คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หลวงพ่อโตคู่บ้าน ถิ่นฐานปราสาทขอม ข้าว หอม กระเทียมดี
มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี"
ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนล่าง ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เคยเป็นชุมชนที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมานับพันปี นับตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ และมีชนเผ่าต่างๆ อพยพมาตั้งรกรากในบริเวณนี้ ได้แก่ พวกส่วย ลาว เขมร และเยอ
ศรีสะเกษ เดิมเรียกกันว่า เมืองขุขันธ์ เมืองเก่าตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านปราสาทสี่เหลี่ยม ดงลำดวน ตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหินในปัจจุบัน จึงมีอีกชื่อหนึ่งคือ "ศรีนครลำดวน" ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เมื่อ พ.ศ. 2302 สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมี หลวงแก้วสุวรรณ ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไกรภักดี เป็นเจ้าเมืองคนแรก ล่วงถึงรัชสมัยรัชการที่ 5 ได้ย้ายเมืองขุขันธ์มาอยู่ที่ บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน แต่ยังคงใช้ชื่อว่า เมืองขุขันธ์ ตราบจนถึง พ.ศ. 2481 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่นั้นมา
จังหวัดศรีสะเกษ แบ่งการปกครองออกเป็น 22 อำเภอ (2564) คือ
อำเภอเมืองศรีสะเกษ | อำเภอยางชุมน้อย | อำเภอกันทรารมย์ | อำเภอกันทรลักษ์ |
อำเภอขุขันธ์ | อำเภอไพรบึง | อำเภอปรางค์กู่ | อำเภอขุนหาญ |
อำเภอราศีไศล | อำเภออุทุมพรพิสัย | อำเภอบึงบูรพ์ | อำเภอห้วยทับทัน |
อำเภอโนนคูณ | อำเภอศรีรัตนะ | อำเภอน้ำเกลี้ยง | อำเภอวังหิน |
อำเภอภูสิงห์ | อำเภอเมืองจันทร์ | อำเภอเบญจลักษณ์ | อำเภอพยุห์ |
อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ | อำเภอศิลาลาด |
ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ คือ ดอกลำดวน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Melodorum fruticosum Lour.) มีชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า หอมนวล (ภาคเหนือ) ลำดวน (ภาคอีสาน) เป็นไม้ดอกชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ ดอกหอมนวลยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษด้วย
ลำดวนเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5 - 20 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวย หนาทึบ ลำต้นเปลาตรง มีเปลือกสีน้ำตาล แตกขรุขระเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 5-11.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบสอบหรือมน ดอกมีสีนวลกลิ่นหอม ออกเดี่ยวตามซอกใบที่ปลายกิ่ง กลีบดอกหนาและแข็ง กลีบดอก ชั้นนอก 3 กลีบแผ่ออก ชั้นใน 3 กลีบ หุบเข้าหากัน เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ลักษณะผลเป็นผลกลุ่ม ทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.6 เซนติเมตร สีเขียว เมื่อสุกสีดำ รสหวานอมเปรี้ยว
จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นช่วงที่ดอกลำดวนในสวนกำลังบานส่งกลิ่นหอม ภายในงานประกอบด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสี่เผ่า คือ เขมร ส่วย ลาว เยอ การออกร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม สินค้าพื้นเมือง การแสดงละครประกอบแสงเสียงตำนานการสร้างเมือง
จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ หรืออำเภอขุนหาญ โดยจะจัดสลับกันแห่งละปี ภายในจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น การออกร้านจำหน่ายพืชผักผลไม้ศรีสะเกษนานาชนิด เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด สะตอ ยางพารา เป็นต้น การจัดขบวนแห่รถประดับด้วยผลไม้ การจัดนิทรรศการทางวิชาการ และการจัดกิจกรรมคาราวานชมสวนชิมผลไม้ศรีสะเกษ (ปัจจุบัน มีการนำมาจัดเป็นงานใหญ่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด หรือที่สนามในวิทยาลัยเกษตรกรรมศรีสะเกษ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์จังหวัดศรีสะเกษ)
จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมของทุกปี บนเส้นทางขึ้นสู่เขาพระวิหาร ระหว่างหมู่บ้านภูมิซรอล-ผามออีแดง อำเภอกันทรลักษ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นเขาสู่ชายแดนที่ต้องวิ่งฝ่าสายหมอกในช่วงปลายฤดูฝน จึงนับเป็นเส้นทางที่ท้าทายและเป็นสนามประลองกำลังที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนให้ความสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง
ตั้งอยู่ที่บ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยผสมศิลปอีสานใต้สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว พระธาตุมีความสูง 49 เมตร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ชั้นที่ 1 ใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นที่ 2-3 เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย ชั้นที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ชั้นที่ 5 ใช้สำหรับการทำสมาธิ และชั้นที่ 6 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ
ตั้งอยู่ในวิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดศรีสะเกษ ถนนกสิกรรม ตำบลหนองครก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 237 ไร่ ลักษณะเป็นสวนป่าในเขตเมือง มีต้นลำดวนขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นดงใหญ่จำนวนกว่าสี่หมื่นต้น เหมาะแก่การทัศนศึกษาในเชิงพฤกษศาสตร์ ต้นลำดวนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หอมนี้จะผลิดอกหอมอบอวลไปทั่วในราวเดือนมีนาคมของทุกปี และเนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับชื่อ ศรีนครลำดวน ในอดีด จึงได้นำเอาต้นลำดวนมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีสวนสัตว์ และสวนสาธารณะตกแต่งสวยงามร่มรื่นเป็นแหล่งพักผ่อนของประชาชนทั่วไป มีบึงน้ำสำหรับพายเรือเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ
ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตประเทศกัมพูชาบริเวณที่ติดกับผามออีแดงของประเทศไทย โดยตัวปราสาทหันหน้ามายังด้านที่ติดกับประเทศไทย ดังนั้นการเข้าชมปราสาทในทางบกจึงต้องใช้เส้นทางที่ผ่านผามออีแดงของประเทศไทยเท่านั้น
ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นเทวสถานขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ 900 เมตร ประกอบด้วยปราสาท 4 ชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่บนแนวเขาที่เป็นเนินสูงลดหลั่นกันขึ้นไปตามลำดับทั้ง 4 ชั้น ทางเดินระหว่างชั้นของปราสาทได้อาศัยแผ่นศิลาบนผิวพื้นภูเขานั้นเป็นแนวถนน และขั้นบันได โดยตกแต่งให้มีระดับต่อเนื่องกันจนถึงยอดสูงสุดอันเป็นที่ตั้งของปราสาทชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นปราสาทองค์ประธานอยู่ชิดกับหน้าผา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร
จากหลักฐานที่ปรากฏในจารึกแสดงว่าเขาพระวิหารแห่งนี้เป็นศิวะสถานสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 และต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16–17 ก็ได้มีการสร้างเสริมเพิ่มเติม โดยลำดับจนสำเร็จในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ให้บันทึกคำประกาศของทางราชการไว้บนแผ่นศิลาจารึกด้วย
ปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้เดิมเคยอยู่ในความปกครองดูแลของไทย และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เป็นต้นมาได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของประเทศกัมพูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
การเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร นักท่องเที่ยวสามารถสามารถเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนไทย โดยคนไทยเสียค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานคนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท และค่าผ่านแดนออกนอกประเทศคนละ 5 บาท เมื่อจะเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร กัมพูชาเก็บค่าธรรมเนียมชาวไทยคนละ 50 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 200 บาท
ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 130 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น กับอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 สภาพภูมิประเทศทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาตามแนวทิวเขาพนมดงรักกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยหากินข้ามไปมาในผืนป่าระหว่างสองประเทศได้แก่ หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด เป็นต้น ในอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารยังมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
ภาพสลักนูนต่ำ รูปแกะสลักโบราณ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้หน้าผามานับพันปี อยู่ทางทิศใต้ของผามออีแดง มีบันไดให้ลงไปชมได้สะดวก เป็นภาพเทพสามองค์ เชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างในการแกะสลักก่อนเริ่มการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร
ผามออีแดง ตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย กัมพูชา เป็นหน้าผาหินสีแดงที่มีทัศนียภาพกว้างไกลสุดตา และจากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารได้ นับเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ผามออีแดงมีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติ ริมหน้าผาสูงติดกับพื้นที่ประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่เบื้องล่าง เป็นจุดชมทัศนียภาพเขาพระวิหาร ในระยะใกล้เพียง 1,000 เมตร บริเวณผามออีแดงมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก และทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าผาที่อยู่ต่ำลงไป มีภาพสลักหินนูนต่ำศิลปะเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 สันนิษฐานว่า เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ขอบคุณภาพสวยๆ จาก Choochat Banlue
อยู่ห่างจากอำเภอขุนหาญ 24 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 85 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 2236 เส้นทางกันทรอม-บ้านสำโรงเกียรติ เป็นน้ำตกที่สวยงามไหลลดหลั่นมาตามชั้นหิน มีน้ำมากในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ บริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ริมแม่น้ำมูลมีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย และในกลุ่มคนที่อยู่ริมมูลนั้นมีชาติพันธุ์ "เยอ" อยู่ตรงนั้น คนเยอขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการหาปลา ทำมาหากินกับป่าบุ่งป่าทาม เมื่อมีน้ำ มีป่า ก็รับประกันได้ว่าคนเยออยู่ได้สบายดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำมูล อำเภอราษีไศล ณ ขณะนี้ ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่า.. แน่หรือว่าแม่น้ำมูลจะมั่นคงต่อไป [ อ่านเพิ่มเติม : ป่าบุ่ง ป่าทาม หรือ แรมซาร์ไซต์ ]
รายการ "อยู่ดีมีแฮง" ตอน คนเยอราษีฯ กินทามน้ำมูล ทางช่อง ThaiPBS
ทำความรู้จักชาว "เซราะสะเบีย" หรือชาวบ้านชบา ในภาษากูย บ้านชบา อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่อาศัยห้วยทับทันในการหาอยู่หากิน และมีอาชีพปลูกพริก ปลูกผักสวนครัวส่งขายสร้างรายได้ แต่ลำพังจะรอน้ำฝนตามฤดูกาลก็ลำบาก และถ้าจะเอาน้ำขึ้นจากห้วยมาใช้ก็ยังเป็นเรื่องยาก พวกเขาจึงต้องเจาะบ่อบาดาล หรือที่ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า "น้ำส่าง" ไว้ใช้ เพื่อให้มีน้ำใช้ในการเกษตรตลอดทั้งปี ส่วนวิธีการเจาะก็เป็นแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยไม่ใช้เครื่องจักร เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง มีเพียงแท่งเหล็กยาวๆ ปลายด้านหนึ่งติดเสียมที่ทำจากเหล็กชั้นดี ส่วนแรงงานก็อาศัยคนในชุมชนมา "โฮม" หรือ "ลงแขก" กัน
รายการ "อยู่ดีมีแฮง" ตอน เซราะสะเบีย : คนฮิมห้วย ทางช่อง ThaiPBS
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดศรีสะเกษ | แผนที่จังหวัดศรีสะเกษ | เอกสารการท่องเที่ยว ]
แนะนำให้ทุกท่านได้ชม : ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมืองศรีสะเกษในอดีต ชุดที่ 1 | ชุดที่ 2 | ชุดที่ 3
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู"
จังหวัดเลย เมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ท่ามกลางสายหมอก ปกคลุมเหนือยอดภู อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้นานาชนิดที่รู้จักกันดี คือ ภูกระดึง ภูหลวง และภูเรือ อากาศอันเย็นสบาย ภูมิประเทศที่งดงาม ประเพณีวัฒนธรรมอันแตกต่างไปจากถิ่นอื่น ซึ่งได้แก่ การละเล่นผีตาโขน ที่รอคอยนักเดินทางมาสัมผัสเมือแห่งขุนเขาดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้
จังหวัดเลย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 520 กิโลเมตร มีพื้นที่ 11,424 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดชายแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในอดีตนั้นเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ของอาณาจักรที่มีความรุ่งเรืองควบคู่กับกรุงศรีอยุธยาของไทย ภายหลังอาณาจักรล้านช้างเริ่มอ่อนแอลง จึงมาขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยา ต่อมาชุมชนนี้เดิมชื่อ "เมืองเซไล" ได้รับการยกฐานะเป็น เมืองเลย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จังหวัดเลย แบ่งการปกครองออกเป็น 14 อำเภอ (2564) คือ อำเภอเมืองเลย อำเภอวังสะพุง อำเภอปากชม อำเภอเชียงคาน อำเภอท่าลี่ อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูกระดึง อำเภอนาแห้ว อำเภอนาด้วง อำเภอภูหลวง อำเภอผาขาว อำเภอเอราวัณ และอำเภอหนองหิน
ดอกไม้ประจำจังหวัดเลย คือ รองเท้านารีเหลืองเลย หรือ รองเท้านารีคอขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Paphiopedilum hirsutissimum) เป็นกล้วยไม้ดิน พบตามซอกหินหรือที่ร่ม แพร่กระจายตั้งแต่จีนตอนใต้ พม่าและทางเหนือของอินเดีย เป็นกล้วยไม้แบบ sympodial แบบไม่มีลำลูกกล้วย ระบบรากเป็นแบบรากกึ่งดิน ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น และมักทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไปในดิน ใบรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยว กว้างประมาณ 8 ซม. ก้านดอกยาวและตั้งตรงสีเขียว มีขนสั้นสีม่วงแดงจำนวนมาก กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กลับ โคนกลีบสีน้ำตาลอมเหลือง ปลายกลีบสีเขียว กลีบดอกรูปแถบแกมรูปไข่กลับ โคนสีเขียว ปลายสีม่วงอมชมพู ขอบ ด้านบนหยักเป็นคลื่น มีขนปกคลุมทั่วทั้งกลีบ กลีบปากเป็นถุงลึก สีเหลืองอมเขียวมีจุดเล็กๆ สีน้ำตาล ออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม
ทิศเหนือ : | ติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว |
ทิศใต้ : | ติดกับจังหวัดขอนแก่น |
ทิศตะวันออก : | ติดกับจังหวัดหนองคาย และจังหวัดหนองบัวลำภู |
ทิศตะวันตก : | ติดกับจังหวัดพิษณุโลก |
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย : | โทร. 0 4281 1746, 0 4283 3209 |
เทศบาลเมืองเลย : | โทร. 0 4281 1140 |
ที่ว่าการอำเภอเมืองเลย : | โทร. 0 4281 1213 |
ที่ว่าการอำเภอเชียงคาน : | โทร. 0 4282 1597 |
โรงพยาบาลเลย : | โทร. 0 4281 1541 |
สภอ.เมืองเลย : | โทร. 0 4281 1254 |
ททท.สำนักงานเลย : | โทร. 0 4281 2812,0 4281 1405 |
แก่งคุดคู้ เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กม. ประกอบด้วย หินก้อนใหญ่ๆ เป็นจำนวนมากจากการที่หินเหล่านี้อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน ทำให้หินเหล่านี้มีสีสันไปต่างๆ ตัวแก่ง กว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบๆ ใกล้ฝั่งไทยเท่านั้นเอง ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก ช่วงเวลาจะมองเห็นแก่งอันสวยงามคือช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม
ภูทอก เชียงคาน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงคาน เป็นเพียงภูเขาลูกเล็กๆ แต่ภูทอกแห่งนี้ก็มีเสน่ห์ที่เป็นจุดชมวิว ชมความงามของแม่น้ำโขง เมืองสานะคาม และแก่งคุดคู้ได้อย่างชัดเจน และเสน่ห์ยิ่งกว่านั้นของภูทอก ในฤดูฝนและฤดูหนาวจะถูกปกคลุมไปด้วยผ้าห่มหมอก หากได้มองจากยอดภูทอกจะเห็นเป็นทะเลหมอกได้แบบรอบทิศเลยทีเดียว
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ภูกระดึง เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร มีความสูง 400-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพทั่วไปของภูกระดึง ประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด พันธุ์สัตว์ป่านานาพันธุ์ หน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพอง ซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความสูง บรรยากาศ และสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปีบนยอดภูกระดึง ความสุขที่คุณเดินได้ [ มารู้จักภูกระดึง เพิ่มเติม ]
อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ประกอบด้วย เขาหินทรายเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นเป็นหินแกรนิตสลับกันไป ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้มีที่ราบสูงสลับกับยอดเขาสูงทั่วไป มียอดเขาสูงที่สุดคือ ยอดภูเรือ มีความสูงถึง 1,365 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ชื่นใจไทยแลนด์ - ภูเรือ จังหวัดเลย
ยังมียอดเขาที่สำคัญ คือ ยอดเขาภูสัน มีความสูง 1,035 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และยอดภูกุ มีความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะเช่นนี้เองจึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ก่อให้เกิดลำธารหลายสาย เช่น ห้วยน้ำด่าน ห้วยบง ห้วยเถียงนา ห้วยทรายขาว ห้วยติ้ว และห้วยไผ่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกห้วยไผ่ที่สวยงามแห่งหนึ่ง
"ถนนชายโขง" เป็นชื่อของถนนสายสั้นๆ ริมแม่น้ำโขงที่มีความยาวไม่ถึง 3 กิโลเมตร ช่วงค่ำหลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ร้านค้าแต่ละร้านจะเปิดไฟที่ประดับประดาเอาไว้ ทำให้ถนนทั้งสายสว่างไสวไปด้วยไฟสีส้ม ดูอบอุ่นและทำให้บรรยากาศของเมืองนี้โรแมนติคขึ้นไปอีก ที่สำคัญใช่ว่าจะมีแต่ร้านค้าเท่านั้น ถนนคนเดินสายนี้ยังมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ และอาหารรถเข็นต่างๆ ให้ซื้อกินเล่นๆ ระหว่างเดินเที่ยวด้วย พ่อค้าแม่ขายทั้งหลายก็ล้วนมีอัธยาศัยไมตรี ทำให้ถนนคนเดินสายนี้เป็นหนึ่งในที่สุดของถนนคนเดินที่น่าเดินที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย [ อ่านเพิ่มเติม : เชียงคาน ]
รายการทีวีชุมชน - ผีตามคน
ประเพณีแห่ผีตาโขน จัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปีกับพระธาตุเจดีย์สองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย
ต้นกำเนิดผีตาโขน กล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขน เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองบรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรัก จึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตนมากับชาวบ้าน เพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" จนกลายมาเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน
ชนิดของผีตาโขน
10 อันดับที่เที่ยวยอดฮิตของเมืองเลย
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดเลย | แผนที่จังหวัดเลย | เอกสารการท่องเที่ยว ]
ไปชมภาพเก่าเล่าอดีต "เมืองเลย"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกตุ บุญผะเหวดประเพณี
มหาเจดีย์ชัยมงคล งามหน้ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ"
จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณซึ่งอยู่ตอนกลางของภาคอีสาน บริเวณลุ่มน้ำชี มีความเจริญรุ่งเรืองมากในยุคประวัติศาสตร์ และมีความหลากหลายในแง่ของศาสนาและวัฒนธรรม อันเนื่องจากดินแดนแห่งนี้ เคยตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณ
นอกจากนี้ ร้อยเอ็ด ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดี มีชื่อเสียงโด่งดัง จากอดีตถึงปัจจุบัน จังหวัดร้อยเอ็ดยังคงเป็นเมืองที่มีความน่าสนใจ ทั้งประเพณีและวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีผลิตผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้าทอพื้นเมือง เครื่องจักสาน
จังหวัดร้อยเอ็ด หรือ ฮ้อยเอ็ด มีเนื้อที่ประมาณ 8,299 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5,187,155 ไร่ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ประมาณ 512 กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งจังหวัดร้อยเอ็ดใน ปัจจุบัน เดิมชื่อว่า เมืองสาเกตนคร หรือ อาณาจักรกุลุนทะนคร มีเจ้าผู้ครองนครเรียกว่า พระเจ้ากุลุนทะ เมืองสาเกต เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งมีเมืองขึ้นถึง 11 เมือง ได้แก่
จากหลักฐานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ขุดพบแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว สันนิษฐานว่า มีอายุประมาณ 1,800 - 2,500 ปีมาแล้ว ต่อมาอิทธิพลของพุทธศาสนาภายใต้วัฒนธรรมทวารวดีได้แผ่ขยายเข้ามา เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 12 - 15 มีหลักฐานที่สำคัญ เช่น กลุ่มใบเสมาบริเวณหนองศิลาเลข ในเขตอำเภอพนมไพร พระพิมพ์ดินเผาปางนาคปรกที่เมืองไพร ในเขตอำเภอเสลภูมิ คูเมืองร้อยเอ็ด เจดีย์เมืองหงษ์ ในเขตอำเภอจตุรพักตรพิมาน
ในพุทธศตวรรษที่ 16 วัฒนธรรมจากอาณาจักรขอมได้แพร่เข้ามา ปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่มาก เช่น ปรางค์กู่กาสิงห์ ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย ปรางค์กู่ในเขตอำเภอธวัชบุรี กู่พระโกนาในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ และประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพทางศาสนา ที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ ทำจากหินทรายและโลหะเป็นจำนวนมาก หลักฐานเกี่ยวกับเมืองร้อยเอ็ดขาดหายไป ประมาณ 400 ปี จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2231 เมืองเวียงจันทน์เกิดความไม่สงบ พระครูโพนสะเม็ดพร้อมผู้คนประมาณ 3,000 คนได้เชิญเจ้าหน่อกษัตริย์อพยพลงมาตามแม่น้ำโขง แล้วมาตั้งมั่นอยู่ที่บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ ผู้ปกครองเมืองจำปาศักดิ์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระครูโพนสะเม็ด จึงได้นิมนต์ให้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและปกครองเมืองจำปาศักดิ์
ต่อมา เจ้าหน่อกษัตริย์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ได้ขยายอิทธิพลไปในดินแดนต่างๆ เหนือสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นหลายแห่ง และส่งบริวารไปปกครอง เช่น เมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร เมืองรัตนบุรี เมืองคำทอง เมืองสาละวัน และเมืองอัตตะปือ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2450 เมืองร้อยเอ็ดได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น บริเวณร้อยเอ็ด โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 เมือง คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม เมืองกมลาไสย และเมืองกาฬสินธุ์
ในปี พ.ศ. 2453 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอของเทศาภิบาลข้าหลวงมณฑลอีสานว่า ควรแยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นไปตามที่เสนอ มณฑลร้อยเอ็ดจึงมีเขตปกครอง 3 จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์
ในปี พ.ศ. 2469 อำมาตย์เอกพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ข้าหลวงจังหวัดร้อยเอ็ดเห็นว่า บึงพลาญชัย (เดิมใช้ว่า บึงพระลานชัย) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ดตื้นเขิน ถ้าปล่อยทิ้งไว้บึงก็จะหมดสภาพไป จึงได้ชักชวนชาวบ้านจากทุกอำเภอมาขุดลอกบึงเพื่อให้มีน้ำขังอยู่ได้ตลอดปี ได้ดำเนินการขุดลอกบึงทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ 2 ปี มีชาวบ้านมาร่วมขุดลอกบึงถึง 40,000 คน ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จนเป็นมรดกที่สำคัญของจังหวัด ร้อยเอ็ดมาตราบเท่าทุกวันนี้
ดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด คือ ดอกประดู่ หรือ ประดู่ป่า (อังกฤษ: Burma padauk) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus เป็นไม้ผลัดใบขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในสกุล Pterocarpus วงศ์ Leguminosae ประดู่ชนิดนี้เป็นพรรณไม้พื้นเมืองในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ, พม่า, ลาว และเวียดนาม และเป็นพรรณไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย ในไทยพบตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ (ประดู่บ้านจะพบในป่าเบญจพรรณทางภาคใต้ เรียก สะโน) โดยขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร ส่วนในพม่าพบขึ้นอยู่ตามพื้นที่ราบหรือเนินสูงต่ำ และพบขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร
ลำต้นสูง 10-30 เมตร หุ้มด้วยเปลือกหนาสีน้ำตาล ซึ่งแตกสะเก็ดเป็นร่องลึก มีนํ้ายางมาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ กิ่งก้านมักไม่ห้อยระย้าอย่างประดู่บ้าน ใบประกอบขนนกรูปไข่ เรียบหนา ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มี 5 กลีบ สีเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานแล้วร่วงพร้อมๆ กันในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม มีเนื้อไม้สีแดงอมเหลือง เสี้ยนสนเป็นริ้ว เนื้อละเอียดปานกลาง มีลวดลายสวยงาม ใช้ทำเสา พื้นต่อเรือ เครื่องเรือน เครื่องดนตรี แก่นสีแดงคล้ำใช้ย้อมผ้า และเปลือกให้น้ำฝาดใช้ฟอกหนัง
จังหวัดร้อยเอ็ด มาจากนามเดิมว่า เมืองฮ้อยเอ็ด หมายถึง เมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าและเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำกว้างไกลไปทุกทิศทาง เหมือนมีประตูช่องทางออกไปติดต่อบ้านเมืองต่างๆ ได้ร้อยเอ็ดทิศ
ชื่อเมืองว่า “ร้อยเอ็ด” ได้จากชื่อในตำนานอุรังคธาตุ (คำบอกเล่าความเป็นมาของพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม) ว่าเมืองร้อยเอ็ดประตู เพราะเป็นเมืองใหญ่มีบริวารถึง 101 เมือง กับประตูเมือง 101 ประตู
ต่อมาได้มีข้อโต้แย้งจากผู้รู้บางท่านว่า “เมืองนี้มีเพียงสิบเอ็ดประตูเท่านั้น เพราะการเขียนตัวเลขสิบเอ็ดของคนอีสานและคนลาวสมัยก่อนนั้นเขียนว่า 101 ซึ่งต่อมาคนไม่เข้าใจการเขียนการอ่านของคนอีสาน จึงอ่านผิดไปเป็นหนึ่งร้อยเอ็ด หรือร้อยเอ็ด ด้วยเหตุนี้เมืองที่ควรจะชื่อว่าเมืองสิบเอ็ดประตูจึงกลายเป็นเมืองร้อยเอ็ดประตูไป”
แต่ข้อโต้แย้งต้องตกไป เพราะ ต้นฉบับตัวเขียนบนใบลานตำนานอุรังคธาตุไม่ได้เขียนตัวเลข แต่เขียนเป็นตัวอักษร กรมศิลปากรบอกไว้ในเอกสาร "ชื่อบ้านนามเมือง…ร้อยเอ็ด" (พิมพ์ พ.ศ. 2552) ว่า
“จากการตรวจสอบของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากรไม่พบว่า ในตำนานอุรังคธาตุมีการเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูด้วยตัวเลข หากแต่เขียนเป็นตัวอักษรทั้งสิ้น”
แล้วอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ถึงแม้ว่าร่องรอยของประตูเมืองร้อยเอ็ดโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ. 2496 จะปรากฏว่า มีช่องทางเข้าออก 11 ประตูก็ตาม แต่จำนวน 11 ประตูก็มิได้เป็นจำนวนที่มากเกินปกติจนเป็นเอกลักษณ์ของเมืองได้ เพราะเมืองโบราณศรีเทพซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและมีการขยายเมืองเช่นเดียวกันนั้น ก็มีการเพิ่มจำนวนช่องทางเข้าออกเป็น 11 ช่องทางตามการขยายของตัวเมืองเช่นกัน”
ร้อยเอ็ดจะตรงกับคำว่า “ทวารวดี” มีคำอธิบายของกรมศิลปากร (เอกสารประกอบนิทรรศการฯ เรื่อง "ชื่อบ้านนามเมือง…ร้อยเอ็ด" ผลิตเผยแพร่โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด เมื่อ พ.ศ. 2552) เรื่องความหมายของเมืองร้อยเอ็ดประตู ไว้น่าเชื่อถือ มีความว่า
“ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่าเมืองร้อยเอ็ดประตูมีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น 101 เมือง การใช้จำนวนประตูเมืองมากมายนั้นเป็นความหมายแสดงถึงอำนาจที่แผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทาง โดยคติดังกล่าวนี้น่าจะมีที่มาจากอินเดีย ดังเช่นชื่อ "ทวารวดี" เมื่อแปลตามรูปศัพท์แปลว่าเมืองที่มีประตูเป็นกำแพง (ทวาร-ประตู และ วติ-รั้ว, กำแพง) และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชื่อ เมืองร้อยเอ็ดประตู ก็จะให้ความหมายถึงการเป็นเมืองศูนย์กลาง ที่มีอำนาจจครอบคลุมออกไปทุกสารทิศเช่นเดียวกัน"
ชื่อเมือง "ร้อยเอ็ดประตู" เป็นมงคลนาม ที่ผู้ตั้งต้องการให้หมายถึงว่าเป็น "เมืองที่มีอำนาจแผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทาง" ซึ่งคงไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีประตูจริงๆ ถึง 101 ประตู”
ที่มา : วารสารศิลปวัฒนธรรม
31 สิงหาคม 2561
จังหวัดร้อยเอ็ด แบ่งการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ (2564) คือ
อำเภอเมืองร้อยเอ็ด | อำเภอเกษตรวิสัย | อำเภอปทุมรัตน์ | อำเภอจตุรพักตรพิมาน |
อำเภอธวัชบุรี | อำเภอพนมไพร | อำเภอโพนทอง | อำเภอโพธิ์ชัย |
อำเภอหนองพอก | อำเภอเสลภูมิ | อำเภอสุวรรณภูมิ | อำเภอเมืองสรวง |
อำเภอโพนทราย | อำเภออาจสามารถ | อำเภอเมยวดี | อำเภอศรีสมเด็จ |
อำเภอจังหาร | อำเภอเชียงขวัญ | อำเภอหนองฮี | อำเภอทุ่งเขาหลวง |
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 512 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดร้อยเอ็ดได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ และเครื่องบิน
การเดินทางภายใน ร้อยเอ็ด
ในตัวเมืองร้อยเอ็ดมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งร้อยเอ็ด โทร. 0-4351-1939, 0-4351-2546 นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง
กระจกหกด้าน - ผาน้ำย้อย
จังหวัดร้อยเอ็ดมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ วิถีชีวิตผู้คน โดยมีสถานที่ที่น่าสนใจ เช่น กู่พระโกนา ปรางค์กู่ หรือปราสาทหนองกู่ กู่กาสิงห์ วัดจักรวาลภูมิพินิจ วัดไตรภูมิคณาจารย์ บ้านหวายหลึม วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม บึงพลาญชัย สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ ทุ่งกุลาร้องไห้ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ บึงเกลือ หรือทะเลอีสาน เป็นต้น
ร้อยเอ็ดมีงานเทศกาลและประเพณีที่น่าสนใจหลายอย่าง มีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานประเพณีกินข้าวปุ้นบุญผะเหวด งานประเพณีการแข่งเรือ ที่บึงพลาญชัย งานประเพณีแห่เทียนพรรษา งานประเพณีบุญบั้งไฟ
แนะนำจังหวัดร้อยเอ็ด
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดร้อยเอ็ด | แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด | เอกสารการท่องเที่ยว ]
ขอแนะนำให้ท่านได้ชม : ภาพเก่าเล่าเรื่องอดีตของ "เมืองร้อยเกิน ๑๐๑" ชุดที่ 1 | ชุดที่ 2
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ "
จังหวัดยโสธร จากพงศาวดารเมืองยโสธรได้บันทึกไว้ว่า เมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2340 พระเจ้าวรวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์ กับสมัครพรรคพวกเดินทางอพยพ จะไปอาศัยอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อเดินทางถึงดงผีสิงห์เห็นเป็นทำเลดี จึงได้ตั้งหลักฐานและสร้างเมืองที่นี่เรียกว่า "บ้านสิงห์ท่า" หรือ "เมืองสิงห์ท่า" ต่อมาใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าแห่งนี้ขึ้นเป็น "เมืองยศสุนทร" หรือ "เมืองยโสธร" ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีเจ้าเมืองดำรงบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรราชวงศา
ในปี พ.ศ. 2515 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 ได้แยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515 จังหวัดยโสธรมีเนื้อที่ประมาณ 4,161 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเขตอีสานตอนล่าง
จังหวัดยโสธรแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ (2564) คือ อำเภอเมืองยโสธร, อำเภอทรายมูล, อำเภอกุดชุม, อำเภอคำเขื่อนแก้ว, อำเภอป่าติ้ว, อำเภอมหาชนะชัย, อำเภอค้อวัง, อำเภอเลิงนกทา และอำเภอไทยเจริญ
ดอกไม้ประจำจังหวัดยโสธร คือ ดอกบัวแดง ชื่อสามัญ Water Lily ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphaea lotus Linn. เป็นพรรณไม้น้ำประเภทพืชล้มลุก มีลำต้นและหัวอยู่ในดินใต้น้ำ การเจริญชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ใบมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบ สีเขียวขอบน้ำตาล ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายชั้น มีสีขาว ชมพู เหลือง ลักษณะสีสัน ขนาดของใบและดอกขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ เป็นพืชต้องการน้ำมากเพราะเป็นพืชเจริญในน้ำ แสงแดดอ่อนจนถึง แดดจัด สายบัวนิยมนำไปทำอาหารประเภทแกง หรือรับประทานเป็นผักสด
แนะนำจังหวัดยโสธร : Discover Yasothon Master
ทั่วถิ่นแดนไทย : ประเพณีแห่งวิถีไทยอีสาน งานบุญบั้งไฟ สืบสานหัวใจแห่งศรัทธา ยโสธร
มีขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ สวนสาธารณะพญาแถน โดยแต่เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อ มุ่งแสดงออกถึงความสามัคคีของหมู่คณะ และมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้ว เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม ด้วยลวดลายไทยสีทอง เล่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัดลวดลายต่างๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปาก แลบลิ้นพ่นน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่นๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟนั้นจะนำมาตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะนำมาเดินแห่ตามประเพณี
บั้งไฟที่จัดทำมีหลายชนิดคือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นหมายถึง น้ำหนักของดินประสิว 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นก็ใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม บั้งไฟแสนก็ใช้ดินประสิว 120 กิโลกรัม เมื่อตกลงกันว่า จะทำบั้งไฟขนาดไหนก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตรบั้งไฟก็จะแตก คือไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะทำเป็นเสาบั้งไฟนั้น ต้องมีไม้ไผ่ที่มีลำปล้องตรงกันเสมอกัน จะตัดเอาแต่ที่โคนต้น เพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน สำหรับขบวนเซิ้งบั้งไฟนั้นมีความยาวหลายกิโลเมตร
ในวันรุ่งขึ้นเป็นการจุดบั้งไฟ จะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมา [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ]
จัดในช่วงวันมาฆบูชา มีการนำข้าวตอก ดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชา จากความเชื่อในเรื่องว่า
ในการทำพวงมาลัย จะรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 4 - 5 หลังคาเรือนหรือใครจะมีศรัทธาทำตนเฉพาะตนก็ได้ ในปัจจุบันการร้อยมาลัยเป็นสายจะมีความยาวประมาณ 4 - 6 เมตร ในการทำบุญพวงมาลัย จะมีการนำพวงมาลัยมาแห่รอบเมืองเป็นขบวนสวยงาม เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากท้องถิ่นส่วนอื่นๆ จากนั้นจะนำไปถวายวัดก่อนถึงวันมาฆบูชาหนึ่งวัน ทางวัดจะนำไปแขวนประดับประดาไว้บนศาลาการเปรียญเพื่อเป็นพุทธบูชา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย โทร. 0 4579 9341,0 4579 9103 [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ]
ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร - อุบลราชธานี) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร พระธาตุก่องข้าวน้อย เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23 - 25 ตรงกับ สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง
ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ - เทพพร เพชรอุบล
พระธาตุก่องข้าวน้อย เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือ มีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุ มีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อย มีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5 x 5 เมตร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น
พระธาตุก่องข้าวน้อยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของพระธาตุก่องข้าวน้อย กลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสายเกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยสาเหตุเพียงว่า ข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมดจึงได้สติคิดสำนึกผิด ที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต
ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ (2523) โดย พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา
นอกจากนี้ ที่บริเวณบ้านตาดทอง กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดค้นเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และภาชนะลายเขียนสีแบบบ้านเชียง ซึ่งกรมศิลปากรกำลังดำเนินการจัดตั้งอุทยานก่อนประวัติศาสตร์ขึ้น [ อ่านเพิ่มเติม : นิทานพื้นบ้าน ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ]
เป็นโบสถ์ไม้ขนาดใหญ่มีเสาถึง 336 ต้น ใช้กระดานทำแป้นเกร็ดมุมหลังคา 80,000 แผ่น สามารถจุคริสตศาสนิกชนได้ร่วม 500 คน มิได้เพียงแต่ขนาดที่ใหญ่โตเท่านั้น โบสถ์นี้ยังได้ชื่อว่าเป็น โบสถ์คริสต์นิกายคาทอลิก ที่ก่อสร้างด้วยไม้และมีหน้าจั่วประดับกระจกซึ่งใหญ่ทีสุดในภาคอีสาน โบสถ์นี้มีชื่อเป็นทางการว่า "วัดอัครเทวดามิคาแอล" การเดินทางจากยโสธรใช้ทางหลวงหมายเลข 2169 เลยอำเภอกุดชุมไปประมาณ 7 - 8 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกราว 600 เมตร ถึงบริเวณโรงเรียนซ่งแย้พิทยาและโบสถ์ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน
ห่างจากตัวเมืองยโสธร 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร - ป่าติ้ว - อำนาจเจริญ (ทางหลวงหมายเลข 202) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 18 - 19 แยกทางขวามือเข้าไปทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร หลังฤดูทำนาชาวบ้านที่นี่แทบทุกครัวเรือนมีอาชีพทอผ้า และทำหมอนขิต นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมและซื้อหมอนขิตไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งขณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งเป็นสินค้าออกไปขายต่างประเทศ นับเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่นำรายได้เป็นอันดับสองรองจากการทำนา
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2169 (ยโสธร - กุดชุม) มีชื่อเสียงในการจักสานไม้ไผ่ เพื่อเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและของที่ระลึก โดยเฉพาะกระติบข้าว ผู้ที่มีความสามารถในการสานกระติบข้าว เริ่มจากเด็กนักเรียนระดับอนุบาล เรื่อยไปถึงคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ]
ณ เมืองแห่งหนึ่งชื่อ "เมืองชมพู" มีเจ้าเมืองชื่อ พระเจ้าเอกราช และพระมเหสี คือ พระนางสีดา ครองเมืองด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กาลครั้งนั้นพระโพธิสัตว์จุติลงในครรภ์พระนางสีดา และประสูติออกมาเป็นคันคาก (คางคก) บิดามารดาไม่พอใจ แต่ก็เมตตาสงสารเลี้ยงไว้ เมื่อคันคาก เป็นหนุ่มก็อยากจะมีเมีย พระอินทร์สงสาร จึงช่วยเหลือโดยเนรมิตปราสาทไว้ใจกลางเมืองชมพู และนำนางอุดรกุรุทวีป ผู้เป็นเนื้อคู่มาไว้ในปราสาท แล้วชุบให้คันคากมีรูปร่างงดงาม ทั้งสองจึงได้อภิเษกกับครองเมืองชมพูสืบไป
พญาคันคากครองเมืองมานาน ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองแห้งแล้ง อดอยาก พญาคันคากสั่งให้ พญานาคและปลวก ไปรบกับพญาแถน มีกองทัพสัตว์ต่างๆ เช่น กิ้งกือ ตะขาบ แมงป่อง ช่วยรบด้วยจนชนะพญาแถน
พญาคันคากจึงเริ่มเจรจาต่อพญาแถน ขอให้เมตตาชาวเมือง ประทานฝนตามฤดูกาลทุกปี พญาแถนแสร้งว่าลืม พญาคันคากจึงทูลเสนอว่าจะให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟขึ้นมาเตือน พญาแถนก็เห็นชอบด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทุกๆ เดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบ เขียด คางคก ที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน
พญาแถนแต่งน้ำฝนให้ตกลงในเมืองชมพู แล้วเอาข้าวทิพย์เม็ดเท่ามะพร้าวไปปลูกให้เมืองมนุษย์ เสร็จแล้วเลิกทัพกลับมาเมืองชมพู เมืองนั้นจึงบริบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา ต่อมาชาวเมืองชมพูพากันเกียจคร้าน มิได้ทำยุ้งฉางไว้คอยรับข้าวทิพย์ เอาแต่มีดพร้าฟันเม็ดข้าว เม็ดข้าวจึงเล็กลง ดังที่เห็นในทุกวันนี้...
ปริวรรตจาก : อักษรธรรม 3 ผูก วัดมัชฌิมาวาส บ้านนานางวาน ตำบลม่วงใหญ่ อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดยโสธร | แผนที่จังหวัดยโสธร | เอกสารการท่องเที่ยว ]
ภาพเก่าเล่าเรื่องในอดีต "เมืองยโสธร"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ภาพเก่าเล่าเรื่องอีสานบ้านเฮา
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)