คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นิทานพื้นบ้าน (ไทยกูย) โดย อารีย์ ทองแก้ว
จาก วารสารศิลปะและวัฒนธรรม ลุ่มน้ำมูล มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ 2547
มีครอบครัวหนึ่งฐานะยากจน ประกอบด้วยแม่และลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อ “นางกะเดิบโดง” พ่อของนางกะเดิบโดงได้ตายจากไปนานแล้ว ฐานะของครอบครัวนี้ยากจนข้นแค้น แต่ก็มีความซื่อสัตย์ไม่คิดคดโกงใคร ตั้งใจในการประกอบสัมมาอาชีพ แต่ชาวบ้านก็รังเกียจด้วยความยากจนของครอบครัวนาง
วันหนึ่ง 'แม่' ของนางกะเดิบโดง ไปขุดหน่อไม้ในป่าและทําเสียมหลุดจากด้ามไปติดอยู่ในกอไผ่ นางพยายามดึงยังไงก็ดึงออกไม่ได้สักที จนตะวันบ่ายคล้อยใกล้ค่ํา ก็หมดปัญญา นางจึงพูดบนบานว่า "ถ้าใครสามารถเอาเสียมของนางออกมาจากกอไผ่ได้ นางจะยกลูกสาวคนเดียวให้"
นางพูดยังไม่ทันขาดคํา ก็มีเสียงหนึ่งถามว่า “พูดจริงใช่ไหม?” นางก็ตอบว่า "ใช่"
ทันใดนั้นก็ปรากฏมี 'งู' ตัวใหญ่ตัวหนึ่งเลื้อยออกมา และเอาเสียมออกจากกอไผ่มาให้ แม่นางกะเดิบโดงตกใจมาก ที่เห็นงูใหญ่ขนาดเท่าต้นมะพร้าว แต่ก็ไม่รู้จะทําอย่างไร เพราะได้ลั่นวาจาออกไปแล้วจึงถือเอาความสัตย์
ฝ่ายงูถามแม่นางกะเดิบโดงว่า "เราจะไปบ้านนางได้อย่างไร" นางก็บอกให้ไปตามเปลือกหน่อไม้ ที่นางจะแกะทิ้งไว้เป็นระยะๆ ตามรายทางจนถึงบ้านของนาง
เมื่อกลับนางถึงบ้านแล้ว นางก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ลูกสาวฟัง นางกะเดิบโดงนั้นตกใจมาก แต่ก็ยอมทําตามความประสงค์ของแม่ด้วยความกตัญญู พอตกกลางคืน 'งูใหญ่' ก็ไปที่บ้านของนางกะเดิบโดงจริงๆ และเข้าไปอยู่ในห้องของนางกะเดิบโดง
'งูใหญ่' นี้ ที่จริงเป็นงูเทพ จําแลงกายมาเพื่อลองใจแม่นางกะเดิบโดงว่า จะรักษาคําสัตย์หรือไม่?
เมื่อเข้าไปในห้อง งูจึงคืนร่างเป็นเทพรูปงาม และบอกความจริงแก่นางกะเดิบโดง และได้นางเป็นภรรยาในคืนนั้น พร้อมกับเนรมิตทรัพย์สินเงินทอง สร้างความร่ํารวยให้ครอบครัวนี้ จนเป็นที่ร่ําลือไปทั่วทั้งหมู่บ้าน
ยังมีอีกครอบครัวหนึ่ง มีลูกสาวชื่อ นางกะเดิบซลา และน้องชายอีกหนึ่งคน เมื่อแม่ของนางกะเดิบซลาได้ยินเรื่องความร่ำรวยนี้เข้า ก็เกิดความอิจฉาและอยากร่ํารวยกับเขาบ้าง จึงแวะเวียนไปบ้านนางกะเดิบโดง เพื่อถามแม่ของนางกระเดิบดงถึงสาเหตุของความร่ำรวยในครั้งนี้ ฝ่ายแม่ของนางกะเดิบโดงก็เล่าความจริงทั้งหมดให้ฟัง โดยไม่ปิดบังแต่อย่างใด
แม่ของนางกะเดิบซลา เมื่อกลับมาถึงบ้านก็คว้าเสียม ตะกร้า เพื่อไปหาหน่อไม้ ในใจก็คิดถึงแต่ความร่ํารวยตลอดทาง อยากได้เขยรูปงามเพื่อให้ผู้คนร่ําลือเหมือนแม่นางกะเดิบโดงบ้าง
เมื่อไปถึงป่าไผ่ นางก็เอาเสียมไปเสียบไว้กับกอไผ่กอเดิม ที่แม่นางกะเดิบโดงทําเสียมติด แล้วนางก็ทําทีร้องหาคนช่วยว่า "เอาเสียมออกจากกอไผ่ไม่ได้ ใครสามารถเอาออกมาให้ได้ แล้วนางจะยกลูกสาวให้" นางร้องเกือบทั้งวันก็ยังไม่มีใครมาช่วย
จนใกล้ค่ํา นางเกือบหมดความอดทนแล้ว จู่ๆ ก็มี 'งูใหญ่' ตัวหนึ่งอาสาจะเอาเสียมให้นาง นางดีใจมากบอกว่า ให้รีบไปบ้าน นางจะทิ้งเปลือกหน่อไม้ไว้เป็นที่สังเกตตลอดจนถึงบ้าน
แม่นางกะเดิบซลาดีใจรีบกลับบ้าน แล้วบอกแก่นางกะเดิบซลา ให้เตรียมตัวรับว่าที่ผัวงู นางกะเดิบซลาเป็นคนดี แต่ขัดใจแม่ไม่ได้ จึงจําใจต้องทําตามที่ผู้เป็นแม่บอกมา
คืนนั้น 'งูตัวใหญ่' มาที่บ้านนางกะเดิบซลา แม่ของนางดีใจรีบพาเข้าห้องลูกสาว กําชับให้ปิดประตูลงกลอนให้เรียบร้อย ส่วนตัวเองจะเข้านอนคอยเงี่ยหูฟังสถานการณ์
สักพักหนึ่ง ได้ยินเสียงนางกะเดิบซลาร้องบอกว่า "งูใหญ่ได้กลืนข้อเท้าตนเองแล้ว" แม่นางกะเดิบซลาได้ยินดังนั้น ก็ให้ขัดเคืองยิ่งนัก นางตะคอกให้ลูกเงียบ เพียงสามีหยอกเล่นนิดหน่อย ก็ทํากระโตกกระตากให้คนอื่นรู้
สักครูหนึ่งนางกะเดิบซลา ก็ร้องดังขึ้นอีกว่า "งูได้กลืนมาถึงเอวแล้ว" แม่นางก็บอกให้เงียบ สักพักนางกะเดิบซลา ก็ร้องอีกว่า "งูกลืนนางถึงคอแล้ว" แม่ของนางก็บอกให้เงียบ
รุ่งเช้าแม่นางกะเดิบซลาตื่นขึ้นมาหุงหาอาหาร จนสายก็ยังไม่เห็นลูกสาวและลูกเขยออกจากห้อง จึงเอะใจ เคาะประตูไม่มีใครตอบ จึงลงเดินไปหารอบๆ บ้าน เห็นงูใหญ่ท้องป่อง เนื่องจากกลืนกินนางกะเดิบซลา ไปนอนขดตัวอยู่ในสวนหม่อนหลังบ้าน
นางตกใจสุดขีดร้องให้ชาวบ้านมาช่วยฆ่างู ผ่าท้องช่วยนางกะเดิบซลาออกมาได้ เนื้อตัวของนางเต็มไปด้วยเมือกงูที่ล้างไม่ออก ผิวหนังด่างดำหลุดลอกและเปื่อยเป็นจุดๆ เรื่องนี้เป็นที่ซุบซิบนินทาของคนในหมู่บ้าน ทั้งเรื่องหยิบยื่นความตายให้ลูกสาวเพราะความโลภของตนเอง รวมทั้งผิวพรรณด่างดำของลูกสาวที่คล้ายดังเกล็ดงูลอกคราบ ไม่สวยงามดังเดิม สร้างความอับอายแกนางกะเดิบซลาเป็นอย่างมาก นางจึงบอกกับแม่ของนางว่า "ขอตัวไปอาบน้ําล้างเมือกงูที่กลืนนางออก" แม่นางให้น้องชายคนเดียวของนางตามไปเป็นเพื่อนด้วย
นางกะเดิบซลาคว้าขันน้ำ และเตรียมผ้าไปผลัดเปลี่ยน เดินออกจากหมู่บ้านหาแหล่งน้ำชําระล้างร่างกาย ผ่านหนองน้ำใหญ่ น้องชายของนางให้นางลงอาบล้างที่หนองนั้น แต่นางว่าน้ำน้อยไปล้างเมือกออกไม่หมดหรอก จึงพากันเดินต่อไป ผ่านอีกห้วย บึง แม่น้ำ ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของนาง บุกป่าฝ่าทุ่งหลายวัน หลายคืน จนมาถึงมหาสมุทรใหญ่ นางบอกให้น้องชายหยุดรอที่ชายฝั่ง ส่วนนางจะลงไปอาบน้ำล้างคราบเมือกงูออก นางคว้าขันเดินลงไปในน้ําเรื่อยๆ จนลึกถึงคอ เมื่อนางเดินลึกถึงปลายคาง นางเอาขันครอบหัว แล้วมุดน้ําหายไป ไม่ยอมโผล่มาอีกเลย
น้องชายของนางรออยู่เป็นนาน ก็ไม่เห็นพี่สาวโผล่มาสักที จึงเดินร้องให้กลับบ้าน พร้อมกับบอกเรื่องราวทั้งหมดให้แม่ของนางกะเดิบซลาฟัง นางเสียใจและรู้สึกผิด แต่ก็ทําอะไรไม่ได้เพราะสายเกินไปเสียแล้ว
นางกะเดิบซลา ที่หายไปในมหาสมุทร ได้ลายเป็น 'นางเงือก' อาศัยอยู่ในมหาสมุทร ไม่ยอมพบผู้คนด้วยความอับอาย ตราบเท่าทุกวันนี้ นิทานเรื่องนี้สอนใจให้เรารู้ว่า...
ความโลภ ย่อมนำมาสู่ความวิบัติ "
ตำนานนางเงือก นิทานพื้นบ้านของชาวกูย
ในนิทานจากทางฝั่งเขมรแถบลุ่มน้ำโขง (จังหวัดกระแจะ ประเทศกัมพูชา) ก็มีเรื่องราวคล้ายคลึงกันกับเรื่องนี้ แต่นางกะเดิบชลาไม่ได้เดินทางไปล้างตัวไกลถึงทะเล หรือมหาสมุทร แต่ลงไปล้างตัวในแม่น้ำใหญ่ (แม่น้ำโขง) ที่เป็นวังวนน้ำลึก (คล้ายกับแถบหลี่ผี ใน สปป.ลาว หรือสี่พันดอน) เรียกนิทานนี้ว่าประวัติ "ไตร เพสาด ប្រវត្តិ ត្រីផ្សោត" หรือ "ปลาโลมาน้ำจืด" หรือ “โลมาอิรวดี” หรือโลมาหัวบาตร หรือที่ชาวลาวเรียกขานว่า “ปาข่า” หรือ “ปลาข่า” อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง เขตมหานทีสี่พันดอน ตอนใต้ประเทศลาว ชายแดนติดต่อตอนเหนือของกัมพูชา ซึ่งโลมาอิรวดีน้ำจืด หรือ ปลาข่า ตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดน สปป.ลาว และกัมพูชา ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้เสียชีวิตลงแล้ว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา หลังจากติดอวนจับปลาของชาวประมงในพื้นที่ ซึ่งเท่ากับโลมาน้ำจืดได้สูญพันธุ์จาก สปป. ลาว อย่างเป็นทางการแล้ว
การสูญเสียปลาข่าตัวสุดท้ายใน สปป.ลาว
เรื่องเล่านี้โดย นายเถา แสนดี ชาวบ้านตากลาง อายุ 75 ปี เป็นหมอช้างที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือ พระหมอเฒ่า ซึ่งเป็นตําแหน่งสูงสุด
ในบรรดาหมอช้างทุกคน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2537 ได้เล่าตำนานพระหมอเฒ่าให้หลวงพี่หาญ หลานชาย ที่บวชจําพรรษา
อยู่ที่วัดในหมู่บ้านตากลาง ตําบลกระโพ อําเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ บันทึกไว้โดย อารีย์ ทองแก้ว
พระหมอเฒ่า คนสุดท้ายของชาวส่วยหรือชาวกูย ที่มีอาชีพคล้องช้างป่า มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ ในความสามารถเกี่ยวกับการจับช้างป่าตั้งแต่ยังเป็นเด็กหนุ่มที่ยังไม่ได้แต่งงาน ต่อมาได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวบ้านใกล้เคียง อยู่กินกันมาจนมีลูกชายหนึ่งคนชื่อ “ก่อง” หรือภาษาส่วยเรียกว่า “อาหก่อง” เป็นที่รักและห่วงใยของพ่อแม่เป็นอย่างมาก เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มก็ได้รับตําแหน่ง “กํารวงปืด” (ครูบาใหญ่) ตามประเพณีที่มีพ่อเป็น พระมอเฒ่า โดยไม่ต้องไต่เต้าตามลําดับ โดยประเพณีที่สืบทอดกันมาได้กําหนดไว้ว่า
ผู้มีตําแหน่งสูงสุดในบรรดาหมอช้าง ถ้ามีลูกคนแรกเป็นผู้ชาย ให้หมอช้างทั้งหลายนําเอาเปลือกต้นกระโดนมารองรับตัวเด็กให้นอน พร้อมกับประกาศยกฐานหรือตําแหน่งหมอช้าง คือ “กํารวงปีด” ให้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนใดๆ แต่ถ้าลูกคนแรกเป็นผู้หญิงก็จะไม่มีสิทธิพิเศษดังกล่าว "
ก่อง หรือ อาหก่อง เป็นทายาทสืบทอดมรดกทุกอย่างต่อจากพระมอเฒ่า ที่พ่อแม่ภาคภูมิใจมาก เพราะตั้งแต่เล็กจนโตก่องเป็นเด็กดี มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่และขยันขันแข็ง พระมอเฒ่าจึงคิดที่จะถ่ายทอดวิชาทุกอย่างให้กับลูกชาย ให้มีความสามารถทุกอย่างโดดเด่นเหนือชายหนุ่มทุกคนในหมู่บ้าน
วันหนึ่ง พระมอเฒ่า ได้พาลูกและภรรยาออกไปเรียนรู้การคล้องช้างป่า โดยไม่บอกใครเลย เพราะต้องการตามใจลูกที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ หรืออาจเป็นเพราะความประมาทของพระมอเฒ่าด้วย ประกอบกับความเย่อหยิ่งในความสามารถของตนเองที่ไม่มีใครเทียบเท่า จึงคิดว่าจะทําอะไร หรือทําอย่างไรก็ได้
ย้อนกลับไปในอดีต “อาหก่อง” เคยเกิดเป็นลูกช้างป่า ถูกพระมอเฒ่าคล้องมาได้ เมื่อนํามาฝึกอย่างหนักในหมู่บ้าน ก็ทนกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่ยากลำบากไม่ได้จึงตรอมใจตาย แล้วได้กลับชาติมาเกิดเป็นลูกชายของพระมอเฒ่า อาหก่องสามารถจําชาติก่อนได้ทุกอย่าง จึงคิดถึงแม่ช้างป่าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาที่เห็นบรรดาหมอช้างออกไปคล้องช้างในป่า ก็ยิ่งคิดถึงแม่มากยิ่งขึ้น
เมื่อกลับชาติมาเป็นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดมาเป็นลูกของพระมอเฒ่าแล้ว ก็ได้โอกาสเหมาะที่รอคอยมานาน ในตอนที่พระมอเฒ่าจะพาภรรยาและตนออกไปคล้องช้าง ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว การออกไปคล้องช้างในป่านั้น ได้ห้ามนําภรรยาไปด้วย นอกจากนี้ก็ห้ามให้ลูกนั่งบนช้างเชือกเดียวกันกับพ่อด้วย แต่พระมอเฒ่าก็ละเลยไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งถือว่าผิดธรรมเนียมประเพณีอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้อาจเนื่องจากเชื่อว่า ตนเองเป็นผู้มีตําแหน่งสูงสุด มีความสามารถที่จะดูแลภรรยาและลูกได้ นอกจากนี้ ยังต้องการให้อาหก่องไม่ต้องลําบากในการหุงหาอาหารให้ ที่สําคัญคือ ต้องการฝึกลูกชายให้เป็นคนเก่งโดยไม่ต้องการให้ใครรู้
ก่อนออกไปคล้องช้างป่า และระหว่างการเดินทางไปคล้องช้างในป่าลึก อาหก่องได้ขอร้องให้พ่อคล้องเอาช้างผู้เป็น 'แม่ช้าง' โดยให้เหตุผลว่าเมื่อคล้องได้แม่ช้างแล้ว ลูกช้างก็จะต้องติดตามผู้เป็นแม่ช้างมาด้วย แต่พระมอเฒ่าผู้เป็นพ่อได้บอกว่า "โดยธรรมเนียมการคล้องช้างนั้น จะไม่คล้องเอาแม่ช้าง การคล้องช้างจะคล้องเอาเฉพาะลูกช้าง เพราะต้องการให้แม่ช้างอยู่ในป่าเพื่อผลิตลูกช้างให้อีกต่อๆ ไป และถ้าคล้องเอาแม่ช้างไปด้วย จะทําให้การฝึกลูกช้างเป็นไปด้วยความยากลําบาก ลูกช้างจะคลอเคลียกับแม่ช้าง และไม่สนใจการฝึกซ้อม" ความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูกเป็นอยู่เรื่อยๆ เพราะต่างคนต่างยืนยันความเห็นของตน ไม่มีใครยอมใคร เมื่อถึงบริเวณดงช้าง พระมอเฒ่าได้นำภรรยาพร้อมด้วยสัมภาระต่างๆ ไปไว้ที่จันรมย์ (ที่พัก) ใกล้ต้นหว้าใหญ่ เพื่อให้ภรรยาคอยหุงหาอาหารไว้ให้ตนกับลูกชาย โดยให้ภรรยาอยู่ตามลําพังเพียงผู้เดียว
พิธีกรรมคล้องช้าง ของชาวกูย แบบโบราณ
ต่อจากนั้น พระมอเฒ่าก็เริ่มทําพิธีเบิกไพร (เปิดป่า) จัดหนังปะกํามาวางบนหลังช้าง ไม้คันจามและอุปกรณ์ที่จําเป็น โดยให้อาหก่องเป็น 'มะ' นั่งท้ายบนช้างต่อ เสร็จแล้วก็พากันขับช้างเข้าสู่ป่าทึบที่ช้างอาศัยอยู่ เดินทางไปได้สักครู่ใหญ่ พระมอเฒ่าก็มองเห็นโขลงช้างใหญ่กําลังกินอาหารอย่างเงียบๆ พระมอเฒ่าจึงได้ขับช้างอาสาเข้าใกล้โขลงช้างทันที บังเอิญว่าช้างโขลงนั้นมี 'แม่ช้าง' ซึ่งในอดีตเคยเป็นแม่ของอาหก่อง พร้อมน้องๆ และเพื่อนๆ อีกมากมายอยู่ด้วย อาหก่องเมื่อเห็นดังนั้น ก็ตะโกนบอกพ่อให้คล้องเอาแม่ช้างโดยเร็วหลายๆ ครั้ง แต่พระมอเฒ่าไม่สนใจเพราะต้องการคล้องลูกช้างเท่านั้น
อาหก่อง ได้เห็นพ่อไล่กวดลูกช้าง เห็นภาพที่แม่ช้างพยายามปกป้องลูกช้างให้วิ่งหนีโดยเร็ว ได้เห็นสภาพแม่ช้างที่ตกใจ เห็นแม่ช้างเหนื่อยหอบ เพราะแม่ช้างแก่มากแล้ว จึงตัดสินใจกระโดดขี่หลังแม่ช้างไป ฝ่ายแม่ช้างเมื่อเห็นคนกระโดดขี่หลังก็ตกใจกลัวสุดขีด จึงเร่งความเร็วในการวิ่งสุดชีวิต ทําให้ห่างออกไกลจากพระมอเฒ่าเรื่อยๆ ฝ่ายช้างต่อเมื่อไม่มีผู้ขับขี่หรือบังคับก็ไม่ใส่ใจที่จะวิ่งไล่กวดโขลงช้างต่อไปอีก
ทางด้าน พระมอเฒ่า ก็ตกใจที่เห็นอาหก่องกระโดดขี่หลังแม่ช้างไป และด้วยความเป็นห่วงลูก พระมอเฒ่าก็ได้ร้องเรียกหา อาหก่องๆๆๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจฝูงลูกช้างอีกต่อไป แต่กลับให้ช้างวิ่งตามแม่ช้างเพื่อติดตามหาอาหก่อง ได้ยินเสียงอาหก่องร้องตอบมาว่า "กู๊กๆๆๆ" แต่เสียงนั้นก็ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ เพราะแม่ช้างเองก็รีบหนีให้เร็วสุดชีวิตเพราะมีคนขี่อยู่บนหลังของตนเอง จนในที่สุด แม่ช้างที่ อาหก่อง กระโดดขึ้นขี่ก็หายลับไป พร้อมกับความมืดที่เริ่มปกคลุมป่า พระมอเฒ่าเสียใจมาก และได้พยายามค้นหาอาหก่องลูกชายท่ามกลางความมืด แต่ก็ไม่มีวี่แววและเสียงขานตอบจากลูกชายเลย เมื่อดึกมากแล้ว พระมอเฒ่าก็ตัดสินใจกลับไปหาภรรยาพร้อมช้างคู่ใจ ระหว่างทางก็ตัดพ้อว่า "ลูกทิ้งพ่อแม่ที่แท้จริงไปได้ลงคอ ทั้งที่ตนเองหวังดีอยากให้อาหก่องเก่งกว่าคนอื่นๆ ทําไมลูกถึงไม่เข้าใจพ่อแม่เลย"
พระมอเฒ่าได้แต่ร่ำไห้มาตลอดทาง เมื่อมาถึงต้นหว้าใหญ่ก็ได้ร้องเรียกภรรยา แต่ไม่มีเสียงใครตอบรับ ก็เข้าใจว่าภรรยาคงนอนหลับ แต่เมื่อเดินเข้าไปหาก็ไม่เห็นภรรยานอนอยู่ จึงเดินเรียกหาภรรยาไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่พบ ด้วยความเหนื่อยล้าและความมืดปกคลุมไปทั่ว พระมอเฒ่าจึงตัดสินใจว่า จะตามหาภรรยาในตอนกลางวันแทน
เมื่อถึงเวลาเช้า พระมอเฒ่าจึงเดินตามหาภรรยาตนเองอีกครั้ง ปรากฏว่าเจอเลือดและเศษเนื้อชิ้นน้อยกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง พระมอเฒ่าเกิดความสงสัยจึงเดินตามหาไปทั่ว ในที่สุดก็พบแขนข้างหนึ่งของภรรยาอยู่บนพื้น ที่มีเลือดกระจายอยู่ทั่วบริเวณจึงเข้าใจว่า เสือได้กัดกินภรรยาของตนไปแล้ว พระมอเฒ่าทั้งตกใจและเสียใจเป็นเท่าทวีคูณ ได้แต่ร้องไห้จวนจะขาดใจตายตามลูกและภรรยาไป ด้วยความเสียใจบวกกับความเหนื่อยล้าของพระมอเฒ่า ทําให้หมดกําลังที่จะคิดทําอะไรต่อไป จึงได้นําแขนข้างหนึ่งของภรรยาขึ้นหลังช้าง และนอนนิ่งๆ อยู่บนหลังช้างเพื่อให้ช้างพากลับบ้าน
เมื่อถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านต่างสงสัยว่า พระมอเฒ่าหายไปไหน ภรรยาและอาหก่องหายไปไหน เมื่อถูกชาวบ้านถามมากๆ ยิ่งไปตอกย้ําความเสียใจให้กับพระมอเฒ่ามากยิ่งขึ้น พระมอเฒ่าไม่ตอบชาวบ้านแต่อย่างใด ได้แต่บอกว่า ตนเองไม่เหลืออะไรแล้ว จะเหลือก็เพียงแค่แขนนางเท่านั้น ทุกคนต่างดูสัมภาระของพระมอเฒ่าที่อยู่บนหลังช้าง เมื่อเห็นแขนข้างหนึ่งและอุปกรณ์อื่นๆ แต่ไม่เห็นภรรยาและอาหก่องลูกชายของพระมอเฒ่า ก็คาดเดากันพอเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้บ้าง พระมอเฒ่าได้ฝากส่วนแขนของนาง (หมายถึงแขนของภรรยา) ให้ทุกคนจัดการแล้วแต่ความเหมาะสมด้วย ส่วนคนที่จะไปคล้องช้าง หรือทําอะไรเกี่ยวกับช้างก็ให้ขอ 'อาหก่อง' ทุกครั้ง เพราะอาหก่องถือว่าเป็นเจ้าของช้างในป่าทั้งหมดไปแล้ว และก่อนพระมอเฒ่าสิ้นใจ พระครูปะกํา (เป็นตําแหน่งรองจากพระมอเฒ่า) ได้เข้าไปกอดพระมอเฒ่าพร้อมกับจับหนังปะกําไว้ เป็นการรับมอบพิธีการคล้องช้างไว้ต่อจากพระมอเฒ่า โดยให้สัญญาว่า จะรักษาประเพณีการคล้องช้างไว้มิให้สูญหายชั่วลูกชั่วหลาน จะรักษาให้สุจริตและรักษาให้เคร่งครัด แต่ไม่ขอรับตําแหน่งเทียบเท่าพระมอเฒ่า จะขอรับเพียงตําแหน่งพระครูปะกําเท่านั้น
ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันไม่มีตําแหน่ง พระมอเฒ่า จะมีเพียงตําแหน่ง ครูบาใหญ่ หรือตําแหน่ง กํารวงปีด ซึ่งเป็นตําแหน่งที่รองลงมาเท่านั้น ต่อมาก็มีการประชุมหารือและตกลงกันในบรรดาหมอช้างว่า จะเอาแขนนางไว้ในบ่วงบาศก์ ทุกครั้งที่ทําหนังปะกําจึงเรียกบ่วงบาศก์ว่า “แขนนาง” และกิจกรรมที่เกี่ยวกับช้างทุกครั้งก็จะพูดถึงหรือ เรียกหา “อาหก่อง” มาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การคล้องช้าง ก็จะไม่มีการนําภรรยาหรือผู้หญิงติดตามไปด้วยเลย มีการบัญญัติว่า เป็นข้อห้ามที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมทั้งห้ามไม่ให้พ่อกับลูกขี่ช้างเชือกเดียวกันเด็ดขาด ก่อนออกไปคล้องช้าง ทุกคนต้องผ่านการทําพิธีใหม่อีกครั้ง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ถ้าไม่ได้ช้างก็ต้องหาสาเหตุว่า ใครทําผิดข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติใดบ้าง ถ้าไม่มีใครยอมรับก็จะถือว่า ผู้ที่ทําผิดข้อห้ามนั้นจะมีอันเป็นไปเอง บางครั้งก็จะมีอาการเจ็บปวด หรือมีอันเป็นไปต่างๆ นานา ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาจนถึงทุกวันนี้
จากเรื่องเหล่านี้พอสรุปว่า ในการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มชนหรือการทํางานเป็นกลุ่มนั้น ทุกคนจะต้องเคารพกฎ ระเบียบ กติกาของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด ทุกคนจะต้องสามัคคีกัน มีจิตใจบริสุทธิ์ ถ้าไม่เคารพกฎระเบียบ กติกา หรือเห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น ก็จะได้รับผลร้ายตอบแทนทั้งกับตนเองและครอบครัว
การทำเชือกปะกำ คล้องช้างอันศักดิ์สิทธิ์
“ท้าวปาจิต-นางอรพิม” เป็นนิทานหรือเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในท้องถิ่นอีสาน นำมาจากชาดกนอกนิบาตเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ใน “ปัญญาสชาดก” เนื้อเรื่องแบ่งเป็นการเล่าแบบสอนศาสนา และเล่าเป็นแบบนิทานชาวบ้าน ผนวกการอธิบายชื่อบ้านนามเมือง “ปาจิต-อรพิม” จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาความเป็นมาของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในบริเวณอีสานใต้ ซึ่งใช้อธิบายที่มาของ "ชื่อบ้านนามเมือง" แถบปราสาทหินพิมาย และสถานที่หรือหมู่บ้านในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนที่สุด
จากเอกสาร “ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน” ฉบับตัวเขียนในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. 2316, ฉบับหลวงบำรุงสุวรรณ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำนวนแต่งคล้ายคลึงกับในสมัยกรุงธนบุรี, “ปาจิตต-อรพินท์” ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2436 โดยหลวงระงับประจันตคาม และนิทานธรรมเรื่องนางอรพิน ฉบับจารึกใบลาน วัดบ้านยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และการเล่าเรื่องของประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบ้านยางในจังหวัดมหาสารคาม และวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ล้วนมีเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกัน
แผ่นดินอีสานใต้เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงโคราช มีเทือกเขาพนมดงรักหรือเขาไม้คาน พาดผ่านเป็นแนวยาวจากดงพญาเย็นเขาใหญ่ผ่านเทือกเขาบรรทัด แดนลาว แนบชิดกับภูค่าวซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพูในเขตจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เทือกเขาพนมดงรักเป็นกำแพงธรรมชาติที่กั้นระหว่างไทยและเขมร เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำมูล ทำให้เกิดลำน้ำสาขามากมาย เช่น ลำมาศ ลำจักราช ซึ่งไหลผ่านแหล่งอารยธรรมที่สำคัญในบริเวณนี้ มีภูเขาไฟที่ดับแล้วหลายลูก ซึ่งคนโบราณได้ใช้ประโยชน์จากกายภาพของธรรมชาติ ผนวกกับความเชื่อทางศาสนาก่อสร้างสถาปัตยกรรมทางศาสนาสำคัญๆ ในบริเวณนี้ ความอุดมสมบูรณ์จากความคดเคี้ยวของแม่น้ำและลำน้ำสาขา ก่อให้เกิดดินตะกอนเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงทำให้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลาว เขมร ส่วยหรือกูย จีน ฯลฯเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เกิดการอพยพย้ายถิ่นตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
เรื่องนี้มีตำนาน : ตามรอยเมืองพิมายในนิทานปาจิต-อรพิม
คนทางภาคกลางยกเรื่อง "ปาจิต-อรพิม" ไว้ในปัญญาสชาดกในเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ส่วนคนลาวทางอีสานจารึกคำประพันธ์ไว้ในรูปใบลาน ด้วยตัวอักษรธรรมลาวเรียกว่า “นิทานคำกลอนเรื่องนางอรพิน” และพบว่า การประพันธ์ในเชิงสอนธรรมในรูปปัญญาสชาดก ไม่มีบทว่าด้วยการเล่าเรื่องชื่อบ้านนามเมือง และรักษาขนบของชาดกเคร่งครัดกว่าในนิทานกลอนอ่าน เห็นได้ชัดจากโครงเรื่องที่ผู้ประพันธ์ชาดกจะให้บทบาท "ผู้ฆ่า" เป็นของ "นางอรพิม" แทน "ท้าวปาจิต" ดังเช่น อรพิมเป็นผู้ฆ่าพรหมทัต พรานป่า และสามเณร ในขณะที่ฉบับกลอนอ่าน ปาจิตเป็นผู้ลงมือฆ่าพรหมทัต และพรานป่า
ดังนั้นกลอนอ่านจึงเป็นเรื่องของชาวบ้าน ซึ่งน่าจะเป็นคนลาวที่อยู่กระจายตัวอยู่ในเขตต่างๆ ของภาคอีสานเป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งมีการอธิบายเรื่องราวในท้องถิ่นของตนในเขตพิมาย บุรีรัมย์ และสุรินทร์ และจากหลักฐานเอกสารและเรื่องเล่าของคนในท้องถิ่นพิมาย ยังมีด้วยกันอีกหลายสำนวน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานชื่อบ้านนามเมืองของคนแถบเมืองพิมาย และเมืองที่เกี่ยวข้อง กับฉบับของคนแถบพนมรุ้งเมืองต่ำ และสุรินทร์ ซึ่งเป็นการเล่าชื่อบ้านนามเมืองซึ่งสอดคล้องกับภาษาเขมร ที่ใช้ตั้งชื่อบ้านนามเมืองในบริเวณนั้น
และยังมีความแตกต่างกันในตำแหน่งที่ตั้งบ้านของปาจิตและอรพิม ในตำนานของคนพิมายบอกว่าบ้านนางอรพิมอยู่ที่บ้านสัมฤทธิ์ ส่วนวังของปาจิตอยู่ที่นครธม แต่ทางฝั่งบุรีรัมย์บอกว่าอยู่ที่เมืองต่ำจากการเนรมิตของปาจิต มีพระราชวังอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง การทิ้งขันหมากของปาจิตในที่ต่างๆ ทางบุรีรัมย์ก็มีชื่อบ้าน เช่น ถ้ำเป็ดทองซึ่งอยู่ที่อำเภอปะคำ ส่วนบ้านตาจรู๊ค เป็นที่ปาจิตทิ้งขันหมากที่เป็นหมูบริเวณนี้ เนื่องจากคำว่า จรู๊ค เป็นภาษาเขมรแปลว่า หมู ฯลฯ
“ปาจิตตกุมารชาดก” นี้เป็นนิทานชาดกเรื่องหนึ่งใน “ปัญญาสชาดก” อันเป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่ได้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ เพื่อบำเพ็ญบุญบารมีให้ครบถ้วน 30 ทัศน์ (บารมี 30 ทัศน์) ในการที่จะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
แต่ที่น่าสนใจและน่าตั้งข้อสังเกตก็คือว่า เรื่องราวของชาดกนี้ตรงกันกับเรื่อง “ท้าวปาจิต-นางอรพิม” ซึ่งเป็นตำนานของ “เมืองพิมายปุระ” (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ของไทยในปัจจุบัน) ซึ่งเกิดขึ้นในยุคขอมเรืองอำนาจในสุวรรณภูมิทวีปแห่งนี้ ราวๆ พุทธศตวรรษที่ 15-16 (ยุคนั้นยังไม่มีราชอาณาจักรสยาม หรือประเทศไทยของเราแต่อย่างใด) ซึ่งยังพอมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้สามารถศึกษาค้นคว้าได้จนถึงทุกวันนี้ และเรื่องนี้ก็มีการบอกต่อและเล่าเป็นตำนานและเป็นนิทานพื้นบ้านสืบต่อมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
นิทานพื้นบ้าน : ท้าวปาจิต - นางอรพิม
ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ ซึ่งมี “ท้าวปาจิต” ได้เกิดเป็นโอรสของ “พระเจ้าอุทุมราช” กับพระอัครมเหสี "สุวรรณเทวี" กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองนครธม แห่งราชอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่และเกรียงไกรมากที่สุดในยุคนั้น เมื่อเจริญวัยเป็นหนุ่ม (พระชันษาประมาณ 15 ปี) พระบิดาก็ให้เลือกคู่ครอง โดยการให้ทหารไปประกาศเรียกหญิงสาวบรรดามีในมหานคร และหัวเมืองประเทศราชทั้งหลายนั้น มาให้ท้าวปาจิตเลือกเป็นคู่ครอง
ประตูทางเข้านครธม (สภาพเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ผู้เขียนไปเที่ยวมา)
สาวๆ ที่มานั้นมีทั้งลูกสาวเสนา อำมาตย์ ข้าราชการ ลูกพ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ มากันจนหมดเมือง แต่ท้าวปาจิตก็ไม่สนใจเลยแม้สักคนเดียว จึงมิได้คล้องมาลัยให้สาวคนไหนแต่อย่างใด พระเจ้าอุทุมราชทรงกลุ้มพระทัย จึงได้รับสั่งให้โหรหลวงมาทำนายโชคชะตาราศี และเนื้อคู่แก่พระโอรส เมื่อโหรหลวงได้ตรวจดูดวงชะตา ตามวันเดือนปีเกิดแล้วกราบทูลว่า
เนื้อคู่ของท้าวปาจิตยังไม่เกิด ขณะนี้อยู่ในครรภ์หญิงชาวนาผู้หนึ่ง ในเขตเมืองพิมาย อันเป็นเมืองประเทศราชของนครธม ซึ่งอยู่ทางทิศพายัพของพระนครธม โดยท้าวปาจิตจะต้องเดินทางไปหาหญิงผู้นั้น และอภิบาลครรภ์ ตลอดจนอบรมและเลี้ยงดูกุมารีด้วยพระองค์เอง ซึ่งจะสามารถสังเกตได้ง่ายว่าหญิงคนนั้นกำลังมีครรภ์ และมีเงากลดกางกั้นอยู่เหนือศรีษะ ไม่ว่าจะเดินไปไหนและทำอะไรอยู่กลางแจ้งก็ตาม "
ท้าวปาจิต เมื่อทราบดังนั้นก็ไม่รอช้า รีบเร่งเสด็จออกเดินทางไปตามคำทำนายของโหรหลวง จนกระทั่งมาถึงเขตเมืองพิมาย ท้าวปาจิตไม่แน่ใจจึงกางแผนที่ออกดู ที่ตรงนั้นถูกเรียกในภายหลังว่า บ้านกางตำรา และเพี้ยนเป็น บ้านจารตำรา ท้าวปาจิตข้ามถนนเพื่อเข้าเขตเมือง บริเวณนั้นเรียกว่า บ้านถนน แล้วเดินมาตามทางถึงหมู่บ้านหนึ่งมีต้นสนุ่นมาก ได้ชื่อว่า บ้านสนุ่น เลยบ้านสนุ่นก็มาถึงท่าน้ำใหญ่ ปัจจุบันเรียก บ้านท่าหลวง
แต่ปรากฎว่า เป็นเส้นทางผิด จึงออกไปอีกทิศทางหนึ่งถึง บ้านสำริด พบหญิงครรภ์แก่ชื่อ “ยายบัว” กำลังดำนาอยู่ เหนือศรีษะของนางมีเงาคล้ายกลดกั้นอยู่ ท้าวปาจิตก็แน่ใจว่า ใช่ตามคำทำนาย จึงเข้าไปแสดงตัวว่าเป็นใคร มีความประสงค์อะไร และแสดงความตั้งใจว่า จะอยู่ช่วยทำนาให้ จนกว่าจะคลอดลูก หากลูกคลอดออกมาเป็นชายจะยกย่องให้เป็นน้องชาย แต่ถ้าเป็นหญิงจะขอนำไปเป็นมเหสี
ซึ่งยายบัวและสามีชื่อ “นายมี” ก็ตอบตกลง และพระองค์ได้ขอร้องไม่ให้เปิดเผยตัวตนของพระองค์ให้ใครทราบ แม้แต่ลูกที่กำลังจะคลอดออกมาก็ตาม ท้าวปาจิตอาศัยอยู่กับยายบัวและนายมีเรื่อยมา โดยช่วยทำงานหนักทุกอย่าง ทั้งๆ ที่พระองค์เกิดมาเป็นลูกกษัตริย์ พระองค์ไม่เคยตกระกำลำบากและลงมือทำเองให้เหนื่อยเช่นนี้มาก่อนเลย เช่น ทั้งดำนา เลี้ยงโคกระบือ เกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นต้น
จนยายบัวครบกำหนดคลอด จึงได้ไปตามหมอตำแยมาทำคลอด (หมู่บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านตำแย ในปัจจุบันนี้) ทารกในครรภ์ของยายบัวก็คลอดออกมาเป็นทารกเพศหญิง ตรงตามคำทำนายของโหร ยายบัวตั้งชื่อให้ว่า “อรพิน” แต่ในภาษาท้องถิ่นอีสานจะเรียกว่า “อรพิม” ทารกหญิงนั้นมีหน้าตาน่ารัก สวยงาม และมีผิวพรรณผ่องใส เป็นที่พอใจแก่ท้าวปาจิตยิ่งนัก
ท้าวปาจิตต้องทำงานหนักและช่วยดูแล ตลอดจนอบรมสั่งสอนนางตั้งแต่เป็นเด็ก จนกระทั่งโตเป็นสาวแสนสวยโสภายิ่งนัก ครั้นนางเจริญวัยเป็นสาวสวยก็ได้ผูกสมัครรักใคร่กับท้าวปาจิตเช่นเดียวกัน จนในวันหนึ่งท้าวปาจิตได้บอกถึงฐานะและตัวตนของพระองค์ให้นางทราบ และขออนุญาตนางบัว นายมี และนางอรพิมว่า ตนจะกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตน เพื่อยกขันหมากจากพระนครธม มารับนางอรพิมไปอภิเษกสมรสตามราชประเพณีที่พระนครธมต่อไป
เมื่อมาถึงนครธม ท้าวปาจิต ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าอุทุมราชพระราชบิดา และพระราชมารดา พระองค์จึงให้จัดให้มีขบวนขันหมากอย่างดี และมีจำนวนรี้พลมากมาย เดินทางไปเมืองพิมาย โดยที่หารู้ไม่ว่า บัดนี้ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นกับนางอรพิม
ปราสาทหินพิมาย และรูปสลักพระเจ้าพรหมทัต
นั่นคือ “พระเจ้าพรหมทัต” กษัตริย์ผู้ครองเมืองพิมายได้ทราบข่าวความงามของนาง จึงได้ให้ “พระยาราม” และเหล่าทหารไปนำตัวนางมาไว้ในพระราชวัง นางอรพิมสุดที่จะขัดขืนได้ จำต้องมา แต่นางได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า "ถ้ามิใช่ท้าวปาจิตแล้ว ผู้ใดแตะต้องตัวนางก็ขอให้กายนางร้อนเหมือนไฟ" ดังนั้นพระเจ้าพรหมทัตจึงแตะต้องตัวนางมิได้ โดยพระเจ้าพรหมทัตพยายามเอาอกเอาใจต่างๆ นาๆ และจะพยายามเข้าใกล้นางอรพิม แต่เมื่อเข้าใกล้ตัวนางเมื่อใหรก็รู้สึกร้อนเป็นไฟ จึงได้ถามนางอรพิม นางได้กราบทูลว่า ให้รอพี่ชายมาถึงเสียก่อน
กระบวนขันหมากของท้าวปาจิต ยกออกจากนครธมมาหลายคืนหลายวัน จนมาถึงลำน้ำแห่งหนึ่ง (อยู่ในตำบลงิ้ว ปัจจุบันนี้) ท้าวปาจิตให้ทหารหยุดกระบวนขันหมาก เพื่อให้ทหารและสัตว์พาหนะได้พักและบริโภคน้ำ ชาวบ้านเห็นผู้คนมากันมากมายจึงเข้ามาไต่ถามว่า มาทำไมและจะไปไหน พวกทหารตอบว่า จะไปบ้านสำริด เพราะพระโอรสกษัตริย์แห่งเมืองขอมจะแต่งงานกับสาวบ้านนี้ ชาวบ้านจึงถามชื่อหญิงคนนั้น ทหารบอกว่าชื่อ นางอรพิม ชาวบ้านจึงเล่าให้ฟังว่า พระเจ้าพรหมทัตได้นำตัวนางเข้าไปไว้ในปราสาทเมืองพิมายเสียแล้ว
ซึ่งทั้งพระเจ้าอุทุมราชและท้าวปาจิต ทรงตกพระทัยเป็นยิ่งนัก โดยเฉพาะท้าวปาจิต โกรธมากถึงกับโยนทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ และขันหมากทิ้งลงแม่น้ำหมด (ที่ตรงนั้นเรียกว่า “ลำมาศ” หรือ “ลำปลายมาศ” ที่ไหลไปสู่ลำน้ำมูลจนทุกวันนี้) ส่วนรถทรงก็ตีล้อ ดุมรถ และกงรถ จนหักทำลายหมดสิ้น ชาวบ้านจึงนำมากองรวมกันไว้ จนที่แห่งนั้นเรียกว่า บ้านกงรถ
ลำมาศและทุ่งนา ที่จินตนาการถึงสมัยที่ท้าวปาจิตมาพบนางบัวตอนมีครรภ์แก่
จนเมื่อพระทัยเย็นลงแล้ว ท้าวปาจิต ก็ได้ขออนุญาตพระบิดาไปตามนางกลับคืนมาตามลำพังด้วยพระองค์เอง ดังนั้นพระเจ้าอุทุมราชและข้าทหารทั้งหลายจึงเดินทางกลับนครธมไปก่อน ส่วนท้าวปาจิตรีบไปพบยายบัว และนายมี แล้วปลอบโยนทั้งคู่ว่า พระองค์จะใช้สติปัญญา นำนางอรพิมออกมาให้ได้อย่างปลอดภัย และได้มอบทรัพย์จำนวนหนึ่ง และม้าให้นางบัว และนายมีหลบไปอยู่ที่อื่นสักพักหนึ่งก่อน เพื่อความปลอดภัย
แล้วพระองค์ก็ปลอมตัวเป็นลูกชายยายบัว เพื่อเข้าไปตามหาน้องสาวชื่อ อรพิม โดยได้ไปบอกนายประตูเมืองพิมายว่า จะขอเข้าไปเยี่ยมน้องสาว นายประตูถามว่า จะพบใคร ท้าวปาจิตตอบว่า นางอรพิม ซึ่งจะเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตในไม่ช้านี้ นายประตูจึงพาไปพบนางอรพิม
ครั้นเมื่อนางอรพิมพบหน้าท้าวปาจิต นางก็ตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก จนนางร้องออกมาว่า “อ้อ! พี่มา!...” 3 ครั้ง (คำนี้เพี้ยนเป็น “พิมาย” อันเป็นชื่อเมืองหรืออำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ของประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้นั้นเอง)
พระเจ้าพรหมทัตเสด็จมาหานางอรพิม และได้มาพบเห็นท้าวปาจิตอยู่กับนางอรพิม จึงถามว่าเป็นใคร? นางตอบว่า เป็นพี่ชายของนางเอง พระเจ้าพรหมทัตถามว่า ทำมาหากินอะไร? ทำไร่ทำนา หรือค้าขายอะไร? ท้าวปาจิตตอบว่า ค้าขายทางไกล ทราบว่าน้องสาวจะอภิเษกสมรสเป็นพระมเหสีของพระองค์ จึงมาอวยพรให้ และอยากรู้จักกับพระองค์และให้พระองค์รู้จักตนด้วย
พระเจ้าพรหมทัตดีใจอย่างมาก เพราะนางอรพิมจะได้ยอมเป็นพระมเหสี อย่างที่เคยลั่นวาจาไว้เสียที จึงสั่งให้หาเหล้ายา อาหาร มาเลี้ยงดูท้าวปาจิตอย่างดี ท้าวปาจิตจึงดื่มเพียงเล็กน้อย แต่พระเจ้าพรหมทัตถูกนางอรพิมมอมเหล้าเสียจนเมามาย จนเสียสติจนถึงขั้นลวนลามนางอรพิมต่อหน้าต่อตาท้าวปาจิต ท้าวปาจิตจึงใช้พระขรรค์ฟันคอพระเจ้าพรหมทัตขาดสิ้นพระชนม์อยู่ ณ ที่นั้น แล้วจึงอุ้มนางอรพิมหนีออกมาทางประตูลับ
ท้าวปาจิตและนางอรพิมบุกป่าฝ่าดงอย่างทุลักทุเล และยากลำบากจนเดินทางมาถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง พอดีเป็นเวลารุ่งสว่างได้พบนายพรานคนหนึ่งชื่อ “พรานนกเอี้ยง” ซึ่งออกมาเที่ยวล่าเนื้ออยู่ พรานนกเอี้ยงเห็นนางอรพิมสวยงามมากก็นึกรักนาง จึงใช้หน้าไม้ยิงท้าวปาจิตถึงแก่ความตายแล้วก็ฉุดพานางอรพิมไป นางจึงทำเล่ห์กลว่า มีกำลังน้อยเดินทางมาเหน็ดเหนื่อยมาก จะเดินทางไปไม่ไหว ถ้ามีรถ หรือเกวียน หรือช้างม้าให้นางนั่งไป นางก็ยินดีจะไปด้วย
พรานหลงเชื่อจึงไปหากระบือมาให้นางขี่ ตัวนายพรานจึงนั่งข้างหน้าคอยบังคับกระบือ ส่วนนางอรพิมนั่งข้างหลัง พอได้โอกาสนางก็ใช้พระขรรค์ของท้าวปาจิตแทงนายพรานตาย แล้วนางจึงรีบกลับมาที่ศพของท้าวปาจิต นางร่ำไห้คร่ำครวญอย่างน่าสมเพชทุกขเวทนายิ่งนัก จน “พระอินทร์” เกิดความสงสารจึงได้ชวนเอา “พระเวสสุกรรม” แปลงกายเป็น “งู” กับ “พังพอน” มาสู้กันให้นางได้เห็น
สู้กันจนถึงเมื่อพังพอนตาย งูก็ไปกัดเปลือกไม้ชนิดหนึ่งมาเคี้ยว แล้วพ่นใส่บาดแผลพังพอน พังพอนจึงฟื้นขึ้นมาแล้วก็ต่อสู้กันต่อไป ครั้นงูตายพังพอนก็ทำเช่นเดียวกัน สัตว์ทั้งสองผลัดกันตายผลัดกันฟื้นเช่นนี้เป็นเวลาพอสมควรแล้วหายไป นางอรพิมซึ่งเฝ้าสังเกตอยู่ เห็นหนทางที่จะทำให้ท้าวปาจิตฟื้น จึงไปเอาเปลือกไม้นั้นมาเคี้ยวพ่นใส่บาดแผลท้าวปาจิตเช่นกัน ท้าวปาจิตจึงฟื้นขึ้นมาได้อีก แล้วทั้งคู่ก็ได้ช่วยกันเก็บเปลือกไม้นั้นติดตัวไปเท่าที่จะนำไปได้แล้วออกเดินทางต่อไปยังนครธม
หลังจากรอนแรมกันมาเป็นเวลาพอประมาณ ก็มาถึงฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่งซึ่งกว้างใหญ่มาก ไม่มีเรือแพหรือขอนไม้จะข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามได้ จึงนั่งปรึกษาหาหนทางอยู่ ขณะนั้นมีเถรคนหนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียก “เถรเรือลอย” เพราะเถรลงเรือไปบิณฑบาตตามแม่น้ำเป็นประจำ เถรพายเรือผ่านมา ท้าวปาจิตขอร้องให้ช่วยส่งข้ามฟากให้ด้วย เถรเห็นนางอรพิมสวยงามมาก ก็คิดจะพานางไปกับตน จึงบอกว่าเรือลำนี้ขึ้นได้ครั้งละ 2 คนเท่านั้น มิฉะนั้นเรือจะล่ม ท้าวปาจิตจำต้องให้นางอรพิมไปกับเถรก่อน
เถรเจ้าเล่ห์พานางลอยน้ำไปเรื่อยๆ ท้าวปาจิตจะเรียกอย่างไรก็มิได้หยุด จึงต้องพลัดพรากกันอีกครั้งหนึ่ง นางอรพิมจำต้องคิดอุบายหนีจากเถรให้ได้ จนกระทั่งมาพบต้นมะเดื่อต้นหนึ่ง ซึ่งสูงมากและมีลูกดกเต็มต้นและมีผลงามๆ น่ากินทั้งนั้น นางบอกเถรว่า อยากกินมะเดื่อ ให้เถรปีนขึ้นไปเก็บมาให้เลือกเอาลูกที่งามที่สุดอร่อยที่สุดสุกที่สุด ซึ่งจะอยู่บนยอดสูงๆ เถรหลงเชื่อปีนต้นไม้ไปหาลูกมะเดื่อที่นางต้องการ นางจึงรีบเอาหนามมากองสุมไว้โคนต้นมะเดื่อนั้น เพื่อไม่ให้เถรสามารถลงมาได้นั้นเอง แล้วนางก็รีบลงเรือพายหนีไปตามหาท้าวปาจิต ก่อนไปนางได้สั่งไว้เป็นวาจาสิทธิ์ว่า ให้เถรอยู่บนต้นมะเดื่ออย่าไปไหน เถรจึงตายอยู่บนต้นมะเดื่อนั่นเอง ก่อนเถรตายได้แช่งให้มีแมลงหวี่มาเกิดในลูกมะเดื่อทุกลูกไป (จึงปรากฏว่าว่า 'ลูกมะเดื่อมีแมลงหวี่' อยู่ข้างในจนทุกวันนี้)
นางอรพิมพายเรือกลับมาหาท้าวปาจิตแต่ไม่พบ จึงจอดเรือแล้วขึ้นฝั่งเที่ยวตามหาท้าวปาจิตตามสถานที่ต่างๆ อย่างยากลำบากและตัวคนเดียว จนพระอินทร์เกิดความสงสาร จึงลงมาประทานแหวนให้วงหนึ่ง พร้อมกับบอกนางว่า ถ้าสวมไว้ที่นิ้วชี้จะกลายร่างเป็นชาย แต่ถ้าถอดออกสวมนิ้วอื่นจะกลายเป็นหญิงดังเดิม นางอรพิมดีใจมาก จึงได้ควักนมทั้งสองข้างออกมาแล้วปาเข้าป่ากลายเป็นต้น "นมนาง" จากนั้นนางจึงจิกแก้มอันอวบอิ่มจิ้มลิ้มเป็นพวง แล้วเหวี่ยงทิ้งไปกลายเป็นต้น "แก้มอ้น" และควักโยนีขึ้นปาเข้าป่ากลายเป็นต้น "โยนีปีศาจ"
ลำต้นและผลของพันธุ์ไม้ "โยนีปีศาจ" ในตำนาน
นางจึงสวมแหวนที่นิ้วชี้จึงกลายร่างเป็นชาย แล้วเดินติดตามท้าวปาจิตต่อไป พบใครที่ไหนก็สอบถามว่า เห็นใครรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ไหม? รู้จักคนชื่อท้าวปาจิตไหม? สอบถามจนทั่วแล้วก็ไม่มีผู้ใดรู้จักหรือเห็นเลย นางจึงร่อนเร่ไปโดยอยู่ในเพศชายตามลำพัง จนกระทั่งมาถึงเมืองหนึ่ง ชื่อ “เมืองครุฑราช” ซึ่งมีลูกสาวชื่อ “แตงโม” เป็นหญิงสาวสวยงามและนิสัยดีของเศรษฐีคนหนึ่ง พึ่งจะเสียชีวิตลง รักษาอย่างไรก็ไม่หาย นางอรพิมจึงขออาสารักษา และก็สามารถทำให้นางฟื้นขึ้นมาได้ เศรษฐีและภรรยาดีใจมาก จะยกสมบัติและให้แต่งงานกับลูกสาวของตน
แต่นางอรพิม (ในร่างชาย) ไม่ยอมขอเดินทางตามหาญาติต่อไป ซึ่งลูกสาวเศรษฐีก็ขอติดตามไปด้วย จนกระทั่งมาถึง “เมืองจัมปากนคร” โดยที่เมืองจัมปากนครที่นางอรพิมมาถึงนี้ พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองเมืองมีพระราชธิดาสวยงามมากชื่อ “ปทุมวดี” แต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไรตาย หมอคนใดก็ช่วยไว้ไม่ได้ ชาวเมืองพากันร้องไห้อาลัยรักนางอยู่
นางอรพิมรู้เข้าก็อยากจะลองช่วยนางดู จึงให้คนพาไปเฝ้าพระมหากษัตริย์ทูลขออนุญาตรักษา เมื่อพระองค์อนุญาต นางอรพิมได้ใช้เปลือกไม้ที่ได้จากป่า คราวรักษาท้าวปาจิตมาเคี้ยวพ่นใส่พระราชธิดาจนฟื้นขึ้น พระมหากษัตริย์และพระญาติทั้งหลายดีใจมาก ปรึกษากันว่าจะให้นางอรพิมอภิเษกกับพระธิดา แต่นางอรพิมบ่ายเบี่ยงว่า ขอเวลาสักปีหรือสองปีให้ได้บวชเรียนและศึกษาศิลปศาสตร์ให้จบก่อน พระมหากษัตริย์จำต้องยอมตามใจนาง
นางอรพิมจึงขอลาไปตามหาท้าวปาจิต ด้วยความรู้สึกสิ้นหวัง ว่าคงจะไม่พบกันเป็นแน่แล้ว นางได้ไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย จนมีความรู้แตกฉานมาก พระในวัดและลูกศิษย์ตลอดจนชาวบ้านต่างก็ยกให้เป็นพระสังฆราช (น่าจะเป็นตำแหน่งเจ้าอาวาสในปัจจุบัน) ซึ่งนางอรพิมได้ให้สร้างโบสถ์ขึ้นหลังหนึ่ง แล้วเขียนภาพเล่าเรื่องของนางกับท้าวปาจิตที่ฝาผนังโบสถ์ไว้ เริ่มตั้งแต่แต่ท้าวปาจิตได้อาศัยอยู่กับยายบัว จนถึงตอนนางมาบวชอยู่ที่วัดนี้ ซึ่งแต่ละตอนละเอียดครบถ้วนกระบวนความ และนางยังสั่งไว้ว่า หากมีผู้ใดที่มาดูภาพเขียนฝาผนังแล้วร้องไห้ ก็ให้คนเฝ้าโบสถ์รีบไปบอกให้ตนรู้ทันที
วันหนึ่ง ท้าวปาจิตเดินทางรอนแรมมาจนถึงเมืองนี้ ได้ขอเข้าพักอาศัยในโบสถ์ แล้วนอนหลับไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย ครั้นตื่นขึ้นมาก็มองไปรอบๆ เห็นภาพเขียนบนฝาผนังโบสถ์ จึงได้ลุกขึ้นไปเดินดูโดยรอบ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องราวของตนกับนางอรพิม จึงทรุดลงร่ำไห้อยู่ตรงนั้น คนเฝ้าโบสถ์เห็นดังนั้นจึงรีบนำความไปเล่าให้พระสังฆราชรู้ พระสังฆราชจึงให้นำท้าวปาจิตไปพบ ท้าวปาจิตได้สอบถามความเป็นมาของรูปเขียน พระสังฆราชตื่นเต้นดีใจและมีความสุขมากแต่ข่มใจไว้
วัดขุนก้อง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีตำนานเกี่ยวกับความรักของท้าวปาจิต-นางอรพืม
จึงได้เล่าความจริงให้ฟังและบอกว่าตนคือ นางอรพิม จากนั้นก็ได้ถอดแหวนออกจากนิ้วชี้แล้วสวมที่นิ้วนางแทน แล้วก็กลายรูปเป็นหญิงตามเดิม ทั้งสองต่างโผเข้าสวมกอดกันร่ำไห้ด้วยความยินดีและตื้นตันใจเป็นที่สุด แล้วนางอรพิมก็บอกความจริงกับทุกคน และขอลาชาววัดและชาวบ้านเดินทางกลับพระนครธม
ตลอดจนได้ขออนุญาตจากเจ้าเมืองจัมปากนคร และเศรษฐีเมืองครุฑราช ให้ยกลูกสาวให้กับท้าวปาจิตแทน ซึ่งทุกคนต่างก็ตกลงและยินดียกให้เป็นมเหสีของท้าวปาจิต ผู้ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทแห่งราชอาณาจักรขอมนครธมนั้นเอง
เมื่อกลับถึงนครธมพระเจ้าอุทุมราชและพระราชมารดา ตลอดจนพระประยูรญาติและชาวพระนครทั้งหลายต่างปลื้มปิติ และมีความยินดีเป็นอย่างมาก จึงจัดให้มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสให้กับท้าวปาจิตและพระมเหสีทั้งสาม หลังจากนั้น ท้าวปาจิตและพระมเหสีทั้งสามก็ได้มาปกครองที่เมืองพิมายปุระ อันเป็นหัวเมืองประเทศราชของนครธม แทนพระเจ้าพรหมทัตที่พึ่งจะสิ้นพระชนม์ไป
โดยพระองค์ได้จัดให้มีพิธีพระราชทานเพลิง และจัดให้สร้างปราสาทไว้เป็นอนุสรณ์แก่พระเจ้าพรหมทัตที่สวรรคตแล้วนั้นด้วย โดยพระองค์ได้ทำการปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม และนำความร่มเย็นเป็นสุขให้กับเมืองพิมายอยู่เป็นเวลาหลายปี ครั้นเมื่อพระเจ้าปทุมราชพระราชบิดาของพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์ก็ได้เสด็จกลับพระนครธม และได้รับการอภิเษกให้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรขอมแทน โดยพระองค์และพระมเหสีทั้งสามได้ทำการปกครองและทำนุบำรุงบ้านเมือง และประเทศราชทั้งหลายให้มีความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดีกันโดยทั่วหน้าสืบมาจนสิ้นอายุขัย
ท้าวปาจิต-นางอรพิม นั้นมีมากมายหลายสำนวน ตั้งแต่แบบล้านช้าง ล้านนา มาจนถึงอีสานทางตอนบนและตอนใต้ ที่มีเรื่องลาวต่างๆ คล้ายคลึงกัน และดูจะเข้าทีกับสำนวนนิทานทางอีสานใต้มากที่สุด เพราะมีชื่อบ้านนามเมือง เส้นทางเดินในอดีตสอดคล้องมากที่สุด จนกลายเป็นตำนานเมืองพิมายปุระที่ใช้แสดงในงานเทศกาลเที่ยวพิมาย ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในปัจจุบัน
กงรักพรหมทัต เดอะมิวสิคัล 2558
ภาษาพูดของผู้คนในภาคอีสานนั้นมีหลายสำเนียงที่แตกต่างกันไป ไม่มี "ภาษาอีสาน" นะครับ มีแต่เป็นภาษาพูดดั้งเดิมของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยในอีสาน ] ดังนั้น เมื่อท่านเดินทางไปท่องเที่ยวอีสาน ท่านจะได้ฟังสำเนียงเสียงพูดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด คำที่เสนอในที่นี่รวบรวมมาจากที่กระผมอาวทิดหมู มักหม่วน ได้ตอบไว้ใน Facebook Fanpage มาแล้วแต่ค้นหาย้อนหลังยาก ท่านเว็บมาดเซ่อเลยขอร้องแกมบังคับให้นำมารวบรวมไว้ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง แฟนนานุแฟนที่ต้องการทราบความหมายของคำ หรือประโยคใดก็สอบถามเพิ่มเติมมาได้นะขอรับ ยินดีนำมาตอบให้ทราบทั้งในเว็บไซต์และเฟซบุ๊คต่อไป
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
แก่กล้า-ขิว-เบิด-เงิก-เท้อเล้อ-หมูบ-หมอบ-เหมบ
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "แก่กล้า"
จากสถานการณ์โควิดระบาด เฮ็ดให้หนุ่ม-สาวที่หนีไปขายแรงงานยังต่างถิ่น ได้หวนกลับมาบ้านมาทำนา ทำไร่ ทำการเกษตรที่บ้านเกิด สัปดาห์นี้มีฝนตกจากอิทธิพลพายุ "โคะงุมะ" ก็เลยได้เวลาปักดำ คนที่ทำนาหว่านก็ดีใจ เปิดน้ำให้ขังในทุ่งนาเพื่อให้ท่วมยอดหญ้าให้มันตายไป เหลือเพียงต้นข้าวที่จะชูยอดพ้นน้ำ ส่วนผู้ทำนาดำก็ได้โอกาสถอน "ต้นกล้าข้าว" มาปักดำ ยังไม่ทันเพลอีพ่อก็บอกลูกชายหล้าว่า "บักหล้าแก่กล้ามาอีกแหน่ สิได้ดำนาให้เบิดงานนี้ จั่งขึ้นเมือไปกินเข้า" อาวทิดหมูบอกผมแหน่ว่า "แก่กล้า" มันคืออีหยัง บ่เข้าใจเลย
แก่ ว. เฒ่า, นาน คนที่เกิดนานเรียก คนแก่ อย่างว่า ย่านี้เถ้าแก่แล้วเนื้อเหี่ยวหนังยาน หูตาเสียบ่คือยังน้อย ตีนมือเศร้าตนโตเหลืองหล่า ตาบ่แจ้งหูนั้นกะบ่ใส (ย่า). old, long time.
แก่ ว. ใหญ่, มีอำนาจ, มีวาสนา อย่างว่า ทั้งสองข้างหิมพานต์ขงเขตเฮานี้ ใผบ่มีแก่แท้เสมอด้ามดั่งเดียว (เชตพน). large, potent.
แก่ ก. ลาก, เข็น ลากเกวียน เรียก แก่เกวียน อย่างว่า เฮือคาแก้งเกวียนเห็นให้เกวียนแก่ บาดห่าฮอดแม่น้ำเฮือชิได้แก่เกวียน (ย่า). to drag, pull along.
เหอๆ อย่าเข้าใจผิดว่า "อีพ่อว่าเฮาเฒ่า (แก่ชรา) หรือเฮาเก่ง (เหี้ยมหาญ คงกระพัน)" แต่ที่พ่อบอกก็คือ "ลูกไปขนต้นกล้าข้าวมาเพิ่มอีกหน่อย เพื่อปักดำในงานนานี้ให้เสร็จก่อนขึ้นไปกินข้าวเที่ยง" นั่นเอง มาจากคำ 2 คำ แก่+กล้า ซึ่ง แก่ ก็คือ การไปลาก ไปขนมา นั่นเอง ส่วน "กล้า" ก็คือ ต้นกล้าข้าวที่พร้อมจะนำมาปักดำในนา คงเข้าใจนะอธิบายตามภาพเลย
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "ขิว"
อาวทิดหมูเบิ่งเฟซบุ๊คหมู่หลายๆ คนที่ฮักแพง เพิ่นพากันโพสต์แต่ภาพหวานแหววกับคนฮัก หวานหยาดเยิ้ม ออดอ้อนมีความสุข กะได้แต่รู้สึก "ขิว" กับบรรดาแคปชั่น (คำคม) ทั้งหลายที่พร่ำพรรณาแล้ว ก็มีความเป็นตาซัง ปนความอิจฉาหลายแฮง จนเกิดอาการ "เหม็นขิวปานจี่เกิบ" เอาโลด เลยเป็นที่มาของคำอีสานน่าฮู้ในมื้อนี้
ขิว ว. เหม็นเขียว กลิ่นเหม็นชนิดหนึ่งเช่น กลิ่นเผาหนังแห้งหรือใบไม้สด จะมีกลิ่นเหม็น เรียก เหม็นขิว. sharp, unpleasant odor, e.g. burning green leaves or dry leather.
เหม็นขิว ว. เหม็นเขียว มีกลิ่นเหม็นคล้ายๆ กลิ่นหญ้าที่ถูกตัดสดๆ เรียก เหม็นขิว. to smell bad like sharp smell of some fresh cut green plants.
จี่ ก. เผา ทำให้สุกด้วยไฟ เรียก จี่ เช่น จี่ปลา จี่ชิ้น อย่างว่า คราวเมื่อเว้าหมายชิเอามาจี่ บาดห่ามาฮอดแล้วสังบ่ปิ้งจี่กิน (ผญา). to roast over open flame.
เกิบ น. รองเท้า รองเท้าของคนธรรมดาเรียก เกิบ ของพระราชามหากษัตริย์เรียก เกิบแก้ว. shoes.
จากภาพประกอบก็คงจะดูออกว่า อาวทิดหมูมีความรู้สึกเช่นไร มันมีความรู้สึกอิจฉาตาร้อน ขุ่นเคืองในหัวใจที่มีต่อภาพบาดตาเหล่านั้น จนเกิดอาการที่ว่า เหม็นเขียว หรือ ขิวมาก นั่นเอง ขนาดไหนก็ลองหารองเท้าแตะเก่าๆ มาเผาไฟดูก็ได้เด้อ ค้นไปค้นมา พบว่ามีเป็นเพลงด้วยหนา "ขิวปานจี่เกิบ" ฉบับแรกของ แม่นกน้อย อุไรพร แห่งคณะหมอลำเสียงอีสาน
ขิวปานจี่เกิบ - นกน้อย อุไรพร
ส่วนอีกฉบับหนึ่งเป็นแบบร็อคๆ จักหน่อย เนื้อหาเพลงบ่คือกัน แต่ความหมายที่ได้เหมือนกันจาก บิ๊กเสี่ยว ดอกจานบันเทิงศิลป์
ขิวปานจี่เกิบ - บิ๊กเสี่ยว ดอกจานบันเทิงศิลป์
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "เบิดเท้อเล้อ"
ได้รับปี้น้อยๆ จากผู้บ่าวแถวกระท่อมน้อยอาวทิดหมูนี่หล่ะ เพิ่นเป็นลูกชายกกข้าราชการจากทางภาคกลาง พ่อย้ายมารับราชการทางอีสาน สงสัยสิไปหลงมักสาวแถวนี้ผิดหวัง นางบ่เว้านำ เลยถูกเพื่อนที่วิทยาลัยล้อเลียนมาว่า "กูว่าแล้วมึงสิเบิดเท้อเล้อ ปานหมาแมวเห่าปลากระป๋อง" งงๆๆ เลยฟ้าวฟั่งมาถามอาวทิดหมูแต่เดิกเลย เฮียนออนไลน์บ่เข้าใจถ้าบ่ไขปัญหานี้ให้ เอ้า! ฟังเด้อ
เบิด ก. แหงนหน้าดู อย่างว่า อย่าได้เบิดเท้อเล้อมันชิล้าเมื่อยคอ (ย่า). to lookup at.
เท้อเล้อ ว. เงย แหงน คนที่เงยหน้าขึ้นสูงเรียก เบิดเท้อเล้อ. with head back, with head held high.
เงิก ก. ยกขึ้น เงยขึ้น แหงนขึ้น อย่างว่า พอเมื่ออินทร์แลฮ้องกลองยามทัดเที่ยง เหมือยหมอกข้อนดาวช้างเงิกเงย (ฮุ่ง). to lift, raise head, look upward.
"เบิดเท้อเล้อ" ก็คือ ยาจกหมายปองดอกฟ้าได้แต่ชะแง้แหงนหน้าดู ที่เพื่อนว่า "หมาเห่าเครื่องบิน" ยังได้เห็นได้เห่า โชคดีเจ้าของอาจจะพาขึ้นนั่งได้ (ฝัน) แต่หมาเห่าปลากระป๋องนี่ ได้แต่เห่าบ่ได้กินเปิดไม่เป็น ความหมายเดียวกับคำว่า "เบิดเท้อเล้อ" หรือ "เงิกเท้อเล้อ" นี่ล่ะบักหล่าเอย ปลงๆ มันซะคือ อาวทิดหมู นี่ เงิกเท่อเล่อจนหัวหงอกแล้วกะยังบ่จื่อ บ่จำอยู่
ภาษาอีสานวันละหลายคำ วันนี้เสนอคำว่า "หมูบ-หมอบ-เหมบ"
ช่วงนี้เห็นมีการถามไถ่ในสื่อโซเชียลกันมากกับคำภาษาอีสาน 4 คำ คือ "แหมบ-หมูบ-หมอบ-เหมบ" ว่า คำใดแสดงว่า "ต่ำ" ที่สุด ซึ่งถ้าเป็นคนอีสานแท้ๆ ก็จะรู้ได้ว่าทั้งสี่คำนี้ "ไม่เข้าพวกกัน" เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ตรงๆ แม้ในความหมายของคำจะแสดงถึง "ความต่ำ" ของสิ่งต่างๆ เช่นกัน โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ลักษณะที่ต่ำของสิ่งของหรือส่วนของร่างกาย คือ "แหมบ" ได้ให้ความหมายไว้แล้ว คลิกไปดูได้เลย ส่วน "หมูบ, หมอบ, เหมบ" ใช้เทียบเคียงความสูงของอากัปกริยาของคนได้ ดังนี้
ตูบหมูบ ก. นั่งทับส้นเท้าทั้งสองเรียก นั่งตูบหมูบ. to sit with ones legs folded directly under oneself.
ตอบหมอบ ว. อาการนั่งพับเพียบ เรียก นั่งตอบหมอบ นั่งตอบหมอบตอบขา ก็ว่า. sitting on floor in respectful position with legs folded to one side under body.
เจบเพบ ว. อาการนอนพังพาบ เรียก เหมบเจบเพบ. prostrate.
คงจะพอเป็นแนวทางได้ว่า ภาษาอีสานนั้นบรรยายลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ทำความเข้าใจก็จะมองภาพออกว่าเป็นอย่างไร ความหมายของคำในยุคปัจจุบันก็แปรเปลี่ยนไปมาก เช่น หมอบ ในสมัยก่อนคือความมีสัมมาคารวะ นอบน้อม แต่ตอนนี้เอาไปใช้กับพวกสายซิ่ง สายแว๊นซ์ไปแล้ว ส่วน เหมบ นี่แสดงถึงความสบาย ปลอยไปตามอารมณ์และความคิดได้เลย
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
รวมผญา สุภาษิต และคำสอย
กลอนลำ
เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง
ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร
กลอน ภาษิตโบราณอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)