คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท
ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม"
จังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนของภาคอีสานตอนล่าง หรือ "อีสานใต้" ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมของหลากหลายชนชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมขอมโบราณ ที่หล่อหลอมและผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยถิ่นอีสาน จนมีความเป็นเอกลักษณ์ และโดดเด่นแล้ว ยังมีชื่อเสียงเป็นพิเศษในด้านการเลี้ยงช้าง จนได้ชื่อว่าเมือง "สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่"
นอกจากนี้ สุรินทร์ยังโดดเด่นในด้านการทอผ้าไหม มีทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ และพืชพรรณอันหลากหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งเสริมให้จังหวัดสุรินทร์เป็นเมืองที่น่าสนใจและน่า ท่องเที่ยวไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ
จังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 8,124 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 24 ของประเทศ ลักษณะพื้นที่ทางตอนใต้บริเวณที่ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นป่าทึบและภูเขาสูงสลับซับซ้อน ถัดมาเป็นที่ราบสูงลูกคลื่นลอนลาด ตอนกลางของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มเป็นส่วนใหญ่ ทางตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีลำน้ำที่สำคัญ คือ แม่นำมูล ลำน้ำชี ห้วยเสนง
สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่ง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน ในยุคขอมเรืองอำนาจในภูมิภาคนี้ ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลง เมืองดังกล่าวก็ถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลานาน
จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2260 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ชาวพื้นเมืองของเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนของไทย ที่เรียกตัวเองว่า "ส่วย" หรือ "กูย" หรือ "กวย" ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาตั้งชุมชนที่เมืองต่างๆ ในแถบภูมิภาคนี้ รวมถึงที่บ้านอัจจะปะนึ่ง และบ้านกุดปะไท ในเขตอำเภอสังขะและอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ คนเหล่านี้มีความสามารถในการจับช้างป่า และนำมาฝกฝนไว้ใช้งานเป็นอย่างมาก จึงเป็นต้นกำเนิดของตำนาน "เมืองช้าง" ของจังหวัดสุรินทร์นั่นเอง [ อ่านเพิ่มเติม : หมู่บ้านช้าง ]
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2306 หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ย้ายหมู่บ้านมาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2 ชั้น และมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การประกอบอาชีพ และอยู่อาศัย ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็น "เมืองประทายสมันต์" และหลวงสิรินทรภักดีได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองประทายสมันต์
ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "เมืองประทายสมันต์" เป็น "เมืองสุรินทร์" ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองในขณะนั้น เมืองสุรินทร์มีเจ้าเมืองปกครองสืบเชื้อสายกันมารวม 11 คน จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล "เมืองสุรินทร์" จึงเปลี่ยนเป็น "จังหวัดสุรินทร์" และทางกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งพระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์) มาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนแรก
ดอกไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ คือ ดอกกันเกรา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Fagraea fragrans) เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนจะออกดอกเป็นช่อสีเหลือง มีกลิ่นหอมขจรขจาย ต้นกันเกรามีชื่อเรียกอื่นว่า มันปลา ตำเสา มะซูไม้ต้น
กันเกรา มีชื่อเรียกต่างกันไปคือ ภาคกลางเรียก กันเกรา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันปลา ส่วนภาคใต้เรียก ตำแสง หรือตำเสา มูซูเป็นภาษาถิ่นทางภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง อันมีชื่อเป็นมงคลและมีคุณสมบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์ คือชื่อ 'กันเกรา' หมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ชื่อ 'ตำเสา' คือ เป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก มอด แมลงต่างๆ เจาะกิน ชื่อ 'มันปลา' น่าจะเป็นลักษณะของดอกที่เหมือนกับไขมันของปลาเมื่อลอยน้ำ ไขมันของปลาในถ้วยน้ำแกง โดยเฉพาะช่วงข้าวใหม่ปลามันที่ปลาจะมีความมันและเอร็ดอร่อยเป็นที่สุด
ปัจจุบัน จังหวัดสุรินทร์ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 อำเภอ (2564) ได้แก่
อำเภอเมืองสุรินทร์ | อำเภอชุมพลบุรี | อำเภอท่าตูม | อำเภอจอมพระ |
อำเภอปราสาท | อำเภอกาบเชิง | อำเภอรัตนบุรี | อำเภอสนม |
อำเภอศีขรภูมิ | อำเภอสังขะ | อำเภอลำดวน | อำเภอสำโรงทาบ |
อำเภอบัวเชด | อำเภอพนมดงรัก | อำเภอศรีณรงค์ | อำเภอเขวาสินรินทร์ |
อำเภอโนนนารายณ์ |
สุรินทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 457 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดสุรินทร์ได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ
การเดินทางภายในสุรินทร์
ในตัวจังหวัดสุรินทร์มีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมือง และต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000 - 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง รถสามล้อ เครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทาง และแบบเหมาจ่าย
ที่นี่บ้านเรา : สุขกันตรึม
จังหวัดสุรินทร์ มีประชากรร้อยละ 93 อาศัยอยู่ในเขตชนบท มีภาษาพูดพื้นเมือง ที่แตกต่างกัน เป็น 3 กลุ่ม คือ
เนื่องจากประชาชนมีภาษาพูดที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละกลุ่มมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่แตกต่างกันบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ประชากรทั้ง 3 กลุ่ม มีความเป็นมาที่กลมกลืนกัน มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีความสามัคคีต่อกันเป็นอย่างดี ไม่ปรากฏการเกิดปัญหาระหว่างกลุ่มชน แต่อย่างใด
งานประเพณีบวชนาคแห่ช้าง ประเพณีบวชช้าง จัดขึ้นในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดื่อน 6 (ราว กลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ณ วัดแจ้งสว่าง บ้านตากลาง อ.ท่าตูม จะมีการแห่แหน บรรดานาคด้วยขบวนช้างกว่า 50 เชือก ข้ามลำน้ำมูลกันอย่างเอิกเกริก พิธีโกนผมนาค พิธีแห่นาค ช้างไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ ศาลเจ้าพ่อวังทะลุ และอุปสมบทนาค
ประเพณีการเซ่นผีปะกำ ชนชาวส่วยหรือกูย มีความยึดมั่น และเคร่งครัดในประเพณี เป็นอย่างมาก มีความเชื่อเรื่องของผีสางเทวดา ไม่ลบหลู่สิ่งที่ตนเองเคารพบูชา ซึ่งในแต่ละ ครอบครัวจะมีผีซึ่งตนเองเคารพอยู่ประจำ ที่เราเรียกว่า "ผีปะกำ" การเซ่นผีปะกำ จะกระทำ ก็ต่อเมื่อมีการไปคล้อช้าง พิธีแต่งงาน หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่คนในครอบครัวจัดให้มีขึ้น เพราะมี ความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้เซ่นผีปะกำของตนเองแล้ว จะมักให้มีอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ถ้าได้เซ่น ผีปะกำถูกต้องตามประเพณีแล้ว จะทำให้ชีวิตมีแต่ความสงบสุข และการกิจกรรมดังกล่าว จะสำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดี
เทศกาลงานช้างสุรินทร์ เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์ เป็นถิ่นฐานของชาวไทยเชื้อสายกูย เป็น ชนเผ่าที่เชี่ยวชาญการจับช้าง เลี้ยงช้าง และฝึกช้างมาแต่อดีตกาล แม้วันนี้การคล้องช้างป่าจะยุติ ไปแล้ว แต่พวกเขายังเลี้ยงช้างไว้ดั่งสัตว์เลี้ยงของครอบครัว ชาวสุรินทร์ได้เคยทำชื่อเสียงให้แก่ ประเทศไทยมาแล้ว และเมื่อ "การแสดงของช้าง" ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2503 นั้น ทำให้นามของจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างประเทศ
งานช้างสุรินทร์ จัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน ในงานจะมี การแสดงต่างๆ ของช้าง เช่น ช้างเล่นฟุตบอล ช้างเต้นระบำ ขบวนพาเหรดของช้าง ขบวนช้างศึก เป็นต้น
พิธีไหว้ศาลปะกำ คชอาณาจักร สุรินทร์
ประเพณีแซนแซร เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการทำนา ก่อนที่จะลงมือทำนาในฤดูฝนแล้ว ชนชาวส่วยจะทำพิธีที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ แซนแซร คำว่า "แซน" แปลว่า เซ่น ส่วน "แซร" แปลว่า นา หรือ ที่นา การประกอบอาชีพทำนาของชนชาวส่วย จะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ เนื่องจากการ ทำนาจะทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ดังนั้นการทำนาของชาวส่วย จึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พิธีกรรมที่สำคัญของการแซนแซร์ จะกระทำอยู่ 3 ขั้นตอน คือ
ประเพณีบุญวันสารท (แซนโดนตา) เป็นการทำบุญเพื่อรำลึกถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไป แล้ว และเพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีขึ้นในช่วงวันขึ้น 14–15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างช้านานของชนเผ่าเขมร เป็นการ แสดงออก ถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นถึงความรักความกตัญญูของสมาชิกใน ครอบครัว โดนตา หมายถึง การทำบุญให้ยาย และตา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต โดยมีกิจกรรมที่โดดเด่น คือ เที่ยวชมปราสาทขอมโบราณและโบราณสถานต่างๆ เที่ยวหมู่บ้านช้าง ชมการแสดงน่ารักๆ ของช้างแสนรู้ ลองนั่งช้าง เรียนรู้การฝึกบังคับช้างและการเลี้ยงช้าง อุ้มช้างอาบน้ำ ชมศูนย์คชศึกษา ศึกษาเรื่องราววิถีชีวิตความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ชมสุสานช้างที่วัดป่ากวยอาเจียง ชมพิพิธภัณฑ์ครูบาใหญ่ เยี่ยมชมหมู่บ้านหัตถกรรมและเลือกซื้อสินค้าหัตถกรรมเป็นของฝาก
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ คือ ขี่จักรยานท่องเที่ยว ดูนก ชมพรรณไม้ พักผ่อนหย่อนใจ และตั้งแคมป์พักแรมที่วนอุทยานพนมสวาย และวนอุทยานป่าสนหนองคู และมีกิจกรรมท่องเที่ยวแบบผ่อนคลายอื่นๆ เช่น ลงเล่นน้ำ กินปลาแม่น้ำ และล่องแพที่วังทะลุ พายคายัคลำน้ำชี พักผ่อนริมห้วยเสนง พักโฮมสเตย์ ชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน เรียนรู้การทอผ้าไหม ลิ้มลองอาหารพื้นบ้านกับข้าวหอมมะลิสุดอร่อย ชมการแสดงประเพณีพื้นบ้านชาวกวย เรียนรู้วัฒนธรรมภาษากวย เดินชมตลาดและเลือกซื้อสินค้านานาชนิดที่ตลาดการค้าช่องจอม หรือพักในรีสอร์ตสวย นวดแผนโบราณ และทำสปา เป็นต้น
ผ้าไหมสุรินทร์ เสน่ห์ มนตรา คุณค่าแห่งผ้าไหมมัดหมี่
จังหวัดสุรินทร์ มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลากหลายรูปแบบ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ที่น่าสนใจ คือ โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน ปราสาทจอมพระ ปราสาทหินบ้านพลวง ปราสาทเมืองที ปราสาทศีขรภูมิ ปราสาทภูมิโปน ปราสาทยายเหงา ปราสาทบ้านไพล ปราสาทตะเปียงเตีย หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์ หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านจันรม หมู่บ้านจักสานบ้านบุทม หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทอง จันทร์โสมา อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) วัดบูรพาราม ศาลหลักเมืองสุรินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ นอกจากนี้ สุรินทร์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ ที่สวยงามและน่าสนใจอีก เช่น ห้วยเสนง วนอุทยานพนมสวาย วนอุทยานป่าสนหนองคู เขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบ และตลาดการค้าช่องจอม
รายการชื่นใจไทยแลนด์ - จังหวัดสุรินทร์
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดสุรินทร์ | แผนที่จังหวัดสุรินทร์ | เอกสารการท่องเที่ยว | ผ้าไหมสุรินทร์ ]
แนะนำให้ชม "ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองสุรินทร์ในอดีต"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)