คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
วีรกรรมปราบฮ่อ หลวงพ่อพระใส สะพานไทย-ลาว"
จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเป็นประตูสู่เมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งแรก ที่เชื่อมโยงประเทศไทย - ลาวเข้าด้วยกัน ทำให้หนองคายในวันนี้ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญเมืองหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นจุดชม บั้งไฟพญานาค ในวันออกพรรษาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
และด้วยความที่เป็นเมืองสงบเงียบ เรียบง่าย เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตพื้นบ้าน ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว และมีเสน่ห์ ทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ หลากหลายไปด้วยอาหารการกิน และสินค้านานาชนิด มีโรงแรมที่พักมากมาย และการคมนาคมสะดวกสบาย เมืองริมโขงแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวที่นักเดินทางไม่ควรพลาด มาเยี่ยมเยือน
จังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่ประมาณ 3,026.534 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,891,583 ไร่ ลักษณะเป็นรูปยาว เรียงทอดไปตามลำน้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มีความยาวทั้งสิ้น 210.60 กิโลเมตร ความกว้างของพื้นที่ที่ทอดขนานไปตามลำน้ำโขงโดยเฉลี่ย 20 - 25 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ประมาณ 615 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่เป็นคลื่นลอนชัน และป่าธรรมชาติอยู่บ้าง และมีพื้นที่ราบบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนทางทิศตะวันตกบริเวณเทือกเขาต่างๆ เป็นภูเขาสูงชัน
จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์เมืองหนองคาย เริ่มขึ้นเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว จากชุมชนเมืองเล็กๆ 4 เมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง คือ เมืองพรานพร้าว เมืองเวียงคุก เมืองปะโค และเมืองไผ่ (บ้านบึงค่าย) ซึ่งปัจจุบันยังพบซากโบราณสถานของเมืองต่างๆ เหล่านี้ได้ตามวัดต่างๆ บนเส้นทางเลียบริมแม่น้ำโขงสายท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2369 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ ได้ตั้งตนเป็นกบฏ ไม่ยอมขึ้นกับไทย และได้ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนในเขตแดนไทยกลับไปเป็นเชลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชเทวียกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ โดยมีท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) เจ้าเมืองยโสธร และพระยาเชียงสา เป็นกำลังสำคัญในการช่วยทำศึกปราบกบฏจนได้รับชัยชนะ และสามารถจับกุมตัวเจ้าอนุวงศ์ลงมายังกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ
ต่อมาใน พ.ศ. 2370 รัชกาลที่ 3 จึงพระราชทานบำเหน็จให้ท้าวสุวอธรรมาสร้างเมืองขึ้นที่บ้านไผ่ เรียกชื่อว่า "เมืองหนองคาย" ตามชื่อของหนองน้ำใหญ่ทางทิศตะวันตกของเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุวอธรรมาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองหนองคาย
คำว่า "หนองคาย" ถูกเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "หนองค่าย" ซึ่งมีความหมายโดยตรงว่า "หนองน้ำบริเวณที่ตั้งของค่ายทหาร" ซึ่งคำว่าหนองค่ายถูกเรียกเพี้ยนเป็นหนองคายในช่วงรัชกาลที่ 5 และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นหนองคายตั้งแต่นั้นมา
ใน พ.ศ. 2434 เมืองหนองคายได้เป็นสถานที่ตั้งของมณฑลลาวพวน และใน พ.ศ. 2436 เมื่อไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส จึงได้มีการย้ายที่ทำการมณฑลไปตั้งที่บ้านหมากแข้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ได้จัดตั้งมณฑลอุดรขึ้นที่บ้านหมากแข้ง เมืองหนองคาย จึงมีฐานะเป็นเมืองหนึ่งของมณฑลอุดร
จนถึงปี พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองหนองคายจึงได้แยกตัวออกมาจากมณฑลอุดร และมีฐานะเป็น "จังหวัดหนองคาย" นับแต่นั้นมา
ดอกไม้ประจำจังหวัดหนองคาย คือ ดอกชิงชัน ชิงชัน เป็นชื่อของไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ประเภทไม้ผลัดใบที่อยู่ในวงศ์ Leguminosae ชนิดหนึ่ง (อยู่ในวงศ์เดียวกับประดู่) ต้นไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยเมล็ด สามารถแพร่กระจายพันธุ์ตามป่าดิบแล้งตลอดจนถึงป่าเบญจพรรณทั่วไป ยกเว้นเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้นที่ไม่สามารถแพร่กระจายพันธุ์ได้ เป็นไม้กลางแจ้งที่สามารถขึ้นได้ดีในดินทุกประเภทและต้องการน้ำเพียงปานกลาง
ลักษณะของต้นไม้โดยรวม เปลือกจะมีความหนาซึ่งเป็นสีน้ำตาลอมเทา สามารถล่อนออกเป็นแว่นๆ ได้และมีเนื้อภายในเป็นสีเหลือง ใบนั้นจะเป็นใบประกอบแบบขนนก ดอกมีขนาดเล็กที่รวมกันเป็นช่อ ฝักเป็นรูปหอกแต่แบน ส่วนหัวท้ายของฝักนั้นจะแหลม ส่วนระบบรากนั้นจะมีความลึกมาก เนื่องจากไม้ชิงชันนั้นมีลักษณะที่แข็งและเหนียว รวมถึงมีลักษณะที่ดูสวยงามมาก ดังนั้น จึงนิยมนำมาทำเป็นเครื่องเรือน อุปกรณ์เครื่องดนตรีต่างๆ ฯลฯ นอกจากประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมพื้นบ้านแล้ว ต้นไม้ชิงชันยังให้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรอีกด้วย
ปัจจุบัน จังหวัดหนองคาย แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ (2564) ได้แก่ 1. อำเภอเมืองหนองคาย 2. อำเภอท่าบ่อ 3. อำเภอโพนพิสัย 4. อำเภอศรีเชียงใหม่ 5. อำเภอสังคม 6. อำเภอสระใคร 7. อำเภอเฝ้าไร่ 8. อำเภอรัตนวาปี และ 9. อำเภอโพธิ์ตาก
หนองคายอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 615 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดหนองคายได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และทางเครื่องบิน (ลงที่สนามบินอุดรธนี แล้วต่อด้วยรถยนตร์ไปอีก 59 กิโลเมตร)
การเดินทางภายในหนองคาย
ในตัวจังหวัดหนองคายมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม
จังหวัดหนองคาย มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวมากมายและหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ได้ไปเยือนเมืองแห่งนี้ กิจกรรมที่ไม่ควรพลาด คือ การเยี่ยมชมและนมัสการหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย ชมพระธาตุกลางน้ำ ขึ้นภูทอกชมทิวทัศน์และนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดหินหมากเป้ง ชมโบราณสถานพระธาตุบังพวน นมัสการพระพุทธรูปหล่อพ่อทองแสน วัดท่าตกเรือ และนมัสการหลวงพ่องค์ตื้อ ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่น ชอบธรรมชาติ คือ ดูนกน้ำที่บึงโขงหลง ขี่จักรยานท่องเที่ยว เที่ยวถ้ำ เที่ยวน้ำตก เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมพรรณไม้ ชมทิวทัศน์ และตั้งแคมป์พักแรมที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว กิจกรรมท่องเที่ยวแบบ ผ่อนคลายอื่นๆ เช่น พักโฮมสเตย์ สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ล่องเรือชมธรรมชาติและวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง ขี่จักรยานตามเส้นทางเลียบริมแม่น้ำโขง พักผ่อนหย่อนใจที่หาดสีกายและหาดจอมมณี เดินชมตลาดและเลือกซื้อสินค้านานาชนิดที่ตลาดท่าเสด็จ ดูบั้งไฟพญานาคที่อำเภอโพนพิสัยในช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือพักในรีสอร์ตสวย นวดแผนโบราณ และทำสปา เป็นต้น
หนองคายเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งธรรมชาติ อีกทั้งผู้คนในท้องถิ่นยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณีดั้งเดิมอันงดงามไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปีจึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลอง และงานประเพณีที่สำคัญ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานประเพณีบุญบั้งไฟ งานตักบาตรเทโว และแข่งเรือมิตรภาพไทย-ลาว ออกพรรษาดูบั้งไฟพญานาค เป็นต้น
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดหนองคาย | แผนที่จังหวัดหนองคาย | เอกสารการท่องเที่ยว | บั้งไฟพญานาค ]
แนะนำให้คลิกไปชม : ภาพเก่าเล่าเรื่อง "เมืองหนองคายในอดีต"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)