foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

provinces header

จังหวัดมุกดาหาร

เมืองชายโขงงาม   มะขามหวานเลิศ
ถิ่นกำเนิดลำพญา   ภูผาเทิบพิสดาร
กลองโบราณล้ำค่า  วัฒนธรรมไทยแปดเผ่า
เขามโนรมย์เพลินตา  โสภาแก่งกระเบา "

mukdahan logoในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงแขวงสวันเขต มีหมู่บ้านชุมชนใหญ่ชื่อ บ้านหลวงโพนสิน ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณพระธาตุอิงฮัง แขวงสวันเขต ในปัจจุบัน โดยมีเจ้าจันทรสุริยวงศ์ปกครอง มีบุตรชายชื่อเจ้ากินรี ซึ่งต่อมาได้ข้ามลำน้ำโขงมาฝั่งขวาที่บริเวณปากห้วยมุก สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้น ณ ที่นั้นในปี พ.ศ. 2310 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2313 และตั้งชื่อเมืองว่า "มุกดาหาร" อันเกิดจากศุภนิมิตรที่พบเห็นในขณะที่กำลังสร้างเมือง ชาวเมืองทั่วไปเรียกมุกดาหารว่า เมืองบังมุก หรือ มุกดาหารบุรี

ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้เจ้ากินรีเป็นพระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามัณฑาตุราช ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคนแรกของเมืองมุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ. 2321

เดิม เมืองมุกดาหาร มีฐานะเป็นเมืองขึ้นการปกครองกับมณฑลอุดร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2450 มีการปรับปรุงการปกครองมณฑลอุดรเป็นจังหวัด และเมืองมุกดาหารจึงถูกยุบเป็นอำเภอเมืองมุกดาหาร ขึ้นการปกครองกับจังหวัดนครพนม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดมุกดาหารขึ้นเป็นจังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่ 17 ของภาคอีสาน

mukdahan flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร คือ ดอกช้างน้าว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ochna integerrima) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Ochnaceae ลำต้นคดงอ ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง กิ่งก้านออกต่ำ ดอกสีเหลือง กลีบรองดอกสีแดงคล้ำ ผลกลม เป็นดอกไม้ที่เป็นที่นิยมมากทางภาคใต้ของเวียดนาม และเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น กระแจะ (ระนอง) กำลังช้างสาร (กลาง) ขมิ้นพระต้น (จันทบุรี) ควุ (กะเหรี่ยง-นครสวรรค์) แง่ง (บุรีรัมย์) ช้างน้าว, ตานนกกรด (นครราชสีมา) ช้างโน้ม (ตราด) ช้างโหม (ระยอง) ตาชีบ้าง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ตาลเหลือง (เหนือ) ฝิ่น (ราชบุรี) โว้โร้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)

สรรพคุณทางยา รากใช้ขับพยาธิและฟอกน้ำเหลือง ทางภาคอีสานใช้ลำต้นต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย ทางจังหวัดอุบลราชธานีใช้แก่นต้มน้ำดื่มแก้ประดง ชาวเขาเผ่ามูเซอใช้รากเป็นยาบำรุงกำลัง โดยตากแห้ง หรือดองเหล้า หรือต้มน้ำดื่ม

จังหวัดมุกดาหาร เป็นประตูด่านสำคัญสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน มีความสัมพันธ์ฉันท์บ้านพี่น้องกับแขวงสวันเขต สปป.ลาว มาช้านาน โดยมีแม่น้ำโขงซึ่งมีความยาวถึง 70 กิโลเมตร เป็นเส้นกั้นพรมแดน และมีความโดดเด่นในด้านชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ที่มีถึง 8 เผ่าได้แก่ เผ่าไทยอีสาน ภูไท ไทยข่า กระโซ่ ไทยย้อ ไทยแสก และไทยกุลา และยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มุกดาหารมีพื้นที่ประมาณ 4,339,830 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ (2564) คือ อำเภอเมืองมุกดาหาร, อำเภอนิคมคำสร้อย, อำเภอดอนตาล, อำเภอดงหลวง, อำเภอคำชะอี, อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอหนองสูง

mukdahan 01

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศตะวันตก : ติดต่อกับอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ทิศตะวันออก : ติดต่อกับแขวงสวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน
  • ทิศเหนือ : ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอหนองพอก อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
  • ทิศใต้ : ติดต่อกับอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

ประเพณีเทศกาลและแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ

mukdahan 05

งานกาชาดและงานรวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขง

ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมทุกปี จังหวัดมุกดาหารเป็นเมืองเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตรงข้ามกับแขวงสวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงมีชาวไทยเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่หลายเผ่า อาทิ ผู้ไท โซ่ ย้อ ข่า กะเลิง กุลา ซึ่งแต่ละเผ่าล้วนแล้วแต่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ มีเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของตนเอง นอกจากนี้มุกดาหารยังเป็นแหล่งกำเนิดมะขามหวานพันธุ์ดีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานาน หากแต่ยังขาดการส่งเสริมในด้านการตลาด ดังนั้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ของดีของท้องถิ่น และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร จึงได้จัดงาน รวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขง ขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด กิจกรรมระหว่างงานมีขบวนแห่ ซึ่งใช้ผู้ฟ้อนนับร้อยคนแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า มีการประกวดมะขามหวาน การประกวดธิดาเผ่าไทย การออกร้านของหน่วยงานต่างๆ และการแสดงพื้นเมือง เป็นต้น

mukdahan 03

ประเพณีการแข่งเรือ

ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี การแข่งเรือของจังหวัดมุกดาหารเป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยจัดขึ้นในลำน้ำโขง ที่บริเวณเขื่อนริมโขง ถนนสำราญชายโขง การแข่งเรือนี้จัดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การแข่งเรือเร็ว โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น ได้แก่ เรือรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ ระยะทางแข่งยาว 3 กิโลเมตร เรือทุกลำเป็นเรือขุดท้องกลม อีกประเภทหนึ่งคือ การแข่งเรือประเภทสวยงาม โดยตกแต่งเรือให้สวยงามตลอดลำ โดยเฉพาะจะเน้นที่หัวเรือ การแข่งเรือทั้งสองประเภทนี้ ในแต่ละปีจะมีเรือเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก และจะมีการแข่งเรือมิตรภาพไทย - ลาว โดยมีเรือจากแขวงสวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาร่วมแข่งเป็นประจำทุกปี

mukdahan 06

หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก

สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ห้วทรงครองราชย์ครบ 50 ปี หอแก้วมุกดาหาร มีลักษณะเป็นหอคอยรูปทรงกระบอก มีความสูง 65.50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตัวแกนหอคอย 6 เมตร ส่วนฐานมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงเก้าเหลี่ยมแทนความหมายถึงรัชกาลที่ 9 มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร มีทางเข้าออก 3 ทาง ส่วนแกนหอคอยเริ่มตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 6 สูง 50 เมตร ส่วนหอชมวิวและโดม สูง 15 เมตร บนยอดสูงสุดเป็นที่ตั้งของ "ลูกแก้วมุกดาหาร" มีลักษณะกลมสีขาวหมอกมัว ทำจากประเทศเยอรมนี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร

การขึ้นไปชมจะมีลิฟต์และบันไดเวียนอำนวยความสะดวก โดยมีชั้นสำหรับชมนิทรรศการ และทัศนียภาพรอบด้านในระดับต่างๆ รวม 4 ระดับ คือ ชั้นที่ 1, 2, 6 และ 7 บนชั้นที่ 6 มีกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้าน เพื่อชมทิวทัศน์ในระยะไกล นอกจากจะเห็นเมืองมุกดาหารในมุมสูงแล้ว ยังสามารถมองเห็นเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขด ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน หอแก้วมุกดาหารเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.ค่าข้าชมคนละ 20 บาท

mukdahan 04

อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร

เป็นภูเขาหินทราย ประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกัน แบบลูกคลื่น และเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ - ใต้ ขนานและห่างจากชายฝั่งโขงประมาณ 4 กิโลเมตร ภายในอุทยานมุกดาหาร ประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย

กินหมูหันพักผ่อนที่แก่งกะเบา

เป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง บนฝั่งก็ยังมีลานหินกว้างใหญ่ เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี ในฤดูแล้งน้ำลด จนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำ และหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่นๆ การเดินทางใช้เส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม (ทางหลวงหมายเลข 212) ประมาณ 20 กิโลเมตร แยกขวาไปอำเภอหว้านใหญ่อีก 9 กิโลเมตร จะพบทางแยกไปแก่งกะเบา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนืออีก 8 กิโลเมตร [ อ่านเพิ่มเติม ]

น้ำตกตาดโตน

อยู่ห่างจากอำเภอหนองสูงไปทางทิศใต้ และอยู่ห่างจากอำเภอคำชะอีไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสาย 2030 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 67-68 แยกเข้าไปอีกประมาณ 400 เมตร ทางขวามือ ระยะน้ำตกสูง 7 เมตร กว้าง 30 เมตร มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมุกดาหารและชาวจังหวัดใกล้เคียง

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดมุกดาหาร | แผนที่จังหวัดมุกดาหาร | เอกสารการท่องเที่ยว ]

new1234ภาพเก่าเล่าเรื่องอดีต "เมืองมุกดาหาร"new1234

mukdahan 02

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดมหาสารคาม

พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักศิลานคร "

mahasarakam logoจังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีบรรยากาศของเมืองที่สงบเงียบ และเรียบง่ายตามแบบฉบับของเมืองอีสาน ปัจจุบันมีความสำคัญในฐานะเป็น ศูนย์กลางทางด้านการศึกษาแห่งหนึ่งของภูมิภาค เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาอยู่มากมาย จึงได้ชื่อว่าเป็น "ตักศิลาแห่งอีสาน"

จังหวัดมหาสารคาม มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณี และเนื่องจากยังมีความเจริญไม่มากนัก ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนเมืองนี้ จึงได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวอีสานอันเรียบง่ายและบริสุทธิ์ เป็นเสน่ห์ที่นับวันจะหาได้ยากในสังคมเมืองปัจจุบัน

จังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อที่ประมาณ 5,291 ตารางกิโลเมตร หรือ 3.31 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 42 ของประเทศ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงโคราช พื้นที่มีรูปร่างคล้ายนกอินทรีกลับหัว ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 130 – 230 เมตร โดยทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นที่สูง และค่อยๆ ลาดเทมาทางทิศตะวันออกและทิศใต้ มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำชี

จังหวัดมหาสารคาม เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเมืองหนึ่ง มีความเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมหมุนเวียนไปในแต่ละยุคสมัย ปัจจุบันนับเป็นเมืองศูนย์รวมวัฒนธรรมของชาวอีสาน เนื่องจากชาวเมืองมีที่มาจากหลายชนเผ่า เช่น ชาวไทยพื้นเมืองที่พูดภาษาอีสาน ชาวไทยย้อ และชาวผู้ไท ประชาชนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีการไปมาหาสู่และช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันตามแบบของคนอีสานทั่วไป

mahasarakam 06

มหาสารคาม นับเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ เนื่องจากพบชุมชนโบราณหลายแห่ง ทั้งชุมชนบ้านเชียงเหียนและหมู่บ้านปั้นหม้อของชาวบ้านหม้อ ตำบลเขวา อำเภอเมืองฯ รวมทั้งพบศิลปะสมัยทวารวดีและอิทธิพลของวัฒนธรรมขอม เช่น กู่สันตรัตน์ กู่บ้านเขวา กู่บ้านแดง และกู่อื่นๆ รวมถึงเทวรูปและเครื่องปั้นดินเผาที่พบอยู่ทั่วไปในหลายพื้นที่ของจังหวัด

เดิม เมืองมหาสารคาม มีชื่อว่า "บ้านลาดกุดยางใหญ่" และเพี้ยนไปเป็น "กุดนางใย" ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลาดกุดยางใหญ่ขึ้นเป็น "เมืองมหาสารคาม" โดยแบ่งพื้นที่และย้ายพลเมืองมาจากเมืองร้อยเอ็ด ที่อยู่ติดกันมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และโปรดเกล้าฯ ให้เมืองมหาสารคามขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2412 จนถึงปัจจุบัน

mahasarakam flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม คือ ดอกลั่นทมขาว (จำปาขาว ชื่อสามัญ Frangipani ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumeria ssp.) ลั่นทม หรือ ลีลาวดี เป็นไม้ดอกยืนต้นในวงศ์ตีนเป็ด หรือ วงศ์ไม้ลั่นทม (Apocynaceae) มีหลายชนิดด้วยกัน บางคนมีความเชื่อว่า ไม่ควรปลูกต้นลั่นทมในบ้าน เพราะมีความเชื่อว่า เป็นอัปมงคล คือไปพ้องกับคำว่า 'ระทม' ซึ่งแปลว่า เศร้าโศก ทุกข์ใจ นิยมปลูกกันแพร่หลายอย่างมาก ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ได้แก่ จำปา, จำปาลาว และจำปาขอม เป็นต้น (สำหรับชื่อภาษาอังกฤษอื่นๆ ได้แก่ Frangipani, Plumeria, Temple Tree, Graveyard Tree)

ต้นลีลาวดี เป็นพืชนิยมปลูกเพราะดอกมีสีสันหลากหลาย สวยงาม ได้แก่ขาว เหลืองอ่อน แดง ชมพู สีขาวขุ่น ฯลฯ บางดอกมีมากกว่า 1 สี อาจมีมากถึงหลายสีในดอกเดียว ดอกลีลาวดียังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศลาว โดยเรียกว่า "ดอกจำปา" และพบได้มากบริเวณทางขึ้นพระธาตุที่เมืองหลวงพระบาง สำหรับในประเทศไทยนั้น มักพบต้นลั่นทมตามธรรมชาติทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่

จังหวัดมหาสารคาม แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ (2564) ได้แก่ อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอวาปีปทุม อำเภอบรบือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอนาเชือก อำเภอเชียงยืน อำเภอนาดูน อำเภอแกดำ อำเภอยางสีสุราช อำเภอกุดรัง และอำเภอชื่นชม

การเดินทาง

มหาสารคามอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 475 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดมหาสารคามได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและ รถประจำทาง

  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา แยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ถึงจังหวัดบุรีรัมย์ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 219 ผ่านอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอบรบือ และแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 23 เข้าสู่จังหวัดมหาสารคาม
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-มหาสารคาม ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

mahasarakam 03

การเดินทางภายใน มหาสารคาม

ในตัวจังหวัดมหาสารคามมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง รถสามล้อ เครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

mahasarakam 01จังหวัดมหาสารคาม มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ การเยี่ยมชมและสักการะพระธาตุนาดูน กู่ นมัสการพระพุทธรูปต่างๆ และเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เยี่ยมชมและเลือกซื้อหาเครื่องใช้ในราคาถูกที่ หมู่บ้านหัตถกรรม พักในโฮมสเตย์ เรียนรู้การทำเสื่อกก หรือพักในรีสอร์ตสวย นวดแผนโบราณ และทำสปา เป็นต้น

นอก จากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ คือ ขี่จักรยานท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจริมบึงบอน อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย และแก่งเลิงจาน ดู "ปูทูลกระหม่อม" หรือ "ปูแป้ง" ซึ่งเป็นปูน้ำจืดที่สวยที่สุดในโลกที่พบเฉพาะในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน เท่านั้น และชมทิวทัศน์ ดูนก เดินป่าศึกษาธรรมชาติและชมพรรณไม้ ที่วนอุทยานชีหลง

เทศกาลงานประเพณีและวัฒนธรรม

ประเพณีบุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีของชาวมหาสารคามที่ประกอบขึ้น ตามความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกๆ ปี ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้อง เป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝน ที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้นๆ เป็นงานเฉลิมฉลองในช่วงต้นฤดูการทำนา เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอีสาน ในงานจัดให้มีขบวนแห่บุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระแม่โพสพ เรื่องของพานบายศรีสู่ขวัญ ตลอดจนวัฒนธรรม การละเล่น ดนตรีพื้นบ้าน และพิธีกรรมต่างๆ

งานนมัสการพระธาตุนาดูน พระธาตุนาดูน หรือ พุทธมณฑลอีสาน เป็นสถานที่ที่ค้นพบ หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่แสดงว่า บริเวณแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรื่องของ นครจำปาศรี เมืองโบราณในอดีต อีกทั้งได้ขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13 – 15 สมัยทวาราวดี จึงได้สร้างพระธาตุตามแบบสถูปที่ได้ค้นพบ และทุกปีก็จะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จัดงานในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา ของทุกปี

mahasarakam 08

รำบวงสรวง งานนมัสการพระบรมธาตุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
สุดอลังการนำขบวนนางรำกว่า 5,000 คน โดย ต่าย อรทัย

ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการสั่งสม ถ่ายทอด และพัฒนา มาจากประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถของปู่ ย่า ตา ยาย ที่สามารถนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา มาทำให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีพ และความรู้และวิธีการต่างๆ ที่มีคุณค่าเหล่านั้น ได้ถ่ายทอดมาให้ลูกหลานในวันนี้ ในจังหวัดมหาสารคามมีภูมิปัญญาหลายอย่างเช่น การทอผ้า การทอเสื่อ การผลิต เครื่องดนตรีพื้นบ้าน การจักสาน การปั้นหม้อดินเผา การทำเครื่องเบญจรงค์ การประดิษฐ์เครื่องประดับ การเจียระไนพลอย และการทำขนมจีน

mahasarakam 05

มหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ผู้คนในท้องถิ่น ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมอันงดงามไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปี จึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลอง และงานประเพณีที่สำคัญทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานแห่เทียนเข้าพรรษา งานบุญบั้งไฟ งานบุญเบิกฟ้าและกาชาด งานนมัสการพระธาตุนาดูน งานประเพณี 12 เดือน เป็นต้น

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดมหาสารคาม | แผนที่จังหวัดมหาสารคาม | เอกสารการท่องเที่ยว ]

mahasarakam 07 

แนะนำให้ไปชม : ภาพเก่าเล่าเรื่องในอดีตจังหวัดมหาสารคาม new1234

redline

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดบุรีรัมย์

เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม "

burirum logoบุรีรัมย์ คือดินแดนภูเขาไฟเมืองไทย และเป็นแหล่งรวมอารยธรรมขอมโบราณ จึงมีความสำคัญในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ บุรีรัมย์ยังได้รับสมญานามว่า ดินแดนปราสาทหิน อันมากมายไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีงานศิลปหัตถกรมลือเลื่องคือผ้าไหมและผ้ามัดหมี่นาโพธิ์

จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในเขตภาคอีสานตอนล่าง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง พื้นที่ลาดจากทิศใต้ลงไปทางทิศเหนือ พื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นน้อย เป็นที่ราบขั้นบันไดช่องเขา และภูมิประเทศที่เกิดจากภูเขาไฟ มีเนื้อที่ประมาณ 10,321 ตารางกิโลเมตร จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 17 ของประเทศ

จากการศึกษาของนักโบราณคดี พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และที่สำคัญที่สุด คือมีการค้นพบหลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐและปราสาทหินจำนวนมากกว่า 60 แห่ง รวมทั้งพบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผา ภาชนะดินเผา และภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่า "เครื่องถ้วยเขมร" ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 อยู่ทั่วไป

หลังจากสมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มมีขึ้นอีกครั้ง ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏชื่อว่า เป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา และปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า บุรีรัมย์ หรือในชื่อเดิมเรียกว่า "เมืองแปะ" มีฐานะเป็นเมืองเมืองหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ บุรีรัมย์จึงได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบันนี้

burirum 02

จังหวัดบุรีรัมย์ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ (2564) ได้แก่ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอนางรอง อำเภอลำปลายมาศ อำเภอประโคนชัย อำเภอพุทไธสง อำเภอสตึก อำเภอกระสัง อำเภอบ้านกรวด อำเภอคูเมือง อำเภอหนองกี่ อำเภอปะคำ อำเภอนาโพธิ์ อำเภอหนองหงส์ อำเภอพลับพลาชัย อำเภอห้วยราช อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชำนิ อำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอแคนดง และอำเภอบ้านด่าน

burirum flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ คือ ดอกสุพรรณิการ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cochlospermum regium) เป็นไม้ผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในแถบทุ่งหญ้าเขตร้อนแซราดู (Cerrado) ในทวีปอเมริกาใต้ (บริเวณประเทศบราซิล, โบลิเวีย, ปารากวัย) และมีชื่อสามัญ Yellow Silk Cotton, Butter-Cup (Single), Butter-Cup Double), Torchwood แต่ปัจจุบันพบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ทางเหนือ เรียกว่า ฝ้ายคำ

สุพรรณิการ์ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกับฝ้ายคำมาก ข้อแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งคือ ฝ้ายคำจะออกดอกเพียงชั้นเดียว มี 5 กลีบ และบานทีละดอก ในขณะที่สุพรรณิการ์จะมีทั้งชนิดที่ออกดอกชั้นเดียว และชนิดที่ออกดอกซ้อนกันเป็นกระจุกแน่น โดยบานพร้อมๆ กัน สำหรับในประเทศไทย นิยมปลูกสุพรรณิการ์เป็นไม้ประดับ โดยได้รับการกำหนดให้เป็น พันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดนครนายก และเป็น ดอกไม้ประจำจังหวัด นครนายก สระบุรี บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี และอุทัยธานี ด้วย

การเดินทาง

บุรีรัมย์ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 410 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดบุรีรัมย์ได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง เครื่องบิน และรถไฟ

  • โดยรถไฟ:
    มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงทุกวัน สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี หรือนครราชสีมา-อุบลราชธานี ทั้งที่เป็นขบวนรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และรถดีเซลราง ผ่านสถานีบุรีรัมย์ทุกขบวน รถดีเซลรางปรับอากาศจะใช้เวลาเดินทางน้อยกว่ารถยนต์มาก
    ติดต่อสอบถามราย ละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 เว็บไซต์ www.railway.co.th
  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรีเลี้ยวขวาเข้า ทางหลวงหมายเลข 2 แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 224 และทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงหมายเลข 218 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 410 กิโลเมตร
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง
  • โดยเครื่องบิน:
    จากท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ที่อำเภอสตึก สายการบินที่ให้บริการ ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย และนกแอร์ ในอนาคตมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ

burirum 03

การเดินทางภายใน บุรีรัมย์

ในตัวเมืองบุรีรัมย์มีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะ ได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งบุรีรัมย์ โทร. 0 4461 2534

นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยว เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง หมู่บ้านทอผ้าไหมนาโพธิ์ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง

ไป "บุรีรัมย์ตำน้ำกิน" เป็นคำพังเพยในอดีต ที่แสดงถึงภาวะการขาดแคลนน้ำในบริเวณพื้นที่ อันเป็นเขตการปกครองของจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีต และแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของชาวบุรีรัมย์ สมัยก่อนที่นำความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ มาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ

กรรมวิธีที่ได้ชื่อว่าเป็น การตำน้ำกิน คือ การขุดหลุมดินขนาดย่อมขึ้นก่อน แล้วตักเอาโคลนตมในบ่อ สระ หรือบึง มาใส่หลุมที่ขุดไว้ แล้วย่ำด้วยเท้าจนเป็นเลน หรือนำมาใส่ครุ ไม้ไผ่ยาชัน แล้วตำด้วยไม้ ให้โคนเลนมีความหนาแน่นสูงขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน น้ำจากโคลนเลนจะปรากฎเป็นน้ำใสอยู่ข้างบน ตักไปใช้บริโภคได้ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงไปได้

burirum 07

"บุรีรัมย์ ตำน้ำกิน" เป็นคำพังเพยที่อยู่ในความทรงจำ และความภาคภูมิใจในอดีตของชาวบุรีรัมย์ ในฐานะที่เป็นคำพังเพยที่แสดงถึงความยากลำบาก และทรหดอดทนของบรรพบุรุษผู้บุกเบิกแผ่นดิน ให้ประโยชน์ตกทอดแก่ลูก หลาน เหลน ในปัจจุบัน และในฐานะที่สามารถนำความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างเฉลียวฉลาด

ปัจจุบัน ภาวะเรื่องน้ำของจังหวัดบุรีรัมย์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก กรมชลประทานได้สร้าง อ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ เพิ่มขึ้น และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทก็ได้ปิดกั้นทำนบ เหมืองฝาย และ ขุดลอกห้วย หนอง คลอง บึง สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สร้างสระน้ำมาตรฐานขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นสร้างถังเก็บน้ำฝน สระน้ำ บ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล หอถังจ่ายน้ำ โดยสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ความหมายและภาพพจน์ของคำพังเพยดังกล่าวได้หมดไปแล้วในปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยว

burirum 06บุรีรัมย์ มีกิจกรรมท่องเที่ยวโดดเด่นคือ การเที่ยวชมปราสาทหิน บุรีรัมย์ถือได้ว่า เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมขอมโบราณเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่า มีปราสาทหินอยู่มากมายตามอำเภอต่างๆ ดังนั้น การไปเที่ยวในจังหวัดนี้จึงเปรียบเสมือนการเที่ยวย้อนอดีต ชมความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรขอมโบราณ

ไปบุรีรัมย์ทั้งทีต้องไปเยือนปราสาทหิน โดยเฉพาะ ปราสาทหินพนมรุ้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ คือ แสงอาทิตย์จะทำมุมลอดทะลุประตูทั้ง 15 บานของปราสาทได้อย่างพอดี นับเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

เทศกาลงานประเพณีและวัฒนธรรม

จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถึง 4 กลุ่มชน จึงเป็นดินแดน ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมมากอีกแห่งหนึ่ง และในความหลากหลายนี้ก็มีความผสมกลมกลืนกัน แต่มีประเพณีบางอย่างที่มีลักษณะตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ประเพณีหลักของชาวบุรีรัมย์ก็เช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไป คือ ยึดมั่นใน "ฮีตสิบสอง" คือ มีประเพณี ประจำสิบสองเดือนในรอบปี เช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไป ประเพณีเฉพาะกลุ่มชนที่ปฏิบัติตาม ความเชื่อที่มีความแตกต่างกันไป ประเพณีสำคัญที่ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันของกลุ่มไทยเขมรและไทยลาว ที่สำคัญมีดังนี้

burirum 05

งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ต. ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จัดขึ้นในตอนต้นเดือนเมษายน มีกิจกรรมขบวนแห่ตามราชประเพณีขอมโบราณ ตลอดจนการแสดง แสง เสียง ย้อนรอยอดีต และโฮปบายดินเนอร์ (พาแลงอาหารแบบกลิ่นอายเขมร) และชมปรากฎการณ์มหัศจรรย์ ดวงตะวันส่องแสงตรง 15 ช่องประตู ปราสาทหินพนมรุ้ง และนมัสการปิดทอง ไหว้พระพุทธพนมรุ้งเพื่อศิริมงคล

burirum 04

งานประเพณีแข่งเรือยาว ลำน้ำมูลบริเวณหน้าอำเภอสตึก จัดขึ้นในวันเสาร์ – อาทิตย์แรก ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นการแสดงแข่งเรือหลายประเภท ชิงถ้วยพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการแข่งขัน ช้างว่ายน้ำ แข่งช้างแฟนซี ช้างพาเหรด ซึ่งหาดูได้ยาก

burirum 08

งานมหกรรมว่าวอีสาน จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี ที่บริเวณทางโค้งใกล้โรงโม่หินศิลาชัย ถนนสายบุรีรัมย์ – ประโคนชัย ในงานมีการแข่งขันว่าวประเภทต่างๆ เช่น ว่าวแอกโบราณ ว่าวแอกพัฒนา ว่าวสวยงาม ว่าวนานาชาติ งานแสดงหนึ่งตำบลหนึ่ง ผลิตภัณฑ์และมหรสพ

งานเครื่องเคลือบพันปีประเพณีบ้านกรวด จัดขึ้นในต้นเดือนเมษายนของทุกปี ที่สนามหน้าอำเภอบ้านกรวด ในงานมีนิทรรศการเครื่องเคลือบโบราณ การประกวดเครื่องเคลือบจำลอง การแสดงวัฒนธรรม ท้องถิ่นไทย-กัมพูชา การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน

งานประเพณีขึ้นเขากระโดง จัดขึ้นประมาณกลางเดือนเมษายน ในงานมีกิจกรรมวิ่ง ภูกระโดงมินิมาราธอน ขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ งานโฮปบายละเงี๊ยด (กินเข่ายามค่ำ) พิธีบายสีสู่ขวัญ การแสดงดนตรี กันตรึมพื้นเมือง ชมแสง เสียงตำนานสร้างเมืองบุรีรัมย์ และนมัสการพระคู่เมือง บุรีรัมย์ พระสุภัทรบพิตร

งานกวนข้าวทิพย์ และตักบาตรเทโวโรหณะ จัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษาของทุกปี ที่วัดพระพุทธบาทเขากระโดง มีประชาชนมาทำบุญตักบาตร เป็นจำนวนมาก

งานวันหัวผักกาด ข้าวหอมมะลิ หมี่ยำไทย จัดขึ้นช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ของอำเภอกระสัง กิจกรรมประกอบด้วยริ้วขบวนวัฒนธรรมไทยสามเผ่า (เขมร ลาว ส่วย) ขบวนหัวผักกาด และ กระยาสารท ขบวนหมี่ยำ ขบวนข้าวหอมมะลิ และผลิตผลทางการเกษตรขบวนผ้าไหม พื้นเมือง

 burirum kungjom

งานเทศกาลข้าวมะลิหอม ปลาจ่อมกุ้ง ชมทุ่งนกประโคนชัย จัดขึ้นในเช่วงประมาณวันที่ 27 ธ.ค. - 2 ม.ค. ของทุกปี ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ มีการจัดนิทรรศการ ของส่วนราชการในอำเภอประโคนชัย การประกวดอาหารพื้นบ้านประโคนชัย ภาพยนตร์ การเดินแบบผ้าไหมการกุศล จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เช่น กุ้งจ่อม กระยาสารท สุราพื้นบ้าน เป็นต้น

 burirum 09

งานการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและมอเตอร์สปอร์ต จังหวัดบุรีรัมย์ในปัจจุบันเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการสร้างทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด และสนามแข่งขันฟุตบอลมาตรฐาน สนามไอโมบายปราสาทสายฟ้า เป็นทีมที่มีผลงานแชมป์ระดับเอเชีย ต่อมามีการสร้างสนามกีฬาแข่งรถ ช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต เพื่อทำการแข่งขันรถแข่งทั้งประเภทรถยนตร์ และจักรยานยนตร์ หลายรายการต่อปี และจะมีการแข่งขันเซอร์กิตระดับโลกมาทำการแข่งขันที่นี่อย่าง Motor GP และรายการอื่นๆ ทำให้จังหวัดบุรีรัมย์มีการพัฒนาด้านที่พักอาศัย (โรงแรม รีสอร์ต) แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมาก ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดบุรีรัมย์ | แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์ | เอกสารการท่องเที่ยว | ปราสาทหิน ]

new1234ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมืองบุรีรัมย์ ชุดที่ 1 | ชุดที่ 2new1234

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดนครราชสีมา

เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน "

nakon rajasima logoจังหวัดนครราชสีมา หรือที่เรียกกันว่า "เมืองโคราช" เป็นเมืองใหญ่บนดินแดนที่ราบสูง ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร และสิ่งอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบ ผู้มาเยือนจะได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติที่งดงาม จนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก สนุกสนานไปกับกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้ชื่นชมความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมขอมโบราณ เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน ได้ความรู้ด้านการเกษตร จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งยังได้อิ่มอร่อยกับอาหารอีสานต้นตำรับ และเลือกซื้อหาสินค้าเกษตรและหัตถกรรมพื้นบ้าน ในดินแดนที่เปรียบเสมือนเป็นประตูสู่ภาคอีสานแห่งนี้

ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก มีการคมนาคมที่สะดวกสบาย ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน จังหวัดนครราชสีมา จึงเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวพักผ่อนวันหยุด ที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ แห่งหนึ่งของชาวเมืองหลวง และจังหวัดใกล้เคียงในปัจจุบัน

จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ประมาณ 20,494 ตารางกิโลเมตร หรือ 12,808,728 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สภาพพื้นที่มีทั้งบริเวณที่สูงทางตอนกลาง พื้นที่ลูกคลื่นและที่ราบลุ่มทางตอนเหนือ และบริเวณเทือกเขาและที่สูงทางตอนใต้ของจังหวัด อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสายที่ไหลไปทางตะวันออกของภูมิภาค มีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำลำเชียงไกร ลำแซะ ลำพระเพลิง ลำตะคอง และลำปลายมาศ

จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่พบอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดนครราชสีมา ทำให้เชื่อได้ว่า บริเวณนี้เคยมีชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ก็ยังคงความเจริญรุ่งเรืองมาตลอด ตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมืองเสมา เป็นเมืองใหญ่อยู่ในบริเวณที่เป็นอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน

korat 01

ต่อมาในสมัยขอมเรืองอำนาจ มีการสร้างเมืองโคราฆะปุระ หรือเมืองโคราช ขึ้นในบริเวณใกล้เคียง และมีเมืองพิมายเป็นเมืองใต้ปกครองที่สำคัญ จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ โดยเอาชื่อเมืองเสมากับเมืองโคราฆะปุระมาผูกกันเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่า "เมืองนครราชสีมา" แต่คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า "เมืองโคราช"

โคราชมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ จนมีฐานะเป็นเมืองเจ้าพระยามหานคร และเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ได้ก่อการกบฏ ยกกองทัพมาตีเมืองนครราชสีมาและกวาดต้อนพลเมืองกลับไปเป็นเชลย คุณหญิงโม ภริยาปลัดเมืองนครราชสีมาในขณะนั้น ได้คิดอุบายแสร้งทำกลัวและประจบเอาใจทหารลาว จนกระทั่ง เมื่อขบวนเชลยถูกกวาดต้อนมาหยุดพักที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ในเขตอำเภอพิมาย เมื่อสบโอกาส คุณหญิงโมก็นำทัพชาวเมืองโจมตีกองทหารเวียงจันทน์จนแตกพ่ายไป วีรกรรมอันหาญกล้าของคุณหญิงโมในครั้งนี้ เป็นที่เลื่องลือและสรรเสริญไปทั่ว ต่อมารัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาฐานันดรศักดิ์ให้คุณหญิงโมเป็น "ท้าวสุรนารี"

korat 02

โคราชมีความเจริญรุ่งเรือง ต่อมาจนกลายเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลาง จนในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งมณฑลนครราชสีมาขึ้น เป็นมณฑลแรกของประเทศ เพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองในบริเวณใกล้เคียง

ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองศูนย์ราชการที่สำคัญ รองจากกรุงเทพมหานคร และเป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆ ของภูมิภาค รวมทั้งเป็นที่ตั้งของกองกำลังรบหลักของกองทัพบกและกองทัพอากาศด้วย

จังหวัดนครราชสีมาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 32 อำเภอ (2564) ได้แก่

  • อำเภอเมืองนครราชสีมา
  • อำเภอครบุรี
  • อำเภอเสิงสาง
  • อำเภอคง
  • อำเภอบ้านเหลื่อม
  • อำเภอจักราช
  • อำเภอโชคชัย
  • อำเภอด่านขุนทด
  • อำเภอโนนไทย
  • อำเภอโนนสูง
  • อำเภอขามสะแกแสง
  • อำเภอบัวใหญ่
  • อำเภอประทาย
  • อำเภอปักธงชัย
  • อำเภอพิมาย
  • อำเภอห้วยแถลง
  • อำเภอชุมพวง
  • อำเภอสูงเนิน
  • อำเภอขามทะเลสอ
  • อำเภอสีคิ้ว
  • อำเภอปากช่อง
  • อำเภอหนองบุญมาก
  • อำเภอแก้งสนามนาง
  • อำเภอโนนแดง
  • อำเภอวังน้ำเขียว
  • อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
  • อำเภอเมืองยาง
  • อำเภอบัวลาย
  • อำเภอสีดา
  • อำเภอเทพารักษ์
  • อำเภอพระทองคำ
  • อำเภอลำทะเมนชัย

korat flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดนครราชสีมา คือ ดอกสาธร (ชื่อวิทยาศาสตร์: Millettia leucantha) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่ว พบในประเทศลาว พม่า และไทย เป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดพระราชทานกล้าไม้มงคล พระราชทานประจำจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และจังหวัดได้ทำพิธีปลูกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา) และเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กรุงเทพฯ ด้วย

มีเรียกชื่ออื่นเช่น ขะเจ๊าะ กระเจา ขะเจา กะเซาะ สาธร (ภาคเหนือ, กลาง) ขะแมบ คำแมบ (เชียงใหม่) กระพีเขาควาย (ประจวบคีรีขันธ์) สะท้อน, กระท้อน, ไม้กระทงน้ำผัก มีลักษณะ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 18 - 20 เมตร เรือนยอดกลมหรือทรงกระบอก พบขึ้นในป่าเบญจพรรณใกล้แหล่งน้ำทั่วๆ ไป ในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร ออกดอกในช่วงเดือน มีนาคม - พฤษภาคม เป็นฝักแก่ช่วงเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม

คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นสาธรไว้ที่หน้าบ้าน จะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และยังมีความเชื่ออีกว่า ใบของต้นสาธรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช้ในพิธีทางโหราศาสตร์ ใช้ทำน้ำพุทธมนต์ สะเดาะเคราะห์ได้ผลดี ดังนั้นจึงถือว่า ต้นสาธร เป็นไม้มงคลนาม ที่ควรค่าแก่การปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นสาธรไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือบริเวณหน้าบ้าน

การเดินทางสู่จังหวัดนครราชสีมา

นครราชสีมาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 259 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดนครราชสีมาได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

korat 03

  • โดยรถไฟ :
    การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดนครราชสีมาทุกวัน ทั้งรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 เว็บไซต์ www.railway.co.th
  • โดยรถยนตร์ :
    จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ
    1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา เป็นเส้นทางที่นิยมที่สุด
    2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม กบินทร์บุรี วังน้ำเขียว ปักธงชัย ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 273 กิโลเมตร
    3. ใช้ทางหลวงหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก) จนถึงจังหวัดนครนายก แยกใช้ทางหลวงหมายเลข 33 ไปจนถึงอำเภอกบินทร์บุรี แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านวังน้ำเขียว ปักธงชัย ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา
  • โดยรถประจำทาง :
    มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

การเดินทางภายในนครราชสีมา
ในตัวจังหวัดนครราชสีมามีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

  • รถแท็กซี่มิเตอร์ มีจุดจอดอยู่ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 และศูนย์การค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา
  • รถสองแถว มีวิ่งบริการภายในเขตเทศบาลและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงไปยังอำเภอต่างๆ หลายสาย นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง
  • รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา

จังหวัดนครราชสีมา มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงมากมาย และหลากหลายรูปแบบ ในด้านของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณี มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ปรางค์กู่ ปรางค์สีดา ปราสาทพะโค ปราสาทพนมวัน ปราสาทนางรำ ประตูชุมพล อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท โบราณสถานเมืองเสมา เมืองโบราณที่ตำบลโคราช หรือเมืองโคราชเก่า แหล่งหินตัดสีคิ้ว วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม วัดบ้านไร่ วัดโนนกุ่ม วัดธรรมจักรเสมาราม วัดเขาจันทน์งาม วัดหน้าพระธาตุ (วัดตะคุ) ศาลหลักเมือง และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

korat 04

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จังหวัดนครราชสีมา มี "อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่" ที่เป็นผืนป่าสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่ง ภายในมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย โดยเฉพาะน้ำตกต่างๆ และมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแห่งอื่นๆ ในจังหวัดอีก เช่น น้ำตกสวนห้อม น้ำตกวะภูแก้ว น้ำตกห้วยใหญ่ น้ำตกวังเต่า หาดจอมทอง หาดชมตะวัน ไทรงาม เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนลำตะคอง

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเชิงนิเวศอีกหลายแห่ง เช่น หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ (เขาแผงม้า) หมู่บ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหลุ่งประดู่สามัคคี กลุ่มอาชีพการเกษตรผสมผสานบ้านหนุก โครงการสวนปู่ย่าน่าอยู่ บ้านสวนหอม และศูนย์หัตถกรรมลานด่านเกวียน รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ อีก เช่น ฟาร์มโชคชัย สวนสัตว์นครราชสีมา ทองสมบูรณ์คลับ ไร่องุ่นและสวนไม้ดอกไม้ประดับแห่งต่างๆ ตลาดกลางไม้ดอกไม้ประดับโคกกรวด และตลาดผลไม้กลางดง

เทศกาลและงานประเพณีจังหวัดนครราชสีมา

จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย แต่ไทยโคราชเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ ที่มีวัฒนธรรมโคราช ได้แก่ มีเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า "เพลงโคราช" ใช้ดนตรีพื้นบ้าน คือ มโหรีโคราช และที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญคือใช้ภาษาโคราชในชีวิตประจำวัน ไม่มีหลักฐานบ่งบอกว่า กลุ่มชาติพันธุ์โคราชมาจากที่ใด แต่มีหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับชุมชนโบราณ บริเวณจังหวัดนครราชสีมาจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์นี้ นอกจากจะอยู่ที่จังหวัด นครราชสีมาแล้ว ยังมีอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ และบางส่วนของจังหวัดลพบุรี บางครั้งอาจ เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ไทยเบิ้ง

วิถีชีวิตและภาษา กลุ่มชาติพันธุ์โคราชมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายเหมือนชาวชนบททั่วไป คือ อยู่บ้านใต้ถุนสูงแบบบ้านโคราช ซึ่งเป็นเรือนสามระดับ ใกล้ๆ บ้านปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งอาจมี ทั้งอาหารและยา ใช้ผ้านุ่งโจงกระเบนซึ่งเป็น ผ้าไหมเรียกว่า ไหมหางกระรอก ซึ่งเป็นผ้าทอ ที่เส้นพุ่งเป็นไหมควบสองเส้นทำให้ทอแล้วเกิดเป็นลูกลาย เหมือนหางกระรอก

รายการ พันแสงรุ้ง ตอน คนโคราช

วัฒนธรรมที่สำคัญ คือ ภาษาโคราช ซึ่งมีวงศัพท์ เสียง และสำนวนของตัวเอง เช่น จ่น แปลว่า ไม่ว่างเลย เช่น วันนี้จ่นมาก จื้น แปลว่า จืดชืด หรือ เซ็ง เช่น ส้มตำนี้จื้นแล้ว เซาะเยาะ แปลว่า ผอมโซ ไม่มีเรี่ยวแรง นอกจากนี้อาจเพี้ยนเสียงวรรณยุกต์คำในภาษาไทยกลาง ได้แก่ เพี้ยนเสียงเอกเป็นเสียงตรี เช่น กัด เป็น กั๊ด ดัด เป็น ดั๊ด เพี้ยนเสียงสามัญเป็นเสียงจัตวา เช่น ปลา เป็น ปล๋า กา เป็น ก๋า เกี่ยวกับสำนวนภาษาโคราชมีสำนวนมากมายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น คำเรียกขวัญ ดังตัวอย่างเล็กน้อยดังนี้

ขวัญอีนางเอยมา??กู๊? ขอให่มาเข่าโครงอย่าได้หลาบ ขอให่ มาเข่าคราบอย่าได้ถอย
สิบปีอย่าไปอื่น หมื่นปีอย่าไปไกล ขอให่มาอยู่ซุมพ่อซุมแม่ ซุมพี่ซุมน่อง
ให่มาอยู่เรือนใหญ่ หัวกะไดสูง.."

หมายความว่า ขวัญลูกเอยจงมาเถิดขอให้มาอยู่กับร่างกาย สิบปี หมื่นปีอย่าได้ไปไหน ขอให้อยู่กับพ่อ แม่พี่น้อง บนเรือนหลังใหญ่บันไดสูง ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์โคราชมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนโคราช ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม รักษาและสืบทอดวัฒนธรรมโคราช ให้คงอยู่

ชาวโคราชแต่งกายแบบไทย นั่นคือ ชายนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อคอกลมไม่ผ่าอก ส่วนสตรี นุ่งผ้าโจงกระเบนเช่นเดียวกัน ไม่นิยมนุ่งผ้าซิ่น ในสมัยอดีตสวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบทับเสื้อ ถ้าอยู่กับบ้านจะใช้ผ้าผืนเดียวคาดอก

ชาวโคราชทั้งในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ นิยมรับประทานข้าวจ้าว อาหาร หลักคือ น้ำพริก อาจจะมีเครื่องจิ้มแบบลาวบ้าง กับผักเท่าที่หาได้ อาหารพิเศษอื่นๆ คล้ายกับอาหาร ไทยภาคกลาง

งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 3 เมษายน ของทุกปี ความสำคัญ เป็นงานประจำปีของจังหวัด ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 23 มีนาคมของทุกปี ซึ่งถือเป็นเวลาที่ ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) ได้รับชัยชนะจากข้าศึก เพราะวันที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2369 คือวันที่เจ้าอนุวงศ์ยกทัพออกจากเมืองนครราชสีมา จึงเป็นงานประเพณีทำให้ระลึกถึงความกล้าหาญในวีรกรรมครั้งนั้น

นอกจากนี้ ในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมเพลงโคราช การออกร้าน จัดนิทรรศการของหน่วยราชการและภาคเอกชน รวมทั้งกิจกรรมบันเทิงที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงของฝากจากเมืองโคราชต้องนึกถึง ผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา เส้นหมีโคราช เทียนหอม ดอกไม้ประดิษฐ์จากดินหอม อาหาร/ขนม

korat 05

นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งธรรมชาติ อีกทั้งผู้คนในท้องถิ่นก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณีดั้งเดิมอันงดงามไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปีจึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองและงานประเพณีที่สำคัญ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี งานประเพณีแข่งเรือพิมาย งานเทศกาลเที่ยวพิมาย งานประเพณีแห่เทียนพิมาย งานน้อยหน่าและของดีเมืองปากช่อง เป็นต้น

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดนครราชสีมา | แผนที่จังหวัดนครราชสีมา | เอกสารการท่องเที่ยว ]

korat 06

แนะนำให้คลิกไปชม : ภาพเก่าเล่าเรื่อง "เมืองโคราชา : นครราชสีมา" new1234

redline

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

Subcategories

ภาพเก่าเล่าเรื่องอีสานบ้านเฮา

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)