คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด มีชื่อ-นามสกุลจริงตามบัตรประชาชนว่า สุรชัย โสธรวงศ์ มีชื่อเล่นว่า อ๊อด เกิดเมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2495 เป็นชาวตำบลดงแดง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของนายจันทร์ และนางจันทร์ โสธรวงศ์ (พ่อ-แม่ชื่อเดียวกัน) มีพี่น้องร่วมอุทร 8 คน เป็นคนที่ 2 จบการศึกษาชั้น ม.ศ.3 โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย
หลังจบการศึกษาแล้ว ก็เดินหน้าสู่วงการศิลปินบันเทิงทันที ด้วยพรสวรรค์ที่มีติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ร้องเพลงเก่ง เสียงดีมาแต่เกิด เป็นนักร้องประจำโรงเรียนที่ครูบาอาจารย์ทุกคนภูมิใจ แต่ส่วนหนึ่งของความฝันเขาอยากเป็น "ตำรวจ" ไปสมัครสอบแต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะส่วนสูงไม่ถึงเกณฑ์
เมื่อไม่สามารถเป็นตำรวจได้ ก็มุ่งหน้าเดินล่ารางวัลจากเวทีประกวดนักร้องทันที เคยไปขึ้นเวทีประกวดนักร้องที่ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย แต่ตกรอบผิดหวังมาก ทำอะไรไม่ถูก เคว้งคว้าง โชคยังดีที่เจอ "เสน่ห์ มนต์อิสาน" ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า ที่ได้นำเขาไปฝากให้อยู่กับวงดนตรีหมอลำของ "ฉวีวรรณ ดำเนิน" ในช่วงต่อมา "รุ่ง โพธาราม" เจ้าของเพลง "ลาสาวโพธาราม" ก็มีโอกาสได้มาร่วมวงกับ ฉวีวรรณ ดำเนิน ด้วย ทั้ง เสน่ห์ มนต์อีสาน และรุ่ง โพธาราม เห็นแววนักร้องของขวัญชัย จึงพาไปสมัครอยู่วงดนตรี เพชร โพธาราม แต่ตำแหน่งนักร้องเต็มเสียก่อน เลยต้องรออีกระยะหนึ่ง
จนได้มาเจอกับ นเรศ จงกมลไพร ซึ่งให้การช่วยเหลือด้วยการพาไปอยู่กับวง ก้อง กาจกำแหง หัวหน้าวงดนตรี นักแต่งเพลง และนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ครูก้องก็รับขวัญชัยไว้ในวง เขาอยู่กับครูก้องกว่า 1 ปี โดยทำงานทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่ได้บันทึกเสียง จนขวัญชัยเริ่มท้อ
ชีวิตพลิกผันพิสดารตลอดเวลา เหมือนพระเจ้าไม่ค่อยเข้าข้าง หรือไม่ก็แกล้งลองความอดทน ได้อยู่วงครูก้องแต่ไม่มีอนาคตเท่าไหร่ จนไปเข้าห้องน้ำแล้วแหกปากร้องเพลงด้วยความอัดอั้น ผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงได้ยินเลยไปบอกครูก้องว่าเสียงดีใช้ได้ เพื่อจะได้โอกาสไปจับฉลากว่าใครจะได้อัดแผ่นเสียงบ้าง โชคไม่ดีดันจับไม่ได้อีก
จนวันหนึ่งประมาณปี 2519 ครูก้อง กาจกำแหง จะบันทึกเสียงเพลง "จดหมายเป็นหมัน" ซึ่งในวงดนตรีมีกฎกติกาว่า นักร้องในวงจะต้องจับฉลากว่า ใครจะได้บันทึกแผ่นเสียง ปรากฏว่า คนอื่นโชคดีเป็นผู้จับฉลากได้ แต่เมื่อไปบันทึกเสียงออกมาแล้ว ก็ร้องไม่ได้อย่างที่ครูก้องต้องการ ครูก้องจึงได้เรียกขวัญชัยมาลองร้องบันทึกแผ่นเสียงลองดู ขวัญชัยนั้นร้องโดยไม่มีความกดดันอะไรเพราะไม่ใช่ตัวเลือก แค่มาลองร้องดูเท่านั้น ปรากฏว่า การบันทึกเสียงครั้งนี้ผ่านฉลุยเป็นที่ถูกใจของครูก้อง กาจกำแหง ผลก็คือเพลง "จดหมายเป็นหมัน" ดังในชั่วข้ามคืน และเป็นการใช้ชื่อ "ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด" เป็นครั้งแรก
จดหมายเป็นหมัน - ขวัญชัย เพชรร้อยเ้อ็ด
พอเพลง "จดหมายเป็นหมัน" ดัง ครูก้อง กาจกำแหง ก็เปลี่ยน วงดนตรีก้อง กาจกำแหง เป็น วงขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ได้ร่วมงานดนตรีอยู่กับครูก้องได้ 3 ปีก็แยกทางกัน เนื่องจากครูก้องต้องการแต่งเพลงเพียงอย่างเดียว ไม่มีเวลามาดูแลวงดนตรีให้ (ช่วงนั้นครูก้อง กำลังมุ่งสร้างเพลงให้กับ สายัณห์ สัญญา) ขวัญชัยจึงออกไปตั้งวงดนตรีเอง
วงดนตรีของขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ประสบอุบัติเหตุครั้งรุนแรงจากการเดินสายบ่อยครั้งมาก (ประมาณ 5 – 6 ครั้ง) คือเริ่มกันตั้งแต่ตั้งวงนั่นทีเดียว และครั้งหนึ่งก็ทำให้ตัวหัวหน้าวงถึงกับสลบ กระดูกขาแตกจนต้องดามเหล็ก ส่วนครั้งสุดท้ายที่เชียงใหม่นี่ถือว่าหนักที่สุด เมื่อรถของชาวคณะประสานงากับรถสิบล้อ มีผลทำให้ ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ถึงกับเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ แต่ก็ได้หมอดีรักษาจนกลับมาเดินได้อีกครั้ง
นักร้องร่วมยุคเดียวกัน : ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด - เทพพร เพชรอุบล - ศักดิ์สยาม เพชรชมพู
ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด มีภรรยาชื่อ กลอย พร้อมพ่วง หรือ ดวงใจ บรรพตพิสัย เจ้าของเพลง "รอพี่กลับใต้" ซึ่งร้องแก้กับเพลง "ลาก่อนเมืองใต้" ที่ขวัญชัยขับร้องไว้ ทั้งสองมีธิดาด้วยกัน 2 คน คือ เบนจา โสธรวงค์ และนิตยา โสธรวงค์
ต่อมาปี 2524 ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ตั้งวงดนตรีอีกครั้ง และประสบความสำเร็จอีกครั้งจากเพลง คนร้อยเอ็ด, ยกเมียให้เพื่อน ตะวันแดงแทงใจ, รักอันตราย ฯลฯ แต่ก็ยังเจอกับอุบัติเหตุทางรถยนต์อีกที่จังหวัดนนทบุรี ชีวิตเขาแขวนอยู่บนเส้นทางมัจจุราชตลอด เป็นนักร้องคนเดียวและวงดนตรีเดียวที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด และทุกครั้ง ขวัญชัย เจ็บหนักทุกที กระดูกขาแตกต้องดามเหล็ก เกือบเป็นอัมพาต รถชนครั้งแล้ว ครั้งเล่า เป็นหัวหน้าวงที่หยุดวงบ่อยที่สุด เพราะรถชนรถคว่ำเกือบ 10 ครั้ง
ทำให้เขาเริ่มดื่มหนักมากขึ้น จนต้องเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาล ทำให้ในที่สุดก็ต้องเลิก วงดนตรีขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ไปโดยปริยาย และเมื่อรักษาตัวจนหายเขากลับมาร้องเพลงอีกครั้ง โดยเข้าไปร่วมกับวงดนตรีของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในฐานะนักร้องลูกวง แต่จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงจากอุบัติเหตุ และการดื่มเหล้าจัด ทำให้เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2528 จากโรคประจำตัว ขณะมีอายุ 32 ปี 7 เดือน 24 วัน
คนร้อยเอ็ด - ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด
เอ๋ พจนา มีชื่อ-นามสกุลจริงว่า นายทำนอง คำใบ มีชื่อเล่น เอ๋ ชื่อในวงการ เอ๋ พจนา ฉายา "ลูกทุ่งเสียงเสน่ห์" เกิดเมื่อ 6 เมษายน พ.ศ. 2512 มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ แต่อพยพตัวเองไปอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี จนหลายคนเข้าใจว่าเป็นคนเมืองกาญจน์ไปแล้ว ในครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน เป็นลูกชายคนโต เรียนหนังสือน้อย จบแค่ประถมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น เพราะความที่เป็นพี่คนโตจึงมีภาระต้องดูแลน้องๆ อีก 4 คน อาชีพก่อนได้เป็นนักร้อง เคยขึ้นสังเวียนเป็นนักมวยไทยอยู่ 2-3 ปี โดยใช้ชื่อว่า “เด่นชัย สายสุรินทร์”
ด้วยการที่มีความรักในการร้องเพลง หลงไหลการขับร้องใช้เสียง จึงไปเรียนไปฝึกเป็น "หมอลำ" มาก่อน จนสามารถเล่นหมอลำได้ เข้าสู่วงการบันเทิง เมื่อ พ.ศ. 2531 ด้วยการเป็นหมอลำ "ลำเรื่องต่อกลอน" หรือที่เมื่อก่อนทางแถบสุรินทร์ บุรีรัมย์ เรียกกันว่า "ลิเกลาว" ก็แสดงเป็น ตัวพระเอก
จนได้มาเจอกับ อาจารย์กิ่ง กรกช ซึ่งได้รับไว้เป็นศิษย์และเขียนเพลงให้ร้อง โดยชุดแรกเป็นหมอลำชื่อชุด "สงครามรัก" ไม่ค่อยมีชื่อเสียงมากนัก อยู่ในราวๆ ปี พ.ศ.2532 ถัดจากนั้นอีกไม่นาน ก็ได้ออกอัลบั้มเพลงในแนวลูกทุ่งมาอีก นั่นคือชุด "เราหรือคือทางผ่าน" โด่งดังจนตั้งตัวรับแทบไม่ทันเลยทีเดียว
เราหรือคือทางผ่าน - เอ๋ พจนา
“อาจารย์กิ่ง กรกช เป็นคนให้โอกาสผมได้มาเป็นนักร้อง ตอนนั้นอาจารย์แกจัดรายการวิทยุอยู่ที่ สถานีวิทยุยานเกราะ บางกระบือ ผมฟังรายการแกอยู่ เลยโทรหาแกว่า ผมอยากเป็นนักร้อง แล้วเอาเสียงร้องที่ผมบันทึกไว้มาให้แกฟัง ก็อยู่กับอาจารย์กิ่งมาประมาณ 4-5 ปีถึงได้อัดเพลงชุดแรก เป็นแนวหมอลำชื่อชุด "สงครามรัก" ตอนนั้นผมยังใช้ชื่อ "อัมพร พจนา" อยู่ พอชุดต่อมาแกไม่มีทุนจะทำ เลยฝากผมมาอยู่กับพ่อคำเกิ่ง ทองจันทร์" เอ๋ พจนา ย้อนเล่าถึงอาจารย์ที่สร้างชีวิตใหม่ให้
นอกจาก อาจารย์กิ่ง กรกช แล้วเขายังได้รับการดูแลจาก อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ อดีตนักร้องหมอลำลือชื่อ จนต่อมาได้เข้ามาอยู่ในสังกัด ทองจันทร์โปรโมชั่น มีผลงานโด่งดังไม่น้อย อาทิ แท็กซี่ใจลอย, หนุ่มลาวสาวจีน, แหวนทองสองสลึง ฯลฯ นักร้องดังร่วมสมัยด้วยกันในสังกัด ทองจันทร์โปรโมชั่น ประกอบด้วย เสียงพิณ ถิ่นอีสาน, สาธิต ทองจันทร์, เดือนเพ็ญ อำนวยพร, ชาญชัย จาตุรงค์ และเอ๋ พจนา
อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ได้ตั้งวงดนตรีให้ และออกตระเวนสร้างความสุขให้ผู้คนมานานพอควร แต่ที่สุดก็ยุบวงแล้วหันมาเป็นนักร้องรับเชิญแทน เป็นนักร้องที่มีมารยาทดีเยี่ยม สุภาพอ่อนน้อม พูดจาดี จนหลายคนตั้งฉายาให้ว่า "ไอ้หนุ่มเสียงเสน่ห์ เอ๋ พจนา"
ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ ขยันคิด ขยันทำตลอดนอกจากร้องเพลงเก่งแล้ว ยังมีหัวสมองทางงานด้านเกษตร เคยทำฟาร์มเลี้ยงแย้ เคยทำฟาร์มไก่ชน เลี้ยงแย้ แย้ก็คลานหนีเข้าป่าไปเรียบ เลี้ยงไก่ก็เจอไข้หวัดนก ทำบาปไม่ขึ้น สวรรค์สั่งมาให้ร้องเพลงอย่างเดียว รักน้องชายมาก ส่งเสริมน้องจนเป็นนักร้องได้อีกคนคือ "ทอง ดวงอารีย์" หรือ "โอ๋ พจนา" นั่นเอง อาชีพปัจจุบัน เปิดฟาร์มเลี้ยงไก่ชนกับน้องชาย ทำค่ายเพลง "พจนา เรคคอร์ด" กับทำเครื่องสำอางชื่อ เอมุก
ไม่ได้หายไปไหน “เอ๋ พจนา” ลูกทุ่งอีสานคนดัง ยังมีงานคอนเสิร์ตแทบทุกวันแถบอีสาน แถมผุดค่าย พจนา เรคคอร์ด ลงทุนเอง ไม่เท่านั้นรุกขายเครื่องสำอางแบรนด์ เอมุก ขายดีบุกตลาดฮ่องกง ใกล้เป็นเสี่ยเต็มที “เอ๋ พจนา” เผยว่า “ตอนนี้คอนเสิร์ตมีตลอดเกือบทุกวัน ไปทุกภาค อีสานจะเยอะครับ ซิงเกิ้ลล่าสุดก็ เสียแรงไว้ใจ หมอลำทางช่องยูทูป เอ๋ พจนา อีกเพลงสไตล์รถแห่ ม่วนกุ๊ปทีป ได้นักแต่งรุ่นใหม่ เพลงแบบนี้เราแต่งไม่ถนัด ร้องได้ ให้พล็อตเรื่องน้องไป และผมเปิดค่าย "พจนา เรคคอร์ด" เพิ่งทำครับ นักร้องจะมีน้องชายคือ "โอ๋ พจนา" และมีนักร้องเด็ก 8-9 ขวบ 3 คน ไข่มุก, แต๊งกิ้ว ลูกต๋อง ชวนชื่น อีกคน "จริงจัง ไมค์ทองคำ" ชื่อเพลง จริงๆ ตะลิงจริงจัง สนุกสไตล์น่ารักๆ ครับ”
เสียแรงไว้ใจ : เอ๋ พจนา
ทำค่ายเองต้องดูแลหมด? “ครับผมดูหมด คัดเพลง โปรดิวซ์ ดนตรี และตอนนี้ทำบริษัทเครื่องสำอาง ชื่อ เอมุก ขายสบู่ส้ม สบู่องุ่น สครับใบหน้า ครีมกันแดด ครีมหน้าใสพวกนี้ ทำมาหลายปี ขายออนไลน์ ตามร้าน และไปขายฮ่องกง มา 2 ปีแล้ว โอเค.แล้วใช้ดีครับ มีอย. ไม่มีไขมันสัตว์เจือปนครับ”
ยอดขายดีไหม? “ยอดขายพอไปได้ ผมทำคนเดียว หน้าเวทีก็ขายดี ขายไม่ทันเลย ร้องไปขายไปราคากันเองครับ แรกอาจจะเป็นอาชีพเสริม ต่อไปอาจจะเป็นอาชีพหลักแล้วล่ะ มีคนถามเป็นเสี่ยรึยัง ผมบอกสาธุขอให้สมพรปากครับ” เอ๋ พจนา เจ้าของเพลงดัง “แท็กซี่ใจลอย” กล่าวปิดท้าย
รายการ เพชร 300 : เอ๋ พจนา นำทีม
ติดตามข่าวคราวของ เอ๋ พจนา ผ่านทาง : เอ๋ พจนา
นายสมจิต ทองบ่อ หรือชื่อในวงการว่า “สมจิตร บ่อทอง” เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พุทธศักราช 2507 ที่บ้านคำเตย ตำบลส้มผ่อ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธธานี (ปัจจุบันคือตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร) เป็นบุตรคนที่ 7 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน ของนายบุญทัน และนางจันทร์ ทองบ่อ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนกุดชุมวิทยา อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร
นายสมจิต ทองบ่อ เป็นผู้ที่มีความกตัญญู ช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อว่างเว้นจากการทำการเกษตร ก็มักใช้พรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ช่วยเหลือสังคมโดยการขับร้องเพลงลูกทุ่ง หมอลำ ในงานบุญ และงานกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนและชุมชนเสมอมา แต่ด้วยความที่ครอบครัวมีฐานะยากจน จึงขาดโอกาสในการเรียนต่อ จึงต้องออกมาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวโดยการทำนา และในยามที่ว่างเว้นจากฤดูกาลทำนา สมจิต ทองบ่อ ก็ไม่ได้ปิดกั้นความสามารถของตน แต่กลับมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะทำตามฝันของตนให้เป็นจริง
กล่าวเฉพาะด้านศิลปะการแสดง นายสมจิต ทองบ่อ (สมจิตร บ่อทอง) ได้ศึกษานาฏศิลป์ไทยจาก อาจารย์บรรจง บุญทวี และอาจารย์เพ็ญศรี เพิ่มพูน แห่งโรงเรียนบ้านคำเตย ได้รับความรู้ด้านหมอลำจากครูผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน เป็นต้นว่า อาจารย์บุญเลิศ พรมชาติ แห่งคณะหมอลำรุ่งตะวันสีทอง อาจารย์ดาว บ้านดอน แห่งบริษัทชัวร์ออดิโอ จำกัด อาจารย์สมจิตต์ เพชรสังหาร แห่งคณะหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น คณะแก่นนครบันเทิงศิลป์ อาจารย์เทพพร เพชรอุบล อาจารย์เฉลิมพล มาลาคำ อาจารย์สุดโก้ เจียระไน และอาจารย์ก้อง บ้องตื้น แห่งบริษัท เอ็มดี จำกัด จนนายสมจิต ทองบ่อ (สมจิตร บ่อทอง) สามารถแต่งเพลง เขียนกลอนลำ และเขียนบทละครหมอลำเรื่องต่อกลอนเป็นเรื่องหลายเรื่องได้ด้วยตนเอง
สมจิต บ่อทอง ได้ไปสมัครเป็นหมอลำกับ "คณะรุ่งตะวันสีทอง" ในฐานะตัวแสดงประกอบ ต่อมาหัวหน้าคณะ (คุณครูบุญเลิศ พรมชาติ) เห็นแววความสามารถ จึงให้เล่นบทพระเอก โดยใช้ชื่อว่า “สมจิตร แสงชัย” และในปีพุทธศักราช 2532 ดาว บ้านดอน ได้ชักชวนสมจิตรให้เข้าเป็นศิลปินสังกัด ชัวร์ออดิโอ แต่ยังคงรับงานในคณะหมอลำรุ่งตะวันสีทอง และเปลี่ยนชื่อจาก สมจิตร แสงชัย เป็น “สมจิตร บ่อทอง”
ในปี 2533 ได้ทำให้วงการเพลงลูกทุ่งหมอลำสะท้านสะเทือนไปทั่ววงการ ด้วยการออกอัลบั้มชุดแรก “กุหลาบแดง” จนเป็นที่โด่งดัง กับค่ายชัวร์ออดิโอ และสร้างชื่อเสียงให้ผู้คนได้รู้จัก สมจิตร บ่อทอง อีกทั้งบทเพลง "กุหลาบแดง" ในทำนองลำเพลิน ก็ยังมีศิลปิน นักร้อง ชื่อดังมากมายนำมาขับร้องจนถึงปัจจุบัน เป็นเพลงที่นักร้องคนไหนนำไปร้องโชว์ก็เพราะทุกคน
กุหลาบแดง - สมจิตร บ่อทอง
"เพลงนี้ได้แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 คือ แต่งตอนอยู่ในนากำลังเกี่ยวข้าวอยู่ แต่งจากความรู้สึกของตัวเองจริงๆ เพราะตอนนั้นเริ่มมีความรักใหม่ๆ ซึ่งกลอนลำนี้เขียนง่าย และเขียนเสร็จเร็ว นึกออกก็มาเขียนเอาไว้ เพลงนี้เป็นแนวกลอนลำเพลิน ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวผมเองที่กำลังมีความรักอยู่อินมาก เป็นความรักแบบลูกทุ่งๆ พอดีช่วงนั้นเพลงของพี่เป้ากำลังดัง ผมเลยเอาตรงนั้นมาแต่งแล้วใส่ทำนองหมอลำเข้าไป ต่อมา อาจารย์ดาว บ้านดอน มาเปลี่ยนเป็นจังหวะหมอลำทั้งหมด เพราะเขาอยากให้แฟนเพลงเต้นได้แบบต่อเนื่อง มันเป็นเพลงที่อยู่คู่กับหมอลำมานาน ตอนนั้นไม่คิดว่ามันจะดังขนาดนี้ พูดง่ายๆ เลยว่าดังจนเหลือเชื่อสุดๆ เพราะมีคนเอาไปร้องตามร้านอาหาร ตามวงหมอลำ พูดได้ว่าแทบทุกวงเอาไปร้อง ไม่ว่าจะเป็นลำกลอน ลำซิ่ง ลำเรื่องต่อกลอน และไม่ว่าใครจะเอาไปร้องมันก็ฟังแล้วม่วนสุดๆ" สมจิตร เล่าถึงที่มาของเพลง "กุหลาบแดง" ซึ่งกลายเป็นเพลงประจำตัวของเขา และเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หลังจากที่อยู่ในสังกัดชัวร์ออดิโอมาเป็นเวลา 8 ปี ในปี พ.ศ. 2541 จึงได้ย้ายมาอยู่สังกัด เอ็มดีเทป
ปี พ.ศ.2540 ได้ร่วมงานกับคณะแก่นนครบันเทิงศิลป์ จนถึงปีพ.ศ.2552 เป็นเวลา 14 ปี
พ.ศ. 2553 ได้แยกตัวออกมาจากคณะแก่นนครบันเทิงศิลป์ เพื่อทำคณะหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่นของตนเอง ชื่อ “คณะสมจิตร บ่อทอง” เดินสายแสดงคอนเสิร์ตทั่วประเทศ ปัจจุบันเป็นศิลปินสังกัดท็อปไลน์ ไดมอนด์
สมจิตร บ่อทอง ฤดูกาลใหม่ 2559 ที่กำลังจะมาถึงเปลี่ยนชื่อคณะใหม่ เวทีปกติป้ายจะเป็น "คณะสมจิตร บ่อทอง" ปีนี้ป้ายบนเวทีจะเป็นคณะ ''ศิลปินกุหลาบแดง'' ตามชื่อกลอนลำดังของตัวเองที่แฟนเพลงรู้จักกันดี เปลี่ยนชื่อครั้งนี้ยังแซวไปถึงคณะ ''ศิลปินภูไท'' อย่าหาว่าเลียนแบบนะเพื่อน
ด้วยเป็นคนกตัญญูรู้คุณ มีจิตสาธารณะ มีความสามารถเฉพาะตัว รักและฝักใฝ่ในการเรียนรู้จากครูเพลงทั้งลูกทุ่งและหมอลำ รวมถึงมีคติในการดำเนินชีวิตว่า “การมีความมั่นใจในตนเองสูง จะทำสิ่งที่ชอบได้สำเร็จ” จึงนำจิตวิญญาณการต่อสู้ชีวิตของความเป็นลูกอีสาน มาหลอมรวมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยน้ำเสียงในการขับร้อง และกลอนลำที่ไพเราะหาใครเทียบไม่ได้ ประกอบกับท่ารำ 32 ท่า โดยใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ประกอบกับลีลาการแสดงอย่างอ่อนช้อย เรียบง่าย สวยงาม ตามจังหวะก้าวย่างของดนตรี ซึ่งเป็นท่วงท่าที่เลียนแบบ และดัดแปลงมาจากพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวในท้องทุ่งแดนอีสาน จนได้ฉายา “หนุ่มหมอลำนาฏศิลป์ยอดฮิต”
นายสมจิต ทองบ่อ (สมจิตร บ่อทอง) ยังได้รับรางวัลเกียรติยศรางวัลโล่เชิดชูเกียรติประกาศเกียรติคุณ “นาคราช” ประเภทศิลปินพื้นบ้านอีสาน สาขาดนตรีและนาฏกรรม ประจำปี 2557 จาก สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับศิลปะการแสดงหมอลำอันทรงคุณค่า เพื่อให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ จึงหมายมั่นปั้นใจอนุรักษ์ สานต่อและส่งเสริม มรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ตราบนานเท่านาน นายสมจิต ทองบ่อ (สมจิตร บ่อทอง) จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ลูกทุ่งหมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช 2558 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
ศิลปินมรดกอีสาน - สมจิตร บ่อทอง
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่นประจำปี 2559 ให้แก่ นายสมจิต ทองบ่อ (สมจิตร บ่อทอง) ซึ่งถือเป็นบุคคลที่สร้างคุณงามความดี ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ สมควรได้รับพระราชทานรางวัล "พระธาตุนาดูนทองคำ" ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ปัจจุบัน สมจิตร บ่อทอง นอกจากจะนำคณะไปแสดงให้ประชาชนได้ชมแล้ว ยังรับเชิญไปให้ความรู้ในสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น สอนนักศึกษาภาควิชาศิลปะการแสดงและนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี รวมทั้งแต่งเพลง และกลอนลำ สนับสนุนทางราชการ หน่วยงานต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
สมจิตร บ่อทอง - เยือนรายการ ไมค์ทองคำหมอลำฝังเพชร"
สมจิตร บ่ทอง - ซุปเปอร์หม่ำ
เดือนเพ็ญ อำนวยพร ชื่อ-นามสกุลจริงคือ อำนวย จันโทสี มีชื่อเล่นว่า น้อย เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2510 ภูมิลำเนาเป็นชาวอำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากทางครอบครัวมีอาชีพทำนา มีฐานะยากจนมาก จึงไม่มีโอกาสใด้เรียนต่อ ด้วยความที่เป็นลูกคนโต พอจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พ่อแม่จึงส่งไปทำงานกับญาติที่กรุงเทพฯ เป็นสาวโรงงานทำงานเกี่ยวกับช่างทอง ใด้ประมาณ 2 ปีก็กลับมาทำนาช่วยพ่อแม่
ใด้มีโอกาสไปเล่นกับหมอลำคณะเล็กๆ ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน จนอาจารย์ คำเกิ่ง ทองจันทร์ รู้ข่าวว่าเสียงดีใช้ได้ เลยชักชวนมาอยู่กับวงที่ จังหวัดร้อยเอ็ดด้วย คิดว่าจะเอาไปอัดเสียงคู่กับสาธิต ทองจันทร์ ซึ่งสมัยนั้น ตัวสาธิตเองยังไม่มีชื่อเสียง แต่กว่าจะใด้อัดเสียงต้องทำงานทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่ ตักน้ำ นึ่งข้าว ซักผ้า ล้างถ้วยชาม
เข้าสู่วงการเริ่มแรกด้วยการเป็น "หางเครื่อง" ของวงดนตรี สาธิต ทองจันทร์ ได้ออกอัลบั้มชุดแรกคือ น้ำตาจากใจ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นแนว "ลำเดิน" ต่อมา อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ให้หันมาเปลี่ยนแนวเป็น "ลำเดินกาฬสินธุ์" ชุด สาวนาขาดรัก เจ็บแล้วบ่จื่อ ประสบความสำเร็จพอสมควร เป็นนักร้องในวงดนตรี สาธิต ทองจันทร์ อยู่หลายปี ก็เริ่มมีชื่อเสียง จึงใด้อัดเสียงคู่กันในชุด คู่รักคู่ชื่น ก็เริ่มมีคนรู้จัก
ต่อมาก็เป็นอัลบั๊มเดี่ยว ชุด พื้นเมืองอีสาน มีกลอน คนหลังยังคอย ปีใหม่ใกลแฟน อย่าสะกิดแผลใจ เธอคือฆาตกร ก็ใด้รับการตอบรับจากแฟนเพลง แฟนหมอลำจนมีชื่อเสียงพอสมควร อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ก็เลยตั้งวงดนตรีให้พร้อมทั้งบันทึกเสียง ชุดใหม่ออกมาเรื่อยๆ เช่น ชุด น้ำตาสาวเย็บผ้า ชุดสาวนาหน้าแล้ง
พื้นเมืองอีสาน อัลบั้มเดี๋ยวชุดแรกของ เดือนเพ็ญ อำนวยพร
จนมาถึงชุด หัวอกสาวก่อสร้าง ซึ่งเป็นชุดที่ใด้รับ "รางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน" จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ ศ 2540 ซึ่งเป็นความภูมิใจที่สุดในชีวิตการเป็นนักร้องหมอลำ ต่อมาก็มีชุด ขอเป็นแรงใจ คานทองห้องแอร์ และอีกหลายๆชุด ซึ่งอยู่กับ บริษัทกรุงไทยมาตลอด พอปี พ.ศ. 2544 ก็เลยมาลงทุนตั้งวงหมอลำเป็นของตัวเอง จนประมาณปี พ.ศ. 2553 ก็หมดสัญญากับบริษัทกรุงไทย แต่ก็ยังทำวงดนตรีอยู่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ผลงานชุดนี้เป็นแม่แบบให้หมอลำสมัยนั้นหันมาลำทำนองนี้กันมากมาย เช่น พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย จินตหรา พูนลาภ ศิริพร อำไพพงษ์ (สมัยอยู่ที่กรุงไทยออดิโอ) สาธิต ทองจันทร์ เช่น ชุด พี่นิดคนเดิม แด่หญิงชายคู่นั้น ต่อมา เดือนเพ็ญก็ดังเปรี้ยงปร้างในชุด พื้นเมืองอิสาน คนหลังยังคอย เธอคือฆาตกร แนวดนตรีที่วงลำเพลินยุคนั้นชอบนำมาเล่นกันหน้าเวที และในชุดต่อๆ มาก็ประสบความสำเร็จ เกือบทุกชุด เช่น เดือนเพ็ญลำเพลิน สาวนาหน้าแล้ง ชาติหน้าค่อยพบกัน ชุดน้ำตาสาวเย็บผ้า (ดังมาก) จนนำมาทำเป็นลำเรื่องต่อกลอนทำนองลำล่อง มี สาธิต ทองจันทร์ เป็นพระเอก เดือนเพ็ญ อำนวยพร เป็นนางเอก สุระกานตร์ แสงคำ กับ หงษ์หยก วิไลวรรณ เป็นตัวโกง ศิริพร อำไพพงษ์ เป็นเพื่อนนางเอก อีกหลายชุด และมาดังเปรียงปร้างอีกทีก็คือ คานทองห้องแอร์
และมาเปรี้ยงปร้างสุดๆ อีกครังในปัจจุบันคือเพลง เมื่อไหร่จะพอ ปัจจุบัน เดือนเพ็ญ อำนวยพร มีวงหมอลำใหญ่เอาการ มี ชาญชัย จตุรงค์ (เปเล่) ร่วมแสดงด้วย
รางวัลคนคอย - สาธิต ทองจันทร์ - เดือนเพ็ญ อำนวยพร
เดือนเพ็ญ อำนวยพร ให้สัมภาษณ์ในรายการ ตำนานพิณแคนซอ ว่าแท้จริงชื่อเล่นของเธอชื่อ "จ่อง, สาวจ่อง" ส่วนชื่อ "น้อย" นั้นเป็นชื่อของแม่ของเธอ หลายๆ เหตุผลเธอจึงได้ชื่อ "น้อย" ไปโดยปริยาย และเพื่อให้ชื่อคล้องกับชื่อเล่นของ สาธิต ทองจันทร์ ก็คือ "นิด" มาคู่กับ "น้อย" เดือนเพ็ญ อำนวยพร
แม้จะกลับมาโด่งดังอีกครั้งจากการออกซิงเกิ้ลใหม่กับ สังกัดอาร์สยาม จนกลายเป็นตัวแทน "ผู้หญิงรักเดียวใจเดียว" ไปแล้ว แต่กลับมีคนเห็นหมอลำสาว ดาวค้างฟ้า เดือนเพ็ญ อำนวยพร อาร์สยาม (อำนวย จันโทสี) เปิดร้านขายกาแฟชื่อ เดือนเพ็ญนมนัว อยู่ย่านวงเวียนหมู่บ้านเอื้ออาทร ในตัวเมือง จังหวัดมหาสารคาม พร้อมกระแสว่าเป็นหมอลำตกอับเสียแล้ว
งานนี้ พี่น้อย - เดือนเพ็ญ อำนวยพร ของเราจะว่าอย่างไร
“ไม่ว่าอะไรเลยค่ะ (หัวเราะ) คือพี่น้อยตั้งใจจะหาอาชีพเสริมอยู่แล้ว นอกเหนือจากงานร้องเพลงหมอลำ ที่เป็นงานที่เรารัก และทำมาทั้งชีวิต ส่วนใครจะมาว่าเป็นหมอลำตกอับ ก็ไม่เป็นไรค่ะ เราถือว่าเราไม่อายทำกิน เพราะเราก็มีภาระต้องกินต้องใช้ทุกวัน ร้านที่เปิดก็เล็กๆ ค่ะ ขายกาแฟ นมสด ขนมปังปิ้ง กับอาหารจานเดียว
ฝากแฟนเพลงผ่านไปผ่านมาแวะอุดหนุน ถ่ายรูปกับพี่น้อยได้นะคะ อยู่โซนวงเวียนหมู่บ้านเอื้ออาทร ซอยหมู่บ้านเสริมไทย ในมหาสารคามนี่แหละค่ะ ส่วนงานคอนเสิร์ต พี่น้อยก็ยังรับปกตินะคะ เจ้าภาพติดต่อได้เหมือนเดิมค่ะ นี่ก็มีทำสัญญารับงานไปถึง ปี 61 – 62 ไว้แล้ว และช่วงหน้าฝนนี้ก็มีแผนจะไปรับงานทางยุโรปด้วยค่ะ ฝากแฟนเพลงที่อยู่ใกล้มาให้กำลังกันได้นะคะ”
รักแท้แพ้ลับหลัง - เดือนเพ็ญ อำนวยพร
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)