foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

noom yenjai 01นุ่ม เย็นใจ

พ่อนุ่ม เย็นใจ เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471 เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาชั้นนักธรรมเอก และยังเป็น ครูวาดเขียนโท (วท.) และครูพิเศษมัธยม (พม.)

พ่อนุ่ม เย็นใจ เริ่มต้นประพันธ์วรรณกรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ได้ประพันธ์กลอนลำอีสานกว่า 3,000 กลอน นอกจากนั้นยังได้ประพันธ์ บทเทศน์แหล่ บทสวดสรภัญญ์ กลอนหนังปราโมทัย สำนวนอีสาน เพลงรำวงย้อนยุค ผญา สุภาษิต ไว้อีกเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประพันธ์กลอนลำให้กับ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ) ศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะการแสดง) หมอลำทองคำ เพ็งดี หมอลำประยูร ธาตุทอง หมอลำคำเก่ง บัวใหญ่ หมอลำรังสรรค์ วงศ์งาม หมอลำอำนาจ แผงงาม ได้นำไปแสดงจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังทั่วภาคอีสาน

ซึ่ง กลอนลำ ของ คุณพ่อนุ่ม เย็นใจ เป็นที่ยอมรับในแวดวงสังคมหมอลำ อาทิ กลอนลำชีวิตชาวนา กลอนลำล่องลารุ่งอรุณ ลำล่องประวัติเมืองอุบล ลำล่องพุทธภูมิ เป็นต้น นอกจากการประพันธ์กลอนลำแล้ว ยังได้ทำหน้าที่นักจัดรายการวิทยุ ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาอีสาน ออกสู่สาธารณชนเรื่อยมา

noom yenjai 04

จากผลงานที่สั่งสมมาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้พ่อนุ่ม เย็นใจ ได้รับรางวัลจากองค์กร หน่วยงานต่างๆ มากมาย เช่น

  • ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวรรณศิลป์ (ร้อยกรองพื้นบ้าน) พ.ศ. 2542
  • รางวัลดีเด่นผลิตสื่อพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2543
  • รางวัลการประพันธ์กลอนลำ จากสหพันธ์สมาคมหมอลำแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544
  • โล่เชิดชูเกียรติคุณศิลปินดีเด่น สภาวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2546

noom yenjai 03

พ่อนุ่ม เย็นใจ ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ด้วยการเสียสละเวลา ช่วยเหลืองานด้านวัฒนธรรมด้วยดีเสมอมา จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (ประพันธ์กลอนลำ) ปรระจำปี พ.ศ. 2550 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2553

noom yenjai 02

และเมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เราก็ได้สูญเสียบุคลที่ทรงคุณค่า ด้านศิลปวัฒนธรรมอีสานไปอีกท่านหนึ่ง โดยเฉพาะท่านเป็นที่รักและเคารพของแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ) อย่างยิ่ง คุณพ่อนุ่ม เย็นใจ จากไปด้วยวัย 88 ปี 4 เดือน 29 วัน และทางญาติพี่น้อง ลูกหลาน ได้บำเพ็ญกุศล ที่ วัดพระธาตุหนองบัว อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

ลำล่องชีวิตชาวนา ประพันธ์โดยพ่อนุ่ม เย็นใจ ลำโดย ฉวีวรรณ ดำเนิน

redline

backled1

mp3

sak siam 04ศักดิ์สยาม เพชรชมพู

บุญชื่น เสนาราช (บางที่ก็บอก เสนาลาส) หรือ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู (บ้างก็เขียนเป็น เพชรชมภู) เกิดที่บ้านนานกเขียน ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 ครอบครัวมีฐานะยากจนมีอาชีพทำนา เขาจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านหัวช้าง ที่อยู่ห่างจากบ้านนกเขียนไประยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็ไม่ได้เรียนต่อ สมัยวัยเด็กชอบฟังเสียงเพลงจากสถานีวิทยุ AM กรมประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น ชื่นชอบและร้องตามนักร้องลูกทุ่งสมัยนั้นได้เกือบทุกเพลง ไปบวชเป็นสามเณรอยู่ 1 พรรษา ญาติโยมชื่นชอบในเสียงสวดมนต์ของสามเณรชื่นกันมาก หลังลาสิกขาก็ได้ออกมาช่วยครอบครัวทำนาอย่างเต็มตัว เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นนักร้องเชียร์รำวง

ได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของ "คณะรำวงดาวอีสาน“ ที่จัดตั้งขึ้นในตำบลโคกก่อ หลังจากที่ตามไปเป็นเพื่อนพี่สาวที่เป็นนางรำวงของคณะ ต่อมา ก็เลยผูกขาดการเป็นนักร้องเชียร์รำวงของคณะอยู่เพียงคนเดียว แม้ต้องร้องเพลงตั้งแต่ 3 ทุ่มไปจนถึงรำวงเลิกเวลาตี 2 ตี 3 โดยได้ค่าร้องแค่ไม่กี่บาทต่อ 3 คืน แต่เขาก็พอใจเพราะว่าได้ขึ้นร้องเพลงโชว์ ระหว่างนั้นเขาก็ฝึกตีกลองชุดไปด้วย

sak siam 06

บุญชื่น เสนาลาส โปรดปรานการร้องเพลงลูกทุ่งอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ อย่างเพลง ลาก่อนบางกอก และ ลาน้องไปเวียดนาม และเสียงของเขาก็เป็นที่จับใจของคนในหมู่บ้านที่ได้ฟังทุกครั้งไป

ในยามที่วงไม่มีงาน เขาก็จะติดตามพี่ชายอีกคนที่เป็นหมอลำไปกับ คณะทองดีพัฒนา ของบ้านนานกเขียน ต่อมาพี่ชายย้ายไปอยู่ คณะสุภีร์คะนองศิลป์ ที่ขอนแก่น เขาก็ติดตามไปเช่นเดิม และซึมซับเอาศิลปะหมอลำไปไม่น้อย แต่ที่คณะนี้เขาได้เข้าร่วมวงในฐานะมือกลอง โดยได้ค่าตัวคืนละ 50 บาท เขากับพี่ชายอยู่ที่นี่ได้ราว 1 ปีก็กลับมาอยู่กับ หมอลำคณะขวัญใจจักรวาล ที่บ้านเกิด โดยรับหน้าที่มือกลองเช่นเคย แต่มีโอกาสได้ร้องเพลงบ้าง เขาอยู่ที่นี่ 2 - 3 ปี

จากนั้นได้ย้ายมาอยู่กับ หมอลำคณะเพชรสยาม ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจบันเทิงของ เทพบุตร สติรอดชมพู โดยศักดิ์สยามยังคงรับหน้าที่ตีกลองและร้องเพลงบ้างเช่นเดิม แต่ได้ค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นเป็นคืนละ 70 บาท เขาอยู่ที่นี่อีกราว 2 - 3 ปี

ต่อมา บุญชื่น รื่นฤดี ซึ่งเป็นชื่อของเขาในการทำหน้าที่ร้องเพลงขัดตาทัพในวง ก็ถูกชวนให้ย้ายมาอยู่ใน คณะหมอลำรังสิมันต์ วงหมอลำที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นนำโดย หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน หมอลำทองคำ เพ็งดี และน้องใหม่ หมอลำบานเย็น รากแก่น แต่วงนี้ก็ยังอยู่ในเครือของ เทพบุตร สติรอดชมพู เช่นกัน โดยในยุคนั้น วงรังสิมันต์ มีการเปลี่ยนแปลงจากวงหมอลำแท้ๆ มาเป็นวงหมอลำ-ลูกทุ่ง เพื่อขยายตลาดไปยังภาคอื่นๆ ที่นี่ ศักดิ์สยาม ยังคงทำหน้าที่มือกลองและร้องเพลงเช่นเดิมทุกประการ

sak siam 03

ในยุคนั้น บางครั้งวงรังสิมันต์ ก็ต้องแปลงร่างไปเป็นวงดนตรี “จิระ จีรพันธุ์“ เจ้าของเพลงดัง เศรษฐีขายขี้กระบอง ด้วย เพราะว่า วงดนตรีจิระ จีรพันธุ์ ก็อยู่ในเครือข่ายธุรกิจของเทพบุตร สติรอดชมพู เช่นกัน แต่ในการแสดงวันหนึ่ง ตัวหัวหน้าวงเกิดมาไม่ทันการแสดง วงจึงเปิดการแสดงไปก่อนโดยใช้ชื่อวงอื่นแทน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับหัวหน้าวงผู้มาสายอย่างมาก จึงเกิดการอาละวาดต่อหน้า เทพบุตร สติรอดชมพู เขาจึงมีคำสั่งดอง จิระ จีรพันธุ์ และดันเอา ศักดิ์สยาม ให้ขึ้นมาแทน โดยได้ยื่นกระดาษให้แผ่นหนึ่งโดยบอกให้เอาไปท่อง ซึ่งในกระดาษดังกล่าวก็คือเนื้อเพลง "ตามน้องกลับสารคาม" ที่เตรียมเอาไว้ให้ จิระ จีรพันธุ์ สำหรับการบันทึกแผ่นเสียงนั่นเอง

ตามน้องกลับสารคาม เพลงสร้างชื่อให้ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู

ไม่กี่วันถัดมา เขาก็เข้าเมืองหลวงเพื่ออัดแผ่นเสียงที่ ห้องอัดของห้างแผ่นเสียงศรีกรุง ถึง 6 เพลงรวด ซึ่งหาได้ไม่ค่อยได้บ่อยนักสำหรับนักร้องหน้าใหม่ 6 เพลงดังกล่าวก็คือ ตามน้องกลับสารคาม,  เสน่ห์สาวเวียงจันทน์, ธิดากัมปงจา, คิดฮอดอย่างแฮง, คุยเขื่อง และ เศรษฐีขายขี้กระบอง งานนี้ เขาหันมาใช้ชื่อใหม่ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู ตามที่ เทพบุตร สติรอดชมพู ตั้งให้

จากนั้นไม่นาน เพลงตามน้องกลับสารคาม ก็ฮิตติดหูแฟนเพลงในภาคอีสานตามที่หวังกันไว้ จึงมีการตั้ง วงดนตรีศักดิ์สยาม เพชรชมพู ขึ้นรองรับความดังทันที ความโด่งดังของเขา สามารถกลบความดังของวงหมอลำในเครือของเทพบุตร สติรอดชมพูเสียหมดสิ้น ภายในปีเดียว ความดังของเขาก็ติดลม เมื่อเข้าไปเปิดการแสดงในกรุงเทพฯ ที่สนามมวยลุมพินี ก็เกิดปรากฏการณ์เวทีแตกแฟนๆ มาฟังและต้องการเห็นหน้านักร้องที่ร้องเพลง ตามน้องกลับสารคาม มีหน้าตาเป็นอย่างไร มีการบันทึกเสียงเพิ่มเติมต่อมาอีกหลายเพลง และก็ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ คักใจเจ้าแล้วบ่, สัญญาเดือนสาม และอื่นๆ

sak siam 05

วงดนตรีศักดิ์สยาม เพชรชมพู ในยุคนั้น ถือเป็นวงดนตรีอีสานวงแรก ที่มีรูปแบบเป็นลูกทุ่งมาตรฐาน โดยไม่ต้องอาศัยหมอลำมาเรียกความนิยมเช่นแต่ก่อน และความนิยมที่ได้รับก็ทำให้วงนี้กล้าประชันวงกับ สายัณห์ สัญญา ที่กำลังดังจากเพลง ลูกสาวผู้การ และรักเธอเท่าฟ้า ส่วนเรื่องรายได้จากการเก็บค่าผ่านประตู ก็เคยทำสถิติมาแล้วในการแสดงที่เวทีมวยลุมพินี ซึ่งในยุคโด่งดังมี ดาว บ้านดอน และ เทพพร เพชรอุบล ก็เคยมาร่วมงานกับวงนี้ด้วยเช่นกัน

sak siam 01แต่ในด้านรายได้ในฐานะหัวหน้าวงตัวปลอม ศักดิ์สยาม มีรายได้แค่คืนละ 400 บาทเท่านั้น ไม่ว่าวงจะเปิดการแสดงวันละกี่รอบก็ตาม ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเล็กน้อยอีก 100 บาท เรื่องนี้สร้างความอึดอัดให้กับตัวนักร้องอย่างมาก แม้ว่า วิเชียร สติรอดชมพู ซึ่งเป็นน้องชายของเทพบุตร จะแอบมุบมิบยัดเงินช่วยเหลือศักดิ์สยามอยู่บ้างในหลายๆ ครั้ง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ศักดิ์สยาม ก็ถึงขั้นหลบหนีออกจากวงไป แต่ก็ถูกตามตัวกลับมา ซึ่งจากความอึดอัดเรื่องรายได้ ซึ่งก็ทำให้ทั้ง ดาว บ้านดอน และ เทพพร เพชรอุบล ต่างก็แยกตัวออกไปจากวงเช่นเดียวกัน

ต่อมา เทพบุตร สติรอดชมพู หันไปทุ่มเทกับ บานเย็น รากแก่น เพื่อให้เป็นนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ขณะที่ความนิยมในศักดิ์สยามก็เริ่มลดลง และหลังยุคเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ และ อ.ส. รอรัก ผลงานของ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ความบาดหมางระหว่างหัวหน้าวงตัวปลอมกับหัวหน้าวงตัวจริง (เทพบุตร) จากเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ปรากฏออกมาเรื่อยๆ

จนในที่สุด ในปี 2521 ศักดิ์สยาม เพชรชมพู ก็แยกตัวออกมา และได้เปลี่ยนวงรัตนวาริน วงดนตรีโนเนมแถวสระบุรีให้เป็น วงศักดิ์สยาม เพชรชมพู โดยมีเสี่ยคนหนึ่งเป็นนายทุนให้ ที่นี่เขามีรายได้วันละ 1,200 บาท และเปิดการแสดงครั้งแรกในวันขึ้นปีใหม่ปี 2522 ที่สระบุรี วงของเขาออกเดินสายเฉพาะเขตจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออก

เนื่องจากเครือข่ายของวงไม่กว้างขวางพอ สำหรับการเดินสายแสดงไปทั่วประเทศ เขาเดินสายจนถึงปี 2525 ชื่อเสียงก็เริ่มจางหายจนเกือบหมด พี่ชายจึงชวนออกมาตั้งคณะหมอลำชื่อ เพชรเม็ดเยี่ยม ศักดิ์สยาม จากนักร้องจึงถูกแปลงไปเป็นพระเอกหมอลำ แต่การที่เป็นนักร้องที่ใช้เสียงสูง เมื่อมาเป็นหมอลำที่ต้องใช้เสียงต่ำลงมา ทำให้เขาเกิดความอึดอัด ก็เลยประกาศเลิกเป็นหมอลำ ต่อหน้าแฟนหมอลำที่มาชมการแสดง เมื่อเดือนเมษายน 2525 ก่อนที่จะหันมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็น นักร้องรับเชิญตามห้องอาหาร และผลิตผลงานใหม่ออกมาบ้างตามโอกาส

เคยเข้าไปร่วมงานในยุคท้ายๆ กับวงดนตรีเพชรพิณทอง ของ นพดล ดวงพร (ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2542-2543) พร้อมกับ เหลือง บริสุทธิ์ และ ร้อยเอ็ด เพชรสยาม

ศักดิ์สยาม เพชรชมพู (บุญชื่น เสนาลาด) ศิลปินมรดกอีสาน พ.ศ.๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รางวัลเกียรติยศ

  • ได้รับโล่ห์เกียรติยศจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และอื่นๆ อีกมากมายในฐานะนักร้องและวงดนตรีที่อุทิศตนช่วยเหลืองานการกุศลต่างๆ
  • ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ผู้ขับร้องเพลงลูกทุ่งดีเด่น (เพลงทุ่งกุลาร้องให้ ผลงานของ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ) เป็นมรดกแกว่งลูกทุ่งไทย จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ซึ่งเป็นรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2534
  • ได้รับเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2552 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทุ่งกุลาร้องไห้ - ศักดิ์สยาม เพชรชมภู (กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2)

ผลงานเพลงดัง

คักใจเจ้าแล้วบ่, สัญญาเดือนสาม, ตามน้องกลับสารคาม, เสน่ห์สาวเวียงจันทน์, ขันหมากลูกกำพร้า, คิดฮอดอย่างแฮง, รวมอักษร, ช่างหัวมันเถาะ, เซียงบัวล่องกรุง, เสียงซอ, คุยเขื่อง, ธิดากัมปงจา, นัดตีสี่, เจ็บๆ แสบๆ, อย่าไปตามดวง, ร้องไห้ทำหยัง, จดหมายรักฉบับแรก, คงมีสักวัน, หงส์ปีกหัก, กอดหมอนนอนหนาว, ตามน้องทั่วอีสาน, แอมจ๋า, ฮักสาวรำวง, หัวใจแหว่ง, อย่าเห็นกันดีกว่า, ผิดด้วยหรือที่เกิดมาจน, นักร้องกลัวเมีย, สาลิกาหลายรัง, แคนสะกิดสาว, ศักดิ์สยามเดินกลอน, ศักดิ์สยามกราบแฟน, พระพรหมช่วยที, วาสนาอ้ายน้อย, จากบ้านนาด้วยรัก, อาลัยสาวเรณู, น้ำในคลอง

sak siam 02

งานนี้ต้องขอขอบคุณอย่างสูงสำหรับข้อมูล จากหนังสือ อีสานคดีชุดลูกทุ่งอีสาน ประวัติศาสตร์อีสานตำนานเพลงลูกทุ่ง เขียนโดย แวง พลังวรรณ และภาพจากผู้ใจบุญในอินเตอร์เน็ต

ที่มา : คันทรี่แมน

เพลง อ.ส. รอรัก ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู

redline

backled1

mp3

roong fah 01รุ่งฟ้า กุลาชัย

ขุนพลลำแพน เจ้าพ่อขุนแผนลำเพลิน

รุ่งฟ้า กุลาชัย มีชื่อจริงว่า นายทรงรัฐ อ่อนสนิท เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2502 ที่บ้านบึงแก ตำบลบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาศิลปกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเพาะช่าง และระดับปริญญาโท ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ

นายทรงรัฐ อ่อนสนิท ใช้นามในการแสดงว่า "รุ่งฟ้า กุลาชัย" เป็นผู้ที่ชื่นชอบการลำและร้องเพลงมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย เมื่อมีงานแสดงในโรงเรียนหรือตามหมู่บ้านมักได้เป็นผู้นำในการแสดงอยู่เสมอ เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับประกศนียบัตรวิชาชีพ แผนกวิจิตรศิลป์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้เดินทางมาศึกษาต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง ในกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้นได้ก่อตั้ง "ชมรมอีสาน" ขึ้นเป็นคณะหมอลำเล็กๆ รับแสดงตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่ง คุณพยุง ช่ำชอง (นักจัดรายการวิทยุ) ได้ให้โอกาสบันทึกแผ่นเสียงชุดแรก สังกัด บริษัทออนป้า ในปี พ.ศ. 2522 คือชุด "ลำแมงตับเต่า" ในนามว่า "รุ่ง ดาวอีสาน" จนได้รับฉายานามว่า "แมงตับเต่าตัวแรกของเมืองไทย"

แมงตับเต่า ขับร้องโดย รุ่ง ดาวอิสาน (รุ่งฟ้า กุลาชัย) สุปราณี ศรีสุพัฒน์

roong fah 02

โดยมี อาจารย์สมัย อ่อนวงศ์ เป็นผู้เป่าแคนให้ ส่วนนักร้องที่ลำคู่กันคือ "บานเย็น รากแก่น" และ "ปริศนา วงศ์ศิริ" ต่อมาได้เปิดวงดนตรีหมอลำชื่อคณะ "อีสานบันเทิง" และเปลี่ยนชื่อการแสดงมาเป็น "รุ่งฟ้า กุลาชัย" ผลงานที่เป็นที่รู้จักคือ อัลบั้มชุด "เก่งต้องไปชายแดน" "อ่านจดหมายที่ชายแดน" "ลำเพลินขุนแผนเป่ามนต์เสน่ห์จันทร์" "ฮักอ้ายใกล้เป็นเศรษฐี" เป็นต้น

roong fah 03

กระทั่งสื่อมวลชนขนานนามว่า "ขุนพลลำแพน เจ้าพ่อขุนแผนลำเพลิน" นอกจากนั้นยังเคยออกอัลบั้มร่วมกับ "อังคนางค์ คุณไชย" ชื่อ "อำพาอำพอง" และได้มีโอกาสไปเผยแพร่ศิลปะการลำเพลินให้เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ ทั้งทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย

เมื่อครั้งก่อตั้ง ชมรมอีสาน สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา รุ่งฟ้า กุลาชัย มีบทบาทสำคัญในการร้องลำกล่อมขวัญทหาร และตำรวจตระเวนชายแดน รวมทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัจจุบันยังเป็นผู้มีบทบาทในการอนุรักษ์การร้องลำในลีลาลำเพลิน โดยรับสอนและแนะแนวทางต่างๆ แก่ผู้ที่สนใจศิลปะแขนงนี้ ด้วยจิตสำนึกอนุรักษ์การลำเพลินให้คงอยู่ต่อไป รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดยโสธร จนได้รับเกียรติคุณเป็น "คนดีศรียโสธร"

roong fah 04

นายทรงรัฐ อ่อนสนิท หรือ รุ่งฟ้า กุลาชัย นับเป็นผู้มัผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม นำวรรณคดีไทยโบราณมาผสานกับกลอนลำอย่างลงตัว ดังปรากฏในงานซึ่งเกี่ยวเนื่องกับตัวละครขุนแผน จึงได้รับการเชิดชูเกียรตืให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน ประจำปี พ.ศ. 2557 สาขาศิลปะการแสดง (ลำเพลินประยุกต์) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ลำเพลิน ขุนแผนสะท้านโลก โดย รุ่งฟ้า กุลาชัย

roong fah 05

 เปิดดู รุ่งฟ้า กุลาชัย ในรายการ "ไมค์ทองคำ หมอลำฝังเพชร" ที่นี่

รุ่งฟ้า กุลาชัย - ซุปเปอร์หม่ำ

redline

backled1

art local people

bampen na ubon 01นายบำเพ็ญ ณ อุบล

นายบำเพ็ญ ณ อุบล เป็นบุคคลสำคัญของชาวจังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นผู้อนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของเมืองอุบลราซธานี เป็นหนึ่งผู้อาวุโสที่ชาวอุบลราซธานีรักและศรัทธา เป็นต้นแบบและแบบอย่างที่ดีของการเป็นผู้รักถิ่นฐานบ้านเกิด ภาคภูมิใจในกำเนิดของตน มีผลงานด้านการอนุรักษ์และสืบสานเกี่ยวกับจารีตประเพณี พิธีกรรม และขบบธรรมเนียมของอีสานอย่างจริงจัง จนได้รับการยกย่องเป็น “ปราชญ์เมืองอุบล”

หากจะนับลำดับญาติกันแล้ว ผู้เขียนต้องเรียกท่านว่า "คุณตาบำเพ็ญ ณ อุบล" เพราะท่านเป็นญาติฝ่ายแม่ยายของผู้เขียน โดย แม่เกษา ธานี (แม่ยายผม) ท่านเรียก คุณตาบำเพ็ญ ว่า พี่ชาย ส่วนจะเป็นญาติโยงกันตรงไหนนั้น แม่ยายเคยเล่าให้ฟังว่า ได้รับการเลี้ยงดูให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในคุ้มบ้านเดียวกัน แต่ผมก็ลืมไปหมดแล้ว ผมเคยได้รับใช้ท่านหลายครั้งในการขับรถรับ-ส่งท่าน เพื่อไปร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งในพิธีกรรมเลี้ยงบรรพบุรุษของเมืองอุบลฯ

คุณตาบำเพ็ญ ณ อุบล (ท้าวดอกหมาก) หรือบางคนเรียกท่านว่า ท่านอัยการบำเพ็ญ เกิดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2469 ณ บ้านคุ้มหลวง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายปราง (ท้าวบุญมุง) และนางพริก ณ อุบล (สกุลเดิม ทองพิทักษ์) นับว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเจ้านายเมืองอุบลโดยตรง ในวัยเด็กท่านได้ใกล้ชิดกับปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายอาญาสี่ หรือเจ้าเมืองอุบลในอดีต ทำให้ท่านได้ซึมซับรับรู้ประวัติศาสตร์ องค์ความรู้ของบรรพชนเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม

เมื่ออายุครบเกณฑ์ที่จะเล่าเริยน บิดาไต้นำไปฝากเริยนหนังสือ ก-ข ก-กา กับพระอธิการวัดสด ภู่หนู เจ้าอาวาสวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของเมืองอุบล จนกระทั่งอ่านออก เขียนได้ บวกเลขได้ บิดาจึงพาไปเข้าเริยนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่วัดบ้านท่าข้องเหล็ก อำเภอวารินชำราบ จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ โรงเรียนวัดศรีทอง แล้วย้ายมาเรียนที่ โรงเรียนเบญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จนจบชั้นสูงสุด หลังจากนั้นแล้วเข้าศึกษาต่อใน โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (รุ่นเฉพาะกิจที่ย้ายมาทำการเรียนการสอนที่อุบลราชธานี เนื่องจากเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2) หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อใน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบปริญญาตรีธรรมศาสตรบัณฑิต ใน พ.ศ. 2495 เข้ารับการฝึกอบรมในสำนักอบรมกฎหมายเนติบัณฑิต กระทรวงยุติธรรม สำเร็จเป็น เนติบัณฑิตไทย ในปี พ.ศ. 2506 (สมัยที่ 15)


ประวัติคุณตาบำเพ็ญ ณ อุบล

ขณะเรียนได้ทำงานเป็นเสมียนที่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปด้วย เมื่อเรียนจบปริญญา สอบเนติบัณฑิตยสภาได้แล้ว ย้ายไปรับราชการที่ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โอนไปเป็น อัยการประจำกรมอัยการ กรุงเทพมหานคร และย้ายไปประจำตามหัวเมืองทางภาคอีสาน เช่น จังหวัดยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง อัยการฎีกา เขต 4 จังหวัดขอนแก่น ปี พ.ศ. 2530 การทำงานในส่วนภูมิภาคทำให้ต้องออกไปสัมผัสและคลุกคลีกับชุมชนนอกตัวเมือง ทำให้เข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการดำรงรักษาขนบธรรมเนียมของชาวอีสาน ที่สืบทอดมาจากปู ย่า ตา ยาย สู่รุ่นลูกหลานไต้อย่างกลมกลืน ท่านได้สมรสกับ นางรัตนา ณ อุบล (สกุลเดิม แต้ศรี) มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน เป็นชาย 2 คนและหญิง 2 คน

bampen na ubon 02
รำดาบในขบวนแห่ "บุญบั้งไฟยโสธร"

เมื่อท่านเกษียณอายุราชการ ท่านได้มืโอกาสทบทวนวิเคราะห์ ศึกษาในเรื่องปรัชญา ศาสนา และประเพณีอีสานอย่างจริงจัง เมื่อค้นพบได้ทำการสอบทาน ถ่ายทอดให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประซาซนผู้สนใจทั่วไป จนได้รับการยกย่องให้เป็น “เจ้าโคตรเมืองอุบล" ไดํใช้ความรู้ความสามารถถ่ายทอด พร้อมทั้งปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการประกอบพิธีต่างๆ ท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณี ฮีตบ้าน คองเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประเพณีการแห่เทียนพรรษา การเลี้ยงมเหสักข์หลักเมือง บุญบั้งไฟ การทำศพเมรุนกหัสดีลิงค์ การบวงสรวงเจ้าคำผง ซึ่งนับว่าท่านเป็นผู้ทรงภูมิรู้อย่างยิ่ง

bampen na ubon 06
งานเลี้ยงมเหสักข์หลักเมืองอุบลราชธานี "วีรกรรมเจ้าคำผง"

นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้อุตสาหะรวบรวม เก็บรักษาสมบัติคูณเมืองของต้นตระกูล ณ อุบล เอาไว้อย่างหวงแหนรู้ค่า เป็นต้นว่า เครื่องเกียรติยศเจ้าเมือง ผ้าไหมโบราณ (กาบบัว ผ้าดิ้นเงิน ดิ้นทอง) หอก ดาบ ศาตราวุธโบราณ และพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ

ผู้เขียนเองไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน ได้ยินแต่ชื่อท่านจากเวทีการสัมมนาทางวิชาการด้านวัฒนธรรม จนวันหนึ่ง แม่ยายชวนผมให้ไปร่วมงานการทำบุญเลี้ยงมเหศักดิ์หลักเมืองของท่าน ที่บ้านพักในอุบลราชธานี (เมื่อ 30 ปีที่แล้ว) ได้พบเห็นสิ่งของมีค่าต่างๆ ที่ท่านได้สะสมไว้ เห็นพิธีกรรมในอดีตที่น่าสนใจที่ท่านพาลูกหลานกระทำเซ่นสรวงบรรพบุรุษ และได้รับใช้ท่านอีกหลายครั้ง (ตอนนั้น ผู้เขียนยังไม่ได้คิดและทำเว็บไซต์ IsanGate แห่งนี้) ก็เลยไม่ได้คิดจะรวบรวมบันทึกเป็นภาพถ่ายเก็บไว้ ท่านเคยอ่านสติกเกอร์ที่ผมตัดติดไว้ที่กระจกหลังรถยนต์ส่วนตัว (www.easyhome.in.th, www.isangate.com, www.krumontree.com) และถามว่า "หมายถึงอะไร" เมื่อท่านได้ทราบความหมาย ก็กล่าวอวยพรให้กับผมว่า "ขอให้สำเร็จรุ่งเรืองไปภายภาคหน้า"

bampen na ubon 03
การบวงสรวงอนุสาวรีย์เจ้าคำผง ขอบคุณภาพจาก GuideUbon.com

มาทราบข่าวอีกที เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 จากแม่ยายของผู้เขียนว่า คุณตาบำเพ็ญ ท่านสิ้นแล้ว รวมอายุได้ 86 ปี

คุณแม่เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2553 นั้น ได้เกิดเพลิงไหม้ที่บ้านคุณตาบำเพ็ญ เลขที่ 364 ถนนอุทัยรามฤทธ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาสมบัติมีค่าต่างๆ เอาไว้จนสูญสิ้น แม้ตัวท่านจะไม่ได้รับอันตรายใดๆ แต่เพราะความเสียใจที่ไม่สามารถรักษาสมบัติของบรรพบุรุษเอาไว้ได้ ท่านจึงล้มป่วยต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลยโสธร ก่อนที่จะสิ้นท่านเล่าว่า "เห็นเทวดา นางฟ้าปลอมตัวเป็นหมอพยาบาล เอายามาให้กิน เห็นทีครั้งนี้คงจะไม่รอด" และท่านยังได้สั่งเสียเป็นพินัยกรรมเอาไว้ว่า "เมื่อท่านสิ้นให้จัดงานศพสามวัน ไม่ต้องขอพระราชทานเพลิงศพ เถ้ากระดูกนั้นให้เอาไปลอยที่แม่น้ำมูล"

bampen na ubon 05
การบวงสรวงศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ขอบคุณภาพจาก GuideUbon.com

บรรดาลูกหลานทั้งหลายจึงโจษจันกันว่า บรรพบุรุษท่านคงมาเอาสิ่งของเครื่องใช้สมบัติโบราณเหล่านี้ไป พร้อมทั้งเอาคุณตาไปเป็นผู้ดูแลในภพหน้าพร้อมกัน แม้สมบัติคูณเมืองทั้งหลายจะจมหายไปกับกองเพลิง แต่ผู้เขียนคิดว่า สิ่งที่ท่านทิ้งไว้นั้น คืออนุสรณ์แห่งความดีงาม องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่ท่านถ่ายทอดไว้ ทำให้เกิดความซาบซึ้ง และภาคภูมิใจในฐานะที่เกิดเป็นคนเมืองนักปราชญ์อุบลราชธานี ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่อเนื่องยาวนาน

bampen na ubon 04
การบวงสรวงศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ขอบคุณภาพจาก GuideUbon.com

ในฐานะบุตรหลานผู้หนึ่งข้าพเจ้า ขอให้ท่านไปสู่ภพภูมิอันเกษม เป็นมเหสักข์หลักบ้านใจเมือง คุ้มครองลูกหลานชาวอุบล ให้ปักกุ่มชุ่มเย็น ยาวนานเทอญ "

ผลงาน

เป็นนักอนุรักษ์โดยวิญญาณและสายเลือด ความรักซาบซึ้งในความเป็นอีสาน เกิดจากความภาคภูมิใจในตระกูล "ณ อุบล" อันเก่าแก่ของตนซึ่งสืบทอดมาแต่ครั้งพระวอ พระตา และพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) บรรพบุรุษผู้สร้างเมืองอุบลฯ ได้เก็บรักษาทรัพย์สินทุกชิ้นที่เป็นมรดกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นผ้าปูมเก่า หอก ดาบ กาน้ำ แหย่งช้าง วรรณกรรมใบลาน นายบำเพ็ญจะค่อยๆ บรรจงเก็บ ปะ ชุน ซ่อมแซมสิ่งเหล่านี้ให้คงสภาพเดิม ไม่เพียงแต่อนุรักษ์เท่านั้น ท่านยังศึกษาประวัติความเป็นมาของแต่ละสิ่งละอย่าง อย่างละเอียดอีกด้วย มีความสนใจในประวัติศาสตร์โบราณคดี คติชนวิทยาและวรรณกรรมอีสาน นับเป็นบุคคลที่รอบรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีสานคนหนึ่ง

bampen na ubon 07
อนุสาวรีย์ท้าวคำผง ขอบคุณภาพจาก GuideUbon.com

ผลงานที่สำคัญ คือ การฟื้นฟูประเพณีแห่บั้งไฟของจังหวัดยโสธร จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวจังหวัดยโสธร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ของจังหวัดอุบลราชธานี คือ เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) เจ้าเมืองอุบลคนแรก เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์สิริจันโท (จันทร์) เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (ติสสมหาเถร อ้วน) ให้ความรู้ แนะนำและฟื้นฟูการทำพิธีศพโบราณ เมรุนกหัสดีลิงค์แก่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้มอบสิ่งของที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากแก่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุบลราชธานี และเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมอีสาน ไม่เคยหวงแหน

ตลอดจนเป็น "วิทยากรกฎหมายชาวบ้าน" อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และอามิสสินจ้าง สิ่งที่นายบำเพ็ญภูมิใจมาก คือ การได้เป็นผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ต่อดวงวิญญาณของเจ้าหน่อกษัตริย์ (เจ้าสร้อยสินสมุทรพุทธางกูร) ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรจำปาศักดิ์ ผู้ถือเป็นมเหศักดิ์ประจำเมืองอุบลราชธานี โดยได้ทำหน้าที่เป็นร่างทรงประทับทรงของเจ้าหน่อกษัตริย์ "เสด็จเจ้าหอคำ" ตามความเชื่อถือของชาวอุบลราชธานีในอดีต ในงานประเพณีที่สำคัญ เช่น งานแห่เทียนเข้าพรรษา พิธีเลี้ยงมเหศักดิ์หลักเมือง

bampen na ubon 08
เมรุนกสักกะไดลิงค์ หรือ นกหัสดีลิงค์

ผลงานหรือเกียรติคุณที่ได้รับ

  • พ.ศ. 2533 "นักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น" จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • พ.ศ. 2535 ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานสาขา “ประเพณีและพิธีการ พิธีกรรม’’ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม
  • พ.ศ. 2537 “คนดีศรีเมืองยศ’’ จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร
  • พ.ศ. 2537 ผู้ชนะการประกวดผ้าประเภทที่ 1 “ผ้าโบราณดีเด่น’’ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2537 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2543 ประกาศเกียรติคุณผู้ให้การอนุรักษ์สืบทอดและจรรโลงมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย จากกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2544 ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขามนุษย์ศาสตร์ จากสำนักงาน คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2545 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี จากสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
  • พ.ศ. 2548 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

bampen na ubon 09
เมรุนกสักกะไดลิงค์ หรือ นกหัสดีลิงค์

เรื่องเล่า "ผ้ากาบบัวอุบลราชธานี"

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)