foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

sorapetch 01สรเพชร ภิญโญ

ถ้าเอ่ยถึงชื่อ นายเสมอ จันดา อาจจะไม่มีใครรู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเขาผู้นี้เป็นคนแต่ง และขับร้องเพลง "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ" คู่กับนักร้องหญิงชื่อ น้องนุช ดวงชีวัน คงจะต้องร้องอ๋อแน่นอน เสมอ จันดา ใช้นามปากกาว่า สรเพชร ภิญโญ ในการเขียนเพลงและขับร้อง เกิดเมื่อวันที่ 24 เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช 2493 ณ บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 6 บ้านหัวบึง ตำบลบึงพะไล อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา

เรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วอยากเป็นนักร้อง แต่ไปสมัครที่ใหนก็ไม่มีใครรับ จนมีโอกาสได้พบกับ สวาท ศรีอุดร นักจัดรายการวิทยุชื่อดังในนาม "ดอนเจดีย์" จึงได้รับการสนับสนุน ได้บันทึกเสียงเพลงแรกชื่อ "ส่งสารถึงโฆษก" โดยแต่งเพลงเอง ร้องเอง เพราะไม่มีใครยอมร้องเพลงของเขา หลังจากมีชื่อเสียงโด่งดังจึงได้ศึกษาต่อ จนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อพุทธศักราช 2551

นายเสมอ จันดา ก่อนจะมีชื่อเสียงด้านการประพันธ์เพลงลูกทุ่ง เคยเป็นนักร้องและเป็นหัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่งชื่อ "คณะดอนเจดีย์" ต่อมาได้ตั้งวงดนตรีลูกทุ่งของตนเอง ชื่อวงดนตรี “สรเพชร ภิญโญ” ทั้งยังเป็นนักร้องนำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน และมีผลงานโดดเด่นและเป็นที่รู้จักทั่วไปในฐานะของครูประพันธ์เพลงลูกทุ่ง โดยประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนอง ให้กับศิลปินหลายท่านขับร้อง จนเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง อาทิ พิมพา พรศิริ, จินตรา พูนลาภ, ยิ่งยง ยอดบัวงาม เป็นต้น

หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ - สรเพชร ภิญโญ - น้องนุช ดวงชีวัน

บทเพลงลูกทุ่งที่สร้างชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน คือ ผลงานประพันธ์เพลง “หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ” จนทำให้ เสมอ จันดา ได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายรางวัล เช่น รางวัลเกียรติคุณแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ประเภทเพลงลูกทุ่งยอดนิยม จากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย และรางวัลเกียรติคุณทีวีตุ๊กตาทองมหาชน ในฐานะเพลงติดอันดับข้ามปีในเพลง "หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ" จากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง เป็นต้น

sorapetch 02

เพลง "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ" นี้มีที่มาว่า เสมอ จันดา ประพันธ์เพลงนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการขายให้ค่ายเพลง นำไปให้นักร้องชื่อดังต่างๆ ร้องแล้วจัดจำหน่าย แต่ไม่มีใครสนใจอยากได้ เขาจึงทำเดโมเทปดนตรีพร้อมร้องเองเป็นไกด์ไว้ โดยใช้ชื่อว่า สรเพชร ภิญโญ ร้องคู่กับน้องนุช ดวงชีวัน นำไปเสนอขายที่ไหนก็ไม่สนใจ จนกระทั่ง นายห้างสุชัย วงศ์ดำเนินสะดวก เจ้าของ บริษัทจรเข้โปรโมชั่น ทนรำคาญไม่ใหวจึงซื้อมาสเตอร์เพลงเอาไว้ (คุณสรเพชรเล่าว่า ลงทุนทำเพลงชุดนี้ จ่ายค่าห้องอัด/นักดนตรีไปหมื่นห้า ขายได้เงินมาสี่หมื่นห้า และคิดว่าจะเลิกอาชีพนักร้องนักดนตรีไปขายอาหารรถเข็น แต่ผ่านมา 2 ปีเพลงในชุด 2 เพลงดังขึ้นมา ถูกตามตัวไปทำวงเลยยังไม่ได้เป็นพ่อค้าอีกเลยนับจากนั้น) โดยไม่คิดว่าจะเอามาให้ใครร้องและออกเทป

sorapetch 04

แต่เป็นจังหวะพอดีที่ขาดเทปเพลงและนักร้องจะวางตลาดจำหน่าย นายห้างสุชัย จึงนำเพลงของ สรเพชร ภิญโญ ออกมาขัดตาทัพ ใครจะเชื่อว่าเทปที่ออกวางแบบเสียไม่ได้จะทำให้ยอดขายเกินล้านตลับ นับเป็นประวัติศาสตร์ของวงการเพลงลูกทุ่งที่ต้องจารึก และเทปชุดนี้คือ "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ" ทำให้ สรเพชร ภิญโญ - น้องนุช ดวงชีวัน มีชื่อเสียงหอมฟุ้งขึ้นมาราวปฏิหาริย์ จากนั้นก็มีเพลงดังตามอีกมากมาย เช่น ผัวเมียพอๆ กัน, ทุยอดหญ้าข้าอดข้าว, ตามหาศันสนีย์ , แบ่งลูกคนละครึ่ง, หนุ่มโคราชขาดรัก เป็นต้น

sorapetch 05

รางวัลเกียรติยศ

  • รางวัลเกียรติคุณแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ประเภทเพลงลูกทุ่งยอดนิยม จากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย
  • รางวัลเกียรติคุณทีวีตุ๊กตาทองมหาชน ในฐานะเพลงติดอันดับข้ามปีในเพลง "หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ" จากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง 2525
  • รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เพลง หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ 2538
  • ศิลปินมรดกอีสาน (ประเภทประพันธุ์เพลงลูกทุ่ง) 2552 หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น

sorapetch 06

ปัจจุบัน สรเพชร ภิญโญ แต่งเพลงผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักร้องภาคอีสานหลายคน

ผลงานประพันธ์เพลง

  • เมียป๋าเพราะซาอุฯ, รอรักที่อู่รถ (สมโภชน์ ดวงสมพงษ์)
  • น้ำตาเมียซาอุฯ, สาวหมอลำจำได้ (พิมพา พรศิริ)
  • ถูกหลอกออกโรงเรียน (จินตหรา พูนลาภ)
  • ขอแค่มอง (รักคนชื่อต้อย) (ธนา พาโชค)

sorapetch 03

นายเสมอ จันดา เป็นผู้มีความเข้าใจวิถีของชาวอีสานอย่างแท้จริง โดยได้สะท้อนผ่านผลงานการประพันธ์เพลงลูกทุ่งของเขาเสมอมา ทั้งทำนองและคำร้อง จนทำให้บทเพลงที่ประพันธ์นั้นได้กลับมาร้องใหม่อยู่เสมอ และเป็นบทเพลงที่สะท้อนภาพสังคมชนบทอีสาน ที่เรียบง่ายแต่งดงามได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ นายเสมอ จันดา ยังทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมและประเทศชาติ โดยเป็นวิทยากรให้กับโรงเรียนและหน่วยงานภาครัฐในโอกาสต่างๆ

ฐานข้อมูลมรดกอีสาน - สรเพชร ภิญโญ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ สรเพชร ภิญโญ  กับการขึ้นเวทีร้องเพลงในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง และผู้สร้างนักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่ ในรายการ "สารพันลั่นทุ่งบางเขน" ทางช่อง ThaiPBS

รายการ "สารพันลั่นทุ่งบางเขน" ทางช่อง ThaiPBS

redline

backled1

art local people

kampoon boontawee 02ครูคำพูน บุญทวี

นายคำพูน บุญทวี (26 มิถุนายน 2471 - 4 เมษายน 2546) นักเขียนสารคดี เรื่องสั้น และนวนิยายเกี่ยวกับชีวิตของชาวไทอีสาน และชีวิตคนในคุก ได้รับรางวัลซีไรต์เป็นคนแรกของไทย เมื่อ พ.ศ. 2522 จากนวนิยายเรื่อง ลูกอีสาน และได้รับยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2544

คำพูน บุญทวี เดิมชื่อ คูน (ชื่อละครตัวเอกในนิยาย ลูกอีสาน) เกิดเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ที่ บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร) เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมด 8 คนของ นายสนิท และนางลุน บุญทวี

การศึกษาในวัยเยาว์

ในวัยเด็กของท่าน เนื่องจากพ่อของท่านมีอาชีพเป็นครูในหมู่บ้าน จึงทำให้มีโอกาสดีกว่าเพื่อนๆ ในเรื่องการเรียน ท่านเริ่มเรียนถึงชั้น ป. 4 ที่โรงเรียนบ้านทรายมูล จากนั้นจึงเข้าเรียนต่อชั้น ม. 2 ที่โรงเรียนสุรเวชวิทยาลัย อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี แล้วจึงมาเรียนต่อชั้น ม. 4 จากโรงเรียนอรุณศึกษา อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี แล้วจึงมาเรียนต่อที่โรงเรียนสายปรีชาบัณฑิต อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี จนจบชั้น ม. 6 ในปี 2488 ซึ่งในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นการศึกษาระดับสูงสุดระดับอำเภอ

เมื่อจบการศึกษาชั้น ม. 6 จากโรงเรียนสายปรีชาบัณฑิต ที่อำเภอยโสธร คุณคำพูน บุญทวี จึงกลับมาอยู่ที่บ้านทรายมูล พร้อมกับชักชวนเพื่อนๆ ในหมู่บ้านตั้งคณะหมอลำและรำวง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จด้านรายได้ จึงเข้ามาหางานที่กรุงเทพฯ

เส้นทางสู่อาชีพครู ขายแรงงาน ผู้คุมในคุก สู่นักเขียน

จากลุ่มน้ำชีเมืองยโสธร สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ที่หนุ่มสาวบ้านทุ่งหลายคนใฝ่หา คุณคำพูน บุญทวีเริ่มต้นทำงานเป็นครู สอนอยู่ที่โรงเรียนสัตบุตรบำรุง อยู่หลายปี แต่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นครูประจำจึงตัดสินใจลาออก แล้วจึงเข้าทำงานหลายแห่งหลายอาชีพ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต ทั้งกรรมกรขายแรงงาน ถีบสามล้อ ขายผลไม้ เลี้ยงม้าแข่ง และรีดนมวัว ผ่านประสบการณ์ชีวิตอย่างโชกโชน แต่ก็ไม่ย้อท้อสำหรับสายเลือดแห่งนักสู้จากบ้านทรายมูล เมืองยโสธร

kampoon boontawee 03

จากประสบการณ์ ทำงานเป็นครูที่โรงเรียนสัตบุตรบำรุงมาหลายปี จึงทำให้ คุณคำพูน บุญทวี คิดว่า ตนเองน่าจะเหมาะกับอาชีพครูมากว่าอาชีพอื่น ในปี 2490 จึงตัดสินใจสมัครสอบเป็นครูประชาบาลที่ภาคใต้ โดยได้รับการบรรจุครั้งแรกที่ โรงเรียนบ้านควันขัน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล สอบได้วุฒิครูพิเศษมูล (ครู พ.) โดยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จากนั้นในปี 2492 จึงได้ย้ายมารับตำแหน่งครูใหญ่ โรงเรียนสุไหงมูโซะ อำเภอระงู จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะ และในตอนนั้นได้แต่งงานกับ นางประพิศ ณ พัทลุง มีบุตรด้วยกัน 6 คน ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่ครอบครัวไม่สะดวก อีกทั้งทำเรื่องย้ายกลับภาคอีสานไม่ได้ จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นครูในปี 2497 กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาที่จังหวัดพัทลุง

เมื่อมาอยู่กับภรรยาที่จังหวัดพัทลุง ท่านจึงได้สมัครเป็นครูสอนภาษาจีนที่ โรงเรียนเอกชนขื่อจุ่งฮั้ว ในตำแหน่งครูใหญ่ ภายหลังจึงลาออกจากการเป็นครูเพราะประสบปัญหาด้านการเงิน จึงเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่เดินทางกลับจังหวัดพัทลุง

kampoon boontawee 04

กลับมาอยู่ที่จังหวัดพัทลุงได้สมัครเข้าทำงานเป็น "ผู้คุม" ที่เรือนจำจังหวัดพัทลุง และสอนหนังสือนักโทษเป็นเวลา 9 ปี ทำให้ชีวิตในครอบครัวเริ่มดีขึ้น และมีโอกาสสอบเข้าเรียนเป็น นักเรียนราชฑัณฑ์ ที่เรือนจำบางขวาง กรุงเทพฯ ได้ แต่ยังเรียนไม่จบหลักสูตร จึงขอย้ายกลับมาทำงานที่เรือนจำพัทลุงเหมือนเดิม เนื่องจากภรรยาป่วยหนัก

คุณคำพูน บุญทวี กลับมาทำงานที่เรือนจำพัทลุงอยู่ระยะหนึ่ง จึงสอบบรรจุเป็นข้าราชการสามัญของกรมราชฑัณฑ์ได้ แล้วย้ายไปประจำอยู่ที่เรือนจำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 4 ปี แล้วจึงย้ายไปประจำที่เรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี และย้ายไปประจำอยู่ที่เรือนจำจังหวัดระนองในเวลาต่อมา

คุณคำพูน บุญทวี เริ่มงานเขียนครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เสียงตานี เป็นเรื่องตลกขบขัน เมื่อครั้งทำงานอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นเมื่อย้ายไปอยู่ที่จังหวัดระนอง จึงมีแนวความคิดอยากจะเป็นนักเขียน โดยมีแรงบันดาลใจจากการเขียนงาน เพราะภรรยาป่วยหนักไม่มีเงินรักษา เกิดความกลุ้มหนักต้องหันหน้าเข้าอบายมุข ติดเหล้า ติดการพนัน ยิ่งทำให้ครอบครัวย่ำแย่ลงไป ภายหลังจึงเลิกยุ่งอบายมุขทั้งปวง หันหน้าเข้าห้องสมุด มุ่งหน้าอ่านเรื่องสั้น นวนิยาย วรรณคดี เรื่องแปล เมื่ออ่านมากๆ จึงมีแนวความคิดอยากจะเป็นนักเขียน

kampoon boontawee 05

เขาเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 เมื่อครั้งยังเป็นผู้คุม ตอนนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว เขาจึงมุมานะอ่านหนังสือ และเขียนเรื่องสั้น เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขาเขียน คือ "ความรักในเหวลึก" ส่งไปที่นิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่ง อาจินต์ ปัญจพรรค์ เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น "นิทานลูกทุ่ง" พร้อมทั้งสนับสนุนให้เขาเขียนหนังสือต่อไป เขาจึงเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ มนุษย์ 100 คุก

พอเขียนหนังสือได้สักระยะหนึ่งรู้สึกจะหมดเรื่องเขียน อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้แนะนำให้อ่าน "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ผลงานการแปลของ “สุคนธรส” มาอ่านเพื่อเป็นแนวทางในการเขียนเรื่องราววิถีชีวิตของชาวอีสาน จนเป็นที่มาของเรื่องราวชีวิตชาวอีสานในอดีตชื่อ "ชีวิตของลูกผู้ชายชื่อคำพูน บุญทวี" แต่เมื่อ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้อ่านต้นฉบับเลยแนะนำว่าน่าจะใช้ชื่อว่า "ลูกอีสาน" เพราะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนอีสาน และได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” ระหว่างปี 2518 – 2519

kampoon boontawee 06

หลังจากนั้นนิยายเรื่อง "นักเลงตราควาย" ได้รับการตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายวัน ในปีระหว่างปี 2522-2523 และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา นับแต่นั้นเป็นต้นมาคุณลุงคำพูน บุญทวี ได้สร้างสรรค์ผลงานเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี หรือนิทานพื้นบ้าน ตลอดมา

ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิต หลังจาก นางประพิศ ณ พัทลุง ภรรยาคนแรกได้เสียชีวิต คุณคำพูน บุญทวี จึงได้ใช้ชีวิตคู่กับ คุณลันนา เจริญสิทธิชัย หรือ “กิมหลั่น” เจ้าของสาระนิยาย “เจ๊กบ้านนอก” พร้อมกับก่อตั้ง สำนักพิมพ์โป๊ยเซียนบ้านบางบัวทอง นนทบุรี เพื่อพิมพ์หนังสือของครอบครัว จนถึงช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต คุณคำพูน บุญทวี ได้สิ้นลมหายใจลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 รวมอายุได้ 74 ปี

kampoon boontawee 08

ปราณี อนุอัน นักศึกษาระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคาแหง ได้ศึกษาผลงานของ คำพูน บุญทวี เพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต เรื่อง “ภูมิปัญญาไทยอีสานที่ปรากฏในวรรณกรรมของนายคำพูน บุญทวี” เพื่อเสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. 2545 ได้กล่าวถึง นวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ไว้ว่า

...นวนิยายเรื่องลูกอีสาน เป็นการนำเอาเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้พบเห็น ถ่ายทอดในรูปแบบของนวนิยาย ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยผ่านเด็กชายคูน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นชนบทอีสาน ที่จัดได้ว่าเป็นถิ่นที่แห้งแล้งแห่งหนึ่งของไทย ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเด็กชายคูน และเพื่อนในละแวกนั้น ไม่มีความแตกต่างกันนัก นั่นคือความยากจนข้นแค้น ต้องหาอาหารตามธรรมชาติ กินทุกอย่างที่กินได้ ผู้เขียนได้เล่าถึง ขบธรรมเนียมประเพณี และสภาพแวดล้อม เช่น การเกี้ยวพาราสีกัน การออกไปจับจิ้งหรีด การเดินทางไปหาปลาที่ลำชี เพื่อนำปลามาทำอาหารและเก็บถนอมไว้กินนานๆ ด้วยการทำปลาร้า เป็นต้น...

 

ลูกอีสาน ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ด้วยภาพที่ตรงไปตรงมา และแสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสาน ว่าต้องเผชิญกับความยากลำบากเพียงไรการเรียนรู้ที่จะอดทนเพื่อเอาชนะกับความยากแค้นตามธรรมชาติด้วยความบากบั่นความเอื้ออารีที่มีให้กันในหมู่บ้าน ความเคารพในระบบอาวุโส...”

ลันนำ เจริญสิทธิชัย, ๒๕๔๖ :๑๗๒ - ๑๗๓

ในขณะเดียวกัน ชื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ได้กล่าวถึงนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ของ คำพูน บุญทวี ซึ่งเป็นนวนิยายซีไรซ์เรื่องแรก จัดเป็นนวนิยายแนวสะท้อนชีวิตชนบทไว้บางตอนว่า

...เพราะเป็นเรื่องของครอบครัวชาวอีสาน ที่ต้องผจญกับควำมแห้งแล้งของภูมิประเทศแถบตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ชีวิตอันยากลำบาก ทำให้ชาวอีสานจำนวนมากอพยพย้ายถิ่นไปแสวงหาดินแดนที่ “ดินดำน้ำชุ่ม” แต่ครอบครัวของคูนปักหลักอยู่กับแผ่นดินถิ่นเกิดของตน ด้วยความเชื่อมั่น และศรัทธา ลูกอีสาน จึงสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ของมนุษย์กับธรรมชาติทางกายภาพ คือ ความแห้งแล้ง ความยากลำบาก และธรรมชาติในจิตใจ คือ ความดิ้นรน ความปรารถนาถึงความสุขสบาย นวนิยายเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นลูกอีสานที่แท้จริงคือ ความมานะ อดทน เรียนรู้ที่จะทนอยู่กับความยากลำบาก นอกจากนี้ยังเป็นนวนิยายที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวอีสานอย่างละเอียด จนใช้อ้างอิงในข้อมูลที่เกี่ยวกับภาคอีสานด้วย... ”

วิพุธ โสภวงศ์, ๒๕๔๗:๔๗ – ๔๘

เกียรติยศแห่งชีวิตนักเขียนบ้านทรายมูล

  • นิยาย “ลูกอีสาน” ได้รับรางวัล "วรรณกรรมดีเด่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2519 ได้รับรางวัล "วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยน (ซีไรต์)" ปี 2522 คัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับการแปลภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส สร้างเป็นภาพยนตร์ โดย ครูวิจิตร คุณาวุฒิ
  • นิยาย “นายฮ้อยทมิฬ” ได้รับ "รางวัลชมเชย งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2520 ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
  • วรรณกรรมเยาวชน “สัตว์พูดได้” ได้รับเกียรติบัตรยกย่องจาก ชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม เมื่อ 5 มิถุนายน 2534 และกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาให้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
  • ได้รับการยกย่องให้เป็นนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ ในการจัดงานช่อการะเกด ครั้งที่ 7 ที่สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 และจัดทำ "มุมหนังสือคำพูน บุญทวี" ที่ห้องสมุดสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อเป็นที่ศึกษาค้นคว้าสำหรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจ
  • วันที่ 7 ธันวาคม 2543 สภาวัฒนธรรมอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร จัดงานเชิดชูเกียรติ "72 ปี ซีไรต์ลูกอีสาน" จัดกิจกรรมเสวนาทางวรรณกรรม บริจาคหนังสือคำพูน บุญทวี ให้กับห้องสมุดโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร
  • เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2544 สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้พิจารณาประกาศเชิดชูเกียรติ เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2544

kampoon boontawee 10

ผลงานที่ตีพิมพ์รวมเล่ม : เรื่องสั้น นมอีเขียวขึ้นราคา, หมาหอนในหัวใจ, ลาครูไปขอเมีย, หอมกลิ่นบาทา, หอมกลิ่นปลาร้า, ลาบหัวเราะ, ลูกทุ่งเข้ากรุง, ใหญ่ก็ตายไม่ใหญ่ก็ตาย, เสือกเกิดมารวย, รวยต้องไหว้หมา, ไอ้โจร 499, ลาบกิ่งก่า พล่าปลาอีตู๋, แม่ม่ายที่รัก, พยาบาลที่รัก, นักเลงลูกทุ่ง, ผจญภัยทุ่งกุลาร้องไห้, ตารางบันเทิง, นักเลงลูกทุ่ง

ไมตรี ลิมปิชาติ นักเขียนชื่อดังได้กล่าวถึง คำพูน บุญทวี ไว้ตอนหนึ่งว่า

...ผมชอบและเคารพที่นายคำพูน บุญทวี เป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ จะทำอะไรก็ทำแบบซื่อๆ พี่พูนไม่ได้ซื่อโดยนิสัยอย่างเดียว งานเขียนก็ออกมาซื่อๆ เหมือนกัน และนี่คือ เสน่ห์ตัวหนังสือของพี่พูน... ”

ไมตรี ลิมปิชาติ “แด่พี่ผู้จากไป” ในลันนา เจริญสิทธิชัย, ๒๕๔๖ : ๗๖

ในขณะเดียวกัน ในความเป็นคนซื่อก็ทำให้งานเขียนของ คำพูน บุญทวี มีเสน่ห์และมีค่าดังที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนชื่อดังและศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2534 ได้กล่าว ไว้บางตอนว่า

...ผมมีความเห็นว่า งานประพันธ์ของนายคำพูน บุญทวี มีค่าและเสน่ห์เพราะว่า
๑) เขาเขียนอย่างหนักแน่น แม่นยำจากความรู้จริง
๒) การเขียนด้วยภาษาของคนซื่อ
๓) เรื่องที่เขาเขียน อ่านแล้วจำได้อีกนาน... ”

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2546 นายคำพูน บุญทวี ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน รวมอายุได้ อายุ 74 ปี และได้รับพระราชทานเพลิงศพจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

kampoon boontawee 07

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม พ่อเมืองยโสธร และคุณลันนา เจริญสิทธิชัย เปิด ศาลาศูนย์วรรณกรรมยโสธร "คำพูน บุญทวี" นักเขียนซีไรต์คนแรกของประเทศไทย ศาลาหลังนี้จะเปิดบริการ 10.00-18.00 น. ไม่มีระบบยืมและคืนหนังสือ หายไม่เป็นไร เพราะถือว่าคนอยากอ่าน ณ บริเวณ ลานวิมานพยาแถน (หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์พยาคันคากและอาคารพิพิธภัณฑ์พยานาค) อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

ตัวอย่างภาพยนตร์ เรื่อง ลูกอีสาน

ลำล่องอิสานรำพัน ลำล่องในภาพยนตร์เรื่อง "ลูกอีสาน"
เพชร เมืองทอง : ลำ สุรินทร์ ภาคศิริ : เขียนกลอน

redline

backled1

art local people

kru kamman 02คำหมาน คนไค

าจารย์สมพงษ์ พละสูรย์ หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม "ครูคำหมาน คนไค" เป็น อดีตครูประชาบาลโรงเรียนบ้านนอก ในสมัยปี พ.ศ. 2502 อดีตศึกษานิเทศก์ นักคิด นักเขียน นักวิชาการ ผู้ที่ได้นำประสบการณ์ในอาชีพครูที่ยากลำบากยิ่งนักในสมัยนั้น มาเขียนเป็นเรื่องสั้นชุด "บันทึกครูประชาบาล" และเมื่อมีผู้สนใจจะนำไปสร้างภาพยนตร์ จึงได้นำมาเรียบเรียงเป็นนวนิยายอีกครั้งในชื่อว่า "ครูบ้านนอก" ที่ถูกนำไปถ่ายทอดแปลออกไปตีพิมพ์อีกหลายภาษาในหลายประเทศ

แต่ที่ทำให้คนไทยรู้จัก "ครูคำหมาน คนไค" และสะเทือนวงการวิชาชีพครูมากที่สุด ก็เมื่อนวนิยายถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่องเดียวกันคือ "ครูบ้านนอก" กำกับการแสดงโดย สุรสีห์ ผาธรรม และมีดารานำรุ่นใหม่ที่ใครๆ ก็ไม่รู้จัก คือ ปิยะ ตระกูลราษฎร์ และวาสนา สิทธิเวช มาแสดงนำ พ่วงด้วย ครูใหญ่คำเม้า ที่รับบทโดยศิลปินอาวุโสภาคอีสาน ตำนานเพชรพิณทอง นพดล ดวงพร

(เสริมเพิ่มนิดหนึ่ง มีแฟนๆ ถามเข้ามาว่าชื่อ "คำหมาน คนไค" นี่หมายถึงอะไร โดยเฉพาะคำ "คนไค" นี่อยากทราบความหมาย ชื่อ คำหมาน นี่ไม่แปลกเพราะคนอีสานส่วนใหญ่มักจะมีชื่อพยางค์เดียว เช่น สี สา มี มา หมาน ฯลฯ คำว่า "คำหมาน" จะแยกออกมาเป็น 2 คำ 2 ความหมาย คือ หมาน หมายถึง ความมีโชคดี ทำอะไรไม่ขัดข้อง ไปหาปลาได้ปลา ไปล่าสัตว์ได้เก้ง กวาง เรียกว่า ทำอะไรๆ ก็หมานเบิด ส่วน "คำ" ที่ใช้นำหน้าหมายความว่า คนดี ลูกที่ดีของพ่อแม่ จึงมักเอามานำหน้าชื่อเช่นเดียวกับคนจีนมักใช้คำว่า "กิม" นำหน้าชื่อนั่นเอง ส่วนคำว่า "คนไค" นั้นมี 2 คำเช่นกัน คือ คน กับ ไค หมายความว่า ดี ดีกว่า รวมแล้วคือ คนดีกว่าหมู่ ชื่อ "คำหมาน คนไค" จึงหมายถึง คนดีมีโชค คนดีกว่าผู้อื่น นั่นเอง)

นายสมพงษ์ พละสูรย์ เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2480 ที่บ้านดอนเมย ตำบลนาจิก อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ)  เป็นบุตรคนเดียวของ นายยอด กับนางทุม พละศูนย์ ในปี พ.ศ. 2513 นายสมพงษ์ จึงขอเปลี่ยนนามสกุลเป็น “พละสูรย์” ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เรื่องเกี่ยวกับเรื่องวัน-เดือน-ปีเกิด รวมทั้งบิดา-มารดา และบรรพบุรุษ นายสมพงษ์ เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า

…บรรพบุรุษของข้าพเจ้าเป็นคนสยามเชื้อชาติลาว ประวัติของวงศ์ตระกูลของข้าพเจ้า เป็นเรื่องที่คนในเครือญาติบอกเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นต่อรุ่น บรรพบุรุษชั้นต้นที่ข้าพเจ้าได้เห็นตัว และได้มาอยู่ในครอบครัว คือ แม่ทวด แม่ทวด หรือยายทวดของข้าพเจ้า ชื่อ นางเทิ่ง เสนาดี (เสียชีวิต เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ อำยุ ๙๑–๙๒ ปี) แม่ทวดเล่าว่าพ่อของท่าน ชื่อ ไชยเสด แม่ชื่อคำหอม ท่านไชยเสด นำพาพวกพ้องมาจาก “ฝั่งซ้าย” (ในสมัยก่อนการย้ายไป-มาข้ามลำน้ำโขงทำได้โดยสะดวก) ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านไชยเสดข้ามโขงเข้ามาราว พ.ศ.๒๓๘๐–๒๓๙๐ แม่ทวดมีสามีเป็นคนลาวสยาม (ลาวอีสาน) ชื่อไชยเสนา แม่ทวดมีลูก ๗ คน เป็นหญิง ๓ คน ลูกหญิงคนโต ชื่อนางพา โสภามี คนเล็ก ชื่อ ทุม พละศูนย์ นางพา มีลูกสาวชื่อ นางนันท์ อุทธจันทร์ ข้าพเจ้าเป็นลูกคนแรกของ นางนันท์ – นายเหี่ยว อุทธจันทร์…

 

ส่วน นางทุม แต่งงานกับ นายยอด พละศูนย์ และไม่มีลูก จึงขอข้าพเจ้ามาเป็นบุตรตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กอ่อน พ่อยอดบอกว่า ท่านเป็นผู้ไปแจ้งเกิด (แจ้งขอใบสูติบัตร) ท่านบอกว่าข้าพเจ้าเกิดวันเสาร์ เดือนสี่ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๘๐ ใบเกิดระบุว่าวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ข้าพเจ้าตรวจสอบปฏิทินร้อยปี พบว่า วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นวันอังคาร ข้าพเจ้าเชื่อคำของพ่อจึงตรวจสอบวันข้างขึ้นข้างแรม แล้วสรุปเองว่า ข้าพเจ้าเกิดวันเสาร์ที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ แต่ถือเอาวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นวันเดือนปีเกิดตามกฎหมาย…”
                                                                                                                                    (สมพงษ์ พละสูรย์, ๒๕๔๘:๑)

ด้านการศึกษา

เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่ โรงเรียนประชาบาลตำบลนาจิก 4 วัดบ้านดอนเมย นายสมพงษ์เป็นเด็กฉลาด ฝักใฝ่ในการเรียน เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 บิดา-มารดาได้อพยพครอบครัวไปทำมาค้าขายในตัวจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้นายสมพงษ์ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด คือ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ใน พ.ศ. 2492 (เมื่อปีการศึกษา 2492–2497 หมายเลขประจาตัว 5559) ในระหว่างเรียนชั้นมัธยม บิดาได้ถึงแก่กรรมไปก่อน แต่มารดาก็ยังคงทำมาค้าขายอยู่ในตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งต่อมาได้ถึงแก่กรรมในอีกปีถัดมา

นายสมพงษ์ก็ได้มาอาศัยอยู่กับญาติ คือ นายมนูญ-นางยุวพงษ์ ผาสุขมูล โดย นางยุวพงษ์ เป็นญาติฝ่ายมารดามีศักดิ์เป็นป้า ส่วน นายมนูญ รับราชการกรมทางหลวง ที่แขวงการทางอุบลราชธานี นายสมพงษ์นับถือบุคคลทั้งสองเสมือนพ่อ-แม่ และอาศัยอยู่กับครอบครัวนี้ตลอดมา และได้ส่งเสียให้เรียนจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ใน ปี พ.ศ. 2498

นายสมพงษ์ มีความสนใจใคร่รู้มากตั้งแต่วัยเด็ก เมื่ออ่านออกเขียนได้ก็อ่านหนังสือที่มีอยู่ในบ้านญาติ เมื่อเรียนระดับมัธยมก็อ่านหนังสือ ประวัตินายปรีดี พนมยงค์ วิธีชนะมิตรและจูงใจคน (เดล คาร์เนกี แต่ง อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปล) การอ่านหนังสือนี้เป็นผลให้นายสมพงษ์สนใจการศึกษาเรียนรู้ และอยากอ่านหนังสือมากขึ้น ในด้านภาษาอังกฤษก็สนใจเรียน และหัดเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษบนปกสมุดตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.3 เมื่อมาเรียนชั้นมัธยมศึกษา ก็เริ่มสนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น ตอนอยู่ชั้น ม.3 อาจารย์พักตร์ สุนทรารักษ์ เปิดสอนภาษาอังกฤษ ก็สมัครเรียนจนสามารถออกเสียงภาษาอังกฤษได้ดี และสนทนาภาษาอังกฤษง่ายๆ ได้ ตอนเรียนชั้น ม.1 เคยพบฝรั่งคนหนึ่งที่หน้าไปรษณีย์จังหวัดอุบลราชธานี ก็สามารถพูดคุยกับฝรั่งได้พอรู้เรื่อง

พอเรียนมัธยมปลาย (ม.4–ม.6) ก็อ่านหนังสือที่ ห้องสมุดประชาชน นายสมพงษ์เคยบอกว่า "ชอบอ่านหนังสือและมีความสุขในการอ่านหนังสือ ขณะเดียวกันก็สนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น อาจารย์เพลินจิต ไพรีพินาศ และอาจารย์สุจริต จันทรกาญจน์ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ได้แนะนาช่วยเหลือและให้กำลังใจเป็นอย่างดี ประกอบกับในช่วงเวลานั้น หน่วย “USIS” ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่งหนังสือและวารสาร มาให้ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจานวนมาก จึงเป็นผลให้มีหนังสือภาษาอังกฤษอ่านมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวของประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา และวารสารภาษาอังกฤษ เช่น Life , News Week, Time, National Geographic Magazine รวมทั้งวารสารภาษาไทย เช่น สยามสมัย ชาวกรุง ศรีสัปดาห์ สตรีสาร ประวัติบุคคลสาคัญและหนังสืออื่นๆ เป็นจานวนมาก"

นายสมพงษ์ เล่าต่อไปว่า “การอ่านหนังสือเหล่านี้ทำให้มีความฝันและจินตนาการ รวมทั้ง ได้ข้อมูลและความรู้หลายอย่าง ตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อาจารย์วิมลศรี เวชศาสตร์ (สกุลเดิม ศรีภา) ให้ยืมหนังสือประวัติศาสตร์ไปอ่านเล่มหนึ่ง อ่านจบหลายเที่ยว เกิดความประทับใจครูคนนี้มาก”

เนื่องจากนายสมพงษ์เป็นนักเรียนเรียนดี จึงได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนไปเรียนต่อ ระดับฝึกหัดครู ที่ โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใน พ.ศ. 2498 ได้รับ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2500 แล้วได้รับทุนเรียนต่อชั้น ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) ใน วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และในปีเดียวกันนั้นเอง นายสมพงษ์ก็สมัครสอบชั้น ประโยคเตรียมอุดมศึกษา แผนกอักษรศาสตร์ได้อีกด้วย

นายสมพงษ์ พละสูรย์ สำเร็จการศึกษาได้รับวุฒิ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) เป็นรุ่นแรก อีกเช่นกัน ใน พ.ศ. 2502 และได้รับการบรรจุเข้าเป็นครูในปีนี้เอง ได้เข้ารับราชการตำแหน่ง ครูตรี โรงเรียนบ้านอำนาจ ตำบลอำนาจ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดกองการประถมศึกษา กรมสามัญศึกษาได้มุ่งมันในการทำงาน และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จนเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ดังนี้

kru kamman 06

  • พ.ศ. 2503 สอบได้รับวุฒิประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.)
  • พ.ศ. 2506 ไปช่วยราชการทำการสอนที่โรงเรียนบ้านไก่ดำ ตำบลไก่เขี่ย อำเภออำนาจเจริญ
  • พ.ศ. 2507 ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร กรุงเทพฯ สำเร็จได้รับปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ในปี พ.ศ. 2509 ช่วยราชการทำหน้าที่ ครูวิชาการ สำนักงานศึกษาธิการอำเภออำนาจเจริญ และในปีนั้นเองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ศึกษานิเทศก์จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดกรมสามัญศึกษา
  • พ.ศ. 2511 ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่ Colorado State College รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุน AID ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สำเร็จได้รับปริญญา Master of Arts (M.A.) ใน พ.ศ. 2512
  • พ.ศ. 2513 ได้เลื่อนขึ้นเป็นศึกษานิเทศก์โท ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2518 ปรับตำแหน่งเป็นศึกษานิเทศก์ ระดับ 6 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2520 ช่วยราชการกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2521 โอนมาเป็นนักวิชาการศึกษา 7 ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาหลักสูตรประถมศึกษา ศูนย์พัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ
  • พ.ศ. 2528 เป็นนักวิชาการศึกษา 8 ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์แนะแนวการศึกษาและอาชีพ กรมวิชาการ
  • พ.ศ. 2533 ได้รับอนุมัติให้ไปดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐ ตำแหน่ง รองเลขาธิการคุรุสภา
  • พ.ศ. 2537 ลาออกจากราชการตำแหน่งนักวิชาการศึกษา 8 ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคุรุสภา ติดต่อกันถึงวาระที่ 3 ในพ.ศ.2542

แม้จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งที่คุรุสภา นายสมพงษ์ก็ยังได้ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ทางราชการอีกหลายปี เช่น พ.ศ. 2542 – 2544 เป็นที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2544 เป็นกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ของวุฒิสภา และระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2546 เป็นผู้ชำนาญการในสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ นอกจากนั้น ยังปลีกเวลาให้แก่ภาคเอกชน โดยรับเชิญเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานทางวิชาการ เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นต้น

kru kamman 03

อาจารย์สมพงษ์เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถทั้งในการสอน การนิเทศการศึกษา การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เป็นนักพูด นักคิด นักเขียน มีผลงานในด้านวิชาการ วิชาชีพ และการสื่อสารสัมพันธ์ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญและสร้างชื่อเสียงให้มากที่สุดคือ งานเขียน ซึ่งอาจารย์สมพงษ์ได้เล่าไว้ในหนังสือ “ชีวิตสมพงษ์ พละสูรย์ 'คำหมาน คนไค' มหัศจรรย์ยิ่งนัก” ความตอนหนึ่งว่า

“...ข้าพเจ้าเขียนหนังสือหลายเล่ม ทั้งเรื่องสั้น บทความ สารคดี เช่น จดหมายจากครูบ้านนอก (ได้รับรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2522) บ้านโพนทราย (ได้รับรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2524) ... หนังสือของข้าพเจ้ามีดังนี้

  • นิยาย ได้แก่ ครูบ้านนอก ฆ่าราชการครู (แปลเป็นภาษาอังกฤษ) บักเซียงน้อย บักสีเด๋อ บ้านโพนทราย ตักเงินจากบ่อ
  • รวมเรื่องสั้น จดหมายจากครูคำหมาน คนไค บันทึกครูประชาบาล หัวอกศึกษา ประสาคนภูธร ประสาครูบ้านนอก ไม้บรรทัดคด ครูบ้านนอกขี่เรือบิน ปากอิสาน
  • สารคดี 199 กระบวนท่าของครูมืออาชีพ ทางก้าวหน้าของครูมืออาชีพ  ครูมืออาชีพยุคปฏิรูปการศึกษา การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การฝึกกระบวนการคิดโดยการปฏบัติ ข้ามโขงไปลาว เที่ยวบาหลี
  • หนังสือสำหรับเด็ก ยอดกับทองเด็กอีสาน อาร์ทกับดอกหญ้า เพื่อนรักเพื่อนแท้ เหตุเกิดที่บ้านโพนทราย ชีวิตใหม่ (ได้รับรางวัลจากธนาคารกรุงเทพฯ) ...”

งานเขียนของอาจารย์สมพงษ์ที่เป็นบทความ และเรื่องสั้นในช่วงระยะเวลา 20 กว่าปี ตั้งแต่ พ.ศ.2521 เป็นต้นมา มีมากมาย และได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และ รายเดือน ที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย เป็นบทความเกี่ยวกับการศึกษา สังคม และวัฒนธรรม ประมาณ 2,500 เรื่อง ส่วนที่เป็นเรื่องสั้นที่ลงพิมพ์ในวารสารรายเดือนมีประมาณ 350 เรื่อง

kru kamman 04

ในบรรดางานเขียนประเภทนวนิยาย เรื่องที่สร้างความโด่งดังให้แก่อาจารย์สมพงษ์มากที่สุดก็คือ นวนิยายเรื่อง "ครูบ้านนอก" ซึ่งนอกจากจะโด่งดังอยู่ในประเทศไทยหลายทศวรรษแล้ว ยังแพร่หลายไปยังนานาประเทศอีกด้วย ซึ่งอาจารย์สมพงษ์ได้เล่าไว้ในคำนำของผู้ประพันธ์ ในการพิมพ์ครั้งที่ 12 ของนวนิยายเรื่อง “ครูบ้านนอก” ความตอนหนึ่ง ว่า

“...นิยายเรื่อง ครูบ้านนอก มีความเป็นมาดังนี้ ในปี 2518 ในขณะที่ผมเป็นข้าราชการครูในจังหวัดอุบลราชานี ผมได้เขียนเรื่องสั้นชุดหนึ่ง จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสด้วยตนเอง ผสมผสานกับเรื่องราวที่ผมได้รับรู้ จากคำบอกเล่าของครูและชาวบ้านที่เคยรู้เห็นเหตุการณ์ และเรื่องราวของครูประชาบาลในท้องถิ่น เรื่องสั้นชุดนั้น มีสาระเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของครูประชาบาลจังหวัดอุบลฯ ในช่วง พ.ศ. 2500 – 2519 หนังสือเล่มนั้นชื่อ "บันทึกของครูประชาบาล" ประกอบด้วยเรื่องสั้น 69 ตอนๆ ละประมาณ 1 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป ผมขอให้ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง (ขณะดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา) เขียนคำนำ และท่านได้กรุณาเขียนคำนำให้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2519 หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชมเชย "หนังสือดีเด่นประเภทนวนิยาย" ในงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2519

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2520 บุคคลคณะหนึ่งไปพบผมที่บ้านพักในเมืองอุบลฯ บุคคลดังกล่าวขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือ บันทึกของครูประชาบาล เพื่อนำไปสร้างภาพยนตร์ ผมแย้งว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นรวมเรื่องสั้น ไม่มีพระเอก นางเอก คงไม่เหมาะที่จะนำไปสร้างภาพยนตร์ ผมเสนอว่า ถ้าบุคคลคณะนั้นเห็นว่าสาระของบันทึกของครูประชาบาล ควรสร้างเป็นภาพยนตร์ ผมจะเขียนนิยายขึ้นใหม่ให้มีสาระตามบันทึกของครูประชาบาล

kru kamman 05

บุคคลคณะนั้นเห็นด้วย แต่ขอร่วมวางโครงเรื่องพร้อมทั้งขอตั้งชื่อเรื่องว่า "ครูบ้านนอก" ผมขอให้บุคคลคณะนั้นเขียนบทภาพยนตร์ และผมก็จะเริ่มเขียนนิยาย หนังสือครูบ้านนอกพิมพ์เสร็จ พร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง "ครูบ้านนอก" ฉายในกรุงเทพฯ ในต้นปี 2521 หนังสือครูบ้านนอกได้ถูกพิมพ์หลายครั้ง โดยหลายสำนักพิมพ์ การพิมพ์ครั้งนี้ จึงถือเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 12 ของสำนวนภาษาไทย

การแปลและพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศมีดังนี้ ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) พิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น ครั้งแรกในชื่อออกเสียงว่า “อินาคาโนคิโอชิ” (Inaka no Kyoshi) โดยสำนักพิมพ์สถาบันอิมูรา และพิมพ์อีกถึงครั้งที่ 5 เมื่อ ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) สำนวนภาษาอังกฤษชื่อเรื่อง The Teachers of MadDog Swamp พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) พิมพ์ครั้งที่ 2 โดย Silkworm Book สำนักพิมพ์สุริวงศ์ เชียงใหม่ ค.ศ. 1992 (พ.ศ.2535) สำนวนภาษาอูดู (Urdu) ชื่อเรื่อง The Death of Dream พิมพ์โดยสถาบัน MASHAL เมือง Lahore ประเทศปากีสถาน เมื่อ ค.ศ. 2003...”

งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์สมพงษ์ ที่ทำควบคู่ไปกับงานเขียนก็คือ การเป็นวิทยากร โดยเป็นวิทยากรมาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นครูในโรงเรียนประชาบาล เป็นศึกษานิเทศก์ เป็นนักวิชาการ เป็นผู้บริหารที่คุรุสภา นอกจากเป็นวิทยากรในประเทศแล้ว ท่านยังได้รับเชิญร่วมประชุม และเป็นวิทยากรในต่างประเทศหลายครั้งที่สำคัญ เช่น

  • พ.ศ.2523 ประชุมวรรณกรรมที่เมืองมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
  • พ.ศ.2524 ประชุมวรรณกรรมและวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติแคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย
  • พ.ศ.2525 บรรยายเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมและสังคมไทย ให้แก่คนไทยในนครนิวยอร์ค วอชิงตันดี.ซี. และลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ.2535 เสนอรายงาน Country Report ในที่ประชุมสภาครูอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์
  • พ.ศ.2540 เป็นผู้บรรยาย ผู้หนึ่งในการประชุมสมาคมครูของมูลนิธิชิสุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ

อาจารย์สมพงษ์ได้ให้ข้อคิดในการทำงานของตน ตลอดจนความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจไว้ในประวัติซึ่งนำมาลงไว้ในหนังสือ ชีวิตสมพงษ์ พละสูรย์ฯ เล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าไม่อาจอ้างตนได้ว่า ทำงานเพื่อสังคม เพราะงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานราชการ ซึ่งข้าพเจ้าต้องทำตามระเบียบและกฎหมาย ข้าพเจ้าทำงานด้วยความสำนึกสุจริต คำสอนของพ่อแม่และเครือญาติ ทำให้ข้าพเจ้าทำงานด้วยใจสุจริต ข้าพเจ้าทำงานโดยไม่ยึดมั่นในยศตำแหน่ง แต่ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ เมื่อมีโอกาสจึงคิดและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอยู่เสมอ

kru kamman 07

ตำแหน่งทางราชการของข้าพเจ้าไม่ใหญ่ ไม่เล็ก งานราชการที่ข้าพเจ้าปฏิบัติมีส่วนร่วมคิด และร่วมทำ (อย่างมาก) ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา และวงการครูของชาติได้แก่ หลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 แผนการสอนชั้น ป. 1 – ป. 6 ของกรมวิชาการ มาตรฐานวิชาชีพครู พ.ศ. 2537 ของคุรุสภา และจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539 ของคุรุสภา...”

ในด้านความเป็นครู อาจารย์สมพงษ์เชื่อมั่นว่า ตนได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจจากครู โดยได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครูของตน ซึ่งนำมาลงไว้ ในหนังสือชีวิตสมพงษ์ พละสูรย์ฯ เล่มเดียวกันอีกตอนหนึ่งว่า “...เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่เข้าโรงเรียนจนเรียนจบมัธยม ครูทุกคนมีอิทธิพลต่อผมมาก ผมเป็นคนเชื่อฟังครู รักโรงเรียน ไม่อยากขาดเรียน ครูบอกหรือสั่งอะไร ก็ต้องรีบทำถือเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว ผมว่าผมสอนง่าย จัดเป็นประเภท เด็กยากจน เรียนดี ความประพฤติเรียบร้อย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก...

เพราะความที่ผมเชื่อครู ผมจึงขยันเรียน การบ้านไม่เคยค้าง ให้ปุ๊บทำปั๊บ... ผมว่าถ้าคนเราศรัทธาในตัวครูอาจารย์แล้ว การเรียนมันจะดีขึ้นเอง เพราะเจ้าตัวขยันขึ้น รักการเรียนมากขึ้น ทำงานที่ครูมอบหมาย ถ้าสงสัยก็สอบถาม แต่ถ้านักเรียนไม่ชอบครู หรือไม่ศรัทธาครู ผลมันจะออกมาตรงกันข้ามเลย

kru kamman 08

การที่ผมเอ่ยถึงครูเก่าของผม เพราะเห็นว่าท่านเหล่านี้เป็นผู้เข้าใจนักเรียน สนใจนักเรียน ตอบสนองต่อปัญหาของนักเรียนแต่ละคนเป็นรายๆ ไป เด็กมีปัญหาอย่างผมเมื่อมีครูดีๆ อย่างนี้ ก็มีกำลังใจ อยากเล่าเรียน และนิสัยที่ว่านี้พลอยติดตามตัวผมมาด้วย คือเมื่อผมเป็นครูผมก็ทำอย่างเดียวกับครูที่ผมศรัทธา ผมให้ความใส่ใจเด็ก รักและเมตตาเด็กเหมือนพี่น้อง เท่าที่สังเกตรู้สึกว่าเด็กๆ ศิษย์ผมเขารักผมมากนะ หลายคนปัจจุบันมีการงานทำรายได้ดีกว่าผมก็มี แต่เขาเรียกผมว่าครู ทั้งๆ ที่คนอื่นๆ เรียกผมว่า อาจารย์ และเขายังทำตัวเป็นลูกศิษย์เหมือนกับเมื่อ 25 ปีก่อน

ที่ผมพูดมายืดยาวก็เพื่อจะอธิบายว่า ครูมีอิทธิพลต่อผมหลายทาง ทั้งด้านการเรียน ด้านนิสัย และการปฏิบัติตนต่อศิษย์ ผมจึงเชื่อว่า ถ้าบ้านเมืองเรามีครูดีๆ ที่เข้าใจปัญหาของศิษย์ และมีน้ำใจช่วยแก้ปัญหาของศิษย์เท่าที่บทบาทของครูจะทำได้ ผมว่าเด็กๆ เราจะเรียนดี เรียนเก่ง และมีความประพฤติดีมาก ปัญหาสังคมอาจน้อยกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้...

เกียรติคุณที่ได้รับการยกย่อง

  • พ.ศ. 2546 ได้รับเลือกเป็น “คนดีศรีอำนาจเจริญ”
  • พ.ศ. 2546 ได้รับเลือกเป็น “ศิลปินมรดกอีสาน”
  • พ.ศ. 2552 ได้รับเลือกเป็น “ปราชญ์เมืองอุบลฯ”
  • พ.ศ. 2556 ได้รับเลือกเป็น “ผู้ทดแทนคุณแผ่นดิน”

อ่านบทความเรื่อง "เรียนภาษาอังกฤษประสาครูบ้านนอก" โดย คำหมาน คนไค

ชีวิตครอบครัว

นายสมพงษ์ พละสูรย์ แต่งงานกับนางสาวมาลัย (บุตรนายผุย นางคำปุ่น กาญจนกัณฑ์) ใน พ.ศ. 2504 มีบุตรสาว 2 คนคือ นางมาริสา ชัยชาญ และนางสาวรสมาลิน หลังจากนางมาลัยถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2509 นายสมพงษ์ได้แต่งงานอีกครั้งกับนางสาวสายัณห์ (บุตรนายสุปัน นางยุ่น พูลพัฒน์) ใน พ.ศ. 2514 มีบุตรสาว 2 คน คือ นางสาวสิริพงษ์ และนางสาววราพงษ์ ครอบครัวมีแต่ความสงบสุข ไม่เงียบเหงา เพราะการที่เป็นศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ นักเขียน นักอภิปราย ฯลฯ ย่อมได้รับการเชิญให้เข้าร่วมในงานสำคัญๆ ของสังคมอยู่ตลอดเวลา

kru kamman 01

จนกระทั่งสูงอายุมากขึ้น ร่างกายจึงทรุดโทรมลง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยขึ้น จนกระทั่งถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559 สิริอายุ 78 ปี 8 เดือน 18 วัน

ครูบ้านนอก - ความจริงไม่ตาย

redline

backled1

 

art local people

duang wang sa loon 1ดวง วังสาลุน

นายดวง วังสาลุน เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีความสนใจในศิลปะการแสดงพื้นบ้านมาตั้งแต่เด็ก ได้เริ่มฝึกการร้องลำตอนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อ จึงหันเหชีวิตมาเป็นหมอลำ โดยเป็นตัวประกอบตามคณะหมอลำต่างๆ วงดนตรีพื้นบ้าน แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวเองไม่มีกลอนลำที่เป็นของตนเอง จึงได้คิดเขียนกลอนลำขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงโดยวิธีครูพักลักจำ จากครูบาอาจารย์ต่างๆ เวลาผ่านไปก็สั่งสมความชำนาญมากยิ่งขึ้น จึงหันเหจากการออกหน้าเวทีการแสดง มาอยู่เบื้องหลังเป็นผู้ประพันธ์กลอนลำ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หมอลำดวง วังสาลุน ก็ยึดเอาอาชีพประพันธ์กลอนลำเป็นอาชีพ มีผลงานให้คนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง แม้จะไม่ดังเปรี้ยงปร้าง มีอุปสรรคมากมายก็ไม่เคยท้อ ยังคงสร้างผลงานเรื่อยมา ในช่วงแรกๆ ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะยุคนั้นวงการหมอลำยังไม่เฟื่องฟู

จนเมื่อปี พ.ศ. 2541 ได้รับเชิญไปอยู่กับคณะหมอลำที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานียุคนั้น คือ คณะอุบลพัฒนา ที่มีพระเอกใหญ่เสียงทอง ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม คู่กับนางเอกสาวอังคนางค์ คุณไชย และสไบแพร บัวสด ร่วมคณะอยู่ด้วย ภายใต้การนำของหัวหน้าคณะ หมอลำอำพร สง่าจิตร

นายดวง วังสาลุน ได้รับมอบหมายให้ประพันธ์กลอนลำ และจัดฉากประกอบเรื่อง "นางนกกระยางขาว" เพื่อเข้าประกวดหมอลำในปีนั้น จนได้รับ รางวัลชนะเลิศ จาก กรมประชาสัมพันธ์ หลังจากนั้นได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เรื่อยมาตามลำดับ ถึงขั้นมีบริษัทจากส่วนกลางมาติดต่อให้ไปบันทึกแผ่นเสียงจำนวนมาก

duang wang sa loon 2

กลอนลำของนายดวง วังสาลุน ประพันธ์ขึ้นนั้นมีอยู่มากมายหลากหลายประเภท เช่น ลำเรื่องต่อกลอน ลำล่อง (ลำยาว) ลำเพลิน ลำภูไท ลำกล่อมลูก ฯลฯ ผลงานเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดออกไปยังผู้ฟังจากศิลปินมากมาย เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงให้กับศิลปิน เช่น หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2549 บานเย็น รากแก่น ศินปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2556 รวมถึง อังคนางค์ คุณไชย และอีกหลายๆ คน

รัตนา ดาเหลา กำลังต่อกลอนลำกับ พ่อดวง วังสาลุน

ด้วยความมุ่งมัน ทุ่มเท ในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กอร์ปกับคุณค่าในบทประพันธ์กลอนลำที่ทรงคุณค่า ที่ได้มอบไว้ให้เป็น "มูนมังมรดก" สู่บรรพชนชาวอีสาน นายดวง วังสาลุน จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (ประพันธ์กลอนลำ) ประจำปี พ.ศ. 2550 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2558

duang wang sa loon 3

นายดวง วังสาลุน ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 รวมสิริอายุ 67 ปี

กลอนลำอาลัยพ่อหลวง โดย นายดวง วงสาลุน ลำโดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)