คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เอกพล มนต์ตระการ เจ้าของผลงานอัลบั้ม "หยาดเหงื่อเพื่อแม่" นักร้องชายคนล่าสุด ในสังกัดแกรมมี่โกล์ด โดยการสนับสนุนของครูสลา คุณวุฒิ
เอกพล มนต์ตระการ หรือ นายหนูกร ทีรวม เป็นคนตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ครอบครัวมีอาชีพทำนา และต้องการช่วยเหลือครอบครัวจึงไป สมัครเป็นนักร้องอยู่ที่ หมอลำคณะเงาฟ้าอัศวิน จนได้มาเจอกับครูสลา จากนั้นครูสลาพาไปฝากกับ คณะพิณแคนแดนอีสาน ของ ศิริพร อำไพพงษ์ และมีงานเพลงชุดแรกคือ "อวยพรน้องเพ็ญ" เป็นอัลบั้มแรก
ครูสลา คุณวุฒิ กล่าวถึงลูกศิษย์คนนี้ว่า "นักร้องรุ่นใหม่ส่วนมากจะมีนํ้าเสียงเหมือนกันหมด ไม่มีใครที่โดดเด่นออกมาเลยเท่าที่ดู ซึ่งเราจะหานักร้องที่มีนํ้าเสียงนุ่มเหมือนกับนักร้องเมื่อสมัยก่อนนั้นยากมาก ผมว่าเอกพลเขาเป็นนักร้องที่มีนํ้าเสียงนุ่มซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่น ของเขาอย่างชัดเจนเลย และเขายังมีความเป็นลูกทุ่งจริงๆ อยู่ในตัวเองซึ่งตรงนี้คิดว่า น่าจะเป็นตัวแทน ของคนระดับรากหญ้าที่มีความรักในเสียงเพลง "
"เห็นว่าเขามีคุณสมบัติที่พร้อมแต่ขาดโอกาส และโดยปกติผมจะไม่ค่อยออกมาสนับสนุนใคร เพราะว่าสังคมรู้จักผมในฐานะคนเขียนเพลง ไม่อยากที่จะให้คนมองภาพอื่น"
นายร้อยหน้าลิฟท์ อัลบั๊มชุดที่ 3 ของ เอกพล มนต์ตระการ
"เอกพล มนต์ตระการ" นักร้องหนุ่มสู้ชีวิต จาก ตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้แฟนเพลงทุกสถานที่ บ่นคิดฮอด และ ถามถึงผลงานชุดใหม่ของเขาอย่างต่อเนื่อง ครูสลา คุณวุฒิ และ ทีมงานแกรมมี่โกลด์ ใช้เวลาฟูมฟักร่วม 2 ปี เอกพล มนต์ตระการ จึงได้ออก อัลบั้มชุดที่ 3 "นายร้อยหน้าลิฟต์" มาให้แฟนเพลงได้สัมผัส เนื้อหายังคงยืนหยัด บอกเล่าเรื่องราว สู้ เศร้า เหงา รัก ของคนรากหญ้า หนุ่มบ้านนาผู้ไฝ่ฝันอยากมีเครื่องแบบสวมใส่ สอบ "รตอ." ไม่ได้จนสุดท้ายได้ "รปภ." นอกจากนี้ยังมีบทเพลงเพราะ อื่นๆ อาทิ จม.ขอลา, อกหักแม่นบ่, อยู่หม่องใด๋ก็คึดฮอด, ขอแรงมาช่วยลืม ฯลฯ
เอกพล มนต์ตระการ ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินออกจากค่ายแกรมมี่โกลด์อย่างเป็นทางการ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2553) ว่า
"ทางพี่ตี่ กริช ทอมมัส คืนสัญญาให้ผมมาแล้ว คุยกันเมื่อช่วงวันที่ 4-5 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี่แหละครับ พี่เขาก็ตามใจผมจะอยู่ต่อก็ได้ไปก็ได้ ผมเลือกไปสาเหตุเพราะการออกเทปมันห่างหลายปี ชุดสุดท้าย ”นายร้อยหน้าลิฟท์” ปี 2549 ทำออกมาแล้วไม่ค่อยประสบความสำเร็จ อาจสู้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ ก็โทษตัวเราอย่างเดียวก็ไม่ได้ ผมว่ามีหลายๆ อย่าง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า มาจากความแก่และแนวเพลงในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ลูกทุ่งอีสานเหมือนเดิมหรือเปล่า นักร้องชายยอดเยี่ยมรางวัลคมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 2 กล่าวตอบว่า "สภาวะหลายๆ เรื่อง คงไม่ใช่เรื่องแก่หรือแนวเพลง พี่นาง ศิริพร พี่ไมค์ทุกคนก็อายุเพิ่มขึ้น แต่เขาก็มีงานเพลงออกมาตลอด เปลี่ยนแนวไปบ้าง อย่างผมก็ยินดีเปลี่ยน สำคัญว่าเขาจะเปลี่ยนให้ไหมเท่านั้น ถ้าทำก็อยู่ได้ กลุ่มแฟนเพลงของผมก็มี ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย อันนั้นน่ากลัว ผมเจอครูสลาปรึกษาท่านตลอดก่อนที่จะไปยกเลิกสัญญา ท่านให้เราคิดดูดีๆ พอเราตัดสินใจออกครูก็บอกว่าจะไม่ทิ้ง“
นายร้อยหน้าลิฟท์ - เอกพล มนต์ตระการ
จากประสบการณ์อยู่แกรมมี่โกลด์มาหลายปีได้อะไรบ้าง และทิศทางของตัวเองจากนี้จะเป็นอย่างไร เอกพล ตอบด้วยเสียงเนิบๆ ว่า "ผมมาอยู่ที่แกรมมี่เพราะครูสลา ชุดแรกปี 2545 “หยาดเหงื่อเพื่อแม่” ถ้าถามว่าได้อะไรจากตรงนั้นบ้าง อันแรกเลยได้รู้วิธีการทำงาน ผมว่าได้ทุกอย่างเลยไม่เฉพาะการร้อง การใช้ชีวิตอยู่อย่างไรให้ถูกต้อง อยู่กับแกรมมี่ดีมากๆ ครับ"
แล้วทำไมเลือกมาอยู่ที่ค่ายท็อปไลน์ เอกพลบอกแบบซื่อๆ ว่า
“ส่วนตัวแล้วชอบตลาดเพลงแนวท็อปไลน์ น่าจะใช่ตัวผมลูกทุ่งอีสานคนรากหญ้า น่าจะเป็นตัวเรามากที่สุด ผมไม่ได้คุยกับค่ายไหน ไม่ค่อยยุ่งกับใคร พอมาคุยกับคุณทวีชัย จริยะเอี่ยมอุดม (ผู้บริหารค่ายท็อปไลน์) ท่านก็บอกว่ายินดีต้อนรับ แต่ว่าเป็นการคุยเบื้องต้นยังไม่เป็นทางการแค่รับรู้ข้อมูล”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ที่ว่าแนวเพลงท็อปไลน์น่าจะเข้ากับสไตล์ของตัวเองนั้น คิดว่าจะเป็นแนวเพลงแบบเดิมที่เคยทำกับแกรมมี่ใช่ไหม เอกพลอธิบายว่า
“ตอนอยู่ที่แกรมมี่โกลด์เพลงช้าหวานๆ จะมาก ถ้ามาอยู่อีกค่ายก็ควรเพิ่มสีสันจังหวะเร็วๆ ที่ฟังง่าย แต่หวานซึ้งก็ยังมีอยู่ ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด เปลี่ยนหลายๆ อย่างคือต้องมีสิ่งที่แตกต่างจากเดิม แต่คงต้องดูอีกทีว่าจะไปทางไหนให้มันเข้ายุคสมัย ไม่ทิ้งแฟนเพลงกลุ่มเดิมและเพิ่มแฟนเพลงกลุ่มใหม่ มีเตรียมไว้หลายเพลงแล้วครับ“ นักร้องหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย
"เอกพล มนต์ตระการ" หลังจากทำงานเพลงมาแล้ว ในชุด "ฝันว่าได้เมื่อบ้าน" ในสังกัด "นายพลเอนเตอร์เท็นเม้นท์" หลังจากออกอัลบั้มใหม่ กับค่ายนายพลเอ็นเตอร์เทนเม้น ก็ถือว่า ผลการตอบรับจากแฟนเพลง เป็นที่น่าพอใจ เอกพล กล่าวว่า "จากชุดแรก ที่ทำกับค่ายนายพลฯ ก็ถือว่าน่าพอใจมากครับ แฟนเพลงรู้จัก และชื่นชอบกันมาก เหมือนเราได้กลับมาทำในสิ่งที่เรารักอีกครั้ง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เงียบหายไป เพราะไปโชว์ตัวต่างประเทศครับ ตอนนี้ทางบริษัทก็เรียกตัวด่วน ให้ทำซิงเกิ้ลสำหรับอัลบั้มชุดใหม่แล้วครับที่เสร็จไปแล้ว พร้อมจะปล่อยออกมาให้ฟัง ก็มีเพลง 1. คนหลายใจห้ามฟัง 2. ฝากดาวข่าวใจ ส่วนอัลบั้มเต็ม อดใจรออีกนิด ได้ฟังกันครบแน่นอนครับ ก็ต้องขอบคุณแฟนเพลง และพี่ๆ สื่อทั้งหลาย และดีเจคลื่นวิทยุ ที่ยังไม่ลืม เอกพล มนต์ตระการ คงได้พบกันเร็วๆ นี้ ที่สถานีนะครับ เพราะทางทีมงาน กำลังวางโปรแกรมในการไปสัมภาษณ์ให้อยู่แล้วพบกันครับ" เอกพล กล่าวปิดท้าย
อ้ายฮักเจ้าที่สุดในโลก - เอกพล มนต์ตระการ
เอกพล กล่าวว่า "งานตอนนี้ลดลงไปจากเดิมประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากระยะการออกผลงานมันทิ้งช่วงห่างกันมาก มีการโปรโมตผลงานผ่านสื่อน้อย ทำให้ชื่อค่อยๆ หายไป แต่ที่ยังมีงานอยู่ยอมรับเลยว่า กินบุญเก่าสมัยเป็นนักร้องแกรมมี่ โกลด์ ก่อนออกมาผมขออนุญาตพี่ตี่ (กริช ทอมัส) ขอใช้เพลง หยาดเหงื่อเพื่อแม่ สัญญาปลาข่อน นั่งเฝ้าเขาจีบ และนายร้อยหน้าลิฟต์ ร้องทำมาหากิน พี่ตี่ก็อนุญาตโดยไม่เก็บลิขสิทธิ์ ต้องขอบคุณพี่ตี่และแกรมมี่ให้สัญญาคำไหนคำนั้น พี่ตี่เป็นคนน่ารักมีสัจจะ ถ้าไม่มีเพลงเหล่านี้ผมอยู่ไม่ได้แน่นอน"
ปัจจุบัน ผันตัวเองทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมอาชีพเสริมผลิตสินค้าเพื่อการเกษตรในนาม “สารมาเต็ม” แม้จะยังไม่มีผลงานเพลงใหม่ๆ ออกมา แต่เอกพลยังมีงานเดินสายร้องเพลงทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แฟนเพลงยังให้การยอมรับในความสามารถอยู่เหมือนเดิม
ส่วนช่วงที่ว่างเว้นจากงานเพลง เอกพลจะทำการเกษตรปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพ่อหลวง ซึ่งเมื่อลงมือทำ พิสูจน์แล้วด้วยตนเองแล้ว ยืนยันได้ว่า “ศาสตร์พระราชา” คือของจริง
“ผมเป็นเด็กบ้านนอก พ่อแม่ทำนา ตอนเด็กๆ ก็ช่วยพ่อแม่ทำนามาตลอด แต่มาว่างเว้นเมื่อมาเป็นนักร้อง เพราะต้องเดินสายบ่อย แต่ช่วงนี้พอจะมีเวลา จึงลงมือทำการเกษตรอย่างจริงจัง โดยนำ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับชีวิต ตามที่พ่อหลวงทรงชี้นำไว้ รวมถึงการถ่ายทอดแนวทางพอเพียงควบคู่เกษตรทฤษฎีใหม่ไปสู่พี่น้องเกษตรกรในชุมชนที่ผมอยู่ ผมว่าในโลกนี้ไม่มีพระราชาพระองค์ไหนเหมือนท่านอีกแล้ว ผมโชคดีมากที่เกิดเป็นข้ารองพระบาทพระองค์ท่าน โดยในเร็วๆ นี้ ผมวางแผนจะใช้สวนของตัวเองเปิดศูนย์เรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำไร่ทำนา ที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณผลผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยขณะนี้ได้ทำแปลงนาสาธิตไว้แล้ว นอกจากนี้ ผู้ที่เข้ามาที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ยังสามารถมาเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ ประมง ฯลฯ ได้ด้วย เพราะผมได้รับความอนุเคราะห์จากหลายหน่วยงาน ที่ให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และปัจจัยที่จำเป็นต่างๆ”
อย่างไรก็ตาม เอกพล ยืนยันว่า อนาคตไม่ว่าจะประสบความสำเร็จกับการทำธุรกิจมากเพียงใด ก็จะไม่ทิ้งการร้องเพลง จะร้องเพลงไปจนกว่าหมดลมหายใจ "ผมออกมาเป็นศิลปินอิสระครับ ปล่อยซิงเกิ้ลตัวเองเรื่อยๆ ล่าสุดก็มีฮักอิหลีหรือฮักเล่น อ้ายสิเชื่อเป็นเทื่อสุดท้าย ทางช่อง เอกพล มนต์ตระการ ที่มีความสุขสุดๆ คือไปอยู่บ้านเกิด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ทำเกษตรพอเพียง ปลูกผักออกาไนซ์ ปลอดสาร คะน้า สลัด หอม พริก ข่า ตะไคร้ใบมะกรูด ทำมาหลายปีแล้ว ทำกินเอง เหลือก็แจกชาวบ้าน ซึ่งผมเปิดร้านอาหารอีสานชื่อ ร้านเฮือนครัวมหาลาภ ที่ตระการพืชผลด้วยครับ อย่างผักที่ปลูกปลอดสารพิษ พวกหอมใส่ลาบ แตง ถั่ว ผักต่างๆ ก็นำมาใช้ที่ร้านตัวเอง ปลูกไม่ใช้สารเคมี ผมทำนา ทำเกษตรกับญาติพี่น้อง ครอบครัว เลี้ยงเป็ด ไก่ วัว พื้นที่ก็ราวๆ 40 ถึ ง50 ไร่ครับ
มนต์ฮักทางหินแห่ - เอกพล มนต์ตระการ
เมื่อถามว่า "เสียดายไหมเคยอยู่ค่ายใหญ่ 10 ปี วันนี้ออกมาทำไร่ ทำนา" เอกพลตอบว่า "ไม่ครับ คือด้วยกาลเวลาเดินไปข้างหน้า วันหนึ่งก็ต้องปรับเปลี่ยน เราวางแผนไว้ก่อน ดีกว่าให้เวลาลงโทษเรา อีกอย่างงานเพลงก็ไม่ได้ห่างหาย ร้องเพลงเหมือนเดิม รับคอนเสิร์ตแฟนๆ ยังแน่นหนานะ เพลงเขียนเองบ้าง ทำกับทีมซำบายใจ ของ ครูสลา คุณวุฒิ บันทึกเสียงที่ ซำบายใจสตูดิโอ เหมือนเดิม
ผมรักการเป็นนักร้อง จะเป็นไปจนวันตายโน่นครับ ไม่ทิ้งอาชีพนี้แน่นอน ส่วนธุรกิจเสื้อผ้าเป็นอาชีพเสริม ซึ่งผมไม่ได้มีความถนัด แต่มองว่ามันเป็นช่องทางหารายได้เพิ่ม ช่วยต่อลมหายใจให้เรา ในช่วงที่งานลดน้อยลง" เอกพลกล่าว
เมื่อถามว่า "ชีวิตตอนนี้มีความสุขมากๆ ใช่ไหม" เอกพลตอบว่า "ใช่ครับ พอเรามาทำเกษตรสวนผสม คิดว่าวันหนึ่งก็ต้องกลับมาตรงนี้ ทำไร่ทำสวนก็มาก่อนซะเลย มีความสุขได้อยู่บ้านเกิดตัวเอง วันว่างคอนเสิร์ต ก็เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เลี้ยงปลา กลางคืนก็ออกหากินประสาลูกทุ่ง มีความสุขมากๆ ครับ"
หอบใจไปเจ็บ - เอกพล มนต์ตระการ
และขอฝากผลงานเพลงซิงเกิ้ลใหม่ๆ ที่ได้ลงทุนทำเองกับแฟนๆ ด้วยครับ
ว่าที่แฟนเก่า - เอกพล มนต์ตระการ
นักร้อง/นักแต่งเพลงลูกทุ่ง หมอลำ ที่มีผลงานเป็นที่น่าประทับใจอีกคนหนึ่ง ทั้งกลอนลำสำเนียงอีสาน และการประสานด้วยภาษาถิ่นสำเนียงเขมร ทำให้เพลงของเขามีลีลาที่น่าฟังประทับใจไปอีกแบบ
เฉลิมพล มาลาคำ เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ที่บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ บิดาชื่อ นายภู มาลาคำ มารดา นางหน่อย มาลาคำ จบการศึกษาขั้นต้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนอัมปึล ช่วยครอบครัวทำนาในวัยเด็ก แต่มีความสนใจในการเป็นนักร้อง/หมอลำ เข้าร่วมการประกวดแข่งขันในเวทีต่างๆ มากมาย ประสบผลสำเร็จจากการประกวดร้องเพลงที่ สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย จังหวัดสุรินทร์ ต่อมาย้ายมาอยู่ที่บ้านโคกสูง ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก (เดิมขึ้นกับอำเภอกาบเชิง) จังหวัดสุรินทร์
เฉลิมพล มาลาคำ เริ่มเข้าสู่วงการจากการประกวดร้องเพลงของ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดสุรินทร์ เริ่มบันทึกเสียงเพลงแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จากเพลง "สะอื้นอวยพร" เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้มากที่สุดคือเพลง "ตามใจแม่เถิดน้อง" ซึ่งทำให้ดนตรีแนวลูกทุ่งหมอลำได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ต่อมาได้ย้ายครอบครัวไปลงหลักปักฐานใหม่ที่ หมู่บ้านท่าเจริญ หมู่ที่ 11 ตำบลท่าลาด อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
เพลงสร้างชื่อ ตามใจแม่เถิดน้อง ของ เฉลิมพล มาลาคำ
และมีเพลงที่เอาเรื่องจริงมาล้อเล่น (ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาอีสาน ถูกถ่ายทอดในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ลองฟังกันดู) ไผหม่าข้าวเปลือก หรือเพลงน่าฟังอย่าง อดีตรักวันเข้าพรรษา หรือ ตามใจแม่ ก็น่าฟัง
เฉลิมพล มาลาคำ หรือ ที่ผู้คนในวงการ ชาวบ้าน เรียกกันว่า บักหำ, อ้ายหำ, พ่อใหญ่บ้านหำ ("หำ" คำนี้ในภาษาอีสานหมายถึงน้องชาย พี่ชาย ไม่ได้มีความหมายในทางลบแต่อย่างใด อย่างผู้ใหญ่เรียกเด็กน้อยน่ารักว่า "บักหำน้อย" อ่านเพิ่มเติมที่นี่) สร้างชื่อจากเพลง "ตามใจแม่" กลอนลำที่ชาวอีสานคุ้นหูเป็นอย่างดี ด้วยเนื้อร้อง "ตามใจแม่ เจ้าเถิดหล้า ผู้ที่สร้างเฮามา ผู้ที่พาน้องใหญ่...." ส่งผลให้ เฉลิมพล มาลาคำ พุ่งขึ้นมาเป็นหมอลำแถวหน้าของเมืองไทย และคร่ำหวอดในวงการ ในฐานะคนเบื้องหน้า และในฐานะหัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ
และตอนนี้เขาได้ผันตัวเองมาอยู่เบื้องหลัง กลายเป็น นักแต่งกลอนลำ ที่นักร้องหมอลำทุกคนต่างต้องการงานเพลงของเขามาใส่ในอัลบั้ม ประกอบกับยุคนี้ คนฟังเพลงเริ่มนิยมเพลงลูกทุ่งอีสานมากขึ้น ยิ่งทำให้นักแต่งเพลงภาคกลางบางคนก็หันมาแต่งเพลงอีสานมากขึ้น แต่ถ้าเป็นเนื้อร้องแนวกลอนลำ ต้องมีชื่อ อาจารย์เฉลิมพล มาลาคำ อยู่ในลิสต์อย่างแน่นอน
ทำให้เขาต้องดีไซน์ความคิดมากกว่าเดิม กว่าจะเขียนคำแต่ละคำต้องให้โดน ถ้าเขียนเรียบๆ จะไม่มีจุดขาย ต้องขายความแปลก แต่ท่ามกลางความนิยมลูกทุ่งอีสาน กลับพบว่า คำอีสานบางคำ เมื่อนำมาเขียนเป็นเพลง กลับโดนแบนไม่ได้ออกอากาศ อย่างเช่นคำว่า " อ้ายหำ" ซึ่งแปลว่า พี่ชาย ทำให้ครูเพลงอย่างเฉลิมพล งุนงงไปไม่น้อย
ล่าสุด เฉลิมพล มีผลงานการแต่ง เพลง "กะเทยประท้วง" และมอบให้ ปอยฝ้าย มาลัยพร ขับร้อง "มันเป็นโลกหนึ่งของสาวประเภทสอง บางคนรังเกียจเขา แท้ที่จริงพวกนี้ไม่มีอะไร เขาเป็นคนสร้างสีสันให้กับทุกที่ ถ้าไม่มีพวกเขาก็ไม่มีสีสัน ก็นำเอาพล็อตนี้มาเขียน และเห็นว่าบุคลิกของปอยฝ้ายเขาได้ อ้อนแอ้นๆ น่าจะร้องได้ ดูเขาแล้ว ก็เขียนเลย ใช้เวลาวันกว่าๆ เท่านั้น" นอกจากนั้นยังมีเพลง "เกาะน้องแน่นๆ" ที่ร้องโดย สายใย อุดมพร หนึ่งในกลุ่มรวมดาวสาวอีสาน ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในภาคอีสาน เพลง "กะเทยหัวโปก" ลูกแพร อุไรพร และเขียนให้กับ อ้อยใจ แดนอีสาน ในชุด "ผัวพี่นะน้อง" นอกจากนั้นก็ยังมีหนังวีซีดีเรื่อง "เพลงรักบุญบั้งไฟ"
ส่วนผลงานของตัวเอง มีงานชุด "มุ่นอุ้ยปุ้ย" ที่เป็นเพลงแนวลูกทุ่งอีสาน เกี่ยวกับการแต่งงานที่หมายถึงคืนนี้คงไม่เหลืออะไรอีก เพราะสาวคนรักแต่งงานไปแล้ว คงโดนเจ้าบ่าวปู้ยี่ปู้ยำไม่เหลือให้ชื่นชม (หลับตามองเห็นภาพความเจ็บช้ำในครั้งนี้จนน้ำตาไหลริน) ทุกวันนี้ เฉลิมพล มาลาคำ ยังคงพาวงดนตรีเดินสาย และยังคงปรับปรุงให้เป็นวงดนตรีหมอลำคุณภาพที่มีงานแน่นทั้งปี
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เฉลิมพล มาลคำ ได้สมัครเป็น สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อเตรียมสมัคร ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี แต่ต่อมาได้ขอถอนตัวเนื่องจากเหตุผลทางครอบครัว (ศรีภรรยาห้ามไว้เสียก่อน)
ล่าสุด เฉลิมพล มาลาคำ ได้ยุบวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำไปแล้ว ด้วยเหตุผลถึงจุดอิ่มตัวในการทำวงดนตรีมานานหลายสิบปี และผันตัวเองมารับบทบาทล่าสุด การทำหน้าที่เป็น "ผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา" ที่ บ้านท่าเจริญ ตำบลท่าลาด อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557
"เฉลิมพล มาลาคำ" คลายปมชีวิตถึงจุดตกต่ำ!? รายการ ยิ่งศักดิ์ยิ่งแซ่บ
และดำรงตำแหน่งดังกล่าวเรื่อยมา จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากครบวาระ 6 ปี เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2563 คุณงามความดีที่ทำจนได้รับรางัล "ผู้ใหญ่บ้านดีเด่น แหนบทอง" เมื่อปี 2562 ติดตามรายละเอียดได้จากสารคดีด้านล่างนี้
รายการชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ทางช่อง ThaiPBS
หลังได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน "ผู้ใหญ่หำ" ก็ทุ่มเทให้กับการพัฒนาหมู่บ้าน สมกับการได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน สร้างผลงานเข้าตากรรมการหลายอย่างจนได้รับยกย่องให้เป็น "ผู้ใหญ่บ้านดีเด่น" นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งจนถึงวันครบวาระ "หมอลำผู้ใหญ่บ้าน" ยังไม่เคยใช้เงินเดือนสักแดงเดียว โดยยกเงินเดือนให้เป็นกองทุนมอบให้กับผู้สูงอายุทุกบาททุกสตางค์
"เสียงจากผู้ใหญ่บ้าน" เพลงสะท้อนชีวิตจริงของ เฉลิมพล มาลาคำ
"เงินเดือนผู้ใหญ่บ้านก็รับนะ (หัวเราะ) แต่ว่าไม่ได้เอามาเข้ากระเป๋าตัวเอง เอามาทำเป็นกองทุนมอบให้กับผู้สูงอายุในหมู่บ้าน จริงๆ ตั้งแต่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่บ้านก็มอบให้อยู่แล้ว ทำแบบนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว ให้ผู้เฒ่าผู้แก่คนละ 200 บาท เพราะพวกท่านไม่มีโอกาสหาเงินหาทอง หรือมีคนตายในหมู่บ้านจะเป็นใครก็ตาม ขอให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมารับเงินช่วยเหลือที่ผมเลย 2,000 บาท พอได้เป็นผู้ใหญ่บ้านก็มีความคิดว่า เราเอาเงินเดือนที่ได้รับไปเพิ่มให้พวกท่านกับเบี้ยยังชีพ ตอนแรกๆ เงินเดือนผู้ใหญ่บ้านให้ได้อยู่นะ คนละ 200 บาท แต่ละเดือนเงินยังไม่หมดด้วยนะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เหลือแล้วเพราะผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น และต่อไปก็ต้องเพิ่มขึ้นอีก ก็เลยคิดว่าเงินเดือน 8,000 บาท เอามาตั้งเป็นกองทุนสะสมไว้เลยดีกว่า แล้วก็ไปบริหารกันเลย" อดีตผู้ใหญ่บ้านหำกล่าวอย่างอารมณ์ดี
เงินจากพวงมาลัยแฟนเพลงมอบให้ทั้งปี กว่า 2.4 แสนบาท นำไปทอดผ้าป่า สร้างหอระฆัง ที่วัดบ้านท่าเจริญ
ทุ่มเททำงานรับใช้ลูกบ้านจนครบวาระ 6 ปี ผู้ใหญ่หำ-เฉลิมพล มาลาคำ นักร้องลูกทุ่งหมอลำ เจ้าของฉายา 'หมอลำอัจฉริยะ' กลายเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านท่าเจริญ หมู่ 11 ต.ท่าลาด อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี หลังส่งมอบงานให้กับ โอ้-ภูมินทร์ มาลาคำ ลูกชายวัย 29 ปี ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนใหม่สืบสานงานต่อ
ทั้งนี้ในการรับสมัครเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านที่ผ่านมา มีทายาทของผู้ใหญ่หำลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตามรอยผู้เป็นพ่อโดยอัตโนมัติ และมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
เฉลิมพล มาลาคำ บอกว่า แม้วันนี้ตนจะกลายเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านไปแล้ว แต่ก็ยังทำงานเพื่อช่วยชาวบ้านเหมือนเดิม ด้วยการให้คำปรึกษาลูกชาย ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ตั้งใจทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้านให้ดีขึ้นมาโดยตลอด พอลูกชายมารับงานต่อก็แนะนำให้เอาชนะใจชาวบ้านด้วยการทำดี พร้อมรับใช้ชาวบ้านด้วยความจริงใจ ทำงานให้สุดความสามารถ ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา อย่าให้โดนบ่นได้ว่าเมื่อไหร่จะออกจากตำแหน่ง
“ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านมา 6 ปี บอกลูกให้ทำดีเป็นคนดีเหมือนพ่อ ที่พ่อเป็นมา 6 ปี เพราะทำดีชนะใจชาวบ้าน ทำยังไงให้เขารัก อย่าให้คนบ่นว่าเมื่อไหร่จะออกจากตำแหน่ง แต่ต้องให้คนพูดว่าอย่าเพิ่งออกเลย เขาก็เห็นเราทำงานมาตลอด พอเขาได้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อจากเราก็อยากให้เขาทำดีที่สุด ส่วนผมก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้เขา ทำงานเพื่อชาวบ้านร่วมกันอยู่ครับ”
กับบทบาทผู้ใหญ่บ้าน ในรายการ "คนค้นคน" ของ ทีวีบูรพา
ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่งใหม่ด้วยความไว้ใจจากชาวบ้าน "นายก อบต.ท่าลาด" เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2564
ขอแสดงความยินดี กับ นายเฉลิมพล มาลาคำ ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกรับรางวัลอันทรงเกียรติ รางวัลพระราชทาน พระธาตุนาดูนทองคำ ประจำปี 2564 ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ 20-21 เมษายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ผู้แต่งเนื้อร้องยอดเยี่ยมมาลัยทอง 2545
สลา คุณวุฒิ ศิลปิน นักร้อง ครูประชาบาล ที่เป็นที่รู้จักกันในนามวง "เทียนก้อม" ในอดีตที่สร้างสรรค์เพลง สะท้อนชีวิตครูและนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร ชนบทภาคอีสาน ปัจจุบันเป็นผู้สร้างสรรค์บทเพลง และกลอนลำที่แสนประทับใจหลายๆ กลอน ให้กับนักร้องลูกทุ่งดังหลายๆ คน เช่น มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ศิริพร อำไพพงษ์ ไมค์ ภิรมย์พร และคนอื่นๆ อีกมากมายครับ ก็ขอแสดงความยินดีกับครูสลาในปี 2545 กับการสร้างสรรค์ผลงานได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากเนื้อร้องเพลง ด้วยแรงแห่งรัก
ชื่อจริง : | สลา คุณวุฒิ | วัน-เดือน-ปีเกิด : | 2 เมษายน 2505 |
การศึกษา : | ศศ.บ. (บริหารการศึกษา) | ภูมิลำเนา : | บ้านนาหมอม้า จังหวัดอำนาจเจริญ |
บิดาชื่อ : | นายบุญหลาย คุณวุฒิ | มารดาชื่อ : | นางก้าน คุณวุฒิ |
ชักนำเข้าสู่วงการ : | พ.ศ. 2525 โดยคุณปัญญา คุณวุฒิ, คุณวิทยา กีฬา และคุณรุ่งเพชร แหลมสิงห์ | ||
ผลงานที่สร้างชื่อ : | ล้างจานในงานแต่ง ขับร้องโดย ศิริพร อำไพพงษ์ , น้ำตาหล่นบนโต๊ะจีน หัวใจลอยตัว ขับร้องโดย ไมค์ ภิรมย์พร, กระทงหลงทาง ขับร้องโดย ไชยา มิตรชัย จดหมายผิดซอง ขับร้องโดย มนต์สิทธิ์ คำสร้อย และล่าสุดกระหึ่มอยู่ในขณะนี้คือ ปริญญาใจ ขับร้องโดย ศิริพร อำไพพงษ์ | ||
ผลงานเพลงเกียรติยศ : | ใต้ฟ้าเดียวกัน แต่งให้ ไมค์ ภิรมย์พร ขับร้องหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | ||
ปัจจุบัน : | ลาออกจากการเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านดอนชี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มาเป็นนักแต่งเพลงอย่างเต็มตัวแล้ว | ||
ที่อยู่ปัจจุบัน : | 196 ซอยยางกูร 21 ถนนชยางกูร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 โทรศัพท์ (045) 312187 , 01-8763523 |
สมรสกับคุณลัดดาวัณย์ ก้องทอง มีบุตรสาว 2 คนคือ ขวัญข้าว และแพรวา คุณวุฒิ
ปี พ.ศ. 2545 ได้รับรับปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
หลักประจำใจที่ครูสลาใช้เป็นแนวทางในการแต่งเพลงที่ไพเราะกินใจผู้ฟัง มีอยู่ 5 ประการ คือ
ผลงานเพลงแรกคือ อดีตรักทุ่งนาแล้ง เพลงที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกคือ ชาวหอ ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์ มีเพลงที่แต่งออกมามากมายให้กับนักร้องหลายคน หลายค่าย จนมีชื่อเสียงในวงการ พร้อมด้วยการร้องเพลงสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองคือ วอนลมเกี่ยวใจ ผลงานประพันธ์ของ คม ทัพแสง
วอนลมเกี่ยวใจ โดย สลา คุณวุุฒิ
สงกรานต์ปีนี้ (2547) มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย สำหรับนักแต่งเพลงที่ชื่อ 'สลา คุณวุฒิ'
ข่าวดีคือ บริษัท แกรมมี่โกลด์ จัดงานฉลองยอดขาย 1 ล้านม้วนให้กับอัลบั้ม 'ดอกหญ้าในป่าปูน' ของ 'ต่าย อรทัย' ชัยชนะของลูกทุ่งวัยทีนจากนาจะหลวย อุบลราชธานี เป็นกรณีศึกษาที่ทำให้ค่ายเพลงหลายแห่ง ต้องหันมาทบทวนแนวทางการปั้นนักร้องใหม่
ข่าวร้ายก็คือ มีขบวนการปล่อยข่าว 'สลาถูกแกรมมี่ฟ้อง', 'สลาแยกตัวไปตั้งค่ายเพลงใหม่' ฯลฯ ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการเพลงลูกทุ่ง ยิ่งชื่อของ สลา คุณวุฒิ ถูกชื่นชมและถูกยกย่องจากสังคมมากเพียงใด แรงริษยาจากคนบางกลุ่ม ก็มีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ลึกๆ แล้ว สื่อมวลชนสายบันเทิงบางคน อาจไม่รู้ว่ากว่าจะถึงวันนี้ของครูสลา ต้องใช้ความมานะอดทนแค่ไหน และมันไม่ใช่ช่วงเวลา 2-3 ปีก็มีชื่อเสียงขึ้นมาแน่นอน หากย้อนกลับไปที่เพลง 'สาวชาวหอ' ซึ่งบันทึกเสียงโดย 'รุ่งเพชร แหลมสิงห์' ผ่านมาถึง 'จดหมายผิดซอง' ขับร้องโดย 'รุ่งนคร พรอำนาจ' จนมาถึง 'กระทงหลงทาง' ของ 'ไชยา มิตรชัย' และ 'ยาใจคนจน' ของ 'ไมค์ ภิรมย์พร' มันใช้เวลาเกือบ 20 ปี และยังไม่นับเวลาที่จมหายไปกับค่ายเพลงเล็กๆ อย่าง 'สหกวงเฮง' อีกหลายปี จนไร้วี่แววว่าจะมีอนาคตอันสดใสบนถนนลูกทุ่งสายนี้
ถ้าไม่มีความมุ่งมั่นและมานะบากบั่นกันจริงๆ แล้ว ก็ต้องถอดใจลาไปตั้งแต่ส่งเพลงนับร้อยเพลงมาให้ 'ครูเพลง' คนหนึ่งพิจารณา แต่สอบไม่ผ่านสักเพลงเดียว หลังจากเพลง 'สาวชาวหอ' ได้รับการบันทึกเสียง
ในวันที่สลา ตัดสินใจลาออกจากการเป็นข้าราชการครู เขาเลือกแล้วที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการแต่งเพลง แต่การขายเพลงอย่างเดียว มิอาจทำให้ชีวิตครอบครัวมั่นคงขึ้นมาได้อย่างแน่นอน เขาจึงต้องรับจ้างเป็น 'โปรดิวเซอร์' ให้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ เป็นนักจัดรายการวิทยุ และรับจ้างร้องเพลงตามงานคอนเสิร์ตทั่วไป
สลา เคยถูกแกรมมี่โกลด์ทาบทามให้มานั่งเป็น 'ผู้บริหาร' ค่ายเพลงในเครือ แต่เขากลับเลือกที่จะเป็น 'นักแต่งเพลงอิสระ' มากกว่า ถึงกระนั้นในความเป็นมืออาชีพ สลาก็ยังทำงานเป็น 'โปรดิวเซอร์' ให้กับแกรมมี่โกลด์ ดูแลนักร้อง 5 คน คือ ไมค์ ภิรมย์พร, ศิริพร อำไพพงษ์, เอกพล มนต์ตระการ, ต่าย อรทัย และ ศร สินชัย ในอนาคต สลายังมีโครงการปั้น 'ดาวรุ่ง' ดวงใหม่ประดับค่าย เหมือนที่สร้าง 'ต่าย อรทัย' จนประสบความสำเร็จ
ด้วยสัมพันธภาพกับแกรมมี่ทำนองนี้ จึงทำให้ 'คนบางกลุ่ม' พยายามจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างแกรมมี่กับสลา โดยยกกรณีการแต่งเพลง 'ติด ร.วิชาลืม' ให้ 'แอร์ สุชาวดี' นักร้องสังกัดชัวร์ออดิโอ มาเป็นประเด็นข่าวพาดหัวหน้า 1 หนังสือพิมพ์บันเทิงรายสัปดาห์ และขยายผลในวงกว้างว่า สลามีปัญหากับแกรมมี่ ถึงขั้นแตกหักและแยกทางกันเดิน แต่ระเบิดลูกนี้จุดไม่ติด เนื่องจากข่าวไม่มีมูล แถมคนปล่อยข่าวก็จัดอยู่ในกลุ่ม 'เสือ สิงห์ กระทิง แรด' จึงไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่พวกเขานำเสนอ
จะว่าไปแล้วในภาพกว้างชื่อของสลา กับค่ายแกรมมี่นั้น แยกกันไม่ออก แต่ด้านลึกคนที่อยู่ในวงการนี้แบบ 'ตัวจริงเสียงจริง' จะทราบดีว่าครูเพลงบ้านป่าคนนี้อุดมไปด้วย 'เพื่อน' และ 'พวก' ซึ่งในความเป็นนักเพลงที่มีเพื่อนมากนี่เอง จึงทำให้ 'เพลงยอดนิยม' พ.ศ.นี้ กว่าร้อยละ 90 เป็นผลงานของสลา อันกระจายอยู่เต็มแผงเทป และโดยมารยาท เราคงไม่ต้องบอกหรอกว่า มีเพลงดังเพลงไหนบ้างที่ 'สลา คุณวุฒิ' แต่ง..ลองฟังเนื้อหาดูแล้วเดาเล่นๆ ก็เชื่อว่าน่าจะถูกเกินกว่าครึ่ง!
"สมาคมชมดาว" พุธที่ 10 พฤศจิกายน 2547 เวลา 22.20 น. ช่อง 3 เจาะลึกชีวิต "ครูสลา" เผยที่มาเพลงฮิต "ล้านตลับ" ถูกยกให้เป็นครูเพลงมือหนึ่งในวงการลูกทุ่ง "รายการสมาคมชมดาว" เลยเชิญ ครูสลา คุณวุฒิ พ่วงด้วยลูกศิษย์ที่แจ้งเกิดจากผลงาน อาทิ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย, ไมค์ ภิรมย์พร, ศิริพร อำไพพงษ์, ต่าย อรทัย และเอกราช สุวรรณภูมิ มาเปิดใจถึงชีวิตนักแต่งเพลงที่กว่าจะประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ให้ฟังว่า...
"เพราะเห็นพี่ชายนำทำนองเพลงลูกทุ่งมาดัดแปลงเนื้อร้อง แล้วคนชอบก็เลยคิดอยากจะทำบ้าง ได้ซุ่มเขียนเพลงไว้หลายเพลงนำไปเสนอค่ายเพลงต่างๆ แต่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งวันหนึ่งบุกถึงหลังเวทีการแสดงของวงดนตรีรุ่งเพชร แหลมสิงห์ พร้อมทั้งอ้อนวอนให้พิจารณาเพลงที่นำไปให้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 6 เดือน เพลง สาวชาวหอ ก็ถูกบันทึกแผ่นเสียงโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ขับร้อง เริ่มได้ใจจึงเริ่มจากการส่งเพลงที่แต่งออกขายตามค่ายเพลง แต่ก็ไม่มีใครตอบรับ ถึงงานจะเงียบหายนาน 11 ปี แต่ผมก็ยังส่งเพลงเสนอให้ค่ายเพลงต่อไป ไม่เคยย่อท้อ เพลงไหนที่เค้าไม่เอาก็นำไปให้เด็กนักเรียนร้องเป็นเพลงเชียร์กีฬา
จนวันนึงได้มีโอกาสได้แต่งกลอนลำให้ ศิริพร อำไพพงษ์ คนในวงการจึงเริ่มสนใจชื่อของ สลา คุณวุฒิ เพราะเพลงของผมจะมีเอกลักษณ์ตรงที่แค่ขึ้นต้นก็โดนคนฟังแล้ว"
พูดอย่างเดียวกลัวคนจะว่าโม้ ครูสลาเลยแต่งเพลง "ชมดาวลูกทุ่ง" ให้ฟัง พร้อมทั้งมอบให้ศิษย์รัก 3 คนในค่าย (ศิริพร, ไมค์ และต่าย) ขับร้องกันสดๆ ซึ่งไพเราะถูกใจ 2 แหม่ม กันยกใหญ่ รวมทั้งผู้ชมในสตูดิโอและทางบ้านอีกด้วย
สุดท้าย ครูสลายังได้เผยที่มาการแต่งเพลงฮิตให้นักร้องแต่ละคนว่ามีแรงบันดาลใจ จากไหนบ้าง เช่น เพลง ยาใจคนจน ได้ความคิดจากการมองเห็นความรักของหนุ่ม-สาวที่มารับแฟนด้วยรถมอเตอร์ไซค์กลับบ้านท่ามกลางสายฝน เลยคิดประโยคสะกิดใจขึ้นว่า "เป็นแฟนคนจนต้องทนหน่อยน้อง" และเพลง เด็ดดอกฟ้า ของ ไมค์ ภิรมย์พร อีกเพลงที่ได้วรรคทองตอนขึ้นลิฟต์ในตึกแกรมมี่พร้อมกันกับ คริสตินา อากิล่าร์ ลำพังเพียงสองคน ก็ได้แต่ก้มหน้ามองพื้นและคิดประโยคทองได้ว่า "มองแค่รองเท้า ก็รู้ว่าเราต่างกัน" แล้วนำมาสานต่อเป็นเพลง
ภาพจากรายการสมาคมชมดาว ของค่ายโพลีพลัส
เหตุการณ์ที่ทำให้ตัดสินใจลาออกจากราชการ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่ ครูสลาเล่าว่า "เป็นทางแยกที่ยากมากในชีวิตเลยครับ เพราะตอนนั้นเราก็เป็นครูใหญ่อยู่ และ ทางบริษัทก็เรียกให้เราเข้าคุยงานหลังจากเพลง "ยาใจคนจน" ดัง บริษัทแกรมมี่ได้รับ ศิริพร อำไพพงษ์ เข้ามาในสังกัด เราก็ได้รับมอบหมายให้ทำอัลบั้มของศิริพร ทางบริษัทก็ให้คุมการอัดเสียงด้วย ทำให้เริ่มลาโรงเรียนบ่อยขึ้น ก็เลยตัดสินใจจะยื่นใบลาออกจากราชการหลายรอบ ทั้งเพื่อนครู ทั้งผู้ใหญ่ก็รั้งไว้ ขนาดนั้นวันที่เราอยู่กรุงเทพ เราคุมร้อง "ปริญญาใจ" ให้ศิริพร แล้วทางโรงเรียนโทรมาบอกว่า ลูกศิษย์ตกต้นไม้แขนหัก เราก็เลยไม่ต้องคิดอะไรมากล่ะ ถ้าอยู่ตรงไหนเป็นงานของบ้านของเมืองเราต้องไม่เอาตัวเองไปเป็นอุปสรรค เราต้องหลีกทางให้คนที่เค้าพร้อมกว่าเรามาทำหน้าที่ของสังคม ก็ยื่นใบลาออกเลยทันทีเมื่อปี พ.ศ. 2543 เลยมาทำหน้าที่ตรงนี้อย่างเต็มตัว และเพื่อไม่ให้บกพร่องในอีกที่หนึ่งด้วย"
บทเพลง ถวายความอาลัย และ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เพลง ลำภูไทด้วยหัวใจที่ฮักพ่อ
คำร้องและทำนอง : สลา คุณวุฒิ
เล่าสู่หลานฟัง ขับร้อง : สลา คุณวุฒิ คำร้อง/ทำนอง : สลา คุณวุฒิ
สลา คุณวุฒิ หรือ พิณ พานทอง ศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554 นักประพันธ์เพลงแนวลูกทุ่งอีสานและหมอลำ โปรดิวเซอร์เพลง และนักร้องเพลงลูกทุ่งชายไทยจากภาคอีสาน ในสังกัดค่าย แกรมมี่โกลด์ ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2564
เรื่องของเื่อง : สลา คุณวุฒิ
นักร้องยอดเยี่ยมมาลัยทอง 2543 และ 2545
นักร้องหนุ่มเสียงดีอีกคน ที่ต้องบอกว่าเขาได้เพลงดีๆ จากนักแต่งเพลงหลายๆ ท่านทำให้เราได้มีกำลังใจจากการฟังเพลงของเขา ด้วยคำพูดง่ายๆ แต่ติดหูอย่าง "เหนื่อยไหมคนดี ได้พี่เป็นแฟน" ฟังแล้วประทับใจจริงๆ ครับ หรืออย่างเพลงชุดแรกๆ ของเขา ละครชีวิต ขายแรงแต่งงาน ล้วนแล้วแต่เป็นชีวิตของฅนอีสานแท้ๆ คนสู้ชีวิตจากบ้านนาสู่เมืองหลวง สุดท้ายก็ต้องหวนกลับสู่ไร่นาเช่นเดิม เฮ้อ!
ไมค์ ภิรมย์พร หรือชื่อ-นามสกุลจริงตามบัตรประชาชนคือ พรภิรมย์ พินทะปะกัง เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 ที่ บ้านท่าม่วง ตำบลเวียงคำ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของ นายสม พินทะปะกัง และ นางซ่อนกลิ่น พินทะปะกัง มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน เป็นลูกชายคนโตและมีน้องชายอีก 1 คน การศึกษา จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งซุปเปอร์สตาร์ชาวไทย เจ้าของฉายา "นักร้องขวัญใจผู้ใช้แรงงาน" ในสังกัดค่ายแกรมมี่โกลด์ ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นนักร้องไม่กี่คนในประเทศไทย ที่สามารถอยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งมายาวนานกว่า 20 ปี มีผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่นิยมครองใจมหาชนจนถึงปัจจุบัน สามารถทำสถิติยอดขายได้ทะลุล้านเกินกว่า 19 ชุด โดยมีผลงานเพลงดัง ละครชีวิต และเพลงลูกทุ่งยอดนิยมตลอดกาลอย่าง ยาใจคนจน ที่ทำยอดขายเกิน 1 ล้านชุด และยังมีอีกหลายผลงานเพลงดัง เช่น ขายแรงแต่งนาง, ทางเบี่ยงอย่าเสี่ยงเดิน, เหนื่อยไหมคนดี, นักสู้ ม. 3, ด้วยแรงแห่งรัก, แค่แขกรับเชิญ, โรงเรียนล้างจาน, อยากให้เธอเข้าใจ, ผ้าขาวบนบ่าซ้าย, เดาใจฟ้า, รอสายใจสั่งมา, ฮักแพงกันเด้อ, สเตตัสบ่เคยเปลี่ยน ฯลฯ
"เพลงสะท้อนชีวิตของลูกทุ่งที่มุ่งสู่เมืองกรุงมาขายแรงงานเป็น ละครชีวิต ที่สุดท้ายก็ต้องบากหน้ากลับหาอ้อมอกแม่บ้านนาดังเดิม เพลงนี้ก็ชีวิตของฅนบ้านนอกอย่างผมอีกเหมือนกัน ยาใจคนจน (ผลงานการประพันธ์ของ สลา คุณวุฒิ)" คำบอกเล่าของไมค์ ภิรมย์พร และยังมีผลงานอื่นๆ ตามมาอีกเพียบไม่ได้ขาด
พรภิรมย์ พินทะปะกัง หรือ ไมค์ ภิรมย์พร เกิดในครอบครัวที่มีอาชีพทำไร่ทำนา รับจ้างทั่วไป และมีฐานะยากจนอย่างมาก ไมค์ ภิรมย์พร เคยต้องรับจ้างตัดฟืนขาย เพราะนาแล้ง ทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หาเงินมาใช้ซื้อข้าวกิน และเจียดส่วนหนึ่งไว้ใช้ในการศึกษาภาคค่ำ จนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่ 3 เขาชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก และใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้อง โดยเมื่อมีงานที่ไหน เขาจะขึ้นไปร้องเป็นประจำ
เมื่อช่วงอายุประมาณ 17 - 18 ปี ไมค์ ภิรมย์พร เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาหางานทำและได้ทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง แถวบางบอน เขาทำอยู่ 3 - 4 เดือน ตอนเย็นหลังเลิกงาน ไมค์ ภิรมย์พร ชอบขึ้นไปบนดาดฟ้า เป่าขลุ่ยแซวสาวโรงงาน และระบายความเหงา กับความคิดถึงบ้าน ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับบ้านนอก เมื่องานหมด และหันไปทำงานรับจ้าง ทำไร่ทำนาตามเดิม
พออายุ 23 เขาก็กลับมาเมืองหลวงอีกครั้ง โดยคราวนี้มาเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทแห่งหนึ่ง แถวถนนสุขุมวิท 71 แต่เขาไปพักอยู่กับเพื่อนที่ช่องนนทรี ช่วงที่รองานอยู่นั้น เขาต้องอดมื้อกินมื้อ กินเฉพาะยามที่หิวจริงๆ และอาหารหลักก็คือ กล้วย หลังจากนั้นราว 2 อาทิตย์เขาก็ได้งาน ตอนแรกถูกส่งไปประจำที่โรงงานยาแถวลาดกระบัง ซึ่งที่พักกันดารมาก เขาอยู่ได้เดือนกว่า ก็ย้ายมาอยู่ที่นาซ่า ดิสโก้เธค แถวคลองตัน ซึ่งโด่งดังมากในขณะนั้น โดยทำหน้าที่ตรวจตราความเรียบร้อย และโบกรถอำนวยความสะดวก ในช่วงวันหยุดเขาก็จะรับจ๊อบเป็นเด็กรับรถแขกที่มาเที่ยวนาซ่าด้วย รวมเวลาสำหรับการเป็นยามของเขาก็ประมาณ 7 - 8 เดือน
ระหว่างที่เป็นยาม เขาได้รู้จักกับเจ้าของผับที่เปิดด้านล่างนาซ่า ก็เลยฝากเนื้อฝากตัวขอเป็นเด็กเสิร์ฟ เพื่อให้ได้เข้าใกล้ความฝันเรื่องการเป็นนักร้องของเขา เพราะที่นี่เขาได้เจอดารา นักร้องชื่อดัง ที่มาเที่ยวและมาเปิดผับแถวนั้นมากมาย ระหว่างที่เป็นเด็กเสิร์ฟ เขาช่วยดูแลนักดนตรีวง THE JET ที่เล่นอยู่ที่ผับเป็นพิเศษ เลยได้รับความเอ็นดูจากนักดนตรี
และวันหนึ่ง จอห์น นูโว กับ โจ นูโว ก็มาติดต่อวงดนตรีของนักดนตรีเหล่านี้ไปเล่นแบ็คอัพให้กับ ใหม่ เจริญปุระ ที่ออกผลงานเพลงชุดแรกชื่อ "ใหม่ ไม้ม้วน" นักดนตรีเหล่านี้ก็เลยชวนเขาไปเป็นเด็กประจำวงด้วย โดยทำหน้าที่หลังเวทีทุกอย่าง ทั้งขนหรือติดตั้งเครื่องดนตรี ซึ่งไมค์ ภิรมย์พร ก็ยินดีที่ได้ร่วมงาน และไม่สนใจเรื่องค่าจ้าง เพราะอยากเข้าไปใกล้วงการบันเทิงอยู่แล้ว เวลาว่างเขาก็ชอบไปยืนดูใหม่ร้องเพลง และฝันอยากจะเป็นเช่นนั้นบ้าง
วันหนึ่ง นักดนตรีแนะนำให้รู้จักกับนักจัดรายการคนหนึ่งชื่อ สุพจน์ สุขกลัด ที่เป็นทั้งดีเจ และโปรดิวเซอร์ให้กับ สมหมายน้อย ดวงเจริญ หมอลำชื่อดังในสมัยนั้น เขาเลยได้ไปเทสต์เสียง และได้เป็นลูกศิษย์ของสุพจน์ คอยติดสอยห้อยตาม และรับใช้ทั่วไป เช่น รดน้ำต้นไม้และล้างจาน อาจารย์สุพจน์ บอกว่าจะให้เขาบันทึกเสียง แต่หลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์ก็ออกจากบริษัทค่ายเทป และหันมาทำร้านอาหาร ไมค์ ภิรมย์พร ก็ตามอาจารย์มาด้วย โดยมาช่วยเสิร์ฟ ต่อมาก็พัฒนามาเป็นกุ๊ก ระหว่างนั้นเขาเคยไปช่วยสมหมายน้อยร้องประสานเสียง และร้องเพลงโฆษณาเตาแก๊สลัคกี้เฟลม กับทำเดโมเอาไว้ชุดหนึ่ง เป็นเพลงที่เขาแต่งเองเพลงหนึ่ง กับที่อาจารย์สุพจน์แต่งอีกเพลง
แต่หลังจากอาจารย์สุพจน์ที่ทำร้านอาหารต้องปิดกิจการ ไมค์ ภิรมย์พร ก็ต้องระเหเร่ร่อนอีกครั้งและได้ติดต่อไปยังลูกพี่เก่าซึ่งก็คือ นักดนตรีที่เคยเล่นดนตรีให้ ใหม่ เจริญปุระ เพื่อของานทำ เขาก็เลยได้ทำงานเป็นเด็กตักน้ำแข็ง และล้างแก้วอยู่ที่ผับในโรงแรมนารายณ์ และด้วยความขยันทำให้เขาเลยได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นบาร์เทนเดอร์ และได้เป็นหัวหน้าบาร์ในที่สุด ซึ่งที่นี่เขามีโอกาสได้ร้องเพลงโชว์ความสามารถด้วย แต่ต่อมาผับก็ต้องปิดกิจการไป หลังจากเห็นเพื่อนทำงานเป็นพนักงานห้องน้ำ ในผับแห่งหนึ่ง ได้ทิปดีวันละ 2 - 3 พัน เขาก็เลยขอทำบ้าง แต่ทำได้พักหนึ่งผับก็ปิดอีก ไมค์ ภิรมย์พร รู้สึกท้อ เลยอยากทำกิจการของตัวเอง เขาจึงนำเงินที่เก็บไว้มาซื้อรถเข็น โต๊ะ เก้าอี้ เพื่อขายลาบส้มตำ ต่อมาก็ขายลูกชิ้นปิ้งแถวซอยโชคชัย 4 ตรงข้ามโรงพยาบาลสยาม ที่นี่เขาเจอกับการไล่จับของเทศกิจเป็นประจำ
ต่อมาทราบข่าวว่า ทาง บริษัทอาร์เอส ประกาศรับสมัครนักร้องลูกทุ่ง เขาจึงนำเดโมเทปไปส่ง แต่หลายวันผ่านไป ปรากฏว่า ทางบริษัทยังไม่ได้ฟังเดโมของเขาเลย เขาจึงนำมันกลับมา เพื่อหวังนำไปเสนอที่ใหม่
อยู่มาวันหนึ่ง ไมค์ ภิรมย์พร อ่านข่าวบันเทิงในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเห็นข่าวที่บอกว่า บริษัทแกรมมี่ ประกาศลุยตลาดลูกทุ่งเต็มตัว เขาจึงอยากลองสมัครเป็นนักร้อง ก็เลยได้ไปหานักดนตรีที่รู้จักกันให้ช่วยแนะนำให้ ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำให้นำเดโมเทปไปให้ อาจารย์ จรัล สารีวงษ์ โปรดิวเซอร์ของแกรมมี่ ราว 2 สัปดาห์ เขาก็ถูกเรียกตัวมาเทสต์เสียง ซึ่งเขาก็ทำได้ดี เพราะเทคเดียวผ่าน จากนั้นประมาณครึ่งเดือนต่อมา อาจารย์จรัล ก็โทรบอกว่า เขาอาจจะมีสิทธิ และเมื่อเขามาที่บริษัทก็ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินลูกทุ่งคนแรกของค่ายแกรมมี่
สำหรับชื่อ ไมค์ ภิรมย์พร นั้น ตอนแรกหลายคนเรียกเขาว่า สมหมาย เพราะเขาชอบร้องเพลงหมอลำของ สมหมายน้อย ดวงเจริญ ต่อมาในสมัยที่ทำงานอยู่ที่โรงแรมนารายณ์ การที่เขาชอบเต้นเหมือน ไมค์ ไทสัน นักมวยที่กำลังดังในยุนนั้นเต้นฟุตเวิร์ค เขาก็เลยถูกเปลี่ยนมาเรียกว่า ไมค์ และในที่สุด ก็กลายเป็น ไมค์ ภิรมย์พร โดยสมบูรณ์เมื่อมาอยู่กับค่ายแกรมมี่นี่เอง
ไมค์ ภิรมย์พร มีผลงานชุดแรกชื่อ "คันหลังก็ลาว" แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ พอถึงชุดที่ 2 มีเพลงที่เริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงอย่าง ละครชีวิต และเพลงละครชีวิตนี้ ก็เกือบทำให้ ไมค์ ภิรมย์พร ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทานในฐานะ นักร้องยอดเยี่ยม แต่ใน 2 ชุดหลังจากนั้น บริษัทเปลี่ยนแนวให้เขามาร้องหมอลำ เพราะมองว่าเขาน่าจะเข้ากับเพลงแนวสนุกสนาน แต่ปรากฏว่า ไม่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในชุดต่อมา เขาจึงต้องเปลี่ยนแนวอีกครั้ง มารับบทนักร้องแนวคนสู้ชีวิต ในเพลง ยาใจคนจน และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นความโด่งดัง เป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศ จนถึงทุกวันนี้ ในฐานะ "นักร้องขวัญใจผู้ใช้แรงงาน"
กลับคำสาหล่า โดย ไมค์ ภิรมย์พร
อีกมุมของนักร้องยาใจคนจน ไมค์ ภิรมย์พร ที่หลายคนรู้ แต่อาจยังไม่มีโอกาสจะได้เห็น นั่นก็คือชีวิตการเป็นชาวนาจริงๆ ของไมค์ ไม่ว่าจะเป็นการดำนา ปักข้าว ทำปุ๋ยหมัก ขี่แทรกเตอร์ ทำนาตามแนวพระราชดำริแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษที่ไมค์ภูมิใจมาก ไม่ว่าจะเมื่อไร ถ้ามีเวลาว่างจากการร้องเพลง ไมค์เป็นต้องขับรถมาที่ บ้านนาคำแก้ว หมู่ 13 ตำบลนาข่า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ เพื่อมาทำนา ถึงจะวันเดียวไมค์ก็มา
ในขณะเดียวกัน ไมค์ ภิรมย์พร ก็ทุ่มเทให้กับการขยายตลาดกิจการ "น้ำปลาร้าแซบไมค์" ทั้งในและนอกประเทศ และทำหน้าที่เป็นผู้นำสร้างชุมชน ให้หนุ่มสาวหันมาเห็นคุณค่าในผืนแผ่นดินของตนเอง ไม่คิดจากบ้านเกิดเมืองนอนไปตกระกำลำบากทำมาหากินต่างถิ่น
"กิจการน้ำปลาร้าแซบไมค์ผมทำมาประมาณ 6-7 ปี มาเริ่มขยายตลาดจริงจัง 2 ปีหลัง ผลตอบรับดีครับ มีตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ และเริ่มมีตัวแทนติดต่อไปจำหน่าย ที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลี ดูไบ แต่ข้อกฏหมายการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลาร้าของประเทศเหล่านี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน อยู่ในระหว่างดำเนินการเรื่องเอกสารเพื่อให้ถูกต้องรัดกุมกันอยู่ครับ ผมเองก็อยากขยายฐานอาเซียน ลาว พม่า กัมพูชา และต่อไปเวียดนามด้วย แล้วก็กำลังสร้างร้านของฝากต้นแบบ นำผลิตภัณฑ์ของผมทั้งหมด อาทิ นำปลาร้า หมูยอ แกงอ่อม จัดจำหน่าย ที่ ปั๊มบางจาก สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (สกต.) จังหวัดอุดรธานี และปั๊มปตท.ขอนแก่น ช่วงบายพาสไป จังหวัดสกลนคร และเข้ากรุงเทพฯ
โดยธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มาคุยกันบอกว่า อยากให้ผมเป็นผู้นำชุมชนสร้างธุรกิจขนาดกลางในชุมชนเป็นต้นแบบนำร่อง ซึ่งผมก็ยินดีและพร้อมทุ่มให้กับตรงนี้ ผมไปศึกษาดูงานที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เลี้ยงปลาดุก นำมาแปรรูปเป็นปลาดุกร้าจำหน่าย จากปลาสดขายได้ไม่กี่ตังค์นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้หลายเท่าตัว ซึ่งผมก็จะทำตรงนี้เป็นต้นแบบให้พี่น้องเกษตรกรที่ จังหวัดอุดรธานี บ้านเกิดผม และในภาคอีสาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มหลังจากการทำนา อยากให้หนุ่มสาวเห็นคุณค่าผืนดินของพ่อแม่ ช่วยกันพัฒนาบ้านเกิด ช่วยกันสร้างชุมชน ไม่คิดทิ้งบ้านไปตกระกำลำบากทำงานต่างถิ่น"
ยุทธการสู้แล้ง ของไมค์ ภิรมย์พร
เมื่อถูกถามว่า อาสาเป็นผู้นำชุมชนแบบนี้มีความคิดลงเล่นการเมืองหรือไม่ ไมค์ ภิรมย์พร ตอบด้วยเสียงหนักแน่นแบบไม่ลังเลทันทีว่า "ไม่" พร้อมกับยอมรับว่าที่ผ่านมามีพรรคการเมืองหลายพรรคมาทาบทามตนเหมือนกัน แต่ก็ได้บอกปัดไปหมด เพราะตนเป็นลูกชาวนาไม่ใช่ลูกนักการเมือง มีความสุขกับการสืบทอดวิถีของบรรพบุรุษ มีความสุขกับการทำให้พี่น้องเห็นความสำคัญกับความเป็นอยู่ตามพระราชดำริแบบเศรษฐกิจพอเพียง
ยุทธการสู้แล้ง ของเกษตรกรชื่อ ไมค์ ภิรมย์พร
แฟนๆ ทักทายติดตามชีวิตได้ทาง : Facebook ไมค์ ภิรมย์พร
“สุดท้าย ผมขอตายที่นี่ เพราะผมผูกพันมาก ผมบอกลูกทุกคนว่า ลูกจะโตที่ไหน จบมาทำงานอะไร สุดท้ายแล้ว สิ่งที่พ่อทำคือพ่อจะสร้างไว้ให้ทุกคน หากถึงเวลาพ่อปลดเกษียณ พ่อจะมาอยู่ที่นี่ ทำการเกษตรไปตามวิถี แค่ได้ตื่นเช้ามาเดินดูสวนเกษตรจนค่ำชีวิตก็มีความสุขมากแล้ว” ประโยคนี้อาจไม่ได้มาจากน้ำเสียงอันไพเราะยาม ‘อ้ายไมค์’ จับไมโครโฟนครวญเพลงบนเวที แต่มันมาจากความรู้สึกของใจจริง เมื่อเบื้องหน้าและฝ่าเท้าของเขาได้ยืนอยู่บนแผ่นดินบ้านเกิดอันเป็นที่รัก ไม่มีพวงมาลัยคล้องคอ แต่มีความสุขคล้องใจ
ความสุขของไมค์ ภิรมย์พร ในทุ่งนาอีสานบ้านเกิด
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)