คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นิทานพื้นบ้านอีสานเรื่อง "ท้าวก่ำกาดำ" นี้ เป็นวรรณกรรมย้ำสอนให้คนเห็น "คุณค่าของคน" ไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา แต่ให้มองที่ความสามารถ ความช่างพูด กตัญญูรู้คุณ และได้พรรณนาความไพเราะของเสียง "แคน" ดนตรีมหัศจรรย์ไม้ไผ่ของไทอีสาน เรื่องย่อมีดังนี้
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองอินทปัตย์ มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง หลังจากอยู่กินร่วมชีวิตกันมาเป็นเวลานานหลายปี แต่หาได้มีบุตรไว้สืบสกุลไม่ สามีจึงปรึกษากับภรรยาว่า “แม่นอีนางเอย อ้ายเห็นว่าเฮาก็อยู่ฮ่วมกันมาดนนานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังบ่มีวี่แววได้ลูกน้อยจักเทื่อ อ้ายคืออยากมีลูกแท้ล่ะ แล้วน้องคึดจั่งใด๋” สามีถามทิ้งท้าย “คือกันนั่นแหล่วอ้าย การไม่มีลูกก็ส่ำกับขาดคนสืบเชื้อหน่อสายแนนแม่นบ่?” ภรรยาพูดเป็นเชิงถาม “ถ้าจั่งซั้นเฮาไปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอลูกกันดีบ่นาง” สามีชวนเมื่อรู้ว่าภรรยาเห็นดีด้วยที่จะมีบุตร “ไปกะไปอ้าย เผื่อเทวดาฟ้าดินเพิ่นสิเวทนาสองเฮาได้สมใจ” ภรรยาตอบตกลง… เมื่อมีความเห็นตรงกัน และตกลงร่วมกันเช่นนั้น ทั้งสองจึงไปบนบานต่อศาลเทพารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน
จากนั้นไม่นาน ภรรยาก็ตั้งครรภ์ และคลอดลูกออกมาเป็นลูกชาย แต่... แม้จะมีบุตรสมใจแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เป็นมารดามีความสุขเลย เพราะกุมารน้อยที่เกิดมานั้นมีผิวดำเหมือน "อีกา" จนชาวบ้านเอาไปซุบซิบนินทานางว่า “มันต้องไปสมสู่กับอีกาแน่ๆ ลูกจึงเกิดมาดำอย่างนั้น”… “ข้าว่าในอดีตมันต้องเป็นคนใจดำ อาจทำชั่วมาก่อนจึงได้ลูกดำมากขนาดนั้น” คำพูด คำนินทามีมากขึ้น ยิ่งนานวันการซุบซิบปากต่อมากกระทั่งพูดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้ผู้เป็นมารดารู้สึกอับอาย
เมื่อผู้เป็นมารดาก็รู้สึกละอายที่ต้องมีลูกชายรูปชั่วตัวดำ จนนางอดทนไม่ไหวถึงกับเอ่ยปากกับผู้เป็นสามีว่า “อ้ายเอย.. นางคือสิเลี้ยงลูกคนนี้บ่ไหวแล้ว เลี้ยงมันไว้ยิ่งนับวันก็ยิ่งอับอายขายหน้า ผู้คนในหมู่บ้านหาว่าน้องไปสมสู่กับอีกาจึงมีลูกตัวดำปี๋อย่างนี้ บางคนก็บอกว่าชาติก่อนน้องคงใจดำ ทำบ่ดีไว้หลายจนชาตินี้ได้ลูกดำคืออีกา” สามีไม่ปริปากว่าอะไร ได้แต่นั่งคิด ภรรยาเห็นสามีไม่พูดจาจึงปรึกษาว่า “นางว่าเอาลูกเฮาไปลอยแพถิ่มเสียดีบ่อ้าย”
เมื่อได้ยินคำว่า “เอาลูกไปทิ้ง” สามีก็เริ่มปริปากพูด “เขาจะพูดกันก็ช่างปะไร แกจะไปเดือดร้อนทำไม ถึงตัวมันดำ ก็มีแขนขาหูตาครบส่วนทุกอย่าง ถึงอย่างไรก็เป็นลูกเรา นี่แกคิดจะลอยแพลูกทิ้งเชียวเหรอ” ผู้เป็นสามีติงอยางไม่เห็นด้วยกับฝ่ายภรรยา
เมื่อเห็นสามีไม่เห็นด้วย จึงคิดกลอุบายหาทางกำจัดกุมารน้อยรูปชั่วตัวดำ โดยไปให้สินบนกับโหรทำนายทายทักไปในทางไม่ดี เพื่อให้สามีของนางเชื่อตามนั้น “อย่ากระนั้นเลย ข้าอายคนมาก ข้าต้องหาหาเอาลูกไปทิ้งให้ได้ เมื่อเขาไม่ยอมเราก็ควรหาวิธีอื่น วิธีที่ดีที่สุดก็คือให้โหรช่วยทำนายว่าลูกจะทำภัยพิบัติมาให้ แล้วเขาก็จะเชื่อ” นางวางแผน “อ้าย นางว่าเฮาไปปรึกษาพ่อโหรดีบ่” นางชวนสามี สามีคิดนิดหนึ่งแล้วตอบว่า “เออ…..ก็ดี เพราะโหรเขาจะรู้อนาคตได้ดี” แล้วทั้งสองก็ไปให้โหรทำนาย
เมื่อพ่อโหรถูกว่าจ้างติดสินบนไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อมาที่บ้านของสามีภรรยา ก็บอกให้นำกุมารน้อยมาไว้ตรงหน้า แล้วถามถึงเดือน/ปี/เกิด/เวลาตกฟาก ซึ่งฝ่ายผู้เป็นภรรยาก็บอกให้โหรทราบทุกประการ ส่วนผู้เป็นสามีคอยนั่งฟังโหรทำนายด้วยใจจดใจจ่อ เพราะเขารักและสงสารลูกชายตัวดำของเขามาก ผู้เป็นบิดาไม่เคยรังเกียจลูกเลย แม้จะเกิดมาตัวดำปี๋เหมือนอีกา หรือเหมือนถ่านก็ตามที ฝ่ายโหรเมื่อได้เวลาเกิดและยามตกฟากของกุมารผิวถ่านแล้ว ก็ทำทีขีดเขียนกระดานเพื่อคำนวณถึงดวงชะตาราษี
เขาจึงทำนายไปตามที่ได้รับสินบนตามต้องการของหญิงผู้เป็นแม่… “โอ้… กุมารน้อยตัวดำเกิดมาในฤกษ์เป็นกาลกิณีแท้ๆ จะนำภัยพิบัติมาสู่พ่อแม่ ขืนเลี้ยงไว้มีแต่จะทำให้ทุกข์ยากถึงขนาดพ่อแม่จะอายุสั้น ต้องพรากจากกันเลยทีเดียว กุมารน้อยช่างเกิดมามีกรรมน่าสงสารแท้ๆ” ตอนท้ายโหรแกล้งบีบเสียงให้สมจริงสมจัง
“นี่… พ่อโหรคำนวณไม่ผิดพลาดแน่นะ” ผู้เป็นพ่อสงสัย สงสารและเป็นห่วงลูกชายตัวดำ “รับรองว่าตรวจทานตามวันเวลาเกิด และเวลาตกฟากถูกต้องทุกประการ” โหรยืนยันตามเดิม
ผู้เป็นพ่อถึงจะรักและสงสารลูกน้อยตัวดำมากมายเพียงใด ก็มิอาจจะเลี้ยงได้แล้ว คำว่า “ภัยพิบัติ” และ “กาลกิณี” หมายถึงสิ่งชั่วร้ายจะต้องเกิดกับครอบครัว ไหนอายุพ่อแม่จะต้องสั้น ลูกอัปมงคลอย่างนี้คงเลี้ยงไว้ไม่ได้แล้ว กุมารน้อยตัวดำปี๋จึงลูกลอยแพทิ้งให้ลอยไปตามสายน้ำ แล้วแต่บุญกรรมนั่นแล้ว…
ร้อนไปถึงเทวดาบนสรวงสวรรค์ที่ทิพยอาสน์เคยอ่อนนุ่ม ก็กลับมาแข็งกระด้างร้อนดังไฟ ท่านจึงสอดส่องลงมายังโลกมนุษย์เบื้องล่าง ก็เห็นกุมารน้อยถูกลอยแพไหลไปตามกระแสน้ำ จึงได้ดลบันดาลให้แพลอยไปเกยตื้นใกล้กับอุทยานของพระราชา
บ่ายวันนั้น ย่าจำสวน (คนเฝ้าอุทยานของพระราชา) ลงมาอาบน้ำที่ท่าน้ำ ได้พบแพลอยน้ำใกล้เข้ามา ครั้นย่าจำสวนเพ่งมองลงไปในแพ เห็นกุมารน้อยตัวดำนอนดินกระแด่วอยู่ก็ดีใจ เพราะตัวเองก็ยังไม่มีลูก ทั้งที่อยู่กินกับสามีมาหลายปีแล้ว “โอ้…เจ้านี่เกิดมาตัวดำ ดำเหมือนอีกา แม่จะเลี้ยงเจ้าไว้ และจะตั้งชื่อให้นะ”… ย่าจำสวนนั่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ควรจะตั้งชื่ออย่างไรจึงจะสมรูปสมร่าง ในที่สุดก็คิดได้จึงร้องออกมาว่า…. “เออ…ข้าคิดออกแล้ว เจ้าเกิดมาตัวดำ ดำเหมือนกา ดำเหมือนถ่าน ชื่อว่า “ท้าวก่ำกาดำ” ก็แล้วกัน”
ท้าวก่ำกาดำเจริญเติบโตขึ้นมา เพราะคนเฝ้าอุทยานของพระราชาเลี้ยงดู จนกลายเป็นหนุ่มใหญ่ เขาเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยงานปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ในอุทยานอย่างเอาใจใส่ จนต้นไม้ในอุทยานไม่ว่าจะเป็นไม้ดอกไม้ผลก็ออกดอกติดผลจนกิ่งห้อยระดิน ท้าวก่ำกาดำจึงเป็นที่รักใคร่ของครอบครัวคนเฝ้าอุทยานของพระราชยิ่งนัก…
วันหนึ่ง พระธิดาทั้งเจ็ดของพระราชาเสด็จมาชมสวนพร้อมสาวสนมในวัง ท้าวก่ำกาดำแอบดูความสวยงามของพระธิดาทั้งเจ็ด ซึ่งแต่ละนางล้วนมีความสวยงามมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่ท้าวก่ำกาดำมีความสนใจในพระธิดาน้องนุชสุดท้องคนที่เจ็ด มีชื่อว่า “นางลุน”
ท้าวก่ำกาดำนั้นมีความสามารถหลายอย่าง ตั้งแต่การดูแลปลูกต้นไม้ให้เจริญงอกงาม การร้อยมาลัยดอกไม้ (ตามที่ย่าจำสวน แม่เลี้ยงของเขาสอนมาแต่เด็ก) และอีกอย่างหนึ่ง คือ ความสามารถในการเป่า "แคน" ได้ไพเราะเพราะพริ้งมาก หากใครได้ยินเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำก็จะหลงใหลจนลืมตัว
หลังจากแอบดูนางลุนในวันนั้น เขาก็เลยอาสาร้อยพวงมาลัยดอกไม้สด เป็นรูปหนุ่มชมเชยสาว บรรยายในความรักที่มีต่อนางลุน แล้วให้ย่าจำสวนนำไปถวายนางลุนในวัง นางลุนได้รับพวงมาลัยบรรยายเป็นความรัก จึงเกิดความหลงใหลใคร่อยากเห็นหน้าผู้ร้อยมาลัยมาถวาย ตอนค่ำทุกวัน ท้าวก่ำกาดำจะเป่าแคนให้เสียงแคนลอยตามลมไปจนถึงวัง
ครั้นพระราชาได้ฟังเสียงแคนที่ไพเราะ จึงมีรับสั่งให้คนเฝ้าอุทยานนำท้าวก่ำกาดำไปเป่าแคนถวายในวัง จนเป็นที่โปรดปรานของพระราชา หากวันใดพระองค์ไม่ได้ฟังเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำ พระองค์จะบรรทมอย่างไรก็ไม่หลับ ดังนั้นท้าวก่ำกาดำจึงต้องเข้าไปเป่าแคนถวายพระราชาในวังทุกค่ำคืน…
ครั้นเมื่อพระราชาบรรทมหลับด้วยมนต์เสียงแคนของท้าวก่ำกาดำ จึงเป็นโอกาสให้หนุ่มรูปกายดำราวกับอีกาถือโอกาสไปพบกับนางลุน ด้วยความเมตตาของพระอินทร์จึงช่วยให้ท้าวก่ำกาดำถอดรูปเป็นชายหนุ่มรูปงาม และลักลอบได้เสียกับพระธิดาองค์เล็ก คือ นางลุน
ท้าวก่ำกาดำได้ขอให้ย่าจำสวนไปสู่ขอนางลุนมาเป็นคู่ชีวิตของตน พระราชาไม่รังเกียจ แต่ก็เรียกค่าสินสอดเป็นเงินทองมากมาย รวมทั้งให้ท้าวก่ำกาดำสร้างสะพานเงิน สะพานทองจากในอุทยานมาจนถึงวังของนางลุน ถ้าท้าวก่ำกาดำทำได้ตามรับสั่ง จึงจะยกธิดานางลุนให้…
ท้าวก่ำกาดำเป็นคนมีบุญญาธิการลงมาเกิด เป็นโอรสจากสวรรค์ พระอินทร์จึงลงมาช่วยอีกครั้งหนึ่ง โดยเนรมิตเงินทองสินสอดทองหมั้น พร้อมสร้างสะพานทองจากอุทยานถึงวังของนางลุนได้สมกับความต้องการของพระราชา ท้าวก่ำกาดำจึงได้แต่งงานกับพระธิดานางลุนและอยู่อย่างมีความสุข
ท้าวก่ำกาดำได้รับพ่อแม่ (ย่าจำสวน) และได้ออกสืบหาพ่อแม่ที่แท้จริงของตน พร้อมทั้งได้รับทั้งหมดเข้ามาเลี้ยงดูในวัง เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณทุกคน ท้าวก่ำกาดำจึงอยู่กับคนรักและพ่อแม่อย่างมีความสุขสมหวังดังประสงค์ทุกประการสืบมา
ลำเรื่อง "ท้าวก่ำกาดำ" ตอนที่ 1 โดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม - อังคนางค์ คุณไชย
ลำเรื่อง "ท้าวก่ำกาดำ" ตอนที่ 2 โดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม - อังคนางค์ คุณไชย
นิทานวรรณคดีที่เด่นๆ ของ สปป. ลาว ที่เป็นที่นิยมมานานกว่าสามร้อยปี เป็นนิทานสุภาษิตที่คนลาวให้ความสำคัญหลาย ก็คือ วรรณคดีเรื่อง “ท้าวเสียวสวาด” หรือ “ศรีเสลียว เสียวสวาด” มีการแยกย่อยออกมาเป็น “ปัญหาเสียวสวาด” “ผญาเสียวสวาด”
"ท้าวเสียวสวาด" ฟังชื่อผิวเผิน อาจจะเข้าใจว่า "เป็นนิทานตลกโปกฮาไปในทางลามก สองแง่สามง่าม" แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องลามกทำนองนั้นเลย ท้าวเสียวสวาด เป็นคนมีปัญญาฉลาดหลักแหลม แล้วก็ใช้ปัญญาอันฉลาดนั้นช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นที่ปรึกษาของพระราชา จนเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย ถ้าจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ "ท้าวเฉลียวฉลาด" นั่นเองแหล่ะ
จากวรรณคดีเรื่อง ท้าวเสียวสวาด นั้นมีผญาสุภาษิตคำสอนต่างๆ มากมาย ชาวบ้านชาวเมืองทั้งชาวลาวและชาวไทยภาคอีสาน ได้นำมาเป็นคำสอนและหลักปฏิบัติสืบต่อมาดนนานแล้ว แต่ปัจจุบัน คนที่ฮู้ "ผญาเสียวสวาด" มีน้อยแฮง บางเทื่อผญาที่เอามาเว้ากัน กะมาจากผญาเสียวสวาด แต่กะบ่ฮู้ว่ามาจากผญาเสียวสวาด เลยกะมี ดังเช่น
นกอีเอี้ยงกินหมากโพธิ์ไทร แซวแซว เสียง บ่มีโตฮ้อง แซวแซวฮ้อง โตเดียวเหมิดหมู่.."
..คำปากพ่อแม่นี้ หนักเกิ่งธรณี
ใผผู้ยำแยงนบ หากสิเฮืองเมื่อหน้า
ในให้เสมอน้ำ คุงคาสมุทรใหญ่
ให้เจ้าคึดถี่ถ้วน ดีแล้วจึงค่อยจา
อย่าได้เฮ็ดใจเพี้ยง เขาฮอขมขื่ม
ความคึดเจ้าอย่าตื้น เสมอหม้อปากแบน
สิบตำลึงอยู่ฟากน้ำ อย่าได้อ่าวคนิงหา
สองสะลึงแล่นมามือ ให้เจ้ากำเอาไว้
มีเงินล้นเต็มถง อย่าฟ้าวอ่งหลายเน้อ
ลางเทื่อ ทุกข์มอดไฮ้ เมื่อหน้าส่องบ่เห็น
เงินหากหมดเสียแล้ว ขวัญยังดอมไถ่
อันว่าผ้าขาดแล้ว แซงนั้นหากยัง
ฮักผัวให้ มีใจผายเผื่อ
ฮักผัวให้ฮักพี่น้อง แนวน้าแม่ผัว
ฟักเฮือไว้ หลายลำแฮท่า
หม่าข้าวไว้ หลายบ้านทั่วเมือง.. "
นิทานเรื่อง "ท้าวเสียวสวาด" ในยุคหลังๆ ที่นำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในไทยจึงเขียนใหม่เป็น "ท้าวเสียวสวาสดิ์" เป็นวรรณกรรมประเภทปรัชญาธรรมคําสอน และคติธรรม ความเชื่อ มีเนื้อเรื่องแทรกนิทานสลับคําสอนที่เป็น ปรัชญาธรรมแนวคิด และคติธรรมความเชื่อสลับกันไปตลอด เรื่องที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตประชาชนชาวลาวและชาวไทยอีสานส่วนใหญ่ เรื่องมีอยู่ว่า...
ในเมืองพาราณสี มีกุฎุมพีชราสองสามีภรรยาคู่หนึ่ง มีบุตร 2 คน ผู้พี่ชื่อ "ศรีเฉลียว" นิสัยเงียบขรึมหนักแน่น ผู้น้องชื่อ "เสียวสวาสดิ์" นิสัยประเปรียว วํองไว ต่อมาพ่อแม่สร้างบ้าน 2 หลัง สร้างเสร็จแล้วหลังหนึ่ง อีกหลังหนึ่งยังไม่เสร็จ พ่อได้เรียกลูกทั้ง 2 มาให้เลือกเอาเรือนคนละหลัง เพื่ออยากทดสอบว่า ลูกชายทั้งสองคน "ผู้ได๋ฉลาดกว่ากัน สิได้อยู่นำกันบ่"
พ่อก็เลยถามปัญหาปริศนาว่า "มีเฮือนอยู่สองหลัง หลังหนึ่งสร้างเป็นเฮือนเสร็จเรียบร้อยเข้าอยู่ได้เลย อีกหลังหนึ่ง ยังบ่ทันได้สร้าง แต่ว่ามีไม้ มีอุปกรณ์ทั้งหลายครบเหมิดแล้ว เจ้าสองคน สิเลือกเอาเฮือนหลังได๋”
ท้าวศรีเฉลียวผู้พี่กะตอบว่า “ข้อยเลือกหลังแรก ที่สร้างเสร็จเรียบร้อยพร้อมอยู่”
ส่วนท้าวเสียวสวาสดิ์ผู้น้องกะตอบว่า “ข้อยเลือกเฮือนหลังที่ยังบ่ทันสร้าง”
พอฟังคำตอบที่บ่คือกัน ผู้พ่อกะฮู้ทันทีว่า "ลูกชายทั้งสอง สิบ่ได้อยู่นำกัน... ผู้พี่ สิอยู่กับที่ ตั้งหลักปักฐานอยู่บ้านหม่องนี้ เพราะชอบบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว.. ส่วนผู้น้อง สิร่อนเร่พเนจรไปตั้งหลักปักฐานอยู่หม่องอื่น เพราะชอบบ้านหลังที่ยังบ่ทันสร้าง สิเอาไปปลูกหม่องได๋กะได้ เพราะมีไม้มีอุปกรณ์ครบเหมิดแล้ว..."
ต่อมาพ่อแม่ก็ถึงแก่กรรม แต่ก็ได้สั่งสอนให้ลูกได้มีความโอบอ้อมอารี ต่อผู้อื่น อย่าขี้เกียจ หมั่นศึกษาหาความรู้ อย่าหูเบาใจน้อย ให้เชื่อฟังคําพ่อสั่งไว้ มีหลายประการด้วยกัน เช่น "อย่าคบคนโลเล อนึ่ง เจ้าจะมีคู่ครองให้เว้น สตรีสามผัว เจ้าหัวสามโบสถ์" หมายความว่า อย่าคบคนโลเล อย่านำมาเป็นคู่ครอง อนึ่ง "ให้เจ้าฟันเฮือไว้หลายลำ แฮท่า ให้เจ้าหม่าข้าวไว้หลายบ้านแขกสิโฮม" หมายความว่า ให้เป็นคนมีใจกว้าง เผื่อแผ่แก่ญาติพี่น้อง และเตรียมทําไว้คอยจุนเจือ ชํวยเหลือสงเคราะห์หมู่คนชาวบ้าน และทั้งสองพี่น้องได้ปฏิบัติตามคําสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้เว้นความชั่วสามประการ คือ
ยกนิทานนกกระแดดเด้าจะถูกเหยี่ยวรุ้งจับกิน เพราะไม่เชื่อคําสั่งสอนพ่อแม่ แทบเอาตัวไม่รอด เมื่อเอาตัวรอดได้ด้วยอุบายก็ได้ปฏิบัติตามคําสอนของพ่อแม่ เหยี่ยวรุ้งประมาทบินถลาโฉบลงจะจับนกกระแดดเด้ากินเป็นอาหาร เลยตกลงปะทะโขดหินตาย นกกระแดดเด้าเลยเอาตัวรอดมาได้
พระพุทธองค์ทรงสอนวํา "ปราชญ์ยํอมไมํหวั่นไหวฟูขึ้น จมลง ตามอิฐารมย์ และอนิฐารมณ์ ของโลกธรรม 8" คือ ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
นักปราชญ์ ไม่ส้องเสพสิ่งแวดล้อมที่เลว เพราะสิ่งแวดล้อมกําหนดวิถีชีวิตไดั คนจึงควรอยูํในที่ที่เป็นมงคล เช่น นิทานช้างพลายที่ได้ฟังเรื่องโจรพูดเรื่องปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ มีความประพฤติเลวเหมือนโจร ม้าสงครามของพระยาที่คนขาเป๋เลี้ยงจูง ม้าก็เดินเหมือนคนเลี้ยง นกแขกเต้าที่โจรเลี้ยงก็เหมือนโจร แต่ที่ฤๅษีเลี้ยงก็เหมือนฤๅษี นิทานการตัดสินคดีไม่เป็นธรรม เพราะ อคติ 4 เป็นต้น
ท้าวเสียวสวาสดิ์ คิดถึงคําปรัชญาชาวบ้านข้อว่า บ่ออกจากบ้าน บ่ฮู้ฮ่อมทางไป บ่เฮียนวิชา บ่มีความฮู้ หมายความว่า คนเราถ้าไม่สามารถไปไหนมาไหนเลย ก็จะไม่รู้อะไร เห็นอะไร ไม่รู้เหนือใต้ก็มืดมน คนเราถ้าไม่สนใจศึกษาหาประสบการณ์ ก็ไม่มีความรู้เป็นคนโง่เง่า เต่า ตุ่น ไทยอีสานว่า หมากินความคึด
วันหนึ่ง มีพํอค้าสําเภาจากเมืองจําปา (เมืองจาม) มาจอดพักที่ท่าน้ำ ท้าวเสียวสวาสดิ์ได้ขอโดยสารไปกับนายสําเภา ระหวํางเดินทางผํานสถานที่ต่างๆ ตลอดเวลา ท้าวเสียวสวาสดิ์ ก็ถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นเป็นปริศนาว่า
นายสําเภาไม่เข้าใจปริศนาธรรม คิดว่า ท้าวเสียวสวาสดิ์เป็นอะไรไป เป็นคนบ้องหรือเปล่า? ทำให้บรรดาลูกเรือทีได้ยินคำถามที่ท้าวเสียวสวาสดิ์ถามนายสำเภา ก็เกิดหัวเราะเยาะกันอย่างสนุกสนาน เห็นเป็นเรื่องตลกขบขัน บ้างก็คิดว่าเป็นคำถามที่โง่ที่สุด นายสำเภาจึงเตือนท้าวเสียวสวาสดิ์ว่า "เราล่องเรือมาเพื่อค้าขาย ควรพูดแต่เรื่องกำไร ขาดทุน หรือสิ่งที่เป็นมงคลเท่านั้น อย่าพูดในเรื่องที่ไร้สาระ และอย่าพูดนอกเรื่องนอกราว" แตํใจหนึ่งก็คิดจะได้เป็นลูกเขยเพราะขยันขันแข็งกว่าคนอื่นๆ การเดินทางผ่านไปหลายวัน
จนกระทั่งเดินทางมาถึง "เมืองจำปา" อันเป็นบ้านเมืองของนายสำเภา บรรดาลูกเรือทั้งหลายต่างก็แยกย้ายกันกลับไปบ้านเรือนของตน ส่วนท้าวเสียวสวาสดิ์ได้ไปพักอาศัยอยู่กับบ้านนายสำเภา ซึ่งนายสำเภาได้เล่าเรื่องราวการไปค้าขายให้ลูก-เมียของเขาฟัง และเล่าว่า "ครั้งนี้โชคดีกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาคือ ได้ลูกชายจากเมืองพาราณสีมาด้วยคนหนึ่ง นับเป็นชายหนุ่มที่ขยันขันแข็ง เอาการเอางาน หนักเอาเบาสู้ ที่สำคัญคือเป็นคนซื่อสัตย์และมีบุคลิกดี แต่เสียอยู่อย่างเดียวคือ ชอบพูดชอบถามในเรื่องไร้สาระ"
ในขณะที่นายสำเภาเล่าเรื่องท้าวเสียวสวาสดิ์อยู่นั้น นางสีไว ธิดาสาวสวยของนายสำเภาก็นั่งฟังอยู่ด้วย จึงสนใจอยากทราบว่า ชายหนุ่มคนนี้ถามว่าอย่างไร บิดาของนางจึงเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ นางจึงขอให้บิดาเล่าให้ฟัง เมื่อนางได้ฟังโดยตลอดแล้ว จึงพูดกับบิดาของนางว่า
เมื่อนางสีไวได้อธิบายคำถามของท้าวเสียวสวาสดิ์ให้บิดาฟัง ทำให้บิดา-มารดาของนาวสีไวมีความพอใจที่ธิดาของตนมีความเฉลียวฉลาด สามารถล่วงรู้ถึงปัญหาที่ท้าวเสียวสวาสดิ์ซักถามเป็นอย่างดี ส่วนตัวท้าวเสียวสวาสดิ์เองก็เป็นคนที่มีปัญญาหลักแหลมสมชื่อ และมิได้โง่เง่าดังที่คนอื่นเข้าใจ ดังนั้นบิดามารดาของนางสีไวจึงรักและพอใจท้าวเสียวสวาสดิ์ จนได้ตัดสินใจจัดการแต่งงานให้ท้าวเสียวสวาสดิ์กับนางสีไวอย่างสมเกียรติ
ต่อมา "เจ้าเมืองจำปา" ปกครองบ้านเมืองอย่างไร้คุณธรรม ทำให้ประชาชนเกิดความระส่ำระสาย ไม่มีความสุขไปทุกหย่อมหญ้า ประชาชนต่างก็หวาดระแวงว่า จะไม่ได้รับความปลอดภัยทั้งแก่ตนเองและครอบครัว ตัวเจ้าเมืองจำปาเองนั้น ก็ระแวงว่าภัยจะเกิดแก่ตน จึงเกณฑ์ชาวเมืองให้มานอนเฝ้าระวังภัยให้แก่พระองค์คืนละห้าร้อยคน ครั้นตกดึกบรรดาพวกเวรยามต่างก็พากันนอนหลับสนิท เจ้าเมืองจำปาจะเดินออกมาและใช้ดาบตัดคอพวกเวรยามเหล่านั้นให้ตายไปทุกคืน
เหตุการณ์ เช่นนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วสามคืน มีคนถูกฆ่าตายจำนวนหนึ่งพันห้าร้อยคน ในคืนที่สี่จะถึงเวรของ "นายสำเภา" พ่อตาของเสียวสวาสดิ์นั่นเอง นายสำเภารู้ตัวดีว่าจะมีชีวิตอยู่อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น หลังจากที่ไปเฝ้าเวรยามแล้ว เขาคงต้องถูกฆ่าตายและไม่ได้กลับมาพบลูกเมียอีกต่อไป นายสำเภาจึงเรียกลูกสาว เมียและลูกเขยมาพร้อมกัน พร้อมกับสั่งลา และมอบทรัพย์สมบัติให้
แต่ท้าวเสียวสวาสดิ์ไม่ยอมให้พ่อตาไปเฝ้าเวรยาม และรับอาสาจะไปเฝ้าเวรแทนให้ได้ แม้พอตาจะห้ามก็ไม่ยอม เพราะจะไปเข้าเวรยามแก้ปัญหาเจ้าเมืองฆ่าคนเข้าเวรมามากแล้ว โดยกล่าวเป็น ปรัชญาปริศนาว่า "ซิ้นบ่ขาด อย่าให้คุงเขียง เรื่องการเมือง ลูกขอแทนให้" หมายความว่า เนื้อไมํขาด อยําให้มีดถึงเขียง เรื่องการเมือง ลูกขอแทนพ่อ ลูกเขยขอตายแทนพ่อตา นายสำเภาเห็นความกตัญญูของท้าวเสียวสวาสดิ์ และไม่อาจจะทัดทานได้จึงยินยอม ดังนั้นท้าวเสียวสวาสดิ์จึงไปเฝ้าเวรแทนพ่อตาในคืนที่สี่นั้นเอง
ครั้นถึงเวลาท้าวเสียวสวาสดิ์ได้เลือกนั่งยามตรงทางผ่านขึ้นลง พร้อมทั้งนั่งบริกรรม ภาวนา พระคาถาอยู่นานจนกระทั่งเที่ยงคืน เวรยามคนอื่นหลับหมดแล้ว ซึ่งก็เป็นขณะเดียวกับที่เจ้าเมืองจำปาถือดาบออกมา และกำลังจะยกดาบขึ้นฟันคอคนที่นอนหลับเหล่านั้น ท้าวเสียวสวาสดิ์ก็ท่องคาถาให้เกิดเสียงดังขึ้น "ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงกะระณาอะหังปิ ตัง ชานามิ ฯ..." ภาวนาไม่หยุดยั้ง หมายความว่า ท่านทำอะไรอยู่ๆ แม้เราก็รู้ๆ...
เจ้าเมืองจำปาได้ยินเสียงที่ท้าวเสียวสวาสดิ์ท่องบ่นก็เดินกลับเข้าไป สักครู่หนึ่งก็เดินถือดาบออกมาอีก ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงกล่าวเป็นปริศนาอีก เจ้าเมืองจำปาได้ยินเสียงเดินกลับไปอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งจวนสว่างจึงถือดาบออกมาอีก ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงกล่าวเป็นปริศนาอีก เจ้าเมืองจึงเดินกลับเข้าไปอีก เป็นอันว่า ตลอดคืนที่สี่นั้นไม่มีใครถูกฆ่า
พอรุ่งเช้า พวกเวรยามต่างก็พากันกลับบ้านเรือนของตน พอตกเย็นวันนั้นเอง เจ้าเมืองจึงเรียกเวรยามทั้งหมดมาประชุม แล้วถามว่า "เมื่อคืนที่ผ่านมามีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น" พร้อมกับถามว่า "เป็นเสียงพูดของใคร"
ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงรับว่าตนเป็นคนพูด เจ้าเมืองจึงถามเสียวสวาดว่า "คเตสิ คเตสี กิงการณา คเตสิ" หมายความว่าอย่างไร
ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงกราบทูลเล่าเรื่องให้ฟังว่า "หมายถึงชายสองคนเป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งชอบทอดแห อีกคนหนึ่งชอบฟังธรรม วันหนึ่งคนที่ชอบทอดแห ไปทอดแหทั้่งวันไม่ได้ปลาสักตัวจึงคิดอยากไปฟังธรรม ส่วนคนที่ชอบฟังธรรม ฟังธรรมตลอดมาทั้งวันแต่ก็จำอะไรไม่ได้เลย จึงคิดอยากไปทอดแหดูบ้าง ในลักษณะเช่นนี้ผลบุญที่ได้นี้ได้แก่ คนทอดแห"
เจ้าเมืองถามต่ออีก คำว่า "อหังปิตัง ชานามิ ชานามิ" หมายความว่าอย่างไร
ท้าวเสียวสวาสดิ์กราบทูลว่า "มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ กุททาละมีจอบกับเสียมเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน ถึงแม้ว่าไปบวชก็ยังคิดถึงจอบกับเสียม ครั้นสึกออกมาแเล้วก็บวชอีกเป็นเช่นนี้จนครบเจ็ดครั้ง ครั้งสุดท้ายเขาตัดสินใจโยนจอบกับเสียมลงในน้ำ แล้วหันมาตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาจนกระทั้งบรรลุผล"
แล้วคำว่า "อัศจรรย์ใจโอ้ โอนอสังเวช สังมาเป็นดังนี้ เป็นน่าอยากหัว" หมายความว่าอย่างไร
ท้าวเสียวสวาสดิ์ก็กราบทูลว่า "มีหญิงสาวคนหนึ่งไปเที่ยวหาหน่อไม้ในป่าได้แล้ว จึงเอามาปอกกาบที่แข็งๆ ออก แล้วนำไปแยงยังโยนีของตน เผอิญหน่อไม้นั้นหักคา ขณะนั้นมีพระภิกษุชราภาพมากรูปหนึ่งเดินไปหาเปลือกไม้มาย้อมจีวรเดินมาพบเข้า หญิงสาวจึงขอร้องให้ท่านช่วย โดยตกลงกันว่า ถ้าท่านช่วยจนสำเร็จจะให้ท่านร่วมประเวณี ท่านก็ช่วยจนสามารถดึงหน่อไม้นั้นออกมาได้ แล้วหญิงสาวคนนั้นก็เดินทางกลับบ้านไปเพื่อแต่งตัว พระสงฆ์รูปนี้รอนางอยู่นานเกิดความกำหนัด จึงจับองคชาตสอดเข้าในโพรงไม้ ตุ๊กแกที่อยู่ในโพรงจึงคาบองคชาตของท่าน หญิงสาวกลับออกมาพบเข้า จึงได้ช่วยเหลือจนท่านปลอดภัย เป็นอันว่าทั้งหญิงสาวและพระสงฆ์ชรานั้นต่างก็ไม่เป็นหนี้บุญคุณซึ่งกันและกัน"
แล้วคำว่า "เพิงจา บ่เพิงจา" หมายความว่าอย่างไร
ท้าวเสียวสวาสดิ์กราบทูลว่า "มีพระราชาองค์หนึ่งออกไปเที่ยวชมสวน เผอิญพบฤาษีแสดงธรรมเทศนาอยู่ที่ศาลาริมฝั่งน้ำ พระราชาถือว่าพระฤาษีล่วงล้ำอธิปไตยของตน จึงสั่งให้จับพระฤาษีมาตัดตีนตัดมือ และพระราชาได้ถีบเตะพระฤาษีจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระราชาเดินต่อไปได้เพียงสามสี่ก้าวก็ถูกธรณีสูบ"
ฯลฯ
เมื่อเจ้าเมืองจำปาได้ขอให้ท้าวเสียวสวาสดิ์อธิบายคาถา และปริศนาเหล่านั้น เขาก็สามารถอธิบายได้โดยตลอด เจ้าเมืองจำปาเห็นว่า ท้าวเสียวสวาสดิ์เป็นคนฉลาดคู่ควรแก่ตำแหน่งสำคัญ ที่จะช่วยชาติบ้านเมืองได้ในคราวคับขันเช่นนี้ จึงได้แต่งตั้งให้เสียวสวาสดิ์เป็น "อัครมหาเสนาบดี" มีหน้าที่สอนและอบรมศีลธรรม จารีตประเพณีแก่ประชาชน พร้อมทั้งได้ประทานเงินทองและข้าทาสชายหญิงให้แก่ท้าวเสียวสวาสดิ์อีกจำนวน 500 คน
อยู่มาวันหนึ่งเจ้าเมืองจำปา อยากจะทดลองจิตใจของเสนาอำมาตย์ว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระองค์เพียงใด จึงมีรับสั่งให้หา ผลขี้กา (หมากขี้กา เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีรสขมมาก) มาแจกให้หมู่เสนาอำมาตย์รับประทาน ต่างคนต่างก็รับประทานผลขี้กานั้นแล้ว เจ้าเมืองจำปาจึงกล่าวว่า "ผลขี้กานี้กานี้มีรสชาติหวานดี?" แล้วจึงหันไปถามเหล่าเสนาอำมาตย์ ทุกคนในที่นั้นตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "หวาน" ยกเว้นอยู่เพียงคนเดียวที่ตอบว่า "ขมและไม่หวาน" ก็คือท้าวเสียวสวาสด์นั้นเอง พระองค์จึงตรัสถามเสียวสวาสดิ์ว่า "ทำไมบรรดาเสนาอำมาตย์เหล่านั้นจึงตอบว่า 'หวาน' เป็นเสียงเดียวกันว่าเช่นนั้น กรณีอย่างนี้จะถือว่ากล่าวคำเท็จได้หรือไม่"
ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงกราบทูลเจ้าเมืองจำปาว่า "คนเหล่านี้กราบทูลไปเนื่องจากความกลัว เมื่อพระองค์บอกว่าหวาน เขาก็เลยตอบว่าหวานไปด้วย จะว่าโกหกโดยเจตนาก็ไม่ใช่"
เจ้าเมืองจึงยกโทษให้ ต่อมาจึงได้มีคำเรียกเสนาอำมาตย์เหล่านี้ว่า "พวกเสนาหมากขี้กา" ภาษิตสมัยปัจจุบันก็คงเปรียบได้กับ "นายว่า ขี้ข้าพลอย" นั่นเอง
วันเวลาผ่านไปอีกจนกระทั่งเจ้าเมืองจำปาเห็นว่า โอรสของพระองค์ ลุ่มหลงมัวเมาติดการพนันและสุรา ไม่ค่อยสนใจการศึกษาและราชการงานเมืองมากนัก จึงได้มอบให้ท้าวเสียวสวาสดิ์เป็นผู้อบรมสั่งสอน จนกระทั่งสามารถทำให้โอรสของเจ้าเมืองจำปาสำนึกในคุณธรรม และกลับกลายเป็นคนดี เจ้าเมืองจำปายอมรับนับถือท้าวเสียวสวาสดิ์ โดยการยกย่องให้เป็นครูอีกคนหนึ่งของพระองค์อีกด้วย
นอกจากนี้ท้าวเสียวสวาสดิ์ยังได้อบรมสั่งสอนเหล่าเสนาอำมาตย์ ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินเมืองจำปาตลอดมา ด้วยคุณลักษณะพิเศษที่ท้าวเสียวสวาสดิ์เป็นคนดี มีปัญญาเฉลียวฉลาดไม่ลืมตัว เคารพอ่อนน้อมถ่อมตนต่อคนทั่วไป และปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความขยันหมั่นเพียร จึงเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของเจ้าเมืองจำปายิ่งนัก หลังจากที่เมืองจำปาผ่านพ้นภัยพิบัติถึงขั้นยุคเข็ญมาได้ ก็ด้วยความฉลาดหลักแหลมของท้าวเสียวสวาสดิ์ จนกระทั่งเมืองจำปาเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าเมืองกลับมีศีลธรรมปกครอง บ้านเมืองโดยสุจริตยุติธรรม ประชาชนขยันหมั่นเพียรถือศีลฟังธรรม เคารพในจารีตประเพณีและกฎหมายอันดีงามของบ้านเมือง
ที่มา : หนังสือเรื่องเสียวสวาด พระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี น.ธ.เอก , ป.ธ. ๕)
อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
ส่งท้ายบทความ : คำว่า "เสียวสวาด" หากมีการนำไปเขียนว่า "เสียวสวาท" ก็มักจะมีเรื่องให้ถกเถียง ตีความกันมากมายวุ่นวายไปหมด และยิ่งนำเอาคำว่า "เสียวสวาท" ไปตั้งเป็น "ชื่อวัดวาอาราม" ก็ยิ่งมีปัญหาหนัก บรรดาคนเมือง (ที่มักอ้างตนว่าศิวิไลซ์เสมอ) รวมทั้งนักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลายต่างอ้างว่า "เป็นชื่อที่ไม่เหมาะสม ชาวบ้านจะไม่กล้ามาทำบุญ ควรเปลี่ยนชื่อใหม่เลย!!!" ขุ่นพระ!!! อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : เสียวสวาทหรืออีโรติกในวัฒนธรรมอีสาน
นิทานพื้นบ้านเรื่อง เซียงเมียง หรือ ศรีธนญชัย เป็นวรรณกรรมร่วมของอุษาคเนย์ และมีมากมายหลายตอนที่เล่าสืบทอดกันมาทั้งสองฝั่งโขง ในภาคกลางเรียก "นิทานศรีธนญชัย" ส่วนทางภาคเหนือ ภาคอีสานของไทย และฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เรียกชื่อเดียวกันคือ "เซียงเมี่ยง" หรือ "เซียงเหมี้ยง" ดังที่กล่าวรายละเอียดมาแล้วในบทความก่อนหน้า ในบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะเนื้อเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาในฝั่ง สปป. ลาว ดังนี้
ยังมีเมืองใหญ่กว้างเรียกว่าเมือง “ทวารวดี” ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งริมนํ้าเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมี “พระเจ้าทาวราวดี” เป็นผู้ปกครองเมือง ซึ่งหลายปีผ่านไปพระมเหสีของพระองค์ได้ทรงตั้งครรภ์ และได้ประสูติพระโอรส พระราชาได้มีรับสั่งให้โหรหลวงมาทายทักตรวจดูดวงชะตาของพระโอรส และโหรหลวงได้กราบทูลทํานายไว้ว่า พระโอรสพระองค์นี้จะมีความสะดวกสบายแต่เมื่ออายุ 15 ชันษาจะได้สืบราชสมบัติครองเมืองแทนพระราชาองค์ปัจจุบัน แต่หากติดตรงที่พระโอรสพระองค์นี้ดื้อ จึงควรหาเด็กมาเลี้ยงควบคู่กับพระโอรสไปด้วยเพื่อแก้เคล็ด
ทําให้พระราชามีพระราชโองการสั่งหาเด็กมาเลี้ยงคู่กับพระโอรส และเด็กชายคนนั้นก็คือ “ท้าวคํา” หรือนั้นก็คือ "เซียงเมี่ยง" นั้นเอง แต่ด้วยเนื่องว่าในวังตอนนั้นยังมีแม่นมไม่พอ ข้าราชบริพารท่านหนึ่งจึงอาสาเอาพระราชบุตรบุญธรรมไปเลี้ยงแทน จนมีอายุครบ 7 ปี จึงนําเอาท้าวคําไปถวายคืนให้พระราชา หลังจากนั้นท้าวคําก็ได้เจริญเติบโตเคียงคู่กับพระโอรส จนได้ถึงคราที่พระโอรสจะขึ้นครองบ้านครองเมือง แล้วก็พระราชาก็ทรงสั่งให้ "ท้าวคํา" เอ็นดูพระราชาองค์ใหม่เป็นดั่งน้อง
ท้าวคําได้มีโอกาสได้บวชเรียนในวัดหลวง ซึ่งมีสมภาร 3 องค์คิดจะมีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม ด้วยการทำพิธีกรรมปลุกเสกอ้อย โดยที่สมภารได้คิดจะหลอกใช้ให้เณรคําไปถืออ้อยไปให้ถึงป่าช้า เพื่อทําพิธีปลุกเสกในตอนกลางคืนหลังปลุกเสกเสร็จแล้ว สมภารก็ออกอุบายให้เณรคําเป็นผู้เฝ้าอ้อยที่ปลุกเสก เพราะต้องทิ้งไว้ให้ถึงเช้ากว่าจะได้ผล ด้วยกลอุบายของสมภารทําให้เณรคําต้องอยู่เฝ้ารอจนรุ่งสาง และนำอ้อยไปไว้หลังกุฏิ
พอเณรคําหลับสนิทด้วยความง่วง สมภารทั้งสามองค์ก็มากินอ้อยทั้งหมด โดยที่เหลือไว้แค่ข้อกับชานอ้อยเท่านั้น และเมื่อเณรคําตื่นขึ้นมาเห็นว่าเหลือแค่ข้ออ้อยและชานอ้อย เณรคําก็นึกแค้นใจแต่อย่างไรก็ต้องกินด้วยความหิว หลังจากนั้นสามวัน ผลของการกินข้อและชานอ้อยส่งผลให้เณรคํามีปัญญาที่เฉลียวฉลาด โดยที่เณรคําได้ประลองทายปัญญากับสมภาร ผลเณรคําเป็นฝ่ายชนะ โดยที่สมภารไม่รู้เลยว่า "พลังของการปลุกเสกอ้อยครั้งนั้น ผลมันอยู่ที่ข้อของอ้อยที่ปลุกเสก"
ในวันหนึ่งมี พ่อค้าเมี่ยงต้องการข้ามคลองหน้าวัด และได้สนทนากับเณรคํา ถามว่าคลองนี้สามารถข้ามได้ไหม แล้วเณรก็บอกไปว่า ถ้าข้ามได้ก็ข้าม ถ้าข้ามไม่ได้ล่ะ ทําให้พ่อค้าเกิดความคิดอยากพนันกับเณรคําว่า หากพ่อค้าข้ามคลองไปได้จะขอให้เณรเปลื้องจีวรที่สวมใส่อยู่ แต่หากพ่อค้าข้ามไปไม่ได้พ่อค้าต้องเสียเมี่ยงให้แก่เณร และแล้วพ่อค้าได้มายังอีกฝั่งจนได้ แต่เณรก็ไม่ได้ถอดจีวรที่สวมใสให้ เพราะบอกว่าพ่อค้าว่ายนํ้ามาไม่ได้ข้ามลําคลองนี้มา จนเกิดเหตุถกเถียงกัน
แล้วเรื่องได้ล่วงรู้ถึงพระราชาทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า พ่อค้าเมี่ยงผิดจริงตามที่เณรคําบอก จึงบอกว่าให้พ่อค้ายกเมี่ยงให้แก่เณร แล้วเณรคําก็พูดว่า เอาเมี่ยงมาแค่ สี่ซ้าห้าบาทก็พอแล้ว (ในที่นี้คือ สี่ตะกร้า และ ห้าบาตรพระ) ซึ่งความนี้รู้แก่พระราชา ทําให้พระราชาจับเณรคําสึกออกมาโดยทันที โดยบอกว่า "การกระทําอย่างนี้มันเกินไปโดยไม่ใช่วิสัยของพระเณรที่จะทํากัน"
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนก็เรียก เณรคํา ว่า “เซียงเมี่ยง” หลังจากที่เซียงเมี่ยงสึกจากบวชเรียนนั้น เขาก็ไม่ได้หายหน้าหายตาไปไหน เขายังคงเป็นข้าราชบริพารรับใช้ราชสํานักอยู่นั้นเอง และมีเรื่องราวฉลาดแกมโกง ใช้ปัญญาเอาชนะผู้อื่น โดยตลอดป็นเรื่องเล่ามายาวนานนั่นเอง...
มีผู้ทำการ์ตูนนืทานลาว เล่าเรื่อง เซียงเมี่ยง ตอน "เซียงเมี่ยงตั่วพระยาลงหนอง" (เซียงเมี่ยงโกหกพระยาลงหนองน้ำ)
ນິທານລາວ ເລືອງ ຊຽງໝ້ຽງ ຕອນ ຕົວະພະຍາລົງໜອງ
นิทานลาว เรื่อง เซียงเมี่ยง ตอน ตั่วพระยาลงหนอง
ได้รับรูปภาพที่ถ่ายมาจากหนังสือนิทานลาว เป็น ตัวอักษรภาษาลาว นิทานเรื่อง "เซียงเหมี้ยง" ตอนหนึ่งมา เลยถอดความออกมาเป็นภาษาไทยให้ได้อ่านกันครับ เนื้อหามีดังนี้
เซียงเหมี้ยง แม่นชื่อตัวละครเอกในนิทานตลก และ ทังแม่นชื่อนิทานดังกล่าวนี้พร้อม เรื่อง "เชียงเหมี้ยง" แม่นเรื่องที่ประชาชนมักเล่า และมักฟังหลาย เพราะเป็นเรื่องม่วนซื่นอุรา (สนุกสนาน) ทั้งสะท้อนให้เห็นความมุ่งหวังของขะเจ้า (พวกเขา) ในการเอาชนะกับชนชั้นปกครองด้วยภูมิปัญญา เรื่องนี้มีหลายบั้น (หลายตอน) และแต่ละบั้นก็กะทัดรัดทั้งมีลักษณะขึ้นอยู่กับผู้เล่าอีกนำ
เซียงเหมี้ยง เป็นคนขี้ลัก ยามไปเฮ็ดเวียกการ (งาน) ให้พระยา ก็ไปลุน (ทีหลัง) หมู่เพราะได้เฮ็ดเวียกน้อย ในสมัยก่อนยังบ่ทันมีเครื่องบอกโมง (นาฬิกา) ที่แน่นอนคือเดี๋ยวนี้ ชาวบูฮาน (โบราณ) ได้กำหนดมื้อ กำหนดยาม ตามการสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติและสังคม ส่วนหลายชาวบูฮานเริ่มไปเฮ็ดเวียกแต่ตอนข้อนแจ้ง (ย่ำรุ่ง) สิ่งหนึ่งที่พาให้ฮู้จัก (รู้จัก) ยาม เวลา ในตอนนี้ก็แม่นเสียงไก่ขัน แต่ละคืนไก่จะขันสามเทื่อ (ครั้ง) จั่งเอิ้นตามลำดับว่า ไก่ขันกก ไก่ขันกลาง และไก่ขันเลย เมื่ออยากไปเฮ็ดเวียกแต่เดิก ขะเจ้าจึงมักเอิ้น (เรียก) ติดปากว่า ไปก่อนไก่ขันเดิก/กลาง/เลย ต่อมาข้อความก็เหลือเพียงแต่ "ไปก่อนไก่ขัน และ ไปก่อนไก่" ตามลำดับของความเข้าใจของผู้ใช้
เจ้าลองทวย (ทาย) ก่อนเบิ่ง (ดู) ว่า เซียงเหมี้ยงจะไปเฮ็ดการ (ทำงาน) ให้พระยาก่อนไก่ขันเทื่อ (ครั้ง) ที่เท่าใด? ลาวได้ไปเฮ็ดเวียกให้พระยาแท้บ่ หรือ มีเหตุการณ์แนวใดอีก?
มันอาจจะเป็นย้อนว่า เซียงเหมี้ยงเป็นคนขี้ตั๋ว (โกหก) และคนขี้คร้านบ่? ลาวจึงไปเฮ็ดการให้พระยาช้ากว่าผู้อื่น ทุกเทื่อที่ถืกโฮม (ถูกเรียกรวม) ไปเฮ็ดเวียก หมู่เฮ็ดจนตาเว็น (ตะวัน) ใกล้สิเที่ยง ลาวจึงไปฮอด (ถึง) เมื่อพระยาฮู้เรื่องนั้นแล้วก็ให้เสนาไปเอิ้น (เรียก) เซียงเหมี้ยงเข้าพบจะได้ลงโทษลาว
พระยา : เซียงเหมี้ยง !
เซียงเหมี้ยง : โดยขะน้อย! พระยามีเวียกหยังสิให้ขะน้อยเฮ็ดอีกบ่ ?
พระยา : มื้ออื่นนี่ ให้มึงมาการก่อนไก่ ได้ยินบ่ ?
เซียงเหมี้ยง : โดยขะน้อย !
พระยาเว้าแนวนั้นก็เพราะอยากให้เซียงเหมี้ยงไปเฮ็ดเวียกก่อนหมู่ ต่าง (เป็นการ) ลงโทษ มื้อต่อมา ผู้อื่นไปเฮ็ดเวียกตามปกติ แต่เซียงเหมี้ยงกับไปบ่ทันหมู่คือเก่า มื้อนั้นเซียงเหมี้ยงแฮ่งไปการช้ากว่ามื้อก่อนๆ จนฮอดตาเว็นใกล้สิเที่ยง ลาวจึงเอาเชือกมัดตีนไก่โตหนึ่งแล้วแก่ (ลาก) เข้าไปในวัง เมื่อเสนาเห็นแล้วก็ฟ้าว (รีบ) ไปทูลให้พระยาฮู้ พระยาจึงเอิ้น (เรียก) เซียงเหมี้ยงเข้าไปหา เพื่อจะตัดสินใจลงโทษให้สมใจ
พระยา : วานนี้ กูบอกมึงว่าแนวใดลืมแล้วบ่ หือ !
เซียงเหมี้ยง : ยังบ่ลืม ขะน้อย !
พระยา : กูบอกแนวใด ?
เซียงเหมี้ยง : พะยาบอกขะน้อยว่าให้มาการก่อนไก่
พระยา : ซั้น เป็นหยังมึงบ่มาก่อนไก่ ?
เซียงเหมี้ยง : กะย้อนว่า อยากมาก่อนไก่นี้แหล้ว จั่งได้มาสาย
พระยา : มึงว่าหยังเกาะ?
เซียงเหมี้ยง : ย้อนว่าอยากมาก่อนไก่คือพระยาบอก จั่งได้มาสาย
พระยา : มาก่อนไก่ แม่นมาสายนั้นบ้อ หือ ?
เซียงเหมี้ยง : กะบ่แม่น ขะน้อย !
พระยา : คันบ่แม่น เป็นหยังจั่งได้มาสาย ?
เซียงเหมี้ยง : ขอพระยาจิ่งอภัยโหดห้อน! มื่อตื่นมาแล้ว ขะน้อยก็จับไก่มาโตหนึ่ง แล้วบอกมันว่า "มื้อนี้ พระยาบอกกูให้ไปการก่อนมึง มึงต้องไปการนำกู บ่ซั้นพระยาสิลงโทษกู กูสิหย่างก่อน มึงย่างนำหลังเด้อ" บอกมันแล้วก็ปลงมันลง และหย่างก่อน เมื่อขะน้อยเหลียวคืนผัดเห็นมันแล่นไปทางอื่น ขะน้อยจับโตใดมาก็เป็นคือกันหมด ไก่ขะน้อยตั้ง 20 กว่าโต ก่อนสิจับโตใดก็ไล่เมื่อยเกือบตาย ขะน้อยไล่จับบ่ทันครบซ้ำ เหลียวเบิ่งตาเว็นผัดใกล้สิเที่ยงแล้ว ขะน้อยคิดว่า ย้านพ่อพระยาสิลงโทษ จึงได้เอาเชือกมัดตีนแล้วแก่มา ตำอิด (ครั้งแรก) ก็ว่าสิจูงมา จึงมัดตีนเดียว มันผัดบ่ยอมหย่างจักหน่อย บทละแล่นก่อน หน่อยกะแล่นออกนอกทาง ขะน้อยทังย้านพระยาลงโทษ ทังอยากฮ้ายให้มัน จึ่งได้มัดทั้งสองตีน แล้วแก่มันมานี่แหละ !
พระยา : (ได้แต่คิดในใจว่า) มึงเด้อ บักเซียงเมี่ยงเด้อ !!
จบตอนแต่เพียงเท่านี้ !
นี่และปัญญาของ "เซียงเหมี้ยง" ไม่ต้องรีบร้อน มาทำงานสายก็ได้ ไม่ต้องถูกลงโทษทัณฑ์ โดยหาสาเหตุมาอ้างจนเจ้านายไม่สามารถลงโทษได้ ที่คนไทยเรียกว่า "ฉลาดแกมโกง" นั่นเอง
นิทานพื้นบ้านเรื่อง "กาฬเกษ" หรือ "กาละเกด" ออกเสียงตามสำเนียงอีสาน ที่ปรากฏมีหลายสำนวน สั้นบ้าง ยาวบ้าง เพื่อสะดวกเหมาะสมต่อการเล่าเรื่อง เช่น การเล่าโดยพระสงฆ์ (การเทศน์) อาจจะมีความยาวและเป็นคำกลอน ที่ปรากฏในใบลานเป็นอักษรธรรมหรืออักษรไทยน้อย การเล่าโดยผู้เฒ่าผู้แก่ให้เด็กๆ ฟังในวาระโอกาสต่างๆ ก็จะสั้นกระชับ เป็นต้น ที่นำมาเสนอนี้มี สำนวน คือ
เดิมเป็นต้นฉบับ "กาฬเกษ" เป็นใบลานจารด้วยอักษรไทยน้อย มีหลายสำนวน ท่านเจ้าคุณอริยานุวัตร (เขมจารี นธ. เอก ปธ.๕ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม) กล่าวไว้ในคำนำ หนังสือ "กาฬเกษ (กาละเกด)" ฉบับปริวรรตและพิมพ์เป็นรูปเล่มได้ถอดออกเป็นอักษรไทยเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศิริธรรม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หนังสือหนาขนาด ๔๘๐ หน้า ว่า ได้ต้นฉบับมาจาก วัดสว่างอารมณ์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด หนังสือ "กาละเกด" นั้น ชาวอีสานนิยมทุกยุคทุกสมัย มักมีไว้ประจำบ้านเรือนและวัดวาอาราม สำนวนนี้ถือว่าเป็นสำนวนเอกสำนวนหนึ่ง มีเนื้อหากล่าวไว้ดังนี้ (โปรดอ่านออกเสียงตามสำเนียงอีสาน ไม่ได้พิมพ์ผิดเพียงแต่อยากให้เป็นการบอกเล่าสำเนียงอีสานเท่านั้น)
บันแต่ท้าวบรมหลวงกาละเกด เสวยอยู่สร้างเมืองกว้างชอบธรรม
อยู่สนุกล้นโยธาพลไพร่ ก็บ่ทุกข์ยากไร้สังแท้สำราญ "
จักกล่าวเถิงเบื้อง "พาราณสี" เมืองใหญ่ มีกษัตริย์ไท้ออกซื่อ "ท้าวสุริวงษ์" มีมเหสีซื่อว่า "นางเกษ" เทิงสองพระองค์มีโอรสซื่อว่า "ท้าวกาฬเกษ" เป็นองค์โพธิสัตว์มาซดซาติไซ้กรรม แล้วกะมีม้า "มณีกาบ" เป็นม้าวิเศษคู่บารมี
อยู่มาฮอดมื้อหนึ่ง "ท้าวกาฬเกษ" ขี่ม้า "มณีกาบ" เหาะออกจากเมืองไปทางป่าหิมพานต์ ซ่วงที่ออกจากเมืองนั้น ท้าวกาฬเกษเลยได้พบพ้อกับ "นกสาฮิกา" (สาลิกา) คู่หนึ่ง เลยฝากความไปว่าให้ไปทูลเสด็จพ่อสุริยวงษ์ว่า "เฮาสิออกไปเที่ยวป่าหิมพานต์จัก 3 ปี จั่งสิหลบบ้านเมือเมือง" พอแต่สั่งความแล้วกะเลยเดินทางไปต่อจนว่าฮอด "เมืองผีมนต์" ของ "ท้าวผีมนต์" กับ "นางมาลีทอง"
ท้าวกาฬเกษเลยพักอยู่นอกเมืองสาก่อน เลยพ้อ(พบ)คนฟันฟืนซาวบ้านซาวเมืองผีมนต์ ถามไถ่ได้ฮู้แจ้งเถิงลูกสาวท้าวผีมนต์ ซื่อว่า "นางมาลีจันทร์" เป็นญิงผู้งามคักเหลือหลาย กะเลยพยามไปหานางอยู่สวนดอกไม้ พอแต่นางมาลีจันทร์มาซมสวนกะเลยได้พ้อกันกับท้าวกาฬเกษ พอแต่ท่อนั้นต่างคนกะต่างมักกัน ตกฮอดยามกลางคืนกะจอบหลอยไปหากัน
หลายมื้อลายคืนเข้า ท้าวผีมนต์ผู้เป็นพ่อนางมาลีจันทร์ ฮู้ความแล้วเลยเฮ็ด "หอกยนต์" ดักยิง ซ่วงที่ท้าวกาฬเกษลักไปหานั่นเอง ท้าวกาฬเกษได้ถืกหอกยนต์ยิง เลยตายใจขาด ก่อนสิตายได้สั่งความนางมาลีจันทร์ว่า "อย่าเผาศพ ให้เอาใส่แพลอยลงในนทีแม่น้ำใหญ่" นางมาลีจันทร์กะเลยเฮ็ดตามที่เว้าสั่งความ
แพเลยลอยทวนน้ำไปฮอด(ถึง)อาศรมพระฤาษี พระฤาษีมาพ้อกะเลยเป่ามนต์คาถาซุบซีวิตให้ท้าวกาฬเกษฟื้นคืนมา จึงได้เรียนศาสตรศิลป์อยู่กับพระฤาษีจนสำเร็จ พร้อมกันกะเลยได้ให้ "ดาบแก้ว" แล "ธนูวิเศษ" ให้เป็นอาวุธคู่มือ ท้าวกาฬเกษพอได้สิ่งวิเศษแล้วเลยได้กราบลาพระฤาษีหลบไปหานางมาลีจันทร์
ท้าวผีมนต์ฮู้เฮื่องแล้ว กะเลยเกิดการฮบฮาฆ่าฟันกันขึ้น ปรากฏว่าทหารยักษ์ทั้งหลายถืกฆ่าตายเบิดเกลี้ยง ยังเหลือแต่ท้าวผีมนต์ผู้เดียวได้ขอยอมแพ้ ท้าวกาฬเกษกะเลยใซ้ดาบแก้วกับธนูซุบซีวิตให้ซุมทหารทั้งหลาย ท้าวผีมนต์กะเลยยกบ้านเมืองให้ครอบครอง แล้วกะยกลูกสาวคือ นางมาลีจันทร์ ให้เป็นพระมเหสี
ท้าวกาฬเกษครองเมืองอยู่บ่นานดน กะพานางมาลีจันทร์ออกเดินทางกลับบ้านเมือเมืองพาราณสี ระหว่างทางท้าวกาฬเกษได้พบกับนางยักษ์อันธพาล 3 ตน คือ ยักษ์สาระกัน ยักษ์คันธะยักษ์ และยักษ์ขีนีสาระกาย เข้ามาขัดขวางการเดินทาง แต่กะถืกท้าวกาฬเกษฆ่าตาย แล้วกะซุบซีวิตขึ้นมาใหม่ สอนสั่งให้เป็นคนฮู้ผู้ดี อยู่ในศีลกินในธรรม
บัดทีนี้ท้าวกาฬเกษกับนางมาลีจันทร์กะเลยพากันเดินทางต่อ จนมาฮอดป่าใหญ่ยามเดิกดื่น ท้าวกาฬเกษกะเลยพามิ่งเมียแก้วหาบ่อนนอนเซามีแฮง เลยไปนอนอยู่เคียงกกไม้ใหญ่กกหนึ่ง ทั้งคู่นอนหลับอยู่นั้น กะเลยมีนางกินรี 3 ตนเป็นลูกเลี้ยงของพระฤาษีมาพ้อ เห็นท้าวกาฬเกษเป็นผู้บ่าวฮูปงาม กะเลยเกิดความหลงใหลมักท้าวกาฬเกษ นางทั้งสามกะเลยพากันเอาโตท้าวกาฬเกษหลบไปเมืองกินรี ย้อนว่าอยากอยู่กินเป็นผัวเมียกัน
ตื่นเซ้ามามื้อใหม่ นางมาลีจันทร์บ่เห็นท้าวกาฬเกษเห็นแต่ม้ามณีกาบ กะเลยพากันออกนำหาท้าวกาฬเกษ หาท่อได๋กะบ่เห็น ม้ามณีกาบเลยบอกให้นางมาลีจันทร์อยู่ถ่า(รอ)อยู่บ่อนกกไม้ใหญ่หั่น ส่วนจะของกะออกนำหาต่อไป
แต่ย้อนว่ากรรมคือการกระทำ กรรมเก่าที่ได้กระทำมาเฮ็ดให้ทั้งสามต้องมาพลัดหลงกัน คือว่า ท้าวกาฬเกษหลงใหลในความงามของนางกินรีเลยอยู่เมืองกินนร นางมาลีจันทร์กะออกนำหาตามยถากรรมของตน ส่วนม้ามณีกาบกะออกนำหานายของตนไปอีกทางหนึ่ง นางมาลีจันทร์ซัดเซพเนจรอยู่ในป่าอย่างเป็นตาซิโตน ส่วนทางพระอิศวรเห็นว่านางลำบากอยู่ทุกยาก อยู่ลำพัง กะเลยเสด็จลงมาฮับไปอยู่เมืองนำถ่า(รอ)ท้าวกาฬเกษอยู่หั่น
ทางฝ่ายท้าวกาฬเกษพอแต่เบื่อนางกินรีเทิงสามพี่น้อง กะคึดฮอดนางมาลีจันทร์ เลยได้หลอยหนีจากเมือง กินรีเทิงสามเลยไปเว้าเฮื่องสู่พ่อฟัง แต่กะบังเอิญว่า ม้ามณีกาบกะอยู่อาศรมฤาษีเลยฮู้เฮื่องนำ ฮู้ว่าท้าวกาฬเกษออกจากเมืองกินนรแล้ว กะเลยนำก้นไปหานายของจะของจนพ้อกัน แล้วจั่งได้พากันไปนำหานางมาลีจันทร์ต่อไป
เทิงสองออกเดินทางมาฮอดเมืองของพระอิศวร กะเลยถามทหารผู้เฝ้าประตูอยู่หั่นจั่งฮู้ว่านางมาลีจันทร์มาถ่าอยู่นี่ดนแล้ว ฮู้จั่งซั่นท้าวกาฬเกษกะเลยควบม้าไปหาพระอิศวร เลยเว้าจาต้านเฮื่องฮาวเทิงเบิดสู่ฟัง แล้วกะฟ้าวไปหานางมาลีจันทร์อยู่อุทยานทันที ท้ายที่สุดท้าวกาฬเกษกะเลยได้ฮับนางมาลีจันทร์ไปอยู่นำ ครองเมืองอย่างสงบสุข
ท้าวกาละเกด : นิทานพื้นบ้านอีสาน
ได้มาจาก อักษรธรรม ๑ ผูก วัดแสงเกษม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
ณ เมืองพาราณสี มีกษัตริย์นามว่า สุริวงษ์ และมเหสีนามว่า กาฬ และท้าวสุริวงษ์มี ม้ามณีกาบ ซึ่งเป็นม้าวิเศษเป็นพาหนะคู่บารมี ครั้งหนึ่งท้าวสุริวงษ์ได้ลามเหสีและชาวเมืองไปเรียนวิชาอาคม โดยมีม้ามณีกาบเป็นพาหนะไปพบกับพญาครุฑ และยักษ์กุมภัณฑ์ ต่อมาได้เป็นสหายกัน และพระองค์ก็เรียนศาสตรศิลป์กับพระฤาษีจนสำเร็จ แล้วกลับมาปกครองเมืองต่อไป
เมื่อท้าวสุริวงษ์กลับมาครองเมืองแล้ว ก็ต้องการจะมีบุตรชายเพื่อเอาไว้สืบราชสมบัติแทนพระองค์ ดังนั้นจึงทำพิธีขอลูกกับพระอินทร์ พระอินทร์ได้ส่งเทพบุตรกับเทพธิดาลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ เพื่อให้เป็นคู่สามีภรรยากัน โดยเทพบุตรองค์หนึ่งมาเกิดในท้อง นางกาฬ มเหสีของท้าวสุริวงษ์ เมื่อนางกาฬประสูติออกมาเป็นชาย ชื่อว่า "กาฬเกษ" กาฬเกษกุมารนี้ได้เจริญเติบโต มาเป็นลำดับ ครั้งหนึ่งเข้าไปเล่นในโรงม้า อันเป็นที่อยู่ของม้ามณีกาบ ได้แอบขึ้นขี่ม้า แล้วม้ามณีกาบก็พากาฬเกษกุมารเหาะไปในอากาศออกจากเมืองมุ่งเข้าป่าหิมพานต์
ขณะที่ท้าวกาฬเกษหนีออกจากเมืองนั้น ได้พบกับนกสาริกาคู่หนึ่ง จึงได้สั่งความให้กลับไปบอกท้าวสุริวงษ์ด้วยว่า จะออกไปเที่ยวในป่าถึง 3 ปี แล้วจะกลับมา เมื่อสั่งความแล้วก็เดินทางต่อไปจนเข้าเขตเมืองผีมนต์ของท้าวผีมนต์ และนางมาลีทอง ซึ่งมีเทพธิดามาจุติในครรภ์ของนาง มีชื่อว่า "นางมาลีจันทน์" ได้พักอยู่นอกเมือง พบกับชาวเมืองที่ออกมาหาฟืนแล้วได้ทราบว่า ท้าวผีมนต์มีลูกสาวสวยชื่อ มาลีจันทน์ จึงพยายามจะไปพบนางในสวนดอกไม้
เมื่อนางมาลีจันทน์มาชมสวน ท้าวกาฬเกษจึงเข้าไปหา แล้วชอบพอรักใคร่กัน ดังนั้นเมื่อตอนกลางคืนจึงแอบเข้าไปหานางเป็นเวลานาน ต่อมาท้าวผีมนต์สืบได้จึงทำหอกยนต์ดักยิง ขณะที่ท้าวกาฬเกษแอบเข้าไปนั้น พระองค์ได้ถูกหอกยนต์ตายลง แต่ก่อนจะตายท้าวเธอได้สั่งว่า "อย่าเผาศพ ให้เอาใส่แพลอยน้ำไป" นางมาลีจันทน์ ได้ปฏิบัติตามที่ท้าวกาฬเกษสั่งทุกประการ
ศพของท้าวกาฬเกษลอยทวนกระแสน้ำจนไปถึงอาศรมพระฤาษี แล้วพระฤาษีมาพบเข้าจึงร่ายมนต์ชุบชีวิตให้ฟื้นคืนขึ้นมา ท้าวกาฬเกษจึงเรียนศาสตรศิลป์อยู่กับพระฤาษี จนสำเร็จแล้วลาพระฤาษีกลับไปหานางมาลีจันทน์ใหม่ ท้าวผีมนต์ทราบข่าวอีกจึงเกิดรบกัน ในที่สุด ท้าวผีมนต์พ่ายแพ้ ยกเมืองและลูกสาวคือนางมาลีจันทน์ให้แก่ท้าวกาฬเกษ
ท้าวกาฬเกษอยู่ที่นั่นไม่นานก็พานางมาลีจันทน์เดินทางต่อไปอีก ในการเดินทางต่อนี้ ยักษ์หลายเมืองเช่น ยักษ์ชื่อสาระกัน ชื่อคันธะยักษ์ และยักษ์ขีนีสาระกาย ต่างต้องการจะให้ท้าวกาฬเกษอยู่ครองเมือง แต่ท้าวกาฬเกษยังต้องการเดินทางต่อไป หลังจากเดินทางตามที่ต้องการแล้ว ในที่สุดท้าวกาฬเกษก็รับนางมาลีจันทน์ ไปครองเมืองพาราสี สืบต่อไป
ที่มา : อักษรธรรม ๑ ผูก วัดแสงเกษม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
ลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง ท้าวการะเกตุ ตอน 1-3 โดย คณะรังสิมันต์ (ทองคำ เพ็งดี - ฉวีวรรณ ดำเนิน)
แม้เนื้อหาทั้งสองสำนวนดังกล่าวจะแตกต่างกัน แต่ก็มีตัวละครหลักเหมือนกัน ซึ่งต่างก็มีคุณธรรมที่ปรากฏในเนื้อเรื่องดังนี้
ลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง ท้าวการะเกตุ ตอน 4-6 โดย คณะรังสิมันต์ (ทองคำ เพ็งดี - ฉวีวรรณ ดำเนิน)
รวมผญา สุภาษิต และคำสอย
กลอนลำ
เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง
ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร
กลอน ภาษิตโบราณอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)