คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นายสนธิ สมมาตร มีชื่อจริงว่า ไพฑูรย์ ทุมวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พุทธศักราช 2495 ที่บ้านทุ่ง ตำบลนาคำใหญ่ (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ ตำบลแดงหม้อ) อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนศรีทองวิทยา จังหวัดอุบลราชธานี และได้บวชเป็นสามเณรในระยะต่อมา ด้วยความที่เป็นสามเณรนักเทศน์ ที่มีน้ำเสียงอันไพเราะมาตั้งแต่เด็ก และยังมีความสนใจในด้านเพลงลูกทุ่ง จึงได้ลาสิกขาบทเพื่อตามหาความฝันของตนเอง โดยเข้ามาทำงานที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โดยมีความตั้งใจที่จะเรียนและทำงานไปด้วย
ที่เมืองหลวงนี่เอง สนธิ สมมาตร ได้เข้าทำงานในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ทำเก้าอี้บุนวม ระหว่างที่โรงงานส่งไปซ่อมเก้าอี้ที่ โรงภาพยนตร์เมโทร ย่านประตูน้ำ ก็ได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้จัดการโรงภาพยนตร์ และเอ่ยปากขอร้องว่า "หากมีวงดนตรีมาเปิดการแสดงที่นี่ ขอให้ช่วยฝากฝังเขาเป็นนักร้องด้วย" ต่อมา สนธิ สมมาตร ลาออกจากโรงงานทำเก้าอี้มาเป็นบริกรย่านถนนเพชรบุรี ในร้านอาหารชื่อ แอนนี่บาร์ อยู่แถวเพชรบุรีตัดใหม่ จึงมีโอกาสไปประกวดร้องเพลงตามงานวัดที่ใกล้ที่พัก และได้ประกวดร้องเพลงตามสถานที่ต่างๆ เรื่อยมา
จนเมื่อ ปีพุทธศักราช 2515 ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดร้องเพลงที่วัดอุทัยธาราม ซึ่งเพลงที่ใช่ในประกวดได้เลียนแบบแนวเสียงของ "ทูล ทองใจ" และมีโอกาสเข้าเป็นนักร้องในวงที่ชื่อ "181 คอมโบ้" ซึ่งเป็นวงของคุณปรีชา จิตะรัตน์ โดยได้รับค่าตัวครั้งละ 20 บาท แต่เดือนหนึ่งมีงานแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น
แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง ผู้จัดการโรงภาพยนตร์เมโทร ก็มาเรียกตัวเขาไปพบกับ "แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์" ที่มาเปิดการแสดงที่โรงภาพยนตร์ และได้เข้าเป็นนักร้องประจำวงตามที่หวัง โดยใช้ชื่อว่า คม คีรีบูน ที่เขาเป็นคนตั้งเอง จากความชื่นชอบเป็นการส่วนตัวต่อชื่อของ คม ขวัญแก้ว นักร้องคนหนึ่งในวงสุรพล สมบัติเจริญ ส่วนคีรีบูนนั้น เขาก็ว่าเป็น "นก" ที่ได้ชื่อว่ามีเสียงไพเราะที่สุด
ปีถัดมา สนธิ สมมาตร ได้มีโอกาสบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในเพลง “ฟ้าร้องที่หนองหาร“ และ “รักเหลือเดน” ผลงานการประพันธ์ของ ทอง ธนาทิพย์ หรือ ธาราทิพ ซึ่งเพลงแรกนั้น ก็เป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงอย่างน่าพอใจ ปี 2517 ทอง ธนาทิพย์ ทำให้ สนธิ สมมาตร โด่งดังมากขึ้นไปอีกจากเพลง “ออกพรรษาที่เชียงคาน“ และมาจนถึงปัจจุบัน เพลงนี้ก็ยังถูกนำมาใช้ในงานบุญเทศกาลของ อำเภอเชียงคาน อยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นเพลงสัญลักษณ์ของเชียงคานไปแล้ว
ปี 2518 สนธิ สมมาตร ลาออกจาก วงดนตรีขวัญจิต ศรีประจันต์ และไปเก็บตัวอยู่ที่เชียงใหม่อย่างเงียบๆ ร่วมครึ่งปี โดยให้เหตุผลว่า "ไปตามที่ใจอยากไป" แต่ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ได้ไปเรียกตัวเขากลับมา พร้อมกับทะยอยป้อนเพลงดังให้เขาอยู่เป็นระยะ ขณะที่ชื่อ คม คีรีบูน ถูกเปลี่ยนชื่อมาใช้ สนธิ สมมาตร จวบจนถึงปัจจุบัน ตามคำแนะนำของครูพงศักษ์เอง งานนี้ สนธิ สมมาตร กลับมาดังอีกครั้งด้วยเพลง “ด่วน บขส.” ของ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา และ “ลูกทุ่งคนยาก“ ของ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ เพลงเหล่านี้และเพลงอื่นๆ ทำให้ สนธิ สมมาตร ผูกขาดเพลงหวานแนวอีสานไว้หมดสิ้นแบบไม่มีใครมาเทียบได้จวบจนถึงปัจจุบัน
เพลงดังของเขาส่วนหนึ่งถูกนำไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักแม่น้ำมูล“ ที่สร้างเมื่อปี 2521 โดยมีดาราดังอย่าง สุริยา ชินพันธ์ เป็นพระเอก และต้องรับบทลิปซิงค์เพลงของ สนธิ สมมาตร ซึ่งการผสมผสานของเสียงที่ไพเราะ และภาพที่งดงามเป็นที่ชื่นชอบของแฟนภาพยนตร์ในยุคที่ยังไม่รู้จักมิวสิกวิดีโออย่างมาก ขณะที่ สุริยา ชินพันธุ์ ก็เคลิบเคลิ้มตามแฟนภาพยนตร์ไปด้วย ถึงขั้นลงทุนตั้งวงดนตรีลูกทุ่งตามคำแนะนำของแฟนภาพยนตร์ ชื่อวง “ลูกทุ่งดารา สุริยา ชินพันธุ์“ จากนั้นดาราอีกหลายคนก็แห่กันมาจับธุรกิจเพลงลูกทุ่งกันอีกหลายคน
สำหรับ สนธิ สมมาตร นั้น หลังความสำเร็จของภาพยนตร์ เขาก็หันมาตั้งวงดนตรีของเขาเอง และออกเดินสายแถวภาคอีสาน แต่ก็อยู่ได้แค่ปีกว่าๆ ก็ยุบวงไป
ด่วน บ. ข . ส. คำร้อง/ทำนอง : พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ดนตรี : จิตรกร บัวเนียม เสียงร้อง : สนธิ สมมาตร
สนธิ สมมาตร มีผลงานเพลงอยู่ค่อนข้างน้อย คือ ประมาณ 60 เพลงเท่านั้น ถ้าไม่นับการเอาเพลงเก่ามาขับร้องใหม่ นอกจากนั้นก็ยังเคยร่วมแสดงในภาพยนตร์ด้วย เช่นเรื่อง "สวรรค์บ้านนา" และ "ดอกคูนเสียงแคน" จากข้อมูลเท่าที่มีล่าสุดเมื่อปี 2543 สนธิ สมมาตร ยังคงครองตัวเป็นโสด
ก่อนหน้านี้ สนธิ สมมาตร เจ้าของเสียงเพลง "ลูกทุ่งคนยาก" ก็ป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง และต้องเข้ารับการผ่าตัดเช่นกัน หลังการผ่าตัดที่รักษากล่องเสียงอยู่สองสามปี แม้เสียงจะเปลี่ยนไปบ้าง สนธิ สนมาตร ก็มีผลงานเพลงออกมาบ้าง โดยส่วนมากจะเป็นการนำเพลงเก่ากลับมาขับร้องใหม่ ปัจจุบัน สนธิ สมมาตร ได้ไปทำธุรกิจเปิดร้านขายกาแฟ
เพลง ออกพรรษาที่เชียงคาน ขับร้องโดย สนธิ สมมาตร (คม คีรีบูน)
เพลง มนต์รักแม่น้ำมูล ประกอบภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูล ขับร้องโดย สนธิ สมมาตร
ด้วยพรสรรค์ในน้ำเสียงที่เป็นแบบฉบับของตนเอง จึงทำให้ผลงานเพลงของ สนธิ สมมาตร ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้ฟังอย่างไม่รู้ลืม แม้ว่าจะผ่านยุคสมัยที่มีชื่อเสียงไปแล้ว แต่ด้วยความที่ สนธิ สมมาตร เป็นดั่งภาพสะท้อนอัตลักษณ์อีสานในบทเพลงที่แสนไพเราะ แว่วหวาน ปนเศร้า จนได้ฉายาว่า "ทูลทองใจของชาวอีสาน" ทำให้หวนนึกถึงภาพของภูมิลักษณ์พื้นที่วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมอีสานได้อย่างมีชีวิต อันเป็นความงดงามในวิถีวัฒนธรรมที่ควรได้รับการกล่าวถึงเพื่อสืบสาน พัฒนา ให้เป็นมรดกชาวอีสานสืบไป
นายสนธิ สมมาตร จึงได้รับเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2550 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
นายทองคำ เพ็งดี เกิดที่บ้านตากแดด ตำบลตากแดด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านตากแดด เมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง กลอนวรรณกรรมอีสาน บวชได้ 1 พรรษา ได้ลาสิกขาไปอาศัยอยู่กับวงหมอลำคณะต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี
นายทองคำ เพ็งดี เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการขับร้องหมอลำเป็นเลิศ สามารถถ่ายทอดความสามารถ ทั้งน้ำเสียงที่มีเอกลักษณ์ ตลอดทั้งบทบาท และการแสดงที่เป็นแบบฉบับของตนเอง สร้างความประทับใจต่อสาธารณชนมากที่สุดในวงการหมอลำของภาคอีสาน ที่ยากจะหาใครเทียบเคียงได้ ยิ่งได้มาจับคู่กับ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ในระยะต่อมา ก็ฉายแววประกายศิลปินออกมาอย่างเด่นชัด ส่งผลให้ได้บันทึกเสียงหมอลำกลอนครั้งแรกคู่กันกับ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ในปี พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นก็ได้แสดงร่วมกันมาโดยตลอด
จนกระทั่งได้ตั้งเป็นวงหมอลำหมู่ชื่อ "คณะรังสิมันต์" ขึ้นในปี พ.ศ. 2521 ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม ทำให้คณะรังสิมันต์ โด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นับเป็นคณะหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่มีผู้นิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์ของอีสานในยุคสมัยนั้น และยังสามารถกระจายความนิยมออกไปทั่วประเทศ จากการลำออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ จนได้รับการบันทึกแผ่นเสียงและเทปโทรทัศน์ โดยบริษัท ลิเวอร์บราเทอร์ และบริษัท อังกฤษ ตรางู ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดเป็นตำนาน คือเรื่อง พระสุธน-มโนราห์ จำปาสี่ต้น นางแตงอ่อน และอีกหลายเรื่อง
ลำกลอนทำนองอุบล โดย หมอลำทองคำ เพ็งดี
หมอลำทองคำ เพ็งดี ได้เป็นแบบอย่างค้นคิด การลำเรื่องต่อกลอนทำนองอุบล ซึ่งจะเน้นการเล่นลูกคอหลายชั้น ชวนให้ผู้ฟังเกิดการคล้อยตามได้เป็นอย่างดี อันเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการให้เกิดเป็น แบบฉบับเฉพาะของหมอลำอุบล
ลำล่องสังขาร โดย ทองคำ เพ็งดี (แสดงสด)
นอกจากนั้น ท่านยังมีความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ที่แฟนหมอลำในยุคนั้นรู้จักกันดีคือ การเลียนเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ได้เหมือนจริง โดยเฉพาะเสียงขันของนกเขา จนได้รับฉายาว่า "นกกาเหว่า" บ้าง "นกเขาขัน" บ้าง ซึ่งมาจากการใช้เสียงประกอบการลำ ฉากเดินทางในการชมป่า อันเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของศิลปินยอดนิยมตลอดกาลท่านนี้
จนเมื่อปี พ.ศ. 2537 ทองคำ เพ็งดี ได้เสียชีวิตลง ท่ามกลางความเศร้าสลดของบรรดาผู้ชื่นชอบ ที่เป็นมิตรหมอแคนแฟนหมอลำตัวจริง และรวมถึงประชาชนชาวอีสานที่ทราบข่าว แต่สิ่งที่ท่านได้ฝากเอาไว้ให้กับผืนดินถิ่นอีสานก็คือ มรดกหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองอุบล ที่ท่านเป็นต้นแบบ จึงสมควรสืบสานและถ่ายทอดให้คงไว้สืบต่อไป
นายทองคำ เพ็งดี จึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ลำเรื่อง) ประจำปีพุทธศักราช 2550 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ลำล่อง ห้าปีที่จาก โดย หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน และหมอลำทองคำ เพ็งดี
ภาคอีสานในยุค พ.ศ. 2510 นั้น "รังสิมันต์" คือคณะหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่กำลังดังทะลุฟ้าแดนอีสานด้วยลำเรื่องต่อกลอน "ศรีธน-มโนราห์" ความดังของรังสิมันต์นั้นได้จากคุณภาพ และความสามารถในเชิงศิลปะการแสดงที่เป็นเลิศของ ทองคำ เพ็งดี พระเอกเสียง "ควง" (กังวาน) เชิงชั้นการลำนั้นอยู่ในระดับอาจารย์ และ ฉวีวรรณ ดำเนิน นางเอกเสียงใส และวาดลีลาที่อ่อนช้อยงดงาม ว่ากันว่า คู่พระคู่นางของหมอลำ คณะรังสิมันต์ "ทองคำ-ฉวีวรรณ" นั้นได้รับความนิยมจากชาวอีสาน ในระดับเดียวกันกับพระเอก-นางเอกคู่ขวัญ "มิตร-เพชรา" (มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์) ของวงการภาพยนตร์ไทยเลยทีเดียว
ความโด่งดังของรังสิมันต์นั้น มีเรื่องเล่าขานในหมู่นักฟังลำชาวอีสานว่า ถึงระดับผู้ฟังต้อง "ควดหม่องเยี่ยว" (ขุดที่ปัสสาวะ) หมายถึงบทบาทการแสดง และความไพเราะพของเสียงกลอนลำของหมอลำ ได้ตรึงให้ผู้ฟังซึ่งนั่งฟังอยู่กับพื้นดิน ส่วนใหญ่ได้แก่ลานวัดที่มีพื้นเป็นดินทราย ให้ถึงกับต้องใช้มือขุดทรายให้เป็นหลุม เพื่อถ่ายเบา ณ ที่ตรงนั้น เมื่อเสร็จกิจก็จะใช้ทรายรอบๆ ปากหลุมนั้นแหละ เกลี่ยทับแล้วนั่งฟังลำต่อไปจนซอดแจ้ง เพราะการลุกออกไปถ่ายเบาข้างนอก แม้จะเสียเวลาเพียงนิดเดียว ก็จะทำให้เรื่องราวสะดุดขาดตอนไป
ลำเรื่อง ศรีธน-มโนราห์ โดย คณะรังสิมันต์
การขาดตอนในการฟัง หรือพลาดไปแม้เสี้ยวนาที สำหรับการแสดงของคณะรังสิมันต์ถือว่า เป็นความสูญเสียอย่างมหันต์ทีเดียว เพราะในหมู่ชาวอีสานนั้น จะมีวัฒนธรรมหลังการฟังหมอลำอยู่อย่างหนึ่ง คือ การจับกลุ่มกล่าวขวัญทบทวนเรื่องราว หรือบทบาทของหมอลำที่ได้ชมกันมา ซึ่งการกล่าวขวัญนี้อาจกินเวลาเป็นเดือน เป็นปี และถ้าหากได้มารู้ในภายหลังว่า ตัวเองนั้นพลาดทีเด็ดไป เพราะการไม่รู้จัก "อั้น" หรือไม่รู้จักใช้วิธีปลดปล่อยที่แยบยลแล้ว ก็จะยังความเสียใจและเสียดายแก่ผู้นั้นไปอีกเป็นเดือนเป็นปี หรือจนกว่าหมอลำคณะนั้นจะย้อนกลับมาแสดงให้ได้แก้ตัวอีกครั้ง นั่นคือพฤติกรรมที่สะท้อนถึงอารมณ์ซาบซึ้งในศิลปะของชาวอีสานที่มีต่อ "หมอลำ" ศิลปะประจำภาค
ดังนั้น "การควดหม่องเยี่ยว" ในเวลาฟังลำ จึงถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ควรได้รับการให้อภัย และกฎเกณฑ์ในเรื่องกิริยามารยาทอันดีงาม จะถูกงดเว้นเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกันจำนวนของกองทรายพูนบนลานวัด ยังใช้เป็นดัชนีชี้วัด (สมัยปัจจุบันเอิ้นว่า KPI ตามแบบฝาหรั่ง) ความนิยมของ "มิตรที่แก่นแฟนที่รัก" ที่มีต่อคณะหมอลำได้อีกด้วย และคณะผู้ประเมินและวัดผลก็ใช่ใครอื่น ก็ สมภาร พระลูกวัด และบรรดาลูกศิษย์สังฆ์การีวัด นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของสถานที่ ที่จะต้องทำการเก็บกวาดลานวัดในตอนรุ่งเช้าวันถัดมา
เต้ยเดือนห้า-งิ้วต่องต้อน โดยหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน-ทองคำ เพ็งดี "คณะรังสิมันต์"
นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ที่บ้านจานตะโนน ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านจานตะโนน หลังจากสำเร็จการศึกษาได้บวชเรียนจนสอบได้นักธรรมตรี ที่สำนักเรียนวัดบ้านดงบัง และสอบได้ครูวาดเขียนชั้นตรี และชั้นโท หลังจากนั้นได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี
นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร เกิดในครอบครัวที่รักงานทางด้านศิลปะ และเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ โดยเกิดในตระกูลช่างอุบล จึงได้รับการถ่ายทอดฝีมือช่างศิลป์จากบิดา ในด้านวาดเขียน ด้านก่อสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ การแกะสลักลวดลายบานโบสถ์ บานประตู บานหน้าต่าง แท่นพระ เชี่ยวชาญงานปูนปั้น งานลงรักปิดทองด้ายความรอบรู้พิเศษเหล่านี้ โดยมีบิดาเป็นผู้ถ่ายทอดทั้งด้านงานช่างฝีมือ วิธีการออกแบบและก่อสร้างศิลปะ สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา เมื่อมีทักษะเพียงพอแล้ว ได้เริ่มต้นจากงานก่อสร้างลวดลายโบสถ์ และประตูหน้าต่าง จนไปถึงงานที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปกรรมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
กล่าวได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้นได้สร้างสรรค์ด้วยความประณีต พิถีพิถัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น คือ มีรูปแบบค่อนข้างคม ชัด ลึก เรียวแหลม และมีลีลาอ่อนช้อย สวยงาม
งานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ การแกะสลักต้นเทียนพรรษา ของ นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการแกะสลักต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี จนได้รับรางวัลที่หนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2503 - 2543 จนทำให้งานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศและต่างประเทศ งานประติมากรรมปูนปั้น แกะสลักต้นเทียนจำลองที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ ต้นเทียนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ณ สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และต้นเทียนหน้าศาลาประชาวาริน เทศบาลวารินชำราม จังหวัดอุบลราชธานี
ด้วยความรอบรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์พุทธศิลป์ จึงได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายครั้ง อาทิเช่น
ตลอดเวลาการทำงาน นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งประเทศศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย เป็นทั้งสถาปนิกที่อาศัยความชำนาญและประสบการณ์ในการออกแบบรากฐานและงานโครงสร้าง มีฝีมือที่โดดเด่นมีลีลาอ่อนช้อยงดงาม กล่าวได้ว่า ผลงานของท่านได้มีคุณูปการต่อชาวอีสานและเป็นมรดกต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไป
นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ เดือนมกราคม พ.ศ. 2554 สิริอายุรวม 77 ปี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ ปัจจุบันท่านได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐ สาขาวิชา การจัดการสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
มุทิตาจิตอาจารย์ผู้เกษียณ ผศ. ดร.ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)