คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
สาธิต ทองจันทร์ มีชื่อจริงตามบัตรประชาชนว่า นายสานิต ไชยทองศรี เกิดเมื่อ 10 มิถุนายน 2500 เป็นคนบ้านหนองหูลิง ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพี่น้อง 6 คน เป็นลูกชาวนา แต่ว่าบิดาชอบเป่าแคน เสียงแคนเสียงลำเลยฝังใจ "เด็กชายนิด" มาตั้งแต่เล็ก เรียนจบแค่การศึกษาภาคบังคับ ป.4 จากโรงเรียนบ้านหนองหูลิง ที่บ้านเกิด เลยได้บวชเณรร่ำเรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมตรี สึกออกมาทำนาที่บ้าน แต่ใจรักอยากเป็นหมอลำ เคยขอพ่อ-แม่ว่าอยากไปสมัครเป็นหมอลำ แต่ก็ถูกทักท้วงห้ามปราม
สาธิต ทองจันทร์ ในวัยหนุ่มมีความใฝ่ฝันบนเส้นทางแห่งเสียงเพลงอย่างมุ่งมั่น จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อเสี่ยงดวงเข้าวงการ (ด้วยการแอบขายข้าวเปลือกของพ่อ เอาไปเป็นค่ารถ ที่มาของเพลงชุด มือสังหาร) มาเผชิญโชคที่จังหวัดมหาสารคาม ด้วยการไปสมัครอยู่กับ วงดนตรีศักดิ์สยาม เพชรชมพู ในตำแหน่ง "คอนวอย" ที่ต้องคอยแบก คอยขนเครื่องดนตรีจิปาถะ นานๆ ทีจะได้ร้องสักเพลงหนึ่ง ด้วยการขึ้นร้องเพลงแทนนักร้องประจำในวงขัดตาทัพเป็นบางช่วง เคยได้อัดแผ่นครั้งเดียวชื่อเพลง "ตำแหน่งชาวนา" แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร หัวหน้าไม่ยอมตัดแผ่นให้นำไปแจกเสนอกับโฆษกรายการในสถานีวิทยุ
จากนั้น สาธิต ทองจันทร์ จึงย้ายมาประจำอยู่ที่วงชอง “สุภาพ ดาวดวงเด่น” และมีโอกาสบันทึกเสียงคู่กันกับหัวหน้าวงอยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงเท่าที่ควร แต่แรงใจยังไม่สิ้นสู้ต่อไป สักวันคงจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายถนนดนตรี
ภายหลังจากที่ สุภาพ ดาวดวงเด่น ได้หยุดวงลง จึงได้เข้าร่วมงานกับ “วิฑูรย์ วงษ์ไกร” แห่งคณะ “เงาฟ้าอัศวิน A-100“ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับคณะ “ร. รุ่งเรืองศิลป์” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อคณะ “คณะลูกอีสาน 100 เปอร์เซนต์“ รับงานในรูปแบบวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ
ที่วงนี่เองได้รู้จัก อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ซึ่งตอนเป็นนักร้องลูกวงสุภาพ ดาวดวงเด่น เคยพบอาจารย์อยู่ที่บ้านหนองกุง ตำบลภูเงิน อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด พอช่วงสุภาพหยุดวงทั้งหมด เลยย้ายตัวมาอยู่คณะลูกอีสาน 100% และได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ที่นี่
จนในที่สุดความฝันก็เป็นจริงจนเมื่อ “อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์” แห่งคณะทองจันทร์โปรโมชั่น ได้เขียนกลอนลำให้กับสาธิต ทองจันทร์ พามาฝากอยู่กับ "นายห้างกรุงไทย" ที่ให้การสนับสนุนนำมาบันทึกเสียง จนมีชื่อเสียงโด่งดังหลายกลอน เช่น ปากโกรธใจคิดถึง, ผิดหรือพี่จน, สมน้ำหน้าตนเอง, ความรักเหมือนควันบุหรี่, มือสังหาร ล้วนแต่เป็นกลอนลำที่ได้รับความนิยมและครองใจแฟนเพลงมาจนถึงปัจจุบัน
ปากโกรธใจคิดถึง - สาธิต ทองจันทร์
สาธิต ทองจันทร์ ได้ชื่อว่าเป็นหมอลำที่มีผลงานการอัดเสียงมากที่สุด (มากกว่า 30 ชุด) และทุกชุดได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ถึงขนาดขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ทว่าขายหมดขายสิ้นทำยอดจำหน่ายสูงๆ ทุกชุด
เป็นลูกศิษย์กตัญญูอยู่กับ อาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ไม่เคยไปไหน ร้องเพลงแรกที่อาจารย์แต่งให้คือ หยุดน้ำตาเถิดน้อง และชุดอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ ฝากใจไว้กับดิน, สวรรค์ให้มา, รักแท้คือแม่ฉัน, แก้วหลงกรุง, ปากโกรธใจคิดถึง ฯลฯ
เป็นเจ้าของฉายา หมอลำสวมแว่น เป็นคนเดียวที่สวมแว่นสีชาร้องเพลงทุกครั้งทุกเวที อ่อนน้อม ร้องไปเรื่อยๆ ไม่หวือหวา ไม่โยก ไม่เต้น ไม่ส่ายเอว แต่เพลงของเขากลับครองจิตใจนักฟังเพลงหมอลำอย่างเหนียวแน่นมาเป็นเวลาช้านาน
เคยมีผลงานเพลงฮิตๆ มามากมายอาทิ “มือสังหาร” “รักแท้คือแม่ผม” “หยุดน้ำตาเถิดน้อง” สาธิต ทองจันทร์ หมอลำดัง ไม่ยอมตกยุค ออกเพลงเนื้อหาทันสมัย “ผู้เฒ่าหลงไลน์” มากระชากใจคนวัยเดียวกัน พ่วงลงละคร ”ข้ามาคนเดียว” และทำธุรกิจน้ำดื่มให้ลูกๆ ได้มีงานทำ
สาธิต ทองจันทร์ ให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2559 นี้ว่า “สำหรับเพลงยังอัดเสียงไม่เสร็จ อยู่บรัษัทเดียวกับ สิทธิพร สุนทรพจน์ เพราะตอนนี้ผมถ่ายละครช่อง 7 เรื่อง “ข้ามาคนเดียว” เล่นเป็นดาว ด่านเกวียน เป็นหัวหน้าวงหมอลำซิ่ง มีลูกสาว คือ แก้ม แก้ม กวินตรา ผมเล่นละครเป็นเรื่องแรกกับค่ายดาราวีดีโอ เมื่อก่อนนั้นไม่เคยเล่นเลย เคยมีหนังเรื่อง ”ผีแม่ม่าย” ที่เขาไปถ่ายที่เวทีที่ผมแสดง
สำหรับการทำวงดนตรีผมไม่ได้ทำแล้ว แต่รับเชิญทุกวง เขาจ้างไปก็ขึ้นทุกที่ เขาจ้างมาหานักดนตรี หางเครื่องเวที ก็ไปกับเขา สุขภาพของผมก็แข็งแรงดี ยังทำนาอยู่ที่ อำเภอกุฉินารายณ์ กาฬสินธุ์ บ้านเกิด (ให้สัมภาษณ์ไปพร้อมกับร้องเพลงที่เกี่ยวกับประวัติตัวเองให้ฟังด้วย) และผมทำธุรกิจขายน้ำดื่มชื่อยี่ห้อ พี่นิด สาธิต ทองจันทร์ มี 2 สาขา ที่ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม กับที่อำเภอกุฉินารายณ์ มีรูปพี่นิดอยู่ที่ถังด้วย ถังใหญ่เกือบ 20 ลิตร ขายแค่ 10 บาท
ธุรกิจน้ำดื่มก็ดี ทำให้ลูกๆ 4 คนได้มีงานทำกัน อาทิตย์นึงก็ได้เงินเขาว่า ดีกว่าทำงานกรรมกร และเปิดร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ให้ลูกสาว มีรับเติมน้ำมัน ที่กุฉินารายณ์ กับอำเภอนาเชือก สำหรับลูกที่สืบทอดอาชีพผม มีอยู่คนหนึ่งร้องเพลงใช้ชื่อ "สาธุ ทองจันทร์” ทำเพลงกับวิลาศ เมืองอุบลครับ ตอนนี้มีเพลง "ผัวปัจจุบัน" (ค่ายเพลงนาทามเร็คคอร์ด) เนื้อหาแบบว่า ขอเป็นผัวปัจจุบัน ในยูทูป มีคนดูเป็น 190,000 ครั้งแล้ว
ผู้เฒ่าหลงไลน์ - สาธิต ทองจันทร์
และยัง มีเพลง “ผู้เฒ่าหลงไลน์” ซึ่งชีวิตจริง ผมเล่นไลน์ด้วยใช้ชื่อว่า “พี่นิดคนเดิม" เดือนหน้านี้ผมกับทีมงานกำลังจะบุญมหากฐินให้พ่อคำเกิ่ง ทองจันทร์ ในวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ที่วัดบ้านหนองกุง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีงานฉลองกฐินด้วย ฝากบอกบุญกับแฟนเพลงด้วยครับ” พี่นิด ขวัญใจคนเดิมกล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน สาธิต ทองจันทร์ ยังคงรับงานการร้องเพลง ร้องลำเหมือนเดิม ขับกล่อมให้แฟนเพลงได้หายคิดถึง ติดต่อและติดตามความเคลื่อนไหว การแสดงต่างๆ ได้ทาง Facebook สาธิตทองจันทร์ และ Facebook Fanpage : สาธิต ทองจันทร์ - พี่นิดคนเดิมแฟนเพจ ได้เลยครับ
คึดฮอดคราวลงรัก - สาธิต ทองจันทร์
เมื่อพูดถึงดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ "กันตรึม" ยิ่งถ้าเอ่ยถึง "กันตรึมร็อค" นอกจากผู้คนจะนึกถึงนักร้องในตำนานอย่าง "ดาร์กี้ กันตรึมร็อค" ผู้ล่วงลับไปแล้ว อีกคนที่จะต้องกล่าวถึงก็คือ "วงดนตรีร็อคคงคย" ที่มี คง มีชัย เป็นผู้นำทั้งการแต่งเนื้อร้องและทำนองในเพลงดังหลายๆ เพลง หนึ่งในนั้นคือ “สดัจเคินแม” แปลว่า เทวดาของแม่ หรือ ราชาของแม่ เป็นภาษาเขมรตรงๆ และมาดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมาเพราะมีการนำไปดัดแปลงเนื้อร้องเป็นภาษาลาวอีสานในชื่อเพลง "ลูกเทวดา" ที่ขับร้องโดย สนุ๊ก สิงห์มาตร
นายคง มีชัย เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ที่บ้านเลขที่ 4 หมู่ 4 ตำบลสมุด อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
วงดนตรีชื่อ "ร็อคคงคย" เป็นชื่อที่ใช้ในการแสดง "ดนตรีพื้นบ้านกันตรึม-หมอลำ" ของ นายคง มีชัย ชาวอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ได้ก่อตั้งวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 สังกัดค่ายไพโรจน์ซาวด์ มีจุดเด่นคือเพลงที่ร้องใช้เนื้อเพลงเป็นภาษาเขมร หรือภาษาเขมรปนกับภาษาไทย
ผลงานที่สร้างชื่อได้แก่ชุด "เสียวโว๊ย" ซึ่งจัดจำหน่ายโดยไพโรจน์ซาวด์ในปี พ.ศ. 2539-2540 เพลงยอดนิยมของอัลบั้มนี้คือ "เจิ๊ดเอ๊ยเจิ๊ด" "เสียวโว๊ย" และ "ไอ้หนุ่มก่อสร้าง" ซึ่งทั้งสามเพลงนี้ถูกนำไปบันทึกเสียงใหม่ในอัลบั้ม "น็อตหลุด" โดยค่ายรถไฟดนตรี และอัลบั้ม "มันทั้งม้วน" โดยค่ายไพโรจน์ซาวด์
เสียวโว๊ย - ร็อคคงคย
"ใครบอกว่า "คงคย" ตายแล้ว บางคนบอกว่า คงคยสิ้นชีวิตแล้ว วงยุบหรือเปล่า? มีข่าวมากมาย ก็อยากจะแก้ข่าวว่า คงคยยังอยู่นะ คนที่ตายคือลูกน้อง สมาชิกในวงคนหนึ่งเสียชีวิต ไม่ได้หมายความว่า คงคยจะตายไปด้วย แฟนเพลงสับสนตรงนี้" คง มีชัย หัวหน้าวงกันตรึมร็อคคงคย เล่าให้ฟังในบ่ายวันหนึ่ง
"กันตรึม" คือดนตรีพื้นบ้านภาคอีสานใต้ ละแวกสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ แต่ร้องเป็นภาษาเขมร หรือขแมร์สำเนียงแถบจังหวัดสุรินทร์ เพราะวัฒนธรรมทางภาคอีสานมีความหลากหลายในตัวเอง ทั้งภาษาอีสาน ภาษาส่วย ภาษาเขมร และยังมีวัฒนธรรมแตกต่างกันไป ปัจจุบันความนิยมในมหรสพอย่าง "หมอลำ" กว้างขวางและเป็นที่ยอมรับมากกว่า "กันตรึม" เพราะขนาดของประชากรที่เสพฟัง
ในการแสดงกันตรึมมีความแตกต่างจากหมอลำตรงที่ จะร้องคู่ชาย-หญิงเป็นเรื่องเนื้อหาที่นำมาขับขาน เช่น พระเวสสันดร บางครั้งก็ร้องเกี้ยวกันระหว่างหนุ่ม-สาว พอยุคสมัยเปลี่ยนแปลง เนื้อหาก็เปลี่ยนให้ฟังสนุกและฟังง่ายขึ้น หากร้องเป็นตำนานแบบเดิม คนยุคนี้จะไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร
ผลงานชุดแรกของ "ร็อคคงคย" คือ "คงเคย" ชุดที่ 2 "เสียวโวีย" ชุดที่ 3 "เด่งได้อ๊ะ" ชุดที่ 4 "เมาขแมร์" ชุดที่ 5 "ร็อคสเต็ย" พอมาถึงผลงานชุดที่ 6 พวกเขาใส่ความเป็นพิเศษลงไปในอัลบั้มอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็คือ จังหวะดนตรีทันสมัยขึ้น ผสมผสานกลิ่นอายเพลงลูกทุ่งและกันตรึม พร้อมเพิ่มเนื้อร้องภาษาไทย เนื่องจากต้องการขยายตลาดสู่แฟนเพลงในวงกว้างขึ้น
งานนี้ คง มีชัย ยังทำงานร่วมกับ ทุย ลูกไท โปรดิวเซอร์คู่ใจเช่นเดิม โดยมี รุ่งเรือง ดาวสุรินทร์ ดูแลด้านคำร้องทำนองอีกทีหนึ่ง เนื้อหาของเพลงในอัลบั้มพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนบท และเรื่องราวความรักในแบบสนุกๆ กระเซ้าเย้าแหย่กันระหว่างหนุ่มสาว ซึ่งเป็นเพลงแต่งใหม่ทั้งหมด 10 เพลง ในทำนองกันตรึม มีทั้งเพลงร้องเดี่ยวและร้องคู่ระหว่าง คง มีชัย และน้ำหวาน เมืองสุรินทร์ (หนึ่งในนักร้องเสียงดีจากจำนวนสมาชิกวงกันตรึม 50 ชีวิต)
คง มีชัย นักร้องและหัวหน้าวงเปิดเผยว่า "กันตรึมอย่างเดียวตลาดมันแคบ ภาษาขแมร์จะเป็นแค่ 3-4 จังหวัดเท่านั้น เขาก็เลยอยากให้กลุ่มผู้ฟังกว้างขึ้น ก็เลยเอามาใส่สไตล์ลูกทุ่ง แต่ใจจริงแล้วผมอยากให้มันเป็นกันตรึมร็อคเหมือนเช่นเคย
อัลบั้มต่อไป ผมว่าน่าจะลงมาสไตล์คงคยดีกว่า คือ... เราถนัดทางนี้ และอีกอย่างเราอยากทำดนตรีทำอะไรเอง จะได้รู้ว่าสไตล์กันตรึมเป็นยังไง สนุกยังไงเราเติบโตมาจากกันตรึม ในส่วนของลูกทุ่งวันนี้มีใครต่อใครขึ้นมาเยอะแยะมากมาย เราจะไปเอาดีทางลูกทุ่งคงจะเป็นไปไม่ได้ ก็คงกลับมาที่จุดนี้ ถ้าดวงดีก็คงจะมีรอบสองบ้างเหมือน สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ผมก็ฝากแฟนเพลงทุกครั้งว่า จะคงสไตล์คงคยไว้ ถึงแม้จะไม่เต็มรูปแบบกันตรึม แต่เราก็ยังคงกันตรึมไว้"
คง มีชัย เล่าถึงชีวิตการเป็นนักร้องว่า เริ่มจากการได้รับการชักชวนให้สมัครเข้าเป็น สมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) จังหวัดสุรินทร์ ที่คอยให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันตัว และให้ความรู้ในเรื่องทั่วๆ ไป ตลอดระยะเวลา 13 ปี
"ช่วงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักร้อง เพราะผมมีคำถามว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้ชาวบ้านสนใจ มาฟังเรื่องที่อาสาสมัครทุกคนอยากจะบอกกับพวกเขา ด้วยความที่ชอบร้องเพลง ผมจึงใช้เพลงเป็นสื่อในการเชิญชวนชาวบ้านมาร่วมฟังการบรรยายความรู้ในเรื่องต่างๆ ให้กับชาวบ้าน จากความชอบของผมในการร้องเพลง เล่นดนตรี และเขียนเพลง ทำให้เป็นที่สนใจของหลายๆ คน นับตั้งแต่นั้นมาผมก็มีโอกาสออกเทป"
เราถามถึงชื่อและความหมายของคำว่า "คงคย" ได้คำตอบว่า คือชื่อของเขา "คง มีชัย" นี่เอง ที่คนในละแวกบ้านเรียกชื่อเล่นๆ ของเขาเป็นภาษาขแมร์ว่า "บักคงคย" ซึ่งมีความหมายว่า "คง ผู้มีความซน ดื้อ น่ารัก"
"ผมรักดนตรีมาตั้งแต่เด็กเวลาไปดูกันตรึม จนได้งานทำเราก็เอาดนตรีไปควบคู่กับงาน ตอนนั้นอยู่กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอกาบเชิง เอาดนตรีไป มีบทบาทกับชาวบ้านมวลชนสัมพันธ์ ต้องมีสันทนาการ ถ้าไม่งั้นงานจะจืด ประสบความสำเร็จน้อย เป็นการพัฒนาทั้งจิตใจคนและวัตถุ ดนตรีมีส่วนมาก"
เขาเริ่มเป็นที่รู้จักกันแคบๆ ในเขตอำเภอ จนกระทั่งมีโอกาสออกอัลบั้มชุดแรก จึงเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น "หลังจากทำเพลง งานกองร้อยอาสาฯ ก็เยอะ แฟนเพลงก็ตอบรับเยอะมากขึ้น จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ" เขาเล่าต่อ "พอผมดัง คนขายเทปก็รวย ชุดแรกที่ผมขาย (เทปมาสเตอร์) ได้ 1,000 บาท ตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้ว่าจะดัง ชุดที่ 2 ได้มา 3 หมื่นดีใจมากแล้ว โดยชุดแรกกับชุดสองทำในจังหวัดสุรินทร์ (ไพโรจน์ซาวด์) ถือว่าเป็นใบเบิกทางที่ภูมิใจ ชุดที่ 3 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ออกกับอีวีเอส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ โดย อีจีเอ็มเร็คคอร์ด จัดจำหน่าย เขาได้ 50 กว่าล้าน ผมได้มา 3 หมื่น (4 คน) แต่ก็โอเคเขาได้เงิน แต่ผมได้งาน
พอชุด 4 ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะนั่นไม่ใช่สไตล์ของคงคย ชุด 5 (มิราเคิ้ล จัดจำหน่าย) กระแสตอบรับกลับมาดีอีก แต่บริษัทเขาเจ๊ง พอชุด 6 เป็นของเอ็มจีเอ ขายมาสเตอร์ไปประมาณแสนกว่าบาท"
หลังจากเข้าสู่วงการบันเทิงชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนจากทหารรับใช้ชาติที่เคยถือปืน หันมาจับไมค์แทน "ตอนนั้นผมไม่ได้คาดคิดว่าจะมาเดินสายนี้ เพราะผมมีงานหลักอยู่แล้ว คือเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หลังจากงานด้านการทหารลดบทบาทลง งานด้านการพัฒนาก็เข้ามามีบทบาท แต่ละกองร้อยต้องมีผลงานด้านการพัฒนา เพื่อจะทำอะไรให้ทางหน่วยเหนือได้รู้ว่า พวกเรามีการเคลื่อนไหว มีผลงนอยู่ ไม่สมควรยุบอะไรทำนองนั้น (หัวเราะ) ประสบการณ์ความรู้ตรงนั้นก็ยังไม่มีเลย แต่ใจก็รักมาแต่เด็ก ชีวิตตอนนั้นกู้ดอกร้อยละสิบมาตลอด เดือนชนเดือน ตอนนี้ก็โอเคชีวิตดีขึ้น เปลี่ยนให้คนอื่นกู้บ้างแต่ตอนนี้ก็ช็อตแล้ว (หัวเราะ) พอมีข้าวสารมีเลี้ยงลูกน้อง เพราะที่บ้านผมทำนา"
หน้าฝนเป็นช่วงพักวง คงคยจะเปิดวงอีกทีในช่วงเดือนตุลาคม และในช่วงพักวง ลูกน้องก็กระจัดกระจายแยกย้ายกันไปทำมาหากินตามอัตภาพ แล้วกับมาพบกันใหม่ก่อนหน้าหนาวเพื่อซ้อมดนตรี แล้วรับงานเดินสายแสดงอีกครั้ง
"ปัญหาวงก็มีตั้งแต่ตื่นนอน หุงหาอาหารทุกอย่างต้องเป็น รบจ. คือ ระเบียบประจำวัน ทหารจะใช้คำนี้ ถ้าอยู่หลายคนเราจะต้องมีระเบียบวินัย สิ่งที่เข้มงวดสำหรับวงก็คือ การพนัน ชู้สาว และยาบ้า ห้ามเด็ดขาด เราเล่นอย่างมาก 4 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องพึ่งยา การพนันก็เหมือนกัน ใช่อยู่แค่บาทสองบาท แต่อย่าลืมว่า คนเราเป็นมิตรเมื่อยามกู้ เป็นศัตรูเมื่อยามทวง พอทวงปุ๊บเริ่มมีอคติต่อกันแล้ว ชู้สาวเราไม่สามารถควบคุมทุกสถานการณ์ได้ แต่เราจะบอกว่าอย่าให้ได้ยิน อย่าให้รู้ ปัญหาเหล่านี้มันเคยเกิด ถึงได้ตั้งกฏขึ้นมา ปัญหาเหล่านี้มีทุกวงอยู่แล้ว"
หัวหน้าวงร็อคคงคยกล่าวว่า ช่วงแรกๆ มีคนจ้างให้ไปแสดงมาก โดยในช่วงเทศกาลจะเล่นวันละ 3 แห่ง (เช้า-บ่าย-กลางคืน) แต่โชคไม่ค่อยดีตรงที่พอวงของเขาเริ่มมีชื่อเสียง ก็เจอกับยุคเศรษฐกิจแฟบ ทำให้มีคนจ้างน้อยกว่าที่ควร
"ผมว่ามันคงกระทบทุกวงการทุกธุรกิจแหละนะ ยกเว้นอยู่อันเดียวคือธุรกิจขายโลงศพ (หัวเราะ) น้ำขึ้นก็ได้ น้ำลงก็ได้ ของแน่นอนที่สุด" หนุ่มคงพูดอย่างคนที่ผ่านประสบการณ์ร้อน-หนาวมามาก
นายคง มีชัย มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะในเขตภาคอีสานเท่านั้น ยังได้รับการติดต่อให้ไปแสดงทั่วประเทศ แม้กระทั่งประเทศใกล้เคียงอย่างกัมพูชา และอีกหลายประเทศ ด้วยทั้งท่วงทำนอง จังหวะและเนื้อหาในบทเพลงของ คง มีชัย นั้นมักสะท้อนสภาพวิถีชีวิตจริงในสังคมปัจจุบัน จึงเป็นที่นิยมชมชอบจากผู้ฟังจำนวนมาก
นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้มีจิตเป็นสาธารณะกุศล ช่วยเหลือสังคม ในด้านต่างๆอย่างสม่ำเสมอ เช่น การสอนการเล่นดนตรีและการขับร้อง ให้แก่เด็กนักเรียนในชนบทที่ห่างไกล ทั้งยังช่วยในกิจกรรมสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ด้วยความวิริยะอุตสาหะในการประกอบสัมมาชีพ และความเพียรพยายามในการเผยแพร่วิชาความรู้ ตลอดทั้งการอุทิศตนในการช่วยเหลือและสร้างสรรค์สังคม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายคง มีชัย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินพื้นบ้านอีสาน สาขาดนตรีและนาฏกรรม ประจำปีพุทธศักราช 2561 จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Q : ทุกวันนี้ทำอะไรอยู่
A : ผมก็ยังทำงานส่งห้องอัด ทำเพลงหาเสียงให้การเมืองในอีสานใต้ ศึกษาโปรแกรมดนตรีเกี่ยวกับเพลงที่มีเข้ามาเรื่อยๆ เราต้องตามให้ทันเพื่อจะได้ไม่ตกยุค ส่วนอัลบั้มผมก็ทำอยู่ตลอดขายมาสเตอร์ให้แก่ไพโรจน์ซาวด์ ไม่ได้สังกัดบริษัทไหน
Q : พักหลังๆ ไม่เห็นมีงานเพลงตามสื่อเลยเพราะอะไร
A : ผมไม่ค่อยได้เจอพวกสื่อมวลชนเท่าไหร่ มันโดนจำกัดด้วยเรื่องของภาษา มันยาก เลยผันตัวเองมาอยู่เบื้องหลัง แต่งเพลงขายบ้าง ตอนนี้ก็มีแต่งให้ ยิ่งยง ยอดบัวงาม ไป 3 เพลง พอว่างก็มาอัพเดทความรู้กับ สมบูรณ์ ปาราชิงตัง (นักเรียบเรียงเสียงประสานฝีมืออันดับต้นๆ ของวงการหมอลำ) เพื่อนกันทำงานร่วมๆ กันอยู่
Q : ที่บอกว่าภาษาเป็นอุปสรรค ทำไมเมื่อก่อนไม่มี
B : เมื่อก่อนผมดัดแปลงเอาทำนองกันตรึมมาใส่ทำนองลาว มันแปลกคนสนใจ คำว่าดังกับรวยไม่เหมือนกัน ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจพอผมประยุกต์ใส่ดนตรีสากลเข้าไปไม่นึกว่ามันจะดัง มาช่วงหลังภาษามันยากเกินไป คนอาจจะเข้าใจยาก มันเลยไม่เปรี้ยงปร้าง แต่เรตติ้งในอีสานใต้ผมยังรักษาเอาไว้
A : แล้วเพลง "ลูกเทวดา" เกิดมาได้อย่างไร
B : เพลงนี้ชื่อ “สดัจเคินแม” แปลว่า เทวดาของแม่ หรือ ราชาของแม่ เป็นภาษาเขมรตรงๆ ผมทำอยู่ในอัลบั้มที่แล้วพอดี อาจารย์สมบูรณ์ ปาราชิตัง แกมาบอกว่า อยากเอาเพลงนี้ไปใส่เนื้อลูกทุ่งอีสาน ประกอบให้อัลบั้มของ สนุ๊ก สิงห์มาตร เพราะขาดเพลง เราทำงานร่วมกันอยู่ ผมก็ให้ไป มันดังขึ้นมาผมให้เครดิต อาจารย์สมบูรณ์
Q : ตอนนี้วงร็อกคงคยยังรวมตัวกันอยู่ไหม
B : ทีมเก่าบางคนเสียชีวิตไปแล้ว บางคนไปต่างประเทศ ที่ยังอยู่ก็ หมอลำรสริน ลำซิ่ง เป็นทีมเก่า ตั้งแต่งานชุดที่ 3 (2540) และก็มีเฉพาะกิจแล้วแต่เจ้าภาพจะเรียกใช้ ผมทำวงแบบพอเพียงเราไม่สามารถกำหนดราคาได้ งานเลี้ยงตามบ้านจะไปเรียก 5-6 หมื่นก็ไม่ได้ ต้องแล้วแต่เจ้าภาพ ผมก็มีรับเชิญไปตลอดโดยเฉพาะแถบพัทยา ที่นั่นคนอีสานใต้เยอะ
Q : เหตุที่ทำนองกันตรึมไม่ตายไปจากอีสานใต้เพราะอะไร
A : ทำนองกันตรึมมีความสัมพันธ์กับประเพณีทุกงานพิธีกรรม กันตรึมจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับบาป-บุญ คุณโทษ เกี่ยวกับพระไตรปิฎก เวลาร้องเวลาสวดจะด้นสดๆ ด้วยคำคล้องจ้องมันสุดยอดนี่คือ ศิลปะที่แท้จริง ไม่ใช่ด้นตามเนื้อที่เขียนล่วงหน้า ผมได้ตรงนี้มาเป็นครูให้ตัวเองทำให้ผมมีวันนี้ได้
Q : วันนี้หากจะให้กันตรึมกลับมาสู่ตลาดอีกครั้งควรปรับตัวอย่างไร
A : ถ้าจะให้คนภาคอื่นๆ มาฟังกันตรึม ต้องประยุกต์คำและเลือกเครื่องดนตรีให้เหมาะสม ผมเคยทำตอนอยู่กับบริษัทอีวีเอส กระแสมันต่างกัน ถ้าคนไหนเอาทำนองเพลงผมไปร้อง มันจะแหวกแนวสนุก
แนวดนตรีกันตรึมประยุกต์แบบ คง มีชัย แบบร็อกคงคย กลายเป็นต้นแบบให้ค่ายเพลงลูกทุ่งอื่นๆ ได้สร้างกลุ่มนักร้องแนวเดียวกัน อาทิ วงร็อกสะเดิด, ร็อกเอาเยาะ, ร็อกสะแด่ว ฯลฯ
กระจอกแท้ - ร็อคคงคย
หลังเพลงดังสะท้านประเทศ “คง มีชัย” แยกตัวออกจากวงไปเป็นศิลปินเดี่ยว ชีวิตนักร้องมีขึ้น มีลง เป็นเรื่องปกติ แต่สองสามปีมานี้ คง มีชัย กลับมาดังอีกหน จากเพลง “กระจอกแท้” โดยมี แจ๊ส ชวนชื่น เล่นในเอ็มวีเพลงกระจอกแท้ และรถแห่ดนตรีสดทุกคันต้องเล่น
เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป 2562 นักร้องกันตรึมอย่าง คง มีชัย ถูกทาบทามให้ลงเล่นการเมืองระดับชาติ เขาก็ออกหาเสียงสไตล์ผู้แทนคนยาก เดินเคาะประตูบ้าน แวะตามหมู่บ้าน ร้านค้า และย่านชุมชนต่างๆ พร้อมผู้ช่วยผู้สมัครอีก 2 คน โดยราชากันตรึมร็อก แต่งกายอย่างสุภาพ ใส่สูท สวมแว่นตาดำ ยกมือไหว้ และร้องเพลงแนะนำตัวสนุกสนาน
พี่ๆ พรรคเสรีรวมไทย นะครับ จำได้ไหมครับ พรรคเสรีรวมไทย ส่งผู้สมัครชื่อ นายคง มีชัย คงคยนั่นไง สมัครได้เบอร์เจ็ด กระจอกแท้ เขารู้กันทั่วประเทศ สุรินทร์ เขต 7 กาเบอร์ 7 เบอร์เจ็ดกระจอกแท้ ”
แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จในแวดวงการเมือง คง มีชัย ก็ไม่ได้ท้อแท้เสียใจ ยังคงโลดแล่นในวงการเพลง ด้วยการอยู่ทั้งเป็นเบื้องหน้าบนเวที และอยู่เบื้องหลังในฐานะคนทำดนตรี เนื้อร้องให้กับศิลปินอีสานใต้รุ่นใหม่ๆ อยู่เหมือนเดิม
ที่อยู่ปัจจุบันสามารถติดต่อได้ที่ นายคง มีชัย 124 หมู่ 1 บ้านรุน ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-0712264 หรือทาง E-mail : Kongkoy.kk@hotmail, This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
นายทองฮวด ฝ่ายเทศ เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2483 ปีมะโรง ที่ บ้านนาสีนวล ตำบลนาสีนวล อำเภทพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่ออายุได้ 14 ปี ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ อาจารย์สมพร นักสีซอ (หมอซอ) แห่งวงมโหรี อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ฝึกฝนกับครูจนชำนาญสามารถออกมาตั้งวงของตนเองขึ้นมาได้
ด้วยทักษะฝีมือที่โดดเด่นของ นายทองฮวด ฝ่ายเทศ จึงมีผู้ชักชวนให้เข้าวงการหมอลำและเพลงลูกทุ่ง ได้บันทึกเสียงการบรรเลงซอครั้งแรกให้กับนักร้องลูกทุ่งชื่อดังยุคนั้นคือ เทพพร เพชรอุบล ในชุด “อิสานบ้านเฮา” และ “ขอหอมก่อนแต่ง” ในช่วงนั้นเพลงสองชุดนี้ดังมาก หัวหน้าวงหมอลำเพชรบูรพาจึงให้มาอัดการบรรเลงดนตรีให้กับ สุภาพ ดาวดวงเด่น ในเพลง คิดถึงเสียงซอ และ ลำเพลินสลับเต้ย ได้รับความนิยมมาก จึงมีอัลบั้มชุดถัดมา คือ เดี่ยวซอเดี่ยวแคน
คิดถึงเสียงซอ - สุภาพ ดาวดวงเด่น
นอกจากนั้นยังได้บรรเลงซอให้กับนักร้องดังอีกหลายท่าน อาทิ อรอุมา สิงห์ศิริ ในอัลบั้ม สาวอีสานรอรัก, หงส์ทอง ดาวอุดร ในอัลบั้ม หงห์ทองคะนองลำ บรรเลงให้ ศรชัย เมฆวิเชียร ในอัลบั้ม เสียงซอสั่งสาว, พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในชุด แก้วรอพี่ รวมถึง บานเย็น รากแก่น, ปริศนา วงค์ศิริ, ยุ้ย ญาติเยอะ, จินตรา พูนลาก, ยอกรัก สลักใจ, พรศักดิ์ ส่องแสง, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ล่าสุดคือ แดง จิตรกร
เสียงซอสั่งสาว - ศรชัย เมฆวิเชียร
ต่อมา ท่านผู้อำนวยการประดิษฐ์ ศิริ ได้มาติดต่อไปเป็น ครูสอนดนตรีไทยพื้นบ้าน ให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านมะชม โนนสง่า อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีลูกศิษย์ในโรงเรียนและนอกโรงเรียนอีกมากมาย อาจารย์ทองฮวด ฝ่ายเทศ เป็นผู้มีพรสวรรค์และมีศิลปะในตนเอง สามารถประดิษฐ์ซอขึ้นใช่เอง และแจกจ่ายให้ลูกศิษย์ที่สนใจดนตรีพื้นบ้าน
นอกจากการเป็นครูสอนลูกศิษย์แล้ว ยังเข้าสู่วงการลูกทุ่ง หมอลำ มีผลงานอยู่เป็นประจำ มีวงมโหรีเป็นของตัวเองและรับงานโชว์ตัวในที่ต่างๆ ผลงานที่ได้รับเป็นเกียรติสูงสุด คือ ได้ไปสีซอในงานรับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามพระบรมราชกุมารี ในงาน กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ที่กรุงเทพมหานคร และได้รับโล่รางวัลอีกมากมาย อาจารย์ทองฮวดมีความมีความตั้งใจจริงในการสืบทอดศิลปะดั้งเดิมของไทยให้ลูกหลานสืบไป
นายทองฮวด ฝ่ายเทศ จึงได้รับยกย่องเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ประเภท ดนตรีพื้นบ้าน (ซอ) ประจำปีพุทธศักราช 2551 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
เดี่ยวซอีสาน โดย ทองฮวด ฝ่ายเทศ
ปัจจุบัน นายทองฮวด ฝ่ายเทศ ได้ถึงแก่กรรมแล้วในปี พ.ศ. 2554 ยังคงเหลือไว้เเต่ เสียงอมตะซออีสาน ที่เป็นมรดกคู่แผ่นดินอีสานสืบไป
เดี่ยวซออาลัย พ่อใหญคำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติ โดย ทองฮวด ฝ่ายเทศ
ถ้าพูดถึง "ศิลปินเมืองสุรินทร์" อีกท่านหนึ่งทีมีชื่อเสียงและเชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะรู้จักกันดีทีเดียว เพราะศิลปินท่านนี้เป็นศิลปินคนแรกๆ ที่นำพา "เพลงกันตรึม" ท่วงทำนองดนตรีจากอีสานใต้ไปสู่โลกภายนอก ในรูปแบบเพลงกันตรึม ประยุกต์ หรือที่เรียกว่า 'กันตรึมร็อค' ให้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบกันมากในปัจจุบัน นั่นก็คือ ดาร์กี้ กันตรึมร็อค หรือ นายสมชาย คงสุขดี นั่นเอง
ลักษณะพิเศษของ "กันตรึมร็อค" คือ การนำเครื่องดนตรีฝรั่ง นำจังหวะเพลงตะวันตกมาใช้ แต่ทำนอง-คำร้องเป็นของกันตรึมทั้งหมด เนื้อหาจะประยุกต์ของดั้งเดิม มีทั้งเนื้อหาที่แต่งขึ้นมาใหม่ แต่ทำนองจังหวะยังยืนทางเก่าไว้อยู่ จะผสมเครื่องดนตรีฝรั่ง เช่น กลองชุด กีต้าร์ เบส แต่เครื่องดนตรีของเก่าจะขาดไม่ได้เป็นอันขาด คือ “ซอ” และ "ปี่อ้อ" ที่นับวันจะหาคนสืบสานได้ยากแล้ว และผลงานเพลงชุด “เปิดกรุอีสานใต้” เป็นผลงานที่ทำให้คนรู้จักศิลปินชื่อ "ดาร์กี้" เป็นอย่างดี เพลงชุดนี้ได้ดังระเบิดเถิดเทิงไปทั่วภาคอีสาน อย่างไม่เคยมีกันตรึมประยุกต์คณะใดเคยได้รับมาก่อน และอีกหลายๆ ผลงานเพลงต่อมาหลังจากนั้นไม่นาน ในส่วนงานการแสดงภาพยนต์ ดาร์กี้ ได้เข้าร่วมแสดงภาพยนต์ มากกว่า 19 เรื่อง
ดาร์กี้ เป็นคนที่มีความไฝ่ฝัน จริงจัง และเรียนรู้ไว ทำให้เขาสามารถเรียนรู้ และจดจำศาสตร์ของกันตรึมเป็นอย่างดีคนหนึ่ง และเขาเคยประกาศว่า
กันตรึมร็อกของผมคือ อาชีพ กันตรึมแท้ๆ ผมนะรู้ แต่กันตรึมร็อกนี่ผมหาเลี้ยงชีพ ถ้าผมไม่ทำอย่างนี้ประชาชนเขาไม่จ้าง ผมไม่มีซี ไม่มีขั้นอย่างข้าราชการ คนไม่รู้เรื่องศิลปะพื้นบ้าน จะมีอุดมการณ์อย่างผมหรือ ผมกล้าตายไปกับเสียงซอ กล้าประกาศว่า... กูนี่แหละจะใช้กันตรึม…ศิลปะนี้เลี้ยงชีพ ”
แม้ ดาร์กี้ จะได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ 3 มกราคม 2546 แต่ผลงานเพลงและภาพยนต์มากมายที่เขาได้ร้องและแสดงไว้ ทำให้คนสุรินทร์และคนที่ชื่นชอบผลงานเพลงของเขาจะเก็บเขาไว้ในความทรงจำ และดวงใจตลอดไป และเป็นแบบอย่างให้กับศิลปินกันตรึมรุ่นหลังต่อไป
บันทึกการแสดงสด ดาร์กี้ กันตรึมร็อค โดย Topline Diamond
ดาร์กี้ หรือชื่อจริง นายสมชาย คงสุขดี เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2511 ที่บ้านนาตัง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรของคุณพ่อบุญจันทร์ และคุณแม่ประยูรญาติ คงสุขดี บรมครูเพลงเจรียงและเพลงกันตรึมของเมืองสุรินทร์ สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนบ้านนาตัง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
คุณพ่อบุญจันทร์ คงสุขดี เป็นครูเจรียงและกันตรึมแห่งจังหวัดสุรินทร์ ส่วนคุณแม่ประยูรญาติ คงสุขดี นามสกุลเดิม “เป็นเครือ” นอกจากมีอาชีพทำนา อยู่บ้านนาตัง แล้วท่านทั้งสองยังเป็นศิลปินพื้นบ้าน ร้องรำทำเพลง สวดมนตร์สู่ขวัญงานพิธีมงคล และงานประเพณีต่างๆ
คุณพ่อและคุณแม่ของคุณดาร์กี้ ได้ตั้งคณะกันตรึมเป็นครั้งแรกในนามคณะ “แสงจันทร์ประยูรญาติ” และได้ใช้ศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้เป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวด้วย เคยแสดงออกรายการวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งรับลูกศิษย์สั่งสอนศิลปะเจรียง, กันตรึมมาหลายรุ่นแล้ว จึงเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป
ด้วยการร้องกันตรึมที่เอื้อนโอด โหนเสียง เป็นเอกลักษณ์ของ “มับ” บุตรชายของบรมครูเพลงพื้นบ้านเจ้าของวงกันตรึม “แสงจันทร์ประยูรญาติ” ที่โด่งดังในพื้นที่อีสานใต้ การซึมซับแนวทาง วิธีการร้องสู่การพัฒนาวงให้เป็น กันตรึมประยุกต์ บุกเบิกของเมืองไทย นักร้องตัวดำ น้ำเสียงดี มีลีลา การฟ้อน การเต้นโดดเด่นเฉพาะตน หาตัวจับได้ยากจนเป็นที่รู้จัก ประทับใจผู้ชมเป็นที่มาของฉายา “ดาร์กี้” จากยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งที่หน้าดำแต่ฟันขาว
จากการที่ได้เกิดในครอบครัวศิลปิน มีสายเลือดกันตรึมอันเข้มข้นทำให้ “สมชาย คงสุขดี” หรือ "มับ" มุ่งก้าวเดินเพื่อสืบสานรอยทางของพ่อ แต้มเติมต่อรอยทางของแม่ ด้วยหัวใจสุนทรียะศิลปิน นำพาบทเพลง ท่วงทำนอง เนื้อร้องกันตรึมพื้นบ้าน ก้าวสู่ความเป็นสากล “เปิดกรุอีสานใต้ อีซิวอีสร้อย เบิกจ๊ะ หม้ายมัธยม” ได้ขับขานบรรเลงผ่าน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เปิดประตูอีสานใต้ให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างชาติ ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสานความเป็นพื้นบ้านอีสานใต้ให้คงอยู่ ยึดอุดมการณ์สืบสานมรดกชาติร่วมกับ เฉลิมพล มาลาคำ และเอกชัย ศรีวิชัย
“พระเอกหน้าดำ” นามนี้ได้โลดแล่นจากหน้าเวทีการแสดงสู่จอโทรทัศน์ จอภาพยนตร์ ในหลายบทบาท หลากเรื่องราว บุคลิกของ ดาร์กี้ ช่วยขยายภาพของความเป็นคนอีสานใต้ ให้ชัดเจนในสายตาของผู้ชม เป็นต้นแบบของ ศิลปินกันตรึมร็อค กันตรึมประยุกต์ นักแสดงพื้นบ้าน ในรุ่นต่อๆ มาทั้งสิ้น กว่า 30 ปีที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นมรดกของชาวอีสาน สู่ตำนานเล่าขานที่จะยืนหยัดอยู่มิรู้คลาย เป็นลมหายใจของบทเพลงอีสานใต้ เคียงคู่กับหมอลำทางอีสานเหนือนิรันดร ดังเนื้อเพลง “...อีสานตอนเหนือ แม่เอ๋ย เขามีหมอลำ อีสานใต้แม่งามขำ มีศิลปะกันตรึม..”
ดาร์กี้ บันทึกความรู้สึกเจ็บปวดในห้องพิเศษ โรงพยาบาลรวมแพทย์สุรินทร์ เมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ว่า
“ความเจ็บจุกที่ท้องทำให้ทรมานมาก จึงนึกถึงวิธีที่พระท่านส่องแสงแก้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จึงเริ่มพิจารณารูปกาย เวทนา สังขาร วิญญาณ มันเกิดขึ้นอย่างทะนุถนอมอย่างเอาใจใส่ ในเมื่อมันไม่อยากอยู่ อยากจะไป ก็คงต้องใช้จิตแยกกาย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ให้เป็นอนัตตา คือสิ่งไม่เที่ยง คืนสู่ความไม่เที่ยง ดำรงจิตเที่ยงให้กลายเป็นพละจิต เป็นบันไดแห่งสัมโพธิญาณ อันจะนำจิตเดิมที่บริสุทธิ์กลับคืน พลังเมตตาอย่างไม่ประมาณต่อการสิ้นสุดทุกข์ สิ้นอาสวะแห่งความเจ็บปวดโลภโกรธ หลง ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอปู่อรหังสัมโพธิญาณช่วย คุ้มครอง”
ดาร์กี้ เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ข่าวปากต่อปากนี้ทำเอาคนที่สนิทชิดชอบกับดาร์กี้ตกอกตกใจ และถามสวนทวนความกันยกใหญ่ ยิ่งหนังสือพิมพ์ลงข่าวในสัปดาห์ที่สองว่า “ดาร์กี้ป่วยนอนอยู่โรงพยาบาลด้วยโรคตับแข็ง” ยิ่งทำให้เพื่อนใกล้ ไกล ต่างทยอยไปเยี่ยมด้วยเป็นห่วง ก่อนบันทึกมิวสิกวิดีโอชุด “อีซิว อีสร้อย” ดาร์กี้ ดื่มเหล้าหนักและพักผ่อนน้อย หลังจาก ทีมงานทอปไลน์ไดมอนด์ ต้นสังกัดถ่ายทำมิวสิกวีดิโอเสร็จ เขาก็ดื่มจัดไม่เลือกทั้งเหล้าชั้นดีและชั้นเลว กับหลายวงหลายกลุ่มคน หารู้ไม่… ตับที่กรองซับแอลกอฮอล์มาเกือบยี่สิบปี มันแย่แล้ว...
เขาจำได้… ดื่มเป๊กสุดท้ายของค่อนขวด ก่อนจะขึ้นแสดงที่บ้านระไซร์ อำเภอปราสาท รู้สึกเจ็บแปลบราวมีดโกนกรีดในท้อง เจ็บจนต้องเกร็งท้องกุมกลั้นไว้ แต่ก็เหลือจะทานทนไหวเขาตะโกนลั่น “โอ๊ย! ไม่ไหวแล้ว!” พี่น้องสมาชิกวงรีบพาร่างบิดเร่าๆ บึ่งเข้าโรงพยาบาลอำเภอปราสาทที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่ถูกส่งต่อเข้าโรงพยาบาลสุรินทร์เป็นการด่วน พอจะรู้สึกตัวหมอก็ฉีดมอร์ฟีนให้ทันที และต่อมา ญาติๆ พาย้ายมารักษาต่อที่ โรงพยาบาลรวมแพทย์สุรินทร์ เขาสลบไสลไม่ได้สติถึงสี่วัน…
ณ สถานที่แห่งหนึ่ง… เขาพบว่าตัวเองไปปรากฏตัวในงานแสดงดนตรี เห็นเวทีขนาดใหญ่ตั้งเด่นอยู่ มีคนดูมากมาย คล้ายๆ งานวัด มีพานดอกไม้ธูปเทียนสามอันวางอยู่ใกล้เวทีข้างล่างและผู้หญิงนั่งที่โต๊ะยาวเหมือนกรรมการจัดงานทำนองนั้น
ศิลปินพื้นบ้านหมอลำ ลูกทุ่งคณะใหญ่ หลายคนเดิน ยืน นั่ง รอขึ้นแสดงอย่างคึกคัก ที่เป็นหมอลำแต่งตัวด้วยเพชรปลอมพราวตาและยังเห็น “แดง จิตรกร” ขึ้น ร้องเพลง “เมื่อแลงว่างบ่” แล้วลงเวทีไปอย่างเซื่องๆ ซึมๆ
ดาร์กี้ถือว่าตัวเองก็ดังไม่ใช่ย่อย จะขึ้นไปช่วยร้องเพลงสนุกๆ ให้แฟนเพลงฟังด้วย แต่มีเสียง ร้องห้าม
"เอ็งยังหนุ่มยังแน่น ไม่ต้องร้องหรอก”
เมื่อเป็นอย่างนั้นเขาจึงเดินตาม แดง จิตรกร ออกไป ระหว่างนั้นเห็นพระเอกหมอลำใส่ชุดเพชรเหลืองอร่าม เขาเหลือบมองขาหมอลำเห็นใส่รองเท้าสลับข้าง ชักแปลกใจ มองที่มือเห็นมีแค่สี่นิ้ว จึงเอ่ยถาม
“เฮ้ย โตคือใส่รองเท้ากลับข้างว่ะ”
“มันก็ใส่จังซี่หละ” ตอบแล้วทำท่าอายๆ แล้วเดินหลบไปข้างเจดีย์บรรจุอัฐิ
ดาร์กี้สังเกตเห็นนักร้องหมอลำพวกนี้ ถูกเจาะหัวเป็นรูแทบทุกคน และยังมีคนพยายามจะเอาเหล็กแหลมมาเจาะหัวเขาด้วย เขาหนีและเริ่มรู้แล้วว่าที่นี่มันไม่ใช่โลกมนุษย์แน่ๆ เพ่งทางในดูก็รู้ว่าพิธีกรถือไมโครโฟนก็คือ “ยมทูต” นั่นเอง เขารู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย พอดีมีเสียงกระซิบ
“เพิ้นมาเอาซุ้มหมอลำ” หมอลำคนหนึ่งพูด
“มื้ออื่นโตสิไปเล่นไส” ดาร์กี้ถาม “ไปสิงคโปร์ ไปฮับคนอยู่พู้น” เขาถอยๆ ไปอยู่ข้างหลังผู้ชม แล้วเริ่มต้นหัวเราะดังกังวาน พร้อมตะโกนว่า
“โอ้! นี่มันหมอลำมัจจุราชตั๊วะนี่” ตะโกนเท่านั้น ก็ปรากฏชฎาเงินครอบหัวเขาและตัวขยายใหญ่ขึ้น และกลายเป็นชุดฤาษีสวมใส่แทน แล้วภาพงานผีๆ ก็วูบหายไปเหมือนปิดจอภาพโทรทัศน์
เขามาปรากฏตัวอีกที กำลังเดินผ่านบ้านหลังหนึ่ง เห็นตาภูมิ (ศาลพระภูมิ) กับยายภูมิ กำลังกินข้าวมื้อค่ำ แกเงยหน้าหันมาถาม
“ไปไหนมามืดๆ ค่ำๆ”
ไม่ทันจะได้ตอบ เพียงยกมือไหว้ตาภูมิ ก็ตื่นจากฝัน เห็นเมียซึ่งกำลังตั้งครรภ์นั่งเฝ้าอยู่กับลูกสาววัย 10 ขวบ ที่แปลกคือลูกสาวคนนี้ก็ฝันและเล่าความฝันให้ฟังแล้วต้องขนลุก
พ่อ เมื่อคืนโบว์ดูหมอลำผี มียมทูตด้วย ตัวด้ำดำ โบว์ถามว่า ยมทูตมาเอาใคร? ”
หากจะลำดับเหตุการณ์ก่อนป่วยนั้น 12 สิงหา วันแม่แห่งชาติปี 2545 วงดาร์กี้กันตรึมร็อค มีโอกาสไปร่วมแสดง ณ ทุ่งสนามหลวง กรุงเทพมหานคร หลังจากเล่น “เพลงอีซิว อีสร้อย” จบลง ดาร์กี้ ได้ประกาศต่อคนทั้งปวงอยู่ที่นั่นว่า
จะลงเวทีและเริ่มเดินเท้าสู่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และเทิดเกียรติคุณของแม่ทั้งหลาย "
ดังนั้น 8 ชีวิตนักสู่ คือ ดาร์กี้, ศักดิ์, ดาว 3 พี่น้อง “คงสุขดี” พร้อมด้วย พรพจน์ พลภักดี, ฉ่ำ ช่อมะดัน, เฉลา เงางาม, ศักดา, น้าจิต (มือซอของวง) พร้อมสำหรับการเดินเท้าบนเส้นทาง 400 กิโลเมตร ในครั้งนี้ด้วยเจตนาอันแน่วแน่...
แล้วพวกเขาก็พากันเริ่มก้าวแรก บนเส้นทาง 400 กิโลเมตรกว่าที่ทอดยาวไปเบื้องหน้าจนสำเร็จ ดาร์กี้ รักผองเพื่อน รักมนุษย์ ไปที่ไหนก็ได้ "ผูกเสี่ยวเหยเกยฮักไปทั่ว ผูกพี่ฮัก และผูกพ่อแม่ฮักกับหลายคน ทั้งเพื่อนนักร้อง นักแสดง ทหาร ตำรวจ และคนพื้นบ้าน"
เวลาเกือบครึ่งเดือนในโรงพยาบาล เมื่อออกมาบ้านพักฟื้นได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เขารู้ว่า เฉลิมพล มาลาคำ ถึงกำหนดเปิดวงอีกครั้ง หลังปักดำนาเสร็จเป็นประจำทุกปี แทนที่จะไปโรงพยาบาลขอนแก่นตามคำแนะนำของหมอ แต่... ดาร์กี้ เลือกไปช่วยงานเปิดวงของเฉลิมพลก่อน
กับ “พี่หำ” เฉลิมพล มาลาคำ ความสัมพันธ์นั้นลึกซึ้งนัก เพราะเคยร่วมงานกัน เคยปรับทุกข์เฉลี่ยสุขกันมา เมื่อครั้งเฉลิมพลฉีกตัวมาทำวงดนตรีของตัวเอง ถูกเจ้ากรรมนายเวรเล่นงานเสียย่ำแย่ ก็ได้ ดาร์กี้… อย่างน้อย ช่วยรับระบายความทุกข์
ดาร์กี้ ฝืนสังขารทำหน้าชื่นตาบานไปขอช่วยเพื่อนรุ่นพี่ แม้จะถูกทักท้วงให้เพียงแค่โชว์ตัวเท่านั้น เขาก็ยืนยันยังไหว นั่นเพราะ... เสียงปรบมือของแฟนเพลงปลุกพลังศิลปินในตัวเขาให้ลุกโชนขึ้นมา เขาเริ่มร้องเพลง “อีซิว อีสร้อย” ชื่อเพลงในชุดล่าสุด ต่อด้วย “หม้ายมัธยม” แม้รู้สึกเจ็บแปลบๆ ขึ้นมาอีก และมึนงงไม่น้อย ขณะที่เฉลิมพล ก็จะฟ้อนอยู่ใกล้ๆ กลัวเขาจะล้ม แต่สู้ฝืนเรียกอินโทรดนตรี “เปิดกรุอีสานใต้” ร้องไปจนจบเป็นเพลงที่สาม ด้วยอาการโงนเงนเต็มที เฉลิมพล มาลาคำ เห็นอย่างนั้นจึงรีบดึงไมโครโฟนออกและให้ลงเวทีได้แล้ว
มาหลังเวที เฉลิมพลร้องไห้สวมกอดดาร์กี้เพราะซึ้งน้ำใจไอ้น้องคนนี้นัก มันเพิ่งออกจากโรงพยาบาลแท้ๆ (16 ตุลาคม 2545) ยังอุตส่าห์มาช่วยงาน เสร็จจากนี้ไปตรวจที่ขอนแก่น และนัดผ่าตัดแต่เขาเปลี่ยนใจ
“มึงตายไม่ได้นะ…ดาร์กี้” เขาได้แต่น้ำตาซึม พูดไม่ออก เจ็บข้างในก็เจ็บ รับรู้ความซึ้งใจและเจ็บแทนของเพื่อนผู้พี่ก็ปานกัน
เฉลิมพล มาลาคำ นั้นลึกซึ้งกันในฐานะคนอีสานด้วยกัน เคยบุกเบิกตัวในยุคใกล้กัน เปิดตัวมักไปขึ้นป้ายออกงานด้วยกันประจำ และเคยแสดงภาพยนต์ร่วมกันหลายเรื่อง ดาร์กี้กับ เฉลิมพล มาลาคำ สนิทกันตั้งแต่ยังเป็นหมอลำธรรมดา มาเล่นอยู่สถานีวิทยุเขาก็ไปคลุกคลีอยู่ที่สถานีวิทยุด้วย จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับนักจัดรายการวิทยุไม่ว่า สัจจา ธนาภัทราสกุล, อุดมศิลป์ งามยิ่ง
กับ เอกชัย ศรีวิชัย (นักร้องรุ่นพี่สะตอแดนใต้) ก็รักนับถือกันฉันพี่น้องและนักเลง สิ่งใดเหลือบ่ากว่าแรงจะยื่นมือเข้าช่วย เรื่องนี้เมียของดาร์กี้ก็รับรู้ดี คราวหนึ่ง เอกชัย ศรีวิชัย เคยโทรมาบอกให้ดาร์กี้ ไปตรวจรักษาที่ ศูนย์มะเร็ง กรุงเทพฯ เอกชัยจะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่ในครอบครัวปรึกษากันแล้ว น่าจะลองรักษาแบบพื้นบ้านดูก่อน ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2545 หมอพื้นบ้านได้ให้ยาสมุนไพรมาต้มดื่ม และรอดูอาการสักสัปดาห์ ปรากฏว่า เพียงห้าวันเขาก็รู้สึกดีขึ้นมาจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ทว่า... ระหว่างรักษาตัวนั้น ดาร์กี้ ก็ยังรับงานแสดงอยู่เสมอ ดังนั้นสุขภาพของเขาจึงไม่อาจฟื้นฟูได้เต็มที่ กระทั่งทรุดหนักลงไป เมื่อครั้งที่ดาร์กี้ยังรักษาตัวแบบพื้นบ้านหมอให้เขาร่วม ทำวัตรเช้า, เย็น กับคนจำนวนมาก ซึ่งเขาก็ชอบเพราะปฏิบัติเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว
หลัง 4 คืนแห่งการสลบไสล พ้นความตายมาได้ เขาได้แต่สะท้อนใจในความไม่เที่ยงของสังขาร หากตายไปใครจะสืบสาน สิ่งที่เขาตั้งปณิธานไว้ จะสร้างสานศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านสุรินทร์ให้วัฒนาสืบไป เกรงจะไม่ได้ทำ…เกรงทำไม่เสร็จ
งานสังคมที่ดาร์กี้เข้าไปช่วยไม่ว่างานรณณรงค์กับสาธารณสุขจังหวัด และการท่องเที่ยวฯ และด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ก็ทำอย่างสม่ำเสมอ เขายังตั้งจิตอธิษฐาน.. สาธุ ขอให้ลูกรอดเถอะจะทำเรื่องนี้ให้เสร็จก่อน จะตายก็ค่อยตาย ลูกกลัวศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้จะเสื่อมและสูญหาย หากลูกหายจากโรคร้ายลูกจะขอตั้งสัจจะต่อพระอาจารย์ทุกรูป เทวดาทุกองค์ ให้คำสาบาน 5 ข้อไว้อย่างนี้
นี่คือ ปณิธานของเขา “ดาร์กี้” ผู้บุกเบิกจังหวะใหม่ให้กันตรึม ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเขานั่นแหละคือ "ราชากันตรึมร็อค" หรือใครจะเถียง.
การเอื้อนโอดโหนโยนเสียง เป็นแบบแผนการร้องของเจรียง, กันตรึม ไพเราะ ครึกครื้น แต่ไม่โลดโผนโฉ่งฉ่าง ราวกับคนตัดความทุกข์ไม่หมดสิ้น แม้จะมีความสุขก็ชั่วครู่ชั่วคราว แต่ความทุกข์นั้นยาวนานนัก นอกจากบทร้องโบราณ จะบอกให้รู้ถึงวิถีประเพณีดั้งเดิม ยังฝากกฎเกณฑ์ พื้นฐานอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับปฏิบัติสืบต่อกันมาอีกด้วย
โดยเฉพาะเจรียง มีคัมภีร์เรียนโดยตรง คนเจรียงต้องรู้ถึงปรัชญาศาสนา ต้องรู้พิธีกรรมของชุมชน ส่วน กันตรึม มักเล่นเอารื่นเริงเฮฮาในงานสมรส งานเรียกขวัญ แต่จะไม่เล่นในงานศพ… ยกเว้นงานฉลองอัฐิ อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ
นี่เป็นการสอนขนบธรรมเนียม ด้วยศิลปะผ่านศิลปินแท้ๆ
ตั้งแต่เล็กๆ ทั้ง สุทิศ, สมศักดิ์, จิระพันธ์, สมชาย, แสงดาว, จิตรา, จิระภา, สุริยัน, สมถวิล และสมบัติ 10 พี่น้องร่วมอุทร ต่างได้เห็นแม่-พ่อ ร้องเจรียง กันตรึม และเห็นพ่อ-แม่ จับซอ จับกลอง ฉิ่ง ฉาบ สอนลูกศิษย์มาแต่น้อยเท่าใหญ่ ฟัง ฟัง จนคุ้นเคยเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น และเมื่อเผลอจับก็แทบจะเล่นเป็นในบัดนั้น ทั้งกลอนร้องก็ติดหูขึ้นใจ ท่ารำก็ติดตา แทบจะวาดแขนไปได้เอง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และจิตวิญญาณครอบครัว “คงสุขดี” อย่างไม่รู้ตัว
สำหรับ เด็กชายมับ หรือ สมชาย ยังได้สัมผัส "ดนตรีฝรั่ง" ตั้งแต่เรียนอยู่ ป. 4 หัดตีกลองชุดกับพี่สุทิศ ซึ่งเป็นคนพิการขาเปลี้ยทั้งสองข้าง สุทิศ เป็นศิลปินทางดนตรี พอๆ กับเป็นนักประดิษฐ์ สมัยนั้นนำโครงกลองชุดเก่ามาหุ้มขึงด้วยถุงใส่ปุ๋ย กระเดื่องทำจากยางรถตัดและทำเป็นราว นอกจากนำดนตรีฝรั่งเล่นคั่นกันตรึมของแม่ กระทั่ง พ.ศ. 2523 สุทิศได้ประยุกต์เครื่องดนตรีฝรั่งเข้ากับกันตรึมสำเร็จ
“มับ” ได้ช่วยตี กลองโทน ฉิ่ง สลับกับตีทอมบ้า บางครั้ง อาจได้สีซอด้วย และยังคั่นรายการด้วยเพลงร่วมสมัยเช่นกัน ทั้งคืนได้ค่าตัวคนละ 20-30 บาท เครื่องดนตรีที่เขาถนัดคือ ซอ ขลุ่ย และกลอง ยังไม่เต็มหนุ่มดี เขาก็ฉายแววยิ่งขึ้น เมื่อได้ออกงานแสดงกับคณะแม่บ่อยๆ ถึงขั้นต้องทำหน้าที่ผู้ช่วยพระเอกเล่นแทนพระเอกด้วยซ้ำ ถ้าเขาไม่ร้องคนดูจะหนี เพราะพระเอกตัวจริงมัวแต่เมาเหล้ายืนหลังเวที คนดูก็จะมารบเร้าให้ออกไปอีก
อีกสิ่งหนึ่งที่ซัมซับลึกๆ คือ วิชาวาทศิลป์ จิตวิทยา ซึ่งได้มาจากพวกหนังเร่ขายยา ซึ่งมาพักในโรงแรมที่สุรินทร์ ซึ่งเขาได้ติดสอยห้อยตามตระเวนในเขตอีสานใต้อยู่ราวปีกว่า จนถึงขั้นฉายหนังได้ พากย์หนังได้ แต่ก็เป็นเสียงแบบเด็กๆ
แม้ชีวิตยากลำบาก หิวและอิ่มเคยรู้จัก เขาก็ไม่เคยงอมืองอเท้า เห็นคุณค่าของงานและเงินอยู่ในน้ำเหงื่อและความเหนื่อยยากเข้าแลกเอา มีจัดมวยชกที่ไหนก็ขึ้นเปรียบชกมวย ได้ยกละ 20 บาท ก็ยังไว้ลายศิลปินกระทั่งไหว้ครูอ่อนช้อยสวยงาม จนได้รางวัลมาแล้ว ชกมวย…ทั้งเหนื่อยเพลียและเจ็บตัว ไม่ใช่เป็นแค่มวยไทยที่มักจะชกชนะ เพราะได้ฝึกจากพี่น้องครูมวยดี สองคนคือ จักรกฤษ ส.เทเวศร์ กับปราณี ส.เทเวศร์ เขายังได้ฝึกเทกวนโดจากครูประพันธ์ สมัยเรียนมัธยมต้นด้วย
วัยย่าง 15 ปีของ “มับ” ไม่เพียงเดินตามบารมีครูเพลงดั้งเดิมอาศัยคณะของพ่อแม่เท่านั้น ยังตั้งคณะกับพี่ๆ น้องๆ เดินสายแสดงล้อมผ้าเก็บเงินคนละ 20 บาท บางงานก็ได้เงินบางงานก็ไม่ได้ พาลูกน้องเดินสายไป ตำน้ำพริกปลาทูกินกับข้าวไป และเริ่มร้องเพลงในห้องอาหารอีกด้วย
ต่อมา พี่สุทิศ (พี่ชายคนโต) ก็เสียชีวิต… ได้สมศักดิ์ พี่คนรองทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการ และเป็นมือกลอง กีตาร์ พร้อมกันไป พี่สะใภ้ก็ช่วยดูความเรียบร้อยเรื่องเสื้อผ้า อาหาร พี่สาว (จิระพันธ์) และน้องสาว (จิตรา) ทั้งร้องนำ รำ และช่วยกันคุมหางเครื่อง ทั้งเครื่องแต่งกายและฝึกท่าเต้นช่วยกันเท่าที่จะทำได้ นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการประยุกต์เข้ากับกันตรึมคณะของแม่ “แม่ประยูรญาติแสงจันทร์” และการเริ่มต้นหล่อหลอมเป็น "ดาร์กี้ กันตรึมร็อค" ในกาลต่อมา
แม่ทองพร นั้นได้ยอมรับนับถือให้เป็นพี่สาวใหญ่ ในฐานะครูเจรียง, กันตรึม มีชื่อเสียงมาก่อน พ่อบุญจันทร์ แม่ประยูรญาติ ก็ถือศักดิ์เป็นน้องตามวัยและคุณวุฒิ ลูกๆ ก็จับกลุ่มเป็นเพื่อนเล่น ไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ จนรวมเป็นวงสตริงในชื่อ “กะโปโล”
“เหมา” ลูกชายของแม่ทองพร เป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนให้ตั้งวงฝึกซ้อม และรับเล่นในงานต่างๆ “น้อย” พี่ชายของเหมา ถูกวางตัวให้เล่นกีตาร์คอร์ด “ปรอย” กับ “พงษ์” ตำแหน่ง คีย์บอร์ด “ศักดิ์” ถูกวางตัวให้เป็นมือกลองชุด “มับ” หรือ "ดาร์กี้" อยู่ตำแหน่งร้องนำ เพอร์คัชชั่น และแทนได้เกือบทุกตำแหน่ง พวกเขาเลือกเล่นเพลงของ คาราวาน คาราบาว และเพลงวงของฝรั่งบ้าง เช่น สกอร์เปี้ยน
วงกะโปโล ทำวงไปอย่างกระท่อนกระแท่นตามวิถีแห่งยถา ระยะเวลานั้น สังคมไม่ค่อยยอมรับอาชีพพวกนักดนตรี เห็นเป็นพวกว่างงาน สร้างความหนวกหูให้ชาวบ้าน มีแต่คนใกล้ชิดเท่านั้นเข้าใจความมุ่งมั่น และรักศรัทธาพวกเขา
“วงกะโปโล” ได้นำเอาเพลงสตริงมาเล่นร่วมกับศิลปะพื้นบ้านกันตรึม ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่คนไม่เคยเห็น สมัยนั้นคนชอบเพลงคาราบาว คาราวาน ลูกทุ่งดังๆ กะโปโล ก็เล่นได้หมด และยังสามารถเล่นละครสดหน้าเวทีได้
ความสามารถเฉพาะตัวของ "มับ" กลายเป็นตัวชูโรง ทั้งเต้นเบรกด๊านช์ และด้นกลอนสดเก่ง ได้หลายสไตล์ แต่จุดเด่นที่เห็นชัดจริงๆ ก็คือ ตัวดำๆ นี่เอง ที่ทำให้ถูกพวกนักจัดรายการเรียกขานว่า “ดาร์กี้” ซึ่งน่าจะนำมาจากยี่ห้อยาสีฟันยี่ห้อหนึ่ง ที่ตัวดำเห็นแต่ฟันขาวเหมือนเขานั่นเอง คำว่า “ร็อค” ต่อท้าย กันตรึม ก็น่าจะมาจากความฉกาจฉกรรจ์บนหน้าเวที ทั้งร้อง รำ เต้น ถ้าเป็นเพลงซึ้งก็เรียกน้ำตาได้เหมือนกัน ถ้าเพลงมันก็ถึงขั้นยั่วหัวใจให้คึกคักลุกมาเต้นเหยียบตีนกันจนได้ตีกันเลยทีเดียว
ด้วยความฉกาจนี่เองทำให้ไปสมัคร แข่งขันดนตรีสตริงในระดับจังหวัด แต่ก็แพ้เพียงคะแนนเดียว ถูกตัดคะแนนแต่งกายไม่สุภาพ ชื่อวง “กะโปโล” ก็บอกอยู่แล้ว… จะให้แต่งตัวดีได้อย่างไร อีกอย่างขณะนั้น ทุกคนก็ได้อิทธิพลจากวงเพื่อชีวิตไม่น้อย ซึ่งแต่งตัวปอนๆ อยู่ด้วย ขณะนั้น มี "นายทหาร" สนใจ ติดตามมาดู และได้เข้ามาชักชวนให้ไปเป็นทหารพรานเกือบครบทั้งวง
เมื่อผิดหวังจากการแข่งขันชิงชนะเลิศวงสตริง ก็มีนายทหารมาชักชวนทั้งวงไปเล่นดนตรีให้หน่วยทหารพราน ตอนนั้นกำลังผิดหวังจากการประกวด รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม บวกกับเซ็งๆ จึงคิดว่าถ้าไปเป็น "นักดนตรีทหาร" ได้เงินเดือนด้วย ได้เล่นดนตรีสวมเครื่องแบบ ถือปืนเท่ๆ ด้วย น่าจะดีไม่น้อย หารือกันไม่นานก็ได้มติ… ตกลงใจ ไปเป็น "ทหารพราน" !
แต่สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พวกเขาตกลงใจไปเป็นทหารพรานหน่วยสันตินิมิตร น่าจะเป็นข้อแม้ที่นายทหารให้ไว้ว่า
ฝึกแค่ระเบียบแถวเท่านั้น เล่นดนตรีอย่างเดียว วันสมัครไม่ต้องไป ให้ไปรายงานตัวได้เลยที่กรม ”
แต่เอาเข้าจริงๆ ฝึกเต็มรูปแบบ แต่เพียงปีเศษเขาก็จำต้องอำลาชีวิตทหารพรานด้วยความเจ็บปวด ซึ่งก็สร้างความแกร่งให้ดาร์กี้ไปอีกขั้นหนึ่ง
สาวน้อยนั่งอยู่เคาน์เตอร์เป็น "พนักงานบัญชี" อยู่ตรงนั้น เหลือบมองนักดนตรีเล่นร้องเป็นระยะ สำหรับคนสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด เช่นเธอ ฟังไม่ค่อยรู้ความหมายในเพลงพื้นบ้านสุรินทร์เอาเสียเลย แม้เขาจะเต้น จะฟ้อน อ่อนช้อยยังไง คนปรบมือให้เกรียวกราว เธอก็รู้สึกเฉยๆ กับ "เจ้าดำ" เหมือนตอตะโกคนนี้ดูท่าทางหยิ่งๆ แต่แม่รวมพร (เจ้าของร้านอาหาร) ล่ะก็ให้ท้ายจนได้ใจ ทีนักร้องคนอื่นๆ ได้ค่าพวงมาลัยแค่ห้าบาท แต่ให้เจ้ามืดคนนี้ให้ตั้งสิบบาทต่อพวง เธอยืนยันจะให้เปอร์เซ็นต์เหมือนกับทุกคน ถึงเวลาจริงเจ้ามืดโยนเงินใส่หน้าเธอ เล่นเอาเธอหน้าเสียวิ่งไปฟ้อง กลับกลายเป็นว่า "แม่รวมพร" ยืนยันต้องให้ตามนั้น เพราะ "ดาร์กี้" เป็นนักร้องแม่เหล็กดึงดูดคนเข้าร้านได้เยอะ
หมั่นไส้กันมาแต่คืนนั้น เลิกงานดาร์กี้นับเงินได้ 150 บาท เดินผ่านได้ยินเสียงแม่รวมพรพูดกับสาวแคชเชียร์กระทบมาถึงเขาว่า อย่ามายุ่งเกี่ยวกับคนอย่างเขา “แกอย่าไปยุ่งกับมันนะดาร์กี้ มันขี้เมา เจ้าชู้” ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่เคยวุ่นวายเรื่องผู้หญิงเลย จึงนึกเคืองทั้งสองคน คนหนึ่งด่าไม่รู้จริง อีกคนหนึ่งก็หยิ่งนัก นึกๆ อยากลองดี และรอโอกาสจะสั่งสอนเสียบ้าง…
ระหว่างนั้น แม่รวมพรทำกิจกรรมพร้อมกันอยู่สองร้าน อีกร้านอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองสุรินทร์ เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งเป็น ต.ช.ด. ชอบดื่มเหล้าด้วยกัน ตั้งใจมาจีบเพื่อนของแคชเชียร์ที่เขาลอบมองอยู่เหมือนกัน กระทั่งถึงคราวหนึ่ง แม่รวมพรจัดเลี้ยงให้พนักงานร้านที่ห้วยเสนง คนลงน้ำเล่นกันอยู่ดีๆ เจ้ากบ เพื่อนของ ดาร์กี้ ดันเจ้าหล่อนแคชเชียร์ที่สอดตัวอยู่ในห่วงยางลอยไปอยู่กลางน้ำ แล้วมันก็ว่ายกลับฝั่งหน้าตาเฉย แน่ละ… เธอว่ายน้ำไม่เป็นและก็กลัวมาก ร้องให้คนช่วยเสียงหลง
“กี้ ไปเอามา ๆ” กองเชียร์บอก เขาลังเลชั่วครู่ แล้วก็ว่ายน้ำไปนำเข้ามา ครั้งนี้ เธอจะมองเขาด้วยความรู้สึกดีขึ้นบ้าง… เขาเชื่อในแววตาคู่นั้น
อีกครั้งหนึ่ง แม่รวมพร ใช้ให้ดาร์กี้ไปรับนักร้องหญิงรุ่นพี่มาเล่นที่ร้านหน้าโรงพัก เธอชื่อ “สุมาลี” พ้องกับชื่อเจ้าหล่อน ดาร์กี้ ดันผ่าไปรับแคชเชียร์สาวชวนไประลึกเหตุที่ห้วยเสนงเสียอีก แขกเต็มร้าน แคชเชียร์ไม่อยู่ นักร้องดังประจำร้านก็ไม่อยู่ โดดงานไปตอนราวเที่ยงคืนเศษ
อยากให้คุณเป็นเพื่อน… เป็นทุกอย่างในชีวิต จะเป็นได้ไหม? ”
ท่ามกลางเดือนหงาย พิศดูแล้วเธอก็น่ารักดีนะ ชักเริ่มอ่อนไหวแล้วสิ ความที่อยากชนะความหยิ่งของเธอค่อยๆ มลายไป กลายเป็นความเสน่หามากกว่า เขาได้เอ่ยบอกอุปนิสัยความเป็นตัวเขาให้เธอฟัง จนถึงบทสารภาพรักกับเธอ สิ่งภายในพรั่งพรูออกราวมีคำพูดท่วมท้น ไม่อาจพูดให้สิ้นความง่ายๆ จนกระทั่งเธอก็โอนอ่อนรับจะคบกับเขาต่อไปเพื่อศึกษาดูใจกันต่อไป
ตั้งแต่วันนั้นมา เริ่มมีของขวัญยื่นให้เธอ ต้นความรักได้ค่อยๆ ผลิใบ ออกดอก ผล และสุกงอม… ทั้งคู่สมรสเมื่อปี 2533 มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ
ด้วยผลงานอันเป็นเอกลักษณ์และประจักษ์สู่สายตาประชาชน นายสมชาย คงสุขดี (ดาร์กี้ กันตรึมร็อค) จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น "อมรศิลปินมรดกอีสาน" สาขาศิลปะการแสดง (กันตรึม) พุทธศักราช 2562 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)