foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

kalam header

ความหมายของ คะลำ ขะลำ

คะลำ เป็นลักษณะความผิด บาป ผิดจารีต ไม่เหมาะ ไม่ควร อาจมีโทษมากหรือน้อย หรือไม่มีโทษ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม คะลำ จึงเป็นหลักคำสอนที่ปฏิบัติกันมา จนเป็นขนมธรรมเนียมที่มีลักษณะเป็นข้อห้าม

คะลำ หรือ ขะลำ ความหมายตาม พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2537 หน้า 16 ว่าไว้ดังนี้

  • กะลำ ๑ เป็นคำนาม แปลว่า สิ่งต้องห้าม
  • กะลำ ๒ เป็นคำกิริยา แปลว่า เว้น (อย่างว่า อันไหนเห็นว่าบ่ดีก็ กะลำ ซะ)
  • กะลำซำซอย เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า นอกรีตนอกรอย ทำตามใจชอบ, ตามอำเภอใจ มะลำซำแซะ, มะลำมะลอย ก็ว่า

พจนานุกรมภาษาลาว โดย ดร.ทองคำ อ่อนมะนีสอน หน้า 24 ให้ความหมายไว้ดังนี้ "กะลำ น. สิ่งใดที่เฮ็ดลงไปแล้วบ่ดี บ่งาม เกิดโทษเกิดภัย เกิดเสนียดจัญไรแก่ตนและผู้อื่น โบราณเอิ้น กะลำ คะลำ ขะลำ ก็ว่า" อย่างว่า "หัวโล้นอยากลำ หัวดำอยากเทศน์ คะลำ (พาสิด)"

คำว่า "คะลำ" เป็นภาษาอีสาน ในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ให้ความหมายว่า "คะลำ น. ผิด บาป กรรม สิ่งใดที่ทำลงไปผิดจารีตประเพณี ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ ผิดศีลธรรมในทางพระศาสนา จะมีโทษมาก โทษน้อย หรือไม่มีโทษ แต่สังคมรังเกียจ สิ่งนั้นเรียก คะลำ อย่างว่า ของมันผิดอย่าได้กระทำ ของคะลำอย่าได้ไปต้อง ของพี่น้องอย่าได้ไปซูน (บ.). sin, transgression, taboo." ได้แก่ ไม่ดี ไม่งาม ไม่เหมาะไม่สม เป็นบาปเป็นกรรม ถ้าทำอะไรลงไปผู้เฒ่าผู้แก่ทักท้วงว่า คะลำ คะลำคำนี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทำจะไม่กล้าทำต่อไป คำว่า คะลำ จึงถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

คะลำ นี้ในสมัยโบราณถ้าใครไม่ปฏิบัติอาจมีโทษมาก หรือน้อย หรือไม่มีโทษ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ในปัจจุบัน เมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนาทางด้านการศึกษา เทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น การคะลำของชาวอิสานจึงค่อยๆ หายไปกับกาลเวลา เพราะการคะลำบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ล้าสมัย เช่น คนอยู่กรรม (อยู่ไฟหลังคลอดลูก) จะไม่ให้กิน เนื้อวัว เนื้อควาย ผัก ผลไม่บางอย่าง จะผิดกรรม ให้กินข้าวบ่ายเกลือ ปลาขาวนาปิ้งเท่านั้น ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันนั้นได้ทดลองและวิจัยแล้วพบว่า ถ้าร่างกายหลังหลังคลอดไม่กินของเหล่านี้ ก็จะขาดวิตามินบำรุงร่างกาย และไม่มีน้ำนมให้ลูกกินด้วย การคะลำจึงควรเลือกปฏิบัติเป็นอย่างๆ ตามกาละเวลา

bulletประเภทของคะลำ

ทั้งนี้หากจะแบ่งประเภทของข้อคะลำแล้ว สามารถแบ่งออกกว้างๆ ตามสิ่งที่ได้ไปเกี่ยวข้อง หรือปฏิสัมพันธ์ได้ 3 ลักษณะคือ

  1. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับบุคคล
  2. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับสถานที่
  3. ข้อขะลำที่สัมพันธ์กับเวลา

ซึ่งการแบ่งลักษณะดังกล่าวนั้น ไม่ได้แยกออกจากกันเป็นอิสรภาพ หากแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน ในลักษณะองค์รวมความรู้ของค่านิยม บรรทัดฐาน อุดมการณ์ อันจะครอบคลุมไปทั้งหมดของวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเกิด การอยู่ การกิน การนอน การเจ็บป่วย การแต่งงาน การตาย เป็นต้น ซึ่งจะจัดพฤติกรรมความสัมพันธ์ของผู้คนในระดับต่างๆ เพื่อผลที่น่าปรารถนาทั้งต่อระดับบุคคลและสังคม

1. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับบุคคล

ข้อคะลำในหมวดนี้ หากจะแบ่งย่อยออกไปเพื่อระบุให้ชัดเจนแล้ว อาจจะสามารถแยกออกไปได้ในส่วนของระดับ หรือประเภทของบุคคลต่างๆ ในสังคม เช่น

3diamondสตรีมีครรภ์

ข้อคะลำ ที่สตรีมีครรภ์ไม่ควรประพฤติปฏิบัติในระหว่างช่วงดังกล่าวนั้นมีมากมาย ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ทั้งแม่และเด็ก สามารถที่จะประสบกับสวัสดิภาพของชีวิตให้มากที่สุด ซึ่งในจำนวนข้อคะลำทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่มักจะเน้นหนักไปทางด้านอาหารการกิน (ของแสลง) แบบแผนที่ผู้เป็นว่าที่คุณแม่ควรนำมาประพฤติ ซึ่งหากละเลยแล้วต้อง คะลำ ถือว่าไม่ดี ไม่งามไม่เหมาะสม หนักเข้าจะเป็นบาปกรรม เสื่อมเสียและอาจถึงแก่ชีวิต เป็นต้น

yoo fire

ซึ่งหลายข้อคะลำในบางข้อ หากมองด้วยความรู้มาตรฐาน โดยเฉพาะหลักสุขลักษณะตามหลักโภชนาการแม่และเด็กแล้ว ดูจะเป็นการขัดกันอยู่หลายข้อ แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพแวดล้อม และเวลาในช่วงเวลานั้นของสังคมอีสาน ด้วยเงื่อนไข ขีดจำกัดทั้งการแพทย์ วิทยาการรักษาแล้ว ความจำเป็นในสวัสดิภาพของชีวิตและเผ่าพันธุ์ จึงจำเป็นต้องบัญญัติข้อคะลำตามที่บรรพบุรุษแนะนำไว้ จากประสบการณ์ที่เคยประสบอย่างเคร่งครัด เนื่องจากความเคารพนับถือแก่บุคคลที่กำเนิดเกิดก่อนผู้เฒ่าผู้แก่ในสังคมดั้งเดิม ซึ่งข้อคะลำที่นำมาเป็นตัวอย่างประกอบในการพิจารณามีดังนี้

ข้อคะลำในการปฏิบัติ เช่น

  • ห้ามอาบน้ำเวลากลางคืน เพราะน้ำคาวปลาจะมาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : เพราะอาจจะหกล้มได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้ เนื่องจากในอดีตต้องใช้ขี้ไต้ หรือขี้กะบอง ในการให้แสงสว่างซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ)
  • ห้ามข้ามเชือกที่กำลังล่ามวัวควาย ลูกออกมาจะเป็นคนตะกละตะกลาม
    (ภูมิปัญญาแฝง : เพราะอาจจะสะดุดเชือกหกล้มได้ หากวัวควายลุกเดินหรือวิ่งชน)
  • ห้ามนั่งขวางประตูบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : กีดขวางทางเข้าออกของผู้สัญจรไปมา)
  • ห้ามนั่งขวางบันไดบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : กีดขวางทางเข้าออกของผู้สัญจรไปมา)
  • คะลำเย็บที่นอน จะทำให้คลอดลูกยาก
    (ภูมิปัญญาแฝง อาจจะเป็นเหน็บเนื่องจากนั่งนอนหรือเพ่งมากเกินไป)
  • คะลำไปงานศพ เดี๋ยวผีคนตายจะมาเกิดด้วย
    (ภูมิปัญญาแฝง : ไม่ต้องการให้แม่เด็กต้องพบเจอภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ได้)
  • คะลำไปเบิ่งคนคลอดลูก เดี๋ยวเด็กในท้องจะชักชวนกันไปในทางไม่ดี
    (ภูมิปัญญาแฝง : ไม่ต้องการให้แม่เด็กต้องพบเจอภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ได้)
  • คะลำปิดหน้าต่างประตู (ไม่บอกเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : ต้องการให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก)
  • คะลำตอกตะปู (ไม่บอกเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกระเทือนต่อลูกในท้อง และรบกวนคนอื่น)
  • ห้ามตำหนิผู้อื่น ลูกออกมาจะบ่ดีเป็นเหมือนที่ตำหนิ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลทางด้านอารมณ์และจิตใจ)
  • ห้ามทำท่าทางเลียนแบบคนพิกลพิการไม่สมประกอบ ลูกออกจะเหมือนอย่างที่ทำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ไม่เหมาะสม ไม่ดีไม่งาม แสดงถึงความไม่มีมารยาท)
  • คะลำนั่งยองๆ (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
  • คะลำนั่งชันเข่า (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
  • คะลำนั่งคุกเข่า (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
  • คะลำพลิกด้านใบตอง (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำเผาหอย เผาปู (ไม่ทราบเหตุผล)
  • ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้า
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้มได้รับอันตรายได้)
  • คะลำขึ้นที่สูง (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาได้รับอันตรายได้)
  • คะลำนั่งบนที่สูง (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาได้รับอันตรายได้)
  • คะลำนั่งลงแรงๆ (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์ได้)
  • คะลำนอนหงาย นอนคว่ำ (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์ได้ หรือหากนอนหงายอาจล่อแหลมที่จะเกิดอุบติเหตุ เช่น สิ่งของหล่นใส่ คนเดินไปมาหกล้มใส่เป็นต้น)
  • ห้ามอาบน้ำร้อน (ไม่ทราบเหตุผล)
  • ห้ามอาบน้ำสกปรก
  • ห้ามเอาครกกับสากแช่อยู่ด้วยกัน จะทำให้คลอดลูกลำบาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทที่งดงามแก่ผู้ที่จะเป็นแม่)
  • ห้ามชะโงกดูน้ำในบ่อ (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะวิงเวียนและตกลงไปในบ่อน้ำได้)
  • ห้ามเดินข้ามขัว(สะพาน) (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : ในอดีตสะพานทั่วไปจะมีลักษณะเป็นท่อนไม้ขนาดเล็ก พอที่คนคนเดียวจะเดินข้ามได้ ดังนั้นอาจจะเป็นอันตรายตกจากสะพานได้)

ข้อคะลำเรื่องอาหาร เช่น

  • คะลำกินกล้วยแฝด จะได้ลูกแฝด
  • คะลำกินเนื้อควายเผือก (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินอาหารที่ติดอยู่กับไม้ย่าง
    (ภูมิปัญญาแฝง : ดูแล้วไม่งาม ไม่เหมาะสม)
  • คะลำกินผักขา (ผักชะอม) (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินปลาเพี้ย (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินปลาชะโด (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินไข่ (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินเผือกมัน (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินเห็ด (เห็ดที่ไม่รู้จักอาจเบื่อเมาง่าย อันตรายต่อการให้นมบุตร)
  • คะลำกินอาหารรสจัด (มีผลต่อน้ำนมที่ให้บุตรกิน)
  • คะลำกินเนื้อเต่าเพ็ก (เต่าตัวเล็ก) (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินเนื้อตะพาบน้ำ (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินแมลง แตน ต่อ (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินปลาร้า (น่าจะมีผลต่อการให้นมบุตร แพ้ได้ง่าย)
  • คะลำกินของดองมึนเมา (มีผลต่อการให้น้ำนมบุตร ทำให้ได้สารพิษเข้าสู่ร่างกาย)
  • คะลำกินเนื้อกระต่าย (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินข้าวจี่
  • คะลำกินเมล็ดมะขามคั่ว
  • คะลำกินอาหารที่มีไขมัน

ตามตำราสุขภาพแผนใหม่ในปัจจุบันนั้น ได้กำหนดอาหารต้องห้ามไว้ 6 ชนิดที่ไม่ควรรับประทานเพราะจะสุงผลต่อการให้นมบุตร คือ อาหารแปรรูป (พวกขนมเค้ก ขนมหวาน ที่ทำจากแป้งสาลี แป้งข้าวโพด นมวัว ถั่วลิสง ซึ่งเด็กบางคนแพ้สารในอาหารเหล่านี้) ผักบางชนิดที่มีแก๊ส เช่น กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บล็อกโคลี่ (เพราะทำให้เกิดแก๊สในท้องเด็ก ทำให้ท้องอืดได้ง่าย และผักชีจะทำให้ปริมาณน้ำนมมีน้อย) อาหารหมักดอง อาหารรสเผ็ดจัด อาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ช็อกโกแลตก็อยู่ในกลุ่มนี้) และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

mom baby

3diamondสตรีแม่ลูกอ่อน

แม่ลูกอ่อนหรือผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ ยังอยู่ในภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตของผู้เป็นแม่ และทารกที่เพิ่งคลอดได้ ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงยังมีข้อประพฤติ ปฏิบัติ หรือข้อห้าม ข้อคะลำที่ผู้เป็นแม่ลูกอ่อนต้องคะลำอยู่หลายอย่าง

ข้อคะลำในการปฏิบัติ เช่น

  • ห้ามเดินไปไหนไกลๆ คะลำ
  • ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้าๆ
    (ภูมิปัญญาแฝง : หากประสบอุบัติเหตุอาจจะเป็นอันตราย เช่น ตกเลือด หรือกระทบกระเทือนบาดแผลที่ยังไม่หายสนิท)
  • ห้ามนั่งยองๆ หรือนั่งพับเพียบ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเป็นอันตรายหรือพระทบกระเทือนต่อบาดแผลได้)
  • ห้ามไกลเปล อู่ที่ว่างของเด็กทารก จะทำให้ผีมาเอาเด็กไป
    (ภูมิปัญญาแฝง : ผู้เชื่อโชคลางเห็นว่าเป็นลางไม่ดี เท่ากับแช่งให้เด็กตาย)
  • ห้ามให้ใครข้ามเปล อู่เด็กทารก จะทำให้เด็กร้องไห้งอแง ไม่ยอมหลับนอน
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้มหรือมีสิ่งของหล่นใส่เด็กเป็นอันตรายได้)
  • ห้ามกล่อมลูกเวลากลางคืน
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะก่อความรำคาญ รบกวนผู้คนที่ยังหลับนอนอยู่)
  • ห้ามหลับนอนกับสามี
  • ห้ามนอนใกล้กับสามี
  • ห้ามนอนหัวสูง (ไม่ทราบเหตุผล)
  • ห้ามนอนหงาย
  • ห้ามนอนนอกมุ้ง
  • ห้ามนอนกลางวัน
  • ขณะอยู่ไฟ (อยู่กรรม) ห้ามออกห่างหม้อไฟเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
  • ห้ามทำงานบ้าน (คะลำเวียก)
    (ภูมิปัญญาแฝง : ยังไม่แข็งแรง อาจกระทบกระเทือนต่อสุขภาพและบาดแผลได้)
  • ห้ามนำเด็กทารกออกจากชายคาบ้าน คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เด็กยังไม่แข็งแรง กะโหลกศรีษะยังไม่หุ้มดี อาจจะไม่สบายได้ง่าย)
  • ห้ามเอารกเด็กไปฝัง เพราะจะทำให้เด็กปัญญาทึบ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เกรงว่าหากฝังไม่มิดชิด สัตว์ป่าหรือสุนัข สัตว์เลี้ยงอาจมาคุ้ยเขี่ยได้)
  • ให้ซักผ้าอ้อมก่อนเพล(ประมาณเที่ยง) และให้ถือขมิ้นและมีดน้อยๆ ไปด้วย มิเช่นนั้นจะทำให้ผีร้ายตามมาเอาตัวเด็กไปได้
    (ภูมิปัญญาแฝง : หากมัวชักช้าโอ้เอ้อาจจะทำให้เสียการงานอย่างอื่นไปด้วย บังคับทางอ้อม)

ข้อคะลำเรื่องอาหาร ทั้งนี้เชื่อว่าหากรับประทานเข้าไปแล้วจะก่ออันตรายต่อแม่ลูกอ่อน เป็นของแสลง ผิดสำแดง ซึ่งหากพิจารณาตามหลักโภชนาการแล้ว เข้าใจว่าสิ่งของที่คะลำนั้นยากต่อการย่อยเผาผลาญ และอาจมีผลต่อร่างกายที่ยังอ่อนแอของแม่และอาจมีผลต่อลูกได้ ตัวอย่างคะลำ เช่น

  • ห้ามกินเนื้อควายเผือก
  • ห้ามกินไข่มดแดง
  • ห้ามกินของหมักดอง
  • ห้ามกินผักชะอม
  • ห้ามกินฟัก
  • ห้ามกินดอกขี้เหล็ก
  • ห้ามกินใบสะระแหน่
  • ห้ามกินกล้วยหอม
  • ห้ามกินข้าวก่ำ (ข้าวเหนียวดำ)
  • ห้ามกินเนื้อหมู
  • ห้ามกินเนื้อกระต่าย
  • ห้ามกินเป็ดเทศ
  • ห้ามกินห่าน
  • ห้ามกินแมงดานา
  • ห้ามกินปลาร้า
  • ห้ามกินปลาชะโด
  • ห้ามกินปลาอีจน
  • ห้ามกินปลาสลิด
  • ห้ามกินเห็ดขาว เห็ดกะด้าง (เห็ดขอน)
  • ห้ามกินตะพาบน้ำ
  • ห้ามกินหน่อไม้
  • ห้ามกินปลาหมึก
  • ห้ามกินมะละกอสีม่วง
  • ห้ามกินน้ำเย็น
  • ห้ามกินไก่งวง
  • ห้ามกินใบโหระพา
  • ห้ามกินสะเดา
  • ห้ามกินปลาเพลี้ย
  • ห้ามกินปลานกเขา
  • ห้ามกินปลาอีวน
  • ห้ามกินเต่าเพ็ก

3diamondคนเจ็บป่วย

ข้อคะลำสำหรับคนเจ็บป่วยนั้น โดยภาพรวมเป็นข้อที่ห้ามปฏิบัติของผู้ป่วยในแต่ละโรค ซึ่งจะบอกกล่าวโดยรวมทั่วไปว่าสิ่งใดควรเว้น ควรไม่กระทำ หลีกเลี่ยงแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้ขอให้พิจารณาภายใต้เงื่อนไขของสังคมอีสานในอดีต ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ต้องช่วยเหลือดูแลตัวเอง ทั้งนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ สาธารณสุขที่ยังไม่สามารถย่างกรายเข้ามาในสังคมดังกล่าว และได้สืบทอดปฏิบัติสืบต่อกันมานับหลายร้อยปี จากการสังเกต ลองถูกลองผิด สั่งสมเป็นข้อคะลำที่ควรระลึกไว้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างมาดังนี้

  • ห้ามกินหมากไม้ทุกชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง มะม่วง ทุเรียน ลำไย อ้อย มะละกอ สับปะรด
  • ห้ามกินถั่วฝักยาว
  • ห้ามกินของรสเปรี้ยว
  • ห้ามกินข้าวต้มห่อ
  • คนเป็นวัณโรคห้ามกินของหมักดอง เช่น ปลาส้ม สัมวัว หน่อไม้ดอง
  • คนเป็นไออย่ากินหมากเขือ กุ้ง ปลาซิว ส้มตำ มะเกลือ อาหารรสจัด หัวกลอย หัวมัน เพราะมันจะทำให้คันคอ ไอไม่หยุด
  • คนถูกหมาว้อ (หมาบ้า) กัด บ่ให้กินลาบเทา (สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีสีเขียว) มันจะเป็นบ้าคือเก่า
  • บ่ให้ผู้หญิงเป็นระดูเก็บผักอีเลิศ ผักสะระแหน่ ผักมันจะตายหมด
  • คนป่วยนอนบนฟูก จะทำให้หายป่วยช้า
  • คนเป็นฝีหนอง เป็นหิด กลากเกลื้อน ห้ามกินไก่และของหมักดอง
  • คนเป็นคางทูม ห้ามกินไข่
  • คนเป็นโรคประสาทห้ามกินน้ำมันหมู

3diamondเด็กเล็ก

เด็กถือว่าเป็นวัยที่จะต้องเติบใหญ่ เป็นผู้สืบทอดความรู้ รักษาระเบียบแบบแผนของสังคมในอนาคตต่อไป จึงเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องมีการปลูกฝังแบบแผน ความประพฤติในสังคมอีสานโดยผ่านคะลำ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ และควบคุมพฤติกรรมของเด็ก ให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่พึงปรารถนาของสังคม และเป็นการเพาะกล้าของความคิด ความรู้ ค่านิยม อุดมการณ์ บรรทัดฐานบางอย่างให้แก่คนจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งด้วย ซึ่งข้อคะลำที่ผู้ใหญ่นำมาใช้กับเด็กรุ่นหลัง มักจะเป็นลักษณะการปราบและปรามพฤติกรรมที่ไม่พึ่งปรารถนา และแสดงถึงผลที่ฝ่าฝืนข้อห้ามข้อคะลำดังกล่าวให้น่ากลัว หรือบางครั้งจะไม่แสดงเหตุผลแต่จะบอกว่าคะลำ ซึ่งนั้นมักจะทำให้เด็ก (ส่วนใหญ่) สยบยอมต่อข้อคะลำเหล่านั้น พร้อมกันนั้นยังเป็นการควบคุมหรือบอกข้อควรปฏิบัติระหว่างผู้ใหญ่ต่อเด็ก และบางข้อยังสามารถใช้กับบุคคลทั่วไปได้ด้วย ทั้งนี้ภายใต้บริบทแวดล้อมในขณะนั้นที่เป็นตัวหล่อหลอมความคิด การรับฟัง เชื่อถือผู้ใหญ่ที่เกิดมาก่อนด้วย ซึ่งตัวอย่างข้อคะลำที่ยกมามีดังนี้

  • ห้ามทักว่าเด็กที่เกิดใหม่ว่าน่ารัก เพราะถ้าผีรู้จะตามมาเอาตัวเด็ก หรืออายุเด็กจะสั้น
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการปรามทั้งตัวแม่เด็กและตัวเด็กที่เกิดขึ้นมา ไม่ให้หลงระเริงต่อคำชมยกย้อป้อปั้น สร้างนิสัยไม่พึ่งปรารถนาตามมา)
  • อย่าป่อน(หย่อน)เด็กเล็กลงเรือน เป็นเชิงหยอกล้อ เพราะจะทำให้เด็กอายุสั้น
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเกิดอุบัติเหตุเด็กพลัดตกลงไป และอาจจะอายุสั้นจริงๆได้)
  • ห้ามเอาจิ้งหรีดมากัดกันเล่น ฟ้าจะผ่าเอาได้
    (ภูมิปัญญาแฝง : ควบคุมพฤติกรรมที่ควรประพฤติ ให้มีจิตใจเมตตา)
  • อย่าให้เด็กนั่งบนหลังสุนัข จะทำให้เด็กนิสัยเหมือนสุนัข
    (ภูมิปัญญาแฝง : สุนัขอาจแว้งมากัดเป็นอันตรายได้ และไม่ให้รังแกสัตว์)
  • อย่านั่งหันหลังขณะที่นั่งบนหลังวัว ควาย จะเป็นอัปมงคล
    (ภูมิปัญญาแฝง : มองไม่เห็นทาง ควบคุมสัตว์ไม่ได้ อาจตกลงมาเป็นอันตรายได้)
  • อย่าเคาะหรือตีหัวเด็ก จะทำให้เด็กปัสสาวะรดที่นอน
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกระทบกระเทือน เป็นอันตรายต่อสมองของเด็กได้)
  • อย่าตีหัวแมว เพราะเมื่ออายุมากจะทำให้ศรีษะสั่น
    (ภูมิปัญญาแฝง : ห้ามรังแกสัตว์ให้มีเมตตา)
  • ห้ามนอนกินอาหาร จะเป็นงู
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีผลต่อระบบย่อยอาหาร และฝึกมารยาทที่เหมาะสม)
  • ห้ามเล่นข้าวสาร จะทำให้มือด่าง
    (ภูมิปัญญาแฝง : ข้าวเป็นอาหารไม่ควรนำมาเล่น และเป็นการสอนให้รู้สำนึกในคุณข้าวด้วย)
  • เด็กขณะพูดกับผู้ใหญ่อย่าอมนิ้ว
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาท และบุคลิกภาพ)
  • ห้ามจับหางสุนัข จะทำให้สุนัขกินลูกไก่
    (ภูมิปัญญาแฝง : สุนัขอาจจะรำคาญและแว้งกัดทำอันตรายได้)
  • ด่าพ่อแม่บุพการีผู้มีพระคุณ ตายไปจะเป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม และมารยาท ค่านิยมและควบคุมพฤติกรรมของเด็กและบุคคลทั่วไป)
  • อย่าเดินใกล้ผู้ใหญ่
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยามสังคม พฤติกรรมที่เหมาะสม)
  • อย่าลักขโมยของพ่อแม่ จะทำใหตีนบาทสั้นมือฮี
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรม)
  • ห้ามโกหกหลอกลวง
  • อย่าเดินข้ามขาผู้ใหญ่ ขาจะด้วน
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม มารยาทสังคม)
  • ห้ามเด็กกินไข่ร้างรัง
  • ห้ามเด็กทารกที่ฟันยังไม่ขึ้นส่องกระจก
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม พฤติกรรมให้เหมาะสมกับวัย)
  • ห้ามเด็กกินไส้และพุงปลาช่อน
    (ภูมิปัญญาแผง : อาหารที่อร่อย ผู้ใหญ่หวงไว้กินเอง)
  • ห้ามตีก้นเด็ก จะทำให้เด็กเป็นซางตานขโมย
  • เวลาอุ้มเด็กทารกห้ามพูดหนักหรือเบาเกินไป
  • ห้ามเป่าลมปากใส่หน้าเด็ก
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีเชื้อโรคติดต่อไปยังเด็กได้)
  • เวลาอุ้มเด็กห้ามโยนเด็ก
    (ภูมิปัญญาแฝง : เด็กอาจจะหลุดมือ เป็นอันตรายได้)
  • ห้ามเด็กกินจาวมะพร้าว
  • ห้ามเด็กกินเครื่องในไก่ จะทำให้เป็นดื้อด้าน ดื้อรั้น
    (ภูมิปัญญาแฝง : ตามหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันอวัยวะดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นพิษเจือปนอยู่)

3diamondผู้ที่ร่ำเรียนวิชาความรู้

ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาความรู้ เช่น ผู้เรียนไสยศาสตร์ หมอยา (หมอยาสมุนไพร หมอยากระดูก หมอยาเป่า) หมอธรรม

ถือว่าเป็นปูชนียบุคคลสำคัญในสังคมอีสานเมื่อครั้งอดีต เนื่องจากเป็นทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นต่อวิถีชีวิต ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อคนอีสานทุกเพศทุกวัย เนื่องจากในช่วงเวลาวิกฤติของชีวิต เช่น การเกิด การเจ็บป่วย การตาย และงานพิธีกรรมต่างๆ บุคคลดังกล่าวต้องได้รับเชิญมาประกอบพิธีกรรม หรือไม่มักจะเป็นข้อขะลำส่วนตัว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณวิชาที่ตนเรียนมา

ดังนั้นในส่วนของฮีตปฏิบัติของบุคคลดังกล่าว จึงต้องเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณความดี ความสามารถของตนเอง และสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธาแก่ผู้พบเห็น ซึ่งข้อคะลำบางกล่าวอาจจะหาเหตุผลมาชี้แจงได้ชัดเจน ทั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรมหรือจรรยาบรรณที่ผู้ร่ำเรียนทางด้านนี้ต้องมี เชื่อกันว่าสำหรับผู้ที่เรียนคาถาอาคมหากฝ่าฝืน จะมีอาการผิดครู อาจจะเกิดสิ่งไม่ดีต่อตนเอง เช่น คาถาอาคมเสื่อม เป็นบ้า เป็นผีปอบ เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างของข้อคะลำมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามลอดใต้ราวตากผ้า จะทำให้วิชาคุณไสยจะเสื่อม
  • ห้ามลอดใต้ถุนบ้าน
  • ห้ามลอดเครือกล้วยที่ใช้ไม้ค้ำไว้
  • ห้ามลอดกี่ทอผ้า
  • ห้ามลอดจ่อ (เครื่องมือเลี้ยงตัวไหม)
  • ห้ามลอดใต้บันได
  • ห้ามกินฟักทอง
  • ห้ามกินแตง
  • ห้ามกินฟัก แฟง
  • ห้ามกินมะเฟือง
  • ห้ามกินผักกระถิน (ภาษาอีสานเรียกผักกะเสด) นอกจากว่าเวลาที่กินนั้นไม่มีใครเรียกว่าผักกะเสด จึงจะสามารถกินได้ เนื่องจากถือว่าเป็นของเศษเหลือเดน
  • ห้ามกินอึ่งอ่าง
  • ห้ามกินปลาไหล
  • ห้ามกินน้ำเต้า
  • ห้ามกินเนื้อควาย
  • ห้ามเล่นชู้
  • ห้ามกินอาหารใดๆ ในงานศพ จะทำให้คาถาอาคมที่เรียนมาเสื่อม
  • เวลากินข้าว ห้ามไม่ให้เอามือไปชนกับมือคนอื่นที่ร่วมสำรับ มันคะลำ
  • ห้ามดื่มสุราที่เหลือจากคนอื่นดื่มไปแล้ว
  • ห้ามกินเนื้องู เนื้อสุนัข เนื้อแมว เนื้อม้า และเนื้อเต่า มันคะลำ

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำข้อห้ามปฏิบัติของผู้ที่มีวิชาอาคม ที่สอดคล้องกับอาชีพหลักของครอบครัว ซึ่งจะจำเพาะเจาะจงว่าเป็นคะลำอย่างยิ่ง เช่น ผู้มีอาชีพคล้องช้าง ทั้งนี้ข้อคะลำดังกล่าวยังได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ ข้างเคียงด้วย เช่น ภรรยาคู่ชีวิต อีกนัยหนึ่ง อาจจะสอดคล้องกับข้อที่ควรปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้อง อาจจะเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ไปคล้องช้าง และเป็นอุบายตักเตือนห้ามปรามผู้ที่อยู่บ้านปฏิบัติตนให้เหมาะสมทั้งกาย วาจา และใจ เพื่อรอคอยผู้ชายที่ออกไปคล้องช้าง และข้อเตือนใจเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่อยู่บ้าน เป็นการป้องกันสวัสดิภาพไปด้วย

kata akom

ซึ่งข้อคะลำของภรรยาหรือฝ่ายหญิงที่อยู่เรือน นับตั้งแต่ฝ่ายสามี ฝ่ายชายออกเดินทางออกไปทำกิจดังกล่าว คือ

  • ห้ามตัดผม
  • ห้ามหวีผม
  • ห้ามแต่งหน้า
  • ห้ามพูดคุยกับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะผู้ชาย
  • ห้ามรับญาติมาพักอาศัยอยู่ภายในบ้าน
  • ห้ามกวาดบ้านไปทางด้านทิศเหนือ
  • ห้ามไปไกลจากบ้านของตน
  • ห้ามกล่าวคำหยาบโลน
  • ห้ามแสดงอาการโกรธขึ้ง
  • ห้ามนั่งบนบันได
  • ห้ามปีนต้นหม่อน
  • ห้ามทิ้งของลงจากเรือน เว้นแต่ว่ามีคนรอรับอยู่ข้างล่าง
  • ห้ามถอนฟืนออกจากเตาขณะที่กำลังหุงต้ม
  • ต้องกราบไหว้เทวดา ผีรักษาทุกคืนก่อนนอน

3diamondบุคคลทั่วไป

นอกเหนือจากข้อคะลำของประเภทบุคคลข้างต้นดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีข้อคะลำที่ห้ามประพฤติ ปฏิบัติของบุคคลทั่วไปอยู่มากมาย โดยข้อคะลำของบุคคลทั่วไปที่นำตัวอย่างมากล่าวนี้ จะเป็นการบอกโดยรวม อาจจะไม่ใคร่สัมพันธ์กับเวลาหรือสถานที่มากนัก ทั้งนี้จะไม่เจาะจงสถานที่ หรือกำหนดห้วงเวลาที่ชัดเจน บอกเพียงว่าอย่าปฏิบัติเท่านั้น เช่น

  • ห้ามแช่ครกและสากไว้ด้วยกัน มันคะลำ ถ้าเป็นหญิง(ทั้งแต่งงานและยังไม่แต่ง) จะคลอดลูกยาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาท ความสนใจเอาใจใสในครัวเรือน นิสัยที่ดีงามแก่สตรี)
  • อย่าเดินข้ามไม้คาน
  • อย่าวางขันแช่ไว้ในตุ่ม โอ่ง
  • ห้ามด่าลมฟ้าอากาศต่างๆ
  • ห้ามเดินข้าม หรือนั่งทับหนังสือ มันจะปึก (ปัญญาทึบ)
  • ห้ามเย็บเสื้อผ้าตัวที่กำลังใส่กับตัวอยู่
  • ห้ามเอามีด พร้า มาหยอกล้อกันเล่น
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจพลาดเป็นอันตรายได้ โบราณว่า "ผีผลักใส่")
  • ปล่อยให้น้ำดื่ม น้ำใช้ในโอ่งตุ่มแห้งขอดจนหมด คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน)
  • ปักจอบ เสียม เสียบคาดินไว้มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเป็นอันตรายแก่ผู้เดินไปมา และเครื่องมือเครื่องใช้อาจขึ้นสนิท หรือถูกขโมยไปได้)
  • ผู้หญิงกินขาไก่ ปีกไก่ มันคะลำ จะทำให้เป็นคนไม่ดี แย่งสามีคนอื่น
  • ข้าวสารหมดเกลี้ยง คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่)
  • ข้าวเหลือกินในป่าต้องนำกลับทุกเม็ด
    (ภูมิปัญญาแฝง : สัตว์ป่าอาจตามมากินถึงในหมู่บ้านได้)
  • ใช้เท้าเขี่ยเสื้อผ้า คะลำ
  • ผู้หญิงผิวปาก คะลำ จะได้ผัวเฒ่า
  • ห้ามตีวัวตีควายในคอก มันคะลำ
  • ห้ามตีหลังสัตว์เลี้ยง เช่น หมู วัว ควาย คะลำ
  • ผู้หญิงเล่นการพนัน สูบบุหรี่ มันคะลำ
  • เด็กนั่งสูงกว่าผู้ใหญ่ มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม)
  • นั่งกระดิกเท้า กระดิกมือ คะลำ ทำให้ยากจน หากินบ่คุ้ม
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม และบุคลิกภาพ)
  • เอาหมอนตีกัน มันคะลำ
  • ข้ามร่างกายคนกำลังนอนหลับ คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม และบุคลิกภาพ)
  • อย่าเอาด้ามไม้กวาดตีหรือหยอกล้อกัน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นสิ่งไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นของต่ำ และเศษฝุ่นสิ่งสกปรกด้านที่กวาดอาจจะถูกเปรอะเปื้อนคนจับได้)
  • อย่าเทน้ำกินที่เหลือลงแอ่ง มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นของเศษเหลือกินไม่เหมาะสม และผิดหลักสุขลักษณะด้วย)
  • อย่าเหยียบย่ำบนหมอน ของสูงเป็นบาป
    (ภูมิปัญญาแฝง : สำหรับหนุนหนอนไม่สมควรมาเหยียบเล่นให้สกปรก และรักษาสิ่งของให้ใช้ได้นาน เพราะไม่มีขายต้องทำเองด้วย)
  • ปูเสื่อสาดให้ถูกลายถูกด้าน
  • อย่าปูเสื่อสาดหันหัวไปทางทิศตะวันตก ทิศคนตาย
  • อย่าเอามือประสานกันขัดไว้หลังท้ายทอย มันคือผีบ้า คนไร้ความคิด
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังบุคลิกภาพให้เหมาะสม)
  • อย่าเอามือตบปากเสียงดัง มันจะหาไม่พออยู่พอกิน
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังบุคลิกภาพและมารยาทสังคม)
  • อย่านอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก
  • อย่าเอาด้านขวางของหมอนมาหนุน มันคะลำ
  • อย่าปีนคำเว้าผู้ใหญ่(ปีนเกลียว)
  • อย่าเอาหอกค้างหาว อย่าเอาต้าวค้างควน(ควัน)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาถูกคนบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายด้วย)
  • อย่านอนแงง(ส่อง)ดาบ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหล่นหรือพลาดมือถูกผู้ส่องได้)
  • อย่าคาบนมเมีย
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจเผลอกันได้)
  • อย่าเลียคมมีด
  • ไปบ่ลา มาบ่คอบ (ไปไม่ลา มาไม่ไหว้) คะลำ
  • อย่าป้อย(สาป)แซ่งเสียงดัง
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม)
  • อย่าแน(เล็ง)มีดใส่หัว อย่าแนปืนใส่เขา
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะพลาดและเป็นอันตรายได้)
  • อย่าเวียนหวดข้าว
    (ภูมิปัญญาแฝง : ในอดีตเตาหุงหาอาหารจะเป็นก้อนเสาสามก้อน อาจจะเดินเตะท่อนฟืนหรือก้อนเส้าได้)
  • อย่าตั้งหม้อข้าวเอียง คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : หากหม้อข้าวเดือนอาจหกเสียหาย หรือถูกคนเป็นอันตรายได้)
  • อย่าเอาฟืนเคาะก้อนเส้า มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ก้อนเส้าอาจจะแตกเสียหายได้)
  • อย่าเอามีดสับเขียงเปล่า มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้เสียงดังก่อความรำคาญแก่คนอื่น)
  • อย่าตำครกเปล่า มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้เสียงดังก่อความรำคาญแก่คนอื่น)
  • อย่าเอาสากเคาะปากครก มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้เสียงดังก่อความรำคาญแก่คนอื่น)
  • อย่าเดินข้ามหม้อข้าวหม้อแกง มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจเดินเตะข้าวของเสียหายได้ รวมทั้งไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาทและเป็นการลบหลู่ ไม่แสดงอาการเคารพสิ่งของเครื่องใช้ดำรงชีพด้วย)
  • อย่าเอาช้อนเคาะถ้วยชามเล่น มันบ่พออยู่พ่อกิน
    (ภูมิปัญญาแฝง : ข้าวของเสียหายได้ รวมทั้งไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาทและเป็นการลบหลู่ ไม่แสดงอาการเคารพสิ่งของเครื่องใช้ดำรงชีพด้วย)
  • อย่ายืนตักข้าวสารเวลาม่าข้าว(แช่ข้าวเหนียว) มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะผู้จัดการดูแลในเรื่องครัวเรือน และจะนุ่งผ้าถุง การยืนตักข้าวสารอาจจะมีฝุ่นละอองข้าว ทำให้ผิวหนังคันได้ รวมทั้งยังเป็นการแสดงอาการลบหลู่คุณข้าว และดูไม่เหมาะสม ไม่งาม)
  • อย่าล้วงข้าวจากกระติ๊บที่ห้อยอยู่
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปกติคนอีสานจะแขวนกระติ๊บข้าวเหนียวบนตะขอเหล็กป้องกันมันและหนู แมลงมากิน ดังนั้นการล้วงข้าวในกระติ๊บที่ยังห้อยอยู่อาจจะทำให้กระติ๊บและข้าวอาจตกลงพื้นได้ รวมทั้งยังเป็นการแสดงการลบหลู่คุณข้าว และเป็นกริยาไม่งามด้วย)
  • ห้ามเอาซิ่นใช้แล้วไปห่อใบลาน
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการแสดงอาการไม่เคารพ)
  • อย่าเอาดินจี่(อิฐ)จากธาตุเข้าบ้าน
  • เพิ่นบ่เอิ้น(ไม่เรียก)โตขาน เพิ่นวานโตซ่อย(ช่วย) คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : สอนมารยาทให้รู้จักกาลเทศะ สิ่งใดควรไม่ควรทำ ไม่ควรถือวิสาสะเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องของคนอื่น)
  • ชายหญิงนั่งใกล้กัน หญิงสาวไปเที่ยวกลางคืนลำพังหรือไปกับชายสองต่อสอง คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นมาตรการป้องกันเรื่องชู้สาว ผิดทำนองคองธรรมและเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติของหนุ่มสาวให้อยู่ในกรอบศีลธรรมจรรยา)
  • ผู้หญิงบ่ให้ใกล้องค์พระธาตุ (?)
  • ไปเอาบุญก่ายบ้าน บ่ฮู้แลงฮู้งาย มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน)
  • บ่ให้นั่งเขียง หินฝนมีด มันซิหนักก้น ชาติหน้าก้นจะใหญ่
    (ภูมิปัญญาแฝง :ปลูกฝังมารยามสังคม และรักษาสิ่งของเครื่องใช้)
  • บ่ให้ล้างถ้วยล้างชามใส่กับข้าวที่เพื่อนบ้านนำมาส่ง ให้ส่งคืนทั้งที่ไม่ได้ล้าง มิเช่นนั้นจะทำให้โกรธเคืองกัน
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นปรัชญาหมายถึงให้คนที่รับอาหารของเพื่อนบ้านมา เอาอาหารกับข้าวของตัวเองใส่ลงแล้วส่งไปแทนจะได้ไม่ต้องล้าง เป็นการแลกเปลี่ยนแก่กัน)
  • บ่ให้กินน้ำต่ง(รอง)กันมันจะทำให้เป็นข้าข่อยกัน
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นหลักสุขลักษณะ)
  • บ่ให้เอาควายมานอนน้ำขี้สีก(น้ำคร่ำใต้ถุนบ้าน) มันคะลำ
  • ผู้สาวบ่ให้สีก(ฉีก)ปลาร้า มันจะเอ้(แต่ง)บ่ขึ้น
  • ผู้หญิงยืนเยี่ยว คะลำ
  • ผู้สาวบ่ให้กินไข่ร้างรัง มันซิเป็นแม่ฮ้าง (แม่หม่าย)
  • อย่าปีนต้นมะยม มะยมจะเปรี้ยวมาก มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : กิ่งมะยมเปราะอาจจะหัก เป็นอันตรายได้)
  • อย่าเอาไม้ขว้างปามะขามหวาน มันจะเปรี้ยว
    (ภูมิปัญญาแฝง : มะขามเป็นของหายาก ผู้คนจึงมักมาเก็บมะขาม ถ้ามีคนใดใจร้อนขว้างเอา อาจจะทำให้พลาดไปถูกคนอื่นได้)
  • เดินข้ามเบ็ดตกปลา ปลาบ่กินเบ็ด คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจพลาดเหยียบเบ็ดหักเสียหาย หรือเบ็ดอาจเกี่ยวเท้าเอาได้)
  • เดินข้ามมีด ของมีคม ทำให้ไม่คม คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : มีดหรือของมีคมอาจบาดเอาได้)

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องลาง เรื่องโชคชะตาต่างๆ เช่น

  • หนูร้องเสียงดังประหลาดเวลากลางคืน คะลำ คนในบ้านจะเจ็บป่วย ไม่ดี
  • ตัวบึ้งเดินผ่านหน้าในช่วงแดดจัด คะลำ เป็นลางไม่ดีต่อตัวเองและญาติมิตร
  • กาหลายตัวร้องและบินวนเวียนไปมา คะลำอาจเกิดเหตุร้าย
  • กิ้งก่า จิ้งจก ไต่ตามตัว คะลำ จะมีเคราะห์
  • งูขึ้นไปอยู่บนเรือน คะลำ จะมีเคราะห์ร้าย
  • งูเลื้อยผ่าน จะโชคดี หมาน
  • ข้าวเหนียวนึ่งจนสุกแล้วเป็นสีแดง คะลำ ไม่ดีจะมีเคราะห์ต้องนำไปถวายพระ
  • สุนัขตกลูกบนเรือน ไม่ดี คะลำ เป็นอัปมงคล
  • อีแร้ง นกแสกจับเฮือน บินผ่านเรือน จะมีเคราะห์

2. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับสถานที่

ในส่วนของคะลำที่สัมพันธ์กับสถานที่ ทั้งที่เป็นสถานที่ซึ่งคนสร้างขึ้นมา เช่น บ้านเรือน วัด หรือสถานที่ตามธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำ ป่าเขาต่างๆ คนอีสานจะมีข้อคะลำกำกับไว้ เพื่อควบคุมพฤติกรรม ความประพฤติให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานที่นั้นๆ เพื่อความสัมพันธ์ที่พึ่งปรารถนาในการอยู่ร่วมกัน และสวัสดิภาพของบุคคลนั้น ซึ่งข้อคะลำที่นำมาเป็นตัวอย่างประกอบในส่วนนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น

huenthai isan

3diamondข้อคะลำเกี่ยวกับบ้านเรือน

ข้อคะลำที่เกี่ยวข้องกับบ้านเรือนนั้นมีมากมาย ตั้งแต่การเริ่มสร้างบ้านขึ้นมา จนถึงข้อปฏิบัติในระหว่างอยู่ที่บ้าน เช่น การเลือกไม้ที่จะสร้างบ้าน ห้ามเลือกไม้ที่มีลักษณะดังนี้ มิเช่นนั้นจะคะลำ เช่น

  • ต้นไม้ที่มีรูกกลวงระหว่างลำต้น มันคะลำ
  • ต้นไม้ที่เสียงดังขณะเกิดการเสียดสี
  • ต้นไม้ที่แตกกลางลำต้น
  • ต้นไม้ที่ล้มพาดต้นอื่น โดยไม่ตกถึงพื้น
  • ต้นไม้ที่แตกเป็นร่อง เป็นทางยาวลงมา
  • ต้นไม้ที่มียางไหล หลังจากตัด สร้างบ้านแล้วจะทำให้คนอยู่โศกเศร้าเสียใจอยู่เสมอ
  • ต้นไม้ที่ตัดแล้ว ต้นหลุดจากตอก่อนที่ปลายจะตกถึงพื้น เรียกว่าไม้โตนตอ มันคะลำ
  • ต้นไม้ที่มีนามไม่เป็นมงคล เช่น ต้นกะบก ต้นกะบาก ต้นตะเคียน (สร้างบ้านอยู่แล้วคนอยู่จะไม่พออยู่พอกินขาดแคลน บกอยู่เสมอ หาอยู่หากินลำบาก และเชื่อว่าต้นตะเคียนมีผีสถิตย์อยู่)
  • ปลูกต้นไม้ไม่เป็นมงคลนามในเขตบ้าน เช่น ลั่นทม(จำปา) มะไฟ พุทรา หรือต้นโพธิ์ เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของผีหรือรุกขเทวดา
  • ปลูกต้นมะรุม ลิ้นฟ้า(เพกา) และผักหวานในเขตบ้าน มันคะลำ
  • ปลูกต้นยานางในบริเวณลานบ้าน คะลำ

นอกจากนั้นยังมีข้อคะลำเกี่ยวกับบ้านทั้งการสร้างบ้าน และการอาศัยอยู่ในบ้าน เช่น

  • อย่าทำบันไดบ้านหันไปทางตะวันตก ทิศผีหลอก มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เวลาพระอาทิตย์ใกล้ตก แสงจะส่องมาจ้ามองอะไรหรือใครกำลังขึ้นบันไดมา)
  • ยกเรือนให้ยกวันเสาร์จะดี ห้ามวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี มันคะลำ
  • อย่าปลูกบ้านขวางตะวัน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : แสงแดดจะส่องบ้านตอนเช้า และสาย มองอะไรไม่ชัดเจน)
  • อย่าปลุกบ้านคร่อมตอ มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ตออาจจะเป็นปัญหาในอนาคตได้)
  • ปลูกบ้านคร่อมจอมปลวก มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลวกอาจจะแทะกินบ้านได้)
  • ปลูกบ้านคร่อมทางเดิน มันคะลำ
  • ปลูกบ้านกลางพรรษา คะลำ
  • นำไม้ที่เคยถูกฟ้าผ่ามาทำเรือน มันกะลำ
  • ทำบันไดต้องเป็นจำนวนคี่ ( 5 ,7 ,9)
  • เขยหรือสะใภ้อย่าเดินเข้าไปในห้องเปิง หรือห้องห้องนอนพ่อตาแม่ยาย ในคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ห้องเปิงถือว่าเป็นห้องพระ หรือห้องเก็บของรักษา ห้องศักดิ์สิทธิ์ และห้องนอนพ่อตาแม่ยายไม่ควรเข้าไป เป็นการแสดงอาการเคารพ มารยาทสังคม)
  • อย่านั่งขวางประตู
  • อย่านั่งขวางบันได มันคะลำ
  • อย่าเดินกระทืบเรือนเสียงดัง มันคะลำ
  • อย่าเล่นหมากเก็บ เสือกินหมูในบ้าน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เนื่องจากเป็นการละเล่นในงานศพ จึงไม่เหมาะสม เป็นลางไม่ดี และสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น)
  • ผู้หญิงร้องเพลงในครัว มันคะลำ จะได้ผัวคนเฒ่าคนแก่
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทอันเหมาะสม)
  • อย่านอนใต้ขื่อบ้าน จะคะลำ
  • อย่าเต้ากระโดดขาเดียวในบ้าน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้ม เสียงดังก่อความรำคาญรบกวนคนอื่น และไม่มีมารยาท)
  • อย่านั่งห้อยขาลงข้างล่าง
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีการหยอกล้อดึงขากันเล่น ตกลงมาบาดเจ็บได้รับอันตรายได้)
  • อย่าเอามีดฟันต้นเสาบ้าน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการทำลายสิ่งของ และเสียงดังรบกวนคนอื่น)
  • อย่าข้ามบันไดทีละหลายขั้น มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจพลาดตกลงมาเป็นอันตรายได้)
  • อย่าแบกฟืนขึ้นเฮือน มันคะลำ
  • อย่าเล่นงัวตึงตังเทิงเฮือน มันคะลำ
  • ห้อยโหนประตูบ้าน คะลำ
  • เปิดหน้าต่างบ้านนอน คะลำ
  • ใช้เท้าเปิด ปิดประตู คะลำ
  • เอาผ้าถุงพาดตากหน้าต่างเรือน คะลำ
  • รวมทั้งข้อปฏิบัติเมื่อไปยังสถานที่ต่างๆ ห้ามไปล่วงกระทำหรือไม่นำพาแล้ว ถือว่าเป็นคะลำ

3diamondข้อคะลำเกี่ยวกับสถานที่อื่นๆ

  • เข้าวัดเว้าเสียงดัง มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ให้สำรวม เป็นมารยาทสังคม)
  • ขี่ม้าเข้าในเขตวัด คะลำ
  • เลี้ยงวัว ควายในวัดคะลำ
  • ผู้หญิงอย่าไปม่อ(ใกล้)พระ มันคะลำ
  • อย่านั่งเบาะพระ มันคะลำ
  • อย่าอุ้มลูกใส่บาตร มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เด็กอาจปัดข้าวของเสียหาย ตกหล่นได้ รวมทั้งไม่เหมาะสม)
  • บ่ให้ครุบเซิงเอาที่วัด มันคะลำ
  • บ่ให้นั่งขัดสมาธิเวลาฟังเทศน์
  • ใส่หมวก โพกผ้าเข้าวัด คะลำ มันสิหัวล้าน
  • ยิงนกในบริเวณวัด คะลำ
  • สวมรองเท้าเวลาตักบาตร และสรงน้ำพระ คะลำ
  • หนุ่มสาวพลอดรักกันในวัดและสถานที่สักการะบูชา คะลำ
  • ขณะพายเรือไปหลายๆคนห้ามพูดตลกขบขัน คะลำ
  • เข้าป่าอย่าพูดถึงสัตว์ร้าย คะลำ
  • เข้าป่าได้ยินเสียงร้องเรียกชื่อตนเองห้ามขานรับ
  • บ่ให้เยี่ยวลงน้ำ มันคะลำ
  • บ่ให้ตัดต้นไม้ดอนปู่ตา คะลำ
  • อย่าลากไม้ในป่า คะลำ
  • ปัสสาวะลงน้ำ มันคะลำ
  • ซักผ้าในแม่น้ำ คะลำ

 next greenคลิกไปดู คะลำ ขะลำ หน้าที่ 2 

redline

backled1

khmer words

ภาษาเขมร เรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านใกล้กัน เผื่อไปเที่ยวจะได้พอฟังรู้เรื่อง สื่อสารกันได้บ้าง บอกก่อนว่า ผู้ทำเว็บไซต์นี้ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาเขมรเลยแม้แต่น้อย แต่สนใจใคร่รู้อยากทราบมากเพราะเคยไปเที่ยมเสียมเรียบ นครวัด นครธม โตนเลสาป มาแล้วใบ้กิน อาศัยไกด์ทัวร์อย่างเดียวเลย วันนี้ได้รับการอนุเคราะห์จาก ครูเหลิม (นายเฉลิมชัย ถึงดี ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา สุรินทร์ เขต 3) ส่งคลิปการเรียนรู้ภาษาเขมรวันละคำมาให้เผยแพร่ ขอบคุณอย่างยิ่งครับ

ความตั้งใจของผม(ผู้จัดทำเว็บไซต์นี้)นั้น ต้องการจะเผยแพร่งานอันเป็นศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสาน คนอีสานมีการใช้ภาษาถิ่นหลากหลาย ซึ่งก็รวมทั้งภาษาเขมร ลาว ส่วย และภาษาชนเผ่าอื่นๆ อีกมากมาย ค้นหามาได้ก็อยากบันทึกไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ ต้องขอขอบคุณผู้ที่อนุเคราะห์ส่งเสริมข้อมูลความรู้ต่างๆ ไว้เป็นอย่างยิ่งครับ

ภาษาเขมร (ភាសាខ្មែរ ภาสาแขฺมร) เป็นหนึ่งในภาษาหลักของภาษากลุ่มออสโตรเอเซียติก และได้รับอิทธิพลมาจากภาษาสันสกฤต และภาษาบาลี พอสมควร ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้ มาจากอิทธิพลของศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู ต่อวัฒนธรรมของชาวเขมร ในขณะที่อิทธิพลอื่นๆ เช่น จากภาษาไทย และภาษาลาว เป็นผลมาจากการติดต่อกันทางด้านภาษา และความใกล้ชิดกันในทางภูมิศาสตร์

คืนลับฟ้า kernlabfar โดย เจน สายใจ (นักร้องไทย)

จากคลิปวีดิโอด้านบนนี้ คงทำให้ใครหลายคนสนใจอยากเรียนรู้ภาษาเขมรได้บ้าง ด้วยความไพเราะของบทเพลงทั้งเนื้อหาและท่วงทำนอง "คืนลับฟ้า" ในภาคภาษาไทยส่วนมากจะรู้จากการขับร้องของต้นฉบับ คุณเหลือง บริสุทธิ์ และต่อมาก็มีเพลงแก้ที่ขับร้องโดย เจน สายใจ นักร้องสาวชาวสุรินทร์ (ที่ชาวเขมรในอินเทอร์เน็ตทั่วโลกโหวตยกย่องให้เธอเป็น "นักร้องกันตรึมในดวงใจ" ชนะขาด เอื้อน สเรย์มัม นักร้องสาวคนดังชาวเขมรเสียอีก) ที่เอามาให้ชมข้างต้น ที่มีการใส่เนื้อร้องแบบคาราโอเกะให้ได้รับรู้กัน น่าสนใจครับ

ภาษาถิ่น ที่เป็นการพูดจาในประเทศเขมรเอง ก็มีสำเนียงต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละพื้นที่ มีข้อแตกต่างที่สังเกตเห็นได้ระหว่างคนจากเมืองพนมเปญ (เมืองหลวง) และเมืองพระตะบองในชนบท โดยภาษาเขมรจะแบ่งเป็นภาษาถิ่นได้ 5 ถิ่น ได้แก่

  • สำเนียงพระตะบอง พูดทางแถบภาคเหนือของประเทศกัมพูชา
  • สำเนียงพนมเปญ เป็นสำเนียงกลางของกัมพูชา เช่นเดียวกับสำเนียงภาษาไทยกลาง (กรุงเทพฯ) ของไทย โดยจะพูดในพนมเปญ และจังหวัดโดยรอบเท่านั้น
  • สำเนียงเขมรบน หรือสำเนียงเขมรสุรินทร์ พูดโดยชาวไทยเชื้อสายเขมรในแถบอีสานใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
  • สำเนียงแขมรกรอม หรือภาษาเขมรถิ่นใต้ พูดโดยชาวเขมรที่อาศัยแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม
  • สำเนียงคาร์ดามอน ถือเป็นภาษาถิ่นที่ใช้พูดทางภาคตะวันตกของประเทศกัมพูชา มีผู้ใช้ในแถบเขาคาร์ดามอน (เทือกเขากระวาน) และมีผู้ใช้จำนวนน้อย

ลักษณะของสำเนียงในพนมเปญ คือ การออกเสียงอย่างไม่เคร่งครัด โดยที่บางส่วนของคำจะนำมารวมกัน หรือตัดออกไปเลย เช่น "พนมเปญ" จะกลายเป็น "มเปญ" อีกลักษณะหนึ่งของสำเนียงในพนมเปญ ปรากฏในคำที่มีเสียง r/ร เป็นพยัญชนะที่ 2 ในพยางค์แรก กล่าวคือ จะไม่ออกเสียง r/ร ออกเสียงพยัญชนะตัวแรกแข็งขึ้น และจะอ่านให้มีระดับเสียงตก เช่นเดียวกับวรรณยุกต์เสียงโท ตัวอย่างเช่น "dreey" ("เตรย" แปลว่า "ปลา") อ่านเป็น "เถ็ย" (โดย d จะกลายเป็น t และมีสระคล้ายเสียง "เอ" และเสียงสระจะสูงขึ้น) อีกตัวอย่างหนึ่งคือ คำว่า "ส้ม" ออกเสียงว่า kroich โกรช ในชนบท ส่วนในเมืองออกเสียงเป็น koich โคช

ภาษาเขมรวันละคำ โดย เฉลิมชัย ถึงดี

ไวยากรณ์ ลำดับคำในภาษาเขมรมักจะเป็น ประธาน-กริยา-กรรม ภาษาเขมรประกอบด้วยคำเดี่ยวเป็นหลัก แต่การสร้างคำจากการเติมหน้าคำ และการเติมภายในคำก็มีมาก ซึ่งไวยากรณ์นี้เป็นไวยากรณ์ชนิดเดียวกับภาษาไทยอีกด้วย

อักษรเขียน ภาษาเขมรเขียนด้วยอักษรเขมร และเลขเขมร (มีลักษณะคล้ายเลขไทย) ใช้กันทั่วไปมากกว่าเลขอารบิก ชาวเขมรได้รับตัวอักษรและตัวเลขจากอินเดียฝ่ายใต้ อักษรเขมรนั้นมีด้วยกัน 2แบบ

  • อักษรเชรียง (อักซอเจรียง) หรืออักษรเอน หรืออักษรเฉียง เป็นตัวอักษรที่นิยมใช้ทั่วไป เดิมนั้นนิยมเขียนเป็นเส้นเอียง แต่ภายหลังเมื่อมีระบบการพิมพ์ ได้ประดิษฐ์อักษณแบบเส้นตรงขึ้น และมีชื่ออีกอย่างว่า อักษรยืน (อักซอโฌ) อักษรเอนนี้เป็นตัวยาว มีเหลี่ยม เขียนง่าย ถือได้ว่าเป็นอักษรแบบหวัด
  • อักษรมูล หรืออักษรกลม เป็นอักษรที่ใช้เขียนบรรจง ตัวกว้างกว่าอักษรเชรียง นิยมใช้เขียนหนังสือธรรม เช่น คัมภีร์ในพระพุทธศาสนา หรือการเขียนหัวข้อ ที่ต้องการความโดดเด่น หรือการจารึกในที่สาธารณะ

และอีกแบบ คือ Romanization เขียนภาษาเขมรด้วยอักษรโรมัน ในสมัยก่อน มีผู้นิยมใช้อักษรเขมรเขียนภาษาไทย หรือภาษาบาลี ด้วย เรียกอักษรอย่างนี้ว่า อักษรขอมไทย

khmer alphabet

พยัญชนะเขมร และคำอ่านตัวอักษรเขมร ในภาษาเขมร (ภาษากัมพูชา) พบว่ามีหลายตัวที่มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรไทย - ตัวอักษรลาว - ที่มา : http://www.anantasook.com

khmer vowel

สระเขมร และคำอ่านสระในภาษาเขมร (สระในภาษากัมพูชา) ประกอบด้วย สระลอย (สระที่ไม่ประกอบกับพยัญชนะ) และ สระจม (สระที่ต้องประกอบพยัญชนะ) - ที่มา : http://www.anantasook.com/khmer-language-alphabet-vowel-number

คลิป พยัญชนะภาษาเขมร

สำหรับท่านที่สนใจอยากไปเที่ยวเสียมเรียบ ตอนนี้มีบริการรถประจำทางระหว่างประเทศจากไทยไปเสียมเรียบแล้วนะครับ สนใจดูคลิปข้างล่างนี้ได้เลย

 

รถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศ

คลิปสอนภาษาเขมรจาก กรมประชาสัมพันธ์ ก็น่าสนใจดีครับ ถ้าชมแล้วต้องการติดตามให้ Login เข้าระบบด้วยอีเมล์ของ Gmail คลิก! ติดตามรายการใน Youtube เหล่านี้จะแจ้งเตือนเมื่อมีคลิปใหม่ๆ ครับ

สนุกกับภาษาเขมร

รายการพันแสงรุ้ง ตอน ภาษาเขมรถิ่นไทย เรื่องน่ารู้ของการใช้ภาษาเขมรของคนไทยในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ

รายการพันแสงรุ้ง ตอน เขมรถิ่นไทย

สนใจต้องการศึกษาเพิ่มเติมเชิญที่ Facebook : เรียนภาษาเขมรกับ khmersren.com หรือที่เว็บไซต์ www.khmersren.com/ ของคุณวิจิตร วิทยา

ปิดท้ายหน้านี้ด้วย แหล่งดาวน์โหลดคู่มือ "การอ่านภาษาเขมรเบื้องต้นด้วยตนเอง" จาก สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 7 คลิกเลยครับ

lilred

backled1

"ภาษาพูด" หรือ "ความเว้า ความจา" ของคนอีสานในแต่ละท้องถิ่นจะมีสำเนียงที่แตกต่างกัน จริงๆ คำว่า "ภาษาอีสาน" นั้นไม่มีอยู่จริง มีแต่ "ภาษาพูดของคนในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)" ซึ่งมีทั้ง 'ภาษาลาว' (คล้ายคลึงกับภาษาของผู้คนที่ใช้สื่อสารกันใน ประเทศ สปป.ลาว แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด เพราะคนลาวเองก็มีสำเนียงที่แตกต่างกันทั้งทางลาวภาคเหนือ กลาง ใต้ หลายสำเนียง และชนเผ่าต่างๆ แต่ก็สื่อสารกันได้) ภาษาเขมร ส่วย เยอ และภาษาของชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ [ อ่านเพิ่มเติม : ชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยในอีสาน ]

isan words

ทั้งนี้ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ถิ่นที่อยู่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับถิ่นใด เช่น แถบจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มีชายแดนติดกับเขมร สำเนียงและรากเหง้าของภาษาก็จะมีคำของภาษาเขมรปะปนอยู่ด้วย ทางด้านจังหวัดสกลนคร นครพนม หนองคาย เลย ก็จะมีอีกสำเนียงหนึ่ง อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ก็อีกสำเนียงหนึ่ง ขึ้นอยู่กับชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงมีความคล้ายกันก็คือ ลักษณะของคำและความหมายต่างๆ ที่ยังคงสื่อความถึงกันได้ทั่วทั้งภาค

หลังจากได้นำเสนอ "คำและความหมาย" ในคำพูด การสื่อสารของคนในภาคอีสานกันมาเป็นเวลานานพอสมควร ก็มีแฟนๆ ส่วนหนึ่งสนใจอยากจะเรียนรู้มากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้ 'คนอีสาน' ได้กระจัดกระจายไปอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ตลอดทั้งความเจริญอย่างรวดเร็วของการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อจากวิทยุ-โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน มีการนำเสนอละครที่สะท้อนชีวิตคนอีสานอย่างเรื่อง "นายฮ้อยทมิฬ" ของลุงคำพูน บุญทวี การที่ศิลปินชาวอีสานนำเสนอบทเพลงอีสานโด่งดังไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะ "เพลงลูกทุ่งอีสานอินดี้" ทำให้มีหลายๆ ท่านอยากจะรู้ว่า คำที่ปรากฏในเนื้อเพลงเหล่านั้นมีความหมายอย่างไร วันนี้ก็เลยขอนำเสนอบทเรียน "ภาษาอีสานจากเพลง" ขึ้นอีกส่วนหนึ่ง

เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลความรู้ไว้อ้างอิงทางวิชาการ สำหรับการสืบค้นหาคำ และความหมายของภาษาอีสานเป็น ภาษาไทยกลาง และภาษาอังกฤษ จึงได้จัดทำระบบสืบค้นออนไลน์ "สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ" ขึ้น ขณะนี้ได้จัดทำให้บริการครบถ้วนแล้วทุกหมวดอักษร

dict header logo

ตอนจัดทำถึงหมวดอักษร 'ด. เด็ก' นี่แหละที่ทำให้ผมรู้ว่า ตัวเองยังไม่รู้จักความหมายของคำที่พูดในภาคอีสานอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะคำบางคำมีความหมายต่างกันมากกว่า 20 ความหมาย ใช้เวลาการดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลอยู่หลายปี เนื่องจากมีคำเป็นจำนวนมาก เลยต้องใช้เวลาเพราะให้คนอื่นช่วยทำแล้วยิ่งยุ่งกว่าเดิมคือ จากความไม่เข้าใจในภาษาอีสาน (ของผู้มาช่วยป้อนข้อมูล) คิดว่าในหนังสือพิมพ์ตก พิมพ์หล่น ก็เลยจัดการแก้ไขให้เสียเลย ทำให้เสียเวลาในการตรวจสอบความถูกต้อง มากกว่าป้อนคำเองเสียอีก จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ ด้วยการเลือกคำศัพท์ที่เป็นภาษาอีสานแท้ๆ มานำเสนอก่อน ที่เหลือค่อยเพิ่มเติมให้ครบถ้วนจนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว (แต่ก็อาจจะยังมีหลงเหลือคำผิดอยู่บ้าง ถ้าหากท่านพบเห็น สงสัย ก็กรุณาช่วยแจ้งกันเข้ามาได้นะครับ จะได้ปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป)

word new

  • ภาษาไทย (กลาง) ในภาษาอีสาน เนื่องจากการขยายตัวของการคมนาคม เศรษฐกิจ การศึกษาจากกรุงเทพฯ สู่หัวเมืองอีสาน ทำให้เกิดการหยิบยืมคำมาใช้ผสมปนเปกันไป บางคำในอีสานเป็นชื่อสามัญออกเสียงสำเนียงกันปรกติทั่วไป แต่คนทางภาคกลาง หรือภูมิภาคอื่นๆ อาจจะเข้าใจว่าเป็นคำหยาบโลน หรือบางคำนั้นในภาษาอีสานอาจจะมีความหมายได้กว้างไกลกว่า เช่น "เปิด" ในภาษากลางคือ เผยออก แย้มออก ตรงข้ามกับ "ปิด" แต่ในภาษาอีสานนั้นยังมีความหมายไปถึง เบื่อหน่าย เปิดหน่าย ได้อีก
    im and kwai
  • เรื่องเสียวสวาทหรืออีโรติกในวัฒนธรรมอีสาน ชื่อ-ที่มาของคำในภาษาอีสาน ความหมายที่ต้องทำความเข้าใจให้ดี ก่อนจะออกความเห็นในแง่ลบ
  • เสี่ยว หมายถึง สหาย, มิตร, เพื่อน, เกลอ (friend, buddy, comrade.) คนที่มีรูปร่างหรือ นิสัยใจคอเหมือนกัน หรือเกิดไล่เลี่ยกัน พ่อแม่ผูกให้เป็นมิตรกัน เรียกว่า "ผูกเสี่ยว" ซึ่งเขาทั้งสองจะผูกสมัครรักใคร่ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลจนวันตาย หรือจะเรียกว่า "เป็นเพื่อนตาย" ก็ยังได้

    "ประเพณีผูกเสี่ยว" เป็นงานที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีที่จังหวัดขอนแก่นนะครับ

  • คำว่า "บักเสี่ยว" ที่คนในภาคอื่นนำมาใช้เรียกคนอีสานอย่างดูแคลนจึงไม่ถูกต้อง เพราะ คำว่า "บัก" เป็นคำนำหน้านาม "นาย" ที่ใช้เรียกชื่อชายที่มีอายุเสมอกัน หรือต่ำกว่ากันว่า บักสี บักสา บักมี บักมา (นายสี, นายสา, นายมี, นายมา) ถือเป็นคำพูดพื้นๆ ไม่หยาบคายแต่อย่างใด คำว่า "บักสี่ยว" จึงหมายถึงการเรียกว่า ไอ้เพื่อนเกลอ ก็เท่านั้นเอง

  • "บักหำ" คำภาษาอีสานของผู้ใหญ่เรียกผู้น้อย อย่างเอ็นดู [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมแบบเจาะลึก ได้ที่นี่เลย "บักหำ" ]
    ham 01
  • ไท มีความหมายเป็น 2 นัย คือ
    1. ไท อย่างแรก แปลว่า "ชาว" หรือ "ผู้ที่อยู่" คนในถิ่นที่เอ่ยนามหลังคำว่าไท เช่น ไทอุบลฯ ก็หมายถึง ชาวอุบลฯ ไทบ้าน หมายถึง ชาวบ้าน ไทบ้านได๋ หมายถึง คนบ้านไหน ไทแขก หมายถึง ผู้ที่มาเยือน ซึ่งมักจะไม่ใช่ญาติพี่น้อง และมักจะเป็นบุคคลที่มาจากต่างถิ่น ไม่ได้หมายถึงคนที่เป็นลูกครึ่งไทยผสมอินเดีย หรืออาหรับแต่อย่างใด

    2. ไท อย่างที่สอง หมายถึง ชนชาติไท เป็นชนชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน จีนตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า (รัฐฉาน) รัฐอัสสัมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (ไทอาหม) เอกลักษณ์ของชนเผ่านี้คือ ผู้หญิงตั้งแต่วัยเริ่มเข้าเรียนจะนุ่งผ้าซิ่นแบบป้าย ผ้าซิ่นนี้จะเอาผ้าเป็นผืนมาเพลาะให้เป็นถุงที่ไม่มีก้นถุงก่อน แล้วจึงนุ่งป้ายทบไปเหน็บที่เอวข้างใดข้างหนึ่งของผู้นุ่ง (ไม่ได้นุ่งแบบจีบหน้านางของนางรำละคร หรือพันเฉวียงตัวอย่างส่าหรีของอินเดีย)
  • อ่านสมุดเยี่ยมวันนี้มีผู้ลงนามที่ใช้ชื่อ นางน้อย อยากทราบความหมายของคำว่า สุดสะแนน ก็เลยเอามาบอกกันครับ
    สุดสะแนน ชื่อทำนองเป่าแคนชนิดหนึ่ง เรียก ลายสุดสะแนน ทำนองเป่าแคนโบราณมีหลายชนิด (ทำนอง) แต่ละชนิดเรียก ลาย เช่น ลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย ลายส้อยใหญ่ ลายส้อยน้อย ลายยาว ดังนั้นเมื่อนำเอาคำนี้ไปใช้ จึงมีความหมายว่า มีความสนุกสนานอย่างยิ่ง (ม่วนหลาย)

    แต่ถ้าเอาความหมายเฉพาะของคำว่า สะแนน จะแปลว่า เตียง เตียงสำหรับผัวเมียนอนเรียกว่า สะแนน หรือแคร่สำหรับนอนย่างไฟของแม่ลูกอ่อนอยู่กรรมก็เรียกว่า สะแนน เช่นเดียวกันครับ

  • ม้ม เป็นคำของคนไทยเชื้อสายลาว และพี่น้องลาวหลุ่มใน สปป.ลาว และไทพวนในทั้งสองประเทศ (ไทยและสปป.ลาว) คำว่า "ม้ม" หมายถึง หลุด พ้น, ผ่านพ้น, รอดพ้น เช่น ทุกคน เกิดมาก็ต้องม้มต่งซิ่น (เกิดมาก็ต้องพ้นชายผ้าถุงของมารดามาทุกคน ยกเว้น ผู้ที่คลอดโดยหมอผ่าตัดออกมา) สมัยก่อนแม่มาน (ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์) จะคลอดในท่านั่งคุกเข่า แล้วใช้มือทั้งสองข้างโหนเหนี่ยวผ้าขาวม้าของสามี ที่ผูกไว้อย่างแน่นหนากับขางเฮือน (ขื่อบ้าน) เผื่อ เวลามีลมเบ่งจะได้ใช้มือเหนี่ยวยึดผ้าเอาไว้

    ม้มมื้อนี่แล้วไข้กะคือสิส่วง (พ้นวันนี้ไปแล้วไข้ก็คงจะสร่าง) หรืออย่างประโยคที่ว่า หั่นหว่าอยู่ หว่ามันสิบ่ม้มมือผ่อ (ว่าแล้วไง ว่ามันจะไม่พ้นมือพ่อที่ต้องทำ) หรือ หนีบ่ม้ม (หนีไม่พ้น)

  • ผ่านมาหลายปีแล้วครับ (จากปี 2000 นี่ก็เข้าปี 2020 แล้ว) แม้จะได้รับการนั่งยันนอนยันจากรัฐบาลว่า เศรษฐกิจฟื้นแล้ว ผมก็ยังอยากขอให้ทุกท่าน ม้มปีนี้ไปแบบหม่อนๆ นะครับ (จงผ่านพ้นภัย เศรษฐกิจไปอย่างราบรื่นตลอดปีครับ อีกปีเถอะน่า)

  • มีคำถามจากแฟนเพลงลูกทุ่งท่านหนึ่ง สอบถามถึงคำในเพลงของคุณฝน ธนสุนทร มาครับ ก็เลยนำมาแนะนำในที่นี้ครับ
    • จ่างป่าง (ว.) สว่าง, โล่ง ท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆหมอก มองไปทางไหนก็แจ้งสว่าง เรียก แจ้งจ่างป่าง bright, clear (of clouds)
    • แจ่งแป่ง เป็นสร้อยคำ ใช้คู่กับจ่างป่าง เช่น แจ่งแป่งจ่างป่าง
    • จิ่งปิ่ง (ว.) รูขนาดเล็กเรียก ฮูจิ่งปิ่ง ถ้ารูขนาดใหญ่เรียก ฮูจึ่งปึ่ง small (hole)
    • โจ่งโป่ง (ว.) ลักษณะของรูที่ใหญ่ มองเห็นทะลุตลอด เรียก ฮูโจ่งโป่ง gaping and penetrating (of hole)
  • คะลำ ผิด บาป กรรม สิ่งใดที่ทำลงไปแล้วผิดจารีตประเพณี ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ ผิดต่อ ศีลธรรม ในทางพระศาสนา จะมีโทษมาก โทษน้อย หรือไม่มีโทษ แต่สังคมรังเกียจสิ่งนั้น เรียก คะลำ เช่น ของมันผิดอย่าได้กระทำ ของคะลำอย่าได้ไปต้อง ของพี่น้องอย่าได้ไปซูน เรื่องราวของคะลำยังมีอีกมาก [ ลองคลิกไปอ่านดูเพิ่มเติมกันครับ ]

มีคำถาม มาจากเยาวชนรุ่นหลัง (ลูกอีสานบ้านเฮานี่หละ) ว่า ได้เบิ่งรายการ "เกมทศกัณฑ์ ยกสยาม ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี" ว่ามีการถามถึงความหมายคำศัพท์ภาษาอีสานว่า "ส้วม" หมายถึงอะไร ในคำตอบวันนั้นเฉลยว่า หมายถึง ห้องนอน คนรุ่นผู้ใหญ่อย่างผมนี่ คงไม่สงสัยอะไร แต่รุ่นหลังข้องใจมาก ถึงกับก่นด่ารายการ และตัวพิธีกร คุณปัญญา นิรันดร์กุล ว่าไปเอาคำเฉลยมาจากไหน ไม่เคยได้ยินมาก่อน แบบนี้ดูถูกคนอีสานชัดๆ

suam na baan

เขาดูถูกเราจริงๆ คือ ส้วม หมายถึง ห้องนอน ถูกต้องแล้วคร๊าบ... แต่ห้องนอนที่ว่านี่เฉพาะเจาะจง ต้องเป็นห้องนอนของลูกสาวและลูกเขยนะครับ คงจะเคยได้ยินภาษิตที่ว่า มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน อย่าเข้าใจผิดว่า "สิมีไผแวะมาขี้ใส่ส้วมหน้าบ้าน แล้วบ่ล้างเด้อ... อาว" [ ไปอ่านเพิ่มเติม : เฮือนอีสาน ]

ความหมายของภาษิตนี่หมายถึง ต้องคอยระมัดระวัง ไม่ให้ไอ้หนุ่มหน้าไหนมาแอบ 'เจาะไข่แดง' ลูกสาว ก่อนเวลาอันสมควร เพราะถ้าเฝ้าไม่ดีอาจมีเสียงนินทาว่าร้ายในภายหลังได้ว่าลูกบ่มีพ่อ มาที่คำว่า "ส้วม" จากหนังสือ สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง ให้ความหมายของส้วมไว้ ดังนี้

ส้วม น.๑
ห้องนอน เรียก ส้วม ห้องนอนที่กั้นไว้เพื่อให้ลูกสาวลูกเขยนอน เรียก ส้วม อย่างว่า กูจักนอนในส้วมปักตูเฮือนอัดหี่ (กาไก่). bedroom.
ส้วม น.๒
ห้องน้ำ ห้องที่กั้นไว้เพื่ออาบน้ำ เรียก ส้วม ส้วมน้ำอาบ ก็ว่า อย่างว่า นางนาฏน้อยเมือส้วมอาบสี (สังข์). bathroom.

เรื่องเหล่านี้ ถ้ายังบ่ฮู้ให้ค้นหา บ่แน่ใจให้สอบถามผู้ฮู้กันเสียก่อน อย่าฟ้าวตีโพยตีพาย มันสิขายหน้าฅนเป็น 'ลูกอีสาน' ขนานแท้ซั่นดอกวา...

อ้างอิงจากหนังสือ "สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ"
โดยปราชญ์อีสาน คุณพ่อ ดร. ปรีชา พิณทอง

pang ngang

นอนหงายป่างง่าง ซำบายปานหมา

คำพูดของฅนอีสานกับความหมาย (ที่น่าสนใจ)

ทางทีมงานได้รวบรวมเอาคำจากที่เคยโพสต์ในเพจเฟซบุ๊คเกี่ยวกับ "ภาษาอีสานวันละคำ" มารวมไว้ที่นี่ เพื่อให้ค้นหาย้อนหลังได้ง่ายขึ้น

redlineภาษาอีสานตามหมวดอักษร | ภาษาอีสานจากเพลง | ภาษาเขมร | Isan Dictionary Online 

dict header logo

ข้อมูลคำศัพท์นี้นำมาจาก หนังสือสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ของ คุณพ่อ ดร.ปรีชา พิณทอง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2532   แปลและให้ความหมายคำเป็นภาษาอังกฤษ โดย คุณแซม แมททิกซ์ (Samuel A. Mattix) ชาวอเมริกัน ที่เข้ามาสอนศาสนาที่จังหวัดนครพนม เป็นเวลาหลายปี คุณแซมเข้าใจภาษาอีสาน และพูดภาษาอีสานได้ดีเหมือนคนอีสานทีเดียว

การนำเสนอคำศัพท์เหล่านี้อาจจะยังไม่ครบถ้วนมากนัก ถ้าท่านใดค้นหาคำใดไม่เจอ อาจจะไม่มีในฐานข้อมูลนี้ อยากทราบความหมาย ก็สอบถามมายังmail webmasterจะค้นคว้าหาคำตอบมาเพิ่มเติมให้ ในสารานุกรมชุดนี้นั้น ถ้าหากท่านได้ค้นหาอย่างครบถ้วนแล้ว จะพบว่า เน้นไปในทางศาสนาพุทธมากทีเดียว มีคำเกี่ยวกับพระสงฆ์มาก เนื่องจากการจัดทำสารานุกรมนี้เริ่มทำในสมัยที่คุณพ่อปรีชา พิณทอง ยังบวชอยู่ในร่มกาสาวพัตร์ ท่านสอบได้เปรียญเก้าประโยค ซึ่งถือว่าเป็นเปรียญสูงสุดของฝ่ายสงฆ์ ได้รับการยกย่องจากทุกสารทิศในวงการสงฆ์ เพราะเป็นพระชนบทที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนในสำนักกรุงเทพฯ แต่สอบได้ สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือ เจ้าคุณพระศรีธรรมโสภณ

ภาษาอีสานนั้นมีคำพูดที่หลากหลาย คำคำเดียวอาจมีความหมายได้หลายอย่าง บรรดาคำเหล่านี้ล้วนเป็นคำเก่าทั้งสิ้น บางคำยังใช้กันอยู่ บางคำเกิดขึ้นใหม่ บางคำหมุนเวียนเปลี่ยนไป บางคำเสื่อมสิ้นไปสูญหายไปเหมือนคน เพราะเกิดนาน จะมีหลงเหลืออยู่บ้าง ก็ในวรรณคดีอีสานเก่าๆ อักษรย่อที่ใช้ในสารานุกรมจะมีความหมายดังนี้

บัญชีอักษรย่อที่ใช้ในสารานุกรมนี้

  1. อักษรย่อในวงเล็บ ที่บอกที่มาของคำ
    ข. = เขมร       ป. = ปาลิ (บาลี)       ป., ส. = บาลี, สันสกฤต       จ. = จีน         ส่วย = ส่วย       อ. = อังกฤษ
    ญวณ = ญวณ
  2. อักษรย่อหน้าบทนิยาม บอกชนิดของคำตามหลักบาลีไวยากรณ์
    ก. = กริยา (verb)
    น. = นาม (noun)
    บ. = บุรพบท (preposition)
    ว. = วิเศษณ์ (คุณศัพท์หรือกริยาวิเศษณ์) (modifier)
    ส. = สรรพนาม (pronoun)
    สัน. = สันธาน (conjunction)
    อ. = อุทาน (exclamation)
  3. คำในวงเล็บท้ายตัวอย่างที่ยกมา บอกหลักฐานที่อ้างอิง ซึ่งมีชื่อเต็มดังนี้
    (กลอน) = คำกลอน
    (กล่อมลูก) = คำกล่อมลูก
    (กา) = กาฬเกษ
    (กาไก) = ท้าวกาไก
    (กาเผือก) = ท้าวกาเผือก
    (กาพย์ปู่) = กาพย์ปู่สอนหลาน
    (คำสอน) = ท้าวคำสอน
    (จำปา) = จำปาสี่ต้น
    (เชตพน) = เรื่องวัดเชตพน
    (เซิ้งกลอง) = เซิ้งตบกลอง
    (เซียงเหมี้ยง) = หนังสือเซียงเหมี้ยง
    (นกจอกน้อย) = ท้าวนกจอกน้อย
    (นิทาน) = นิทานพื้นบ้าน
    (บ) = คำโบราณ
    (บัง) = บังรหัส
    (ปฐมปนา) = ปฐมปนา
    (ประเพณี) = ประเพณีโบราณไทยอีสาน
    (ประวัติอุบล) = ประวัติเมืองอุบล
    (ปริศนา) = ปัญหาคดีโลก
    (ปัสเสน) = พญาปัสเสนทิ์
    (ปัญหา) = ปัญหาคดีโลก
    (ปู่) = หนังสือปู่สอนหลาน
    (ผญา) = คำผญา (ภาษิตอีสาน)
    (ผอกผี) = ประเพณีผอกผี
    (ผาแดง) = ผาแดงนางไอ่
    (ผูกแขน) = ประเพณีผูกแขน
    (เพลง) = เพลงผู้ใหญ่ลี
    (ภาษิต) = ภาษิตอีสาน
    (มทรี) = มหาชาติกัณฑ์มทรี
    (มนต์) = มนต์โบราณอีสาน
    (มนต์ปลูกผม) = มนต์ทำให้ผมดก
    (มาลัยสูตร) = มาลัยสูตร
    (ขึ้นลำ) = ก่อนจะขึ้นกลอนลำ
    (ขุนทึง) = ขุนทึงนางนี
    (ขุนบุรม) = พื้นขุนบุรม
    (ขูลู) = ขูลูนางอั้ว
    (คชนาม) = ท้าวคชนาม
    (คลองสิบสี่) = คลองสิบสี่
    (ย่า) = ย่าสอนหลาน
    (ยามอัฏฐกาล) = ยามแปดในหมอดูโบราณ
    (สิน) = สินทอง
    (สืบ) = สิบพระสูรย์ สืบปสูญ
    (เวส) = เวสสันดร
    (เวส-กลอน) = เวสสันดรคำกลอน
    (สรรพสิทธิ) = สรรพสิทธิคำโคลง
    (สม) = สมที่คึด
    (สอย) = คำสอย
    (สังข์) = สังข์ศิลป์ชัย
    (สำ) = คำสำนวน
    (สิริจัน) = สิริจันโทวาท
    (สุด) = สุดที่อ่าว
    (สุริย์วงศ์) = สุริย์วงศ์
    (สู่ขวัญ) = ประเพณีสู่ขวัญ
    (เสียว) = เสียวสวาสดิ์
    (โสกผู้ญิง) = โสกผู้หญิง
    (โสกวัน) = โฉลกวัน
    (โสวัตร) = ท้าวโสวัตร
    (อ่านเจือง) = อ่านหนังสือ
    (อิน) = อินทิญาณสอนลูก
    (หน้าผาก) = หน้าผากไกลกะดัน
    (หมอดู) = หมอดูโบราณอีสาน
    (หมาหยุย) = ท้าวหมาหยุย
    (หลาน) = กาพย์หลานสอนปู่
    (ฮุ่ง) = ท้าวฮุ่ง หรือ ท้าวเจือง

หากมีข้อบกพร่องด้วยการพิมพ์ผิด พิมพ์ตก พิมพ์หล่น ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ เนื่องจากข้อมูลคำศัพท์มีเป็นจำนวนมาก บางคำอาจเป็นคำเก่าที่ไม่มีใช้แล้วในปัจจุบัน (ซึ่งไม่ใช่การพิมพ์ผิด) บางคำพยายามพิมพ์ให้อ่านเหมือนกับ การเลียนเสียงสำเนียงภาษาอีสานแท้ๆ จนท่านอาจจะคิดว่าพิมพ์ผิดไป ถ้าท่านมีข้อสงสัย หรือจะทักท้วงที่ไหน อย่างไร ก็โปรดได้เสนอแนะไปที่mail webmasterจะขอบพระคุณยิ่งครับ

ต้องขอบคุณน้องๆ นักศึกษาฝึกงานจากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี และลูกศิษย์นักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช หลายๆ คนที่ช่วยกันป้อนข้อมูลคำศัพท์ และขอบคุณเป็นพิเศษ สำหรับโปรแกรมการสืบค้นด้วยภาษา ASP (ครั้งแรกทำเซิร์ฟเวอร์ด้วยวินโดว์เอ็นที 4) จาก นายต๋อง (อรรถกรณ์ ศรีณรงค์) แห่ง www.tongzweb.com และทำการดัดแปลงให้เป็นภาษา PHP + MySQL โดย นายกระป๋อง (พงษ์พันธ์ เพียรพาณิชย์) ลูกศิษย์รักอีกคน เพื่อให้ใช้งานกับเซิร์ฟเวอร์ลินุกส์ได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

และกราบขอบพระคุณอย่างสูง สำหรับบรรดาข้อมูลคำศัพท์เหล่านี้จากคุณพ่อ ดร.ปรีชา พิณทอง ที่ได้ศึกษาค้นคว้ารวบรวมไว้ให้เราลูกหลานได้มีโอกาสเรียนรู้ และสืบสานเป็นมรดกทางวัฒนธรรมตลอดไป

หนังสือเล่มนี้ไม่มีการพิมพ์เพิ่มเติมเพื่อจำหน่ายอีกแล้วนะครับ เพราะค่าใช้จ่ายสูง ฉบับเดิมที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2532 ได้รับการสนับสนุนจากทาง มูลนิธิโตโยต้า (Toyota Foundation) ราคาเมื่อปีที่จัดพิมพ์คือ เล่มละ 300 บาท ราคาปัจจุบัน ผมเคยเจอที่ร้านขายหนังสือเก่าในตลาดจตุจักร เมื่อปี พ.ศ. 2550 ติดป้ายกระดาษเล็กๆ 1,500 บาท ท่านที่สนใจอยากได้คงต้องตามหาเอาจากแหล่งหนังสือเก่า โชคดีอาจพบเจอ 1 ใน 5,000 เล่มที่จัดพิมพ์ โดย ด่านสุทธาการพิมพ์ จัดจำหน่ายโดย สายส่งเคล็ดไทย

จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน กระผมผู้จัดทำเว็บไซต์นี้มีเพียงเล่มเดียวที่คุณพ่อ ดร.ปรีชา พิณทอง ได้กรุณามอบให้ เพื่อมาทำเป็นระบบออนไลน์เผยแพร่และไม่ขอจำหน่ายครับ (เป็นแรงบันดาลใจที่ได้จากคุณพ่อมาขอเก็บไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลาน)

กลับไปค้นหาคำในสารานุกรมอีกครั้ง

 

Subcategories

รวมผญา สุภาษิต และคำสอย

กลอนลำ

song word

เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง

ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร

กลอน ภาษิตโบราณอีสาน

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)