คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
บานเย็น รากแก่น ยอดหมอลำที่มีเสียงไพเราะเพราะพริ้ง เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ ด้วยลีลาและท่วงท่า การฟ้อนรำอันอ่อนช้อยสวยงาม ยังคงประทับใจไทยอีสานอยู่มิรู้ลืม ศิลปินเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวอุบลราชธานีอีกคนหนึ่ง การกลับมาบันทึกเสียงลำ ชุด "แม่ไม้หมอลำ" ของเธอนับว่าได้ กระตุ้นเตือนให้วงการหมอลำของฅนอีสานคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสำเนียงเสียงสดใสคงเดิม และลีลาร่ายรำอันสวยงามที่หาตัวจับยากของเธอ ประทับใจครับ นอกจากนั้นยังอุทิศตน อุทิศเวลา เดินทางมาให้ความรู้กับลูกศิษย์ด้านศิลปะการแสดง ณ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยอีกด้วย นับว่า เป็นยอดศิลปินที่ไม่เคยลืมบ้านเกิดตัวเองจริงๆ
ใน พ.ศ.นี้ หากจะหา "หมอร้อง – หมอลำ" แล้วล่ะก้อหากันไม่ยาก แต่ถ้าจะหาแบบที่เป็นหมอลำโดยแท้ คงจะยากสักหน่อย เพราะส่วนมากจะเป็น "หมอลำ" ลักษณะลูกผสมเสียส่วนใหญ่ แต่ถ้าจะถามหาผู้ที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นหมอลำกันจริงๆ ก็คงหนีไม่พ้นสาวใหญ่ ที่ได้สมญานามว่า "ราชินีหมอลำ บานเย็น รากแก่น"
เพราะเธออยู่คู่กับ "หมอลำ" มานานหลายสิบปี ด้วยประสบการณ์ อันยาวนานทั้งด้าน "หมอลำ" และ "ลูกทุ่ง ..อีสาน" ที่สะสมมาตั้งแต่เยาว์วัย โดยเธอเคยเป็นถึง "นางเอก" หมอลำเรื่องต่อกลอนให้กับ "คณะรังสิมันต์" ร่วมกับ หมอลำทองคำ เพ็งดี และหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ที่เคยเฟื่องฟูมากมายในอีสานยุคหนึ่ง จากนั้นก็มาโด่งดังเอาดีทางการร้องเพลง "ลูกทุ่งอีสาน" อยู่พักใหญ่ และไม่ใช่จะเอาดีแต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เธอยังโด่งดังไปไกลข้ามทวีป รวมถึงการออกทัวร์คอนเสิร์ตข้ามทวีปเป็นว่าเล่น และนับเป็นศิลปินหมอลำอันดับหนึ่ง ที่มีงานแสดงในต่างประเทศมากที่สุดคนหนึ่ง
ถ้าจะถามถึงแนวการร้องเพลงลำของเธอแล้ว เธอมีทั้งแนว "ลำเรื่องต่อกลอน" "ลำเพลิน" "ลำมโนราห์" หรือแม้แต่เพลง "ลำเพลิน-แคนอีสาน" "ลำเพลินเจริญจิต" และ "ลำงิ้วต่องต้อนอ้อนผู้บ่าว" ที่อยู่ในชุด "สาวหมอลำระเบิดโลก" ล้วนเป็นผลงานการร้องเพลงลำของเธอทั้งสิ้น 50 กว่าปีกับการคว่ำหวอดในวงการหมอลำ ถึงวันนี้แม้เธอจะมีอายุอานามเข้าไปเลยเลข 60 ไปแล้วก็ตาม แต่ความสามารถของเธอก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปด้วยเลย กลับมีชีวิตชีวากลมกลืนไปกับยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงได้ดีทีเดียว
รางวัลพระราชทาน "พระพิฆเนศทอง" กับบทเพลง "รอรักจากแดนไกล" ผลงานการแต่งเนื้อร้องของครู "ดอย อินทนนท์" จากอัลบั้มชุด "เสื้อหลายสีพี่หลายใจ" เป็นอีกหนึ่งผลงานที่แสดงให้เห็นถึง ความเป็นศิลปินมีคุณภาพ และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อต้นปี 2544 ที่ผ่านมา บานเย็นยังได้รับพระราชทาน ปริญญามหาบัณฑิต (กิติมศักดิ์) จากสถาบันราชภัฎอุบลราชธานี คณะศิลปศาสตร์บัณฑิต ในฐานะที่เธอเป็น ผู้ร่วมอนุรักษ์และถ่ายทอดศิลปะการร้อง - ลำ หมอลำคนหนึ่ง เพราะนอกจากเธอจะเป็นศิลปินหมอลำเต็มตัวแล้ว เธอยังได้เกียรติจากสถาบันให้เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในด้านที่เธอถนัดด้วย สมควรแล้วกับการได้รับปริญญามหาบัณฑิต จากสถาบันที่เธอร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อันดีงามของจังหวัดไว้ให้ลูกศิษย์ได้สืบทอดต่อไป
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อใครสักคนได้รับโอกาสให้ออกเทป เป็นศิลปินนักร้องแล้ว สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ชื่อเสียง-เงินทอง และความสุขสบายในชีวิต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จากที่เคยอยู่ตามต่างจังหวัด ต้องย้ายที่พำนักเข้ามาอยู่ในเมืองกรุง ชีวิตในแต่ละวัน แต่ละเดือน ผ่านไปกับการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตที่ไม่ได้จำกัด เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงต่างประเทศ ที่มีคนไทยอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนแล้ว ยังถือว่าได้เปิดหูเปิดตาท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกัน
อย่างเช่น บานเย็น รากแก่น ที่เพิ่งเดินทางกลับจากทัวร์คอนเสิร์ตที่ประเทศเยอรมนี สวีเดน และฟินแลนด์ เธอบอกว่าไปคราวนี้ใช้เวลานานถึง 3 เดือนแต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะนอกจากจะได้พบปะแฟนเพลงแล้ว ยังถือว่าได้ช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยให้ฝรั่งดูด้วย
"ถือว่าโชคดีมากค่ะ ที่ได้เกิดมาเป็นบานเย็น เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนแฟนเพลงให้การต้อนรับอบอุ่นมาก บางคนอยู่ไกลบ้านร้องไห้เลย พอได้ฟังเพลงเรา มีบางคนที่เป็นฝรั่ง พอได้ยินเพลงหมอลำ ก็ทำให้อยากจะเดินทางมาเที่ยวที่เมืองไทย ตรงนี้ภูมิใจนะ แต่ในชีวิตที่ดีใจ และภูมิใจที่สุด เห็นจะเป็นการได้รับรางวัลพระราชทานพระพิฆเนศทองคำ กับบทเพลง 'รอรักจากแดนไกล' จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรงนี้ภาคภูมิใจมาก เพราะรางวัลนี้สำหรับศิลปินทุกคนถือว่าเป็นบันไดขั้นสุดท้ายของชีวิตหมอลำเลยทีเดียว"
วันนี้วันที่ "บานเย็น รากแก่น" หรืออีกฉายา "ราชินีหมอลำ" ผู้คว่ำหวอดกับวงการลูกทุ่งอีสาน และหมอลำ–หมอร้อง จนมีชื่อเสียงโด่งดังขจรไกลไปถึงต่างแดน กำลังจะมีลูกศิษย์ – ลูกหา ที่นับวันจะเพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ มารับหน้าที่ถ่ายทอดสายเลือดศิลปินหมอลำ จากรุ่นไปสู่รุ่น ฉะนั้น "บานเย็น รากแก่น" จึงนับเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่มีไม่มากนักในการได้รับคัดเลือกให้เป็นปูชนียบุคคล เพื่อร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และความรู้ ทางด้าน "หมอลำ – หมอร้อง" ที่สั่งสมมานานหลายสิบปีให้แก่ลูกหลานได้สืบทอดต่อกันมา
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 ที่ผ่านมาก็ได้ตามไปฟังลำจากเสียงใสกังวานของ หมอลำบานเย็น รากแก่น ในงาน "ป่าวเติน เอิ้นข่าว" ที่บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี งานนี้ครึกครื้นครับสมกับที่รอคอย โดยมี วงโปงลางสังข์เงิน จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นแบ็คอัพและหางเครื่อง มาสนุกและถูกใจแฟนๆ สุดๆ เมื่อสุดยอดหมอแคนแดนอีสาน สมบัติ สิมหล้า พาแคนคู่ใจมาเป่าให้หมอลำบานเย็นได้ลำล่อง ลำเต้ย ม่วนอีหลีคักๆ เด้อพี่น้อง ขนาดวันนั้นอากาศร้อนสุดๆ แต่แฟนๆ ชาวอุบลฯ ก็ไม่มีถอยเลยสักคน
รายการที่นี่หมอชิต ตอน บานเย็น รากแก่น
บานเย็น รากแก่น มีชื่อจริงคือ นิตยา รากแก่น เกิดวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ที่บ้านกุดกลอย ตำบลโนนสวาง อำเภอตระการพืชผล (ปัจจุบันคือ อำเภอกุดข้าวปุ้น) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายสุดตา และนางเหมือย รากแก่น หลังจบ การศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านท่าวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้คลุกคลีอยู่กับคณะหมอลำของคุณป้าหนูเวียง แก้วประเสริฐ หมอลำกลอนชื่อดังของจังหวัด โดยฝึกฝนทักษะการลำ และการร่ายรำท่าต่างๆ อย่างสวยงาม จนเป็นที่ชื่นชมของคุณครู ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ และผู้คนในท้องถิ่น
บานเย็น รากแก่น ออกแสดงหมอลำครั้งแรกเมื่อ อายุ 14 ปี ด้วยน้ำเสียงมหาเสน่ห์ รูปร่างหน้าตาสะสวย มีลีลาในการลำ และร่ายรำที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ ทองคำ เพ็งดี พระเอกชื่อดัง คณะหมอลำรังสิมันต์ หมอลำเรื่องต่อกลอนชื่อดังในขณะนั้น ได้ชวนมาเป็นนางเอกของคณะ
ลำเรื่องต่อกลอน "ศรีธน-มโนห์รา" คณะรังสิมันตร์ โดย ทองคำ เพ็งดี - บานเย็น รากแก่น
ต่อมา บานเย็น แยกตัวมาเป็นหัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ คณะบานเย็น รากแก่น เมื่ออายุเพียง 18 ปี จากการสนับสนุนของ เทพบุตร สติรอดชมภู โดยมีงานแสดงตามจังหวัดต่างๆ และต่างประเทศอยู่หลายครั้ง เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้แสดงเพื่อสาธารณกุศลอีกมากมาย ทำให้มีชื่อเสียงในระดับประเทศและระดับโลก เนื่องจากหมอลำบานเย็นได้ประยุกต์การแต่งตัวและการโชว์อย่างอลังการ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชินีลูกทุ่งหมอลำประยุกต์” คนหนึ่งของเมืองไทย
ผลงานเพลงที่สร้างชื่อให้กับ บานเย็น รากแก่น ได้แก่เพลง งิ้วต่องต้อนอ้อนผู้บ่าว รวมทั้งลำเพลิน และลำเรื่องต่อกลอนอีกมากมาย เคยออกอัลบั้มบันทึกเสียงร่วมกับ ปริศนา วงศ์ศิริ นักร้องหมอลำและนักแสดง อดีตนางเอกภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง แม่นาคพระโขนง
ด้านการแสดงภาพยนตร์ บานเย็น เคยแสดงภาพยนตร์เรื่อง “แผ่นดินแม่” ของ ชรินทร์ นันทนาคร ในปี พ.ศ. 2518 แสดงร่วมกับ สมบัติ เมทะนี และ เพชรา เชาวราษฎร์
ชีวิตครอบครัว สมรสกับ นายเทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ หรือที่รู้จักกันในนาม เทพบุตร สติรอดชมภู มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นหญิง 2 คน ชาย 1 คน คือ แอนนี่, แคนดี้ และ โทนี่ รากแก่น แต่ภายหลังเลิกรากันไปด้วยปัญหาความขัดแย้งส่วนตัว ขณะที่เธอยังเดินสายทัวร์อเมริกา ยุโรป ส่วนสามีทำธุรกิจเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างไทยและออสเตรเลีย ซึ่งได้นำลูกทั้งสามคนไปเลี้ยงดูที่ออสเตรเลีย
บานเย็นเล่าถึงความหลังว่า "แต่งงานตอนอายุ 25 เราเป็นศิลปิน เค้าเป็นเจ้าของสำนักงาน สมัยนั้นเรียกแบบนั้น ก็เป็นเจ้าของ "ค่าย" จนมีลูก แต่ต้องเลิกกันเพราะทัศนคติไม่ตรงกัน ลูกก็อยู่กับพ่อที่ออสเตรเลีย ตอนแรกๆ แม่อยู่อเมริกา ไปแสดงที่ต่างประเทศติดต่อลูกไม่ได้เลย คิดถึงลูกมากน้ำตาไหล สอนลูกเสมอว่า ไม่ว่าพ่อจะเป็นยังไง ก็อย่าเกลียดพ่อ คุณย่าด้วยเหมือนกัน ลูกต้องเคารพบูชา คำว่าแม่ยังไงต้องห่วงลูกไม่จบสิ้น ที่ยังรู้สึกตลอดเวลา คือ ทำให้ลูกไม่มีความอบอุ่น มีปมด้อย สงสารลูก แต่ที่ลูกโตขึ้นมา ดูแลตัวเองได้ ดูแลพ่อแม่ได้ ภูมิใจ จะบอกลูกว่าแม่มี ไม่ต้องห่วง ไม่มีก็บอกว่ามี ไม่อยากให้ลูกเป็นห่วง"
ปัจจุบัน แคนดี้ รากแก่น เป็นดีเจและนักร้อง ทำวงดนตรีรับงานแสดงร่วมกับแม่บานเย็นใช้ชื่อว่า แคนดี้ แฟมิลี่ (Candy Family) โดยมี บานเย็น รากแก่น จะร้องและฟ้อนแบบอีสาน ส่วนลูกสาวจะออกไปในแนวหมอลำซิ่ง และลีลาการเต้นสมัยใหม่ ส่วน โทนี่ เป็นสไตล์ลิสต์ทรงผม นายแบบ และนักแสดงขวัญใจวัยรุ่น นอกจากนี้ บานเย็น ยังเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาวิชานาฏศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และเจ้าของโรงเรียนสอนศิลปะการแสดงอีสาน บานเย็น เพื่อถ่ายทอดศิลปะการแสดงหมอลำให้กับคนรุ่นหลัง
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)