คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม "
บุรีรัมย์ คือดินแดนภูเขาไฟเมืองไทย และเป็นแหล่งรวมอารยธรรมขอมโบราณ จึงมีความสำคัญในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ บุรีรัมย์ยังได้รับสมญานามว่า ดินแดนปราสาทหิน อันมากมายไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีงานศิลปหัตถกรมลือเลื่องคือผ้าไหมและผ้ามัดหมี่นาโพธิ์
จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในเขตภาคอีสานตอนล่าง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง พื้นที่ลาดจากทิศใต้ลงไปทางทิศเหนือ พื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นน้อย เป็นที่ราบขั้นบันไดช่องเขา และภูมิประเทศที่เกิดจากภูเขาไฟ มีเนื้อที่ประมาณ 10,321 ตารางกิโลเมตร จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 17 ของประเทศ
จากการศึกษาของนักโบราณคดี พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และที่สำคัญที่สุด คือมีการค้นพบหลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐและปราสาทหินจำนวนมากกว่า 60 แห่ง รวมทั้งพบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผา ภาชนะดินเผา และภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่า "เครื่องถ้วยเขมร" ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 อยู่ทั่วไป
หลังจากสมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มมีขึ้นอีกครั้ง ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏชื่อว่า เป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา และปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า บุรีรัมย์ หรือในชื่อเดิมเรียกว่า "เมืองแปะ" มีฐานะเป็นเมืองเมืองหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ บุรีรัมย์จึงได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบันนี้
จังหวัดบุรีรัมย์ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ (2564) ได้แก่ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอนางรอง อำเภอลำปลายมาศ อำเภอประโคนชัย อำเภอพุทไธสง อำเภอสตึก อำเภอกระสัง อำเภอบ้านกรวด อำเภอคูเมือง อำเภอหนองกี่ อำเภอปะคำ อำเภอนาโพธิ์ อำเภอหนองหงส์ อำเภอพลับพลาชัย อำเภอห้วยราช อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชำนิ อำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอแคนดง และอำเภอบ้านด่าน
ดอกไม้ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ คือ ดอกสุพรรณิการ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cochlospermum regium) เป็นไม้ผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในแถบทุ่งหญ้าเขตร้อนแซราดู (Cerrado) ในทวีปอเมริกาใต้ (บริเวณประเทศบราซิล, โบลิเวีย, ปารากวัย) และมีชื่อสามัญ Yellow Silk Cotton, Butter-Cup (Single), Butter-Cup Double), Torchwood แต่ปัจจุบันพบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ทางเหนือ เรียกว่า ฝ้ายคำ
สุพรรณิการ์ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกับฝ้ายคำมาก ข้อแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งคือ ฝ้ายคำจะออกดอกเพียงชั้นเดียว มี 5 กลีบ และบานทีละดอก ในขณะที่สุพรรณิการ์จะมีทั้งชนิดที่ออกดอกชั้นเดียว และชนิดที่ออกดอกซ้อนกันเป็นกระจุกแน่น โดยบานพร้อมๆ กัน สำหรับในประเทศไทย นิยมปลูกสุพรรณิการ์เป็นไม้ประดับ โดยได้รับการกำหนดให้เป็น พันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดนครนายก และเป็น ดอกไม้ประจำจังหวัด นครนายก สระบุรี บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี และอุทัยธานี ด้วย
บุรีรัมย์ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 410 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดบุรีรัมย์ได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง เครื่องบิน และรถไฟ
การเดินทางภายใน บุรีรัมย์
ในตัวเมืองบุรีรัมย์มีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะ ได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งบุรีรัมย์ โทร. 0 4461 2534
นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยว เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง หมู่บ้านทอผ้าไหมนาโพธิ์ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง
ไป "บุรีรัมย์ตำน้ำกิน" เป็นคำพังเพยในอดีต ที่แสดงถึงภาวะการขาดแคลนน้ำในบริเวณพื้นที่ อันเป็นเขตการปกครองของจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีต และแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของชาวบุรีรัมย์ สมัยก่อนที่นำความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ มาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
กรรมวิธีที่ได้ชื่อว่าเป็น การตำน้ำกิน คือ การขุดหลุมดินขนาดย่อมขึ้นก่อน แล้วตักเอาโคลนตมในบ่อ สระ หรือบึง มาใส่หลุมที่ขุดไว้ แล้วย่ำด้วยเท้าจนเป็นเลน หรือนำมาใส่ครุ ไม้ไผ่ยาชัน แล้วตำด้วยไม้ ให้โคนเลนมีความหนาแน่นสูงขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน น้ำจากโคลนเลนจะปรากฎเป็นน้ำใสอยู่ข้างบน ตักไปใช้บริโภคได้ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงไปได้
"บุรีรัมย์ ตำน้ำกิน" เป็นคำพังเพยที่อยู่ในความทรงจำ และความภาคภูมิใจในอดีตของชาวบุรีรัมย์ ในฐานะที่เป็นคำพังเพยที่แสดงถึงความยากลำบาก และทรหดอดทนของบรรพบุรุษผู้บุกเบิกแผ่นดิน ให้ประโยชน์ตกทอดแก่ลูก หลาน เหลน ในปัจจุบัน และในฐานะที่สามารถนำความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างเฉลียวฉลาด
ปัจจุบัน ภาวะเรื่องน้ำของจังหวัดบุรีรัมย์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก กรมชลประทานได้สร้าง อ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ เพิ่มขึ้น และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทก็ได้ปิดกั้นทำนบ เหมืองฝาย และ ขุดลอกห้วย หนอง คลอง บึง สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สร้างสระน้ำมาตรฐานขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นสร้างถังเก็บน้ำฝน สระน้ำ บ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล หอถังจ่ายน้ำ โดยสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ความหมายและภาพพจน์ของคำพังเพยดังกล่าวได้หมดไปแล้วในปัจจุบัน
บุรีรัมย์ มีกิจกรรมท่องเที่ยวโดดเด่นคือ การเที่ยวชมปราสาทหิน บุรีรัมย์ถือได้ว่า เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมขอมโบราณเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่า มีปราสาทหินอยู่มากมายตามอำเภอต่างๆ ดังนั้น การไปเที่ยวในจังหวัดนี้จึงเปรียบเสมือนการเที่ยวย้อนอดีต ชมความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรขอมโบราณ
ไปบุรีรัมย์ทั้งทีต้องไปเยือนปราสาทหิน โดยเฉพาะ ปราสาทหินพนมรุ้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ คือ แสงอาทิตย์จะทำมุมลอดทะลุประตูทั้ง 15 บานของปราสาทได้อย่างพอดี นับเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง
จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถึง 4 กลุ่มชน จึงเป็นดินแดน ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมมากอีกแห่งหนึ่ง และในความหลากหลายนี้ก็มีความผสมกลมกลืนกัน แต่มีประเพณีบางอย่างที่มีลักษณะตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ประเพณีหลักของชาวบุรีรัมย์ก็เช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไป คือ ยึดมั่นใน "ฮีตสิบสอง" คือ มีประเพณี ประจำสิบสองเดือนในรอบปี เช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไป ประเพณีเฉพาะกลุ่มชนที่ปฏิบัติตาม ความเชื่อที่มีความแตกต่างกันไป ประเพณีสำคัญที่ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันของกลุ่มไทยเขมรและไทยลาว ที่สำคัญมีดังนี้
งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ต. ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จัดขึ้นในตอนต้นเดือนเมษายน มีกิจกรรมขบวนแห่ตามราชประเพณีขอมโบราณ ตลอดจนการแสดง แสง เสียง ย้อนรอยอดีต และโฮปบายดินเนอร์ (พาแลงอาหารแบบกลิ่นอายเขมร) และชมปรากฎการณ์มหัศจรรย์ ดวงตะวันส่องแสงตรง 15 ช่องประตู ปราสาทหินพนมรุ้ง และนมัสการปิดทอง ไหว้พระพุทธพนมรุ้งเพื่อศิริมงคล
งานประเพณีแข่งเรือยาว ลำน้ำมูลบริเวณหน้าอำเภอสตึก จัดขึ้นในวันเสาร์ – อาทิตย์แรก ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นการแสดงแข่งเรือหลายประเภท ชิงถ้วยพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการแข่งขัน ช้างว่ายน้ำ แข่งช้างแฟนซี ช้างพาเหรด ซึ่งหาดูได้ยาก
งานมหกรรมว่าวอีสาน จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี ที่บริเวณทางโค้งใกล้โรงโม่หินศิลาชัย ถนนสายบุรีรัมย์ – ประโคนชัย ในงานมีการแข่งขันว่าวประเภทต่างๆ เช่น ว่าวแอกโบราณ ว่าวแอกพัฒนา ว่าวสวยงาม ว่าวนานาชาติ งานแสดงหนึ่งตำบลหนึ่ง ผลิตภัณฑ์และมหรสพ
งานเครื่องเคลือบพันปีประเพณีบ้านกรวด จัดขึ้นในต้นเดือนเมษายนของทุกปี ที่สนามหน้าอำเภอบ้านกรวด ในงานมีนิทรรศการเครื่องเคลือบโบราณ การประกวดเครื่องเคลือบจำลอง การแสดงวัฒนธรรม ท้องถิ่นไทย-กัมพูชา การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน
งานประเพณีขึ้นเขากระโดง จัดขึ้นประมาณกลางเดือนเมษายน ในงานมีกิจกรรมวิ่ง ภูกระโดงมินิมาราธอน ขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ งานโฮปบายละเงี๊ยด (กินเข่ายามค่ำ) พิธีบายสีสู่ขวัญ การแสดงดนตรี กันตรึมพื้นเมือง ชมแสง เสียงตำนานสร้างเมืองบุรีรัมย์ และนมัสการพระคู่เมือง บุรีรัมย์ พระสุภัทรบพิตร
งานกวนข้าวทิพย์ และตักบาตรเทโวโรหณะ จัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษาของทุกปี ที่วัดพระพุทธบาทเขากระโดง มีประชาชนมาทำบุญตักบาตร เป็นจำนวนมาก
งานวันหัวผักกาด ข้าวหอมมะลิ หมี่ยำไทย จัดขึ้นช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ของอำเภอกระสัง กิจกรรมประกอบด้วยริ้วขบวนวัฒนธรรมไทยสามเผ่า (เขมร ลาว ส่วย) ขบวนหัวผักกาด และ กระยาสารท ขบวนหมี่ยำ ขบวนข้าวหอมมะลิ และผลิตผลทางการเกษตรขบวนผ้าไหม พื้นเมือง
งานเทศกาลข้าวมะลิหอม ปลาจ่อมกุ้ง ชมทุ่งนกประโคนชัย จัดขึ้นในเช่วงประมาณวันที่ 27 ธ.ค. - 2 ม.ค. ของทุกปี ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ มีการจัดนิทรรศการ ของส่วนราชการในอำเภอประโคนชัย การประกวดอาหารพื้นบ้านประโคนชัย ภาพยนตร์ การเดินแบบผ้าไหมการกุศล จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เช่น กุ้งจ่อม กระยาสารท สุราพื้นบ้าน เป็นต้น
งานการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและมอเตอร์สปอร์ต จังหวัดบุรีรัมย์ในปัจจุบันเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการสร้างทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด และสนามแข่งขันฟุตบอลมาตรฐาน สนามไอโมบายปราสาทสายฟ้า เป็นทีมที่มีผลงานแชมป์ระดับเอเชีย ต่อมามีการสร้างสนามกีฬาแข่งรถ ช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต เพื่อทำการแข่งขันรถแข่งทั้งประเภทรถยนตร์ และจักรยานยนตร์ หลายรายการต่อปี และจะมีการแข่งขันเซอร์กิตระดับโลกมาทำการแข่งขันที่นี่อย่าง Motor GP และรายการอื่นๆ ทำให้จังหวัดบุรีรัมย์มีการพัฒนาด้านที่พักอาศัย (โรงแรม รีสอร์ต) แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมาก ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดบุรีรัมย์ | แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์ | เอกสารการท่องเที่ยว | ปราสาทหิน ]
ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมืองบุรีรัมย์ ชุดที่ 1 | ชุดที่ 2
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)