คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พิณพื้นเมือง ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปเช่น ทางจังหวัดอุบลราชธานี เรียกพิณว่า "ซุง" น่าจะเรียกมาจากท่อนไม้ที่นำมาทำ ทางจังหวัดชัยภูมิเรียกว่า "เต่ง" หรือ "อีเต่ง" หนองคายเรียกว่า "ขยับปี่" นอกจากนั้นยังมีเรียกแตกต่างออกไปอีก เช่น ซึง หมากจับปี่ หมากตดโต่ง หมากตับเต่ง เป็นต้น พิณทำด้วยไม้ เช่น ไม้ขนุน (ไม้บักมี่) เพราะมีน้ำหนักเบาและให้เสียงทุ้มกังวานไพเราะกว่าไม้ชนิดอื่น มีรูปร่างคล้ายกีตาร์แต่ฝีมือหยาบกว่า พิณอาจจะมี 2 สาย 3 สาย หรือ 4 สายก็ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 คู่ เป็นสายเอก 2 สาย และสายทุ้ม 2 สาย ดั้งเดิมใช้สายลวดเบรครถจักรยานเพราะคงทนและให้เสียงดังกว่าสายชนิดอื่น แต่ในปัจจุบันนิยมใช้สายกีตาร์แทน การขึ้นสายไม่มีระบบแน่นอน นมหรือขั้น (Fret) ที่ใช้นิ้วกดบังคับระดับเสียงจะไม่ฝังตายตัวเหมือนกีตาร์หรือแมนโดลิน การเล่นก็เล่นเป็นเพลงเรียกว่า ลาย โดยมากพิณจะเล่นคู่กันกับแคน
พิณอีสาน มีส่วนประกอบหลักๆ 7 ส่วนดังนี้
พิณอีสานนั้นมีทั้งแบบพิณ 2 สาย 3 สาย และ 4 สาย
การติดขั้นแบ่งเสียงลงบนคอพิณ ทำได้หลายสเกล (Scale หมายถึง ขั้นของเสียง) ตามแต่ชนิดของเพลงที่จะใช้พิณบรรเลง เพราะขั้นของพิณนั้นสามารถเคลื่อนที่ได้ เนื่องจากการใช้ขี้สูดติด ขั้นแบ่งเสียงเข้ากับคอพิณ แต่ส่วนใหญ่นักดนตรีอีสาน จะแบ่งสเกลเสียง โด เร มี ซอล ลา เป็นพื้นฐาน เพราะเพลงที่เล่นมักจะเป็นเพลงที่มาจากลายแคนเป็นส่วนใหญ่ มีช่างทำพิณหลายคนแบ่งสเกลเสียงตามแบบไมเนอร์อยู่บ้าง คือ ในชั้นเสียงที่ 3 และ 6 เป็นครึ่งเสียง นอกนั้นเต็มเสียง และเนื่องจากเครื่องดนตรีตะวันตกจำพวก 'กีตาร์' เข้ามาได้รับความนิยมในหมู่นักดนตรีรุ่นใหม่ นักดนตรีเหล่านั้นปรับปรุงการแบ่งสเกลเสียงของพิณให้เหมือนสเกลของกีตาร์ไปเลย ก็ย่อมได้เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เหมาะกับการเล่นร่วมกับเพลงสากล
พิณอีสานหลังจากผ่านระยะเวลามาเนิ่นนานรูปแบบก็พัฒนาไปจากเดิมอย่างนี้
พิณทั้งหมดนี้เป็นผลงานของศิลปินพื้นบ้าน : นายสงวน ทรัพย์เตี้ย
95 หมู่ 2 บ้านอำนาจ ตำบลอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ
คำว่า ลาย หมายถึง ท่วงทำนองเพลงที่ใช้เป่า หรือบรรเลง ด้วยเครื่องดนตรีอีสาน ซึ่ง ลาย ก็คือ เพลง นั่นเอง เพลงที่ใช้กับ พิณ เป็นเพลงที่มาจากลายแคน มีหลายลาย เช่น ลายใหญ่ ลายน้อย ลายลำเพลิน ลายนกไทรบินข้ามทุ่ง ลายแมลงภู่ตอมดอก ลายลมพัดไผ่ ลายกาเต้นก้อน ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายไล่งัวขึ้นภู ลายโป้ซ้าย ภูไทเลาะตูบ เต้ยหัวดอนตาล ลายสร้อยสีกซิ่น เซิ้งขิก มโนราห์ ศรีโคตบูรณ์ สังข์ศิลป์ชัย ลมพัดพร้าว เซิ้งกลองยาว ทองสร้อย เป็นต้น
เพื่อให้ท่านได้รับฟังความงาม ของลายพิณอีสาน จึงได้นำเอาตัวอย่างของลายพิณที่ดีดโดยศิลปินพื้นบ้าน มาทำเป็นไฟล์ MP3 ให้ท่านดาวน์โหลดไปฟัง ต้องขออภัยในคุณภาพเสียงครับ เพราะเป็นแค่ระบบโมโนเท่านั้น แต่ก็ชัดเจนพอควรครับ บันทึกจากคาสเซ็ทธรรมดา ณ ลานบ้าน (ไม่มีห้องอัดครับ) เลือกเอาที่โหลดได้นะครับ
พิณใช้เล่นกับวงซอ โปงลาง แคน หมอลำ กลองยาว และจะมีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เช่น กลอง กรับ ฉิ่ง ฉาบและไหซอง เป็นต้น
รายการ แทนคุณแผ่นดิน ตอน มือพิณถิ่นอีสาน #1
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2546 ที่ผ่านมาได้ไปร่วมชม การประกวดหมอลำซิ่งท่องเที่ยวทั่วอีสาน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชบุรี ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ครึกครื้นมากทีเดียวครับ มีคณะหมอลำตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ จำนวน 6 คณะ คือ อำนาจเจริญ นครราชสีมา อุดรธานี มหาสารคาม สกลนคร และกาฬสินธุ์ เข้าร่วมชิงชัยหาตัวแทนภาคอีสาน 10 คณะไปชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ (ยังมีรอบก่อนรองชนะเลิศอีก 2 แห่ง ที่จังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น สำหรับตัวแทนใน 13 จังหวัดที่เหลือ)
การแข่งขันในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกระดับวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะหมอลำซิ่งให้มีพัฒนาการในทางร่วมสมัย รับใช้สังคมและท้องถิ่น โดยใช้สื่อกลอนลำที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคอีสาน แหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญ และส่งเสริมการผลิตและซื้อขายหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล จึงได้เห็นเครื่องแต่งกายของคณะหมอลำซิ่งที่ใช้ผ้าพื้นเมือง และสิ่งประดับอื่นๆ ในท้องถิ่น
การประกวดแข่งขันครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยจัดแข่งขันในระดับจังหวัดมีคณะหมอลำซิ่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 95 คณะ เพื่อหาตัวแทนแต่ละจังหวัดรวม 19 คณะเข้าแข่งขันในรอบรองชนะเลิศ 3 สนามคือที่ อุบลราชธานี นครราชสีมาและขอนแก่น เพื่อหาตัวแทน 10 คณะจาก 3 สนามแข่งขันไปชิงชัยที่กรุงเทพมหานคร ด้วยเงินรางวัลสูงสุดถึง 1 ล้านบาท รองชนะเลิศห้าแสนบาท รองอันดับสามสามแสนบาท และรางวัลชมเชย 2 รางวัลๆ ละหนึ่งแสนบาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษอีกหลายรางวัล ข่าวความคืบหน้าจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไปครับ
หมอลำกลอนซิ่ง ชุด เอวค้าง โดย สมาน หงษา และ อุไร ปุยวงศ์
ศิลปินรับเชิญ หมอลำทองมาก จันทะลือ (หมอลำถูทา ศิลปินแห่งชาติ)
รวมกลอนลำ ของ สมาน หงษา
หนังประโมทัยอีสาน คือ หนังตะลุงของคนภาคอีสาน มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปหลายชื่อ เช่น หนังปราโมทัย หนังประโมทัย หนังบักตื้อ หรือ หนังบักป่องบักแก้ว ซึ่งสองชื่อหลังนี้มาจากชื่อของรูปตัวตลกเอกของเรื่อง การแสดงหนังประโมทัยเกิดขึ้นจาก การแผ่ขยายวัฒนธรรมหนังตะลุงของภาคใต้ มายังยังภาคอีสาน จากการที่คนอีสานเดินทางไปทำงานต่างถิ่น หรือค้าขายยังต่างถิ่น เช่น นายฮ้อยที่นำคณะต้อนวัวควายไปขายยังภาคกลาง และนำแรงงานอีสานไปรับจ้างทั่วไป ได้พบเห็นหนังตะลุงชอบจึงคิดนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสิ่งที่ตนชอบคือ "หมอลำ" โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงจนเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ นั่นคือ การนำหมอลำกับหนังตะลุงมารวมกัน
องค์ประกอบของการแสดงหนังประโมทัยที่สำคัญคือ ผู้เชิดตัวหนัง โรงและจอหนัง บทพากย์บทเจรจา ดนตรีประกอบ ตลอดจนแสงเสียงที่ใช้ในการแสดง นิยมแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ แต่ต่อมาได้มีการนำวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานมาแสดงด้วย เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น ท้าวก่ำกาดำ ขูลูนางอั้ว การแสดงหนังประโมทัยเรื่องวรรณคดีอีสานนั้น จะแสดงเหมือนหมอลำผสมหนังตะลุง คือ ตัวพระ แม้จะพากย์และเจรจาเป็นภาษาไทยกลาง แต่ก็สามารถร้องหมอลำได้ด้วย ตัวนาง เล่นแบบหมอลำ เจรจาด้วยภาษาอีสาน การเล่นลักษณะนี้พบได้ทางจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ตัวหนังสำหรับเชิดวาดด้วยความอิสระ ตัวละครสำคัญมีความประณีตตามลักษณะหนังตะลุง และหนังใหญ่ แต่สัดส่วนไม่ผอมเพรียว ส่วนตัวตลกไม่วิจิตรบรรจงมากนัก สร้างความรู้สึกตลกสนุกสนานและมีชีวิตชีวา ตัวหนังลงสีแดง สีดำ และสีเขียว การแสดงเน้นความสนุกสนาน ตลกโปกฮา มีลักษณะผสมระหว่างหนังตะลุงและหมอลำ
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ผสมผสานการแสดงแบบภาคใต้ให้เข้ากับความเป็นพื้นบ้านอีสานได้อย่างลงตัว เรื่องที่นำมาเล่นช่วยสืบทอดวรรณกรรมพื้นบ้านและการแสดงหลายๆ ด้าน
หนังปราโมทัย หรือ หนังตะลุงอีสาน นั้น มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น หนังปะโมทัย หนังประโมทัย หนังปราโมทัย หนังบักตื้อ และหนังบักป่องบักแก้ว คำว่า หนังปราโมทัย น่าจะมาจากคำว่า ปราโมทย์ ซึ่งหมายถึง ความบันเทิงใจ ความปลื้มใจ ส่วนคำว่า ประโมทัย และ ปะโมทัย สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นชื่อของคณะหนังตะลุง หรือเป็นการออกเสียงของคนอีสานที่มักจะไม่มีการออกเสียงควบกล้ำ "ปร" กลายเป็น "ป" ก็ได้ ส่วนหนังบักตื้อ และหนังบักป่อง บักแก้ว มาจากชื่อของตัวตลก (ตัวหนัง)
หนังปราโมทัย ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวบ้าน เป็นการละเล่นซึ่งผสมผสานกัน ระหว่างหนังตะลุงกับหมอลำ โดยตัวที่เป็นตัวเอก ตัวพระ ตัวนาง หรือ เป็นตัวเจ้า จะพูดจาภาษากลาง ตัวตลก เหล่าเสนาอำมาตย์ จะพูดเจรจาเป็นภาษาอีสาน เรื่องที่นำมาแสดงก็จะเอาวรรณกรรมพื้นบ้านมาแสดง เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น การะเกษ ผาแดงนางไอ่ ท้าวก่ำกาดำ รวมทั้งวรรณคดีเอกอย่าง รามเกียรติ์
หนังปะโมทัยอีสานนั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางแห่งแรก คณะหนังปะโมทัยคณะเก่าแก่ที่สุดคือ คณะฟ้าบ้านทุ่ง ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 ซึ่งหนังตะลุงอีสานคณะอื่นๆ ต่างก็ล้วนสืบทอดมาจากคณะนี้ทั้งนั้น (อ้างถึง : วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุบลราชธานี. 2542 : 178) คณะหนังปราโมทัยที่เก่าแก่รองลงมาได้แก่ คณะบุญมี ซึ่งมาจากจังหวัดอุบลราชธานี แต่มาตั้งคณะขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. 2476 คณะประกาศสามัคคี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490 นอกจากนี้ยังมีคณะ ช. ถนอมศิลป์ บ้านโคกไพลี ตำบลโพธิ์ทอง กิ่งอำเภอศรีสมเด็จ คณะ ป. บันเทิงศิลป์ บ้านสีแก้ว ตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด คณะหนังปะโมทัยของผู้ใหญ่ถัง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
จากการสำรวจวิจัยพบว่า ยังมีคณะหนังประโมทัยอยู่ใน 13 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุดรธานี มุกดาหาร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร บุรีรัมย์ และนครราชสีมา (สำรวจปี พ.ศ. 2553) โดย จังหวัดร้อยเอ็ดมีมากที่สุด 13 คณะ ยโสธรมี 7 คณะ ขอนแก่นมี 6 คณะ อุบลราชธานีมี 5 คณะ อุดรธานีและมหาสารคามมีจังหวัดละ 3 คณะ
ตัวหนังจะมีขนาดสูงประมาณ 1-2 ฟุต ทำด้วยหนังวัวหรือหนังควาย (ปัจจุบัน ผู้เขียนพบว่า ใช้แผ่นพลาสติกหนาทดแทนแล้วเพราะหาได้ง่ายกว่า ราคาไม่แพง) หนังแต่ละตัวจะเป็นตัวละครลอยตัวเดียว ไม่มีฉากประกอบ มือข้างหนึ่งเคลื่อนไหวได้ ยกเว้นตัวตลกจะมีแขนเคลื่อนไหวได้ทั้งสองข้าง และปากขยับขึ้นลงเหมือนพูดได้
ตัวหนังจะเป็นภาพด้านข้างในส่วนหัว แต่ส่วนลำตัวมองเห็นแขนขาได้ครบทั้งสองข้าง บางตัวจะทำเป็นพิเศษเพื่อให้ดูเคลื่อนไหวเหมือนคนจริงมากขึ้น ตัวหนังประโมทัยมีความวิจิตรพิสดารน้อยกว่า หนังตะลุงภาคใต้ และหนังใหญ่ภาคกลาง แต่ตัวตลกมีรูปร่างเหมือนคนธรรมดามากกว่าตัวตลกของหนังตะลุงภาคใต้ เช่น บักตื้อ บักแก้ว บักป่อง บักแหมบ เป็นต้น (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. 2525 : 179-180)
แต่ละคณะจะมีจำนวนตัวหนังไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะมีประมาณ 30-100 ตัว ซึ่งตัวหนังจะแยกเป็น 3 ฝ่าย คือ
โรงหนังที่ใช้แสดงจะสร้างเป็นโรงยกพื้น สูงประมาณเอวของผู้ใหญ่ มีหลังคาสูงและมีจอซึ่งทำด้วยผ้าขาว ขนาดกว้าง (สูง) ประมาณ 1.30 เมตร และยาวประมาณ 3.50 เมตร ขนาดของโรงมีความกว้างยาวที่จะบรรจุได้ทั้งตัวหนัง ผู้พากษ์ ผู้เชิดตัวหนัง และนักดนตรีทั้งหมด ในสมัยโบราณอาจใช้เวทีหมอลำ เวทีมวย ศาลากลางบ้าน ศาลาการเปรียญวัด โดยใช้ผ้าล้อมเป็นขอบเขตของโรงกั้นส่วนคณะแสดงกับผู้ชมก็ได้
แสงไฟที่ใช้ส่องตัวหนังแรกๆ ใช้ขี้ไต้ (ขี้กระบอง) ซึ่งทำจากน้ำมันยางผสมกับขี้ขอนดอก (ไม้ผุ) หรือขี้เลื่อย เพื่อให้เกิดแสงสว่างแสดงรูปเงาขึ้นบนจอ ต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุแทน ปัจจุบันจะใช้หลอดไฟฟ้ากลมขนาด 100 watts จำนวน 1-3 หลอดแขวนให้อยู่ระหว่างผู้เชิดกับตัวหนัง
คณะหนังปราโมทัยคณะหนึ่ง จะมีจำนวนประมาณ 5 - 10 คน เป็นคนเชิดหนัง 2 - 3 คน ซึ่งจะทำหน้าที่พากย์และเจรจาด้วย แต่ก็มีบางคณะที่มีคนทำหน้าที่เชิดอย่างเดียว โดยมีคนเจรจาแยกเป็นชายจริง หญิงแท้ ต่างหาก มีนักดนตรีประมาณ 3 - 5 คน เครื่องดนตรีจะประกอบด้วย ระนาดเอก 1 ราง ตะโพน 1 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ ต่อมามีการนำเอา พิณ แคน ซอ คีย์บอร์ด กลอง ฉิ่งฉาบ เข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความไพเราะเร้าใจขึ้น ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาคล้ายกับหมอลำนั่นเอง คณะหนังตะลุงที่ผม (ผู้ทำเว็บไซต์) ได้รู้จัก และเคยเฝ้าดูการละเล่นมาตั้งแต่เด็กจนหนุ่มคือ คณะ ฟ.บันเบิงศิลป์ แต่ช่วงหลังก็หายไปคงจะเลิกกิจการไปแล้ว
วิถีทั่วไทย ThaiPBS : ความสำเร็จของครูหนังประโมทัย
ความเชื่อของผู้เล่นหนังปราโมทัยนั้น มีข้อห้ามต่างๆ ที่ถือเป็นเรื่องเคร่งครัด อย่างเช่น ห้ามตั้งโรงหนังหันหน้าไปทางทิศตะวันตกโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อกันว่าเป็นทิศอัปมงคล จะทำให้การแสดงตกต่ำไม่รุ่งเรือง ก่อนการแสดงทุกครั้งต้องระลึกถึงครูอาจารย์ของแต่ละคณะ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะ และทำให้ผู้ชมนิยมชมชอบ หากเดินทางไปแสดงหนังแลกข้าวจากหมู่บ้านอื่น ก็ต้องไม่ออกเดินทางไปในวันพระแรมและขึ้น 15 ค่ำ หัวหน้าคณะหนังต้องนำดอกไม้ธูปเทียนมาทำพิธีบูชาหน้าที่บันไดบ้านเสียก่อน และต้องหันหน้าไปทางทิศเหนือ เมื่อกล่าวคาถาจบก็ต้องกลั้นลมหายใจพร้อมกับกระทืบเท้าข้างขวาอีก 3 ครั้ง การเก็บตัวหนังให้เก็บตัวฤาษีอยู่บนสุด ตามด้วยตัวตลก บักตื้อ บักป่อง บักแก้ว บักแหมบ แล้วจึงเป็นตัวพระตัวนางอยู่ล่างสุด ต้องเก็บตัวหนังในที่สูงเพื่อป้องกันการเดินข้าม ในระหว่างการแสดงห้ามมิให้บุคคลภายนอกแตะต้องตัวหนังโดยเด็ดขาด
การแสดงหนังปราโมทัยเริ่มเวลา 2-3 ทุ่ม จบประมาณ 6 ทุ่ม ถึงตี 1 หรือตี 2 ก่อนเริ่มการแสดงหัวหน้าคณะทำพิธีไหว้ครู เพื่อคารวะครูบาอาจารย์ และขอให้การแสดงในครั้งนี้ราบรื่น เป็นไปด้วยดี และให้เป็นที่นิยมของผู้ชม หัวหน้าคณะประนมมือยกขึ้นเหนือศีรษะสวดบริกรรมคาถา "ยกอ้อ ยอครู"
สิ่งของสำหรับพิธีกรรมไหว้ครู (เครื่องคาย) ของพ่อคำตา อินทร์สีดา ได้แก่ ขันธ์ห้า (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่) เหล้าขาว 1 ขวด ไข่ดิบ 1 ลูก เงิน 12 บาท ถ้าถุง 1 ผืน และแป้ง 1 กระป๋อง
หัวหน้าคณะได้จัดเตรียมเครื่องคาย สำหรับไหว้ครู รวมทั้งตัวหนังตะลุง การไหว้ครูนั้นมีหัวหน้าคณะและลูกวงบางส่วนร่วมพิธีไหว้ครู เรียกว่า "พิธียกอ้อ ยอครู" โดยนำตัวหนังที่เด่นๆ (ตัวพระ ตัวนาง และตัวตลกสำคัญ) มาวางไว้ด้านหน้าเครื่องคาย รวมเครื่องคายทั้งหมดใส่ถาด แล้วผู้นำยกอ้อ ยอครู จุดเทียน 1 คู่ กราบ 3 ครั้ง เพื่อคารวะครูบาอาจารย์ และทั้งตัวหนังตะลุงที่ถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ด้วย (ซึ่งจะใช้ตัวฤาษีเป็นตัวแทน) ยกเครื่องคายขึ้นสูงประมาณจมูกของผู้กล่าวยกอ้อ ยกครู แล้วผู้กล่าวนำสวดบริกรรมคาถา วางเครื่องคายลง แล้วทาแป้งที่ใบหน้าของผู้นำยกอ้อ ยอครู แล้วส่งแป้งต่อๆ ไปให้ลูกวงทาที่ใบหน้าด้วยทุกคน
ก่อนการแสดง มีการเตรียมตัวหนังที่ใช้ในการแสดง โดยปักตัวละครไว้ที่ต้นกล้วยที่มัดไว้ห้อยหัวทิ้งลงข้างล่าง ดนตรีเริ่มบรรเลง นักแสดงเริ่มจัดฉากละครตัวหนังที่ตนรับผิดชอบ เรียงไปจนเต็มฉาก ก่อนการโหมโรงก็มีผู้แสดงประกอบจำนวนหนึ่งมาเต้นประกอบดนตรี อยู่ด้านข้างซ้าย-ขวาของเวที 1 เพลง แล้วเริ่มการโหมโรงต่อ
การออกโรง หรือการโหมโรง โดยการตีระนาด ซึ่งหัวหน้าคณะเป็นคนตีระนาดบรรเลงเพลง และร้อง เออ... พร้อมกับการตีระนาดสลับกันไป-มา ในเนื้อหามีคำขอขมาครูบาอาจารย์ เมื่อจบการขอขมาครูอาจารย์และออกแขกแล้ว นักแสดงแต่ละคนก็จะเชิดตัวหนังทีละตัวตามเนื้อเรื่องที่ใช้แสดง ตั้งแต่ตัวพระตัวนางไปเรื่อยๆ จนหมด สลับกับการเล่นดนตรี ตัวหนังที่แสดงชูโรงซึ่งเป็นตัวเอกตลอดกาลของหนังประโมทัย คือ ตัวหนัง "ปลัดตื้อ" นั่นเอง
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมาได้ทราบข่าวจากแม่ยายว่า จะมีคณะหนังปราโมทัยมาแสดงที่ วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ ใกล้บ้านมาก จึงไม่พลาดที่จะต้องไปชมรำลึกถึงความหลัง ว่าหนังปราโมทัยเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ผมรู้จักกับวันนี้ต่างกันอย่างไรหนอ
ผิดคาดตั้งแต่เข้าไปในบริเวณวัดแล้วครับ เพราะได้ยินแต่เสียงดนตรีสไตล์ลำซิ่ง กลองชุด กีตาร์ เบส ม่วนหลาย สายตาเหลือบไปเห็นจอหนังปราโมทัยแน่ๆ แต่ดนตรีนี่ซิมันขัดแย้งอดีต
มองดูบริเวณหน้าจอ มีผู้คนจำนวนไม่น้อย (ดูวัยก็เลยสามสิบห้าขึ้นไป เสียเป็นส่วนใหญ่ เด็กเล็กๆ มีบ้าง แต่ไม่เห็นมีวัยจ๊าบส์เลยแฮะ) แต่พอดูด้านข้างโรงทำไมคนตรึมเลยล่ะ ทั้งหนุ่มทั้งแก่ชูคอกันเพียบเลย
จะไม่ให้ตรึมได้ไง เพราะด้านหลังโรงคือ กลุ่มของนักดนตรี เจ้าของเสียงเมื่อสักครู่ กำลังบรรเลงอย่างมันในอารมณ์ทีเดียว ด้วยเครื่องดนตรีสมัยใหม่ เพลงและกลอนลำสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลอนลำซิ่งของ ประสาน เวียงสีมา เมียผู้ใหญ่บ้าน กับอีกหลายเพลงฮิต พอมองดูไปที่จอเหล่านักเชิดวัยซิ่ง (คะเนด้วยสายตา 45 ขึ้นทั้งนั้น) กำลังชักเชือกให้สาวซิ่งบนจอยักย้าย ส่ายสะโพก อย่างสนุกสนาน
ผมยังอดที่จะขยับเท้าตามไปด้วยไม่ได้เลย แน่แล้วนี่คือการสืบสานต่อลมหายใจให้กับ หนังปราโมทัย อีกเฮือก ไม่ต่างจาก "หมอลำคู่" ที่พัฒนามาเป็น "หมอลำซิ่ง" หนังปราโมทัยก็ย่อมจะต้องเป็นหนังปราโมทัยซิ่ง เพื่อความอยู่รอดเช่นเดียวกัน
การแสดงหน้าม่านด้วยความสนุกสนานนี่ ดำเนินไปอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ได้เวลาที่การแสดงตามรูปแบบหนังปราโมทัยดั้งเดิมจะเริ่มต้น เรื่องราวที่นำมาแสดงในวันนี้ก็ยังคงเป็นวรรณกรรมเอก "รามเกียรติ์" เหมือนเมื่อครั้งอดีต เพียงแต่จะจับตอนใดมาแสดงตามความเหมาะสม (กับสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้น จะได้แทรกมุขตลกโปกฮาได้)
ลักษณะการแสดงของหนังปราโมทัยของชาวอีสาน ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ จะใช้ภาษาไทยกลาง (ค่อนข้างแปร่งๆ ตามประสาบ้านเฮาครับ ลิ้นมันจะแข็งๆ หน่อย) ส่วนเหล่าเสนา อำมาตย์ ทหาร และชาวบ้านจะใช้ภาษาอีสาน ผู้ให้เสียงในคณะนี้จะมีนายหนังที่สามารถในเรื่องบทกลอนเป็นผู้นำเรื่อง ส่วนตัวละครอื่นๆ จะมีทั้งชายจริง หญิงแท้ ช่วยกันประมาณ 3 คน ที่เหลือจะเป็นเพียงผู้เชิดหนัง ให้แสดงบทบาทตามเสียงพากย์
หนังประโมทัย คณะพ่อคำตา อินทร์สีดา จุงหวัดอุดรธานี
ผมค่อนข้างจะผิดหวังกับตัวหนังมากครับ ไม่มีรายละเอียด ฝีมือการตัดหนัง ฉลุลวดลาย ไม่ถึงศิลปะของลวดลายไทยแบบดั้งเดิม แม้แต่สีสันก็ฉูดฉาดเกินจริง และไม่ตรงกับความหมายของตัวละคร ตามแบบแผนศิลปกรรมไทยดั้งเดิมครับ (เพราะผมถูกเคี่ยวเรื่องศิลปะไทยจาก ท่านอาจารย์จุลทัศน์ พยัคฆรานนท์ มามาก ในสมัยเรียนที่ มศว. ประสานมิตร เลยตาถึงนิดหน่อยครับ)
ตัวละครที่เป็นเสนาและตัวตลก ซึ่งจะต้องมีการชัก และเชิดท่าทางการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ทำได้อย่างหยาบๆ เท่านั้นเอง แต่ผมก็ยังให้ความชื่นชมของผู้สืบสานต่อลมหายใจให้กับ หนังปราโมทัยกลุ่มนี้อยู่ครับ
เพราะนี่คือ "ฝีมือแบบชาวบ้าน" จริงๆ ไม่ได้รับการปรึกษาจากผู้รู้เพียงแต่จดจำสืบทอดกันมา ไม่ได้เรียนศิลปะไทยจากที่ใดมาก่อน ทำกันเพราะใจรักจริงๆ ก็ต้องยกย่องชื่นชมครับ
เครื่องดนตรีดั้งเดิม ระนาดเอก ตะโพน ฉิ่ง ยังคงอยู่ครับสำหรับการดำเนินเรื่องของตัวเอก (ตัวพระ ตัวนางและยักษ์) แต่ทัพเสริมนี่มีทั้งกลองชุด กีตาร์ เบส คีย์บอร์ด มาช่วยเสริม ซึ่งจะใช้ในตอนที่ตัวตลกออกมาดำเนินเรื่องแก้ง่วงช่วงดึกๆ
ลักษณะของการแสดงในวันนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแล้วก็จริง แต่การจะดึงดูดให้ผู้ชมยังคงอยู่กับหนังปราโมทัยได้ตลอดทั้งคืน เหมือนเมื่อครั้งอดีตคงเป็นเรื่องยากเสียแล้ว เพราะจุดน่าสนใจมีน้อยมาก สู้การแสดงของหมอลำซิ่งไม่ได้ ทำไมหรือ?
หมอลำหมู่หรือแม้แต่หมอลำซิ่ง ผู้ชมได้รับความสนุกสนานทั้งเสียงดนตรี เสียงร้องและเสียงลำ ส่วนสายตาก็ได้ชื่นชมท่าทางการฟ้อนของผู้รำ (ที่อาจมีการสวมชุดที่ออกจะวาบหวาม ออกอาการหวาดเสียวนิดๆ ด้วย)
ในขณะที่หนังปราโมทัยนั้น ผู้ชมได้ยินเสียงครึกครื้นจากเสียงดนตรี แต่สายตาเห็นแต่ "เงาตัวหนัง" เต้นกระย่องกระแย่งอยู่หน้าจอ มันขาดรสชาติอยู่นะครับ ถ้าเนื้อหาการแสดงไม่ดึงดูดใจ ให้ตรึงผู้ชมอยู่กับที่ได้ โอกาสที่คนดูจะลุกไปก่อนเที่ยงคืนก็มีสูงมาก อย่าง "หนังตะลุงภาคใต้" ที่ยังคงอยู้ได้นั้นมีแรงดึงดูดคือ "พลังทางการเมือง" ความสนใจของผู้คนชาวใต้ต่อปัญหาสังคมมีมาก ทำให้นายหนังมีโอกาสฉวยเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมาบอกเล่าได้ ด้วยการทำให้ไอ้เท่งเล่าผ่านความตลกขบขันออกมา มีการสอดแทรกการแสดงให้ตลกได้เป็นระยะๆ นั่นเอง แต่สำหรับคนอีสานแล้ว คงจะยากอยู่พอสมควรในเรื่องนี้ เพราะพวกเรามักจะไม่ค่อยพูดกัน เรื่องของเจ้านายเพิ่น! พ่ะนะ
ผมยังคงมองไม่ออกว่าจะปรับเปลี่ยนในรูปใด จึงจะสานต่อให้หนังปราโมทัยยังคงอยู่ได้ ให้มีการแสดงแพร่หลายออกไป ได้แต่เอาใจช่วยนำมาเสนอให้ท่านทั้งหลายได้รู้จักกัน
ผมไม่มีโอกาสได้สนทนากับนายหนัง หรือ หัวหน้าคณะ เลย เพราะติดการแสดงตลอดเวลา (คณะเดินทางมาถึงงานช้า เพราะหลงทางไม่เคยมา พอมาถึงก็ติดตั้งอุปกรณ์แสดงกันเลย) ได้สอบถามจากนักดนตรี และคณะผู้ร่วมงาน ก็ทราบเพียงว่า มาจาก "บ้านโพนทัน" อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ทั้งหมดเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน ได้รับการสอนแนะนำจากหัวหน้าคณะ ช่วยกันทำและฝึกซ้อม ออกแสดงรับงานทั่วไป ไม่แน่ใจว่าจะยังคงอยู่ได้นานอีกเท่าใด เพราะหลังๆ ก็ไม่ค่อยมีงานมากนัก
หนังตะลุงน้องเดียว ทางภาคใต้
นับว่าเป็นโอกาสดีที่ผมได้ทราบข่าวนี้ และไปบันทึกภาพและเหตุการณ์นี้ไว้ ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะนึกถึงและโหยหาอดีต แต่ก็ยากที่จะได้ชม ก็ต้องฝากไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานอื่นๆ) ที่จะต้องช่วยกันหาทางอนุรักษ์สืบสานไว้ให้ลูกหลานเราได้ชม ได้ศึกษาถึงความงดงามของศิลปการแสดง "หนังปราโมทัย" นี้
ผมเคยขับรถผ่านไปทางยโสธร พบว่าแถว "บ้านโพนทัน" (ใกล้แยกบ้านศรีฐาน-กระจาย) ถนนแจ้งสนิท ตำบลลุมพุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ก่อนถึงตัวเมืองยโสธรประมาณ 10 กิโลเมตรเศษ มีอาคารติดป้ายว่า "พิพิธภัณฑ์หนังปราโมทัย" แต่แวะไปครั้งใดก็ไม่เห็นเปิดสักที ตรงนั้นก็ไม่มีผู้คนให้สอบถามด้วย ใครมีข้อมูลช่วยส่งข่าวหน่อยนะครับ มีเอกสารทางวิชาการมาฝาก เผื่อใครจะศึกษาและนำไปอนุรักษ์เผยแพร่ต่อ หนังประโมทัย : ศิลปการแสดงอีสานที่กำลังเลือนหายไป
รายการ "ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร : หนังบักตื้อ" ทางช่อง ThaiPBS
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ได้มีโอกาสชมสารคดีจากทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ผ่านทาง Facebook กินที่นี่ เที่ยวที่นี่ ได้นำเอาสารคดี รายการ "เลาะลุยลาว" ตอน หนังบักตื้อ-มหรสพที่ถูกลิม (ລາຍການເລາະລຸຍລາວ ຕອນ: ໜັງບັກຕື້-ມະຫໍລະສົບທີ່ຖືກລືມ) ซึ่งกล่าวว่า
ມາຍ້ອນລະນຶກເຖິງການສະແດງມະຫໍລະສົບສຸດມ່ວນຊື່ນໃນອາດີດທີ່ຫລາຍໆ
ຄົນອາດຄິດຮອດຄິດເຖິງ ເຊັ່ນ ການປູສາດນັ່ງຊົມຫນັງບັກຕື້ (ຫນັງປະລັດຕື້)
ກັບພໍ່ແມ່ ຫລືພໍ່ຕູ້ແມ່ຕູ້ຢູ່ຕາມວັດວາ ເຖິງແມ່ນວ່າປັດຈຸບັນຍຸກສະໄຫມຈະປ່ຽນໄປ ແລະມີການສະແດງທີ່ຫລາກຫລາຍ ມາບຽດບັງຫນັງບັກຕື້ອອກໄປຈາກເວທີ ແຕ່ກໍຍັງມີປະຊາຊົນຄົນຮາກຫຍ້າກຸ່ມຫນຶ່ງທີ່ພະຍາຍາມຮັກສາການສະແດງ
ພື້ນບ້ານນີ້ໄວ້ຢ່າງສຸດຄວາມສາມາດ"
มาย้อนระลึกถึงการแสดงมหรสพสุดม่วนซื่นในอดีตที่หลายๆ
คนอาจคิดฮอดคิดถึง เช่น การปูสาดนั่งชมหนังบักตื้อ (หนังปลัดตื้อ)
กับพ่อแม่ หรือพ่อตู้แม่ตู้ตามวัดวา ถึงแม้นว่าปัจจุบันยุคสมัยจะเปลี่ยนไป
และมีการแสดงที่หลากหลาย มาเบียดบังหนังบักตื้อออกไปจากเวที
แต่ก็ยังมีประชาชนคนรากหญ้ากลุ่มหนึ่งที่พยายามรักษาการแสดง
พื้นบ้านนี้ไว้อย่างสุดความสามารถ
ລາຍການເລາະລຸຍລາວ ຕອນ: ໜັງບັກຕື້-ມະຫໍລະສົບທີ່ຖືກລືມ
รายการ "เลาะลุยลาว" ตอน หนังบักตื้อ-มหรสพที่ถูกลิม
พบว่า การแสดงหนังบักตื้อ ของลาวนี้ เป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมมาจากการแสดง "หนังปราโมทัย" หรือ "หนังปลัดตื้อ" ในฝั่งประเทศไทย โดยได้ถูกนำไปเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยชาวไทยชื่อ นายจันทร์ จันทร์ไพเราะ จากอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ในขณะที่บวชเป็นพระภิกษุได้จาริกไปจำพรรษาที่ เมืองจำพอน แขวงสวรรณเขต ต่อมาได้ลาสิกขา และได้แต่งงานมีครอบครัวกับหญิงชาวลาว ได้นำชุดตัวหนังปลัดตื้อหรือหนังปราโมทัยไปด้วย ปกตินายจันทร์มีอาชีพเป็นช่างก่อสร้างบ้านเรือน แต่ในช่วงว่างงานได้นำเอา "หนังปลัดตื้อ" ไปแสดงตามหมู่บ้านต่างๆ ในแขวงสวรรณเขต และใกล้เคียง จนมีชื่อเสียงโด่งดังนานกว่า 30 ปี ในภายหลังท่านผู้นี้ได้กลับไปบวชอีกครั้งที่ วัดไชยมุงคุล เมืองไกรสอนพรหมวิหาร แขวงสวรรณเขต ในภายหลัง ตัวหนังปลัดตื้อชุดดั้งเดิม ได้ถูกบูชาจากวัดออกไปเก็บรักษาไว้ที่ แผนกแถลงข่าววัฒนธรรมและท่องเที่ยว แขวงสวรรณเขต เพื่อลงทะเบียนเป็นมรดกท้องถิ่น
บรรพชนชาวอุบลราชธานี มีการแสดงพื้นบ้านอยู่ 3 ลักษณะ คือ ดนตรี การขับร้อง ฟ้อนรำ และการแสดงโดยใช้หุ่น สำหรับดนตรีในอดีตมีทั้งการบรรเลงล้วนๆ และการบรรเลงประกอบการร้องและการฟ้อนรำ เครื่องดนตรีทั้งหลาย แคน นับว่าได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแคนต้องใช้ประกอบการรำต่างๆ อุบลราชธานีจึงได้ชื่อว่าเป็นถิ่น "ดอกคูณเสียงแคน"
ในระยะต่อมา มีการนำโปงลางและไห มาเล่นประกอบในวงดนตรีพื้นบ้าน เรียกว่า วงโปงลาง และนำเครื่องดนตรีสากล มาประกอบการลำและการแสดงอื่นๆ ในปัจจุบันดนตรีและศิลปะการแสดงของจังหวัดอุบลราชธานีอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
ส่วนการแสดงโดยใช้หุ่นซึ่งได้แก่ หนังปราโมทัย ในปัจจุบันยังมีการแสดงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก
การลำ นับเป็นการแสดงพื้นบ้านที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย เริ่มจากการลำพื้น ซึ่งได้แก่ การนำเนื้อหาของนิทานพื้นบ้าน เช่น การะเกด สินไซร (สังข์ศิลป์ชัย) นางแตงอ่อน มาลำ โดยใช้หมอลำ 1 คน และหมอแคน 1 คน ผู้ลำสมมุติตนเป็นตัวละครทุกตัวในเรื่องและลำตลอดคืน การลำพื้นนับเป็นต้นกำเนิดของการลำทุกประเภท
ต่อมาลำพื้นได้วิวัฒนาการมาเป็นการลำคู่ ซึ่งได้แก่ การลำ 2 คน ชายกับชาย หรือชายกับหญิง (จนประมาณปี พ.ศ. 2495 การลำระหว่างชายกับชายจึงเลิกไป) หมอลำคู่ยังแตกแขนงออกเป็นลำซิงชู้ ซึ่งประกอบด้วยผู้ลำชาย 2 หญิง 1 หรือหญิง 2 ชาย 1 เพื่อแย่งชิงชายหรือหญิงที่มีอยู่เพียงคนเดียว
หมอลำคู่ที่มีชื่อเสียงชาวอุบลราชธานีมีมากมาย จนเมืองอุบลได้ชื่อว่า เป็น "เมืองหมอลำ" หมอลำที่มีชื่อเสียงในอดีตนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ หมอลำคูณ ถาวรพงษ์ (ชาย) และหมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ (หญิง) เป็นหมอลำคู่แรกที่ได้บันทึกเสียงลงแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และได้เผยแพร่ออกอากาศจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ปัจจุบันหมอลำทั้งคู่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว (ซึ่งเรามีตัวอย่างกลอนลำของท่านทั้งสองที่นี่)
หมอลำทองมาก จันทะลือ (ชาย) ฉายา หมอลำถูทา เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่มาประกอบอาชีพเป็นหมอลำ และผู้แต่งกลอนลำจนมีชื่อเสียง ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี หมอลำทองมากได้ชื่อว่า เป็นผู้มีปฏิภาณมีไหวพริบในการลำ สามารถลำโต้ตอบแบบกลอนสดชนิด "ลำแตก" จนได้รับยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" เมื่อปี พ.ศ. 2529 นับเป็นหมอลำคนแรกที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้
เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เป็น ส.ส. อุบลราชธานี 1 สมัย ปัจจุบันได้ตั้ง สมาคมหมอลำถูทาบริการ และรับงานแสดง ตลอดจนช่วยเหลืองานราชการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในงานรณรงค์ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยการนำเอาศิลปพื้นบ้านมารับใช้สังคม (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว)
ภาพนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Veteethai.com
หมอลำเคน ดาเหลา (ชาย) ฉายา "เคนฮุด" เป็นชาวอุบลราชธานี ไปมีชื่อเสียงโด่งดังที่จังหวัดขอนแก่น ที่ได้ฉายาว่า "ฮุด" ก็เพราะว่าเป็นชื่อเดิม และในเวลาลำจะสามารถดันไปได้แบบสู้ไม่ถอย (ภาษาอีสานเรียกว่า คนฮุด) หมอลำเคนมีน้ำเสียงห้าว ไพเราะ และรูปร่างหน้าตาดี ทั้งยังสามารถแต่งกลอนลำได้ด้วย ลีลาการฟ้อนรำก็สวยงามเป็นที่ประทับใจ ในปี พ.ศ. 2534 จึงได้รับการยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" อีกคนหนึ่ง นับเป็นหมอลำคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรติดังกล่าว
ได้ตั้งโรงเรียนสอนการลำให้กับเยาวชนที่สนใจ อยากจะเป็นศิลปินด้านหมอลำ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอีสานให้ยั่งยืนตลอดไป รวมทั้งแต่งกลอนลำให้กับหมอลำรุ่นใหม่ๆ รวบรวมคณะหมอลำต่างๆ เข้ามาในสังกัดเพื่อช่วยเหลือการรับงานลำทั่วประเทศ (ปัจจุบัน ถึงแก่กรรมแล้ว)
ภาพนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Veteethai.com
นางฉวีวรรณ พันธุ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ที่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีหมอลำ ที่มีความสามารถโดดเด่น มีไหวพริบปฏิภาณด้านหมอลำที่เฉียบแหลมยิ่งคนหนึ่ง โดยได้รับการฝึกฝนเรื่องหมอลำจากบิดา ญาติ และหมอลำที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีตหลายท่าน
ซึ่งความจัดเจนเรื่องหมดลำที่ฝึกฝนมาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เป็นหมอลำที่มีความสามารถสูงทั้งด้านการแต่งกลอนลำ การคิดท่วงทำนองหมอลำกลอน เขียนกลอนลำ ประดิษฐ์ท่ารำ และบทร้องชุดฟ้อนแม่บทอีสาน 48 ท่า ประกอบกับบุคคลที่มีน้ำเสียงไพเราะ มีพลังทำให้ได้รับการยกย่องว่า เป็นเพชรน้ำหนึ่งของแดนอีสาน และได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชมจากประชาชนว่า เป็น "ราชินีหมอลำ"
นางฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ) จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช 2536 และได้รับเชิญไปเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะการร้อง การลำ การฟ้อน ให้กับลูกหลานที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด
ภาพนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Veteethai.com
นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดอุบลราชธานี สนใจฝึกแสดงหมอลำมาตั้งแต่อายุ 12 ปี กับหมอลำทองมี สายพิณ หมอลำสุบรรณ พละสูรย์ เป็นผู้ที่มีความจำและไหวพริบปฏิภาณสูง ฝึกลำอยู่เพียง 2 ปี ก็สามารถรับงานแสดงเป็นของตนเองได้ และเนื่องจากเป็นหมอลำที่มีสำนวนคมคาย สามารถโต้ตอบกับหมอลำฝ่ายชาย ได้อย่างเฉลียวฉลาด เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ได้ชื่อว่าเป็นหมอลำที่มีคารมกล้า โต้ตอบกับคู่ลำด้วยไหวพริบที่ฉับไว กลอนลำแต่ละกลอนมีสาระเชิงปรัชญาชีวิต ให้คติสอนใจที่แยบคาย ทำให้เป็นหมอลำหญิงคนเดียวเมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุด มีงานแสดงทั้งกลางวันกลางคืน เป็นศิลปินของประชาชนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีหมอลำ เคยได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2533 ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2537 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช 2540 (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว)
หมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข (หญิง) เป็นหมอลำอาวุโสอีกคนหนึ่ง ที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต เคยชนะการประกวดหมอลำในระดับต่างๆ หลายรางวัลเช่น เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมอลำทั่วประเทศฝ่ายหญิง พ.ศ. 2502 ณ เวทีมวยลุมพินีกรุงเทพฯ หมอลำคำปุ่นเป็นหมอลำสตรีที่สามารถแต่งกลอนลำได้ดี ปัจจุบันแม้จะไม่ค่อยปรากฏตัว แต่ก็ได้แต่งกลอนลำให้ลูกศิษย์อยู่อย่างสม่ำเสมอ
การลำได้วิวัฒนาการต่อไปอีกจากการลำ 2 - 3 คน กลายมาเป็นการลำหลายๆ คน คือ ประมาณ 10 คนขึ้นไป เรียกว่า การลำหมู่ เป็นการลำตามเรื่องราวจากนิทานพื้นบ้าน หรือนิทานชาดก ผู้แสดงแต่ละคนจะแสดงบทบาทตามตัวละครในท้องเรื่องแตกต่างกันไป ลีลาการลำก็มีหลายแบบ อาทิเช่น ลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน เป็นต้น คณะหมอลำหมู่ที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดอุบลราชธานี คือ คณะรังสิมันต์
(ระหว่างปี พ.ศ. 2506 - 2510) พระเอกและนางเอกที่มีชื่อเสียงของคณะคือ หมอลำทองคำ เพ็งดี และ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ซึ่งหมอลำคณะนี้มีการนำเครื่องดนตรีสากลบางชิ้น เช่น กีตาร์ ออร์แกน มาบรรเลงประกอบเพื่อให้เกิดความครึกครื้นยิ่งขึ้น จวบจนปัจจุบันเครื่องดนตรีสากลเหล่านี้ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวง และวงหมอลำหมู่ได้กลายสภาพมาเป็น กึ่งวงดนตรีลูกทุ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนที่จะต้องลำ แคนก็ยังต้องเป่านำ เพื่อให้ได้บรรยากาศของการลำที่แท้จริง
จำปาสี่ต้น - คณะรังสิมันต์ โดย ทองคำ เพ็งดี - ฉวีวรรณ ดำเนิน และคณะ
หมอลำทองคำ เพ็งดี มีฉายาว่า นกกาเหว่า เพราะเป็นผู้มีน้ำเสียงไพเราะเป็นหนึ่งในการลำล่องในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการแต่งกลอนลำได้อีกด้วย ลำล่องที่สร้างชื่อเสียงให้แก่หมอลำทองคำเป็นอย่างมากคือ ลำล่องเรื่องจำปาสี่ต้น ส่วนหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน เป็นผู้มีน้ำเสียงใสกังวาล จึงมีผู้เปรียบว่า ประดุจเสียงทอง ต่อมาคณะหมอลำรังสิมันต์ได้นางเอกมาอีกคนหนึ่งคือ หมอลำบานเย็น รากแก่น ซึ่งมีความสวยเป็นที่เลื่องลือ กอร์ปกับลีลาการฟ้อนประกอบการรำของเธอก็มีลีลาอ่อนช้อย สวยงาม จึงได้รับความนิยมมาก ซึ่งต่อมาได้แยกวงมาตั้งคณะใช้ชื่อของตนเอง
คณะรังสิมันต์ ได้ยุบวงไปเมื่อ พ.ศ. 2512 หมอลำทองคำประกอบอาชีพส่วนตัว และรับงานเป็นครั้งคราว คู่กับหมอลำฉวีวรรณ (ปัจจุบัน หมอลำฉวีวรรณ ได้ไปช่วยถ่ายทอดศิลปแห่งการลำและฟ้อนรำที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด)
หมอลำบานเย็น รากแก่น เป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด หลังจากแยกออกมาจากคณะรังสิมันต์แล้ว ได้ตั้งวงรับงานแสดง มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากมาย ในที่สุดก็ยุบวงไป ปัจจุบันยังประกอบอาชีพด้านนี้อยู่ ณ กรุงเทพมหานคร และได้บันทึกเสียงเพลงลูกทุ่งอีสานออกมาเผยแพร่อีกหลายชุด ได้เสียสละเวลาเดินทางมาให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ที่ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อสืบสานมรดกอีสานอยู่มิได้ขาด
หมอลำสมาน หงษา อดีตเคยเป็นบุรุษไปรษณีย์แต่ได้ลาออกมาประกอบอาชีพหมอลำ เคยประกวดหมอลำได้รับรางวัลชนะเลิศหลายรางวัล หมอลำสมานตั้งคณะของตนเองชื่อว่า คณะเพชรเสียงทอง โดยแสดงในแนวชาดก ตลกสะท้อนภาพสังคมในปัจจุบัน ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี เช่นเรื่อง "แม่เฒ่ามักลูกเขย" ปัจจุบันยังคงรับงานแสดง และดัดแปลงการลำเอาใจตลาด โดยการลำซิ่งบ้างเป็นบางโอกาส (หมอลำสมาน ถึงแก่กรรมตอนต้นปี 2558)
ลำล่องคิดฮอดแฟน โดย หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม (ศิลปินแห่งชาติ)
หมอลำคู่ขวัญในอดีตอีกคู่หนึ่งคือ หมอลำ ป. ฉลาดน้อย (ชาย) และ หมอลำอังคนางค์ คุณไชย (หญิง) ร่วมกันก่อตั้งคณะอุบลพัฒนา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 แล้วได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดหมอลำหมู่ ทางสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 5 จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2515 ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากคือ การบันทึกแผ่นเสียงลำเรื่องต่อกลอนเรื่อง นกกระยางขาว ซึ่งหมอลำ ป. ฉลาดน้อยได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติในปี 2549
ต่อมา หมอลำอังคนางค์ ได้อัดแผ่นเสียงเพลงแนวลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมหลายเพลง ได้แก่ สาวอุบลรอรัก พี่จ๋าหลับตาไว้ และ อีสานลำเพลิน ต่อมาทั้งคู่แยกวงไปตั้งคณะใหม่ โดยอังคนางค์ตั้งคณะหมอลำชื่อ คณะอุบลพัฒนายุคใหม่ ส่วน ป.ฉลาดน้อย ได้ตั้งคณะเพชรอุบล รับงานการแสดงเรื่อยมา แต่ทั้งคู่ก็ยังคงมีผลงานร่วมกันเป็นครั้งคราว โดยการนำเอานิทานและนิยายปัจจุบันที่เป็นที่นิยมมาบันทึกเสียงเป็นลำเรื่องต่อกลอน เช่น คู่กรรม แม่เบี้ย เป็นต้น
วงโปงลาง เป็นวงดนตรีซึ่งใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านบรรเลง เครื่องดนตรีเด่นๆ ได้แก่ โปงลาง แคน พิณ โหวด กลอง ไห เป็นต้น นิยมบรรเลงเพลงลายพื้นบ้าน เช่น ลายนกไซบินข้ามทุ่ง แมงภู่ตอมดอก แม่ฮ้างกล่อมลูก เป็นต้น นอกจากนั้นยังบรรเลงประกอบการแสดงต่างๆ เช่น ลำตังหวาย และบรรเลงเพลงทั่วไปเช่น เพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากล
วงโปงลางในจังหวัดอุบลราชธานีมีหลายวง ส่วนใหญ่เป็นวงของโรงเรียนทั้งระดับประถม และมัธยม และสถาบันการศึกษาอื่น ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายคือ วงโปงลางของวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ซึ่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2524 โดยภาควิชานาฏศิลป์และภาควิชาดนตรี มีผลงานเผยแพร่ไปตามจังหวัดต่างๆ ทั้งในนามของวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมการฝึกหัดครู ได้รับเชิญให้ไปแสดงในงานสัปดาห์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง และอีสานเทรดแฟร์ทุกปี นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปแสดงต่างประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง
ความโดดเด่นของวงโปงลางคณะนี้ได้แก่ ท่ารำที่สวยงามและหลากหลาย เครื่องแต่งกายที่มีสีสันสะดุดตาเป็นเอกลักษณ์ ได้ฟื้นฟูและประดิษฐ์ท่ารำต่างๆ จากประเพณีและวัฒนธรรมของอีสาน เช่น รำคูณลาน รำดอกบัว เซิ้งขอฝน และการรำที่เป็นเอกลักษณ์ของวงคือ รำตังหวาย ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2534 วงโปงลางวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้รับการยกย่องจาก สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ให้ได้รับ รางวัลสังข์เงิน นับเป็นวงโปงลางวงแรกที่ได้รับเกียรตินี้
นายณรงค์ พงษ์ภาพ หรือที่รู้จักกันดีในนามของ นพดล ดวงพร เป็นหัวหน้าวงดนตรีเพชรพิณทอง ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 นพดล ดวงพร เป็นลูกศิษย์และเคยร่วมงานในวงดนตรีของครูมงคล อมาตยกุล (วงดนตรีจุฬารัตน์) อยู่หลายปีได้รับประสบการณ์มากมาย ด้วยความที่อยากสร้างเอกลักษณ์ของตนเองและคนอีสาน จึงได้แยกตัวออกมาตั้งวงเพชรพิณทอง โดยนำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านคือ พิณ มาร่วมบรรเลงกับเครื่องดนตรีสากล จึงได้ชื่อคณะว่า เพชรพิณทอง ซึ่งหมอพิณคู่ใจที่สร้างตำนานมาด้วยกันคือ ทองใส ทับถนน นอกจากนั้น จุดเด่นของวงเพชรพิณทองอยู่ที่ ทีมพิธีกร ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานเป็นหลักในการนำเสนอเนื้อหา รีวิวประกอบเพลง เป็นทีมตลกที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ประกอบด้วย นพดล ดวงพร ลุงแนบ (ณรงค์ โกษาผล) หนิงหน่อง ใหญ่ หน้ายาน อาวจ่อย และแท็กซี่ เป็นต้น
นอกเหนือจากการร้องเพลงและหางเครื่องอันตระการตาจำนวนมากแล้ว วงเพชรพิณทองยังสามารถออกเทปตลกชุดต่างๆ VCD การแสดงสดหลายชุดที่โด่งดังจำหน่าย เช่น หนิงหน่องย่านเมีย บวชลุงแนบ สามใบเถา เป็นต้น เกียรติคุณที่ได้รับได้แก่ การมีโอกาสแสดงหน้าพระที่นั่งที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2514 และได้รับยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2532
นอกจากบุคคลที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหมอลำอีกเป็นจำนวนมากที่ยังมีชีวิตอยู่ และได้รับความนิยมทั้งสามารถแต่งกลอนลำได้ อาทิ หมอลำคำเก่ง บัวใหญ่ หมอลำทองลา สายแวว หมอลำทองสุ่น บุญเติม หมอลำบุญมา รักษาศรี หมอลำสุพรรณ ติระนันท์ หมอลำกองมี คำภูทา หมอลำเหล็กกล้า ขันชาลี เป็นต้น ขณะนี้เท่าที่รวบรวมรายชื่อได้มีประมาณ 300 คน (สำหรับคณะหมอลำหมู่ถือว่า 1 คณะเท่ากับ 1 คน)
รายการอยู่ดีมีแฮง ทาง ThaiPBS ตอน เพชรพิณทอง
ส่วนผู้สร้างผลงานเพลงนอกเหนือจาก เพชรพิณทอง ของนพดล ดวงพร และบานเย็น รากแก่นแล้ว ยังมี เทพพร เพชรอุบล เจ้าของเพลง อีสานบ้านเฮา อันโด่งดัง ไกรสร เรืองศรี สนธิ สมมาตร สลา คุณวุฒิ ต่าย อรทัย เอกพล มนต์ตระการ และอีกหลายๆ คน
การที่ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านของชาวอุบลราชธานี ได้มีวิวัฒนาการมาอย่างไม่ขาดตอน ทำให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามความนิยมของยุคสมัย แต่เป็นที่น่าสังเกตประการหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเป็นหมอลำ วงโปงลาง หรือ วงดนตรีเพชรพิณทอง ล้วนได้รับความนิยม และกล่าวขวัญถึงในระดับประเทศ และจะยังคงมีวิวัฒนาการสืบไปคู่กับชาวอุบลราชธานี และเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานชั่วนิรันดร์
หมอลำ... ศิลปพื้นบ้านที่ไม่มีวันตายไปจากลมหายใจของชาวอีสาน...
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)