foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

mp3

kamkerng 01

คำเกิ่ง ทองจันทร์

คำเกิ่ง ทองจันทร์ ชื่อจริง นายคำแอ ทองจันทร์ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ที่บ้านสะพือใต้ ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนย้ายถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ที่บ้านหนองกุง ตำบลภูเงิน อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าของผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงดัง "ปากโกรธใจคิดถึง" ซึ่งขับร้องโดย สาธิต ทองจันทร์ และผลงานกลอนลำอีกมากมาย

คำเกิ่ง ทองจันทร์ มีชื่อเสียงดังเป็นพลุที่ร้อยเอ็ด เมืองสาเกตนคร หลังสึกจากพระก็มาร่ำเรียนด้าน "หมอลำกลอน" มีโอกาสได้แสดงความสามารถครั้งแรกที่ร้อยเอ็ด เหตุที่ต้องเริ่มต้นให้มาแต่งกลอนลำด้วยตัวเองเพราะว่า โดยหลักการของเหล่าหมอลำ เมื่อจะแสดงจะร้องจะลำก็ต้องซื้อกลอนลำของคนอื่นมาท่อง กลอนละ 30 บาท ผมจึงตั้งใจศึกษาแต่งกลอนขึ้นด้วยตัวเอง โดยอาศัยพื้นฐานสมัยที่เรียนนักธรรมเอกโดยได้ สุพรรณ ชื่นชม (คนแต่งเพลง "โบว์รักสีดำ" ให้ ศิริพร อำไพพงษ์ ขับร้อง) ครูเพลงอีสานอีกคนช่วยหนุนให้ได้อัดเสียง พร้อมกับขัดเกลาและช่วยแต่งเพลงกลอนให้ 3 - 4 ชุด "พลทหารโข่ง" คือเพลงที่ทำให้ชื่อของ "คำเกิ่ง ทองจันทร์" กังวานขึ้นบนถนนเพลงดังกลอนเด่นของอีสาน นอกจากนั้นยังมี "ดา ดา ดา" และ "โก๋อีสาน" แต่สิ่งที่ทำให้ อาจารย์คำเกิ่ง จดจำได้ไม่เคยลืมเลยคือ การแต่งเพลง ข้าวนอกนา, วอนเจ้าพ่อพลาญชัย, ไม่หวงแต่อย่าควงให้เห็น และสาวกาฬสินธุ์คอยคู่ ให้นักร้องชื่อ "พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย" ขับร้องจนโด่งดัง โดยได้ค่าเพลงๆ ละ 300 บาท โดยเพลงเกือบทั้งหมดที่พิมพ์ใจร้อง อาจารย์คำเกิ่งเขียนทั้งหมด

kamkerng 05

เมื่อมาแต่งกลอนลำให้หมอลำสาวเมืองร้อยเอ็ด พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย บันทึกเสียง จนโด่งดัง อาจารย์คำเกิ่ง จากเด็กชาวนาดงดอนผู้เกิดมาท่ามกลางอารยธรรมอีสาน วิถีชีวิตผู้คนที่ดำเนินไปในการแก้ไขปัญหาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้สัมผัสความเป็นศิลปินตั้งแต่แม่ร้องกล่อม ซึมซับคำเจรจาคำสอนจากวัฒนธรรมและศาสนา นำพาให้ได้เรียนรู้การใช้ถ้อยคำสัมผัส การผูกอักษรให้ได้ความไพเราะกินใจมีอุปมาอุปไมย ท่วงทำนองแหล่เทศนาหลากหลายประทับฝังใจให้เกิดความมุ่งมั่น

kamkerng 02

ค่อยๆ สร้างสรรค์จากแรงบันดาลใจโดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ่ายทอดความเจนจบของชีวิตผ่านออกมาเป็นอารมณ์ความรู้สึก ชวนให้ผู้ฟังนึกคล้อยตามจนเหมือนจริง ความรักยามหวานก็แสนหวานกว่าทุกสิ่ง ยามอาลัยก็ยิ่งครวญคร่ำรำพันแทบขาดจิต เมื่อยามคิดถึงราวจะโลดแล่นไปหา ผลงานอักษราทุกถ้อยความล้วนแพรวพราวงดงามด้วยวรรณศิลป์

อันท่วงทำนองของการร้องลำนั้นเล่า ก็ถือเอาแบบอย่างครูที่เรียนรู้จากบรรพชน แล้วฝึกฝนจนชำนาญหาญกล้าออกแสดง จนส่องแสงโด่งดัง พัฒนาพลังเสริมต่อด้วยลีลาเอกลักษณ์เป็นที่ประจักษ์ความสามารถ ฉลาดในเชิงไหวพริบด้นกลอน สำเนียงเสียงถ้อยคำลึกล้ำออดอ้อนแสนกินใจ ชนต่างหลงใหลชื่นชม

kamkerng 03

เมื่อชะตาวาสนาดีขึ้นตามลำดับ อาจารย์คำเกิ่ง ได้รับนักร้องนาม "สาธิต ทองจันทร์" มาไว้และฝึกปรือ รวมทั้งแต่งเพลงป้อนอยู่เกือบ 10 ปี เพลง "หยุดน้ำตาเถิดน้อง, รักแท้คือแม่ผม, แด่แฟนสาธิต" ชุดที่อาจารย์คำเกิ่งปั้นให้ "สาธิต ทองจันทร์" มียอดเทปพุ่งทะลุฟ้าหลายแสนตลับ คือ "ปากโกรธใจคิดถึง" เมื่อเพลงดัง วงดนตรีสาธิต ทองจันทร์ ก็ประสบความสำเร็จทั้งเงินและชื่อเสียงจนคนในวงการให้สมญาอาจารย์คำเกิ่งว่า "อินทรีอีสาน"

หลังจากนั้นมา อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ก็แต่งทั้งเพลงและกลอนลำให้กับนักร้องมากมาย อาทิ "ผิดหรือที่จะรัก" ให้ เฉลิมพล มาลาคำ "พลังรัก, สาวอีสานพลัดถิ่น" ให้ จินตหรา พูนลาภ เพลง "ไม่เอาพระเจ้าก็แจก" ให้ ศิริพร อำไพพงษ์ และที่มีชื่อเสียงเปรี้ยงปร้างทันตาเห็นจากเพลงของอาจารย์คำเกิ่งคือ "เดือนเพ็ญ อำนวยพร" จากชุด "สาวนาขาดรัก, คนหลังยังคอย, พื้นเมืองอีสาน, เธอคือฆาตกร" ภายหลังอาจารย์คำเกิ่ง มาตั้งวงดนตรีให้กับ เอ๋ พจนา และเขียนเพลงป้อนให้อีก 3 ชุดอาทิ เพลง กาฝากหัวใจ, ล้านคูณสิบ, ฝากเสียงกล่อมหอ ฯลฯ ทำให้ เอ๋ พจนา โด่งดังนำพาเม็ดเงินจากยอดขายเทปมาสู่อาจารย์คำเกิ่งมากมาย ซึ่งอาจารย์คำเกิ่งนำเงินที่ได้มาใช้ปรับปรุงวงให้ เอ๋ พจนา ทั้งหมด และสร้างนักร้องประดับวงเอ๋ให้แข็งแรงขึ้นอีกเช่น ทอง ดวงอารีย์ (โอ๋ พจนา) ชาญชัย จัตุรงค์ รวมกันเป็น 3 พลังหนุ่มแถมด้วย เดือนเพ็ญ อำนวยพร ทำให้ วงเอ๋ พจนา มีทีมงานที่แข็งแรงมาก

kamkerng 04

นอกจากนั้น อาจารย์คำเกิ่ง ยังเขียนเพลงและกลอนลำดีๆ ให้นักร้องอีกมากมายเช่น "สาวลำน้ำชีหนีแฟน" (ประสาน เวียงสิมา) "ผิดหรือที่จะรัก" (เฉลิมพล มาลาคำ) "จดหมายฉบับสุดท้าย" (รุ่งโรจน์ เพชรธงชัย) "วันรู้คุณแม่" (แมน มณีวรรณ) "สะอื้นบนรถทัวร์" (ลาวัณย์ จันทร์เพ็ญ) "กำพร้าลาบวช" (มนต์สิทธิ์ คำสร้อย) "สายตาพาคิดฮอด" (ใบตอง จันทร์งาม) "หมองูตายเพราะงู" (ศักดิ์ ภูเวียง) "ชายอิสระ" (หงส์ทอง หงษา) "ซังคนตอแหล" (ชาญชัย จตุรงค์) "กราบแม่เพื่อชาร์ตใจ" (ปอยฝ้าย มาลัยพร) "อยากลืมเมียเขา" (ศรีจันทร์ วีสี) "ใกล้แฟนร้องใหม่" (บัวผัน ทังโส) "คิดฮอดแม่" (ดอกอ้อ ทุ่งทอง - ก้านตอง ทุ่งเงิน) "ออนซอนอีสาน" (ศร สินชัย ,ดอกอ้อ ทุ่งทอง, ก้านตอง ทุ่งเงิน) "คิดฮอดผู้ลางคน" (ทัศพร ทองจันทร์)

ปากโกรธใจคิดถึง - สาธิต ทองจันทร์

ท่ามกลางกระแสแห่งโลกาภิวัฒน์ กระแสอื่นพุ่งซัดสังคมไทย แต่คำเกิ่งมิหวั่นไหวสิ่งนั้นมุ่งยืนหยัดสร้างสรรค์ ผลักดันศิลปะอีสานผสานวัฒนธรรมให้กลมกลืน ให้ศิลปินยืนได้มีความหมายว่า เราคือของแท้ มิพ่ายแพ้ต่อผู้ใด ส่งเสริมขัดเกลาให้ลูกหลานบ้านเฮา แต่งกลอนลำเอาให้ไปร้อง แต่งทำนองให้เอาไปเอื้อนประสานผองเพื่อนน้องพี่ที่มีใจรักงานด้วยกัน สร้างสรรค์เผยแพร่ด้วยสื่อตามยุคสมัย ปลอบขวัญกำลังใจมิให้ท้อ ทำงานต่ออย่าล้มอดทนข่มต่อความไม่สำเร็จ ไม่เข็ดต่อความล้มเหลว มีเปลวไฟแห่งการทำงาน สู้บากบั่นมิท้อถอย

จนกระทั่งพลอยเปล่งแสงเจิดจรัสเป็นมหัศจรรย์แห่งวงการ ได้ชื่อว่า "พญาอินทรีย์แห่งอีสาน" เป็นตำนานผู้สร้างศิลปิน กล่าวยลยินได้ว่า ยังไม่เคยมีศิลปินผู้กล้าใดจะยิ่งใหญ่เทียมเท่า ว่าเป็นผู้เฝ้าส่งสร้างศิลปินหมอลำให้โด่งดังเลิศล้ำชื่อก้องมากที่สุดของเมืองไทย เท่าที่มีในยุคสมัยของท่าน

ลำกลอน ดั้งเดิม - คำเกิ่ง ทองจันทร์

ด้านรางวัลที่ได้รับ

  • รางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน ปี 2540 ในเพลง "สู้เพื่อใคร" ร้องโดย สาธิต ทองจันทร์
  • รางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน ปี 2541 ในเพลง "น้ำตาสาวเย็บผ้า" ร้องโดย เดือนเพ็ญ อำนวยพร
  • ศิลปินมรดกอีสาน ผู้เป็นตำนานแห่งวรรณศิลป์หมอลำอีสาน จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • และรางวัลอีกมากมายจากหลายหน่วยงาน

อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีในตับ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 ในวัย 67 ปี ที่บ้านพักในอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

งานศิลปินรวมใจให้ครูคำเกิ่ง ทองจันทร์

redline

backled1

mp3

doi intanont 01

ดอย อินทนนท์

ดอย อินทนนท์ มีชื่อจริงว่า นายสมบูรณ์ สมพันธ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ที่บ้านโนนจาน ตำบลแคน อำเภอรัตนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสนม) จังหวัดสุรินทร์ คุณพ่อชื่อลี คุแม่ชื่อเสาร์ สมพันธ์ จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสนมศึกษาคาร และบวชเรียนจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก มีภรรยาชื่อ นางอัมราภรณ์ สมพันธ์ (สกุลเดิม ใจหาญ) มีบุตรชาย 2 คน

เนื่องจากเป็นคนชอบการแต่งกลอน มาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ก็เริ่มฝึกแต่งเพลงมาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ขณะที่ยังบวชเป็นพระภิกษุอยู่ ได้ส่งบทเพลงที่ประพันธ์ไปให้ ครูพยงค์ มุกดา พิจารณาบันทึกเสียงให้กับนักร้อง ทำให้ผลงานได้รับการพิจารณา จนเมื่อปี พ.ศ. 2510 ได้ลาสิกขาบทเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้าสู่วงการเพลงจากการชักนำและสนับสนุนโดย ครูพยงค์ มุกดา และมอบหน้าที่ให้เป็นนักแต่งเพลงประจำวงดนตรีของครู

การแต่งเพลงยุคแรกๆ ใช้ชื่อว่า "สรบุศย์ สมพันธ์" ผลงานเพลงแรกที่ได้รับการพิจารณาบันทึกเสียงคือเพลง "พอทีนครสวรรค์" ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ เพลงที่สอง "หนุ่มอีสาน" ให้ ชินกร ไกรลาศ ขับร้องเช่นเดียวกัน ส่วนเพลงที่สาม "สาวอีสาน" เป็นเพลงแก้ให้ ศรีสอางค์ ตรีเนตร ขับร้อง

นอกจากนั้น ครูพยงค์ มุกดา ยังได้นำเพลงที่แต่งในนาม สรบุศย์ สมพันธ์ ไปให้ ธานินทร์ อินทรเทพ ทูล ทองใจ อรรณพ อนุสรณ์ ขับร้อง แล้วครูพยงค์เปลี่ยนชื่อให้ใหม่อีกชื่อหนึ่งว่า "บูรณพันธ์" มีเพลงดังที่คุ้นหูกันดีคือ "อภันตรีที่รัก" ร้องโดย อรรณพ อนุสรณ์ "คุณช่างสวย" ร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ และเริ่มเป็นที่รู้จักในนาม "สมบูรณ์ สมพันธ์" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

doi intanont 02

ต่อมาก็แต่งเพลงให้กับนักร้องประจำวงดนตรีพยงค์ มุกดา ร้องอีกหลายคน เช่น เพลง "กระท่อมสาวเมิน" ให้ ชินกร ไกรลาศ ร้อง "สาวพระประแดง" ให้ ชัยณรงค์ บุญนะโชติ ร้อง รวมทั้งมีโอกาสแต่งให้นักร้องต่างวงร้องหลายคนเหมือนกัน เช่น "ขอเป็นหมอนข้าง" ให้ โรม ธรรมราช บันทึกเสียงเป็นเพลงแรกของเขา ในสมัยที่อยู่วงดนตรีศรีนวล สมบัติเจริญ แต่งเพลง "รักทหารดีกว่า" ให้ รังสรรค์ จีระสุข ร้องและแต่งเพลงให้นักร้องในวง "จิระบุตร" ร้องอีกหลายคน

อยู่กับวงครูพยงค์ มุกดา ได้ 4 ปี ก็ลาออก หลังจากนั้นไปตระเวนอยู่ทางภาคเหนือ 3-4 ปี เกิดความประทับใจกับยอดดอยอินทนนท์ กลับมากรุงเทพฯ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ดอย อินทนนท์" และได้รับการชักชวนจากครูฉลอง ภู่สว่าง ให้มาช่วยแต่งเพลงให้กับ "ศรชัย เมฆวิเชียร" จนศรชัยมีชื่อเสียงโด่งดัง และผลงานได้รับความนิยมกลายเป็นเพลงอมตะมาจนถึงบัดนี้ เช่น เพลง "จันทร์อ้อน" ที่ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช ซึ่งเป็นเพลงร้องแก้เพลง "อ้อนจันทร์" ของ ศรชัย เมฆวิเชียร ที่เป็นเพลงร่วมกันแต่งกับครูฉลอง ภู่สว่าง

doi intanont 03
รับโล่เชิดชูเกียรติจากสมาคมนักแต่งเพลง

และหลังจากนั้น ศรชัย เมฆวิเชียร ก็มีเพลงดังจากการประพันธ์ของ ดอย อินทนนท์ ร้องอีกไม่ต่ำกว่า 30 เพลง เช่น เสียงซอสั่งสาว, บัวหลวงบึงพลาญ, สะพานรักสะพานเศร้า, ซึ้งสาวปากเซ, สาวประเทืองเมืองปทุม มาแต่งให้ สายัณห์ สัญญา ร้องก็ดัง เช่นเพลง รักติ๋มคนเดียว, แม่ดอกสะเลเต, เสียงพิณสะกิดสาว เป็นต้น

ครูดอย อินทนนท์ เป็นคนแรกที่บุกเบิกงานเกี่ยวกับ "ลำแพน" ให้นักร้องลูกทุ่งหมอลำที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น แต่งชุด "แม่ไม้หมอลำ" ให้ บานเย็น รากแก่น ร้องทั้งชุด ตามด้วย "งิ้วต่องต้อนอ้อนผู้บ่าว" เป็น กลอนลำ “10 กลอนลำ 10 ลีลา” ซึ่งเป็นศิลปะ เพลงลูกทุ่งสลับลำ ซึ่งแต่ละกลอน “สังวาสสไตล์ลีลาลำ” จะไม่ซ้ำแบบกันเลยทั้ง 10 กลอน (10 กลอน 10 แบบ) "ฝากรักจากแดนไกล" (ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน) ขับร้องโดย บานเย็น รากแก่น และแต่งกลอนลำให้ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม, หงษ์ทอง ดาวอุดร ในชุด "หงษ์ทองคะนองลำ" กลอนดังทุกกลอนของทองมัย มาลี และขวัญตา ฟ้าสว่าง, เฉลิมพล มาลาคำ, นกน้อย อุไรพร, ลูกแพร ไหมไทย, น้องผึ้ง บึงสามพัน, อังคณางค์ คุณไชย โดยเฉพาะ ศิริพร อำไพพงษ์ ครูดอย อินทนนท์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ นอกจากนั้น เพลงเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในวง "เสียงอีสาน" ล้วนเป็นผลงานการประพันธ์ของครูดอย อินทนนท์

doi intanont 04
ลูกศิษย์ ศรชัย เมฆวิเชียร และ บานเย็น รากแก่น บูชาครูดอย อินทนนท์ ในงาน "เชิดชูครูเพลง"

สำหรับนักร้องลูกทุ่งอื่นๆ ครูดอย อินทนนท์ ได้ประพันธ์ให้ร้องเช่นกัน เพลง "เพชราจ๋า" ร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์ "วอนพระธรรม" ร้องโดย ยอดรัก สลักใจ "ฝนมาน้ำตาซึม, บาดทะยักใจ" ร้องโดย สุนารี ราชสีมา "เจ็บแล้วต้องจำ, พุ่มพวงลำเพลิน" ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์ "บ่เที่ยวตี๋อ้าย" ร้องโดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ "รักพี่ไข่นุ้ย, ตบตาหลุด, ติดฝนทั้งปี, เขาชื่นเราช้ำ" ร้องโดย อัมพร แหวนเพชร รวมผลงานการประพันธ์ทั้งลูกทุ่ง ลูกทุ่ง และหมอลำ รวมกว่า 3,000 เพลง

จันทร์อ้อน - ผ่องศรี วรนุช

เกียรติยศ-เกียรติคุณ

  • เพลง “จันทร์อ้อน” ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2520
  • เพลง “เสียงซอสั่งสาว” ขับร้องโดย ศรชัย ได้รับเกียรติบัตร และโลห์พระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2537 เนื่องในงานจัดงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย
  • เพลง “ฝากรักจากแดนไกล” ขับร้องโดย บานเย็น รากแก่น ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน
  • เพลง “กองไว้ตรงนั้น” ขับร้องโดย น้องผึ้ง บึงสามพัน ได้รับรางวัลมาลัยทอง ปี พ.ศ. 2548
  • รางวัลเชิดชูเกียรติ “ครูผู้สร้างสรรค์-ผลงานเพลงในแผ่นดิน” จาก กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2553

จากเกียรติคุณและความสามารถที่หลากหลายในการสร้างสรรค์ประพันธ์เพลง ทั้งไทยลูกทุ่ง ลูกกรุง และหมอลำ นับเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับวงการเพลงเมืองไทย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง) ประจำปี 2557 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เสียงซอสั่งสาว - ขับร้อง : ศรชัย เมฆวิเชียร, สีซอ : ทองฮวด ฝ้ายเทศ

redline

backled1

art local people

surin paksiri 01

สุรินทร์ ภาคศิริ

นายสุรินทร์ ภาคศิริ มีชื่อจริงว่า ชานนท์ ภาคศิริ ชื่อในการจัดรายการวิทยุ คือ ทิดโส โปข่าว หรือ ทิดโส สุดสะแนน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2485 ที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ) จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม. 6 เดิม) จากโรงเรียนอำนาจเจริญ เมื่อ พ.ศ. 2503 มีพรแสวงและพรสวรรค์ในการประพันธ์มาตั้งแต่เด็ก เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้จากคณะละครอุลิตราตรีศิลป์ และคณะเทพศิลป์ 2 ที่ไปปักหลักเปิดแสดงที่บ้านต่างจังหวัด

สมัยเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 ได้เริ่มแต่งกลอน นวนิยาย เรื่องสั้น และแต่งเพลงเชียร์กีฬาโรงเรียน พอจบ ม. 6 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตามหาความฝันของชีวิต ศึกษาด้านการเป็นนักร้อง นักประพันธ์ ด้วยการอาศัยชายคากุฏิวัดนรนารถสุนทริการาม เทเวศน์ พึ่งใบบุญข้าวก้นบาตรพระ มีอุปสรรคด้านการศึกษาเล่าเรียน จึงหันมาแต่งเพลง ประพันธ์กลอน เรื่องสั้น และฝากตัวเป็นศิษย์ของ ครู ก. แก้วประเสริฐ ครูเพลงชื่อดังในยุคนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างดี ขณะเดียวกันก็ได้สอบเข้ารับข้าราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย จึงหมดโอกาสที่จะเดินสายเป็นนักร้อง หันมาเอาดีกับงานประจำและแต่งเพลง

surin paksiri 02จึงมีผลงานให้กับนักร้องดังในสมัยนั้น เริ่มจากผลงานชิ้นแรกคือ คนขี้หึง ขับร้องโดย ชื่นกมล ชลฤทัย เพลง คนขี้งอล ร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลง เมษาอาลัย ร้องโดย หมาย เมืองเพชร และเพลง เต้ยเกี้ยวสาว ขับร้องโดย กบิล เมืองอุบล ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อด้วยแนวการร้องแบบศิลปะของหมอลำ จากนั้นก็แต่งเพลงป้อนให้นักร้องดังๆ อีกหลายคน เช่น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ไพรินทร์ พรพิบูลย์ สนธิ สมมาตร กาเหว่า เสียงทอง ศรคีรี ศรีประจวบ ศรชัย เมฆวิเชียร เรียม ดาราน้อย ศักดิ์สยาม เพชรชมภู สันติ ดวงสว่าง เอ๋ พจนา สายัณห์ สัญญา ชาย เมืองสิงห์ แม้แต่วงสตริงอย่าง รอยัลสไปรท์

เพลงที่สร้างชื่อเสียงและทำให้แฟนเพลงรู้จักสุรินทร์ ภาคศิริ มากที่สุด คือ วอนลมฝากรัก, อ.ส.รอรัก, ทหารเกณฑ์ผลัด 2, หนาวลมที่เรณู, ทุ่งกุลาร้องไห้, หอมกลิ่นดอกคำใต้, หนุ่ม น.ป.ข., ลำกล่อมทุ่ง

รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ คือ รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (ปี 2514) คือเพลง "งานนักร้อง" ขับร้องโดย พรไพร เพชรดำเนิน (ปี พ.ศ. 2534 - 2538) รับรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยเพลง "ทุ่งกุลาร้องไห้" ขับร้องโดย ศักดิ์สยาม เพชรชมภู เพลง "หนี้กรรม" ขับร้องโดย สุมิตร สัจเทพ และยุพิน แพรทอง และเพลง "หนาวลมที่เรณู" ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ

นายสุรินทร์ ภาคศิริ จึงได้รับการเชิดชูเกีรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ ประเภทประพันธ์เพลง (ลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2551 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

surin paksiri 04

เมื่อพูดถึงครูสุรินทร์แล้วก็ถือว่า เป็นนักเพลงลูกทุ่งอีสานรุ่นบุกเบิกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง ครูเบญจมินทร์ ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานี เช่นเดียวกัน ในภาพนักร้องเบญจมินทร์ โดดเด่นทั้งความเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ และเบญจมินทร์ คือ ต้นแบบเสียงของสุรพล สมบัติเจริญ ส่วนครูสุรินทร์นั้นเป็นนักประพันธ์เพลง เป็นนักจัดรายการวิทยุ ที่ได้สัมผัสกับเพลงที่หลากหลาย ทำให้สามารถสร้างสรรค์เพลงออกมาได้หลากหลายแนว

ยุคที่เพลงอีสานแผ่เป็นวงกว้างในวงการเพลงลูกทุ่งนั้น นักร้องหลายๆ คนได้เพลงจากครูสุรินทร์ เช่น เทพพร เพชรอุบล, ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, สนธิ สมมาตร และดาว บ้านดอน เป็นอาทิ

surin paksiri 05

จะว่าไป ถ้าบอกว่า "เมืองนักร้อง" ต้องสุพรรณบุรี อันนี้ไม่เถียงใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าถามว่าอีสานมีพลังในบทเพลงสูงอยู่อุบลราชธานี (รวมทั้งอำนาจเจริญด้วย) นักแต่งเพลงลูกทุ่งอีสานที่เป็นธารกระแสในยุคยังไม่เรียกว่าเป็น “ลูกทุ่ง” แต่ยังเป็น “เพลงตลาด” เริ่มจาก “เบญจมินทร์” ที่นำเพลงรำวงเข้ามาในเพลง “รำเต้ย” เป็นต้นมา

surin paksiri 08

surin paksiri 03จนมายุค ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา – สุรินทร์ ภาคศิริ ที่มีนักร้อง 4 เด็ดเพชรอีสานเป็นขุมกำลังสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่าเพลงดังๆ ในเรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ของรังสี ทัศพยัคฆ์ นั้น นอกจากเพลงครูไพบูลย์ บุตรขัน แล้ว เพลงของ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ก็มีอยู่หลายเพลงเช่นกัน

นอกจากนี้ ครูสุรินทร์ ถูกกล่าวขานกันในวงการเพลงลูกทุ่งว่า เป็นคู่แฝดแห่งวงการกับ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา นักแต่งเพลงรุ่นพี่ชาวอุบลราชธานี อีสานมีนักร้อง นักแต่งเพลงมากมาย แล้วจะฟูมฟายอะไรกับความคิดที่ถูกสร้างกลให้ว่า ตัวเองไม่มีพลัง แต่พลังยังเต็มเปี่ยมอยู่บนความเป็นพลังลาวคักๆ อยู่เต็มภูมิแท้ๆ

ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ก็ประสบความสำเร็จในการแต่งเพลงลูกทุ่งตั้งแต่อายุเพียง 20 ต้นๆ เท่านั้น รวมทั้งเพลงดังไปทั่วประเทศอย่างเพลง "วอนลมฝากรัก" ที่แต่งให้ บุปผา สายชล เป็นผู้ร้อง และทำให้บุปผาพลอยแจ้งเกิดไปด้วยนั้น ท่านก็แต่งเมื่ออายุเลยเบญจเพศมาไม่นานนัก หรืออย่างเพลง "หนาวลมที่เรณู" ก็ดังตั้งแต่ครูยังอายุไม่เต็ม 30 ปีด้วยซ้ำไป จากคนที่ไม่ใช่นักดนตรี ไม่รู้จักโน้ต แต่ก็ยังแต่งเพลงได้ และแต่งได้ดีด้วย ต้องถือว่าครูสุรินทร์เป็นอัจฉริยะท่านหนึ่งทีเดียว

กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะถึง 40 เปอร์เซ็นต์ด้วยจากรายชื่อเพลงที่ปรากฎ เป็นเพลงที่เกี่ยวกับภาคอิสานบ้านเกิดของครู ที่ดังมากๆ ก็เช่นเพลง "หนุ่มบ้านแต้" ที่แต่งให้กับวง สุนทราภรณ์ เป็นเพลงรำวงที่เริ่มว่า "เดือนหกนกกาเหว่ามันร้อง" แฟนเพลงรุ่นเก่า คงจำได้ มาจนถึง "หนาวลมที่เรณู" ที่แต่งให้ ศรคีรี ศรีประจวบ ซึ่งกลายเป็นเพลงที่มีการนำมาบันทึกใหม่โดยนักร้องคนใหม่ๆ มากที่สุดถึง 53 ครั้ง

แต่ที่ชอบเป็นพิเศษขอยกให้เพลง "อีสานลำเพลิน" ที่จำได้ เพราะชอบชุดที่ ต่าย อรทัย นำมาขับร้องใหม่ โดยให้ต่ายขึ้นไปร้องและรำพร้อมๆ กับนางรำอิสานหลายสิบคนบนลานหิน "สามพันโบก" กลางลำน้ำโขง มองเห็นวิวข้างล่างสวยงามเหลือเกิน ฟังเพลงและดูมิวสิกวีดิโอชุดนี้แล้ว ก็ทำให้รักเมืองไทย รักแผ่นดินอิสานบ้านเกิดอย่างบอกไม่ถูก อาจจะเป็นเพราะลีลาการร่ายรำของ ต่าย อรทัย ที่เข้ากับสาวนางรำได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงที่ร้องว่า "ลีลาเหมือนดังหงส์เหิน อิสานลำเพลินอรชรอ้อนแอ้น" นั้น ต่าย อรทัย ก็รำได้อย่างหงส์เหินสมดังคำร้องจริงๆ

อีสานลำเพลิน - ต่าย อรทัย

ก็เพิ่งจะทราบนี่แหละครับว่าเพลงนี้ ครูสุรินทร์ แต่งขึ้นตั้งแต่ปี 2516 เป็นเพลงในภาพยนตร์เรื่อง "บัวลำภู" ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ขับร้องโดย อังคนางค์ คุณไชย นางเอกหมอลำ เป็นรายแรก หนังทำเงินพอสมควร แต่เพลง "อิสานลำเพลิน" ฮิตมาก มีการนำมาร้องอีกหลายๆ ครั้ง โดยนักร้องอิสาน ตั้งแต่ บานเย็น รากแก่น ศิริพร อำไพพงษ์ ฯลฯ จนล่าสุดก็คือ ต่าย อรทัย

surin paksiri 07

ตรวจสอบจากประวัติ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ แล้ว เพลงจากอิสานของครูได้รับรางวัลดีเด่น ในฐานะ "เพลงลูกทุ่งดีเด่น" ถึง 2 เพลง ได้แก่เพลง "ทุ่งกุลาร้องไห้" และเพลง "หนาวลมที่เรณู" ซึ่งต้องยอมรับว่าเหมาะสมทุกประการ แต่ไม่ได้กล่าวถึงเพลง "อิสานลำเพลิน" ไว้เลย แสดงว่าเพลงนี้ยังไม่เคยได้รับรางวัลมาก่อนแน่ๆ ถ้าจะมีใครที่ไหน? สถาบันไหน? จะมอบรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่นให้ครูอีกในโอกาสหน้า ขอฝากเพลง "อิสานลำเพลิน" ไว้ด้วยนะครับ ฮิตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงบัดนี้ 2560 รวมแล้ว 44 ปี แม้จะบันทึกใหม่น้อยกว่า "หนาวลมที่เรณู" แต่ก็น่าจะเข้าข่ายเพลงลูกทุ่งอิสานดีเด่นได้อีกหนึ่งเพลงนะครับ

สุรินทร์ ภาคศิริ - ฐานข้อมูลมรดกอีสาน

เคยรับราชการเป็น ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ สมัยที่ยังสังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทย จึงหมดโอกาสที่จะเดินสายเป็นนักร้อง หันมาเอาดีกับงานประจำและแต่งเพลง ฉะนั้นครูจึงพูดเล่นเสมอๆ ว่า อดีตคือ “คนรับจ้างหลวงเฝ้าคุก” และผลงานหลายๆ เพลงก็มาจากเหตุการณ์ในคุก เช่นเพลง ผ้าขาวม้า ของวงรอยัลสไปรท์

ผลงานชิ้นแรกๆ คือ คนขี้หึง ขับร้องโดย ชื่นกมล ชลฤทัย เพลง คนขี้งอน ร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลง เมษาอาลัย ร้องโดย หมาย เมืองเพชร ตอนหลัง ศักดิ์สยาม เพชรชมพู นำมาร้องใหม่ และเพลง เต้ยเกี้ยวสาว ขับร้องโดย กบิล เมืองอุบล ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อด้วยแนวการร้องแบบศิลปะหมอลำ

จากนั้นก็แต่งเพลงป้อนให้นักร้องดังๆ อีกหลายคน เช่น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร, ไวพจน์ เพชร สุพรรณ, สนธิ สมมาตร, กาเหว่า เสียงทอง, ศรคีรี ศรีประจวบ, ศรชัย เมฆวิเชียร, เรียม ดาราน้อย, วงรอยัลสไปรท์, ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, สันติ ดวงสว่าง, เอ๋ พจนา, ชาย เมืองสิงห์ เป็นต้น

ครูสุรินทร์ แต่งเพลงแรกในการบันทึกแผ่นเสียงของนักร้องลูกทุ่งหลายคน เช่นเพลง หนองหานสะอื้น ให้ พรไพร เพชรดำเนิน แล้วต่อมา พรไพร เพชรดำเนิน ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากเพลง งานนักร้อง ในปี 2514 เพลง รูปไม่หล่อพ่อไม่รวย ของ ดำ แดนสุพรรณ, เพลง อย่าเดินโชว์ ของ บรรจบ ใจพระ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บรรจบ เจริญพร)

surin paksiri 09

เพลงที่สร้างชื่อให้มากที่สุดคือ วอนลมฝากรัก ของ บุปผา สายชล อ.ส.รอรัก ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู รวมทั้งยังแต่งเพลงแนวช้าให้กับนักร้องที่ถนัดเพลงแนวสนุกอย่าง ศักดิ์สยาม ในเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ จนได้รับรางวัลลูกทุ่งกึ่งศตวรรษทหารเกณฑ์ผลัด 2 ทำให้ ศรชัย เมฆวิเชียร แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากเพลงนี้ หนาวลมที่เรณู ของ ศรคีรี ศรีประจวบ กลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม หอมกลิ่นดอกคำใต้ ให้กับนักร้องเสียงดีเมืองขอนแก่น ก้องเพชร แก่นนคร หนุ่ม นปข. ของ สุริยา ฟ้าปทุม ลำกล่อมทุ่ง ของ ไพรินทร์ พรพิบูลย์ ลูกทุ่งคนยาก ให้กับ สนธิ สมมาตร

หนาวลมที่เรณู - ศรคีรี ศรีประจวบ

โดยเฉพาะเพลง อีสานลำเพลิน ของ อังคนางค์ คุณไชย ที่นับเป็นการเปิดศักราชเพลงลูกทุ่งอีสาน ทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานกลายเป็นแนวเพลงแนวหนึ่งที่แพร่หลาย เป็นที่นิยมสนใจของคนในสังคมปัจจุบันอย่างกว้างขวาง

เปิดบ้าน ครูสุรินทร์ ภาคศิริ EP.1

เปิดบ้าน ครูสุรินทร์ ภาคศิริ EP.2

ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของครู

เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 "ครูสุรินทร์ ภาคศิริ" นักแต่งเพลงชั้นครู ได้เสียชีวิตลงในวัย 79 ปี หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จากอาการของโรคมะเร็งทางสมอง กระทั่งจากไปอย่างสงบ และทางครอบครัวพร้อมกับลูกศิษย์ลูกหาได้นำไปประกอบพิธีรดน้ำศพ สวดอภิธรรม และพระราชทานเพลิงศพ ณ ศาลา 13 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธุ์ 2565 ถึง 3 มีนาคม 2565 และจะพระราชทานเพลิงศพวันที่ 5 มีนาคม 2565

ทางทีมงานเว็บไซต์ประตูสู่อีสานขอกราบคารวะท่านด้วยความจริงใจครับ

redline

backled1

mp3

เพชร พนมรุ้ง

petch phanom roong 01

นักร้องเพลงลูกทุ่ง ที่ใช้ลีลาเพลงโห่ และเล่นเครื่องดนตรีแบนโจแบบในหนังคาวบอยตะวันตกของไทย

เพชร พนมรุ้ง มีชื่อจริงว่า นายจเร ภักดีพิพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2484 ที่อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ บิดา ครูสิน มารดา นางชวน เรียนหนังสือจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบุรีรัมย์วิทยา มีพี่น้อง 11 คน ชาย 6 หญิง 5 เข้ามากรุงเทพฯ และสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง กรุงเทพมหานคร แต่งงานมีครอบครัว ภรรยาชื่อ ระพีพรรณ มีบุตรชาย 1 คน

เพชร พนมรุ้ง เป็นศิลปินที่มีความสามารถในการขับร้องเพลงลูกทุ่งอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่น คือการ "โห่" ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ตะวันตก ประเภทขี่ม้ายิงปืน "คาวบอยตะวันตก" ที่มีมาฉายในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2500 ซึ่งจะมีเพลงประกอบที่มีทำนองเนื้อร้อง ที่เราเรียกว่า "โห่" เอาไว้ ทำใหเขาเกิดความสนใจในแนวทางนี้ จึงคิดนำมาประยุกต์และดัดแปลงเข้ากับทำนองเพลงลูกทุ่งไทย

ด้วยความหลงใหลและสนใจในกลิ่นอายของเพลงลูกทุ่งตะวันตก ทำให้ เพชร พนมรุ้ง จำลีลาการร้องลูกคอแบบฮาร์โมนิกจากศิลปินท่านอื่นๆ และยังได้ฝึกหัดเล่น "กีตาร์แบนโจ" จากพี่ชาย ที่ได้เรียนรู้มาจากนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ที่เข้ามาเล่นดนตรีในประเทศไทย ซึ่งในสมัยนั้นเมืองไทยยังไม่ค่อยมีการใช้เครื่องดนตรีสากลมากนัก

petch phanom roong 02

ต่อมาเพชร พนมรุ้ง ได้เข้าประกวดร้องเพลงโดยใช้ชื่อและนามสกุลจริง ในเวทีงานภูเขาท้อง วัดสระเกศ จนทำให้ ครูพยงค์ มุกดา เห็นแววและชื่นชอบในการร้องเพลงแบบโห่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หล้งจากนั้นไม่นานก็ทำให้ผู้คนรู้จัก เพชร พนมรุ้ง ในนามศิลปินเพลงโห่ของเมืองไทย ผลงานเพลงแรกๆ ที่ครูพยงค์ มุกดา ได้ประพันธ์ให้ เช่น ใกล้รุ่ง, อย่ากลัว เป็นต้น แต่เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เพชร พนมรุ้ง มากที่สุดคือเพลง "เมื่อเธอขาดฉัน" ประพันธ์โดย ชัยชนะ บุญนะโชติ

petch phanom roong 06

นอกจากนี้ยังมีผลงานเพลงอีกมากที่ได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนเพลง เช่น ลูกทุ่งเสียงทอง, ธรรมชาติบ้านนา 1, บางปู 1, หนุ่มนักเพลง, ประกายเดือน ฯลฯ จนทำให้ เพชร พนมรุ้ง ได้รับฉายา "ราชาเพลงโห่" หรือที่เราคุ้นเคยในนาม "จังโก้ไทยแลนด์" เพชร พนมรุ้ง ยังได้มีโอกาสร่วมแสดงภาพยนตร์ เสน่ห์บางกอก กับพระเอกนักเพลง พร ภิรมย์ และมีงานโชว์ตัวนอกสถานที่ตามต่างจังหวัดในรูปแบบผจญภัย อย่างเช่น ออกโชว์ตัวบนเรือแพ ตามล่องน้ำเมืองกาญจนบุรี รวมถึงการเดินป่าชมธรรมชาติ อันเป็นสิ่งหนึ่งที่ข้องเกี่ยวกับชีวิตของศิลปินเพลงผู้นี้ นอกเหนือไปจากการวางตัวสมถะ พออยู่พอกินไม่ฟุ้งเฟ้อ กระทั่งเกิดสงครามเวียดนาม เพชร พนมรุ้ง จึงได้ไปขุดทองอยู่ในแคมป์จีไอที่โคราชนานหลายปี จากนั้นก็มารับแสดงตามคลับในกรุงเทพฯ จนถูก กำธร ทัพคัลไลย ชวนให้ไปเล่นหนัง ทายาทป๋องแป๋ง กับพระเอกดัง สมบัติ เมทะนีในปี พ.ศ. 2539

petch phanom roong 03

เพชร พนมรุ้ง นับเป็นศิลปินอีกท่านหนึ่งที่มีแนวการร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะการนำทำนองเพลงของตะวันตกมาประยุกต์ให้เข้ากับคำร้อง/เนื้อร้องที่เป็นภาษาไทยได้อย่างลงตัว จนทำให้เพลงในแนวนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ฟังในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2509 ได้รับเหรียญพระราชทานสังคีตมงคล จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานเพลงดีเด่น จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 จากเพลง "ลูกทุ่งเสียงทอง" ซึ่งประพันธ์โดยครูพยงค์ มุกดา

นายจเร ภักดีพิพัฒน์ หรือ เพชร พนมรุ้ง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกีรตืให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2556 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

petch phanom roong 04

ครูใหญ่(สมาน) นภายน อธิบายว่า “เพลงโห่” นั้น เอาอย่างมาจากเพลง yodel ของพวกคนเลี้ยงแกะตามภูเขาในในยุโรป ต่อมา yodel ก็ตามพวกอพยพเข้าไปในสหรัฐ และไปแพร่หลายปะปนกับเพลงคันทรี่ของชาวใต้ของสหรัฐ เราจึงได้ยินเพลงคันทรี่หลายเพลงมีการโห่ปะปนอยู่ด้วย ต้นแบบการโห่เร้าใจก็ Jimmie Rodgers ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพลงโห่นี้คนโห่ต้องมีเสียงสูง ถึงจะ โห่ โฮรีเร ฮี้ เร โฮ ฮี้ เร ฮี้ยย ฮี้ยย ได้เอร็ดอร่อยสนุกนัก

petch phanom roong 05

yodel หมายถึงแบบการร้องเพลงชนิดหนึ่งที่ไม่มีคำร้อง (ร้องแบบโห่) นิยมกันในหมู่ชาวเขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย ลักษณะของเพลงคือเปลี่ยนเสียงจากเสียงต่ำในช่วงอกไปยังเสียงฟอลเซทโต (falsetto : เสียงที่ร้องดัดให้สูงขึ้นกว่าเสียงร้องตามปกติ) อย่างรวดเร็วและสลับไปมา

ลูกทุ่งเสียงทอง โดย เพชร พนมรุ้ง

ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของราชาเพลงโห่

RIP : "เพชร พนมรุ้ง" นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง เจ้าของฉายา "ราชาเพลงโห่" เสียชีวิตแล้ววันนี้ (12 มิถุนายน 2561) เมื่อเวลา 16.15 น. ขณะมีอายุ 79 ปี ด้วยโรคน้ำท่วมปอด หลังจากพักรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น แต่ผ่าตัดได้ 2 เส้น เบื้องต้นทางครอบครัวนำร่างตั้งสวดพระอภิธรรมศพที่ วัดไร่ขิง สามพราน นครปฐม

petch phanom roong 07

ทางทีมงานเว็บไซต์ประตูสู่อีสาน : IsanGate.com ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของคุณเพชร พนมรุ้ง และแสดงความเสียใจกับครอบครัวภักดีพิพัฒน์ด้วยครับ

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)