คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ต้นแบบของการแสดงตลกอีสานที่มีชื่อเสียงยาวนาน เป็นที่รู้จักกันทั่วไปด้วยปฏิภาณไหวพริบที่ฉับพลัน สร้างความขบขันแก่ผู้ชมได้ทุกครั้ง "พ่อใหญ่หนิงหน่อง เพชรพิณทอง" ดาวตลกคู่บุญของ นพดล ดวงพร นั่นเอง
พ่อใหญ่หนิงหน่อง เพชรพิณทอง มีชื่อ-นามสกุลจริงว่า นายสุดใจ เที่ยงตรงกิจ เกิดวันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่บ้านหนองสะพัง ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู) จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องหยุดเรียนไปเนื่องจากฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน หลังจากนั้นหนิงหน่องได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางศิลปินหมอลำหมู่ ลำทำนองขอนแก่น "คณะบรรจงศิลป์" อำเภอเมืองขอนแก่น โดยได้รับบทเป็นพระเอกและบทอื่นๆ ในวรรณกรรมอีสานเรื่อง “ท้าวแสนโฮง” รวมระยะเวลาในการเป็นศิลปินหมอลำนานประมาณ 10 ปี
ความสามารถและศิลปะการละเล่นที่ทำให้ใครต่อใครได้เห็นความสามารถ จึงทำให้ นพดล ดวงพร เจ้าของวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ "คณะเพชรพิณทอง" ชักชวนให้มาร่วมวงด้วยกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 หนิงหน่อง ได้แต่งบทเพลงในแนวตลกให้กับสมาชิกในวง ได้คิดมุขตลกที่เป็นเอกลักษณ์ แบบฉบับ สร้างความประทับใจในการแสดงยาวนาน จนกระทั่งได้ลาออกจากวงเพชรพิณทองในปี พ.ศ. 2541 เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพไม่แข็งแรง
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับพ่อใหญ่หนิงหน่อง ประกอบด้วยการแสดงในชุด หนิงหน่องย่านเมีย, หนิงหน่องย่านตาย, ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่, แจกข้าวหาลุงแนบ และผลงานอื่นๆ มากกว่า 50 ชุด ทั้งในรูปแบบวิดีโอ เทปคาสเซต และเป็นต้นแบบของการเล่นตลกแก่นักแสดงตลกรุ่นหลังๆ หลายคน มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียง เช่น อาวแท็กซี่, ใหญ่ หน้ายาน, ชัย, ฝ้ายเม็ดใน, จ่อย จุกจิก เป็นต้น
พ่อใหญ่หนิงหน่อง มีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น โรคเกาต์ รูมาตอยด์ และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ครั้งยังร่วมงานการแสดงกับวงดนตรีเพชรพิณทอง จนในปี พ.ศ. 2540 หนิงหน่องได้ล้มลงหน้าเวทีการแสดงสด เนื่องจากป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลราชพฤกษ์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อทำการผ่าตัดเป็นการด่วน หลังการผ่าตัดได้ 7 วัน แผลผ่าตัดเกิดการติดเชื้อและฉีกขาด ทำให้น้ำดีที่ค้างอยู่ไหลท่วมอวัยวะภายใน จึงต้องทำการผ่าตัดซ้ำเพื่อล้างอวัยวะภายในทั้งหมด เมื่อฟื้นขึ้นมาปรากฏว่า หนิงหน่องมีปัญหาเรื่องความจำเลอะเลือน ทำให้ไม่สามารถกลับไปเล่นตลกได้อีก จึงต้องลาออกจากวงเพื่อไปรักษาตัวเองอย่างจริงจัง
ในปี พ.ศ. 2544 พ่อใหญ่หนิงหน่อง มีอาการไตไม่ทำงาน ความดันโลหิตสูง และน้ำท่วมปอด ทางครอบครัวได้พาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์และทำการรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา หนิงหน่องต้องฟอกไตเดือนละ 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินรักษา จนมีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต และโลหิตเป็นพิษ ทำให้ไม่ตอบสนองต่อการฟอกไต
และได้เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จังหวัดขอนแก่น ด้วยอาการไตวายเรื้อรัง สิริรวมอายุได้ 67 ปี ทางญาติได้จัดให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมศพของหนิงหน่อง ระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่วัดโนนศิลา บ้านสำราญ ตำบลสำราญ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และได้มีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560 จบตำนานยิ่งใหญ่ของ "ดาวตลกอีสาน พ่อใหญ่หนิงหน่อง เพชรพิณทอง" ไปตลอดกาล
ไว้อาลัย รำลึกความหลัง รวมช็อตเด็ดๆ หนิงหน่อง เพชรพิณทอง
เพชรพิณทอง ตอน หนิงหน่องเอาลูกเขย [บันทึกการแสดงสด] ตอน 1
เพชรพิณทอง ตอน หนิงหน่องเอาลูกเขย [บันทึกการแสดงสด] ตอน 2
วันนี้นำเสนอศิลปินนักวาดภาพการ์ตูนสักคนครับ ด้วยเป็นเรื่องร่วมสมัยกับผมด้วย คือ ผมเป็นแฟนคลับการ์ตูนภาพสวยๆ ในยุคนั้น สถานที่เรียนของศิลปินและทำงานอยู่ในช่วงแรกๆ ก็อยู่แถวๆ ข้างบ้านที่ผมมาอยู่เพื่อเล่าเรียนเขียนอ่านช่วงประถมศึกษา ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นั่นเอง (ผมเรียนที่ เทศบาลวารินวิชาชาติ ตอนประถม มาต่อมัธยมที่โรงเรียนสงเคราะห์ศึกษา ใกล้ๆ กับโรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ ประมาณ 500 เมตร ผมเดินผ่านทุกวัน) เขาผู้นั้นคือ
เตรียม ชาชุมพร เกิดที่ บ้านหนองหวาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่ โรงเรียนบ้านหนองหวาย แล้วไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่ โรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จนสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ. 3)
ระหว่างที่เรียนในช่วงปลาย ม.ศ. 3 เตรียมก็ได้รู้จักกับ จุลศักดิ์ อมรเวช (หรือ จุก เบี้ยวสกุล "น้าหมู") นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ ที่เขาเรียนอยู่ จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของ จุก เบี้ยวสกุล กระทั่งเมื่อจบ ม.ศ.3 แล้ว เตรียม จึงได้ทำงานเป็นครูผู้ช่วยสอน และสอบได้ วาดเขียนโท โดยเขาสอนหนังสือและเขียนการ์ตูนไปด้วย เตรียมเล่าว่า
“พี่จุกมาดูแลกิจการที่โรงเรียนและมาสอนศิลปะด้วย ผมก็เลยขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พอดีกับช่วงนั้นพ่อกับแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนระดับสูงขึ้นไปอีก เพราะค่าใช้จ่ายแพงมาก แม่ให้ไปสมัครสอบนายสิบกับสอบครู ปรากฏว่าไม่ติดฝุ่นเลยมาอยู่กับพี่จุก ช่วยเขาทำงานทุกอย่าง
“มันก็ดีนะ ทำให้เราแข็งแกร่ง เพราะเราจะมาเอาวิชาจากเขา พี่จุกเขาก็ดี เหมือนพ่อคนที่สองของผมเลย มีอะไรก็แนะนำทุกอย่าง”
หน้าที่หลักๆ ของเตรียมคือ ช่วยงานบ้าน เลี้ยงลูก คอยซื้อข้าวของให้ ส่วนน้าหมูก็ถ่ายวิชาด้วยการให้เขาเขียนตัวหนังสือตามแบบ ลอกการ์ตูนฝรั่งโดยให้เขียนภาพใหญ่กว่าแบบ 3-4 เท่า ซึ่งเตรียมทำออกมาสวยงาม และมีแววจะเติบโตอยู่ไม่น้อย
คุณอำพล เจน (นักเขียนการ์ตูนร่วมสมัยกับ เตรียม) เล่าว่า "พูดแบบลุกทุ่งก็คือ เตรียม ชาชุมพร เป็นคนที่ถูกปั้นขึ้นมาด้วยมือด้วยตีนของ ครูจุก เบี้ยวสกุล (น้าหมู)
สมัยที่น้าหมูยังอยู่โรงเรียนสิทธิธรรม วารินฯ เตรียมก็มาอยู่ด้วย หัดเรียนเขียนวาด จนเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัวแล้ว (วาดการ์ตูนส่ง ท้อปป๊อบ) น้าหมูเห็นว่า เตรียมยังมีเวลาว่างอยู่มาก ก็ให้เตรียมไปเป็นครูสอนวาดเขียนให้เด็กๆ ในโรงเรียนเป็นงานอดิเรกด้วย
นักวาดการ์ตูน "กลุ่มเบญจรงค์" จากซ้าย พี่โอม พี่สมชาย พี่เตรียม พี่พล พี่เฉลิม
เมื่อใดที่ผมว่างจากงานที่กรุงเทพฯ ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่อุบลฯ ก็จะตรงไปหาน้าหมู และ เตรียม ที่โรงเรียนสิทธิธรรมทุกครั้ง เตรียมกำลังสอนเด็กๆ อยู่หน้ากระดานดำ เหลือบเห็นผมเดินผ่านหน้าห้องจะตรงไปหาน้าหมู ก็จะรีบปุบปับกุลีกุจอประกาศเสียงดัง ชนิดที่ว่าหูตึงๆ แบบผมยังได้ยินชัดแจ๋ว
“นักเรียนเอากระดาษดินสอขึ้นมาวาด... (อะไรสักอย่าง) ครูจะไปธุระ”
แล้วก็โดดร่มออกมาหาผม ไปกินก๊วยเตี๋ยวเที่ยวกันทั้งวัน “ไม่กลัวน้าหมูตัดเงินเดือนเรอะ” ผมถามแล้วเตรียมตอบกลับมา “กูไม่มีเงินเดือนให้ตัดอยู่แล้วโว้ย”
เมื่อฝีมือการวาดเขียนใช้ได้ จุก เบี้ยวสกุล จึงนำงานการ์ตูนของ เตรียม ไปเสนอให้ทีมงานหนังสือการ์ตูน "ท้อปป๊อป" ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนแนวนิยายภาพ พิจารณาตีพิมพ์ เตรียม ชาชุมพร จึงได้เปิดตัวครั้งแรกในหนังสือ "ท้อปป๊อป" ด้วยเรื่อง "มังกรผยอง" นิยายภาพแนวเรื่องจีนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในเวลานั้น โดยใช้นามปากกาว่า ‘จิ๋ว เบี้ยวสกุล’ แต่ได้ลงพิมพ์เพียงตอนเดียวเท่านั้น เนื่องจาก "ท้อปป๊อป" ได้ปิดตัวเองลงในเวลาต่อมา
พี่เตรียม พี่สมชาย พี่เฉลิม พี่โอม
เมื่อ น้าหมู อพยพโยกย้ายเข้ากรุงเทพฯ ก็ทิ้งเตรียมไว้ที่อุบลฯ โดยน้าหมูลงมือทำหนังสือ "หนุ่ม 74" ให้กับสำนักพิมพ์จักรวาล (สี่แยกพิชัย..ซอยนรอุทิศ) ได้สักพักใหญ่ๆ เตรียมซึ่งทนอยู่อุบลฯ ตามลำพังไม่ได้ ก็ตามมาหาน้าหมูถึงกรุงเทพฯ มาที่ออฟฟิศ หนุ่ม74 เลยครับ การเข้ากรุงในครั้งนั้น เตรียมไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง หวังพึ่งน้าหมู แต่น้าหมูไม่เล่นด้วย ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรกันหรือเปล่า ท่านบอกกับเตรียมสั้นๆ ว่า “ปีกกล้าขาแข็งแล้วให้บินเอง”
เตรียม นั่งซึมอยู่ที่โซฟารับแขกในออฟฟิศจนเลิกงาน ทุกคนทยอยกลับบ้านกันหมด รวมทั้งน้าหมูด้วย เหลือแค่ผม (อำพล เจน) คนเดียวที่ยังต้องทำงานเร่งด่วนต่ออีกหน่อย ผมเลยถามว่า “มึงจะไปนอนที่ไหนล่ะวะ" เตรียมตอบสั้นๆ เหมือนพึมพำในลำคอว่า “บ่ฮู้”
ผมก็ยังงงๆ เลยถามต่อ “บ่ฮู้นี่แปลว่าอะไรวะ” เตรียมกล่าวเศร้าๆ ว่า “ว่าจะมาอยู่กับน้าจุก..”
สถานการณ์ตอนนั้น บีบบังคับให้ผมต้องเป็นที่พึ่งให้เตรียมแล้วครับ “กูนอนอยู่บ้านพี่สุนทร (ผู้จัดการโรงพิมพ์จักรวาล) มึงนอนกะกูได้บ่ล่ะ”
บ้านพี่สุนทรที่ผมอาศัยอยู่นั้น อยู่ริมคลองแถวๆ สามเสน พี่สุนทรยกเรือนคนใช้ให้ผมอยู่อาศัยโดยไม่เสียเงิน แต่มีเงื่อนไขให้ผมต้องดูแลหมาพันธุ์โดเบอร์แมนตัวหนึ่ง เอามันมานอนด้วย ผูกไว้กับขาเตียง พอเช้าก็พามันไปขี้ เป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ซุกหัวนอน เตรียมก็เลยต้องมานอนดมเยี่ยวหมาอยู่กับผม ผลัดกันจูงหมาไปขี้สลับกับผม ถือเป็นกิจที่ต้องทำระหว่างนอนพักอยู่บ้านริมคลองนั้น
ในที่สุดผมก็เห็นว่า ที่นี่ไม่เหมาะสำหรับ เตรียม... จะทำงานหรือทำอะไรส่วนตัวไม่สะดวกอย่างยิ่ง จึงชวนเตรียมออกไปหาบ้านเช่าอยู่ด้วยกัน
ผมพา เตรียม ไปเช่าหอพักอยู่ในซอยวัดสังกัจจายน์ ย่านฝั่งธนฯ ถิ่นเก่าของผม และที่นี่ยังมีเพื่อนเรียนเพาะช่างอีกหลายคนเช่าอยู่หอเดียวกันนั้น พอให้เตรียมคลายเหงา ระหว่างนั้นเตรียมจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องหารายได้ ต้องมีงานทำ โดยการนำผลงานของเขาไปเสนอต่อ อาจารย์วิริยะ สิริสิงห ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดทำนิตยสาร “ชัยพฤกษ์ ฉบับ วิทยาศาสตร์” ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช อาจารย์วิริยะ จึงมอบหมายให้เตรียมเขียนนิยายภาพแนววิทยาศาสตร์ โดยอาศัยการ์ตูน Comic ของต่างประเทศเป็นต้นแบบ และใช้นามปากกาว่า “ตรี นาถภพ” ต่อมา ณรงค์ ประภาสะโนบล (พี่รงค์) จึงได้ดึงตัวไปช่วยงานที่ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” และ “ตู๊นตูน” ซึ่งเป็นหนังสือในเครือสำนักพิมพ์เดียวกันนั่นเอง
ที่ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” แห่งนี้เอง ที่ศักยภาพของเตรียมได้เปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่ ทำให้ฝีมือของเตรียมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการนักวาดการ์ตูนในยุคนั้น
กับการ์ตูนเรื่องแรก หรือจะเรื่องที่สอง ผมก็จำไม่ได้แม่น อาจเขียนไปก่อนแล้วสักเรื่อง สองเรื่องก็ได้ แต่ไม่ประสพความสำเร็จเท่าที่ควร เตรียม ก็หันหน้ามาปรึกษาผม ผมเลยแนะนำว่า
“กูมีอยู่เรื่องหนึ่งที่อยากให้มึงเขียน จะเหมาะกับหนังสือชัยพฤกษ์ด้วย”
“เรื่องอิหยังล่ะหวา”
“เรื่องนี้นะ.. กูเองอยากเขียนใจแทบขาด แต่กูไม่มีปัญญาเขียนดอก มันบ่ใช่สไตล์กู เรื่องนี้กูว่ามึงคนเดียวที่เหมาะสมสุดๆ”
“เรื่องอิหยังหวา”
ผมพาเตรียมไปวงเวียนใหญ่ จำได้ว่าเคยเห็นหนังสือพ้อคเก็ตบุ้คที่มีเรื่องดังกล่าวนี้ ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือนั้นวางขายอยู่เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือ "รวมเรื่องสั้นของ มน เมธี" คลับคล้ายคลับคลาว่าชื่อ ”น้ำใจไหลเชี่ยว” นึกลุ้นว่า จะมีใครชิงซื้อตัดหน้าไปก่อนหรือเปล่า
มน เมธี เป็นนามปากกาของ มานี ศุกรสูยานนท์ เป็นนักเขียนรุ่นเดียวกับ สุวรรณี สุคนธา น่าเสียดายที่ท่านกินยานอนหลับฆ่าตัวตายไปตั้งแต่ปี 2512 ก็ไปรื้อๆ ค้นๆ ที่ร้านขายหนังสือเก่าข้างวงเวียนใหญ่ ค้นแค่เดี๋ยวเดียวก็เจอ หนังสือเล่มนั้นมีเรื่องสั้นชื่อว่า..”รุ่นกระทง” ปนอยู่กับอีกหลายๆ เรื่อง
ผมบอกเตรียมว่า... “มึงเขียนเรื่องนี้เลย”
เตรียมเชื่อผม หยิบเอา "รุ่นกระทง" ไปเขียนขึ้นเป็นนิยายภาพ แต่เปลี่ยนชื่อใหม่ตามกระแสหนังดังตอนนั้น คือหนังที่เกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างเพื่อน หนังชื่อ Melody ซึ่งมี แจ็ค ไวลด์, มาร์ค เลสเตอร์, และเทรซีย์ ไฮด์ เป็นดารานำแสดง
หลังจากเรื่อง ”เพื่อน” ตีพิมพ์ เตรียม ชาชุมพร ก็ดังขึ้นมาทันที ราวกับสวรรค์วางแผนไว้ให้ ต่อจากนั้นเตรียมเริ่มมีเพื่อนมากขึ้น ไม่เหงา และเริ่มคุ้นเคยกับกรุงเทพฯ ผมก็หมดหน้าที่พี่เลี้ยงไป
ต่อมาเมื่อนิยายภาพเรื่อง “เพื่อน” ได้ตีพิมพ์ใน "ชัยพฤกษ์การ์ตูน" (นิยายภาพเรื่องนี้ เตรียมเขียนโดยใช้ชื่อ-นามสกุลจริง) ชื่อเสียงของ เตรียม ชาชุมพร ก็ยิ่งเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยนิยายภาพชุดนี้มีเค้าโครงมาจากเรื่องสั้นชื่อ “รุ่นกระทง” ของ “มน เมธี” เนื้อหาว่าด้วย เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายชาวชนบทกับเด็กหญิงชาวกรุง ที่มีโอกาสได้รู้จักกัน และได้ใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ร่วมกันท่องไปในธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของท้องไร่ท้องนา ก่อนจะจากกันในท้ายที่สุด จุดเด่นของนิยายภาพชุดนี้คือ บรรยากาศชนบทที่ เตรียม ชาชุมพร รังสรรค์ได้อย่างงดงาม ชวนประทับใจ จากประสบการณ์ที่อยู่ในชนบทมาตั้งแต่วัยเด็ก และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาในเวลาต่อมา
รูปปั้น "คำแพง" ที่วัดภูสิงห์ จังหวัดเลย
ผลงานส่วนใหญ่ของ เตรียม มักเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เสพง่าย ตรงไปตรงมา เช่น ‘เด็กชายคำแพง’ ซึ่งถ่ายทอดประวัติของตัวเขา หรือ ‘ตากับหลาน’ ซึ่งหยิบเรื่องของเล่นวัยเด็กอย่างเรือขุดมาดัดแปลง รวมทั้งรับงานวาดภาพประกอบให้แบบเรียนและสื่อสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะช่วงปี 2520 - 2521 นับเป็นยุคทองของ เตรียม ชาชุมพร อย่างแท้จริง งานของเขาไปปรากฏอยู่ในหนังสือการ์ตูนมากมาย หลากหลายหัว ไม่เว้นแม้แต่บนปกการ์ตูนเล่มละบาท ที่สำนักพิมพ์หวังขายชื่อของ "เตรียม ชาชุมพร" ตามกระแสนิยม
ดำรงค์ แนวสีนาค กล่าวถึง เตรียม ชาชุมพร ในตอนที่เขียนการ์ตูนเรื่อง "โสนน้อย" ว่า "พี่เตรียม เขียนภาพประกอบเรื่องนี้ แกไปถ่ายชีวิตชาวเรือแถวใต้สะพานพระราม 6 ไปเจอเด็กผู้หญิงน่ารักมาก ชื่อ "น้องปู" แกเอามาเป็นแบบวาดตัวนางเอก และไม่รู้แกนึกยังไง เอาผมมาเป็นแบบตัวพ่อ...ซะงั้น" ผู้เขียนเรื่อง โสนน้อย คือ แม้นมาส ชวลิต เขียนภาพประกอบโดย เตรียม ชาชุมพร
ในระยะหลังงานของ เตรียม ชาชุมพร เริ่มพัฒนาไปสู่นิยายภาพแนวสะท้อนสังคม โดย เตรียม นำเรื่องราวที่เขียนมาจากข่าวสารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับคนยากจน สุดชายขอบของสังคมเมือง ชะตากรรมอันน่าสลดใจ และความไร้มนุษยธรรม ที่กลายเป็นข่าวแทบไม่เว้นวัน มีข้อสังเกตว่า เตรียม ใกล้ชิดอยู่กับการงานของ มูลนิธิเด็ก และบรรดาอาสาสมัครผู้ทำงานเพื่อสังคม ดังนั้น ข้อมูลของเขาหรือผู้ให้ข้อมูลแก่เขา จึงมาจากคนทำงานกลุ่มนี้ ทั้งนี้ นิยายภาพของเตรียม 4 เรื่องในแนวนี้ ได้แก่ "ยายจ๋า, ตากับหลาน, เพื่อนบ้านใหม่" และ "ตุ๊กตาขาด้วน" ได้รับการรวมพิมพ์เป็นเล่ม และได้รับการยกย่องจากคณะผู้วิจัยของ สกว. ให้เป็น "หนึ่งใน ๑๐๐ ชื่อเรื่องหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน"
จากผลงานอันโดดเด่น ในการสะท้อนภาพชีวิตชนบทได้อย่างน่าประทับใจนี่เอง ทำให้ "เตรียม ชาชุมพร" ได้รับเลือกให้เป็นผู้วาดภาพประกอบในหนังสือ "แบบเรียนภาษาไทย" ชุด มานะ-มานี-ปิติ-ชูใจ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่ม 1 และภาพประกอบใน "เรื่องสั้นชุดชีวิตชนบท" ซึ่งเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน สำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ของกรมวิชาการ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดย องค์การค้าของคุรุสภา เนื้อหาเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตอันรื่นเริง สดใสของบรรดาเด็กๆ ในชนบทภาคใต้ จากปลายปากกาของ "มานพ แก้วสนิท" นักเขียนผู้ถนัดเรื่องราวชีวิตชนบทเป็นพิเศษ
หมายเหตุ : ผู้วาดภาพในแบบเรียน มานะ-มานี-ปิติ-ชูใจ มีดังนี้ คือ
ท่านที่สนใจ หนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ สามารถดาวน์โหลดไฟล์แบบ PDF ได้ที่นี่ [ คลิกเลย ]
ที่ผ่านมา เตรียม ชาชุมพร ย้ำเสมอว่า “การปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กก็เหมือนการให้ปุ๋ยต้นไม้ ผลออกมาก็เป็นผลไม้ที่สวยงาม มีเมล็ดกิ่งงอกออกมาเป็นพันธุ์ที่ดี การ์ตูนเป็นสื่อที่สำคัญมาก เพราะสามารถปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กได้ รูปแบบก็เชิญชวน และการเขียนการ์ตูนก็เหมือนกับการให้การศึกษาอีกระดับหนึ่ง”
เตรียม ชาชุมพร ได้เสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุรถประจำทางปรับอากาศ พุ่งชนเขา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2533 รวมอายุได้ 38 ปี
เหลือง บริสุทธิ์ หรือชื่อจริง นายสายทอง ไกลถิ่น ชื่อเล่นว่า "ต้อย" หรืออีกชื่อในวงการเพลงคือ พนมกร พรประชา เกิดวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2504 ภูมิลำเนาเดิม บ้านหนองบัวบัลลังค์ ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านเกิด
ช่วงวัยรุ่นอายุประมาณ 16-17 ปีได้ออกไปหางานทำเป็นกรรมกรก่อสร้าง ครั้งแรกทำที่สวนนงนุช พัทยา ชลบุรี แล้วเข้ากรุงเทพฯ ทำงานกรรมกรก่อสร้างเช่นเดิม ระหว่างทำงานก็ฟังวิทยุทรานซิสเตอร์รายการเพลงทางวิทยุ ชื่นชอบเพลงของ ยอดรัก สลักใจ เป็นพิเศษ ทราบข่าวจากวิทยุว่า มีการประกวดร้องเพลงที่สถานีวิทยุ สทร. 2 บางนา จึงไปร่วมประกวดร้องเพลงด้วย สมัยนั้นต้องซื้อผลิตภัณฑ์ของสปอนเซอร์รายการ (แป้งน้ำสมใจนึก) นำเอากล่องมาเขียนชื่อสมัครประกวดร้องเพลง ส่วนตัวแป้งก็เอากลับบ้านไปใช้ต่อ ใช้เพลง "หนุมนาหน้าซื่อ" ของยอดรักเข้าประกวดได้ที่ 1 รับรางวัล 100 บาท (สมัยนั้นทำงานก่อสร้างได้วันละ 25 บาท)
นายสายทอง ไกลถิ่น เข้าสู่วงการเพลงลุกทุ่ง เมื่อปีพุทธศักราช 2521 ขณะนั้นไปเป็นลูกวงในวงดนตรีลูกทุ่งคณะ “สกาวหงส์เหิร” ทำงานทุกหน้าที่ในวงดนตรีอยู่ประมาณ 2 ปี ถึงได้มีโอกาสร้องเพลงหน้าเวที โดยการร้องเพลงแนวเสียงของ ยอดรัก สลักใจ และต่อมาได้รู้จัก อาจารย์มนต์ เมืองเหนือ ครูเพลง ผู้สร้างนักร้องประดับวงการลูกทุ่งไทย และนำไปบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในชีวิตคือ เพลง “เดือนลับฟ้า” ผลงานการประพันธ์เพลงของ เสน่ห์ มนต์อีสาน ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และเป็นนักร้องที่สังกัดวงดนตรี ชาตรี ศรีชล ขุนพลเพลงลูกทุ่งไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น
แต่อาจารย์มนต์ เมืองเหนือ มาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเพลง “คืนลับฟ้า” และตั้งชื่อนักร้องให้ว่า “เหลือง บริสุทธิ์” ได้รับความนิยม และมีชื่อเสียงในวงการเพลงลูกทุ่งไทยในเวลาต่อมา นอกจากนั้นยังมีผลงานเพลงดังอื่นๆ ตามมาอีกหลายเพลง เช่น “หัวใจอันตราย” เป็นต้น
เหลือง บริสุทธิ์ เป็นนักร้องที่ร้องเพลงเสียงสูง มีแก้วเสียงใสกังวาน ร้องเพลงหวานได้ดี จึงทำให้เพลงที่ร้องโด่งดังในเวลารวดเร็ว และออกมาตั้งวงดนตรีเป็นของตนเองอยู่ได้ 2 ปี ก็ยุบวงดนตรี เพราะไม่มีเพลงดังตามมาสนับสนุนนักร้องให้แฟนเพลงติดตาม ต่อมาได้เข้าร่วมงานกับ วงดนตรีเพชรพิณทอง ของ นพดล ดวงพร ครั้งแรกในช่วงหลังจากยุบวงดนตรีเหลือง บริสุทธิ์ ของตนเองไม่นาน และอีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายของวงดนตรีเพชรพิณทอง ก่อนจะยุบวงถาวร ในช่วง 2526 ก็ไปอาศัยร้องเพลงอยู่กับวงดนตรี พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งไทย อยู่ไม่นานก็ออกจากวงดนตรีพุ่มพวง ดวงจันทร์ และมาใช้ชีวิตร้องเพลงตามห้องอาหารในจังหวัดขอนแก่น
จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2527 หลังจากกลับมาสู่อีสาน เหลือง บริสุทธิ์ ก็มีโอกาสออกอัลบั้มใหม่ในแนวเพลงสร้างสรรค์สังคม โดยการสนับสนุนของนักจัดรายการวิทยุในจังหวัดขอนแก่น คือ “จะเด็ด แดนอุดร” และอาจารย์รุ่ง ระพีพรรณ ครูเพลง นักประพันธ์เพลงลูกทุ่งที่ให้การสนับสนุน ออกผลงานเพลงชุดใหม่ ชื่อชุด “หัวใจอันตราย” และชุด “เป่าแคนเลาะโขง” ในชื่อ พนมกร พรประชา
ผลงานขับร้องเพลงลูกทุ่งที่ได้รับการบันทึกเสียง และออกเผยแพร่ไม่น้อยกว่า 100 เพลง ผลงานยุคหลังบทเพลงส่วนใหญ่เนื้อหาสะท้อนทางสังคม และวัฒนธรรมสองฝั่งโขงอย่างเด่นชัด นับว่า นายสายทอง ไกลถิ่น เป็นบุคคลผู้สืบทอดและอนุรักษ์บทเพลงทีมีคุณค่า ที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของอีสานเป็นอย่างดี นอกจากนั้นก็ยังได้ขับร้องบทเพลงที่สร้างสรรค์ให้แก่องค์การต่างๆ มากมาย สมควรได้รับเกียรติยกย่องในคุณความดีที่กระทำ
เหลือง บริสุทธิ์ เป็นนักร้องที่มีอัธยาศัยไมตรี สุภาพ มีสัมมาคารวะต่อผู้มีพระคุณ จึงครองใจแฟนเพลงจนมาถึงยุคปัจจุบัน ถึงแม้จะเคยเป็นหัวหน้าวงดนตรีมาก่อนก็ตาม ยังเป็นคนที่ให้เกียรติคนอื่นเสมอ เป็นคนเรียบง่าย เป็นกันเองกับทุกคน ยินดีรับใช้ตามที่บอกกล่าวขอร้อง ทำตัวเสมอต้นเสมอปลายกับแฟนเพลงที่ไปให้กำลังใจ จึงทำให้เขาเป็นที่รักของทุกคน ปัจจุบันก็ยังหาเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพร้องเพลงที่เขาถนัด
จากเกียรติคุณในการถ่ายทอดบทเพลงลูกทุ่ง โดยเฉพาะบทเพลงลูกทุ่งอีสานจนเป็นที่ยอมรับ นายสายทอง ไกลถิ่น (เหลือง บริสุทธิ์) จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) ปีพุทธศักราช 2560 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป
ที่มา : ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ถ้าใครเคยได้ยินเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่ง ซึ่งมีท่อนที่ร้องว่า "คืนหนึ่ง... ม่วงบานตระการย้อยกิ่ง..." ก็คงจะอดคิดไม่ได้ว่า "ม่วงบาน" นี่คือดอกอะไรกันหรือ?
ดังเช่นผมก็เคยเข้าใจผิดมานาน จินตนาการไปถึงโน่น "ดอกตะแบก" ซึ่งมีดอกสีม่วง เมื่อเวลาบานจะสะพรั่งเต็มกิ่งย้อยของมัน ผมก็เลยคิดไปไกลว่า กลีบดอกพวกนี้ต้องร่วงลงไปบนตักของหญิงสาว ที่นั่งรออยู่ตรงระเบียงโล่งของบ้าน ที่มีต้นตะแบกทอดโน้มกิ่งเข้ามาแน่นอน
แต่ความจริงแล้ว "ม่วงบาน" ในที่นี้ก็คือ ต้นมะม่วง ซึ่งออกช่อจนบานไสวย้อยกิ่ง (ม่วง คือคำเรียก "ต้นมะม่วง" ของ ภาษาไทยเขมร แถบศรีสะเกษ สุรินทร์) สีม่วงที่เคยอยู่ในจินตนาการก็พลันเปลี่ยนไป เป็นสีน้ำตาลแทน อาจจะรู้สึกเสียอรรถรสในบรรยากาศของเพลงไป เมื่อรู้ความหมาย เพลงที่ว่านี้คือ "คืนลับฟ้า" ของ เหลือง บริสุทธิ์ นี่เอง
คืนลับฟ้า โดย เหลือง บริสุทธิ์
เพลง "คืนลับฟ้า" คำร้องโดย เสน่ห์ มนต์อีสาน ศิลปินผู้ขับร้องคือ เหลือง บริสุทธิ์ เป็นเพลงที่ใช้ทำนองเพลงเขมร จากต้นฉบับภาษาเขมรนั้นใช้ชื่อเพลงว่า Chnam Mun (แปลว่า ปีก่อน) ซึ่งเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งของชาวเขมรเลยทีเดียว โดย เสน่ห์ มนต์อีสาน มาเขียนเนื้อร้องเป็นภาษาไทยสำเนียงเขมรอีสานใต้ (เพลงนี้มีการเอาทำนองมาใส่เนื้อร้องไทยให้นักร้องไทยร้องมากมายในหลายชื่อเพลงด้วยนะ) เนื้อหาของเพลง แม้ว่าเนื้อความของภาษาเขมร และภาษาไทยในแต่ละท่อนจะไม่ตรงกันซะทีเดียว แต่ก็มีความต่อเนื่องและสามารถเดาความหมายได้ (แบบว่า ตรงๆ นะ ทิดหมูก็แปลไม่ออก)
ชื่อเพลง: คืนลับฟ้า (Chnam Mun)
ศิลปิน: เหลือง บริสุทธิ์
Chnam mun bong ban juab nueng own madong
(ชะนำ มุ่น-บอง บาน-จู๊บ นึง โอน-มะนอง)
Charoen cae gun long, bong ban juab tae srai pow
(เจริญ แค-กันลอง-บอง บาน-จู๊บ แต่-ไซร เปรา)
Tud pnet soka, rompueng dolna ei loew
(ตึก พะเน้ โซ กา-รำพึง-เอลนา-เฮย เลา)
Bong jam mer plao, bud sone man doi pia sonnya
(บองจำ เมอเพลา-บัดโซ-มัน-โดยเปี๊ย-สันยา)
คืนหนึ่ง ม่วงบานตระการย้อยกิ่ง
คิดถึงจริงๆ อยากอิงหนุนตักคนงาม
คำรัก รักพี่ ไม่มีไกลจากความจำ
ไฉนใยเธอไม่จำ ลืมคำที่บอกรักกัน
* Yob ei yob yuan, bong uan mer tae ploew srai
(ยวบเอย-ยวบยวน-บองอวน-เมอแต่ เพลาไซร)
Kanong pram pree ria trai, bong saen alai snaeha
(ก-นง กำปรี เรียไตร-บองแสน อาลัย เสน่หา)
Yob ei yob bud sngad song sa
(ยวบเอย-ยวบบัด-สงัด-ส่องสา)
Oi khyom rompueng nona, Kliad juntra kliad chngai
(ออย-ขยม-รำปึง นอนา-เกลียดจันทรา-เกลียดชงาย)
** เดือนดับ ลับลง พี่คงคอยเก้อ
คอยหาเพียงเธอ อยากเจอล้นเอ่อดวงใจ
จะร้ายก็ช่าง ไม่ชังแม้เป็นเดนใคร
พี่รัก รักเธอกว่าใคร ต้องตายถ้าไม่มีเธอ
(ซ้ำ *,** )
ถือว่าเป็นเพลงที่สร้างชื่อให้กับ เหลือง บริสุทธิ์ เป็นอย่างมากเป็นเพลงดังในอดีต ทีหยิบมาฟังเท่าไรก็ไม่รู้สึกเบื่อ และช่วงหลังๆ ก็มีศิลปินรุ่นน้องๆ ได้หยิบผลงานเพลงนี้ไปขับร้องกันหลายคน เช่น เอกราช สุวรรณภูมิ และ ไหมไทย ใจตะวัน แต่ก็ยังถือว่ายังร้องได้ไม่ดีนัก และบางคำอาจจะเพี้ยนไปจากเดิมบ้าง อาจจะเป็นเพราะว่าศิลปินเหล่านั้นไม่ค่อยเข้าใจภาษาเขมรบางคำเท่าที่ควร แต่ก็ยังถือว่าถ่ายทอดออกมาได้ดี แต่ทิดหมูก็ยังชอบเพลงที่ เหลือง บริสุทธิ์ ขับร้องมากกว่าครับ
ตามไปหาเพลงต้นฉบับภาษาเขมร โดยนักร้องเขมร คืนลับฟ้า ภาษาเขมร Chnam Mun ชนำมุน (ปีก่อน) ขับร้องโดย อิม ซง เซิม เชิญรับฟังครับ
Chnam Mun ชนำมุน (ปีก่อน) ขับร้องโดย อิม ซง เซิม
ว่าแล้วเชียว จะมีคนสงสารทิดหมู ทางเว็บสุรินทร์ออนไลน์เลยเมตตาส่งคำแปลมาให้ (เฉพาะท่อนภาษาเขมร) ดังนี้
ชะนำมุ่น-บองบาน-จูบเนียงโอน-มะนอง เจริญแค-กันลอง-บองบาน-จูบแต่-ไซรเปรา
(ปีก่อน-พี่ได้-พบน้องสาว(คนรัก)-แค่ 1 ครั้ง) (หลายเดือน-ผ่านไป-พี่ได้-พบแต่-น้องคนเล็ก(น้องสาว))
ตึกเพนกโซรกา-รำพึง-อยนา-เฮยเลา บองจำมือเพลา-บัดโสร-โดจเปียก-สันยา
(น้ำตานองหน้า-รำพึง-อยู่ที่ไหนหนอ-ตอนนี้) (พี่คอย (มองทาง)-เงียบเสียงหายไป-จนลืมสัญญา)
ยวบเอย-ยวบยวน-บองซวน-มือแต่เพลาไซร กนองกำปรีเรียไตร-บองแสนอาลัยเสน่หา
(คืนเอ๋ย-คืนเดือนมืด-พี่จ้อง-มองหาแต่นาง (มองทางที่น้องจะมา)) (ในเจ็ดราตรี-พี่แสนอาลัยเสน่หา)
ยวบเอย-ยวบบัด-สงัด-ส่องตา ออยขยอม-รำปึงนอนา-เปรียจันทรา-เปรียชงาย
(คืนเอ๋ย-คืนเงียบสงัด-คนรักหายไป) (จะให้พี่-คิดถึงใคร-จากจันทรา-จากไปแสนไกล)
อุปสรรคงานจ้างของลูกทุ่งอีสานใต้ "เหลือง บริสุทธิ์"
สำหรับแฟนเพลง ถ้ายังคิดถึง เหลือง บริสุทธิ์ ปัจจุบันอยู่ที่ บ้านโคกสูง ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ติดต่อหมายเลข 09-8101-3212 หรือไปติดตาม-พูดคุยได้ทาง Facebook เหลืองบริสุทธิ์ กันได้นะครับ
[ ทำความรู้จักกับ เจน สายใจ สาวกันตรึมสุรินทร์ ]
นายเทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ หรือ เทพบุตร สติรอดชมภู ชื่อนี้สำหรับคนติดตามเส้นทางของความเป็น "หมอลำ และลูกทุ่งอีสาน" ท่านเป็นเหมือน "เจ้าของค่ายเพลงอีสานยุคแรก" แม้ในวันนั้นคำว่า "ค่าย" จะยังไม่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นผู้ก่อตั้งคณะหมอลำ "รังสิมันต์" ที่ดังลั่นทั่วภาคอีสานไปจนถึงภาคกลาง มีการบันทึกเสียงลำเรื่องต่อกลอนที่โด่งดังหลายเรื่อง เป็นทั้งผู้สร้างและผลักดันนักร้องดังมากมาย เช่น ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, เทพพร เพชรอุบล, ดาว บ้านดอน เป็นต้น
นับว่าเป็นข่าวที่สร้างความเสียใจอย่างมากให้กับวงการบันเทิง เมื่อ เทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ อดีตสามีของหมอลำศิลปินแห่งชาติ บานเย็น รากแก่น และเป็นคุณพ่อของศิลปินหมอลำ แคนดี้ รากแก่น และนักแสดงชื่อดัง โทนี่ รากเเก่น ที่ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 หลังรักษาอาการป่วยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี
ถึงแม้จะไม่มีผลงานในวงการบันเทิงเหมือนกับอดีตภรรยา และบุตรชายกับบุตรสาว แต่ เทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ ก็เป็นนักธุรกิจชาวออสเตรเลีย ที่มีเชื้อสาย เวียดนาม-ฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของวงการเพลงหมอลำ หลังได้ก่อตั้งวงหมอลำ และปลุกปั้นหลายๆ ศิลปินลูกทุ่งชื่อดังมากมาย
เทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ เป็นโฆษกและนักจัดรายการวิทยุ รวมถึงเป็นเจ้าของบริษัท สำนักงานสยามธุรกิจบันเทิง โดยเขามีส่วนในการเข้าไปเป็นผู้จัดการวงของคณะหมอลำเรื่องต่อกลอน คณะรังสิมันต์ ในช่วงปี พ.ศ. 2510 ซึ่งมีสมาชิกอย่าง ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2536 สาขาศิลปะการแสดง เป็นนางเอก และมีพระเอกหมอลำชื่อดัง ทองคำ เพ็งดี รวมถึงได้หมอลำสาวแสนสวยดาวรุ่ง บานเย็น รากแก่น มาร่วมอยู่ในคณะด้วย
“วงดนตรีลูกทุ่ง” คือ ธุรกิจบันเทิงดั้งเดิม ที่ไม่มีใครพูดถึง เพราะจะไปมองไปที่ความดังและชื่อเสียงของตัว “นักร้อง” เสียมากกว่า ซึ่งเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว วงดนตรีลูกทุ่งกว่าร้อยละ 80 มีนายทุนเป็นผู้บริหาร (เจ้าของ) ส่วนนักร้องที่ได้ชื่อว่าเป็น "หัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่ง" คณะนั้นก็มีสถานะแค่เป็น “ลูกจ้าง” ที่ได้ค่าตัวแพงกว่าทุกคนในวงดนตรีเท่านั้น
“เทพบุตร สติรอดชมภู” เป็นนักธุรกิจบันเทิงคนหนึ่ง ที่มีความเก่งกาจในการบริหารจัดการวงดนตรี หรือคณะหมอลำเรื่อง กว่าจะประสบความสำเร็จบนถนนสายลูกทุ่งอีสาน เทพบุตรต้องสู้ชีวิตมาแต่วัยเยาว์ เมื่อเป็นวัยรุ่นพ่อแม่ส่งให้ไปเรียนวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าที่ จังหวัดมหาสารคาม หลังจากเลิกเรียนในเวลากลางคืน ก็ไปทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ให้แก่ตัวเอง
ปี 2507 เทพบุตรเก็บหอมรอมริบมาร่วม 3-4 ปี จนสามารถเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จนเปิดร้านเป็นของตัวเอง ชื่อ “ร้านตัดเย็บเสื้อผ้าเทพบุตร” สร้างฐานะให้มั่งคั่ง จากนั้น เทพบุตรไปเช่าเวลาที่สถานีวิทยุทหารอากาศ มหาสารคาม เพื่อจัดรายการเพลงลูกทุ่ง และหมอลำ
ปี 2508 เทพบุตรกับน้องชาย และผองเพื่อน ตั้งวงดนตรีสตริงขึ้นชื่อวง “เทพบุตรชาโดว์” รับงานเดินสายแสดงทั่วภาคอีสาน เป็นที่นิยมของบรรดาแฟนเพลงวัยรุ่นในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก
ปี 2510 เทพบุตรเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนอยู่กับ "หมอลำคณะรังสิมันต์" ของ แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน เนื่องจากเทพบุตรเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้ชุดหมอลำในยุคนั้นจึงออกมาสวยงามตระการตามาก
แม้ตัวเขาจะไม่ใช่ศิลปินหมอลำ แต่เทพบุตรได้เรียนรู้เรื่องการแสดงหมอลำอย่างทะลุปรุโปร่ง หมอลำไม่ใช่ความบันเทิงแบบบ้านบ้าน หากแต่สามารถสร้างงาน และสร้างธุรกิจด้านการเงินได้เป็นอย่างดี และมีความยั่งยืน เทพบุตรจึงได้นำหมอลำ "คณะรังสิมันต์" แยกตัวจาก "แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน" ออกมาดูแลเอง โดยมาตั้งสำนักงานอยู่ที่ซอยบุปผาสวรรค์ ถนนจรัลสนิทวงศ์ กรุงเทพฯ เดิมทีนั้นสำนักงานหมอลำส่วนใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และมหาสารคาม แต่เทพบุตรนำหมอลำมาอยู่ในซอยบุปผาสวรรค์ ที่เป็นอาณาจักรวงดนตรีลูกทุ่ง เขาได้ปั้นนางเอกหมอลำคนใหม่คือ “บานเย็น รากแก่น” มาคู่กับพระเอกหมอลำคนเดิม "ทองคำ เพ็งดี"
ด้วยคอนเนกชั่นอันกว้างขวางของตัวเทพบุตรเอง ทำให้ "บานเย็น รากแก่น" ได้แสดงหนังเรื่อง “แผ่นดินแม่” ของชรินทร์ นันทนาคร และได้ขับร้องเพลง “คืนเพ็ญเข็นฝ้าย” เมื่อเพลงดัง เทพบุตรก็ตั้ง "วงดนตรีบานเย็น รากแก่น" ทันที เขาทุ่มเทปั้นสาวหมอลำเมืองอุบลฯ เต็มที่ จนเป็นราชินีหมอลำคนที่ 2 ของเมืองไทย ต่อจาก "แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน"
ขณะเดียวกัน เทพบุตรได้สร้างนักร้องลูกทุ่งอีสานคนใหม่ คือ “จีระ จีระพรรณ” เจ้าของเพลง "เศรษฐีขายขี้กระบอง" และตั้งวงดนตรีจีระ จีระพรรณ รับงานแสดงเดินสายทั่วประเทศ เมื่อเทพบุตรขัดแย้งแตกหักกับจีระ จีระพรรณ ก็หันมาปั้น “ศักดิ์สยาม เพชรชมภู” จนโด่งดัง และตั้ง "วงดนตรีศักดิ์สยาม เพชรชมภู" เป็น วงดนตรีลูกทุ่งอีสานวงแรก ที่ไม่ต้องพึ่งพาการแสดงหมอลำร่วมด้วย
ช่วงที่เพลงของ "ศักดิ์สยาม" ดังระเบิด เทพบุตรจ่ายค่าตัวให้ศักดิ์สยามแบบเหมาจ่าย วันละ 400 บาท และขยับเป็นวันละ 500 บาท ช่วงปี 2518 กลยุทธ์ในการบริหารวงดนตรี และสร้างนักร้องให้โด่งดัง เทพบุตรจะสร้างสัมพันธ์อันดีกับ “นักจัดรายการวิทยุ” ทั่วภาคอีสาน ในลักษณะต่างตอบแทน เมื่อมัดใจนักจัดรายการวิทยุได้ เพลงของนักร้องในสังกัดเทพบุตรก็จะถูกเชียร์ออกอากาศทางวิทยุมากเป็นพิเศษ
นอกจากนั้น ยังมีนักร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นอีกหลายคน ที่เทพบุตรมีส่วนในการสนับสนุน เช่น เทพพร เพชรอุบล, ดาว บ้านดอน, เทพรังสรรค์ ขวัญดารา, สุภาพ ดาวดวงเด่น, อรอุมา สิงห์ศิริ, ร้อยเอ็ด เพชรสยาม, พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย ฯลฯ
บนเส้นทางธุรกิจเพลงลูกทุ่งอีสานวันนี้ ได้เปลี่ยนจากการรวมศูนย์โดยค่ายเพลงค่ายใหญ่ มาสู่สตาร์ทอัพ “อายุน้อยร้อยล้าน” อันไม่ต่างจากยุคเฟื่องฟูของเทพบุตร นักธุรกิจลูกทุ่งหมอลำเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว
คณะรังสิมันต์ เป็นคณะหมอลำที่ลำทำนองอุบล (วาทอุบล) ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก หลังการลำออกอากาศทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ โดยมีการถ่ายทำการแสดงดังกล่าวบันทึกเทปโทรทัศน์ด้วย คณะรังสิมันต์ ได้มีพัฒนาการการแสดงเป็น 3 ระยะ คือ
การแสดงจะเริ่มต้นในเวลา 20.00 ไปจนถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เรื่องที่แสดง ได้แก่ วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน เช่น จำปาสี่ต้น ท้าวก่ำกาดำ นางแตงอ่อน แต่เรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดของคณะรังสิมันต์ คือ เรื่อง ศรีธน-มโนห์รา (พระสุธน-มโนราห์) ลักษณะของกลอนลำใช้ทำนองวาทอุบล ในการดำเนินเรื่องและแทรกทำนองลำอื่นๆ เช่น ลำเต้ย ลำเพลินในจังหวะสนุกสนาน หมอลำเรื่องนั้นเป็นการแสดงที่นักแสดงต้องร้องกลอนลำ สลับกับการเจรจาเป็นการดำเนินเรื่องไปจนจบ ช่วงท้ายจะมีนักแสดงอาวุโส หรือนักแสดงตัวเอกมาร้องกลอนลำลา เพื่ออวยพรให้ผู้ชมเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ (ข้อมูลจาก แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน)
นอกจากวงหมอลำแล้ว เทพบุตร ยังเป็นผู้ผลักดันศิลปินลูกทุ่งอีสาน ศักดิ์สยาม เพชรชมภู (บุญชื่น เสนาราช) ผู้ถ่ายทอดเพลง "ทุ่งกุลาร้องไห้, อ.ส.รอรัก, ตามน้องกลับมหาสารคาม" และ "คักใจเจ้าแล้วบ่" รวมถึง ดาว บ้านดอน (เทียม เศิกศิริ) ศิลปินลูกทุ่งเจ้าของเพลง "คนขี่หลังควาย" ที่ได้รับรางวัล เสาอากาศทองคำพระราชทาน ปี พ.ศ. 2519
เทพบุตร สติรอดชมภู ได้บันทึกถึงเรื่องราวของ "คณะหมอลำรังสิมันต์" และบานเย็น รากแก่น ไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ไว้ว่า
"ราชินีหมอลำบานเย็น รากแก่น บนเส้นทางของลำเรื่องต่อกลอน "คณะรังสิมันต์" ขอถือโอกาสรวบรัดตัดตอนถึงในวันสุดท้ายของ บานเย็น รากแก่น ที่มีโอกาสได้แสดงร่วมกับหมอลำ คณะรังสิมันต์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ในตันปี พุทธศักราช 2517 ผมรับงานแสดงของวงรังสิมันต์ ซึ่งมี บานเย็น รากแก่น เป็นตัวชูโรงสำคัญที่สุด เจ้าภาพทางภาคกลาง ขอให้ได้เพียง บานเย็น รากแก่น มาแสดงเพียงคนเดียวก็พอใจ ผมรู้ว่า สาคร ทุมมี (ผู้ดูแลวงรังสิมันต์ร่วมกับผม) ที่รับงานคณะรังสิมันต์ไว้ที่จังหวัดนครราชสีมา ทับซ้อนกับงานที่ผมรับไว้ที่ซอยบุปผาสวรรค์ ก่อนหน้านี้ที่ภาคกลาง
ผมจึงให้ สุพจน์ พรเจริญ (ช่วงนั้นทำวงดนตรี เรียม ดาราน้อย อยู่) นำวงดนตรีทั้งหมดเตรียมไว้ที่งาน และให้แสดงรอ บานเย็น รากแก่น ซึ่งจะเดินทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปถึงงานประมาณ 6 ทุ่ม หรือ ตี 1 ให้ชาวคณะเล่นรอ บานเย็น รากแก่น จะมาปรากฎตัว ส่วนผมขับรถไปรับ บานเย็น และแม่เหมือย รากแก่น แม่ของ บานเย็น ที่จังหวัดนครราชสีมา และได้บอกกับ สาคร ทุมมี ว่าจะนำ บานเย็น รากแก่น ไปแสดงอีกงานที่รับไว้แล้ว
ณ วันนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต ของ บานเย็น รากแก่น เป็นวันสุดท้ายที่มีโอกาสได้อยู่กับคณะรังสิมันต์ ผมก็ตั้งสำนักงาน "วงดนตรีลูกทุ่งสาว บานเย็น รากแก่น" ขึ้นที่ ซอยบุปผาสวรรค์ รับงานในนามวงดนตรี บานเย็น รากแก่น งานแสดงเต็มยาวเหยียดไปถึงปีหน้า บุคคลสำคัญที่มาอยู่ร่วมวง ก็มี สุพจน์ พรเจริญ, ใหญ่ อยุธยา, เปี๊ยก บ้านโป่ง, พรหมศร พรสวรรค์, ดิ่ง วินศิริ โดยมอบหมายให้ พี่อมรฤทธิ์ วิมลชัยฤกษ์ เป็นผู้ดูแล วงดนตรีลูกทุ่งสาว บานเย็น รากแก่น ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ส่วนคณะหมอลำรังสิมันต์ ผมก็วางมือให้ สาคร ทุมมี บริหารเองทั้งหมด (สาเหตุในปี พุทธศักราช 2516 ผมมีคดีความถูกตัดสินจำคุกตลอดปี จึงไม่ได้มาบริหารวงหมอลำรังสิมันต์เลย เมื่อผมออกมาจากคุก จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่) เมื่อตั้งวงดนตรีให้กับ บานเย็น รากแก่น ก็ดังสุดขีด ตั้งแต่เป็นศิลปินมา ไปแสดงที่ไหน? คนแน่นทุกที่ แสดงถึงความดัง ความฮิต ความสนใจ ความสวย ของ บานเย็น รากแก่น
ส่วนวงหมอลำเรื่องต่อกลอน คณะรังสิมันต์ ในยุคที่บริหารโดย สาคร ทุมมี ซึ่งมีพระเอก หมอลำทองคำ เพ็งดี และสุมาลี ป้องเขต เป็นนางเอก ก็ถึงจุดอวสาน ไม่นานก็ต้องยุบวงไปโดยปริยาย เสียดายเหมือนกัน 9 ปี ของหมอลำเรื่องต่อกลอน คณะรังสิมันต์ ที่ผมมีส่วนร่วมจำเป็นต้องสลายตัว แยกย้ายกันไปคนละทาง ผมเองก็มีความเศร้าใจเป็นที่สุด ไม่นึกว่าผมวางมือ ให้ สาคร ทุมมี มาบริหารเป็นหัวหน้าคนเดียวแล้วจะยุบวงเร็วขนาดนี้ จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมไม่มีโอกาสได้พบกับ ทองคำ เพ็งดี อีกเลย จนทราบข่าวว่าเขาเสียชีวิต
ส่วน สาคร ทุมมี ไปอยู่บ้านเสียมกับภรรยาเก่า ผมมีโอกาสไปเยี่ยม ส่วน สุมาลี ป้องเขต ก็ไปอยู่กับลูกที่บ้านยาง อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ผมก็มีโอกาสไปเยี่ยม เทพพร เพชรอุบล อยู่ขอนแก่นเสียชีวิตแล้ว ศักดิ์สยาม เพชรชมภู อยู่บ้านนานกเขียน จังหวัดมหาสารคาม บานเย็น รากแก่น อยู่อุบลราชธานี ส่วนผม เทพบุตร สติรอดชมภู มีถิ่นที่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ที่เอ่ยนามมานี้ไม่ได้พบกันเลยตั้งแต่ยุบวงมา ถ้าได้มีโอกาสพบกันน้ำตาคงจะท่วมจอ มันซาบซึ้งในการอยู่ร่วมกันมาอย่างอบอุ่น เมื่อจากกันโดยไม่ได้ร่ำลากันเอยมันเศร้า
ทั้งหมดนี้คือ ตำนานหมอลำเรื่องต่อกลอน คณะรังสิมันต์ คณะเดียวในประวัติศาสตร์ เป็นยอดหมอลำต้นตำรับลำเรื่องต่อกลอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่ไม่มีใครลบสถิติต่างๆ ได้ เหลือไว้แต่ตำนานเล่าขานสืบไป และความทรงจำที่ดีตลอดกาลฯ..."
เทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ สมรสกับ บานเย็น รากแก่น มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นหญิง 2 คน ชาย 1 คน คือ แอนนี่, แคนดี้ และ โทนี่ รากแก่น แต่ก็แยกทางกับภรรยาตั้งแต่ลูกทั้ง 3 คนยังเล็กๆ ด้วยปัญหาที่ไม่เข้าใจกันบางประการในช่วงที่ บานเย็น รากแก่น ไปเดินสายทัวร์ในอเมริกาและยุโรป ส่วนตัวเทพบุตรเองไปๆ มาๆ ประเทศไทยและออสเตรเลีย เพื่อทำธุรกิจหลายอย่าง โดยนำลูกทั้ง 3 คนไปเล่าเรียนและอยู่อาศัยที่ออสเตรเลีย
ในบรรดาลูกทั้ง 3 คน แคนดี้ รากแก่น เป็นลูกสาวคนกลาง จบปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต แต่มีอาชีพเป็นศิลปิน ทั้งจัดรายการทางสถานีวิทยุ และทำวงดนตรีพื้นบ้านอีสานร่วมกับ ผู้เป็นแม่ ตั้งชื่อวงว่า แคนดี้ แฟมิลี่ (candy family) โดยบานเย็น รากแก่น จะร้องและฟ้อนแบบอีสาน ส่วนลูกสาวจะออกไปในแนวหมอลำซิ่ง และลีลาการเต้นสมัยใหม่
ก่อนหน้านี้ แคนดี้ รากแก่น ไม่ได้ชื่นชอบการแสดงภาคอีสาน แต่ผู้เป็นแม่ก็พยายามค่อยๆ อธิบาย และค่อยๆ ฝึกสอนจนแคนดี้ได้พัฒนามาตามลำดับ จนสามารถโชว์การฟ้อนและการเต้นสมัยใหม่ รับงานการแสดงคู่กับแม่บานเย็น รากแก่น สร้างความสุขให้กับผู้ชม
ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต เทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ ได้ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างประเทศไทย และออสเตรเลีย กับครอบครัว โดยถึงแม้ว่าจะจากไปแล้ว แต่สำหรับหลายๆ คนแล้วเขาคือปูชนียบุคคลสำคัญของวงการเพลงหมอลำและลูกทุ่งไทย ที่สร้างศิลปินไว้ประดับวงการมากมายตลอดไป
นายเทพบุตร สติรอดชมพู ได้รับรางวัลรางวัล ผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาสื่อสารวัฒนธรรม จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2554
เทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ จากไปอย่างสงบ ด้วยวัย 76 ปี หลังเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ท่อน้ำดีและบริเวณตับ เป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และทางครอบครัวได้เคลื่อนย้ายร่างมา ณ ศาลาสิงหเสนี วัดธาตุทอง ท่ามกลางความอาลัยรักของคนในครอบครัวที่ยังอยู่ในอาการโศกเศร้ สำหรับกำหนดสวดพระอภิธรรมจะมีไปจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 และทางครอบครัวได้กำหนดพิธีฌาปนกิจในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 เวลา 17.00 น. ณ เมรุหน้าวัดธาตุทอง
ครูสลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงลูกทุ่งชื่อดัง ได้โพสต์อาลัยลงในอินสตราแกรมส่วนตัวว่า
"..ทราบข่าวการจากไปของ คุณพ่อเทพบุตร สติรอดชมพู ด้วยความอาลัยยิ่ง พ่อเทพบุตร (คุณพ่อของน้องแคนดี้ รากแก่น) ชื่อนี้ สำหรับคนติดตามเส้นทางของความเป็น "ลูกทุ่งอีสาน" ท่านเป็นเหมือน "เจ้าของค่ายเพลงอีสานยุคแรก" แม้ในวันนั้น คำว่า "ค่าย" จะยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ปักหลักอยู่ที่ จังหวัดมหาสารคาม แต่มีส่วนนำพาศิลปิน หรือขุนพลเพลงอีสานยุคบุกเบิกสู่บัลลังค์ความดัง ความสำเร็จ คนแล้วคนเล่า ทั้งในฐานะคนแต่งเพลง และหรือคนอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น ศักดิ์สยาม เพชรชมพู เทพพร เพชรอุบล ดาว บ้านดอน ฯลฯ
ในช่วงปี 2512 - 2530 ท่านคือหนึ่งในเสาหลักแห่งวงการเพลง&หมอลำอีสาน เป็นอีกคน ที่นำ "คำอีสาน" มาอยู่ในบทเพลง อย่างเป็นทางการ วันนี้..วันเวลา ได้นำพาพ่อจากไปขอแสดงความเสียใจ กับลูกหลานและญาติมิตร ในฐานะที่เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ได้อาศัย "ทุ่งนาเพลง" ที่พ่อถากทางเส้นทางไว้ ผม "สลา คุณวุฒิ" ขอคารวะและรำลึกถึงและ..ขอให้พ่อสู่สุคติ ครับ"
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)