foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

tang wai header

ลำตังหวาย เป็นศิลปะการแสดงที่ปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสองฝั่งแม่น้ำโขง ไทย - ลาว โดยเริ่มต้นจากการขับลำประกอบดนตรี ภายหลังมีการฟ้อนรำประกอบ ทำนองการลำตังหวาย จนเป็นที่นิยมนำมาขับลำเพื่อความบันเทิงสองฝั่งแม่น้ำโขง และมีการนำมาสร้างสรรค์การขับลำและประกอบการแสดงอยู่เสมอ การลำตังหวายเริ่มต้นที่ บ้านตังหวายโคก เมืองซนนะบุรี แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเผยแพร่มายังประเทศไทยข้ามฝั่งแม่น้ำโขงสู่ บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลัง วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในปัจจุบัน) ได้นำการแสดงลำตังหวายมาสร้างสรรค์การแสดงใหม่ และเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักมาถึงปัจจุบัน

การลำตังหวาย ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื้อหาในการแสดงเน้นหนักในเรื่องของ การร้องในทำนองลำตังหวาย เป็นหลัก มีท่าฟ้อนรำ 4 ท่า เปลี่ยนสลับไปมาไม่ซับซ้อน มีการร้องรับในบทสร้อยว่า ยวกๆ ยวกๆ (Attapaiboon, 2006) ส่วนการฟ้อนรำตังหวายที่ บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มีการร้องบทสร้อย ยวกๆ ยวกๆ โดยมีท่าฟ้อนรำอยู่ 12 ท่า ส่วนท่าฟ้อนรำของ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีท่ารำเปลี่ยนไปตามบทร้องทุกท่อน และมีท่าฟ้อนรำเฉพาะในบทสร้อย ยวกๆ ยวกๆ เช่นเดียวกัน

ต้นกำเนิดการลำตังหวาย

การขับลำตังหวาย คือการขับลำพื้นเมืองประเภทหนึ่ง ของชนเผ่าลาวเทิง บรูกระตาก แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และในแขวงสะหวันนะเขตจะมี 8 ชนเผ่าด้วยกัน เช่น ในเขตดอย (ภูเขาสูง) ประกอบด้วย ตะโอ้ย จะลี และ กะเลิง ในเขตที่ราบสูงและที่ราบทั่วไปมี เผ่ากะตาง ละว้า ส้อย และเผ่ามะกอง ที่ราบลุ่ม คือ กลุ่มเผ่าลาว

chonpao sawannaket lao

การแต่งกายชนเผ่าในแขวงสะหวันนะเขต จากซ้ายมือ บรูส่วย ลาว บรูกระตาง ผู้ไท บรูมังกอง
บรูตรี บรูตะโอ๋ย บรูปะโกะ เผ่าบรูกระตาง คนที่ 3 จากซ้ายมือ
ที่มาของภาพ : กระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยว แขวงสะหวันนะเขต

การลำตังหวาย เดิมเรียกว่า "ลำตำหลอย" (Tamwisit, n.d.) โดยกลอนลำตำหลอยหรือตังหวายนั้น คือได้สืบทอดมาจากการเหยายา (การลำเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์และคณะ ที่กล่าวว่า "ลำตังหวาย" สืบทอดมาจากการขับลำในพิธีกรรม “การเหยายา” หรือการรักษาคนป่วย เช่น ลำผีฟ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชนเผ่ากะตางมาเนิ่นนาน (Singyaboot et al., 2002) การลำตังหวายนี้ ถ้าหากการลำอยู่แถวที่ราบสูง เป็นภาษาชนเผ่า เรียกว่า “ลำกะล็องเยาะ” ถ้าหากลำอยู่แถวที่ราบทั่วไป เป็นภาษาเผ่าชนเหมือนกัน เรียกว่า “ลำตำหลอย” ถ้าหากลาวลุ่มใช้ขับลำตามจังหวะเดิมมาเป็นภาษาลาวลุ่มเรียกว่า “ลำตังหวาย” เหตุที่เรียกว่า ตังหวาย เพราะเรียกการขับลำนี้ตามชื่อหมู่บ้าน “ตังหวายโคก”

ລຳຕັງຫວາຍຕົ້ນສະບັບແທ້ - เจ้าพ่อลำตั่งหวายขนานแท้ สปป.ลาว

จากข้อมูลของ ท้าวทองเสน วงคีรี นายบ้านตังหวายโคก เมืองซนนะบุรี แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ให้ข้อมูลว่า "ชาวบ้านตังหวายโคก เป็นชาวกลุ่มลาวเทิง เผ่ากระตาง สื่อสารภายในหมู่บ้านใช้ภาษาบรู กลุ่มภาษามอญ-เขมร และสามารถใช้ภาษาลาวได้ อดีตนับถือผี ปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธ แต่ยังคงถือผีควบคู่กันไป การลำตังหวายสืบทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย การแสดงลำตังหวายในอดีตยังไม่มีชื่อ เรียกว่า ลำกลองเญาะ ภายหลังได้ใช้ชื่อว่า ลำตำหลอย" ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของโพสีแก้ว ทำวิสิด (Tamwisit, n.d.) ที่ได้นำเสนอข้างต้น

การลำตังหวาย สามารถลำกันได้ทุกเพศ ทุกวัย ในอดีต ผู้ชายจะเป็นฝ่ายลำเพื่อการเกี้ยวพาราสีฝ่ายหญิง (ในภาษาบรู เรียกการเกี้ยวสาวว่า ปา-รา-เยอะ-กะ-โมล) ถ้าฝ่ายหญิงมีความสามารถโต้ตอบได้ ก็จะตอบกลับโดยใช้ผญาโต้ตอบฝ่ายชาย การลำตังหวายไม่มีการประพันธ์ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นการลำแบบด้นสด สามารถคิดการลำได้เอง โดยใช้ทำนองลำตังหวาย บุญชู วงคีรี (Wongkeeree, 2018) ให้ข้อมูลว่า "ในอดีต ตนลำตังหวายเป็นเองโดยไม่ได้เรียนกับครูท่านใด เริ่มลำจากการไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายที่ทุ่งนา และนึกอยากจะลำก็ลองลำ และสามารถลำได้เองจนมาถึงปัจจุบันนี้"

เครื่องดนตรีประกอบ ประกอบด้วย แคน กระจับปี่ (พิณ) ซอ (ซอบั้งไม้ไผ่)

การแต่งกาย เสื้อผ้าฝ้ายย้อมคราม นุ่งซิ่นผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมคราม แพรเบี่ยงโดยใช้ผ้าสีขาวหรือผ้าขาวม้า ผู้ชายสวมเสื้อย้อมคราม ใส่ผ้าโสร่ง ผ้าผูกเอว

ບົດຟ້ອນ ລຳຕັງຫວາຍ ໂດຍ: ມສ ເມືອງເງິນ

เวลามีงาน หรือเวลามีแขกต่างถิ่นมาเยี่ยมเยือน จะมีการลำตังหวายให้ชม ปัจจุบัน มีการสืบทอดรุ่นใหม่ โดยผู้ที่มีพรสวรรค์จะมาลำตังหวาย โดยส่วนใหญ่จะใช้นักเรียนในโรงเรียนเป็นผู้สืบทอด ชาวบ้านตังหวายโคก เองเคยได้รับเชิญไปทำการแสดงที่ประเทศเวียดนาม และภายในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามโอกาสสำคัญ

การลำตังหวาย สปป.ลาว สู่ราชอาณาจักรไทย

การรับเอาวัฒนธรรมลำตังหวาย จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สู่ราชอาณาจักรไทย โดยข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้าสู่บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านม่วงเจียด เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไทย-ลาว มีประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาซึ่งสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีต ในพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตา จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจัดให้มีการลำตังหวายเพื่อถวายแด่ปู่ตาในช่วงบุญเดือนหก ก่อนเริ่มการทำการเกษตรของชุมชนบ้านม่วงเจียด เพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร โดยทำ “การบ๋า” (การบน) ต่อปู่ตา เพื่อให้คนในชุมชนมีน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการอุปโภค บริโภค เพื่อให้ลูกหลานในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์

tang wai 01

เมื่อถึงวันที่กำหนดในการทำพิธีบ๋าปู่ตา คนในหมู่บ้านม่วงเจียดจะไปพร้อมกันที่ศาลปู่ตา และจะนำเอาเครื่องเซ่นสังเวย ได้แก่ ดอกไม้ ธูป เทียน สุรา อาหารคาว ขนมหวาน น้ำดื่ม บุหรี่ หมาก พลู ไก่ต้ม เป็ดต้ม หัววัวหรือควาย หัวหมู สิ่งของเครื่องเซ่นสังเวยบวงสรวงเหล่านี้จะนำไปตั้งไว้ที่ศาลปู่ตา ผู้ประกอบพิธีกรรมคือ เจ้ากวน หรือ เฒ่ากวน เฒ่าจ้ำ จะเป็นผู้กล่าวเชิญเจ้าปู่ตาให้มารับเครื่องสังเวยเลี้ยงดูเหล่านี้ และกล่าวขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้พืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอยู่ดีมีความสุข

พิธีกรรมนี้มีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงประกอบด้วย รำถวย (การฟ้อนรำถวายปู่ตา) หมายถึง การฟ้อนรำเพื่อถวายแด่ปู่ตา และการขับลำตังหวาย บรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสานในพิธีกรรมนี้ ในอดีตจะมีการขับลำประกอบดนตรีเท่านั้น ภายหลังได้มีการฟ้อนรำประกอบด้วย และสืบทอดศิลปะการแสดงนี้มาจนถึงปัจจุบัน บทประพันธ์การลำตังหวายที่ อาจารย์ประดิษฐ์ แก้วชิน อดีตครูใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านเจียด ได้ประพันธ์ไว้เพื่อบูชาปู่ตา มีดังนี้ (เนื้อร้องนี้ได้ข้อมูลจาก ผศ.ทินกร อัตไพบูลย์ (Attapaiboon, 2006))

ข้าขอยอ นอแหม่นมือน้อม ต่างเทียนนอ แห่แหม่นเทิงธูป ถวายแด่พระแหม่นแผ่นหล้า ฤทธีกล้ากว่าไตร ไทยเมืองแมน ยวกๆ ยวกๆ

ขอให้มานอนแม่เนายั้ง ในผามเพียงบ่อนเลี้ยงบ่าว ชาวสรรค์นอแม่แมกฟ้า จงมาพร้อมแม่นผ่ำมวล ขอเชิญชวน ยวกๆ ยวกๆ

ขอให้มานอแม่นเอาท้อน ขอถวายพรทุกถ้วนอย่าง ทางเผ่าฝูงนอแม่นข้าน้อย มายอยื่นหยื่นถวาย สายคอแนน ยวกๆ ยวกๆ

สรรพสิ่งนอแหม่นของเลี้ยง ทั้งคาวหวานทุกถ้วนถั่ว ยูถ่างสรรนอแหม่นเลือกเฟ้น ประเคนยื้อหยื่นถวาย สายคอแนน ยวกๆ ยวกๆ

มีทั้งปูนอแหม่นปลาพร้อม วัวควาย ฉีกงาด่วน ถั่วและงาเป็ดไก่พร้อม ดอกไม้แหน่มหมากพลู มูลคูนใจเอย ยวกๆ ยวกๆ

ขอให้เหวยต่อประสงค์ซึ่ง ตามพระทัยทะลอนโปรด โทษข้ามีดอก แหม่นเผื่อแก้ในปากนี้แหม่นส่วง เอาเบาใจนาง ยวกๆ ยวกๆ

ถอดความโดยสรุป

ลำตังหวายที่ใช้ในพิธีกรรมเลี้ยงปู่ตา ข้าพเจ้าขอพนมมือน้อม เทียน ธูป ถวายต่อผืนแผ่นดิน ทั้งผู้มีฤทธิ์ ขอเชิญชาวสวรรค์มายังปะรำพิธี โดยพร้อมเพียงกัน ขอให้มาประทานพร ให้แก่พวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้นำ ของอาหารคาวหวาน ที่เลือกสรรอย่างดีเพื่อมาน้อมถวาย ปู ปลา วัว ควาย เป็ด ไก่ ถั่ว งา หมาก พลู ดอกไม้ และของมงคล ขอให้รับประทานตามประสงค์ "

ดนตรีใช้ประกอบ ได้แก่ แคน พิณ กลอง ไม้งับแงบ ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ อิเล็กโทน (ใช้ในภายหลัง) ผู้ขับร้องลำตังหวาย สามารถขับร้องได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

อาจารย์ประดิษฐ์ แก้วชิณ ดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านเจียด ได้ริเริ่มการแสดงลำตังหวาย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 โดยการฝึกหัดให้ชาวบ้านรำตังหวายถวายปู่ตา และได้นำออกแสดงในงานต่างๆ จนเป็นที่นิยม จากนั้นได้พัฒนาท่าฟ้อนรำให้เหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งประพันธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่ ท่านได้นำลำตังหวายมาฝึกหัดฟ้อนรำให้กับนักเรียน ตั้งแต่ระดับชั้น ป.2 ถึงชั้น ป.7 (สมัยนั้นเปิดถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7) และได้รับความร่วมมือจากคณะครู-อาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านเจียดเป็นอย่างดี

tang wai 02

ต่อมา ผศ.ทินกร อัตไพบูลย์ สาขาวิชาดนตรี และผศ.ศิริเพ็ญ อัตไพบูลย์ สาขาวิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้พบการแสดงรำตังหวายของบ้านม่วงเจียดที่มาทำการแสดงในงานขึ้นปีใหม่ ที่สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เห็นว่าการแสดงนี้มีเอกลักษณ์ จึงคิดที่จะส่งเสริมและสืบทอด ภายหลังได้ไปศึกษาข้อมูลการลำตังหวายจาก อาจารย์ประดิษฐ์ แก้วชิณ และได้นำเอาท่าฟ้อนรำตังหวายและบทร้องไปปรับประยุกต์ใหม่ จนเป็นเอกลักษณ์ของ วงโปงลางสังข์เงิน วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้นำการแสดงฟ้อนรำตังหวาย แสดงในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2523 ทำให้การฟ้อนรำตังหวายเป็นที่รู้จัก และได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภายหลังได้นำการแสดงออกเผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนทำให้การฟ้อนรำตังหวายเป็นที่รู้จัก และสร้างชื่อเสียงให้กับวิทยาลัยครูอุบลราชธานี และจังหวัดอุบลราชธานีมาถึงปัจจุบัน

"ลำตังหวาย"

เนื้อร้องฉบับของ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ปัจจุบัน)

(เกริ่นนำ)

โอ..... บุญเอ๋ย บุญอีนางที่เคยสร้าง ซางบ่เป็นหนทาง โอ๊ยหนทาง พอให้น้องได้เที่ยว
ละซางมีบาปมาแล่นเข็น ละซางมีเวรมาแล่นต้อง ทำให้น้องห่างพี่ชาย ห่างพี่ชาย โอ๊ยละนา ....

(กล่าวคำกลอน)

ตังหวายนี้มีมาแต่โบราณ ชาวอีสานบำรุงไว้อย่าให้หาย
ของเขาดีมีไว้อย่าทำลาย ขอพี่น้องทั้งหลายจงได้ชม
เขมราฐอำเภอถิ่นบ้านเกิด ช่วยกันเถิดรักษาไว้อย่าได้สูญ
ท่าฟ้อนรำต่างๆ ช่วยเพิ่มพูน อย่าให้สูญเสียศิลปะเรา

(ขึ้นทำนองลำ)

(หญิง) บัดนี้ ข้าขอยอนอแม่นมือน้อม ชุลีกรเด้อแม่นก้มกราบ ชูสลอนนอนบนอบนิ้ว ถวายไท้ดอกผู้อยู่เทิง อ้ายพี่คนงามนี่นา หนาคิงกลม (ยวกๆๆๆ)

(หญิง) ชายเอย จุดประสงค์นอแม่นหมายแม้น เพื่อเผยศิลป์นอพื้นบ้านเก่า ของไทยเฮานอตั้งแต่ก่อน โบราณผู้ให้เฟื่องให้ฟู อ้ายพี่ของน้องนี่นา คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ชาย) คำนาง ปูเป็นทางนอเพื่อเลือกแต้ม ทางอีสานนอบ่ให้หลุดหล่น มรภ.อุบลฯ เฮาแม่นพวกพ้อง นำมาฮ้อง ออกโฆษณา หล่าพี่คนงามนี่เอย หนองหมาว้อ (ยวกๆๆๆ)

(หญิง) ชายเอย หาเอาตังกะละแม่นหวายเซิ้ง ลำแต่เทิงน้อบ้านเจียดก่อ สืบแต่กอเด้อซุมผู้เฒ่า ใบลานพู้นดอกพื้นกะหาย ดอกพื้นกะหาย ดอกพื้นกะหาย อ้ายพี่ของน้องนี่นา คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ชาย) คำนาง คนจบๆ เด้อแม่นจั่งน้อง งามๆ เด้อแม่นจั่งน้อง ซางบ่ไปน้อแม่นกินข้าว หัวมองหนอแม่นนำไก่ คนขี้ฮ้ายคือว่าจั่งอ้าย กินข้าวแม่นบ่ายปลา หล่าพี่คนงามนี่เอย ครูบ้านนอก (ยวกๆๆๆ)

(หญิง) ชายเอย คิดถึงคราวนอแม่นเฮาเว้า อยู่เถียงนาน้อบ่มีฝา แม่สิฟาดนอแม่นไม้ค้อน แม่สิย้อนนอแม่นไม้แส้ ตีน้องนั่นแต่ผู้เดียว นั่นแต่ผู้เดียว นั่นแต่ผู้เดียว อ้ายพี่ของน้องนี่นา คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ชาย) นางเอย ไปบ่เมือนอแม่นนำอ้าย เมือนำนอแม่นอ้ายบ่ ค่ารถอ้ายบ่ให้เสีย ค่าเฮืออ้ายบ่ให้จ้าง อ้ายสิตายนอแม่นเป็นซ้าง เอราวัณนอให้น้องขี่ ตายเป็นรถนอแม่นแท็กซี่ ให้น้องนี่ขี่ผู้เดียว ขี่ผู้เดียว ขี่ผู้เดียว หล่าพี่คนงามนี่เอย คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(หญิง) ชายเอย ย้านบ่จริงนอแม่นจั่งว่า สีชมพูนอแม่นจั่งว่า หย้านคือตอกกะลิแม่นมัดกล้า ดำนาแล้วดอกเหยียบใส่ตม เหยียบใส่ตม เหยียบใส่ตม อ้ายพี่ของน้องนี่นา คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ชาย) บัดนี้ ขอสมพรนอแม่นไปให้ ทหารไทยนอแม่นกล้าแกร่ง ทั้งชายแดนและตำรวจน้ำ อ.ส.กล้าท่านจงเจริญ สรรเสริญภิญโญนอเจ้า ขอให้สุขนอแม่นทั่วหน้า ชาวประชาทุกคืนทุกวัน ทุกคืนทุกวัน ทุกคืนทุกวัน หล่าพี่คนงามนี่เอย คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ขึ้นทำนองเต้ยโขง)

เอ้าลาลาลาลาที เอ้าลาลาลาลาที ขอให้โชคดีเถิดนะแฟนจ๋า
เสียงจากลูกทุ่งบ้านนา เสียงจากลูกทุ่งบ้านนา โชคดีเถิดหนาลองฟังกันใหม่
ถ้าหากสนใจฉันขอขอบคุณ ถ้าหากสนใจฉันขอขอบคุณ
คันไกลคันไกลกันแล้ว คันไกลคันไกลกันแล้ว เฮือแจวมันไกลจากฝั่ง เฮือแจวมันไกลจากฝั่ง
ดอกสะมังละมันไกลจากต้น จากต้นละจากต้น จากต้น บ่มีได้แม่นกลิ่นหอม
นั่นละนาหนานวลนา ละนาคนไทยนี่นา หางตาเจ้าลักท่าลา พวกฉันขอลาไปแล้ว พวกฉันขอลาเจ้าไปแล้ว

ต้นตำหรับรำตังหวายฉบับ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี
เรียบเรียงคำร้อง ทำนองดนตรี โดย ผศ.ดร.ทินกร อัตไพบูลย์ และท่าฟ้อนรำ โดย ผศ.ดร.ศิริเพ็ญ อัตไพบูลย์

การแสดงลำตังหวายในปัจจุบัน

ปัจจุบันการแสดงฟ้อนรำตังหวาย ได้รับการสืบทอดโดย อาจารย์อนิรุทธิ์ แก้วชิณ บุตรชายของ อาจารย์ประดิษฐ์ แก้วชิณ และยังคงยึดการแสดงนี้เป็นศิลปะการแสดง และถือเป็นต้นตำรับการแสดงฟ้อนรำตังหวาย ที่เป็นศิลปะการแสดงคู่บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด เป็นเอกลักษณ์ ที่ปรากฎในคำขวัญของอำเภอเขมราฐ ที่ว่า

ต้นตำรับรำตังหวาย ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์น้ำใจงาม สุดเขตแดนสยาม มะขามหวานหลายหลาก กล้วยตากรสดี ประเพณีแห่เทียนพรรษา แข่งนาวาสองฝั่งโขง "

ลำตังหวาย ลำโดย เซียงสะหวัน-นวนละออ 1

ส่วนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การลำตังหวาย ยังคงมีการแสดงโดยคนในชุมชน บ้านตังหวายโคก เมืองซนนะบุรี แขวงสะหวันนะเขต  และมีการสืบทอดศิลปะการแสดงนี้ และใช้การแสดงนี้เป็นหนึ่งในทุนทางวัฒนธรรมประจำแขวง ตามคำขวัญที่ว่า

สะหวันนะเขต ผืนแผ่นดินคำ พระธาตุอิงฮัง สถานบูรานงามสง่า สัตว์โลกดึกดำบรรณ ไดโนเสาร้อยล้านปี ประเพณี วัฒนธรรมเลิศล้ำ ถิ่นกำเนิด ขับลำสี่จังหวะ ”

ลำตังหวาย ลำโดย เซียงสะหวัน-นวนละออ 2

หมายเหตุ : "ขับลำสี่จังหวะ" ประกอบไปด้วย ลำคอนสะหวัน ลำตังหวาย ลำภูไท ลำบ้านซอก ซึ่งทั้งสี่ลำมีต้นกำเนิดจากแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว

redline

backled1

 klong header

กลอง เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีกระทบ ประกอบด้วยแผ่นวัสดุบางหุ้มทับไม้ที่มีโพรงกลวง วัสดุนี้มักทำด้วย "แผ่นหนังสัตว์" ขึงยึดติดกับโครงให้ตึง ทำให้เกิดเสียงโดยการตีด้วยไม้ หรืออวัยวะของผู้เล่น กลอง จัดเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในอดีตวัสดุหุ้มกลองจะทำจากหนังสัตว์ฟอกให้เป็นแผ่นบาง ตากให้แห้ง จึงนำมาขึงหุ้มเป็นหน้ากลอง ปัจจุบันมีการพัฒนากลองที่ใช้วัสดุจำพวกพลาสติกหุ้ม ซึ่งจะให้เสียงที่แตกต่างกันออกไป

การใช้อุปกรณ์ในการตี กลองที่ทำจากพลาสติกจะต้องใช้ไม้ช่วยตี เพื่อช่วยให้เกิดเสียงที่ดังขึ้น เช่น กลองสแนร์ และ กลองชุด เป็นต้น ส่วนกลองที่ทำมาจากหนังสัตว์ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ไม้ตี เนื่องจากเราสามารถใช้แค่มือตีลงไปโดยตรง ก็จะทำให้เกิดเสียงดังก้องกังวานพอตัวอยู่แล้ว เช่น กลองยาว กลองรำมะนา ตะโพน เป็นต้น แต่ก็มีกลองหนังที่จำเป็นต้องใช้ไม้ตีก็มี เช่น กลองสะบัดชัย และกลองทัด เนื่องจากเป็นกลองขนาดใหญ่จึงไม่สามารถใช้มือตีอย่างเดียวได้

klong 01

โดยปกติกลองจะใช้ในการให้จังหวะดนตรี เพื่อความบันเทิง สนุกสนาน รื่นเริง แต่ก็ยังมีการนำใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การตีกลองเพื่อส่งสัญญาณเรียกประชุม ตีกลองเพื่อบอกเหตุร้าย การตีกลองเพื่อร้องทุกข์ต่อศาล การตีกลองเพื่อเปิดศึกสงครามในสมัยก่อน และการตีกลองเพื่อบอกเวลาต่างๆ (เช่น เวลาย่ำรุ่ง เพล ย่ำค่ำ) ในสมัยยังไม่มีนาฬิกาก็ตีเป็นสัญญาณเพื่อบอกให้ชาวบ้านนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ เป็นต้น

klong 02

กลองที่ใช้ในการตีบอกเหตุส่วนใหญ่จะใช้ "กลองเพล" ยามมีเหตุเภทภัยต่างๆ จะตีส่งสัญญาณให้ทราบได้กว้างไกลเท่าที่เสียงกลองจะดังไปถึง มีปรากฏว่าใช้เป็นที่หลบภัยร้ายตามนิทานพื้นบ้านอีสาน เรื่อง "นางคำกลอง" อันเป็นนิทานที่มีทั้งในฝั่ง สปป.ลาว และไทย ในการตีบอกเหตุต่างๆ นั้น "กลองเพล" จะถูกเรียกชื่อต่างออกไปตามสถานการณ์ที่บอกเหตุ (สมัยโบราณนั้นยังไม่มีเครื่องขยายเสียง หอกระจายข่าวของหมู่บ้าน การใช้สัญญาณกลองจึงเป็นสื่อที่เข้าใจกันได้ของชาวบ้าน) ดังนี้

  • กลองงัน น. กลองเพลที่ใช้ตีในวัน 7-8 ค่ำ และ 14-15 ค่ำของทุกเดือน ใช้ตีในเวลาทุ่มเศษ การตีใช้ช่วงสั้นๆ เพียง 3 บท เพื่อเตือนญาติโยม, ชายหนุ่มหญิงสาว, ลูกเล็กเด็กแดงภายในบ้าน ให้ออกมาทำวัตรสวดมนต์ หรือฟังคำสั่งสอนจากพระสงฆ์ . drumming of Isan temple drum at about 7 P.M. on four monthly Buddhist holy days to villagers to worship.
  • กลองเดิก น. กลองเพลที่ใช้ตีในเวลาตีสี่ ของวัน 7-8 ค่ำ และวัน 14-15 ค่ำของทุกเดือน เมื่อถึงวันเช่นนี้พระสงฆ์ในวัดทุกวัดภาคอีสานจะลุกขึ้นตีกลอง เพื่อเตือนญาติโยมให้รู้ว่า พรุ่งนี้จะเป็นวันพระแล้ว ให้เตรียมตัวเตรียมใจให้มารับศิลกินทาน กลองที่ตีในวันเช่นนี้ เรียก "กลองเดิก" (ดึกดื่น, เที่ยงคืน นั่นเอง). drumming of Isan temple drum at 4 A.M. on four monthly Buddhist holy days.
  • กลองท้วง น. กลองเพลที่ใช้ตีในเวลาเกิดเหตุ เช่น ไฟไหม้เรือน หรือพระตกแม่ออก (ยุ่งเกี่ยวกับสตรี) คือ พระต้องอาบัติปาราชิก การตีกลองท้วงนี้จะตีในเวลาไหนก็ได้ แต่ต้องตีให้ใกล้กับเวลาเกิดเหตุเพื่อเตือนให้ช่วยกันหาทางดับเหตุ. drumming of Isan temple drum used to signal emergency (fire, etc.),or mark start of ordination procession.

klong 12

  • กลองเพล น. กลองขนาดใหญ่ หุ้มสองหน้า ใช้ตีในเวลา 5 โมงเช้าทุกวัน การตีใช้ตีสามช่วง ตีจากห่างไปหาถี่ กลองที่ตีในระยะนี้เรียก "กลองเพล" ตีเพื่อเตือนพระสงฆ์และเตือนญาติโยมให้นำภัตตาหารมาถวายพระเณร. large, two-headed drum at Isan temples, also, drumming on temple drum at 11 A.M. which marks time for monks final meal of day.
  • กลองแลง น. กลองเพลที่ใช้ตีบอกเวลาลงฟังเทศน์ของญาติโยม เรียก "กลองแลง" วัดในภาคอีสานเมื่อถึงเวลาบ่ายสามโมงพระสงฆ์จะตีกลอง เพื่อเตือนให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาฟังเทศน์ทุกวัน เรื่องที่พระสงฆ์นำมาเทศน์ให้ญาติโยมฟัง เป็นวรรณคดีอีสานเกี่ยวกับนิทานต่างๆ และศีลธรรมในทางพระพุทธศาสนา. drumming of Isan temple drum daily at 3 P.M. to call to evening sermon.
  • กลองโฮม น. กลองเพลที่ใช้ตีในเมื่อบ้านเมืองมีธุระจำเป็น เช่น จะสร้างวัดทำถนนหนทาง สร้างศาลากลางบ้านหรือสร้างสิ่งสาธารณะอื่นใด ซึ่งจะต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน การตีกลองในเวลาเช่นนี้ เรียก "ตีกลองโฮม, กลองรวม" ก็ว่า จะใช้ตีในเวลาไหนก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสม. drumming of lsan temple drum to call community meeting.

กลองอีสาน

ในภาคอีสานมีการนำ "กลอง" มาใช้เพื่อการต่างๆ ข้างต้น รวมทั้งการนำ "กลอง" มาเป็นเครื่องดนตรีประเภทตีให้จังหวะ หรือคุมจังหวะ โดยกลองที่จัดว่าเป็น "เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน" มีอยู่ 3 ชนิดคือ กลองตึ้ง กลองรำมะนา และกลองแอว (กลองยาว)

กลองตึ้ง

กลองตึ้ง เป็นกลองที่ให้เสียงทุ้มต่ำ คุมจังหวะตกของเพลง มีลักษณะทรงกระบอกกลมข้างในกลวง ตัวกลองทำจากต้นไม้ขนาดใหญ่เจาะตรงกลางเป็นรูทะลุ หุ้มด้านหนึ่งด้วยหนังสัตว์ ซึ่งนิยมใช้หนังวัว ขึงให้ตึงด้วยเชือกหนังสัตว์ตัดเป็นริ้วยาว (ปัจจุบันใช้เชือกไนล่อนแทน) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกลองตึ้งใหญ่พอๆ กับกลองเพล แต่ความยาวจะน้อยกว่า หรือยาวประมาณหนึ่งศอก

klong 03

กลองตึ้ง นิยมใช้ประกอบขบวนแห่ เช่น วงมโหรี และวงกลองยาว เนื่องจากมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถถือตีคนเดียวได้ จึงผูกเชือกหนังเป็นห่วงเล็กๆ ไว้ที่ขอบกลองตึ้ง สำหรับสอดไม้เข้าไป และหามกันสองคน โดยคนที่เดินตามหลังเป็นคนตี

กลองตึ้ง ให้เสียงคุมจังหวะตกเท่านั้น จึงตีเพียง ตึ้ง ตึ้ง (ไม่มีเสียงปะ) ที่จังหวะตกของเพลง ดังนั้น เพียงใช้ไม้ตีก็พอ ไม้สำหรับตีกลองตึ้ง ทำจากไม้ไผ่ ด้านปลายหุ้มมัดเป็นก้อนกลมด้วยเศษผ้า แต่หากไม่มีไม้ตี ก็สามารถใช้มือตีได้

กลองรำมะนา

กลองรำมะนา เป็นกลองที่ให้เสียงทุ้มต่ำเหมือนกลองตึ้ง ลักษณะทรวดทรงก็เหมือนกับกลองตึ้ง ต่างกันแต่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า ลักษณะคล้ายกลองพาเหรดหรือเบสดรัม (Bass Drum) ของวงดุริยางค์ ตัวกลอง ทำจากต้นไม้ขนาดกลาง เป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ก้ามปู ขนุน หรือต้นตาล เจาะรูทะลุตรงกลาง หุ้มด้านหนึ่งด้วยหนังวัวขึงให้ตึงด้วยเชือกหนังหรือเชือกไนล่อน ซึ่งกลองรำมะนามีน้ำหนักน้อยกว่ากลองตึ้ง จึงสามารถสะพายตีด้วยคนคนเดียวได้ กลองรำมะนา ใช้ตีประกอบวงมโหรี วงกลองยาว หรือตีให้จังหวะการเล่นพิณ แคน เป็นต้น

klong 04

กลองรำมะนา นอกจากคุมจังหวะตกแล้ว ยังสามารถตีส่งจังหวะได้ด้วย ซึ่งนั่นก็คือ มีทั้งเสียง ตึ้ง ตึ้ง และเสียง ปะ เวลาตีนิยมใช้มือเดียว ตีเป็นเสียง “ปะ” ใช้ฝ่ามือตีลงบนหน้ากลองพร้อมกับกดไว้ ตีเสียง “ตึ้ง” โดยใช้ฝ่ามือตีบริเวณตรงกลางหน้ากลองแล้วยกขึ้นทันที แต่อย่างไรก็ตาม วงโปงลางพื้นบ้านส่วนใหญ่ใช้กลองรำมะนาเป็นตัวช่วยคุมจังหวะ ซึ่งใช้หลักการของกลองตึ้ง แต่กลองตึ้งใหญ่มากเกินไป หายาก จึงใช้กลองรำมะนามาใช้แทน และตีคุมจังหวะตก เหมือนกลองกระเดื่องเหยียบในกลองชุดดนตรีสากล

กลองยาว

กลองยาว บางแห่งเรียก "กลองหาง" บางแห่งเรียก "กลองแอว" แต่โดยทั่วไปนิยมเรียกชื่อว่า กลองยาว เป็นเครื่องดนตรีในตระกูลของเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของแผ่นหนัง (Membranophones) ทำจากไม้เนื้อแข็ง ชาวผู้ไทเรียกชื่อว่า “กลองหาง” ทำด้วยไม้ขนุน ขึงด้วยหนังวัว หน้าเดียว นิยมนำมาบรรเลงในขบวนแห่หรือเซิ้งต่างๆ และใช้ในวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน (วงโปงลาง) ลักษณะของกลองหางหรือกลองยาว โดยทั่วไปนิยมเรียกชื่อว่า “กลองยาว” ซึ่งลักษณะทรวดทรงคล้ายกับกลองยาวภาคกลาง แต่ก็แตกต่างกัน คือ รูปทรงนับจากช่วงหน้ากลองลงมา จะเห็นว่า ตัวกลองจะยาวกว่ากลองยาวภาคกลาง ส่วนหางกลองจะสั้นกว่าของกลองยาวภาคกลาง และหางของกลองยาวอีสานจะบานออก สามารถตั้งได้อย่างมั่นคงโดยไม่ล้ม นอกจากนั้น การขึงหนังกลองแอวหรือกลองหางจะเอาด้านนอก หรือด้านที่มีขนสัตว์ไว้ด้านนอก

klong 05

กลองยาว นิยมทำจากไม้ขนุน เนื่องจากไม้ขนุนให้เสียงก้องกำทอนดี เนื้อแข็งพอประมาณไม่หนักมาก และมีสีสันสวยงาม มีขนาดความสูงประมาณ 80 - 90 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของหน้ากลอง ประมาณ 9 – 10 นิ้ว นำมาขุดให้ภายในกลวง โดยปลายด้านหนึ่งจะบานออกคล้ายดอกลำโพง เรียกว่า “ตีนกลอง” ตอนกลางเรียวคอด ด้านบนป่องออกเป็นกล่องเสียง หนังกลองนิยมทำจากหนังวัวน้อย หรือวัวรุ่นๆ เพราะมีหนังที่บาง มีความยืดหยุ่นดี ส่วนวัวแก่ จะมีหนังที่หนา ทำให้เสียงไม่ดี

การขึงหน้ากลอง เริ่มจากเอาหนังวัวไปตากแดด ใช้ไม้ตีเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อที่จะนำเอาหนังวัวไปขึงให้ตึงแล้วนำไปตากแดดจนแห้ง นำหนังวัวที่แห้งแล้วมาตัดเท่ากับขนาดของหน้ากลองที่ต้องการ พอตัดเสร็จก็นำหนังวัวไปแช่น้ำไว้ 1 คืน แล้วนำหนังวัวมาทุบกับพื้นดินโดยใช้ค้อนที่ทำจากไม้ทุบจนกว่าหนังวัวจะนิ่ม พอทุบเสร็จก็นำไปแช่น้ำอีก 30 นาที แล้วจึงนำหนังที่แช่แล้วมาสับรู (เจาะรู) เพื่อที่จะใช้เป็นที่ร้อยสายตึงหนังกลอง เชือกที่ใช้ร้อยสายโบราณใช้หนังสัตว์ตัดเป็นริ้วทำเส้นยาวๆ ปัจจุบันจะใช้เชือกไนล่อนเพราะว่ามีความเหนียวทน ไม่ยืดง่าย สะดวกและหาได้ง่ายกว่า

กลองยาว ที่ใช้ในคณะกลองยาวจะมีขนาดของกลองแต่ละลูกเท่ากัน เวลาจะใช้งานต้องใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก บดให้ละเอียดจนเหนียว นำมาติดหน้ากลอง บางแห้งก็ใช้กล้วยตากแห้งมาตำให้ละเอียดเหนียว เพื่อนำไปติดตรงกลางหน้ากลอง เพื่อปรับระดับโทนเสียง ให้กลองทุกลูกดังในคีย์เสียงเดียวกัน (ติดมากจะให้เสียงทุ้ม ติดน้อยจะให้เสียงแหลมกังวาน) เมื่อเล่นเสร็จแล้วจะขูดข้าวเหนียวหรือกล้วยตากแห้งออก ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาด คราบข้าวเหนียวออกจนหมด ก่อนนำไปเก็บ (ถ้าไม่ขูดออกจะทำให้หนังเกิดรา)

klong 06

วิธีการตีกลองหาง กลองหางหรือกลองยาว บรรเลงโดยการใช้มือตี การตีให้เป็นเสียง “ปะ” โดยการใช้ฝ่ามือตีลงบนหน้ากลองพร้อมกับกดไว้ การตีให้เป็นเสียง “เปิ้ด” โดยการใช้ครึ่งฝ่ามือท่อนบนตีลงบนริมหน้ากลอง แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งกดหน้ากลองไว้ทันที การตีให้เป็นเสียง “เปิง” โดยการใช้ครึ่งฝ่ามือท่อนบนตีลงบนริมหน้ากลองแล้วยกขึ้นทันที

ในวงดนตรีโปงลางพื้นบ้าน จะใช้กลองยาว 4 ลูก เรียงลำดับเล็กไปหาใหญ่ ขึงขึ้นเสียงกลองให้ได้เสียงที่มีระดับตัวโน้ตตามต้องการ เรียงลำดับเสียงสูงไปหาต่ำ ไล่จากขวาไปซ้าย คือ โด ลา ฟา เร วางกลองแต่ละลูกบนขาตั้งกลอง (โครงเหล็กโค้งเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ตีสามารถใช้มือตีไล่เสียงได้สะดวก ที่ระยะแขนเท่าๆ กัน) นิยมบรรเลงร่วมกับ กลองตึ้ง โดยมีกลองตึ้ง 1 ใบ กลองหาง หรือ กลองยาว 4 ใบรวมเป็นชุดกลองอีสาน หรืออาจจะใช้บรรเลงในขบวนแห่ต่างๆ ก็เรียกว่า วงกลองยาว

klong 07

คณะกลองยาวอีสาน

คณะกลองยาว หรือ วงกลองยาว เกิดขึ้นก่อนที่วงดนตรีโปงลางจะโด่งดังเป็นที่รู้จักเช่นในปัจจุบัน แต่คณะกลองยาวก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนา ประยุกต์รูปแบบนำเสนอใหม่ๆ และกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในภูมิภาคอีสาน โดยคณะกลองยาวนิยมใช้สำหรับประกอบขบวนแห่ต่างๆ เช่นเดียวกับวงมโหรีอีสาน

คณะกลองยาว ตามหมู่บ้านในสมัยก่อน ใช้กลองยาวเป็นเครื่องดนตรีหลัก โดยใช้กลองตึ้ง 1 และกลองยาวประมาณ 3-5 ลูก ไม่มีพิณหรือแคนบรรเลงลายประกอบ อาศัยเพียงลวดลายของจังหวะกลอง และลีลาการตีฉาบใหญ่เป็นสิ่งดึงดูด ซึ่งคณะกลองยาวยุคนี้ยังไม่มี "ขบวนนางรำ" ฟ้อนรำประกอบ (และอาจยังไม่มีชุดแต่งกายประจำคณะด้วย)

klong 08

เมื่อคณะกลองยาวพัฒนาขึ้นเป็น "คณะกลองยาวยุคใหม่" จริงๆ เพื่อดึงดูดให้เจ้าภาพงานมาว่าจ้าง บางคณะจึงได้เพิ่มจำนวนกลองขึ้นมาให้ดูยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้น เช่น ใช้กลองยาว 10 ลูกบ้าง 14 ลูกบ้าง จนมากถึง 20 ลูกบ้าง และนอกจากจะให้ผู้ชายตีกลอง บางคณะอาจใช้ผู้หญิงมาวาดลวดลายการตีก็มี แต่ในยุคนั้น ยังเป็นการโชว์ลวดลายการตีกลองยาวอย่างเดียวอยู่ จึงยังไม่มีพิณ-แคนมาบรรเลงประกอบ และยังไม่มีขบวนนางรำฟ้อนประกอบ คนตีกลองจะรับหน้าที่วาดลวดลายการฟ้อนไปด้วยในขณะตีกลองไปด้วย

กลองยาวศิลป์อีสาน มมส  ชนะเลิศอันดับ 1 ออนซอนกลองยาวชาววาปี 2563

ส่วนคณะกลองยาวในยุคปัจจุบัน ได้นำเครื่องดนตรีหลายๆ อย่างมาประยุกต์เสริมเข้าไป เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น นั่นคือ นอกจากใช้การโชว์กลองเป็นจุดขายแล้ว ยังขายความบันเทิงอื่นๆ ด้วย เช่น ใช้เครื่องดนตรีพิณ- แคนบรรเลงประกอบ บางวงมีอีเล็กโทนบรรเลงด้วย มีการใช้เครื่องขยายเสียงร่วมด้วยเพื่อให้เสียงพิณ-แคน หรืออีเล็กโทนที่ระดับเสียงเบากว่ากลองดังได้ไกลขึ้น มีขบวนนางรำฟ้อนประกอบขบวนแห่ มีเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ และบางคณะอาจมีการจัดรูปแบบขบวน ตกแต่งรถสำหรับขบวนแห่แบบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งนี่คือตัวอย่างแห่งศิลปวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่งของกลองยาวอีสาน

klong 09

เครื่องดนตรีหลัก ประจำคณะกลองยาว

  • กลองยาว
  • กลองตึ้ง (บางแห่งก็ไม่ใช้)
  • รำมะนา
  • ฉิ่ง
  • ฉาบเล็ก + ฉาบใหญ่
  • พิณ, แคน, หรืออีเล็กโทน, เบส (ประยุกต์ใช้ร่วมคณะกลองยาวในภายหลัง)

คณะกลองยาววงใหญ่ หรือ วงเล็ก ในสมัยก่อนขึ้นอยู่กับจำนวนกลองยาวที่ใช้ โดยวงขนาดเล็ก ใช้กลองยาวประมาณ 3-5 ลูก หากกลองยาวไม่เกิน 20 ลูก ก็ยังถือว่าเป็นวงขนาดกลางอยู่ หากมีจำนวนเกิน 20 ลูกขึ้นไป จัดว่าเป็นวงขนาดใหญ่ ในปัจจุบัน นอกจากจะดูเรื่องจำนวนกลองยาวแล้ว ยังต้องดูขบวนนางรำประกอบด้วยว่า มีจำนวนกี่คน

กลองยาว ที่ใช้ในคณะกลองยาว จะต้องปรับเสียงให้กลองทุกลูกดังในคีย์เสียงเดียวกัน โดยใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก นำมาบดให้ละเอียด ติดที่หนังหน้ากลอง ปรับขนาด ทดลองตีเทียบจนได้เสียงที่เท่ากัน และเมื่อการละเล่นเสร็จแล้วทุกครั้ง ก็ต้องนำมาทำความสะอาด เอาคราบข้าวเหนียวที่ติดอยู่หน้ากลองออกให้หมด ก่อนนำกลองไปเก็บเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในหนังหน้ากลองนั่นเอง

คณะมโหรีอีสาน

คณะมโหรีอีสาน หรือ วงมโหรีอีสาน เป็นวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซื่งได้รับความนิยมกันมากในยุคก่อนที่วงดนตรีโปงลางจะโด่งดัง นิยมใช้บรรเลงประกอบขบวนแห่ต่างๆ ซึ่งเครื่องดนตรีหลักประเภทให้จังหวะจะคล้ายๆ กันเกือบทุกหมู่บ้านหรือทุกคณะ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทบรรเลงทำนองอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า หมู่บ้านไหนจะสามารถเล่นเครื่องดนตรีอะไรได้ชำนาญกว่ากันบ้าง

ลายมโหรีอีสาน โดย วงโปงลางศิลป์อีสาน มมส.

โดยเครื่องดนตรีหลักของคณะมโหรี อีสานจะประกอบด้วย

  • กลองตึ้ง
  • รำมะนา
  • ฉาบ
  • เครื่องดนตรีบรรเลงทำนองอย่างน้อย 1 ชนิด (อาจเป็น พิณ แคน ซอ โหวด)

เครื่องดนตรีประจำวงมโหรีอีสานที่พบมาก คือ

  • กลองตึ้ง
  • รำมะนา
  • ฉาบ
  • ฉิ่ง
  • ฆ้องโหม่ง
  • ซออีสาน
  • ปี่

หรือ บางคณะอาจใช้แตกต่างออกไปเช่น

  • กลองตึ้ง
  • รำมะนา
  • ฉาบ
  • ฉิ่ง
  • พิณ
  • แคน

"มโหรีอีสาน - ฉบับเต็ม" บรรเลงพิณ : ทองเบส ทับถนน

ลายเพลงที่ใช้บรรเลงหลักๆ แล้วจะใช้เพลง มโหรีอีสาน ซึ่งแต่ละวงอาจจะมีลูกเล่น หรือท่วงทำนองแตกต่างกันออกไป นั่นคือเพลงหลัก แม้จะเรียกว่า มโหรีอีสาน เหมือนกัน แต่ทำนองเพลงอาจจะไม่เหมือนกันทีเดียวนัก ซึ่งนักดนตรีที่มีความสามารถทางการเดี่ยวเครื่องดนตรีอาจจะสอดใส่ลวดลายพิเศษเข้ามาร่วมด้วย และนอกจากเพลงมโหรีอีสานแล้ว อาจจะมีลายเพลงอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย ให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นถูกใจเจ้าภาพให้จ้างงานในโอกาสต่อไป

การเส็งกลอง

นอกจากการนำกลองชนิดต่างๆ มาตีเพื่อให้เกิดจังหวะดนตรี ให้เกิดความสนุกสนาน รื่นเริง ใช้ในการตีบอกเพื่อเหตุต่างๆ แล้ว กลองยังถูกนำมาใช้ในการแข่งขันในการตีให้เกิดเสียงดังด้วย เรียกว่า "การเส็งกลอง" ซึ่งมีคำในภาษาการพูดของคนอีสานที่น่าสนใจอยู่ 2 คำ คือ

  • กลองเส็ง เป็นคำนาม หมายถึง กลองที่นำมาแข่งขัน มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีหน้ากลอง 1 ด้าน หุ้มด้วยหนังวัว ส่วนด้านล่างปล่อยกลวงทะลุตลอดตามยาวของกลอง กลองที่นำมาใช้ในการแข่งขันนี้เรียก "กลองเส็ง" หรือ "กลองกิ่ง"
  • เส็ง เป็นภาษาอีสานหมายถึง การแข่งขัน การประชันกัน ซึ่ง “เส็งกลอง” เป็นคำกริยา หมายถึง การแข่งขันกลองหรือการแข่งขันการตีกลอง เส็งกลองเป็นการละเล่นของชาวอีสาน เริ่มขึ้นเมื่อไรนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏบันทึกไว้

การเส็งกลอง หรือ การตีกลอง เป็นประเพณีการละเล่นของชาวอีสานเพื่อขอฝนจากพญาแถน นิยมเล่นกันในงานประเพณีบุญบั้งไฟ และบุญผะเหวดตามฮีตสิบสองของคนอีสาน ชุมชนอีสานในหลายจังหวัด เช่น นครพนม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ฯลฯ ยังคงอนุรักษ์และสืบสานประเพณีไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ได้ชื่นชมกัน

klong 10

กลองกิ่ง หรือ กลองเส็ง ชาวบ้านจะช่วยกันทำกลองขึ้นมาเอง ไม้ที่นิยมนำมาทำกลองคือ ไม้ประดู่ ไม้มะรุมป่า และไม้ขนุน หนังที่ใช้ขึงหน้ากลองจะเป็นหนังวัว นิยมทำกลองเป็นคู่ๆ มีขนาดเท่ากัน และเรียกชื่อตามขนาดความยาวของรัศมีหน้ากลอง เช่น กลองเส็งขนาด 50, 60, 70 นิ้ว กลองทั้งคู่เมื่อตีแล้วจะต้องได้เสียงในระดับเดียวกัน จึงต้องมีการปรับจูนเสียงให้เป็นเสียงเดียวกัน ชาวบ้านเรียกว่า “การเข่งกลอง” คือการหมุนหรือขันเส้นเชือกที่รั้งหนังหน้ากลอง ถ้าต้องการให้ได้เสียงดังจะต้องขันหนังกลองให้ตึงที่สุด

ไม้ที่ใช้ตี ด้ามจับทำด้วยไม้ขนาดพอเหมาะและทำสายคล้องมือ เพื่อไม่ให้ไม้หลุดมือเวลาตี ส่วนก้านมักจะทำด้วยเหล็กเส้น ส่วนหัวจะทำด้วยตะกั่ว

ผู้ที่จะเส็งกลองได้ดีจะต้องสามารถตีกลองทั้งคู่ทั้งสองมือได้พร้อมๆ กัน และมีความแม่นยำในการตี ก่อนตีจะมีการพรมน้ำลงที่หนังหน้ากลองให้หนังนิ่ม เสียงที่ตีได้จะมีความทุ้มนุ่มนวลกว่าการตีกลองที่หนังหน้ากลองแห้ง หากตีกลองจนไม้ที่ทำกลองแตกหรือปริ จะทำให้กลองเสียงไม่ดี ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้คือ การนำเปลือกยางบงมาป่นให้เป็นผงละเอียด นำมาผสมน้ำและยาลงไปบนเนื้อไม้บริเวณที่แตกหรือปรินั้น บ้างก็ตีจนหนังหน้ากลองแตก ก็จะมีการเปลี่ยนหน้ากลองใหม่ [ อ่านเพิ่มเติม : กลองเส็งบ้านเป้า ]

klong 11

redline

backled1

sor isan

ตำนาน ซอ

"ซอ" เป็นเครื่องดนตรีประเภทสี จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ทำให้เกิดเสียงโดยอาศัยคันชักสีเข้ากับสาย มีส่วนสาคัญ 2 ส่วนคือ ตัวสั่นสะเทือน (Vibrator) และตัวขยายเสียง (Resonator) และมีการสันนิษฐานว่า เครื่องสายนี้น่าจะเกิดหลังเครื่องดนตรีประเภทดีด เราเรียกเครื่องสายประเภทนี้ด้วยคำในภาษาไทยว่า "ซอ" แม้แต่เครื่องสีของฝรั่งที่เรานำมาใช้ในตอนหลังนี้ เราก็เรียกว่า "ซอ" เช่นกัน

"ซอ" สันนิษฐานน่าจะเป็นคำยืมมาจากภาษาอินเดีย เพราะซอสามสายของอินเดียในแคว้นแคชเมียร์เรียกว่า "ซาซ์" หรืออาจจะมาจากคำ "ซะโร" ซึ่งเป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของซอ "ซารินดา" ของอินเดีย แม้ในภาคเหนือของเราก็็เรียกว่า "ซอลอ" หรือ "สะล้อ" หรือ "ตะล้อ" หรือ "ทะลอ" ซึ่งเขมรก็เรียก "ซอ" วา "ตะรอ" หรือ "ตะรัว" หรือ "ตรัว" เป็นชื่อเรียกในแถบจังหวัดอีสานใต้ของไทย

sor international

การพัฒนาของเครื่องสายไทย หากตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับวงเครื่องสาย ไม่ว่าจะเป็น วรรณคดี ประวัติศาสตร์ จะพบว่า ลักษณะของวงเครื่องสายเป็นวงที่เก่าแก่ที่สุดวงหนึ่ง แต่มิได้ใช้มาเป็นวงหลักสำหรับการบรรเลงในงานต่างๆ คงเป็นแต่เพียงวงพื้นเมืองที่บรรเลงตามบ้าน และไม่มีหลักฐานอันใดที่จะทราบว่า ในสมัยสุโขทัยก็ดี สมัยกรุงศรีอยุธยาก็ดี วงเครื่องสายเหล่านั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง แหล่งที่ให้กำเนิดวงเครื่องสายน่าจะเป็นไทยลานนา หรือไทยพายัพมากกว่าถิ่นอื่นของไทย เพราะจากการสังเกตวงดนตรีพื้นเมือง ชาวไทยพายัพยังคงรักษาสภาพมาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า เครื่องดนตรีหลักของเขาเน้นหนักไปในทางเครื่องมีสาย เช่น ซึง สะล้อ กระจับปี่ เป็นต้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏแต่ชื่อ "มโหรี" ไม่มีชื่อว่า "เครื่องสาย" หากจะอ้างหลักฐานของคำว่า "ดนตรี" ที่ปรากฏใน ราชานุกิจของพระมหากษัตริย์ว่า "...หกทุ่มเบิกเสภาดนตรี.." จะแปลคำว่า “ดนตรี” ว่า “เครื่องดนตรีที่มีสาย” อย่างภาษาบาลีสันสกฤต ก็ยังอ่อนหลักฐานนัก ด้วยเหตุนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงเรียกว่า “มโหรีเครื่องสาย”

อันการพัฒนาของวงเครื่องสายไทย น่าจะเริ่มมาแต่การ “บรรเลงพิณ” คือ การบรรเลงด้วยพิณน้ำเต้ามาก่อน หรืออาจจะเป็นเครื่อง “มีสาย” ก็ไม่ทราบได้ จากหลักฐานในสมัยสุโขทัยปรากฏแต่คำว่า “พิณ” เป็นส่วนใหญ่ คือ เครื่องดีดหรือเครื่องสี ในสมัยอยุธยา ลักษณะของวงเครื่องสายชัดเจนขึ้น เพราะมีการกล่าวถึงเครื่องดนตรีที่อยู่ในวงเครื่องสาย เช่น ซอ ขลุ่ย เป็นต้น ดังสมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คงมีการเล่นดนตรีจนเกินขอบเขต ถึงกับมีบทบัญญัติกำหนดสำหรับผู้ที่เล่นเกินขอบเขตเข้าไปใกล้พระราชฐาน กำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ตอนที่ 15 ว่า

 .......แลร้องเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ตีทับ ขับราโห่ร้อง นี่นั่น ไอยการ หมื่นโทวาริก ถ้าจับได้โทษ 3 ประการ... "

เครื่องดนตรีต่างๆ ที่กล่าวถึงล้วนอยู่ในวงเครื่องสาย คำว่า “สีซอ” ที่กล่าวถึงนั้นไม่น่าจะเป็น ซอสามสาย น่าจะเป็น ซออู้ ซอด้วง มากกว่า เพราะซอสามสายเสียงเบา ไม่เหมาะที่มาเล่นในกลางแจ้ง และมักถือว่าเป็นซอระดับสูงกว่าซออู้ ซอด้วง นอกจากนี้ ซออู้ ซอด้วง เป็นเครื่องดนตรีที่หาง่ายและเล่นง่ายกว่าซอสามสาย

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้เกิดรูปวงเครื่องสายที่แท้จริง แต่คงแบบที่ชาวจีนเขานิยมเล่นกัน วงเครื่องสายของจีนที่สาคัญคือ ซออู้ ซอด้วง ขิม ม้าล่อ กลอง ฯ จะเห็นได้ว่าลักษณะของวงเครื่องสายจะอยู่ในรูปแบบประสม 2 แบบ คือ ประสมด้วยเครื่องดนตรีด้วยกัน เช่น ประสมด้วยขิม เปียโน เป็นต้น และประสมด้วยวงดนตรี เช่น ประสมด้วยวงกลองแขก ปัจจุบันวงเครื่องสายถือว่าเป็นวงดนตรีไทยชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย ซออู้ ซอด้วง จะเข้ ขลุ่ย ฉิ่ง โทน รามะนา และฉาบ

ຫຼວງພະບາງແດນງາມ | หลวงพะบางแดนงาม | ລາວຈະເລີນ Feat ຕິ່ງນ່ອຍໆ

ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีซอชนิดหนึ่งเรียกวา “ซอโอ” มีลักษณะที่คลายคลึงกับซออู้ของไทย ซอชนิดนี้มีสาย 2 สาย คันทวนทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ดู่ไล ไม้กะยูง บางครั้งทำจากงาชาง ในบางครั้งอาจแกะสลักเป็นรูปพระยานาคที่ปลายคันทวน คันทวนนี้มีความยาวประมาณ 80-90 เซนติเมตร กล่องเสียงหรือกะโหลก คนลาวเรียกว่า “กระบอกซอ” ทำจากกะลามะพร้าว โดยด้านหน้าของซอขึงดวยหนังแบ้ (แพะ) หรือหนังลูกวัว ส่วนด้านหลังนิยมแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ลูกบิดที่ใช้ขึงสายปรับเทียบระดับเสียง มีความยาวประมาณ 17-18 เซนติเมตร สายของซอทั้งสองสายทำจากเชือกไหมขวั้นเป็นเกลียว คันชักมีรูปทรงคลายคันธนู มีความยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ขึงด้วยขนหางม้าจำนวน 160-200 เส้น ซอโอ เทียบเสียงในระยะขั้นคู่ 5 โดยเสียงของสายทุ้มอยูที่ระดับเสียง โด และสายเอกอยู่ที่ระดับเสียง ซอล

ซออีสาน

“ซอ” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ทำให้เกิดเสียงโดยการใช้คันชักสีเข้ากับสาย ปกติซอของไทยมี 3 ชนิด คือ ซอสามสาย ซอด้วง และซออู้ แต่ยังมีซออีกประเภทหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งทำจากวัสดุในท้องถิ่น ซอเหลานี้จึงตั้งชื่อตามวัสดุที่นำมาทำกะโหลกซอ เช่น ซอบั้ง เป็นซอที่ใช้บั้งไม้ไผ่ทำกะโหลก ซอปี๊บ เป็นซอที่ใชปี๊บน้ำมันทำกะโหลก และซอกระป๋อง เป็นซอที่ใชกระป๋องนมหรือกระป๋องสีทำกะโหลก ส่วนประกอบของซอโดยทั่วไปได้แก่ กะโหลกซอ คันทวนซอ สาย ลูกบิด และ คันชักสี ซอที่นิยมเล่นตามคณะหมอลำหรือมหรสพทั่วไปเป็นชนิด ซออู้

sor bang peep

เนื่องจากมหรสพทางภาคอีสานใน "กลุ่มวัฒนธรรมดนตรีอีสานเหนือ" นั้น ซอ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้สีคลอไปกับคนร้องหรือลำ ทำให้คนร้อง หรือลำไม่หลงเสียง หรือเสียงเพี้ยน และยังช่วยให้คนร้องหรือลำเบาแรงอีกด้วย นอกจากจะใช้บรรเลงคลอไปกับคนร้องหรือลำแล้ว ยังใช้บรรเลงรวมกับวงดนตรีบางประเภทด้วย แต่ทั้งนี้ต้องพยายามสีให้กลมกลืน และมีเสียงลอดออกมาได้ตามความเหมาะสม

บุญมา กาละกุล มือซอกะปี๊บ : จากรายการ ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ThaiPBS

เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานประเภทเครื่องสี คือ ซอที่มี 2 สาย ได้แก่ ซอกะโป๋, ซอกะปี๊บ, ซอกระป๋อง, ซอบั้งไม้ไผ่ (กะโหลกซอ ทำจากบั้งไม้ไผ่บ้านปอกผิวให้บาง 2 มิลลิเมตร คันชักซอบั้งไม้ไผ่จะสีนอกสาย)

ซอกะโป๋ (กะโป๋ หมายถึง กะลามะพร้าว) มีลักษณะคล้ายซออู้ กะโหลกทำจากกะลามะพร้าว คันชักใช้สีข้างใน ซอกะโป๋เล่นมาแล้วหลายชั่วอายุคน ผู้บรรเลงซอที่มีความเชี่ยวชาญ คือ นายทองฮวด ฝ่ายเทศ ชาววาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม และนายอุ่น ทมงาม ชาวอำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซอกะโป๋ ใช้บรรเลง ประกอบการแสดงหมอลำ และประกอบเพลงลูกทุ่งหมอลำในปัจจุบัน ส่วนซอปี๊ป และซอกระป๋อง เพิ่งมีใช้สมัยที่มีกระป๋องน้ามันก๊าดและกระป๋องโลหะต่างๆ พบในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

sor kapo 01

ส่วนประกอบซอกะโป๋

  1. กะโหลกซอ ทeจากกะลามะพร้าว
  2. คันชัก ใช้ยางสนถูให้เกิดความหนืด คันชักซอสีในสาย
  3. ลูกบิด มี 2 อัน
  4. คันทวน
  5. หย่อง
  6. รัดอก
  7. หน้าซอ หุ้มด้วยหนังงูหรือหนังลูกวัว
  8. หางม้า
  9. สายซอ มี 2 สาย คือ สายเอก (สาย 1) กับ สายทุ้ม (สาย 2) สายซอเดิมทีใช้สายไหมฝั้นให้เหนียว ปัจจุบันใช้สายเบรครถจักรยาน

ระบบบเสียงซออีสาน

ระบบเสียงของซออีสานตั้งสายเป็นคู่ 5 คล้ายซอด้วง ที่ตั้งเสียงสายทุ้มเสียง ซอล สายเอกเสียง เร และซออู้ที่ตั้งเสียง สายทุ้มเสียง โด สายเอกเสียง ซอล โดยซออีสานตั้งเสียงสายนอกหรือสายที่ 1 ตั้งเสียง มี ส่วนสายในหรือสายที่ 2 ตั้งเสียง ลา (คู่ 5) ไล่ลำดับเสียงเป็นมาตราเสียงสากล คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด สามารถทำครึ่งเสียงได้

หงษ์ทองคะนองรำ - สีซอโดย บุญฮวด ฝ่ายเทศ

ลายที่นิยมบรรเลงเป็นลายประเภทลำเต้ย ลำเพลิน ลำหมู่ และการบรรเลงประกอบการร้องเพลงที่โด่งดังในอดีต คือเพลง "หงษ์ทองคะนองรำ" ขับร้องโดยศิลปินชื่อ หงษ์ทอง ดาวอุดร บรรเลงซอโดย นายบุญฮวด ฝ่ายเทศ ซออีสาน นิยมใช้บรรเลงประกอบการแสดงหมอลำ บรรเลงในวงมโหรีอีสานและเพลงลูกทุ่งหมอลำในปัจจุบัน พื้นที่ที่นิยมเล่นในอดีตพบทั่วไปในภาคอีสาน โดยเฉพาะอำเภอจตุรพักตรพิมาน อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม

ตำแหน่งเสียงของซอ

ซออีสานมีสองสาย โดยมี สายที่ 1 และสายที่ 2 ตั้งเสียง คู่ 5 คือตั้งสายที่ 2 เป็นเสียง ลาต่ำ สายที่ 1 เป็นเสียง มี ตามตารางตาแหน่งเสียงดังต่อไปนี้

sor kapo 02

การสีซอพื้นบ้านอีสาน ไม่จำกัดท่าทางในการสี เพื่อให้การบรรเลงดูสง่างาม ผู้ฝึกควรปฏิบัติดังนี้

ลักษณะท่าทางการสีซออีสาน

  1. นั่งท่าขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบตามความถนัด เก็บปลายเท้าให้เรียบร้อย
  2. จับซอด้วยมือซ้าย ที่คันทวนใต้รัดอกเล็กน้อย โดยคันทวนอยู่ง่ามมือระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ กระชับไว้เพื่อไม่ให้มือเลื่อนต่ำลงมา
  3. ยกข้อศอกซ้ายขึ้นพอสมควร ไม่ยกศอกขึ้นจนตั้งฉาก เพราะจะทำให้เมื่อยแขน
  4. มือขวาจับคันชักให้อยู่ในลักษณะที่ฝ่ามือเกือบหงาย ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่บนคันชัก ส่วนนิ้วชี้และนิ้วอื่นอยู่ใต้คันชัก นิ้วกลางอยู่ระหว่างหางม้ากับคันชักเพื่อใช้เหนี่ยวหางม้าเมื่อดึงคันชักออก และคันชักเข้า
  5. นั่งตัวตรง มือที่จับคันทวนและคันชักซอ ควรให้ได้ฉากโดยคันทวนตั้งตรงและคันชักอยู่ในแนวนอนกรณีท่านั่งสีบนเก้าอี้ ควรปฏิบัติดังนี้
        5.1 นั่งชิดพนักเก้าอี้ ในท่าสุภาพเรียบร้อย จับคันทวนและคันชัก เช่นเดียวกับการนั่งพับเพียบกับพื้น
        5.2 การนั่งเก้าอี้สีซอ ทำให้ท่าทางสง่างามในการบรรเลง กรณียืนสี จะมีอุปกรณ์ช่วย คือ สายประคอง เพื่อให้มีความสะดวกต่อการบรรเลงเสียงสเลอร์ หรือเสียง tie เพื่อสะดวกในการบรรเลงตามสำเนียงของลาย

sor kapo 03

วีธีการฝึกสีซออีสาน

การสีสายเปล่า ถ้าต้องการสีซอให้เกิดเสียงที่ชัดเจน และเป็นเสียงที่มีคุณภาพ ควรฝึกหัดสีซอสายเปล่าก่อน โดยเริ่มดังนี้

  • นั่งและจับซอตามข้อแนะนา จับคันทวนและคันชักให้มั่นคง ใช้มือขวาลากคันชักที่ชักออก โดยให้หางม้าสัมผัสกับสายทุ้ม (เสียงลา) ลากคันชักออกจนสุดคันชัก จึงหยุด (เรียกว่าหนึ่งคันชัก)
  • ดันคันชักให้หางม้าสัมผัสกับสายเอก (เสียงสูง) เสียง มี โดยดันคันชักเข้าช้าๆ ดันคันชักเข้าจนสุดคันชัก

เทคนิคการสีซออีสาน

การสีซออีสานให้ไพเราะ จะต้องเรียนรู้และฝึกหัดอย่างถูกต้อง ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการใช้คันชักกับการวางนิ้วมือ เพราะความไพเราะในการสีซอ เกิดจากการใช้คันชักและนิ้วมือที่กดบนสายซอ (ขย่มซอ) การพรมนิ้ว การประสาย การเอ้เสียง (ใช้เสียงเลื่อน) ส่วนการไกวคันชักเข้าออก ควรไกวไปทั้งแขน โดยใช้ข้อมือช่วยเสียงซอจึงจะน่าฟัง คันชักสายเปล่า ควรไกวคันชักให้สุดคันชักไกวออกช้าๆ สังเกตว่าเสียงซอที่เกิดขึ้น ถ้าเสียงดัง กราก ก็แสดงว่าไกวคันชักแรงเกินไป ต้องไกวเบาลงมา แต่ถ้าเสียงเบาเกินไป แสดงว่าไกวคันชักเบาต้องเพิ่มให้แรงขึ้น สีสายเปล่าให้คล่อง จนเกิดความชานาญในการไกวคันชัก

การวางนิ้ว

เมื่อไกวคันชักสายเปล่าจนคล่องแล้ว ขั้นต่อไปจึงหัดลงนิ้วที่สายเอกก่อน โดยใช้คันชักหนึ่งก่อน ความหมายของ "คันชักหนึ่ง" หมายความว่า สีออกหนึ่งเสียง สีเข้าหนึ่งเสียง เมื่อสีสายเอกได้คล่องและไม่เพี้ยนแล้ว ต่อไปก็หัดสีสายทุ้ม การลงนิ้วในสายเอกและสายทุ้มควรลงนิ้วตามลำดับการไล่เสียง การหัดลงนิ้วนี้จะต้องไม่ให้เพี้ยนเลย ถ้าเพี้ยนต้องแก้ไขทันที การใช้คันชักกับการลงนิ้วจะต้องสัมพันธ์กัน คือ พอดึงคันชักออกก็ต้องลงนิ้วไปพร้อมกัน พอผลักคันชักเข้าก็ลงนิ้วไปพร้อมกันด้วย

วิธีสีซออีสานเบื้องต้น โดย อาจารย์หนุ่ม ภูไท

สนใจเรียนการสีซออีสาน โดย อาจารย์หนุ่ม ภูไท คลิกเลยตรงนี้

การใช้คันชัก

การสีซอไทย มีด้วยกันหลายคันชัก เช่น คันชักหนึ่ง คันชักสอง คันชักสี่ คันชักแปด คันชักนาคสะดุ้ง คันชักเลื่อยซุง คันชักน้ำไหล ฯลฯ การรู้จักใช้คันชักจะทำให้การสีซอมีความไพเราะ ได้อารมณ์ ให้ทดลองฝึกใช้คันชักต่างๆ

  • คันชักหนึ่ง (คันชักธรรมดา) หมายถึง สีออกหนึ่งตัวโน้ต สีเข้าหนึ่งตัวโน้ต
  • คันชักสอง (ลักคันชัก) หมายถึง คันชักสีออกสองตัวโน้ต สีเข้าสองตัวโน้ต
  • ส่วนคันชักสาม คันชักสี่ หมายถึง การรวบเสียงในอัตราจังหวะปรกติให้ได้สาม หรือสี่ตัวโน้ตขึ้นไป

การฝึกสีซออีสาน สรุปได้ว่า จะต้องฝึกหัดการใช้คันชัก การลงนิ้ว ให้มีความชำนาญ โดยควรฝึกกับบทเพลงที่เป็นการสีที่ใช้วิธีการขั้นพื้นฐาน ฝึกสีซอตามจังหวะต่างๆ ตามแบบฝึกหัดจนเกิดความชานาญ ฝึกสีซอลายพื้นบ้านต่างๆ โดยควรฝึกจังหวะช้าๆ ก่อน เมื่อชานาญแล้วจึงเพิ่มจังหวะให้เร็วขึ้นตามลำดับ

ควรฝึกเทียบเสียง การสีสายเปล่า โดยไม่ต้องลงนิ้ว เริ่มฝึกสีทีละสาย เมื่อฝึกจนชำนาญแล้วจึงฝึกไล่เสียง ฝึกกดนิ้วแต่ละนิ้วลงบนสายซอให้มีความสัมพันธ์และกลมกลืนกับการใช้คันชัก จนสามารถปฏิบัติไปอย่างอัตโนมัติ จึงฝึกวิธีสีแบบง่ายๆ คือ การสีด้วยคันชักหนึ่ง หรือเรียกว่าการสีแบบเก็บ ฝึกสีตามวิธีการนี้จนมีทักษะที่ชำนาญในการลงนิ้วและใช้คันชัก จึงค่อยฝึกทักษะการสีที่ยากขึ้น เช่น ฝึกการพรมนิ้ว รูดนิ้ว สะบัดนิ้ว หรือสะบัดคันชัก ตามแต่บทเพลงที่นำมาฝึก ที่สาคัญคือ ควรฝึกอ่านโน้ตให้เกิดความชานาญ

เทคนิคการเอ้เสียง

การเอ้เสียงหรือการเอื้อนเสียง เป็นเทคนิคที่พบในการบรรเลงเพลงเดี่ยวซอ เพราะมีลักษณะเหมือนการเลียนเสียงร้อง สามารถสะกดความรู้สึกสร้างอารมณ์ผู้ฟังให้รู้สึกคล้อยตาม โดยเฉพาะอารมณ์ความโศกเศร้า อาลัยอาวรณ์ที่มีต่อคนที่รัก หรือคนที่จากบ้านมาทำงานต่างถิ่น ทำให้ผู้ฟังรู้สึกสะเทือนใจไปด้วย บางคนที่เข้าถึงอารมณ์ของเสียงซอ อาจทำให้รู้สึกใจจะขาดตามเสียงซอที่ได้ยินก็ได้ ผู้ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของเทคนิคการสีซอ ได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ด้านซออีสานก็คือ นายทองฮวด ฝ่ายเทศ เจ้าของรางวัลศิลปินมรดกอีสาน ประจำปี 2551 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนั้นเทคนิคการเอ้เสียงหรือการเลื่อนเสียง ผู้ที่สีซออีสานจะตองหมั่นฝึกซ้อม ลายเพลงต่างๆ ให้เกิดความชำนาญ เพื่อใช้เทคนิคดังกล่าวทำให้บทเพลงมีสีสันและความไพเราะน่าฟ้งขึ้น

การเอ้เสียงหรือเสียงเอื้อน เป็นกลวิธีการบรรเลงซอที่เลียนเสียงเอื้อนหรือเสียงร้อง เป็นการสร้างหรือประดับตกแต่งเสียงให้มีสีสัน สามารถเลื่อนเสียงจากสายนอกเสียง มี ไปที่เสียง ซอล โดยสีสายนอกเสียง มี คันชักออกหรือเข้าก็ได้ เพียงคันชักเดียว จากนั้นใช้นิ้วชี้กดโน้ตเสียง ฟา แล้วเลื่อนลงมาที่เสียง ซอล หลังจากเอ้เสียงแล้วจะต้องพรมนิ้วต่อเนื่องกัน

 

ทำซอแบบง่ายๆ ไว้ใช้เอง โดย พ่อมนเทียร บุญธรรม 

นอกจากนั้นยังมีเทคนิค การพรมนิ้ว การสะบัด การประ ซึ่งต้องฝึกฝนร่ำเรียนจากครูซอให้ชำนาญ

ข้อมูลอ้างอิงจาก : ความรู้เกี่ยวกับซออีสาน สถาบันพัฒนศิลป์

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ซอกันตรึม ]

redline

backled1

isan instruments

เรื่องราวตำนานโดย ทิดโส สุดสะแนน

พิณ แคน ซอ โปงลาง และโหวด เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานที่ใช้บรรเลงประกอบกับการละเล่นต่างๆ มีบทบาทเป็นที่นิยมของคนทั่วไปโดยเฉพาะ แคน ถูกยกให้เป็น “ราชาแห่งดนตรีพื้นเมืองอีสาน” ส่วน พิณ เป็น “ราชินีแห่งดนตรีพื้นเมืองอีสาน”

แคน เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด มีชื่อเสียงควบคู่คนอีสานมายาวนานเหมือนคำที่ว่า “คนอีสานไม่เคยขาดแคน” ยุคสมัยแรกๆ ที่คนอีสานเดินทางมาแสวงโชคในกรุงเทพฯ ที่เรียกว่า “มาค้ากำปั้น” มีแค่ 2 มือกับ 1 แรงกาย หลายคนมีแคนติดตัวมาเป็นเพื่อน มีงานทำห่างบ้านห่างอีสานมานาน ก็เอาแคนมาเป่าเป็นเพื่อน บางคนจากอีสานมานานได้ยินเสียงแคนถึงกับน้ำตาไหล “คึดฮอดบ้าน” เลยทีเดียว

เสียงแคนจากแมนชั่น - ไหมไทย ใจตะวัน

เลิกงานตกเย็นย่ำค่ำมืด จะมานั่งล้อมวงสังสรรค์ อาจมี “บักสองซาว” บ้างพอเป็นกระไสยา เวลาเป่าแคน ใครพอลำได้ก็ลำปรบมือเพื่อคลายคิดถึงบ้าน จนเป็นภาพชินตาชินหูของคนกรุงเทพฯ และคนภาคอื่น ช่วงเทศกาลปีใหม่คนกรุงเทพฯ เขาจะไปเที่ยวงานท้องสนามหลวง งานวังสราญรมย์ คนอีสานที่มาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นกรรมกรบ้าง ถีบสามล้อบ้าง จะรวมตัวกันเป่าแคน ตบมือ เดินไปเที่ยวงานที่ท้องสนามหลวงก็ตั้งวงรำแคนกัน

แคน มีบทบาทโดดเด่นขึ้นเมื่อถูกนำมาเป่าใส่เพลงบันทึกแผ่นเสียง เมื่อ พ.ศ. 2540 กว่า นักร้องนักแต่งเพลงลูกอีสาน ครูเฉลิมชัย ศรีฤาชา เป็นคนแรกที่นำเอาแคนเต้าเดียวมาเป่าใส่เพลง และมีกลองโทนหนึ่งใบตีจังหวะรำโทน อัดแผ่นเสียงขายดีเป็นที่นิยม ต่อมา ครูเบญจมินทร์ นักร้องนักแต่งเพลงลูกอีสานอีกคน ก็นำแคนมาเป่าใส่เพลง “ชายฝั่งโขง” และต่อมา สุรพล สมบัติเจริญ ก็นำมาเป่าใส่เพลง “น้ำตาลาวเวียง” ทำให้เสียงแคนที่ไพเราะเป็นที่ประทับใจของคนภาคอื่นมาแต่บัดนั้น

สมัยนั้น คนอีสานที่มาอยู่กรุงเทพฯ ที่มีความชำนาญเป่าแคนมีน้อย การหาหมอแคนไปเป่าประกอบเพลงยาก การเป่าแคนประกอบเพลงก็ใช้แค่เป่าขึ้นหัวอินโทรเพลงเท่านั้น จึงยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

อีสานลำเพลิน - อังคนางค์ คุณไชย

พ.ศ. 2516 เพลง “อีสานลำเพลิน” ของ หมอลำสาวอังคนางค์ คุณไชย เป็นเพลงแรกที่นำเอาทั้งแคนและพิณ มาบรรเลงประกอบเพลง ผสมกับดนตรีสากลได้อย่างกลมกลืน และดังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อมาเพลงที่มีเสียงพิณบรรเลงเป็นที่นิยมคือเพลง “คอยรักจากเสียงพิณ” โดย นกน้อย อุไรพร ต่อมาเพลงที่มีพล็อตหรือบรรยากาศเกี่ยวกับอีสานต้องมีเสียงพิณ เสียงแคนประกอบ จนเป็นที่นิยมหมอแคนที่เป่าใส่เพลงช่วงนั้นก็มี “สมัย อ่อนวงศ์” และ “บุญล้อม คอมพิวเตอร์” หมอแคนพิการตาบอดจากวงดนตรี “ทิดโส ลำเพลิน”

เนื่องจากอาจารย์บุญล้อมพิการตาบอด แต่มีความจำเป็นเลิศ มีความชำนาญในการเป่าแคน แต่เวลาไปเป่าใส่เพลงบันทึกเสียงในห้องอัดเสียง ร่วมกับเครื่องดนตรีสากลอื่นๆ เวลาผู้เรียบเรียงประสานให้สัญญาณมือให้เริ่มบรรเลง อาจารย์บุญล้อม แกมองไม่เห็น ถ้าจะใช้เสียงบอกก็ไม่ได้ ผมจึงใช้วิธีสะกิดไหล่เป็นสัญญาณให้เป่าได้ ด้วยประสาทฉับไวและความจำแม่นยำนี้เอง ผมจึงตั้งชื่อให้ว่า “บุญล้อม คอมพิวเตอร์” เพราะใช้นิ้วสัมผัส และมือพิณอันดับหนึ่งในตอนนั้นคือ ทองใส ทับถนน มือพิณประจำวงดนตรี “เพชรพิณทอง”

เมื่อ แคน พิณ ราชาและราชินีแห่งดนตรีอีสาน มาโด่งดังคู่กับเพลงลูกทุ่งอีสาน ต่อมาก็มีผู้นำเอา ซออีสาน มาบรรเลงใส่เพลงลูกทุ่งก็ดังเป็นที่รู้จักคือเพลง “คิดถึงเสียงซอ” ขับร้องโดย สุภาพ ดาวดวงเด่น หมอซอในยุคนั้นคือ ทองฮวด ฝ่ายเทศ ต่อมาก็มี โปงลาง ตามมาคือเพลง “คึดฮอดเสียงโปงลาง” ขับร้องโดย สัญญา เพชรเมืองกาฬ ตามมาด้วยเสียง โหวด แต่เพลงบรรเลงด้วยเสียงโหวดยุคแรกๆ ไม่มีเพลงดัง

คิดถึงเสียงซอ - สุภาพ ดาวดวงเด่น

โปงลาง กับ โหวด ดนตรี 2 ชนิดนี้มีข้อจำกัดคือ เปลี่ยนคีย์เสียง ยกเสียงสูงเสียงต่ำไม่ได้ จึงเป็นอุปสรรคกับการบันทึกเสียงไม่เข้ากับนักร้อง โปงลางกับโหวด จึงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

พิณ แคน ซอ เป็นดนตรีอีสานที่ปรับเสียงสูงต่ำเข้ากับเสียงนักร้องได้ จึงถูกนำมาบรรเลงกับเพลงลูกทุ่งมากที่สุด และเป็นที่นิยม

พ.ศ. 2520 อาจารย์พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ได้สร้างและกำกับภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักแม่น้ำมูล” เรื่องราวหนุ่มสาวอีสานสมัยนั้น ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้อง จึงดิ้นรนเข้ากรุงเทพฯ ไปเผชิญโชคและล่าฝันจนประสบความสำเร็จเป็นนักร้องดังมีชื่อเสียง มีเพลงประกอบภาพยนตร์ 10 เพลง ผู้กำกับมอบหมายให้ผมเป็นโปรดิวเซอร์ ควบคุมการผลิตเพลง เพลงส่วนมากจะเป็นแนวเพลงลูกทุ่งอีสาน ผมจึงนำหมอแคน คือ อาจารย์บุญล้อม คอมพิวเตอร์ และหมอพิณ อาจารย์สุดใจ พึ่งกิจ และหมอซอ จากวงดนตรีทิดโสลำเพลินมาร่วมบรรเลง เพลงลูกทุ่งที่ประกอบดนตรีอีสานส่วนมาก จะมี แคน พิณ ซอ ร่วมบรรเลงเพียงเล็กน้อย เช่น ขึ้นหัวเพลงหน่อย หรือไปโซโล่ตอนกลางเพลง ไม่ได้ร่วมบรรเลงกันเต็มๆ ทั้งเพลง

poster monrak maenam moon

ขอบคุณโปสเตอร์จาก Thai Movie Posters

แต่คราวนี้ ผมให้ทั้ง หมอแคน หมอพิณ หมอซอ นำเพลงไปซ้อมจนขึ้นใจ จำเพลงได้ทั้งหมด เพื่อจะให้บรรเลงร่วมไปกับดนตรีสากลตลอดเพลง เป็นครั้งแรกของวงการ

เมื่อมาร่วมบันทึกเสียง พิณ แคน ซอ จะดีด เป่า สี เริ่มแต่หัวเพลง คลอทำนองเพลงไปจนจบ สอดรับกับเครื่องดนตรีสากลที่มีทั้ง แซกโซโฟน ทรัมเป็ต ไวโอลิน และแอคคอร์เดียน เรียกว่าบรรเลงเคียงบ่าเคียงไหล่กันเต็มๆ เพลงไปเลย

ปรากฏว่า เพลงชุดนี้ที่มีเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานบรรเลงร่วมแบบเต็มๆ เพลง ได้รับความนิยมมีเพลงดัง เช่น เพลง “มนต์รักแม่น้ำมูล” ขับร้องโดย สนธิ สมมาตร “ลูกทุ่งคนยาก” “ลำกล่อมทุ่ง” “ฝากใจไว้ที่เดือน” และ “แต่งงานกันเด้อ” ส่งให้ภาพยนตร์ได้รับความนิยม เปิดฉายรอบปฐมทัศน์วันแรกโรงแตก เพราะคนดูล้นโรงเป็นประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทยอีกเรื่องหนึ่ง เพลงประกอบภาพยนตร์ก็ดังเป็นอมตะมาจนปัจจุบันนี้

มนต์รักแม่น้ำมูล - สนธิ สมมาตร

พูดถึง หมอแคน นอกจากหมอแคนที่ชำนาญด้านเป่าประกอบเพลงบันทึกเสียงแล้ว ยังมีหมอแคนที่ชำนาญด้านการเป่าโชว์บรรเลง รวมทั้งร่วมแสดงกับวงดนตรีออเครสต้าได้ ในยุคนี้ก็คือ อาจารย์สมบัติ สิมหล้า หมอแคนพิการตาบอดเช่นกัน ที่ได้ฉายา “หมอแคนขั้นเทพ” เพราะมีพัฒนาการเป่าแคนให้หลากหลายลีลาขึ้น

สมบัติ สิมหล้า เดี่ยวแคนประชันวง Thailand Philharmonic Orchestra

ช่วง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา มีเครื่องดนตรีใหม่เข้ามาพร้อมกันกับคอมพิวเตอร์ สามารถจะปรับเสียงเลียนแบบเสียงดนตรีได้ ในเพลงลูกทุ่งยุคนี้จึงได้ยินเสียงโหวด เสียงโปงลาง เกิดขึ้นเพราะใช้คอมพิวเตอร์มาเลียนเสียงได้ แต่เสียงแคนคอมพิวเตอร์ไม่สามารถเลียนเสียงได้ไพเราะนุ่มนวลเท่าของจริง

ก่อนจบเรื่องราว "เสน่ห์เสียงดนตรีพื้นเมืองอีสาน" มีข้อปรารภจากผู้เขียนนิดหนึ่งว่า เสียงแคนนั้นมีดี มีเสน่ห์อยู่ในเสียงแล้ว ไม่อยากเห็นผู้เป่าทำท่า (ขออนุญาตใช้คำศัพท์ภาษาอีสานว่า) “กระเด้า” โชว์ให้คนทั่วไป หรือออกสื่อโทรทัศน์ เพราะผู้เขียนมองว่า การทำแบบนั้นมันลดเสน่ห์ของเสียงแคนอันเป็นราชาแห่งดนตรีอีสานลงไปเยอะ เหมือนคนสวยอยู่แล้วไม่ต้องโป๊ก็สวยได้ ถ้าอยาก “กระเด้า” ก็ขอให้แสดงในกลุ่มชุมชนก็พอ ฝากถึงครูบาอาจารย์ผู้รู้ได้แก้ไขด้วย

ทิดโส สุดสะแนน : บอกเล่าความหลัง

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)