คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ผศ. สุระ อุณวงศ์ ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ในระหว่างที่ยังศึกษาอยูที่ประเทศอินเดีย ได้มีจิตอาสาในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายยิ่งขึ้น นำวัตรปฏิบัติ การครองตน การกระทำพิธีการทางศาสนาต่างๆ อย่างถูกต้อง การสมาธิ รักษาศีล โดยได้เปิดโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หลักสูตรระยะสั้น ถึง 4 แห่ง ซึ่งชาวอินเดียให้ความสนใจมาสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก มีผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้ในอินเดียและนำไปเผยแพร่ต่อๆ กันไปอีกมากมาย
ขณะที่ยังศึกษาอยู่ที่ประเทศอินเดีย ได้เปิดโรงเรียนสอนการใช้ชีวิตอย่างชาวพุทธที่ถูกต้องตามวิถี
ปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญาไทยด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี
นายสวิง บุญเจิม เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ที่บ้านเลขที่ 96 บ้านแก้งโพธิ์ ตำบลค้อทอง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายเขียว และนางบุญเติม บุญเจิม เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 12 คน
นายสวิง บุญเจิม สมรสกับ นางผุศดี บุญเจิม มีบุตรและบุตรี 3 คน ได้แก่ นายกฤษดา บุญเจิม นางจุฬาศรี แม้นศิริ และนายยุทธพงษ์ บุญเจิม
นายสวิง บุญเจิม ค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับปรัชญา ศาสนา และประเพณีอีสาน อย่างจริงจังลึกซึ้งจากหนังสือผูกและใบลาน เผยแพร่โดยการเขียนหนังสือและตำราต่างๆ ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน เชี่ยวชาญบทกลอนทั้งการลำ การขับร้องสรภัญญะ การสู่ขวัญ การแต่งผญา จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ปรัชญาเมธีอีสาน”
ขณะที่ศึกษาอยู่ประเทศอินเดีย ได้ศึกษาปรัชญาอินเดียและปรัชญาตะวันตก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับผญาภาษิตของอีสาน จึงได้หันมาศึกษา ค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับปรัชญา ศาสนา แลประเพณีอีสานเพิ่มเติมอย่างจริงจัง ลึกซึ้ง จากหนังสือผูกและหนังสือในลานที่มีในวัดของภาคอีสานโดยทั่วไป ทดลองเผยแพร่ความรู้โดยการเขียนหนังสือ และตำราเอกสารต่างๆ จำหน่าย ได้รับความนิยมและใช้เป็นเอกสารอ้างอิง ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และประเพณีอีสานทั่วประเทศ นำความรู้ที่ค้นพบถ่ายทอดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และผู้สนใจในรูปแบบต่างๆ
การที่นายสวิง บุญเจิม นำความรู้ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี ที่ตนศึกษา ค้นคว้า ค้นพบ ทดลองจนประสบผลสำเร็จแล้วไปเผยแพร่ โดยการสอนและถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ นำไปปฏิบัติเพื่ออนุรักษ์และสืบสาน เป็นประโยชน์โดยรวมแก่สังคม จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็น ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านปริญญา ศาสนาและประเพณี ประจำปีพุทธศักราช 2545
นายสวิง บุญเจิม ได้เป็นนายกสมาคมส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน เป็นผู้มีภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทกลอนทั้งการลำ การขับร้องสรภัญญะ การสู่ขวัญ การแต่งผญา เป็นต้น ได้รับการยกย่องให้เป็น “ปรัชญาเมธีอีสาน” ผู้อนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้โดยการเผยแพร่ทางรายการวิทยุและโทรทัศน์ เป็นวิทยากรอบรมสัมมนา รวมทั้งเขียนหนังสือเผยแพร่มากกว่า 10 เรื่อง โดยเฉพาะหนังสือ “มรดกอีสาน” พิมพ์เผยแพร่แล้ว ประมาณ 200,000 เล่ม
จากการศึกษาตำราโบราณทำให้นายสวิง บุญเจิม มีความเข้าใจหลักปรัชญาและศาสนาชัดเจน รวมทั้งที่มาของขนบธรรมเนียม ประเพณี คำสอน สุภาษิต ตำรายา และสมุนไพรเป็นอย่างดี จากการศึกษาพบว่า ปรัชญา ศาสนา และประเพณี เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกัน ปรัชญาเปรียบเสมือนเมล็ดพืช ศาสนาเปรียบเสมือนหน่อ และประเพณีเปรียบเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยง ทั้งสามอย่างจะขาดกันมิได้ เช่น บาป – บุญ เป็นปรัชญาสั้นๆ ที่จะทำให้คนละชั่วทำดี ส่วนศาสนาเป็นหลักในการอธิบายให้รู้ว่า บาปบุญเป็นอย่างไร ทั้งสองอย่างมีลักษณะ มีรส มีผลปรากฏ และมีบรรทัดฐานต่างกันอย่างไร จะทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความรู้ความเข้าใจต่างกัน ทั้งบุคลาธิษฐานและธรรมาธิษฐาน สำหรับประเพณี เมื่อบุคคลเห็นโทษของบาป เห็นอานิสงส์ของบุญ ตามหลักปรัชญาและศาสนาแล้ว คนก็จะเว้นบาปหันมาทำบุญ ต่อไปการทำบุญ ก็ให้ทำด้วยปัจจัย 4 คือ ให้เครื่องนุ่งห่ม ให้อาหารให้ที่อยู่อาศัย และให้ยารักษาโรค ให้ทำเป็นประจำจนกลายเป็นประเพณี ดังนั้นประเพณีจึงกลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพระพุทธศาสนาเมื่อพระสงฆ์ได้รับความสะดวกด้วยปัจจัย 4 ก็มีความพร้อมในการทำหน้าที่ของตนต่อไป
นายสวิง บุญเจิม พิจารณาแล้วเห็นว่า องค์ความรู้เหล่านี้ถ้าไม่มีการสืบสานไว้ก็จะหมดสิ้นไป วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การเขียนเป็นตำราเผยแพร่ให้มีผู้ศึกษาในวงกว้าง ตำราที่เขียนและเผยแพร่ได้แก่ มรดกอีสาน หรือ มูลมังอีสาน, เสียเคราะห์ตนเองและผู้อื่น, ผญา, สรภัญญะอีสาน, กาละนับมือส่วย, ตำรายาสมุนไพรอีสาน, นิทานพื้นบ้านอีสานเล่ม 1, ธรรมสร้อยสายคำ (ว่าด้วยกำเนิดประเพณี), ความผูกแขน ความสอนปู่ย่า – ตายาย สะใภ้เขย, ความสอย – ความทวย, ปู่สอนหลาน หลานสอนปู่, ปรัชญาเมธีอีสาน, ประวัติและของดีสำเร็จลุน ฯลฯ เป็นต้น
ปรัชญาเปรียบเสมือนเมล็ดพืช ศาสนาเปรียบเสมือนหน่อ และประเพณีเปรียบเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยง ”
– สวิง บุญเจิม
นอกจากการถ่ายทอดความรู้เป็นตำราแล้ว นายสวิง บุญเจิม ได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษา และไปบรรยายตามสถานที่ราชการและเอกชนต่างๆ เป็นจำนวนมาก เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่ นักศึกษาปริญญาโท จากสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งตรวจวิทยานิพนธ์ จัดทำโครงการฝึกอบรมผู้นำทางศาสนาและประเพณี โครงการศาสนานำชีวิตเพื่อฝึกสมาธิจิตเยาวชนในโรงเรียน ให้คำปรึกษากับผู้สนใจทั้งทางโทรศัพท์ ทางจดหมายและไปพบเพื่อปรึกษาหารือที่บ้านให้ความรู้แกพระนิสิต มหาวิทยาลัยสงฆ์ สามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม – บาลี และแผนกสามัญศึกษา รวมทั้งวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดให้ใช้ตำราของท่านเป็นคู่มือ ในการแนะนำชาวบ้านเกี่ยวกับประเพณีต่างๆ ตามฮีต 12 คลอง 14 รวมถึงการใช้เป็นคู่มือประกอบพิธีกรรมต่างๆ
ได้จัดรายการวิทยุชื่อรายการ "รายการสร้างบ้านแปลงเมือง" ทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ อุบลราชธานี โดยเน้นวัฒนธรรมและการส่งเสริมสุขภาพเป็นหลัก ได้รับเชิญจากสานักงานประชาสัมพันธ์เขต 2 จังหวัดอุบลราชธานี ให้ออกรายการโทรทัศน์ช่อง 11 ในรายการ “เบิกฟ้าอีสาน” ทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ วันละ 5 นาที ในเวลา 15.00 – 15.05 น. เป็นรายการที่ได้รับความสนใจจากชาวบ้านมาก
ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 229-231 ร้านสมประสงค์ (สำนักพิมพ์มรดกอีสาน อุบลราชธานี) ถนนแจ้งสนิท ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 โทรศัพท์หมายเลข 0-4531-1387, 0-4531-2562
เช้ามืดวันที่ 13 ธันวาคม 2563 ได้รับแจ้งข่าวจากลูกชายอาจารย์สวิง (ธนพล บุญเจิม) ว่า "ท่านอาจารย์สวิง บุญเจิม ถึงแก่กรรมโดยสงบเมื่อประมาณตีห้าวันนี้ กำหนดการสวดอภิธรรมจะแจ้งให้ทราบต่อไปครับ" หลังจากที่ท่านเกิดอาการท้องเสียรุนแรง ได้เข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลมาแล้วหนึ่งครั้ง กลับมาพักผ่อนที่บ้านอาการยังไม่ดีขึ้น จึงเข้ารับการรักษาตัวอีกรอบจนถึงวาระสุดท้ายดังกล่าว รายละเอียดตามภาพข้างล่างครับ
ทางทีมงานเว็บไซต์ประตูสู่อีสาน "IsanGate.com" ขอแสดงความอาลัยต่อครอบครัวในการจากไปของ อาจารย์สวิง บุญเจิม ในครั้งนี้ ขอกราบขอบพระคุณที่ท่านได้ให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำมากมายในการจัดทำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ 🙏😭😢
หมอลำเคน ดาเหลา มีชื่อจริงว่า นายฮุด ดาเหลา เกิดเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2473 ปีมะเมีย เชื่อชาติไทย สัญชาติไทย ภูมิลำเนาเดิมบ้านหนองเต่า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อนายโอ๋ ดาเหลา มารดาชื่อนางจันแดง ดาเหลา มีพี่น้องรวม 7 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 4 คน บิดามารดามีอาชีพทำนา
หมอลำเคน ดาเหลา เรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านหนองเต่า แล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาเหมือนชาวอีสานทั่วไป แต่ด้วยความสนใจในการแสดงพื้นบ้านอีสาน คือ หมอลำ ที่มีอยู่ในตัวประกอบกับผู้มีแววศิลปินมาตั้งแต่เด็กๆ หมอลำเคน ดาเหลา จึงได้เริ่มหัดเล่นหมอลำ ลิเกพื้นบ้าน และหนังประโมทัย โดยเริ่มหัดด้วยตัวเอง ประกอบกับในปี พ.ศ. 2489 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน คือ ผีดาษ หรือไข้ทรพิษ ระบาดไปทั่วหมู่บ้านในอีสานผู้คนล้มตายมาก ชาวบ้านจึงแยกย้ายกันไปอยู่ตามทุ่งนา ไม่มีการพบปะกันเท่าที่ควร หมอลำเคน ก็ได้ไปอาศัยอยู่ที่ทุ่งนาของตน และใช้เวลาว่างนอนท่องกลอนลำเล่น โดยอาศัยการได้สัมผัสจดจำ ลีลาการแสดงและท่องกลอนที่จดจำมาจาก หมอลำคง ดาเหลา ซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นหมอลำที่กำลังมีชื่อเสียงในละแวกบ้านของตน หมอลำเคน ดาเหลา ได้ยึดลีลาท่าทางการแสดงและกลอนลำของพี่ชายเป็นหลักในการฝึก จนสามารถลำเองได้โดยไม่มีครูสอนให้
พออายุได้ 16 ปี พี่ชายคือ หมอลำคง ดาเหลา ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน หมอลำเคน ดาเหลา จึงถูกจับให้แสดงแทนพี่ชาย ด้วยความสามารถที่มีอยู่ในตัว ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีปฏิภาณและลีลาการลำที่โดดเด่น จึงสามารถแสดงหมอลำกลอนได้เป็นอย่างดี จนได้รับความนิยมในหมู่ชาวอีสานอย่างรวดเร็ว
หมอลำเคน ดาเหลา ได้ประกอบอาชีพทางด้านศิลปินด้วยการแสดงหมอลำเพียงอย่างเดียว จนประสบผลสำเร็จในด้านชื่อเสียง และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร จนสามารถสนับสนุนให้บุตร-บิดา ได้รับการศึกษาในระดับสูงๆ และประกอบอาชีพอย่างมั่นคงได้ หมอลำเคน ดาเหลา มีภรรยา และบุตร ดังนี้
ภรรยาคนที่ 1 คือ นางเบ็ญ คำไม มีบุตรด้วยกัน 3 คน
ภรรยาคนที่ 2 คือ นางพูนทรัพย์ ผาลา มีบุตรด้วยกัน 1 คน
ภรรยาคนที่ 3 คือ นางคำพา ฤทธิทิศ มีบุตรด้วยกัน 6 คน
ภรรยาคนที่ 4 คือ นางบุญเพ็ง ไผ่ผิวไชย ไม่มีบุตรด้วยกัน
หมอลำเคน ดาเหลา เป็นหมอลำที่จะถือว่า “อัจฉริยะ” ก็คงไม่ผิด ด้วยเหตุที่ว่า เริ่มการลำของตนเองหรือยึดอาชีพหมอลำโดยไม่มีการเรียนจากครูมาก่อน แต่ก็ได้รับความนิยมและประสบผลสำเร็จในอาชีพอย่างสูงสุด จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2534 จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วในชั้นต้นที่ว่า หมอลำเคน ดาเหลา เริ่มชีวิตการลำของตนโดยการขึ้นลำแทนพี่ชายที่เสียชีวิตอย่างกระทันหัน แต่ด้วยความเพียรพยายามที่จะมีความก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้น
หมอลำเคน ดาเหลา จึงแสวงหาความรู้จากการเรียนธรรม บาลี สนธิมูล จนแตกฉาน ฝึกการฟ้อน การลำด้วยตนเอง โดยอาศัยการจดจำกลอนลำของหมอลำคนอื่นๆ ที่ตนชอบมาเป็นแม่แบบ นอกเหนือจากการจดจำกลอนลำของพี่ชายของตนที่ได้ฝึกฝนมา จากความสนใจและมีใจรักเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อมีหมอลำใหญ่ๆ มาลำที่หมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ก็จะไปนั่งฟังตลอดคืน และจดจำวาดลำ (ทำนองลำ) ของหมอลำเหล่านั้นมาเป็นแม่แบบ แม้กระทั่งกลอนลำและวาดลำของหมอลำผู้หญิงที่ตนชอบ ก็จะนำมาฝึกลำตาม โดยจะไม่ยึดใครเป็นหลัก แต่จะใช้การผสมผสานเข้าเป็นแบบของตน แต่ก็ไม่ได้มากเพราะไม่ได้สมัครเป็นลูกศิษย์โดยตรง เข้าลักษณะ “ครูพักลักจำ” นอกจากนี้ยังได้ใช้กลอนลำของอาจารย์หนูอัด ซึ่งเป็นหมอลำดังในเวลานั้นมาฝึกลำ และใช้ลำมาจนกระทั่งสามารถแต่งกลอนำเองได้ จึงใช้กลอนลำที่ตนแต่งลำมาจนกระทั่งปัจจุบัน (เคน ดาเหลา, 2556 : สัมภาษณ์)
3 ศิลปินแห่งชาติ : ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม (2549) ฉวีวรรณ ดำเนิน (2536) เคน ดาเหลา (2534)
จากความเพียรพยายามที่จะพัฒนาการลำของตน ตลอดจนการแต่งกลอนลำด้วยการเรียนธรรม บาลี สนธิมูล จนแตกฉาน จึงทำให้หมอลำเคน ดาเหลา มีความรู้ในด้านขนบธรมเนียมประเพณีอีสาน สำนวนผญา และนำมาผนวกกับความรู้ในเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง จึงทำให้ หมอลำเคน ดาเหลา สามารถแต่งกลอนลำใหมีเนื้อหาสาระที่ดี สำนวนกลอนที่เฉียบคมถึงใจผู้ฟัง ส่วนในด้านรูปแบบการประพันธ์ได้อาศัยจากประสบการณ์ในการลำ นำมาใช้แต่งได้อย่างมีความสละสลวยไพเราะยิ่งนัก
หมอลำเคน ดาเหลา เริ่มฝึกแต่งกลอนลำเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2500 โดยมิได้เรียนจากครูแต่อย่างใด จะใช้วิธีฝึกหัดตามแบบของกลอนลำของหมอลำทั่วๆ ไป ทั้งด้านเนื้อหา สัมผัส โดยในช่วงดังกล่าวนี้ถือว่า เป็นช่วงที่แตกลำแล้ว สามารถด้นกลอนสดได้ จึงทำให้มีความกล้าที่จะแต่งกลอนเพื่อใช้ลำเป็นของตนเองได้
หมอลำเคน ดาเหลา เป็นหมอลำที่มีผลงานในการแต่งกลอนที่ดีพร้อม ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ และสัมผัสตามรูปแบบการประพันธ์ โดยอาศัยประสบการณ์ในการลำและกลอนลำของครูที่ใช้ลำมาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่มิได้ขาด จึงทำให้ผลงานการแต่งกลอนลำของท่าน มีความสัมพันธ์กับสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างดี
การแต่งกลอนลำของหมอลำเคน ดาเหลา เริ่มแต่งกลอนลำได้เองในราวปี พ.ศ. 2500 โดยอาศัยวิธ๊การแต่งตามประสบการณ์ในการลำ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมตามแหล่งความรู้ต่างๆ ที่พอจะหาได้ จนสามารถแต่งกลอนเพื่อใช้ลำเอง และลูกศิษย์ได้ใช้ลำมากมาย กลอนลำที่ท่านแต่งจะมีลีลาและจังหวะที่แปลกไปจากกลอนลำของหมอลำอื่นๆ ในด้านเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น ในด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีอีสาน ประวัติศาสตร์ นิทาน กลอนลำ แบบตลก กลอนลำเบ็ดเตล็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำเอาสำนวนภาษาอีสาน หรือสำนวนผญาอีสานมาแทรกไว้ในกลอนได้อย่างดียิ่ง จึงทำให้กลอนลำมีเนื้อหาสาระ สัมผัสคล้องจองที่ดี และมีภาษาที่ลึกซึ้งกินใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง
ผลงานด้านกลอนลำของ หมอลำเคน ดาเหลา ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่อง ด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านศาสนาและความเชื่อ ด้านการศึกษา ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ด้านการดำเนินชีวิต
คารวาลัย..ศิลปินแห่งชาติ ผู้สืบทอดศิลปะขนบพื้นบ้านอีสานขนานแท้ “เคน ดาเหลา” นายฮ้อยแห่งกลอนลำ ผู้ลึกล้ำด้วยปฏิภาณและพรสวรรค์ขั้นอัจฉริยะราวกับประทานมาจากเมืองฟ้าพญาแถน หนี่งร้อยปี อาจมีแค่หนึ่งคน!!
ถามคนรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่รู้จัก แต่หากถามผู้สูงวัย ภาพเก่าในวันก่อน คงจะย้อนกลับมาในความทรงจำ เพราะชื่อของ “เคน ดาเหลา” ในวันเหล่านั้น ก็คงไม่ต่างอะไรกับซูเปอร์สตาร์แห่งวงการที่เพียงแค่เอ่ยชื่อ ก็เรียกเสียงฮือฮาจากผู้คนได้ เรียกว่ามีงานบุญงานสังสรรค์ที่ไหน ถ้าได้ “เคน ดาเหลา” ไปงัน (แสดง) เป็นอันได้ม่วนซื่นโฮแซวจนซอดแจ้ง...
เคนฮุดชุดเต้ย - หมอลำเคน ดาเหลา
แม้นไม่มี "แสงสีเสียงอลังการ" เหมือนกับหมอลำประยุกต์ยุคใหม่ แม้นมีเพียงเสียงแคน หรืออย่างมากสุดก็หมอลำฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นคู่ลำ แต่ก็พร้อมจะทำให้คนดูผู้ชมลุกขึ้นมา “เต้นฟ้อนหน้าฮ้าน” ได้ราวกับมีมนต์ดึงดูดใจให้สนุกสนาน...
เคน ดาเหลา หรือ “พ่อครูเคน” หรือ “พ่อใหญ่เคน” หรือ "หมอลำเคนฮุด" และอีกหลากหลายสรรพนามเรียกขาน แล้วแต่ความมักคุ้น ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นศิลปินหมอลำอาวุโสระดับแนวหน้าของภาคอีสาน ที่มีลีลาการลำและน้ำเสียงที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง
ด้วยอัตลักษณ์การลำ ผสานผญาคารมคมคายแบบปราชญ์อีสาน เป็นสำนวนกลอนเฉียบคมลึกถึงใจ เคน ดาเหลา เป็นเลิศในปฎิภาณไหวพริบโต้ตอบแบบอิมโพรไวส์หรือด้นสด ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่ปรากฏอย่างรวดเร็ว กลอนลำของท่านสมบูรณ์แบบด้วยทำนองแบบอุบลราชธานี ที่เรียกว่า “วาดอุบล” ซึ่งมีลีลาการลำ การใช้สำนวนกลอนที่เฉียบคมลึกซึ้ง เป็นต้นแบบของการลำแม่บท 32 ท่าของอีสาน ทั้งลำทางสั้น ลำทางยาว ลำเต้ยแบบต่างๆ ได้สมบูรณ์จรดเพดานโลกยะสำเนียง...
“ลำของท่านก็มีลำหลายแบบ มีลำหักลำโค่น ถูกอกถูกใจของคนฟัง มีคารมคมคาย มีปฏิภาณในการลำ ลำด้นลำเดิน ที่เป็นสไตล์ของเพิ่นนั่นล่ะ” ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ครูเพลงและศิลปินอาวุโสแห่งเมืองอุบลฯ แสดงความคิดเห็น เมื่อกล่าวถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของครูเคน ดาเหลา
ด้วยนามเดิม คือ “ฮุด ดาเหลา” เมื่อย่างเข้าสู่เส้นทางหมอลำนามอุโฆษ และเพื่อให้เป็นที่เข้าใจกัน เวลาเอ่ยถึงหมอลำเคนว่าเป็นเคนไหน สมัญญานาม “หมอลำเคนฮุด” จึงถูกพูดเพื่อสร้างเอกลักษณ์ ขณะเดียวกัน “เคนฮุด” นั้น ก็มีความหมายที่บ่งบอกถึงพรสวรรค์ในตัวตนของหมอลำผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ด้วย
“ฉายาของเพิ่น คือ หมอลำเคนฮุด ก็ฮุดสมชื่อ คือไปได้เรื่อยๆ ในการลำ หมายถึงว่า ใครก็เอาไม่อยู่ ดั้นด้นกลอนลำได้ดุเด็ด สนุกสนาน ตลกโปกฮา คนฟังก็เฮตึ้งๆๆ สะอกสะใจ โดยเฉพาะกลอนสังวาส สะเด็ดสะเด่าเลย
“ลำสังวาส" ก็มีลักษณะใกล้เคียงกับลำตัดของภาคกลางนั่นล่ะครับ เลาะไปเลาะมานำหมู่แนวมักนั่นแหละ (เรื่องเพศ เรื่องรักๆ ใคร่ๆ) แต่จะพูดแบบมีศิลปะ” ครูเพลงเมืองอุบลหัวเราะเล็กน้อย
ด้วยจิตวิญญาณแบบเสรีชน กลอนลำหลายต่อหลายกลอนของพ่อครูเคน จึงมักแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา สัปดนแต่ก็เปี่ยมล้นด้วยวาทะ และบทสรุปที่ทำให้ได้คิด แม้จะเพียงมุ่งหมายให้เฮฮา แต่ทว่าก็ขอโทษขอโพยผู้ฟังไว้ล่วงหน้าหรือตามหลังเสมอๆ อย่างในกลอนลำที่เป็นอมตะชิ้นหนึ่งของท่าน ที่ชื่อ “แตงสังหารสาว” ซึ่งสร้างกระแสเกรียวกราวไปทั่วอีสานยุคนั้น สาวไหนได้ยินได้ฟัง เป็นต้องม้วนหน้าเป็นเสื่อสาดกันไปเลย
แตงสังหารสาว - หมอลำเคน ดาเหลา
“ครูเคน ดาเหลา เป็นคนง่ายๆ ตรงไปตรงมาประสาชาวบ้าน การได้เป็นศิลปินแห่งชาติก็ถือว่าสมศักดิ์ศรีแล้วล่ะ” ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ให้ความเห็นเพิ่มเติม
“ครูเคนถือว่าเป็นหมอลำซูเปอร์สตาร์ยุคแต่กี้แต่ก่อนเลย ยุคหลังๆ ศิลปะหมอลำมันประยุกต์ไปหมดแล้ว แต่ของพ่อเคนจะเป็นพื้นบ้านต้นฉบับ เป็นศิลปะพื้นบ้านจริงๆ มีความละเมียดละไม”
ก่อนจะก้าวสู่ขั้นบรมครูหรือ “ครูบาใหญ่แห่งแวดวงหมอลำ” เคน ดาเหลา หรือชื่อเดิม “ฮุด ดาเหลา” ก็เหมือนลูกหลานอีสานทั่วไปในยุคห้าหกสิบปีก่อนนั้น ที่เมื่อเจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ชั้น ป.4) ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา แต่ทว่าด้วยความสนใจในการแสดงพื้นบ้านอีสานที่มีอยู่ในตัว ประกอบกับเป็นผู้มีแววศิลปินมาตั้งแต่เด็กๆ “ฮุด ดาเหลา” ในตอนนั้น จึงเริ่มหัดเล่นหมอลำ ลิเกพื้นบ้าน และหนังประโมทัย (หนังตะลุงของภาคอีสาน ที่นำหมอลำกับหนังตะลุงมารวมกัน) โดยเริ่มหัดด้วยตัวเองแบบครูพักลักจำ
ก่อนค่ำวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ที่บ้านเลขที่ 528/155 ภายในหมู่บ้านแก่นทองธานี ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ครอบครัว “ดาเหลา” พร้อมญาติต่างอยู่ในอาการโศกเศร้า หลังทราบข่าวว่าหมอลำ “เคน ดาเหลา” ศิลปินแห่งชาติ ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 85 ปี เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา หลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อำนาจเงิน - เคน ดาเหลา
การศึกษา บรรพชา-อุปสมบท |
|
|
|
การทำงาน |
|
ผลงานวิชาการ (พิมพ์เผยแพร่แล้ว 15 เรื่อง) |
|
ผลงานด้านสื่อมวลชน |
|
ที่อยู่ |
|
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)