คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ในวงการหมอลำ หรือลูกทุ่งหมอลำ เมื่อกล่าวถึงหมอลำดังยุคขุนพลลำเพลินอย่าง ทองมี มาลัย รุ่งโรจน์ เพชรธงชัย พิมพ์ใจ เพชรพลาญใจ แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงพระเอกหมอลำอีกคน ที่ชื่อ สนธยา กาฬสินธุ์ เป็นแน่แท้ มาวันนี้พระเอกคนนั้นหายไปไหน? แฟนๆ ถามหากันมามาก จนผู้เขียนต้องตามหาอยู่นานทีเดียว แล้ววันหนึ่งผมก็พบเธอ เอ๊ะ! หรือ เขา หรือ พระเอกคนนั้นในอดีตในรายการ "ไมค์ทองคำหมอลำฝังเพชร" ที่เขา... เปลี่ยนไปเป็นเธอแล้ว
นายวิเชียร สาระวัน หรือที่แฟนๆ รู้จักกันในชื่อ สนธยา กาฬสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2500 ปัจจุบันอายุ 63 ปี เป็นชาวอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
เริ่มต้นเข้าวงการด้วยการเป็นพระเอกหมอลำ และหัวหน้าวง สนธยา กาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ. 2518 ก่อนจะย้ายตัวเองไปอยู่ คณะเพชรอุดร โลดแล่นอยู่ในวงการหมอลำนานหลายปี เคยเป็นหางเครื่อง วงดนตรีทิดโสลำเพลิน ของ ทิดโส สุดสะแนน (ครูสุรินทร์ ภาคสิริ) นักจัดรายการวิทยุชื่อดังในสมัยนั้น ครูสุรินทร์เห็นว่าหน่วยก้านดี มีน้ำเสียงใช้ได้จึงถูกชักชวนมาเป็นนักร้องในวงดนตรี ครูสุรินทร์จึงแต่งเพลงให้และได้บันทึกแผ่นเสียงผลงานเพลงแรกคือ "ชมสาวโรงงาน" แต่มาดังจนเป็นที่รู้จักในชื่อ สนธยา กาฬสินธุ์ กับผลงานเพลงในชุด "ฮักสาวผมเปีย" การประพันธ์ของ อาจารย์กาดำ (สมบัติ พรมวิชัย) ในช่วงนี้มีเพื่อนสนิทในวงมาบอกกับครูสุรินทร์ว่า "สนธยา ออกอาการกระตุ้งกระติ้งเหมือนผู้หญิง" ครูสุรินทร์จึงสั่งห้ามไม่ให้ออกอาการ เพราะจะมีผลต่อแฟนเพลงขาดความเชื่อถือ ในช่วงที่กำลังมีชื่อเสียง สนธยา กาฬสินธุ์ ช่วงหลังออกมาทำวงดนตรีของตนเอง รับงานแสดงทั่วภาคอีสาน มีผลงานต่อเนื่องมาตลอดรวม 13 อัลบั้ม
(ภาพซ้าย) เทพพร เพชรอุบล, สนธยา กาฬสินธุ์, ทองมี มาลัย
(ภาพขวา) ช่วงตั้งวงดนตรี สนธยา กาฬสินธุ์ ในภาพมี จันทร์เพ็ญ ศิริเทพ, สุมาลี ป้องเขต มาเป็นนางเอกให้
ด้วยวัยหนุ่ม 20 ปีเศษๆ ที่ต้องรับภาระดูแลลูกวงนับร้อยชีวิต เกิดความกดดัน เบื่อหน่ายจึงได้ตัดสินใจยุบวง หลังจากการยุบวงก็ไปอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำการเกษตรตามฮีตคองพ่อ-แม่อยู่สักพัก ก็ทนเสียงเรียกร้องในหัวใจจากวงการบันเทิงไม่ไหว จนเมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้ตัดสินใจผันตัวเองไปเป็นนักร้องอิสระในร้านอาหาร ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าตัวทำหน้าที่และบทบาทของนักร้องลูกทุ่งหมอลำชาย สไตล์พระเอกรูปหล่ออยู่นานหลายปี
จนอยู่มาวันหนึ่งในร้านอาหารจัดให้มีโชว์ ลำเรื่องต่อกลอน แต่หาผู้แสดงหญิงไม่ได้ จึงอาสาเป็น "หญิง" ในการแสดง ทำให้รู้ว่า นี่คือตัวตนที่แท้จริงของตนเองที่หามานาน จากพระเอกหมอลำรูปหล่อก็กลายมาเป็นหมอลำสาวตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ นานกว่า 20 ปี
รายการเพชรรามา CH3 | สนธยา กาฬสินธุ์
นายวิเชียร สาระวัน หรือ สนธยา กาฬสินธุ์ เป็นหมอลำสาวประเภทสอง ที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมอีสานมาตลอดชีวิต การทำงานกว่า 40 ปี ในวงการการแสดง คือ หมอลำ นำเสนอสู่ผู้ชม ผู้ฟัง และถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับชมรับฟัง แม้จะเป็นสาวประเภทสองแต่ไม่เคยทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงอีสาน และผู้หญิงไทยเสื่อมเสีย ยังอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมอีสาน พร้อมกับสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างต่อเนื่องและดีงาม
รวมไปถึงได้ใช้ความสามารถด้านการปลุกเร้า ปลอบโยน ให้กำลังใจ สาวประเภทสองที่มีปัญหาชีวิต จนได้รับการยกย่องและได้รับเสียงชื่นชมมาตลอด 10 ปี ในฐานะแม่พระและที่พึ่งของสาวประเภทสองที่ทำงานอยู่ต่างบ้าน ต่างถิ่น โดยเฉพาะในดินแดนราตรีเมืองที่ไม่เคยหลับอย่างเมืองพัทยา โดยทุกคนเรียกขานว่า "แม่สน" "ป้าสน" หรือ "ยายทุม" ก็มี
รายการชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ThaiPBS : หมอลำข้ามเพศ
นอกจากนั้น นายวิเชียร สาระวัน หรือ สนธยา กาฬสินธุ์ ยังมีความกตัญญูต่อถิ่นฐานบ้านเกิด พร้อมกลับไปช่วยงานบุญ งานบวช งานประเพณีที่สำคัญของชุมชนอยู่มิได้ขาด ทั้งกฐิน ผ้าป่า ของเหล่าญาติพี่น้องอย่างสม่ำเสมอ และยังทำหน้าที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของอีสานเสมอมา รวมทั้งการเป็นพิธีกร วิทยากรให้ความรู้ในด้านต่างๆ
จน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ยกย่องให้เป็น ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาสื่อสารวัฒนธรรม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา
แฟนๆ ทั้งเก่าและใหม่สามารถติดตามข่าวสารของนักร้อง-หมอลำ สนธยา กาฬสินธุ์ ได้ทางสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ที่ยังโพสท์ความเคลื่อนไหวด้วยตนเอง อย่างสม่ำเสมอ และท่านที่สนใจติดต่องานแสดงก็ติดต่อที่ โทรศัพท์. 084-551-1216 หรือช่องทาง Facebook : สนธยา กาฬสินธุ์
เส้นทางชีวิต!! สนธยา กาฬสินธุ์ อดีตพระเอกหมอลำดัง กลับใจมาเป็นนางเอก
นอกจากนี้ พระเอกหมอลำชื่อดังในอดีต สนธยา กาฬสินธุ์ หรือ นางเอกหมอลำในปัจจุบันนี้ยังคงคิดถึงแฟนๆ และอยากให้ระลึกถึงกัน คิดถึงความหลังครั้งเก่าๆ จึงได้สร้างช่องใน Youtube ชื่อ สนธยา กาฬสินธุ์ ขึ้นมาเพื่อนำคลิปหมอลำและเพลงเก่าๆ มานำเสนอ รวมทั้งกลอนลำใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาให้ได้รับฟังกัน โปรดไปกดติดตาม สับตะไคร้ เอ้ย Subscribe กันได้เลยครับ
ลำล่อง อรหันต์ในบ้าน ศิลปิน สนธยา กาฬสินธฺุ์
เพลงลูกทุ่งและหมอลำ นับเป็นความบันเทิงที่คู่กันกับชีวิตของฅนอีสานอย่างแท้จริง มีศิลปินตัวจริงของชาวอีสานมากหน้าหลายตา ที่เข้าไปครองใจคนฟังทั้งประเทศ ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ ครึกครื้น เนื้อหากินใจ ตรงใจของหลายๆ คน เพราะการพูดอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม สะท้อนการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ : ตำนานเพลงลูกทุ่งและหมอลำ ] (แยกไปเป็นอีกบทความ จะปรับเนื้อหาแล้วมันยาวเกินไปครับ)
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวประวัติ และเรื่องราวของบรรดาศิลปินลูกทุ่งอีสาน อาจจะยังไม่ครบถ้วน เพราะมีเกิดใหม่ประดับวงการมากมายทุกวัน ใครมีข้อมูล/ภาพประกอบของศิลปินในดวงใจ อยากจะเผยแพร่บันทึกไว้ก็ส่งกันมาได้ หรือต้องการจะทราบประวัติและผลงานของนักร้องลูกทุ่งอีสานคนใด ก็บอกกันมาได้ครับ (หมายเหตุ : ไม่ได้เรียงลำดับตามความดังของศิลปิน ความอาวุโส แต่อย่างใด คนไหนมีข้อมูลมาก่อนก็จัดเข้าในเนื้อหาก่อนเท่านั้นเองครับ)
ท่านที่สนใจอยากทราบประวัตินักร้องคนใดก็แจ้งมานะครับ จะพยายามสอบเสาะหามาบอกกล่าวกัน รวมทั้งท่านที่มีข้อมูลของศิลปินท่านใด หรือแม้แต่ศิลปินท่านใด อยากจะแนะนำเผยแพร่ผลงาน-ประวัติของท่าน ก็ส่งข่าวสารเข้ามาถึงทีมงานของเราได้เลยครับ ผ่านช่องทางหน้า Facebook Fanpage หรืออีเมล์ ก็ได้เช่นเดียวกัน (ไม่ถนัดการเขียนบรรยายความก็เรียงลำดับคร่าวๆ มาให้เราเรียบเรียงก็ได้ครับ) ขอบคุณครับ
การผสมผสานดนตรีทั้งสองแนวคือ แนวเพลงลูกทุ่ง และ หมอลำ เข้าด้วยกันในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2510 ได้เปิดเส้นทางสู่ดวงดาวให้กับนักร้องมากมาย เช่น “ศักดิ์สยาม เพชรชมภู” นักร้องชาวมหาสารคาม “ดาว บ้านดอน” นักร้องชาวยโสธร และ “ศรชัย เมฆวิเชียร” นักร้องชาวนครราชสีมา
แต่กระแสวัฒนธรรมอีสานก็เริ่มฟื้นคืนอย่างจริงจัง จนกระทั่งในยุคทศวรรษ พ.ศ. 2520 นักร้องลูกอีสานได้หลั่งไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมลูกทุ่งจำนวนมาก นักร้องที่เป็นที่รู้จักในยุคนี้ เช่น “สรเพชร ภิญโญ” และนักร้องคู่ขวัญ “น้องนุช ดวงชีวัน”
ยังมีนักร้องลูกอีสานมากความสามารถคนอื่นๆ ในเดียวกันยุคนี้ ได้แก่ “เฉลิมพล มาลาคำ” จากสุรินทร์ “พิมพา พรศิริ” จากชัยภูมิ “ทองมี มาลัย” จากยโสธร เจ้าของบทเพลงดัง “ชมรมแท็กซี่” เนื้อหาบทเพลงบอกเล่าชีวิตคนขับรถแท็กซี่ชาวอีสานในกรุงเทพฯ นักร้องคนอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ คือ “ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด” จากร้อยเอ็ด “อรอุมา สิงห์ศิริ” และ “เย็นจิตร พรเทวี” จากขอนแก่น และอีกคนที่สำคัญ “หงษ์ทอง ดาวอุดร” จากอุดรธานี
นักร้องลูกทุ่งจากอีสานในยุคนี้ ต่างเรียนรู้และได้รับการอบรมการร้องเพลงจากครูเพลงคนอีสานรุ่นเก่า อย่าง “สุรินทร์ ภาคศิริ” “สุมทุม ไผ่ริมบึง” และ “ดอย อินทนนท์” ซึ่งเป็นชาวส่วยหรือชาวกูยจากจังหวัดสุรินทร์
“ดอย อินทนนท์” ถือว่าเป็นครูเพลงคนสำคัญ ที่ช่วยสร้างเส้นทางอาชีพนักร้องให้กับ “ศรชัย เมฆวิเชียร” นักร้องดาวรุ่งในยุคนั้น และ “หงษ์ทอง ดาวอุดร” ด้วยการผสมเอาเครื่องดนตรีไฟฟ้ามาเรียบเรียงใช้กับเพลงหมอลำและลูกทุ่ง
ด้วยความสามารถของครูเพลงรุ่นเก่าเหล่านี้ ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ นักร้อง นักดนตรีจากอีสาน เดินทางเข้าสู่อุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่งมากขึ้นเรื่อยๆ พอถึงยุคที่ “สุพรรณ ชื่นชม” เขียนเพลงฮิตตลอดกาลอย่าง “โบว์รักสีดำ” ให้กับ “ศิริพร อำไพพงษ์” ครูเพลงจากภาคอีสาน ก็ได้กลายเป็นผู้นำวงการนักเขียนเพลงของวงการอุตสาหกรรมเพลง และมีการปลุกปั้นนักร้อง นักดนตรี จากภูมิภาคนี้ขึ้นมาอย่างมากมาย
นายสุพรรณ ชื่นชม เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 1 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2495 หมู่บ้านหนองฮาบแห่ ตำบลลุมพุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อปีพุทธศักราช 2507
นายสุพรรณ ชื่นชม เป็นเกษตรกร และนักประพันธ์กลอนลำ เคยได้รับเลือกตั้งให้ตำแหน่ง "ผู้ใหญ่บ้าน" หมู่บ้านหนองฮาบแห่ ได้ฝึกแต่งกลอนลำตั้งแต่ปี 2513 จนมีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถในการคิดค้นกลอนลำต่างๆ เช่น ทำนองอุบล ขอนแก่น กาฬสินธุ์ หรือลำภูไท จนเกิดความแตกฉาน จนกล่าวได้ว่า เป็นผู้ประพันธ์กลอนลำอมตะให้กับศิลปินอีสานหลายผลงาน รวมทั้งเป็นผู้ขัดเกลากลอนลำ และให้คำปรึกษาแก่ คำเกิ่ง ทองจันทร์
ที่สร้างชื่อเสียงเป็นพิเศษ อาทิ กลอนลำเพลินชุด “บักสองซาว” ให้ หมอลำทองมี มาลัย นำมาขับร้องจนประสบผลสำเร็จ และมีชื่อเสียงโด่งดัง แล้วตามมาด้วยชุด “ชมรมแท็กซี่” และชุดอื่นๆ ต่อมา
สร้างชื่อให้ราชินีหมอลําแห่งเมืองร้อยเอ็ด พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย ชุด “สายตาพิฆาต” ประพันธ์กลอนลำทำนองขอนแก่นให้กับ สุบิน นิลวรรณ ในชุด “เมาหนักเพราะรักติ๋ม” เขียนกลอนลำเดิน ลำซิ่ง ให้กับ หมอลำประสาน เวียงสิมา ในกลอน “เมาอุตลุด” จนศิลปินเหล่านั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รวมไปถึงแต่งกลอนลําซิ่งให้กลับ รจนา สารคาม เป็นต้น
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงอีกผลงานหนึ่งที่รู้จักโดยทั่วไป คือกลอนลำ “โบว์รักสีดำ” ที่ขับร้องโดย ศิริพร อำไพพงษ์ เช่นเดียวกับที่แต่งกลอนลำให้กับ รจนา สารคาม ในชุด “เมียผู้ใหญ่บ้าน” จนได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง ในปัจจุบันเป็นเจ้าของวงดนตรีหมอลำชื่อ วีรพล ชื่นชม กล่าวได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญของศิลปินหมอลำ ที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน
ทั้งยังให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ ของจังหวัดยโสธร ในการแต่ง "กลอนลำต่อต้านยาเสพติด" ทั้งยังทำงานเพื่อชุมชน โดยการเข้ารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านนองฮาบแห่ กล่าวได้ว่า เป็นผู้มีผลงานที่มีคุณค่า สร้างศิลปินที่มีชื่อเสียง และสร้างคุณประโยชน์ให้กับบ้านเกิดมาจนถึงปัจจุบัน
นายสุพรรณ ชื่นชม จึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น "ศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์" ประเภทประพันธ์กลอนลำ ประจำปีพุทธศักราช 2552 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สุพรรณ ชื่นชม : ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
ในบรรดา "ศิลปะพื้นบ้านอีสาน" ที่ว่าด้วยความบันเทิง "หมอลำ" เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าอัตลักษณ์หนึ่งของอีสาน หมอลำก็มีหลายแขนง เช่น ลำกลอน ลำเพลิน ลำเรื่องต่อกลอน ลำซิ่ง ฯลฯ บรรดาหมอลำที่เลื่องชื่อจนเป็นระดับตำนานในแต่ละแขนงนั้นมีอยู่ไม่กี่คน หากพูดถึงลำกลอนก็ต้องยกให้ หมอลำเคน ดาเหลา หรือหมอลำถูทา ทองมาก จันทะลือ ที่ต่างก็เป็นศิลปินแห่งชาติ ถ้าประเภทลำเรื่องต่อกลอนก็ต้องยกให้คู่นี้ หมอลำทองคำ เพ็งดี กับ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ซึ่งเป็นคู่พระคู่นางแห่งคณะหมอลำรังสิมันต์
แต่ถ้าเป็น ลำเพลิน ถ้าถามแฟนๆ ชาวอีสานก็ต้องยกให้ ทองมี มาลัย หมอลำเพลินผู้ยิ่งใหญ่แห่งบ้านหนองเลิง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ผู้ทำให้ตู้เพลงในร้านอาหาร และปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส ส่งเสียงลำเพลินชุดบักสองซาว และชมรมแท็กซี่ กระหึ่มเมือง
ผู้สร้างตำนานลำเพลินให้โด่งดังคับกรุงเทพฯ ในกลอนลำชุด ชมรมแท็กซี่ ที่ดังสะเทือนไปทุกหย่อมหญ้า เป็นที่ชื่นชอบของมิตรหมอแคน แฟนหมอลำ ที่พอได้ยินเสียง "เดิน เดิน ชม เจอะชมรมแท็กซี่เจ้าเก่า ดื่มเหล้านั่งอยู่ในร้าน ภัตตาคาร ที่ขาประจำ..." เป็นต้องลุกขึ้นมาฟ้อน ใช่แล้วครับ ผู้ลำกลอนนี้คือ ทองมี มาลัย นั่นเอง
นายทองมี มาลัย ฉายา "ตำนานราชาลำเพลิน" ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการหมอลำอีสานอีกคนหนึ่ง ถือกำเนิดเกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ที่บ้านเลขที่ 2 หมู่ 9 บ้านหนองเลิง ตำบลดงแคนใหญ่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
เล่าเรียนระดับประถมศึกษาจาก โรงเรียนวัดบ้านหนองเลิง ในหมู่บ้าน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่บ้านมีอาชีพทำนาเป็นหลักก็ได้ช่วยทางบ้านทำนา แต่มีความสนใจในการร้องลำมากเป็นพิเศษ
ทองมี มาลัย เริ่มเข้าสู่วงการหมอลำตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยหัดเรียนหมอลำกับครูผัน ศิลาลักษณ์ แห่งคณะหมอลำอีสานลำเพลิน ได้หันมาประกอบอาชีพหมอลำ โดยเป็นพระเอกหมอลำใน คณะอัศวินสองดาว (ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2510) โดยรับบทการแสดงเป็น "ขุนแผน" ในลำนิทานพื้นบ้านเรื่อง "ขุนช้าง ขุนแผน" มีชื่อเสียงจนชาวบ้านขนานนามว่า "ราชาลำเพลิน" จวบจนมีชื่อเสียงในละแวกนั้น จึงได้แยกตัวออกมาตั้งคณะหมอลำเป็นของตัวเอง ชื่อคณะ "ทองมีลำเพลิน"
ประมาณปี พ.ศ. 2513-2514 ทองมี มาลัย ขยับจากหมอลำบ้านนอกมาเป็นหมอลำอัดแผ่นเสียง โดยการชักนำของยอดนักสร้างแห่งยุค เทพบุตร สติรอดชมภู เจ้าของสำนักงานหมอลำชื่อดังแห่งจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งใน พ.ศ. นั้นต้องยอมรับว่า "สำนักงานหมอลำเทพบุตร สติรอดชมภู" เป็นศูนย์รวมหมอลำและนักร้องอีสานที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เพราะมีหมอลำและนักร้องดังในสังกัดมากมาย เช่น หมอลำทองคำ เพ็งดี ฉวีวรรณ ดำเนิน บานเย็น รากแก่น แห่งคณะรังสิมันต์ มีนักร้องดังของอีสานยุคนั้นอย่าง เทพพร เพชรอุบล ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ฯลฯ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากเทพบุตรทั้งสิ้น
ทองมี มาลัย มาบันทึกเสียงครั้งแรกกับห้างแผ่นเสียงทองคำ-เสียงสยาม ของเสี่ยเล้งซึ่งร่วมหุ้นกับเสี่ยงู้ สองมังกรพันลายแห่งย่านสะพานเหล็กบน โดยชุดแรกที่เผยแพร่สู่สาธารณชนคือ ลำเพลินเรื่อง "ขุนช้าง-ขุนแผน" และกลอนลำเพลินที่สร้างชื่อในระยะแรกคือ "ลำเพลินบอกข่าวชาวบ้าน" ที่แต่งโดย ครูสุพรรณ ชื่นชม
ผู้ประสานงานเรื่องการบันทึกแผ่นเสียง และงานแสดงหน้าเวทีในกรุงเทพฯ คือ ทิดโส สุดสะแนน (ครูสุรินทร์ ภาคสิริ) นักจัดรายการวิทยุ ซึ่งตอนหลังทิดโสได้นำ ทองมี มาลัย มาบันทึกแผ่นเสียงกับ ห้างกรุงไทย ของเสี่ยจุ่น โดยมีกลอนลำที่แฟนๆ รู้จักบ้างคือ ลำเพลินไอเลิฟยู ลำเพลินเชิญทอดกฐิน ฯลฯ
ระหว่างปี 2516-2520 เป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่งอีสาน ที่มี ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ดาว บ้านดอน อังคนางค์ คุณไชย และบานเย็น รากแก่น กำลังดังสุดขีดฮิตติดลมบน ทำให้หมอลำเพลินอย่าง ทองมี มาลัย ต้องถอยทัพกลับอีสานบ้านเกิด
ปี 2523 ลาศ เมืองอุบล นำเอา ทองมี มาลัย มาบันทึกเสียงอีกครั้งกับ ห้างเลปโส้ ของนายห้างวิศาล ซึ่งคราวนี้ได้นำกลอนเด็ดๆ หลายกลอน อาทิ บักสองซาว ชมรมแท็กซี่ มาสร้างชื่อเสียงแบบถล่มทลาย ทำให้ ทองมี มาลัย กลับมาสู่ความนิยมอีกครั้งจนได้ฉายาเป็น "เจ้าพ่อลำเพลิน" ตั้งแต่บัดนี้น
โดยเฉพาะ "ลำเพลินชมรมแท็กซี่" ก็โด่งดังเป็นพลุแตกไม่ว่าบ้านนอกในกรุง แม้แต่สถานีวิทยุในกรุงเทพฯ หรือเขตภาคกลางก็ยังนำมาเปิดกัน เรียกว่าตามตู้เพลง ห้องอาหาร ปั๊มน้ำมัน ที่รวมพลของเหล่าบรรดาคนขับแท็กซี่ทั่วกรุง ต้องได้ยินเพลงนี้กันไม่ขาดระยะ จนมีชุด ชมรมแม่ค้า ออกมาติดๆ ให้เหล่าแม่ค้าลาบ ส้มตำ และซุปหน่อไม้ ได้ร้องกันครื้นเครง จัดเป็นกลอนลำอมตะและมีวรรคทองที่ชาวแท็กซี่ (ไม่ว่าจะเกิดภาคใด) ก็จำกันได้ดี "เดินๆๆๆ ชม เจอะชมรมแท็กซี่เจ้าเก่า..." ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นก็เป็นยุคเฟื่องฟูของลำเพลิน ที่มีหมอลำรุ่นใหม่อย่าง สมถิ่น เจริญชัย สนธยา กาฬสินธ์ และรุ่งโรจน์ เพชรธงชัย เป็นหัวแถวฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายหญิงได้แก่ พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย ดวงเนตร วาสนา และยุพิน สายใจ
มันเป็นช่วงเวลาของลำเพลินประยุกต์ที่นำเอาเสียงของ "แซ็กโซโฟน" มาโซโล่แทนเสียงแคน และกระแสลำเพลินที่มาแรงเหลือเกิน จึงทำให้การปรับท่วงทำนองลำเป็น "ลำแพน" ที่มีหมอลำหนุ่มอย่าง "ทองมัย มาลี" ออกอัลบั้มมาแข่งกับ ทองมี มาลัย โดยเฉพาะก่อนที่จะเข้ามาถึงยุคลำเต้ยครองเมือง โดยกลอนเด็ด "สาวจันทร์กั้งโกบ" ของไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร พรศักดิ์ ส่องแสง
ปี 2535 หลังจาก บริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่น ประสบความสำเร็จจากการนำ "บานเย็น รากแก่น" มาลำคู่กับ "ปฤศนา วงศ์ศิริ" (ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็น ปริศนา ในภายหลัง) ก็หันไปปัดฝุ่นนำ ทองมี มาลัย มาร้องประกบคู่กับ ทองมัย มาลี พ่วงด้วย รุ่งโรจน์ เพชรธงชัย ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำเพียงชุดเดียวก็ต้องเลิกรา เพราะบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
ช่วงปลายของ ทองมี มาลัย ก็ไม่ได้ทำคณะหมอลำอีกแล้ว แต่ยังเดินสายรับเชิญไปตามงานต่างๆ บ้าง มีการทำสัญญาบันทึกเสียงกับ ห้างเอ็มดีเทป ของเสี่ยฮั้ว ในชุด "เต้ยสาวซิ่งยีนส์ขาด" ดูเหมือนจะเป็นแนวการลำที่ทองมีไม่ถนัดนัก แต่ก็ทำตามกระแสที่ตลาดยังมีความต้องการอยู่
ทองมี มาลัย ราชาลำเพลิน
ความดังของ ทองมี มาลัย นั้นดังจนได้ฉายาว่า "ศิลปินกินคน" ซึ่งมีการสัมภาษณ์ออกอากาศทางสถานีวิทยุในสมัยนั้น โด่งดังแค่ไหน เอ๊ะกินคนอย่างไร? เลยถอดบทสัมภาษณ์นั้นมาให้ได้อ่านกันพอสังเขปนะครับ
ผู้สัมภาษณ์ : กี่ศพแล้วครับ
ทองมี : ไม่เท่าไหร่ นับยังไม่ครบสิบหรอก
ผู้สัมภาษณ์ : เป็นไง อร่อยไหม?
ทองมี : แฮ่... แฮ่...
ผู้สัมภาษณ์ : หญิงหรือชาย
ทองมี : ไม่เลือก
ผู้สัมภาษณ์ : เด็กหรือผู้ใหญ่
ทองมี : ได้ทั้งนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : ที่ไหน
ทองมี : ทั่วไป
ผู้สัมภาษณ์ : แม้แต่ในกรุงเทพฯ ?
ทองมี : ครับ แต่ที่กรุงเทพฯ ผมเพียงพยายาม ยังไม่ได้กินเข้าไป
ผู้สัมภาษณ์ : อ้าว... แล้วถิ่นไหนบ้างล่ะที่คุณกินเข้าไป
ทองมี : ก็มีที่ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และขอนแก่น
ผู้สัมภาษณ์ : เจ้าหน้าที่ที่นั่นเขาไม่เล่นงานคุณหรือ
ทองมี : ไม่หรอก เพราะมันไม่ผิดกฎหมาย
ผู้สัมภาษณ์ : ฮ้า...! พูดเป็นเล่นไป
ทองมี : อ้าว!... ไม่งั้นผมจะมาคุยอยู่กับคุณ๊ได้ไง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วญาติพี่น้องเขาล่ะ
ทองมี : เขาเต็มใจ
ผู้สัมภาษณ์ : เป็นไปไม่ได้?
ทองมี : อย่าว่าแต่ญาติพี่น้องเลย ตัวของเขาเองก็ยังเต็มใจที่จะให้กิน
ผู้สัมภาษณ์ : ที่ไม่เต็มใจล่ะ...
ทองมี : ไม่มี และผมไม่ยินดีที่จะกินพวกนั้นด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมน๊า เขาจึงปล่อยชีวิตเป็นผักเป็นปลาอย่างนั้น
ทองมี : ก็เพราะมันสุขนะซี
ผู้สัมภาษณ์ : สุข! ความตายเป็นสุข!
ทองมี : ใช่
ผู้สัมภาษณ์ : รู้ว่าจะไปตาย ไปเป็นเหยื่อคุณก็ยังสุข?
ทองมี : ใช่
ผู้สัมภาษณ์ : มีหรือในโลกนี้
ทองมี : คุณเคยฟังเพลง "จูบฉันแล้วจงตายเสีย" ไหม?
ผู้สัมภาษณ์ : นั่นมันเพลง ในชีวิตจริงของสัตว์โลกผู้หวงแหนชีวิตมีหรือ?
ทองมี : คุณเคยรู้เรื่อง นางพญาผึ้ง และผึ้งผสมพันธุ์ ไหม
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไม
ทองมี : เมื่อนางพญาบินสู่ฟ้า ผึ้งผู้หมู่หนึ่งก็บินไล่หมายเผด็จศึก
ผู้สัมภาษณ์ : ก็มันสุขนี่
ทองมี : ทั้งๆ ที่รู้ตัวว่า ตัวผู้เข้มแข็งได้เผด็จสวาทนางพญาแล้วจะต้องตายไปตามกฎของมัน แต่ทำไม...
ผู้สัมภาษณ์ : อือม์....
ทองมี : ก็นั่นนะซิ
ผู้สัมภาษณ์ : คุณเป็นราชินีผึ้ง?
ทองมี : ก็เกือบอย่างนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : งานของคุณ
ทองมี : ศิลปินพื้นบ้าน ที่มีแคนกับคณะและลูกคอที่พลิกกระดิกดิ้นได้หลายตลบ
ผู้สัมภาษณ์ : และนั่นคือโยงใยล่อเหยื่อของคุณ
ทองมี : แน่นอน
ผู้สัมภาษณ์ : กลอนลำของคุณเป็นสื่อ
ทองมี : ใช่
ผู้สัมภาษณ์ : เขาคงยื้อแย่งกันเพื่องานของคุณ
ทองมี : ก็ใช่อีก
ผู้สัมภาษณ์ : และเมื่อเขารู้ว่างานของคุณมีตาย เขาก็หน่ายหนี
ทองมี : อะไร! เขายิ่งทวีจำนวนอีกไม่ว่า
ผู้สัมภาษณ์ : มาทำไมให้โง่ เดี๋ยวก็เป็นเหยื่อคุณ
ทองมี : ก็บอกแล้วไงว่า ความสุขสนุกสนานอยู่ที่ไหน เขาไม่สนใจหรอกความตาย
ผู้สัมภาษณ์ : คุณมีให้มันอย่างพร้อมมูล
ทองมี : แน่นอน
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วคุณอาศัยช่วงไหนฆ่าเขาล่ะ
ทองมี : ก็ตอนที่เขากำลังฟังกลอนลำของผมอยู่นั่นแหละ
ผู้สัมภาษณ์ : ยังไง
ทองมี : ผมก็เขย่าลูกคอให้เข้าไส้ ใส่เนื้อหาให้แสบซึ้งดึงอารมณ์เขาให้เริ่ด
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วไง
ทองมี : คุณต้องเข้าใจพื้นฐานของคนทางอีสานประเทศเสียก่อน
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไม
ทองมี : เขาจะปล่อยอารมณ์สุดขีด ด้วยการหวีดร้อง กระทืบเท้า เป่าปาก และกระโดโลดเต้นอย่างไม่ยั้งรั้งอารมณ์ให้หยุด เมื่อเขาสนุกสุขใจอยู่กับการละเล่น
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วมันเกี่ยวอะไรกับงานเพลงของคุณ
ทองมี : อ้าว... ก็ตอนที่ผมเติมอารมณ์ระดมลูกเล่นลงไปนั่นนะ คุณไม่รู้อะไร
ผู้สัมภาษณ์ : คุณเลยใช้ช่วงเผลอเก็บเขามาเป็นเหยื่อ
ทองมี : บ้า... ผมจะได้เสวยตะรางหัวโตประไร
ผู้สัมภาษณ์ : อ้าว... แล้วเขาตายยังไง
ทองมี : เมื่อผมดึงอารมณ์โลดเล่นเผ่นโผนเขาก็เสร็จ
ผู้สัมภาษณ์ : หัวใจวาย
ทองมี : ไม่เพียงเท่านั้น เขาพรูกรูเกรียวยื้อแย่งกันที่จะสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของผมบนเวที เพื่อขยี้อารมณ์เริดของเขาให้สงบ
ผู้สัมภาษณ์ : เหมือนผึ้งผู้กรูเกรียวใส่นางพญา
ทองมี : นั่นแหละ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วคนที่สัมผัสคุณแล้วก็ตาย
ทองมี : ใครบอกคุณล่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : อ้าว!... ไม่ใช่กฎของคุณหรือ?
ทองมี : บ้า... ผมไม่ใช่นางพญาผึ้งนี่
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเขาตายอย่างไร
ทองมี : แหม... ไม่น่าสงสัย ในสภาพอย่างนั้นก็มีอย่างเดียว คือ เหยียบกันตาย
ผู้สัมภาษณ์ : คุณยิ่งใหญ่ถึงขนาดนั้น
ทองมี : แน่นอน
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วคุณก็เลยเอาศพนั้นไปลาบ หรือว่าผัดเผ็ด ต้มยำกันล่ะ
ทองมี : ใครจะกินเข้าไปลง
ผู้สัมภาษณ์ : อ้าว!... ก็เห็นว่าคุณเป็น "ศิลปินกินคน"
ทองมี : ที่นี่เมืองไทยนะ ไม่ด้อยพัฒนาป่าเถื่อนเหมือนอูกานดา จะได้กินตับไตไส้พุงได้เหมือนอีดี้ อามิน
ผู้สัมภาษณ์ : แล้ว "กินคน" ของคุณล่ะ หมายความว่าอย่างไร
ทองมี : ก็หมายถึง ความยิ่งใหญ่ในฝีมือของผมที่สามารถระดมอารมณ์แฟนๆ ให้เริ่ดจนลืมตายได้นะสิ
ผู้สัมภาษณ์ : โธ่!... คุณหัดมันมาจากไหนล่ะ
ทองมี : ครูพัน รุ่งศิลป์ ที่บ้านคำเขื่อนแก้ว ยโสธร โน่น
ผู้สัมภาษณ์ : เออ... คนอีสานที่ชอบเรียกตัวเองว่า "คนไทยอีสาน" ทำไมจึงชอบสนุกสนานกันจนสุดฤทธิ์อย่างนั้น
ทองมี : เพราะเขาถือว่าชึวิตต้องแสวงหาความสุข หนักกับงานมามาก เมื่อเขาอยากจะสุขก็ต้องเต็มคราบ
ผู้สัมภาษณ์ : เรียกว่าสนุกกันหมดตัว
ทองมี : ใช่
ผู้สัมภาษณ์ : เฮ้อ!
ทองมี : ถ้าเขาไม่ทำอย่างนั้น คุณก็ไม่ได้เรื่อง "ศิลปินกินคน" ไปเขียนหากินนะสิ 555
ทองมี มาลัย โลดแล่นด้วยชื่อเสียงหมอลำเพลินในวงการหลายสิบปี กับการสังกัดค่ายเพลงหลายค่ายในสมัยนั้น ประกบกับหมอลำดังในยุคนั้นมากมายหลายคน ออกอัลบั้มยอดฮิตมาหลายชุด ร่วมกับหมอลำดังอย่าง บานเย็น รากแก่น, ประสาน เวียงสีมา, ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม เป็นต้น มีหมอลำที่เลียนแบบลีลาท่าทาง รวมทั้งมีกลอนลำสไตล์คล้ายคลึงกัน "ลำแพน" สร้างชื่อ อย่างเช่น ทองมัย มาลี เป็นต้น
ทองมี มาลัย ได้จากครอบครัวและแฟนๆ อันเป็นที่รักไปแล้ว เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 3 มกราคม 2545 ในวัย 58 ปี จากโรคภัยประจำตัว ก้านสมองอักเสบ และโรคเส้นเลือดในสมองตีบ หลังจากเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2544 และได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ณ เมรุวัดบ้านหนองเลิง ตำบลดงแคนใหญ่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานดีเด่น เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2545
ชมรมแท็กซี่ชมรมแท็กซี่ โดย ทองมี มาลัย - ประสาน เวียงสิมา - ป.ฉลาดน้อย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)