![]()
|
ในการทำเครื่องดนตรีอีสานประเภทเครื่องเป่าอย่าง "แคน" หรือ "โหวด" จะมีการนำท่อเสียงที่ทำจากไม้ไผ่ หรือที่เรียกกันว่า "ลูกแคน" มารวมกันเป็นมัดสอดเข้าไปใน "เต้าแคน" จะอุดด้วยวัสดุธรรมชาติที่เรียกว่า "ขี้สูด" เพื่อไม่ให้ลมเล็ดลอดออกมาตามช่องว่างระหว่างเต้าแคน บังคับให้ลมไหลผ่านลิ้นแคนให้เกิดเสียงต่างๆ "ขี้สูด" นี้จะมีความเหนียว ชุ่มชื้น ไม่แห้ง เป็นกาวธรรมชาติที่หาได้ไม่ยาก เป็นภูมิปัญญาของคนอีสานโบราณ
ชื่อ : แมงสูด , แมงขี้สูด (นักพรตแห่งโพนปลวก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetragonisca ,Trigona apicalis และ Trigona Collina
วงศ์ : Stingless bee
แมงสูด เป็นชื่อของแมลงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในตระกูลผึ้ง มีขนาดลำตัวเล็กๆ และไม่มีเหล็กในในตัวเอง นิสัยเป็นมิตร ไม่ดุร้าย มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับผึ้ง มีวรรณะ เช่น มี นางพญา (แม่รัง) สูดงาน (ไม่มีเพศ) และ สูดสืบพันธุ์ (มีทั้งตัวผู้ตัวเมีย) สามารถผลิตน้ำหวาน และขยายเผ่าพันธุ์ได้ ทางภาคเหนือจะเรียกว่า “แมลงขี้ตึง” แปลว่า แมลงที่ผลิตหรือเก็บน้ำยางได้ ทางภาคอีสานเรียก "แมงขี้สูด” นิยมนำมาอุดแคน หรือถ่วงเสียงเครื่องดนตรีเกือบทุกชนิด ทำให้เกิดเสียงไพเราะ ส่วนภาคใต้เรียกตัว “อุง” สำหรับภาคกลาง รู้จักในชื่อตัว “ชำมะโรง" หรือ “ชันโรง”
บางครั้งทำรังในระดับทางเดินของคน มีชื่อเรียกภาษาอีสานว่า "สูดเพียงดิน” หมายถึง แมลงชนิดนี้ทำรังระดับเดียวกันกับพื้นดิน แล้วทำท่อขึ้นมาจากพื้นดินครับ ซึ่งปกติแล้วแมลงชนิดนี้มักจะทำรังในที่สูงครับ เช่น โพรงไม้หรือจอมปลวกครับ ”สูดเพียงดิน” นี้ค่อนข้างจะหายากครับ ถ้าใครเจอให้เก็บไว้เลยนะครับเป็นของดีเอามาใส่เครื่องดนตรีชนิดใด ก็ไพเราะจนคนไหลหลง อีกทั้งผู้ร่ำเรียนไสยศาสตร์ มักจะนำไปปลุกเสกเป็นมหานิยม แล
ขี้สูด เป็นแมลงสังคม (Social insect) กลุ่มเดียวกับผึ้ง ลักษณะที่สำคัญแตกต่างกันไปจากผึ้ง คือ เป็นผึ้งขนาดเล็กที่ไม่มีเหล็กใน เป็นแมลงที่เชื่อง ไม่ดุร้ายกับศัตรู บางชนิดขี้อาย ชอบหลบอยู่ในรูหรือโพรงไม้ อยู่ในวงศ์ผึ้ง กลุ่มนี้ว่า "Stingless bee" สามารถสร้างน้ำหวานได้เช่นกัน คำว่า "ขี้สูด" เป็นชื่อเรียกพื้นเมือง (Verrnacular name) ทั่วไปของภาคอีสาน ที่มาของคำนี้สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากลักษณะการสร้างรัง เนื่องจากแมลงกลุ่มนี้ได้เก็บหา ยาง (gum) ชัน (resin) ของต้นไม้ แล้วนำมาอุดยาชันรอบๆ ปากรังและภายในรัง เพื่อป้องกันน้าไหลซึมเข้าไปภายในรัง และยังเป็นการป้องกันศัตรูบริเวณปากรัง
ตัวอ่อนเมื่อกินน้ำหวานแล้ว จะขับถ่ายเกสร หรือยางไม้ออก พวกวรรณะงาน (ตัวสูดไม่มีเพศ) จะขนถ่ายเศษเหล่านั้นไปสะสมไว้ใต้รัง ส่วนนี้เองที่เรียกว่า ”ขี้สูด” เนื่องจากมีกลิ่นหอมแปลกๆ จากยางไม้ดอกไม้นาๆ ชนิด หากจับต้องแล้วเป็นต้องดมสูดกลิ่นอันนี้ ประหลาดแท้ จึงเรียกว่า ขี้สูด อีกอย่าง สมัยโบราณ ไม่มีส้วม จึงอาศัยตื่นแต่เช้า ไปขี้ (ขับถ่าย) อยู่ข้างโพน บังเอิญเจอแมงอันนี้ จึง โก่งโก้ย ไปสูดดมปล่องรัง ได้ทั้งกลิ่นขี้ได้ทั้งกลิ่นน้ำหวาน แมงอันนี้ จึงตั้งชื่อว่า "แมงขี้สูด" นั่นเอง
สำหรับขนาดตัวของแมงขี้สูดโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่า เป็นแมลงที่รวมกันอยู่เป็นสังคมเช่นเดียวกับ ผึ้งรวง (ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง และผึ้งเลี้ยง) ภายในสังคมแบ่งออกเป็น 3 วรรณะ คือ นางพญา (Queen) ตัวงาน (Worker) และตัวสืบพันธุ์ (Male) โดยที่ขนาดลำตัวระหว่างนางพญา กับตัวงานมีขนาดแตกต่างกันมาก ตัวสืบพันธุ์มีขนาดใกล้เคียง หรือเล็กกว่านางพญาเล็กน้อย
ส่วนหัวมีตารวม มีหนวด 1 คู่ ตาเดี่ยว 3 ตา ช่วงท้อง (Metasoma) ไม่เป็นรูปปิระมิดมีลิ้นเป็นงวงยาว ขา3 คู่ ขาคู่หน้าและคู่กลาง ค่อนข้างเล็กขาหลังเรียวไม่แผ่แบน ไม่มีเหล็กใน
ตัวของ”สูดงาน”ตัวงานมีจำนวน 12 ปล้อง มีคล้ายนางพญาแต่ขนาดลำตัวเล็กกว่า กรามพัฒนาดีต่อการใช้งาน ขาคู่หลังแผ่กว้างเป็นใบพายมีขนจำนวนมาก รูปร่างคล้ายหวีสำหรับใช้เก็บละอองเรณูของดอกไม้ มีปีกปกคลุมยาวเกินส่วนท้อง และไม่มีเหล็กใน
ลำตัวมีจำนวน 13 ปล้อง คล้ายนางพญา มีขนาดเล็กกว่า หรือใกล้เคียงกัน ตารวมเจริญพัฒนาดี กรามพัฒนาไม่ดีพอต่อการใช้งาน หนวดยาวกว่า วรรณะทั้งสอง โค้งเว้าเป็นรูปดัวยู ปลายส่วนท้องปล้องสุดท้ายมีครีบสำหรับผสมพันธุ์ (genitalia) ส่วนของขาคล้ายกับ “สูดงาน“ แต่ขาคู่หลังของชันโรงตัวผู้เล็กกว่า
ลักษณะรัง การสร้างรังในป่าธรรมชาติเกิดจากการที่สูดวรรณะงานบางตัว เสาะหาแหล่งที่จะสร้างรังใหม่ เนื่องจากประชากรในรังเก่ามาก แออัด และมีนางพญารุ่นลูก (daughter queen) เกิดขึ้นมา ทำให้ต้องแยกรังออกไปสร้างใหม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ฤดูผสมพันธุ์ของมัน การสร้างรัง ขึ้นอยุ่กับแต่ละชนิด แต่ละชนิดเลือกสถานที่สร้างรังต่างกัน สามารถแยกลักษณะของการสร้างออกได้ 4 กลุ่มมีดังนี้
แมงขี้สูดนี้จะสร้างปากรังออกมาเป็นหลอดกลม หรือแบนที่สร้างด้วยยางหรือชันไม้ โดยที่แมงสูดแต่ละชนิดจะมีรูปร่างปากรูใกล้เคียงกัน หรือแตกต่างกันไปตามชนิดของมัน ภายในรังมีการสร้างเป็นเซลล์ หรือ หน่วยๆ เพื่อให้นางพญาวางไข่ และตัวงานเก็บ ละอองเรณู น้ำหวาน เพื่อใช้เลี้ยงตัวอ่อน เซลล์เรียงตัวเป็นชั้นๆ ไปตามแนวนอน ตามพื้นที่ภายในรังจะอำนวย วกวนไปมาหลายๆ ชั้นโดยที่ผนังเซลล์แต่ละหน่วยถูกสร้างเป็นผนังบางๆ จากชันยางไม้ผสมไขที่ชันโรงสร้างเคลือบเอาไว้ ภายในรังสามารถแยกเซลล์ออกเป็น หลอดนางพญา หลอดตัวงาน หลอดเก็บเกสร และหลอดเก็บน้ำหวาน และท้ายสุดหลอดที่เก็บขี้สูด
สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กน้อยเวลาไปทุ่งนากับพ่อ ชอบไปดูตามจอมปลวกเหนือโพนด้วยความอยากรู้ ไปเจอรังของแมลงเล็กๆ ถามพ่อว่าเป็นรังอะไร พ่อบอกว่าเป็นรังของแมงสูด หรือตัวขี้สูด พ่อบอกว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านจะมาหาขุดหาเอาน้ำหวานจากรังของมัน รวมทั้งเอา “ขี้สูด” เพื่อเอาไปทำประโยชน์ต่างๆ เช่น อุดเต้าแคน อุดเต้าโหวด ใช้ยึดติดขั้น (Frets) ของพิณ หรือซุง ซึ่งจะสามารถเลื่อนไปมาได้ ตามความต้องการของผู้ดีดที่ประสงค์จะให้เสียงลายพิณตรงกับเสียงที่ต้องการในแต่ละลายที่ดีด (ไม่ตายตัวเหมือนกีตาร์ฝรั่ง)
พอโตขึ้นได้เที่ยวไปตามหมู่บ้านต่างๆ ไปเจอชาวบ้านใช้คุไม้ใส่น้ำ ที่สานจากไม้ไผ่เอาชันยามาทาเคลือบไว้ ทำให้บรรจุน้ำได้ไม่รั่ว เมื่อใช้ไปนานๆ อาจมีรูรั่วก็จะใช้ขี้สูดอุดไว้กันน้ำรั่ว เวลาเล่นว่าวจุฬา เอาขี้สูดติดตรงรอยต่อของ ”สะนูว่าว” ปล่อยว่าวลอยลมขึ้นฟ้า เสียง "สะนู" ดังก้องท้องทุ่งทั้งคืน แคนที่เป็นเครื่องดนตรีดึกดำบรรพ์ของโลก ก็เอาขี้สูดติดที่เต้าแคนกับลำแคนที่ทำมาจากต้นไม้ไผ่เหี้ย โหวตเครื่องเป่าก็ใช้ขี้สูดติด รวมทั้งการทำหน้ากลองยาว กลองกิ่ง ชาวบ้านก็เอาขี้สูดติดเพื่อถ่วงเสียงให้ได้ตามที่ต้องการ
กลิ่นของขี้สูดมักมีกลิ่นหอมแปลกๆ ของยางไม้หรือเกสร อนึ่งบนหิ้งพระของปู่ มีก้อนขี้สูดเพียงดิน ปั้นเป็นรูปพระ แกเล่าว่า ผ่านการปลุกเสกมาแล้ว เอาไว้ทำมาค้าขาย เมตตามหานิยม เป็นของดี
จะเห็นได้ว่า “ขี้สูด” ข้องเกี่ยวทางวิถีอีสานหลายอย่าง ยกแคนขึ้นมาเป่า เอากลองมาตี เอา “โตดโต่ง “ (พิณ) มาดีด ก็จะได้กลิ่น "ขี้สูด” เอา “สะนู” มาเล่นยามลมห่าว ก็มีขี้สูดติด นับว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม หลายอย่าง อีกทั้งแมลงชนิดนี้ช่วยในการผสมเกสร ดอกไม้ต่างๆ ทำให้ผลไม้ติดผลดี นิสัยก็ไม่ดุร้าย ไม่เคยทำลายใคร ดังนักพรตแห่งจอมปลวก เครื่องดนตรีของภาคอีสาน ล้วนต้องมีขี้สูดข้องเกี่ยวทั้งนั้น เสมือนจะบอกว่า
ดนตรีมิเคยทำร้ายใคร มีแต่เอิบอิ่มเติมเต็ม ดังเช่นนิสัยแมงขี้สูด... "
ซอกันตรึม หรือ ตรัวกันตรึม เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีที่มีบทบาทสำคัญในวงกันตรึมของอีสานใต้มาช้านาน คันทวน หรือ ตัวซอทำจากไม้หลากชนิดที่หาได้ในท้องถิ่น กล่องเสียงขึงด้วยหนังงูเหลือม หรือหนังจำพวกตะกวด มีช่องเสียง อยู่ด้านตรงข้ามหน้าซอ ใช้สายลวดมี 2 สาย คันชักอยู่ระหว่างสาย คันซอยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีลูกบิดอยู่ตอนนอกซอใช้รัดด้วยเชือก มีคันชักผูกเชือกหางม้า หรือไนล่อนทำหน้าที่ถูลงบนสายโลหะจำนวน 2 สาย ที่พาดขึงในลักษณะเดียวกันกับซอในภาคกลาง เพื่อให้เกิดเสียงดังกังวาล บางครั้งจะเห็นมีการดัดแปลงประยุกต์กะโหลกซอ โดยใช้กระป๋องหรือปี๊บ ซึ่งอาจเรียกแทนว่า ซอกระป๋องหรือซอปี๊บได้
ซอกันตรึมนั้นมีขนาดที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขนาด คือ
วงดนตรีกันตรึมพื้นบ้านแบบเดิม มีเครื่องดนตรีครบชุด ประกอบด้วย กลองกันตรึม 2 ลูก ซอตรัวเอก 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ขลุ่ย 1 เลา ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่ ผู้เล่นมีประมาณ 6 - 8 คน และมีนักร้องชาย - หญิง โดยทั่ว ๆ ไป มักนิยมให้มีชาย 2 คน หญิง 2 คน ถ้าเครื่องดนตรีไม่ครบตามที่กล่าวไว้ วงกันตรึมบางคณะก็อาจจะอนุโลมให้มีเครื่องดนตรีดังนี้ กลองกันตรึม 1 ลูก ซอกันตรึม 1 คัน ฉิ่ง 1 คู่ ซึ่งก็จะมีนักดนตรี เพียง 4 คน และอาจจะมีนักร้องฝ่ายชาย 1 คน และฝ่ายหญิง 1 คน ซึ่งถ้าฝีมือคนเล่นซอมีความสามารถเป็นพิเศษ บรรเลงได้ไพเราะก็จะได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ถือว่าครบชุดเป็นวงดนตรีพื้นเมืองได้
การใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ของชาวอีสานมักจะประดิษฐ์ขึ้นให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเสียง ในขณะที่มีเสียงต่ำ ก็จะใช้ซออู้แทน เพื่อให้คล้ายคลึงกับเสียงผู้เฒ่า ใช้ซอด้วงแทนเสียงหนุ่มสาว ซออี้ แทนเสียงธรรมชาติ เช่น สายลมพัดพลิ้ว
ซอกันตรึมเป็นซอ 2 สาย มีช่วงเสียงกลาง มีขนาดเล็กกว่าซออู้ มีคันชักติดอยู่กึ่งกลางระหว่างสายทั้ง 2 ที่เรียกว่า สายเอก และสายทุ้ม กะลามะพร้าวที่นำมาแกะและขึ้นหน้าซอกันตรึมนั้น มักนิยมใช้กะลาชนิดพิเศษ รูปร่างกลม รี ขนาดใหญ่ ตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง แล้วใช้หนังแพะ หรือหนังลูกวัวขึงขึ้นหน้า กว้างประมาณ 9-10 เซนติเมตร เจาะกะโหลกทะลุตรงกลาง ทั้ง 2 ข้าง สอดคันทวนเข้าไปในรูผ่า ทะลุออกมา คันทวนทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ขนาดยาวประมาณ 80 เซนติเมตรขึงสายไหมหรือเอ็นที่ปลายลูกบิด 2 เส้น สายเสียงต่ำอยู่ด้านบน สายเสียงสูง (สายเอก) อยู่ด้านล่าง ลูกบิดยาวประมาณ 17-18 เซนติเมตร นำเชือกหรือด้ายป่าน ผูกตรงกึ่งกลางคันทวน เรียกว่า "รัดอก" ที่ด้านหน้าซอ ใช้ไม้ที่มาตัดประมาณ 3 เซนติเมตร เรียกว่า หย่อง
ซอกันตรึมนั้นมีลักษณะออกแนวหวานซึ้ง อ้อยอิ่ง มักใช้เป็นเครื่องดนตรีนำ ของเพลงต่างๆ สำหรับส่วนประกอบของซอกันตรึมนั้น มีดังนี้
ท่วงทำนองของแคนที่ถูกเป่าออกมานั้น ชาวอีสานเรียกว่า ลายแคน ซึ่งก็คือ จังหวะ ทำนองแคน นั่นเอง ลายแคนเป็นการสืบต่อกันมาจากความทรงจำหมอแคนในอดีต ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ลายแคนถูกประดิษฐ์ขึ้น จากการเลียนลีลา และท่วงทำนองหรือเสียงจากธรรมชาติ ซึ่งให้ความไพเราะจับใจ
"ลาย" ในความหมายของดนตรีอีสาน หมายถึง สิ่งที่มีมากกว่า 1 ขึ้นไปผสมผสานอยู่ในสิ่งเดียวกัน จะอยู่ในแนวเดียวกันหรือตัดกันก็ได้ เรียกว่า ลาย หรือ ลวดลาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประวัติและที่มาของลายดนตรี ขึ้นอยู่กับชนิด และความเหมาะสม ในการบรรเลงของเครื่องดนตรีที่ใช้ดำเนินทำนอง ตามความหมายของคำว่าลาย ผู้เชี่ยวชาญการเป่าแคนหรือหมอแคน ยังไม่สามารถแยกคำว่า ลาย และระดับเสียง ออกจากกันได้เนื่องจากมีการปลูกฝังและสืบทอดกันมายาวนาน แต่เท่าที่รับฟังคำบอกเล่าของผู้รู้และหมอแคนพอจะกล่าวได้ว่า
ดนตรีอีสานสามารถแยกระดับเสียงได้โดยยึดแคนเป็นหลัก มี 2 กลุ่มระดับเสียง คือ กลุ่มทางยาว และกลุ่มทางสั้น
แคน มีลายหลักๆ อยู่ 6 ลายโดย แยกตามกลุ่มทางยาวและทางสั้นได้ดังนี้
ลายกลุ่มทางยาวมี 3 ระดับ คือ | ลายกลุ่มทางสั้นมี 3 ระดับ คือ |
---|---|
เสียงต่ำ หมอแคนเรียกว่า ทางใหญ่ หรือ ลายใหญ่ เสียงกลาง หมอแคนเรียกว่า ทางน้อย หรือ ลายน้อย เสียงสูง หมอแคนเรียกว่า ทางเซ หรือ ลายเซ |
เสียงต่ำ หมอแคนเรียกว่า สุดสะแนน เสียงกลาง หมอแคนเรียกว่า ลายโป้ซ้าย (หัวแม่มือซ้าย) เสียงสูง หมอแคนเรียกว่า ลายสร้อย |
ลายแคน มีดังนี้
ดังนั้นคำว่า สุดสะแนน ในเรื่องของลายแคนนี้จึงหมายถึง ความไพเราะจับใจ ใครได้ฟังลายนี้แล้วมักจะคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน คิดถึงบิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือต้องใช้คำว่าเกิดความออนซอน ขึ้นมาอย่างที่สุด นั่นก็คือเขาคิดหวนกลับไปถึง สายแนน ดั้งเดิมของเขานั่นเอง
สะแนน เป็นภาษาอีสาน หมายถึง เตียง (สำหรับผัวเมียนอน) หรือแคร่สำหรับนอนย่างไฟ (ของหญิงเมื่อคลอดบุตร) จึงหมายถึง ความยากลำบาก คนอีสานมักใช้คำนี้ หลังจากที่ผู้หญิงคลอดลูกแล้วอยู่ไฟ คนอีสานเรียกว่า อยู่กรรม ต้องอาบน้ำร้อน กินน้ำร้อน นอนผิงไฟบนไม้กระดานแผ่นเดียว ซึ่งเป็นความยากลำบากของผู้หญิง
ความหมายทางด้านทำนอง หมายถึง การพรรณาชีวิตของคนอีสาน ที่มีทั้งความรักและความผูกพัน ความห่วงใยหวนหา ความอดทนต่อสู้อย่างมีความหวัง และความเพลิดเพลิน บางท่วงทำนองบ่งบอกถึงความรัก และความผูกพันที่มีต่อความรักของชายหนุ่มหญิงสาว ตลอดทั้งความรักที่มีต่อครอบครัว เครือญาติ และผู้ที่รู้จักมักคุ้นที่อาศัยอยู่ด้วยกันในท้องถิ่นตนเอง และใกล้เคียง
บางท่วงทำนองบ่งบอกถึงความผูกพัน กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา จนสร้างสมให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกันในสังคม บางท่วงทำนองบ่งบอกให้เห็นถึงความอดทนต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่รุมเร้าเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต บางเรื่องก็หาวิธีแก้ไขได้ บางเรื่องก็ต่อสู้ไปตามยถากรรม ให้วันเวลาผ่านพ้นไป
บางท่วงทำนองแสดงถึงการพลัดพรากจากกัน ทั้งที่จากไปแล้วไม่มีวันกลับ บางท่วงทำนองแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความสนุกสนาน เพลิดเพลินอย่างบริสุทธิ์ เสียงแคนลายใหญ่ หรือ ลายอ่านหนังสือพิมพ์ จะทำให้ผู้ฟังนึกถึงภาพคนอีสานกำลังทำงาน เช่น ทำไร่ ทำนา บางครั้งเหงื่อไหลเข้าตา บางครั้งเหงื่อค่อยๆ ไหลผ่านใบหน้าที่เต็มไปด้วยริ้วรอยอันเหี่ยวย่น แลดูแก่เกินวัยลงสู่พื้น มองดูแววตาเหน็ดเหนื่อย แต่มุ่งมั่นอดทน เพื่อความหวังและการรอคอย
ความหมายทางด้านทำนอง หมายถึงการพรรณาชีวิตของคนอีสานเช่นกัน แต่จะมีเนื้อหาน้อยกว่าลายใหญ่ เนื่องจากมีเสียงจำกัด ไม่สามารถดำเนินทำนองได้เต็มรูปแบบเหมือนลายใหญ่
ความหมายทางด้านทำนอง หมายถึง การพรรณาชีวิตของคนอีสานเช่นกัน แต่ไม่สามารถเก็บราย ละเอียดได้เท่าลายน้อยและลายใหญ่ เนื่องจากมีขีดจำกัดของเสียงมากขึ้นอีก
มาม่วนๆ นำกันกับลีลาการเป่าแคนของ "เทพแห่งแคน" อาจารย์สมบัติ สิมหล้า | ||
ไล่งัวขึ้นภู | ลายน้อย | ลายสร้อย |
ลายเต้ย | ลายใหญ่ | ลำเพลิน |
ลำซิ่ง | ลมพัดพร้าว | แมงภู่ตอมดอก |
นกไซบินข้ามท่ง | ลายโป้ซ้าย | ลำภูไท |
ลายสุดสะแนน | เต้ยพม่า |
การพัฒนาของลายแคนยังมีเพิ่มเติมมาอีกหลายลาย ทั้งที่พัฒนามาจากลายดั้งเดิม และลายใหม่ๆ ที่เลียนแบบมาจากเสียง หรือเหตุการณ์ของสังคมที่อยู่รอบข้าง เช่น ลายรถไฟไต่ราง ลายสาวหยิกแม่ ลายสาวสะกิดแม่ ลายภูไทครวญ เป็นต้น
แคน เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงครบ 7 เสียง แคน 1 เต้าสามารถเล่นได้ประมาณ 3 คีย์เสียงเป็นอย่างน้อย เราจึงเห็นหมอแคนมีการเปลี่ยนเต้าแคนใหม่ เมื่อเป่าลายที่แตกต่างกัน เท่าที่สอบถามจากผู้รู้ และหมอแคนพบว่าที่นิยมใช้กัน จะมีเสียงคีย์หลักๆ ดังนี้
![]() | แคนแบบที่ | ลายใหญ่ | ลายน้อย | ลายเซ |
---|---|---|---|---|
1 | Am | Dm | Em | |
2 | Gm | Cm | Fm | |
3 | Bm | Em | F#m | |
4 | Dm | Gm | Am |
ประวัติความเป็นมาของแคน | แคนเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลก | แคนที่กล่าวถึงในพงศาวดาร | ทำนองแคน หรือลายแคน
"กันตรึม" เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายเขมรในเขตอีสานใต้ ซึ่งเป็นชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น เช่น จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เนื้อเพลงกันตรึมใช้ภาษาเขมรขับร้อง กันตรึมถือเป็นแม่บทของเพลงพื้นบ้าน และการละเล่นพื้นบ้านอื่นๆ ในแถบอีสานใต้
ตามประวัติแต่โบราณนั้นใช้สำหรับการขับร้องประกอบการร่ายรำ บวงสรวง รำคู่ และรำหมู่ ต่อมามีวิวัฒนาการของการเล่น คล้ายกับการเล่นเพลงปฏิพากย์ในภาคกลาง มีกลองที่เรียกว่า “กลองกันตรึม” เป็นหลัก เมื่อตีเสียงจะออกเป็นเสียง กันตรึม โจ๊ะ ตรึม ตรึม การเล่นจะเริ่มด้วยบทไหว้ครูเพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระวิศวกรรม ครูบาอาจารย์ และเริ่มทักทายกัน เล่นได้ทุกโอกาส ไม่กำหนดว่าเป็นงานมงคลหรืออวมงคล กล่าวกันว่า ท่วงทำนองของเพลงกันตรึมมีกว่า 100 ทำนอง บทเพลงจะเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ด ตั้งแต่เกี้ยวพาราสี โอ้โลม ชมธรรมชาติ แข่งขันปฏิภาณถาม-ตอบปัญหา สู่ขวัญ เล่าเรื่อง ฯลฯ
กันตรึม เป็นการละเล่นที่มีดนตรีประกอบเป็นตัวนำคำร้อง ถือว่าดนตรีประกอบมีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุด ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ส่วนคำร้องเป็นของชาวเขมรสูง (ในทีนี้หมายถึงในสามจังหวัด คือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ส่วนชาวเขมรในกัมพูชาจะเรียกว่า เขมรต่ำ) จากการสืบประวัติการเล่นกันตรึมไม่ค่อยได้รายละเอียดมากนัก ทราบแต่เพียงว่า การเล่นแบบนี้ได้รับการถ่ายทอดมาแต่ขอม แต่เดิมการเล่นใช้ สำหรับประกอบการบวงสรวง เวลามีการทรงเจ้าเข้าผี หรืองานพิธีกรรม ก็ใช้ดนตรีกันตรึมบรรเลงกันเป็นพื้นบ้าน ซึ่งต่างกันในจังหวะ ลีลา จะแตกต่างกันไปตามพิธีแต่ละงาน กล่าวคือ งานแต่งงานก็บรรเลงอย่างหนึ่ง งานศพอย่างหนึ่ง และเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงก็ต้อง ให้เหมาะสมกับงาน แต่ถ้าเป็นงานศพก็มักจะใช้ปี่อ้อ (แป็ยออ) มาบรรเลง แต่ถ้าเป็นงานแต่งงานมักใช้ปี่เตรียงหรือ ปี่เญ็นแทนปี่อ้อ เป็นต้น
ปัจจุบัน "กันตรึม" ใช้เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงโดยทั่วไป มีการสืบทอดตามแบบการละเล่นพื้นบ้านแบบรุ่นสู่รุ่น คือ เมื่อผู้เล่นกันตรึมคณะเดิมชราภาพ หรือย้ายถิ่นที่อยู่ ก็จะถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจเพื่อสานต่อกันไป ปัจจุบันคณะกันตรึมบางคณะที่ยังเล่นอยู่ก็มีแบบการรำที่ไม่แน่นอน เนื่องจากกันตรึมไม่เน้นทางด้านการรำ แต่จะเน้นที่ความไพเราะของ เสียงร้อง และความสนุกสนานของท่วงทำนองเพลงกันตรึมที่มีหลากหลายมากกว่า
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่นกันตรึม ประกอบด้วย กลองกันตรึม (สก็วล) 2 ลูก ซอ (ตรัวเอก) 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ขลุ่ย 1 เลา ฉิ่ง กรับ และฉาบ อย่างละ 1 คู่ แต่ถ้ามีเครื่องดนตรีไม่ครบก็อาจจะอนุโลมใช้เครื่องดนตรีเพียง 4 อย่าง คือ กลองกันตรึม 1 ลูก ซอ 1 คัน ฉิ่ง และฉาบ อย่างละ 1 คู่ ในปัจจุบัน วงกันตรึมบางคณะได้นำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ เช่น กลองชุด กีตาร์ และไวโอลิน เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัยนิยมของผู้ชม
การแต่งกายทั้งของนักดนตรีและนักร้องชายหญิงนั้น ไม่มีแบบแผนกฎเกณฑ์ที่แน่นอน จะแตกต่างตามความสะดวกสบาย ทันสมัยและถูกใจผู้ชม เช่น หญิงนุ่งผ้าไหมพื้นเมือง เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียง ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าไหมคาดเอว และมีผ้าขาวม้าไหมพาดไหล่ทั้งสองข้าง โดยชายผ้าทั้งสองจะห้อยอยู่ทางด้านหลัง
การเล่นกันตรึม ใช้ผู้เล่นประมาณ 6-8 คน ผู้ร้องเป็นชายและหญิง อาจจะมี 1-2 คู่ หรือชาย 1 คน หญิง 2-3 คน แต่โดยทั่วไปนิยมให้มีชาย 2 คน หญิง 2 คน การเล่นกันตรึมจะเล่นในโอกาสต่างๆ ทั้งในโอกาสเฉลิมฉลอง งานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก งานบวชนาค เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และลอยกระทง เป็นต้น หรืองานอวมงคล เช่น งานศพ นอกจากนี้ยังใช้เล่นในพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อพื้นบ้าน
วงกันตรึมจะเล่นที่ไหน ก่อนเริ่มการแสดงจะต้องมีพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งผู้ดูและผู้เล่น เมื่อไหว้ครูเสร็จก็จะเริ่มบรรเลงเพลง เป็นการโหมโรงเพื่อปลุกใจให้ผู้ดูรู้สึกตื่นเต้น และผู้แสดงก็จะได้เตรียมตัว จากนั้นจะเริ่มแสดง โดยเริ่มบทไหว้ครูตามธรรมเนียมโบราณดั้งเดิม วิธีการร้องจะขับร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย หญิง มีการรำประกอบการร้อง ไม่ต้องใช้ลูกคู่ช่วยร้องรับบทเพลง
บทเพลงกันตรึมไม่มีเนื้อร้องเป็นการเฉพาะ แต่มักคิดคำกลอนให้เหมาะสมกับงานที่เล่น หรือใช้บทร้องเก่าๆ ที่จดจำสืบต่อกันมามีประมาณ 200 กว่าทำนองเพลง ไม่มีใครสามารถจดจำได้ทั้งหมด เพราะไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการจดจำบอกต่อๆ กันมาเท่านั้น
ความรู้เรื่องกันตรึม จากรายการคุณพระช่วย
กองทหารดุริยางค์ เมืองอุบลราชธานี (วงแคน)
ภาพจาก หนังสือประมวลภาพถ่ายเหตุการณ์เมืองอุบลราชธานีในรอบ 200 ปี (2535)
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏ และได้ทำการปราบปรามจนสามารถจับเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2370 ก็ได้มีการกวาดต้อนครอบครัวชาวเวียงจันทน์ และชาวเมืองอื่นๆ ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ดังข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ความว่า
"ครอบครัวเวียงจันทน์ครั้งนั้น โปรดเกล้าให้อยู่เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี เมืองสุพรรณบุรีบ้าง เมืองนครชัยศรีบ้าง พวกเมืองนครพนม พระอินทร์อาสาไปเกลี้ยกล่อมก็เอาไว้ที่เมืองพนัสนิคม กับลาวอาสาปากน้ำ ซึ่งไปตั้งอยู่ก่อน"
เหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าครอบครัวชาวเวียงจันทน์ ชาวบ้านราษฎรฝั่งขวาแม่น้ำโขงได้ถูกกองทัพ ไทยกวาดต้อนมาเป็นเชลยถึง 2 ครั้ง 2 ครา ให้อยู่ในท้องที่จังหวัดต่างๆ ทั้งในภาคกลางบ้าง ภาค อีสานบ้าง ตามรายทางการถูกกวาดต้อนมา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี แม้แต่ดนตรีต่างๆ ที่เป็นประจำพื้นเมืองของชาวบ้าน ก็คงจะต้องนำติดตัวมาด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้ "หมอลำ-หมอแคน" อันเป็นศิลปะการร้องรำของชาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง จึงได้ถูกนำติดตัวมารำ-ร้อง และบรรเลง เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ในยามคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนอย่างแน่นอน ศิลปะแขนงนี้จึงได้ถูกนำมาร้องเผยแพร่ในภาคกลาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้แต่ในเมืองหลวงเองก็ยังมี การละเล่นหมอลำ หมอแคนกันอย่างแพร่หลาย
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 3 แล้ว พอมาถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อิทธิพลของการละเล่นหมอลำ หมอแคน ยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ข้าราชบริพารของ พระมหากษัตริย์หลายท่านก็มีความนิยมในการละเล่น และสนับสนุนเป็นอย่างมาก แม้แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชาในรัชกาลที่ 4 ก็ได้ทรงโปรดการแสดงหมอลำหมอแคนมาก จนถึงกับทรงลำและเป่าแคนได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 4 หน้า 315 มีความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงสมเด็จพระปิ่นเกล้าว่า
"พระองค์ทรงโปรดแคน ไปเที่ยวทรงตามเมืองพนัสนิคมบ้าง ลาวบ้านลำประทวน เมืองนครชัยศรีบ้าง บ้านศรีทา แขวงเมืองสระบุรีบ้าง พระองค์ฟ้อนและแอ่วได้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ได้เห็น พระองค์ก็สำคัญว่า ลาว"
ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงความนิยมในการเป่าแคนในยุคสมัยนั้น
หมอลำ หมอแคน กลายเป็นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาในสมัยนั้น จนมหรสพอื่นๆ เป็นต้นว่า ปี่-พาทย์ มโหรี โสภา ปรบไก่ สักวา เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ ต้องแพ้การละเล่นลำแคน หรือหมอลำ หมอแคนอย่างราบคาบ จนหากินแทบไม่ได้ ครั้นประชาชนชาวกรุงเทพฯ พากันนิยมเล่นแคนหนักเข้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เกิดความวิตก ด้วยพระองค์เห็นว่า การละเล่น ลำแคนไม่ควรเอาเป็นพื้นเมืองของไทย จึงได้ทรงประกาศห้ามการเล่นลำแคนขึ้น ซึ่งสมัยนั้นเรียก ว่า การเล่น "แอ่วลาว" บ้าง "ลาวแคน" บ้าง ซึ่งได้แก่ การลำที่มีการเป่าแคนประสานเสียง ซึ่งเรียกว่า "หมอลำ" สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ขับร้องและออกท่ารำประกอบ และ "หมอแคน" คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป่าแคนประสานเสียงประกอบเป็นทำนองเพลงต่างๆ ซึ่งทำให้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้น นักร้องจะร้องเพลงได้ไพเราะน่าฟัง จะต้องมีดนตรีประกอบการขับร้องฉันใด หมอลำจะขับลำได้อย่างไพเราะ ก็จะต้องมี "หมอแคน" ประกอบการขับลำ การขับลำนั้นจึงจะสมบูรณ์ก็ฉันนั้น
จากพระราชพงศาวดารดังกล่าวนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมศิลปินผู้ทำให้ "แคน" เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ จากการตระเวนไปแสดงยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีภูมิลำเนาอยู่ในภาคกลาง ครับ... ผมกำลังหมายถึง สมัย อ่อนวงศ์ ขุนพลแคนแดนสยาม นั่นเอง แต่ถ้าจะกล่าวถึง หมอแคนที่สร้างชื่อของคนอีสาน ส่วนใหญ่จะนึกถึงหมอแคนผู้นี้ครับ สมหวัง เอวอ่อน ด้วยลีลา และท่าทางการเป่าแคนอันไพเราะจับใจ ลองดาวน์โหลดตัวอย่างเสียงแคนจากศิลปินผู้นี้ไปฟังกัน ครับ เป็นไฟล์แบบ MP3 เชิญคลิกข้างล่างครับ
ปรับปรุงคุณภาพเสียงแล้วครับ จากลีลาการเป่าของเทพแห่งแคน
อาจารย์สมบัติ สิมหล้า ขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรา (รัฐบาล ข้าราชการ นักวิชาการด้านวัฒนธรรม) ค่อนข้างจะเชื่องช้า มองไม่เห็นหรือไม่ให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมในผืนแผ่นดินของตนเอง จนเมื่อทางประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ยื่นเรื่องต่อยูเนสโก (UNESCO) ขอให้ "แคน" จาก สปป.ลาว เป็นมรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปเรียบร้อยแล้ว
ประวัติความเป็นมาของแคน | แคนเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลก | แคนที่กล่าวถึงในพงศาวดาร | ทำนองแคน หรือลายแคน
| |
สนับสนุนให้ IsanGate อยู่รับใช้ท่านตลอดไป ด้วยการคลิกแบนเนอร์ไปเยี่ยมผู้สนับสนุนของเราด้วยครับ |