คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ภาษาพูดของผู้คนในภาคอีสานนั้นมีหลายสำเนียงที่แตกต่างกันไป ไม่มี "ภาษาอีสาน" นะครับ มีแต่เป็นภาษาพูดดั้งเดิมของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยในอีสาน ] ดังนั้น เมื่อท่านเดินทางไปท่องเที่ยวอีสาน ท่านจะได้ฟังสำเนียงเสียงพูดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด คำที่เสนอในที่นี่รวบรวมมาจากที่กระผมอาวทิดหมู มักหม่วน ได้ตอบไว้ใน Facebook Fanpage มาแล้วแต่ค้นหาย้อนหลังยาก ท่านเว็บมาดเซ่อเลยขอร้องแกมบังคับให้นำมารวบรวมไว้ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง แฟนนานุแฟนที่ต้องการทราบความหมายของคำ หรือประโยคใดก็สอบถามเพิ่มเติมมาได้นะขอรับ ยินดีนำมาตอบให้ทราบทั้งในเว็บไซต์และเฟซบุ๊คต่อไป
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
สิ้ง-โต้น-คอน-หาบ-ยาบยาบ-ซาบลาบ-ลาบซาบ-ซง
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "สิ้ง"
ได้รับจดหมายก้อม (e-mail) มาจากน้องสาวทางเมืองกรุง บอกว่า ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดแล้วคุณยาย บอกว่า "อีนางเอยเป็นสาวเป็นนางแล้วไปไสมากะให้ระวังผู้ชายแหน่ เบิ่งมันสิ่งตาน้อยบ่เป็นตาไว้ใจ" อาวทิดหมูบอกนางแหน่ "สิ้งตาน้อย" มันเป็นแนวใด๋ นางบ่เข้าใจเลย ขอบคุณค๊า
สิ้ง ก. มองดูด้วยไม่เต็มตา เรียก สิ้ง มองดูด้วยหางตา เรียก สิ้งตาน้อย มองตาม เรียก สิ้งตานำ อย่างว่า โต๋ต่งโต๋นารีโต่งโต้น โต๋ต่งโต้นผู้สาวขี้งอยโพน ก้อนขี้กลิ้งผู้สาวสิ้งตานไ หักไม้แก้งแม่นไม้หนามคอม หนามคอมเกาะเต้นเดาะเต้นด่อง (กลอน) บุพเพท้าวนำมาปางก่อน ทรงเครื่องสิ้งขุนฟ้าฟากพรหม (ฮุ่ง). to peep at, watch discretely, watch out of the corner of ones eye, to follow with ones eye.
คำโบราณคักน้อยายเอย หลานสาวงงหลายกับคำเก่าๆ "สิ้งตาน้อย" สมัยนี้ก็ต้องบอกว่า "แอบมองด้วยหางตา" นั่นเอง หนุ่มคงจะชอบที่เราสวย แต่ยายคงจะหวงหลานสาวเอามาก เลยเกิดอาการไม่ไว้ใจไอ้หนุ่มพวกนั้น ก็ระวังด้วยแล้วกันนะจ๊ะ อย่าฟ้าวให้เบอร์ ให้ไลน์เด้อ
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้เสนอคำว่า "โต้น"
คือเก่านั่นหล่ะสาวส่ำน้อยลูกอีสานไปอยู่ไทดน (นาน) กลับมายามบ้านแล้วอีแม่ให้ไปเอาถุงบักม่วงแผ่นอยู่ในครัว หาบ่เห็นเลยถืกแม่ฮ้ายไปว่า "จั่งแม่นมึงบาจาวน้อ กะห้อยอยู่ "โอ้นโต้" ข้างกกเสานั่นเด" นางบ่เข้าใจกะเลยส่งปี้น้อยมาถามอาวทิดหมูให้อธิบายให้เลาฟังว่า "โอ้นโต้น" เป็นจั่งใด๋
โต้น น. ลูกตุ้มสำหรับใส่เครื่องชั่งจีน เรียก หมากโต้นชิง. weights for Chinese balance scale.
โต้น น. นมที่ใหญ่กว่าปกติ เรียก นมโต้น อย่างว่า สาวนมโต้นลงโพนอย่าชะแล่น บาดเจ้าคาดลาดล้มนมชิโต้นกว่าหลัง (บ.). large breasts.
โต่งโต้น ว. ลักษณะของสิ่งของที่ใหญ่แขวนแกว่งไปมา เรียก ห้อยโต่งโต้น ถ้าของขนาดเล็กเล็ก เรียก ห้อยต่องต้อน. swinging (of large hanging object).
อธิบายได้ตามคำข้างบนนี่หล่ะสาวเอย "ห้อยโอ้นโต้น" กะสิแม่นยายเลาเอาถุงก็อบแก็บใส่บักม่วงแผ่นถุงบักใหญ่ ห้อยไว้อยู่เสาครัว ลักษณะอาการนี้เอิ้นว่า "ห้อยโอ้นโต้น" คันแม่นถุงน้อยๆ กะสิเป็น "ห้อยอ้อนต้อน" นั่นล่ะอีนางเอย ความหมายตามภาพโลด
มีคำที่อาจจะได้เรียกว่าใกล้เคียงกัน มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น ต้อนแต้น, ต่องต้อน
ต้อนแต้น ว. ของเล็กกลม ห้อยแขวนแกว่งไปมา เรียก ห้อยต้อนแต้น ถ้าใหญ่เรียก ห้อยโต้นเต้น. small, round and dangling back and forth.
ต่องต้อน ว. ลักษณะของสิ่งของเล็กๆ ห้อยอยู่เรียก ห้อยต่องต้อน ถ้าสิ่งใหญ่เรียก ห้อยโต่งโต้น. hanging, dangling (of small thing).
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "คอน"
มีคำถามมาจากหนุ่มผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ข้องใจหลายๆ อยากฮู้ความหมายที่ผู้เฒ่าผู้แก่เพิ่นมักอวยพรให้บ่าว-สาวที่แต่งงานใหม่ว่า "ให้ฮักกันมั่นแก่น ผัวหาบ-เมียคอน" คำว่า "หาบ" นี่พอเห็นและฮู้จักความหมาย แต่ "คอน" นี่มันคืออีหยังครับ อาวทิดหมู
คอน น. กิ่งไม้ที่นกหรือไก่จับ เรียก คอน อย่างว่า นกเขาเข้าอยู่ตุ้มเหงาหง่วมทนทุกข์ แม่นชิงอยคอนเงินคอนคำก็บ่ลืมคอนไม้ (กลอน). perch (of bird).
คอน ก. การใช้ไม้คานหาบของปลายข้างหนึ่งมีสิ่งของ อีกข้างหนึ่งไม่มี ลักษณะเช่นนี้เรียก คอน ต่างกับหาบ เพราะหาบมีสิ่งของทั้งสองข้างเท่าๆ กัน อย่างว่า หาบดีกว่าคอน นอนดีกว่านั่ง (ภาษิต). to carry load on pole over shoulder with hand balancing other end.
หาบ ก. เอาของห้อยปลายคาน 2 ข้างแล้วแบกกลางคาน เรียก หาบ อย่างว่า หาบช้างชาแมว (ภาษิต) หาบฝุ่นใส่นาขุน (ภาษิต) หาบดีกว่าคอน นอนดีกว่านั่ง (ภาษิต). to carry loads suspended from both ends of a pole with middle of pole supported by shoulder.
หาบ น. ชื่อมาตราชั่งน้ำหนักแบบโบราณ 50 ชั่งเป็น 1 หาบ มาตราชั่งน้ำหนักปัจจุบัน 60 กิโลกรัมเป็น 1 หาบ. unit of weight equal to 60 kg.
ผัวหาบเมียคอน หมายความว่า ช่วยกันทํามาหากินทั้งผัวทั้งเมีย หรือ ชายหาบหญิงคอน ก็ว่า หมายถึง สามีภรรยาที่ช่วยกันทำงาน ทำมาหากินอย่างขยันขันแข็งนั่นเอง สะสมทรัพย์เพื่ออนาคตข้างหน้า
การหาบ ต่างจาก การคอน ที่ การหาบ (หญิงสาว) จะมีน้ำหนักถ่วงที่ปลายไม้คานทั้งสองข้างเท่าๆ กัน จะเป็นตะกร้า กระบุง หรือถังน้ำ ที่มีขนาดเท่าๆ กัน หรือถ้าขนาดไม่เท่ากันน้ำหนักทั้งสองข้างจะเท่ากัน คนหาบจะอยู่กึ่งกลางของไม้คาน ส่วน การคอน (จากภาพยายทั้งสอง) นั้น ปกติจะหมายถึงการเอาไม้พาดบ่าเพื่อเอาสิ่งของห้อยที่ปลายไม้ด้านหลังผู้คอน แต่ก็อาจหมายถึง การหาบที่ไม่สมดุลด้วยน้ำหนักที่ปลายไม้สองข้างไม่เท่ากันด้วยก็ได้ ผู้คอนจะให้บ่าอยู่ใกล้สิ่งที่มีน้ำหนักมากกว่าอีกด้านที่เบากว่า (ตัวอย่างจากภาพ ยายคนซ้ายมือตะกร้าเบา ก่องข้าวหนัก บ่าจึงมาทางด้านหน้า ส่วนยายคนขวา ตะกร้าหนักกว่า บ่าจึงมารับน้ำหนักตะกร้าด้านหลัง)
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้เสนอคำว่า "ยาบยาบ"
ภาษาเว้าฅนอีสานโบราณนานมามีหลายคำที่คนรุ่นนี้แทบจะไม่เข้าใจ อย่างสาวน้อยผู้นี้ถามมาว่า "เมื่อวานทางบ้านนางหล้าใกล้ด่านช่องเม็กมีฝนตกลมแรง ฟ้าแลบแปรบปราบ เลยออกมาเก็บเสื้อผ้าที่ตากไว้หลังบ้าน อีแม่ฮ้องเสียงดังมาว่า 'อีนางเอ้ย ฟ้าวๆ แหน่บ่เห็นบ้อว่าฟ้าเหลื่อมอยู่ยาบยาบพุ้นนะ' นางกะบ่เข้าใจว่ามันเป็นจั่งได๋ อาวทิดหมูบอกนางแหน่ค่า"
ยาบยาบ ว. เคลื่อนไปเป็นแถว เดินไปเป็นกระบวน เรียก ย่างยาบยาบ อย่างว่า ยาบยาบพร้อมพลพวกมุนตรี ภูธรทรงพานคำหย่อนเชิงชำย้าย มุนตรีพร้อมโยธาทวนย่าง ค้ายไพร่ฟ้ามวลพร้อมพร่ำไป (ฮุ่ง) ยาบยาบย้ายเจียระจากพระวิหาร แยงคาเมค่อยไปเป็นถ้อง (สังข์). movinf in rows, marching in procession.
ยาบยาบ ว. แพรวพราว ระยิบระยับ เช่น ฟ้าเหลื้อมยาบยาบ มาบมาบ ก็ว่า อย่างว่า ทันที่ยาบยาบเหลื้อมทุงแกว่งไกวปลิว เรียกชื่อเชียงฟองวงหมู่ฉางเยียผ้า ทิวทิวกว้างสุดผอมผายฮาบ พอขวบเข้าระดูฟ้าแจกทาน (ฮุ่ง). sparkling, flashing.
คำว่า "ฟ้าเหลื้อมยาบยาบ" ก็คือ สายฟ้าที่กระพริบระยิบระยับ มาพร้อมเสียงเปรี้ยงปร้างนี่แหละ คุณแม่กลัวว่า "ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ" แล้ว "ฟ้าจะผ่า" ลงมาให้ลูกสาวมีอันตราย ให้รีบเก็บเสื้อผ้าเข้าในบ้านโดยเร็ว หรือแม้แต่ชุดแต่งตัวของหมอลำ ลิเก ที่ปักเพชรพลอยแพรวพราวโดนแสงไฟส่องบนเวที ก็เรียกว่า "ชุดเหลื้อมยาบยาบ" เช่นกัน
ส่วนอีกความหมายหนึ่ง นั้นหมายถึงการเดินไปเป็นแถว เป็นแนวมีระเบียบ อย่างเช่น การเดินสวนสนามของทหาร ลูกเสือ ก็เรียก "ย่างยาบยาบ"
แถมให้อีกคำหนึ่งที่อาจจะได้ยินอีกคือ "ซาบลาบ, ซะลาบ" กับ "ลาบซาบ"
ซาบลาบ ว. ต้นไม้สูงใหญ่เรียงกันเป็นทิวแถว เรียก ซาบลาบ อย่างว่า ตั้งซาบลาบเลียนกัน ดูเป็นถันแถวถี่ อยู่ที่ใกล้สระน้ำมุจลินท์ (เวส) ซาบลาบพร้อมหอราชมณเทียร พลหลวงมวลมี่นันคุงฟ้า เมื่อนั้นภูธรให้ไปเวียนวังน่าง ย้ายหมู่ช้างทังม้าล่วงไป (ฮุ่ง). (trees) towering in a row.
ซะลาบ ว. ตั้งเรียงราย เป็นแถวแนว ต้นไม้ที่เรียงราย มองดูมากมายก่ายกอง เรียก ซะลาบ ซาบลาบ ก็ว่า อย่างว่า ซะลาบพร้อมสุภราชทัวระพี ยนยนประดับหลั่งไปเป็นถ้อง แต่นั้นดูจวนย้ายภูมีเสด็จยาตร กองลูกท้าวแดงเหลื้อมหลั่งไป (ฮุ่ง). upright in rows in tremendous numbers.
ลาบซาบ ว. ลักษณะของสิ่งของที่แขวนเรียงกันเป็นแถวเป็นแนว เรียก เรียงลาบซาบ เลียนซาบลาบ ก็ว่า. describes objects hanging in rows.
ความหมายก็ดูตามภาพจะได้เห็นความชัดเจนเด้อน้องหล้าเอย มีคำอื่นๆ ที่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจชัดเจนก็สอบถามกันเข้ามาได้
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "ซง"
ได้รับคำถามมาจากน้องสาวหล้าทางเมืองโคราชย่าโม ถามมาว่า ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดคุณพ่อที่เมืองอำนาจเจริญ ได้ยินคุณย่าพูดกับพ่อว่า "คือซงบ่คือแท้ เป็นจั่งใด๋แหน่ลูกหล้า" อาวทิดหมูบอกนางแหน่ "ซงบ่คือแท้" มันเป็นแนวใด๋ นางบ่เข้าใจเลย ขอบคุณค๊า
ซง น. รูปร่าง ทรวดทรง. shape, apperance, figure.
ซง ว. ซึม เงียบเหงา ไม่สดชื่น การแสดงอาการหงอยเหงาไม่มีใจเบิกบาน เรียก ซง อย่างว่า แม่นว่าสัพพะสิ่งช้างม้ามิ่งในนคร ก็บ่กินเกียงหยุดอยู่ซงสลอนพร้อม กับทั้งเนื้อนกเลี้ยงประหิดเหียนหงษ์เหิบ ก็บ่กินเหยื่อหญ้าคอยเยี้ยมอยู่เหงา (สังข์). depressed, sad.
ซงมง ว. นั่งคอตกไม่พูดจาเรียก นั่งซงมง อย่างว่า นั่งซงมงซงตาตาย ป่านกะบ่ทอ ปอกะบ่ลอก ส่องปล่องเอี้ยมถ่มน้ำลายปิ๊ดปิ๊ด เฮ็ดโค็ยสั้นสะมิกิ (บ.). downcast, with head down and not speaking.
คุณย่าคงจะสังเกตอาการของคุณพ่อได้ว่า "ไม่สดชื่น มีเรื่องทุกข์ใจ หรือกลุ้มใจ แต่ไม่บอกใคร" จึงได้ถามว่า "ท่าทางไม่สบายใจ เป็นยังไงบ้างบอกแม่มาสิ" นั่นเอง ความทุกข์ใจ กลุ้มใจอาจจะมาจากสถานการณ์โควิด หรือมีหนุ่มใดๆ มาติดพันลูกสาวแล้วพ่อไม่ชอบหรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจนะลองถามพ่อดูเลยดีกว่า โรคซึมเศร้า หรืออาการซึมเศร้านั้นต้องการความรัก ความเห็นใจ การเอาใจใส่ของผู้ใกล้ชิด
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
“ขุนทึง” หรือ “ขุนทึงขุนเทือง” เป็นชื่อวรรณคดีลาว–อีสาน อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ประเด็นที่น่าสนใจมีหลายเรื่อง แต่ในที่นี้ขอเสนอจุดเดียวคือเรื่องเกี่ยวกับ เมืองนาค ซึ่งความเชื่อเรื่อง “นาค” หรือ พญานาค (ดั้งเดิมคือ “เงือก”) นี้ฝังลึกในวัฒนธรรมลาว-อีสานมาเนิ่นนาน จึงมีเรื่องเล่าหรือนิทานที่เกัยวกับ "นาค" หรือ "พญานาค" มากมายหลายเรื่อง รวมทั้งมีการนับถือบูชา สักการะ หรือนำเอาความเชื่อนี้ มาเป็นกุศโลบายในการก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ มากมายในแถบสองฝั่งโขงนี้ ซึ่งท่านจะพบได้ทั่วไปทั้งทางฝั่งไทยและฝั่ง สปป.ลาว
ปริวรรตจาก อักษรธรรม ๔ ผูก วัดอาภาราม อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
ยังมีนครแห่งหนึ่งชื่อ เชียงเงื้อม หรือ เชียงใหญ่ มีกษัตริย์ปกครองนามว่า ขุนเทือง และมีมเหสีชื่อ นางบุสดี ได้ปกครองบ้านเมืองมีความร่มเย็น ไพร่ฟ้าประชาชีล้วนอญู่อย่างเป็นสุข เมื่อกาลต่อมา ขุนเทือง มีความปรารถนาจะออกเดินทางท่องเที่ยวป่า จึงได้ออกเดินทางจากบ้านเมืองไปในป่าใหญ่ประมาณ 2 เดือน จนไปถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสวนของพญานาค ที่สวยงดงามดังคำกลอนที่ว่า
เป็นที่อัศจรรย์แท้ อุทิยานสวนดอก
หอมฮ่วงเฮ้า ใผเข้าบ่อยากหนี ได้แล้ว
ฮสทะฮ่วงเฮ้า เท้าทั่วอุทิยาน
บาคราญพระ ล่ำดูใจสะอื้น
อันนี้เมืองใดสร้าง อุทิยานสวนดอก ไว้นี้
อยู่ขอกน้ำ ชัยกว้างแม่ชะเล นี้เด
มีดอกไม้ หลายส่ำนานา
มาลาหลาย จ่อจีเจือก้าน
บางพ่องบานเหลือต้น จูมจีหอมอ่อน
ทองเทศอ้วน เขียวอ้วนอ่อนหอม "
แล้วขุนเทืองก็ได้พบกับลูกสาวพญานาค ชื่อว่า นางแอกใค้ ซึ่งขณะนั้นนางได้จำแลงกายมาเป็นหญิงสาวงาม ดังบทกวีบรรยายว่า
ตาคมค้อม คอคางคิ้วก่อง
งามล้องค้อง สองแก้มดั่งคำ
ย่องย่องเนื้อ ขาวเกิ่งฟองสมุทร
สอยวอยสุด ยอดญิงตรองไว้
แสนแวนหน้า งามดีเสมอแว่น
แขนก่องส้วย ขาวแจ้งแจ่มพระจันทร์
งามอ้อนแอ้น แมนหล่อเหล่าโฉม
ตระโนมพรรณ ฮูปคำซาวเบ้า
ทั้งสองเกิดความรักใคร่กัน ขุนเทือง จึงได้ติดตามนางลงไปยังเมืองบาดาล และอยู่ที่นั่นยาวนานถึง 2 ปีกว่า จนกระทั่งคราวหนึ่งนางนาคลืมตัว ไปเล่นน้ำ จนต้องถูกเตือนเพราะโลกเกิดความแห้งแล้ง มนุษย์และสัตว์ประสบความเดือดร้อน เมื่อขุนเทืองเห็น "นาค" เล่นน้ำในช่วงสงกรานต์ จึงตระหนักว่าตนเป็นคน ไม่น่าจะอยู่กับนาค ประกอบกับในขณะที่ขุนเทืองไม่อยู่ในบ้านเมืองนี้ นางบุสดี เป็นห่วงจึงได้เรียกหาหมอมอ (โหร) มาทำนายทายทักดูว่า ขุนเทืองไปอยู่ที่ใด เมื่อได้รู้ว่า ขุนเทืองอยู่ที่เมืองพญานาคกับลูกสาวพญานาค นางบุสดีจึงทำการบนบานให้พวกผีต่างๆ เช่น ผีน้ำ ผีเสื้อ ผีตายาย (บรรพบุรุษ) ผีเมือง เป็นต้น ตามไปบอกท้าวขุนเทืองกลับมาบ้านเมืองของตน ขุนเทืองจึงได้ลานางแอกใค้และพญานาคเจ้าเมืองบาดาลเพื่อจะกลับเมืองมนุษย์
นางแอกใค้ได้มาส่งขุนเทืองถึงท่าน้ำ ก่อนจะลาจากกัน นางได้ล้วงเอาลูกในท้องออกแล้วเอาใบตองทึงห่อ ให้ขุนเทืองตอนกลับเมืองเพื่อเอาไปเลี้ยงดู เมื่อมาถึงเมืองแล้วนางบุสดีไม่พอใจจึงพยายามหาเรื่อง เพื่อทำอันตรายต่างๆ นานา ขุนเทือง เห็นท่าไม่ดี จึงให้เสนาอำมาตย์เอาลูกชายชื่อ "ขุนทึง" ไปปล่อยไว้ในป่า ขุนทึง อยู่ในป่าอย่างสุขสบาย เพราะมีเทวดาและเหล่าสัตว์ต่างๆ มาดูแลรักษาเลี้ยงดู ต่อมาประมาณ 1 ปี ขุนเทือง คิดถึง "ขุนทึง" ผู้เป็นลูกชาย จึงให้พวกอำมาตย์ออกไปสืบหาว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า เมื่อทราบว่ายังมีชีวิตอยู่จึงไปเชิญกลับเข้ามาอยู่ในเมือง
ขุนทึง เมื่อโตเป็นหนุ่มขึ้น ต้องการอยากจะพบแม่ที่แท้จริง จึงไปถามพ่อถึงที่อยู่ของแม่ พอทราบว่าแม่นั้นเป็น "นาค" อยู่ที่เมืองบาดาล จึงอำลาพ่อเพื่อที่จะไปเยี่ยมเยียนถามข่าวคราวแม่ แล้วออกเดินทางไปตามที่พ่อบอกจนถึงท่าน้ำ แล้วเอาไม้ตีน้ำเรียกพวกนาคให้มาหา พวกนาคถามดูรู้ว่า "เป็นลูกของนางแอกใค้" จึงพาขุนทึงไปเมืองบาดาล ขุนทึงได้พบแม่ ตา และยาย แล้วอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้ลาแม่เพื่อกลับเมืองเชียงเงื้อมของพ่อ นางแอกใค้แนะนำให้ลาตาแล้วขอของวิเศษ เพื่อเป็นเครื่องติดตัวในการเดินทาง
เมื่อขุนทึงไปลาตา ได้ให้ของที่วิเศษ 3 อย่าง มี หม้อทองแดง ดาบ และของ้าว และได้มาถามวิธีใช้กับแม่ นางแอกใค้ จึงบอกวิธีใช้ว่า
ขุนทึงเมื่อแม่มาส่งถึงท่าน้ำแล้วก็เดินทางต่อไป โดยปฏิบัติตามคำบอกของแม่ ใช้เวลาเดินอยู่หลายวันจึงถึงแม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ของ้าวได้เกี่ยวหยุดอยู่กับที่ จะดึงอย่างไรก็ไม่ไปจึงหยุดนอน ณ ที่นั้น พอเมื่อตื่นขึ้นที่นั้นกลายเป็นเมืองใหญ่ ชื่อว่า "ศรีสัตนาคนหุต" (อ่านว่า สี-สัด-ตะ-นา-คะ-นะ-หุด) "เป็นชื่ออาณาจักรล้านช้าง (ลาว: ອານາຈັກລ້ານຊ້າງ) เป็นอาณาจักรของชนชาติลาวซึ่งตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง มีอาณาเขตอยู่ในบริเวณประเทศลาวทั้งหมด ตลอดจนพื้นที่บางส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งการเมืองการปกครอง ด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพระพุทธศาสนา ที่มีพัฒนาการเคียงคู่มาพร้อมกันอาณาจักรอื่นๆ ใกล้เคียง ทั้งล้านนา สยาม พม่า และเขมร" ดังนั้น ขุนทึงจึงตั้งจิตอธิษฐานเคาะหม้อทองแดง เพราะอยากได้เพื่อนมาอยู่ด้วย แล้วก็มีหญิงสาวออกมา 2 คน ชื่อ "ทำ" และ "ทอง" จึงอภิเษกเป็นมเหสีทั้งสองคน แล้วขุนทึงก็ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อมาอย่างมีความสุข
นิทานลาวเรื่อง ขุนทึง ขุนเทือง - ນິທານລາວເລື່ອງ ຂຸນທຶງຂຸນເທືອງ 1
ต่อมาครั้งหนึ่งขุนทึงออกไปเที่ยวป่าคนเดียว เดินทางไปประมาณ 15 วัน ถึงป่าหิมพานต์ ได้พบ "นางชะนี" ที่อยู่ใกล้กับอาศรมพระฤาษี นางชะนีได้แปลงกายเป็นคน แล้วใส่ยาเสน่ห์ในผลไม้ที่นำมามอบให้เพื่อให้ขุนทึงรัก ขุนทึงได้หลงเสน่ห์ของนางชะนีแล้ว ได้อยู่กับนางชะนีที่ถ้ำในป่าหิมพานต์นั้น ประมาณ 3 ปี ได้ลูกชายคนหนึ่งชื่อ อำคา หรือ อู่แก้ว ต่อมาขุนทึงได้ลานางชะนีกลับมาเมืองศรีสัตตนาคนหุต พร้อมกับท้าวอำคา ลูกชาย และได้ให้สัญญากับนางชะนีว่า จะมารับไปอยู่ในเมือง นางทำและนางทองต่างก็ดีใจ และรัก "ท้าวอำคา" เหมือนลูกตนเอง
เมื่อขุนทึงกลับถึงเมืองเรียบร้อยแล้ว จึงแต่งขบวนแห่มาเอานางชะนีไปอยู่ในเมืองตามสัญญา และสั่งชาวเมืองทุกคนให้ผูกสุนัขไว้ให้ดี อย่าให้เพ่นพ่าน แต่พอขบวนเข้าไปถึงเมือง นางทำ นางทอง มเหสีสองพี่น้องได้ปล่อยหมาให้ไล่กัดนางชะนีแปลงเป็นคนมานั้น นางชะนีได้วิ่งหนีออกจากเมืองกลับไปอยู่ป่าหิมพานต์ตามเดิม
ลำสั้น ขุนทึงเดินดง โดย หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน
อยู่มาไม่นานขุนทึงเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย จึงให้ท้าวอำคาไปขอยาวิเศษจากต้นมณีโคตรกับนางชะนีผู้เป็นแม่มาให้กิน และบอกให้เอามามากๆ เพื่อที่จะได้แจกจ่ายชาวเมืองด้วย แต่นางชะนีให้ยามาเพียงนิดหนึ่ง เพราะนางโกรธที่นางทำ นางทอง ปล่อยหมาไล่นางออกจากเมืองแทบเอาชีวิตไม่รอด ขุนทึงได้กินยาแล้วก็หายเป็นปกติ
ต่อมา ขุนทึงได้ทำพิธีอภิเษกให้ท้าวอำคาขึ้นครองราชย์แทนตน และอยู่มาอีกนาน ขุนทึงไม่สบายอีกหน จึงให้ท้าวอำคาไปขอยากับนางชะนีมากินอีก แต่ท้าวอำคาไปในครั้งนี้ไม่พบนางชะนีอีก เพราะนางชะนีได้ตายไปแล้ว จึงกลับมามือเปล่า ขุนทึงเมื่อไม่ได้ยากินก็ตายไปอีกคน ส่วนท้าวอำคานั้นได้ครองเมืองเป็นสุขต่อมา
นิทานลาวเรื่อง ขุนทึง ขุนเทือง - ນິທານລາວເລື່ອງ ຂຸນທຶງຂຸນເທືອງ 2
ต้นมณีโคตร หรือ มณีโครธ หรือ มะนีโคด (ภาษาลาว) ในตำนานที่คนสองฝั่งโขงเชื่อว่ามีอยู่นั้นคือ ต้นไทร ที่มีลักษณะของ “ไทรกร่าง” ซึ่งรากและลำต้นแข็งแรงยืนหยัดคงทนสูงใหญ่ ใบแข็งหนาแผ่กิ่งก้านมณฑลสาขาได้เป็นอาณาบริเวณกว้างมาก
ต้นไม้ที่ว่านี้ “พระอินทร์” นำมาจากสวรรค์เอามาปลูกไว้ที่กลางน้ำตก “หลี่ผีสีทันดร” ลำน้ำโขงแห่งนี้ ตำนาน “ขุนทึง ขุนเทือง” ก็เล่าไว้ว่าเดิมนั้นเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งสรวงสวรรค์ ที่ขึ้นอยู่ริมสระอโนดาตในป่าหิมพานต์เท่านั้น มิใช่สมบัติของชาวดินที่จะเชยชมกันได้ง่ายๆ ไม้นี้มีเพียง 3 กิ่งใหญ่ และมีความศักดิ์สิทธิ์ คือ
เชื่อกันว่าผู้ที่ได้ไปถึงก็มีแต่ “สมเด็จลุน” เพียงผู้เดียวเท่านั้น ส่วนในมิติโลกมนุษย์เราที่นักท่องเที่ยวไปชมและกราบไหว้กันก็มีอยู่จริง
ทุกวันนี้ มีคนไปเที่ยว คอนพะเพ็ง ใน สปป.ลาว และได้เห็น ต้นมณีโคตร ซึ่งถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง มีคำกล่าวเล่าขานกันว่า
ในวันธรรมดาทั่วๆ ไปนั้น นกที่บินมาจับต้นมณีโคตรจะเป็นนกสีดำ (หรืออาจจะมีสีอื่นๆ บ้างผู้เขียนก็ฟังไม่แน่ชัด) แต่ในวันศีลวันพระ (วันโกณวันพระ) นั้น นกที่บินมาจับจะเป็นนกสีขาว "
ข่าวล่าสุด : เมื่อปี 2555 ต้นมณีโคตร นี่ได้โค่นล้มลงแล้ว อ่านเพิ่มเติมที่นี่
วรรณกรรมอีสานเรื่อง "ท้าวสีทน" ก็คือเรื่อง "พระสุธน-มโนราห์" ที่แพร่กระจายไปทั่วในทุกภาคของประเทศไทย การกระจายไปยังท้องถิ่นต่างๆ จึงทำให้เกิดการประพันธ์ขึ้นด้วยภาษาถิ่นนั้นๆ และฉันทลักษณ์ในแบบของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ในภาคเหนือก็ประพันธ์เป็น "คร่าวซอ" ชื่อว่า "เจ้าสุธน" ภาคกลางประพันธ์เป็น "บทละครนอก" ชื่อว่า "นางมโนราห์" แต่แต่งได้ไม่จบเรื่อง พระยาอิสรานุภาพ จึงได้ประพันธ์เป็นคำฉันท์ชื่อว่า "พระสุธนคำฉันท์" ส่วนภาคใต้ก็ประพันธ์เป็น "กลอนสวด" (กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์) ชื่อว่า "มโนราห์รานิบาต" และมีสำนวนที่ใช้แสดงมโนห์รา หรือโนราอีกหลายสำนวน
ส่วนในภาคอีสานแต่งเป็น "โคลงสาร" ซึ่งบางคนเรียก "กลอนลำ" ชื่อว่า “ท้าวสีทน” หรือ "ท้าวสีทนต์" หรือ "สีทนมโนราห์" และยังพบว่า มีชาวไทยในสิบสองปันนา รัฐคุนหมิง ของประเทศจีน ก็มีวรรณกรรมเรื่อง พระสุธนมโนราห์ ด้วย แต่จะเรียกอีกชื่อว่า “นางมโนราห์” ซึ่งเมื่อครั้งที่ผู้เขียนไปเที่ยวเมืองสิบสองปันนาก็ได้ชมชุดการแสดงที่ศูนย์การแสดงชื่อ "พาราณสี" ที่มีการแสดงเรื่องราวต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ ชุดระบำนกยูง (สิบสองปันนา เมืองแห่งนกยูง มีสวนสัตว์นกยูงให้เราได้ชมด้วย) เมื่อสอบถามรายละเอียดจากไกด์ได้ความว่า เป็นการแสดง "ร่ายรำของเหล่ากินรี" ซึ่งก็คือ "นางมโนราห์" แบบจีนที่อ่อนช้อยสวยงามนั่นเอง
ส่วนต้นฉบับเรื่อง "ท้าวสีทน" ฉบับภาคอีสานแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ลักษณะการประพันธ์เป็นโคลงสาร หรือกลอนลำ ซึ่งพระภิกษุนิยมนำมาเทศน์ เพราะชาวอีสานถือว่าเป็น "ชาดก" (คือชาดกนอกนิบาต) เพราะในต้นฉบับกล่าวว่า ท้าวสีทน (หรือ พระสุธน) เป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า และตอนจบเรื่องก็มีการประมวลชาดกที่กล่าวว่า ตัวละครตัวใดบ้างกลับชาติมาเป็นพระพุทธเจ้าพระชาติในปัจจุบัน ที่ภาคอีสานเรียกกันว่า “ม้วนชาดก” เรื่อง "ท้าวสีทนมโนราห์" ฉบับภาคอีสาน ที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปนั้น ต้นฉบับที่ใช้เรียบเรียงก็คือ การถอดมาจากต้นฉบับใบลานมาเป็นอักษรไทย ที่ได้มีการพิมพ์เผยแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2513 ก็คือ งานปริวรรตของ พระอริยานุวัตร เขมจารี (2513) เป็นหนังสือที่พิมพ์ต้นฉบับภาคอีสานเรื่อง “สีทน มะโนราห์” เป็นสำนวนวรรณคดีเก่าแก่ที่นักปราชญ์แต่ก่อนได้แต่งเป็นค้ากลอนเอาไว้ เพียงแต่ไม่ทราบว่าแต่งขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้แต่ง แต่มีการสันนิษฐานว่า อาจแต่งในต้นสมัยอาณาจักรล้านช้าง เพราะมีทั่วๆ ไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางฉบับสำนวนจะแตกต่างกันบ้างแต่ก็เล็กน้อย เพราะอาจเกิดจากจากคัดลอกต่อๆ กันมา รวมทั้งชื่อตัวละครที่อาจจะเขียนไม่เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดก็สรุปความอย่างเดียวกัน
Dai Lue Movie : เจ้าสุธุน - นางมโนรา
เป็นภาพยนตร์เรื่องราวของ "ท้าวสุทน-นางมโนรา" สำนวนไตลื้อ
ในบทความที่จะเล่าต่อไปนี้ จะนำเสนอเพียง 2 สำนวน คือ สีทน-มโนราห์ ฉบับปริวรรตจากอักษรธรรม 4 ผูก วัดบ้านแดงหม้อ กับอีกสำนวนหนึ่งจากการศึกษาวิจัยเรื่อง ท้าวสีทน-มโนราห์ : ชาดกพื้นบ้านอีสานกับการสร้างพื้นที่ทางสังคมในชุมชนลุ่มน้าโขง ดังนี้
ปริวรรตจาก อักษรธรรม 4 ผูก วัดบ้านแดงหม้อ ตำบลแดงหม้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
จาก การศึกษา รวบรวม และจัดสร้างฐานข้อมูลใบลานจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ยังมีนครเป็งจาล (เปงจาน) มีกษัตริย์ชื่อ ท้าวอาทิตราช พระโพธิสัตว์ได้จุติในครรภ์พระเทวีของพระองค์ เมื่อประสูติแล้วทรงพระนามว่า "สีทนต์" ในตอนประสูติมามี "ธนู" อาวุธประจำพระองค์ติดตัวมาด้วย แสดงถึงความเป็นผู้มีบุญบารมี
มีนายพรานคนหนึ่งไปล่าสัตว์ที่ป่าหิมพานต์ ไปช่วยกิตตินาคราชให้พ้นจากการคุกคามของยักษ์ นายพรานไปพบนางกินรี ชื่อ มโนราห์ และพี่ของนางรวม 7 คน มาเล่นน้ำในสระริมเขาไกรลาส นายพรานจึงยืมเอา "บ่วงบาศ" จากพระยานาคที่ตนช่วยชีวิตไว้ แล้วนำนางไปถวายท้าวสีทนต์ ท้าวสีทนต์ยกนางไว้ในตำแหน่งมเหสี
ต่อมามีโจรมารุกรานนอกเมือง ท้าวสีทนต์จึงลานางมโนราห์ไปปราบโจร ท้าวอาทิตราชได้พระสุบินว่า ไส้ได้ไหลออกจากท้อง จึงให้หมอโหรมาทายดู หมอโหรทายว่า จะต้องเอาเนื้อนางมโนราห์เซ่นผีบ้านผีเมือง นางจึงทำอุบายขอปีกหางจะรำให้ดู แล้วนางก็บินหนีไปยังเขาไกรลาส เมืองภูเงิน
ท้าวสีทนต์ไปปราบโจร 3 เดือน จึงสำเร็จ กลับมาไม่พบนางมโนราห์จึงออกตามหา ท้าวสีทนต์ไปตามหานางด้วยความยากลำบาก ไปพบพระฤาษีที่นางมโนราห์ฝากแหวนไว้ พระฤาษีชี้ทางไป และแนะนำเช่น การกินผลไม้ให้กินตามนก จะพบเส้นทางยากลำบาก ให้ปราบด้วยมะนาวเสก ต่อมาพบยักษ์สูงเจ็ดชั่วลำตาลให้ใช้ปืนยิง และข้ามแม่น้ำที่มีงูจงอาง งูเหลือม งูทำทาน เป็นแม่น้ำที่มีพิษ พ้นจากตรงนั้นจะต้องเกาะหลังนกอินทรีย์ ไปจนกว่านกอินทรีย์จะพนบินไปถึงป่าหิมพานต์ของนาง ในที่สุดท้าวสีทนต์ก็ได้พบกับนางมโนราห์ดังปรารถนา
จากงานวิจัย : ท้าวสีทน-มโนราห์ : ชาดกพื้นบ้านอีสานกับการสร้างพื้นที่ทางสังคมในชุมชนลุ่มน้าโขง
วิทยานิพนธ์ ของ ประณิตา จันทรประพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เมืองอุดรจัญจาล มี ท้าวอาทิจจวงศ์ เป็นผู้ครองเมือง มีมเหสีนามว่า จันทาเทวี มีพระโอรส 1 องค์ นามว่า สุธนกุมาร เมื่อสุธนกุมารเจริญวัยได้ศึกษาศิลปศาสตร์จนเชี่ยวชาญ ทิศตะวันตกของเมืองอุดรปัญจาลมีพญานาคชื่อ ชมพูจิตร อาศัยอยู่ในสระใหญ่ และเป็นที่สักการะของชาวเมือง เพราะเชื่อว่าด้วยอำนาจของพญานาคจึงทำให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ปราศจากอันตราย
เมืองมหาปัญจาล อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองอุดรปัญจาลได้เกิดเภทภัยแห้งแล้ง ชาวเมืองจึงพากันอพยพไปอยู่ที่เมืองอุดรปัญจาล ทำให้กษัตริย์ของเมืองมหาปัญจาลเกิดความสงสัย จากนั้นจึงทราบว่าต้นเหตุนั้นมาจาก พญานาคชมพูจิตร ที่ชาวเมืองเชื่อกันว่า เหตุที่ปัญจาลนครอุดมสมบูรณ์เป็นเพราะอำนาจของพญานาค จึงได้ประกาศหาพราหมณ์ผู้มีเวทมนตร์ไปฆ่าพญานาคชมพูจิตร
เมื่อเมืองมหาปัญจาลส่งพราหมณ์ผู้มีเวทมนตร์มาที่อุดรปัญจาล ก็ทำพิธีเพื่อฆ่าพญานาคชมพูจิตร ฝ่ายพญานาคชมพูจิตรก็ทนอยู่เมืองบาดาลไม่ได้จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์ แล้วไปซ่อนตัวอยู่ที่ขอบสระ จากนั้นได้เจอกับ พรานบุณฑริก และเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง และขอให้พรานบุณฑริกช่วยเหลือตนให้พ้นจากเวทมนตร์ของพราหมณ์แห่งเมืองมหาปัญจาล
ขณะที่พราหมณ์แห่งเมืองมหาปัญจาลทำพิธี เพื่อจะจับพญานาคชมพูจิตร พรานบุณฑริกจึงยิงพราหมณ์ด้วยธนู จากนั้นจึงบังคับให้คลายมนตร์ และฆ่าพราหมณ์ ณ ที่นั่น หลังจากที่พรานบุณฑริกได้ฆ่าพราหมณ์แล้ว พญานาคชมพูจิตรก็พานายพรานไปยังเมืองบาดาล และบำรุงบำเรอให้มีความสุข พรานบุณฑริกอยู่ที่เมืองบาดาลได้เพียง 7 วันก็ลากลับ พญานาคชมพูจิตรจึงตอบแทนด้วยแก้วแหวนเงินทองจำนวนมาก พร้อมกับสั่งว่า หากพรานบุณฑริกต้องการความช่วยเหลือก็ให้มาบอก
วันหนึ่ง นายพรานบุณฑริกไปล่าสัตว์ในป่า ได้พบกับ พระกัสสปฤษี ซึ่งมีอาศรมอยู่ใกล้สระน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง และทราบจากฤาษีว่า ในวันขึ้น 15 ค่่ำ จะมีบรรดานางกินรีมาอาบน้ำในสระ เมื่อนายพรานทราบเช่นนั้นจึงไปแอบซุ่มดูอยู่ที่ริมสระ ฝ่ายนางกินรีทั้ง 7 ธิดาท้าวทุมราช พร้อมบริวารก็พากันมาอาบน้ำในสระ จนบ่ายคล้อยจึงบินกลับ นายพรานเมื่อเห็นรูปร่างของนางกินรีก็คิดพาอยากจะได้ไปถวายพระสุธน จึงกลับมาปรึกษาพระฤาษี พระฤาษีจึงแนะนำว่า มีแต่นาคบาศของพญานาคเท่านั้นที่จะจับกินรีได้
นายพรานไปอ้อนวอนขอยืมบ่วงนาคบาศจากพญานาคชมพูจิตร ด้วยเหตุที่นายพรานเคยช่วยชีวิตตนเอาไว้ จึงให้บ่วงนาคบาศแก่นายพราน เมื่อได้บ่วงนาคบาศจากพญานาคมาแล้ว ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เหล่านางกินรีพาอาบน้ำที่สระแห่งนั้นอีก พรานบุณฑริกจึงแอบซุ่มอยู่ริมสระ จากนั้นเมื่อได้โอกาสจึงปล่อยบ่วงนาคบาศไปคล้องนางมโนราห์ ทำให้บรรดากินรีนางอื่นๆ แตกตื่นบินหนีกลับเมืองไกรลาศ และทูลเท้าทุมราชและนางเทพกินรีให้ทราบเหตุ เมื่อนางเทพกินรีทราบเช่นนั้นก็พาบริวารออกตามหานางมโนราห์
กล่าวถึงพรานบุณฑริกเมื่อเก็บปีกและหางนางมโนราห์แล้ว ก็เปลื้องนาคบาศจากตัวนาง และพานางเดินจากป่าหิมพานมาจนถึงเมืองอุดรปัญจาล ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระสุธนเสร็จประพาสอุทยาน พระสุธนทอดพระเนตรเห็นนางมโนราห์ก็เกิดความรักใคร่ จากนั้นจึงเรียกนายพรานมาถาม พรานเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระสุธนฟัง และถวายนางแก่พระสุธน หลังจากที่พระสุธนรับนางมโนราห์ไว้ ได้ให้คนสนิทไปทูลบิดามารดาให้ทรงทราบ เมื่อบิดามารดาทราบเช่นนั้นจึงเสร็จออกไปจัดพิธีอภิเษกให้ ณ ตำหนักอุทยาน แล้วรับพระสุธนกับนางมโนราห์กลับเข้าพระนคร
มเหสีท้าวทุมราชและบริวารบินตามหานางมโนราห์มาจนถึงสระโบกขรณี พบแต่แหวนที่นางถอดวางไว้ จึงเก็บกลับไปเมืองไกรลาศ
ในราชสำนักของพระสุธนมีพราหมณ์ผู้หนึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระสุธน พระสุธนได้ให้คำมั่นสัญญากับพราหมณ์ว่า เมื่อพระองค์ได้ครองราชย์จะให้พราหมณ์ผู้นั้นดำรงตำแหน่งปุโรหิต เป็นเหตุให้ปุโรหิตที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงอาฆาตพระสุธน ถึงขั้นใส่ความว่า พระสุธนคิดกบฏ แต่ท้าวอาทิจจวงศ์ไม่เชื่อ
มีข้าศึกยกมาตีเมืองอุดรปัญจาล ปุโรหิตยุยงท้าวอาทิจจวงศ์ให้พระสุธนไปรบ พระสุธนสารารถปราบฆ่าศึกและได้ชัยชนะ ในวันที่พระสุธนได้รับชัยชนะนั้น ท้าวอาทิจจวงศ์ทรงพระสุบินว่า พระอันตะไหลออกมากองรอบจักรวาลได้ 3 รอบ แล้วหดหายเข้าไปในพระอุระดังเดิม
ท้าวอาทิจจวงศ์ให้ปุโรหิตมาทำนายความฝัน ปุโรหิตเห็นโอกาสที่จะแก้แค้นพระสุธนจึงทำนายว่า เป็นฝันร้ายจะเกิดภัยอันตรายใหญ่หลวง และทูลให้ทำพิธีบูชายัญด้วยสัตว์ 2 เท้าและสัตว์ 4 เท้า รวมทั้งนางกินรี และทูลว่า ต้องนำตัวนางมโนราห์มาบูชายัญด้วย แต่เท้าอาทิจจวงศ์ไม่ยอม ปุโรหิตจึงกราบทูลถึงความจำเป็นโดยอ้างเหตุผลต่างๆ จนท้าวอาทิจจวงศ์ต้องยอม เมื่อนางมโนราห์ทราบข่าวร้ายจากสาวใช้ก็ตกใจ รีบไปทูลนางจันทาเทวีให้ช่วย นางจันทาเทวีจึงทูลทัดทานท้าวอาทิจจวงศ์แต่ก็ไม่เป็นผล
เมื่อใกล้ถึงเวลาทำพิธีนางมโนราห์คิดอุบายขอปีกหางและเครื่องประดับ อ้างว่าจะทำการร่ายรำถวาย เมื่อนางจันทาเทวีดูจนเพลิน ขณะนั้นราชบุรุษจะเข้ามาจับตัวนาง นางก็บินหนีออกไปทางช่องพระแกล นางมโนราห์บินไปถึงป่าหิมพานต์ก็แวะไปหากัสสปฤษี แล้วสั่งความไว้ว่า ถ้าพระสุธนตามถึงที่นี่ให้ทัดทานไว้ เพราะหนทางข้างหน้าทุระกันดารเต็มไปด้วยภัยอันตราย นางจึงฝากภูษาและธำรงค์ไว้ให้พระสุธน
จากนั้นเมื่อนางนึกได้ว่า พระสุธนคงไม่ฟังคำทัดทานและจะออกติดตามหานางให้จงได้ นางจึงบอกทางแก่ฤาษีให้บอกพระสุธนว่า ทางไปเมืองไกรลาศนั้นเต็มไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ พร้อมวิธีแก้ไขโดยละเอียดว่า เมื่อพ้นทางที่มนุษย์จะไปได้แล้วจะถึงป่าไม้ที่มีผลเป็นพิษให้พระสุธนจับลูกวานรไปด้วย เพื่อจะได้เลือกกินผลไม้ที่ไม่เป็นพิษ จากนั้นจะถึงป่าหวายทึบให้พระสุธนใช้ภูษาคลุมกาย และนอนให้ "นกหัสดีลิงค์" มาโฉบข้ามป่าไป เมื่อข้ามไปได้แล้วให้ทำเสียงดังให้นกตกใจบินหนี และเดินทางต่อไปจะพบช้างสารต่อสู้กันขวางทางอยู่ ให้พระสุธนใช้ผงยาทาให้ทั่วกายแล้วร่ายมนตร์เดินลอดระหว่างขาช้างไป จากนั้นจะถึงภูเขา 2 ลูก โน้มยอดกระทบกัน ให้พระสุธนใช้มนตร์เพื่อภูเขาจะได้แยกเป็นช่อง แล้วให้รีบเดินผ่าน จากนั้นจะผ่านไปถึงที่อยู่ของหมู่ผีเสื้อน้ำ ให้ร่ายมนตร์ก็จะผ่านไปได้ เมื่อเดินทางต่อไปจะผ่านป่าหญ้าคา ภูเขาทอง ภูเขาเงิน ป่าหญ้า ป่าไม่ไผ่ ป่าดงอ้อ และจะถึงป่าทึบที่มีสระน้ำลึกเต็มไปด้วยงูพิษ ริมสระนั้นก็เป็นภูเขายากที่จะผ่านไปได้ แต่ถ้าพระสุธนผ่านไปได้ก็จะถึงดงดอนใหญ่ที่นั่นจะมียักษ์สูงใหญ่ ให้พระสุธนใช้ยาผงโรยที่ลูกศรยิงให้ถูกอกยักษ์ เมื่อยักษ์ล้มให้เดินไปทางหัวยักษ์ก็จะพบแม่น้ำ ที่มีงูเหลือมทอดกายเหมือนสะพานทอดข้ามแม่น้ำ จากนั้นก็ถึงป่าหวายจะมีพญานกทำรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่ในป่าหวาย ให้พระสุธนไปซ่อนอยู่ในรังนก เพื่อจะได้อาศัยเกาะขนนกพามาจนถึงเมืองไกรลาศ เมื่อสั่งความทุกสิ่งอย่างแล้ว นางมโนราห์ก็จดมนตร์ลงบนใบไม้ฝากไว้พร้อมกับห่อยา และนางก็ลาพระกัสสปฤษีบินกลับเมืองไกรลาศ
ฝ่ายพระสุธนเมื่อมีชัยแก่ฆ่าศึกก็ยกทัพกลับอุดรปัญจาล เมื่อถึงพระนครก็ทรงทราบเรื่องราวจากนางจันทาเทวีว่า นางมโนราห์จะถูกจับบูชายัญนางจึงบินหนีไป พระสุธนให้นายพรานบุณฑริกนำทางไปที่อาศรมฤาษี เมื่อถึงอาศรมแล้วให้นายพรานกลับ ส่วนพระองค์เองเข้าไปถามถึงนางมโนราห์ กัสสปฤษีมอบธำรงและภูษาที่นางมโนราห์ฝากไว้แก่พระสุธน พร้อมบอกความตามที่นางสั่งห้ามไม่ให้ตามไป แต่พระสุธนยังยืนยันที่จะติดตาม ฤาษีจึงบอกอุบายแก้ภัยอันตรายต่างๆ และมนตร์ที่นางมโนราห์ฝากและจดไว้ให้พระสุธน ดังที่นางบอกไว้ทุกประการ จากนั้นฤาษีมอบยาแล้วชี้เส้นทางที่นางไป เมื่อทราบความสิ้นแล้วพระสุธนจึงจับลูกวานรมาตัวหนึ่ง แล้วลากัสสปฤษีเดินทางตามเส้นทางและสถานที่ต่างๆ ที่นางบอกไว้
พระสุธนได้เดินทางตามทางทุรกันดารพบภัยอันตรายต่างๆ และสามารถรอดพ้นด้วยอุบายที่นางมโนราห์บอกไว้ทุกประการ พระสุธนใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน และ 7 วัน พระสุธนเดินทางถึงป่าหวายที่มีหนามแหลมคม จึงห้อยโหนขึ้นไปบนต้นไม้ที่อยู่ระหว่างป่าหวาย ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำ ไม่รู้ว่าจะเดินทางต่อไปแห่งหนใด ก็เกิดความรันทดท้อพระทัยนึกถึงตนเองที่ได้ละทิ้งบิดามารดา จึงต้องมาทนทุกข์ยากลำบาก เพราะหลงรักผู้หญิงจึงรำพันออกมาว่า “เราอาศัยอีผู้หญิงจึงมาละทิ้งบิดามารดาผู้มีบุญคุณได้มาเสวยทุกข์ลำบากอย่างใหญ่คราวนี้ เราจะไปทางไหนได้"
ขณะพระสุธนกันแสงอยู่ ก็ได้ยินเสียงพญานกซึ่งอาศัยอยู่บนต้นไม้พูดคุยกันว่า "พรุ่งนี้ ที่เมืองไกรลาศจะมีพิธีชำระมลทินล้างกลิ่นสาบมนุษย์ให้แก่นางมโนราห์ เนื่องจากถึงกำหนดวันคำรบ 7 ที่นางหนีกลับมาจากเมืองมนุษย์ จะมีงานสมโภชทำขวัญนาง เราจะพากันไปกินเครื่องพลีกรรมในเมืองนั้น" เมื่อพระสุธนได้ยินเช่นนั้น ก็คลานเข้าไประหว่างซอกขนพญานก ผูกตนไว้กับขนปีกอย่างมั่นคง และคอยอยู่จนรุ่งเช้าพญานกก็พากันบินไปเมืองไกรลาศ เมื่อใกล้จะถึงเมืองไกรลาศก็ร่อนลงยังขอบสระใหญ่ พระสุธนได้โอกาสรีบแก้มัดออกแล้วแอบเข้าไปซ่อนตนอยู่ริมสระแห่งนั้น
สาวใช้ของนางมโนราห์พากันมาตักน้ำที่สระและสนทนากัน พระสุธนซึ่งแอบอยู่ริมสระได้ยินเข้าก็ปรารถนาจะทราบเรื่อง จึงอธิษฐานว่า ขออย่าให้นางกินรีคนสุดท้ายยกหม้อน้ำขึ้นได้ ด้วยอำนาจแรงอธิษฐานทำให้กินรีนางสุดท้ายไมสามารถยกหม้อน้ำขึ้นได้ เมื่อเหลียวมาพบพระสุธนจึงขอความช่วยเหลือ พระสุธนจึงไต่ถามจึงทราบว่า นางมาตักน้ำเพื่อจะไปสรงนางมโนราห์ชำระกลิ่นสาบมนุษย์ พระสุธนจึงถอดธำรงค์หย่อนลงในหม้อน้ำ แล้วยกให้นางกินรีผู้นั้นรับไป
ฝ่ายนางมโนราห์ถึงเวลาเข้าที่สรง ก็รับหม้อน้ำมารด ครั้นถึงหม้อที่มีธำรงค์สาวใช้ได้รดลงที่ศีรษะนางมโนราห์ พระธำรงค์ก็เลื่อนมาสวมอยู่ที่นิ้วก้อยของนาง นางจึงรู้ว่า พระสุธนติดตามมาถึงแล้ว
เมื่อเสร็จพิธีสรง ก็เรียกนางสาวใช้มาถาม สาวใช้ก็ทูลให้ทราบ นางมโนราห์จึงจัดผ้าทรงกับเครื่องกระยาหารให้นำไปถวายพระสุธน แล้วนางมโนราห์ก็ไปทูลนางมารดาและบิดาให้ทราบ ท้าวทุมราชผู้เป็นบิดาทราบเรื่องราวจึงรับสั่งถามถึงพระสุธน นางมโนราห์ทูลถึงความเก่งกล้าสามารถของพระสุธน ท้าวทุมราชจึงถามด้วยความสงสัยว่า ทำไมนางจึงหนีมา นางมโนราห์ก็เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทรงทราบ ท้าวทุมราชจึงถามต่อว่า หากพระสุธนเป็นผู้ที่มีความเก่งกล้าสามารถจริง เหตุใดจึงไม่ติดตามนางมา นางมโนราห์จึงได้โอกาสทูลว่า ขณะนี้พระสุธนได้ติดตามมาถึงเมืองไกรลาศแล้ว ท้าวทุมราชจึงให้ไปรับพระสุธนเข้ามาในเมือง และถามถึงการเดินทาง พระสุธนก็เล่าถวายให้ทรงทราบทุกประการ
ท้าวทุมราชให้ประชุมเทวดาและคนธรรพ์แล้วให้พระสุธนทดลองธนูฤทธิ์ โดยยิงธนูทะลุผ่านเครื่องกีดขวาง คือ ต้นตาล กระดานไม้มะเดื่อ เสาหิน แผ่นเหล็ก แผ่นทองแดง และเกวียนบรรทุกทราย ที่วางซ้อนกัน 7 ระยะ และให้ยกศิลาแท่งใหญ่ ซึ่งบุรุษพันหนึ่งจะยกไหว พระสุธนก็สารารถกระทำได้ พวกเทวดา คนธรรพ์ กินนร ที่มาประชุมก็แซ้ซ้องสาธุการชมฤทธิ์พระสุธน ท้าวทุมราชก็ประสงค์จะลองใจพระสุธน จึงให้แต่งธิดาทั้ง 7 องค์ มานั่งเรียงกัน และให้พระสุธนเข้าไปชี้ว่า มเหสีของพระองค์คนไหน หากเลือกถูกจะให้อภิเษก พระสุธนเมื่อเห็นรูปร่างนางทั้ง 7 เหมือนกันหมดจึงไม่อาจเลือกได้
ด้วยอ้านาจความสัตย์ของพระสุธนร้อนถึงพระอินทร์ พระอินทร์จึงจ้าแลงเป็นแมลงวันทองมาจับที่ผมของนางมโนราห์ พระสุธนจึงชี้ตัวถูก ท้าวทุมราชจึงจัดงานอภิเษกให้ อยู่มาวันหนึ่งพระสุธนปรารถนาจะกลับไปยังเมืองอุดรปัญจาล นางมโนราห์จึงขอติดตามไปด้วย จึงได้ไปกราบทูลท้าวทุมราชให้ทราบ ท้าวทุมราชก็ใคร่จะไปยังโลกมนุษย์ด้วย
ท้าวทุมราชจัดเตรียมไพร่พลเหาะไปยังอุดรปัญจาล เมื่อไปถึงก็ตั้งพลับพลาใกล้อุดรปัญจาล ฝ่ายท้าวอาทิจจวงศ์ครั้งเห็นพลับพลาและไพร่พลมากมายเช่นนั้นก็คิดว่า มีข้าศึกมาล้อมเมือง จึงตกพระทัยไม่รู้จะคิดอ่านอย่างไร พระสุธนเกรงว่า พระบิดาจะเข้าพระทัยผิด จึงพาบริวารเข้าไปกราบทูลให้ผู้เป็นพ่อทรงทราบทั้งหมด ตลอดจนพานางมโนราห์กลับมา
หลังจากที่ท้าวทุมราชลากลับไปยังนครไกรลาศแล้ว ท้าวอาทิจจวงศ์ก็มอบราชสมบัติแก่พระสุธน ส่วนพระองค์เองเสด็จออกบรรพชาเป็นดาบส พระสุธนก็ครอบครองราชย์สมบัติเป็นสุขสืบต่อมา เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วก็ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก
นอกจาก 2 สำนวนนี้ก็มีสำนวนอื่นๆ อีกหลายสำนวนซึ่งมีเค้าโครงเรื่องเหมือนกัน แต่ชื่อเมือง ตัวละคร อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง อาจจะคล้ายคลึงแต่ก็เขียนแตกต่างกัน สำหรับผู้เขียนเองนั้นชินกับสำนวนที่เป็นหมอลำของคณะดังแห่งภาคอีสาน คือ หมอลำคณะรังสิมันต์ ของพระเอกทองคำ เพ็งดี และนางเอกฉวีวรรณ ดำเนิน และนางเอกบานเย็น รากแก่น มากกว่าครับ
หมอลำคณะรังสิมันต์ - ศรีธนมโนห์รา
สนใจกลอนลำยาวศรีธนมโนห์รา คลิกไปอ่านที่นี่ครับ
ภาษาพูดของผู้คนในภาคอีสานนั้นมีหลายสำเนียงที่แตกต่างกันไป ไม่มี "ภาษาอีสาน" นะครับ มีแต่เป็นภาษาพูดดั้งเดิมของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยในอีสาน ] ดังนั้น เมื่อท่านเดินทางไปท่องเที่ยวอีสาน ท่านจะได้ฟังสำเนียงเสียงพูดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด คำที่เสนอในที่นี่รวบรวมมาจากที่กระผมอาวทิดหมู มักหม่วน ได้ตอบไว้ใน Facebook Fanpage มาแล้วแต่ค้นหาย้อนหลังยาก ท่านเว็บมาดเซ่อเลยขอร้องแกมบังคับให้นำมารวบรวมไว้ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง แฟนนานุแฟนที่ต้องการทราบความหมายของคำ หรือประโยคใดก็สอบถามเพิ่มเติมมาได้นะขอรับ ยินดีนำมาตอบให้ทราบทั้งในเว็บไซต์และเฟซบุ๊คต่อไป
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
แล้ง-ฮน-อนธการ-นางสังขาร-โจก-ป่อง-ปล่องเอี้ยม
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้เสนอคำว่า "แล้ง"
บ่มีไผถามดอกคำนี้ แต่อากาศกระท่อมฮิมมูลของอ้ายทิดหมู (ณ เวลาที่เขียน) นั่นมันฮ้อนฮนหลาย ภาษาลาว ຮ້ອນ (ฮ้อน) ลมพัดมากะมีแต่ไอแดดฮ้อน ย้อนว่าเป็นยามแล้งละเนาะ
แล้ง ว. แห้ง ไม่มี เปล่า นอนไม่มีคู่เคียง เรียก นอนแล้ง อย่างว่า ภูวนาถท้าวเนาแล้งต่างแลง (ฮุ่ง) ข้าวขาดแลง แกงขาดหม้อ เรียก อยู่แล้ง อย่างว่า พี่ก็อดอยู่แล้งลืมเข้าขาดแลง (ฮุ่ง) ฤดูที่ฝนไม่ตกเรียก ระดูแล้ง ยามแล้ง ก็ว่า. dry, parched, lacking, bereft.
ฮ้อนฮน ก. ร้อนรน ทุรนทุราย ฮ้อนฮน อนธการ ก็ว่า อย่างว่า เยียวจักอนธการฮ้อนฮนแถมเถิงเดือด (สังข์) เมื่อนั้นราชาฮ้อนฮนกระหายแสนแสบ (กา). to be impatient, zealous, passionate, restless.
ฮนฮ้อน ก. ร้อนรน อย่างว่า ชาวเมืองมวลป่วงวินฮนฮ้อน (กา). to be fervent, zealous, anxious.
เว้าละกะสิไปโตนน้ำมูลคลายฮ้อนก่อนซั่นแหล่ว ทนบ่ไหวแล้ว
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "ฮน"
อากาศฮ้อนๆ จั่งซี้กะสิได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่จ่มออกมาว่า "โอย... คือมา ฮ้อนฮน อนธการ แท้น้อ" ฮ้อน คือ ร้อน พอเข้าใจ แต่ "ฮน" นี่แม่นหยังน้อ? อาวทิดหมูเอามาไขให้ฮู้กันครับ
ฮ้อนหลายแท้น้อ ยิงให้ดับสะบ้อหือ?
ฮน ก. ดิ้นรน กระวนกระวาย อย่างว่า ฝูงบ่าวย้องพวงเพธมาลา ตาไซซอนเสียดสาวสงวนชู้จอมเมืองเจ้าใจฮนฮักไพร่ สนุกอยู่หลิ้นไพรกว้างม่วนระงม (สังข์) เค็งเค็งฮ้อนฮนตายเต็มแผ่น (กาไก). to struggle to do, writhe, be anxious.
ฮนเฮ ก. กระสับกระส่าย ทุรนทุราย อย่างว่า คื่นคื่นก้องกงแม่สมุทรหลวง ชาวนาคาตื่นเฮฮนย้าน พระก็กลัวตายแท้มีขืนขัดอยู่ เลยเล่าเตินแต่งพร้อมพงศ์เชื้อป่าวไป (สังข์). to be restless, agitated.
อนธการ น. ความมืด ความมืดมัว ความมืดมน เวลาค่ำ ความเขลา อันธการ ก็ว่า (ป.). darkness, lack of or low visibility, nighttime, ignorance, stupidity.
ภาษาอีสานเฮานี้เว้าแล้วแจ้งจ่างป่าง เห็นภาพเลยว่าเป็นจั่งใด๋ อากาศฮ้อนกะขอให้ฮ้อนแต่กาย ใจอย่าฮ้อนตามครับ เดี๋ยวสิมีเรื่องราวบ่ดีเกิดขึ้น เดือดร้อนกันไปเบิด ไปโตนน้ำมูลเล่นแบบอาวทิดหมูเลาดีกว่า หากินในน้ำพุ้นหล่ะ บ่ได้ปลากะได้เย็นซั่นดอกวา
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "นางสังขาร"
หยุดไปหลบลมฮ้อน ไปอยู่บ่อนใด๋กะบ่ม้มครับ ฮ้อน ไหม้ คือกันสู่บ่อน ตอนเช้าเปิดอีแมว โอ๊ะ อีเมล์ จดหมายน้อยจากสาวบ้านต้อง (จักแม่นจังหวัดใด๋เพิ่นบ่บอกมา) ถามว่า "ไปเที่ยวทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาวมา เขามีการแห่ 'นางสังขาร' แม่นอันเดียวกับ 'นางสงกรานต์' บ้านเฮาบ่ อาวทิดหมู บอกนางแหน่"
สังขานต์ น. สงกรานต์ นักขัตฤกษ์ขึ้นปีใหม่ วันขึ้นปีใหม่โบราณนับเอาวันขึ้นหนึ่งคำเดือน ๕ เรียก วันสังกาศสังขานต์ คือวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง อย่างว่า ฮื่นฮื่นข้าหลายส่ำโยธา เพ็งสมภารทั่วดินแดนฟ้า เถิงเมื่อสังขานต์ขึ้นระดูปีฟ้าใหม่ เมื่อใดทุกประเทศท้าวมาเต้าซู่เมือง (ฮุ่ง). Thai New Year (traditionally was first day of fifth lunar month).
สงกรานต์ น. โบราณถือเดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ เดือน ๕ อากาศร้อนจัด โบราณจึงให้มีพิธีสงกรานต์ รดน้ำเมื่อเทศกาลเดือน ๕ มาถึง นับตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ถึงวันเพ็ญเดือน ๖ ชาวอีสานจะนำน้ำอบน้ำหอมไปสรงพระพุทธรูปที่ทางวัดจัดให้ สรงพระสงฆ์ สรงผู้เฒ่าผู้แก่ สรงแข้วเขานองา ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องค้ำของคูณ และมีการสรงน้ำกันพอเป็นพิธี. Thai New Year.
ตอบได้เลยว่า แม่นอันเดียวกันครับ แต่ตามรูปศัพท์ภาษาไทยเฮาเขียน "สังขานต์" ส่วนทางฝั่งลาวเขียนเป็น นางสังขาร, นางสังขาน (เลียนเสียง) แต่อักษรลาวจะเป็น ນາງສັງຂານ ความหมายเดียวกันข้างต้นนั่นเอง ประเพณีสงกรานต์นี่เป็นวัฒนธรรมร่วมแห่งอุษาคเนย์ ประเทศใกล้เคียงบ้านเฮาทั้งเขมร พม่า เวียดนามก็มีเหมือนกัน เพราะสภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกัน แต่บางประเทศใช้ "ผงสี" มาสาดกันแทนน้ำ เพราะแล้งขาดน้ำอย่างประเทศอินเดีย เป็นต้น 😍🥰😘 [ อ่านความรู้เพิ่มเติม : ตำนานนางสงกรานต์ทั้งเจ็ด ]
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอว่า "มืดซุ้มล้าว"
ได้รับข้อความถามมาทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คว่า "ได้ยินยายบอกหลานว่า 'สูกะสิมาเล่นกันอีหยังแท้ มันมืดซุ้มล้าวแล้ว ไปหาส่อยอีแม่เฮ็ดแนวอยากแนวกินพุ้นเป็นหยัง?' คำว่า 'มืดซุ้มล้าว' มันคืออีหยังอาวทิดหมูบอกน้องแหน่?"
ภาษาอีสานค่อนข้างเก่าอยู่ ในปัจจุบันเอาคำทางภาษากลางมาใช้แทนจนแทบจะไม่ได้ยินกันอีกแล้ว "มืดซุ้มล้าว" มาจากคำ 2 คำ คือ
มืด ว. ไม่มีแสงสว่าง มองไม่เห็น เช่น เวลาพลบค่ำ เรียก มืดซุ้มล้าว มืดจนมองไม่เห็นเรียก มืดอื้อตื้อ อย่างว่า มืดอื้อตื้อคือฟ้าเง่าฝน (กาไก). dark.
ซุ้มล้าว น. เวลาช่วงโพล้เพล้ ใกล้มืด ใกล้สว่าง เช่น เวลาพลบค่ำ พระอาทิตย์จะตกดินเรียก มืดซุ้มลาว เวลาจวนสว่างก็เรียก มืดซุ้มล้าว อย่างว่า มืดซุ้มล้าวพอไก่ลงลก (น.). nightfall, dawn.
จากคำพูดของยายข้างต้นจึงแปลความได้ว่า "พวกแกจะมาเล่นอะไรตอนนี้ มันค่ำมืดแล้วไปช่วยแม่ทำกับข้าวกับปลา ไป" ตามนี้แหละน้องเอย
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "โจก"
มื้อนี้ได้รับคำถามมาจากลูกหลานเกิดใหม่ใหญ่ลุนส่งอีแมว เอ้ย! อีเมล์มาถามอาวทิดหมูว่า "ตอนปลายเดือนพฤศจิกายนกลับบ้านไปเอาบุญกฐินทางบ้านปู่-ย่า ไปถึงวัดพ่อบอกให้ไปประเคนน้ำถวายญาท่าน (ปู่) เพิ่นเมตตาลูกหลานเลยบอกว่า 'ไปเอา "โจก" อยู่ทางตู้ข้างศาลาโรงโรงธรรมออกมาเพิ่มแหน่ไป สิได้กินน้ำกินในครบสู่คน' อยากให้อาวทิดหมูอธิบายแหน่ว่า 'โจก' คืออีหยังครับ พอดีมื้อนั้นผมบ่ทันได้ลุกไป ทางผู้ใหญ่บ้านเพิ่นบอกว่า เอาออกมาใช้เบิดแล้ว"
คำว่า "โจก" ในภาษาอีสานบ้านเฮานั้นมีหลายความหมายดังนี้
โจก น. ชื่อปลาเกล็ดชนิดหนึ่ง คล้ายปลาจอกแต่ตัวใหญ่กว่า เรียก ปลาโจก. type of scaly freshwater fish.
โจก น. หัวหน้า คนผู้เป็นหัวหน้าเรียก โจก หัวโจก ก็ว่า อย่างว่า แต่นั้นออระม่อยหน้าแมนโจกชมคดี ยอมือทูลเหนือหัวกล่าวทางทุกค้าย (ฮุ่ง). leader.
โจก น. แก้วน้ำ กระบอกสำหรับใส่น้ำเรียก โจก ทำด้วยไม้ไผ่เรียก โจกไม้ไผ่ ทำด้วยแก้วเรียก โจกแก้ว จะใช้ตักน้ำหรือตักเหล้ากินก็ได้. cup, glass.
โจก ว. ทีหลัง หลังสุด ล่าสุด ใช้สำหรับเล่นการพนัน คนผู้มีสิทธิ์เล่นคนสุดท้ายเรียก โจก. last, most recent.
จากที่ถามมา ดูในรูปประโยคแล้ว "โจก" ในความหมายที่ญาท่านเพิ่นกล่าวถึงนั้น หมายถึง "แก้วน้ำ" นั่นเอง ให้เอาใส่น้ำจะได้แจกจ่ายดื่มกันได้ทั่วถึง
เรื่องของ โจก จอก แก้ว นี่ความหมายทางอีสานบ้านเฮาคืออันเดียวกัน สิ่งเดียวกันเป็นภาชนะใส่น้ำ แต่ถ้าไปเที่ยวทางฝั่ง สปป.ลาว ต้องใช้ให้ถูกต้อง เพราะมีความหมายเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไปดังนี้
"เอาเบียร์มาจัก 3 แก้วแหน่" เมาแน่นอนเพราะในความหมายนี้ พนักงานเสิร์ฟจะนำเบียร์มาให้ท่านถึง 3 ขวด ถ้าไปกัน 3 คนจะดื่มเบียร์กันคนละแก้วต้องบอกน้องพนักงานว่า "น้องหล้า เอาเบียร์มาให้อ้ายเบิ่ง 3 จอกเด้อ" ท่านจะได้มา 3 แก้วสำหรับดื่มกันคนละแก้วนะขอรับ คนลาวเวลาเชิญชวนยกแก้วดื่มเป็นเกียรติจึงได้กล่าวว่า "มาตำจอกกัน" นั่นเอง
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้เสนอคำว่า "ป่อง"
ได้รับข้อความมาทาง Inbox ทักท้วงมาจากการโพสท์ใน Facebook Fanpage ก่อนหน้าว่า "เว้าบ่ป่อง" ไม่น่าจะตรงกับคำแปลที่ผมบอกว่า "พูดไม่คิด" ก็เลยขอมาสรุปให้ฟังเข้าใจตรงกันดังนี้
ป๋อง น. รู แผ่นพื้นไม้มีรู เรียก ป่อง หรือ รู ไม้ที่ไม่มีโกน (โพรง) ข้างใน ได้แก่ พวกไม้ไผ่เรียก ไม้ป่อง. hollow (of wood like bamboo).
เว้า ว. พูด พูดเรียก เว้า พูดด้วยเรียก เว้านำ อย่างว่า เว้านำหมาหมาเลียปาก เว้านำสากสากวัดหัว (ภาษิต) พูดเกี้ยวพาราสี เรียก เว้าชู้ พูดไพเราะเรียก เว้าม่วน พูดหยาบเรียก เว้าเพอะ พูดประจบประแจงเรียก ปากเกลี้ยง อย่างว่า ปากเกลี้ยงเว้าเป็น หีเหม็นเว้าม่วน (ภาษิต). to talk.
ดังนั้นเมื่อนำเอาคำว่า เว้า+บ่+ป่อง มารวมกันจึงมีความหมายตรงๆ คือ พูดไม่ตรง(ประเด็น) พอดูในเนื้อหาของเพลงตามมิวสิกวีดิโอ ก็หมายถึง พูดไม่คิด (หน้าคิดหลัง) ว่าตัวเองเคยทำอะไรไว้ก่อนหน้า ยังจะมีหน้ามาขอคืนดี ตามนี้นะครับ ขอบคุณที่สอบถามเข้ามา คนอื่นๆ จะได้เข้าใจตรงกันครับ
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "ปล่องเอี้ยม"
ได้รับจดหมายก้อมจากผู้สาวน้อยรุ่นใหม่ พ่อแม่พาไปอยู่ไทดน กลับมายามบ้านแล้วถูกย่าดุในตอนเช้าวันหนึ่งว่า "อีหล้าเอย เป็นสาวเป็นนางแล้ว สิแต่งเนื้อแต่งโตในห้องหับ กะ 'อัดป่องเอี่ยม' แหน่ อายผู้อายคนเขา" อาวทิดหมูนางบ่ฮู้จัก "ป่องเอี้ยม" บอกนางแหน่สิได้เฮ็ดให้ถืกใจย่า
ป่อง น. ไม่มีโกน (โพรง) ข้างใน ได้แก่ พวกไม้ไผ่เรียก ไม้ป่อง. hollow (of wood like bamboo).
ปล่อง น. ช่องทะลุเรียก ปล่อง เช่น ปล่องเฮือน ปล่องชาน ปล่องเอี้ยม. opening, doorway, window.
ปล่องเอี้ยม น. หน้าต่าง หน้าต่างเรียก ปล่องเอี้ยม ปล่องลม ก็ว่า อย่างว่า ภายในเจาะปล่องลมเลียงไว้ (กา) แม่เถ้าเอยลูกเขยมาแล้ว ไขปล่องเอี้ยมเยี้ยมเบิ่งลูกเขย (บ.). window.
เยี้ยม น. หน้าต่าง หน้าต่างเรียก ปล่องเยี้ยม ปล่องเอี้ยม ก็ว่า. window.
"ป่องเอี้ยม" ที่นางหล้าถามมาoyho น่าจะเพี้ยนไปตามสำเนียงของแต่ละถิ่นที่ครับ ความหมายเดียวกันกับคำว่า "ปล่องเอี้ยม" ที่ปรากฏใน "สารานุกรมอีสาน-ไทย-อังกฤษ" ของคุณพ่อ ปรีชา พิณทอง ที่นำมาบอกกล่าวข้างบน
ความหมายที่ย่าบอกน้องหล้า ก็คือ "นางหนูโตเป็นสาวแล้ว เวลาแต่งเนื้อแต่งตัวในห้องหับก็ให้ปิดประตู-หน้าต่าง อย่าให้ไอ้หนุ่มหน้าไหนมาแอบมอง" นั่นเอง
มาที่คำว่า "ป่อง" ก็คือ รู ที่มองลอดทะลุได้ อย่างแผ่นกระดานที่มีรูก็เรียกว่า "แป้นมีป่อง" ในสมัยโบราณนั้นการสร้างบ้านเรือนยังไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยอย่างปัจจุบัน จึงไม่ได้มีการทำบานหน้าต่างบานเปิดปิดได้อย่างปัจจุบัน มีเพียงการเจาะช่องเล็กๆ พอที่จะส่องออกมาดูภายนอกเพื่อระแวดระวังภัยเท่านั้น จึงเรียกว่า "ปล่องเอี้ยม" หรือ "ป่องเอี้ยม" นั่นแล แม้ใน "สิม" หรือ "โบสถ์" ในวัดวาอารามก็เช่นกัน เจาะช่องเพื่อระบายอากาศ ให้เป็นช่องแสงเท่านั้นเอง
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
รวมผญา สุภาษิต และคำสอย
กลอนลำ
เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง
ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร
กลอน ภาษิตโบราณอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)