foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

provinces header

จังหวัดบึงกาฬ

ภูทอกแหล่งพระธรรม ค่าล้ำยางพารา งามตาแก่งอาฮง บึงโขงหลงเพลินใจ
น้ำตกใสเจ็ดสี ประเพณีแข่งเรือ เหนือสุดแดนอีสาน
นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ศูนย์รวมใจศาลสองนาง "

buengkan 01

จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดใหม่ล่าสุดในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา โดยแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย ด้วยเหตุผลที่ระบุใน พรบ. จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ ว่า

"... เนื่องจาก จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดที่มีท้องที่ติดชายแดน และมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวยาว ทำให้การติดต่อระหว่างอำเภอที่ห่างไกล และจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากเกินควร ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการปกครอง การรักษาความมั่นคง และการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในท้องที่ สมควรแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"

buengkan logoจังหวัดบึงกาฬ เดิมเป็น อำเภอบึงกาญจน์ และเป็นตำบลหนึ่งในเขตการปกครองของ อำเภอชัยบุรี จังหวัดนครพนม ซึ่งมีที่ว่าการอำเภอ ตั้งอยู่ที่บริเวณปากน้ำสงคราม ต่อมาไม่ทราบชัดว่าปีใด ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ บึงกาญจน์ ริมฝั่งตรงข้ามเมืองปากซัน แขวงบลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี พ.ศ. 2459 ทางราชการ ก่อสร้าง ที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม ่และโอนการปกครองอำเภอชัยบุรี มาขึ้นกับจังหวัดหนองคาย ส่วนบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอชัยบุรีเดิมนั้น ทางราชการยุบมาเป็นตำบล อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

ปี พ.ศ.2475 ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยท่านหนึ่งเ ดินทางมาตรวจราชการที่อำเภอชัยบุรี พบว่า หมู่บ้านบึงกาญจน์ มีหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง กว้างประมาณ 160 เมตร ยาวประมาณ 3,000 เมตร ชาวบ้าน เรียก "บึงกาญจน์" หรือ "กาฬวาปี" เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทางการจึงเปลี่ยนชื่อ อำเภอชัยบุรี เป็น "อำเภอบึงกาญจน์" ตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาปี พ.ศ.2477 ทางการได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอบึงกาญจน์ เป็น "อำเภอบึงกาฬ" เพื่อความสะดวกและเข้าใจง่าย ต่อมาได้แยกอำเภอเซกา อำเภอพรเจริญ อำเภอศรีวิไล และ อำเภอบุ่งคล้า ออกจากอำเภอบึงกาฬ ตามลำดับ

buengkanmap 1

แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ (2564) ได้แก่

อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอพรเจริญ อำเภอโซ่พิสัย อำเภอเซกา
อำเภอปากคาด อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล อำเภอบุ่งคล้า

อาณาเขต

บึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวพรมแดน

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับแขวงบริคำไชย ประเทศลาว
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงบริคำไชย ประเทศลาว และจังหวัดนครพนม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสกลนคร
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับแขวงบริคำไชย ประเทศลาว และจังหวัดหนองคาย

buengkan flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดคือ ดอกสิรินธรวัลลี หรือ สามสิบสองประดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Phanera sirindhorniae) เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งในสกุลชงโค วงศ์ถั่ว กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่ เปลือกเถาเรียบ บิดตามยาวเล็กน้อย เนื้อไม้เมื่อตัดตามขวาง สีน้ำตาลเข้มออกแดง มีลวดลายสีน้ำตาลอ่อนเป็นกลุ่มเหมือนกลีบดอกไม้ ดอกออกเป็นช่อสีน้ำตาล ออกดอกตลอดปี แต่ดอกจะบานมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เป็นไม้ถิ่นเดียวในประเทศไทย พบครั้งแรกโดย ดร.ชวลิต นิยมธรรม เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 ที่ ภูทอกน้อย จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบัน อยู่ในเขตจังหวัดบึงกาฬ) ชื่อของพืชชนิดนี้ตั้งตามพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และตีพิมพ์โดย​ ศาสตราจารย์​ ไค ลาร์เซน​ (Kai Larsen)​ และอาจารย์สุพีร์​ ลาร์เซน(Supee Larsen)

จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ แวดล้อมไปด้วยภูเขาและน้ำตกที่สวยงาม เช่น น้ำตกเจ็ดสี น้ำตกตากชะแนน ที่อยู่ภายในอุทยานแห่งชาติภูวัว พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดเป็นที่ราบลุ่ม

สภาพอากาศ

ภูมิอากาศที่จังหวัดบึงกาฬค่อนข้างดี เพราะได้ผลลัพธ์ที่ดีจากอุณหภูมิและความชื้นจากแม่น้ำโขง ทำให้ไม่ร้อนมากในช่วงถดูร้อน ฤดูหนาวก็อากาศดีเหมาะแก่การท่องเที่ยว และพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง สังเกตได้จากที่พักในจังหวัดบึงกาฬจะเต็มอยู่ตลอดเวลาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ

แหล่งท่องเที่ยว

"แก่งอาฮง" ตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ เป็นแก่งหินกลางลำน้ำโขง บริเวณหน้าวัดอาฮงศิลาวาส บ้านอาฮง ตำบลหอคำ ถือว่าเป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกที่สุด ไม่สามารถวัดความลึกได้ กระแสน้ำบริเวณแก่งอาฮงจะไหลเชี่ยวมากในฤดูน้ำหลาก และมีกระแสน้ำไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็น "สะดือแม่น้ำโขง" แม่น้ำโขงบริเวณแก่งอาฮงมีความกว้างประมาณ 300 เมตร ในฤดูน้ำลด และมีความกว้าง 400 เมตร ในฤดูน้ำหลากและจะสามารถมองเห็นแก่งได้ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี และกลุ่มหินที่ปรากฏบริเวณแก่งอาฮง จะมีชื่อเรียกตามลักษณะของหิน เช่น หินลิ้น นาค หินปลาเข้ ถ้ำปลาสวาย

kang ahong 2

นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอบึงกาฬ และเป็นสถานที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือ "บั้งไฟพญานาค" ในช่วงประเพณีออกพรรษา จะมีนักท่องเที่ยวมาพักเที่ยวชมปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค บริเวณบ้านอาฮงเป็นจำนวนมาก จะมีมากในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ที่ปฏิทินไทย กับปฏิทินประเทศ สปป.ลาว ตรงกัน และชาวบ้านโดยรอบยังอาศัยทำการประมงด้วย

pootog

ภูทอก ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว เป็นที่ตั้งของ วัดเจติยาศรีวิหาร (วัดภูทอก) อยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ภูทอกมี 2 ลูก คือ ภูทอกใหญ่และภูทอกน้อย แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย พระอาจารย์จวน กุลเชษโรได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบการขึ้นภูทอกนั้นเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกันดังนี้

pootog 3

  • ชั้นที่ 1-2 เป็นบันไดสู่ชั้นที่ 3 ซึ่งเริ่มเป็นสะพานเวียนรอบเขาสภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหินสุดทาง
  • ชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลย ซึ่งเป็นทางชันมากผ่านหลืบหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4
  • ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า "ดงชมพู" ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบชื้น มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มากจึงเรียกว่า "ภูรังกา'' แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด บนชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ
  • ชั้นที่ 5 มีศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระและเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มี ที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง มีหน้าผาชื่อต่างๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พระวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นเป็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจนและมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6
  • ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขามีความยาว 400 เมตร สุดทางที่ชั้นที่ 7
  • ชั้นที่ 7 อันเป็นป่าไม้ร่มครึ้มสวยงาม

การเดินทางสู่ภูทอก จากตัวเมืองหนองคาย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพนพิสัย อำเภอปากคาด และอำเภอเมืองบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ระหว่างทางจะมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ แยกเข้าตรงบ้านศรีวิไล สู่บ้านนาคำแคนและเข้าสู่ ภูทอก

 pootog 2

"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว" อำเภอบุ่งคล้า มีเนื้อที่ประมาณ 186.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอบุ่งคล้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือสุดของภาค เกือบติดพรมแดนประเทศลาวมีอาณาเขต 2 ด้าน ขนานไปกับแม่น้ำโขง อยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 2 กิโลเมตรมีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 150 - 300 เมตร สภาพดินพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นดินทรายและดินลูกรังทางด้านน้ำตกชะแนน มีพื้นที่บางส่วนเป็นดินเหนียวปนดินร่วนพื้นหลังภูและสันเขาส่วนใหญ่เป็นพื้นทรายและดินทราย สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น บริเวณหัวภูด้านตะวันออก บนยอดภูเป็นลานหินโล่งกว้างที่ถูกน้ำกัดเซาะจนมีลวดลายสวยงาม มีระดับความสูงประมาณ 330 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่เป็นป่าได้โดยรอบ เห็นได้ไกลถึงป่าในฝั่งลาว เช่น ภูควาย ภูงู ภูหมาก่าวของลาวได้

Poo wua

การเดินทางไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จากตัวเมืองหนองคาย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 ถึงอำเภอเมืองบึงกาฬ ระยะทาง 135 กิโลเมตรและจากอำเภอเมืองบึงกาฬผ่าน บ้านชัยพร – บ้านภูสวาท - อำเภอบุ่งคล้า - บ้านดอนจิก - เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ระยะทางประมาณ 55 กิโลเมตร

Poo wua 2

"น้ำตกเจ็ดสี" อำเภอเซกา น้ำตกเจ็ดสี เดิมเรียกว่า น้ำตกห้วยกะอาม ซึ่งเกิดจากธารน้ำของห้วยกะอาม เป็นน้ำตกจากหน้าผาสูงแล้วเกิดเป็นละอองไอน้ำกระทบกับแสงแดดทำให้เกิดสีต่างๆ ขึ้น จึงเรียกน้ำตกเจ็ดสี มีทั้งหมด 3 ชั้น ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านดอนเสียด หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา การเดินทางไปน้ำตกเจ็ดสี เดินทางจากบ้านชัยพร - ทุ่งทรายจก - ดอนเสียด ระยะทาง 22 กิโลเมตร และแยกซ้ายไปน้ำตกเจ็ดสีอีกประมาณ 6 กิโลเมตร

Jed si waterfall

"น้ำตกถ้ำฝุ่น" น้ำตกถ้ำฝุ่นอยู่ในบริเวณท้องที่บ้านภูสวาท ตำบลหนองเดิ่น ห่างจากที่ว่าการอำเภอบุ่งคล้า 33 กิโลเมตร ลักษณะโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่งที่มีทิวทัศน์สวยงามหลายแห่งอยู่ทางตอนเหนือของภู และบริเวณใกล้เคียงมีถ้ำฝุ่นซึ่งเป็นถ้ำธรรมชาติที่ร่มเย็นอีกแห่งหนึ่ง

tamfoon waterfall

"น้ำตกภูถ้ำพระ" อำเภอเซกา อยู่บริเวณบ้านโนนสมบูรณ์ อยู่ห่างจากอำเภอเซกาประมาณ 34 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกจะเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ภูถ้ำพระ ซึ่งเงียบสงบและร่มรื่น เมื่อเดินขึ้นมาบนลานหินด้านหลัง จะพบหุบเขารูปแอ่งกระทะขนาดกว้างประมาณ 200 ตารางเมตร มีสายธารน้ำตกไหลมายังก้นอ่างที่เบื้องล่าง บริเวณน้ำตกเป็นผากว้างราว 100 เมตร สามารถลงเล่นได้เฉพาะในฤดูฝน น้ำตกภูถ้ำพระเกิดจากลำธารห้วยบังบาด มีความสูงระหว่างชั้นประมาณ 50 เมตร

tumphaaa waterfall

"น้ำตกชะแนน" อำเภอเซกา น้ำตกชะแนนจะผ่านขัวหิน (สะพานหิน) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำลอดหายไปใต้สะพานหินที่มีความยาวประมาณ 100 เมตร สะพานหินหรือที่คนอีสานเรียกกันว่า "ขัวหิน" นั้น เมื่อมองจากด้านซ้ายมือจะเห็นยาวเหยียดออกไปจนบรรจบกับแนวป่าละเมาะ ซึ่งพ้นจากนั้นไปก็มีแต่โขดหินเนินหินขนาดมหึมาซ้อนกันเป็นแนวยาว ชั้นล่างจะเป็นบึงใหญ่ ชื่อบึงชะแนนหรือห้วยชะแนน มีเงาไม้ร่มครึ้มตลอดสองฟากฝั่ง เชื่อกันว่าในห้วยชะแนนมีจระเข้อาศัยอยู่เหนือลำห้วยชะแนนขึ้นไปเป็นโตรกขนาดใหญ่ เมื่อถึงฤดูฝนจะเป็นน้ำตกไหลลงจากลาดหินที่แผ่เป็นแผงกว้าง

การเดินทางไปชั้นที่สองของน้ำตกชะแนน จะผ่านแนวลำธารที่พื้นเต็มไปด้วยโขดหินเดินตามลำธารไปทางชายฝั่งด้านซ้ายมือ ทะลุออกที่ลานกว้างริมแอ่งน้ำใหญ่ ตลอดทั้งพื้นเป็นหาดทรายละเอียดราวแป้งดูแปลกไปจากที่อื่นๆ มาก และเหนือแอ่งน้ำขึ้นไปก็เป็นน้ำตกชั้นเตี้ยๆ ตกลงมาสู่แอ่ง เรียกกันว่า น้ำตกบึงจระเข้ และ น้ำตกชะแนน ชั้นที่สองนี้เหมาะที่สุดสำหรับการตั้งแคมป์พักแรมบนหาดทรายใกล้ๆ ริมน้ำ การเดินทางไปน้ำตกชะแนน เดินทางจากบ้านบึงกาฬ - บ้านชัยพร ระยะทาง 25 กิโลเมตร จาก บ้านชัยพร - บ้านทุ่งทรายจก 15 กิโลเมตร (เส้นทางสายบ้านชัยพร - อำเภอเซกา) จากบ้านทุ่งทรายจกแยกซ้ายมือไปน้ำตกชะแนนอีก 7 กิโลเมตรและเดินทางเท้าเข้าไปน้ำตกชะแนนอีกประมาณ 1.6 กิโลเมตร

chanan waterfall

"บึงโขงหลง" อำเภอบึงโขงหลง เป็นแหล่งน้ำจืดปิดรูปเขาวัวแคบๆ เกิดขึ้นจากคลองและลำธารหลายสายไหลมารวมกัน บึงมีความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 50 - 100 เซนติเมตร โดยจุดที่ลึกที่สุดมีความลึก 6 เมตร ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำไหลออกจากบึงก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ในบึงมีเกาะแก่งอยู่มากมาย เช่น ดอนแก้ว ดอนโพธิ์ ดอนน่อง ดอนสวรรค์ บนเกาะแก่งเหล่านี้เป็นป่าดิบแล้งที่อุดมสมบูรณ์

BungKhongLong01

ริมบึงมีเขื่อนเพื่อป้องกันตลิ่งพัง และมีประตูน้ำอยู่ที่ปลายสุดทางทิศใต้ของบึง พื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่เป็นที่ราบ แต่มีเนินสลับขึ้นลงอยู่บ้าง มีชุมชนเมืองตั้งอยู่ด้านปลายสุดทางทิศใต้ของบึง และพื้นที่รอบบึงส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อทำนาข้าว พื้นที่รอบๆ บึงมีพืชขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ยาง ตะแบกแดง ประดู่ป่า ตะเคียนทอง ส่วนบนเกาะแก่งในบึงจะพบหว้า ไทร มะเดื่อและตะแบกนา ป่าดิบแล้งบนดอนสวรรค์ประกอบไปด้วยไม้ยืนต้นอย่าง ตะแบก กระบก แสมขาว พญาสัตบรรณ กันเกรา กระบาก กกสามเหลี่ยม บริเวณริมบึงจะปกคลุมไปด้วยดงของแห้วทรงกระเทียม กกสามเหลี่ยม และผักไผ่น้ำ กลางผิวน้ำของบึงจะพบบัวสายและบัวหลวง ส่วนใต้น้ำจะพบสาหร่ายหางกระรอก สันตะวาใบพายและผักบุ้ง และพืชน้ำที่ขึ้นรอบๆ เกาะแก่งจะเป็นแพงพวยน้ำและบอน

[ ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดบึงกาฬ | แผนที่จังหวัดบึงกาฬ | เอกสารการท่องเที่ยว ]

new1234ไปชมภาพเก่าเล่าเรื่องอดีต "เมืองบึงกาฬ"new1234

 

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดอุบลราชธานี

อุบลเมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน
ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์"

ubon logoอุบลราชธานี เป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี เล่ากันว่า ท้าวคำผง ท้าวทิศพรหม และท้าวคำ บุตรพระวอ พระตา หลีกหนีภัยสงครามจากพระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแห่งนครเวียงจันทน์ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าตากสินมหาราช และต่อมาได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณดงอู่ผึ้ง ใกล้กับแม่น้ำมูล ชื่อว่า "เมืองอุบลราชธ่นีศรีวนาลัยประเทศราช" ครั้น พ.ศ. 2323 พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาราชสุภาวดี เชิญตราพระราชสีห์ มาพระราชทานนามเมืองว่า "อุบลราชธานี" ทรงให้ท้าวคำผงเป็นเจ้าเมืองคนแรก ซึ่งต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระปทุมวงศา"

เมืองอุบลราชธานี มีเจ้าเมืองสืบกันมาถึง 4 คน ตราบจนถึงปี พ.ศ. 2425 จึงได้มีการแต่งตั้งข้าหลวง และผู้ว่าราชการจังหวัด มาปกครองดูแลจนถึงทุกวันนี้

อุบลราชธานี ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 629 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและภูเขา มีแม่น้ำมูลไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ และมีหน้าผาหินทรายบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขง อันเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีพื้นที่ประมาณ 15,744 ตารางกิโลเมตร

ในบรรดาจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย มีเพียงจังหวัด “อุบลราชธานี” จังหวัดเดียวที่ลงท้ายว่า “ราชธานี” ซึ่งแปลว่าเมืองหลวง แม้แต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ธนบุรี และกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงในอดีต และเป็นเมืองหลวงในปัจจุบันก็ไม่ลงท้ายว่า “ราชธานี”

คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เติม วิภาคย์พจนกิจ เขียนไว้ใน “ประวัติศาสตร์อีสาน” (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2530) ว่า

มีหลายท่านได้ถามผู้เขียนว่า "คำที่เติมท้ายเมืองอุบลว่า "ราชธานี" นั้นเป็นมาอย่างไร ชั้นต้นผู้เขียนหาคำตอบไม่ได้ บังเอิญไปพบในหนังสือข่อยที่ตาของผู้เขียนได้บันทึกไว้ใน ตำนานเมืองอุบลฯ ว่า เมืองอุบลฯ นี้โปรดเกล้า ให้เป็นเมืองอาสาหลวงเดิม เพราะถ้ามีพระราชสงครามมาติดพันประเทศ เมืองอุบลฯ (พระประทุมฯ) ก็โปรดเกล้าฯ ให้ติดสอยห้อยตามเสด็จไปปราบปรามทุกครั้งฐานะเป็นประเทศราช จึงพระราชทานนามเมืองอุบลฯ ต่อท้ายว่า “เมืองอุบลราชธานี” ดังกล่าว โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นกรุงเทพฯ ทำส่วยผึ้ง 2 เลกต่อเบี้ย น้ำรัก 2 ขวดต่อเบี้ย ป่าน 2 เลกต่อขอด”

ubon flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี คือ ดอกบัวหลวง, บุณฑริก, สัตตบงกช หรือ บัวหลวงอินเดีย (อังกฤษ: Indian Lotus, Sacred Lotus, Bean of India) เป็นพืชน้ำในสกุลบัวหลวง (Nelumbo) วงศ์บัว (NELUMBONACEAE) มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า โกกระณต, บัวอุบล, บัวฉัตรขาว, บัวฉัตรชมพู, บัวฉัตรสีชมพู, ปุณฑริก, ปทุม, ปัทมา, สัตตบุษย์, โช้ค (เขมร) เป็นต้น เป็นพรรณไม้น้ำประเภทพืชล้มลุก มีลำต้นและหัวอยู่ในดินใต้น้ำ การเจริญชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ใบมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบ สีเขียวขอบน้ำตาล ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายชั้น มีสีขาว ชมพู เหลือง ลักษณะสีสันขนาดของใบและดอกขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ขายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือแยกกอจากหัวหรือเหง้า

ประโยชน์ รากบัวหลวง (เหง้าบัว) สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น เหง้าบัวผัดน้ำมัน เหง้าบัวอ่อนต้มหรือตุ๋นกระดูกหมูกับเครื่องยาจีน นำมาเชื่อมแห้งรับประทานเป็นของหวาน ทำเป็นน้ำรากบัว หรือนำมาต้มเป็นน้ำสมุนไพรรากบัว ไหลบัว (หลดบัว) สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสดและแห้ง เช่น การนำมาทำแกงเลียง แกงส้ม ต้มกะทิ ผัดเผ็ดต่างๆ ฯลฯ สายบัวนำมาปรุงเป็นอาหารหรือใช้แทนผักได้หลายชนิด เช่น แกงส้มสายบัวกับปลาทู แกงส้มสายบัว ต้มกะทิปลาทู ฯลฯ ดอกบัวนำมาบูชาพระ หรือนำมาใช้ในทางศาสนา เนื่องจากดอกบัวหลวงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทางพระพุทธศาสนา มีความเกี่ยวข้องโดยตรงสำหรับการบูชาพระรัตนตรัย

อุบลราชธานีเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 ในปี 2025

จังหวัดอุบลราชธานี แบ่งเขตการปกครองเป็น 25 อำเภอ (2564) ได้แก่

 อำเภอเมืองอุบลราชธานี  อำเภอศรีเมืองใหม่  อำเภอโขงเจียม  อำเภอเขื่องใน
 อำเภอเขมราฐ  อำเภอเดชอุดม  อำเภอนาจะหลวย  อำเภอน้ำยืน
 อำเภอบุณฑริก  อำเภอตระการพืชผล  อำเภอกุดข้าวปุ้น  อำเภอม่วงสามสิบ
 อำเภอวารินชำราบ  อำเภอพิบูลมังสาหาร  อำเภอตาลสุม  อำเภอโพธิ์ไทร
 อำเภอสำโรง  อำเภอดอนมดแดง  อำเภอสิรินธร  อำเภอทุ่งศรีอุดม
 อำเภอนาเยีย  อำเภอนาตาล  อำเภอเหล่าเสือโก้ก  อำเภอสว่างวีระวงศ์
 อำเภอน้ำขุ่น      

อาณาเขต

  • ทิศตะวันตก : ติดกับจังหวัดยโสธรและจังหวัดศรีสะเกษ
  • ทิศตะวันออก : ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • ทิศเหนือ : ติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา ตามแนวเทือกเขาบรรทัด
  • ทิศใต้  : ติดกับจังหวัดอำนาจเจริญ

การเดินทาง

จังหวัดอุบลราชธานี สามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานครได้หลายวิธีที่แสนสะดวกมากมาย เช่น

  • ทางรถไฟ จากสถานีหัวลำโพง ปลายทางอุบลราชธานี (สอบถาม การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690)
  • ทางรถยนตร์ เดินทางด้วยรถประจำทางของ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือบริษัทเอกชนอื่นๆ เช่น นครชัยแอร์ หรือขับรถไปเองได้หลายเส้นทาง ระยะทางประมาณ 650 กิโลเมตร
  • ทางเครื่องบิน มีเที่ยวบินไปอุบลราชธานีวันละหลายเที่ยวบิน จากสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง หรือต้นทางอื่น จากสายการบิน ไทยสมายล์ นกแอร์ แอร์เอชีย ไทยไลออนแอร์ เป็นต้น โปรดตรวจสอบตารางบินจากบริษัทเหล่านี้ได้โดยตรง

อุบลราชธานี : ที่เที่ยวเยอะกว่าที่คิด

ตำนานพื้นเมืองอุบลฯ

ปริวรรตจาก : อักษรธรรม 1 ผูก วัดบ้านหัวเรือ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

เป็นการเล่าประวัติของการอพยพ "กลุ่มพระวอพระตา" มาจากเวียงจันทน์ถึงการก่อตั้งเมืองอุบลฯ ในบริเวณที่เป็นจังหวัดอุบลราชธานีปัจจุบันนี้ เชื้อสายของผู้คนที่อพยพมาก่อตั้งเมืองอุบลฯ มาจากบ้านหินโงม ที่เวียงจันทน์ โดยมี พระตา เป็นหัวหน้า พระตาเป็นผู้มีอำนาจมากปกครองบริวารจำนวนหนึ่ง พระตามีลูกชาย 3 คน คือ ท้าววอ ท้าวคำผง ท้าวพรม กษัตริย์เวียงจันทน์ได้ตั้งท้าววอเป็นพระวอ เป็นนายกองคุมกองนอก

เมื่อกษัตริย์เวียงจันทน์สวรรคต กษัตริย์องค์ใหม่ได้ข่มเหงลูกสาวของพระตา พระตาจึงพาไพร่พลอพยพหนีจากเวียงจันทน์ โดยมีไพร่พลเป็นครัวเรือนสามหมื่นเศษ และเป็นทหารอีกสี่พันคน โดยแบ่งเป็นสามกอง คือ หลวงราชโภชนัย เป็นกองหน้า กำลังคนหมื่นเศษ ท้าวนาม เป็นกองหลัง กำลังคนหมื่นเศษ พระตา พระวอ เป็นกองกลาง และมีท้าวชม ท้าวสูน เป็นกองสอดแนม เมื่อเดินทางได้ 1 เดือน ถึงหนองบัวลำภู โดยกองของพระตาอยู่ที่ใกล้กับภูวง หลวงราชโภชนัย ตั้งอยู่ที่บ้านผ้าขาวพรรณาใกล้กับลำน้ำสงคราม ท้าวนามไปตั้งอยู่ที่ภูเวียง กษัตริย์เวียงจันทน์ได้ยกทัพมาประมาณหมื่นคน มาปราบโดยให้เมืองแสนและเมืองจันเป็นแม่ทัพ มาตั้งพักทัพที่บริเวณที่เป็นหนองคายในปัจจุบัน

udon 08

กองสอดแนมฝ่ายพระตารายงานให้พระตาทราบ ดังนั้นทัพเวียงจันทน์จึงถูกซุ่มโจมตีอย่างยับเยิน เวียงจันทน์เสียทหารประมาณ 5,000 คน ฝ่ายพระตาได้อาวุธ ช้าง ม้า ทรัพย์สินเป็นอันมาก ในวันเสาร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ทัพเวียงจันทน์ได้ยกมาตีที่หนองบัวลำภู แต่ก็พ่ายแพ้กลับไป พระวอชนช้างฆ่าอุปราชเวียงจันทน์ตาย พระตาได้ตั้งบ้านเมืองที่หนองบัวลำภู 7 ปี

ต่อมากษัตริย์เวียงจันทน์ได้ขอความร่วมมือไปยังเมืองเชียงใหม่ ขอกองทัพมาช่วยปราบพระตา กษัตริย์เชียงใหม่ยกทัพมาช่วยรบ พระตาจึงพาบริวารมาตั้งที่เมืองร้อยเอ็ดในปัจจุบัน รบกันตั้งแต่เดือนยี่ แรมแปดค่ำ วันจันทร์จนถึงเดือนสามวันเพ็ญจึงล่าถอย แต่สูญเสียผู้คนไม่มาก เพราะรบไปถอยไป พระตาเดินทางไปจากร้อยเอ็ดอีก 4 เดือน ถึงเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ไม่อยากให้อยู่ด้วยเกรงจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ได้มาตั้งอยู่ที่ใกล้แม่น้ำพลึง คือบ้านดู่ บ้านแก ตั้งอยู่บริเวณนี้อีก 10 ปี

เจ้านาม ตั้งอยู่พรรณาผ้าขาวร้อยเอ็ด กษัตริย์เวียงจันทน์ยกกองทัพเรือมีกำลังพลประมาณสองหมื่น รบกันตั้งแต่เดือน 4 ถึงเดือน 5 ข้างแรม รบอยู่ 2 เดือนก็ไม่แพ้ชนะแก่กัน พระวอขี่ม้าออกมารบอย่างกล้าหาญต่อสู้สังหารคนตายไปประมาณพันคน และพระวอขาดใจตายในที่รบ เนื่องจากเหนื่อยบอบช้ำจากการรบ ท้าวคำผง ท้าวทิดพรม ได้ช่วยกันและรักษาเมืองให้มั่นคงไว้ พระตาได้มีสารมาบอกทูลพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี

พระเจ้าตากสินจึงส่งทัพมาช่วย รบกันตั้งแต่เดือน 4 ถึงเดือน 8 วันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะโรง กษัตริย์จำปาศักดิ์ออกมาอ่อนน้อมส่งส่วยต่อไทย ท้าวคำผงได้เป็นแม่ทัพยกไปตีเวียงจันทน์ร่วมกับทัพไทย เวียงจันทน์ได้อ่อนน้อมส่งส่วยต่อไทย ต่อมาหลวงพระบาง ได้อ่อนน้อมต่อไทย ลาวทั้ง 4 กลุ่ม คือ ลาวในอีสาน เวียงจันทน์ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ได้ขึ้นต่อไทย ตั้งแต่นั้นทัพไทยได้นำเอาพระแก้วมรกต นางเขียวค่อมราชธิดาเวียงจันทน์กลับไทย

อนุสาวรีย์พระปทุมราชวงศา (เจ้าคำผง)

พระตาได้สิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 78 ปี สอนให้ลูกหลานประพฤติปฏิบัติตนตามประเพณี และมีหลักการปกครองแทรกอยู่ด้วย และสั่งให้อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำมูล พระตาตายในวันศุกร์ เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ และในเดือน 4 ขึ้น 11 ค่ำ ทำศพกลางทุ่งใหญ่ จัดตั้งวางศพบน เมรุนกหัสดีลิงค์ สมโภชศพ 7 วัน 7 คืน และก่อธาตุพระวอ พระตาไว้นอกเมือง

การปกครองเมืองอุบลฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์

มีการตั้งเมืองต่างๆ ในบริเวณเมืองอุบลฯ รวม 17 เมือง ดังนี้

  • ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ตั้งเมืองยโสธร และเมืองเขมราฐ เมื่อปี พ.ศ. 2357 และตั้งเมืองโขงเจียม เมื่อปี พ.ศ. 2364
  • ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมืองเสนางนิคม เมืองเดชอุดม เมืองคำเขื่อนแก้ว เมื่อปี พ.ศ. 2388 และตั้งเมืองบัว (บุณฑริก) เมื่อปี พ.ศ. 2390
  • ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมืองอำนาจเจริญ เมื่อ ปี พ.ศ. 2401 เมืองพิบูลมังสาหาร เมืองตระการพืชผล และเมืองมหาชนะชัย เมื่อปี พ.ศ. 2406
  • ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมืองชานุมานมณฑล และเมืองพนานิคม เมื่อปี พ.ศ. 2422 เมืองวารินชำราบ เมื่อปี พ.ศ. 2423 เมืองโดมประดิษฐ์ เมื่อปี พ.ศ. 2424 และเมืองเกษมสีมา (อำเภอม่วงสามสิบ) เมื่อปี พ.ศ. 2425

เมืองที่ตั้งทั้ง 17 เมืองดังกล่าว มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ 4 เมือง คือ เมืองอุบลฯ เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ และเมืองเดชอุดม ที่เป็นเมืองเล็กเทียบได้กับเมืองจัตวา 13 เมืองนั้น ขึ้นกับเมืองอุบลฯ 7 เมือง ได้แก่ เมืองเสนางคนิคม เมืองพิบูลมังสาหาร เมืองตระการพืชผล เมืองมหาชนะชัย เมืองชานุมานมณฑล เมืองเกษมสีมา และเมืองพนานิคม ขึ้นกับเมืองเขมราฐ 2 เมืองคือ เมืองคำเขื่อนแก้ว และเมืองอำนาจเจริญ ขึ้นกับเมืองนครจำปาศักดิ์ 4 เมืองคือ เมืองโขงเจียม เมืองบัว เมืองวารินชำราบ และเมืองโดมประดิษฐ์

udon 10

การจัดการปกครองภายในของเมืองอุบลฯ เมืองขึ้นและเมืองใกล้เคียงในภูมิภาคนี้ ไม่ได้จัดการปกครองภายในเหมือนหัวเมืองทั่วไป แต่ใช้ธรรมเนียมการปกครองที่มีมาแต่ดั้งเดิมของหัวเมืองลาวตะวันออก คือ แบ่งเจ้าหน้าที่ปกครองออกเป็น 5 ระดับ แต่ละระดับมีหลายตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ต่างกันดังนี้

1. ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเมือง เรียกว่า อาชญาสี่ มี 4 ตำแหน่งคือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร

  • เจ้าเมือง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด แต่งตั้งกรรมการเมืองชั้นรอง เช่น เมืองแสน เมืองจันทน์ เมืองฮาม ฯลฯ และแต่งตั้งกรรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่คือ อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร
  • อุปฮาด มีหน้าที่รองจากเจ้าเมือง ทำหน้าที่แทนเมื่อเจ้าเมืองไม่อยู่ มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการรวบรวมสรรพบัญชี สำมะโนครัว ส่วยอากร และเกณฑ์ไพร่พลไปทำศึกสงคราม
  • ราชวงศ์ เป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง และอุปฮาด มีหน้าที่ในกองทัพในการควบคุมไพร่พลออกรบ จัดส่งเสบียงอาหาร และอาวุธยุทธโธปกรณ์ต่างๆ
  • ราชบุตร มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับราชวงศ์

2. ในแต่ละเมืองจะแบ่งการปกครอง และควบคุมไพร่พลเป็น 4 กอง คือ กองเจ้าเมือง กองอุปฮาด กองราชวงศ์ กองราชบุตร

  • ตำแหน่งอาชญาสี่ ถ้าเป็นเมืองเล็กขึ้นกับเมืองใหญ่ เรียกว่า เจ้าเมือง อัครฮาด อัครวงค์ และอัครบุตร
  • ตำแหน่งผู้ช่วยอาชญาสี่ มี 4 ตำแหน่งคือ ท้าวสุริยะ หรือท้าวขัตติยะ ท้าวสุริโย ท้าวโพธิสาร และท้าวสิทธิสาร มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีความต่างๆ ในศาลเมืองชั้นสูง ควบคุมกำกับดูแลงานเมืองในแผนกต่างๆ ของเมือง
  • ตำแหน่งขื่อบ้านขาวเมือง เป็นตำแหน่งรองจากผู้ช่วยอาชญาสี่ มี 17 ตำแหน่ง ได้แก่ เมืองแสน มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางทหาร เมืองจันทน์ มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางพลเรือน เมืองคุก เมืองฮาม เมืองแพน มีหน้าที่ควบคุมนักโทษ ฯลฯ
  • ตำแหน่งพิเศษอื่นๆ เป็นตำแหน่งไม่ค่อยสำคัญ เจ้าเมืองจะแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งก็ได้ ได้แก่ ตำแหน่งเพี้ยซาตีนแท่น แล่นตีนเมือง เพี้ยซาบรรทม เพี้ยซาแขกขวา เพี้ยซาแขกซ้าย มีหน้าที่ติดตามเจ้าเมือง ต้อนรับแขกเมือง ฯลฯ
  • ตำแหน่งสำหรับหมู่บ้าน มี 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ท้าวฝ่าย เทียบตำแหน่งนายอำเภอ ตาแสง เทียบตำแหน่งกำนัน พ่อบ้าน หรือนายบ้าน เทียบเท่าตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จ่าบ้าน เทียบตำแหน่งสารวัตรกำนัน

บทบาทของเมืองอุบลฯ ในอดีต

ด้านการปกครอง

เมืองอุบลราชธานี เป็นเมืองขนาดใหญ่ เป็นหัวเมืองเอกขึ้นกับกรุงเทพฯ ปกครองดูแลเมืองต่างๆ 7 เมือง จัดเก็บส่วยตามที่ทางกรุงเทพฯ กำหนด เช่น ในปี พ.ศ. 2370 เมืองอุบลฯ มีไพร่หลวงอยู่ 5,500 คน กำหนดให้ส่งส่วย 2,000 คน ปฏิบัติราชการ 2,000 คน และเลี้ยงราชการ 1,500 คน ครั้งนั้นกำหนดให้ไพร่ส่วยเสียค่าส่วยคนละ 4 บาทต่อปี ถ้าส่งเป็นสิ่งของคิดเป็นราคา 4 บาท เช่นกัน เมืองอุบลฯ ส่งส่วยเร่ว ส่วยเงิน ส่วยไหม ส่วยขี้ผึ้ง ส่วยผ้าขาว ฯลฯ โดยเมืองอุบลฯ จะเป็นผู้รวบรวมเก็บส่วยทั้งเงิน และสิ่งของเมืองต่างๆ ในภูมิภาคนั้น เช่น เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองแสนบาง เมืองทองคำใหญ่ เมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร เมืองลำเนา หนองปรือ เมืองเขมราฐ เมืองโขงเจียม ฯลฯ รวบรวมไว้ที่เมืองอุบลฯ แล้วท่านเจ้าเมืองจะนำส่งกรุงเทพฯ โดยทางเรือล่องตามลำแม่น้ำมูล ถึงท่าช้างเมืองนครราชสีมา แล้วบรรทุกโคต่างส่งถึงกรุงเทพฯ ต่อไป แต่ในบางปีทางกรุงเทพฯ อาจใช้ข้าหลวงนำโคต่างจากกรุงเทพฯ เพื่อมาบรรทุกสิ่งของรับส่วยจากเมืองอุบลฯ โดยตรง

ด้านการป้องกันประเทศ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจัดให้หัวเมืองต่างๆ ทางแผ่นดินสูงตอนริมแม่น้ำโขง เป็นเมืองประเทศราชอยู่ 3 เมืองคือ เมืองนครพนม เมืองเวียงจันทน์ และเมืองนครจำปาศักดิ์ โดยมอบให้เมืองนครราชสีมาปกครองดูแลหัวเมืองเขมรป่าดงอื่นๆ และหัวเมืองดอนที่มิได้ขึ้นตรงต่อประเทศราชทั้ง 3 ดังกล่าว ดังนั้น ในระยะนั้นเมืองอุบลฯ จึงอยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองนครราชสีมา และขึ้นตรงต่อสมุหนายก

ในปี พ.ศ. 2353 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยต้องยกกองทัพไปตีเมืองมะริด และตะนาวศรี เจ้าพระยาจักรี สมุหนายกผู้รับผิดชอบ หัวเมืองลาวภาคตะวันออก ได้มีสารตราส่งเจ้าพระยานครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพเมืองต่างๆ ในหัวเมืองลาว เขมรป่าดง ตามจำนวนที่กำหนดทุกเมืองรวม 14 เมืองให้กำลังดังกล่าวเดินทางไปถึงเมืองสระบุรีในวันที่กำหนด

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยทำสงครามกับญวนเป็นเวลานาน เมื่อปี พ.ศ. 2375 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกูล เกณฑ์กองทัพหัวเมืองชั้นใน หนึ่งพันคนยกออกไปรักษาการณ์อยู่ที่เมืองจัมปาศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2382 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพใหญ่ มีบัญชาให้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองต่างๆ ของหัวเมืองลาวตะวันออกไปร่วมในกองทัพ

udon 09

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มปฏิรูปการปกครอง ในปี พ.ศ. 2433 ได้จัดแบ่งหัวเมืองฝ่ายอีสานเป็น 4 กองใหญ่ รวมเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา เข้าด้วยกัน แต่ละกองมีข้าหลวงกำกับการปกครองกองละหนึ่งคน มีข้าหลวงใหญ่คอยกำกับดูแลข้าหลวงกำกับกองอีกหนึ่งคน

เมืองอุบลฯ อยู่ในกองที่สอง คือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วยหัวเมืองเอก 12 หัวเมือง หัวเมืองโท ตรี จัตวาอีก 29 หัวเมือง รวม 41 หัวเมือง มีพระยาราชเสนา (ทัต ไกรฤกษ์) เป็นข้าหลวงประจำกอง ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบลฯ หัวเมืองเอกได้แก่ เมืองอุบลฯ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภูหล่นช้าง กมลาสัย เขมราฐ สองคอน แดนดง ยโสธร นอง และศรีสะเกษ

ในปี พ.ศ. 2434 โปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก และฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกันเรียกว่า หัวเมืองลาวกาว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงพยายามแก้ไขรูปแบบการปกครองของมณฑลลาวกาว ให้เข้ากับลักษณะที่ใช้อยู่ในภาคกลาง ทรงนำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งเริ่มปฏิบัติครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2437 ณ วัดศรีทองวนาราม (วัดศรีอุบลรัตนาราม ปัจจุบัน) และในปีเดียวกันได้ทรงยกเลิกตำแหน่งอาชญาสี และให้เรียกชื่อใหม่ ตามระบอบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล คือ

  • เจ้าเมือง เรียกว่า ผู้ว่าราชการเมือง
  • อุปฮาด เรียกว่า ปลัดเมือง
  • ราชวงค์ เรียกว่า ยกกระบัตรเมือง
  • ราชบุตร เรียกว่า ผู้ช่วยราชการเมือง

ในปี พ.ศ. 2442 ให้เรียกชื่อเมือง ชายพระราชอาณาเขต สามมณฑล ตามชื่อพื้นที่ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเรียกชื่อเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอุบลฯ เมืองศรีสะเกษ และหัวเมืองอื่นๆ ที่รวมกันเป็นมณฑลลาวกาว ว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และพระราชทานศักดินาแก่เจ้านาย พระยาท้าวแสนเมือง ประเทศราชให้มีศักดิ์ และสิทธิ์เทียบเท่ากับข้าราชการไทยทั่วไป

ประวัติเมืองอุบลราชธานี

ในปี พ.ศ. 2443 ให้เรียกมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือว่า มณฑลอีสาน และได้แบ่งออกเป็นห้าบริเวณ บริเวณอุบลฯ มี 3 เมือง คือเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองยโสธร และเมืองเขมราฐ

ในปี พ.ศ. 2444 เกิดขบวนการผู้มีบุญมลฑลอีสานหลายรายด้วยกัน โดยสะท้อนสภาพปัญหาสังคมในรูปของวรรณกรรม ผญา คำพังเพย กลอนลำ ฯลฯ กลุ่มผู้นำเช่น กองอ้ายมั่น บ้านกระจีน แขวงเขมราฐ กองอ้ายเล็ก บ้านหนองซำ อำเภอพยัคฆภูมิ เมืองสุวรรณภูมิ กองอ้ายบุญจัน เมืองขุขันธ์ ซึ่งเชื่อถือในพญาธรรมิกราช

ในปี พ.ศ. 2487 ปลายสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นทะยอยส่งเชลยศึกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดเนเซีย มาเลเซีย อังกฤษ อเมริกา และดัชท์ มายังจังหวัดอุบลฯ เพราะได้เตรียมให้ภาคอีสานเป็นแนวต้านทานสุดท้าย เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับอินโดจีน ชาวอุบลราชธานีด้วยความเป็นคนมีจิตเมตตาสงสาร จึงได้พากันนำเอาอาหารเครื่องนุ่งห่มมาให้เชลยศึกเหล่านี้เพื่อเป็นทาน แต่ก็ได้รับการขัดขวางจากทหารญี่ปุ่น และถึงขั้นทำร้ายเอา แต่ชาวอุบลราชธานีก็ยังแอบนำอาหารและเครื่องใช้ไปให้เชลยศึกเหล่านี้ ด้วยความเมตตาอย่างไม่กลัวเกรงต่อภัยอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

อนุสาวรีย์แห่งความดีต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2488 สงครามมหาเอเซียบูรพายุติลง จังหวัดอุบลฯ ได้ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นแล้วส่งเข้าค่ายเชลยที่กรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ ด้วยความดีดังกล่าว ภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นเชลยศึกเหล่านี้ได้ถูกปลดปล่อย และได้ระลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี ที่มีจิตเมตตากรุณา จึงได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขาได้เคยเป็นเชลยศึกอยู่ที่นี่ และได้รับความเมตตากรุณาจากชาวอุบลราฃธานีจนทำให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป และพร้อมใจกันให้นามอนุสาวรีย์แห่งนี้ว่า “อนุสาวรีย์แห่งความดี : The Monument of Merit”

คำจารึกที่อนุสาวรีย์มีว่า "In 1941, Japanese troop occupied Thailand and took allied prisoners of war. Ubonratchathani prisoners was one of many areas in Thailand where allied prisoners of war were kept and forced into hard labour.

The prisoners consisted mainly Australian, British, New Zealand and French nationals, Who were tormented toward the allied prisoners of war physically and mentally by their captors. Bring actively sympathetic foot, clothes and others, people risk their lives to help them by providing support. As a result, many Thais received harsh punishment from the Japanese soldiers. When the war was over in 1943, many prisoners of war were freed. Survival due to the assistance of local people. To show their gratitude. The former prisoners built this monument to the kindness. Generosity and goodwill displayed by people of Ubonratchathani . The is why this monument is called. “ The Monument of Merit ”

the monument of merit 2

อนุสาวรีย์แห่งความดี อุบลราชธานี

ประเพณีเทศกาล

ubon 60y king tour

งานแห่เทียนพรรษา

เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี จัดให้มีขึ้นทุกปีในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา สถานที่จัดคือบริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจากหน้าวัดศรีอุบลรัตนารามไปตามถนนสายสำคัญในเขตเทศบาลนครอุบลฯ มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง ในตอนกลางคืนจะมีมหรสพ และการแสดงสมโภชต้นเทียน และเห็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน [ รายละเอียดเพิ่มเติม : งานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ]

ubon candle festival 2017

งานเทศกาลไม้ดอกไม้ประดับ

เดือนกุมภาพันธ์จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณสนามกีฬาทุ่งคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ กิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ขบวนรถบุปผชาติ การประกวดและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ

ubon maidok

งานประเพณีสงกรานต์ และเทศกาลอาหารอินโดจีน

ในเดือนเมษายนของทุกปี จังหวัดอุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานีและหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยวจัดให้มี งานสงกรานต์และเทศกาลอาหารอินโดจีน ขึ้นทุกปี ณ บริเวณสวนสาธารณะทุ่งศรีเมือง นอกจากจะได้ร่วมสรงน้ำพระแก้วบุษราคัมแล้ว ยังจะได้อิ่มอร่อยกับอาหารนานาชนิดจากประเทศเพื่อนบ้าน และภัตตาคารชื่อดัง หรือจะหลบลมร้อนไปนั่งพักผ่อนที่หาดคูเดื่อ หรือ หาดศรีภิรมย์ ลิ้มรสอาหารพื้นบ้านก็น่าสนใจ

ubon songkran

งานประเพณีมหาสงกรานต์แก่งสะพือ

ในเดือนเมษายนของทุกปี ทางเทศบาลพิบูลมังสาหาร กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือขึ้นเป็นประจำ ในงานนอกจากจะมีการประกวดธิดาสงกรานต์แล้ว ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของภาคเอกชน มีการละเล่นกีฬาพื้นเมือง และการประกวดการเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานอีกด้วย

ubon kangsapue

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

วัดทุ่งศรีเมือง

ตั้งอยู่ที่ถนนหลวงในเขตเทศบาลเมือง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สร้างวัดนี้คือ ท่านเจ้าอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบล คณะภิบาลสังฆปาโมก (สุ้ย) เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้นท่านได้เคยศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ท่านจึงได้นำพระพุทธบาทจำลองจากวัดสระเกศฯ มายังอุบลราชธานี และได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน หอพระพุทธบาทหลังนี้คือ พระอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมมีลักษณะของศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น และศิลปะเวียงจันทน์ผสมกันอยู่ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทุกด้านเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 อาคารที่สำคัญอีกหลังหนึ่งคือ หอพระไตรปิฎก

 ubon hor tri

เป็นหอไตรที่สร้างด้วยไม้ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เพื่อเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ป้องกันไม่ให้มดปลวกไปกัดทำลาย มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างไทย พม่า และลาว กล่าวคือ ลักษณะอาคารเป็นแบบไทยเป็นเรือนฝาปะกน ขนาด 4 ห้อง ภายในห้องที่เก็บตู้พระธรรมทุกด้านเขียนลงรักปิดทอง ส่วนของหลังคามีลักษณะศิลปะไทยผสมพม่าคือมีช่อฟ้าใบระกา แต่หลังคาซ้อนกันหลายชั้นแสดงถึงอิทธิพลศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมายังศิลปะลาวล้านช้าง ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้ง 2 ด้าน เป็นลักษณะศิลปะแบบลาว ตรงส่วนฝาปะกนด้านล่างแกะเป็นรูปสัตว์ประจำราศีต่างๆ และลวดลายพันธุ์พฤกษาเป็นช่องๆ โดยรอบ นับเป็นหอไตรที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง

วัดหนองป่าพง

เป็นวัดที่มีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ เหมาะแก่การเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อ พ.ศ. 2497 หลวงปู่ชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร) ได้ทำการบุกเบิกปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การปฎิบัติธรรม และได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในปีนั้น และเปลี่ยนสภาพเป็นวัดในโอกาสต่อมา บริเวณวัดสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) เป็นอาคารที่จัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร และหุ่นขี้ผึ้งของ หลวงปู่ชา สุภัทโท เปิดให้เข้าชม ตอนเช้า เวลา 10.30-12.00 น. ตอนบ่าย เวลา 14.00-18.00 น. และยังมีเจดีย์ศรีโพธิญาณ เป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพขอ งหลวงปู่ชา การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2178 ห่างจากตัวอำเภอไปประมาณ 6 กิโลเมตรมีทางแยกขวาอีก 2 กิโลเมตร [ รายละเอียดเพิ่มเติม : วัดหนองป่าพง ]

วัดป่านานาชาติ

ตั้งอยู่ที่บ้านบุ่งหวาย ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 14 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 226 จะมีป้ายบอกทางขวามือ ทางเข้าเดียวกับวัดป่ามงคล วัดป่านานาชาติเป็นสาขาที่ 19 ของวัดหนองป่าพง ในวัดมีชาวต่างประเทศบวชจำพรรษาเป็นจำนวนมาก เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน พระภิกษุชาวต่างประเทศในวัดเกือบทุกรูปสามารถ พูดภาษาไทยได้สวดภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป [ รายละเอียดเพิ่มเติม : วัดป่านานาชาติ ]

วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว

วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว  หรือนิยมเรียกกันว่า วัดเรืองแสง ตั้งอยู่ที่  อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี (ก่อนถึงด่านชายแดนช่องเม็ก 3 กิโลเมตร) เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาศ  บริเวณบนยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีปัดทองตั้งเด่นเป็นสง่า  จุดเด่นของวัดคือ การได้มาชมภาพเรืองแสงเป็นสีเขียวของของต้นกัลปพฤกษ์ที่เป็นจิตรกรรมที่อยู่บนผนังด้านหลังของอุโบสถในยามค่ำคืน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมาชมและถ่ายภาพคือ ตั้งแต่เวลา 06.00. - 19.30 น. ซึ่งหากโชคดีก็จะได้เห็นดวงดาวมากมายเต็มท้องฟ้าอีกด้วย  

Bird's Eye View : วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อุบลราชธานี

แต่ภาพเรืองแสงนี้หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเพียงเล็กน้อย จะไม่เห็นเป็นสีเขียวชัดเจนเท่ากับภาพที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวบางท่านที่มาเก็บภาพความงดงามผ่านสายตาต้องเผื่อใจไว้เล็กน้อย [ อ่านเพิ่มเติม : วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ]

เห็นแล้วอึ้ง - มหัศจรรย์ต้นไม้เรืองแสง

ธรรมาสน์สิงห์ศิลปะญวนที่บ้านชีทวน

ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 26 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (อุบลราชธานี-ยโสธร) ประมาณ 24 กิโลเมตร จะถึงบ้านท่าวารี (กม.268) มีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้านอีก 5 กิโลเมตร เป็นธรรมาสน์ที่แตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไปกล่าวคือ มีลักษณะเป็นรูปสิงห์ยืนเทินปราสาท (ตัวธรรมาสน์) สร้างด้วยอิฐถือปูน ยอดปราสาทเป็นเครื่องไม้ทำเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นประดับตกแต่งลายปูนปั้น และลายเขียนสีแบบศิลปะญวนทั้งหลัง ธรรมาสน์นี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 โดยช่างชาวญวน และถือเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง

ubon tammas sing chee tuan

แก่งสะพือ

เป็นแก่งหินที่สวยงามในแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี ตามทางหลวงหมายเลข 217 ประมาณ 45 กิโลเมตร คำว่า "สะพือ" เพี้ยนมาจากคำว่า "ซำฟืด" หรือ "ซำปึ้ด" ซึ่งเป็นภาษาส่วยแปลว่า งูใหญ่ หรืองูเหลือม เป็นแก่งที่มีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านกระทบหิน เกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา ช่วงที่เหมาะสำหรับเที่ยวชมแก่งสะพือคือหน้าแล้ง ราวเดือนมกราคม-พฤษภาคม เพราะน้ำจะลดเห็นแก่งหินชัดเจนสวยงาม ส่วนหน้าฝนน้ำจะท่วมมองไม่เห็นแก่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาชมแก่งนี้ 2 ครั้ง ริมฝั่งแม่น้ำมีศาลาพักร้อน และร้านขายสินค้าพื้นเมือง ในวันหยุดมีประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก

เขื่อนสิรินธร

ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 70 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 217 แยกขวาที่กิโลเมตร 71 ไปอีก 500 เมตร เป็นเขื่อนหินแกนดินเหนียว สร้างกั้นลำโดมน้อยอันเป็นสาขาของแม่น้ำมูล ตัวเขื่อนสูง 42 เมตร ยาว 940 เมตร อำนวยประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการชลประทาน บริเวณริมทะเลสาบมีสวนสิรินธร ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ มีรูปปั้นและน้ำพุสวยงาม มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย นนทบุรี โทร. 0 2436 3271-2 หรือ ที่เขื่อนสิรินธรโทร.0 4536 6081-3

เขื่อนปากมูล

เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียวสร้างกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านหัวเหว่ อำเภอโขงเจียม มีความสูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร อำนวยประโยชน์ในด้านการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนปากมูลอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 75 กิโลเมตร ห่างจากจุดบรรจบของแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขงประมาณ 6 กิโลเมตร กรณีเขื่อนเปิดทำการสันของเขื่อนปากมูล สามารถใช้เป็นเส้นทางลัดจากอำเภอโขงเจียมไปอำเภอสิรินธรได้

ubon pakmoon 2si

แม่น้ำสองสี

แม่น้ำสองสี หรือ ดอนด่านปากแม่น้ำมูล อยู่ในเขตบ้านเวินบึก นั่งเรือจากตัวอำเภอโขงเจียมไปประมาณ 5 นาที เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขงเกิดเป็นสีของแม่น้ำที่ต่างกันจึงเรียกกันอย่างคล้องจองว่าโขงสีปูน มูลสีคราม จุดที่สามารถมองเห็นแม่น้ำสองสีได้อย่างชัดเจน คือ บริเวณลาดริมตลิ่งแม่น้ำมูล แม่น้ำโขงหน้าวัดโขงเจียม และบริเวณบางส่วนของหมู่บ้านห้วยหมาก ในเดือนเมษายน จะเป็นเดือนที่เห็นความแตกต่างของสีน้ำได้ชัดเจนที่สุด นอกจากนี้แล้ว บริเวณใกล้เคียงยังมีบริการเรือพาล่องชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำ หรือซื้อของที่ระลึก ที่ตลาดหมู่บ้านในฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย

สามพันโบก

สามพันโบก หรือ แกรนด์แคนยอนน้ำโขง เป็นแก่งหินที่มี กุมภลักษณ์ หรือ หลุมบ่อที่อยู่ใต้ลำนำโขง ตั้งอยู่ในอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หลุมบ่อเหล่านี้เกิดจากการขัดสีของก้อนหิน ก้อนกรวด หรือเม็ดทรายที่น้ำพัดพามากักอยู่ในแอ่งน้ำวน และกัดเซาะจนกลายเป็นหลุมบ่อมากกว่า 3,000 หลุม โดยในช่วงฤดูแล้งที่น้ำแห้งแก่งหินดังกล่าวก็จะโผล่พ้นน้ำ คล้ายผู้เขากลางลำน้ำโขง แก่งหินสามพันโบก เป็นกลุ่มหินทรายแนวเทือกเขาภูพานตอนปลายที่ทอดตัวยาวริมฝั่งโขงไทยและลาว สายน้ำแคบและเป็นคุ้งน้ำ ริมฝั่งโขงบริเวณนี้เป็นกลุ่มหินที่เรียงตัวทอดยาวเป็นสันดอนขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 30 ตารางกิโลเมตร ผาหินบริเวณโค้งด้านหน้ารับแรงน้ำที่ไหลจากตอนบน ก่อเกิดประติมากรรมธรรมชาติที่งดงาม ทั้งนี้คำว่า "โบก" เป็นภาษาลาวที่ใช้เรียกบ่อน้ำลึกในแก่งหินใต้ลำน้ำโขง [ อ่านเพิ่มเติม : สามพันโบก ]

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ

มีพื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่ ในเขตอำเภอสิรินธรและอำเภอโขงเจียม ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและเนินเขาเตี้ยๆ สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าแพะหรือป่าแดง ต้นไม้ในป่ามีลักษณะแคระแกรน บางส่วนเป็นทุ่งหญ้า ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลบริเวณแก่งตะนะ การเดินทางสามารถไปได้สองเส้นทางคือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 217 (อุบลราชธานี-พิบูลมังสาหาร-ช่องเม็ก ประมาณ 75 กิโลเมตร) แล้วแยกซ้ายไปตามเส้นทาง 2173 อีก 13 กิโลเมตร ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งคือใช้ทางหลวงหมายเลข 2222 ผ่านอ.โขงเจียมประมาณ 4 กิโลเมตร แล้วข้ามแม่น้ำมูลไปอีก 12 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางที่ข้ามสันเขื่อนปากมูลก็ได้ (กรณีที่เขื่อนเปิด)

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

ผาแต้มและผาขาม เป็นหน้าผาสูงที่สวยงามตามธรรมชาติ บริเวณด้านล่างของหน้าผามีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏเรียงรายอยู่เป็นระยะ มีอายุไม่ต่ำกว่าสามพันถึงสี่พันปี ทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินจากหน้าผาด้านบนลงไปชมภาพเขียนสีเหล่านี้ที่หน้าผาด้านล่าง ระยะทางประมาณ 500 เมตร ภาพเขียนจะอยู่บนผนังหน้าผายาวติดต่อกันประมาณ 170 เมตร ซึ่งเป็นมุมต่ำกว่า 90 องศา มีภาพทั้งหมดประมาณ 300 ภาพ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ สัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ สัญลักษณ์ และคน ด้านตรงข้ามผาแต้มคือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจ จะชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนที่แห่งใดในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับที่หมู่บ้านเวินบึก ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงไม่ไกลจากบริเวณแม่น้ำสองสีมากนัก ซึ่งทุกวันนี้จะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ubon patam

ผาชะนะได

ผาชะนะได เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นแห่งแรกของประเทศไทย เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศไทย และตามแนวหน้าผาบนภูเขาที่ทอดยาวขนานไปตามลำน้ำโขง นับเป็นจุดขมวิวทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นลำน้ำโขง และภูเขาสูงทะมึนสลับซับซ้อน ที่ปกคลุมไปด้วยป่าเขียวขจีของฝั่งลาวได้ รวมทั้งเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามแห่งหนึ่งของเมืองไทย ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ‘และได้ชื่อว่าเป็นจุดบอกพิกัดตะวันขึ้นของประเทศไทยทุกเช้า ความพิเศษของสถานที่เที่ยวแห่งนี้เป็นไปตามคำขวัญที่รู้จักกันทั่ว คือ “รับตะวันก่อนใครในสยาม” ที่ “ผาชะนะได” โดยบนหน้าผาที่ยื่นผงาดฟ้าปกคลุมด้วยป่าสนสองใบ เมื่อมองทะลุทิวสนจะเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนตัดกับเส้นขอบฟ้า และแสงตะวันอย่างสวยงามยิ่งนัก

ชวนเที่ยวผาชะนะได พบตะวันก่อนใครในสยาม

อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย

มีพื้นที่ประมาณ 686 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชาหรือที่เรียกว่า สามเหลี่ยมมรกต พื้นที่เป็นภูเขาในเทือกเขาพนมดงรัก สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530

ในอุทยานและบริเวณใกล้เคียงมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อยู่มาก เหมาะสำหรับท่านที่ชอบเดินป่า ดูนก สำรวจพันธุ์พืช กล้วยไม้สวยงาม มีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกห้วยทรายใหญ่ ชมสิ่งมหัศจรรย์ "กุ้งเดินพาเหรด" ที่แก่งลำดวนในช่วงเดือนกันยายน และอื่นๆ อีกมากมาย

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดอุบลราชธานี | แผนที่จังหวัดอุบลราชธานี | เอกสารการท่องเที่ยว | อุบลราชธานี : เที่ยวไหนดี ]

10 ที่เที่ยวอุบลราชธานี - ชิลไปไหน

แนะนำให้ท่านชม : ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองดอกบัว อุบลราชธานี ชุดที่ 1ชุดที่ 2 | ชุดที่ 3 | ชุดที่ 4 new1234

 kung parade 3

redline

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดอำนาจเจริญ

พระมงคลมิ่งเมือง แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ งามล้ำถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เทพนิมิตพระเหลา
เกาะแก่งเขาแสนสวย เลอค่าด้วยผ้าไหม ราษฎร์เลื่อมใสใฝ่ธรรม
"

amnat charoen logoจังหวัดอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 3,161.248 ตารางกิโลเมตร เดิมคือบ้าน "ค้อใหญ่" เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยขึ้นอยู่กับนครเขมราฐ ต่อมาจึงได้ย้ายมาขึ้นต่อเมืองอุบลราชธานี จนกระทั่งได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536 อำนาจเจริญแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบแต่ก็มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าชม ทั้งวัดวาอาราม ธรรมชาติที่สวยงาม และหัตถกรรมฝีมือชาวบ้านที่น่าซื้อเป็นของใช้ ของฝาก

จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการเสนอ "พระราชบัญญัติจังวัดอำนาคเจริญ ครั้งที่ 1" แต่สภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นถูกยุบไปเสียก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการเสนอพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดอำนาจเจริญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งต่อมา รัฐบาลได้ตรา "พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ พ.ศ. 2536" ขึ้น ซึ่งแยกเอา 7 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานีมารวมกัน คือ อำเภออำนาจเจริญ (ปัจจุบันคือ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ) อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน อำเภอเสนางคนิคม และกิ่งอำเภอลืออำนาจ (ปัจจุบันคืออำเภอลืออำนาจ)

ชื่อ “อํานาจเจริญ” แรกมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2401 ในแผ่นดินรัชกาล ที่ 4 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2394-2411) ได้ชื่อจากราชทินนามของเจ้าเมืองคนแรกว่า พระอมรอํานาจ คำว่า "อำนาจเจริญ" เป็นภาษาเขมร มีความหมายตามตัว คือ อำนาจเจริญ เมืองที่มีสมญานามว่า เมืองข้าวหอมโอชา ถิ่นเสมาพันปี

Ubon BE2513 21

พระมงคลมิ่งเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2513
ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นตะเคียนหิน
ตราประจำจังหวัด : พระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระประธานของภาพ แสงฉัพพรรณรังสี เปล่งรัศมีโดยรอบพระเศียร ซ้ายขวามีต้นไม้อยู่สองข้าง ถัดไปเป็นกลุ่มเมฆ ด้านล่างเป็นแถบป้ายชื่อจังหวัดอำนาจเจริญ

amnat flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ คือ ดอกทองกวาว, ดอกจานเหลือง หรือ ทองธรรมชาติ ชื่อสามัญ Bastard teak, Bengal kino, Kino tree, Flame of the forest ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea monosperma (Lam.) Taub. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ถั่ว มีความสูงประมาณ 12-18 เมตร กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา ลักษณะของการแตกกิ่งก้านจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นระเบียบ ส่วนเปลือกต้นจะเป็นปุ่มปม ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการใช้กิ่งปักชำ

มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ จากประเทศปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และทางตะวันตกของอินโดนีเซีย ทองกวาวมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกคือ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (สุรินทร์, เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อีสาน)

จังหวัดอำนาจเจริญ แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 อำเภอ (2564) ได้แก่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำนาจชานุมาน อำนาจปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน และอำเภอลืออำนาจ

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศตะวันตก : ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร
  • ทิศตะวันออก : ติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และติดต่อกับอำเภอเขมราฐ อำเภอกุดข้าวปุ้น และอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศใต้ : ติดต่อกับอำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศเหนือ : ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรและอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร 

ประเพณีเทศกาลและแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ 

งานประเพณีลงข่วง

อำเภอชานุมาน ประชาชนส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวภูไท หรือผู้ไทย ที่อพยพมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวภูไทมีความสามารถในการทอผ้าขิตเป็นพิเศษ การให้สีสันและลวดลายของผ้า จะเป็นเอกลักษณ์ของภูไทโดยเฉพาะ และยังมีดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้าน ได้แก่ หมอลำ ที่มีเนื้อหาในการส่งเสริมการปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

amnat long kuang

ประเพณีลงข่วง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งของชาวจังหวัดอำนาจเจริญในสมัยเก่า ให้เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีประจำจังหวัด การลงข่วงเป็นการชุมนุมกันของหนุ่มสาว ที่ฝ่ายสาวจะมีกิจกรรมทอผ้า สาวไหม เป็นต้น ขณะเดียวกันพวกหนุ่มๆ ก็จะมาร่วมวงสนุกโดยบรรเลงเพลงพื้นบ้านด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน อาทิ แคน พิณ ประกอบกับกิจกรรมทอผ้า และสาวไหม

พุทธอุทยานและพระมงคลมิ่งเมือง

ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท ห่างจากตัวเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณวัดเป็นหินดานธรรมชาติ ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น “พุทธอุทยาน” ส่วนพระมงคลมิ่งเมือง หรือพระใหญ่ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสกุลศิลปะอินเดียเหนือ (ปาละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษ ออกแบบโดย จิตร บัวบุศย์ ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กครอบองค์เดิม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

amnat prayai

ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมือง มีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก   2 องค์   ห่มจีวรเหลือง  มีนามว่า "พระละฮาย" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระขี้ล่าย" หมายถึง ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำ เมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบ เพื่อทำฝายกั้นน้ำ เชื่อกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ประชาชนมักเดินทางมาขอพรอยู่เสมอ

วัดถ้ำแสงเพชรหรือวัดศาลาพันห้อง

ตั้งอยู่บนถนนสายอำนาจเจริญ-เขมราฐ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 18 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางขึ้นเขาเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร พื้นที่วัดมีบริเวณกว้างขวาง ประกอบด้วย วิหาร เจดีย์และพระนอนที่ก่อสร้างอย่างสวยงาม ทางด้านทิศเหนือของวิหาร มีถ้ำขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นวัดสาขาที่ 5 ของ วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

amnat wat tum saeng pet

นอกจากนี้บริเวณศาลาพันห้อง สามารถชมธรรมชาติที่สวยงาม โดยรอบแวดล้อมด้วยโขดหินน้อยใหญ่มากมาย เหตุที่ได้ชื่อว่า ถ้ำแสงเพชร ก็เนื่องมาจากประกายของเกล็ดหิน ยามเมื่อต้องกับแสงตะวัน จะวาววับคล้ายกับแสงเพชร วัดถ้ำแสงเพชร เป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์สายพระอาจารย์ชา สุภัทโท เป็นวัดสาขาที่ 5 ของวัดหนองป่าพง มีพระภิกษุนานาชาติมาปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ

วัดพระเหลาเทพนิมิตร

ตั้งอยู่ที่อำเภอพนา บนทางหลวงหมายเลข 2134 ห่างจากตัวอำเภอพนาประมาณ 2 กิโลเมตร พระอุโบสถของวัดมีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีพระประธานคือ “พระเหลาเทพนิมิต” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานในพระอุโบสถ องค์พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ลงรักปิดทองงดงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2263 ซึ่งสร้างโดยพระภิกษุ 3 รูป ทีมีฝีมือช่างขั้นเทพ คือ ภิกษุแก้ว ภิกษุอิน และ รูปสำคัญทีถือ เป็นยอดฝีมือ ชือ "ซาพรหม"

amnat wat pra lao tep nimit

กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งจัดอยู่ในพระพุทธรูปศิลปะลาว สกุลช่างเวียงจันทน์ ที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 - 22 สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นหลังจากระยะเวลาดังกล่าวไปเล็กน้อย เนื่องจากมีอิทธิพลของฝีมือช่างท้องถิ่นปรากฏอยู่มาก เป็นต้นว่า เค้าพระพักตร์ เปลวรัศมีที่ยืดสูงขึ้น สัดส่วนของพระเพลา และพระบาท ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปไม้ และสำริด ที่สร้างขึ้นระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงพุทธศตวรรษที่ 24

จากลักษณะขององค์พระพุทธรูปที่งดงาม เวลาเข้าไปกราบนมัสการจะเหมือนท่านยิ้มต้อนรับ คนทั่วไปจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า “พระเหลา” ที่มีความหมายว่า “งดงามคล้ายเหลาด้วยมือ” ต่อมา วัดศรีโพธิชยารามคามวดี ที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระเหลา ได้เปลี่ยนชื่อเรียกตามความนิยมในตัวองค์พระเป็น "วัดพระเหลา" หมู่บ้านที่ตั้งได้เปลี่ยนชื่อตามเป็น "บ้านพระเหลา" ด้วย

amnat wat pra lao tep nimit 3

จนถึง พ.ศ. 2441 เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) พระสายวิปัสสนากรรมฐานชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี และภาคอีสาน ได้เสริมนามต่อท้ายให้กับองค์พระเป็น “พระเหลาเทพนิมิต” ซึ่งมีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่งามคล้ายเหล่าดุจเทวดานิมิตไว้”

สำหรับ พระเหลาเทพนิมิต นอกจากจะมีความงดงามตามพุทธศิลปะแล้ว มีคำเล่าลือกันว่า ทุกคืนวันพระ 7 ค่ำ, 8 ค่ำ 14 ค่ำ, 15 ค่ำ องค์พระพุทธรูปพระเหลาเทพนิมิต จะแสดงพุทธานุภาพให้เกิดลำแสงสีเขียวแกมขาวขจี ลอยออกจากพระอุโบสถในเวลาเงียบสงัด

amnat wat pra lao tep nimit 2

ทั้งนี้ การเข้ากราบนมัสการพระเหลาเทพนิมิต ผู้ต้องการบนบานขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบุตร มีการกล่าวกันว่า เมื่อมาบนบานขอจากพระเหลาเทพนิมิตแล้ว จะประสบความสำเร็จสมดังที่ตั้งใจ ส่วนสิ่งของที่ใช้บนบานสานกล่าวก็คือ ดอกไม้ธูปเทียน และปราสาทผึ้ง

พระเหลาเทพนิมิต อยูที่ วัดพระเหลาเทพนิมิต. ตั้งอยู่ที่ตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นวัดโบราณเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2254

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง | เว็บไซต์จังหวัดอำนาจเจริญ | แผนที่จังหวัดอำนาจเจริญ | เอกสารการท่องเที่ยว ]

new1234ชิญชมภาพเก่าเล่าอดีต "เมืองอำนาจเจริญ"new1234

 

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดอุดรธานี

กรมหลวงประจักษสร้างเมือง ลือเลื่องแหล่งธรรมะ อารยธรรมบ้านเชียงมรดกโลกห้าพันปี
ธานีผ้าหมี่ขิด ธรรมชาติเนรมิตทะเลบัวแดง"

udon logoจังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการท่องเที่ยว ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมบ้านเชียง ซึ่งเป็นร่องรอยของอารยธรรมมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ อุดรธานียังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง มีการทำหัตถกรรมที่น่าสนใจต่างๆ เช่น ผ้าขิด ชุมชนพื้นบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีเสน่ห์ตามแบบฉบับชุมชนไทยอีสาน ในเมืองและตามสถานที่ต่างๆ มีโรงแรมที่พักมากมาย และการคมนาคมสะดวกสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสนามบิน อุดรธานีจึงเป็นอีกเมืองหนึ่งที่นักเดินทางไม่ควรพลาดมาเยี่ยมเยือน

จังหวัดอุดรธานี มีเนื้อที่ประมาณ 11,730 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7.33 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของประเทศ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง ประกอบด้วยทุ่งนา ป่าไม้ และภูเขา พื้นที่เอียงลาดลงสู่แม่น้ำโขงทางจังหวัดหนองคาย ทางทิศตะวันตกมีภูเขาและป่าติดต่อกันเป็นแนวยาว มีทิวเขาสำคัญคือทิวเขาภูพาน ทอดเป็นแนวยาวตั้งแต่ตอนเหนือสุดจนถึงทางใต้สุด

จังหวัดอุดรธานีมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบแสดงให้เห็นว่า บริเวณที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนี้ เคยมีชุมชนมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือราว 5,000 - 7,000 ปีมาแล้ว เป็นชุมชนโบราณที่มีอารยธรรมความเจริญในระดับสูง สันนิษฐานว่า เครื่องปั้นดินเผาสีลายเส้นที่พบที่บ้านเชียงนั้น อาจเป็นเครื่องปั้นดินเผาสีลายเส้นที่เก่าแก่ที่สุดของโลก

udon 05

บริเวณนี้มีชุมชนอาศัยอยู่ต่อมา แต่เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่ไม่มีบทบาทในทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2428 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมและเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ยกทัพไปปราบปรามพวกฮ่อในมณฑลลาวพวนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ที่รวมตัวกันก่อการร้าย กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม แม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ ได้นำทัพผ่านมายังบริเวณ ซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดอุดรธานีปัจจุบันนี้ และไปทำการปราบปรามพวกฮ่อจนสงบ ซึ่งในขณะนั้นชุมชนเดิมของอุดรธานียังเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ "บ้านหมากแข้ง" หรือ "บ้านเดื่อหมากแข้ง" อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองหนองคายซึ่งขึ้นอยู่กับมณฑลลาวพวน

ต่อมาเกิด กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญามีเงื่อนไข ห้ามประเทศสยามตั้งกองทหารและป้อมปราการในรัศมี 25 กิโลเมตร จากฝั่งแม่น้ำโขง กองกำลังทหารไทยที่ตั้งประจำอยู่ที่เมืองหนองคาย ซึ่งมีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการ จึงต้องเคลื่อนย้ายถอยร่นมาจนถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง แล้วกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมก็ตั้งศูนย์มณฑลลาวพวนและกองทหารขึ้นใหม่ ณ หมู่บ้านแห่งนี้

udon 02

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "มณฑลอุดร" ขึ้นที่บ้านหมากแข้ง จนกระทั่ง ได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกการปกครองในระบบมณฑลเทศาภิบาล มณฑลอุดรจึงถูกยุบเลิกไป และเปลี่ยนเป็น "จังหวัดอุดรธานี" นับแต่นั้นมา

udon flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดอุดรธานี คือ ดอกจานเหลือง หรือ ดอกทองกวาว  ชื่อสามัญ Bastard teak, Bengal kino, Kino tree, Flame of the forest ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea monosperma (Lam.) Taub. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ถั่ว มีความสูงประมาณ 12-18 เมตร กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา ลักษณะของการแตกกิ่งก้านจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นระเบียบ ส่วนเปลือกต้นจะเป็นปุ่มปม ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการใช้กิ่งปักชำ

มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ จากประเทศปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และทางตะวันตกของอินโดนีเซีย ทองกวาวมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกคือ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (สุรินทร์, เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อีสาน)

ปัจจุบัน จังหวัดอุดรธานี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ (2564) ได้แก่

 อำเภอเมืองอุดรธานี  อำเภอหนองวัวซอ  อำเภอหนองหาน  อำเภอบ้านผือ
 อำเภอบ้านดุง  อำเภอกุมภวาปี  อำเภอโนนสะอาด  อำเภอเพ็ญ
 อำเภอน้ำโสม  อำเภอกุดจับ  อำเภอศรีธาตุ   อำเภอวังสามหมอ
 อำเภอทุ่งฝน  อำเภอสร้างคอม  อำเภอไชยวาน  อำเภอหนองแสง
 อำเภอนายูง  อำเภอพิบูลย์รักษ์  อำเภอกู่แก้ว  อำเภอประจักษ์ศิลปาคม

วิสัยทัศน์แนะนำจังหวัดอุดรธานี

การเดินทางสู่อุดรธานี

อุดรธานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 564 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดอุดรธานีได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน

  • โดยรถไฟ:
    การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดอุดรธานีทุกวัน ทั้งรถเร็วและรถด่วน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10-12 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th
  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แล้วแยกขวาเข้าใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมาจังหวัดขอนแก่น ไปจนถึงจังหวัดอุดรธานี
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-อุดรธานี ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th
  • โดยเครื่องบิน:
    บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (www.thaiairways.com) ไทยแอร์เอเชีย (www.airasia.com) และนกแอร์ (www.nokair.co.th) มีเที่ยวบินระหว่าง กรุงเทพฯ-อุดรธานีทุกวัน

อุดรธานี : นิยามเมืองใหม่ ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่

การเดินทางภายในอุดรธานี

ในตัวจังหวัดอุดรธานีมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

  • รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง
  • รถสามล้อ เครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี

กิจกรรมการท่องเที่ยว

จังหวัดอุดรธานี มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวมากมายและหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต โดยมีกิจกรรมที่โดดเด่น คือ เที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ชมการปั้นหม้อ ชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เที่ยวชมและสักการะ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ศาลเจ้าปู่-ย่า หลวงพ่อนาค วัดมัชฌิมาวาส พระพุทธโพธิ์ทอง ท้าวเวสสุวัณ (ท้าวกุเวร) ศาลหลักเมือง และศาลเทพารักษ์ และใส่บาตรเช้าที่วัดป่าบ้านตาด หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

udon 03

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ชมสวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์และสาวน้อยอุดรเริงระบำ ขี่จักรยานท่องเที่ยว เที่ยวถ้ำ เที่ยวน้ำตก พายเรือ ล่องแก่ง ดูนก เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมพรรณไม้ พักผ่อนหย่อนใจ และตั้งแคมป์พักแรมที่วนอุทยานแห่งต่างๆ นอก จากนี้ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวแบบผ่อนคลายอื่นๆ เช่น ลงเล่นน้ำ ตกปลา นั่งเรือและล่องแพที่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง พักโฮมสเตย์ ชมทะเลหมอก เที่ยวสวนผลไม้และแปลงเกษตร เรียนรู้การทำการเกษตร ชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยพวน ขี่จักรยานชมหมู่บ้านและโบราณสถานต่างๆ ลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน ชมการแสดงโปงลางและประเพณีพื้นบ้าน เดินชมตลาดและเลือกซื้อสินค้านานาชนิด หรือพักในรีสอร์ตสวย นวดแผนโบราณ และทำสปา เป็นต้น

udon 04

อุดรธานีเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งธรรมชาติ อีกทั้งผู้คนในท้องถิ่นยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณีดั้งเดิมอันงดงามไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปีจึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองและงานประเพณีที่สำคัญ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานนมัสการพระพุทธบาทบัวบก งานฉลองอารยธรรมบ้านเชียง งานทุ่งศรีเมืองอุดรธานี เป็นต้น

[ เรื่องที่เกี่ยข้อง เว็บไซต์จังหวัดอุดรธานี | แผนที่จังหวัดอุดรธานี | เอกสารการท่องเที่ยว | บ้านเชียง ]

udon 06

 แนะนำให้ท่านชม : าพเก่าเล่าเรื่อง "เมืองอุดรธานีในอดีต" new1234

redline

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดหนองบัวลำภู

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำ
แผ่นดินธรรมหลวงปู่ขาว เด่นสกาวถ้ำเอราวัณ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน"

nongbua lamphu logoจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงระหว่างหุบเขา โอบล้อมด้วยเทือกเขาภูพาน จากเหนือจดใต้ และภูเก้าในทางทิศใต้ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน มากมายด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ หนองบัวลำภูมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านธรรมชาติอันสวยงาม โบราณสถาน หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี และวัดวาอาราม

จังหวัดหนองบัวลำภู มีเนื้อที่ประมาณ 3,859.062 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 2,411,928.74 ไร่ ขนาดพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 2.27 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หนองบัวลำภู หรือในอดีตเรียกว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ตามตำนานพระวอ-พระตา ผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภูเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2302 โดยได้สร้างกำแพงเมือง มีค่ายคูประตูหอรบครบครันเพื่อป้องกันข้าศึก โดยเฉพาะข้าศึกจากทางเวียงจันทน์ คือ ได้สร้างกำแพงหิน หอรบขึ้นที่เชิงเขาบนภูพานคำ ซึ่งเป็นเส้นทางหน้าด่านใกล้กับบริเวณน้ำตกเฒ่าโต้ ห่างจากกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าสิริบุญสาร แห่งเมืองเวียงจันทน์ได้ส่งกองทัพมาปราบปราม เกิดการต่อสู้กันที่ช่องน้ำจั่น (น้ำตกเฒ่าโต้) บนภูพานคำ สู้รบกันอยู่ 3 ปียังไม่แพ้ชนะกัน ทางฝ่ายเมืองเวียงจันทน์จึงขอกองทัพพม่ามาช่วยเหลือ จนสามารถตีเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ได้ พระวอ-พระตา จึงอพยพผู้คนหนีไปพึ่ง พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งอาณาจักรล้าน ช้างจำปาสัก ในปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพมาช่วยพระวอ-พระตา ขับไล่กองทัพของพระเจ้าสิริบุญสารออกไป แล้วยกกองทัพติดตามเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ได้

ครั้งนั้นได้ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนำไปจากเมืองเชียงใหม่ เมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ก็ได้มาขึ้นอยู่กับไทย ในปี พ.ศ. 2433 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง ให้ข้าหลวงเมืองหนองคายบังคับบัญชาเมืองใหญ่ 16 เมือง เมืองขึ้น 36 เมือง เรียกว่าเมืองลาวฝ่ายเหนือ และ เมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ก็ได้ขึ้นอยู่กับเมืองหนองคายนั้น เจ้าเมืองหนองคายได้แต่งตั้งให้พระวิชโยคมกมุทเขต มาครองเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเอก และ เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองกมุทธาสัย

nongbua lampoo 02

จน ในปี พ.ศ. 2443 ได้มีการเปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร และให้รวมเมืองต่างๆ ในมณฑลอุดรเป็น 5 บริเวณ เมืองกมุทธาสัย ถูกรวมอยู่ในบริเวณบ้านหมากแข้ง และในปี พ.ศ. 2449 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ เมืองกมุทธาสัย เป็น เมืองหนองบัวลำภู

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2450 ได้ถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอหนองบัวลำภู ขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี โดยมีพระวิจารณ์กมุธกิจเป็นนายอำเภอคนแรก อำเภอหนองบัวลำภู มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งยกระดับเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536

จังหวัดหนองบัวลำภู แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ (2564) ได้แก่ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู อำเภอโนนสัง อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอนากลาง อำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอนาวัง

nongbua lampoo flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู คือ ดอกบัวหลวง หรือ บัวหลวงอินเดีย (อังกฤษ: Indian Lotus, Sacred Lotus, Bean of India) เป็นพืชน้ำในสกุลบัวหลวง (Nelumbo) วงศ์บัว (NELUMBONACEAE) มีชื่ออื่นๆ เช่น บุณฑริก, สัตตบงกช เป็นพรรณไม้น้ำประเภทพืชล้มลุก มีลำต้นและหัวอยู่ในดินใต้น้ำ การเจริญชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ใบมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบ สีเขียวขอบน้ำตาล ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายชั้น มีสีขาว ชมพู เหลือง ลักษณะสีสันขนาดของใบและดอกขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ขายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือแยกกอจากหัวหรือเหง้า

ประชากร

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภูมีชาติพันธุ์ต่างๆ มีดังนี้

  • กลุ่มไท - ลาว อพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยมีกลุ่มพระวอ - พระตาเป็นเชื้อสายลาวเวียงจันทน์
  • กลุ่มไท - เขมร อพยพมาจาก บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ
  • กลุ่มไท - สยาม อพยพมาจากภาคกลางของประเทศไทย
  • กลุ่มคนจีนและคนญวน อพยพมาเพื่อประกอบอาชีพค้าขาย และได้มีการแต่งงานกับคนในท้องถิ่น เกิดเป็นเชื้อสายจีนและเชื้อสายญวน แต่ยังมีจำนวนน้อย

ประชากรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภูสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. กลุ่มลาวพุงขาว (ล้านช้างเวียงจันทน์) กลุ่มชนนี้เป็นชนพื้นเมืองเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณรอบนอกเมือง และเป็นกลุ่มใหญ่ของจังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีสัญลักษณ์การสักลายดำใต้สะเอวลงมาและมีกินหมาก ปัจจุบันกลุ่มชนพื้นเมืองดังกล่าวเป็นคนฟันขาว เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ห้ามประชาชนทั่วไปกินหมากและสักลายดำ
  2. กลุ่มคนจีน-ญวน ลักษณะเป็นคนผิวขาวเหลือง อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง ยูนหนาน ในสมัยรัชการที่ 4 ที่มีพระราชดำริให้คนจีนกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน และภายหลังได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภู
  3. กลุ่มคนไต กลุ่มชนนี้เป็นเผ่าไตหรือไท ซึ่งอพยพเข้ามาในเขตจังหวัดหนองบัวลำภูช่วงสงครามเดียนเบียนฟู (สงครามเวียดนาม - ฝรั่งเศส) ภายหลังสงครามสงบลงกลุ่มคนไตบางส่วนได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมและบางส่วนตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู

การเดินทางไปหนองบัวลำภู

หนองบัวลำภูอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 559 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดหนองบัวลำภูได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน (ปลายทางที่สนามบินอุดรธานี แล้วเดินทางต่อด้วยรถยนตร์)

  • โดยรถไฟ:
    การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขบวนรถด่วนและรถเร็ว ออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทุกวัน เป็นรถไฟที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรธานี จากนั้นใช้รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างอุดรธานี-หนองบัวลำภู สอบถาม รายละเอียดเกี่ยวกับตารางรถไฟได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690 หรือ www.railway.co.th
  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 210 ผ่านอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ถึงจังหวัดหนองบัวลำภู รวมระยะทาง 608 กิโลเมตร หรือเมื่อถึงจังหวัดขอนแก่นแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2109 (น้ำพอง-เขื่อนอุบลรัตน์) เข้าอำเภอโนนสัง ถึงจังหวัดหนองบัวลำภู รวมระยะทางประมาณ 559 กิโลเมตร
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-หนองบัวลำภู ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

nongbua lampoo 03

การเดินทางภายใน หนองบัวลำภู

ในตัวเมืองหนองบัวลำภูมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งหนองบัวลำภู นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไป ยังแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง

กิจกรรมการท่องเที่ยว

จังหวัดหนองบัวลำภู มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวมากมายและหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม โดยกิจกรรมที่โดดเด่น คือ การชมแหล่งโบราณคดี นมัสการพระเกจิดัง เที่ยวชมวัดวาอาราม รอยพระพุทธบาท หรือเที่ยวชมหมู่บ้านหัตถกรรมต่างๆ เครื่องปั้นดินเผา พิพิธภัณฑ์ และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ขี่จักรยานท่องเที่ยว เที่ยวน้ำตก ดูนก เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ตั้งแคมป์พักแรม บริเวณอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

nongbua lampoo 04

ไปชมหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาบ้านผาโค้ง วัดถ้ำกลองเพล กราบหลวงปู่ขาวอนาลโย ภูหินลาดช่อฟ้า พิพิธภัณฑ์หอยหิน 150 ล้านปี วนอุทยานน้ำตกเฒ่าโต้ ศาลเจ้าปู่หลุบ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลอด ปโมทิตะเจดีย์ แหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อย-กุดคอเมย วัดพระพุทธบาทภูเก้า สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม เป็นโบถส์ไม้แห่งเดียวในภาคอีสาน หมู่บ้านหัตถกรรมจักรสานกระติ๊บข้าวต้นคล้า อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ กลุ่มทอผ้าไหมบ้านกุดแห่ ถ้ำผาเจาะ แหล่งโบราณคดีภูผายา อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เป็นต้น

nongbua lampoo 05

หนองบัวลำภูมีงานเทศกาลและประเพณีที่น่าสนใจหลายอย่าง มีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานประเพณีสงกรานต์หาดโนนยาว งานประเพณีขึ้นเขาไหว้พระถ้ำเอราวัณ งานประเพณีบุญบั้งไฟล้าน ที่โนนสูงเปลือย งานประเพณีบุญข้าวจี่ยักษ์ ของอำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น

[ ข้อมูลเพิ่มเติม เว็บไซต์จังหวัดหนองบัวลำภู | แผนที่จังหวัดหนองบัวลำภู | เอกสารการท่องเที่ยว ]

new1234ชมภาพเก่าเล่าเรื่องอดีต "เมืองหนองบัวลำภู"new1234

 

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

Subcategories

ภาพเก่าเล่าเรื่องอีสานบ้านเฮา

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)