คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
การเรียนรู้ภาษาอีสานจากเพลง น่าจะเป็นหนทางที่ผู้เรียนจะเข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะได้ยินสำเนียงเสียงอีสานจากนักร้อง บางเพลงก็ยังเรียนรู้ความหมายของคำได้ จากละครในมิวสิกวีดิโอได้อีกด้วย ตามคำขอครับสำหรับแฟนๆ ที่ชอบเพลงอีสานแต่ฟังแล้วเข้าใจความหมายได้ไม่หมด ก็ทำให้ความรู้สึกซาบซึ้งในดนตรีนั้นลดน้อยลง อยากจะทราบเนื้อหาเพลงใด ของนักร้องคนใด ก็บอกกันมาครับ ส่งอีเมล์ไปที่ webmaster (@) isangate.com จะได้นำมาเสนอเป็นลำดับต่อไป ขอแจ้งให้ทราบว่า ผู้จัดทำไม่ได้มีความต้องการโปรโมทเพลงนักร้องคนใด ค่ายใดทั้งสิ้น เพลงที่ถูกคัดเลือกมานำเสนอ จะต้องมีภาษาอีสานแทรกอยู่จำนวนหนึ่ง ที่แฟนเพลงบางท่านอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ฟังแล้วม่วนแต่บ่เข้าใจ จึงจะได้รับการคัดเลือกมาลงในหน้านี้ครับ
โลกยังมีผู้ชายแบบอ้ายคำร้อง/ทำนอง : ศราวุธ ทุ่งขี้เหล็ก ห้ามฝนบ่ให้ตกจังใด๋ ห้ามใจบ่ให้คึดฮอด ถึงบ่ได้กอด ได้แค่พาใจมาจอดความเหงา เป็นแขกประจำ ที่น้องมองข้ามได้ชมเพียงเงา หลบมุมโต๊ะเดิมที่เก่า ให้ความปวดร้าวเข้าสิง บ่โทษผู้ใด๋ อ้ายตั้งใจมาเจ็บ บ่เผื่อบ่เซฟ เพราะใจยังโสดซิงซิง ส่งสายตาเหงามาซอมเบิ่งเจ้าบ่เคยซูนคิง คืนไหนมีเสี่ยตบดริ๊งก์ อ้ายนั่งกลืนก้อนความอกหัก * ปากอ้ายมันหนัก แต่ใจฮักเบาคือบักนุ่น หมดโอกาสลุ้น นับว่าโชคดีมีเจ้าให้ฮัก คนบ่มีไผได้มาอยู่ใกล้ก็สุขใจนัก เจ็บหลายยามถูกเธอทัก ว่าอ้ายมาถ่าผู้ใด๋ ** บอกให้รับฮักมาจากไผ พบเจ้าก็ถูกชะตา อย่าฟ้าวรำคาญเด้อหล่า ยามที่สายตาเทียวส่งกด LIKE บ่ได้ครอบครอง แต่คิดฮอดน้องจนเป็นนิสัย โลกยังมีผู้ชายแบบอ้าย ฮักไปวันวันก็พอ (ซ้ำ * และ **) โลกยังมีผู้ชายแบบอ้าย ได้ฮัก ได้มองก็พอ มีคำที่เป็นภาษาอีสานหลายคำที่น่าสนใจดังนี้
|
เฮือน 3 น้ำ 4 เป็นคำสอนของคนโบราณอีสานได้อบรมสั่งสอนให้ลูกหลานได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อความเป็นอยู่ที่สะอาด สุขภาพอนามัยที่ดี ผู้ใดนำไปประพฤติปฏิบัติครอบครัวก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งปราชญ์โบราณท่านได้สอนเป็นคำกลอนดังนี้
เฮือน 1 นั้นได้แก่ เฮือนครัว ของในครัวให้เรียบร้อยบายเมี้ยนแจบจม อย่าประสมประเสบ่วงจองไหหม้อ ให้มีทอเก็บถ้วยสวยดีมีตู้ใส่ อย่าสุเก็บไขว่ไว้ดูได้บ่งาม ชามหรือหม้อเกลือไหปลาแดก หม้อแตกและบ่วงซ้อนบายได้ให้หม่อมือ อย่าให้ดำปื้อๆ ถ้วยบ่วงเป็นกะหลืน เวลากลืนอาหารโรคสิไหลลงท้อง ของแนวใช้ในครัวให้เกลี้ยงหมื่น อย่าให้ปลาแดกจื้นแมงวันสิแตกวื้นมาขี้ใส่ครัว อย่าให้หมาไก่กั้วเข้าอยู่เฮือนไฟ ถืกห่าหมาจังไฮสิคาบไหเลียซ้อน อย่าให้หนอนไปคั้วแมงวันเข้าคั่ว รักษาครัวให้เรียบร้อยดูละห้อยสู่ทาง อย่าให้มีกระดูกก้างค้างอยู่ในครัว คนสิหัวขวนนางว่าบ่เคยบายเมี้ยน เฮาต้องเพียรปัดแพ้วเฮือนครัวอย่าให้เก่า เป็นดั่งคำเพิ่นเว้า เบิ่งวัดให้เบิ่งฐานเบิ่งบ้านให้เบิ่งครัว หากว่าครัวสะอาดแล้ว ไผก็ย่องว่าดี
เฮือน 2 นั้นได้แก่ เฮือนนอน ทั้งแพรหมอนเสื่อเตียงเพียงพื้น อย่าให้เฮือนเอาจื้นหมองมัวลั้วขี้ฝุ่น เฮาต้องปุนกวาดแผ้วทั้งพื้นนอกใน ให้เจ้าปัดหาดไว้เกลี้ยงหมื่นงามตา ทั้งแจฝานอกในใสเกลี้ยง เตียงหมอนมุ้งสนานอนฟูกเสื่อ เสื้อและผ้าบายเมี้ยนคล่องมือ ให้เจ้าเฮ็ดคู่มื้อปัดกวาดเฮือนนอน ตอนกลางคืนให้แต่งแปลงหมอนมุ้ง อย่าให้ผัวเฮายุ่งยามแลงแต่งบ่อน นอนตื่นแล้วบายเมี้ยนเช็ดถู โต๊ะตั่งตู้อย่าให้ไขว่เกะกะ อย่าให้ของเฮาซะทั่วเฮือนเบียนด้ง ให้เจ้าจงใจเมี้ยนเฮือนนอนให้สง่า สะอาดหูสะอาดตาหาอันใดกะได้ เวลาหายกะฮู้เวลาดูกะโก้เป็นน่านั่งนอน จ่อและแค่งม้อนอย่าให้กีดขวางเฮือน บุง เบียน เขิง ตาทอ บอเมี้ยน อย่าสิได้เอาสิ่นไปวางเทิงหัวบ่อน ผัวสินอนบ่ได้สิสูนขึ้นหยั่งคืน ของต่ำพื้นอย่าไปพาดเทิงหัว มันสิผิดครองคูบ่แม่นแนวเด้เจ้า ให้เจ้าเอาใจเมี้ยนจัดเฮือนนอนให้เป็นบ่อน จังสินอนฮอดแจ้งสิแฝงซอดเซ้าคันเจ้าแต่งดี
เฮือน 3 นั้นได้แก่ เฮือนกาย ให้มีความละอายอย่าสิป๋านมโต้น คนสิเห็นผางฮ้ายเฮือนกายน้องฮั่ว รักษากายให้กุ้มกายหุ้มห่อแพร เสื้อกะอย่าสิแก้ปะปล่อยไว้หลาย ให้รักษาเฮือนกายอย่าให้เฮือนเฮาฮ้าง ให้เจ้าปุนปองล้างเฮือนกายให้สะส่วย ให้มันสวยอยู่เรื่อยดูได้สู่ยาม ให้เจ้าหมั่นอาบน้ำชำระตนโต หัวของนางให้หมั่นสระสรงน้ำ ให้มันงามเหลือล้ำดำดีอยู่คือเก่า ผมให้งามฮอดเฒ่าหวีเรื่อยอย่าเซา อย่าว่าเป็นผู้เฒ่าขายขาดมีผัว ปะให้หัวแดงหยองกะบ่งามเด้เจ้า ว่าโตมีผัวแล้วบ่สระหัวจักเถื่อ เกิดขี้คร้านนุ่งเสื้อแนวนั้นบ่ดี ครั้นพิถีพิถันไว้รักษากายให้โก้คล่อง ผัวกะมองอยู่เรื่อยเห็นหน้ากะว่างาม เฮือน 3 นี้ นารีควรฮ่ำ ธรรม 3 ข้อนี้ จำไว้อย่าหลง
เพลง "เฮือน ๓ น้ำ ๔" โดย พรศักดิ์ ส่องแสง
ถ้าผู้ใดนำไปประพฤติปฏิบัติจักมีชีวิตที่รุ่งเรือง แม้ว่าบางสิ่งจะพ้นสมัยไปแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังสามารถประยุกต์นำมาใช้ได้อยู่เสมอ อย่าพึ่งไปคิดว่านี่เป็นของโบราณไม่เห็นจะต้องไปตักหาบน้ำ หรือเตรียมเต้าปูนกินหมากแต่อย่างใด เราก็ยังสามารถประยุกต์ของใหม่ให้รับกับคำสอนของเก่าได้อยู่มิใช่หรือ?
เฮือน ๓ น้ำ ๔ คุณสมบัติผู้หญิงพึงมี
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสริมความหมายของ "เฮือน 3 น้ำ 4" ยุคปัจจุบันว่า ในสมัยก่อนเมื่อหญิงชายจะแต่งงานกัน พ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่ มักจะสอนให้ฝ่ายหญิงรู้จักประพฤติปฏิบัติตนด้วย "เรือน 3 น้ำ 4" ซึ่งเรือน 3 ก็ได้แก่ เรือนผม, เรือนกาย และเรือนที่อยู่ หรือบางแห่งก็ว่าหมายถึง เรือนผม, เรือนไฟ และเรือนนอน ส่วนน้ำ 4 ก็ได้แก่ น้ำมือ, น้ำใจ, น้ำคำ และน้ำเต้าปูน แต่บางแห่งก็ตีความว่า น้ำกิน, น้ำใช้, น้ำใจ และน้ำเต้าปูน
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีความหมายอย่างไหนข้างต้น การประพฤติปฏิบัติด้วยเรือน 3 น้ำ 4 นี้ แท้ที่จริงก็คือ การอบรมให้หญิงสาว ที่จะแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา รู้จักหน้าที่ของความเป็นแม่บ้านแม่เรือน เพื่อผูกใจสามีให้รักใคร่เอ็นดู ผู้เป็นภริยานั่นเอง
สำหรับเรือนแรก อันได้แก่ เรือนผม ก็คือ การรู้จักดูแลรักษาผมเผ้าให้สะอาดหมดจด ปราศจากกลิ่น โดยคอยหวีให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยเป็นกระเซิง มิใช่พอตื่นขึ้นมา หันมาอีกที อ้าว! สามีคิดว่าสิงโตที่ไหนมานอนด้วย การจัดทำทรงผมให้ดี จะช่วยให้บรรดาเมียๆ น่ามองยิ่งขึ้น อีกทั้งตอนหวีผม คนเราก็ต้องดูกระจก จะได้ใช้เวลานั้นผัดหน้าทาแป้ง ให้สดชื่นสวยงาม ซึ่งสาวๆ พอได้แต่งหน้าทาปาก ก็จะรู้สึกว่าตัวสวยขึ้น เกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันเมื่อสามีเห็น ก็พลอยสบายตาไปด้วย
เรือนที่สอง คือ เรือนกาย หมายถึง การรักษาทรวดทรงองค์เอว ให้น่ามองอยู่เสมอ มิใช่พอได้แต่งงาน มีสามี คิดว่าไม่ต้องอยู่คานทองนิเวศน์แล้ว ก็เลยสบายใจ กินตามใจปาก ยิ่งพอมีลูก ยิ่งเลี้ยงยิ่งเหนื่อย ยิ่งกิน เผลอแผล่บเดียวหุ่นเพรียวลมที่เขาเคยโอบได้รอบ กลายเป็นตุ่มสามโคกโอบไม่มิด หรือเป็นโอ่งลายมังกร ให้สามีมองด้วยความสะท้อนใจ จริงอยู่ การครองรักครองเรือน มิใช่จะอยู่ที่รูปร่างหน้าตาเพียงอย่างเดียว แต่หากภริยาจะรู้จักดูแลรูปทรงตัวเองให้ดี ไม่ปล่อยปละละเลย จนเป็นยายเพิ้งหรือนางผีเสื้อสมุทร ตอนยังไม่แปลงกาย ก็น่าจะเป็นเสน่ห์ผูกใจสามีได้อีกทางหนึ่ง เพราะเวลาพาเมียไปไหนๆ คนชมว่าเมียว่าหุ่นดี ภริยาก็หน้าบาน สามีก็ภูมิใจ
เรือนที่สาม เรือนที่อยู่ ก็คือ การรู้จักดูแลบ้านช่อง จัดข้าวของในเรือนให้ดูสะอาดเรียบร้อย ไม่สกปรกรกรุงรัง เพราะบ้านที่สกปรก และไม่เป็นระเบียบ แสดงว่าเมียบ้านนั้นมีนิสัยขี้เกียจ ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือน หากมีแขกใครไปมา ก็จะขายหน้าถึงสามี อีกทั้งสุขอนามัยของบ้านนั้นๆ ก็จะไม่ดีไปด้วย ทำให้คนในบ้านเจ็บป่วยได้ง่าย ข้อสำคัญ สามีบางบ้านอาจเกิดอาการ "ภูมิแพ้เมีย" ต้องออกไปหาอากาศบริสุทธิ์ข้างนอก ก็จะมีปัญหาตามมา ทางที่ดี เมียทั้งหลาย จึงควรปัดกวาดบ้านช่องให้น่าอยู่น่าอาศัย
ส่วนบางแห่งที่เขียนว่า เรือนไฟ ก็คือ ครัว ที่หญิงสาวจะต้องใช้ประกอบอาหารให้ครอบครัว คนโบราณเขาก็สอนให้รู้จักใช้ รู้จักเก็บกวาดอุปกรณ์ในครัวให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยให้รก หรือสกปรก จนมีสัตว์ไม่ได้รับเชิญอย่างหนู หรือแมลงสาบมาเยี่ยมเยียน
ส่วนเรือนนอน ก็คือ ห้องนอน ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องรู้จักปัดกวาดเช็ดถูให้สะอาดอยู่เสมอ อย่างสมัยนี้ ถึงแม้ไม่ได้ทำเอง มีคนรับใช้ เมียหรือแม่บ้านก็ต้องรู้จักกำกับ และควบคุมดูแลเป็นระยะๆ มิใช่ปล่อยให้ทำตามยถากรรม ไม่งั้นวันดีคืนร้าย เกิดสามีเห็นความดีของผู้ช่วยแม่บ้านมากกว่า อาจเลื่อนขั้นเราขึ้นเป็น "เมียหวง" ถึงตอนนั้น จะเสียใจก็ยังไม่ทัน
ในส่วนของน้ำสี่ นั้น น้ำแรก ได้แก่ น้ำมือ หมายถึง ต้องรู้จักหัดทำข้าวปลาอาหารอร่อยๆ ให้สามีรับประทาน ซึ่งสมัยโบราณ หญิงสาวไม่ว่าจะชาวบ้าน หรือชาววังต่างก็ทำอาหารเป็นทั้งนั้น เพราะสมัยก่อนไม่มีร้านอาหารสำเร็จรูปให้ซื้อ มีแต่วัตถุดิบที่ต้องนำไปปรุงเอง ดังนั้น หญิงสาวส่วนใหญ่ จึงถูกฝึกให้ทำกับข้าวกับปลามาแต่เด็กๆ เสมือนหนึ่งหัดวิชาชีพติดตัว ที่สำคัญ คนรุ่นก่อนมีคติว่า "เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย"
หญิงสาวทั้งหลายจึงต้องมี "น้ำมือ" ในการทำอาหารด้วยประการฉะนี้ แต่สำหรับสาวๆ ยุคเตาไมโครเวฟหรือแม่บ้านถุงพสาสติก แม้จะทำอาหารไม่เป็น แต่ก็ควรจะรู้จักเลือกซื้ออาหาร จากร้านเจ้าอร่อยและสะอาด และหากมีเวลาว่างก็ลองหัดทำอาหารง่ายๆ ให้สามีกินบ้าง เพราะจะทำให้เขารู้สึกซึ้งใจที่เราอุตส่าห์ทำในสิ่งที่ยาก สำหรับเราเพื่อเขา (แน่นอนว่า สามีคงทนกินอาหารแกะไปจนตายไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ป่นแกะ ต้มแกะ แกงแกะ ยำแกะ แกะจากถุงพลาสติกทุกวัน)
น้ำที่สอง คือ น้ำใจ คือ การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ และโอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว หรือทำใจดำ รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลสามี ทั้งในหน้าที่การงาน และจิตใจ ซึ่งการมีน้ำใจนี้ มิใช่มีต่อสามีคนเดียว แต่ควรเผื่อแผ่ถึงญาติพี่น้องของสามีด้วย เพราะนอกจากจะทำให้สามีสบายใจแล้ว ยังช่วยให้ภริยาเป็นที่รักใคร่ และเป็นเกรงใจอีกด้วย และหากมีปัญหากับสามี ญาติพี่น้องของเขาก็จะเห็นใจและช่วยเรา นอกจากนี้ เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงก็ต้องมีน้ำใจต่อเขาด้วย เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
น้ำที่สาม คือ น้ำคำ ได้แก่ การใช้คำพูดที่สุภาพไพเราะหู ไม่กระโชกโฮกฮากหรือด่าทอ รู้จักเจรจาปราศรัย รู้ว่าเมื่อไรควรพูด เมื่อไรควรเงียบ เมื่อไรควรให้กำลังใจหรือปลอบประโลม อันที่จริงแล้ว การพูดจาดีต่อกันโดยไม่ด่าทอ บ่นว่าหรือจู้จี้จุกจิก จะทำให้รู้สึกว่าบ้านร่มเย็นน่าอยู่ ไม่ร้อนหูร้อนใจ ซึ่งการพูดจาไม่ระคายหูนั้น จริงๆ แล้วควรจะใช้พูดกับทุกคนทั้งในบ้านและนอกบ้าน ไม่เฉพาะแต่กับสามีเท่านั้น เพราะนอกจากผู้ฟังจะรู้สึกสบายหูแล้ว ยังจะรู้สึกดีๆ กับผู้พูดด้วย
และน้ำสุดท้าย คือ น้ำเต้าปูน หมายถึง การดูแลคอยเติมน้ำในเต้าปูนมิให้แห้ง ในสมัยก่อนคนกินหมาก จึงต้องมีเต้าปูน เป็นภาชนะใส่ปูนแดงไว้ป้ายใบพลู เพื่อกินกับหมาก ซึ่งถือว่าเป็นของรับแขก ดังนั้น หากแม่บ้านบ้านไหนปล่อยให้น้ำในเต้าปูนแห้ง จนไม่สามารถควักออกมาป้ายได้ แสดงว่าทำหน้าที่บกพร่อง แม่บ้านที่ดีจึงต้องคอยดูแลเติมน้ำในเต้าปูนอยู่เสมอ
เช่นเดียวกับคำว่า น้ำกิน น้ำใช้ ที่หมายถึง หญิงสาวที่เป็นแม่บ้านแม่เรือนจะต้องดูแลให้มีน้ำกิน น้ำใช้ในบ้านพร้อมเสมอสำหรับสามี ลูก และญาติๆ อันแสดงถึงการเอาใจใส่ต่อหน้าที่ภริยาที่ดี เรือน 3 น้ำ 4 แม้จะเป็นเรื่องที่คนโบราณสอน แต่ถือได้ว่าเป็น "เคล็ดลับการครองเรือน" ที่สาวๆ สมัยนี้สามารถนำไปใช้ได้ และยังเป็นวิธี "ผูกใจ" สามีที่ไม่ล้าสมัยหากจะรู้จักประยุกต์ใช้
ลำยาว เฮือน ๓ น้ำ ๔ โดย ทองคำ เพ็งดี - ฉวีวรรณ ดำเนิน - บานเย็น รากแก่น
ดูกลอนลำนี้ได้ที่นี่คลิกเลย
นอกจากสามีที่ต้องคอยผูกใจแล้ว หญิงผู้ครองเรือนยังต้องทำหน้าที่ "แม่" คอยดูแลบุตร โดยเฉพาะการอบรมสั่งสอนให้พวกเขาเป็นคนดีของพ่อแม่ และสังคม ดังประโยคที่คนสมัยก่อนบอกว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" การรักลูกให้ตีนี้ พ่อแม่ยุคนี้อาจจะคัดค้านเพราะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกว่า สมัยนี้ต้องพูดกับลูกด้วยเหตุด้วยผล ไม่ควรใช้ไม้ขนาบเด็ก ก็เลยส่งผลให้ครูต้อง "หักไม้เรียว" ทิ้งกันเป็นแถวๆ แล้วลูกๆ ทั้งหลายก็เลยกลายเป็น "ลูกบังเกิดเกล้า" ที่พ่อแม่ยุคใหม่ไม่กล้าตี จะด้วยสงสารหรือรักจนหลงก็ตาม แต่ก็ทำให้เด็กๆ เหลิงจนเอาไม่อยู่ ดังตัวอย่างที่เห็นกันอยู่มากมายในปัจจุบัน
เด็กๆ สมัยก่อน หลายคนเมื่อกลับถึงบ้าน พอทำการบ้านเสร็จ ต้องไปช่วยพ่อแม่ขายของหรือช่วยกวาดบ้านถูบ้าน เมื่อกินข้าวเสร็จก็ต้องช่วยล้างถ้วยชาม หรือเก็บโต๊ะ กว่าจะได้ของอะไรสักชิ้น พ่อแม่มักจะให้ค่อยๆ เก็บจากเงินออม เพื่อให้เห็นค่าของเงิน เมื่อทำผิดก็จะถูก "ตี" และดุว่าสั่งสอนเพื่อให้หลาบจำ ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่จะยอมรับผิดโดยดุษฎี ไม่กล้าโต้เถียง และระมัดระวัง ที่จะไม่ผิดซ้ำให้ถูกทำโทษอีก
ส่วนเด็กสมัยนี้ จำนวนไม่น้อยที่พ่อแม่จะสงสารลูกไม่ยอมให้ช่วยงานบ้าน ให้อ่านแต่หนังสือ ให้เรียนอย่างเดียว ทำให้เด็กไม่มีส่วนร่วมในงานบ้านจึงขาดความรับผิดชอบ บางคนลูกขออะไรก็มักให้โดยง่าย เพราะกลัวลูกอายเพื่อน อยากได้มือถือรุ่นใหม่ก็ซื้อให้ อยากได้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ทั้งๆ ที่ยังไม่จำเป็นก็ซื้อให้ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กไม่เห็นคุณค่าของเงิน และปลูกนิสัยใช้จ่ายเกินตัว พ่อแม่บางคนยอมไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อซื้อของฟุ่มเฟือยให้ลูก ด้วยกลัวลูกจะไม่เทียมหน้าเทียมตาเพื่อนฝูง เมื่อลูกทำผิด ก็ไม่กล้าตี กลัวลูกโกรธ น้อยใจ กลัวลูกฆ่าตัวตาย ดังนั้น เด็กรุ่นใหม่ ถึงแม้จะเป็นเด็กฉลาด เพราะมีสื่อให้เรียนรู้มากมาย รู้จักโต้เถียงอย่างฉาดฉาน แต่ก็อ่อนแอเปราะบาง ขาดความอดทน และเอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่ ทั้งนี้ เพราะขาดสิ่งที่เรียกว่า "รักลูกให้ตี" นี่เอง
การ 'รักลูกให้ตี" ในที่นี้มิได้หมายถึง การใช้ไม้ตีเด็กอย่างเดียว แต่หมายถึง การที่พ่อแม่ต้องทำหน้าที่ อบรมสั่งสอนลูกให้รู้จักหน้าที่ ต้องกวดขัน และเข้มงวดต่อการเคี่ยวกรำให้ลูกประพฤติปฏิบัติตนให้ดี ผิดก็ต้องทำโทษ ไม่ปล่อยละเลยจนเหมือนส่งเสริมให้ลูกทำผิด จนกลายเป็น "พ่อแม่รังแกฉัน" พ่อแม่จะต้องเคร่งครัด แต่ไม่เคร่งเครียดกับลูก
ต้องทำเหมือนช่างปั้นหม้อ ที่ต้องคอยตีดินที่ปั้นให้เข้าที่เข้าทาง จนกลายเป็นหม้อที่สวยงาม ที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องเป็น "แบบอย่างที่ดี" ให้แก่เด็กด้วย ก็หวังว่าเรื่อง "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" นี้ จะเป็นแนวปฏิบัติอีกทางหนึ่ง ที่ช่วยเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว และเพิ่มสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป
อักษรขอม | อักษรธรรมโบราณอีสาน | อักษรไทยน้อย | บุญข้าวสาก | เฮือน ๓ น้ำ ๔
วรรณกรรมอีสานที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีการกล่าวถึงสืบมาว่า ในวันเพ็ญเดือนสิบของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูการหลังจากการทำนา ชาวบ้านในภาคอีสานของประเทศไทย จะร่วมกันทำบุญตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมา โดยนำภัตตาหารคาว-หวานไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เราเรียกการทำบุญนี้ว่า "บุญข้าวสาก"
ที่เรียกว่า บุญข้าวสาก ก็เนื่องมาจาก ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนต่างก็นำสำรับอาหารคาว-หวาน ไปถวายพระสงฆ์นั่นเอง เพื่อให้ชาวบ้านถวายสำรับได้ทั่วถึง และไม่เจาะจงพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด จึงมีการจับสลากโดยการเขียนชื่อผู้ที่จะถวายสำรับลงในบาตร แล้วให้พระภิกษุแต่ละรูปจับสลากชื่อของชาวบ้านที่ต้องการถวายสำรับ
พระภิกษุรูปใดจับสลากได้ชื่อใคร ผู้นั้นก็นำสำรับกับข้าวของตนไปถวายพระภิกษุรูปนั้น ในเรื่องนี้มีตำนานเล่าสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้
ในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มคนหนึ่งเกิดในตระกูลมั่งคั่ง กำพร้าพ่อ เหลือแต่แม่ พอถึงวัยแต่งงานแม่ก็หาหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกันจากตระกูลร่ำรวยเสมอกันมาให้เป็นภรรยา แต่นางไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงสาวคนใหม่มาให้เป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง การที่ชายหนุ่มมีภรรยาสองคน เป็นเหตุให้เมียหลวงเกิดความอิจฉาริษยาเมียน้อย จึงคิดหาอุบายจะฆ่าเมียน้อยเสมอ วันหนึ่ง... เมียหลวงจึงเริ่มแผนการ โดยบอกกับเมียน้อยว่า ถ้านางตั้งครรภ์ให้บอกแก่เธอก่อนใคร
เมื่อเมียน้อยตั้งครรภ์ เมียหลวงให้กินยาแท้งออก พอนางมีครรภ์ครั้งที่สองก็ทำเช่นเดียวกัน ครั้งที่สามนางไม่บอกเมียหลวงแต่หนีไปอาศัยบ้านญาติอยู่ เมียหลวงตามไปพบจึงบังคับให้กินยาอีก คราวนี้ไม่แท้งเพราะครรภ์แก่ แต่ลูกในท้องนอนขวางอัดหัวใจตาย
ก่อนตาย... เมียน้อยได้ผูกเวรกับเมียหลวงว่า... ขอให้ได้เกิดเป็นนางยักษิณี ให้ได้กินเมียหลวงและลูกในชาติต่อไป
...แล้วนางก็ตายไปเกิดเป็นแมว เมียหลวงถูกสามีฆ่าตาย เกิดเป็นไก่ อาศัยในครัวเรือนเดียวกัน พอไก่ไข่ออกมา แมวก็ขโมยกินไข่จนหมด
แม่ไก่ไข่ครั้งที่สอง ก็โดนแมวกินไข่อีก พอไข่ครั้งที่สาม แมวกินทั้งไข่และไก่ ก่อนตายแม่ไก่ผูกเวรอาฆาตจะกินลูกแมวและแมวในชาติต่อไป
ชาติต่อมาแม่ไก่เกิดเป็นเสือเหลือง แมวไปเกิดเป็นนางเนื้อ พอนางเนื้อตกลูกนางเสือเหลืองก็กินลูกเนื้อ ครั้งที่สองนางเนื้อตกลูก เสือเหลืองก็กินอีก ครั้งที่สามเสือกินทั้งลูกทั้งแม่ ก่อนนางเนื้อจะตายไปได้ผูกเวรขอให้ตนได้กินลูกและแม่เสือ แล้วนางเนื้อก็ไปเกิดเป็นนางยักษิณี
รายการทีวีชุมชน : บุญข้าวสาก
เสือไปเกิดเป็นนางกุลธิดาในเมืองสาวัตถี เมื่ออายุถึงวัยแต่งงาน นางได้แต่งงานกับชายหนุ่มคนหนึ่ง พอคลอดลูกคนแรกก็ถูกนางยักษิณีปลอมตัวเป็นสหายไปเยี่ยม แล้วฉวยโอกาสกินลูกของนางกุลธิดา เมือ่นางกุลธิดาคลอดลูกคนที่สอง นางก็ถูกนางยักษิณีหลอกกินลูกของนางอีก...
ครั้งที่สาม นางจึงชวนสามีหนีไปอาศัยที่บ้านญาติ พอเดินทางไปถึงสระโบกขรณี นางอยากอาบน้ำจึงส่งบุตรให้สามีอุ้ม... เมื่ออาบเสร็จก็เปลี่ยนให้สามีลงอาบ ขระนั้นนางยักษิณีตามมาอย่างกระชั้นชิด นางจึงเรียกสามีขึ้นจากสระ พากันวิ่งหนีเข้าไปยังวัดเชตวันมหาวิหาร
ขณะนั้น พระพุทธเจ้ากำลังเทศนาสั่งสอนประชาชนอยู่ สองสามีภรรยาก้พาบุตรน้อยไปหมอบกราบถวายตัวต่อพระพุทธเจ้า ส่วนนางยักษิณีวิ่งตามไปไม่ทันจึงหยุดอยู่นอกเขตวัด พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระอานนท์ไปเรียกนางยักษิณีเข้ามาเฝ้า...
พระพุทธเจ้าทรงเล่ากรรมแต่ปางหลัง สั่งสอนสองสามีภรรยาและนางยักษิณีไม่ให้พยาบาลอาฆาตจองเวรกัน ถ้าจองเวรจองกรรมกัน ก็จะเป็นเวรต่อกันไปอีกหลายกัปหลายกัลป์ เหมือนแมวเป็นเวรกับหนู งูเป็นเวรกับพังพอน กาเป็นเวรกับนกเค้า หมีเป็นเวรกับไม้สะคร้อ
กากับนกเค้าบ่เข้าฮ่วมแกวกัน หนูกับแมวบ่ฮ่วมเฮือนกันได้
คือดั่งหมีกับไม้ผันทนังค้อป่า งูเห่ากับเห็นห้อมบ่มีมื้อถืกกัน "
ดังนั้นอาตมา ขอให้โยมเลิกพยาบาทจองเวรกัน "นหิ เวเรน เวรานิ สมฺมนตีธ กุทาจนํ" ในกาลใดๆ เวรในโลกนี้ย่อมระงับด้วยเวรไม่ได้
พระพุทธเจ้าทรงให้นางกุลธิดา นำนางยักษิณีไปเลี้ยงดู นางจึงนำนางยักษิณีไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ชายคาบ้าน ประตูบ้าน ทำให้นางยักษิณีไม่พอใจ
นางกุลธิดาจึงให้นางยักษิณีไปอยู่ที่ตาแฮกซึ่งเป็นที่แจ้ง นางยักษิณีเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าฝน ปีใดฝนจะแล้ง น้ำจะท่วม ก็บอกให้นางกุลธิดารู้ นางจึงทำนาได้ผลกว่าคนอื่นๆ ในเมืองนั้น
ต่อมาชาวเมืองรู้ความจริง ก็นับถือนางยักษิณี ต่างก็พากันไปถามเกณฑ์ฟ้าฝนก่อนลงมือทำนา ทำให้การทำนาแต่ละปีได้ผล ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันนำข้าวปลาอาหารไปให้นางยักษิณีเป็นการตอบแทน ส่วนมากนิยมกระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
เมื่อนางยักษิณีเห็นข้าวปลาอาหารที่ชาวเมืองนำมามากมายเช่นนั้น จึงพาชาวเมืองนำสำรับกับข้าวไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร การทำบุญในกลางเดือนสิบดังกล่าวนี้ เรียกว่า การทำบุญข้าวสาก ซึ่งชาวพุทธได้ยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา
"ร้อยเรื่องเมืองไทย" ตอน "บุญข้าวสาก"
อักษรขอม | อักษรธรรมโบราณอีสาน | อักษรไทยน้อย | บุญข้าวสาก | เฮือน ๓ น้ำ ๔
ตัวอักษรไทยน้อย หรือ ไทน้อย มีลักษณะเหมือนอักษรไทยสมัยพระยาลิไทยมาก เท่าที่พบแปลกกันเฉพาะตัว ถ เท่านั้น และเราก็ยอมรับอยู่ว่าอักษรไทยน้อยมิใช่อักษรลาว จึงทำให้ตัวอักษรไทยน้อย จะเข้ามาสู่ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงเวียงจันทน์ได้อย่างไร นักปราชญ์ท่านสันนิษฐานไว้ว่าน่าจะมาจาก 2 ทางด้วยกัน
มาทางตรง คือ จากสุโขทัยมาเวียงจันทน์เลย เพราะศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็บอกว่า เวียงจันทน์ เวียงคำ ชวา (หลวงพระบาง) เป็นส่วนหนึ่งของสุโขทัย คงจะมีการใช้อักษรราชธานีด้วย โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าลิไทย พระองค์เป็นนักการศาสนา และนักอักษรศาสตร์ คงจะส่งสมณฑูตพร้อมกับนิทานคำสอน และตัวอักษรมายังหลวงพระบางเวียงจันทน์ด้วย ดังปรากฏในหนังสือมูลศาสนาว่า
พระสุวัณณคีรีได้นำเอาศาสนาไปประดิษฐาน ณ เมืองชวา (หลวงพระบาง) ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม นี่แสดงว่า มีการติดต่อสัมพันธ์กันทางศาสนามาก่อนแล้ว พอมาถึงสมัยสุโขทัยโดยเฉพาะพระยาลิไทยด้วยแล้ว ยิ่งจะมีการนำอักษรที่พระองค์คิดขึ้นใหม่ แทรกตำราคำสอนเข้าไปด้วย ข้อที่น่าคิดอย่างยิ่งก็คือ จากการค้นคว้าหนังสือที่เป้นธรรมคำสอนชั้นสูงในพระพุทธศาสนาจะจารด้วยอักษรธรรม (มอญ) ถือว่าอักษรที่สูงธรรมจะไม่จารตัวอักษรไทยน้อยเลย
แต่นิทานพื้นบ้านและชาดกบางเรื่องที่ไม่ได้ม้วนชาดกว่าในเรื่องนั้น ใครเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระโมคค์ลานะ สารีบุตร พระเจ้าสุทโธธน พระนางสิริมหามายา ราหุล จะจารด้วยอักษรไทยน้อย ซึ่งเป็นอักษรขั้นต่ำกว่านี้น่าจะเป็นการสอดแทรก
ชาวลุ่มน้ำโขงตอนกลางจึงเลือกเอาเฉพาะตัวอักษรที่ออกเสียงง่ายๆ และตรงกับเสียงมาใช้ โดยไม่กลัวบาป อักษรธรรมนั้นสูงไป ออกเสียงยาก ใช้เขียนธรรมจะเปลี่ยนก็กลัวบาป จึงทำให้อักษรไทยน้อยได้รับความนิยมจนวิวัฒนาการมาเป็นอักษรประจำชาติลาวปัจจุบัน
ลักษณะของตัวอักษรไทยน้อยดังภาพด้านล่างนี้ เป็นฟอนต์ที่อาจารย์สานิตย์ โภคาพันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ออกแบบสร้างขึ้น เรียกชื่อฟอนต์ว่า TNManut ชื่อนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ อาจารย์มนัส สุขสาย ปราชญ์ท้องถิ่นอุบลฯ ผู้มีความสามารถด้านการอ่านและจารตัวอักษรธรรม อักษรไทยน้อย และเขียนเรื่องราวของตัวอักษรโบราณอีสานเผยแพร่
ต้องการฟอนต์อักษรไทยน้อยสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ [ Download Fonts here! ]
มหาวิทยาลัยขอนแก่น - ตัวอักษรไทยน้อย
สิม หรือ พัทธสีมา หมายถึง สถานที่ไว้ทำพิธีต่างๆ ของชาวพุทธอีสานหรือคนทั่วไปเรียกว่า โบสถ์
สิม เป็นคำลาว ดังนั้นโบสถ์ที่เรียกสิมส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงเป็นอาคารศิลปะลาว ที่ทรงคุณค่า ในแถบอีสานมีสิมกระจัดกระจายตามเมือง หรือหมู่บ้านที่มีประวัติสืบทอด มาจากยุคก่อนที่วัฒนธรรมลาวเผยแผ่สู่อีสาน
สิมแบบดั้งเดิม ศิลปะลาว สร้างเป็นอาคารเล็กๆ ขนาดพอที่พระจะเข้าไปทำสังฆกรรมภายใน มีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว สมถะเรียบง่ายเข้ากับศาสนาพุทธ และชีวิตไทยพื้นบ้านอีสานไทยทั่วไป สิมวัดตำแย ถือว่า เป็นศาสนสถานที่เกี่ยวข้องกับเมืองอุบลราชธานี และประวัติศาสตร์ศิลาจารึกโบราณ
สิมวัดบ้านตำแย อายุประมาณ 200 ปี ตั้งแต่เริ่มตั้งเมืองอุบลราชธานี มีขนาดกะทัดรัด เรียบง่าย ตัวอาคารของสิมวัดบ้านตำแย ลักษณะของสิมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนเอวขันธ์มีบันไดขึ้นตรงหน้า ประตูด้านเดียวหน้าต่างด้านข้างด้านละหนึ่งช่อง ด้านหลังก่อทึบถึงหน้าจั่ว ผนังก่ออิฐถือปูนด้วยประทาย หลังคาทรงจั่วชั้นเดียว รายลำยองทำเป็นช่องฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ไม่มีนาคสะดุ้ง หลังคามุงด้วยแป้นไม้ มีทวยรูปพญานาคอ่อนช้อยแบบอีสาน มีสองแบบคือ แบบอ้าปาก และแบบหุบปาก
หน้าสิมเหนือประตูจารึกอักษรไทยน้อยสี่บรรทัด ด้านซ้ายมีบันทึกอีกสิบบรรทัด กล่าวถึงการสร้าง สิมวัดบ้านตำแย มีอยู่ด้านกับ 3 หลัก หลักที่ 1-2 กล่าวถึงการสร้างสิม เป็นจารึกบนฝาผนังด้านหน้าสิมเป็นอักษรไทยจารึกเมื่อ พ.ศ. 2417 ส่วนหลักที่ 3 กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูป จารึกอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปทองเหลือง ซึ่งเดิมเป็นพระประธานในสิม จารึกด้วยอักษรธรรมอีสานเมื่อปี พ.ศ. 2400 วัดบ้านตำแย ถือเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี ณ ปัจจุบัน สิมวัดบ้านตำแยแห่งนี้ กรมศิลปกร ได้ขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถานแห่งชาติ เรียบร้อยแล้ว
เพลงสาวอีสานรอรัก (อักษรไทน้อย)
อักษรขอม | อักษรธรรมโบราณอีสาน | อักษรไทยน้อย | วรรณกรรมอีสาน
รวมผญา สุภาษิต และคำสอย
กลอนลำ
เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง
ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร
กลอน ภาษิตโบราณอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)