foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan thai words

ภาษาพูดของผู้คนในภาคอีสานนั้นมีหลายสำเนียงที่แตกต่างกันไป ไม่มี "ภาษาอีสาน" นะครับ มีแต่เป็นภาษาพูดดั้งเดิมของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ลาว ส่วย เยอ กุย ภูไท กะเลิง กุลา ญ้อ ฯลฯ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) ดังนั้น เมื่อท่านเดินทางไปท่องเที่ยวอีสาน ท่านจะได้ฟังสำเนียงเสียงพูดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ยังคงมีความคล้ายกันก็คือ ลักษณะของคำและความหมายต่างๆ ที่ยังคงสื่อความถึงกันได้ทั่วทั้งภาค รวมทั้งสื่อสารข้ามฝั่งไปยังพี่น้องทาง สปป.ลาว ได้ด้วย

ผู้เขียนได้รับคำถามจากแฟนานุแฟนของเว็บไซต์ "ประตูสู่อีสานบ้านเฮา" ทั้งจากทางอีเมล์ webmaster (@) isangate.com และในทาง Facebook Fanpage ของเว็บไซต์นี้และ Facebook ส่วนตัว ให้ช่วยอธิบายความหมายของคำในภาษาอีสานอยู่เนืองๆ ส่วนใหญ่จะตอบใน Facebook ซึ่งเมื่อวันเวลาผ่านไปก็อาจจะค้นหายาก วันนี้เลยนำคำตอบเหล่านั้นมารวบรวมไว้ที่นี่ เพื่อให้ค้นหาอ่านได้ง่ายขึ้น ขอเชิญทุกท่านทัศนากันได้เลยครับ

หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14

redline

คำที่น่าสนใจนำมาเสนอในวันนี้คือ...

เป็นตาซังคัก-อืดสืด-อืดลืด-มุ่นอุ้ยปุ้ย-เปิ่นเวิ่น-แค้น-มิด

เป็นตาซังคัก

ได้รับจดหมายน้อยจากอีหล่าคำแพงทางเมืองชลถามมาด้วยความร้อนรุ่มในหัวใจ เนื่องจากมีผู้บ่าวที่หมายตาหมายใจมาบอกว่า "น้องเป็นตาซังคัก" ถามเพื่อนคนอีสานก็บอกว่า "ซัง คือ เกลียด" อาวทิดหมูบอกน้องหล้าแหน่ว่า "ผู้บ่าวเพิ่นซังน้องแฮงบ้อค่า"

โอย! น้อ เป็นตาหลูโตนแท้หล้าเอย บ่ได้เป็นคือน้องคึดในใจดอกเด้อ เขายกยอน้องว่า "เป็นตาฮักขนาด" ต่างหากเล่า อีหล้าเอย... "

"เป็นตาซังคัก" ไม่ได้หมายถึง "น่าเกลียดมาก" แต่อย่างใด แต่หมายถึง "น่ารัก น่าชัง" ส่วนใหญ่แล้วคำนี้ผู้ใหญ่ (ลุง ป้า ปู่ ย่า ตา ยาย) จะกล่าวถึงเด็กน้อยที่เป็นลูกหลานที่มีหน้าตาน่ารัก น่าเอ็นดู ว่า "อีหล่าจะแหม่นเป็นตาซังคัก" (หลานน่ารักจัง)

เป็นตาซังคัก

แต่คติโบราณอีสานนั้นท่านบอกว่า "ถ้าบอกว่าเด็กน้อยน่ารักผีโพงจะมาเอาไป (อายุไม่ยืนนั่นเอง)" ท่านจึงใช้คำกล่าวที่เป็นตรงกันข้าม ว่า "เป็นตาซัง" เพื่อหลอกผีสางนางไม้ให้เชื่อว่าน่าเกลียด เด็กจะได้อายุยืนยาวนาน นั่นแล...

คำนี้ "เป็นตาซังคัก" ถ้าไปค้นผ่านเพื่อนกู(เกิ้ล) มักจะเจอความหมายว่า "เป็นตาซังคักๆ = น่าเกลียดมากๆ" อันนี้บอกเลยว่า "ผิดแน่นอน มาจากคนที่พอรู้จักภาษาอีสานแล้วคิดว่าคงใช่เอามาเขียน" แล้วก็ลอกต่อๆ กันมาในหลายๆ เว็บเลยไม่รู้ว่าต้นฉบับคือใครเขียนก่อน แล้วก็ลามไปถามกันในกระทู้พันทิพดอทคอม ทำให้เข้าใจผิดกันไปไกลนะขอรับ คนอีสาน 1,000% อย่างอาวทิดหมูขอนั่งยัน นอนยันตามความหมายข้างบนขอรับ รู้ไว้ว่านั่นคือคำชมที่ซ่อนอยู่ด้วยความน่ารักน่าเอ็นดู

อืดสืด

ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้เสนอคำว่า "อืดสืด"

อีนางหล้าอยู่ทางไท (สาวโรงงานทางปราจีนบุรี) จดหมายน้อยมาถามว่า "อาวทิดหมูมื้อวานไปลอยกระทงกับหมู่ ในยินเสียงผู้บ่าวกลุ่มหนึ่งแซวกลุ่มอีหล้าว่า จะแม่น 'สาวอืดสืด' คัก บ่ฮู้ว่าหมายความว่าจั่งได๋ เขาย่องนางหล้าว่างามบ่"

อืดสืด ว. คนที่มีลักษรณะอ้วนเตี้ย เครื่องนุ่งห่มสกปรกมอมแมม เรียก อืดสืดตดเหม็น. squat and filthy (person).

โอยอีหล้านางเอย เจ้ามาสิงามเลิ่กแท้น้อบาดนี้ อาวทิดหมูหลับตาจินตนาการแล้วแหม่นสิกอดบ่หุ้มพุ้นล่ะติ จั่งได้กะสิอย่าเสียใจเด้อ ขอให้จิตใจเฮางามเป็นพอ เป็นกำลังใจให้เด้อ

มีคำที่คล้ายกันอีกคำหนึ่งคือ "อืดลืด"

อืดลืด ว. ไม่เรียบร้อย ไม่เกลี้ยงเกลา การทำโดยปราศจากความสะอาด เรียก เฮ็ดอืดลืด. messy, untidy.

eud seud

(ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต บ่เกี่ยวกับความหมายปานได๋ดอกเด้อ)

มุ่นอุ้ยปุ้ย

หลายคนได้ฟังเพลงของอดีตผู้ใหญ่บ้านหำ เฉลิมพล มาลาคำ เพลงชื่อ "มุ่นอุ้ยปุ้ย" แล้วก็สงสัยว่า "ย่านมุ่นอุ้ยปุ้ย" มีความหมายว่าอะไรนะ อยากรู้จัง

ปุ้ย ว. ละเอียด ถ้วยโถโอจานที่แตกหาชิ้นดีไม่ได้ เรียก มุ่นอุ้ยปุ้ย. fine, into tiny bits.

อุ้ยปุ้ย ว. แหลกละเอียด เรียก มุ่นอุ้ยปุ้ย. powered, smashed to bits.

ความหมายในเพลงคือ การจินตนาการของผู้แต่งเพลง (ผู้ร้อง คนเดียวกัน) ที่คาดว่าคืนนี้ ผู้สาวที่ตนเองหลงรักนั้น "หนานผักชีของน้องนางหล้า จะถูกดุด ถูกดุนจากเขาผู้นั้นจนมุ่นอุ้ยปุ้ย แหลกละเอียดนั่นเอง" มันผิดหวังในใจที่คนรักของตนเองที่มั่นหมายแล้วไม่ได้ มันเศร้าใจหลายเนาะ

moon ouy pui

เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การเลือกตั้งในอเมริกา ต่างฝ่ายต่างก็เชียร์กันขาดใจ ผลสิออกมาเป็นอย่างใดก็ยากที่จะคาดเดา (รูปแบบมันบ่คือบ้านเฮา) แต่ถ้าผลออกมาแล้วมันต้อง "มุ่นอุ้ยปุ้ย" แน่นอน บ่ฮู้ว่าพ่อใหญ่ใด๋สิได้แบกถุงปุ๋ยเมือบ้าน เป็นพ่อใหญ่ทรัมป์ หรือพ่อใหญ่ไบเดน ติดตามต่อไปเด้อพี่น้อง (ผลออกมาเป็น พ่อใหญ่ทรัมป์ แบกถุงปุ๋ยเมือบ้าน แต่เลายังบ่ยอมแพ้ใด๋ อีกสี่ปีเจอกันว่าซั้น!)

เปิ่นเวิ่น

ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้เสนอคำว่า "เปิ่น, เปิ่นเวิ่น"

เฝ้ารอดูพายุจากการทำนายของกรมอุตุนิยมวิทยาทั้งวันเลยวันนี้ แต่ก็ "เปิ่น" ขึ้นไปทางมุกดาหารซ้ำ ฝนทางบ้านอาวทิดหมูมีพอรินๆ นี่ล่ะ พอสาบานน้ำบ่ตายนี่ล่ะ ทางอื่นเป็นจั่งใด๋น้อ ส่งข่าวมาบอกกันแหน่เด้อ

เปิ่น น. แฉลบ เลี่ยง เช่น ถากไม้ขวานแฉลบไปถูกขา เรียก ขวานเปิ่นใส่ขา. to glance off ricochet, go aside.

pern wern

แต่ถ้าผู้สาวงาม "เปิ่นเวิ่น" นั้นผัดเป็นตาฮัก ตาฮักเด้อนางเอย คำภาษาอีสานนี่มีความหมายมากมายจริงๆ อยากพ้อเด้น้องสาวเจ้าผู้แก้มเปิ่นเวิ่นนั่นนา

เปิ่นเวิ่น ว. หน้าตาที่เบิกบานแจ่มใสเรียก เปิ่นเวิ่น อย่างว่า แก้มเปิ่นเวิ่นแก้มเจ้าเปิ่นเวิ่น ขี้กะเต๋อวังเวินไหลเซาะน้ำเซินอยู่ย่าวย้าว (กลอน). cheerful.

แค้น

ภาษาอีสานวันละคำด้วยภาพ วันนี้ขอเสนอคำว่า "แค้น"

คนในภาคอื่นอาจจะเข้าใจผิดกันได้ง่ายๆ ถ้าไม่เข้าใจความหมายของคำ ดังเช่น เมื่อช่วงวันหยุดยาวหลายวันที่ผ่านมา หนุ่มเมืองกรุงมาเที่ยวทางอีสานด้วยการขี่รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์คันใหญ่ ฟังเสียงคำรามฮึ่มๆ มาแต่ไกล แต่ด้วยความไม่ชำนาญทางจึงทำให้ล้มคว่ำไม่เป็นท่า ที่มุมโค้งใกล้ศาลากลางบ้าน ลุงชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ด้วยความมีน้ำใจรีบวิ่งเข้าไปช่วยเหลือทันที...

ลุง : "เอ็งแค้นไหม เอ็งแค้นไหม เจ็บตรงไหนบ้าง...." (พูดเสียงดังถามด้วยความเป็นห่วง)

ชายหนุ่ม : "ผมพลาดท่าล้มเอง ไม่แค้น ไม่โกรธใครหรอกลุง...." (ชายหนุ่มฝืนใจตอบด้วยความเจ็บปวด)

คำถามของลุงนั่นไม่ได้หมายถึงว่า "ไอ้หนุ่มไปคั่งแค้นใครมา" แต่หมายความว่า "เอ็งจุก เสียดแน่น เจ็บตรงไหนหรือเปล่า?" ว่าแล้วก็ยื่นน้ำดื่มยี่ห้อ "แก้แค้น" ให้ดิ่มเพื่อคลายแค้น "จุกเสียด" เฮ้อ!!!

kaen

แค้น ก. ติดขัด คับใจ คับใจ เรียก แค้น อย่างว่า รื้อจักเยื้อนยากได้พอยีบยาบเดียวหนึ่งนั้น พอเมื่อสุรภาพพานพาดดอยดนแจ้ง กุมภัณฑ์แค้นเคืองมโนค้อยคั่ง รือจักใช้แอ่วอ้วนโอมน้องก็ใช่การ (สังข์). to encounter hindrance, to feel oppressed.

แค้น ก. ติด ขัดข้อง ข้าวติดคอเรียก แค้นเข้า แค้นเข้าคาคอ เป็นต้น

แค้น ภาษาอีสานในเครื่องหมายการค้านี้คือ อาการ "ติดคอ" เช่น "เข้าคาคอ ข้อยแค้น เอาน้ำมาล่องคอแหน่"

บ่แม่นเคียดให้ไผ (โกรธให้ใคร) แล้วดื่มน้ำยี่ห้อนี้สิหายแค้นเด้อ คนละความหมายกัน หรือเอาขวดตีหัวสะบ้อหึ?

มิด

ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "มิด"

ในคืนอันเหน็บหนาวมืดสนิท ที่นอกชานบ้านหลังหนึ่ง มีเสียงอ้อนของหญิงสาวว่า "อ้ายคือมิดแท้"

พลันได้ยินเสียงตอบจากไอ้หนุ่มว่า "หึยส์สส... น้องแห่งคือ 'เพชรา' ตั่ว"

บทสนทนานี้หนุ่ม-สาววัยรุ่นสมัยศตวรรษที่ 21 นี้อาจจะไม่เข้าใจ พร้อมกับอุทานว่า "ไรว๊า!!..วัยสะรุ่นไม่เก็ตอ๊ะ" แต่ถ้าวัยเกิน 50 ปีขึ้นไปอย่างอาวทิดหมู รับรองต้องเก็ตแน่นอนใช่ไหม?

มิด ว. เงียบ อาการเงียบไม่มีเสียง เรียกว่า มิด มิดจี่ลี่ มิดซี่ลี่ ก็ว่า. silent, without noise.

mitr petchara 1

ดังนั้น ที่น้องสาวว่า "อ้ายคือมิดแท้" นั่นย่อมหมายความว่า "พี่ทำไมเงียบไป" ไม่ได้หมายถึง "พี่หล่อดัง มิตร ชัยบัญชา" พระเอกหนังในสมัยนั้น จึงไม่ต้องไปสวนตอบน้องว่า "น้องช่างงามเหมือน เพชรา เชาวราษฎร์" ดอกเด้อ อายเขา บักหล้า 😁🤣😂

mitr petchara 2

 

หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14

redline

backled1

nok krajog header

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง นกกระจอกน้อย หรือ นกจอกน้อย หรือ ท้าววรจิต-นางจันทะจร เป็นวรรณคดีเก่าแก่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะแต่งขึ้นในสมัยใด ใครเป็นผู้แต่ง ไม่มีหลักฐานปรากฎ เป็นมรดกทางวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานอีกเรื่องหนึ่งที่มีการบันทึก (จาร) บนใบลาน แล้วเอามาเล่า (เทศน์) โดยพระสงฆ์ ตลอดถึงนำมาแสดงขับลำแบบพื้นบ้าน ทั้งโดยหมอลำกลอน และลำเรื่องต่อกลอนมาหลายยุคหลายสมัย เป็นหนึ่งในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานคลาสสิคอีกเรื่องหนึ่ง ที่พบหลักฐานมีมาหลายฉับบที่ถูกปริวรรตจากคำกลอนในใบลานมาเป็นร้อยแก้ว ที่ผู้เขียนนำมาเรียบเรียงใหม่ในครั้งนี้ 4 สำนวน คือ

  • นกกระจอก อักษรธรรม ๑ ผูก วัดนาเจริญ ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
  • นกกระจอก (ท้าววรกิต-นางจันทะจร) ปริวรรตโดย พระอริยานุวัตร (อารีย์) เขมจารี วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ต้นฉบับมาจากวัดเกษรเจริญผล บ้านมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
  • นกจอกน้อย จากเอกสารใบลานฉบับวัดโพธิ์ศรี บ้านลาด ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ปริวรรตและเรียบเรียงโดย สมัย วรรณอุดร
  • นกจอกน้อย โครงการปริวรรตหนังสือใบลานสืบสานวัฒนธรรม จากอักษรธรรมมรดกอีสานเป็นอักษรไทย โดย โสรัจ นามอ่อน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี เอกสารวิชาการ ลำดับที่ ๕/๒๕๕๔ หน้า ๔๒ และหน้า ๔๘, หนังสือผูกใบลาน ผูก ๓.

nok krajog 01

นอดีตกาล ยังมีนกกระจอกน้อยผัวเมียคู่หนึ่ง ทำรังอาศัยอยู่ในหนวดเคราของพระฤาษีอย่างมีความสุข ทุกวันนกตัวผู้จะออกไปหาเหยื่อ ส่วนตัวเมียจะกกไข่อยู่ในรัง วันหนึ่งแม่นกฟักไข่ ส่วนพ่อนกก็ออกไปหาเหยื่อตามปกติ และได้บินไปที่สระบัวแห่งหนึ่ง พ่อนกมัวแต่หาเหยื่อในดอกบัวเพลินลืมเวลาจนพลบค่ำ ดอกบัวก็หุบกลีบลง ทำให้พ่อนกออกมาจากดอกบัวไม่ได้ ต้องรอดอกบัวบานในเช้าวันรุ่งขึ้นจึงออกมาได้ และรีบบินกลับรังในทันที ฝ่ายแม่นกนั้นคิดว่า ผัวนอกใจไปมีเมียใหม่ จึงได้ทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นเพราะความหิวและหึงหวง ตัวผู้ได้สาบานแสดงความซื่อสัตย์ของตนต่อนกตัวเมียว่า "หากตนคิดมีชู้นอกใจเมีย ขอให้เป็นบาปเป็นกรรมอันร้ายแรงตัวเท่ากับพระฤาษี ขอให้ตกนรกอยู่ในอเวจี"

ฤาษีได้ยินนกสองตัวทุ่มเถียงกันเช่นนั้นจึงโกรธ ได้ถามนกออกไปว่า "ทำไมตนจึงมีบาป ทั้งๆ ที่บำเพ็ญเพียรมีตบะแก่กล้าดังนี้" นกตัวผู้บอกว่า "เป็นเพราะฤาษีไม่มีลูกสืบสกุล ตายไปก็ตกนรก" * ท่านฤๅษีได้ฟังก็โกรธมากในตอนแรก แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้ตามคติโบราณของชาวอินเดียและจีนแล้วจึงเห็นด้วย และตัดหนวดเคราออกพร้อมรังนก บอกให้ทั้งคู่ไปทำรังอาศัยอยู่ที่ป่าเลา (ป่าแขมป่าเลา) ส่วนพ่อฤๅษีจึงลาศีล สึกออกไปเป็นฆราวาส มีครอบครัวมีลูกหญิงชายจะได้ขึ้นสวรรค์พ้นนรกขุมปุตตะเสียที

* เป็นคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ตามคติความเชื่อของชาวอินเดียโบราณว่า หญิงชายที่ไม่แต่งงานพระเจ้าไม่รับขึ้นสวรรค์ และหนักยิ่งไปอีกว่า ถ้าชายที่แต่งงานแล้วถ้าไม่มีบุตร "ลูกชาย" สืบสกุลก็ยังตกนรกขุม "ปุตตะ" อยู่ดี ส่วนชาวจีนโบราณถือว่า "หญิง" เท่านั้นที่ไม่แต่งงานแล้วพระเจ้าไม่รับขึ้นสวรรค์ ผลกระทบด้านสังคมในป๎จจุบันทำให้ประเทศจีนและอินเดียมีประชากรมากกว่าพันล้านคน ประเทศอินเดียนั้นประเพณีแต่งงาน ฝ่ายหญิงจะต้องเสียค่าสินสอดทองหมั้นและค่าใช้จ่ายทุกอย่างแก่ฝ่ายชาย ส่วนประเพณีจีนฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายแสวงหาคู่ (ชาย) มาแต่งงานกับลูกสาวของตน ทั้งอินเดียและจีนจะมีประเพณีที่ตรงข้ามกับของไทยโดยสิ้นเชิง

nok krajog 02

นกสองผัวเมียได้อพยพพาลูกไปอาศัยอยู่ในป่าเลา จนอยู่มาวันหนึ่งเกิดไฟไหม้ป่า และลุกลามมาจนใกล้รังนกกระจอกคู่นี้ แม่นกได้ขอคำสัญญาจากพ่อนกว่า "ถ้าไฟไหม้มาถึงรัง ทั้งคู่จะไม่ยอมไปไหน จะยอมตายด้วยกันที่รังแห่งนี้พร้อมลูกน้อย ถ้าใครผิดคำมั่นสัญญาไม่ว่าชาติไหนจะไม่ยอมพูดกับเพศตรงข้ามอีกต่อไป" พ่อนกรับคำตามสัญญานั้น ในที่สุดไฟป่าก็ลุกลามมาถึงรังนก แต่เมื่อไฟมาถึงรัง พ่อนกทำผิดสัญญาบินออกจากรัง ส่วนแม่นกตั้งจิตอธิษฐานใจแน่วแน่ว่า "เกิดชาติหน้าขอให้เป็นคนพ้นจากกำเนิดเดียรัจฉาน (สัตว์) จะไม่ขอพูดกับผู้ชายอีก" แม่นกถูกไฟครอกตายคารังพร้อมลูกๆ ฝ่ายพ่อนกแม้จะบินออกจากรัง แต่ก็ไม่สามารถบินผ่านเปลวไฟอันโหมกระหน่ำอย่างแรงไปได้ ถูกไฟป่าไหม้ตายเช่นกัน และก่อนจะขาดใจตั้งสัจจะอธิฐานว่า "เกิดชาติหน้าขอให้เป็นคนพ้นจากกำเนิดสัตว์ จะขอพูดกับผู้หญิงตลอดไป"

คำสัตย์อธิษฐานเป็นจริงในภพชาตินี้แล้ว จากนั้นพ่อนกได้เกิดเป็นเจ้าชายชื่อ "ท้าววรจิต" ส่วนแม่นกก็ได้เกิดเป็นเจ้าหญิงชื่อ "จันทะจอน" หรือ จันทะจร พระนางจันทะจอนสาวแสนสวยก็ไม่เคยออกปากพูดกับชายใดๆ แม้แต่กับพระราชบิดา ทำให้พระราชบิดาเป็นทุกข์เป็นหนักหนา จึงได้ป่าวประกาศออกไปว่า "ถ้าผู้ใดสามารถทำให้ธิดาของตนพูดกับผู้ชายได้ หรือว่านางพูดกับชายใดก็จะยกนางให้ และยกเมืองให้ปกครอง" แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถทำได้

nok krajog 03

ท้าววรจิตได้ยินกิตติศัพทฺ์ความงามของนาง และทราบข่าวที่บิดาของนางจะยกนางให้กับผู้มีความสามารถทำให้นางพูดได้ จึงได้ไปร่ำเรียนวิชาถอดจิตกับพระฤาษีจนสำเร็จ แล้วจึงกลับไปอาศัยอยู่กับย่าจำสวน แล้วจึงให้ย่าจำสวนพาไปพบกับเจ้าเมือง เพื่ออาสาพูดกับนางจันทะจร ท้าววรจิตได้ถอดจิตไว้กับหมอนและเครื่องใช้ต่างๆ ในห้องนอนของนางจันทะจร ทำให้เครื่องใช้นั้นๆ พูดได้ และเล่านิทานให้หมอนฟัง ตอนสุดท้ายได้พูดถึงผู้หญิงต้องเสียเปรียบและพ่ายแพ้ผู้ชายตลอด แต่นางจันทะจรก็ยังไม่ยอมเอ่ยวาจาใดๆ ออกมา

ตัวท้าววรจิตนั้นจำเรื่องราวในอดีตชาติเมื่อครั้งเป็นนกกระจอกได้ จึงได้นำเรื่องนกกระจอกในอดีตชาติของตนมาเล่าให้หมอนฟัง แต่ตอนจบเรื่องแกล้งเล่าให้ผิดไปว่า "นกตัวเมียบินหนีไฟป่าไปเสียก่อน ปล่อยให้ตัวเองกับลูกน้อยถูกไฟคลอกตาย" คำพูดดังกล่าวแทงใจดำของนางจันทะจรซึ่งระลึกชาติได้เช่นกัน ทำให้นางโกรธมาก จึงพูดโต้แย้งออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจว่า "เรื่องที่ท้าววรจิตพูดนั้นไม่เป็นความจริง" เมื่อพูดเพียงเท่านั้นเหล่าเสนาอำมาตย์ที่แอบดูเหตุการณ์อยู่ ก็เอาฆ้องกลองมาตีเสียงดังสนั่นก้องเป็นสัญญาณว่า นางจันทะจรได้พูดกับผู้ชายแล้ว

nok krajog 04

เจ้าเมืองทรงพอพระทัยที่เห็นลูกสาว นางจันทะจร พูดกับ ท้าววรจิต แล้ว ซึ่งท้าววรจิตก็เป็นเจ้าชายหนุ่มรูปงามจากต่างเมือง จึงมีรับสั่งให้อภิเษกสมรสท้าววรจิตกับเจ้าหญิงจันทะจรให้ครองเมืองแทนพระองค์ตามสัญญา ทั้งสองปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม อย่างสุขเกษมสำราญ ในบั้นปลายชีวิตพระเจ้าวรจิตได้สละราชสมบัติออกผนวช แบบสันยาสีคตินิยม ของคนอินเดีย บำเพ็ญบารมีตามแบบฉบับของพระโพธิสัตว์จนสิ้นอายุขัย แม้พ่อฤๅษีก็สละเพศฆราวาส ออกบวชบำเพ็ญสมณะธรรม จนได้บรรลุโมกขธรรมเบื้องต้น เมื่อสิ้นอายุขัยได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์

ลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง นกกระจอกน้อย - คณะเพชรอุบล (โดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม และคณะ)

redline

backled1

peenoi header

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง ท้าวกำพร้าผีน้อย เป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่จุติลงมาเกิดที่เมืองอินทปัตถ์ เป็นเด็กที่กำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเล็ก เป็นเด็กขอทานเพื่อเลี้ยงชีพ ชาวบ้านบางคนก็เมตตาให้ทาน บางคนก็รังเกียจหาทางกลั่นแกล้งเสมอ และนิทานเรื่อง "ท้าวกำพร้าผีน้อย" ยังเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของทางฝั่ง สปป.ลาว และในภาคอีสานของไทย ที่มีต้นตำรับจากใบลาน มีการเรียบเรียงเป็นคำกลอน และสำนวนต่างๆ เรื่อง "ท้าวกำพร้าผีน้อย" เป็นเรื่องเก่าที่เล่าปากต่อปากเรื่อยมา ต้นฉบับนี้มาจากใบลาน อักษรธรรม ๑ ผูก วัดโนนกุง ตำบลนาคำ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี มีเรื่องโดยย่อดังนี้

นิทานพื้นบาน - กำพร้าผีน้อย

ที่เมืองอินทปัตถ์ มีเด็กน้อยคนหนึ่งกำพร้าพ่อและแม่ ได้เที่ยวขอทานเขากินจนโตเป็นหนุ่ม จนเป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน และยังถูกไล่ออกไปทำไร่ทำนาบริเวณที่มีผีดุ แต่ยังดีที่เด็กกำพร้ายังมีวาสนา มีผีเป็นเพื่อน จีงได้ชื่อว่า "กำพร้าผีน้อย"

แล้วจึงออกจากเมืองมาทำนาทำไร่ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อข้าวพืชงอกงามขึ้น ได้มีสัตว์ต่างๆ มากิน แม้จะไล่อย่างไรก็ไม่ไหว เอาอะไรมาทำเครื่องดักก็ยังขาดหมด จึงไปขอเอาสายไหม จากย่าจำสวน (คนสวนของพระราชา) มาทำจึงจับได้ช้าง ช้างเมื่อถูกจับได้กลัวตายจึงร้องขอชีวิต และบอกว่าจะให้ของวิเศษถอดงาข้างหนึ่งให้ ท้าวกำพร้าผีน้อย จึงปล่อยไปแล้วเอางาช้างมาไว้ที่บ้าน

ต่อมาท้าวกำพร้าดักได้เสือ เสือก็ยอมเป็นลูกน้อง โดยบอกว่าถ้ามีเรื่องเดือดร้อนจะมาช่วย ต่อมาจับได้อีเห็น อีเห็นก็ยอมเป็นลูกน้อง เช่นเดียวกันกับเสือ ต่อมาจับพญาฮุ้ง (นกอินทรีย์) พญาฮุ้งก็ยอมเป็นลูกน้อง และตัวสุดท้ายจับได้คือ "ผีน้อย" ที่มาขโมยกินปลาที่ไซ ผีน้อยก็ยอมเป็นลูกน้อง

peenoi 02

เมื่อตอนที่ได้งาช้างมานั้น ท้าวกำพร้าได้เอางาช้างมาไว้ที่บ้าน ในงาช้างนั้นได้มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ "นางสีดา" อาศัยอยู่ โดยที่ท้าวกำพร้าไม่รับรู้เรื่องนี้ คราใดที่ท้าวกำพร้าออกไปไร่นา นางสีดาได้ออกมาทำอาหารไว้รอท้าวกำพร้าทุกครั้งไป จนท้าวกำพร้าสงสัยว่า เป็นผู้ใดหนอมาทำอาหารมารอเราทุกวัน

ต่อมาท้าวกำพร้าได้แอบดูจนรู้ความจริง จึงจับนางไว้แล้วจึงทุบงาช้างนั้นเสีย เพื่อจะไม่ให้นางหลบเข้าไปอยู่อีก นางจึงได้อยู่กินเป็นภรรยากับ้าวกำพร้ามาตั้งแต่บัดนั้น ความสวยงามของสีดา เป็นที่เลื่องลือ ข่าวนี้ได้ยินไปถึงหูพระราชา จนพระราชาเห็นแล้วก็มีความรักใคร่ จึงคิดจะยึดเอาตัวนางสีดามาเสีย แต่ก็กลัวผู้คนจะติเตียน จึงได้ท้าทายท้าวกำพร้าให้พนันขันแข่งต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าท้าวกำพร้าแพ้ ก็จะยึดนางสีดามาเป็นของพระองค์ แต่ถ้าพระองค์แพ้จะยอมยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง

การแข่งขันในคราวนั้นคือ การชนวัว การชนไก่ การแข่งเรือ แต่ปรากฏว่า ท้าวกำพร้าชนะในการแข่งขันทุกครั้ง เพราะในการชนวัวนั้น เจ้าเสือแปลงเป็นวัวมาช่วยท้าวกำพร้า พอถึงการชนไก่ อีเห็นก็แปลงเป็นไก่มาช่วยกัดไก่ของพระราชาตาย ในการแข่งขันเรือนั้นพญาฮุ้งมาเป็นเรือและได้ทำให้เรือพระราชาล่มแล้วกินคนจนหมดทั้งลำรวมทั้งพระราชา

เมื่อพระราชาตายแล้วได้รวมหัวกับ "บ่างลั่ว" ตัวหนึ่ง โดยให้บ่างลั่วร้องเรียกวิญญาณของนางสีดามา โดยร้องครั้งแรกนางก็ไม่สบาย ร้องครั้งที่สองสลบไป ร้องครั้งที่สามนางจึงตาย วิญญาณของนางสีดาจึงได้มาอยู่กับพวกผีพระราชา

peenoi 01

ส่วนท้าวกำพร้าปรึกษากับผีน้อย ผีน้อยบอกว่า "อย่าเพิ่งเผาจะตามไปดูวิญญาณของนางอยู่ที่ใด?" เมื่อผีน้อยตามจึงรู้เรื่องทั้งหมด ได้วางแผนจับบ่างลั่วตัวนั้น เข้าไปตีสนิทกับบ่างลั่วแล้ว สานข้อง (ที่ใส่ปลา) ครั้งแรกสานด้วยไม้ไผ่แล้วให้บ่างลั่วเข้าไปข้างใน แล้วให้ออกแรงยันดู ปรากฏว่า ข้องแตก

จึงสานใหม่ด้วยลวด แล้วบอกให้บ่างลั่วเข้าไปดูแล้วบอกให้ยันดูใหม่ ปรากฏว่า ข้องไม่แตกจึงรีบหาฝามาปิดขังบ่างลั่วไว้ แล้วรีบเอาข้องมาให้ท้าวกำพร้า เพื่อบังคับให้บ่างลั่วร้องเรียกเอาวิญญาณนางสีดากลับคืนมา ไม่เช่นนั้นจะฆ่าเสีย บ่างลั่วกลัวจึงร้องเรียกเอาวิญญาณนางสีดากลับมา โดยร้องครั้งแรกร่างของนางสีดาก็เคลื่อนไหว ร้องครั้งที่สองฟื้นขึ้น เมื่อร้องครั้งที่สามก็หายเป็นปกติทุกอย่าง

พอทุกอย่างปกติแล้ว ท้าวกำพร้าจึงหลอกว่า "ขอดูไอ้ที่ร้องเอาวิญญาณคนได้ไหม" บ่างลั่วจึงแลบลิ้นออกมาให้ดู ท้าวกำพร้าจึงตัดลิ้นบ่างลั่วนั้นเสีย เพราะกลัวมันจะร้องเอาวิญญาณไปอีก บ่างลั่วจึงร้องไม่ชัดตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเจ้าเมืองอินทปัตถ์สิ้นชีพไปแล้ว ชาวเมืองจึงเชิญ "ท้าวกำพร้า" และ "นางสีดา" ปกครองบ้านเมืองสืบต่อมา ทั้งนี้เพราะความดีของท้าวกำพร้าจึงปกครองบ้านเมืองอยู๋เย็นเป็นสุขตลอดมา

นิทานลาว เรื่อง กำพร้าผีน้อย ນິທານລາວ​ ກຳພ້າກັບຜີນ້ອຍ

และเพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรสแห่งนิทานเรื่อง ท้าวกำพร้าผีน้อย นี้ให้มีความงดงามทางวรรณศิลป์จึงขอเอาลำเรื่องต่อกลอน ของ คณะเพชรอุบล ของศิลปินแห่งชาติ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม และชาวคณะมาปิดท้ายนิทานเรื่องนี้ เชิญฟังลำกันม่วนๆ ได้เลยครับ

ลำเรื่อง กำพร้าผีน้อย โดย คณะเพชรอุบล (นำโดยหมอลำ ป.ฉลาดน้อย)

 

redline

backled1

 

kadam header

นิทานพื้นบ้านอีสานเรื่อง "ท้าวก่ำกาดำ" นี้ เป็นวรรณกรรมย้ำสอนให้คนเห็น "คุณค่าของคน" ไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา แต่ให้มองที่ความสามารถ ความช่างพูด กตัญญูรู้คุณ และได้พรรณนาความไพเราะของเสียง "แคน" ดนตรีมหัศจรรย์ไม้ไผ่ของไทอีสาน เรื่องย่อมีดังนี้

าลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองอินทปัตย์ มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง หลังจากอยู่กินร่วมชีวิตกันมาเป็นเวลานานหลายปี แต่หาได้มีบุตรไว้สืบสกุลไม่ สามีจึงปรึกษากับภรรยาว่า “แม่นอีนางเอย อ้ายเห็นว่าเฮาก็อยู่ฮ่วมกันมาดนนานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังบ่มีวี่แววได้ลูกน้อยจักเทื่อ อ้ายคืออยากมีลูกแท้ล่ะ แล้วน้องคึดจั่งใด๋” สามีถามทิ้งท้าย “คือกันนั่นแหล่วอ้าย การไม่มีลูกก็ส่ำกับขาดคนสืบเชื้อหน่อสายแนนแม่นบ่?” ภรรยาพูดเป็นเชิงถาม “ถ้าจั่งซั้นเฮาไปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอลูกกันดีบ่นาง” สามีชวนเมื่อรู้ว่าภรรยาเห็นดีด้วยที่จะมีบุตร “ไปกะไปอ้าย เผื่อเทวดาฟ้าดินเพิ่นสิเวทนาสองเฮาได้สมใจ” ภรรยาตอบตกลง… เมื่อมีความเห็นตรงกัน และตกลงร่วมกันเช่นนั้น ทั้งสองจึงไปบนบานต่อศาลเทพารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน

จากนั้นไม่นาน ภรรยาก็ตั้งครรภ์ และคลอดลูกออกมาเป็นลูกชาย แต่... แม้จะมีบุตรสมใจแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เป็นมารดามีความสุขเลย เพราะกุมารน้อยที่เกิดมานั้นมีผิวดำเหมือน "อีกา" จนชาวบ้านเอาไปซุบซิบนินทานางว่า “มันต้องไปสมสู่กับอีกาแน่ๆ ลูกจึงเกิดมาดำอย่างนั้น”… “ข้าว่าในอดีตมันต้องเป็นคนใจดำ อาจทำชั่วมาก่อนจึงได้ลูกดำมากขนาดนั้น” คำพูด คำนินทามีมากขึ้น ยิ่งนานวันการซุบซิบปากต่อมากกระทั่งพูดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้ผู้เป็นมารดารู้สึกอับอาย

เมื่อผู้เป็นมารดาก็รู้สึกละอายที่ต้องมีลูกชายรูปชั่วตัวดำ จนนางอดทนไม่ไหวถึงกับเอ่ยปากกับผู้เป็นสามีว่า “อ้ายเอย.. นางคือสิเลี้ยงลูกคนนี้บ่ไหวแล้ว เลี้ยงมันไว้ยิ่งนับวันก็ยิ่งอับอายขายหน้า ผู้คนในหมู่บ้านหาว่าน้องไปสมสู่กับอีกาจึงมีลูกตัวดำปี๋อย่างนี้ บางคนก็บอกว่าชาติก่อนน้องคงใจดำ ทำบ่ดีไว้หลายจนชาตินี้ได้ลูกดำคืออีกา” สามีไม่ปริปากว่าอะไร ได้แต่นั่งคิด ภรรยาเห็นสามีไม่พูดจาจึงปรึกษาว่า “นางว่าเอาลูกเฮาไปลอยแพถิ่มเสียดีบ่อ้าย”

kadam 03

เมื่อได้ยินคำว่า “เอาลูกไปทิ้ง” สามีก็เริ่มปริปากพูด “เขาจะพูดกันก็ช่างปะไร แกจะไปเดือดร้อนทำไม ถึงตัวมันดำ ก็มีแขนขาหูตาครบส่วนทุกอย่าง ถึงอย่างไรก็เป็นลูกเรา นี่แกคิดจะลอยแพลูกทิ้งเชียวเหรอ” ผู้เป็นสามีติงอยางไม่เห็นด้วยกับฝ่ายภรรยา

เมื่อเห็นสามีไม่เห็นด้วย จึงคิดกลอุบายหาทางกำจัดกุมารน้อยรูปชั่วตัวดำ โดยไปให้สินบนกับโหรทำนายทายทักไปในทางไม่ดี เพื่อให้สามีของนางเชื่อตามนั้น “อย่ากระนั้นเลย ข้าอายคนมาก ข้าต้องหาหาเอาลูกไปทิ้งให้ได้ เมื่อเขาไม่ยอมเราก็ควรหาวิธีอื่น วิธีที่ดีที่สุดก็คือให้โหรช่วยทำนายว่าลูกจะทำภัยพิบัติมาให้ แล้วเขาก็จะเชื่อ” นางวางแผน “อ้าย นางว่าเฮาไปปรึกษาพ่อโหรดีบ่” นางชวนสามี สามีคิดนิดหนึ่งแล้วตอบว่า “เออ…..ก็ดี เพราะโหรเขาจะรู้อนาคตได้ดี” แล้วทั้งสองก็ไปให้โหรทำนาย

เมื่อพ่อโหรถูกว่าจ้างติดสินบนไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อมาที่บ้านของสามีภรรยา ก็บอกให้นำกุมารน้อยมาไว้ตรงหน้า แล้วถามถึงเดือน/ปี/เกิด/เวลาตกฟาก ซึ่งฝ่ายผู้เป็นภรรยาก็บอกให้โหรทราบทุกประการ ส่วนผู้เป็นสามีคอยนั่งฟังโหรทำนายด้วยใจจดใจจ่อ เพราะเขารักและสงสารลูกชายตัวดำของเขามาก ผู้เป็นบิดาไม่เคยรังเกียจลูกเลย แม้จะเกิดมาตัวดำปี๋เหมือนอีกา หรือเหมือนถ่านก็ตามที ฝ่ายโหรเมื่อได้เวลาเกิดและยามตกฟากของกุมารผิวถ่านแล้ว ก็ทำทีขีดเขียนกระดานเพื่อคำนวณถึงดวงชะตาราษี

เขาจึงทำนายไปตามที่ได้รับสินบนตามต้องการของหญิงผู้เป็นแม่… “โอ้… กุมารน้อยตัวดำเกิดมาในฤกษ์เป็นกาลกิณีแท้ๆ จะนำภัยพิบัติมาสู่พ่อแม่ ขืนเลี้ยงไว้มีแต่จะทำให้ทุกข์ยากถึงขนาดพ่อแม่จะอายุสั้น ต้องพรากจากกันเลยทีเดียว กุมารน้อยช่างเกิดมามีกรรมน่าสงสารแท้ๆ” ตอนท้ายโหรแกล้งบีบเสียงให้สมจริงสมจัง

“นี่… พ่อโหรคำนวณไม่ผิดพลาดแน่นะ” ผู้เป็นพ่อสงสัย สงสารและเป็นห่วงลูกชายตัวดำ “รับรองว่าตรวจทานตามวันเวลาเกิด และเวลาตกฟากถูกต้องทุกประการ” โหรยืนยันตามเดิม

ผู้เป็นพ่อถึงจะรักและสงสารลูกน้อยตัวดำมากมายเพียงใด ก็มิอาจจะเลี้ยงได้แล้ว คำว่า “ภัยพิบัติ” และ “กาลกิณี” หมายถึงสิ่งชั่วร้ายจะต้องเกิดกับครอบครัว ไหนอายุพ่อแม่จะต้องสั้น ลูกอัปมงคลอย่างนี้คงเลี้ยงไว้ไม่ได้แล้ว กุมารน้อยตัวดำปี๋จึงลูกลอยแพทิ้งให้ลอยไปตามสายน้ำ แล้วแต่บุญกรรมนั่นแล้ว…

ร้อนไปถึงเทวดาบนสรวงสวรรค์ที่ทิพยอาสน์เคยอ่อนนุ่ม ก็กลับมาแข็งกระด้างร้อนดังไฟ ท่านจึงสอดส่องลงมายังโลกมนุษย์เบื้องล่าง ก็เห็นกุมารน้อยถูกลอยแพไหลไปตามกระแสน้ำ จึงได้ดลบันดาลให้แพลอยไปเกยตื้นใกล้กับอุทยานของพระราชา

บ่ายวันนั้น ย่าจำสวน (คนเฝ้าอุทยานของพระราชา) ลงมาอาบน้ำที่ท่าน้ำ ได้พบแพลอยน้ำใกล้เข้ามา ครั้นย่าจำสวนเพ่งมองลงไปในแพ เห็นกุมารน้อยตัวดำนอนดินกระแด่วอยู่ก็ดีใจ เพราะตัวเองก็ยังไม่มีลูก ทั้งที่อยู่กินกับสามีมาหลายปีแล้ว “โอ้…เจ้านี่เกิดมาตัวดำ ดำเหมือนอีกา แม่จะเลี้ยงเจ้าไว้ และจะตั้งชื่อให้นะ”… ย่าจำสวนนั่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ควรจะตั้งชื่ออย่างไรจึงจะสมรูปสมร่าง ในที่สุดก็คิดได้จึงร้องออกมาว่า…. “เออ…ข้าคิดออกแล้ว เจ้าเกิดมาตัวดำ ดำเหมือนกา ดำเหมือนถ่าน ชื่อว่า “ท้าวก่ำกาดำ” ก็แล้วกัน”

kadam 02

ท้าวก่ำกาดำเจริญเติบโตขึ้นมา เพราะคนเฝ้าอุทยานของพระราชาเลี้ยงดู จนกลายเป็นหนุ่มใหญ่ เขาเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยงานปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ในอุทยานอย่างเอาใจใส่ จนต้นไม้ในอุทยานไม่ว่าจะเป็นไม้ดอกไม้ผลก็ออกดอกติดผลจนกิ่งห้อยระดิน ท้าวก่ำกาดำจึงเป็นที่รักใคร่ของครอบครัวคนเฝ้าอุทยานของพระราชยิ่งนัก…

วันหนึ่ง พระธิดาทั้งเจ็ดของพระราชาเสด็จมาชมสวนพร้อมสาวสนมในวัง ท้าวก่ำกาดำแอบดูความสวยงามของพระธิดาทั้งเจ็ด ซึ่งแต่ละนางล้วนมีความสวยงามมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่ท้าวก่ำกาดำมีความสนใจในพระธิดาน้องนุชสุดท้องคนที่เจ็ด มีชื่อว่า “นางลุน”

ท้าวก่ำกาดำนั้นมีความสามารถหลายอย่าง ตั้งแต่การดูแลปลูกต้นไม้ให้เจริญงอกงาม การร้อยมาลัยดอกไม้ (ตามที่ย่าจำสวน แม่เลี้ยงของเขาสอนมาแต่เด็ก) และอีกอย่างหนึ่ง คือ ความสามารถในการเป่า "แคน" ได้ไพเราะเพราะพริ้งมาก หากใครได้ยินเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำก็จะหลงใหลจนลืมตัว

หลังจากแอบดูนางลุนในวันนั้น เขาก็เลยอาสาร้อยพวงมาลัยดอกไม้สด เป็นรูปหนุ่มชมเชยสาว บรรยายในความรักที่มีต่อนางลุน แล้วให้ย่าจำสวนนำไปถวายนางลุนในวัง นางลุนได้รับพวงมาลัยบรรยายเป็นความรัก จึงเกิดความหลงใหลใคร่อยากเห็นหน้าผู้ร้อยมาลัยมาถวาย ตอนค่ำทุกวัน ท้าวก่ำกาดำจะเป่าแคนให้เสียงแคนลอยตามลมไปจนถึงวัง

ครั้นพระราชาได้ฟังเสียงแคนที่ไพเราะ จึงมีรับสั่งให้คนเฝ้าอุทยานนำท้าวก่ำกาดำไปเป่าแคนถวายในวัง จนเป็นที่โปรดปรานของพระราชา หากวันใดพระองค์ไม่ได้ฟังเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำ พระองค์จะบรรทมอย่างไรก็ไม่หลับ ดังนั้นท้าวก่ำกาดำจึงต้องเข้าไปเป่าแคนถวายพระราชาในวังทุกค่ำคืน…

kadam 04

ครั้นเมื่อพระราชาบรรทมหลับด้วยมนต์เสียงแคนของท้าวก่ำกาดำ จึงเป็นโอกาสให้หนุ่มรูปกายดำราวกับอีกาถือโอกาสไปพบกับนางลุน ด้วยความเมตตาของพระอินทร์จึงช่วยให้ท้าวก่ำกาดำถอดรูปเป็นชายหนุ่มรูปงาม และลักลอบได้เสียกับพระธิดาองค์เล็ก คือ นางลุน

ท้าวก่ำกาดำได้ขอให้ย่าจำสวนไปสู่ขอนางลุนมาเป็นคู่ชีวิตของตน พระราชาไม่รังเกียจ แต่ก็เรียกค่าสินสอดเป็นเงินทองมากมาย รวมทั้งให้ท้าวก่ำกาดำสร้างสะพานเงิน สะพานทองจากในอุทยานมาจนถึงวังของนางลุน ถ้าท้าวก่ำกาดำทำได้ตามรับสั่ง จึงจะยกธิดานางลุนให้…

ท้าวก่ำกาดำเป็นคนมีบุญญาธิการลงมาเกิด เป็นโอรสจากสวรรค์ พระอินทร์จึงลงมาช่วยอีกครั้งหนึ่ง โดยเนรมิตเงินทองสินสอดทองหมั้น พร้อมสร้างสะพานทองจากอุทยานถึงวังของนางลุนได้สมกับความต้องการของพระราชา ท้าวก่ำกาดำจึงได้แต่งงานกับพระธิดานางลุนและอยู่อย่างมีความสุข

kadam 01

ท้าวก่ำกาดำได้รับพ่อแม่ (ย่าจำสวน) และได้ออกสืบหาพ่อแม่ที่แท้จริงของตน พร้อมทั้งได้รับทั้งหมดเข้ามาเลี้ยงดูในวัง เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณทุกคน ท้าวก่ำกาดำจึงอยู่กับคนรักและพ่อแม่อย่างมีความสุขสมหวังดังประสงค์ทุกประการสืบมา

ลำเรื่อง "ท้าวก่ำกาดำ" ตอนที่ 1 โดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม - อังคนางค์ คุณไชย

ลำเรื่อง "ท้าวก่ำกาดำ" ตอนที่ 2 โดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม - อังคนางค์ คุณไชย

 

redline

backled1

 

หมวดหมู่รอง

รวมผญา สุภาษิต และคำสอย

กลอนลำ

song word

เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง

ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร

กลอน ภาษิตโบราณอีสาน

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)