foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

ja riang header

เจรียง หรือ จำเรียง ภาษาเขมรในสุรินทร์เรียกว่า จรีง หรือ จำรึ่ง เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่เน้นการขับร้องมากกว่าการร่ายรำ ขับร้องเป็นเพลงคล้ายทำนองแบบการอ่านทำนองเสนาะ มักจะใช้ "กลอนสด" เป็นส่วนใหญ่เนื้อร้องเป็น ภาษาเขมร บรรยายถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน คำว่า "เจรียง" เป็นคำกริยาในภาษาเขมรแปลว่า "ร้อง" ส่วนคำว่า "จำเรียง" หรือที่ชาวเขมรทางกัมพูชาออกเสียงว่า "จ็อบ-เรียง" นั้นเป็นคำนาม แปลว่า "บทร้อง" เจรียงมีลักษณะการขับคล้ายกับการขับวรรณคดีเสภาในภาคกลางที่เรียกว่า “เสภา” ภาคเหนือเรียกว่า “จ๊อย”

ja riang 01

การเรียกเจรียง จะเรียกตามชนิดของเครื่องดนตรีที่เล่นประกอบการเจรียง เช่น ถ้าใช้ปี่ที่มีชื่อว่า เป์ยจรวง เป่าประกอบเรียกว่า เจรียงจรวง ถ้าใช้ ซอ บรรเลงประกอบเรียก เจรียงตรัว และหากนำเจรียงไปขับขานกับการละเล่นพื้นบ้านอะไรก็จะใช้คำว่า เจรียง นำหน้าการละเล่นนั้นๆ

เจรียง เป็นการละเล่นพื้นบ้านในลักษณะของ เพลงปฏิพากย์ (dialogue songs) คือ เพลงที่ชายหญิงใช้ร้องโต้ตอบกัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเกี้ยวพาราสี มีจุดเด่นอยู่ที่โวหาร การชิงไหวพริบกันเพลงพื้นบ้านที่ใช้ขับร้องนั้น จะแตกต่างกันไปบ้างตามลักษณะวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น สังเกตได้จากการใช้ภาษา ท่วงทำนอง เนื้อหา เครื่องดนตรี การร่ายรำ การแต่งกาย และโอกาสที่ขับร้อง เพลงปฏิพากย์ เป็นเพลงที่ร้องเล่นกันเป็นกลุ่มเป็นวง

เจรียง ซึ่งเป็นการละเล่นของชาวไทยเชื้อสายเขมรในแถบอีสานใต้ และตามแนวชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา เป็นเพลงที่เล่นในเทศกาล หนุ่ม-สาวมีโอกาสได้พบปะกัน เช่น เทศกาลตรุษสงกรานต์ เทศกาลกฐิน ผ้าป่า ในงานบุญต่างๆ ที่จัดขึ้นที่วัด เจรียง จึงเป็นการละเล่นพื้นบ้าน เป็นเพลงปฏิพากย์ของชาวไทยเขมร โดยชายหญิงร้องโต้ตอบกันไปมา มีทั้งเจรียงที่ร้องโต้ตอบเป็นคู่ๆ ระหว่างชายหญิง และมีการร้องกันเป็นกลุ่ม ซึ่งมีผู้นำขับร้อง เรียกว่า หัวหน้า หรือ พ่อเพลง และแม่เพลง อาจจะมีลูกคู่คอยร้องรับในจังหวะ เช่น เจรียงซันตูจ เจรียงตรด เจรียงเบริน เป็นต้น การแสดงอย่างเดียวกันนี้ในประเทศกัมพูชา เรียกว่า "โอะกัญโตล"

ja riang 02

การเจรียง จะเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู เป็นการรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ แล้วเริ่ม บทปฏิสันฐานกับผู้ฟัง เพื่อบอกเล่าถึงความสำคัญของการแสดงว่า งานนั้นๆ มีการบำเพ็ญกุศลอะไร บางครั้งก็ยกนิทานประกอบ การเจรียงอาจจะเจรียงเป็นกระทู้ถามตอบ ในช่วงหลังๆ จะเพิ่มความสนุกสนานโดยใช้บทหยอกล้อ กระทบกระเทียบ ในลักษณะตลกคะนองเพิ่มเข้ามา

ปัจจุบัน การละเล่นเจรียง เกือบทุกประเภทที่เคยได้รับความนิยมในอดีต ได้ถูกหลงลืมและลดความสำคัญไปจากสังคมชาวไทยเขมร จนแทบจะไม่มีให้ชมให้ฟังอีกเลย จะมีไม่กี่เพลงที่เหลืออยู่ แต่ใกล้ดับสูญตามไปด้วย แต่ก็ยังมีบทเพลงเจรียงบางประเภท ที่ได้สอดแทรกแนวปรัชญาแห่งการดำเนินชีวิต ตามหลักพุทธศาสนาของกลุ่มชาวไทยเขมรไว้อย่างพร้อมมูล ด้วยเหตุนี้เจรียงจึงยังคงอยู่คู่กับวัฒนธรรมสังคมชาวไทยเขมรตลอดมา ในสภาพที่เสี่ยงต่อการสูญหาย ทั้งนี้เพราะสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันนั่นเอง

ja riang 03

ประเภทของเจรียง

ประเภทการเจรียง แบ่งออกได้หลายแบบ เช่น

1. เจรียงซันตูจ แปลว่า ร้อง-ตกเบ็ด เป็นการร้องเล่นในงานเทศกาลต่างๆ หรืองานบวชนาค และที่แพร่หลายกันมากคือ ช่วงเดือน 10 (ไงแซนโดนตา) และช่วงเดือน 5 (แคแจด) ในวันฉลองส่วนมากจะจัดเป็นงานวัด หนุ่มๆ ที่มาร่วมงานจะมารวมกันเป็นกลุ่มๆ และหาคันเบ็ดมา 1 อัน เหยื่อที่ปลายคันเบ็ดนั้นใช้ขนม ข้าวต้มมัด ผลไม้ผูกเป็นพวง

วิธีการตกเบ็ดนั้น ที่ใดมีกลุ่มหญิงสาวนั่งรวมกันอยู่ กลุ่มหนุ่มๆ จะพากันร้องรำทำเพลง แล้วก็หย่อนเบ็ดให้เหยื่อไปลอยอยู่ตรงหน้าสาวคนนี้บ้าง คนโน้นบ้าง ผู้ที่ถือคันเบ็ดจะเป็นผู้ร้องเพลง (เจรียง) เอง หากสาวผู้นั้นรับเหยื่อ (หรือขนม) ไปแสดงว่าพอใจ หลังจากเสร็จงานแล้ว ฝ่ายหนุ่มจะให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอหรือทาบทามต่อไป

2. เจรียงกันกรอบกัย (เพลงปรบไก) เป็นการเล่นเจรียงคนเดียว ไม่มีดนตรีเป็นแบบแผน ส่วนใหญ่ใช้วิธีตบมือหรือสีซอเป็นการเจรียงแบบตลก

3. เจรียงตรัว เป็นการขับร้องเดี่ยวเป็นนิทาน ประกอบซอ คล้ายการ "ลำพื้น" ของชาวอีสานเหนือ ผู้ขับร้องจะสีซอไปด้วย

4. เจรียงจาเป็ย เป็นการขับร้องเดี่ยวเป็นนิทาน ประกอบพิณกระจับปี่ มีผู้เล่นคนเดียวเป็นผู้ขับร้องและดีดจาเป็ย

เพลง : เจรียงยายยิง ศิลปิน : สังเวียนทอง อรุณรุ่ง

5. เจรียง-จรวง แปลว่า ขับร้องโดยมี "ปี่จรวง" เป่าประกอบ เป็นการขับร้องโต้ถามกันเป็นเรื่องตำนาน สุภาษิตต่างๆ เดิมใช้ "ปี่จรวง" ประกอบแต่ปัจจุบันใช้ "ซอ" แทน

6. เจรียงนอรแก้ว มีผู้แสดงประกอบด้วยชาย 2 คน หญิง 2 คน เป็นการเล่นโต้ตอบระหว่างชายหญิง โดยแต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลงและแม่เพลงร้องนำ และมีลูกคู่ร้องตาม ต่อจากนั้นชาย-หญิงแต่ละฝ่ายจึงร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ๆ โดยไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ

7. เจรียงปังนา เป็นการขับร้องคล้ายกับเจรียงนอรแก้ว แต่มีจังหวะเร็วกว่า มีผู้แสดงประกอบด้วยชาย 1 คน หญิง 1 คน คนตีกลองโทน 1 คน ขับร้องโดยบรรยายเรื่องราวตามต้องการ

8. เจรียงเบริน เป็นการร้องเพลงคลอกับ "ซอ" แบบร้องคู่ชาย-หยิง วิวัฒนาการมาจากการเล่น "กัญต๊อบไก" ซึ่งมีการร้องโต้ตอบ มีเครื่องดนตรี "ปี่อ้อ" ประกอบ ต่อมาการเล่นชนิดนี้ได้นำ "แคน" เข้ามาเป่าประกอบทำนองเจรียงเบริน คล้าย "หมอลำกลอน" ของชาวอีสานเหนือ เป็นทำนองขับลำนำเรื่องราวหรือโต้ตอบซักถามนิทานชาดก ซึ่งเข้าใจว่าเกิดขึ้นในช่วง 50-60 ปี มานี้ การเล่นเจรียงเบริน มีองค์ประกอบต่างๆ คือ ผู้เล่น ชาย-หญิง 2-3 คน สถานที่แสดงไม่จำกัดสถานที่จะเป็นที่ไหนก็ได้ ที่เหมาะสม

การแสดงเจรียงเบริญพื้นบ้าน จังหวัดสุรินทร์

การแต่งกาย แต่งแบบพื้นบ้านโบราณ ต่อมามีการพัฒนาให้หญิงนุ่งกระโปรง ชายสวมกางเกงขายาว ดนตรีที่ใช้ประกอบ มี แคน ซึ่งเป่า "ลายแมงภู่ตอมดอก" เป็นส่วนใหญ่ ท่ารำจะมีท่ารำพื้นฐานอยู่ 5 ท่าคือ ท่ารำเดิน ท่ารำถอย ท่ารำเคียง ท่ารำเกี้ยว ท่าดีดนิ้ว และท่าเตะขา

วิธีการเล่น จะเริ่มจากการบูชาครู แนะนำตนเอง มีการบอกกล่าวถึงความสำคัญของงาน แล้วเริ่มเจรียงถาม-ตอบ เจรียงเรื่อง สุดท้ายจะเจรียงลา คุณค่าของเพลงพื้นบ้านเจรียงให้คุณค่าในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านภาษาสามารถเลือกสรรคำที่ไพเราะ มีสัมผัสที่เป็นภาษาเขมร แต่ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เนื้อหาของบทร้องเจรียงยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ ประเพณี ค่านิยม สังคมและอาชีพด้านต่างๆ นอกจากนี้เพลงพื้นบ้านเจรียงเบรินยังให้ความบันเทิงใจ ให้ความเพลิดเพลิน และสนองตอบสภาวะด้านจิตใจได้ด้วย

9. เจรียงตรุษ เป็นการร้องรำเป็นกลุ่มในวันขึ้นปีใหม่ (13 เมษายน วันสงกรานต์) โดยมีพ่อเพลงร้องนำแล้วลูกคู่ก็ร้องตาม หรือร้องรับ เดินทางเป็นคณะไปร้องอวยพรตามบ้านต่างๆ เมื่ออวยพรเสร็จก็จะขอบริจาคเงินเพื่อไปทำสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ลักษณะการร้องรำอันนี้คล้ายกับ "การเซิ้งบั้งไฟ" ของชาวอีสานเหนือ

10. เจรียงกันตรึม ใช้ในงานมงคลโดยเฉพาะ เช่น กล่อมหอ ในงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ มีผู้เล่นประกอบ 4 คน เป็นชายทั้งหมด เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่อ้อ 1 คน ซอด้วง 1 คน กลองโทน 2 คน คนตีกลองจะเป็นผู้ขับร้อง

เจรียงในเพลงลูกทุ่ง

มีการนำเอา "เจรียง" มาทำเป็นเพลงลูกทุ่งกันบ้างแล้ว ที่คุ้นเคยหน่อยและโด่งดังพอตัว เพราะได้ดัดแปลงเนื้อร้องจากภาษาเขมรมาเป็นภาษาไทยให้ฟังง่าย อย่างเพลง "ลูกเทวดา" ของ สนุ๊ก สิงห์มาตร

ลูกเทวดา - สนุ๊ก สิงห์มาตร

ซึ่งน่าจะมาจากต้นฉบับแบบเนื้อยังเป็นภาษาเขมรปนไทยอยู่ คือเพลง "เจรียงยิ่งยงสอนน้อง" โดย นักร้องจอมชี้(นิ้ว) ยิ่งยง ยอดบัวงาม แต่ดูเหมือนคนจะรู้จักเพลงนี้(ในสไตล์ภาษาเขมร)มากเพราะ คำมอด พรขุนเดช จากวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำคณะเสียงอีสานนำไปร้อง (หาดูใน Youtube ได้นะ)

เจรียงยิ่งยงสอนน้อง - ยิ่งยง ยอดบัวงาม

เนื้อเพลง เจรียงยิ่งยงสอนน้อง - ศิลปืน ยิ่งยง ยอดบัวงาม

...... ปะโอนบองเอย  ไงแนะไงเจียว เวเลียละออ.. เอ.เบอทาเนียงจองบานอังกอ
ออยเนียงยัวสราโตว.เก็น.. เอ.เบอทาเนียงจองเทิดทม สรวลบวนยางเบ็ญ.
บอนกุซอนออยเนียงบำเพ็ญ. ไกวละไกลเว็น เนอโอน..


ตระโยน.โยนเอย โยนๆ โยนเอยเนียงเอยก็โยนๆ
ก็ปรัวทาบอง.สลันปะโอน บานบองปรับนะบองทา นะบองทา
(....ดนตรี...)
สมัยซบไงกีเฮาสมัยพัฒนา ซบ.ไง.กีเฮาสมัยพัฒนา. กีเมียนน่ะตองคลับ
กีเมียนน่ะตองบาร์ โกนเมงนะโปรสะไล แจจั๊วะ...เพาะสรา โตวนานีโมวนา กีจิมอเตอร์ไซค์
กลางคืนนะเที่ยวคลับ กลางวัน...หลับสบาย เดาะมันนะเตือนเลิง อังกุยยุมจองบานปะเตย
คลูนทมนะเปินระเบ็ย มันแจ๊ะ...ตนำบาย วิชานะไม่มี ติดตัวนะทรามวัย
ดอลเนียงนะปานปะได บองคลาด...เสรยยากรอ โกนเพนคะเมารวล หากินนะไม่พอ
เปอเนียงนะขาดกรออ
ออยเนียงคอมวิชา...นะวิชา
(...ดนตรี..)
ตระโยน.โยนเอย โยนๆ โยนเอยเนียงเอยก็โยนๆ
ก็ปรัวทาบอง.สลันปะโอน บานบองปรับนะบองทา นะบองทา
(...ดนตรี..)
แมเอานะนา.คละ ยากรอมันเทยปรูน ออยแตนะโกนซรูน
ออยโกนบานศึกษา ร่ำเรียนนะวิชา หาความรู้ใส่ตัว โกนคละนะเวียจูน
มันเด๊ะ...กึดเวไกล ทั้งหญิงนะทั้งชาย พากันเที่ยวคลับบาร์
กัญชงนะกัญชา ยาอง...ยาอี ยาบ้าก็มี พากันมั่วอบาย พ่อแม่อับอาย
เอียลเซราะ...เอียลแซร มันเตรยนะโกนแม มันแจ๊ะ.แยะเคาะเตรา
โคยมุนะแมเอา โคยดอล...ยัยตา ตัวเราก็ยังเด็ก ออยเร่งการศึกษา
ใครมีนะวิชา เขาว่า...เมียนประแซน ยากรอนะยังนา วิชา.จูยาบานเมน
กึดออยนะเมนเตน เนอโอน...ปะวอซะเร็ย .ละออบองเอย สดับบองยิ่งยงอันยัย
.โอนเกลียดโอนชังเกอไคว แดลบองยิ่งยงอันยัย ปรัวบองสลันซรัยเนอโอ..โอน
(...ดนตรี..)
ตระโยน.โยนเอย โยนๆ โยนเอยเนียงเอยก็โยนๆ
ก็ปรัวทาบอง.สลันปะโอน บานบองปรับนะบองทา นะบองทา

redline

backled1

O la nor morlum

ทำไมหมอลำต้อง "โอละนอ" ก่อนลำเสมอ ไม่มีได้ไหม แล้วมีทำไม?

หลายคนมักจะตั้งคำถามเช่นนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฟังหมอลำมาก่อน ส่วนผู้ที่ชื่นชอบหรือคุ้นเคยในการฟังลำเป็นอย่างดี อาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย  เพราะฟังจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เฉพาะอย่างยิ่ง “หมอลำกลอน” ถ้าไม่โอละนอ แทบจะบอกได้เลยว่า นั่นไม่ใช่หมอลำกลอน ซึ่งเท่ากับเป็นการย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นคำถามนี้

อันที่จริงคำว่า “โอนอ” หรือ “โอ้ละนอ” นั้นก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้ฟังมานานแล้ว เนื่องจากคำว่า “โอ” นั้น ทำนองลำบางประเภทออกเสียงว่า “โอย” เช่น

ลำยาว (ลำล่อง) ร้องขึ้นต้นว่า “โอย…ละนอ ฟ้าเอ๋ยฟ้าฮ้องส่วยผู้ใดซวยแฮ่งเสียตื่ม”

ลำเพลิน ร้องขึ้นต้นว่า “โอยละหนอหละพี่เอ๋ย” หรือ “โอ้โอ่ยนอชาย”

รวมลำกลอน โดย หมอลำเคน ดาเหลา

ดังนั้น หลายคนจึงเข้าใจผิด เพราะหยิบเอาเฉพาะคำว่า “โอย” มาตีความ โดยลืมฟังคำต่อไปคือคำว่า “ละนอ” มาต่อท้าย ก็เลยกลายเป็นว่าภาคอีสานนั้นแห้งแล้ง ถึงขนาดหมอลำต้องร้องโอดครวญเป็นภาษาเพลง ทั้งๆ ที่ “โอย” คำนี้ มาจากคำว่า “โอยละนอ” หรือ “โอนอ”

เรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ชอบเอาภาษาส่วนกลางเข้าไปจับภาษาถิ่น ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดจากการตีความได้ง่าย

morlum klon 3

คำว่า “โอละนอ” มาจากไหน

นิทานพื้นบ้านหลายเรื่อง มักจะใช้คำว่า “โอละนอ” หรือ “โอนอ” เมื่อกล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับความรักหรือการเกี้ยวพาราสี เช่น

ขูลูนางอั้ว

โอนอ ปานนี้นางแพงแก้ว เถิงปรางค์ผาสาท
แม่แจ่มเจ้า สิกุมให้บ่าวลาง แลนอ

และ

โอนอ ขูลูท้าว ผัวขวัญหลายชาติอวนเอย
บาหากละน้องไว้ ทางพี้บ่คนิง แลนอ

แดงนางไอ่

โอนอ แพงแสนสร้อย เสมอตาตนพี่ เฮียมเอย
พี่ก็คิดฮอดน้อง ประสงค์ตั้งแต่งไฟ
แสนสิไกลเหลือล้น บ่มีคนไปใส่ก็ตามถ้อน
ใจหากคึดฮอดน้อง นอนลี้อยู่บ่เป็น

ท้าวก่ำกาดำ

โอนอ เจ้าอย่าได้ลวงพางข่อย เสียแฮงอ้ายนั้นเนอ เจ้าคำเอ๋ย
เมื่ออี่พี่จักขัดอยู่แท้ การเจ้าบอกไป อุ่นเอ๋ย
โอนอ คำไขน้อยสีไวซู่พี่ อี้เฮียมเอ๋ย
น้องอย่ามีใหม่ซ้อน ลืมอ้ายขาดขวัญ น้องเอ๋ย

พระเชตพล

โอนอ พี่หากคิดเถิงเจ้า สายคอบ่ฮู้สว่าง อวลเฮย
วิบากเป็นกำพร้า ยินค้อยคั่งทวง
พี่นี้เป็นดั่งชาลีท้าว กัณหาพลัดแม่ วันนั้น
ก็บ่ปานพี่พรากน้อง เดียวนี้ดุ่งมา พี่นา

แม้แต่ประเพณีเกี่ยวกับความรัก เช่น ประเพณีเกี้ยวสาวลงข่วง ก็ใช้คำว่า “โอนอ” นำหน้าบทพูด ที่เรียกว่า “คำผญา” เช่น

(ชาย) โอนอ อันว่าสุดที่ทางไกลล้ำ เดินทางมาถามข่าว
สุดที่คอยล่ำเยี่ยม หาน้องก็บ่เห็น อุ่นเอย
เจ้าก็นอนในห้อง แจเฮือนคอยถ้าพี่
แสนสิคิดฮอดน้อง นอนแล้วหากต่าวฝัน

(หญิง) โอนอ อ้ายเอย แนวหญิงนี้ คือกันกับดอกท่ม
ครันว่าอ้ายบ่หักไม้หมิ้น ดวงดั้วบ่หล่นลง ได้แล้ว
น้องนี้แนวนามเชื้อ สกุลญิงยศต่ำ
ญิงหากสุขอยู่ย้อน บุญสร้างพร่ำผัว

ต่อมาเมื่อภาษาพูดและภาษาวรรณกรรมถูกพัฒนามาเป็นภาษาเพลง คำว่า “โอนอ” ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบเพลง ดังคำ “ขับโคลง” ของหนุมาน ในนิทานเรื่อง พระลักษณ์-พระราม (รามเกียรติ์) สำนวนเก่าของอีสานที่ว่า

โอนอ มาเสียดายโพธิ์ศรีต้นลังกาบานแบ่ง เพื่อนเด
ง่าหากโปดจากต้นบ่มีเอื้อต่อลำ แลนอ
โอนอ มาเสียดายบุปผาต้นลังกาหอมอ่อน เพื่อนเด
บัดนี้ กาบฮ่วนแล้วใบซิเยี้ยมล่ำคอย นี้เด
โอนอ เมื่อก่อนกี้งูหากคาบกินกบ เดนอ
เทื่อนี้ บ่มีดาวอยู่อ้อมดูเส้าหม่นหมอง แลนา
เมื่อนั้น หุลละมานท้าวขับสาส์นแล้วอย่า
เนือด ๆ ฟ้อนบาท้าวอ่านโคง”

ดังนั้นคำว่า “โอนอ” หรือ “โอละนอ” จึงกลายเป็นธรรมเนียมการเกริ่นนำขึ้นเพลง เฉพาะกลุ่มภาษาตระกูลลาวล้านช้าง เช่น ไทยภาคอีสาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เลยไปจนถึงเขตมณฑลยูนนาน ตอนใต้ประเทศจีน เช่น

ขับทุ้มหลวงพระบาง (ประเทศลาว)

โอ้นอ โอ้นอ น้องเอย หนอน้องนอ ตูมดอกนอเดือนเต้า
เมียบ่หนี อกสินวลสิไลแล้ว บ่หนีทางพระเนอน้อง
สิคึดต่อ อ้ายตายนำเด้อ น้องเอย… ”

ຂັບງື່ມຜ່າຊຳ(ຂັບຕໍ່ແຍ) ຂັບງື່ມໂດຍ: ໂອທອງ ແສງອາລຸນ
ขับงึมโดย: โอทอง แสงอาลุน

ขับงึ่ม (ประเทศลาว)

โอนอ มาอิดูโตนเด อกสิเพแตกแลง คำแพงเอย
อันแม่นว่า บ่แม่นหน่ายหลดตั้งแก้งแปลงล้อมพระนาง คิงบางเอย…
บัดนี้เจ้าผู้ก้อนน้ำล้าง ฮูปฮางเสมอเขียน
ขอเป็นดาวเดือนเพ็งแต่งลงยามสิย้อย
อันแม่นว่าสาธุเนอขอให้เป็นของข้อยบัวผันไคแน พี่น้องเอย
คันได้เป็นแท้ ๆ ตนน้องก็บ่แหนงสังแล้ว… ”

ขับขึ้นเมืองลา (มณฑลยูนนาน)

โอยแหละโอยนอ นางเอยนางเอย” หรือโอย โอยนอ ชายเอยชาย”

ขับปุลาง (มณฑลยูนนาน)

โอ่ยนอ…”

ลำสาละวัน ทำนองลำวัฒนธรรมล้านช้าง โดย หมอลำอินแต่ง แก้วบัวลา

ลำสาละวัน (ประเทศลาว)

โอนอ จิตระวังใจระเว อกสิเพแตกแล่ง โอ…โอย แพงนางเอย
โอนอ น้องหล่ากะวิงน้องอยู่บ่แล้ว แก้วอยู่หว่างใจอ้ายนา ”

ลำผญา (อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร)

โอนอ มักไถด้ำหรือไถคน นาโนนหรือนาต่ำ แม่ซิตำฮากไม้ไถบักอ้ายซิรับรอง ”

ทำไมหมอลำต้อง “โอ้ละนอ”

จากกลอนลำและคำขับทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น พอจะเข้าใจแล้วว่าทำไมหมอลำต้อง “โอละนอ” หรือ “โอนอ” โดยเฉพาะหมอลำกลอน ทั้งนี้เพราะ

  • เป็นการเกริ่นนำ เพื่อบอกกล่าวคู่ลำหรือคู่ขับ ก่อนที่จะร้องกล่าวถ้อยคำต่อไป (เดินกลอน)
  • เป็นการตั้งเสียง (Tune) ระหว่างเสียงหมอลำและเสียงแคนให้อยู่ใน “ลาย” (Mode) เดียวกัน ไม่เช่นนั้น เสียงลำอาจจะเพี้ยน คือร้องไม่เข้ากับเสียงแคนได้
  • เป็นการอวดน้ำเสียงของหมอลำแต่ละคน ว่าใครจะเสียงดีกว่ากัน เพราะในช่วงขึ้นต้นว่าโอละนอ หมอลำสามารถเอื้อนเสียง หรือ “เล่นลูกคอ” ได้อย่างเต็มที่
  • เป็นการรักษารูปแบบคำ ที่ใช้แสดงออกเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวก่อนที่จะพัฒนามาเป็นภาษาเพลงดังเช่นปัจจุบัน
  • แสดงถึงอัตลักษณ์ทางด้านภาษาเพลงพื้นบ้านตระกูลลาวล้านช้าง

ที่มา : สนอง คลังพระศรี นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม ๒๕๔๐

สังวาสหมอลำ

นอกจากเรื่องการขึ้นลำด้วย "โอละนอ" แล้วยังมีคำถามที่ตามมาอีกคือ ท่วงทำนอง หรือ สังวาสลำ ที่หลายๆ คนสงสัย สังวาสลำไม่ใช่ชนิดของการลำแต่อย่างใด เพราะการลำของหมอลำในภาคอีสานนั้นแบ่งเป็น ลำโบราณ ลำคู่หรือลำกลอน ลำหมู่ ลำซิ่ง ซึ่งในการลำเหล่านี้ก็จะมีกลอนที่เป็นการเกริ่นนำ (กลอนขึ้นลำ) กลอนเดินเรื่อง กลอนเต้ย (กลอนลา) กลอนลงลำ เป็นต้น

สังวาสลำ คือ สำเนียงการลำ (สังวาส คือ พื้นถิ่น/ท้องถิ่นนั้นๆ) บางทีใช้คำว่า "วาทลำ" จะมีใช้ในลำกลอนที่มีการแสดงเป็นเรื่องราว ซึ่งจะบ่งบอกว่า หมอลำคณะนั้น คนนั้นเป็นคนพื้นถิ่นใด หรือเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ที่ใด การลำที่มีวาทลำเป็นเอกลักษณ์และมีความแตกต่างกันเด่นชัดจะมีอยู่หลายจังหวัด เช่น

ลำศรีธนมโนห์รา โดย คณะรังสิมันต์ (ทองคำ เพ็งดี - บานเย็น รากแก่น)

  • ลำสังวาสอุบลฯ หรือลำทำนองอุบลฯ เป็นทำนองลำแบบดั้งเดิมของหมอลำกลอนในอดีต ที่เป็นรู้จักกันดีคือ คณะรังสิมันต์ ของ พระเอกใหญ่ทองคำ เพ็งดี และนางเอกคู่บารมีฉวีวรรณ ดำเนิน อย่างลำเรื่อง ศรีธนมโนราห์ (สุธนมโนราห์) นางนกกระยางขาว พระเวสสันดร เป็นต้น ต่อมามีนางเอกสาวน้อย แสนสวยที่แจ้งเกิดกับคณะนี้อีกคนคือ บานเย็น รากแก่น จากนั้นก็มีหมอลำในคณะอื่นยุคต่อๆ มา ที่เป็นรุ่นศิษย์ของ อาจารย์ทองคำ ก็โด่งดังสืบต่อกันมา เช่น หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม อังคนางค์ คุณไชย และมีนางเอกดังอีกคนคือ สไบแพร บัวสด ล้วนชนะเลิศได้รางวัลการประกวดมาแล้วทั้งสิ้น นี่เรียกว่า "วาทลำ" หรือ "ทำนองลำอุบล" เป็นที่นิยมมากในยุคนั้น เพราะจะเน้นการเล่นลูกคอมาก และยากต่อการฝึกให้ได้ดี จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรในปัจจุบัน ดำเนินเรื่องจะเนิบช้าด้วย ปัจจุบันมักจะลำในเทศกาล หรือโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น ลำเฉลิมพระเกียรติ รณรงค์หาเสียง หรือโอกาสอื่นๆ แต่ลำเป็นวงก็ยังมีอยู่ในแถบอุบลและใกล้เคียง

    ลำทำนองอุบลนี้ หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ได้พัฒนาวาทลำเป็นแบบฉบับของตัวเอง จนเป็นที่รู้จักว่าเป็น ลำทำนองอุบลฯ อย่างปัจจุบัน มักจะกล่าวพรรณาถึง ฟ้า อากาศ ต้นไม้ ธรรมชาติ (แต่ถ้าใครสนใจมีโอกาสลองหาฟังลำเรื่อง ศรีธนมโนราห์ สมัยที่ อาจารย์ทองคำ อาจารย์ฉวีวรรณ และหมอลำบานเย็น จะเป็นแบบยุคแรก ที่เป็นวาทลำเดิมเมืองอุบล ปัจจุบันหาค่อนข้างยาก)

ลำกลอนประวัติเมืองอุบลฯ ฉลอง 200 ปี
ผู้ลำ : ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ผู้แต่ง : กำนันดวง จันทร์น้อย

  • ลำสังวาสขอนแก่น หรือ ลำทำนองขอนแก่น เป็นอีกทำนองหนึ่งที่ได้รับความนิยมกันมาก และยังสืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน ลำสังวาสขอนแก่นเป็นทำนองลำที่ไพเราะ ทั้งการใช้เสียงและกลอนที่ประพันธ์ โดยเฉพาะ "กลอนโศก" วาทลำทำนองนี้จะขึ้นชื่อมากว่า โศกได้ใจสุดๆ เสียงจะขึ้นนาสิกได้ไพเราะและน่าประทับใจมาก จนคนฟังต้องร้องไห้ตาม เรียกว่าระงมร้องไปตามๆ กัน จากนั้นก็มีการประยุกต์เป็นลำคล้ายเพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน ที่ออกเทปกันเป็นเพลงๆ อย่าง กุหลาบแดง สายตาพิฆาต โบว์รักสีดำ เป็นต้น ถ้าจะพูดถึงคณะหมอลำที่มีวาทลำแบบขอนแก่นแท้ๆ ก็คือ คณะรัตนศิลป์ ถือว่าเป็นต้นตำรับของหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น ครูผู้ก่อตั้งคณะ คือ พ่อครูอินตา ได้พัฒนาการขับลำนำในลักษณะของ หมอลำพื้น หมอลำล่อง มาเป็นการแสดงเป็นเรื่องเป็นราว มีตัวละครสมมติสวมบทบาทการแสดงโดยใช้วรรณคดีหรือนิทานอีสาน เอามาแต่งเติมดัดแปลงเป็นบทเป็นกลอน เพิ่มตัวแสดงเข้าไปมีพระเอก นางเอก ตัวประกอบ ตามเรื่องในนิทาน แล้วแทรกด้วยลำเดิน (การเดินกลอน) ทำให้มีความสนุกสนาน น่าดู น่าฟังมากขึ้น

ratanasilp 01

ในเวลานี้จะมีการเรียกลำทำนองขอนแก่น ออกเป็น 2 ยุค 2 สไตล์ คือ

  • ทำนองขอนแก่นแบบเก่า ที่เป็นเอกลักษณ์ยืนยันได้ชัดเจนคือ คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ ที่ยังคงสืบทอดแบบของ "พ่อครูอินตา" สืบมาจนปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนแปลงตัวแสดงพระเอก นางเอก ตัวประกอบมามากมายหลายรุ่นแล้วก็ตาม
  • ทำนองขอนแก่นแนวใหม่ เป็นการปรับปรุงลักษณะการลำ ท่วงทำนอง ให้มีความแปลกใหม่ขึ้น ถ้าจะมองภาพให้เห็นได้ชัดเจนก็ให้ดูการลำของ คณะระเบียบวาทะศิลป์ จะเห็นได้ชัดเจนว่าต่างจาก คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ อย่างไร ถ้าอยากเห็นความแตกต่างของท่วงทำนองกันอย่างชัดเจน เช่น การเอื้อนเสียง การเล่นคำ  ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ลองเอาทำนองลำของ คุณหน่อยวัชรินทร์ (ระเบียบฯ) กับ คุณเจี๊ยบฐิติมา (รัตนศิลป์ฯ) เปรียบเทียบกันดู ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนทีเดียว

rabiab watasilp 01 

  • ลำสังวาสจังหวัดอื่นๆ มีอีกหลายแบบ หลายทำนอง ที่เคยเป็นที่รู้จักในอดีต แต่ปัจจุบันนี้มีคนสืบทอดน้อยแล้ว ไม่มีคณะใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก เช่น ลำสังวาสกาฬสินธุ์ ลำสังวาสมหาสารคาม เป็นต้น

หมอลำชื่อดังของภาคอีสาน

มีข้อมูลคณะหมอลำชื่อดังที่เป็นรู้จักกันดี มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคอีสาน (ข้ามไปฝั่ง สปป.ลาว ด้วย) การจองคิวจ้างไปแสดงในงานต่างๆ นั้นยาวข้ามปีกันเลยทีเดียว ข้อมูลนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 นะครับ ปัจจุบันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงบ้างแล้วก็ได้ ตามการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตัวพระเอก นางเอก ทีมตลก หางเครื่อง และอุปกรณ์แสง สี เสียง ที่พัฒนาขึ้นมาก แข่งขันกันชัดเจนเลยทีเดียว

วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ ลำเรื่องต่อกลอน ที่เป็นความบันเทิงอันดับหนึ่งของพี่น้องชาวอีสาน การแสดงด้านหน้าเวทีตั้งแต่เริ่มต้น โชว์นักร้องน้องใหม่ หางเครื่อง ไปจนเต้ยลาช่วงสุดท้ายถือว่า เป็นความสุดยอดและคุณภาพทั้งด้านการแสดงโชว์เพลง เสื้อผ้า เวที เล่นตลก หมอลำ พระเอก นางเอก จัดนักแสดงได้ลงตัวเหมาะกับกลอนลำ ลำเรื่องต่อกลอนและช่วงเต้ยลาสุดท้ายในช่วงรุ่งสาง เรียบเรียงเรื่องราวได้เป็นอย่างดี จนจัดอันดับเป็นสุดยอดแห่งปี สำหรับ "10 อันดับคณะหมอลำยอดเยี่ยมแหงปี 2558" มีดังนี้

  • อันดับที่ 10 ได้แก่ หมอลำคณะแก่นนครบันเทิงศิลป์
  • อันดับที่ 9 ได้แก่ หมอลำคณะสมจิตร บ่อทอง
  • อันดับที่ 8 ได้แก่ หมอลำคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง การแสดงของคณะหมอลำสาวน้อยเพชรบ้านแพง แสดงได้ดีมาก แหวกแนวไปจากคณะอื่นๆ จึงเป็นที่นิยมไม่แพ้วงอื่นๆ
  • อันดับที่ 7 ได้แก่ หมอลำคณะรุ่งทิวาอำนวยศิลป์ หนึ่งในวงหมอลำที่มาแรงในช่วงนี้เลย ทั้งคิวงาน ทั้งการแสดง ถึงไม่พลาดขึ้นมาติดอันดับได้ครับ
  • อันดับที่ 6 ได้แก่ หมอลำคณะวีระพงษ์ วงศ์ศิลป์ เป็นอีกวงหมอลำที่มีแฟนคลับเยอะมาก และคิวงานแน่นมาก เรียกว่าถี่สุดๆ เล่นแทบทุกวัน กำลังมาแรง
  • อันดับที่ 5 ได้แก่ หมอลำคณะหนูภารวิเศษศิลป์ เป็นอีกวงหมอลำที่โด่งดังมาก คิวงานล้นมือ (ข้ามปี) แถมยังเป็นอีกวงที่ยังคงความอลังการงานสร้างแบบไม่ขาดตกบกพร่อง
  • อันดับที่ 4 ได้แก่ หมอลำคณะเสียงอีสาน ปีพุทธศักราช 2518 "วงดนตรีเสียงอิสาน" โดยมี นกน้อย อุไรพร เป็นนักร้องนำถือกำเนิดขึ้นมาในวงการ โดยอาวทิดหลอด (นักจัดรายการวิทยุชื่อดังสมัยนั้น) ทุ่มเททั้งแรงเงิน แรงกาย เพื่อผลักดันวงดนตรีของตัวเองให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ที่เรียกว่า "วงดนตรีของตัวเอง" นั้น ก็เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปในวงการว่า อาวทิดหลอด กับ นกน้อย อุไรพร ได้อยู่กินเป็นสามีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่สิ่งที่อาวทิดหลอดคาดการณ์ไว้กลับไม่เป็นเช่นนั้น วงดนตรีเสียงอิสาน ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน งานจ้างก็มีกระท่อนกระแท่น จนต้องยกวงเดินสายและพากันกลับมาอย่างบอบช้ำ ขาดทุนยับเยิน สมาชิกภายในวงก็เริ่มหนีหาย จนเหลืออยู่ไม่กี่สิบคน
    ภายหลังเปลี่ยนจากวงดนตรีมาเป็นวงหมอลำ ชื่อเสียงของคณะ "เสียงอิสาน" เริ่มขยายวงกว้างเป็นไฟลามทุ่ง ด้วยทีมงานที่ยิ่งใหญ่ขบวนคอนวอยที่ยาวเหยียด เวทีแสงสีเสียงและการแสดงอันตื่นตาตื่นใจ และรูปแบบของการสร้สงเวทีใหม่โดยใช้รถ 6 ล้อ 2 คัน กางปีกออก แล้วก็จัดสเต็ปเวทีโดยใช้ระบบไฮดรอดริกส์ยืดขึ้น มีจอ LCD ขนาดใหญ่เป็นฉากหลัง ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง และรูปแบบการแสดงใหม่ๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปทุกปี
  • อันดับที่ 3 ได้แก่ หมอลำคณะรัตนศิลป์ อินตาไทยราษฎร์ จังหวัดขอนแก่น เป็นคณะหมอลำที่สร้างขื่อเสียงได้รับการยอมรับทั่วภูมิภาคอีสาน โดยมีหมอลำบุญลือ หาญสุริย์ และหมอลำชวาลา หาญสุริย์ สองสามีภรรยา ได้ก่อตั้งคณะหมอลำขึ้น โดยเริ่มต้นจากการสืบทอดเจตนารมณ์ วงหมอลำจากพ่อครูอินตา บุญทา เดิมชื่อ "คณะเสียงทองบันเทิงศิลป์อินตาไทยราษฎร์" ต่อมาเมื่อพ่อครูอินตา บุญทาได้เสียชีวิตลง ได้จัดตั้งคณะใหม่ขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยให้ชื่อว่า "คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์"

    จนถึงปัจจุบัน คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ เป็นวงหมอลำที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งโดยเฉพาะการแสดงลำเรื่องต่อกลอน ตั้งแต่สมัยหมอลำ บุญถือ และหมอลำ ชวาลา หาญสุรีย์ เป็นพระเอก นางเอก สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากหมอลำที่แสดง แสดงได้สมบทบาท มีกระแสเสียงที่ไพเราะนุ่มนวลทั้ง พระเอก นางเอก และตัวแสดงประกอบ โดยได้รับการฝึกฝน ถ่ายทอดจากครูหมอลำเป็นรุ่นๆ เป็นคณะหมอลำที่สืบทอด ลำเรื่องต่อกลอนลำพื้น ทำนองขอนแก่นที่ดีคณะหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีการสืบสานทำนองกลอนลำ ที่เป็นเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมจากพ่อครูผู้ประสิทธิปรสาทวิชาความรู้ มีจรรยาบรรณ ในการแสดงของศิลปินหมอลำอย่างเต็มที่ และถ่ายทอดการแสดงให้แก่เยาว์ชนคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน แม้จะมีกระแสวัฒนธรรมของตะวันตก หลั่งไหลทะลักเข้ามาในประเทศ แต่คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ ก็สามารถที่ผสมผสานการแสดงสมัยใหม่กับพื้นบ้านกลมกลืน จนปรากฏเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอย่างกว้างขวาง
    ผลงานดังกล่าว เป็นผลให้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดหมอลำหมู่ และประกวดดนตรีพื้นบ้าน จากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2536 และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติสุดยอดศิลปินอีสาน 40 ปี จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2547
  • อันดับที่ 2 ได้แก่ หมอลำคณะระเบียบวาทะศิลป์ เป็นหมอลำที่มีงานมากๆ อีกคณะหนึ่งและเป็นที่นิยมมากในช่วงนี้ เรียกได้ว่าคิวยาวไปถึงปีหน้า

  • อันดับที่ 1 ได้แก่ หมอลำคณะประถมบันเทิงศิลป์ ก่อตั้งโดย คุณแม่บุญถม นามวันทา เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2500 ใช้ชื่อวงในตอนแรกว่า "บุญถมบันเทิงศิลป์" คุณแม่บุญถมได้แต่งงานกับคุณพ่อประพันธ์ สิมเสน จึงเป็นที่มาของชื่อคณะ ประถมบันเทิงศิลป์ โดยนายกสมาคมหมอลำในสมัยนั้นชื่อ นายคำดี สาระผล บอว่า "ชื่อบุญถมไม่เพราะ" จึงเปลี่ยนให้โดยให้ยึดเอาชื่อ คุณพ่อประพันธ์ และ คุณแม่บุญถม เป็นหลัก จึงเป็นชื่อ "ประถมบันเทิงศิลป์" มาจนถึงปัจจุบัน

pratom bunterng silp 01

redline

backled1

kee sood header

นการทำเครื่องดนตรีอีสานประเภทเครื่องเป่าอย่าง "แคน" หรือ "โหวด" จะมีการนำท่อเสียงที่ทำจากไม้ไผ่ หรือที่เรียกกันว่า "ลูกแคน" มารวมกันเป็นมัดสอดเข้าไปใน "เต้าแคน" จะอุดด้วยวัสดุธรรมชาติที่เรียกว่า "ขี้สูด" เพื่อไม่ให้ลมเล็ดลอดออกมาตามช่องว่างระหว่างเต้าแคน บังคับให้ลมไหลผ่านลิ้นแคนให้เกิดเสียงต่างๆ "ขี้สูด" นี้จะมีความเหนียว ชุ่มชื้น ไม่แห้ง เป็นกาวธรรมชาติที่หาได้ไม่ยาก เป็นภูมิปัญญาของคนอีสานโบราณ

มาทำความรู้จักกับแมลงที่ทำหน้าที่ผลิตขี้สูดกัน

ชื่อ : แมงสูด , แมงขี้สูด (นักพรตแห่งโพนปลวก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetragonisca ,Trigona apicalis และ Trigona Collina
วงศ์ : Stingless bee

kee sood 01

แมงสูด เป็นชื่อของแมลงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในตระกูลผึ้ง มีขนาดลำตัวเล็กๆ และไม่มีเหล็กในในตัวเอง นิสัยเป็นมิตร ไม่ดุร้าย มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับผึ้ง มีวรรณะ เช่น มี นางพญา (แม่รัง) สูดงาน (ไม่มีเพศ) และ สูดสืบพันธุ์ (มีทั้งตัวผู้ตัวเมีย) สามารถผลิตน้ำหวาน และขยายเผ่าพันธุ์ได้ ทางภาคเหนือจะเรียกว่า “แมลงขี้ตึง” แปลว่า แมลงที่ผลิตหรือเก็บน้ำยางได้ ทางภาคอีสานเรียก "แมงขี้สูด” นิยมนำมาอุดแคน หรือถ่วงเสียงเครื่องดนตรีเกือบทุกชนิด ทำให้เกิดเสียงไพเราะ ส่วนภาคใต้เรียกตัว “อุง” สำหรับภาคกลาง รู้จักในชื่อตัว “ชำมะโรง" หรือ “ชันโรง”

บางครั้งทำรังในระดับทางเดินของคน มีชื่อเรียกภาษาอีสานว่า "สูดเพียงดิน” หมายถึง แมลงชนิดนี้ทำรังระดับเดียวกันกับพื้นดิน แล้วทำท่อขึ้นมาจากพื้นดินครับ ซึ่งปกติแล้วแมลงชนิดนี้มักจะทำรังในที่สูงครับ เช่น โพรงไม้หรือจอมปลวกครับ ”สูดเพียงดิน” นี้ค่อนข้างจะหายากครับ ถ้าใครเจอให้เก็บไว้เลยนะครับเป็นของดีเอามาใส่เครื่องดนตรีชนิดใด ก็ไพเราะจนคนไหลหลง อีกทั้งผู้ร่ำเรียนไสยศาสตร์ มักจะนำไปปลุกเสกเป็นมหานิยม แล

kee sood 02

ขี้สูด คือ อะไร (ทำไมต้องสูด)

ขี้สูด เป็นแมลงสังคม (Social insect) กลุ่มเดียวกับผึ้ง ลักษณะที่สำคัญแตกต่างกันไปจากผึ้ง คือ เป็นผึ้งขนาดเล็กที่ไม่มีเหล็กใน เป็นแมลงที่เชื่อง ไม่ดุร้ายกับศัตรู บางชนิดขี้อาย ชอบหลบอยู่ในรูหรือโพรงไม้ อยู่ในวงศ์ผึ้ง กลุ่มนี้ว่า "Stingless bee" สามารถสร้างน้ำหวานได้เช่นกัน คำว่า "ขี้สูด" เป็นชื่อเรียกพื้นเมือง (Verrnacular name) ทั่วไปของภาคอีสาน ที่มาของคำนี้สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากลักษณะการสร้างรัง เนื่องจากแมลงกลุ่มนี้ได้เก็บหา ยาง (gum) ชัน (resin) ของต้นไม้ แล้วนำมาอุดยาชันรอบๆ ปากรังและภายในรัง เพื่อป้องกันน้าไหลซึมเข้าไปภายในรัง และยังเป็นการป้องกันศัตรูบริเวณปากรัง

ตัวอ่อนเมื่อกินน้ำหวานแล้ว จะขับถ่ายเกสร หรือยางไม้ออก พวกวรรณะงาน (ตัวสูดไม่มีเพศ) จะขนถ่ายเศษเหล่านั้นไปสะสมไว้ใต้รัง ส่วนนี้เองที่เรียกว่า ”ขี้สูด” เนื่องจากมีกลิ่นหอมแปลกๆ จากยางไม้ดอกไม้นาๆ ชนิด หากจับต้องแล้วเป็นต้องดมสูดกลิ่นอันนี้ ประหลาดแท้ จึงเรียกว่า ขี้สูด  อีกอย่าง สมัยโบราณ ไม่มีส้วม จึงอาศัยตื่นแต่เช้า ไปขี้ (ขับถ่าย) อยู่ข้างโพน บังเอิญเจอแมงอันนี้ จึง โก่งโก้ย ไปสูดดมปล่องรัง ได้ทั้งกลิ่นขี้ได้ทั้งกลิ่นน้ำหวาน แมงอันนี้ จึงตั้งชื่อว่า "แมงขี้สูด" นั่นเอง

kee sood 03

ลักษณะสัณฐานวิทยาของ แมงขี้สูด

สำหรับขนาดตัวของแมงขี้สูดโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่า เป็นแมลงที่รวมกันอยู่เป็นสังคมเช่นเดียวกับ ผึ้งรวง (ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง และผึ้งเลี้ยง) ภายในสังคมแบ่งออกเป็น 3 วรรณะ คือ นางพญา (Queen) ตัวงาน (Worker) และตัวสืบพันธุ์ (Male) โดยที่ขนาดลำตัวระหว่างนางพญา กับตัวงานมีขนาดแตกต่างกันมาก ตัวสืบพันธุ์มีขนาดใกล้เคียง หรือเล็กกว่านางพญาเล็กน้อย

ลักษณะทั่วไปของนางพญา

ส่วนหัวมีตารวม มีหนวด 1 คู่ ตาเดี่ยว 3 ตา ช่วงท้อง (Metasoma) ไม่เป็นรูปปิระมิดมีลิ้นเป็นงวงยาว ขา3 คู่ ขาคู่หน้าและคู่กลาง ค่อนข้างเล็กขาหลังเรียวไม่แผ่แบน ไม่มีเหล็กใน

ลักษณะทั่วไปของแมงสูดงาน

ตัวของ”สูดงาน”ตัวงานมีจำนวน 12 ปล้อง มีคล้ายนางพญาแต่ขนาดลำตัวเล็กกว่า กรามพัฒนาดีต่อการใช้งาน ขาคู่หลังแผ่กว้างเป็นใบพายมีขนจำนวนมาก รูปร่างคล้ายหวีสำหรับใช้เก็บละอองเรณูของดอกไม้ มีปีกปกคลุมยาวเกินส่วนท้อง และไม่มีเหล็กใน

ลักษณะทั่วไปของแมงขี้สูดสืบพันธุ์

ลำตัวมีจำนวน 13 ปล้อง คล้ายนางพญา มีขนาดเล็กกว่า หรือใกล้เคียงกัน ตารวมเจริญพัฒนาดี กรามพัฒนาไม่ดีพอต่อการใช้งาน หนวดยาวกว่า วรรณะทั้งสอง โค้งเว้าเป็นรูปดัวยู ปลายส่วนท้องปล้องสุดท้ายมีครีบสำหรับผสมพันธุ์ (genitalia) ส่วนของขาคล้ายกับ “สูดงาน“ แต่ขาคู่หลังของชันโรงตัวผู้เล็กกว่า

kee sood 05

รังและพฤติกรรมการสร้างรัง

ลักษณะรัง การสร้างรังในป่าธรรมชาติเกิดจากการที่สูดวรรณะงานบางตัว เสาะหาแหล่งที่จะสร้างรังใหม่ เนื่องจากประชากรในรังเก่ามาก แออัด และมีนางพญารุ่นลูก (daughter queen) เกิดขึ้นมา ทำให้ต้องแยกรังออกไปสร้างใหม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ฤดูผสมพันธุ์ของมัน การสร้างรัง ขึ้นอยุ่กับแต่ละชนิด แต่ละชนิดเลือกสถานที่สร้างรังต่างกัน สามารถแยกลักษณะของการสร้างออกได้ 4 กลุ่มมีดังนี้

  • กลุ่มที่สร้างอยู่รูอยู่ตามชอกหลืบต้นไม้ที่มีโพรงของต้นไม้ขนาดใหญ่ ทั้งที่ยืนต้นมีชีวิตอยู่ และยืนต้นตาย (Trunk nesting) เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่พบในบ้านเรา เช่น “แมงขี้สูดโกน” (Trigona apicalis)
  • กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงใต้ดิน (Ground nesting) โดยรังจะถูกสร้างอยู่ใต้ดินบริเวณจอมปลวก ชนิดที่พบในบ้านเรา คือ ”ขี้สูดโพน” (Trigona Collina)
  • กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงตามพื้นดิน เรียกว่า “สูดเพียงดิน“
  • กลุ่มที่ทำรังตามหลืบ รอยแตกของต้นไม้ กิ่งไม้ หรือ รูเล็กๆ ตามต้นไม้ ตามธรรมชาติ หรือทำรังในโพรงต้นไม้ กลุ่มนี้มีตัวเล็กกว่า ชนิดที่ผ่านมา เรียกว่า "แมงน้อย"

แมงขี้สูดนี้จะสร้างปากรังออกมาเป็นหลอดกลม หรือแบนที่สร้างด้วยยางหรือชันไม้ โดยที่แมงสูดแต่ละชนิดจะมีรูปร่างปากรูใกล้เคียงกัน หรือแตกต่างกันไปตามชนิดของมัน ภายในรังมีการสร้างเป็นเซลล์ หรือ หน่วยๆ เพื่อให้นางพญาวางไข่ และตัวงานเก็บ ละอองเรณู น้ำหวาน เพื่อใช้เลี้ยงตัวอ่อน เซลล์เรียงตัวเป็นชั้นๆ ไปตามแนวนอน ตามพื้นที่ภายในรังจะอำนวย วกวนไปมาหลายๆ ชั้นโดยที่ผนังเซลล์แต่ละหน่วยถูกสร้างเป็นผนังบางๆ จากชันยางไม้ผสมไขที่ชันโรงสร้างเคลือบเอาไว้ ภายในรังสามารถแยกเซลล์ออกเป็น หลอดนางพญา หลอดตัวงาน หลอดเก็บเกสร และหลอดเก็บน้ำหวาน และท้ายสุดหลอดที่เก็บขี้สูด

การเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตชาวอีสาน

สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กน้อยเวลาไปทุ่งนากับพ่อ ชอบไปดูตามจอมปลวกเหนือโพนด้วยความอยากรู้ ไปเจอรังของแมลงเล็กๆ ถามพ่อว่าเป็นรังอะไร พ่อบอกว่าเป็นรังของแมงสูด หรือตัวขี้สูด พ่อบอกว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านจะมาหาขุดหาเอาน้ำหวานจากรังของมัน รวมทั้งเอา “ขี้สูด” เพื่อเอาไปทำประโยชน์ต่างๆ เช่น อุดเต้าแคน อุดเต้าโหวด ใช้ยึดติดขั้น (Frets) ของพิณ หรือซุง ซึ่งจะสามารถเลื่อนไปมาได้ ตามความต้องการของผู้ดีดที่ประสงค์จะให้เสียงลายพิณตรงกับเสียงที่ต้องการในแต่ละลายที่ดีด (ไม่ตายตัวเหมือนกีตาร์ฝรั่ง)

kee sood 06

พอโตขึ้นได้เที่ยวไปตามหมู่บ้านต่างๆ ไปเจอชาวบ้านใช้คุไม้ใส่น้ำ ที่สานจากไม้ไผ่เอาชันยามาทาเคลือบไว้ ทำให้บรรจุน้ำได้ไม่รั่ว เมื่อใช้ไปนานๆ อาจมีรูรั่วก็จะใช้ขี้สูดอุดไว้กันน้ำรั่ว เวลาเล่นว่าวจุฬา เอาขี้สูดติดตรงรอยต่อของ ”สะนูว่าว” ปล่อยว่าวลอยลมขึ้นฟ้า เสียง "สะนู" ดังก้องท้องทุ่งทั้งคืน แคนที่เป็นเครื่องดนตรีดึกดำบรรพ์ของโลก ก็เอาขี้สูดติดที่เต้าแคนกับลำแคนที่ทำมาจากต้นไม้ไผ่เหี้ย โหวตเครื่องเป่าก็ใช้ขี้สูดติด รวมทั้งการทำหน้ากลองยาว กลองกิ่ง ชาวบ้านก็เอาขี้สูดติดเพื่อถ่วงเสียงให้ได้ตามที่ต้องการ

kee sood 04

กลิ่นของขี้สูดมักมีกลิ่นหอมแปลกๆ ของยางไม้หรือเกสร อนึ่งบนหิ้งพระของปู่ มีก้อนขี้สูดเพียงดิน ปั้นเป็นรูปพระ แกเล่าว่า ผ่านการปลุกเสกมาแล้ว เอาไว้ทำมาค้าขาย เมตตามหานิยม เป็นของดี

จะเห็นได้ว่า “ขี้สูด” ข้องเกี่ยวทางวิถีอีสานหลายอย่าง ยกแคนขึ้นมาเป่า เอากลองมาตี เอา “โตดโต่ง “ (พิณ) มาดีด ก็จะได้กลิ่น "ขี้สูด” เอา “สะนู” มาเล่นยามลมห่าว ก็มีขี้สูดติด นับว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม หลายอย่าง  อีกทั้งแมลงชนิดนี้ช่วยในการผสมเกสร ดอกไม้ต่างๆ ทำให้ผลไม้ติดผลดี นิสัยก็ไม่ดุร้าย ไม่เคยทำลายใคร ดังนักพรตแห่งจอมปลวก เครื่องดนตรีของภาคอีสาน ล้วนต้องมีขี้สูดข้องเกี่ยวทั้งนั้น เสมือนจะบอกว่า

ดนตรีมิเคยทำร้ายใคร มีแต่เอิบอิ่มเติมเต็ม ดังเช่นนิสัยแมงขี้สูด... "

รายการ Foodwork ThaiPBS : น้ำผึ้งชันโรง

redline

backled1

sor kantruem header

ซอกันตรึม หรือ ตรัวกันตรึม เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีที่มีบทบาทสำคัญในวงกันตรึมของอีสานใต้มาช้านาน คันทวน หรือ ตัวซอ ทำจากไม้หลากชนิดที่หาได้ในท้องถิ่น กล่องเสียง ขึงด้วย หนังงูเหลือม หรือหนังจำพวกตะกวด มีช่องเสียง อยู่ด้านตรงข้ามหน้าซอ ใช้สายลวดมี 2 สาย คันชักอยู่ระหว่างสาย คันซอยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีลูกบิดอยู่ตอนนอกซอใช้รัดด้วยเชือก มีคันชักผูกเชือกหางม้า หรือไนล่อนทำหน้าที่ถูลงบนสายโลหะจำนวน 2 สาย ที่พาดขึงในลักษณะเดียวกันกับซอในภาคกลาง เพื่อให้เกิดเสียงดังกังวาล บางครั้งจะเห็นมีการดัดแปลงประยุกต์กะโหลกซอ โดยใช้กระป๋องหรือปี๊บ ซึ่งอาจเรียกแทนว่า ซอกระป๋องหรือซอปี๊บได้

sor kantruem 02

ซอกันตรึม นั้นมีขนาดที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขนาด คือ

  1. ตรัวจี้ เป็นซอที่มีขนาดเล็กที่สุด เทียบเสียงเป็น คู่ 5
  2. ตรัวเอก เป็นซอขนาดกลาง เทียบเสียงเป็นคู่ 4
  3. ตรัวทม เป็นซอขนาดใหญ่ เทียบสายเป็นคู่ 5

วงดนตรีกันตรึมพื้นบ้านแบบเดิม มีเครื่องดนตรีครบชุด ประกอบด้วย กลองกันตรึม 2 ลูก ซอตรัวเอก 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ขลุ่ย 1 เลา ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่ ผู้เล่นมีประมาณ 6 - 8 คน และมีนักร้องชาย - หญิง โดยทั่วๆ ไป มักนิยมให้มีชาย 2 คน หญิง 2 คน ถ้าเครื่องดนตรีไม่ครบตามที่กล่าวไว้ วงกันตรึมบางคณะก็อาจจะอนุโลมให้มีเครื่องดนตรีดังนี้ กลองกันตรึม 1 ลูก ซอกันตรึม 1 คัน ฉิ่ง 1 คู่ ซึ่งก็จะมีนักดนตรี เพียง 4 คน และอาจจะมีนักร้องฝ่ายชาย 1 คน และฝ่ายหญิง 1 คน ซึ่งถ้าฝีมือคนเล่นซอมีความสามารถเป็นพิเศษ บรรเลงได้ไพเราะก็จะได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ถือว่าครบชุดเป็นวงดนตรีพื้นเมืองได้

sor kantruem 03

การใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวอีสาน มักจะประดิษฐ์ขึ้นให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเสียง ในการบรรเลงที่มีเสียงต่ำ ก็จะใช้ซออู้แทน เพื่อให้คล้ายคลึงกับเสียงผู้เฒ่า ใช้ซอด้วงแทนเสียงหนุ่มสาว ซออี้ แทนเสียงธรรมชาติ เช่น สายลมพัดพลิ้ว

บรรเลงซอกันตรึมซิ่ง โดย อาจารย์กิ่ง ไพโรจน์ซาวด์

ลักษณะของซอกันตรึม

ซอกันตรึม เป็นซอ 2 สาย มีช่วงเสียงกลาง มีขนาดเล็กกว่าซออู้ มีคันชักติดอยู่กึ่งกลางระหว่างสายทั้ง 2 ที่เรียกว่า สายเอก และสายทุ้ม กะลามะพร้าวที่นำมาแกะและขึ้นหน้าซอกันตรึมนั้น มักนิยมใช้กะลาชนิดพิเศษ รูปร่างกลม รี ขนาดใหญ่ ตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง แล้วใช้หนังแพะ หรือหนังลูกวัวขึงขึ้นหน้า กว้างประมาณ 9-10 เซนติเมตร เจาะกะโหลกทะลุตรงกลาง ทั้ง 2 ข้าง สอดคันทวนเข้าไปในรูผ่า ทะลุออกมา คันทวนทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ขนาดยาวประมาณ 80 เซนติเมตรขึงสายไหมหรือเอ็นที่ปลายลูกบิด 2 เส้น สายเสียงต่ำอยู่ด้านบน สายเสียงสูง (สายเอก) อยู่ด้านล่าง ลูกบิดยาวประมาณ 17-18 เซนติเมตร นำเชือกหรือด้ายป่าน ผูกตรงกึ่งกลางคันทวน เรียกว่า "รัดอก" ที่ด้านหน้าซอ ใช้ไม้ที่มาตัดประมาณ 3 เซนติเมตร เรียกว่า หย่อง

sor kantruem 01

ซอกันตรึม นั้นมีลักษณะออกแนวหวานซึ้ง อ้อยอิ่ง มักใช้เป็นเครื่องดนตรีนำของเพลงต่างๆ สำหรับส่วนประกอบของซอกันตรึมนั้น มีดังนี้

  • กะโหลกซอ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ไม่ต่างจากเครื่องดนตรีประเภทซอชนิดอื่นๆ กะโหลกซอของซอกันตรึมจะทำจากกะลามะพร้าว ตัดส่วนที่เรียกว่า "พู" ออก แล้วขึงด้วยแผ่นหนังงูเหลือม ด้านหลังกะโหลกเจาะรูให้เสียงผ่าน ใช้เป็นตัวสะท้อนของเสียงให้ซอมีความกังวาน กะโหลกซอทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพของเสียงที่มาจากสายซอ ตรงหน้ากะโหลกส่วนที่ขึงด้วยหนัง ติดหย่องทำจากไม้เหลาบาง สำหรับรองหนุนสาย
  • คันซอ บ้างเรียก ทวนซอ เป็นลักษณะของไม้เหลายาวเรียว ขนาดเหมาะมือ สำหรับเสียบทะลุกับกะโหลกซอ ทำเป็นโครงของซอ ส่วนบนของคันซอแกะเป็นร่องสำหรับเสียบลูกบิด ถัดจากส่วนของลูกบิด มักเหลาให้โค้ง หรือสลักลวดลายต่างๆ รวมถึงประดับวัสดุบางชนิดเพี่อความสวยงาม
  • คันชัก เป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียง โดยการนำเอาไปเสียดสีกับสายซอ ส่วนของคันชัก ทำจากไม้เหลายาวเรียว แกะด้ามจับให้เหมาะมือ ตรงกลางดัดให้โก่งคล้ายคันธนู แล้วขึงด้วยเส้นเอ็นจำนวน 250 – 300 เส้น ส่วนนี้เรียกว่า หางม้า ใช้เป็นส่วนที่เสียดสีทำให้เกิดเสียง คันชักของซอกันตรึมจะถูกพาดอยู่ภายในสายซอเป็นชุดเดียวกันไปเลย ไม่สามารถแยกออกจากันได้
  • รัดอก เป็นส่วนของเส้นเอ็น หรือไนล่อน ที่มัดสายซอเข้ากับคันซอ เป็นส่วนที่ใช้มือกดเพื่อคุมโน้ตเสียงตามคีย์ต่างๆ ของเพลงแต่ละเพลง
  • ลูกบิด เป็นส่วนของไม้เหลา ปลายแหลม สำหรับเสียบทุลุคันซอที่แกะไว้ เพื่อขึงสายซอ เป็นส่วนที่ใช้ควบคุมความหย่อนหรือตึงของสายซอ โดยมากลูกบิดทำจากไม้ธรรมดา แต่อาจแกะเป็นลวดลายต่างๆ เพื่อความสวยงามได้
  • สายซอ ทำจากสายเอ็นหรือไนล่อน มี 2 สาย สายเอ็น คือส่วนกำเนิดเสียงของซอโดยการเสียดสีกับคันชัก จากนั้นเสียงที่เกิดขึ้นจะไปสะท้อนที่กะโหลกซอ ทำให้เสียงที่ได้มีลักษณะกังวาน

 กันตรึมดนตรีวิถีอีสานใต้

 หนุ่มสุรินทร์ "อนุชา ทวีเหลือ" ผลิต ซอกันตรึม ขายรายได้ดี

[ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ซออีสาน ]

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)