คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง)
พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา (ชื่อเดิม นายสงคราม) เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2479 ที่บ้านดอนใหญ่ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นลูกชายกก (ลูกคนแรก) ของนายสุขุม - นางแดง จันทรุกขา และมีพี่น้องตามกันมาอีก 7 คน แม่ตั้งชื่อให้ว่า "สงคราม" เพราะเกิดในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ก่อนจะได้ชื่อนี้พ่อตั้งให้ว่า "สมพงษ์" เพราะความชื่นชอบในนักมวยที่เป็นแชมป์มวยสากล ส่วนชื่อ "พงษ์ศักดิ์" นี้มาเปลี่ยนเองในภายหลัง ความหมายคือ "ศักดิ์ศรีแห่งเผ่าพงษ์" หรือ "ศักดิ์ศรีแห่งตระกูล"
จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอุบลวิทยากร (วัดมณีวนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาดนตรีศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี (พ.ศ. 2545)
ความใฝ่ฝันแน่วแน่มาแต่วัยเยาว์คือ การเช้าสู่วงการเพลง ในช่วงวัยเยาว์เล่าเรียนมีประสบการณ์ของการเป็นนักพากย์ (หนังประโมทัย หรือหนังตะลุงอีสาน) ครั้นจบการเรียนชั้น ม.6 พ่อ-แม่อยากให้เรียนครูรับราชการเหมือนท่าน แต่ความใฝ่ฝันมันชักจูง จึงตัดสินใจใช้เงินที่ทางบ้านให้มาลงทะเบียนเรียนครูเป็นค่าเดินทางตีตั๋วรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปกรุงเทพฯ มาก่อน
การเดินทางสร้างประสบการณ์ชีวิตมากมาย ได้พบกับผู้อุปถัมภ์ค้ำชูหลายๆ คน จนได้มาอยู่กับ ท่านกูฏ (ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ) ที่บ้านศรีย่าน ได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดกับบรรดาศิลปินใหญ่หลายๆ ท่าน ที่นี่เป็นดัง "ตักศิลา" ที่ให้ความรู้มากมายในหลายๆ แขนง
ประสบการณ์ทำงานของครูพงษ์ศักดิ์ เริ่มจากทำงานเป็นครูที่ โรงเรียนอุบลวิทยากร พ.ศ. 2498 - 2500 เริ่มประพันธ์เพลง ตั้งแต่ พ.ศ.2510 ในนาม พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เคยเป็นนักพากย์ภาพยนตร์ในนาม "เทพสงคราม" ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 - 2512 นักเขียนบทละครวิทยุ เล่นละครวิทยุ ให้กับคณะมิตรมงคล ของครูสวาศดิ์ ไชยนันท์ พ.ศ. 2502 นอกจากนี้ยังเคยสร้างภาพยนตร์ กำกับภาพยนตร์ และเขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง "มนต์รักลำน้ำพอง" "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ " เมื่อปี พ.ศ.2519 - 2523 กำกับภาพยนตร์และเขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง "มนต์รักแม่น้ำมูล" "ลูกทุ่งเพลงสวรรค์"
หลังม่านบทเพลงบรมครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา - ไทยบันเทิง ThaiPBS
ครูพงษ์ศักดิ์ยังเป็น นักโหราศาสตร์ (หมอดู) ในนาม "ธณวัฒน์" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 - ปัจจุบัน และเคยเป็นนักแสดงภาพยนตร์ เรื่อง "ฟ้าสางที่ฝั่งโขง" ดำรงตำแหน่งประธานชมรม "ศรีเมืองใหม่รวมน้ำใจเอื้ออาทร" ผู้ก่อตั้ง "ลานบ้านลานธรรม" พ.ศ. 2540 และครูพงษ์ศักดิ์ เป็นนักร้องเพลงธรรม ในนาม "เฒ่า ธุลีธรรม" และในพ.ศ.2540 ได้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดลำหมอลำซิ่ง ครูได้รับการยกย่องเป็น "ครูภูมิปัญญาไทย" รุ่นที่ 4 จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ. 2548
ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ปราชญ์เพลงแห่งอุบล เพลงแรกในชีวิตการเป็นนักแต่งเพลง คือ ดาวบ้านนา แต่งให้กับ สมนึก นิลเขียว นักร้องหนุ่มรูปหล่อเสียงดีจากเมืองเพชรบุรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลงหวานคลาสสิกผสมกลิ่นอายลิเก และไพรวัลย์ยังร้องเพลงนำในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลำน้ำมูล ที่ครูพงษ์ศักดิ์เป็นผู้อำนวยการสร้างอีกด้วย
เพลง ทุ่งรัก ของ ศรคีรี ศรีประจวบ ที่ครูพงษ์ศักดิ์แต่งนั้นภาษางดงามมาก จนหลายคนหลงคิดว่าเป็นเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ยังมีเพลงอื่นๆ ที่ภาษางดงามมากอีก เช่น เสียงซุงเว้าสาว, ตะวันรอนที่หนองหาน
เพลง สาละวันรำวง ที่ครูแต่งให้กับลูกศิษย์คนสำคัญอย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นเสมือนสะพานเชื่อมวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ผ่านบทเพลงก่อนหน้านั้นมีเพลง สาวคนโก้ และ สาวชุมแพ ของขุนพลเพลงเมืองสุพรรณท่านนี้ด้วย
อีสานบ้านเฮา - เทพพร เพชรอุบล
ส่วนเพลง อีสานบ้านของเฮา นั้นครูพงษ์ศักดิ์ประมวลความเป็นภาคอีสาน ทั้งวัฒนธรรมการอยู่การกิน การประกอบอาชีพ เรียกว่าได้บรรยากาศอีสานครบถ้วนสมบูรณ์เลยทีเดียว เมื่อบวกกับเสียงร้องโทนสนุกสนานรื่นเริง ของ เทพพร เพชรอุบล ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เพลงนี้มีมนต์เสน่ห์ยิ่งนัก จากเพลง “อีสานบ้านของเฮา” สำทับความเป็นอีสานตามมาด้วยเพลง ลำนำอีสาน
ลำน้ำอีสาน - มนต์แคน แก่นคูณ
นอกจากนี้ยังมีเพลงดังข้ามยุคสมัยเป็นอมตะไม่ว่าจะเป็นเพลง รอรักใต้ต้นกระโดน ของ ดาว บ้านดอน ด่วน บขส., แคร์ด้วยหรือน้อง, ดอกอ้อริมโขง, อดีตรักทุ่งอีสาน ของ สนธิ สมมาตร รักร้าวหนาวลม ของ บรรจบ เจริญพร ร้องแก้กับ ผ่องศรี วรนุช, เพลง รักลาอย่าเศร้า, คำหมอบอก ของ พรสวรรค์ ลูกพรหม ดวงใจคนจน, หนาวเดือนห้าแล้งเดือนหก ให้กับ รังษี บริสุทธิ์ ฯลฯ
การสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานการประพันธ์เพลงที่ได้รับความนิยมระดับชาติ หลายเพลง เช่น สาละวันลำวง สาวชุมแพ ตะวันรอนที่หนองหาน รักร้าวหนาวรม ทุ่งรัก สาวอุบลรอรัก อีสานบ้านเฮา รอรักที่ต้นกระโดน ด่วน บ.ข.ส. ดอกจานบาน ฯลฯ ซึ่งเพลงเหล่านี้ได้สร้างนักร้องโด่งดังในระดับประเทศ เช่น ไพรวัลย์ ลูกเพชร ศรคีรี ศรีประจวบ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เทพพร เพชรอุบล สนธิ สมมาตร ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น
สมรสกับ นางจิตประไพ จันทรุกขา มีบุตร-ธิดา รวม 7 คน
แม้จะมีชัวิตโลดแล่นในวงการดนตรีและภาพยนตร์อยู่ในกรุงเทพมหานคร ได้กลับบ้านเกิดบ้างหลายครั้งทั้งในฐานะลูกที่มาเยี่ยมบ้าน มาในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนสตร์กับภาพยนตร์บางเรื่อง แต่ชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในเมืองกรุงเป็นหลัก จนช่วงปลายวัยหกสิบจึงได้กลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิด อำเภอศรีเมืองใหม่ ด้วยความที่เป็นคนลูกทุ่ง คนในวงการเพลง มองเห็นแววและโอกาสของลูกหลาน จึงไดทำโครงการ "ประกวดร้องเพลงลูกทุ่งมัธยมศึกษา" ขึ้นในปี พ.ศ. 2538 ที่โรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร โดยการนำนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอทุกอำเภอภายในจังหวัดมาประกวดแข่งขัน
ต่าย อรทัย นักร้องผู้แจ้งเกิดจากเวทีประกวดร้องเพลงลูกทุ่งมัธยมศึกษาของครูพงษ์ศักดิ์
เมื่อปี พ.ศ. 2540 เป็นปีที่ นางสาวอรทัย ดาบคำ นักเรียนจากโรงเรียนนาจะหลาย คว้ารางวัลชนะเลิศ ซึ่งปีนั้นครูสลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงมือทองเป็นกรรมการตัดสินด้วย ได้ส่งเสริมให้ อรทัย ดาบคำ ได้เป็นนักร้องลูกทุ่งสาวดาวค้างฟ้าในชื่อ "ต่าย อรทัย" แห่งค่ายแกรมมี่ โกลด์ ถ้าย้อนไปในปีก่อนหน้า ปี 2539 คนที่คว้ารางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวบุปผา บุญมี จากโรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร ซึ่งเรารู้จักกันในเวลาต่อมาคือ "ดอกอ้อ ทุ่งทอง" นั่นเอง
เมื่อกลับมาบ้านเกิด ได้รับที่มรดกจากพ่อ-แม่ 2 ไร่ และที่มรดกของน้องๆ อีก 2 คนจำนวน 4 ไร่ ที่มอบให้พี่ชายจัดการดูแล ที่เมื่อก่อนเป็นสวนมะม่วงหิมพานต์ ก็ถูกจัดการให้มีความร่มรื่นน่าอยู่ จนกลายมาเป็น "ลานบ้าน ลานธรรม" พื้นที่สัปปายะเพื่อการปฏิบัติธรรมของผู้คน โดยเฉพาะนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่
"ปราชญ์แห่งอีสาน" ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เข้าโรงพยาบาลหลังมีอาการเหนื่อยหอบ ต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา เจ้าตัวกำลังใจดี จรดปากกาเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิต "หอมดอกผักกะแญง" ระบุไม่ใช่แค่หนังสือประวัติ-ผลงาน แต่เป็นคู่มือที่ให้คนนำมาใช้ได้จริง
"ขอบคุณหมอและพยาบาลที่ดูแลรักษาอาการป่วยให้ครูเป็นอย่างดี ทำให้มีกำลังใจมาก ซึ่งรู้สึกดีขึ้นบ้าง ครูเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อ "หอมดอกผักกะแญง" ซึ่งเป็นการเขียนหนังสือครั้งแรกในชีวิตครู หนังสือเล่มนี้ครูรวบรวมผลงานทั้งหมดอย่างละเอียด ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงอัตชีวประวัติของนักแต่งเพลงคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นคู่มือที่คนทั่วไปสามารถนำไปใช้ในการต่อสู้ และดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ซึ่งพิมพ์ออกจำหน่ายจำนวน 1,000 เล่มเท่านั้น ราคาเล่มละ 295 บาท โดยวางจำหน่ายไปได้บ้างแล้ว ที่ร้านซีเอ็ดบุ๊ค มารับไปวางจำหน่ายให้แล้ว ก็อยากจะฝากหนังสือเล่มนี้ไว้ให้คนทั่วไปได้งานและศึกษา" คำกล่าวบอกมายังแฟนเพลงจากปากของครูพงศักดิ์ จันทรุกขา
ขอไว้อาลัยแด่ "ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง - ประพันธ์เพลง) ประจำปี พ.ศ.2557 เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ ขณะมีอายุได้ 79 ปีด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (ถุงลมโป่งพอง) ซึ่งญาติได้พาเข้ารับการรักษาหลังมีอาการเหนื่อยหอบ ต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา จนมาเสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อเวลา 18.45 น.ของวันที่ 1 กันยายน 2558
และได้มีการประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ ณ วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ที่่ 7 กันยายน 2558 เวลา 16.00 น.
ประวัติคุณพ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ในวันพระราชทานเพลิงศพ ที่วัดเลียบ อุบลราชธานี
ติดตามความเคลื่อนไหว : ลานบ้าน ลานธรรม
ลมใต้ปีกหงษ์ทอง
ในบรรดาศิลปินหมอลำรุ่นเก่าๆ มิตรหมอแคนแฟนหมอลำคงคุ้นเคยกันดีกับชื่อ สมาน หงษา ที่จัดอยู่ในลำดับต้นๆ ในทำเนียบหมอลำอีสาน แม้แต่ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ ปีล่าสุดก็ยกย่องให้เป็นอาจารย์
หมอลำสมาน หงษา เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม 2585 ที่บ้านดงบาก หมู่บ้านเล็กๆ บริเวณชายแดนประเทศไทย ในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในวัยเด็กได้รับการซึมซับศิลปะการลำจากพี่ชาย ซึ่งเป็นหมอลำเช่นเดียวกัน ในตอนเด็กจะได้ฟังการฝึกลำของพี่ทุกๆ วัน เด็กชายสมานเลียนแบบการลำของพี่อยู่เสมอ เมื่อคราวไปเลี้ยงวัวควายตามทุ่งนา ทำให้เสียงกลอนลำได้ซึมซาบเข้าสู่จิตใจ แล้วจึงมีโอกาสเรียนการลำกับ อาจารย์ทองคำ เพ็งดี
หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หมอลำสมานได้บวชเป็นสามเณร เพื่อเข้าศึกษาต่อในวัดเนื่องจากฐานะยากจน กระทั่งสอบได้นักธรรมโทและบาลีไวยากรณ์ ก่อนจะลาสิกขาตอนอายุ 19 ปีแล้วเข้าทำงานตำแหน่ง พนักงานตรวจสายโทรเลข ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ในจังหวัดศรีสะเกษ ในระหว่างนี้เขาเริ่มเล่นหมอลำไปพร้อมๆ กัน
ต่อมาภายหลังด้วยใจรักในศิลปะหมอลำ เขาจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ หันมาทุ่มเทกับอาชีพหมอลำอย่างจริงจัง โดยตั้งคณะหมอลำหมู่ชื่อ “คณะ ส.สมานศิลป์” รับค่าจ้างแสดงทั้งวงคืนละ 800 - 1,000 บาท ส่วนการลำกลอน 2 คน ได้รับค่างจ้างคืนละ 300-500 บาท
อดีตบุรุษไปรษณีย์หมอลำกลอน มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในด้านน้ำเสียงอันป็นเอกลักษณ์ มีความสามารถร้องหมอลำได้หลายประเภททั้งหมอลำหมู่ ลำกลอน ลำเต้ย หรือกระทั้งลำซิ่ง ก็ได้ดัดแปลงการลำเพื่อเอาใจตลาด ผลงานที่มีชื่อเสียงประเภทหมอลำหมู่ เช่น เรื่องแม่เฒ่ากับลูกเขย, แม่ฮ้างสามผัวเจ้าหัวสามโบสถ์, สากกะเบือล้างแค้น ฯลฯ ประเภทลำเต้ย เช่น เต้ยหม่าเข้าไป่, เต้ยปลาบู่พี่อ้าย
ด้านผลงานประเภทการลำกลอนหมอลำสมาน มีความสามารถโดดเด่นอาศัยพื้นฐานการศึกษาครั้งบวชเรียน นำมาประยุกต์ใช้ในการประพันธ์กลอนลำ ทั้งรูปแบบตำนาน หรือกลอนลำสอดแทรกคติสอนใจ ทั้งหมดได้สะท้อนระบบวัฒนธรรมคติชนท้องถิ่น เช่น ประวัตินครพนม, ประวัติศาสตร์เมืองเวียงจันทร์, ประวัติศรีโคตร, ประวัติช้างสามเศียร, น้ำเต้าปุ่งเครือเขาขาด, ประวัติขอนแก่น เมืองเลย, ท้าวขุนกลม ฯลฯ
แต่ผลงานที่เป็นที่ชื่นชอบเพราะสร้างความสนุกสนามแก่ผู้ฟัง คือชุดกลอนลำประเภทตลกขำขัน เป็นกลอนลำนิทานที่สะท้อนวิถีชีวิตแนวตลกสัปดนเรื่องเพศ เช่น เฒ่าสาเฝ้าสวน ปอบเข้าเมีย กินหัดหัด ฯลฯ ผลงานในแนวการเล่าเรื่องลักษณะนี้เองที่หมอลำดังรุ่นลูกหลายคน ได้พัฒนาต่อจนเป็นแนวการเขียนเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง
วันนี้ของหมอลำเรืองนาม สมาน หงษา เข้าสู่ปีที่ 64 ที่ผ่านมาแสดงในบ้านเราและต่างแดนร่วม 20 ประเทศ ทั้งอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น ลาว ฯลฯ ได้หันหลังให้วงการหมอลำแล้ว โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงในกระท่อมน้อย ตรงข้ามสำนักงานริมถนนใหญ่ ใน จังหวัดอุบลราชธานี
สมาน ย้อนถึงวัยหนุ่มที่เป็นยุคเฟื่องของหมอลำกลอน ที่ถือเป็นแม่แบบของหมอลำปัจจุบัน "จบเปรียญสามประโยค แล้วมาเรียนหมอลำกับพี่ชาย ตั้งแต่ปี 2508 ครูที่สอน คือ อาจารย์ทองคำ เพ็งดี ส่วน อาจารย์เคน ดาเหลา นั้น พ่อผมไปเรียนวิชากับเขา เริ่มเล่นหมอลำตั้งแต่อายุ 19 ปี มีแคนดวงเดียวเล่นกันยันสว่าง สมัยนั้นมีงานกันเป็นเดือน เล่นกันทั้งกลางวัน กลางคืน จนตัวเหลืองหมด รุ่นเดียวกันมี เสาร์ พงษ์ภาค (พ่อของนพดล ดวงพร) เป็นเพื่อนกัน และก็ ฉวีวรรณ ดำเนิน ส่วนใหญ่จะตายหมดแล้ว ยุคนั้นเล่นกันคืนละ 300 บาท คู่กับ จันทร์แดง โสภา การเดินทางนั้น รถจะมีเป็นช่วงๆ ที่ไหนไม่มีรถต้องเดินกันไป เวทีแสดงไม่ใหญ่ เจ้าภาพจะจัดให้ ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ โลกเจริญแต่เราก็จะดับ"
ครูสมานกล่าวอย่างคนปลงตก หลังจากเลิกลำมาได้ 3 ปี เพราะเส้นเลือดตีบ ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ ยืนไม่ได้ "เรื่องความรู้ก็ต่าง แต่ก่อนเล่นกันสดๆ มีกลอนถามไถ่กัน ด่ากันก็ใช้กลอน ต้องเรียนสูงเพื่อต่อสู้ (ในทางวิชา) กัน ถ้าอยากลำเก่งต้องเรียนสูงๆ บาลีก็ต้องเรียน สมัยก่อนมีกลอน เช่น เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ลาว นครเวียงจันทน์ เขาจะตั้งเป็นถาม-ตอบกัน หมอลำยุคนี้ไม่ได้กินหรอก ตอนนี้กลอนเก่าๆ ก็ถ่ายทอดให้ลูกชาย แต่บางอันก็ล้าสมัยไปบ้าง บางกลอนมีค่ากว่ากลอนสมัยใหม่ ปราชญ์สมัยใหม่แต่งไม่ได้อย่างสมัยเก่า พื้นฐานมันต่างกัน ถ้าคนเรียนสูงจะด้นได้สดเลย หมอลำยุคนี้แปรสภาพไปมาก เหมือนต้นไม้ที่ขยายสาขาออกไป แต่ไม่แข็งแรงเหมือนก่อน ทุกวันก็ยังติดตามอยู่ ฟังทางวิทยุ เมื่อคืนเขาเปิดลำกลอนสุนราภิรมย์ ฟังแล้วน้ำตาคลอนึกถึงอดีต" หมอลำฝีปากเฉียบเปรียบเทียบวงการหมอลำสมัยก่อนกับวันนี้
ครูสมาน ได้บันทึกลำกลอนไว้หลายชุด โดยล่าสุดอยู่กับค่ายท็อปไลน์ 3 ชุด ก่อนหน้านั้นสังกัดค่ายกรุงไทย ออดิโอ ที่มีผลงานประมาณ 6 ชุด และที่ค่ายราชบุตร ใน จังหวัดอุบลราชธานี อีกเกือบ 20 ชุด โดยมีลำกลอนที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ "เต้ยหัวหงอกหยอกสาว" ที่ ไวพจน์ เพชรสุรรณ นำมาร้องใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ ในช่วงที่โด่งดัง ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ก็เคยสะพายกระเป๋า ขึ้นเกวียนไปงานด้วยกัน
ด้านชีวิตส่วนตัวครูสมานมีเมียเป็นหมอลำชื่อ ศรีอุบล (ล่วงลับไปแล้ว) มีลูก 9 คน เจริญรอยตามสายหมอลำสองคน คือ หงษ์ทอง หงษา ส่วนอีกคนเป็นครูเล่นหมอลำไม่เต็มตัว
หงษ์ทอง หงษา เจ้าของเสียงเพลง "หนุ่มหมอลำซิ่ง" "หงษ์ทองพาซิ่ง" และเพลง "ชายอิสระ" ที่สร้างชื่อให้ ปัจจุบันเจ้าของวงหมอลำซิ่งวงใหญ่สืบตำนานต่อจากพ่อ กล่าวถึงวงของตนเองว่า "คอนเสิร์ตหมอลำเดี๋ยวนี้ลงทุนเป็นล้าน เล่นสนุกอย่างเดียว ผมเอากลอนสมัยพ่อมาเล่นด้วย เช่น กลอน "ผู้ใหญ่สาเฝ้าสวน" วงหมอลำซิ่งต่างจากวงหมอลำสมัยก่อนตรงที่ เน้นความสนุก มัน เร้าใจ เวทีปรับคล้ายเธค ให้คนเต้นกันสนุก"
กลอนลำตลกๆ "เมียต้มผัว" โดย สมาน หงษา
ทุกวันนี้ ครูสมาน หงษา ยังเป็นครูให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่มาร่ำเรียนกลอนลำกัน และเป็นดั่งลมใต้ปีกที่จะช่วยดันให้หมอลำหนุ่ม "หงษ์ทอง" ได้บินขึ้นสูงต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า ลูกชายจะพัฒนาฝีมือให้ได้อย่างรุ่นพ่อหรือไม่
"อย่าประมาท พยายามให้สติผ่องใสตลอด อย่ากินน้ำเมา ศัตรูของเรา คือ น้ำเมา ทำให้เราเพี้ยนไป หมอลำในอดีตตก เพราะเหล้ามันทำลาย" หมอลำพญาหงษ์ กล่าวทิ้งท้ายเตือนสติคนรุ่นหลัง
รวมกลอนลำ ของ สมาน หงษา
ถ้าสนใจไปดูกลอนซิ่ง หมอลำกลอนซิ่ง ของ สมาน หงษา กันคลิกเลย หมอลำสมาน หงษา ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดมามากมาย และที่ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ เช่น
พ่อสมาน หงษา ต้องเลิกแสดงลำ เพราะเส้นเลือดตีบ ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ ยืนไม่ได้ แต่ก็มีผลงานบันทึกลำกลอนไว้หลายชุด เช่น
และเมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา หมอลำสมาน หงษา ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยอาการนอนหลับแล้วสิ้นลมไป ภายหลังที่พักรักษาตัวมานานกว่า 10 ปี ที่บ้านพักเลขที่ 113/3 ถนนวาริน-ศรีสะเกษ ตำบลกุดเป่ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังที่พักรักษาตัวมานานกว่า 10 ปี จากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ไม่สามารถยืน-เดินได้ จำต้องยุติการเป็นหมอลำในขณะที่มีชื่อเสียงอยู่
บานเย็น รากแก่น ยอดหมอลำที่มีเสียงไพเราะเพราะพริ้ง เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ ด้วยลีลาและท่วงท่า การฟ้อนรำอันอ่อนช้อยสวยงาม ยังคงประทับใจไทยอีสานอยู่มิรู้ลืม ศิลปินเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวอุบลราชธานีอีกคนหนึ่ง การกลับมาบันทึกเสียงลำ ชุด "แม่ไม้หมอลำ" ของเธอนับว่าได้ กระตุ้นเตือนให้วงการหมอลำของฅนอีสานคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสำเนียงเสียงสดใสคงเดิม และลีลาร่ายรำอันสวยงามที่หาตัวจับยากของเธอ ประทับใจครับ นอกจากนั้นยังอุทิศตน อุทิศเวลา เดินทางมาให้ความรู้กับลูกศิษย์ด้านศิลปะการแสดง ณ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยอีกด้วย นับว่า เป็นยอดศิลปินที่ไม่เคยลืมบ้านเกิดตัวเองจริงๆ
ใน พ.ศ.นี้ หากจะหา "หมอร้อง – หมอลำ" แล้วล่ะก้อหากันไม่ยาก แต่ถ้าจะหาแบบที่เป็นหมอลำโดยแท้ คงจะยากสักหน่อย เพราะส่วนมากจะเป็น "หมอลำ" ลักษณะลูกผสมเสียส่วนใหญ่ แต่ถ้าจะถามหาผู้ที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นหมอลำกันจริงๆ ก็คงหนีไม่พ้นสาวใหญ่ ที่ได้สมญานามว่า "ราชินีหมอลำ บานเย็น รากแก่น"
เพราะเธออยู่คู่กับ "หมอลำ" มานานหลายสิบปี ด้วยประสบการณ์ อันยาวนานทั้งด้าน "หมอลำ" และ "ลูกทุ่ง ..อีสาน" ที่สะสมมาตั้งแต่เยาว์วัย โดยเธอเคยเป็นถึง "นางเอก" หมอลำเรื่องต่อกลอนให้กับ "คณะรังสิมันต์" ร่วมกับ หมอลำทองคำ เพ็งดี และหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ที่เคยเฟื่องฟูมากมายในอีสานยุคหนึ่ง จากนั้นก็มาโด่งดังเอาดีทางการร้องเพลง "ลูกทุ่งอีสาน" อยู่พักใหญ่ และไม่ใช่จะเอาดีแต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เธอยังโด่งดังไปไกลข้ามทวีป รวมถึงการออกทัวร์คอนเสิร์ตข้ามทวีปเป็นว่าเล่น และนับเป็นศิลปินหมอลำอันดับหนึ่ง ที่มีงานแสดงในต่างประเทศมากที่สุดคนหนึ่ง
ถ้าจะถามถึงแนวการร้องเพลงลำของเธอแล้ว เธอมีทั้งแนว "ลำเรื่องต่อกลอน" "ลำเพลิน" "ลำมโนราห์" หรือแม้แต่เพลง "ลำเพลิน-แคนอีสาน" "ลำเพลินเจริญจิต" และ "ลำงิ้วต่องต้อนอ้อนผู้บ่าว" ที่อยู่ในชุด "สาวหมอลำระเบิดโลก" ล้วนเป็นผลงานการร้องเพลงลำของเธอทั้งสิ้น 50 กว่าปีกับการคว่ำหวอดในวงการหมอลำ ถึงวันนี้แม้เธอจะมีอายุอานามเข้าไปเลยเลข 60 ไปแล้วก็ตาม แต่ความสามารถของเธอก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปด้วยเลย กลับมีชีวิตชีวากลมกลืนไปกับยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงได้ดีทีเดียว
รางวัลพระราชทาน "พระพิฆเนศทอง" กับบทเพลง "รอรักจากแดนไกล" ผลงานการแต่งเนื้อร้องของครู "ดอย อินทนนท์" จากอัลบั้มชุด "เสื้อหลายสีพี่หลายใจ" เป็นอีกหนึ่งผลงานที่แสดงให้เห็นถึง ความเป็นศิลปินมีคุณภาพ และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อต้นปี 2544 ที่ผ่านมา บานเย็นยังได้รับพระราชทาน ปริญญามหาบัณฑิต (กิติมศักดิ์) จากสถาบันราชภัฎอุบลราชธานี คณะศิลปศาสตร์บัณฑิต ในฐานะที่เธอเป็น ผู้ร่วมอนุรักษ์และถ่ายทอดศิลปะการร้อง - ลำ หมอลำคนหนึ่ง เพราะนอกจากเธอจะเป็นศิลปินหมอลำเต็มตัวแล้ว เธอยังได้เกียรติจากสถาบันให้เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในด้านที่เธอถนัดด้วย สมควรแล้วกับการได้รับปริญญามหาบัณฑิต จากสถาบันที่เธอร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อันดีงามของจังหวัดไว้ให้ลูกศิษย์ได้สืบทอดต่อไป
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อใครสักคนได้รับโอกาสให้ออกเทป เป็นศิลปินนักร้องแล้ว สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ชื่อเสียง-เงินทอง และความสุขสบายในชีวิต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จากที่เคยอยู่ตามต่างจังหวัด ต้องย้ายที่พำนักเข้ามาอยู่ในเมืองกรุง ชีวิตในแต่ละวัน แต่ละเดือน ผ่านไปกับการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตที่ไม่ได้จำกัด เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงต่างประเทศ ที่มีคนไทยอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนแล้ว ยังถือว่าได้เปิดหูเปิดตาท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกัน
อย่างเช่น บานเย็น รากแก่น ที่เพิ่งเดินทางกลับจากทัวร์คอนเสิร์ตที่ประเทศเยอรมนี สวีเดน และฟินแลนด์ เธอบอกว่าไปคราวนี้ใช้เวลานานถึง 3 เดือนแต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะนอกจากจะได้พบปะแฟนเพลงแล้ว ยังถือว่าได้ช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยให้ฝรั่งดูด้วย
"ถือว่าโชคดีมากค่ะ ที่ได้เกิดมาเป็นบานเย็น เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนแฟนเพลงให้การต้อนรับอบอุ่นมาก บางคนอยู่ไกลบ้านร้องไห้เลย พอได้ฟังเพลงเรา มีบางคนที่เป็นฝรั่ง พอได้ยินเพลงหมอลำ ก็ทำให้อยากจะเดินทางมาเที่ยวที่เมืองไทย ตรงนี้ภูมิใจนะ แต่ในชีวิตที่ดีใจ และภูมิใจที่สุด เห็นจะเป็นการได้รับรางวัลพระราชทานพระพิฆเนศทองคำ กับบทเพลง 'รอรักจากแดนไกล' จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรงนี้ภาคภูมิใจมาก เพราะรางวัลนี้สำหรับศิลปินทุกคนถือว่าเป็นบันไดขั้นสุดท้ายของชีวิตหมอลำเลยทีเดียว"
วันนี้วันที่ "บานเย็น รากแก่น" หรืออีกฉายา "ราชินีหมอลำ" ผู้คว่ำหวอดกับวงการลูกทุ่งอีสาน และหมอลำ–หมอร้อง จนมีชื่อเสียงโด่งดังขจรไกลไปถึงต่างแดน กำลังจะมีลูกศิษย์ – ลูกหา ที่นับวันจะเพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ มารับหน้าที่ถ่ายทอดสายเลือดศิลปินหมอลำ จากรุ่นไปสู่รุ่น ฉะนั้น "บานเย็น รากแก่น" จึงนับเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่มีไม่มากนักในการได้รับคัดเลือกให้เป็นปูชนียบุคคล เพื่อร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และความรู้ ทางด้าน "หมอลำ – หมอร้อง" ที่สั่งสมมานานหลายสิบปีให้แก่ลูกหลานได้สืบทอดต่อกันมา
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 ที่ผ่านมาก็ได้ตามไปฟังลำจากเสียงใสกังวานของ หมอลำบานเย็น รากแก่น ในงาน "ป่าวเติน เอิ้นข่าว" ที่บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี งานนี้ครึกครื้นครับสมกับที่รอคอย โดยมี วงโปงลางสังข์เงิน จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นแบ็คอัพและหางเครื่อง มาสนุกและถูกใจแฟนๆ สุดๆ เมื่อสุดยอดหมอแคนแดนอีสาน สมบัติ สิมหล้า พาแคนคู่ใจมาเป่าให้หมอลำบานเย็นได้ลำล่อง ลำเต้ย ม่วนอีหลีคักๆ เด้อพี่น้อง ขนาดวันนั้นอากาศร้อนสุดๆ แต่แฟนๆ ชาวอุบลฯ ก็ไม่มีถอยเลยสักคน
รายการที่นี่หมอชิต ตอน บานเย็น รากแก่น
บานเย็น รากแก่น มีชื่อจริงคือ นิตยา รากแก่น เกิดวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ที่บ้านกุดกลอย ตำบลโนนสวาง อำเภอตระการพืชผล (ปัจจุบันคือ อำเภอกุดข้าวปุ้น) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายสุดตา และนางเหมือย รากแก่น หลังจบ การศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านท่าวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้คลุกคลีอยู่กับคณะหมอลำของคุณป้าหนูเวียง แก้วประเสริฐ หมอลำกลอนชื่อดังของจังหวัด โดยฝึกฝนทักษะการลำ และการร่ายรำท่าต่างๆ อย่างสวยงาม จนเป็นที่ชื่นชมของคุณครู ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ และผู้คนในท้องถิ่น
บานเย็น รากแก่น ออกแสดงหมอลำครั้งแรกเมื่อ อายุ 14 ปี ด้วยน้ำเสียงมหาเสน่ห์ รูปร่างหน้าตาสะสวย มีลีลาในการลำ และร่ายรำที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ ทองคำ เพ็งดี พระเอกชื่อดัง คณะหมอลำรังสิมันต์ หมอลำเรื่องต่อกลอนชื่อดังในขณะนั้น ได้ชวนมาเป็นนางเอกของคณะ
ลำเรื่องต่อกลอน "ศรีธน-มโนห์รา" คณะรังสิมันตร์ โดย ทองคำ เพ็งดี - บานเย็น รากแก่น
ต่อมา บานเย็น แยกตัวมาเป็นหัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ คณะบานเย็น รากแก่น เมื่ออายุเพียง 18 ปี จากการสนับสนุนของ เทพบุตร สติรอดชมภู โดยมีงานแสดงตามจังหวัดต่างๆ และต่างประเทศอยู่หลายครั้ง เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้แสดงเพื่อสาธารณกุศลอีกมากมาย ทำให้มีชื่อเสียงในระดับประเทศและระดับโลก เนื่องจากหมอลำบานเย็นได้ประยุกต์การแต่งตัวและการโชว์อย่างอลังการ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชินีลูกทุ่งหมอลำประยุกต์” คนหนึ่งของเมืองไทย
ผลงานเพลงที่สร้างชื่อให้กับ บานเย็น รากแก่น ได้แก่เพลง งิ้วต่องต้อนอ้อนผู้บ่าว รวมทั้งลำเพลิน และลำเรื่องต่อกลอนอีกมากมาย เคยออกอัลบั้มบันทึกเสียงร่วมกับ ปริศนา วงศ์ศิริ นักร้องหมอลำและนักแสดง อดีตนางเอกภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง แม่นาคพระโขนง
ด้านการแสดงภาพยนตร์ บานเย็น เคยแสดงภาพยนตร์เรื่อง “แผ่นดินแม่” ของ ชรินทร์ นันทนาคร ในปี พ.ศ. 2518 แสดงร่วมกับ สมบัติ เมทะนี และ เพชรา เชาวราษฎร์
ชีวิตครอบครัว สมรสกับ นายเทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ หรือที่รู้จักกันในนาม เทพบุตร สติรอดชมภู มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นหญิง 2 คน ชาย 1 คน คือ แอนนี่, แคนดี้ และ โทนี่ รากแก่น แต่ภายหลังเลิกรากันไปด้วยปัญหาความขัดแย้งส่วนตัว ขณะที่เธอยังเดินสายทัวร์อเมริกา ยุโรป ส่วนสามีทำธุรกิจเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างไทยและออสเตรเลีย ซึ่งได้นำลูกทั้งสามคนไปเลี้ยงดูที่ออสเตรเลีย
บานเย็นเล่าถึงความหลังว่า "แต่งงานตอนอายุ 25 เราเป็นศิลปิน เค้าเป็นเจ้าของสำนักงาน สมัยนั้นเรียกแบบนั้น ก็เป็นเจ้าของ "ค่าย" จนมีลูก แต่ต้องเลิกกันเพราะทัศนคติไม่ตรงกัน ลูกก็อยู่กับพ่อที่ออสเตรเลีย ตอนแรกๆ แม่อยู่อเมริกา ไปแสดงที่ต่างประเทศติดต่อลูกไม่ได้เลย คิดถึงลูกมากน้ำตาไหล สอนลูกเสมอว่า ไม่ว่าพ่อจะเป็นยังไง ก็อย่าเกลียดพ่อ คุณย่าด้วยเหมือนกัน ลูกต้องเคารพบูชา คำว่าแม่ยังไงต้องห่วงลูกไม่จบสิ้น ที่ยังรู้สึกตลอดเวลา คือ ทำให้ลูกไม่มีความอบอุ่น มีปมด้อย สงสารลูก แต่ที่ลูกโตขึ้นมา ดูแลตัวเองได้ ดูแลพ่อแม่ได้ ภูมิใจ จะบอกลูกว่าแม่มี ไม่ต้องห่วง ไม่มีก็บอกว่ามี ไม่อยากให้ลูกเป็นห่วง"
ปัจจุบัน แคนดี้ รากแก่น เป็นดีเจและนักร้อง ทำวงดนตรีรับงานแสดงร่วมกับแม่บานเย็นใช้ชื่อว่า แคนดี้ แฟมิลี่ (Candy Family) โดยมี บานเย็น รากแก่น จะร้องและฟ้อนแบบอีสาน ส่วนลูกสาวจะออกไปในแนวหมอลำซิ่ง และลีลาการเต้นสมัยใหม่ ส่วน โทนี่ เป็นสไตล์ลิสต์ทรงผม นายแบบ และนักแสดงขวัญใจวัยรุ่น นอกจากนี้ บานเย็น ยังเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาวิชานาฏศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และเจ้าของโรงเรียนสอนศิลปะการแสดงอีสาน บานเย็น เพื่อถ่ายทอดศิลปะการแสดงหมอลำให้กับคนรุ่นหลัง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน)
นายเปลื้อง ฉายรัศมี เป็นนักดนตรีพื้นบ้านอีสาน ที่มีความสามารถพิเศษ สามารถเล่นและถ่ายทอดการเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสาน ได้เกือบทุกชนิด ทั้ง พิณ แคน ซอ โปงลาง และอื่นๆ โดยเฉพาะ "โปงลาง" นั้น สามารถเล่นและถ่ายทอดการเล่นได้เป็นพิเศษ และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นผู้ศึกษา ค้นคว้า ปรับปรุงและพัฒนาโปงลางมาตลอดระยะเวลา 40 ปี จนทำให้ "เกราะลอ" ซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่ใช้ตีไล่นก กา ตามไร่ ตามนา
จากเกราะลอพัฒนามาเป็น "โปงลาง" ที่มีสภาพเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไพเราะ กังวาน และให้ความรู้สึกของความเป็นพื้นบ้านอีสานอย่างแท้จริง เป็นที่นิยมกันแพร่หลายและยอมรับกันว่า "โปงลาง" เป็นเครื่องดนตรีเอกลักษณ์ของภาคอีสาน เคียงคู่กับ "แคน" ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว จึงสมควรยกย่องและเชิดชู นายเปลื้อง ฉายรัศมี ไว้ในฐานะเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) อย่างแท้จริง และได้รับพระราชทานโล่ เข็มเชิดชูเกียรติในวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2530 ซึ่งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
พ่อเปลื้อง ฉายรัศมี แสดงการเดี่ยวแคนและโปงลาง
นายเปลื้อง ฉายรัศมี เป็นบุตรของ นายคง นางนาง ฉายรัศมี เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ที่บ้านเลขที่ 7 บ้านนา ตำบลม่วงนา อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
การศึกษา จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านนา ถิ่นกำเนิด ปัจจุบันพักอยู่บ้านเลขที่ 157 หมู่ 13 ตำบลเหนือ บ้านโพนทอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และทำงานอยู่ที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
นายเปลื้อง ฉายรัศมี แต่งงานครั้งสุดท้าย พ.ศ 2519 กับนางยุพิน ฉายรัศมี ซึ่งมีอาชีพทำนา มีบุตรชาย 2 คน และหญิง 1 คน
เมื่ออายุ 27 ปี นายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว อยู่ที่โครงการเขื่อนลำปาว (พ.ศ. 2502 - 2510) ต่อมา พ.ศ. 2516 ได้สอบบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ อยู่ในสำนักงานป่าไม้จังหวัดกาฬสินธุ์ จนถึง พ.ศ. 2519 จึงได้ลาออก
ต่อมาปี พ.ศ. 2520 ได้เข้าทำงานที่ชลประทานจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาปี พ.ศ. 2521 ได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม ถึงปี พ.ศ. 2524 ได้ย้ายมาทำงานที่อ่างเก็บน้ำห้วยมโน บ้านนา อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
พ่อครูเปลื้อง ฉายรัศมี บรรเลงเดี่ยวโปงลาง "ลายกาเต้นก้อน"
ในด้านผลงานนั้น นายเปลื้อง ฉายรัศมี เป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษทางด้าน ดนตรีพื้นบ้านอีสาน สามารถเล่นและสอนถ่ายทอดได้ทั้ง พิณ แคน ซอ โปงลาง และเครื่องดนตรีอื่นq แทบทุกชนิดในภาคอีสาน โดยเฉพาะโปงลางนั้น มีความสามารถเล่นได้ดีเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะเป็นผู้ที่ได้วิวัฒนาการเครื่องดนตรีชนิดนี้ขึ้นมานั่นเอง
ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ คุณพ่อเปลื้อง ฉายรัศมี ในวัย 75 ปี เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 เหลือไว้เพียงตำนานของโปงลางอีสาน ที่ลูกหลานจะสืบทอดต่อไปอีกนานแสนนาน
นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2529 สาขาศิลปะการแสดง เครื่องดนตรีพื้นบ้านโปงลาง ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อเวลา 06.30 น.วันนี้ (2 ธ.ค. 2550) ที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ หลังจากที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคปอดติดเชื้อ และโรคตับอักเสบมาเป็นระยะเวลาอาทิตย์เศษ โดยทางจังหวัด และวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ จะเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันนี้ (2 ธ.ค. 2550) เป็นต้นไป ที่วัดไชยสุนทร อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
นับว่าเป็นการสูญเสีย ทรัพยากรบุคคลด้านดนตรีพื้นเมือง ไปอีกคนหนึ่ง แต่ก็นับว่าโชคดีที่ยังมีผู้สืบสาน การละเล่นดนตรีพื้นเมืองนี้อยู่มากมายทั้ง โปงลาง พิณ แคน ซอ ศิลปะการขับร้อง และฟ้อนรำกันอยู่มากมาย โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา ทั้งในโรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และในระดับอุดมศึกษาก็มีอีกมาก
ดนตรีพื้นบ้านอีสาน จะยังคงมีผู้สืบต่อลมหายใจอยู่อีกมากมายในวันนี้ "
ปราชญ์แห่งแดนอีสาน เปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ 2529
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)