foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

paya kankak

นิทานพื้นบ้านอีสานเรื่องนี้เป็นตำนานเกี่ยวกับฟ้าฝน และการทำนา ซึ่งชาวอีสานเชื่อถือ จนกระทำพิธีกรรมตามฮีตเดือนหก คือ "บุญบั้งไฟ" ตามความเชื่อแห่งนิทาน "พญาคันคาก" ที่เล่าสืบต่อกันมา คำว่า "คันคาก" ในภาษาอีสานนั้นแปลว่า "คางคก" ส่วนเรื่อง "พญาคันคาก" เป็นพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ที่เสวยชาติมาเป็นคางคก และเป็นต้นกำเนิดของประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็น "บุญเดือนหก" หนึ่งใน "ฮีตสิบสอง-คองสิบสี่" ของชาวอีสาน

kankak 07

ณ เมืองแห่งหนึ่งชื่อ "เมืองชมพู" มีเจ้าเมืองชื่อ พระเจ้าเอกราช และพระมเหสี คือ พระนางสีดา ครองเมืองด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กาลครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ได้จุติลงในครรภ์พระนางสีดา ขณะที่พระนางสีดามีประสูติกาลพระโอรสนั้น ดินฟ้าอากาศเกิดอาเพศสะเทือนเลือนลั่น เมฆหมอกมัวหม่นบนท้องฟ้า บดบังทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ฟ้าฝนหล่นห่าลงมาเป็นที่อัศจรรย์ พญาเอกราชจึงให้โหราจารย์มาทำนายทายทักว่า "เกิดเหตุอาเพศใด"

โหราจารย์ทำนายว่า "พระกุมารที่กำเนิดมาถึงจะมีรูปร่างเป็นคางคกสัตว์เดรัจฉานก็อย่าได้ประมาท หมิ่นนินทาว่ากล่าวตำหนิติเตียน ขอให้บำรุงเลี้ยงดูให้จงดี ต่อไปภายภาคหน้าจะเป็นผู้มีบุญ มีอำนาจวาสนา เป็นที่พึ่งของทวยราษฎร์ทั้งปวง"

kankak 01

ภาพวาดประกอบโดย ทวีศักดิ์ ใยเมือง (2547)

และก็เป็นดั่งคำทำนาย นางสีดาได้ให้กำเนิดโอรสลักษณะแปลกประหลาด คือผิวกายเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่เป็นตุ่มตอเหมือนผิวคางคก คนทั้งหลายจึงขนานนามพระกุมารว่า ท้าวคันคาก (คันคาก แปลว่า คางคก) พระบิดามารดาแม้จะไม่พอใจ แต่ก็เมตตาสงสารเลี้ยงไว้

จนเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ พระกุมารประสงค์จะได้พระชายาที่มีสิริโฉมงดงาม แต่พญาเอกราชได้ห้ามปรามไว้ ด้วยทรงอับอายในรูปกายของท้าวคันคาก แต่ท้าวคันคากก็ไม่ย่อท้อ ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์ ด้วยบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนของท้าวคันคาก พระอินทร์สงสาร จึงได้ช่วยเหลือโดยการเนรมิตปราสาทแก้วไว้ใจกลางเมืองชมพู พร้อมทั้งประทาน "นางอุดรกุรุทวีป" ผู้เป็นเนื้อคู่แต่ชาติปางก่อนมาไว้ในปราสาท แล้วชุบให้ท้าวคันคากกลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม ทั้งสองจึงได้อภิเษกสมรสครองคู่กันในราตรีนั้น

ครั้นรุ่งเช้าก็เป็นเรื่องร่ำลือกันอื้ออึงไปทั้งเมืองชมพู ไพร่บ้านพลเมืองพิศวงงงงวยที่จู่ๆ ก็ได้เห็นคุ้มหลวงปราสาทแก้วมาตั้งตระหง่านกลางพระนคร นางสีดากับพญาเอกราชตื่นขึ้นมาเห็นคุ้มหลวงในเวียงวังก็ประหลาดใจ ครั้นเดินไปดูใกล้ๆ ก็พบหนุ่มรูปงามเหมือนสังข์ทองถอดรูปเงาะ มีนางเมืองเคียงข้างเหมาะสมกันยิ่งนัก แต่เมื่อเอ่ยวาจาขึ้นมานางสีดาก็จำเสียงได้ว่าเป็นเสียงลูกชายคางคกของพระองค์ จึงถามลูกชายว่า "เมื่อเจ้ายังเล็กรูปร่างหน้าตาดังคางคก บัดนี้เป็นคนรูปร่างงดงามเช่นนี้แล้ว เจ้าเอารูปร่างเดิมของเจ้าไว้ที่ใด"

ท้าวคันคากจึงได้หันกลับเข้าไปยกเกราะทองคำรูปคางคกให้พระบิดา-มารดาได้เห็น เมื่อประจักษ์แก่สายตาของทุกผู้คนพลเมืองแล้ว ต่างก็สรรเสริญบุญญาธิการของท้าวคันคาก พญาเอกราชนั้นยินดีกับพระโอรสของพระองค์ จึงสละราชบัลลังก์ให้ครองบ้านเมืองสืบต่อไป ทรงพระนามว่า "พญาคันคาก"

kankak 02

พญาคันคากตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเดชานุภาพเป็นที่เลื่องลือ จนเมืองน้อยใหญ่ต่างเข้ามาสวามิภักดิ์ แต่ก็ทำให้มีผู้เดือดร้อน คือ "พญาแถน" ผู้อยู่บนฟากฟ้า เพราะมนุษย์หันไปส่งส่วยให้กับพญาคันคากจนลืมบูชาพญาแถนเสียสิ้น

ด้วยเหตุอันนี้ พญาแถนจึงได้กลั่นแกล้งด้วยการสั่ง "พญานาค" งดมิให้ไปให้น้ำในฤดูทำนา ฝนฟ้าจึงไม่ตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองมนุษย์จึงเกิดความแห้งแล้ง อดอยาก ข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองทั้งหลายจึงไปร้องขอ "พญาคันคาก" ให้ช่วย

พญาคันคาก เห็นความทุกข์ยากของไพร่บ้านพลเมือง ก็มุดลงไปเมืองบาดาลของพญานาค แล้วไต่ถามความนัยว่า "เหตุไฉนถึงเกิดภัยแล้งแห้งน้ำมานานปีเช่นนี้"

พญานาค จอมบาดาล จึงบอกเหตุว่า "เพราะเหล่าผีฟ้า พญาแถนไม่ให้นาคทั้งหลาย ขึ้นไปเล่นน้ำบนสวรรค์เหมือนแต่ก่อน น้ำเลยไม่แตกฉาน ซ่านกระเซ็น กระเด็นกระดอน เป็นฝนฝอยหล่นลงมาเลี้ยงโลกมนุษย์ เมืองชมพู และบริวารเลยยากแค้นแสนกันดาร ด้วยแถนฟ้าเคืองรำคาญผู้คนที่ไม่บัตรพลีดีไหว้ มัวแต่ไปบังคมพญาคันคากผู้เดียวนั้นแล"

พญาคันคาก รู้ความตามจริงก็ยิ่งโกรธพิโรธนัก สั่งให้ "พญานาค" ผู้เป็นเมืองบริวารทำทางถนนจากเมืองชมพู ขึ้นไปเมืองแถนแดนสวรรค์ พญานาคพร้อมนาคบริวาร จึงพากันแผ่พังพานพวนขนด แล้วขดขนขุนภูเขาทุกเขตแคว้นแดนมนุษย์เอามาต่อเข้าด้วยกัน บรรดาปลวกระดมขนดินมาถมพอกภูเขา ให้เป็นทางถนน ด้นดั้นถึงเมืองแถนในทันที ฝูงพญานาค ครุฑยุดพญานาคมาพร้อมกัน พร้อมทั้งเกณฑ์กองทัพสัตว์มีพิษทั้งหลาย อันได้แก่ มด ผึ้ง แตน ตะขาบ แมงป่อง กิ้งกือ กบ เขียด เป็นอาทิ ทำทางและยกทัพขึ้นไปสู้กับพญาแถน

โดยส่งมด ปลวกไปกัดกินศัตราวุธของพญาแถนที่ตระเตรียมไว้ก่อน ทำให้เมื่อถึงเวลารบ "พญาแถน" จึงไม่มีอาวุธมาต่อสู้ แม้จะร่ายมนต์ ก็ถูกเสียงกบ เขียด ไก่ กา ร้องดังกลบเสียงมนต์คาถานั้นหมด พญาแถนจึงเสกให้งูมากัดกินพวกกบ เขียด แต่ก็โดนรุ้ง (เหยี่ยว) ของพญาคันคากจับงูมากิน ทั้งสัตว์มีพิษทั้งหลายก็ยังไปกัดต่อยพญาแถน

kankak 04

พญานาคกับพญาแถนรบรากันสนั่นหวั่นไหวคล้ายเสียงฟ้าร้อง จนกระทั่ง พญาแถนยกมือขึ้นบังคมพนมไหว้ยอมแพ้ ขอเป็นเมืองส่วยสุจริตแต่งน้ำฟ้า ห่าฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทุกปี แล้วร้องเชิญพญาคันคากเข้าเมืองแถน ในคุ้มหลวงเมืองแถน บรรดาบริวารพญาแถนทั้งลูก เมีย และนางท้าว ร้องขอต่อพญาคันคากที่นั่งเมืองแถนว่า "อย่าพิฆาตฟาดฟัน บั่นเกล้าชาวแถนเลย จะยอมเป็นข้าช่วงใช้ไปนิรันดร"

พญาคันคากนั้นมีใจเมตตา แล้วเจรจาว่ากล่าวอบรมบ่มนิสัยพญาแถนให้ประพฤติธรรม ต้องเอาใจใส่ดูแลทั้งชาวแถน และชาวมนุษย์จนสุดดินใจฟ้า ด้วยโลกนี้มีทั้ง ดิน หญ้าและฟ้าแถน ต้องพึ่งพาอาศัยกันมั่นคงถึงจะดำรงอยู่ได้ชั่วฟ้าดิน ถึงฤดูเดือนปีที่นาคต้องขึ้นมาเล่นน้ำบนฟ้าก็อย่าห้ามปราม เพราะนาคจะได้พ่นน้ำกระแทกคลื่น ดื่นดกตกเป็นฝอยฝนหล่นไปชุบเลี้ยงเอี้ยงดูหมู่มนุษย์ ทำไร่ไถนา ได้พืชพันธุ์ว่านยาอาหารอุดมสมบูรณ์

ถ้าไม่มีน้ำฟ้าน้ำฝน คนในเมืองมนุษย์สุดลำบาก จะได้ยากโหยหิวชิวหาดังราไฟ เมื่อไม่มีพืชพันธุ์ว่านยาอาหารเลี้ยงชีวังสังขาร แล้วจะเอาอะไรส่งสักการสังเวยให้แถนกินบนฟ้า แถนฟ้าก็ต้องเงือดงด อดตายไม่เป็นสุข นอกจากคนทั้งหลายแล้ว ในเมืองมนุษย์ยังมีพืชและสัตว์ ต้องอาศัยน้ำฝนน้ำฟ้าจากเมืองแถน ถ้าอนาถขาดแคลนเสียแล้ว ก็ต้องเดือดร้อนสารพัด ทั้งสัตว์และพืชเป็นล้นพ้น

เราเองพญาคันคาก คือ คางคกสัตว์ไม่มีขน ยังต้องดูแลเผื่อแผ่เกื้อหนุนฝูงมนุษย์ พี่น้องเราทั้งหมดก็ล้วนสัตว์บริสุทธิ์ ที่พิทักษ์รักษาผู้คนให้มีความสุขอุดมสมบูรณ์เสมอกัน ท่านซึ่งเป็นพญาแถนควรจดจำเป็นเยี่ยงอย่าง อย่าเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แถนฟ้าต้องรักษาหน้าที่ ปล่อยน้ำฟ้าน้ำฝนให้ตกต้องตามฤดู ไม่อย่างนั้นจะขึ้นมาลงโทษอีกให้สาสม

พญาแถนถามว่า "จะรู้ได้อย่างไรว่า เมืองมนุษย์ต้องการน้ำตอนไหน เมื่อไร"

พญาคันคากตอบว่า "จะส่งสัญญาณให้พญานาคขี่บั้งไฟขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ยินเสียง แล้วมองเห็นบั้งไฟมีหัวพญานาค ก็ให้ไขน้ำทำฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทันที ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว ถ้าได้ยินเสียงสะนูว่าวหรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตก เพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว พร้อมขอบคุณที่ท่านส่งฝนลงมาให้ได้ทำนา" พญาแถนน้อมรับคำสั่งสอนของพญาคันคากทุกอย่าง แล้วสั่งให้ไพร่พลลูกเมียเตรียมสำรับกับข้าว เลี้ยงดูกองทัพทั้งปวง

พญาคันคากนั้นไม่รู้จักข้าว เลยถามว่า "มันคืออะไร"

พญาแถนบอกว่า "เมืองฟ้าเมืองแถนมีข้าวปลูกไว้กินเป็นข้าวหอมอร่อยมาก แล้วอธิบายสรรพคุณยืดยาว..."

kankak 03

ภาพวาดประกอบโดย ทวีศักดิ์ ใยเมือง (2547)

พญาคันคากเลยสั่งให้พญาแถนเอาข้าวลงไปปลูกในเมืองมนุษย์ "โดยให้รวงข้าวให้ยาวแค่วา เมล็ดข้าวเท่ามะพร้าว ต้นข้าวเท่าลำตาลก็พอแล้ว"

พญาแถนรับคำ แล้วบอกเพิ่มเติมว่า "ข้าวพวกนี้เมื่อโตเต็มที่เมล็ดข้าวจะหล่นจากรวงเอง แล้วจะแล่นไปเข้ายุ้งฉางข้าวเอง ขอให้มนุษย์ทำ ยุ้งฉางเยียข้าว คอยไว้เท่านั้น"

เมื่อสำเร็จเสร็จสรรพ อิ่มหนำสำราญแล้ว พญาคันคากก็พาสารพัดสรรพสัตว์ ไพร่พลทั้งหลาย ลงจากเมืองแถนแดนฟ้า กลับสู่แดนดินเมืองชมพูตามเส้นทางเดิมที่ปลวกทำไว้

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในทุกๆ เดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบ เขียด คางคก ที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเสียงกันเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน

kankak 05

คนทำลายโลกมนุษย์

ครั้นเมื่อ "พญาคันคาก" ละร่างคางคกรูปคนสิ้นอายุขัยแล้วสวรรคต เมื่อช้านานกาลกำหนดความอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มประหลาด ผู้คนในชมพูทวีปต่างประมาทขาดสำรวม จนเรรวนแล้วเกียจคร้าน เหตุเพราะความสะดวกสบายที่พญาแถนบันดาล ผู้คนลืมทำ ยุ้งเลียเล้าข้าวให้พร้อมเสร็จตามเวลากำหนด เมื่อเมล็ดข้าวสุก จึงหล่นเรี่ยราดตามนาไร่ เมื่อไม่มีที่อยู่ก็บินหาที่พำนักในเรือนนอนของผู้คน เขาก็พากันเอาพร้า มีด ขวาน โขกสับเมล็ดข้าวจนปี้ ป่น แตก ตัด กระจัดกระจาย เหลือเมล็ดเท่ากรวดทรายกระจิริดตั้งแต่นั้นมา

ทางถนนที่ปลวกทำไว้ให้พญาคันคากขึ้นไปหาฟ้าแถนแต่ก่อน มีเครือเขากาดเกี่ยวพันแน่นหนาไม่สั่นคลอน ถาวรเป็นนิรันดรให้ผู้คนสัญจรไปมา พญาแถนพิจารณาว่า "มนุษย์ไม่ซื่อตรง ล้วนลุ่มหลงแต่ความสบาย บริโภคซึ่งพิษภัย เบียดเบียนกันเองไม่เกรงใคร เหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็กทุกบริเวณ" ผีฟ้าพญาแถนก็ "ก่งคันศรร่อนธนูสู่ทางถนนเครือเขากาด" หนทางปลวกของพญาคันคากก็ขาดสะบั้น ถล่มทลาย กระจาย เป็นภูดอยน้อยใหญ่ในชมพูทวีปแต่นั้นมา

ผีฟ้าพญาแถนแดนสวางสวงสังเวียนบนสวรรค์ ก็ลงโทษทัณฑ์มนุษย์ทั้งหลายที่มักเกียจคร้าน จึงไม่ปลุกพันธุ์ข้าวทิพย์ให้มนุษย์เหมือนแต่ก่อน มนุษย์ต้องหักร้างถางพงในดงดอน แล้วถางไถปลูกข้าวกินเองอย่างทุกข์ทรมานแต่นั้นมา

"พญาคันคาก" จากไป "พญาแถน" ก็ไม่กลับมา ฤดูเดือนเคลื่อนที่ไม่คงทน น้ำฟ้าน้ำฝนขาดตกบกพร่อง แม่น้ำลำคลองเน่าเหม็นเป็นอันตราย สุมทุมพุ่มไม้ป่าดงพงไพรพินาศ ล้วนมีเหตุจากความประมาทของมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

kankak 06

แม้นจะจุดบั้งไฟส่งสัญญาณร้องขอไปเพียงใดก็ไม่เป็นผล ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ซ้ำยังเลื่อนวันเดือนปีไปไม่เหมือนเคยอีกแล้ว

อ้างอิง :

  • ปริวรรตจาก : อักษรธรรม 3 ผูก วัดมัชฌิมาวาส บ้านนานางวาน ตำบลม่วงใหญ่ อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
  • พญาคันคาก (จักรพรรดิคันคากน้อยเล็กพญาแถนหลวง) ชำระและรวบรวมโดย พระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี ป.5) วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม 2513
  • รวบรวมวรรณคดีอีสาน เล่ม 2 โดย ปรีชา พิณทอง (อดีตพรศรีธรรมโสภณ ป.ธ.9) โรงพิมพ์ศิริธรรม อุบลราชธานี 2522
  • พญาคันคาก ปริวรรตและชำระจากหนังสือผูกใบลาน โดย ผ่าน วงษ์อ้วน เอกสารโรเนียว 2525

redline

backled1

nitan boran

นิทานพื้นบ้าน ที่พบกันในภาคอีสานนั้นมีมากมายหลายร้อยเรื่อง เป็นการเล่าถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อๆ กันมา ส่วนใหญ่ตัวละครที่กล่าวถึงจะมีลักษณะเฉพาะโดดเด่น และเป็นตัวแทนสะท้อนสภาพสังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ทัศนคติ ความเชื่อและค่านิยมแห่งยุคสมัย ซึ่งสามารถจัดเป็นกลุ่มๆ ตามลักษณะเด่นได้ดังนี้

  • นิทานมหัศจรรย์ (fairy tale) คือ ตัวละครเอกของเรื่องมักจะเป็นกำพร้า ยากจน แต่มีความเก่งกล้าสามารถ และมีคุณธรรม แนวคิดที่สำคัญของนิทานมหัศจรรย์ คือ ธรรมะชนะอธรรม
  • ตำนานปรัมปรา (myth) ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาอธิบายเรื่องธรรมชาติรอบๆ ตัว และสัมพันธ์กับเทพเจ้า ผู้วิเศษ ที่นับถือกันในท้องถิ่น
  • ตลกขบขัน (jest) ส่วนใหญ่เสนอแนวคิดเรื่อง คนเจ้าปัญญา รองลงมาได้แก่นิทาน คนจอมโง่ และนิทานเสียดสีล้อเลียนคนชั้นสูง
  • สิงสาราสัตว์ (tale) มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้สติปัญญา เพื่อเอาตัวรอดจากอันตราย และนิทานคติสอนใจ
  • เรื่องราวประจำถิ่น (legend) มักเป็นเรื่องของตำนานสถานที่ รองลงมาคือ เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธ์ในท้องถิ่น ได้แก่ พญานาค เงือก และปลาศักดิ์สิทธิ์ ตำนานวีรบุรุษ และนิทานประจำถิ่นเบ็ดเตล็ด

จากการเล่าสืบทอดต่อๆ กันมาด้วยกลวิธีเล่าเรื่องด้วยปากธรรมดา มาจนถึงการขับเป็นบทกลอน การใส่ทำนองเล่าเรื่อง (มีดนตรีประกอบ) เมื่อมาถึงยุคที่มีตัวอักษรใช้ ก็มีการบันทึกด้วยการจารลงบนใบลาน ด้วยอักษรตัวธรรม และอักษรไทยน้อย และใช้สํานวนภาษาถิ่นอีสาน มีลักษณะฉันทลักษณ์ หรือรูปแบบคําประพันธ์ อยู่ 2 รูปแบบ คือ โครงสาร และกาพย์ ซึ่งโดยปกติแล้ววรรณกรรมส่วนใหญ่นิยมประพันธ์เป็นโครงสาร ส่วนกาพย์นิยมใช้ประพันธ์นิทานคําสอน หรือนิทานที่ใช้ในการเซิ้ง เพื่อความสะดวกในการจดจํา

นิทานพื้นบ้านอีสานไม่นิยมบอกชื่อผู้แต่ง ผู้คัดลอก หรือผู้เขียน แต่มีความเชื่อกันว่า การสร้างหนังสือถวายวัดถือได้ว่า เป็นการถวายที่ได้อานิสงส์แรง เพราะเป็นการสืบต่ออายุของพุทธศาสนา ซึ่งสมัยก่อนนิยมใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอด ตลอดจนการอนุรักษ์นิทานเหล่านี้ไปพร้อมๆ กันด้วย ต่อมาก็ได้มี "การปริวรรต" คือการถอดความออกมาเป็นเนื้อหาร้อยแก้ว บันทึกด้วยการพิมพ์ลงในกระดาษเป็นรูปเล่มอย่างปัจจุบัน จนถึงการนำไปสร้างเป็นสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งบันทึกลำเรื่องต่อกลอน ภาพยนตร์ ละคร การ์ตูน เป็นต้น

nitan isan boran

นิทานอีสาน จะมีส่วนร่วมในการควบคุมสังคม คือ สอนจริยธรรม และระเบียบจารีตประเพณีอันพึงปฏิบัติแก่ประชาชน เช่น เรื่องเกี่ยวกับ ฮิตสิบสอง คองสิบสี่ เนื้อหาของนิทานอีสานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ พุทธศาสนา เพราะวัดเป็นสถาบันกลางในการส่งเสริมและการอนุรักษ์ไว้ เช่น เรื่องชาดก จริยธรรม คติธรรม ตอบสนองความเชื่อในเรื่อง ภูตผีวิญญาณ และศาสนาชาวบ้าน เช่น บทบายศรีสู่ขวัญต่างๆ ความเชื่อเกี่ยวกับบุญ กรรม นรก สวรรค์ ภพนี้ ภพหน้า เป็นต้น นอกจากนี้เนื้อหาของนิทานอีสานยังสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ และค่านิยมทางสังคม ซึ่งผู้แต่งได้บันทึกความเชื่อ อุดมการณ์เหล่านั้นในรูปแบบจริยวัตรของตัวเอกในเรื่อง ซึ่งตัวเอกในนิทานนั้น ส่วนใหญ่มักจะมีจริยาวัตรแบบพระเวสสันดร คือมุ่งแสวงหาธรรมะ สร้างบุญบารมี และมีความเก่งกาจ อิทธิฤทธิ์ เพื่อใช้ในการปราบฝ่ายอธรรม (ธวัช ปุณโณฑก, 2522)

ในภายหลังจึงมีการรวบรวมบรรดานิทานเหล่านี้ไว้ ซึ่งเมื่อจัดกลุ่มให้แคบเข้า ก็จะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ดังนี้

นิทานวรรณคดี

เป็นนิทานขนาดค่อนข้างยาว ถึงยาวมากๆ ซึ่งมักจะมีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจารลงในใบลาน โดยมากที่พบมักแต่งเป็นคำกลอนอีสาน เมื่อนำมาเล่าสู่กันฟังในยุคหลัง จึงถูกนำมาปริวรรตหรือเรียบเรียงใหม่ให้เป็นร้อยแก้ว เพื่อให้อ่านทำความเข้าใจได้ง่าย โดยนิทานประเภทวรรณคดีนี้ มีวิธีถ่ายทอดไปสู่ชาวบ้านในรูปแบบหรือ 3 วิธีใหญ่ๆ คือ

  • พระภิกษุสามเณร นำมาเทศน์ ในงานบุญประเพณีที่ชาวบ้านมารวมกันที่วัดเป็นจำนวนมากๆ เช่น บุญออกพรรษา โดยแต่ละปีจะมีการกำหนดว่า ออกพรรษาปีนี้ จะเทศน์เรื่องอะไร ซึ่งแต่ละวัด จะมีหนังสือใบลานวรรณคดีนิทานเรื่องต่างๆ เก็บไว้ พอถึงงานบุญออกพรรษา ก็จะเตรียมหนังสือใบลานนิทานเรื่องนั้นๆ ไว้สำหรับพระภิกษุสามเณร ทั้งในวัดนั้น หรือเชิญนักเทศน์จากวัดอื่นๆ ได้เวียนสลับกันมาอ่าน (เทศน์) ให้พ่อออก แม่ออกได้ฟังกัน จนหนังสือใบลานหมดผูก หรือนิทานเรื่องนั้นจบ
  • นักปราชญ์ หรือผู้มีความสามารถในการแต่งกลอนลำ นำนิทานไปแต่งเป็นกลอนลำ แล้วให้หมอลำเป็นผู้ถ่ายทอด เล่าเรื่องราวนิทานนั้นๆ เช่น หมอลำพื้น (มีคนลำเพียงหนึ่งคน ทำหน้าที่เป็นตัวละครทั้งหมด ใช้เสียง ผ้า และเครื่องแต่งกายประกอบการแสดง) หมอลำเรื่องต่อกลอน เป็นต้น
  • คนเฒ่าคนแก่ (ซึ่งได้ฟังลำ หรือได้ฟังเทศน์จากพระ หรือผู้ที่สึกจากพระ) นำมาเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง ให้เด็กๆ ฟัง ในตอนเย็นหลังกินข้าว หรือในช่วงก่อกองไฟผิงในหน้าหนาว

นิทานประเภทวรรณคดีนี้ โดยมากเป็นเรื่องราวทางจินตนาการ หรือเป็นเรื่องแต่ง แต่อาจมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง เช่น ขูลูนางอั้ว ผาแดงนางไอ่ กำพร้าไก่แก้ว บักหูดสามเปา เป็นต้น

nitan isan boran 02

นิทานก้อม

"ก้อม" แปลว่า สั้น นิทานก้อมจึงเป็นนิทานขนาดสั้น กะทัดรัด ซึ่งลักษณะพิเศษของนิทานก้อมคือ มีมุขตลก มุขขำขัน อยู่ในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งเมื่อเล่าถึงจุดขำขัน หรือจุดปล่อยมุข นิทานก็จบเรื่อง หรือจบตอน นิทานก้อมนี้ไม่ค่อยมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มักจะถ่ายทอดโดยวิธีเล่าสู่กันฟัง ในสถานการณ์ที่อำนวยให้เล่านิทานก้อมก็คือ เมื่อมีการรวมกลุ่ม หรือชุมนุมกัน เช่น หลังกินข้าวตอนเย็น ลงแขกเกี่ยวข้าว หรือ รวมกันทำกิจกรรมส่วนรวมในวัด เป็นต้น

นิทานก้อม โดยมาก ต้นเค้าหรือที่มา มักจะมาจากเรื่องจริง ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ที่เป็นเรื่องแต่งหรือคิดขึ้นเองก็คงมีบ้างเช่นกัน ตัวอย่างนิทานที่เข้าข่ายเป็นนิทานก้อม เช่น พ่อเฒ่ากับลูกเขย หลวงพ่อกับเณรน้อย เป็นต้น

นิทานก้อมเรื่อง "พ่อเฒ่ากับลูกเขย" หรือ "เจ้าหัวกับจัวน้อย" นั้นตัวละครเอกคือ ลูกเขย และจัวน้อย (เณรน้อย) นั้นมักจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากผู้เล่าเรื่องพวกนี้มักจะเป็นคนในวัยกลางคน ผ่านประสบการณ์ที่ได้เป็น ลูกเขย (ผู้น้อยกว่า) และการเคยเป็นสามเณรหรือพระหนุ่มมาก่อน ได้รับการข่มเหงเต็งเต็ก หรือเป็นเบี้ยล่างมายาวนาน เมื่อมาเล่านิทานก้อมจึงมักสร้างให้ตัวเอกชนะ พ่อเฒ่า หรือเจ้าหัว (หลวงพ่อเจ้าอาวาส) เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคม และวัฒนธรรม ที่ไม่อาจทำได้ในชีวิตจริง เมื่อมีการเล่านิทานจึงสมมุติให้ ผู้น้อยเอาชนะผู้ใหญ่ด้วยเล่ห์ เพทุบายต่างๆ ให้สะใจทั้งบรรดาคนเล่า และคนฟังที่อยู่ในสถานะทางสังคมเดียวกัน เป็นการละเมิดกฏทางศีลธรรมประเพณีได้ เพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียดนั่นเอง

นิทานก้อม ถ้าจะแบ่งให้ละเอียดลงไปอีก จะประกอบไปด้วยท้องเรื่อง ดังนี้

  • เจ้าหัวกับจัวน้อย (หลวงพ่อกับสามเณรน้อย) เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงความฉลาดแกมโกงของสามเณรน้อย และความไม่ทันคน ทันโลกของหลวงพ่อ บางคนกล่าวว่า เณรน้อยก็คือ เซียงเมี่ยง (ศรีธนญชัย) ในตอนที่ไปบวช ก่อนที่จะสึกออกมาเป็นฆราวาส จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เป็นเพียงการสมมุติขึ้นเป็นตัวแทนของคนเล่าในสถานะหนึ่งเท่านั้น
  • พ่อเฒ่ากับลูกเขย (พ่อตากับลูกเขย) กล่าวถึงลูกเขยกับพ่อเฒ่าที่ชิงความได้เปรียบเสียเปรียบ ที่พ่อเฒ่าอยากทดสอบว่า ลูกเขยคนนี้จะฉลาดหรือสามารถเลี้ยงดูบุตรสาวของตน หรือพาบุตรสาวของตนให้เจริญก้าวหน้าต่อไปหรือไม่ แต่สุดท้ายพ่อเฒ่าก็มักจะพ่ายแต่ความกะล่อน และฉลาดของลูกเขย นิทานในชุดนี้ อาจจะมีเรื่องของ แม่เฒ่า (แม่ยาย) กับลูกเขย ลูกใภ้กับแม่ย่า ร่วมด้วยเสมอ ตามแต่ผู้เล่าจะเป็นใคร
  • เรื่องของทิด จารย์ เซียง (บุคคลที่เคยเข้าไปบวช แล้วสึกออกมาใช้ชีวิตทางโลก อ่านเพิ่มเติมที่นี่) กล่าวถึงความไม่ประสีประสาของคนที่สึกออกมาใช้ชีวิตทางโลก แล้วไม่เท่าทันเล่ห์มารยาหญิง
  • พี่อ้ายกับน้าสาว (พี่เขยกับน้องเมีย) กล่าวถึงความไม่ประสีประสาของเมีย น้องเมีย หรือผู้สาวขึ้นใหม่ เป็นการสะท้อนสังคมอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเล่ห์เหลี่ยมของพี่อ้ายผู้หมายปองน้องเมียมาเป็นคู่อีกคน
  • หัวหงอกหยอกสาว กล่าวถึงคนแก่หรือคนมีอายุ หยอกล้อสาวน้อย ประมาณว่า โคแก่อยากกินหญ้าอ่อน บางทีก็ถูกสาวๆ หลอกจนหงายเงิบ หมดทรัพย์สินจำนวนมาก แต่ไม่ได้แอ้ม บ่ได้ซูนคิงสาวเลย ก็มี
  • สามเกลอ กล่าวถึงสามสหาย คนหนึ่งตาบอด หูดี อีกคน หูหนวกหรือหูตึง ตาดี และอีกคน ตาดี ปากกืก (เป็นใบ้) เนื้อเรื่องมักจะกล่าวถึงความพิการไม่สมประกอบ แต่ชอบแสดงตัวหรืออวดฉลาดไม่สมกับสารรูปของโตเอง หรือ เว้าใหญ่เกินโต คุยโวโอ้อวด จนเกิดเรื่องขำขันตามมา
  • เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ทั่วไป อาจเป็นคำสอนหรือคติสอนใจ ปริศนา ขำขัน เช่น กระต่ายกับหอย ย่ากินปลิง กระต่ายในดวงจันทร์ เป็นต้น

นิทานพื้นบ้านอีสาน

นิทานพื้นบ้านอีสาน ที่นำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงบางส่วนที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็มีหลายสำนวนที่อาจมีความแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด แต่แก่นเรื่องมีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ (รวมทั้งหลายๆ เรื่องก็ตรงกันกับนิทานของทางเพื่อนบ้าน สปป.ลาว หรือกลุ่มประเทศใกล้เคียง อันเป็นวัฒนธรรมร่วมกันนั่นเอง) ท่านใดมีนิทานเหล่านี้อยากเผยแพร่ก็แจ้งกันมาได้ครับ ทางอีเมล์ webmaster (@) isangate.com ได้เลยครับ

  • เซียงเมี่ยง - ศรีธนญชัย นิทานพื้นบ้านวัฒนธรรมร่วมอาเซียน ที่ปรากฏในประเทศเพื่อนบ้านของเรา
  • เซียงเหมี้ยง ฉบับ สปป.ลาว นิทานพื้นบ้านที่เต็มไปด้วยความตลกขบขัน การใช้ภูมิปัญญาเอาชนะชนชั้นปกครอง
  • ขูลูนางอั้ว ตำนานรักดั่งอมตะนิยายที่มีผู้เปรียบเทียบว่าเป็น "โรเมโอ แอนด์ จูเลียต แห่งแดนอีสาน" เรื่องนี้ทาง สปป.ลาว เรียกชื่อนิทานว่า ຂຸນລູນາງອົ້ວ (ขุนลูนางอั้ว) เป็น ຕຳນານລາວ
  • ผาแดงนางไอ่ เป็นตำนานการเกิด "หนองหาน" ต้นลำน้ำปาว ตำนานรักอันลึกซึ้งของหนึ่งหญิงสองชาย (ได้รับการยกย่องให้เป็น อัตลักษณ์อีสาน)
  • นางคำกลอง (จำปาสี่ต้น) วรรณกรรมพื้นบ้าน ของทั้ง สปป.ลาว และภาคอีสานของไทย ให้คติเรื่องความอดทนและความกล้าหาญ สะท้อนขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมอีสาน (ได้รับการยกย่องให้เป็น อัตลักษณ์อีสาน)
  • สินไซ หรือ สังข์ศิลป์ชัย วรรณกรรมพื้นบ้านที่นำเอาแก่นธรรมะเคลือบชั้นนอก แต่มีเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ผจญภัย มีความรัก-โลภ-โกรธ-หลง (ได้รับการยกย่องให้เป็น อัตลักษณ์อีสาน)
  • พญาคันคาก เรื่องราวการต่อสู้ของพญาแถนกับพญาคันคาก ปฐมเหตุแห่งประเพณี "บุญบั้งไฟ" ฮีตเดือนหก ของชาวอีสาน
  • ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ นิทานพื้นบ้านอีสานที่เกี่ยวกับการมีสติ การมีคุณธรรม และระลึกถึงพระคุณของบิดา-มารดา
  • บักหูดสามเปา (ท้าวแสนปม) นิทานพื้นบ้านอีสานให้คติสอนใจ "อย่าดูคนที่ภายนอกเพียงอย่างเดียว ให้ดูที่จิตใจด้วย"
  • กำพร้าไก่แก้ว (ไก่แก้วหอมฮู) นิทานพื้นบ้านอีสานที่ให้คติสอนใจว่า "กตัญญูกตเวทีต่อบุพการี จะทำให้ผู้นั้นมีความเจริญในชีวิต"
  • ท้าวกาฬเกษ นิทานพื้นบ้านที่สื่อถึงความซื่อสัตย์ต่อคนรัก ความเชื่อเรื่องกรรมเก่า และคุณธรรมค้ำจุนโลก
  • นิทานเสียวสวาด นิทานพื้นบานที่ปรากฏทั้งใน สปป.ลาว และภาคอีสานของไทย เป็นนิทานที่แสดงถึงความมีสตืปัญญาหลักแหลม และกล่าวถึงการมีคุณธรรม ศีลธรรม ปรัชญาแนวคิดในการปกครองให้สังคมเป็นสุข
  • ท้าวก่ำกาดำ เป็นนิทานวรรณกรรมที่ย้ำสอนให้คน "เห็นคุณค่าของคน ไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา แต่ให้มองที่ความสามารถ" ความช่างพูด กตัญญูและได้พรรณนาความไพเราะของเสียงแคนดนตรีมหัศจรรย์ของไทอีสาน
  • กำพร้าผีน้อย นิทานพื้นบ้านสองฝั่งโขง เรื่องของเด็กหนุ่มกำพร้าที่มีเพื่อนเป็นผี ที่ขยันขันแข็งทำมาหากิน เมื่อทำความดีย่อมได้ดี
  • นกกระจอกน้อย นิทานพื้นบ้านอีสานคลาสิคอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีการเล่าขานผ่านการเทศนาของพระสงฆ์ การเล่าเรื่องของผู้เฒ่าผู้แก่ และการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน
  • ท้าวสีทน-นางมโนราห์ นิทานพื้นบ้านร่วมในอุษาคเนย์อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่นิยมมาก ซึ่งถ่ายทอดผ่านทางภาษาบาลีไปเป็นภาษาอื่นๆ แล้วค่อยมีการแต่งเติมเป็นหลายสำนวนในหลายๆ ภาคของประเทศไทยเรา
  • ขุนทึงขุนเทือง นิทานพื้นบ้านวรรณคดีร่วมของสองฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • ท้าวปาจิต-นางอรพิม นิทานพื้นบ้านหรือเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในท้องถิ่นอีสาน นำมาจากชาดกนอกนิบาตเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ใน “ปัญญาสชาดก” อธิบายที่มาของ "ชื่อบ้านนามเมือง" แถบปราสาทหินพิมายได้ดีที่สุด
  • ตำนานพระมอเฒ่า นิทานพื้นบ้านของชาวไทกูย ผู้ชำนาญในเลี้ยงช้าง การล่าช้างป่ามาใช้งานตั้งแต่โบราณกาล
  • ตำนานนางเงือก นิทานพื้นบ้านชาวไทยกูยและเขมร นิทานแสดงถึงคุณธรรมและความซื่อสัตย์ของมนุษย์
  • หมาขี้เรื้อน นิทานพื้นบ้านชาวกูย เรื่องราวของความไม่พอใจในชาติกำเนิดไม่พิจารณาตนมีแต่อยากสบาย สุดท้ายก็หนีไม่พ้นตนเอง
  • ท้าวคันธนาม (คัชนาม) นิทานพื้นบ้านเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ (อดีตชาติของพระพุทธองค์) เป็นเรื่องชาดก แต่จัดเป็น "ชาดกนอกนิบาต"

lilred

siang miang header

'เซียงเมี่ยง' นิทานพื้นบ้านวัฒนธรรมร่วมอาเซียน

"เซียงเมี่ยง" เป็นนิทานพื้นบ้านเรื่องของคนเจ้าปัญญา ที่มีการเล่าสืบต่อกันมาเป็นสำนวนต่างๆ แล้วแพร่กระจายไปทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในชื่อต่างๆ กันเช่น ใน ประเทศพม่า เรียก "งะแล็ดโต่ งะโฆญ่" ประเทศกัมพูชา เรียก "ธนัญชัย (ธนัญจีย)" ประเทศเวียดนาม เรียก "จ่างกวิ่ง"  ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เรียก "อาบูนาวัส (Abu Nawas)" ประเทศฟิลิปปินส์ เรียก "ฮวน ปูซอง (Juan Pusong)และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เรียก "เซียงเมี่ยง" เหมือนกับภาคอีสานของไทย

abu nawas

จากการศึกษาพบว่าเรื่อง "ธนัญชัย" ของกัมพูชา และ "จ่างกวิ่ง" ของเวียดนามคล้ายเรื่อง "ศรีธนญชัย" ของไทยสำนวนภาคกลาง ส่วนเรื่อง "เซียงเมี่ยง" ของสปป.ลาวนั้นเหมือนเรื่อง "เซียงเมี่ยง" ของไทยอีสาน ส่วนประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ พบว่า มีเนื้อหาคล้าย "ศรีธนญชัย" ของไทยบางตอนเท่านั้น กล่าวคือ เรื่อง "อาบูนาวัส" (Abu Nawas) ของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเชีย และสิงคโปร์นั้น จะมีเรื่องราวเพียงตอนเดียวเท่านั้นที่เหมือนของไทย ส่วน "ฮวน ปูซอง" ประเทศฟิลิปปินส์นั้นพบว่ามีเนื้อหาคล้ายของไทยอยู่ 2 ตอน

จากการศึกษาเปรียบเทียบนิทาน "ศรีธนญชัย" ฉบับต่างๆ ในประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้นั้นพบว่า มีไม่มากตอนนัก และไม่มีความซับซ้อนมากเท่ากับเรื่อง "ศรีธนญชัย" ที่มีปรากฏอยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ลักษณะของตัวละครที่มีปรากฏในประเทศดังกล่าวนั้น เป็นลักษณะที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพราะเป็นลักษณะประจำของนิทานที่มีตัวเอกเจ้าปัญญา หรือฉลาดแกมโกง ซึ่งต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อค่านิยมของสังคมระดับต่างๆ

แม้นิทานเรื่องนี้จะมีปรากฏเล่าสู่กันฟังหลายสำนวนก็ตาม ด้านโครงเรื่อง แนวความคิด และตัวละคร จะมีลักษณะที่คล้ายกันมาก ทั้งนี้คงเพราะนิทานเรื่องนี้มีจุดกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน ส่วนความแตกต่างในชื่อตัวละคร การเรียงลำดับเหตุการณ์ และรายละเอียดปลีกย่อยในเนื้อหา ในแต่ละสำนวนนั้นมีปรากฏอยู่บ้าง ก็คงเนื่องมาจากความแตกต่างกันในด้านสภาพสังคม วัฒนธรรม ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนค่านิยมของแต่ละชนชาติ แต่ละท้องถิ่นนั่นเอง

นิทานพื้นบ้านเรื่อง "เซียงเมี่ยง" เป็นนิทานที่ได้รับความนิยมในประเทศลาว เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการผจญภัยของชายหนุ่ม ซึ่งเกิดมาจากครอบครัวสามัญชน ในการใช้ไหวพริบและความฉลาดในการใช้สติปัญญา เพื่อเอาชนะกษัตริย์ผู้ครองนครและคหบดี โดยนิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการช่วงชิงระหว่างชนชั้น ซึ่งคล้ายคลึงกับวรรณกรรมลาวเรื่องอื่นๆ ซึ่งความฉลาดและมีศิลธรรมของตัวเอกในเรื่อง มีความสำคัญมากกว่าชาติกำเนิด

siang mian lao 01

ชื่อ "เซียงเมี่ยง" เป็นนิทานหรือวรรณคดีร่วมในดินแดนสองฝั่งโขง (อาณาจักรล้านช้าง) คล้ายคลึงกันกับการรับประทาน "ข้าวเหนียวนึ่ง" เพราะพบว่า มีการเล่าสืบต่อกันมาทั้งในฝั่ง สปป.ลาว ภาคเหนือของไทย และภาคอีสานบ้านเฮา เนื้อหาคล้ายคลึงกัน ต่างเพียงสำเนียงและคำศัพท์บางคำเท่านั้น และไปคล้ายกันกับนิทานเรื่อง "ศรีธนญชัย" ของภาคกลาง ที่เดิมนั้นแต่งเป็นกาพย์และถูกแปลงเป็นร้อยแก้วในภายหลังเช่นเดียวกัน

คนเจ้าปัญญา หรือคนฉลาดแกมโกง

ในบทความเรื่อง “ศรีปราชญ์อยู่ที่ไหน ศรีธนญชัยอยู่ที่นั้น” (ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2541) “สุจิตต์ วงศ์เทศ” ให้ความเห็นไว้ดังต่อไปนี้

ศรีธนญชัย เป็นนิทานตลกขบขัน ที่ได้ชื่อมาจากตัวเอกเจ้าปัญญาแบบฉลาดแกมโกง นิทานเรื่องศรีธนญชัยแพร่หลายทั่วไปในดินแดนประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอุษาคเนย์ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า นิทานเรื่องนี้กำเนิดที่ไหน? หรือแพร่หลายกระจายจากดินแดนแห่งใด ?

เมื่อเอ่ยชื่อ “ศรีธนญชัย” คนไทยทั่วไปจะรู้ทันทีว่า หมายถึงคนมีปฏิภาณเป็นยอด มีไหวพริบเป็นเยี่ยม แต่มากด้วยเล่ห์เหลี่ยมเป็นร้อยเล่มเกวียน จนยากที่ใครจะรู้เท่าทัน ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึงพวก “ตลกหลวง” ที่ทำหน้าที่ถวายเรื่องราว และการกระทำที่สนุกสนาน ให้พระเจ้าแผ่นดินสมัยโบราณทรงมีอารมณ์สดชื่นรื่นรมย์

ในกฎมณเฑียรบาลสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา มีชื่อตำแหน่งที่น่าสงสัยว่าจะเป็น “ตลกหลวง” อยู่ด้วย 2 ชื่อ คือ “นักเทศ” และ “ขันที” บางแห่งเขียนติดกันว่า “นักเทศขันที” แต่หมายถึง เจ้าหนักงาน 2 คน

“นักเทศ” จากชื่อชี้ชัดว่า หมายถึงชาวต่างชาติ คือไม่ใช่พวกสยาม และน่าจะมีลักษณะพิเศษอยู่ด้วย คือเป็นพวกกะเทย เรื่องนี้มีร่องรอยหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นพวกที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาซื้อมาจาก อินเดีย และเปอร์เซีย ส่วน “ขันที” คงเป็นผู้ชายจีนที่ถูกตอนแล้ว (ปรากฏในนิยาย ละคร ภาพยนตร์จีนที่เกี่ยวกับราชสำนักหลายเรื่อง)

ทั้งพวกนักเทศและขันทีล้วนเป็นผู้ชายชาวต่างชาติ คือ “แขก” กับ “เจ๊ก” ที่ถูกตอน หรือหรือถูกทำให้เป็นกะเทย แล้วถูกซื้อ-ขายเข้ามารับราชการอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา และน่าเชื่อว่าจะอยู่ใกล้ชิดกับฝ่ายใน เพราะได้รับสิทธิพิเศษ

น่าสงสัยว่าพวกนักเทศขันทีเหล่านี้แหละ ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมหมายกำหนดการเข้าเฝ้า และระเบียบการต่างๆ ในราชสำนัก รวมทั้งถวายเรื่องราวอันรื่นรมย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินด้วย บางทีพวกนักเทศหรือขันทีอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนิทานเรื่อง "ศรีธนญชัย" ก็ได้ เพราะนิทานเรื่องนี้มีแพร่หลายทั่วไปทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งน่าจะมีเค้ามาจากต่างประเทศ

siang miang 01

นิทานเรื่อง "ศรีธนญชัย" สมัยแรกเป็นคำบอกเล่าปากต่อปากสืบๆ กันต่อมา ไม่รู้ว่าเริ่มจากไหนและแพร่หลายไปอย่างไรบ้าง สมัยแรกๆ นี้ยังไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมามีผู้เอานิทานเรื่องศรีธนญชัยไปแต่งเป็นร้อยกรอง หรือเป็นกาพย์ กลอนแบบต่างๆ ที่นิยมตามท้องถิ่นนั้น เพื่อขับลำเล่านิทาน หรืออ่านเป็นทำนองให้ชาวบ้านฟัง ในประเทศไทยทางภาคกลาง และทางภาคใต้เรียกชื่อตัวเอกว่า "ศรีธนญชัย" ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานไม่เรียกว่า "ศรีธนญชัย" แต่เรียกชื่อตัวเอกว่า "เชียงเมี่ยง"

นิทานเรื่อง "ศรีธนญชัย" จงใจกำหนดบุคลิกของ "กษัตริย์" ให้เป็นตัวตลก ต้องยอมจำนนต่อสติปัญญา เล่ห์เหลี่ยมของศรีธนญชัยเสมอ ลักษณะอย่างนี้ปรากฏว่ามีอยู่ในนิทานพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยหลายเรื่อง ต่อมาก็นำไปแต่งเป็นบทละครนอก เช่น ท้าวสามล ในเรื่อง สังข์ทอง เป็นต้น

เหตุที่ประเพณีพื้นบ้านพื้นเมืองกำหนดให้บุคลิกของ "กษัตริย์" ในนิทาน และในตัวละครเป็นตัวตลกอย่างนั้น ดูเหมือนจะเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมและวัฒนธรรม เพราะตามปกติคนทั่วไปไม่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน และไม่มีสิทธิล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินได้ ต่อมาเมื่อเล่านิทานหรือดูละครเท่านั้น สามัญชนจึงจะมีโอกาสละเมิดกฎเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ได้”

(สุจิตต์ วงษ์เทศ “ศิลปวัฒนธรรม” ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑)

นิทานพื้นบ้าน 'ขะต้ำป๋าค่ำตุ๊'

ส่วนเรื่อง “ขะต้ำป๋าค่ำตุ๊” หรือ “กะต้ำป๋าค่ำตุ๊” (ตุ๊ = สาธุ หมายถึง พระภิกษุ) นั้น เป็นเรื่องชวนหัวทำนองเดียวกับ "เซี่ยงเมี่ยง" แต่เปลี่ยนตัวละครจาก "เซียงเมี่ยง" เป็น "ขะต้ำป๋า" จากพระราชา หรือเจ้าเมือง ให้เป็นพระภิกษุ (ตุ๊เจ้า) มีเล่ากันทางภาคเหนือของไทยอีกสำนวนหนึ่ง

เนื้อเรื่องมีมากมาย แตกต่างกันออกไป เช่น เรื่อง “ตุ๊เจ้าห้ามขุดจิ๊กกุ่งในวัด”

ตุ๊เจ้าเห็นชาวบ้านมาขุดจิ๊กกุ่ง (จิ้งโกร่ง) ในวัดเอาไปกิน จึงเขียนประกาศว่า “ห้ามขุดจี๊กกุ่งในวัด”

ขะต้ำป๋า จึงเอาถ่านเขียนต่อท้ายป้ายประกาศนั้นว่า “ขุดได้นำถวาย”

ตุ๊เจ้าอยากกินจี๊กกุ่ง เลยเขียนต่อท้ายอีกว่า “หลังโบสถ์มีสองขุม (หลุม) อาจจะซ้อน (มีสองตัว)"

ในนิทานพื้นบ้านเหล่านี้ และบทละครที่ท้าวสามลเป็นตัวตลกนั้น เป็นวรรณกรรมเสียดเย้ยเท่านั้น ยังไม่ใช่วรรณกรรมการเมืองแต่อย่างใด

siang miang 02

ที่จังหวัดอุบลราชธานีมีทั้งศาล รูปปั้น และสระศรีธนญชัย (เล่าต่อๆ กันมา จริง-เท็จมิทราบได้)

เซียงเมี่ยง คือใคร

มาที่ชื่อ "เซียงเมี่ยง" มาจากคำ 2 คำ คือ "เซียง" หมายถึง ชายผู้ผ่านการบวชเป็นสามณรมาแล้ว (หลายปี) เมื่อสึกออกมาจึงเรียกว่า "เซียง" ในขณะที่ชายผู้ผ่านการบวชเป็นพระมาหลายพรรษาเมื่อสึกออกมาจะเรียกว่า "ทิด" [ อ่านเพิ่มเติม : กองฮด ] ส่วน "เมี่ยง" คือชื่อของคนนั่นเอง แต่เมื่อเอามารวมกันเป็นคำว่า "เซียงเมี่ยง" นั้นมีความหมายว่า "เป็นชายกะล่อน เจ้าปัญญา ไม่น่าเชื่อถือ" อย่าให้ใครให้ฉายาว่าเราเป็น "บักเซียงเมี่ยง" นะขอรับ

"เซียงเมี่ยง" บางที่เขียนเป็น "เซียงเหมี้ยง" คือนิทานพื้นบ้านที่แพร่หลายในภาคเหนือ และภาคอีสาน ค้นพบพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2501 ซึ่งมีเนื้อหาต่างจาก "ศรีธนญชัย" สำนวนกาพย์ที่แพร่หลายในภาคกลาง เนื้อเรื่องกล่าวถึง "พญาทวาละ" ผู้ครองเมืองทวาลี (ฉบับอักษรธรรม 1 ผูกวัดนามึน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ว่าเป็นเมือง สียุดทิยา) มเหสีประสูติพระโอรส แต่โหรทำนายว่า กุมารน้อยจะเลี้ยงยาก ต้องหาเด็กที่เกิดวันเวลาเดียวกันมาเลี้ยงคู่กันไปเพื่อเป็นการแก้เคล็ด

และในเมืองทวาลีนี่เอง ก็มีผู้ชายผู้หนึ่ง ชื่อว่า หมั่นตั้น กับผู้หญิงชื่อว่า นางปลี แต่งงานอยู่กินกันมาหลายปีดีดัก ก็ยังไม่มีลูก จนอยู่มาวันหนึ่ง ตอนกลางคืน นางปลีนอนหลับและฝันว่า ตนนั้นหิวข้าว จึงเดินไปหาเก็บขี้หลักเหยี่ย (ขยะ) กินจนอิ่ม สะดุ้งตื่นขึ้นมา ก็ประหลาดใจยิ่งนัก เลยไปหาพราห์มเฒ่า แถวๆ นั้นและเล่าความฝันให้ท่านพราห์มฟังว่า ''ข้าน้อยได้เดิน เลาะเก็บหยากไย่ ขี้หลักเหยี่ย กินจนอิ่มท้อง ฝันแบบนี้ มันจะเกิดอะไรหรือมีความหมายว่าอย่างไรท่าน''

พราห์มเฒ่าก็ได้ทำนายความฝันนั้นว่า ''เจ้าจักมีลูกชาย ซึ่งเป็นผู้มีบุญยาธิการ มีปัญญาล้ำเลิศ กว่าชาวบ้านทั่วทั้งแผ่นดิน เป็นคนฉลาดหลักแหลม'' หลังจากนั้นอีกไม่นาน นางปลี ก็ได้ตั้งท้องและคลอดออกมาเป็นผู้ชายจริงดังคำทำนาย จึงได้ตั้งชื่อลูกชายไว้ว่า ''เมี่ยง'' และนี่คือกำเนิดของผู้ชายคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงขจรไกลในเวลาต่อมานั่นเอง

พญาทวาละจึงไปขอลูกนางปลี ซึ่งเกิดวันเดียวกันกับพระโอรสมาเลี้ยงร่วมกัน โดยให้นางสนมเป็นคนเลี้ยง เมื่อเด็กชายโตขึ้นจึงถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และมีช่วงหนึ่งได้ออกบวชเป็นสามเณร แล้วก็สึกออกมารับใช้กษัตริย์ต่อไป (ชายที่บวชเณรแล้วสึกออกมา ชาวบ้านจะเรียด "เซียง" นำหน้าชื่อ) นายเมี่ยง จึงถูกเรียกว่า "เซียงเมี่ยง" ซึ่งเขาเป็นผู้มีปัญญา มีปฏิภาณไหวพริบดี มีเล่ห์เหลี่ยม และฉลาดแกมโกง จึงทำให้ชีวิตของเขาต้องคอยฝ่าฟันปัญหาที่เกิดจากความฉลาดของเขานั่นเอง (เรื่องชื่อพ่อ-แม่ของเซียงเมี่ยงนี้ ไม่อาจฟันธงว่าเป็นชื่อใด เพราะผู้เขียนบทความค้นไปก็พบมากมายหลายชื่อ ตามสำนวนของแต่ละแหล่งนะครับ ก็คงเพราะเป็นเรื่องเล่าสืบต่อๆ กันมานั่นเอง อย่างสำนวนของจินดา ดวงใจ ก็ว่าชื่อ นายชัย กับ นางศรี)

เซียงเมี่ยง ฉบับ "อักษรธรรม 1 ผูกวัดนามึน" ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นั้นเนื้อเรื่องที่แสดงถึงความเป็นเจ้าปัญญาของเซียงเมี่ยงนั้นมีเป็นตอนๆ รวม 38 ตอน ดังนี้

1) เซียงเมี่ยงเลี้ยงน้อง 2) เซียงเมี่ยงเก็บหมาก 3) เซียงเมี่ยงกินข้ออ้อยจนเกิดมีปัญญาเหนือกว่าคนอื่น 4) ลองปัญญากับสมภาร 5) พนันกับลาวส่งเมี่ยง 6) เซียงเมี่ยงแต่งงาน (เลือกคู่) 7) ให้ยาดีแก่พระราชา 8) พระราชาแกงแร้งให้เซียงเมี่ยงกิน 9) เซียงเมี่ยงหลอกพระยาเลียขี้แร้ง 10) พระราชาให้นางสนมเล่นออกไข่ 11) เซียงเมี่ยงติเรือนพระราชา 12) เซียงเมี่ยงติช้างพระยา 13) พระราชาให้ไปหาปากง่าม 14) เซียงเมี่ยงหลอกพระยาลงหนองน้ำ 15) พระราชาให้ไปหาผ้าลายตีนแต้ม 16) เซียงเมี่ยงหลอกดูก้นสมภาร 17) พระราชาสั่งให้เซียงเมี่ยงล่วงหน้าไปก่อน 18) พระราชาสั่งให้มาก่อนไก่ 19) เซียงเมี่ยงขอที่เท่าแมวดิ้นตาย 20) เซียงเมี่ยงขอเงินหนึ่งบาท

21) พระราชาให้นางสนมไปอุจจาระรดเรือนเซียงเมี่ยง 22) เจ้าต่างเมืองมาท้าชนหัวล้าน 23) ภรรยาบอกให้เซียงเมี่ยงหาเงิน 24) เซียงเมี่ยงทายใจเสนา 25) เซียงเมี่ยงหลอกให้ดมตด 26) เซียงเมี่ยงทายว่าพระราชาจะตายใน ๗ วัน 27) เซียงเมี่ยงตอบปัญหากับราชครูเมืองตานี 28) เซียงเมี่ยงแก้มือศึกเมืองปัญจานคร 29) พระราชาให้เซียงเมี่ยงไปเก็บพริก 30) เซียงเมี่ยงกองก้นรับเสด็จ 31) เซียงเมี่ยงชนวัว 32) เซียงเมี่ยงชนไก่ 33) เซียงเมี่ยงสานตะกร้าในน้ำ 34) เซียงเมี่ยงกู้เงินจะใช้คืนในสองเดือน 35) เซียงเมี่ยงเอาเปรียบเณรน้อยในเรือ 36) เณรน้อยแก้แค้นเซียงเมี่ยง 37) เซียงเมี่ยงถูกยาเบื่อตาย 38) กระดูกเซียงเมี่ยงทำพิษแก่แม่หม้าย

ยังมี "นิทานเซียงเมี่ยง" อีกหลายสำนวน ผู้เขียนค้นพบว่ามีฉบับอื่นๆ ที่มีเนื้อหาและสำนวนแตกต่างกันไปบ้าง เช่น

  • วรรณคดีไทยภาคอีสาน ศรีธนญชัย-เซียงเหมี้ยง อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูบริรักษ์ธรรมกิตติ สิลา ฐิติธมฺโม ปร.๕ เจ้าคณะอำเภอบรบือ มหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๑๓
  • รวมนิทานอีสาน ชุดที่ ๒ ของ จินดา ดวงใจ สำนักพิมพ์คลังนานาธรรม จังหวัดขอนแก่น
  • เสภาเรื่อง ศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง แต่งตามนิทานในมณฑลอุดร ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพ มหาอำมาตย์ตรี พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา พ.ศ. ๒๔๖๓

siang miang book 03

ความสำคัญของวรรณกรรมร่วมอาเซียน

ด้วยความที่ "ศรีธนญชัย" เป็นวรรณกรรมร่วมกันของภูมิภาคนี้ แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง วรรณกรรมอาเซียน "ศรีธนญชัย : พระเอกเจ้าปัญญา" ณ ห้องประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการและผู้สนใจวรรณกรรมจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนมาร่วมประชุมกว่า 200 คน เพื่อเป็นการเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมมรดกร่วมอาเซียน ที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อการเสนอเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมของอาเซียนต่อไป

sri tanon chai

การแสดงละคร "ศรีธนญชัย" สำนวนภาคกลางประเทศไทย ในงานสัมมนา

อ่านต่อ : เซียงเหมี้ยง นิทานพื้นบ้านลาว การใช้ภูมิปัญญาเอาชนะชนชั้นปกครอง

redline

backled1

pee pop header

"ผีปอบ" ถ้าถามผมผู้เขียนก็จะนึกถึงความสนุกสนานมากกว่าความน่ากลัว โดยเฉพาะ "ปอบหยิบ" ในตำนานจากหนังชุด "ผีปอบ" ที่นำแสดงโดย "ณัฐนี สิทธิสมาน" โดยการแต่งตัวของปอบหยิบในยุคนั้น หลายคนคงติดภาพยายแก่ใส่เสื้อคอกระเช้า  นุ่งผ้าถุง ยกมือสองข้างขึ้นทำท่าหยิบจับ ออกวิ่งไล่ชาวบ้านไปทั่ว หรือที่วิ่งหลบลงในโอ่งน้ำ ซึ่งใบก็ไม่ได้ใหญ่โตนักแต่ก็ลงไปอยู่ด้วยกันได้ตั้งหลายคน นั่นช่างมีความบันเทิง ตื่นเต้น สนุกสนานมาตลอดในหลายๆ ภาคต่อเนื่องกันมา จนกลายเป็นตำนานของ "ผีปอบ" เลยทีเดียว วันนี้ไม่ได้มารีวิวหนังนะครับ แต่มีหลานๆ ถามว่า "อาวทิดหมู ผีปอบมันมีอีหลีบ้อ เว้าให้ฟังแหน่" ก็เลยเป็นที่มาของบทความนี้

pee pop 01

ภาพยนตร์ "บ้านผีปอบ" ในตำนานเรื่องแรกฉายปี พ.ศ. 2532 มีภาคต่อมาอีกมากมาย...

"บ้านผีปอบ" เป็นภาพยนตร์ไทย ประเภทหนังผี ที่ไม่สยองแต่ผสมผสานด้วยความตลกขบขัน ที่มีการสร้างภาคต่อมาถึง 14 ภาคตั้งแต่ปี 2532−2554 ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีภาคต่อมากที่สุด เป็นหนังที่นำเอาตัวละครผีปอบมาจากนิยายของ เหม เวชกร มาถึงเรื่องความเป็นมาของผีปอบนั้นเป็นอย่างไร? ความจริง หรือความเชื่อ กันแน่?

ความเชื่อเรื่อง "ปอบ"

"ปอบ" เป็นผีจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในความเชื่อพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะในภาคอีสาน และในฝั่งเพื่อนบ้านของไทยอย่าง สปป.ลาว (ในภาคอื่นๆ ก็มีแต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป แต่ก็ไม่เป็นข่าวกันมากนัก) โดยเชื่อกันว่า "เป็นผีที่กินของดิบๆ สดๆ กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม" โดยการสืบค้นหาแล้วพบว่า การเป็นผีปอบนั้น มักจะเป็นกับผู้ร่ำเรียนวิชาทางไสยศาสตร์ คาถาอาคม ของขลัง เวทมนตร์ คงกระพัน ซึ่งคนที่จะเรียนรู้วิชาเหล่านี้ได้ จะต้องมีความมั่นคง เชื่อมั่น และสามารถทำตามข้อปฏิบัติของครูบาอาจารย์ได้ ถ้ากระทำผิดข้อห้ามที่กำหนดไว้ไม่ได้ ซึ่งในภาษาอีสานจะเรียกว่า "คะลำ" หรือ "ขะลำ" จึงกลายเป็น "ปอบ" ซึ่งความเป็นปอบนี้จะเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย (อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง คะลำ สำหรับ ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาความรู้)

ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวนี้ยกตัวอย่างเช่น ห้ามลอดราวตากผ้า (ที่อาจมีผ้าชุดชั้นใน ผ้าถุง) ห้ามลอดใต้ถุนบ้าน ห้ามลอดใต้บันได เป็นต้น ในอดีตนั้นคงจะทำได้ไม่ยากนัก บ้านเมืองไม่ได้เจริญอย่างปัจจุบัน สามารถเดินหลบหลีกได้ แต่พอมายุคสมัยที่บ้านเรือนเจริญขึ้นไม่ได้มีแค่บ้านชั้นเดียวหรือสองชั้น แต่เป็นอพาร์ทเมนต์ คอนโดมีเนียม นับสิบ นับร้อยชั้น การจะไม่ลอดใต้ถุนบ้านมันก็คงทำไม่ได้แล้วล่ะ

คลิปตัวอย่าง "บ้านผีปอบ" สั้นๆ เพื่อความบันเทิง ใครเคยดูบ้าง? (มีหักมุกตอนจบด้วย)

"ปอบ" เป็นผีที่ไม่มีตัวตนเหมือนพวกผีกระสือหรือผีกองกอย แต่ "ปอบ" คือจิตวิญญาณมิจฉาทิฏฐิ จะเข้าแฝงร่างสิงสู่คนที่เป็นสื่อให้ และใช้ร่างหรือรูปลักษณ์ของคนๆ นั้น ไปกระทำการไม่ดีต่างๆ และเชื่อด้วยว่า หากวิญญาณปอบเข้าสิงสู่ผู้ใด จะกินตับไตไส้พุงของผู้ที่โดนสิงจนกระทั่งตาย ผู้ที่โดนกินจะนอนตายเหมือนกับนอนหลับธรรมดาๆ ไม่มีบาดแผล ซึ่งเรียกกันว่า "ไหลตาย"

ในทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ อธิบายว่า ความเชื่อเรื่องปอบ นั้น เป็นกลไกการสร้างความเชื่อของคนในชุมชน เนื่องจากไม่วางใจบุคคลแปลกหน้า หรือแม้แต่กระทั่งคนในชุมชนเดียวกันเอง ที่มีพฤติกรรมแปลกออกไป ซึ่งในสมัยโบราณ บุคคลที่โดนกล่าวหาว่าเป็นปอบ จะถึงกับถูกขับไล่ให้ออกจากชุมชนไปเลยทีเดียว

ปอบ เป็นผีที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในสังคมไทย มีการนำไปอ้างอิงถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายประการ อาทิ ภาพยนตร์ชุด บ้านผีปอบ เป็นต้น ตามตำนานของทางพระพุทธศาสนาเล่าว่า ผีปอบ คือ ผีสายยักษ์ อยู่ในสายการปกครอง ของท้าวเวสสุวัณ ที่เข้าสิงร่างมนุษย์ ก็เพื่ออาศัยร่างมนุษย์กินอาหาร โดยเฉพาะอาหารสดคาว หรือ สัตว์เป็นๆ เช่น ไปหักคอเป็ด ไก่ ในเล้ากิน หรืออาศัยร่างเหมือนเป็นร่างทรง จะเข้าสิงร่างมนุษย์ที่มีวิบากกรรมทางนี้ คือ อดีตเคยนับถือผีเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกยามมีทุกข์ จนเป็นประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา มีจิตผูกพันกับผี และกรรมทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์เซ่นไหว้ผี บางทีก็ฆ่าสัตว์เล็ก เช่น เป็ด ไก่ บางทีก็ฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย เป็นต้น

จากความเชื่อ มาสู่ ความขัดแย้ง

ในความเชื่อของชาวอีสาน (ไม่แน่ใจว่าภาคอื่นๆ ยังมีอยู่หรือไม่) ผีปอบเป็นผีที่มีความน่ากลัวอย่างมาก หากมีคนตายที่ผิดปกติมักจะกล่าวกันว่า "ถูกปอบกิน" แต่กระนั้นก็มีอาการบ่งบอกที่ชัดเจนว่า ตายอย่างไรจึงจะเรียกว่าปอบกินได้ แต่วันนี้เราจะทำความเข้าใจกันว่า "ปอบ" คืออะไร

ตามคติความเชื่อของชาวอีสาน ปอบเป็นผีชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ "วิญญาณ" ของคนที่ตายไปแล้ว น่าจะจัดอยู่ในจำพวกของ "สาง" หรือถ้าพูดแบบจักรวาลทัศน์ก็เป็นพวก "อสุรกาย" ปอบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งผู้ที่เรียนวิชาอาคมแล้วไม่สามารถรักษาของหรือข้อ "คะลำ" ได้ ก็จะกลายเป็นปอบเรียกว่า "ปอบวิชา" อีกพวกหนึ่งเป็นปอบที่เกิดจาก "การปลูกว่าน" แล้วดูแลไม่ถูกวิธี ทำให้ว่านชนิดนั้นกลายเป็นปอบ หรือในบางครั้งคนปลูกเป็นปอบ

ในกรณีที่มนุษย์เป็นปอบ ไม่ได้หมายความว่าร่างกาย หรือตัวตนของเขาเองที่เป็นปอบ แต่มันหมายความว่าคนๆ นั้นเลี้ยงปอบ หรือมีเชื้อปอบติดตัว คล้ายกับคนที่ติดเชื้อโรคสามารถรักษาให้หายได้ เมื่อเป็นแล้วจะต้องหาเลี้ยงปอบที่ตนมี โดยการให้ไปกินคนนั้นคนนี้ ปอบที่มีคนเลี้ยงจึงเรียกว่า "ปอบเจ้า" แต่เมื่อใดที่เจ้าของปอบตายลง ปอบจะตามไปอยู่กับลูกหลานของเจ้าของเดิม เรียกว่า "ปอบเชื้อ" แต่ถ้าเจ้าของเดิมไม่มีลูกหลาน มันจะไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น คำ (ป่าชุ่มน้ำ) โพน ดอน ฯลฯ เรียกว่า "ปอบเฮื้อ" (เฮื้อ = ที่รกร้าง) จัดว่าเป็นปอบที่อันตรายมาก เพราะไม่มีเจ้าของดูแล มันจึงสามารถหากินเองได้โดยไม่มีใครควบคุม

pee pop 02

เมื่อความเชื่อเรื่อง "ปอบ" ยังฝังแน่นอยู่ในความคิดของคนอีสาน การเยียวยารักษา และพิธีกรรมที่เป็นเครื่องปลุกขวัญกำลังใจ ให้กับคนในหมู่บ้านที่เกิดเหตุการณ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“พิธีกรรมปราบผีปอบ” มีทั้งพิธีกรรมที่ทำในระดับตัวบุคคล หรือกลุ่มคนที่เชื่อว่า "ถูกผีปอบเข้าสิงร่าง" ส่วนใหญ่จะนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีกรรม สวดคาถาอาคม รดน้ำมนต์ ขจัดปัดเป่าวิญณาณร้ายให้ออกไปจากตัว จากนั้นก็จะทำพิธีผูกข้อมือด้วยด้ายสายสิญจ์ ที่ปลุกเสกไว้แล้ว ถ้าอาการของคนไข้หรือคนที่เชื่อว่าถูกผีเข้านั้นหายเป็นปลิดทิ้ง ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อเรื่องผีปอบกันมากขึ้น (ซึ่งในทางพุทธแท้ๆ ไม่มีบัญญติไว้ ไม่ต้องสอบทาน เสาะหา เหตุผลในย่อหน้าถดไป)

ส่วนในระดับชุมชนใหญ่ๆ ถ้าหมู่บ้านไหน มีคนเสียชีวิตติดต่อกันหลายศพ อาจจะพบว่า ประชาคมของชุมชนนั้น เชื่อว่าเกิดจากฝีมือของผีปอบ ผู้นำชุมชนก็จะเป็นหัวเรือใหญ่ในการพาชาวบ้านลงขัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการว่าจ้าง “หมอผี” มาช่วยปราบผีปอบ

ขบวนการปราบผีปอบ จึงเป็นอีกธุรกิจหรือการดำเนินการหารายได้จากความเชื่อนี้ ซึ่งจะมี "หมอผี" หรือ "เกจิดัง" เป็นที่รับรู้กันในชุมชนย่านนั้น โดยคิดราคากันเป็นรายหัว เดี๋ยวๆ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าราคาถูกๆ นะ รายหัวนี่ไม่ใช่หัวปอบ แต่เป็น "รายหัวคนที่ได้รับผลกระทบ" ซึ่งก็คือชาวบ้านในชุมชนนั้นที่มีความกลัว โดยผู้นำชุมชน หรือคณะกรรมการหมู่บ้าน จะประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านผ่านเสียงตามสาย ให้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อเป็น "ค่ายกครู" ให้คณะที่จะมาทำพิธีปราบปอบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเก็บครอบครัวละ 100 บาท ถ้าเป็นหมู่บ้านใหญ่เช่นมี 500 หลังคาเรือน ก็จะเก็บเงินได้กว่า 50,000 บาท ไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะ

“การปราบผีปอบ” หากเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล กลุ่มคน หรือชุมชน การว่าจ้างเป็นไปโดยความสมัครของคนในชุมชน ผ่านการประชุมในระดับหมู่บ้าน ทำเพื่อให้เกิดความสบายใจ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่เดือดร้อนผู้อื่น แต่บางกรณีก็ต่างออกไป มีทำให้เกิดการใส่ร้ายกล่าวหาตัวบุคคลว่า "เป็นปอบ" สร้างความสับสนแตกแยกกันขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชน ทั้งที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ผ่านคำพูดของกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นหมอผีกลุ่มนี้เท่านั้น และทำให้มีผู้เดือดร้อน ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ตามที่เคยปรากฎเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้ และยิ่งเป็นยุคสื่อสังคมออนไลน์ใกล้ตัว ที่มีการไลฟ์สดก็ยิ่งดูน่ากลัว แพร่กระจายเป็นวงกว้าง

pee pop 03

ความขัดแย้งของกลุ่มคนโดยปกติก็มีกันอยู่ทั่วไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ความขัดแย้งนั้น นำเอาไปผูกกับความเชื่อเรื่อง "ผีปอบ" ก็จะสร้างรอยร้าวแตกแยก ยากที่จะประสาน ไม่ฟังเหตุและผลของกันและกัน และถ้ามีกลุ่มที่เป็นผู้นำหรือมีความเชื่อในการปราบผีปอบมาชี้ว่า "เป็นปอบ" ก็อาจถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ถูกผลักออกจากกลุ่มไม่คบค้าสมาคมด้วยเลย

“กลุ่มคน” ที่จะถูกยัดเยียดข้อหาว่า "เป็นปอบ" จะมีพฤติกรรมเด่นๆ อยู่ 2 แบบคือ

กลุ่มแรก เป็นคนที่ขยันขันแข็งทำมาหากิน ได้ผลผลิตเกินหน้าเกินตา จนถูกมองว่าเกินความเป็นจริง อย่างเช่น พื้นที่ทำนาแค่ 5 ไร่ เพื่อนบ้านคนอื่นจะปลูกข้าวได้ผลผลิตประมาณ 30 – 50 กระสอบ (ขึ้นอยู่กับพื้นที่) ขณะที่คนที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็น "ปอบ" จะสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตมากกว่า 100 กระสอบ ซึ่งในอดีตคนส่วนใหญ่จะเชื่อว่า "ต้องเป็นปอบ หรือ เป็นผู้ที่สามารถใช้เวทมนต์คาถา จึงจะสามารถทำเช่นนั้นได้" แต่ปัจจุบัน ทฤษฎีการทำนา 1 ไร่ 1 แสนบาทก็พิสูจน์ได้แล้วว่า การปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูงกว่าคนอื่น สามารถทำได้จริงผ่านความรู้ทางการเกษตรและความขยันขันแข็ง

กลุ่มที่ 2 เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านติดต่อกันหลายศพ โดยไม่ทราบสาเหตุ ฆาตกรลี้ลับอันดับแรกที่คนจะคิดถึงก็คือ “ผีปอบ” ในกลุ่มนี้จะแบ่งได้เป็นอีก 2 แบบคือ ปอบที่เข้าไปกินคนแบบเงียบแล้วตายแบบสงบ บางครั้งเรียกว่า "ไหลตาย" และแบบที่เข้าสิงร่างคนทั้งเป็น แล้วพูดจาเพ้อเจ้อไปเรื่อย มีอาการเกร็ง ชักกระตุก ตาลอย สั่นสะท้านไปทั้งตัว โดยไม่ทราบสาเหตุ อาการแบบนี้ชาวบ้านจะสรุปกันทันทีว่าผีเข้า และผีตนนั้นส่วนใหญ่ก็คือ "ผีปอบ" นั่นเอง (ในภายหลังทางการแพทย์ก็พิสูจน์ได้ว่า การไหลตาย คือโรค ไม่ใช่ผีแต่อย่างใด)

ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “หมู่บ้านผีปอบ” เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยประเภทของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ มีอยู่ 2 ชนิดคือ ปอบถูกกล่าวหา ซึ่งมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งของคนในหมู่บ้าน ที่มีปัญหาข้อพิพาทหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน และกลุ่มผีปอบที่เชื่อว่าโดนผีเข้าสิงร่างอย่างจริงจัง คือมีลักษณะคล้ายผีปอบ แต่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันได้ โดยยังไม่มีนิยามความหมายได้ว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยได้ลงพื้นที่คลุกคลีกับคนในหมู่บ้านปอบแห่งนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง

“ขณะนี้กำลังรวบรวมเก็บข้อมูลและลงพื้นที่หมู่บ้านผีปอบ จังหวัดศรีสะเกษ แต่ขอไม่ระบุชื่อหมู่บ้าน เพราะเกรงจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนในหมู่บ้าน เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นการรวมตัวกันของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ และถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ของตนในแต่ละจังหวัดในภาคอีสาน การทำวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจว่า คนที่ถูกกล่าวหาเป็นผีปอบและถูกขับไล่ออกจากชุมชนหรือถิ่นฐานเดิม แล้วมารวมตัวดำเนินชีวิตกันภายในหมู่บ้านเดียวกันโดยที่ไม่มีปัญหาอย่างชุมชนเดิมที่เคยอาศัยอยู่”

“ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบส่วนใหญ่ มักมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ หรือมีพฤติกรรมทั้งในเชิงบวกและลบ ที่แตกต่างหรือไม่ปฏิบัติตามกลุ่ม แม้หมู่บ้านแห่งนี้จะเหลือผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบโดยตรงเพียงไม่กี่คน แต่ข้อครหา ที่ยังไม่มีใครหาคำตอบได้ ว่าปอบคืออะไร ยังส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวแม้จะเป็นรุ่นลูกหรือหลานก็ตาม ”

ดร.เชิดศักดิ์ กล่าวถึงเป้าหมายงานวิจัยชิ้นนี้ โดยมุ่งหวังให้คนในชุมชนคลี่คลายความกลัวจากความเชื่อ และค้นหาสิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัยในเรื่องปอบอยู่ โดยจะนำผลการวิจัย ไปเผยแพร่ต่อในชุมชนอื่นๆ ที่มีความเชื่อเรื่องผีปอบ ในมุมมองเชิงวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าวัฒนธรรมคือ วงจรชีวิต อาชีพ การดำรงชีวิตอยู่กับสังคม

“คนในภาคอีสานตกเป็นเครื่องมือความเชื่อเรื่องผีปอบ ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน และมีผลกระทบต่อโครงสร้างภายในชุมชนหรือครอบครัวได้ เพราะหากหมู่บ้านใดก็ตามที่เชื่อเรื่องนี้ ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านสูญหายไป ตอนเย็นๆ ไม่กล้าออกจากบ้านไปพบปะพูดคุยกันตามวิถีชนบท” ดร.เชิดศักดิ์ กล่าว

รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS สารคดี "ชุดสักการะ" ตอน ผีปอบ

ผีแม่ม่าย

นอกจาก "ผีปอบ" แล้วยังมีผีอีกตนที่ชาวอีสานเกรงกลัวกันมาก คือ "ผีแม่ม่าย" ถ้าใครเดินทางไปในแถบชนบทอีสานช่วงฤดูแล้ง อาจจะได้เห็นตามรายทางที่ผ่านมี "หุ่นฟางสวมเสื้อสีแดง" ตั้งไว้ตามรั้วบ้าน ที่ตัวหุ่นมีอวัยวะเพศทาสีแดงปักไว้ให้เห็นชัดเจนว่าเป็นผู้ชาย เป็นระยะๆ บ้างก็อาจมีป้ายแขวนที่คอด้วยว่า "บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย" ไม่ต้องคาดเดาก็รู้แน่นอนว่า คงมีผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวถึงแก่ความตายแล้ว 2-3 คนติดต่อกัน ในหมู่บ้านแห่งนี้แน่แล้ว

ความเชื่อในเรื่อง "ผีแม่ม่าย" หรือ "ผีอีซิ่นเหี้ยน" นี้เพิ่งจะมีมาไม่นานประมาณสัก 10-15 ปีได้ เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นใหม่ในภาคอีสาน คนที่ทำหุ่นดังกล่าวไปปักก็เป็นผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่หมอผีหรือเข้าจ้ำแต่อย่างใด เป็นความเกรงกลัวว่าจะสูญเสียสามี และเป็นอุปทานหมู่ด้วย หมายถึงไม่ได้ทำเพียงคนเดียว ครอบครัวเดียว แต่เชื่อและทำกันทั้งหมู่บ้านย่านนั้น แต่ก็ไม่ได้นัดหมายประชุมปรึกษาหารือกัน เพียงแต่ได้ยินข่าวเมื่อไปร่วมงานศพ ได้ยินเสียงซุบซิบว่า ชายคนนี้ตายเพราะผีแม่ม่ายมาเอาไป เหมือนกับหมู่บ้านโน่น หมู่บ้านนั้น เขาว่าตั้งแต่ทำหุ่นผู้ชายใส่เสื้อแดงแล้ว ก็ไม่มีคนตายอีก กลับมาแล้วก็เลยทำขึ้นมาเองแต่ว่า ให้มีหุ่นคล้ายผู้ชาย สวมใส่เสื้อสีแดง จะใหญ่โต สูงเพียงใดไม่ได้กำหนด

pee mae mai 01

การที่ "ผีแม่ม่าย" มาเอาชีวิตแต่ผู้ชายที่มีครอบครัวแล้วไป ไม่มีคำอธิบายใดๆ นอกจากความกลัวจากคำเล่าลือที่ได้ยินมา การที่จะรักษาชีวิตของ "สามี" หรือ "ผัว" ไว้ได้โดยไม่ต้องลงทุนมากมายคือ "การทำหุ่นฟาง" ที่แสดงความเป็นชายไว้หน้าบ้าน (ก็ปักส่วนความเป็นชายสีแดงเด่นไว้ด้วยอย่างชัดเจน) เพื่อให้ผีแม่ม่ายมาเอาไป การสวมใส่เสื้อสีแดงไว้ก็เพื่อให้มองเห็นได้ง่ายๆ สะดุดตา ส่วนป้ายห้อยคอ "บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย" นั้นคงจะยืนยันว่า "ผีแม่ม่าย" มีการศึกษาอ่านภาษาไทยออกได้รู้ว่า ในบ้านไม่เหลือผู้ชายแล้ว นั่นเอง (ไปอ่านเหตุผลเต็มๆ ที่นี่ครับ)

จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถระบุแลยืนยันได้ชัดเจนว่า ที่แท้จริงแล้ว "ผีปอบ ผีแม่ม่าย" คืออะไร มีอยู่จริงหรือไม่? แต่สำหรับผู้เขียนนั้นเชื่อว่า "ที่ใดมีการศึกษา ความก้าวหน้าทางการรักษาโรคภัยเข้าถึง มีหมอที่สามารถอธิบาย วินิจฉัย สอบสวนโรค ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคน ที่นั้นจะไม่มี "ผีปอบ" แน่นอน"

pee mae mai 02

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ความเชื่อเรื่องผีของคนอีสาน | พิธีกรรมการโจลมะม็วด

redline

backled1

Subcategories

รวมผญา สุภาษิต และคำสอย

กลอนลำ

song word

เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง

ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร

กลอน ภาษิตโบราณอีสาน

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)