คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พระธาตุพนมล้ำค่า วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูภูไท เรือไฟโสภา งามตาสองฝั่งโขง "
นครพนม เมืองนครแห่งอีสาน ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ เดิมทีเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง (ฝั่งลาว) บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับพระธาตุพนมในปัจจุบัน ตามประวัติเล่ากันว่า เมื่อพญานันทเสนผู้ครองศรีโคตรบูรสวรรคต เสนาอำมาตย์และประชาชนต่างก็เห็นว่า บ้านเมืองเกิดเภทภัยหลายครั้ง ควรที่จะย้ายไปสร้างเมืองใหม่อยู่ตรงข้ามกัน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีป่าไม้รวกขึ้นอยู่เป็นดง จึงได้เรียกชื่อเมืองใหม่นี้ว่า "มรุกขนคร" หมายถึงเมืองที่อยู่ในดงไม้รวก มรุกขนครในสมัยพญาสุมิตรธรรมเมื่อ พ.ศ. 500 นั้นรุ่งเรืองมาก มีเมืองขึ้นมากมาย และมีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย โดยการก่อพระลานอูบมุงชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแแพงล้อมรอบ มีงานสมโภชใหญ่โต
หลังจากพญาสุมิตรธรรมแล้ว ก็มีผู้ครองนครต่อมาอีก 2 พระองค์ แต่ก็เกิดมีเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรจนกลายเป็นเมืองร้าง กระทั่งถึง พ.ศ. 1800 เจ้าศรีโคตรบูรได้สร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ ใต้เมืองท่าแขก บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในพ.ศ. 2057 ผู้ครองเมืองมรุกขนครคือ พระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศราชธานีศรีโคตรบูรหลวง ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่กลายเป็น "เมืองศรีโคตรบูร" ตรงตามชื่ออาณาจักรดั้งเดิม ในยุคสมัยนี้ยังได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมอีกด้วย ต่อมา พ.ศ. 2280 พระธรรมราชา เจ้าเมืองศรีโคตรบูรองค์สุดท้าย ได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา (ฝั่งไทย) เยื้องเมืองเก่าขึ้นไปทางเหนือ แล้วให้ชื่อว่า "เมืองนคร" ซึ่งก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีการโยกย้ายอีกหลายครั้ง ดังเช่น พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ได้มีการย้ายเมืองอีกครั้ง ไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ 52 กิโลเมตร
จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2333 เมื่อผู้ครองเมืองนครถึงแก่พิราลัย เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร รัชกาลที่ 1 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "นครพนม" ชื่อนครพนมนั้นมีข้อสันนิษฐานว่า เคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงได้ใช้คำว่า "นคร" ส่วนคำว่า "พนม" ก็มาจากพระธาตุพนมปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน บ้างก็ว่า มรุกขนครเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อนจึงนำคำว่า "พนม" ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ ส่วนคำว่า "นคร" ก็เป็นการดำรงชื่อเมืองไว้ คือ เมืองมรุกขนคร นครพนมจึงหมายถึง "เมืองแห่งภูเขา" นั่นเอง
แบ่งการปกครองท้องที่เป็น 12 อำเภอ (2564) ดังนี้
อำเภอเมืองนครพนม | อำเภอปลาปาก | อำเภอท่าอุเทน | อำเภอบ้านแพง |
อำเภอธาตุพนม | อำเภอเรณูนคร | อำเภอนาแก | อำเภอศรีสงคราม |
อำเภอนาหว้า | อำเภอโพนสวรรค์ | อำเภอนาทม | อำเภอวังยาง |
ดอกไม้ประจำจังหวัดนครพนม คือ ดอกกันเกรา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Fagraea fragrans) เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนจะออกดอกเป็นช่อสีเหลือง มีกลิ่นหอมขจรขจาย ต้นกันเกรามีชื่อเรียกอื่นว่า มันปลา ตำเสา มะซูไม้ต้น
กันเกรา มีชื่อเรียกต่างกันไปคือ ภาคกลางเรียก กันเกรา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันปลา ส่วนภาคใต้เรียก ตำแสง หรือตำเสา มูซูเป็นภาษาถิ่นทางภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง อันมีชื่อเป็นมงคลและมีคุณสมบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์ คือชื่อ 'กันเกรา' หมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ชื่อ 'ตำเสา' คือ เป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก มอด แมลงต่างๆ เจาะกิน ชื่อ 'มันปลา' น่าจะเป็นลักษณะของดอกที่เหมือนกับไขมันของปลาเมื่อลอยน้ำ ไขมันของปลาในถ้วยน้ำแกง โดยเฉพาะช่วงข้าวใหม่ปลามันที่ปลาจะมีความมันและเอร็ดอร่อยเป็นที่สุด
เป็นประเพณีของพวกโซ่ (โส้) การเต้นโส้ทั่งบั้งนี้เป็นการรำในงานศพ เพื่อที่จะส่งวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สุคติ การเต้นรำมีทั้งชายและหญิง พวกโซ่เป็นชนเผ่าข่าพวกหนึ่ง ลักษณะผิวคล้ำ มีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาที่ใช้คล้ายภาษามอญปนเขมร หมู่บ้านชาวโส้นี้ตั้งอยู่ที่บริเวณอำเภอท่าอุเทน อำเภอนาแก และอำเภอศรีสงคราม
กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 10 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญยิ่งงานหนึ่งของชาวนครพนม และจังหวัดใกล้เคียง เสร็จจากเที่ยวชมงานแล้วแวะที่แก่งกะเบา ชิมหมูหัน เป็นอาหารกลางวันที่น่าลิ้มลอง
ฟ้อนศรีโคตรบูรณ์ บูชาพระธาตุพนม
เป็นประเพณีของชนเผ่าแสก ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอาจสามารถ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 4 กิโลเมตร ประเพณีแสกเต้นสาก เป็นการเต้นบวงสรวงเจ้าที่ จะเต้นการเป็นประจำทุกปี ในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ การแสกเต้นสากนอกเทศกาล จะต้องทำพิธีขอขมาก่อน ของที่ใช้ ได้แก่ หัวหมู เงิน 20 บาท และเหล้า ซึ่งจะทำพิธีที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน โดยการเสี่ยงทายไม้สี ถ้าได้สีเดียวกันแสดงว่าเจ้าไม่อนุญาต การเต้น "แสกเต้นสาก" ใช้ไม้สีแดงสลับขาวเรียก "สาก" นำด้วยเสียงกลองจังหวะเร็ว ผู้เต้นจะซอยเท้าถี่ๆ ลงไปตามจังหวะการกระทบไม้คล้ายการเต้นลาวกระทบไม้แต่จะเร็วกว่ามาก
การแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษา มีความมุ่งหมายให้ชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกัน ก่อให้เกิดความสามัคคีความเสียสละ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ประชาชนชาวลาวและชาวไทย จัดขึ้นในลำน้ำโขง บริเวณหน้าเขื่อนนครพนม มีระยะทางแข่งขัน 3 กิโลเมตร ในร่องน้ำที่ไหลเชี่ยวยากลำบากมากในการแข่งขัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ชนะคือ "ผู้เก่งที่สุดในแถบลุ่มน้ำโขง"
เรือไฟ (เฮือไฟ) จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ริมแม่น้ำโขงบริเวณเขตเทศบาล การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 วันนี้เรียกว่า "วันพระเจ้าโปรดโลก" พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า "อจลเจดีย์" (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร
การไหลเรือไฟ ก็คือการสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น และได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีตำนานการไหลเรือไฟที่แตกต่างกัน ก็ถือว่าทำให้ได้รับอานิสงฆ์เหมือนกัน เดิมเรือไฟทำด้วยท่อนกล้วย หรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5-6 วา ข้างในบรรจุไว้ด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่างๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น มีวิธีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขง ภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วง จะเป็นภาพที่งดงามติดตาติดใจผู้พบเห็นไปตราบนานเท่านาน ไม่มีที่ไหนๆ ในประเทศไทยจะยิ่งใหญ่เหมือนที่จังหวัดนครพนม
ลักษณะการฟ้อนภูไทเรณูนคร ชายหญิงจับคู่เป็นคู่ๆ แล้วฟ้อนท่าต่างๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยฟ้อนรำเป็นวงกลม แล้วแต่ละคู่จะเข้าไปฟ้อนกลางวงเป็นการโชว์ลีลาท่าฟ้อน ส่วนเครื่องดนตรีจะใช้แบบดั้งเดิม ประกอบด้วย แคน กลองสองหน้า กลองหาง ฆ้องโหม่ง พังฮาด และกั๊บแก๊บ ส่วนในวงโปงลาง ก็ใช้เครื่องดนตรีครบชุดของวงโปงลาง ลายเพลง ใช้ลายลมพัดพร้าว เครื่องแต่งกายฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อสีน้ำเงิน คอตั้งขลิบแดงกระดุมเงิน มีผ้าขาวม้าไหมมัดเอว สวมสายสร้อยเงิน ข้อเท้าทำด้วยเงิน ประแป้งด้วยแป้งขาว มีดอกไม้ทัดหูอย่างสวยงาม
เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกัน โดยจะฟ้อนในงานเทศกาลเดือน 5 และเดือน 6 สมัยก่อนจะฟ้อนกันตามความถนัด และความสามารถแต่ละบุคคล ไม่ได้เน้นความเป็นระเบียบ หรือความพร้อมเพรียงกัน แต่เน้นลีลาการฟ้อนรำของชายหญิงคู่กัน ยึดการรำแบบดั้งเดิมเป็นหลัก นับเป็นศิลปะที่สวยงามหาชมได้ยากในปัจจุบัน นอกจากนี้ชาวผู้ไทยยังมีการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ การเลี้ยงอาหารแบบพาแลง การชวนดูดอุ (สาโทหวาน ชนิดหนึ่ง)
สำหรับ การฟ้อนผู้ไทและการเลี้ยงอาหารแบบพาแลงนี้ สามารถติดต่อชมได้ที่บ้านผู้ไท คุณชัยบดินทร์ สาลีพันธ์ อำเภอเรณูนคร โทร. 0 4257 9174 , 0 1263 2458 (การฟ้อนภูไทและการเลี้ยงอาหารแบบพาแลง ต้องมีการจองตั้งแต่ 35 คนขึ้นไป)
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : เว็บไซต์จังหวัดนครพนม | แผนที่จังหวัดนครพนม | เอกสารการท่องเที่ยว ]
แนะนำให้ชม "ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองนครพนมในอดีต"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ชัยภูมิทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย ดอกไม้งาม
ลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทราวดี "
ชัยภูมิ ตั้งอยู่บนสันขอบที่ราบสูงอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับภาคกลางและภาคเหนือ เป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวแสนงาม และสายน้ำตกชุ่มฉ่ำยามหน้าฝน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ ภูพังเหย ภูแลนคา ภูพญาฝ่อ อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชี
ด้านประวัติศาสตร์ ชัยภูมิมีอารยธรรมซ้อนทับกันหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม จนถึงอิทธิพลลาวล้านช้าง มีการค้นพบโบราณสถาน โบราณวัตถุ มากมายในหลายพื้นที่ของจังหวัด ต่อมาปรากฏชื่อเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังจึงร้างไป และมาปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีชาวเวียงจันทน์เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง "บ้านไชยภูมิ์" มีผู้นำชื่อ แล ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
ชัยภูมิอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 342 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12,778 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 16 อำเภอ คือ อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอบ้านเขว้า อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอจัตุรัส อำเภอภูเขียว อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอบ้านแท่น อำเภอแก้งคร้อ อำเภอคอนสาร อำเภอเทพสถิต อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเนินสง่า และอำเภอซับใหญ่ (2564)
ดอกไม้ประจำจังหวัดชัยภูมิ คือ ดอกกระเจียว, กระเจียวแดง, อาวแดง หรือ ว่านมหาเมฆ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Curcuma sessilis) เป็นไม้ล้มลุกในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน ช่อดอกชูออกจากปลายลำต้นเทียมโดยมีริ้วประดับ ริ้วประดับตอนปลายมีสีแดงอมม่วง กลีบดอกสีครีม ปลายกลีบปากมีแต้มสีเหลือง ช่อดอกนำไปลวกจิ้มน้ำพริก หน่อใช้ประกอบอาหาร ภาษากะเหรี่ยงเรียก เพาะพอ ชาวกะเหรี่ยงนำช่อดอกอ่อนและหน่ออ่อนไปลวกจิ้มน้ำพริก ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า เกิดตามป่าดิบทั่วไป ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม
ทิศเหนือ : | ติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัด ขอนแก่น |
ทิศใต้ : | ติดกับจังหวัดนครราชสีมา |
ทิศตะวันออก : | ติดกับจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา |
ทิศตะวันตก : | ติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดลพบุรี |
โรงพยาบาลชัยภูมิ : | โทร. 0 4481 1005-8 |
ศูนย์บริการข่าวสารการท่องเที่ยวจังหวัดชัยภูมิ : | โทร. 0 4481 2516, 0 4481 1376 |
สำนักงานจังหวัดชัยภูมิ : | โทร. 0 4481 1418 |
สถานีขนส่งชัยภูมิ : | โทร. 0 4481 1493 |
สถานีตำรวจ : | โทร. 0 4481 1242 |
ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ ประมาณร้อยละ 95 เป็นคนท้องถิ่นเดิม มีวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งมีลักษณะผสมผสานระหว่าง ความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น กับ หลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา ประกอบกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของจังหวัด มีลักษณะเด่นชัดที่เน้นและเชิดชูวีรกรรม ความซื่อสัตย์กตัญญูของเจ้าพ่อพระยาแล ทำให้มีงานประจำปีและงานประเพณี ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมของจังหวัด ดังต่อไปนี้
งานประจำปี ฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพระยาแล
จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าพ่อพระยาแล ผู้สร้างเมืองชัยภูมิคนแรก จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 12-20 มกราคมของทุกปี ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด และสี่แยกอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล ในการจัดงานนี้ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงดวงวิญญาณของเจ้าพ่อพระยาแล ขบวนแห่สักการะอนุสาวรีย์เจ้าพ่อ ขบวนถวายช้างแด่เจ้าพ่อ และขบวนแห่ของอำเภอต่างๆ รวมทั้ง การออกร้าน จัดนิทรรศการของหน่วยราชการและเอกชน การประกวดผลิตผลทางการเกษตร
งานประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อพระยาแล
ที่บริเวณศาลหนองปลาเฒ่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 พฤษภาคม ของทุกปี ชาวบ้านจะไปเคารพสักการะ ดวงวิญญาณของเจ้าพ่อ และรำถวายเจ้าพ่อที่ศาลหลังเก่ากันเป็นจำนวนมาก
ประเพณีรำผีฟ้า
เป็นการรำบวงสรวงเป็นกลุ่มๆ ที่ภูพระ ซึ่งมีพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปแกะสลัก ในหินทรายสูงประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก การรำบวงสรวงนี้จะมีขึ้นในระหว่าง วันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 5 คือเดือนเมษายน และในวันเข้าพรรษา ออกพรรษา ซึ่งจะมีประชาชนไปทำบุญกันมาก
ชัยภูมิ ชวนสัมผัสความงามธรรมชาติเทศกาลฤดูฝน ในงาน..
จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ขอเชิญทุกท่านร่วม “หยิบหมอก หยอกดอกกระเจียว” งานเทศกาลท่องเที่ยวดอกกระเจียวงาม จังหวัดชัยภูมิ ในทุกๆ ปี ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต และ อุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ
สำหรับกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ที่หลายคนรอคอย จะได้เดินทางมาเยือนดินแดน ที่เปรียบเป็นสวรรค์แห่งดอกไม้ความสวยงาม ทุ่งหญ้าเพ็กสีเขียว และความสดใสของดอกกระเจียวสีชมพูอมม่วง ที่ล้อสายหมอก หยอกสายลมในช่วงหน้าฝน ที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นฤดูที่แตกต่าง “งานเทศกาลท่องเที่ยวดอกกระเจียวงาม จังหวัดชัยภูมิ” ที่จัดขึ้นตลอดเดือนมิถุนายน – เดือนสิงหาคม ของทุกปี ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต และอุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหวจังหวัดชัยภูมิ เป็นกิจกรรมที่จัดต้อนรับฤดูฝน
โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ ขบวนแห่กระเจียวคืนทุ่ง, การแสดงดนตรีจากนักเรียนของอำเภอเทพสถิต, การแข่งขันเดินเพื่อการกุศล, การแข่งขันแรลลี่ (โดยหอการค้าจังหวัดชัยภูมิ) การปีน – ไต่หน้าผา “ผาก่อ – รัก” ชมสวนหินงามป่าหินล้านปี ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติปั้นแต่ง ตามแต่จะสุดจินตนาการ การแสดงและจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิ อีกทั้งทุ่งดอกกระเจียวสีขาว สีเขียวและสีชมพูอมม่วง น้ำตกไทรทอง และจุดชมวิวผาหำหด ของอุทยานแห่งชาติไทรทอง ก็เป็นอีกสถานที่ที่รอการมาเยือนของนักท่องเที่ยว
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยภูมิ โทร. 044-822-502 องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ โทร. 044-812-098 อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม โทร.044-890-105 อุทยานแห่งชาติไทรทอง โทร.089-282-3437 หรือที่ ททท.สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ 044-21366, 044-213-030 ทุกวันในเวลาราชการ
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดชัยภูมิ | แผนที่จังหวัดชัยภูมิ | เอกสารการท่องเที่ยว ]
ภาพเก่าเล่าเรื่องอดีต "เมืองชัยภูมิ"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูน ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว
เที่ยวขอนแก่น นครใหญ่ ไดโนเสาร์สิรินธรเน่ สุดเท่เหรียญทองแรกมวยโอลิมปิก "
จังหวัดขอนแก่น นามเดิม "บ้านโนนทัน" เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นอีกจังหวัดหนึ่งของภูมิภาค นอกจากจะมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในบริเวณศูนย์กลางของภาคอีสานแล้ว ยังเป็นจังหวัดศูนย์กลางทางการศึกษา และเทคโนโลยีของภูมิภาค เนื่องจากเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอำเภอเมืองครบครัน ทั้งที่พักหลายระดับและบริการต่างๆ จำนวนมาก มีทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และด้านอื่นๆ หลากหลายรูปแบบ และที่สำคัญคือเป็นที่ตั้งของสนามบิน
ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพทางการท่องเที่ยวของจังหวัดได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ขอนแก่นในปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีความสำคัญในฐานะเมืองท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 10,885 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,803,125 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 15 ของประเทศ มีพื้นที่อยู่ในเขตของลุ่มน้ำหลัก 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาสูงทางทิศตะวันตก ในเขตของเขาภูกระดึงและเทือกเขาเพชรบูรณ์ ส่วนทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะสูงต่ำสลับกันเป็นลูกคลื่นลาดเทไปทางทิศตะวันออก และทิศใต้ของจังหวัด พื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 100 - 200 เมตร มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำชีและแม่น้ำพอง
จังหวัดขอนแก่นนั้น แม้เพิ่งเริ่มก่อตั้งเป็นเมือง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพียง 200 กว่าปีที่ผ่านมา แต่แท้จริงแล้วดินแดนบริเวณนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาก จากหลักฐานการสำรวจ พบเครื่องมือเครื่องใช้อายุเก่าแก่และชุมชนเมืองโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าอาณาเขตบริเวณจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบันนี้ เป็นแหล่งอารยธรรมและดินแดนแห่งวัฒนธรรม ที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปี
สันนิษฐานว่า บริเวณยอดเขาภูเวียงเป็นเมืองที่มีชุมชนอาศัยอยู่มาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เนื่องจากพบเมืองโบราณหลายแห่ง โดยเฉพาะในเขตอำเภอน้ำพอง พบซากเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย (มีขนาดใหญ่เป็นรองเพียงเมืองนครชัยศรีเท่านั้น)
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองภูเวียงมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของนครเวียงจันทน์ ตั้งอยู่บนเส้นทางการคมนาคมระหว่างนครเวียงจันทน์กับกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี ในขณะนั้นอิทธิพลของอาณาจักรขอมได้เสื่อมลง ประกอบกับชุมชนเมืองต่างๆ ทางภาคอีสานได้รับผลกระทบจากภัยสงครามและภัยอื่นๆ จนผู้คนส่วนมากต้องอพยพหนีภัยและละทิ้งบ้านเมืองไป เมืองในแถบนี้หลายเมืองจึงกลายสภาพเป็นเมืองร้าง
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็น "เมืองขอนแก่น" ในปี พ.ศ. 2340 หลังจากนั้นเมืองขอนแก่นได้โยกย้ายที่ตั้งไปมาอยู่หลายครั้งภายในบริเวณ พื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2451 มีการย้ายศาลากลางเมืองขอนแก่นมาตั้งที่บ้านพระลับ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น (ซึ่งก็คือศาลากลางหลังเก่าในปัจจุบัน) และเปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณเป็นผู้ว่าราชการเมือง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนคำเรียก "เมือง" เป็น "จังหวัด" และในปี พ.ศ. 2507 มีการสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้นที่ สนามบินเก่า อยู่ห่างจากที่เดิมประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "ศูนย์ราชการ" และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น คือ ดอกราชพฤกษ์, ดอกคูน, ดอกลมแล้ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cassia fistula) เป็นไม้ดอกในตระกูล Fabaceae เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย ศรีลังกา พม่า และไทย ชื่อของ 'ราชพฤกษ์' นั้นมีการเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเรียกราชพฤกษ์ว่า 'คูน' เนื่องจากจำง่ายกว่า (แต่มักจะเขียนผิดเป็น คูณ) ทางภาคเหนือเรียกว่า ดอกลมแล้ง (น่าจะมาจากการที่บานสะพรั่งในช่วงหน้าร้อนเมษายน) ทางภาคใต้เรียกว่า ราชพฤกษ์ ลักเกลือ หรือลักเคย ชาวกะเหรี่ยงและในกาญจนบุรีเรียกว่า กุเพยะ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูง 10–20 เมตร ดอกขึ้นเป็นช่อยาว 20–40 เซนติเมตร แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4–7 เซนติเมตร มีกลีบดอกสีเหลืองขนาดเท่ากัน 5 กลีบ ผลยาว 30–62 เซนติเมตร และกว้าง 1.5–2.5 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่มีพิษเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ดอกราชพฤกษ์ ยังเป็นดอกไม้และต้นไม้ประจำชาติของประเทศไทย และเป็นดอกไม้ประจำรัฐเกรละ ของประเทศอินเดียอีกด้วย
จังหวัดขอนแก่นแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 26 อำเภอ (2564) ได้แก่
|
|
ขอนแก่นอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 449 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดขอนแก่นได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และทางเครื่องบิน
การเดินทางภายในขอนแก่น
ในตัวจังหวัดขอนแก่นมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม
ขอนแก่น : ศูนย์กลางการพัฒนาในภาคอีสาน
จังหวัดขอนแก่น มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงมากมายและหลากหลายรูป แบบ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อุทยานแห่งชาติภูเวียง เขื่อนอุบลรัตน์ บึงแก่นนคร บึงทุ่งสร้าง พัทยา 2 บางแสน 2 หาดจอมทอง หมู่บ้านเต่า อุทยานกล้วยไม้ป่าช้างกระ วัดป่ามัญจาคีรี ผานกเค้า และสวนสาธารณะประตูเมือง
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น ได้แก่ พระธาตุขามแก่น พระมหาธาตุแก่นนคร วัดพระบาทภูพานคำ วัดอุดมคงคาคีรีเขต วัดป่าภูเม็งทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น หอศิลปวัฒนธรรมและอาคารศูนย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ประจำท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ขอนแก่น กู่ประภาชัย หรือกู่บ้านนาคำน้อย ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ น้ำส่างสนามบิน ศาลหลักเมืองเก่า เมืองโบราณโนนเมือง ปราสาทเปือยน้อย ศาลาไหมไทย หรืออาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 หอเกียรติยศรัฐบุรุษพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และหมู่บ้านผ้าไหมชนบท
ขอนแก่นเป็นจังหวัดหนึ่งที่เต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งธรรมชาติ อีกทั้งผู้คนในท้องถิ่นก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมอันงดงาม ไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปีจึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลอง และงานประเพณีที่สำคัญ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ
1. เทศกาลดอกคูณเสียงแคน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 -15 เมษายน ของทุกปี บริเวณบึง แก่นนคร ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และชุมนุมสังสรรค์ของชาวขอนแก่น ช่วงเวลาจะจัด ในช่วงระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายนของทุกปี ความสำคัญเป็นงานที่จัดขึ้น เพื่อชุมนุมสังสรรค์ของ ชาวขอนแก่น ในงานนี้จะตกแต่งด้วยดอกไม้หลากสี เพื่อความสวยงามและแนวคิดสร้างสรรค์ จุดเด่นของงานจะเป็นความงามของขบวนรถบุปผาชาติเสียงเพลงและสาวงาม
แต่เดิม จังหวัดขอนแก่น ไม่ค่อยมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ก็อยู่ห่างจากตัวเมือง ทำให้เมื่อมีการจัดงานประเพณีต่างๆ จึงไม่มีผู้มาเยือนมากมายนัก เทศบาลนครขอนแก่นมีความคิดที่จะผลักดันให้ จังหวัดขอนแก่นให้เป็นสุดยอดงานสงกรานต์อีสาน จึงได้เสนอถนนสายหลักที่เล่นน้ำสงกรานต์ได้สนุกสนาน เช่นเดียวกับถนนข้าวสารที่กรุงเทพฯ จึงใช้ชื่อสถานที่เล่นสงกรานต์ที่ขอนแก่นว่า "ถนนข้าวเหนียว" เพื่อรองรับการเล่นสงกรานต์ของคนขอนแก่น คนภาคอีสาน และคนจากที่อื่นๆ ในปี 2545 โดยกำหนดสถานที่ที่จัดเป็น ถนนข้าวเหนียว ขึ้นที่ บริเวณถนนหลังสำนักงานเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็น อย่างดีจากประชาชนชาวขอนแก่นและใกล้เคียง แต่เนื่องจากถนนดังกล่าวมีความคับแคบ
การจัดงานในปี 2546 จึงย้ายมาอยู่ที่ถนนศรีจันทร์ ซึ่งมีกิจกรรมจัดขึ้นให้สนุกสนานกัน เต็มที่ตั้งแต่วันที่ 13 - 15 เมษายน โดยมีเวทีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทำให้ถนนศรีจันทร์แห่งนี้ มีสีสันแห่งความสนุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงได้ปรับรูปแบบการจัดงานเป็น "สุดยอดสงกรานต์ อีสานเทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว" โดยแบ่งการจัดกิจกรรมเป็น 2 โซนคือ บริเวณบึงแก่นนคร เป็นโซนของวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ส่วนที่ถนนข้าวเหนียว (ถนน ศรีจันทร์) เป็นโซนกิจกรรมตามสมัยนิยม ทำให้งานสงกรานต์ที่จังหวัดขอนแก่น ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หลั่งไหลมาเที่ยวสงกรานต์เพิ่มขึ้นทุกปี จนได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมสุดยอดประเพณีสงกรานต์ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ประชาชนให้ความสนใจมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก
2. งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยว จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคม เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด (ช่วงเวลา จะจัดเป็นประจำทุกๆ ปีในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม บริเวณสนามกีฬา กลางจังหวัด) งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยวนี้ สืบเนื่องมาจากประชาชนในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ มีอาชีพรองที่นอกเหนือจากการทำนา คือการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าต่างๆ ซึ่งทาง ราชการได้ให้การสนับสนุน จนจังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียง ประกอบกับมี ประเพณีการผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของภาคอีสาน ที่มุ่งให้คนรุ่นเดียวกันรักใคร่ เป็นพี่เป็นน้องช่วยเหลือกันเรียกว่า "คู่เสี่ยว" เพื่อมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม และรักษาขนบ ธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ในงาน จะมีขบวนแห่คู่เสี่ยวและพานบายศรีของอำเภอต่างๆ มีพิธีผูกเสี่ยวการประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน งานพาข้าวแลง (การรับประทานอาหารค่ำแบบพื้นเมืองอีสาน) การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการออกร้าน
ความสำคัญประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ บรรพบุรุษคำว่า "เสี่ยว" หมายถึงเพื่อนรัก เพื่อนสนิท ที่เกื้อกูลและเอื้ออาทรต่อกันร่วมสุขร่วมทุกข์ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเหมือนญาติสนิท บางทีเรียกว่า "เพื่อนตาย" ก็มี จังหวัดขอนแก่น จึงขอเชิญชวนชาวอีสานทุกคนได้ร่วมใจผูกเสี่ยว เพื่อสร้างสัมพันธภาพแห่งความรักความผูกพันสืบทอด มรดกวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอีสาน ในงานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาด ขอนแก่น
3. เทศกาลไหว้พระธาตุขามแก่น จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันเพ็ญเดือนหก (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) ณ วัดเจติยภูมิ เป็นงานเฉลิมฉลองพระธาตุ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะพระธาตุ คู่บ้านคู่เมือง ในงานมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดขอนแก่น | แผนที่จังหวัดขอนแก่น | เอกสารการท่องเที่ยว ]
ชมภาพเก่าเล่าอดีต "เมืองขอนแก่น"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา
ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี "
กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 โดยท้าวโสมพะมิตร ได้อพยพหลบภัยมาจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พร้อมไพร่พล และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำปาว เรียกว่า "บ้านแก่งสำโรง" แล้วได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า "เมืองกาฬสินธุ์" หรือ "เมืองน้ำดำ" ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล "กาฬ" แปลว่า "ดำ" "สินธุ์" แปลว่า "น้ำ" กาฬสินธุ์จึงแปลว่า "น้ำดำ" ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ ท้าวโสมพะมิตรเป็น "พระยาชัยสุนทร" ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก
กาฬสินธุ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 519 กิโลเมตร มีเนื้อที่ ประมาณ 6,946.746 ตร.กม. หรือ ประมาณ 4,341,716 ไร่ หรือ ร้อยละ 4.5 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน ตอนกลางเป็นเนินเขาสลับป่าโปร่ง แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ (2564)
กาฬสินธุ์ : ไดโนเสาร์ห่มแพรวา
ดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ คือ ดอกพะยอม ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ประเภทพืชใบเลี้ยงคู่ชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae พบได้ในประเทศกัมพูชา อินเดีย ลาว มาเลเซีย พม่า ไทย และเวียดนาม มีลักษณะใบที่เรียงสลับกัน ดอกมีสีขาว กลิ่นหอม นิยมนำเนื้อไม้ไปใช้ในการก่อสร้าง ลักษณะคล้ายกับต้นตะเคียน พะยอมมีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ อีก คือ กะยอม (เชียงใหม่) ชะยอม (ลาว) กะยอม (อีสาน) ขะยอมดง พะยอมดง (ภาคเหนือ) แคน (ร้อยเอ็ด) เชียง เชี่ยว (กะเหรี่ยง - เชียงใหม่) พะยอม (ภาคกลาง) พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี, ปราจีนบุรี) ยางหยวก (น่าน)
จัดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ จัดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ภายในงานจะประกอบด้วยขบวนแห่ของแต่ละอำเภอ ตกแต่งขบวนเป็นรูปเครื่องดนตรีโปงลางขนาดยักษ์ แต่งกายชุดพื้นเมือง แข่งขันสาวดีดไห และจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองต่างๆ
ก่อนที่ผ้าแพรวาสูงค่าจะมีโอกาสออกสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างประเทศ การทอผ้าแพรวาได้เดินทางผ่านกาลเวลาอันยาวนานหลายชั่วอายุคน จนเรียกได้ว่าเกือบสูญหายไปจากท้องถิ่นไทย จวบจนเมื่อปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรชาวผู้ไทยบ้านโพนนับสิบที่มารอรับเสด็จล้วนแล้วแต่แต่งกายแบบผู้ไทยเต็มยศ คือ นุ่งผ้าถุงไหมมัดหมี่มีตีนซิ่น สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำและครามคอตั้ง ผ่าหน้าตลอด ติดแถบสีแดง ห่มสไบผ้าแพรวาสีแดง ส่วนผู้ชายชาวผู้ไทยก็นำผ้าแพรวาสีแดงมาคาดเป็นผ้าขาวม้า
พระองค์ทรงสนพระทัยมาก จึงทรงไต่ถามจากชาวบ้านได้ความว่า เป็นผ้าที่สืบทอดจากทางบรรพบุรุษ และลูกหลายได้นำมาใช้สืบต่อกันมา และในช่วงนั้นก็ยังไม่มีผ้าเช่นนี้วางขาย อีกทั้งยังมีจำนวนน้อย ชาวบ้านจำนวน 4 - 5 หลังคาเรือน รวมกันทั้งหมดมีเพียงไม่กี่ผืน เมื่อยามมีงานสำคัญที่ต้องนุ่งก็จะอาศัยหยิบยืมกันใช้เรื่อยมา
ทั้งนี้ เนื่องด้วยองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นว่า ผ้าแพรวานั้นเป็นเสมือนเพชรในตม เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่า จึงทรงมีพระเมตตาธิคุณให้นำมาสืบทอดแก่ลูกหลาน และพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชน จึงมีพระราชเสาวนีย์ฯ ให้ราชเลขาฯ นำเส้นไหมมามอบให้แก่ชาวบ้านเพื่อทอถวาย
ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม 2521 เมื่อชาวบ้านโพนทอผ้าไหมแพรวาเสร็จสิ้น จึงได้นำไปทูลเกล้าถวาย ณ พระราชวังไกลกังวล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรด และทรงนำไปตัดฉลองพระองค์ที่มีความงดงามมาก อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้ทางราชการจัดตั้งกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนขึ้น ซึ่งถือเป็นการชุบชีวิตใหม่ให้แก่ชาวบ้านโพน เพราะในสมัยก่อน ชาวบ้านโพนยังคงทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยรายได้จากการทำนา ปลูกข้าว ทำไร่และสวน จึงมีรายได้ที่ไม่แน่นอน หากปีไหนสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ก็จะได้ผลผลิตน้อยตามไปด้วย สภาพความเป็นอยู่ของบ้านโพนจึงยังยากจน และแร้นแค้นเป็นอันมาก อีกทั้งถนนหนทางยังทุรกันดาร ยากต่อการเข้าถึง
แต่แล้วเมื่อการทอผ้าไหมแพรวาได้รับการสนับสนุนและก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะ ในรูปแบบของกลุ่มอาชีพในโครงการศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทรงให้การส่งเสริมสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนารูปแบบการทอผ้า จากผ้าห่มยาว 1 วา กว้างครึ่งวา ก็ขยายออกเป็นผืนผ้ากว้าง โดยส่วนหนึ่งยังคงเป็นผ้าแพรวา ยกลายดอก ตามลวดลายต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ อีกส่วนหนึ่งเป็นผ้าพื้น รวมกันเป็นผืนยาวประมาณ 5 เมตร เพื่อให้เพียงพอที่จะตัดชุดของสตรีได้ 1 ชุด และโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนาจากเดิมซึ่งมีสีเฉพาะสีแดงเข้มให้มีสีพื้นหลากหลาย ส่วนลายดอกสลับสอดสีไหมให้กลมกลืนสวยงาม เหมาะแก่การนำไปตัดเป็นชุดสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันผ้าไหมแพรวาเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านโพนมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าแพรวา ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเอื้อให้ท้องถิ่นสืบทอดการทอผ้าไหมแพรวาตราบชั่วลูกชั่วหลานสืบไป
จัดขึ้นประมาณวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ณ โรงแรมริมปาว เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ สนับสนุนส่งเสริม และรับงานการทอผ้าไหมแพรวาของชาวผู้ไท เข้าไว้ในโครงการศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ จนทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชาวผู้ไทอีกด้วย
แพรวากาฬสินธุ์ - อิ๊ด โปงลางสะออน
ผ้าแพรวา เป็นชื่อเฉพาะที่ชาวอีสานทั่วไปเรียกผ้าชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับคลุมไหล่ หรือ ห่ม สไบเฉียงของชาวผู้ไท ซึ่งใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ
ผ้าแพรวา มีความหมายตามรูปศัพท์ ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำมูล 3 คำ คือ
ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ หมายถึง ผ้าไหมที่ทอประดิษฐ์ลวดลายด้วยการขิด และการจก ใช้เส้นไหมตีเกลียวเป็นทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง รวมทั้งมีเส้นไหมเพิ่มพิเศษในการทำให้เกิดลวดลายตาม กรรมวิธีที่ปราณีตของชาวผู้ไทย ที่เป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดสืบกันต่อมา
เขื่อนดินซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปาว และห้วยยาง มีบริเวณเขตติดต่อระหว่างตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองกุงศรี และตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด ตามเส้นทางหมายเลข 209 ทางหลวงสายกาฬสินธุ์-มหาสารคาม ตรงหลักกิโลเมตรที่ 10 แยกขวามือเข้าเขื่อนลำปาวตามถนนลาดยาง 26 กิโลเมตร
เป็นเขื่อนดินสูงจากท้องน้ำ 33 เมตร สันเขื่อนยาว 7.8 เมตร กว้าง 8 เมตร ปิดกั้นลำน้ำปาว และห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อน จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง เก็บน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัย และเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้แก่ หาดดอกเกด ซึ่งเปรียบเสมือนสวรรค์ชายหาดของคนอีสาน
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2539 เด็กหญิงสองคนพร้อมด้วย ผู้ปกครองไปทานข้าวในวันหยุด ได้พบรอยเท้าประหลาด กลางลานหินลำห้วยเหง้าดู่ เชิงเขาภูแฝก บริเวณเทือกเขาภูพาน บ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง กิ่งอำเภอนาคู หลังจากนั้นได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่นักธรณีวิทยา พร้อมด้วยส่วนราชการ และเอกชน จ.กาฬสินธุ์ ได้เดินทางไปสำรวจจึงพบว่า เป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ ประเภทเทอร์โรพอด 7 รอย จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โนซอร์ชนิดกินเนื้อ อายุประมาณ 140 ล้านปี
ตั้งอยู่ที่เชิงภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 28 กิโลเมตร (ก่อนถึงสหัสขันธ์ 2 กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปวัดสักวันอีก 1 กิโลเมตร วัดนี้เป็นสถานที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมาก โดยซากกระดูกบางส่วน ได้นำมาจัดแสดงที่ศาลาวัด มีการจัดนิทรรศการแสดงความเป็นมา ของการเกิดไดโนเสาร์ยุคต่างๆ รวมทั้งรูปภาพการขุดค้นพบซากกระดูกเหล่านี้ นอกจากนั้น ห่างจากศาลาวัดไปประมาณ 100 เมตร มีโครงกระดูกไดโนเสาร์ฝังอยู่ในพื้นดินบริเวณเชิงเขา ได้รับการขุดแต่ง โดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี เป็นซากกระดูกไดโนเสาร์ชนิดซอโรพอต ประมาณ 7 ตัว ซึ่งอยู่ในยุคครีเทเชียส อายุประมาณ 130 ล้านปี
และในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมีซากปลาโบราณพันธุ์ใหม่ของโลก ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดมีชื่อว่า "เลปิโดเทส" มีความยาวประมาณ 30 - 60 เซนติเมตรอยู่ในยุคมีโซโซอิก หรือ 65 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับไดโนเสาร์ คาดว่า บริเวณที่พบคงเป็นบึงขนาดใหญ่ และเกิดภัยแล้งทำให้ปลาตาย และซากถูกโคลนทับไว้กลายเป็นฟอสซิลจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ภายในบริเวณเดียวกัน ยังมีวัดสักกะวัน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบันดาลฤทธิผล (หลวงพ่อบ้านด่าน) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยทวารวดี ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง [ อ่านเพิ่มเติม : ไดโนเสาร์ ]
อยู่ในเขตอำเภอเขาวง บนเส้นทาง เขาวงดงหลวง-มุกดาหาร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามด้วยโขดหินสลับซับซ้อน ในฤดูฝนจะเป็นช่วงที่สวยงามที่สุด น้ำตกตาดทองจะจัดให้มีงานขึ้นทุกๆ ปี ในช่วงเดือนตุลาคม รถยนต์สามารถเดินทางเข้าถึงน้ำตกได้โดยสะดวก
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน แบ่งเป็นชั้นๆ มีความสวยงามมาก สภาพป่าโดยรอบเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ และลักษณะเด่นคือ มีน้ำไหลตลอดปีแม้ในฤดูแล้ง
>
แนะนำจังหวัดกาฬสินธุ์
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดกาฬสินธุ์ | แผนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ | เอกสารการท่องเที่ยว ]
ภาพเก่าเล่าเรื่องในอดีต "เมืองน้ำดำ กาฬสินธุ์"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ภาพเก่าเล่าเรื่องอีสานบ้านเฮา
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)