คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
กลุ่มชาวไทโส้ บางท้องที่ก็เรียกว่า พวก "โซ่" แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน เขียนว่า "กะโซ่" ซึ่งยังมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกเดียวกับลาวโซ่งในจังหวัดเพชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี สำหรับลาวโซ่งคือพวกไทดำ ที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไท ในสมัยกรุงธนบุรี ส่วน "ข่าโซ่" ซึ่งถือว่าเป็นข่าพวกหนึ่ง อยู่ในตระกูลมอญเขมร กะโซ่ตามลักษณะและชาติพันธุ์ถือว่าอยู่ในกลุ่ม มองโกลอยด์ กะโซ่มีภาษาและขนมธรรมเนียมประเพณี แตกต่างไปจากพวกข่าทั่วไป แต่ภาษาของกะโซ่ก็ยังถือว่าอยู่ในตระกูล "ออสโตรอาเซียติค" สาขามอญเขมร หรือกะตู [Katuic] ซึ่งสถาบันวิจัยภาษาฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้รวบรวมไว้ในภาษาตระกูลไทย
เด็กๆ และผู้หญิงชาวโส้ ปี 2443 Credit : Mission Pavie
ถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกกะโซ่เดิมอยู่ที่ เมืองมหาชัย ในแขวงคำม่วนและแขวงสุวรรณเขต ดินแดนลาวปัจจุบัน สำหรับเมืองมหาชัย เดิมชาวบ้านเรียกว่า "เมืองภูวา - นากะแด้ง" คือ เมืองภูวดลฯ และบ้านนากะแด้ง เพราะว่าในสมัยที่ยังขึ้นกับราชอาณาจักรไทย (ก่อน พ.ศ.2436) เรียกว่า เมืองภูวดลสอางค์ เคยขึ้นกับเมืองสกลนคร แล้วโอนมาขึ้นกับเมืองนครพนมในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวกะโซ่อพยพ มาอยู่ในเขตเมืองสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนชาวกะโซ่ซึ่งอพยพมาจากแขวงอัดปือไปอยู่ในท้องที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ เรียกว่าพวก "ส่วย" หรือ "กุย" พูดภาษาเดียวกับพวกกะโซ่
พวกกะโซ่ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองหลายเมืองคือ
นอกจากนี้ ยังมีชาวไทยกะโซ่อยู่ในท้องที่อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมีเขตติดต่อกับอำเภอกุสุมาลย์อีกหลายหมู่บ้าน เช่น ที่ตำบลโคกสูง และที่บ้านวังตามัวในท้องที่อำเภอเมืองนครพนม ในจังหวัดมุกดาหารมีชาวไทยกะโซ่อยู่ในท้องที่ อำเภอดงหลวง เป็นส่วนมากซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยราชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2359 หัวหน้าชาวไทยกะโซ่ดงหลวง ต่อมาได้เป็นกำนันคนแรกของตำบลดงหลวง มีนามบรรดาศักดิ์ว่า "หลวงวาโนไพรพฤกษ์" ชาวกะโซ่ในอำเภอดงหลวงส่วนมากใช้นามสกุลเดียวกันหมดคือนามสกุล "วงศ์กะโซ่"
ศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยกะโซ่ซึ่งยังรักษาไว้เป็นเอกลักษณ์ประจำเชื้อชาติเด่นชัดก็คือ "โซ่ถั่งบั้ง" หรือภาษากะโซ่เรียกว่า "สะลา" เป็นพิธีกรรมในการบวงสรวงวิญญาณของบรรพบุรุษประจำปีหรือเรียกขวัญ และรักษาคนเจ็บป่วย กับพิธีกรรม "ซางกระมูด" ในงานศพ
1. พิธีกรรม "โซ่ถั่งบั้ง" เป็นพิธีกรรมของชาวกะโซ่ คำว่า "โซ่" หมายถึงพวกกะโซ่ คำว่า "ถั่ง" หมายถึงกระทุ้งหรือกระแทก คำว่า "บั้ง" หมายถึงบ้องกระบอกไม้ไผ่ โซ่ถั่งบั้ง ก็คือ พิธีกรรมใช้กระบอกไผ่ยาวประมาณ 3 ปล้อง กระทุ้งดินเป็นจังหวะ แล้วมีการร่ายรำและร้องไปตามจังหวะในพิธีกรรมของชาวกะโซ่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร เมื่อเสด็จถึงเมืองกุสุมาลย์มณฑล (อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร) เมื่อ พ.ศ.2449 ได้ทรงบันทึกการแสดงพิธีกรรมโซ่ถั่งบั้ง หรือสลาของชาวกะโซ่เมืองกุสุมาลย์มณฑลไว้ว่า
"สลามีหม้อดอนตั้งกลางแล้วมีคนต้นบทคนหนึ่ง คนสะพายหน้าไม้และลูกสำหรับยิงคนหนึ่ง คนตีฆ้องเรียกว่า พะเนาะ คนหนึ่ง คนถึอไม้ไผ่สามปล้องสำหรับกระทุ้งดินเป็นจังหวะสองคน คนถือชามสองมือสำหรับติดเทียนรำคนหนึ่ง คนถือตระแกรงขาดสองมือสำหรับรำคนหนึ่ง คนถือสิ่วหักสำหรับเคาะจังหวะ คนหนึ่ง รวม 8 คน เดินร้องรำเป็นวงเวียนไปมา พอได้พักหนึ่งก็ดื่มอุและร้องรำต่อไป…"
เครื่องดนตรี มีไม้ไผ่สีสุก ขนาด 1.5 เมตร ครบตามจำนวนผู้แสดงที่เป็นชาย ที่จะกระทุ้งให้เกิดเป็นเสียงดนตรี กลองใช้ตีให้จังหวะ ฉิ่ง ฉาบ ซอ ซุง แคน เพื่อให้ประกอบเสียงดนตรีให้ไพเราะ และสามารถออกท่ารำได้อย่างสนุกสนาน เครื่องแต่งกาย เดิมการแสดงใช้ผู้ชายล้วนจะนุ่งห่มแบบโบราณ (นุ่งผ้าเตี่ยว) ไม่สวมเสื้อ มีอาวุธ เช่น หน้าไม้ มีเครื่องดื่มที่เป็นเหล้าหรืออุ ปัจจุบันสตรีเข้าร่วมแสดง และมีการปรับปรุงการแต่งกาย โดยชายจะใส่เสื้อผ้าชุดผ้าฝ้าย ตัดเย็บเป็นชุดให้เหมือนกัน ผู้หญิงใช้ผ้าซิ่นและใช้ผ้าขาวม้ารัดหน้าอกมีผ้าโพกหัว
หญิงสาวชาวไทโส้ (กะโซ่)
2. พิธีซางกระมูด เป็นพิธีกรรมของชาวกะโซ่ก่อนนำศพลงจากเรือน คำว่า "ซาง" หมายถึงการ กระทำหรือการจัดระเบียบ "กระมูด" แปลว่าผี ซางกระมูดหมายถึงการจัดพิธีเกี่ยวกับคนตาย ชาวกะโซ่ถือว่า เมื่อคนตายไปแล้วจะเป็นผีดิบ จึงต้องกระทำพิธีกรรมเสียก่อนเพื่อให้ผีดิบ และวิญญาณของผู้ตายได้สงบสุข มิฉะนั้นอาจทำให้ญาติพี่น้องของผู้ตายเจ็บป่วยขึ้นได้
อุปกรณ์ในพิธีซางกระมูดประกอบด้วย ขันโตก (ขันกระหย่องสานด้วยไม้ไผ่) สองใบเป็น ภาชนะใส่อุปกรณ์ต่างๆ มีไม้ไผ่สานเป็นรูปจักจั่น 4 ตัว (แทนวิญญาณผู้ตาย) นอกจากนั้นยังมี พานสำหรับยกครู (คาย) ประกอบด้วยขันธ์ห้า คือ เทียน 5 คู่ ดอกไม้สีขาว เช่น ดอกลั่นทม 5 คู่ เหรียญเงิน 12 บาท ไข่ไก่ดิบหนึ่งฟอง ดาบโบราณหนึ่งเล่ม ขันหมากหนึ่งขันมีดอกไม้อยู่ในขันหมาก 1 คู่, เทียน 1 คู่พร้อมด้วยบุหรี่และเทียนสำหรับจุดทำพิธีอีกเล่มหนึ่ง ล่ามหรือหมอผี จะเป็นผู้กระทำพิธีและสอบถามวิญญาณของผู้ตาย เมื่อทราบความต้องการของวิญญาณผู้ตายแล้ว ญาติก็จะจัดสิ่งของไว้บวงสรวงดวงวิญญาณ
3. พิธีเหยา ในการรักษาความเจ็บป่วยหรือเรียกขวัญ คล้ายๆ กับพิธีกรรมของชาวอีสานทั่วไป เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยหรือการเรียกขวัญ โดยหมอผีจะทำหน้าที่ล่ามสอบถามวิญญาณของบรรพบุรุษว่า ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงเกินในขนบธรรมเนียมประเพณีไปบ้าง
ชาวไทยกะโซ่มีผิวกายดำคล้ำ เช่นเดียวกับพวกข่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงกล่าวถึงการแต่งกายของชาวกะโซ่ไว้ในหนังสือเรื่อง "เที่ยวที่ต่างๆ ภาค 4" เมื่อเสด็จภาคอีสาน เมื่อ พ.ศ. 2449 ไว้ว่า… "ผู้หญิงไว้ผมสูง นุ่งซิ่น สรวมเสื้อกระบอกย้อมคราม ห่มผ้าแถบ ผู้ชายแต่งกายอย่างคนเมือง แต่เดิมว่านุ่งผ้าเตี่ยวไว้ชายข้างหน้าข้างหนึ่ง…"
ภาษาที่ใช้คือ ภาษาโส้
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกรจังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ. 2498 ซึ่งจังหวัดมุกดาหารยังรวมอยู่ในจังหวัดนครพนม ชาวไทยกะโซ่ ได้แสดงโส้ทั่งบั้งหรือสะลาทอดพระเนตรพร้อมกับร้องคำถวายพระพรเป็นภาษากะโซ่ว่า
"เซินตะดกละแสง เซินแต่แซงมะนาง เซินยอนางเอย ดรุ๊กอีตู จูเยก ยางเอย
ดรุ๊กอีตูจูเยอวายเอย ไฮพัดกระกมติตอนจิรอ ไฮพัดระพอดิตรอนอิตูด
ตะรงยางเอย ระกบเจ้ากวงมานะ วอนเบาแบนเราะ เนออาญาเฮาเอย
สะโอนเนาต๊กยะ วอนเบาแบนเราะ ดูกรองวไดเดอกะนางไฮเอย"
คำแปล "ขอเชิญสิ่งศักดิ์สิทธ์ขุนเขา ขอเชิญแสงตะวันอันแรงกล้า เชิญเถิดขอให้สิ่งศักดิ์สิทธ์ จงมาให้ขวัญทั้งหลายจงมาร่วมกัน ณ ที่นี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเอย ขอให้มาคุ้มครองสองเจ้าเหนือหัว ขอให้พระองค์อยู่ดีมีสุขเถิดพระเจ้าเราเอย ขอให้อย่ามีทุกข์และความเดือดร้อน ขอให้พระองค์อยู่ดีมีสุขอยู่คู่เมืองไทย ปกป้องคุ้มครองพวกทั้งหลายตลอดไปเทอญ"
กลุ่มชาติพันธุ์ ย้อ ไทย้อ ญ้อ เป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในจังหวัดสกลนคร และนครพนม มีภาษาพูดเหมือนภาษาไทยลาว ต่างสำเนียงเล็กน้อย คือ น้ำเสียงสูงอ่อน หวาน ไม่ห้วนสั้นเหมือนไทยลาว มีผิวขาว บ้านเรือนสะอาดตา เช่นเดียวกับชาวผู้ไทย ชาวย้อ ถือว่ากลุ่มตนเป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมแข็งกว่าไทยลาว ถิ่นฐานเดิมของไทยญ้อ อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ของประเทศลาว หรือจังหวัดล้านช้างของไทยสมัยหนึ่ง
ไทยญ้อส่วนใหญ่ได้อพยพ มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ ไชยบุรี ปากน้ำสงคราม ริมฝั่งแม่น้ำโขง (ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2351 ต่อมาเมื่อเกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในสมัย รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2369) พวกไทยญ้อที่เมืองไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไป
แล้วให้ไปตั้งเมืองอยู่ ณ เมืองปุงลิง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อยู่ในเขตแขวงคำม่วนประเทศลาว) อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้กลับมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตั้งเป็นเมืองท่าอุเทน เมื่อ พ.ศ. 2373 คือ บริเวณท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ในปัจจุบัน
ชาวไทย้อชอบตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำ ซึ่งชื่อเมืองชาวไทย้อมักมีคำว่า “ท่า” ขึ้นก่อน เช่น เมืองท่าขอนยาง เมืองท่าอุเทน ลักษณะบ้านเรือนของชาวไทย้อ คล้ายกับบ้านเรือนของชาวไทยลาวทั่วไป คือ ตัวเรือนเป็นเรือนใต้ถุนสูง มีชายคาที่เรียกว่า เซีย มีชานติดกับครัว มีเล้าข้าวอยู่ทางด้านหลังบ้าน ถ้าเป็นบ้านของชาวไร่ชาวนาทั่วไป ก็จะมุงด้วยหญ้าแฝก ฝาผนังเป็นฟากสับสานลานสอง บ้านที่มีฐานะดีก็จะมุงด้วยกระเบื้องเกร็ด หรือสังกะสี และเปลี่ยนฝาผนังเป็นไม้กระดาน ซึ่งมีให้เห็นในปัจจุบัน ชาวย้อ นิยมสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่มสังคมย่อยในวงศ์ญาติพี่น้องของตน และเมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็กลายเป็นหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า “คุ้ม” และมีวัดประจำคุ้มของพวกตน
ประชากรชาวไทย้อ อาศัยอยู่กระจายทั่วไปในแถบภาคอีสาน เฉพาะพื้นที่ที่มีชาวไทย้ออาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ได้แก่ อำเภอท่าอุเทน อำเภอนาหว้า อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอบ้านแพง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมือง สว่างแดนดิน อำเภอพังโคน อำเภอกุดบาก กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ และกิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ บ้านแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ บ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม นอกจากนี้ยังมีอยู่ที่ภาคตะวันออก คือที่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ชาวไทญ้อ สกลนคร
วิถีชีวิตของชาวไทยญ้อ ลักษณะนิสัยใจคอของไทยญ้อส่วนมากที่สุดคือ ซื่อสัตย์ สุจริต รักสงบ มีความสามัคคีมั่น ไม่ว่าจะมีอะไร เช่น การทำบุญ การปลูกบ้าน ทำนาจะว่านหรือวานกัน (นาว่านคือ การลงแขก ทำนา ทำงาน) ชาวไทย้อมีอาชีพด้านเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว กล้วย อ้อย สับปะรด ยาสูบ และพืชผักตามฤดูกาล รองลงมาได้แก่ อาชีพเลี้ยงสัตว์ และจับสัตว์น้ำในลำน้ำ เนื่องจากว่ามีการตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำสงคราม และแม่น้ำชี ภูมิปัญญาของชาวญ้อที่เป็นเอกลักษณ์คือ การทำปลาร้า ทำส้มปลาชะโด อร่อย
ภาษา ภาษาชาวย้อจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กระได ชาวย้อมีภาษาพูดโดยพื้นฐานเสียงแตกต่างไปจากภาษาไทยลาว (ภาษาไทยอีสาน) ตรงที่ฐานเสียงอักษรสูง และเสียงจัตวา จะเน้นหนักในลำคอ น้ำเสียงสูง อ่อนหวาน ฐานเสียงสระ เอือ ใอ ในภาษาไทยลาวจะตรงกับฐานเสียงสระ เอีย และ เออ ตามลำดับ เช่น เฮือ เป็น เฮีย ให้ เป็น เห้อ ประโยคว่า อยู่ทางได เป็น อยู่ทางเลอ เจ้าสิไปไส เป็น เจ้านะไปกะเลอ เป็นต้น
ตัวอย่างภาษาพูดของชาวย้อ หัวเจอ - หัวใจ, หมากเผ็ด - พริก, กินเข้างาย - กินข้าวเช้า, หัวสิเคอ - ตะไค้, ไปกะเลอ, ไปเตอ - ไปไหน ชาวไทย้อไม่มีภาษาเขียนไม่มีตัวอักษรของตนเอง ในอดีตเคยใช้อักษรธรรม หรืออักษรไทยน้อย เช่นเดียวกับชาวอีสาน ปัจจุบันใช้อักษรไทยทั้งสิ้น
โครงสร้างทางสังคม ลักษณะครอบครัวของชาวไทย้อส่วนใหญ่เป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยว ลักษณะเครือญาติไทย้อมีลักษณะเด่นตรงที่ว่า พวกเขาแม้จะแยกครอบครัวไปแล้ว แต่ก็ยังไปมาหาสู่กันเสมอ ยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเต็มความสามารถ ยามเทศกาลงานบุญต่างๆ ก็จะเดินทางไปช่วยเหลือกัน ชาวไทย้อเชื่อกันว่าผู้จะทำหน้าที่ี่แทนพ่อได้เป็นอย่างดี คือ ลูกชาย เพราะผู้ชายนั้นบึกบึนทรหดอดทน สามารถทำงานในอาชีพเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นการสืบสายตระกูล และการรับมรดก ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ชาย ภาระหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวนั้น หน้าที่ในการหาเงินทองมาจับจ่ายใช้สอยภายในครอบครัว การคุ้มครองดูแลต่างๆ เป็นหน้าที่ของพ่อบ้าน แม่บ้านจะดูแลลูกๆ ภาระหน้าที่ภายในบ้าน
สำหรับประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อของชาวไทย้อนั้น ชาวไทย้อที่บ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม มีประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา โดยชาวบ้านจะสร้าง ตูบปู่ตา หรือ โฮงผีปู่ตา โดยชาวย้อถือว่าผีปู่ตาคือ ผีบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว แต่ยังมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ สำหรับที่ตั้งของผีปู่ตาจะอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ สำหรับ ผีบรรพบุรุษของชาวย้อที่ถือว่าเป็นผีปู่ตา มีดังนี้ คือ
ผีเจ้าพ่อขุนสำราญ ญาพ่อผีลือสองนางพี่น้อง เป็นผีผู้หญิงที่ชอบความสวยงาม ชาวย้อจะให้ความสำคัญกับผีสองนางพี่น้อง ในด้านการป้องกันให้ความช่วยเหลือแก่เด็กๆ ของชาวย้อ โดยทั่วๆ ไปชาวย้อชอบตั้งถิ่นฐานที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เพื่อสะดวกในการอุปโภค บริโภค ซึ่งด้วยสาเหตุที่มี เด็กๆ เสียชีวิต ในการอาบน้ำบ่อยๆ ทำให้ชาวย้อลดจำนวนลงเรื่อยๆ เหตุนี้ชาวย้อจึงมีโฮงผีปู่ตาสองนางพี่น้องไว้ที่ท่าน้ำ เพื่อรักษาเด็กในขณะลงอาบน้ำ เช่นเดียวกับชาวย้อที่ท่าอุเทนมีความเชื่อว่า ผีมเหสักข์ และผีบรรพบุรุษ คอยปกป้องคุ้มครองให้พวกตนอยู่เย็นเป็นสุข มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ เพื่อตอบแทนคุณผีดังกล่าว ชาวไทย้อที่ท่าอุเทน จึงมีประเพณีเลี้ยงผีโดยจัด พิธีกรรมที่เรียกว่า "ลงนางเทียม" ณ หอผีบ้าน เป็นประจำทุกปี ปีละ 3 ครั้ง
สำหรับประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของชาวย้อนั้น ประเพณีการแต่งงานเมื่อหนุ่มสาวคู่ใดที่รักใคร่ชอบ พอถึงขั้นตกลงปลงใจที่จะเป็นสามีภรรยากันแล้ว ฝ่ายชายก็จะให้บิดามารดาของตนดำเนินการให้ได้แต่งงานกับหญิงคนรัก ดังนี้ "ไปเจาะ" คือการส่งผู้ใหญ่ไปทาบทาม "โอมสาว" คือการ ทำพิธีสู่ขอ "แฮกเสื่อแฮกหมอน" คือการเตรียมการ ได้แก่ การจัดเตรียมเครื่องนอน ประกอบด้วยฟูก หมอน ผ้าห่ม เสื่อ และมุ้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง ในการนี้ต้องเชิญผู้เฒ่า ผู้แก่ที่ชาวบ้านยอมรับว่าเป็น ผัวค้ำเมียคูณ มาทำพิธีตัดเย็บให้ชาวย้อเรียกว่า แฮกเสื่อแฮกหมอน "เล่าดอง" คือบอกเล่าวันแต่งงาน "มื้อกินดอง" คือพิธีวันแต่งงาน
เมื่อได้ฤกษ์ยามดีแล้ว ก็จะเป็นการแห่จ้าวบ่าวพร้อมขันสินสอดของหมั้น พานบายศรี และสำรับที่เรียกว่า "ขำเพีย" ประกอบด้วยไข่ไก่ต้ม 2 ฟอง งา พริกแห้ง และเกลือป่น อย่างละ 1 ถ้วย ไปยังบ้าน เจ้าสาว พิธีสำคัญได้แก่ การวางสินสอดทองหมั้น ต่อหน้าเจ้าโคตรลุงตาของเจ้าสาวพิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีป้อนไข่หน่วย พิธีขอพรจากเจ้าโคตรลุงตาทั้งสองฝ่าย ถ้าหากให้เขยไปสู่ก็ ทำพิธีจูงบ่าวสาวเข้าหอ แล้วเลี้ยงอาหารแก่แขกผู้มาร่วมงานเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน สำหรับงานบุญของชาวไทย้อส่วนมากก็เหมือนกับ ชาวอีสานทั่วที่นับถือ พระพุทธศาสนาและ ปฏิบัติตนตาม "ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่"
ชาวย้อรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก และรับประทานข้าวเจ้าในบางโอกาส ไม่นิยมรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เหมือนชาวไทยลาว อาหารพื้นเมืองที่มีรับประทานเฉพาะในหมู่ไทย้อ ทำจากปลากราย เรียกว่า "หมกเจาะ" ส่วนอาหารประเภทอื่นก็เหมือนกับชาวไทยลาวทั่วไป ส่วนการรักษาพยาบาลของไทย้อนั้นมีทั้งรักษาด้วยแผนปัจจุบันและแผนโบราณ สำหรับแผนโบราณนั้นก็จะมีการรักษาด้วยยาสมุนไพร และการรักษาด้วยเวทย์มนต์คาถา โดยมีหมอธรรมเป็นผู้รักษา ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยหาสาเหตุไม่พบหรือ ที่เชื่อว่าเป็นการกระทำของภูตผีวิญญาณ หรือที่เรียกว่า "ผีเข้าเจ้าสูน" อาจจะเป็นผีพระภูมิเจ้าที่ ผีเชื้อ หรือผีบรรพบุรุษ ผีเข้าสิง เสียขวัญ และถูกผีปอบเข้าสิง
ในกรณีที่ผีปอบเข้าสิงยิ่งเป็นอันตรายต่อคนป่วยอย่างยิ่ง ถ้าเรียกหมอธรรมมารักษาไม่ทัน ผีปอบอาจจะกินคนป่วยจนตาย เพราะอาการที่โดยปอบเข้าสิงนั้นมักจะอาละวาด แสดงอาการไม่เกร็งกลัว หรือดูถูกหมอธรรม ผู้ที่เป็นหมอธรรมจะต้องมีสายสิญจน์ แส้หวาย (ปะกำ) แล้วถามชื่อผีปอบว่า ชื่อ อะไร มาจากไหน หมอธรรมจะ ใช้แส้ปะกำโบย แล้วใช้สายสิญจน์มัดผู้ป่วยเอาไว้ แล้วสอนสัมทับอีกว่า ต่อไปจะไม่มาทำผู้อื่นอีกโดยให้กินน้ำสาบาน แล้วขอขมากับหมอธรรม โดยใช้ลิ้นเลียปลายเท้า แล้วสัญญาว่าจะไม่กลับมาทำร้ายผู้ป่วยอีก
ศิลปะการแสดง ฟ้อนไทย้อ โดยจะพบในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน และเทศกาลที่สำคัญๆ เท่านั้น ในช่วงสงกรานต์นั้น ชาวไทย้อจะมีการสงน้ำพระในตอนกลางวันโดย มีการตั้งขบวนแห่จากคุ้มเหนือไปยังคุ้มใต้ตามลำดับ ตั้งแต่ขึ้นหนึ่งค่ำเป็นไป จนถึงวันเพ็ญสิบห้าค่ำเดือนห้า ส่วนในตอนกลางคืนหนุ่มสาวจะจัดขบวนแห่นำต้นดอกจำปา (ลั่นทม) ไปบูชาวัดที่ผ่านไป เริ่มจากวัดใต้สุดขึ้นไปตามลำดับถึงวัดเหนือสุดซึ่งเป็นคืนสุดท้าย เสร็จพิธีแห่ดอกไม้บูชาองค์พระธาตุท่าอุเทน จะเป็นช่วงแห่งการเกี้ยวพาราสี การหยอกล้อกัน อย่างสนุกสนานของบรรดาหนุ่มสาวชาวไทย้อ
การแต่งกายชุดรำไทยญ้อ
ชาย สวมเสื้อคอพวงมาลัยสีเขียวสด ใช้สไบไหมสีน้ำเงินพับครึ่งกลาง พาดไหล่ ซ้ายและขวา ปล่อยชายสองข้างไปด้านหลังให้ชายเท่ากัน นุ่งผ้าโจงกระเบนสีน้ำเงินเข้ม ใช้สไบไหมสีแดงคาดเอว ปล่อยชายข้างซ้ายด้านหน้า เครื่องประดับสร้อยเงิน ห้อยพระ ใบหูทัดดอก ดาวเรืองด้านซ้าย
หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีชมพู (สีบานเย็น) คอกลมขลิบดำ หรือน้ำเงินเข้ม นุ่งผ้าถุงไหมสีน้ำเงินมีเชิง (ตีนจก) เข็มขัดลายชิดคาดเอว ใช้สไบไหมสีน้ำเงินพาดไหล่ด้านซ้ายแบบเฉียง ปล่อยชายยาวทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้ชายเท่ากัน เครื่องประดับสร้อยคอ ตุ้มหู สร้อยข้อมือเครื่องเงิน ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้สด หรือดอกไม้ประดิษฐ์
เขมรถิ่นไทย เป็นชื่อทางวิชาการได้กำหนดขึ้น เพื่อเรียกผู้ที่พูดภาษาเขมรซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยทั่วไปชาวเขมรถิ่นไทยเรียกตัวเองว่า "คแมร์" หรือ "คแมร์-ลือ" แปลว่า เขมรสูง เรียกภาษาเขมรและชาวเขมรในกัมพูชาว่า "คแมร์-กรอม" แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยว่า "ซีม" ซึ่งตรงกับคำว่า "สยาม" ในภาษาไทย เมื่อพิจารณาเขตการปกครอง นักภาษาศาสตร์ได้แบ่งภาษาเขมรเป็น 3 กลุ่ม คือ
ปัจจุบันพบชาวเขมรถิ่นไทยอาศัยอยู่ใน จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปราจีนบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว
นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี สันนิษฐานว่า บริเวณที่ราบสูงโคราช เคยเป็นที่อยู่ของชาวขอมหรือชาวเขมรโบราณ ดูจากกลุ่มปราสาทโบราณ ศิลาจารึก ประติมากรรมที่พบมากในบริเวณดังกล่าวเช่น ปราสาทภูมิโปน ปราสาทพนาวัน ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น ชาวเขมรถิ่นไทยน่าจะอพยพมาสมัยหลังในช่วง พ.ศ. 2324 - 2325
ชาวเขมรสูง ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตภาคอีสานตอนใต้มาแต่โบราณกาลแล้ว และได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน โดยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ. 2324 เมืองกัมพูชาเกิดจลาจล จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบ ในสงครามครั้งนี้ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ได้ร่วมยกกองทัพไปตีเมืองเสียมราฐ กำพงสวาย บันทายเพชร บันทายมาศ และได้นำชาวเขมรจำนวนมากมาไว้ที่ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ชาวเขมรรุ่นสุดท้าย ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศีรษะเกษ เมื่อปี พ.ศ. 2410
ครอบครัวของชาวเขมร มีความคล้ายคลึงกับครอบครัวไทยพื้นเมือง คือ พ่อบ้านเป็นหัวหน้าครอบครัว แม่บ้านดูแลภายในบ้าน ให้เกียรติแก่เพศชายในการดำเนินกิจกรรม หรือ ตัดสินเรื่องต่างๆ และมีการอยู่รวมกันหลายครอบครัว อาจประกอบด้วยปู่ย่า-ตายาย ลุงป้า-น้าอา พ่อแม่ ลูกหลาน พี่น้องจำนวนมากครอบครัวใดที่มีลูกสาวหลายคน สมาชิกก็มีแนวโน้มขยายมากขึ้น การแต่งงานของชาวเขมรถิ่นไทย ฝ่ายชายต้องเสียเงินและบรรณาการให้ฝ่ายหญิง โดยต้องจัดขันหมากไปให้ฝ่ายหญิง ประกอบด้วย หมู เหล้า ขนม ข้าวต้ม ผลไม้และเงินทอง ฝ่ายหญิงต้องล้างเท้าให้ฝ่ายชายก่อนขึ้นบ้าน ชาวเขมรสูง ส่วนมากอยู่ในชนบทมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ว่างจากการทำนา ทำไร่ จะเดินทางไปรับจ้างในตัวเมือง และในกรุงเทพฯ เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ประกอบอาชีพหลักของตน
ชาวเขมรถิ่นไทยนับถือศาสนาพุทธ ช่วงเข้าพรรษาจะมีประเพณี "กันซง" ซึ่งเป็นประเพณีการถือศีล นำอาหารไปทำบุญ ที่วัด 8 วัน หรือ 15 วัน นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ จะมีประเพณีไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่า ประเพณีเบ็น หรืองาน แคเบ็น ซึ่งตรงกับสารทไทย พิธีมงก็วลจองได เป็นพิธีสู่ขวัญแบบพื้นบ้าน นิยมจัดในงานมงคล เช่น งานมงคลสมรส ขวัญนาค โกนจุก ยกเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เมื่อบรรพบุรุษเสียชีวิต ชาวเขมรจะตั้งโกศบรรจุกระดูกผู้ล่วงลับไว้ในบริเวณบ้าน ในระยะหลังจะนิยมไปไว้ที่วัดมากกว่า
พิธีมอม็วด เป็นพิธีที่ทำเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย โดยผู้เข้าทรงจะเชิญวิญญาณมาเข้าสู่ร่าง และจะมีผู้คอยซักถามว่าเหตุใดถึงได้เจ็บป่วย นอกจากนั้นชาวเขมรถิ่นไทยยังเชื่อเรื่องโชคราง ของขลัง ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลังบางอย่างสามารถป้องกันภัยและรักษาโรคได้
ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าโฮล ผ้าอำปรุม ผ้าอัลลุยซีม ผ้าซาคู ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สำหรับเสื้อ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม เครื่องประดับจะเป็นเครื่องเงิน เรียกว่า ประเกือม (ประคำ) นำมาร้อยเป็นสร้อย ต่างหู เป็นต้น
เขมรถิ่นไทยมีการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ จเรียง เป็นการขับร้อง หรือแหล่กลอนสด เนียะจเรียง หมายถึง ผู้ขับร้อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเขมร จเรียงมีด้วยกันหลายประเภท เช่น
นอกจากนั้นยังมี กันตรึม รำตรุษ เล่นในเทศกาลสงกรานต์ รำสาก เป็น การรำประกอบเสียงดนตรี และเสียงกระทบสาก ผู้รำประกอบด้วยชายหญิงรำเป็นคู่ๆ รอบวงกระทบสาก
กันตรึมพื้นบ้าน มีความสนิทแนบแน่นกับพิธีกรรม และวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวอีสานใต้ซึ่งมีเชื้อสายเขมร ชาวบ้านใช้กันตรึมในงานพิธีต่างๆ กันตรึมมีเนื้อร้องเป็นภาษาเขมร ทำนองของดนตรีที่เป็นเสียงโจ๊ะ ตรึม ตรึม จึงสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อ กันตรึม นั่นเอง
การเล่นเพลงกันตรึมในสมัยก่อน เพื่อประกอบพิธีกรรมการเจ็บไข้ได้ป่วยมาจาก เทวดาอารักษ์ลงโทษ เพราะผู้ป่วยทำผิด ในสมัยนั้นจึงเรียกว่า เพลงอารักษ์ การเล่นเพลงทุกครั้งต้องขึ้นด้วยเพลงไหว้ครูทุกครั้ง จากนั้นจะเล่นทำนองแห่ พิธีการ เบ็ดเตล็ดขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน วงดนตรีประกอบด้วยกลองเสียงทุ้มกับเสียงแหลม ซอ ปีอ้อ และจะเสริมด้วยฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับตามความเหมาะสม แต่ปัจจุบันคนสนใจสืบทอดกันตรึมน้อยลง อาจารย์อนันต์ สบฤกษ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกับผู้รู้ ครูเพลงพื้นบ้าน นักดนตรี รวบรวมเพลงกันตรึม เพราะมองเห็นคุณค่าวัฒนธรรม และให้ดนตรีเหล่านี้สืบทอดไปยังลูกหลานสืบไป
เป็นการรำของชาวเขมรถิ่นไทย นิยมเล่นในเทศกาลออกพรรษา งานกฐิน และเดือนห้า (แคแจ๊ด) โดยตระเวนเล่นไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อบอกบุญขอบริจาคทรัพย์สมทบกองทุนผ้าป่า กองดอกไม้ กองกฐิน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีคือ กลอง ปี่อ้อ ขลุ่ย ฆ้องใหญ่ กระพรวนวัว ซออู้ ผู้เล่นชายร้องเพลงคนหนึ่ง ฝ่ายหญิงคนหนึ่ง มีลูกคู่ช่วยกันร้องประกอบ นางรำแล้วแต่เหมาะสม ประมาณ 10-12 คน ร่ายรำตามจังหวะเพลง มีนาฎลีลาอ่อนช้อยเนิบนาบ นักร้องชายหญิงร้องสลับกัน ผู้รำจะเดินเป็นแถว จำนวน 15-20 คน เดินไปตามบ้านเหมือนกับการเซิ้งแผ่เงิน (เรี่ยไร)
การแต่งกายสวมชุดพื้นเมือง เช่น ผ้าโสร่ง สวมเสื้อหลากสี เมื่อไปถึงหน้าบ้านผู้ใดก็จะเริ่มตีกลอง ผู้ร้องนำก็จะเริ่มร้องขับ แล้วผู้ร้องตามก็จะร้องพร้อมกัน พร้อมกับจังหวะการรำไปทางซ้ายทีขวาที กระทุ้งด้วยไม้ผูกกระพรวนให้ได้ยินถึงเจ้าของบ้าน เมื่อคณะรำตร๊ดไปถึงบ้านใครก็จะหาน้ำให้ดื่ม ให้สุราและถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญ หลังจากนั้นคณะรำตร๊ดก็จะร้องเพลงอวยพรให้มีความสุขความเจริญ
ที่เป็นการร้องโต้ตอบกัน ทำนองเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวชาวเขมรถิ่นไทยในเทศกาล งานรื่นเริงสนุกสนาน โดยผู้รำนั้นจะไหว้ครูพร้อมกัน เสร็จแล้วเดินออกมาโต้ตอบกันเป็นคู่ๆ มีลูกคู่รองรับ เมื่อร้องจบในแต่ละวรรคดนตรีก็จะบรรเลงรับ ผู้แสดงทั้งหญิงและชายจะรำเกี้ยวพาราสีกัน ลูกคู่จะปรบมือสนับสนุน เมื่อดนตรีจบคู่ใหม่ก็ออกมาร้องทุกคู่จนครบ และร้องบทลาในตอนจบ การรำไม่มีแบบแผนตายตัว เป็นการฟ้อนรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำส่วนใหญ่เป็นท่าจีบ และแบมือเรียกว่า อายัย รำแบบในท่าฟ้อนเกี้ยว ท่ารำของฝ่ายหญิงจะเป็นท่าที่คอยปัด หรือท่าปกป้องระวังการถูกเนื้อต้องตัว
การแต่งกาย ใช้ผ้าทอพื้นบ้าน นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอก มีผ้าสไบคล้องคอ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าไหมคาดที่เอว
เครื่องดนตรี มีกลอง (สก็วล) 1 คู่ ปี่อ้อ 1 เลา ซอ 1 - 2 คัน ฉิ่ง ฉาบ กรับ ทำนองที่บรรเลงเร้าใจ สนุกสนาน
นาฎศิลป์และดนตรีของชาวเขมรนั้น แยกไม่ออกจากนาฎศิลป์และดนตรีของชาวอีสานทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร ส่วย เยอ ดนตรีหลักของชาวลาว คือพิณ แคน ให้จังหวะด้วยกลอง ดนตรีหลักของชาวเขมรคือ ซอ ปี่ ระนาด ตะโพน ฉิ่ง ส่วนชาวส่วยและเยอยึดเอาดนตรีของชนเผ่าที่ตนอยู่ใกล้มาใช้ โดยเฉพาะ พิณ และแคน
พิธีแต่งงานชาวเขมร จะจัด "พิธีแซนการ์" จะกำหนดงาน 2 - 3 วัน โดยแบ่งเป็นวันรวมญาติพี่น้อง หรือวันสุขดิบ วันแต่ง และวันส่งตัว เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของทุกคน เพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูล หนุ่มสาวไทยเขมรในปัจจุบัน มีอิสระในการเลือกคู่ เมื่อรักใคร่กันแน่นอนแล้ว พ่อแม่ฝ่ายชายก็จะมาเยี่ยมเยียน ทำความคุ้นเคย จากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มด้วยการทาบทาม ด้วยเหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดตามแต่จะพอใจ ถ้าตกลงกันได้ก็จะนัดกำหนดวันแต่งงาน
ไงแซน (วันแต่งงาน) ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "อาจารย์" เจ้าพิธี จัดเตรียม บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร มีดอกไม้ เทียน ข้าวต้มมัด กล้วย ขนมตามความพอใจ มีด้ายผูกข้อมือ ในปะรำพิธี มีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และดอกไม้ สำหรับเซ่นสรวงเทพ มี "ปะต็วล" แขวนหัวเสา ด้านหน้ามี ฟูกสำหรับกราบบนฟูกวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" วางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พานผ้าไหม เงิน หมากพลู กรวย ดอกไม้ ขันข้าวขวัญ (ข้าวสุกปั้น) ไข่ต้ม มีกรวยใบตองคว่ำไว้ ขันน้ำมนตร์ เป็นต้น
การแห่ขันหมาก มีมโหรีนำหน้าขบวน แห่พานบายศรี เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษพร้อมบริวาร ถาดขนม สินสอด ขันหมาก เข้าสู่ปะรำพิธี ฝ่ายหญิงจะมารับ นำเข้าสู่ปะรำพิธี เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าสาวจะออกมามอบหมากพลูให้เจ้าบ่าว จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะมอบ "เฮ็บ" และ "ท็อง" คือ พานหมากพลู พ่อแม่เจ้าสาวก็จะแก้ห่อผ้าออกหยิบกินเป็นการยอมรับ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางทับบนหลังมือเจ้าสาว การเซ่นผี อาจารย์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะมารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่นแล้วยกออกไป
สาวชาวแขมร์ สุรินทร์
การส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน หางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอน และผ้าไหว้ แห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำ และฟืนไป เจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาว แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง พอขึ้นเรือนผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้น และหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว นำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ฝ่ายชาย แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่ไหว้ และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้ม จากนั้นจึงไหว้เจ้าบ่าวด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม สไบสองผืน เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้ น้ำ เหล้าให้กิน
การเสี่ยงทาย จะมีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก การแต่งงานของชาวสุรินทร์ เน้นการขอบคุณ และระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษ จะพบว่า ปะต็วล เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี เป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษ ที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์
เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณที่ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ ในวันขึ้น 1 ค่ำของเดือนห้า ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ทุกครัวเรือนจะพากันหยุดงานโดยพร้อมเพรียงกัน มีกำหนด 3 วันเพื่อพักผ่อน และไปนมัสการพระพุทธบาทจำลองเขาสวาย ซึ่งได้จำลองจากพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี พอถึงวันขึ้น 14 ค่ำ จะมีพิธีก่อเจดีย์ทรายตามวัดวาอารามทั่วๆ ไป มีพระสงฆ์สวดมนต์ฉลองเจดีย์ทราย และมีการละเล่นต่างๆ เช่น รำกระทบสาก เป็นต้น พอรุ่งเช้าในวันขึ้น 15 ค่ำ มีการทำบุญตักบาตรอย่างพร้อมเพรียงกัน และจากวันแรม 1 ค่ำเป็นต้นไป ตามประเพณีให้หยุด
โดยทั่วๆ ไป เรียกว่า "วันสารท" มี 2 ระยะ ในระยะแรกตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ประชาชนจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด ในระยะหลังตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ สำหรับในวันนี้ทุกครัวเรือนจะทำพิธีเซ่นไหว้เรียกวิญญาณของญาติพี่น้องที่ได้ล้มตายไปแล้ว ให้มารับของทาน เป็นต้นว่า ขนมนมเนยและสิ่งของต่างๆ พิธีอย่างนี้ชาวบ้านเรียกว่า "แซนโดนตา" กลางคืนไปฟังพระสวดที่วัด มีการทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลผลบุญต่างๆ ให้ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว รุ่งเช้าในวันแรม 15 ค่ำ ไปทำบุญตักบาตรที่วัดโดยพร้อมเพรียงกัน
คนไทยส่วนใหญ่เรียกชื่อว่า ขอม มากกว่า เขมร ซึ่งจะแยกฐานะของคำเรียก จะใช้คำว่า ขอม เมื่อต้องการยกยอชมเชย เช่น ศิลปะขอม ภาษาขอม และคนขอม เป็นต้น แต่เมื่อไดใช้คำว่า เขมร จะใช้ในเชิงไม่ดี เหยียดหยาม เช่น เขมรป่าดง เขมรดงดิบ และไสยศาสตร์เขมร เป็นต้น
ชาวกูย กวย โกย เยอ อพยพเข้าประเทศไทย ครั้งใหญ่ในสมัยปลายอยุธยา (พ.ศ. 2245 - 2326) ชาวกูยมีถิ่นเดิมอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา ชาวกูยเคยเป็นรัฐอิสระ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เคยส่งทูตมาค้าขายกับอยุธยา และเคยช่วยกษัตริย์เขมรปราบขบถ ต่อมาเขมรได้ใช้อำนาจทางทหารปราบชาวกูย และผนวกอาณาจักรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขมร ชาวกูยชอบการอพยพ เพื่อแสวงหาที่ดินอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก ชาวกูยอพยพขึ้นเหนือเข้าสู่เมืองอัตตะบือ-แสนแป จำปาศักดิ์ และสาละวัน ทางตอนใต้ของลาวและอพยพข้ามลำน้ำโขงเข้าสู่ภาคอีสาน ทางด้าน แก่งสะพือ อำเภอโขงเจียม หลังจากนั้นลูกหลานชาวกูยแยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือน
หญิงสาวชาวกูย จังหวัดสุรินทร์
ชาวกูย ที่อพยพมามีหัวหน้าของตัวเอง คนไทยเรียกชาวกูยว่า "เขมรป่าดง" แต่ "ชาวกูย" เรียกเรียกตัวองว่า กุย หรือ โกย ซึ่งแปลว่า "คน" ส่วนคำว่า "ส่วย" นั้น น่าจะมาจากการที่ในสมัยการปกครองกรุศรีอยุธยา ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หัวเมืองต่างๆ ต้องส่ง "เครื่องบรรณาการ" หรือ "ส่วย" ไปถวายราชสำนักส่วนกลาง ซึ่งอาจเป็น ช้าง ม้า แก่นสน ปีกนก นอรมาด (นอแรด) งาช้าง ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง เงินทอง ไม้หอม ข้าว หรือสิ่งมีค่าอื่นๆ ในภายหลังเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงไม่สามารถส่งของมีค่าไปได้ จึงส่งคนเป็น "ส่วย" แทน เพื่อให้ไปใช้แรงงานทดแทนทรัพย์มีค่าเหล่านั้น จึงมีการเรียกแรงงานเหล่านี้ว่า "พวกส่วย" ซึ่งชาวกูยเองไม่ค่อยยอมรับในชื่อนี้ และจากการสืบค้นในเอกสารอื่นๆ พบว่า ในภาษาเขมรเรียกว่า កួយ (អក្សរសព្ទខ្មែរ: /កួយ/) ในภาษาละตินเขียนว่า kuoy (អក្សរសព្ទឡាតាំង: /kuoy/)
ปัจจุบันพบชาวกูยในจังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ สุพรรณบุรี ส่วนใหญ่ชาวกูยในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานปนอยู่กับชาวเขมรสูงและชาวลาว ทำให้ชาวกูยถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขมรสูงและลาว บ้านของชาวกูยมีลักษณะใต้ถุนสูง ด้านหน้าเอาไว้เลี้ยงช้าง ใต้ถุนใช้เป็นที่วางหูกทอผ้า วางกระด้งไหม และวัสดุเครื่องใช้สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ ชาวกูยบางบ้านจะแบ่งส่วนหนึ่งที่ติดตัวบ้านเป็นยุ้งข้าว บางบ้านสร้างแยกต่างหาก
ชุมชนกูย เป็นชุมชนที่มีขีดความสามารถพึ่งตัวเองในทางเศรษฐกิจ คือ มีความสามารถในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจที่ได้จากป่า และทำการผลิตเพื่ออยู่เพื่อกินในครัวเรือน ยังมีความสามารถในการพัฒนา เทคโนโลยีทางการผลิตเพี่อการดำรงชีวิตประจำวัน มีการจัดระเบียบทางการปกครองในชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรี ผู้มีอาวุโสที่สุดเป็นผู้มีบทบาทต่อการตัดสินผิดถูกในชุมชน ซึ่งชาวกูย เรียกว่า "โขด"
ชาวกูยนิยมเลี้ยงช้าง ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ชาวกูยจะออกไปจับช้างในป่าด้วยการคล้องช้าง เรียกว่า "โพนช้าง" เป็นการจับช้างโดยหมอช้าง ใช้บ่วงมาศที่เรียกว่า "เชือกปะกำ" ทำจากหนังควายถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์คล้องเท้าช้างแล้วผูกกับต้นไม้ และนำมาฝึกใช้งาน
ในการคล้องช้างกระทำปีละครั้ง ราวเดือน 11 - 12 ช้างที่ตายลงจะมีการฝังอย่างดี และจะขุดกระดูกขึ้นมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ และในชาวกูยจับช้าง (กูยตำเหร็ย) มีระบบระเบียบพิธีกรรมก่อนออกไปจับช้างอย่างเคร่งครัด โดยมีการตกลงมอบหมายอำนาจให้แต่ละคนกระทำเหนือกลุ่มหรือคณะ ดังนี้
อ่านเพิ่มเติม : ตำนานพระมอเฒ่า ผู้นำในการคล้องช้างของชาวกูย
ชาวกูยมีการนับถือผีและศาสนาพุทธผสมกัน ภายในชุมชนมีทั้งวัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน ผีบรรพบุรุษเรียกว่า "ญะจัวะฮ" บนบ้านจะมีหิ้งบูชา ผีบรรพบุรุษ บางบ้านสร้างศาลไว้ใกล้ศาลเจ้าที่ ในการเซ่นผีกระทำปีละครั้ง เริ่มพิธีโดยมี ข้าวสุก เหล้า เนื้อสัตว์ กรวยใบตอง ผ้า สตางค์ หมากพลู เอามาวางไว้ใต้หิ้งบูชา ทำพิธีเซ่นโดยเอาน้ำตาลโรยบนข้าวสุก จุดเทียนปักลงที่ข้าวแล้วกล่าวขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครอง ขณะที่กล่าวค่อยๆ รินเหล้าลงขัน แล้วหยิบของที่ใช้เซ่นวางบนหิ้งที่เหลือนำมารับประทาน การเซ่นผีอาจจัดขึ้นในวาระอื่นๆ เช่น เมื่อมีเด็กคลอด หรือ เมื่อมีแขกมาเยือนและพักอาศัยอยู่ที่บ้าน
รายการกระจกหกด้าน ตอน “กูย” กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในอีสาน
นอกจากนั้น ชาวกูยยังนับถือวิญญาณได้แก่ ภูติผีปีศาจ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา ผีปอบ และเรื่องขวัญ ในหมู่บ้านจะมีแม่เฒ่าทำหน้าที่ดูแลความเจ็บไข้ ชาวกูยเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของผี จึงมีการอ้อนวอนให้ผีพอใจ โดยมีการรำแกลมอ หรือผีมอ ผู้ที่จะรำผีมอต้องผ่านพิธีไหว้ครู ครอบครูชาวกูยยังมีพิธีไหว้พระแข สันนิษฐานกันว่าเป็นพิธีที่ได้จากเขมร พิธีนี้เป็นพิธีเสี่ยงทายเพื่อดูปริมาณน้ำฝนที่จะตกในเดือนต่างๆ ที่เป็นฤดูทำนาในแต่ละปี
การแต่งกายของชาวกูย หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัดเงิน นิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหู ชาวกูยนิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกมีสีเดียว เป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่ง ผ้านุ่งสตรีนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาล มีหัวซิ่นพื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดงผ้าจะกวีเป็นผ้าคล้ายอันลูซีม ของเขมรมีลายทางยาวเป็น ผ้าที่สตรีใช้นุ่งในงานสำคัญๆ
วิถีบุญวันสารทกูย : ซีรีย์วิถีคน
ในอดีตอีสานใต้เป็นดินแดนอิสระอย่างเอกราช ส่งผลไห้ชาวกูย หรือ ข่า ในแขวงเมืองอัตตะปือจำปาศักดิ์ และสาละวัน ประเทศลาว เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่ดินแดนแถบอีสานใต้ จนกระทั่งมีชุมชนกูยได้ปรากฏชัดขึ้น และทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอีสานใต้ (เขมรป่าดง) ซึ่งขณะนั้นอำนาจการปกครองของเมืองพิมายได้เข้าสู่พื้นที่เขตเขมรป่าดง แต่ทำการปกครองหัวเมืองในอีสานได้อย่างหลวมๆ
รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ. 2301 - 2310) และในปี 2302 พระยาช้างเผือกแตกโรงออกจากกรุง ออกไปอยู่ในป่าดงทางตะวันตก แขวงเมืองจำปาศักดิ์ มีผู้นำชาวกูย 5 คน ให้ความช่วยเหลือข้าหลวงจากอยุธยา ในการติดตามเอาตัวช้างเผือกกลับคืนเมืองหลวงได้ จึงได้รับการตอบแทนความดีความชอบ จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังกล่าว คือให้ ตากะจะ เป็น หลวงสุวรรณ เชียงขัน เป็น หลวงปราบ เชียงฆะ เป็น หลวงเพชร เชียงปุ่ม เป็น หลวงสุรินทรภักดี เชียงลี เป็น หลวงศรีนครเตา
ผู้นำชาวกูยได้ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ นำช้าง, ม้า, แก่นสน, ยางสน, ปีกนก, นอรมาด, งาช้าง, ขี้ผึ้ง สิ่งของดังกล่าวเรียกว่า "ส่วย" (ซึ่งคำว่า "ส่วย" นี่อาจเป็นที่มาของชื่อที่คนไทยเรียกชาวกูย) โดยนำไปส่ง ณ กรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในเวลาต่อมาโดยตั้งให้ หลวงสุวรรณ (ตากะจะ) เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็นเมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครวัด เจ้าเมืองบ้านโคกอัดจะ (บ้านดงยาง) เป็นบ้านสังฆะ ให้หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม) เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมือง ตั้งบ้านคูประทายสมัน (คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือ ตาพ่อควาน) เป็นพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (หรือบ้านเมืองเตา) เป็นเมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย
สืบสานวิชาคชศาสตร์ : กุย สุรินทร์ (1)
สืบสานวิชาคชศาสตร์ : กุย สุรินทร์ (2)
สืบสานวิชาคชศาสตร์ : กุย สุรินทร์ (3)
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (พ.ศ.2325-2352) ก่อนนี้เป็นสมัยกรุงธนบุรี คือ พ.ศ.2319 เมืองจำปาศักดิ์ เกิดวิวาทกับพระวอ ซึ่งอยู่ที่ดอนมดแดง (ในจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบัน) เจ้ากรุงศรีรัตนาคนหุตเวียงจันทน์ โปรดให้พระยาสุโพ คุมกองทัพมาตี พระวอสู้ไม่ได้ และได้จับพระวอฆ่าเสีย ฝ่ายท้าวก่ำ บุตรพระวอ กับท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง และท้าวทิดพรหม หนีออกมาได้ จึงให้คนถือหนังสือไปกรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพไปสมทบกับกำลังที่เกณฑ์จากเมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ และเมืองสังฆะ ซึ่งเป็นผู้นำชาวกูย ตามตีกองทัพของพระยาสุโพ กองทัพไทยตีเมืองต่างๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด อาณาจักรเวียงจันทร์ และนครจำปาศักด์ จึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่นั้นมา
ในปีเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองสุรินทร์ เจ้าเมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ เป็นตำแหน่ง "พระยา" ทางเมืองเขมรนั้นกองทัพไทย ได้ยกไปตีเมืองเสียมราช กำปงสวาย เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ และเมืองรูงตำแร็ย เมืองเหล่านี้ต้องยอมแพ้ต่อกองทัพไทย จากการชนะสงครามดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้มีกลุ่มชนชาวลาว และชาวเขมรเข้ามาอยู่อาศัย ในชุมชนกูย และมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงกว่าพวกกูย จึงถูกวัฒนธรรมเขมรกลืนไป เช่น เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ ส่วนที่เมืองกุดหวาย (รัตนบุรี) อุบลราชธานี และศรีษะเกษได้มีการปรับเปลี่ยนไปทางวัฒนธรรมลาวไปแทบทั้งสิ้น
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ให้กลุ่มชาวกูย เป็นข้าไพร่แผ่นดินสยาม ได้ถูกเกณฑ์แรงงาน และจัดส่งส่วยให้แก่ทางราชการอยู่โดยตลอด ในสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การเกณฑ์แรงงานกูยในเขตอีสานใต้ (เขมรป่าดง) เริ่มประสบความยุ่งยาก เพราะหนุ่มฉกรรจ์ชาวกูย มักหลบหนีการเกณฑ์ บางครั้งถึงกับซุ่มโจมตีทำร้ายเจ้าพนักงาน แล้วหนีเข้าป่า และมีชาวกูยได้ก่อการกบฏขึ้น
ดังเช่น กบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 ได้เกิดเหตุในแขวงเขตจำปาศักดิ์ และในเขตหัวเมืองต่างๆ ในอุบลราชธานี กบฏสาเกียดโง้ง พ.ศ. 2363 เป็นกบฏของข่า ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลาวใต้ และบริเวณอีสานใต้ ทางกรุงเทพฯ ได้ให้เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเวียงจันทร์ ยกทัพไปปราบ และได้จับสาเกียดโง้ง และชาวข่า (กูย) พร้อมทั้งครอบครัวจำนวนมากส่งมากรุงเทพฯ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จำสาเกียดโง้งไว้ตลอดชีวิต ส่วนครอบครัวกูยโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ตั้งบ้านเรือนที่บางบอนธนบุรี กูยเคยมีจำนวนถึง 300,000 คน ถูกลดจำนวนลงเหลือเพียงไม่กี่พัน เมื่อรัฐไทยได้เข้าไปทำการจัดเก็บภาษีในบริเวณอีสานใต้ โดยมีการพัฒนาจัดเก็บภาษีเป็นควาย ซึ่งนอกเหนือจากภาษีของคนป่า เพื่อนำส่งไปยังกรุงเทพฯ เช่นปี พ.ศ. 2402 ที่เมืองสุรินทร์ ให้จัดส่งควาย 61 ตัว เมืองรัตนบุรี 163 ตัว และกองพระยาภัคดีชุมพลเมืองสุรินทร์ 32 ตัว
การจัดเก็บได้ทวีเพิ่มความรุนแรงขึ้น เมื่อชาวกูยไม่มีสิ่งของเป็นส่วยให้กับทางราชการ และพอถึงปลายรัชกาลที่ 4 ก็เข้ารอบวิกฤตอีก คือ กูย ไม่มีส่วยสิ่งของส่ง จึงเอาตัวคน กูย ส่งส่วยแทน ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 5 ได้เกิดกบฏผีบุญขึ้นใน พ.ศ. 2444 - 2445 มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายกบฏ กับฝ่ายรัฐบาลสะพือ (ปัจจุบันอยู่ใน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี) หัวหน้าฝ่ายกบฏคือ องค์ลูก น้องขององค์แก้ว หัวหน้าพวกข่า (กูย) ในลาว องค์มั่น มีชาวบ้านเข้าด้วยหลายพันคน เมื่อปะทะกับกองกำลังประมาณ 100 คน ของกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงสำเร็จราชการอีสานในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2445 ที่บ้านสะพือ
องค์มั่นก็สั่งให้พรรคพวกนั่งลง ภาวนาเอาบารมีบุญกุศลเป็นที่พึ่ง จะแคล้วคลาดจากกระสุนปืนใหญ่ ปรากฏว่าฝ่ายผู้มีบุญถูกกระสุนปืนใหญ่ตายนับร้อย ที่เหลือถูกจับ หรือแตกหนีไป เมื่อพิจารณา ถึงสาเหุตการเกิดกบฏ ถ้ามองด้านการปกครองรัฐบาลไทย ซึ่งนำเอาอย่างประเทศอาณานิคม คือ อังกฤษ ด้านวัฒนธรรมไม่เอาใจใส่ หรือไม่สนใจกับรากฐานทางวัฒนธรรม ดั้งเดิมที่ตนเข้าไปปกครอง ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะกดดันวัฒนธรรมเดิม ให้อ่อนด้อยลงพร้อมกับการนำเอาวัฒนธรรมใหม่เข้าไปแทน
ในแง่วัฒนธรรมทางการเมือง คือ การล้มเลิกระบบกินเมือง การเก็บภาษี มีการเปลี่ยนเเปลง คือ การเก็บภาษีเป็นตัวเงินที่เห็นได้ชัดคือการเก็บเงินค่าราชการ แต่เดิมรัฐบาลใช้การเกณฑ์เเรงงานและส่วย เมื่อมีการปลดไพร่ รัฐบาลเองก็ต้องการเงินมากกว่าเเรงงาน ในปี พ.ศ. 2439 รัฐบาลให้ทุกคนเสียค่าราชการคนละ 6 บาท เป็นมาตรฐานเดียวกับภาคกลาง ในขณะที่ภาคอีสาน เศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนเเปลงมากนัก ดังนั้นจึงก่อเกิดปัญหาชาวนาในภาคอีสานประสบความยากลำบาก ในการหาเงินเสียค่าราชการ และยังสะท้อนให้เกิดการเคลื่อนย้ายเเรงงานของคนอีสานมายังภาคกลาง
ปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบต่อชาวกูย เพราะสอดคล้องกับผลการสำรวจของ เอเจียน เเอมอนิเย ที่กล่าวว่า ชนเผ่ากูยเป็นเผ่าที่ยากจนที่สุด ไม่มีไร่นาจะเพาะปลูก เขามีเพียงไร่ผืนเล็กๆ กลางป่าเพื่อปลูกข้าว ต่อมาฝรั่งได้ขยายอำนาจสู่บริเวณอินโดจีน รัฐไทยมีนโยบายเพื่อความมั่นคง โดยเฉพาะชายแดนในอีสานตอนใต้ ที่มีชนชาติกูยได้ถูกผนวกเข้ากับรัฐไทย ได้เปลี่ยนสัญชาติกูยเป็นไทย การสำรวจสำมะโนครัว หรือ หากมีราษฎรติดต่อราชการที่จะต้องใช้เเบบพิมพ์ทางราชการให้ปฏิบัติโดย กรอกในช่องสัญชาติว่า ไทย บังคับห้ามมิให้ลง หรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ชาติส่วย (กูย) ผู้ไทย ดังที่เคยปฏิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด
อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ชนชาติกูย มีบทบาทสำคัญยิ่งในบริเวณอีสานตอนใต้ ลาวใต้ และกัมพูชาตอนบน (ตะวันออกเฉียงเหนือทะเลสาบเขมร) มีความเป็นมาและได้มีการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผสมกลมกลืนกับชาวกัมพูชา ลาวและไทย ตลอดมาโดยเฉพาะความความสัมพันธ์กับชนชาติไทย
สืบสานดนตรีพื้นบ้านชาวกูย
ปัจจุบัน กูย มีถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บางอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ บ้านสะเดาหวาน อำเภอพยัคฆ์ภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อำเภอเกษตวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และบางอำเภอในเขต จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับ "เยอ" เป็นชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร เรียกตนเองว่า กวย มีความหมายว่า คน เยอจัดอยู่ในกลุ่มของชนชาวกูย มีภาษาพูดเดียวกันมีบางคำเท่านั้นที่แตกต่างกัน ชาวเยอทั่วไปจะสูงประมาณ 165 ซม. ผิวดำแดง การตั้งหมู่บ้านส่วนใหญ่ จะตั้งในเขตใกล้ลำน้ำ หรือลำห้วย ชาวเยอในแต่ละหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ ปกติชาวเยอ มีอาชีพทำนา แต่บางส่วนมีความชำนาญด้านการช่าง
ศาสนา เยอ นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในเรื่อภูต ผี ประเพณีคล้ายชาวกูย, ลงแขก รำผีฟ้า ผีแถน การละเล่นพื้นเมือง โหวด, ว่าวสะบู แข่งเรือ ศิลปวัฒนธรรม/ภูมิปัญญาช่างทำบ้าน ผ้าไหมมัดหมี่
ภาษาเยอ ภาษาเยอ (Nyeu) เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ภาษากลุ่มมอญ-เขมร สาขามอญ-เขมรตะวันออก สาขาย่อยกะตู มีผู้พูดในประเทศไทย 200 คน ในจังหวัดศรีสะเกษ นักภาษาศาสตร์จัดภาษาเยอกับภาษากูยให้เป็นภาษาเดียวกัน เนื่องจากมีการใช้คำศัพท์พื้นฐานร่วมกันมาก มีความแตกต่างกันในเรื่องเสียงของพยัญชนะ และเสียงสระ
ภาษาเยอเป็นภาษาเดียวกับภาษาส่วย แต่สำเนียงแตกต่างกัน และเพี้ยนกันไปตามสภาพแวดล้อม บางท่านสรุปว่า 'ภาษาเยอคือ ภาษาส่วยที่ใกล้ชิดกับภาษาลาว ภาษากูยคือภาษาเยอที่ใกล้ชิดกับภาษาเขมร'
ภาษาเยอเป็นภาษาที่มีความอ่อนไหวมาก จากอิทธิพลของภาษาลาว และภาษาเขมรมาก ในหมู่บ้านของชาวเยอ จะพูดภาษาเยอ ภาษาเขมร และภาษาลาว ทำให้มีโอกาสที่จะทำให้ภาษาเยอเป็นภาษาตายได้ในอนาคต
ภาษาเยอพูดกันใน บ้านกุง บ้านขาม ในกิ่งอำเภอศิลาลาด บ้านกลาง หรือบ้านเชือก บ้านจิก บ้านหลุบโมก บ้านดอนเรือ บ้านบากเรือ บ้านร่องโศก บ้านใหญ่ บ้านกลาง บ้านโนน บ้านหว้าน ในอำเภอราศีไศล บ้านขมิ้น บ้านโพนค้อ ในอำเภอเมืองศรีสะเกษ บ้านปราสาทเยอ และบ้านโพนปลัด ในอำเภอไพรบึง
อาหารชาวเยอ คล้ายกับกูย ในอดีตไม่นิยมกินเนื้อวัว เนื้อควาย
การสร้างครอบครัวของชาวกูย กวย ส่วย เยอ นั้นก็เหมือนกับชนเผ่าอื่นๆ เมื่อหนุ่มสาวผูกสมัครรักใคร่ ก็มักจะมีการจัดพิธีกรรมขึ้น เพื่อเป็นการประกาศให้ญาติทั้งสองฝ่ายรับรู้ เป็นสักขีพยานในการครองรักครองเรือน ซึ่งพิธีการแต่งงานก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ในชาติพันธุ์ ชาวกูย หรือ กวย หรือ ส่วย หรือ เยอ ก็มีพิธีกรรมนี้เช่นกัน เรียกว่า "ซัตเต"
"พิธีซัตเต" เป็นพิธีการแต่งงานแบบพื้นบ้านของชาวกวย, กูย, ส่วย หรือ เยอ คำว่า "ซัตเต" เป็นภาษาส่วย แปลว่า "ผูกแขน" หรืออาจจะเรียกตามภาษาเขมรถิ่นไทยในแถบสุรินทร์ว่า "ฮาวปลึงจองได" ก็ได้ ซึ่งคำว่า "ฮาวปลึง" หมายถึง "การเรียกขวัญ" ส่วนคำว่า "จองได" มีความหมายว่า "ผูกข้อผูกแขน หรือ ผูกข้อมือ" ซึ่งตามประเพณีอีสานทั้งอีสานเหนือ อีสานใต้ การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นการแสดงความชื่นชมยินดีให้กับเจ้าของขวัญ ให้มีความสุข อายุยืนยาว มีพิธีการสู่ขวัญ หรือสูตรขวัญ โดยพ่อหมอหรือพราหมณ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งการสวดนี้ก็จะใช้ภาษาท้องถิ่นแตกต่างไป ในจังหวัดทางอีสานใต้ก็จะใช้ภาษาเขมร เมื่อเสร็จสิ้นการสวดแล้วก็จะมีการผูกข้อมือโดยพราหมณ์ และญาติผู้ใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของการรับขวัญและเป็นสิริมงคลสืบไป
สะไน เป็นภาษาเขมรแปลว่า "เขาสัตว์" ถ้าเป็นเขาควายก็จะเรียก "สะไนกะไบ" สะไนที่เป็นเครื่องเป่าของชาวเยอก็ทำจากเขาสัตว์โดยทำจากเขาควายเหมือนกัน เรียกเป็นภาษาเยอว่า "ซั้ง" หรือ "ซั้งไน" การที่ชาวเยอนิยมนำเขาควายมาทำสะไน เนื่องจากเขาควายมีรูลึกตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลายเขา ทำให้เจาะรูจากปลายเขาได้ง่าย ส่วนเขาวัวนั้นรูจากโคนเขาถึงปลายเขาไม่ลึกพอจึงไม่นิยม ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอราษีไศล สะไน เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรม หรือกิจกรรมที่สำคัญเท่านั้น เช่น พิธีกรรมบวงสรวงศาลพญากะตะศิลา การแข่งขันเรือ และเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ (หอยสังข์) ยังไม่นิยมนำมาเป่าเล่นเพื่อผ่อนคลาย หรือความบันเทิงใดๆ ตามที่ครูเฒ่าเผ่าเยอได้เล่าติดต่อกันมาว่า สะไนเป็นของศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญมาก
สะไนเป็นเครื่องเป่าที่สืบชื้อสายมาจากสังข์ (ในภาษาเยอเรียก ซั้ง "ปรงซั้ง" แปลว่า "เป่าสังข์") ลิ้นของสะไนทำจากไม้ไผ่ ใช้ยางไม้ติดเข้ากับตัวเขา ระหว่างปากลำโพงกับปลายเขา การเคารพบูชาสะไนจะเหมือนกับการเคารพบูชาสังข์ เพราะในอดีตชาวเยอเชื่อกันว่า การเป่าสะไนเป็นการเป่าบูชาสังข์ และเมื่อเป่าสะไนแล้ว เงือก นาค ภูตผีปีศาจ จะไม่มาทำร้ายคน พร้อมกันนี้จะทำให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาช่วยดูแลคุ้มครองรักษาชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี มีความปลอดภัย
ในสมัยก่อนเมื่อชาวเยอมีการเดินทางไกลต้องผ่านป่าเขา ถ้าหากเดินทางไปไม่ถึงที่หมายจำเป็นต้องนอนค้างแรมกลางป่าเขา จะต้องเอาสะไนไปด้วย ถ้ายามค่ำคืนก็จะเอาสะไนออกมาเป่า เพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางผีป่าผีเขาให้ช่วยดูแลรักษา ถ้าเป่าสะไนแล้วสัตว์ป่าก็จะไม่กล้ามาทำร้าย ในสังคมวัฒนธรรมที่มีความใกล้เคียงกันเช่น ส่วยและเขมร จะใช้สะไน เป็นเครื่องเป่าให้สัญญาณเวลาออกไปคล้องช้าง โดยเสียงสะไนที่เป่าแต่ละครั้งหรือแต่ละเสียง จะมีความหมายเป็นที่รู้จักกันในหมู่คณะ
ลักษณะดังกล่าวจึงเหมือนกับเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งของชนเผ่า "กะตู" ในเขตพื้นที่แขวงสาละวัน ประเทศลาว เรียก "ตะโล" เป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ แต่ตัดตรงกลางกระบอกไม้ไผ่ เพื่อทำลิ้นเวลาเป่าจะดูดเข้าหรือเป่าออกก็ได้ ใช้เวลาออกจับช้างเพื่อบอกสัญญาณให้เพื่อนรู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นโดยการเป่าแต่ละครั้ง หรือแต่ละแบบก็จะมีความหมายแตกต่างกันไปเช่น เป่าหนึ่งครั้งหมายถึง กำลังเดินหน้า เป่าสองครั้งหมายถึงเรียกมากินข้าว เป่าติดต่อกันหลายๆ ครั้งโดยไม่หยุดหมายถึงกำลังได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
การใช้สะไนของชาวส่วย เขมร และการใช้ตะโล ของชาวกะตู อาจกล่าวได้ว่าเป็นรหัสลับ คนที่จะรู้ความหมายของรหัสนี้ได้ก็ต้องเป็นคนในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น แต่ในสังคมวัฒนธรรมเยอไม่มีความเกี่ยวข้องกับช้างโดยตรงเหมือนชาวส่วยกับชาวเขมร การใช้สะไนของชาวเยอจึงเป็นเครื่องเป่าที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องของการกำเนิด "สังข์" การเป่าสะไนจึงเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ เนื่องจากสะไนเป็นเครื่องเป่าที่มีความศักดิ์สิทธิ์เท่ากับสังข์ และใช้ลิ้นแบบเดียวกับสังข์ ชาวเยอยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องเป่าว่า ในโลกนี้มีเครื่องเป่าอยู่สามแบบตามความเชื่อของชาวเยอคือ หอยสังข์ มีพระนารายณ์เป็นผู้สร้างถือว่าเป็นเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด รองลงมาคือสังข์นัย (สะไน) เป็นเครื่องเป่าของกลุ่มคนเยอมีความศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากหอยสังข์ เนื่องเป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายแต่ใช้ลิ้นสังข์ สุดท้ายคือแตรสังข์ (แตรเขาสัตว์) เป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้ลิ้นสังข์ คือเป่าจากปลายเขามักจะใช้เป็นสัญญาณในการสื่อสาร ในการเดินเรือสินค้า ที่มีน้ำไหลเชี่ยวและสายน้ำมีความคดโค้ง จะมีการเป่าแตรสังข์เพื่อไม่ให้เรือชนกัน ชาวเยอมีนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับการกำเนิดสังข์ และการกำเนิดสะไนคือเรื่อง นิทานเรื่องพระเจ้าสร้างโลกกับความเป็นมาของสังข์และสะไน
สะไน เป็นเครื่องดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่เขตพื้นที่อำเภอราษีไศล เนื่องจากมีความเชื่อว่าสะไนมีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงกับ สังข์ ที่เป็นเครื่องเป่าอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู แม้กระทั่งในสังคมไทยก็นับถือว่า สังข์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระราชพิธีที่สำคัญจะมีการเป่าสังข์ก่อน เพื่อเป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหล่าทวยเทวดาทั้งหลาย ถ้าเป็นงานมงคลระดับชาวบ้านประชาชนทั่วไป ก็มีการนำสังข์มาประกอบพิธีเช่น การตั้งศาลพระภูมิ การรดน้ำสังข์คู่แต่งงาน เป็นต้น เมื่อชาวเยอมีความเชื่อว่าสะไนกับสังข์มีความเกี่ยวข้องกัน จึงมีการเป่าสะไนเพื่อเป็นการบูชาสังข์
นอกจากนี้แล้วยังมีการนำสะไนมาเป่าเพื่อบูชาพระแม่ธรณี และพระแม่คงคาในประเพณีการแข่งเรือ (ส่วงเรือ) หรือเมื่อมีการเดินทางไกล ก็จะมีการเป่าสะไนก่อนออกเดินทางเพื่อให้เกิดโชคเดินทางปลอดภัย และได้รับความสำเร็จในการประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะถ้าเดินทางกลางป่าก็จะนำสะไนติดตัวไปด้วย เพราะชาวเยอเชื่อว่าสัตว์ป่าทั้งหลายถ้าได้ยินเสียงสะไนแล้วจะไม่เข้ามาทำร้าย และถ้าเป่าสะไนจะเป็นการบอกกล่าวให้ทวยเทวดาอารักข์ทั้งหลาย มาปกป้องดูแลไม่ให้เกิดอันตรายใด ในสมัยโบราณมีเรื่องจากผู้เฒ่าเผ่าเยอว่า บรรบุรุพของคนเยอถ้าจำเป็นต้องออกรบทำศึกสงครามกับเมืองไหน จะต้องมีการเป่าสะไนก่อนเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย โดยเชื่อว่าเสียงของสะไนจะทำให้ได้รับชัยชนะกลับมา หรือถ้าหากแพ้ก็จะสามารถหนีเอาตัวรอดกลับมาได้
ชาวเยอโบราณมีคำสอนเกี่ยวกับการเป่าสะไน และมีฤดูกาลสำหรับการเป่าสะไนไว้ว่า ถ้าจะเป่าสะไนต้องเป่าตั้งแต่เดือน 8 ค้อย (เดือนกรกฎาคมจะเข้าสิงหาคม) จนถึงเดือนอ้ายค้อย (เดือนธันวาคมจะเข้าเดือนมกราคม) ถ้านอกจากระยะเวลาดังกล่าวห้ามเป่าสะไน เพราะมันจะทำให้ "ฝนตก ฟ้าผ่ากลางวัน" หรือเกิดสิ่งไม่ดีต่างๆ ขึ้นในหมู่บ้าน แต่ถ้าเป่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนจะเป็นการเป่าเพื่อบูชาหอย และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฟ้าผ่าด้ย ความเชื่อดังกล่าวมักจะพบเห็นในสังคมวัฒนธรรมอีสานทั่วๆ ไป เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากนำมาทำเล่นเพื่อความสนุกสนาน โดยไม่รู้จักกาลเทศะย่อมเป็นสิ่งไม่ดี จึงมีกฎข้อห้ามต่างๆ ไว้
ฉะนั้นการเป่าสะไนจึงต้องเป่าเฉพาะโอกาสที่สำคัญ หรือในยามที่จำเป็นเท่านั้น จึงแสดงให้เห็นว่าสะไนคือเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ของเล่นที่จะนำมาเป่าเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อความสนุกสนาน การเป่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนแปดถึงเดือนอ้ายนั้น มีการให้เหตุผลตามความเชื่อว่า เป็นการเป่าเพื่อบูชาหอย (สังข์) เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่หอยกำลังผสมพันธุ์ ถ้าเป่าในช่วงนี้จะทำให้หอยมีการเจริญพันธุ์และขยายพันธุ์ดี และอีกอย่างการเป่าสะไนจะทำให้ฝนตก หากเป่าในช่วงนี้ก็จะเป็นผลดีต่อพืชพันธุ์น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเป่านอกฤดูกาลจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนอ้ายถึงเดือนสาม และช่วงนี้เป็นช่วงที่หอยจำศีลด้วยจึงห้ามเป่าสะไน เสียงของสะไนยังเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ปราบผีได้ หากที่ใดมีคำล่ำลือเกี่ยวกับความดุร้ายหรือความเฮี้ยนของผีสางนางไม้ ถ้าได้เป่าสะไนบริเวณนั้นจะทำให้ผียอมสยบไม่กล้าอาละวาดหลอกใครอีก
การเป่าสะไนถือได้ว่า เป็นการสร้างเสียงเพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์ โดยเสียงที่สร้างขึ้นไม่ได้มีความหมายตามหลักการของทฤษฎีทางดนตรีแต่อย่างใด (ไม่มีระบบโน้ตที่แน่นอน) แต่เป็นเสียงที่สร้างขึ้นตามลักษณะการพูด เป็นทำนองเพลงสนุกๆ เช่น เอาคักคักเอาคนคักคัก เป็นต้น เสียงการเป่าสะไนเป็นเสียงที่มีความดังเกินตัว (เสียงดังขนาดเล็ก) มนุษย์เมื่อได้พบเจอสิ่งใดที่ดูแล้วหน้าเกรงขาม ย่อมยกย่องให้สิ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกว่าดี ปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปรากฏการณ์ที่สำคัญยืนยันว่า มันจะนำมาซึ่งความสงบ ความยินดีของตนจริง เรียกว่า ภูมิปัญญา เสียงสะไนจึงเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ ฟังแล้วดูหน้าเกรงขาม เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ แต่เสียงนั้นใหญ่เกินตัวมาก
ปัจจุบันการเป่าสะไนยังคงมีอยู่ที่ศาลพญากตะศิลา เมืองคงโคก บ้านหลุบโมก ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ (ข้อมูลจากโครงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ และ นายกิตติ วรรณวงษ์ บ้านร่องอโศก หมู่ 15 ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ)
"ผู้บ่าวไทบ้าน" ชาวกวยบ้านตาตา อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ไปลงน้ำหาปลา ตกค่ำก็หาแมงป่องช้าง หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "แมงเงา" มาทำกิน พร้อมรับฟังแง่มุมความคิดคนหนุ่มสาวที่เมินเมืองใหญ่ และหันมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอน พวกเขาอยู่กันอย่างไร "ผู้บ่าวไทบ้าน" แบบฉบับกวยมี Function อย่างไรกับชุมชน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)