย, ลูกชายลุงอิน, ผัวสามสไตล์' ที่ เย็นจิตร พรเทวี ขับร้อง ก็ดังระเบิด คอเพลงยอมรับกันเป็นอย่างดี และเป็นผู้นำ เย็นจิตร​ พรเทวี​ มาสร้างเป็นนักร้อง​ ช่วงนั้น​เย็นจิตรเป็นนักร้องในห้องอาหาร​ วาเลนไทน์​ ในตัวเมืองขอนแก่น​ สุมทุม​ไปแอบซุ่มดูเป็นเดือน ก่อนชักชวนมาบันทึกเสียง​ เพลงที่เย็นจิตรร้องส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานเพลงของ สุมทุม ไผ่ริมบึง ทั้งสิ้น​ที่สร้างชื่อเสียง​จนกลายเป็นนักร้องยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้

Yenjit Porntewee 02

“สาวจันทร์์กั้งโกบ” เป็นผลงานการประพันธ์เพลง "ลำเต้ยแนวประยุกต์์" ของ สุมทุม ไผ่ริมบึง ที่ทำให้ไอ้้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร “พรศักดิ์ ส่องแสง” มีชื่อเสีียง​จนกลายเป็นนักร้องยิ่งใหญ่ กลายมาเป็นตำนาน เพลงโด่งดังเป็นอมตะ​ เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ​ ถึงแม้นเขาจะเสียชีวิตไปแล้วก็ยังได้รับการกล่าวถึงอยู่่เสมอ​

3

ในช่วงปีพุทธศักราช 2516-2541 นายแสนคม พลโยธา หรือสุมทุม ไผ่ริมบึง ประพันธ์์คำร้องและทำ นองเพลงมาแล้วไม่่ต่ำ กว่า 2,000 เพลง มีเพลงที่่เคยได้รับ รางวัลต่างๆ มากมาย เช่น

  • ปีพุทธศักราช 2531 เพลง สาวอีสานรอรัก ได้้รับรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่นกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • ปีพุทธศักราช 2534 เพลง เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ ได้้รับรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่นกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยภาค ๒ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ - พรศักดิ์ ส่องแสง

จนเมื่อ ปี 2539 ก่อนที่ ครูสุมทุม ไผ่ริมบึง จะเสียชีวิต ตอนนั้น เย็นจิตร พรเทวี เดินสายแสดงอยู่ทางภาคอีสาน เธอเล่าว่า "พอรู้ว่า ครูไม่สบาย อยากเจอ เราก็รีบมาหาครูเลย พอมาถึงครูบอกว่า ไม่เป็นไรแล้ว และครูก็ยังทำท่ากำหมัดชกลมให้เราดูอีกด้วย เราก็ว่า ครูแข็งแรงดี พอรุ่งเช้าเท่านั้นแหละ ภรรยาครูที่เคยเป็นลูกน้องในวงของเรา ก็โทรศัพท์มาบอกว่าครูเสียแล้ว เราก็ยังย้ำว่าเสียได้ยังไง เมื่อวานยังดีอยู่เลย แต่เขาก็ยืนยันว่าครูเสียแล้วจริงๆ" เย็นจิตรเสียใจมากๆ ตลอดชีวิตของเย็นจิตร พรเทวี นอกเหนือจากพ่อ-แม่แล้ว ก็มี ครูสุมทุม ไผ่ริมบึง นี่แหละที่มีพระคุณกับเย็นจิตรอย่างมาก "เย็นจิตรจะไม่ลืมพระคุณของครูเลย ไม่ว่าครูจะอยู่ที่ไหนก็ตาม"

สุมทุม ไผ่ริมบึง ถึงแก่่กรรมเมื่อวันที่่ 21 มกราคม พุทธศักราช 2541 ขณะอายุุ 49 ปี

soomtoom pairimbueng 2

ด้วยเกียรติประวัติในการสร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์์เพลงลูกทุ่ง และลููกทุ่งหมอลำอีสานที่ผ่านมา จนเป็นที่่ยอมรับเป็นแบบอย่างที่ดี มีประโยชน์และทรงคุณค่ายิ่งต่อสังคมและประเทศชาติ นายแสนคม พลโยธา หรือ สุมทุม ไผ่ริมบึง แม้ท่านจะถึงแก่กรรมไปแล้ว คุณูปการที่ได้ทำ ไว้สมควรและเหมาะสมอย่างยิ่งที่่จะได้รับการเชิดชููเกียรติเป็น อมรศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง พุทธศักราช ๒๕๖๖ จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

art local people

ในบรรดา "ศิลปะพื้นบ้านอีสาน" ที่ว่าด้วยความบันเทิง "หมอลำ" เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าคือ "อัตลักษณ์หนึ่งของอีสาน" หมอลำก็มีหลายแขนง เช่น ลำกลอน ลำเพลิน ลำเรื่องต่อกลอน ลำซิ่ง ฯลฯ บรรดาหมอลำที่เลื่องชื่อจนเป็นระดับตำนานในแต่ละแขนงนั้นมีอยู่ไม่กี่คน หากพูดถึงลำกลอนก็ต้องยกให้ หมอลำเคน ดาเหลา หรือหมอลำถูทา ทองมาก จันทะลือ ที่ต่างก็เป็นศิลปินแห่งชาติ ถ้าประเภทลำเรื่องต่อกลอนก็ต้องยกให้คู่นี้ หมอลำทองคำ เพ็งดี กับ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ซึ่งเป็นคู่พระคู่นางแห่งคณะหมอลำรังสิมันต์

แต่ถ้าเป็น ลำเพลิน ถ้าถามแฟนๆ ชาวอีสานก็ต้องยกให้ ทองมี มาลัย หมอลำเพลินผู้ยิ่งใหญ่แห่งบ้านหนองเลิง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ผู้ทำให้ตู้เพลงในร้านอาหาร และปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส ส่งเสียงลำเพลินชุดบักสองซาว และชมรมแท็กซี่ กระหึ่มเมือง ในยุคใกล้เคียงกันก็มีหมอลำที่โด่งดังอีกผู้หนึ่งที่โด่งดังด้วยสไตล์ลำที่ออกแนวโจ๊ะๆ ติดหู ในชุด "เจ้าพ่อ 4 ไห" แถมยังมีชื่อคล้องจอง หรือจะบอกว่าสลับกันเลยก็ว่าได้ เขาผู้นั้นคือ

ทองมัย มาลี

thongmai malee 01ทองมัย​ มาลี มีชื่อจริง​ นายวีรยุทธ​ จันทสิทธิ์​ บ้านเกิดอยู่ที่บ้านปลาขาว​ ตำบลหนองแค​ อำเภอราษีไศล​ จังหวัดศรีสะเกษ​ จบการศึกษาภาคบังคับ​ อายุสิบกว่าปีเข้ากรุงเทพฯ​ ไปหางานทำตามวิถีคนอีสาน ได้ทำงานติดกระดุม​กระเป๋า อยู่ที่ย่านหัวลำโพง​ (เงินเดือนแรกในชีวิตสมัยนั้นคือ 30 บาท)​ แล้วย้ายไปทำงานโรงงานฟอกหนัง​ ในจังหวัดสมุทรปราการ​ จากนั้นก็ออกมาทำงานแถวสะพานควาย​ ทำหน้าที่ แผนกซักรีด​ ให้กับบริษัทสายการบินแห่งหนึ่ง​ ช่วงนั้นเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว​

ทำงานที่ กรุงเทพมหานคร มีเวลาช่วงหยุดพักร้อน​ก็ได้กลับมาบ้านเกิดที่ศรีสะเกษ​ ในหมู่บ้านปลาขาว ก็ได้เห็นเขาตั้งคณะหมอลำหมู่อยู่ 2 คณะ​มีการซักซ้อมลำกันอย่างสนุกสนานแต่อยู่กันคนละคุ้มบ้าน มีคณะ​ ส. แสงทอง กับคณะ​ แก้วหน้าม้า​​ ด้วยความที่เขาอยู่ในวัยหนุ่มคึกคะนอง เป็นคนชอบสนุก​ เวลาหมอลำคณะ​ ส. แสงทองอัมรินทร์​ ไปลำงานตามหมู่บ้านต่างๆ ก็เลยติดรถขอเป็นส่วนเกินติดตามไปกับเขา​ ไปบ่อยมากจนจำได้หมดว่า เขาร้อง เขาลำ กันยังไง​ ด้วยความอยากทดลองร้องลำดู​ ก็เลยขอหัวหน้าวงขึ้นเวทีลำโชว์บ้าง​ แรกๆ หัวหน้าก็ไม่ยอม​ (ก็ไม่ได้สังกัดในคณะ แค่ติดสอยห้อยตาม กลัวว่าต้องจ่ายค่าตัวล่ะมั๊ง) พอวันต่อมาก็ขออีก คงจะด้วยความรำคาญว่าไอ้หมอนี่มันตื้อมาก เขาเลยให้ขึ้นร้องลำ​ ปรากฏ​ว่า หัวหน้าชอบ​ และชวนมาอยู่วงด้วยกันเสียเลย มีหรือจะพลาด จนต้องรีบกลับไปลาออกจากงานที่กรุงเทพ​ฯ​

thongmai malee 02

จากนั้นก็กลายมาเป็น "พระเอก" แสดงหมอลำอยู่ที่บ้านเกิด​ ด้วยใจรักจริงอยากมีชื่อเสียง จึงได้ไปฝึกเรียนการลำเพลินเพิ่มเติมจาก "อาจารย์​อุไรวรรณ​ เสียงเสน่ห์"​ ที่บ้านหนองมะลา​ อำเภอกุดชุม​ จังหวัดยโสธร​ คณะลำเพลินของเขาเคยไปประกวดได้รางวัลชนะเลิศ​ มาหลายครั้ง​ หลายเวทีประกวด เมื่ออายุ 21 ปี ต้องไปคัดเลือกทหารดันจับใบแดงได้ไปเป็นทหารเกณฑ์​ ทำให้ได้ทิ้งวงหมอลำไป​

ต่อมาวันหนึ่งหลังจากพ้นเกณฑ์ทหาร เขาได้ไปเที่ยวที่สวนอาหาร​ "สวรรค์​อีสาน" ในกรุงเทพฯ​ ได้นั่งฟังนักร้องหมอลำชื่อดังกำลังโชว์อยู่คือ​ "ดอกฟ้า​ ภูไท" เขาเลยขอขึ้นแจมร้องหมอลำด้วย​ บังเอิญว่า วันนั้นมี​นักแต่งเพลงและเป็นแมวมองนั่งฟัง นั่งชมอยู่ด้วย ​นั่นคือ​ "อาจารย์​ดอย​ อินทนนท์​" เกิดความสนใจ จึง​ทาบทาม​ให้เขามาเป็นนักร้องบันทึก​แผ่นเสียง​

thongmai malee 03

หลังจากนั้นอาทิตย์ต่อมา อาจารย์​ดอย​ อินทนนท์​ ก็ได้นำเนื้อร้องกลอนลำชุด "เจ้าพ่อ 4 ไห" มีทั้งหมดสิบกว่ากลอนให้ไปท่อง ไปฝึก และได้จองห้องอัดไว้ให้แล้วด้วย​ แต่เขาไม่คิดว่าจะเป็นนักร้องจริงจังอะไรหรอก เพราะช่วงนั้นเขามีเป้าหมายหลัก​จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย​กับพี่ชาย ซึ่งไปทำงานก่อนหน้านั้น​อยู่แล้ว และเขาได้เดินเรื่องการไปทำงานไว้แล้ว​ เลยไม่ค่อยได้สนใจท่องกลอนลำที่ได้มา​

พอถึงวันบันทึกเสียงอาจารย์ดอยมาตามตัว​ ก็ต้องเลยตามเลยไปห้องอัดเสียง "โรต้า" ไปถึงหน้างาน เนื้อกลอนลำก็ไปแก้ไขเฉพาะหน้าเวลาใส่เสียงเลย​ เพราะไม่ได้ท่องมา​ เรื่องตลกที่ใครๆ ไม่ค่อยจะรู้คือ​ อาจารย์ดอย​ อิน​ทน​นท์ คนที่แต่งกลอนลำมาให้​ ลำไม่เป็นเลย(สไตล์ของแกคือ เขียนเพลง หรือกลอนลำจะว่า เป็นไกด์ไม่เป็นทำนอง​ชัดๆ อะไรมาก)​ ทำให้​เขา​ ต้องลำใส่เสียงด้วยประสบการณ์​ของตัวเอง​ ที่สำคัญใส่เสียงยุคนั้นดนตรีก็เล่นสดใส่พร้อมกันไปเลย​ มีใครผิดก็เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด​ ใช้เวลาใส่เสียง 2 วันจึงแล้วเสร็จ

เจ้าพ่อ 4 ไห โดย ทองมัย มาลี

อาจารย์ดอย​ อินทนนท์​ นำเอาอัลบั้มกลอนลำที่อัดเสียงเสร็จ "เจ้าพ่อ 4 ไห" ร้องโดยนักร้องหน้าใหม่ ไปนำเสนอห้างแผ่นเสียง​ "เลปโส้" ของ นายห้างวิศาล​ เลาแก้วหนู​ ตอนนั้นก็เลยคิดชื่อนักร้องกัน​ ว่าจะตั้งชื่ออะไรดี ทางห้างเลปโส้ตอนนั้นมีนักร้องหมอลำชื่อ​ "ทองมี​ มาลัย" ที่กำลังดัง​ "ลำเพลินชมรมแท็กซี่" อยู่ในสังกัดอยู่แล้ว​ อาจารย์ดอย​ อินทนนท์ ก็เลยจงใจตั้งชื่อนักร้องหมอลำคนใหม่ของตนเองว่า.. ​ "ทองมัย​ มาลี" โดยใช้คำกลับกัน​จากชื่อ​ ทองมี​ มาลัย โดยอาจารย์ดอยมีความคิดว่า.. "ถ้า ทองมี​ มาลัย เขาดัง​ ทองมัย​ มาลี​ มันก็จะดังไปพร้อมกัน" ส่วนแนวการลำ​ ทองมี​ มาลัย ลำทำนองลำเพลิน​ ทองมัย​ มาลี​ ก็ต้องลำทำนองลำแพน​ เพื่อให้สอดคล้องกันเหมือนชื่อ​ ทองมี​ มาลัย​ : ทองมัย​ มาลี​ มีลำเพลิน​ ต้องมีลำแพน​ อาจารย์ดอยเป็นคนบัญญัติคำว่า ​"ลำแพน" ขึ้นมา

thongmai malee 04

ทองมัย​ มาลี​ กลายเป็นนักร้องหมอลำชื่อดังขึ้นมา จากผลงานอัลบั้มชุดแรก​ "ลำแพนเจ้าพ่อ 4 ไห" ออกจำหน่ายในรูปแบบเทปคา​สเซ็ท​ ในสังกัดค่ายเพลง "เลปโส้" ขายดีจน​ ทองมัย​ มาลี เขาไปที่ไหนก็ได้ยินเสียงของเขา​ ไม่ว่าจะในตู้เพลง​ ในรถทัวร์​ ปั้มน้ำมัน​ ดังสนั่นหวั่นไหว​ไปทั่ว​ ทำให้มีนายทุน​ชื่อว่า แปซิฟิก​โปรโมชั่น​ ลงทุนตั้งวงดนตรีหมอลำ "ทองมัย​ มาลี" ให้​ ทำให้แผนที่เขาจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย​กับพี่ชายได้หยุดลง ทั้งที่มีกำหนดวันบินเดินทางแล้ว​ ต้องมาเป็นหัวหน้าวงดนตรีออกรับงานเดินสายรับใช้แฟนเพลง​

ทองมัย​ มาลี​ มีผลงานอัลบั้มหมอลำออกมาอย่างต่อเนื่องหลายอัลบั้ม​ โดยเฉพาะ​ เจ้าพ่อ 4 ไห​ มีหลายภาค​ด้วยกัน มีกลอนลำเด่นๆ อีกมากมาย​ อาทิเช่น​ หัวอกลูกกำพร้า, โกยคำ 4 ไห, คำฝากจากซาอุ, บักหงส์ทองพาเหวิ่น, เสียงแคนแอ่วสาว​ ฯลฯ​ ทองมัย​ มาลี​ นอกจากที่เป็นนักร้องหมอลำที่มีทักษะการลำ มีเสียงเป็นเอกลักษณ์​แล้ว​ อีกความสามารถหนึ่งคือเป็น นักแต่งกลอนลำ​ เคยถูกเชิญไปทำงานเขียนเพลงเขียนกลอนลำ​ ออกทาง​ 64 ประเทศ สปป.ลาว​ เพราะลูกสาวเขามีครอบครัวอยู่ฝั่งโน้น​

ทองมัย มาลี สัมภาษณ์โดย Sisaket Channel

ปัจจุบัน ​ทองมัย​ มาลี​ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บ้านเกิด​ อำเภอราษี​ไศล​ จังหวัดศรีสะเกษ​ ยังคงรับงานแสดง มีวงหมอลำรองรับเจ้าภาพอยู่หลายขนาด

ทองมัย มาลี : ไมค์ทองคำหมอลำฝังเพชร

Credit : Facebook โจ้ จังโก้

art local people

เพลงฮิตอมตะนิรันดร์กาล "ลำน้ำพอง" ที่เปิดผ่าคาราโอเกะขึ้นมาแล้ว เป็นต้องแย่งไมโครโฟนร้องกันเลยทีเดียว ใครๆ ก็รู้ว่านี่เพลงของ "หยาด นภาลัย" แต่มีใครสักกี่คนที่รู้ว่า พระเอกในมิวสิกวีดิโอทุกเพลงของ หยาด นภาลัย นั้น ไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริงแม้สักนิดเดียว เป็นเพียงผู้แสดงแทนที่ชื่อ "สมมาตร​ ไพรหิรัญ" เท่านั้นเอง

ลำน้ำพอง - หยาด นภาลัย ชุด ลำน้ำพอง

แต่ก็แสดงในทุกมิวสิกวีดิโอเพลงของ หยาด นภาลัย หลายร้อยเพลง จนเป็นภาพจำของใครหลายคนไปแล้ว วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเขา ตัวจริง เสียงจริงกัน

yaad napalai 1หยาด นภาลัย

ตำนานเสียงอมตะ "หยาด​ นภาลัย" เขาคือใครทำไมจากลูกอีสาน​ อยากเป็นนักร้องลูกทุ่ง​ไฉนมุ่งไปสู่ลูกกรุง​ เจ้าของเสียงนุ่มลุ่มลึกมีเสน่ห์​ ตำนานเพลงอมตะ "ลำน้ำพอง" โดยมีชื่อจริง “หยาดฟ้า กาลวิบูลย์” เกิดเมื่อ 17 สิงหาคม พศ. 2490​ เป็นชาวตำบลแชแล​ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สุริยพงศ์ กาลวิบูลย์” มีพี่น้อง 18 คน (หยาดป็นบุตรคนสุดท้อง) ของคุณพ่อเสมา และคุณแม่อ่อนจันทร์ กาลวิบูลย์ มีอาชีพทำนา ด้านชีวิตครอบครัว​ นายสุริยพงศ์ กาลวิบูลย์ สมรสกับ​ นางพัชรีย์รัตน์ (อุไร) กาลวิบูลย์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คนแรกเป็นผู้ชาย ชื่อ ปุณณรัตน์ กาลวิบูลย์ (ท็อป) คนที่ 2 เป็นผู้หญิง ชื่อ ชมพูนุช กาลวิบูลย์ (เชอรี่)

เรื่องเล่าเมื่อตอนสมัยยังเป็นเด็ก แม่เล่าว่า เขาได้ตายแล้วฟื้นถึง 2 ครั้ง ทางครอบครัวจึงต้องขออนุญาตกับหลวงพ่อที่วัด ให้มามาบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 7 ขวบจึงได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งภาษาไทย บาลี และภาษาอังกฤษที่วัดในบ้านเกิด จนมีความแตกฉาน ต่อมาเมื่ออายุได้ 10 ปี จนจบชั้น ป.4 จึงได้ลาสิกขา เพื่อเรียนต่อชั้น ม.ศ.1 ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ในเมืองอุดรธานี และเมื่อจบชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยความที่ใฝ่เรียนจึงขออนุญาตทางบ้านมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่ไม่มีใครเห็นด้วย

เขาจึงตัดสินใจหนีเข้ากรุงเทพฯ มาเพียงคนเดียว หางานทำและได้โอกาสร้องเพลงในร้านอาหารชื่อ "พรดีไลท์" ติดกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (ปัจจุบันปิดกิจการแล้ว) ด้วยน้ำเสียงร้องที่คล้ายคลึงกับ​ ชรินทร์ นันทนาคร นักร้องลูกกรุงผู้โด่งดังในยุคนั้น

yaad napalai 5 

ต่อมาได้ไปสมัครทำงานอยู่กับวงดนตรี “จุฬารัตน์” ของ​ ครูมงคล อมาตยกุล ทำหน้าที่เป็นเด็กแบกกลองในวง ร่วมยุคสมัยเดียวกันกับ “พนม นพพร” “สรวง สันติ” และมีโอกาสขึ้นร้องคั่นเวลา โดยมีครูเพลงเช่น ครูไพบูลย์ บุตรขัน ครูมงคล อมาตยกุล พร ภิรมย์ และ นคร ถนอมทรัพย์ เป็นคนแนะนำ เรื่ิองการแต่งเพลงให้ โดยใช้นามปากกาว่า “หยาด นภาลัย” หยาดก็ได้บันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในเพลงชื่อ "วันพระไม่มีเว้น" เมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยใช้ชื่อนักร้องในครั้งนั้นว่า “ประสพชัย กาลวิบูลย์” แต่เพลงแรกในชีวิตของเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยน้ำเสียงที่คล้ายกับชรินทร์ นันทนาครเป็นอย่างมาก

ต่อมาเมื่อวงดนตรี​ จุฬารัตน์ ยุบวง​ จากนั้นเขาได้ย้ายไปอยู่กับวงดนตรี “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” ไม่นานก็ลาออก ด้วยตัวเขาเองมีประสบการณ์การแต่งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง ในระดับที่น่าพอใจ จึงออกอัลบั้มชุดแรก​ แบบทำเอง ขายเอง ในปี พ.ศ. 2513 คือ หนองหานวิมานร้าง และลำน้ำพอง ในปี พ.ศ. 2521 แต่ไม่ดัง จนในชุดต่อๆ มา คือ พระลอคนใหม่ ในปี พ.ศ. 2524 และลำน้ำพอง ขับร้องโดย นรินทร์ พันธนาคร เมื่อปี พ.ศ. 2527 ช่วงนี้ได้แต่งเพลงชื่อ "สาวน้ำพองสะอื้น" ให้ ดาวใจ ไพจิตร ขับร้องแก้ เพลงจึงเริ่มโด่งดังติดหูคนฟังโดยทำผลงานกับค่าย "โรต้า เทปและแผ่นเสียง"

เขาเคยใช้ชื่อนักร้องหลายชื่อ เช่น ประสพชัย กาลวิบูลย์ และ นรินทร์ พันธนาคร จนต่อมากลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับชื่อนี้ เพราะพ้องกับชื่อของ ชรินทร์ นันทนาคร จนในที่สุดจึงต้องเปลี่ยนเป็น นรินทร์ นภาลัย และต่อมาจึงหันมาใช้ หยาด นภาลัย ที่ ครูนคร ถนอมทรัพย์ ตั้งให้​

จนต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ค่ายโรต้าได้ปิดตัวลง หยาด นภาลัย ก็ได้ไปเข้าร่วมในสังกัดค่ายเพลงพีจีเอ็ม (PGM) ได้เป็นศิลปินคนแรกของทางค่ายนี้อีกด้วย และได้นำเพลงดังต่างๆ ที่หยาดได้เคยร้องอยู่นั้น นำมาร้องใหม่ ทำใหม่​ในโปรเจ็ค​ต์​ “อมตะเงินล้าน” มีเพลงเด่นๆ เช่น “ลำน้ำพอง” และบทเพลงเก่าที่เคยดังมาก่อนแล้วมาทำใหม่ ดนตรีใหม่ โดยให้ หนุ่ม ภูไท เป็นผู้เรียบเรียงเสียงดนตรี

yaad sommart

มีผลงานมาตั้งแต่ชุดที่ 1 - 51 ถึอว่ามากที่สุด ในขณะที่อยู่ในสังกัดพีจีเอ็ม แต่ตัวคนร้อง​ หยาด​ นภาลัย​ กลับไม่ได้โชว์หน้าตาออกมิวสิควิดีโอในทุกเพลงด้วยตนเองเพราะเนื่องจากติดปัญหากับทางค่ายต้นสังกัดเดิม​ๆ ของเขา ต้องใช้แค่นักแสดงที่ชื่อ​ "สมมาตร ไพรหิรัญ" มาแสดงเป็นพระเอกในมิวสิกวีดีโอ​ แทนเสียงร้องทำให้คนดูจินตนาการถึงเจ้าของเสียงนุ่มๆ ลึกๆ อมตะๆ​ ผ่านพระเอกมิวสิกวีดีโอ​ ซึ่งรับบทโดย​ "สมมาตร​ ไพรหิรัญ" และทุกเพลงพระเอกต้องเป็นนักแสดงท่านนี้เท่านั้น​ จนคนดูเข้าใจผิดคิดว่า​ สมมาตร​ ไพรหิรัญ​ คือ​ หยาด​ นภาลัย จนในที่สุดเขาก็หมดสัญญากับทางค่าย

ต่อมาในปี 2540 หยาด นภาลัย ได้บันทึกเสียงเพลงอีกครั้งในชื่อชุด "กล่อมกรุง" โดยนำเพลงเก่าของนักร้องรุ่นพี่ อย่าง ชรินทร์ นันทนาคร, สุเทพ วงศ์กำแหง, ธานินทร์ อินทรเทพ,ฯลฯ อาทิเพลง เรือนแพ, ท่าฉลอม, แสนแสบ และอีกหลายเพลงจนประสบผลสำเร็จ

ช่วงท้ายชีวิต​ หยาด นภาลัย ยังมีเรื่องราวดราม่า​อีกมากมายของศิลปินอาวุโสท่านนี้ ระหว่างตัวเขากับบริษัทค่ายเพลงที่เคยร่วมงานกันมาก่อน จนเป็นข่าวและหมดสัญญาแล้ว (ก็เรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่ไม่ชัดเจนในอดีตนั่นแหละ) ประเด็นที่น่าเห็นใจคุณหยาดก็คือ แกไม่มีสิทธิ์รับงานโชว์ตัว หรือมีรายได้ทางอื่นเหมือนนักร้องทั่วไปเลย เนื่องจากทางค่ายระบุในสัญญาว่า จะต้องไม่เปิดเผยหน้าตา (สาเหตุที่ในมิวสิกวีดิโอต้องเป็นคุณสมมาตร ก็น่าจะประเด็นนี้ด้วยมั๊ง) ทำให้เกิดมีปัญหาความเครียดสะสมมากขึ้น รวมทั้งป่วยเป็นโรคเบาหวาน และกลายเป็นอัมพฤกษ์ ตั้งแต่ปี​ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา รักษาตัวนอนป่วยอยู่นานถึง 13 ปี​ ติดเตียง พูดไม่ได้มา 5 ปี​ จนวาระสุดท้ายของชีวิต หยาด​ นภาลัย ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 จากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน และเส้นเลือดในสมองแตก รวมอายุได้ 63 ปี

yaad napalai 4

หนุ่ม ภูไท ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน และนักแต่งเพลงคู่ใจ “หยาด นภาลัย” ได้กล่าวถึงเขาว่า "เรื่องที่แกล้มลงป่วยเพราะแกไปร้องเพลงอยู่ แล้วก็ล้มในห้องน้ำแล้วไม่ได้เอาไปส่งโรงพยาบาล กินยาหม้อสมุนไพร ถ้าเอาไปส่งโรงพยาบาลคงหาย ผมจะคอยดูว่าคนที่เอาไปร้องเพลงเนี่ยจะมามั๊ย ล้มแล้วแกเดินไม่ได้เลย ป่วยล้มหมอนนอนเสื่อมาเป็นสิบๆ ปี และแกอาภัพหลายอย่าง เช่น เรื่องรูปร่าง เพราะว่ามีแต่คนอยากได้นักร้องหล่อๆ ถ้าไม่หล่อเขาไม่ให้ออกในทีวี ความน้อยเนื้อต่ำใจมันมีมาก แกเป็นคนเก็บกดแกไม่พูด กลุ้มก็เอาเหล้ามากินจบ

เป็นนักร้องที่น่าสงสารมาก ชุดแรกที่ผมทำให้มีหลายเพลง ลำน้ำพอง น้ำพองสะอื้น อยู่แต่ละบริษัท ทำกับหลายบริษัท ซึ่งบริษัทที่มีการโกงฟ้องกัน โดนยึดตึก เพราะอ้างว่าเบิกเงินเกิน ผมคิดว่าไม่น่าทำกันได้ ผมเศร้าใจเหลือเกิน ซึ่งเพลงที่ผมทำให้กับหยาดตอนนี้ก็ยังเอาเพลงไปวางขายอยู่

ที่ผ่านมาหยาดเขาไม่ออกต่อหน้าสื่อ เพราะบริษัทคิดว่า ถ้าเขาออกไปแล้วคนจะไม่ซื้อ หน้าตาแกก็ไม่ใช่ขี้เหร่หรอก แต่ว่ามุมมองคนมันมองคนละอย่าง จุดด้อยแกมีเยอะเลยไม่อยากให้ออกต่อหน้าสื่อ สมัยนี้ไม่มีแล้วนักร้องระดับนี้แล้ว เขาร้องเพลงดีมากแต่ละเพลงที่ร้องใส่อารมณ์เยอะมาก เพลงที่จะเพราะได้ ดีได้ จะมีแต่ดนตรีไม่ใช่นะ มันต้องประสานกันดนตรีดี ร้องดีอันดับแรกมันอยู่ที่อารมณ์เพลง แต่แกก็ไม่ค่อยจะเข้าในวงการเท่าไหร่ ซึ่งลิขสิทธิ์เพลงตอนนี้อยู่ที่ภรรยาแล้ว แต่ใครจะเอาผมก็ขายได้"

yaad napalai 2yaad napalai 3

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี ​2514 จนถึงปี 2541​ รวมผลงานเพลงที่เป็นผู้แต่งและร้องเอาไว้มีไม่ต่ำกว่า 500เพลง หยาด​ นภาลัย​ เคยปั้นคนอื่นๆ เป็นศิลปินอีกด้วย คือนิตยา นภาลัย ก้อง นภาลัย และ พร นภาลัย

นายสุริยพงศ์ กาลวิบูลย์ หรือ “หยาด นภาลัย” ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลศิลปินผู้สร้างสรรค์ “อมรศิลปินมรดกอีสาน” สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกกรุง) พ.ศ. 2562 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สมมาตร ไพรหิรัญ คอนเสิร์ตจากใจถึงใจ รำลึกถึง หยาด นภาลัย

looktung morlum artists

mon rue dee 01มลฤดี พรหมจักร

นางมลฤดี พรหมจักร หรือ นางมลฤดี บุญรถ เดิมชื่อว่า อินทหวา พรหมจักร เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2497 ปีมะเมีย ที่บ้านนาคำ ตำบลฟ้าฮ่วน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี บิดาเป็นนักบวช ส่วนมารดาประกอบอาชีพทำนา เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ได้ช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา และเลี้ยงวัว-เลี้ยงควายตามวิถีของเด็กชนบท ที่ไม่มีโอกาสได้เข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

แต่ในความที่เป็นคนชื่นชอบในหมอลำ ซึ่งเป็นสื่อพื้นบ้านที่สามารถหารับฟังได้ทางสื่อวิทยุในสมัยนั้น  โดยเฉพาะอิทธิพลของหมอลำ อังคนางค์ คุณไชย และฉวีวรรณ ดำเนิน ทำให้สาวส่ำน้อยที่ชื่อ อินทหวา พรหมจักร มีความใฝ่ฝันที่ยากจะเป็นหมอลำบ้าง จึงฝึกฝนการลำด้วยตนเองจากการฟังหมอลำทางสถานีวิทยุ

จนเมื่อ หมอลำสมพงษ์ (จำนามสกุลไม่ได้) ซึ่งเป็นหมอลำในหมู่บ้าน คิดจะตั้งคณะหมอลำขึ้นมา เพราะเห็นว่ามีหนุ่ม-สาวในหมู่บ้านหลายคน มีน้ำเสียงดี รวมถึง อินทหวา พรหมจักร ด้วย หลังจากการตั้งคณะจึงได้ไปเชิญให้ หมอลำคำนึง (จำนามสกุลไม่ได้) มาช่วยสอนการฟ้อนการรำให้ ซึ่งถือเป็นครูคนแรกของหมอลำอินทหวา ได้พัฒนาทักษะในการลำจนเป็นที่น่าพอใจของครู จึงได้รับบทแสดงเป็นเรื่องแรก คือ เรื่อง “นางในโรงแก้ว” และได้รับบทนางเอกประจำคณะ “สมพงษ์ศิลป์” ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 16 ปี ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ในวงการเป็น มลฤดี พรหมจักร รับบทนางเอกต่อมาจนถึงอายุ 27 ปี หมอลำคณะสมพงษ์ศิลป์ ก็ได้แยกย้ายกันไปเพราะต่างคนต่างก็มีครอบครัว

mon rue dee 02

หลังจากนั้น หมอลำมลฤดี จึงได้ออกไปร่วมแสดงกับคณะหมอลำอื่นๆ เรื่อยมา จนกระทั่งอาจารย์สมาน (ไม่ทราบนามสกุล) แห่งบ้านนาแวง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ได้มาเห็นฝีมือในการลำ จึงได้นำตัวไปฝากกับ คณะหมอลำทองลำ เพ็งดี ซึ่งเวลานั้นหมอลำคณะนี้อยู่ในช่วงขาลง แต่มลฤดีก็ได้รวมกับคณะของ ทองคำ เพ็งดี และ ฉวีวรรณ ดำเนิน ฟันฝ่าอุปสรรคเรื่อยมา จนสามารถมีโอกาสนำกลอนลำที่ตนเองแต่งขึ้นเป็นครั้งแรก จากคำแนะนำของ ทองคำ เพ็งดี บันทึกเสียงในสังกัด บริษัทเสียงสยาม ในรูปแบบการลำภูไท ในชุด “สาวนักเรียนตำตอ"

มลฤดี พรหมจักร : ตำนานสาวนักเรียนตำตอ "ราชินีลำภูไท"

จนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากมหาชนผู้รับฟัง ทำให้ชื่อเสียงของ มลฤดี พรหมจักร เป็นที่รู้จักนับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน และมีโอกาสบันทึกเสียงอีกหลายชุดทั้ง ลำภูไท ลำผญาย่อย ลำตังหวาย ลำคอนสะหวัน ฯลฯ จึงนับว่าเป็นศิลปินอีสานที่มีความสามารถในการขับลำท้องถิ่น และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นได้เป็นอย่างดี

  • นางมลฤดี พรหมจักร จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ขับลำท้องถิ่น) ประจำปีพุทธศักราช 2550 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

mon rue dee 03

ออกผลงานลำล่องลำชุด "วิญญานแม่" (ตำนานบุญข้าวประดับดิน) ได้โด่งดังและนิยมสูงสุดอีกรอบ คุณแม่มลฤดี พรหมจักร เป็นศิลปินที่ทำคุณประโยชน์ช่วยเหลือสังคมมาตลอด เช่นงานถ่ายทอดศิลปะการร้องลำให้กับหน่วยงาน หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดมา

วิญญาณแม่ (บุญข้าวประดับดิน) : มลฤดี พรหมจักร 

จนมาถึงช่วงกลางปี พ.ศ. 2551 ได้ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ได้เข้ารับรักษากับหมอเฉพาะทางมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ถึงปี พ.ศ. 2562 ได้ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ และเป็นอัมพฤกษ์ซีกซ้าย จึงต้องงดการรับงานแสดงหมอลำไว้ก่อน เพื่อหยุดพักรักษาตัวเรื่อยมา

mon rue dee 04

จนกระทั่งได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 กรกฏาคม 2565 เวลา 13.06 นาที ณ บ้านโบกม่วง หมู่ 6 ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี สิริรวมอายุได้ 68 ปี

mon rue dee 05

ทีมงานเว็บไซต์ประตูสู่อีสาน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว 'พรหมจักร' ด้วยครับ

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)