คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ในบรรดา "ศิลปะพื้นบ้านอีสาน" ที่ว่าด้วยความบันเทิง "หมอลำ" เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าคือ "อัตลักษณ์หนึ่งของอีสาน" หมอลำก็มีหลายแขนง เช่น ลำกลอน ลำเพลิน ลำเรื่องต่อกลอน ลำซิ่ง ฯลฯ บรรดาหมอลำที่เลื่องชื่อจนเป็นระดับตำนานในแต่ละแขนงนั้นมีอยู่ไม่กี่คน หากพูดถึงลำกลอนก็ต้องยกให้ หมอลำเคน ดาเหลา หรือหมอลำถูทา ทองมาก จันทะลือ ที่ต่างก็เป็นศิลปินแห่งชาติ ถ้าประเภทลำเรื่องต่อกลอนก็ต้องยกให้คู่นี้ หมอลำทองคำ เพ็งดี กับ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ซึ่งเป็นคู่พระคู่นางแห่งคณะหมอลำรังสิมันต์
แต่ถ้าเป็น ลำเพลิน ถ้าถามแฟนๆ ชาวอีสานก็ต้องยกให้ ทองมี มาลัย หมอลำเพลินผู้ยิ่งใหญ่แห่งบ้านหนองเลิง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ผู้ทำให้ตู้เพลงในร้านอาหาร และปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส ส่งเสียงลำเพลินชุดบักสองซาว และชมรมแท็กซี่ กระหึ่มเมือง ในยุคใกล้เคียงกันก็มีหมอลำที่โด่งดังอีกผู้หนึ่งที่โด่งดังด้วยสไตล์ลำที่ออกแนวโจ๊ะๆ ติดหู ในชุด "เจ้าพ่อ 4 ไห" แถมยังมีชื่อคล้องจอง หรือจะบอกว่าสลับกันเลยก็ว่าได้ เขาผู้นั้นคือ
ทองมัย มาลี มีชื่อจริง นายวีรยุทธ จันทสิทธิ์ บ้านเกิดอยู่ที่บ้านปลาขาว ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ จบการศึกษาภาคบังคับ อายุสิบกว่าปีเข้ากรุงเทพฯ ไปหางานทำตามวิถีคนอีสาน ได้ทำงานติดกระดุมกระเป๋า อยู่ที่ย่านหัวลำโพง (เงินเดือนแรกในชีวิตสมัยนั้นคือ 30 บาท) แล้วย้ายไปทำงานโรงงานฟอกหนัง ในจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นก็ออกมาทำงานแถวสะพานควาย ทำหน้าที่ แผนกซักรีด ให้กับบริษัทสายการบินแห่งหนึ่ง ช่วงนั้นเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว
ทำงานที่ กรุงเทพมหานคร มีเวลาช่วงหยุดพักร้อนก็ได้กลับมาบ้านเกิดที่ศรีสะเกษ ในหมู่บ้านปลาขาว ก็ได้เห็นเขาตั้งคณะหมอลำหมู่อยู่ 2 คณะมีการซักซ้อมลำกันอย่างสนุกสนานแต่อยู่กันคนละคุ้มบ้าน มีคณะ ส. แสงทอง กับคณะ แก้วหน้าม้า ด้วยความที่เขาอยู่ในวัยหนุ่มคึกคะนอง เป็นคนชอบสนุก เวลาหมอลำคณะ ส. แสงทองอัมรินทร์ ไปลำงานตามหมู่บ้านต่างๆ ก็เลยติดรถขอเป็นส่วนเกินติดตามไปกับเขา ไปบ่อยมากจนจำได้หมดว่า เขาร้อง เขาลำ กันยังไง ด้วยความอยากทดลองร้องลำดู ก็เลยขอหัวหน้าวงขึ้นเวทีลำโชว์บ้าง แรกๆ หัวหน้าก็ไม่ยอม (ก็ไม่ได้สังกัดในคณะ แค่ติดสอยห้อยตาม กลัวว่าต้องจ่ายค่าตัวล่ะมั๊ง) พอวันต่อมาก็ขออีก คงจะด้วยความรำคาญว่าไอ้หมอนี่มันตื้อมาก เขาเลยให้ขึ้นร้องลำ ปรากฏว่า หัวหน้าชอบ และชวนมาอยู่วงด้วยกันเสียเลย มีหรือจะพลาด จนต้องรีบกลับไปลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ
จากนั้นก็กลายมาเป็น "พระเอก" แสดงหมอลำอยู่ที่บ้านเกิด ด้วยใจรักจริงอยากมีชื่อเสียง จึงได้ไปฝึกเรียนการลำเพลินเพิ่มเติมจาก "อาจารย์อุไรวรรณ เสียงเสน่ห์" ที่บ้านหนองมะลา อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร คณะลำเพลินของเขาเคยไปประกวดได้รางวัลชนะเลิศ มาหลายครั้ง หลายเวทีประกวด เมื่ออายุ 21 ปี ต้องไปคัดเลือกทหารดันจับใบแดงได้ไปเป็นทหารเกณฑ์ ทำให้ได้ทิ้งวงหมอลำไป
ต่อมาวันหนึ่งหลังจากพ้นเกณฑ์ทหาร เขาได้ไปเที่ยวที่สวนอาหาร "สวรรค์อีสาน" ในกรุงเทพฯ ได้นั่งฟังนักร้องหมอลำชื่อดังกำลังโชว์อยู่คือ "ดอกฟ้า ภูไท" เขาเลยขอขึ้นแจมร้องหมอลำด้วย บังเอิญว่า วันนั้นมีนักแต่งเพลงและเป็นแมวมองนั่งฟัง นั่งชมอยู่ด้วย นั่นคือ "อาจารย์ดอย อินทนนท์" เกิดความสนใจ จึงทาบทามให้เขามาเป็นนักร้องบันทึกแผ่นเสียง
หลังจากนั้นอาทิตย์ต่อมา อาจารย์ดอย อินทนนท์ ก็ได้นำเนื้อร้องกลอนลำชุด "เจ้าพ่อ 4 ไห" มีทั้งหมดสิบกว่ากลอนให้ไปท่อง ไปฝึก และได้จองห้องอัดไว้ให้แล้วด้วย แต่เขาไม่คิดว่าจะเป็นนักร้องจริงจังอะไรหรอก เพราะช่วงนั้นเขามีเป้าหมายหลักจะเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียกับพี่ชาย ซึ่งไปทำงานก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว และเขาได้เดินเรื่องการไปทำงานไว้แล้ว เลยไม่ค่อยได้สนใจท่องกลอนลำที่ได้มา
พอถึงวันบันทึกเสียงอาจารย์ดอยมาตามตัว ก็ต้องเลยตามเลยไปห้องอัดเสียง "โรต้า" ไปถึงหน้างาน เนื้อกลอนลำก็ไปแก้ไขเฉพาะหน้าเวลาใส่เสียงเลย เพราะไม่ได้ท่องมา เรื่องตลกที่ใครๆ ไม่ค่อยจะรู้คือ อาจารย์ดอย อินทนนท์ คนที่แต่งกลอนลำมาให้ ลำไม่เป็นเลย (สไตล์ของแกคือ เขียนเพลง หรือกลอนลำจะว่า เป็นไกด์ไม่เป็นทำนองชัดๆ อะไรมาก) ทำให้เขา ต้องลำใส่เสียงด้วยประสบการณ์ของตัวเอง ที่สำคัญใส่เสียงยุคนั้นดนตรีก็เล่นสดใส่พร้อมกันไปเลย มีใครผิดก็เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ใช้เวลาใส่เสียง 2 วันจึงแล้วเสร็จ
เจ้าพ่อ 4 ไห โดย ทองมัย มาลี
อาจารย์ดอย อินทนนท์ นำเอาอัลบั้มกลอนลำที่อัดเสียงเสร็จ "เจ้าพ่อ 4 ไห" ร้องโดยนักร้องหน้าใหม่ ไปนำเสนอห้างแผ่นเสียง "เลปโส้" ของ นายห้างวิศาล เลาแก้วหนู ตอนนั้นก็เลยคิดชื่อนักร้องกัน ว่าจะตั้งชื่ออะไรดี ทางห้างเลปโส้ตอนนั้นมีนักร้องหมอลำชื่อ "ทองมี มาลัย" ที่กำลังดัง "ลำเพลินชมรมแท็กซี่" อยู่ในสังกัดอยู่แล้ว อาจารย์ดอย อินทนนท์ ก็เลยจงใจตั้งชื่อนักร้องหมอลำคนใหม่ของตนเองว่า.. "ทองมัย มาลี" โดยใช้คำกลับกันจากชื่อ ทองมี มาลัย โดยอาจารย์ดอยมีความคิดว่า.. "ถ้า ทองมี มาลัย เขาดัง ทองมัย มาลี มันก็จะดังไปพร้อมกัน" ส่วนแนวการลำ ทองมี มาลัย ลำทำนองลำเพลิน ทองมัย มาลี ก็ต้องลำทำนองลำแพน เพื่อให้สอดคล้องกันเหมือนชื่อ ทองมี มาลัย : ทองมัย มาลี มีลำเพลิน ต้องมีลำแพน อาจารย์ดอยเป็นคนบัญญัติคำว่า "ลำแพน" ขึ้นมา
ทองมัย มาลี กลายเป็นนักร้องหมอลำชื่อดังขึ้นมา จากผลงานอัลบั้มชุดแรก "ลำแพนเจ้าพ่อ 4 ไห" ออกจำหน่ายในรูปแบบเทปคาสเซ็ท ในสังกัดค่ายเพลง "เลปโส้" ขายดีจน ทองมัย มาลี เขาไปที่ไหนก็ได้ยินเสียงของเขา ไม่ว่าจะในตู้เพลง ในรถทัวร์ ปั้มน้ำมัน ดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่ว ทำให้มีนายทุนชื่อว่า แปซิฟิกโปรโมชั่น ลงทุนตั้งวงดนตรีหมอลำ "ทองมัย มาลี" ให้ ทำให้แผนที่เขาจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียกับพี่ชายได้หยุดลง ทั้งที่มีกำหนดวันบินเดินทางแล้ว ต้องมาเป็นหัวหน้าวงดนตรีออกรับงานเดินสายรับใช้แฟนเพลง
ทองมัย มาลี มีผลงานอัลบั้มหมอลำออกมาอย่างต่อเนื่องหลายอัลบั้ม โดยเฉพาะ เจ้าพ่อ 4 ไห มีหลายภาคด้วยกัน มีกลอนลำเด่นๆ อีกมากมาย อาทิเช่น หัวอกลูกกำพร้า, โกยคำ 4 ไห, คำฝากจากซาอุ, บักหงส์ทองพาเหวิ่น, เสียงแคนแอ่วสาว ฯลฯ ทองมัย มาลี นอกจากที่เป็นนักร้องหมอลำที่มีทักษะการลำ มีเสียงเป็นเอกลักษณ์แล้ว อีกความสามารถหนึ่งคือเป็น นักแต่งกลอนลำ เคยถูกเชิญไปทำงานเขียนเพลงเขียนกลอนลำ ออกทาง 64 ประเทศ สปป.ลาว เพราะลูกสาวเขามีครอบครัวอยู่ฝั่งโน้น
ทองมัย มาลี สัมภาษณ์โดย Sisaket Channel
ปัจจุบัน ทองมัย มาลี ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บ้านเกิด อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ยังคงรับงานแสดง มีวงหมอลำรองรับเจ้าภาพอยู่หลายขนาด
ทองมัย มาลี : ไมค์ทองคำหมอลำฝังเพชร
Credit : Facebook โจ้ จังโก้
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)