foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

provinces header

จังหวัดหนองบัวลำภู

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำ
แผ่นดินธรรมหลวงปู่ขาว เด่นสกาวถ้ำเอราวัณ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน"

nongbua lamphu logoจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงระหว่างหุบเขา โอบล้อมด้วยเทือกเขาภูพาน จากเหนือจดใต้ และภูเก้าในทางทิศใต้ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน มากมายด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ หนองบัวลำภูมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านธรรมชาติอันสวยงาม โบราณสถาน หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี และวัดวาอาราม

จังหวัดหนองบัวลำภู มีเนื้อที่ประมาณ 3,859.062 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 2,411,928.74 ไร่ ขนาดพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 2.27 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หนองบัวลำภู หรือในอดีตเรียกว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ตามตำนานพระวอ-พระตา ผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภูเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2302 โดยได้สร้างกำแพงเมือง มีค่ายคูประตูหอรบครบครันเพื่อป้องกันข้าศึก โดยเฉพาะข้าศึกจากทางเวียงจันทน์ คือ ได้สร้างกำแพงหิน หอรบขึ้นที่เชิงเขาบนภูพานคำ ซึ่งเป็นเส้นทางหน้าด่านใกล้กับบริเวณน้ำตกเฒ่าโต้ ห่างจากกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าสิริบุญสาร แห่งเมืองเวียงจันทน์ได้ส่งกองทัพมาปราบปราม เกิดการต่อสู้กันที่ช่องน้ำจั่น (น้ำตกเฒ่าโต้) บนภูพานคำ สู้รบกันอยู่ 3 ปียังไม่แพ้ชนะกัน ทางฝ่ายเมืองเวียงจันทน์จึงขอกองทัพพม่ามาช่วยเหลือ จนสามารถตีเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ได้ พระวอ-พระตา จึงอพยพผู้คนหนีไปพึ่ง พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งอาณาจักรล้าน ช้างจำปาสัก ในปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพมาช่วยพระวอ-พระตา ขับไล่กองทัพของพระเจ้าสิริบุญสารออกไป แล้วยกกองทัพติดตามเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ได้

ครั้งนั้นได้ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนำไปจากเมืองเชียงใหม่ เมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ก็ได้มาขึ้นอยู่กับไทย ในปี พ.ศ. 2433 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง ให้ข้าหลวงเมืองหนองคายบังคับบัญชาเมืองใหญ่ 16 เมือง เมืองขึ้น 36 เมือง เรียกว่าเมืองลาวฝ่ายเหนือ และ เมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ก็ได้ขึ้นอยู่กับเมืองหนองคายนั้น เจ้าเมืองหนองคายได้แต่งตั้งให้พระวิชโยคมกมุทเขต มาครองเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเอก และ เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองกมุทธาสัย

nongbua lampoo 02

จน ในปี พ.ศ. 2443 ได้มีการเปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร และให้รวมเมืองต่างๆ ในมณฑลอุดรเป็น 5 บริเวณ เมืองกมุทธาสัย ถูกรวมอยู่ในบริเวณบ้านหมากแข้ง และในปี พ.ศ. 2449 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ เมืองกมุทธาสัย เป็น เมืองหนองบัวลำภู

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2450 ได้ถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอหนองบัวลำภู ขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี โดยมีพระวิจารณ์กมุธกิจเป็นนายอำเภอคนแรก อำเภอหนองบัวลำภู มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งยกระดับเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536

จังหวัดหนองบัวลำภู แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ (2564) ได้แก่ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู อำเภอโนนสัง อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอนากลาง อำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอนาวัง

nongbua lampoo flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู คือ ดอกบัวหลวง หรือ บัวหลวงอินเดีย (อังกฤษ: Indian Lotus, Sacred Lotus, Bean of India) เป็นพืชน้ำในสกุลบัวหลวง (Nelumbo) วงศ์บัว (NELUMBONACEAE) มีชื่ออื่นๆ เช่น บุณฑริก, สัตตบงกช เป็นพรรณไม้น้ำประเภทพืชล้มลุก มีลำต้นและหัวอยู่ในดินใต้น้ำ การเจริญชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ใบมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบ สีเขียวขอบน้ำตาล ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายชั้น มีสีขาว ชมพู เหลือง ลักษณะสีสันขนาดของใบและดอกขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ขายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือแยกกอจากหัวหรือเหง้า

ประชากร

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภูมีชาติพันธุ์ต่างๆ มีดังนี้

  • กลุ่มไท - ลาว อพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยมีกลุ่มพระวอ - พระตาเป็นเชื้อสายลาวเวียงจันทน์
  • กลุ่มไท - เขมร อพยพมาจาก บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ
  • กลุ่มไท - สยาม อพยพมาจากภาคกลางของประเทศไทย
  • กลุ่มคนจีนและคนญวน อพยพมาเพื่อประกอบอาชีพค้าขาย และได้มีการแต่งงานกับคนในท้องถิ่น เกิดเป็นเชื้อสายจีนและเชื้อสายญวน แต่ยังมีจำนวนน้อย

ประชากรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภูสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. กลุ่มลาวพุงขาว (ล้านช้างเวียงจันทน์) กลุ่มชนนี้เป็นชนพื้นเมืองเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณรอบนอกเมือง และเป็นกลุ่มใหญ่ของจังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีสัญลักษณ์การสักลายดำใต้สะเอวลงมาและมีกินหมาก ปัจจุบันกลุ่มชนพื้นเมืองดังกล่าวเป็นคนฟันขาว เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ห้ามประชาชนทั่วไปกินหมากและสักลายดำ
  2. กลุ่มคนจีน-ญวน ลักษณะเป็นคนผิวขาวเหลือง อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง ยูนหนาน ในสมัยรัชการที่ 4 ที่มีพระราชดำริให้คนจีนกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน และภายหลังได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภู
  3. กลุ่มคนไต กลุ่มชนนี้เป็นเผ่าไตหรือไท ซึ่งอพยพเข้ามาในเขตจังหวัดหนองบัวลำภูช่วงสงครามเดียนเบียนฟู (สงครามเวียดนาม - ฝรั่งเศส) ภายหลังสงครามสงบลงกลุ่มคนไตบางส่วนได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมและบางส่วนตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู

การเดินทางไปหนองบัวลำภู

หนองบัวลำภูอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 559 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดหนองบัวลำภูได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน (ปลายทางที่สนามบินอุดรธานี แล้วเดินทางต่อด้วยรถยนตร์)

  • โดยรถไฟ:
    การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขบวนรถด่วนและรถเร็ว ออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทุกวัน เป็นรถไฟที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรธานี จากนั้นใช้รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างอุดรธานี-หนองบัวลำภู สอบถาม รายละเอียดเกี่ยวกับตารางรถไฟได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690 หรือ www.railway.co.th
  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 210 ผ่านอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ถึงจังหวัดหนองบัวลำภู รวมระยะทาง 608 กิโลเมตร หรือเมื่อถึงจังหวัดขอนแก่นแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2109 (น้ำพอง-เขื่อนอุบลรัตน์) เข้าอำเภอโนนสัง ถึงจังหวัดหนองบัวลำภู รวมระยะทางประมาณ 559 กิโลเมตร
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-หนองบัวลำภู ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

nongbua lampoo 03

การเดินทางภายใน หนองบัวลำภู

ในตัวเมืองหนองบัวลำภูมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งหนองบัวลำภู นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไป ยังแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง

กิจกรรมการท่องเที่ยว

จังหวัดหนองบัวลำภู มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวมากมายและหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม โดยกิจกรรมที่โดดเด่น คือ การชมแหล่งโบราณคดี นมัสการพระเกจิดัง เที่ยวชมวัดวาอาราม รอยพระพุทธบาท หรือเที่ยวชมหมู่บ้านหัตถกรรมต่างๆ เครื่องปั้นดินเผา พิพิธภัณฑ์ และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ขี่จักรยานท่องเที่ยว เที่ยวน้ำตก ดูนก เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ตั้งแคมป์พักแรม บริเวณอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

nongbua lampoo 04

ไปชมหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาบ้านผาโค้ง วัดถ้ำกลองเพล กราบหลวงปู่ขาวอนาลโย ภูหินลาดช่อฟ้า พิพิธภัณฑ์หอยหิน 150 ล้านปี วนอุทยานน้ำตกเฒ่าโต้ ศาลเจ้าปู่หลุบ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลอด ปโมทิตะเจดีย์ แหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อย-กุดคอเมย วัดพระพุทธบาทภูเก้า สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม เป็นโบถส์ไม้แห่งเดียวในภาคอีสาน หมู่บ้านหัตถกรรมจักรสานกระติ๊บข้าวต้นคล้า อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ กลุ่มทอผ้าไหมบ้านกุดแห่ ถ้ำผาเจาะ แหล่งโบราณคดีภูผายา อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เป็นต้น

nongbua lampoo 05

หนองบัวลำภูมีงานเทศกาลและประเพณีที่น่าสนใจหลายอย่าง มีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานประเพณีสงกรานต์หาดโนนยาว งานประเพณีขึ้นเขาไหว้พระถ้ำเอราวัณ งานประเพณีบุญบั้งไฟล้าน ที่โนนสูงเปลือย งานประเพณีบุญข้าวจี่ยักษ์ ของอำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น

[ ข้อมูลเพิ่มเติม เว็บไซต์จังหวัดหนองบัวลำภู | แผนที่จังหวัดหนองบัวลำภู | เอกสารการท่องเที่ยว ]

new1234ชมภาพเก่าเล่าเรื่องอดีต "เมืองหนองบัวลำภู"new1234

 

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดหนองคาย

 วีรกรรมปราบฮ่อ หลวงพ่อพระใส สะพานไทย-ลาว"

nongkai logoจังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเป็นประตูสู่เมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งแรก ที่เชื่อมโยงประเทศไทย - ลาวเข้าด้วยกัน ทำให้หนองคายในวันนี้ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญเมืองหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นจุดชม บั้งไฟพญานาค ในวันออกพรรษาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

และด้วยความที่เป็นเมืองสงบเงียบ เรียบง่าย เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตพื้นบ้าน ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว และมีเสน่ห์ ทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ หลากหลายไปด้วยอาหารการกิน และสินค้านานาชนิด มีโรงแรมที่พักมากมาย และการคมนาคมสะดวกสบาย เมืองริมโขงแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวที่นักเดินทางไม่ควรพลาด มาเยี่ยมเยือน

จังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่ประมาณ 3,026.534 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,891,583 ไร่ ลักษณะเป็นรูปยาว เรียงทอดไปตามลำน้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มีความยาวทั้งสิ้น 210.60 กิโลเมตร ความกว้างของพื้นที่ที่ทอดขนานไปตามลำน้ำโขงโดยเฉลี่ย 20 - 25 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ประมาณ 615 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่เป็นคลื่นลอนชัน และป่าธรรมชาติอยู่บ้าง และมีพื้นที่ราบบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนทางทิศตะวันตกบริเวณเทือกเขาต่างๆ เป็นภูเขาสูงชัน

จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์เมืองหนองคาย เริ่มขึ้นเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว จากชุมชนเมืองเล็กๆ 4 เมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง คือ เมืองพรานพร้าว เมืองเวียงคุก เมืองปะโค และเมืองไผ่ (บ้านบึงค่าย) ซึ่งปัจจุบันยังพบซากโบราณสถานของเมืองต่างๆ เหล่านี้ได้ตามวัดต่างๆ บนเส้นทางเลียบริมแม่น้ำโขงสายท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่

nongkai 02

ในปี พ.ศ. 2369 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ ได้ตั้งตนเป็นกบฏ ไม่ยอมขึ้นกับไทย และได้ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนในเขตแดนไทยกลับไปเป็นเชลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชเทวียกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ โดยมีท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) เจ้าเมืองยโสธร และพระยาเชียงสา เป็นกำลังสำคัญในการช่วยทำศึกปราบกบฏจนได้รับชัยชนะ และสามารถจับกุมตัวเจ้าอนุวงศ์ลงมายังกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ

ต่อมาใน พ.ศ. 2370 รัชกาลที่ 3 จึงพระราชทานบำเหน็จให้ท้าวสุวอธรรมาสร้างเมืองขึ้นที่บ้านไผ่ เรียกชื่อว่า "เมืองหนองคาย" ตามชื่อของหนองน้ำใหญ่ทางทิศตะวันตกของเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุวอธรรมาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองหนองคาย

คำว่า "หนองคาย" ถูกเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "หนองค่าย" ซึ่งมีความหมายโดยตรงว่า "หนองน้ำบริเวณที่ตั้งของค่ายทหาร" ซึ่งคำว่าหนองค่ายถูกเรียกเพี้ยนเป็นหนองคายในช่วงรัชกาลที่ 5 และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นหนองคายตั้งแต่นั้นมา

ใน พ.ศ. 2434 เมืองหนองคายได้เป็นสถานที่ตั้งของมณฑลลาวพวน และใน พ.ศ. 2436 เมื่อไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส จึงได้มีการย้ายที่ทำการมณฑลไปตั้งที่บ้านหมากแข้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ได้จัดตั้งมณฑลอุดรขึ้นที่บ้านหมากแข้ง เมืองหนองคาย จึงมีฐานะเป็นเมืองหนึ่งของมณฑลอุดร

nongkai 07

จนถึงปี พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองหนองคายจึงได้แยกตัวออกมาจากมณฑลอุดร และมีฐานะเป็น "จังหวัดหนองคาย" นับแต่นั้นมา

nongkai flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดหนองคาย คือ ดอกชิงชัน ชิงชัน เป็นชื่อของไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ประเภทไม้ผลัดใบที่อยู่ในวงศ์ Leguminosae ชนิดหนึ่ง (อยู่ในวงศ์เดียวกับประดู่) ต้นไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยเมล็ด สามารถแพร่กระจายพันธุ์ตามป่าดิบแล้งตลอดจนถึงป่าเบญจพรรณทั่วไป ยกเว้นเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้นที่ไม่สามารถแพร่กระจายพันธุ์ได้ เป็นไม้กลางแจ้งที่สามารถขึ้นได้ดีในดินทุกประเภทและต้องการน้ำเพียงปานกลาง

ลักษณะของต้นไม้โดยรวม เปลือกจะมีความหนาซึ่งเป็นสีน้ำตาลอมเทา สามารถล่อนออกเป็นแว่นๆ ได้และมีเนื้อภายในเป็นสีเหลือง ใบนั้นจะเป็นใบประกอบแบบขนนก ดอกมีขนาดเล็กที่รวมกันเป็นช่อ ฝักเป็นรูปหอกแต่แบน ส่วนหัวท้ายของฝักนั้นจะแหลม ส่วนระบบรากนั้นจะมีความลึกมาก เนื่องจากไม้ชิงชันนั้นมีลักษณะที่แข็งและเหนียว รวมถึงมีลักษณะที่ดูสวยงามมาก ดังนั้น จึงนิยมนำมาทำเป็นเครื่องเรือน อุปกรณ์เครื่องดนตรีต่างๆ ฯลฯ นอกจากประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมพื้นบ้านแล้ว ต้นไม้ชิงชันยังให้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรอีกด้วย

nongkai 09

ปัจจุบัน จังหวัดหนองคาย แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ (2564) ได้แก่ 1. อำเภอเมืองหนองคาย 2. อำเภอท่าบ่อ 3. อำเภอโพนพิสัย 4. อำเภอศรีเชียงใหม่ 5. อำเภอสังคม 6. อำเภอสระใคร 7. อำเภอเฝ้าไร่ 8. อำเภอรัตนวาปี และ 9. อำเภอโพธิ์ตาก

การเดินทางสู่หนองคาย

หนองคายอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 615 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดหนองคายได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และทางเครื่องบิน (ลงที่สนามบินอุดรธนี แล้วต่อด้วยรถยนตร์ไปอีก 59 กิโลเมตร)

  • โดยรถไฟ:
    การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดหนองคายทุกวัน ทั้งรถเร็วและรถด่วน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th
  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แล้วแยกขวาเข้าใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ไปจนถึงหนองคาย
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

nongkai 04

การเดินทางภายในหนองคาย

ในตัวจังหวัดหนองคายมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

  • รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง
  • รถสามล้อเครื่อง หรือสกายแล็บ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

nongkai 08

กิจกรรมการท่องเที่ยว

จังหวัดหนองคาย มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวมากมายและหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ได้ไปเยือนเมืองแห่งนี้ กิจกรรมที่ไม่ควรพลาด คือ การเยี่ยมชมและนมัสการหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย ชมพระธาตุกลางน้ำ ขึ้นภูทอกชมทิวทัศน์และนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดหินหมากเป้ง ชมโบราณสถานพระธาตุบังพวน นมัสการพระพุทธรูปหล่อพ่อทองแสน วัดท่าตกเรือ และนมัสการหลวงพ่องค์ตื้อ ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ

nongkai 03

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่น ชอบธรรมชาติ คือ ดูนกน้ำที่บึงโขงหลง ขี่จักรยานท่องเที่ยว เที่ยวถ้ำ เที่ยวน้ำตก เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมพรรณไม้ ชมทิวทัศน์ และตั้งแคมป์พักแรมที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว กิจกรรมท่องเที่ยวแบบ ผ่อนคลายอื่นๆ เช่น พักโฮมสเตย์ สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ล่องเรือชมธรรมชาติและวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง ขี่จักรยานตามเส้นทางเลียบริมแม่น้ำโขง พักผ่อนหย่อนใจที่หาดสีกายและหาดจอมมณี เดินชมตลาดและเลือกซื้อสินค้านานาชนิดที่ตลาดท่าเสด็จ ดูบั้งไฟพญานาคที่อำเภอโพนพิสัยในช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือพักในรีสอร์ตสวย นวดแผนโบราณ และทำสปา เป็นต้น

nongkai 05

หนองคายเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งธรรมชาติ อีกทั้งผู้คนในท้องถิ่นยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณีดั้งเดิมอันงดงามไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปีจึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลอง และงานประเพณีที่สำคัญ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานประเพณีบุญบั้งไฟ งานตักบาตรเทโว และแข่งเรือมิตรภาพไทย-ลาว ออกพรรษาดูบั้งไฟพญานาค เป็นต้น

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดหนองคาย | แผนที่จังหวัดหนองคาย | เอกสารการท่องเที่ยว | บั้งไฟพญานาค ]

nongkai 06

แนะนำให้คลิกไปชม : ภาพเก่าเล่าเรื่อง "เมืองหนองคายในอดีต" new1234

redline

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดสุรินทร์

 สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท
ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม"

surin logoจังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนของภาคอีสานตอนล่าง หรือ "อีสานใต้" ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมของหลากหลายชนชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมขอมโบราณ ที่หล่อหลอมและผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยถิ่นอีสาน จนมีความเป็นเอกลักษณ์ และโดดเด่นแล้ว ยังมีชื่อเสียงเป็นพิเศษในด้านการเลี้ยงช้าง จนได้ชื่อว่าเมือง "สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่"

นอกจากนี้ สุรินทร์ยังโดดเด่นในด้านการทอผ้าไหม มีทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ และพืชพรรณอันหลากหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งเสริมให้จังหวัดสุรินทร์เป็นเมืองที่น่าสนใจและน่า ท่องเที่ยวไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ

จังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 8,124 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 24 ของประเทศ ลักษณะพื้นที่ทางตอนใต้บริเวณที่ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นป่าทึบและภูเขาสูงสลับซับซ้อน ถัดมาเป็นที่ราบสูงลูกคลื่นลอนลาด ตอนกลางของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มเป็นส่วนใหญ่ ทางตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีลำน้ำที่สำคัญ คือ แม่นำมูล ลำน้ำชี ห้วยเสนง

สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่ง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน ในยุคขอมเรืองอำนาจในภูมิภาคนี้ ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลง เมืองดังกล่าวก็ถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลานาน

จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2260 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ชาวพื้นเมืองของเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนของไทย ที่เรียกตัวเองว่า "ส่วย" หรือ "กูย" หรือ "กวย" ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาตั้งชุมชนที่เมืองต่างๆ ในแถบภูมิภาคนี้ รวมถึงที่บ้านอัจจะปะนึ่ง และบ้านกุดปะไท ในเขตอำเภอสังขะและอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ คนเหล่านี้มีความสามารถในการจับช้างป่า และนำมาฝกฝนไว้ใช้งานเป็นอย่างมาก จึงเป็นต้นกำเนิดของตำนาน "เมืองช้าง" ของจังหวัดสุรินทร์นั่นเอง [ อ่านเพิ่มเติม : หมู่บ้านช้าง ]

surin 02

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2306 หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ย้ายหมู่บ้านมาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2 ชั้น และมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การประกอบอาชีพ และอยู่อาศัย ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็น "เมืองประทายสมันต์" และหลวงสิรินทรภักดีได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองประทายสมันต์

ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "เมืองประทายสมันต์" เป็น "เมืองสุรินทร์" ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองในขณะนั้น เมืองสุรินทร์มีเจ้าเมืองปกครองสืบเชื้อสายกันมารวม 11 คน จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล "เมืองสุรินทร์" จึงเปลี่ยนเป็น "จังหวัดสุรินทร์" และทางกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งพระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์) มาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนแรก

surin flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ คือ ดอกกันเกรา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Fagraea fragrans) เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนจะออกดอกเป็นช่อสีเหลือง มีกลิ่นหอมขจรขจาย ต้นกันเกรามีชื่อเรียกอื่นว่า มันปลา ตำเสา มะซูไม้ต้น

กันเกรา มีชื่อเรียกต่างกันไปคือ ภาคกลางเรียก กันเกรา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันปลา ส่วนภาคใต้เรียก ตำแสง หรือตำเสา มูซูเป็นภาษาถิ่นทางภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง อันมีชื่อเป็นมงคลและมีคุณสมบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์ คือชื่อ 'กันเกรา' หมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ชื่อ 'ตำเสา' คือ เป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก มอด แมลงต่างๆ เจาะกิน ชื่อ 'มันปลา' น่าจะเป็นลักษณะของดอกที่เหมือนกับไขมันของปลาเมื่อลอยน้ำ ไขมันของปลาในถ้วยน้ำแกง โดยเฉพาะช่วงข้าวใหม่ปลามันที่ปลาจะมีความมันและเอร็ดอร่อยเป็นที่สุด

ปัจจุบัน จังหวัดสุรินทร์ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 อำเภอ (2564) ได้แก่

 อำเภอเมืองสุรินทร์  อำเภอชุมพลบุรี  อำเภอท่าตูม  อำเภอจอมพระ
 อำเภอปราสาท  อำเภอกาบเชิง  อำเภอรัตนบุรี  อำเภอสนม
 อำเภอศีขรภูมิ  อำเภอสังขะ  อำเภอลำดวน  อำเภอสำโรงทาบ
 อำเภอบัวเชด  อำเภอพนมดงรัก  อำเภอศรีณรงค์  อำเภอเขวาสินรินทร์ 
 อำเภอโนนนารายณ์      

การเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์

สุรินทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 457 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดสุรินทร์ได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

  • โดยรถไฟ:
    การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และสถานีรถไฟธนบุรี ไปยังจังหวัดสุรินทร์ทุกวัน ทั้งรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th
  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ
    1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ ถึงจังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทางประมาณ 434 กิโลเมตร
    2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 214 ที่อำเภอปราสาท ขับต่อไปจนถึงจังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทางประมาณ 450 กิโลเมตร
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-สุรินทร์ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

การเดินทางภายในสุรินทร์

ในตัวจังหวัดสุรินทร์มีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมือง และต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000 - 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง รถสามล้อ เครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทาง และแบบเหมาจ่าย

ที่นี่บ้านเรา : สุขกันตรึม

เทศกาลงานประเพณีและวัฒนธรรม

จังหวัดสุรินทร์ มีประชากรร้อยละ 93 อาศัยอยู่ในเขตชนบท มีภาษาพูดพื้นเมือง ที่แตกต่างกัน เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่พูดภาษาเขมร ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบอำเภอเมือง ปราสาท กาบเชิง สังขะ บัวเชด จอมพระ ศีขรภูมิ ท่าตูม ชุมพลบุรี ลำดวน
  • กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่พูดภาษาส่วย อาศัยอยู่ในแถบอำเภอสำโรงทาบ ท่าตูม สนม จอมพระ ศีขรภูมิ รัตนบุรี และกระจายอยู่ตามอำเภออื่นๆ อีกเล็กน้อย
  • กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่พูดภาษาพื้นเมืองอีสาน (ลาว) อาศัยอยู่แถบอำเภอสนม รัตนบุรี ท่าตูม ชุมพลบุรี และศีขรภูมิ

เนื่องจากประชาชนมีภาษาพูดที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละกลุ่มมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่แตกต่างกันบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ประชากรทั้ง 3 กลุ่ม มีความเป็นมาที่กลมกลืนกัน มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีความสามัคคีต่อกันเป็นอย่างดี ไม่ปรากฏการเกิดปัญหาระหว่างกลุ่มชน แต่อย่างใด

surin 03

งานประเพณีบวชนาคแห่ช้าง ประเพณีบวชช้าง จัดขึ้นในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดื่อน 6 (ราว กลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ณ วัดแจ้งสว่าง บ้านตากลาง อ.ท่าตูม จะมีการแห่แหน บรรดานาคด้วยขบวนช้างกว่า 50 เชือก ข้ามลำน้ำมูลกันอย่างเอิกเกริก พิธีโกนผมนาค พิธีแห่นาค ช้างไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ ศาลเจ้าพ่อวังทะลุ และอุปสมบทนาค

ประเพณีการเซ่นผีปะกำ ชนชาวส่วยหรือกูย มีความยึดมั่น และเคร่งครัดในประเพณี เป็นอย่างมาก มีความเชื่อเรื่องของผีสางเทวดา ไม่ลบหลู่สิ่งที่ตนเองเคารพบูชา ซึ่งในแต่ละ ครอบครัวจะมีผีซึ่งตนเองเคารพอยู่ประจำ ที่เราเรียกว่า "ผีปะกำ" การเซ่นผีปะกำ จะกระทำ ก็ต่อเมื่อมีการไปคล้อช้าง พิธีแต่งงาน หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่คนในครอบครัวจัดให้มีขึ้น เพราะมี ความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้เซ่นผีปะกำของตนเองแล้ว จะมักให้มีอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ถ้าได้เซ่น ผีปะกำถูกต้องตามประเพณีแล้ว จะทำให้ชีวิตมีแต่ความสงบสุข และการกิจกรรมดังกล่าว จะสำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดี

เทศกาลงานช้างสุรินทร์ เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์ เป็นถิ่นฐานของชาวไทยเชื้อสายกูย เป็น ชนเผ่าที่เชี่ยวชาญการจับช้าง เลี้ยงช้าง และฝึกช้างมาแต่อดีตกาล แม้วันนี้การคล้องช้างป่าจะยุติ ไปแล้ว แต่พวกเขายังเลี้ยงช้างไว้ดั่งสัตว์เลี้ยงของครอบครัว ชาวสุรินทร์ได้เคยทำชื่อเสียงให้แก่ ประเทศไทยมาแล้ว และเมื่อ "การแสดงของช้าง" ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2503 นั้น ทำให้นามของจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างประเทศ

งานช้างสุรินทร์ จัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน ในงานจะมี การแสดงต่างๆ ของช้าง เช่น ช้างเล่นฟุตบอล ช้างเต้นระบำ ขบวนพาเหรดของช้าง ขบวนช้างศึก เป็นต้น

พิธีไหว้ศาลปะกำ คชอาณาจักร สุรินทร์

ประเพณีแซนแซร เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการทำนา ก่อนที่จะลงมือทำนาในฤดูฝนแล้ว ชนชาวส่วยจะทำพิธีที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ แซนแซร คำว่า "แซน" แปลว่า เซ่น ส่วน "แซร" แปลว่า นา หรือ ที่นา การประกอบอาชีพทำนาของชนชาวส่วย จะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ เนื่องจากการ ทำนาจะทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ดังนั้นการทำนาของชาวส่วย จึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พิธีกรรมที่สำคัญของการแซนแซร์ จะกระทำอยู่ 3 ขั้นตอน คือ

  1. ทำก่อนลงมือปักดำ เรียกว่า "แองัย" (เอาวัน) เป็นการกำหนดวันที่จะลงมือปักดา หรือไถนาดะ โดยจะนำ เครื่องเซ่นไหว้ ไปบอกเจ้าที่นาก่อน เพื่อให้เจ้าที่ได้รับทราบว่าจะลงมือปักดำแล้ว
  2. ทำหลังเสร็จสิ้นการปักดำ เป็นการบอกเจ้าที่ให้ช่วยดูแลต้นข้าว ให้เจริญงอกงาม ให้ได้ผลผลิตมากๆ
  3. ทำหลังการเก็บเกี่ยว เป็นการบอกขอบคุณเจ้าที่นา ที่ช่วยให้การทำนา ในครั้งนี้ได้ผลดี วัน เวลา ปฏิบัติในฤดูการทำนา และจะทำพิธีในตอนเช้า

ประเพณีบุญวันสารท (แซนโดนตา) เป็นการทำบุญเพื่อรำลึกถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไป แล้ว และเพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีขึ้นในช่วงวันขึ้น 14–15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างช้านานของชนเผ่าเขมร เป็นการ แสดงออก ถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นถึงความรักความกตัญญูของสมาชิกใน ครอบครัว โดนตา หมายถึง การทำบุญให้ยาย และตา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

กิจกรรมการท่องเที่ยวสุรินทร์

จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต โดยมีกิจกรรมที่โดดเด่น คือ เที่ยวชมปราสาทขอมโบราณและโบราณสถานต่างๆ เที่ยวหมู่บ้านช้าง ชมการแสดงน่ารักๆ ของช้างแสนรู้ ลองนั่งช้าง เรียนรู้การฝึกบังคับช้างและการเลี้ยงช้าง อุ้มช้างอาบน้ำ ชมศูนย์คชศึกษา ศึกษาเรื่องราววิถีชีวิตความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ชมสุสานช้างที่วัดป่ากวยอาเจียง ชมพิพิธภัณฑ์ครูบาใหญ่ เยี่ยมชมหมู่บ้านหัตถกรรมและเลือกซื้อสินค้าหัตถกรรมเป็นของฝาก

surin 04

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ คือ ขี่จักรยานท่องเที่ยว ดูนก ชมพรรณไม้ พักผ่อนหย่อนใจ และตั้งแคมป์พักแรมที่วนอุทยานพนมสวาย และวนอุทยานป่าสนหนองคู และมีกิจกรรมท่องเที่ยวแบบผ่อนคลายอื่นๆ เช่น ลงเล่นน้ำ กินปลาแม่น้ำ และล่องแพที่วังทะลุ พายคายัคลำน้ำชี พักผ่อนริมห้วยเสนง พักโฮมสเตย์ ชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน เรียนรู้การทอผ้าไหม ลิ้มลองอาหารพื้นบ้านกับข้าวหอมมะลิสุดอร่อย ชมการแสดงประเพณีพื้นบ้านชาวกวย เรียนรู้วัฒนธรรมภาษากวย เดินชมตลาดและเลือกซื้อสินค้านานาชนิดที่ตลาดการค้าช่องจอม หรือพักในรีสอร์ตสวย นวดแผนโบราณ และทำสปา เป็นต้น

surin silk

ผ้าไหมสุรินทร์ เสน่ห์ มนตรา คุณค่าแห่งผ้าไหมมัดหมี่

จังหวัดสุรินทร์ มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลากหลายรูปแบบ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ที่น่าสนใจ คือ โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน ปราสาทจอมพระ ปราสาทหินบ้านพลวง ปราสาทเมืองที ปราสาทศีขรภูมิ ปราสาทภูมิโปน ปราสาทยายเหงา ปราสาทบ้านไพล ปราสาทตะเปียงเตีย หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์ หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านจันรม หมู่บ้านจักสานบ้านบุทม หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทอง จันทร์โสมา อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) วัดบูรพาราม ศาลหลักเมืองสุรินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ นอกจากนี้ สุรินทร์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ ที่สวยงามและน่าสนใจอีก เช่น ห้วยเสนง วนอุทยานพนมสวาย วนอุทยานป่าสนหนองคู เขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบ และตลาดการค้าช่องจอม

รายการชื่นใจไทยแลนด์ - จังหวัดสุรินทร์

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดสุรินทร์ | แผนที่จังหวัดสุรินทร์ | เอกสารการท่องเที่ยว | ผ้าไหมสุรินทร์ ]

newgreen1แนะนำให้ชม "ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองสุรินทร์ในอดีต"newgreen1

surin 05

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดสกลนคร

พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาร
แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม"

sakon nakon logoจังหวัดสกลนคร เป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็น "เมืองพุทธศาสน์ พระธาตุห้าแห่ง แหล่งอารยธรรมสามพันปี" เนื่องจากมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม ที่ตกทอดกันรุ่นสู่รุ่นมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยโบราณ ที่หล่อหลอมและผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยถิ่นอีสาน จนมีความเป็นเอกลักษณ์และ โดดเด่น กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งศาสนาและอารยธรรมอันน่าสนใจ

สกลนคร ยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ พืชพรรณ สัตว์ป่านานาชนิด และแหล่งน้ำขนาดใหญ่น้อยหลายแห่ง ที่ทำให้จังหวัดสกลนครเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ

จังหวัดสกลนคร มีเนื้อที่ประมาณ 9,605 ตารางกิโลเมตร หรือ 6 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของประเทศ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่มสลับพื้นที่ลอนลาด มีเทือกเขาภูพานอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัด และมีหนองหารซึ่งเป็นหนองน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัด มีน้ำตลอดปี

เมืองสกลนคร เดิมมีชื่อว่า "เมืองหนองหานหลวง" ตามชื่อของบึงน้ำที่เมืองตั้งอยู่ มีขุนขอมราชบุตร เจ้าเมืองอินทปัฐนครเดิม เป็นผู้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโคตบูร ต่อมาเมื่ออิทธิพลขอมเสื่อมลง เมืองหนองหานหลวงตกไปอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรล้านช้าง มีชื่อเมืองใหม่ว่า "เมืองเชียงใหม่หนองหาน"

sakol nakhon 06

ต่อมาในศตวรรษที่ 19 เมืองเชียงใหม่หนองหาน ได้ตกมาอยู่ในความปกครองของอาณาจักรสยาม และเปลี่ยนชื่อเป็น "เมืองสกลทวาปี" ใช้ระบอบการปกครองแบบหัวเมืองโบราณ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ทางส่วนกลางได้ส่งพระยาสุริยเดช (กาจ) มาเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครคนแรก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2373 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก เมืองสกลทวาปี เป็น "เมืองสกลนคร" และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

sakol nakhon 02

จังหวัดสกลนคร ได้รับการขนานนามว่าเป็น "แหล่งธรรมะแห่งอีสาน" เนื่องจากมีความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีต เป็นถิ่นกำเนิดและพำนักของอริยสงฆ์ที่สำคัญ และเป็นที่เคารพบูชาหลายท่าน เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์วัน อุตตโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร และหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น

จังหวัดสกลนคร แบ่งการปกครองเป็น 18 อำเภอ (2564) คือ

 อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม
 อำเภอพังโคน อำเภอวาริชภูมิ อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอวานรนิวาส
 อำเภอคำตากล้า อำเภอบ้านม่วง อำเภออากาศอำนวย อำเภอสว่างดินแดน
 อำเภอส่องดาว อำเภอเต่างอย อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเจริญศิลป์
 อำเภอโพนนาแก้ว อำเภอภูพาน    

sakol nakhon flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดสกลนคร คือ ดอกกันเกรา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Fagraea fragrans) เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนจะออกดอกเป็นช่อสีเหลือง มีกลิ่นหอมขจรขจาย ต้นกันเกรามีชื่อเรียกอื่นว่า มันปลา ตำเสา มะซูไม้ต้น

กันเกรา มีชื่อเรียกต่างกันไปคือ ภาคกลางเรียก กันเกรา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันปลา ส่วนภาคใต้เรียก ตำแสง หรือตำเสา มูซูเป็นภาษาถิ่นทางภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง อันมีชื่อเป็นมงคลและมีคุณสมบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์ คือชื่อ 'กันเกรา' หมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ชื่อ 'ตำเสา' คือ เป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก มอด แมลงต่างๆ เจาะกิน ชื่อ 'มันปลา' น่าจะเป็นลักษณะของดอกที่เหมือนกับไขมันของปลาเมื่อลอยน้ำ ไขมันของปลาในถ้วยน้ำแกง โดยเฉพาะช่วงข้าวใหม่ปลามันที่ปลาจะมีความมันและเอร็ดอร่อยเป็นที่สุด

การเดินทางสู่สกลนคร

สกลนครอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 647 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดสกลนครได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และเครื่องบิน

trip sakon

  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา จนถึงอำเภอบ้านไผ่ แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 23 ไปจนถึงจังหวัดมหาสารคาม แล้วแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 213 ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ จนถึงจังหวัดสกลนคร
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-สกลนคร ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th
  • โดยเครื่องบิน:
    มีบริการเดินทางโดยเครื่องบินจากสายการบินนกแอร์ บินตรงจากสนามบินดอนเมืองสู่จังหวัดสกลนคร บริการทุกวันอาทิตย์, จันทร์, พุธ, พฤหัส, ศุกร์ รายละเอียดตารางการบินดูได้ที่ http://www.nokair.com/

sakol nakhon 03

ท่องเที่ยวในจังหวัดสกลนคร

จังหวัดสกลนคร มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงมากมาย และหลากหลายรูปแบบ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ คือ พระธาตุภูเพ็ก พระธาตุศรีมงคล พระธาตุดุม พระธาตุนารายณ์เจงเวง วัดพระธาตุเชิงชุม ปราสาทบ้านพันนา สะพานขอมหรือสะพานหิน วัดถ้ำขาม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม หรือวัดถ้ำพวง วัดใต้ต้นลาน ภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ผาผักหวาน ภาพรอยสลักผาสามพันปีที่ภูผายล ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ พิพิธภัณฑ์อาจารย์วัน อุตตโม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปู่มเหศักดิ์ พิพิธภัณฑ์ไทยโส้ พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร พิพิธภัณฑ์อาจารย์มั่น ภูริทัตโต ชุมชนคาทอลิคหมู่บ้านท่าแร่

sakol nakhon 05

นอกจากนี้ สกลนครยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ได้แก่ หนองหาน อุทยานแห่งชาติภูพาน อุทยานแห่งชาติภูผายล อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูอ่างศอ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนน้ำอูน พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และสถานแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด รวมทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ น่าสนใจ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร และศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม

sakol nakhon 04

สกลนคร เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งธรรมชาติ อีกทั้งผู้คนในท้องถิ่นยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณีดั้งเดิมอันงดงามไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปีจึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลอง และงานประเพณีที่สำคัญ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง งานประเพณีแข่งเรือ งานเที่ยวหนองหาน งานเทศกาลโส้รำลึก งานเซิ้งผีโขน เทศกาลแห่ดาว เป็นต้น

sakol nakhon 01

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดสกลนคร | แผนที่จังหวัดสกลนคร | เอกสารการท่องเที่ยว ]

รายการ FoodWork ตอน "3 ดำแห่งภูพาน" จากสถานี ThaiPBS

new1234ไปชมภาพเก่าเล่าเรื่องอดีต "เมืองสกลนคร"new1234

 

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

Subcategories

ภาพเก่าเล่าเรื่องอีสานบ้านเฮา

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)