คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม ดนตรีพื้นเมือง (พิณอีสาน)
ครูทองใส ทับถนน คือ หนึ่งในจำนวนผู้มีผลงานทางด้านศิลปกรรมของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทางการศึกษาระดับชาติ จากผลงานทางด้านดนตรีและศิลปะการแสดง "การดีดพิณ" ครูทองใส ทับถนน จนเป็นที่ยอมรับ ยกย่องในระดับต่างๆ ดังกล่าว จึงสมควรที่จะได้มีการบันทึกประวัติชีวิตและผลงาน ครูทองใส ทับถนน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึงความเป็นมาของชีวิตศิลปิน และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2490 ที่บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ พ่อปิ่น - แม่หนู ทับถนน มีอาชีพทำนา และอาชีพเสริมเป็นศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) วัยเด็กศึกษาเล่าเรียนที่บ้านเกิด จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีภรรยาคู่ชีวิตคือ นางประมวล (สกุลเดิมจันไตร) มีบุตร-ธิดา 3 คน ได้แก่ นางพิณทอง มณีเนตร นายสีแพร ทับถนน และนางบุญสวย ทับถนน
ครูทองใส ทับถนน คือ หนึ่งในจำนวนปราชญ์ศิลปิน ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านศิลปะการแสดง คือ การดีดพิณ ลีลาลายพิณโบราณจากพิณสองสาย และท่วงทำนองการดีดพิณของครูทองใส ได้รับการยอมรับว่า คือ มือพิณชั้นครู ระดับปรมาจารย์มีลูกศิษย์จากทุกสารทิศ มาเรียนรู้มากมาย ทั้งที่ครูทองใสเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง อาชีพหลักคือ การทำนา จบการศึกษาแค่ชั้น ป. 4 แต่มีความรู้ ความสามารถทางด้านศิลปะการแสดง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูภูมิปัญญาไทย ทำหน้าที่ถายทอดความรู้ทางด้านการดีดพิณของตนเอง ให้กับคนทั่วไปได้เรียนรู้
บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีตำนานหมู่บ้านที่เล่าขานกันต่อๆ มาน่าสนใจว่าประมาณปี พ.ศ. 2400 ได้มีชนกลุ่มหนึ่งเดินทางรอนแรมมาจากอำเภอเขื่องใน เพื่อหาที่พักอาศัยและที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ มาถึงบริเวณแม่น้ำมูลเลยพากันหยุดพักกินข้าว และเห็นว่าเป็นที่ลุ่มที่ดอน เหมาะสมที่จะตั้งเป็นที่อยู่อาศัย ได้พากันข้ามแม่น้ำมูลมายังฝั่งอำเภอวารินชำราบ (ปัจจุบัน) ซึ่งมีท่าน้ำติดกับแม่น้ำมูล จึงได้พากันตั้งรกรากปลูกที่พักอาศัยกลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นมา ซึ่งในสมัยนั้นยังขาดผู้นำหมู่บ้าน จึงยังไม่มีการตั้งชื่อหมู่บ้าน
จากนั้นเล่ากันว่า ก่อนจะมีชื่อหมู่บ้านเป็น บ้านท่ากกไฮ เพราะว่า เดิมทีมีต้นไฮขนาดใหญ่หลายคนโอบอยู่ที่ท่าน้ำ ทางเกวียนลงสู่แม่น้ำมูล วันหนึ่งได้มีพ่อค้าขายปลาแดก (ปลาร้า) นั่งเรือผ่านมา และจอดเรืออยู่ใต้ต้นไฮใหญ่ เพื่ออาศัยร่มเงาพักผ่อนเอาแรง แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คือ กิ่งไฮตกลงมาใส่ทับคนในเรือเสียชีวิต ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า บ้านท่ากกไฮ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ส่วนสาเหตุที่เป็น บ้านหนองกินเพล นั้น ด้วยความบังเอิญสมัยนั้น มีพ่อค้าแม่ค้าและผู้คนสัญจรเดินทางผ่านไปมาระหว่าง หมู่บ้านและอำเภอบ่อยๆ พอมาถึงบริเวณทุ่งนา ทุกวันพระ สงฆ์ในวัดจะตีกลองเพลเป็นประจำ ผู้คนที่ผ่านไปมาก็จะพูดและนัดหมายกันว่าพบกันที่ หนองเพล คือ ลักษณะการนัดพบกันกินข้าวเที่ยง (กินเพล) ที่หนองน้ำ จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อจาก บ้านท่ากกไฮ เป็น บ้านหนองกินเพล มาจนถึงทุกวันนี้
ทองใส ทับถนน ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
โดยสภาพทั่วไปชาวบ้านหนองกินเพล เป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำสวน ปลูกพืชไร่ และเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำมูล ชาวบ้านจึงมีอาชีพส่วนหนึ่งคือ การประมงจับปลาจากแม่น้ำมูล และความรู้ในการทำเครื่องมือจับปลา เช่น สานแห ไซ ส่วนผู้หญิงมีความรู้ในด้านการทอผ้าและทอเสื่อ และที่บ้านหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ หมู่บ้านแห่งประวัติศาสตร์แห่งนี้ที่มีอายุถึงร้อยกว่าปี คือ หมู่บ้านที่เป็นถิ่นกำเนิดของ สองพ่อลูกศิลปินดนตรีพื้นบ้าน ผู้ยิ่งใหญ่ คือ
หนึ่ง พ่อหมอลำปิ่น ทับถนน ชาวบ้านหนองกินเพล เป็นศิลปินพื้นบ้านผู้มีความสามารถทางด้านการแสดงหมอลำ กับ การเล่นหนังบักตื้อ (หนังปราโมทัย หรือหนังตะลุงทางภาคใต้) เมื่อว่างเว้นจากฤดูกาลทำนา จะพาคณะออกตระเวนเล่นตามหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทำให้มีลูกศิษย์มาฝากตัวเรียนรู้วิชาหมอลำ กับ หนังบักตื้อ มากมาย รวมทั้งยังเป็นผู้มีน้ำใจ จึงมีเพื่อนพ้องศิลปินพื้นบ้านมาเยี่ยมเยือนที่บ้านหนองกินเพลเป็นประจำ ทำให้บ้านหนองกินเพล สมัยนั้นเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงทางด้านศิลปะการแสดง เพราะเป็นแหล่งรวมของศิลปินพื้นบ้านของอีสาน
สอง ลูกชาย นายทองใส ทับถนน จึงได้รับการถ่ายทอดมรดกทางศิลปินมาตั้งแต่กำเนิด เพราะเกิดมาท่ามกลางวงล้อมของครอบครัว และหมู่ศิลปินพื้นบ้าน ซึมซับอยู่กับเสียงดนตรี เสียงร้อง ของศิลปินหลายคน จนสามารถพัฒนาตนเองเป็น ศิลปินนักดนตรีพื้นบ้าน พิณอีสาน เจริญรอยตามบิดา มาจนถึงทุกวันนี้
เด็กชายทองใส ทับถนน มีแววศิลปินมือพิณมาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะมีความสามารถเล่นพิณได้ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จากความสนใจ และแรงบันดาลใจที่ได้เห็น ครูพิณ ดีดพิณสองสายได้อย่างไพเราะน่าฟัง จึงเกิดความรู้สึกเบื้องต้นอยากจับต้องสัมผัส ตัวพิณ อยากเป็นเจ้าของพิณและอยาก ดีดพิณ ให้ได้เหมือนกับครูพิณที่ตนเองประทับใจและชื่นชมในฝีมือ เมื่อได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ พิณตัวแรก เมื่ออายุ 4 ปี จากการรบเร้าให้แม่ขอพิณ จากครูพิณที่มาพักแรมที่บ้านให้
จากนั้นมาเด็กชายทองใสได้เริ่มต้นฝึกฝน ฝึกปฏิบัติ การดีดพิณด้วยตนเองอย่างจริงจัง จนสามารถเล่นพิณประกอบจังหวะดนตรีหมอลำ ร่วมกับคณะของพ่อหมอลำปิ่นได้ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่ออายุ 8 ปี เด็กชายทองใสเริ่มเรียนรู้ ลายพิณโบราณ จากครูพิณพื้นบ้านหลายคน เริ่มต้นจาก พ่อปิ่น ถือเป็นครูคนแรกที่ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการดีดพิณ จากนั้นเรียนรู้กับครูบุญ ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายแม่เป็นผู้ถ่ายทอดลายพิณ แบบลายลำเพลินโบราณให้
จนกระทั่งพบกับ ครูบุญชู โนนแก้ว ชาวบ้านโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ศิลปินมือพิณพิการตาบอด ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพ่อหมอลำปิ่น ซึ่งมีฝีมือการดีดพิณลายโบราณเก่งมาก จนเด็กชายทองใสประทับใจ อยากเล่นพิณได้เหมือนกับครูบุญชู จึงขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์และได้เรียนรู้ลายพิณพื้นบ้านอีสานแบบโบราณ โดยเฉพาะ ลายพิณลุ้นตุ๋ย ซึ่งเป็นที่มาของ ลายพิณปู่ป๋าหลาน ที่สร้างชื่อเสียงให้กับครูทองใสในเวลาต่อมา เมื่อเรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชีวิตของเด็กชายทองใส มีความสนใจที่จะเรียนรู้วิชาการดีดพิณต่อไป จึงตั้งใจฝึกฝนตนเองด้วยวิธีการจดจำ ลายพิณพื้นบ้านจากครูพิณคนเก่า และเสาะแสวงหา ลีลาลายพิณ จากศิลปินมือพิณคนอื่นๆ ตลอดเวลา
รวมทั้งยังได้มีโอกาสเล่นกับคณะหมอลำของพ่อปิ่นตามงานแสดงต่างๆ ทำให้ฝีมือการดีดพิณของเด็กชายทองใสพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนสามารถเล่นพิณประจำให้กับวงหมอลำของพ่อปิ่น และวงดนตรีพื้นบ้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนได้ชื่อว่าเป็นมือพิณที่มีฝีมือและชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยนั้น
ด้วยความเป็นสายเลือดศิลปิน มือพิณอย่างครูทองใส จึงตัดสินใจที่จะประกอบอาชีพศิลปินตามรอยบิดา คือ หมอลำปิ่น ทับถนน หากแต่เป็นการก้าวเดินตามรอยเท้าที่มีความเหมือน และความต่างจากพ่อปิ่น ความเหมือน คือ ทั้งพ่อปิ่น และ ครูทองใส เป็นศิลปินที่มีความสามารถทางด้านการแสดงออกทางด้านดนตรีพื้นบ้านเหมือนกัน ความต่าง คือ พ่อปิ่น เด่นทางด้านการแสดงหมอลำที่อยู่ด้านหน้าเวที แต่ลูก คือ ครูทองใส เด่นทางด้านการเล่นดนตรีพื้นบ้าน คือ การดีดพิณ จึงเป็นศิลปินที่ต้องอยู่เบื้องหลังของนักแสดงด้านหน้าเวที
ครูทองใส ย้ำกับลูกศิษย์ทุกคนว่า "ไม่มีใครที่จะสามารถเรียนรู้และเก่งได้ด้วยตนเอง ทุกคนต้องมีครูครูคนแรก คือ พ่อแม่ ครูคนที่สองคือครูที่โรงเรียน ส่วนครูพิณ แม้จะเรียนรู้โดยวิธีการจดจำและนำมาฝึกปฏิบัติเองแบบครูพักลักจำ หรือครูนิรนาม แต่ก็ยังถือว่าจำเอามาจากคนอื่นอยู่นั่นเอง" ศิษย์ต้องมีครู ครูของทองใส ครูทองใสจัดลำดับ ทำเนียบครูพิณ ที่ถือว่าเป็น ครู ที่ได้ให้ความรู้กับครูทองใสเป็น มือพิณ ที่มีความสามารถทางด้านการดีดพิณ การสอนพิณ และการทำพิณ และเป็น ครูภูมิปัญญาไทย - ดนตรีพื้นบ้านพิณอีสาน ในวันนี้ คือ
เมื่อ อายุ 21 ปี เข้าวัยเกณฑ์ทหาร ครูทองใส ใช้ชีวิตทหารรับใช้ชาติที่ กองพันทหารปืนใหญ่ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 6 อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ช่วงเวลานี้เองที่ทำให้ครูทองใสได้พบจุดเปลี่ยน ที่ทำให้ประสบความสำเร็จเป็นมือพิณในปัจจุบัน คือ การประยุกต์ฝีมือลายพิณพื้นบ้านอีสานตามที่ครูทองใสถนัด พัฒนามาเป็นการดีดพิณแบบประยุกต์ตามแบบดนตรีสากล เพราะมีโอกาสได้เล่นร่วมกับ วงดนตรีสากล ของกองพันทหารปืนใหญ่เป็นประจำ ทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะเล่นลายพิณโบราณต่างๆ ให้เข้ากับดนตรีของเพลงลูกทุ่ง เพลงสากล ซึ่งครูทองใสก็สามารถที่จะ "ปรับวิธีการดีดพิณ" ให้เข้ากับแนวดนตรีสากลได้อย่างกลมกลืน
ครูทองใสเล่าช่วงชีวิตทหารเกณฑ์ให้ฟังตอนหนึ่งว่า "เนื่องจากเป็นคนที่มีความสามารถในการเล่นพิณ จึงมีโอกาสได้เล่นเป็นประจำอยู่กับวงดนตรีของทหาร เวลาเล่นแล้วนายทหารส่วนมากที่มาจากกรุงเทพฯ ชอบเสียงพิณอีสานมาก อยากให้เล่นพิณให้ฟังอีกหลายครั้ง ชีวิตทหารของครูทองใสจึงค่อนข้างสบาย เพราะส่วนมากจะได้เล่นพิณ จนทำให้มีเวลาฝึกฝนฝีมือพิณเพิ่มเติมจนชำนาญมากขึ้นมาอีก"
จากจุดนี้เองที่ทำให้ ลายพิณ ของครูทองใส เริ่มที่จะออกมาเป็น เอกลักษณ์ของตนเอง คือ การนำเอาความชำนาญจากลายพิณโบราณ มาผสมผสานกับจังหวะ ทำนองของดนตรีสากล จนเกิดเป็นลายพิณประยุกต์กึ่งพื้นบ้านโบราณอีสาน กึ่งดนตรีสากล ที่เป็นผลทำให้เกิดเป็น องค์ความรู้ใหม่ ที่ครูทองใสได้พัฒนาขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว แต่ได้ซึมซับไว้ในสมองและจิตใจของครูทองใสจากช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา
เมื่อ ปี พ.ศ. 2513 พ้นจากราชการทหาร กลับมาอยู่ที่บ้าน ใช้ชีวิตเช่นเดิม คือทำไร่ ทำนา และเล่นพิณประกอบวงหมอลำตามแต่จะถูกเชิญชวน ได้ฟังประกาศรับสมัครนักดนตรีพิณอีสาน เพื่อร่วมเล่นดนตรีกับ ครูนพดล ดวงพร ซึ่งแยกตัวออกมาจาก วงดนตรีจุฬารัตน์ ครูทองใสเกิดความสนใจจึงไปสมัครพร้อมพิณคู่กาย มีหัวพิณเป็นไม้แกะสลักรูปพญานาค จึงมีฉายาในช่วงนั้นว่า "ทองใส หัวนาค" (เพราะครูนพดล ดวงพร ไม่เชื่อว่า "ทับถนน" คือนามสกุลจริงๆ จึงเอาลักษณะของหัวพิณรูปพญานาคมาเป็นนามสกุลแทน)
มีนักดนตรีมือพิณ มาสมัครมากมาย ด้วยยุคนั้นสื่อทางวิทยุเป็นที่นิยม และรายการวิทยุที่ ครูนพดล ดวงพร จัดเป็นรายการที่ชาวบ้านชื่นชอบรับฟังกันมาก จากมือพิณประมาณ 100 คน ทองใส ทับถนน ได้รับการคัดเลือกเพียงคนเดียว จึงได้รับการคัดเลือกเป็นมือพิณคู่กาย ประจำวงดนตรีอาจารย์นพดล ดวงพร จากนั้นเป็นต้นมา
ช่วง ปี พ.ศ. 2514 อาจารย์นพดล ดวงพร จัดตั้งวงดนตรีพิณประยุกต์มีชื่อเสียงมากในช่วงนั้น และเพลงพิณของ ทองใส ทับถนน ที่บรรเลงนั้น สถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 5 ขอนแก่น ได้ใช้เปิดเป็นเสียงประกอบในรายการต่างๆ และวงพิณประยุกต์ก็ได้แสดงออกอากาศ ทุกวันเสาร์ เพลงลูกทุ่งอีสานประยุกต์ ที่มีชื่อเสียงก็ได้กำเนิดในยุคนั้น และในปีเดียวกันนั้นเอง อาจารย์นพดล ดวงพร ได้รับเชิญให้นำวงดนตรีพิณประยุกต์ไปแสดงถวาย ณ ที่ประทับเขื่อนน้ำพอง ขอนแก่น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
อาจารย์นพดล ดวงพร ร่วมกับ ทองใส ทับถนน ได้ถวายพิณแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านตรัสว่า "เพชร นี้เป็นเพชรน้ำเอก.." ของเครื่องดนตรีอีสาน ในครานั้นสร้างความปลื้มปิติ แก่อาจารย์นพดล ดวงพร และคณะเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้อาจารย์นพดล ดวงพร ได้เปลี่ยนชื่อวงดนตรีเพลงลูกทุ่งอีสาน "พิณประยุกต์" ใหม่เป็นวง "เพชรพิณทอง" ที่ถือว่าเป็นมงคลนาม อันเกิดจากการถวายพิณในครั้งนั้น
วงเพชรพิณทอง เป็นวงดนตรีของชาวอีสานวงแรกที่ได้ไปแสดงที่ต่างๆ เทียบเท่าวงดนตรีชั้นนำของประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2515 - 2540 สามารถทำรายได้ไม่น้อยกว่าวงดนตรีลูกทุ่งชื่อดังต่างๆ อย่างวงดนตรียอดรัก สลักใจ วงดนตรีสายันต์ สัญญา หรือวงดนตรีพุ่มพวง ดวงจันทร์ และมือพิณประจำเพชรพิณทอง ก็คือ ทองใส ทับถนน
เมื่อเริ่มต้นชีวิตนักดนตรีใหม่ๆ ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ภายหลังจึงได้บ้างเป็นครั้งคราว ประมาณ 300 - 600 บาทในการเล่นตามงานต่างๆ การเล่นพิณบนเวทีประกอบวงดนตรี "พิณประยุกต์" ในช่วงแรกที่ใช้ พิณโปร่ง (พิณอีสานเดิมเป็นพิณโปร่งเวลาเล่นบนเวทีต้องใช้ไมโครโฟนจ่อที่ตัวพิณ) เสียงพิณที่ออกมาแม้จะมีเสน่ห์ เป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟัง แต่ความดังของเสียงพิณยังไม่เพียงพอ ไม่สามารถทำให้คนฟังสนุกสนานกับเสียงพิณได้ อาจารย์นพดล ดวงพร ในฐานะของหัวหน้าวง จึงได้คิดที่ทำให้เสียงพิณมีความดังเพิ่มขึ้น จึงทดลองนำเอา คอนแทรค ของกีตาร์ไฟฟ้ามาดัดแปลงใส่กับพิณ และมอบหมายภาระหน้าที่สำคัญให้กับมือพิณประจำวง คือ ทองใส ทำให้เสียงพิณดังขึ้นให้เหมือนกับกีตาร์ไฟฟ้า
ครูทองใสใช้ความพยายามทดลองการปรับตัวพิณโปร่งที่เป็นไม้ มาใส่กับระบบไฟฟ้าอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งสามารถที่จะพัฒนาฝีมือการดีดพิณโปร่งมาเป็นพิณไฟฟ้าได้ ตามความต้องการและเป็นที่พอใจของ อาจารย์นพดล ดวงพร และได้ใช้พิณไฟฟ้าบรรเลงเป็นเอกลักษณ์ จุดนี้เอง ที่ทำให้ อาจารย์นพดล ดวงพร ได้ชื่อว่าเป็นผู้คิดประดิษฐ์พิณไฟฟ้าตัวแรกของโลก ที่ต่อมามีผู้ทำตามจนแพร่หลายจนกลายเป็นพิณไฟฟ้าในปัจจุบัน ส่วนของครูทองใสเอง การปรับเปลี่ยนจาก การดีดพิณไม้โปร่ง มาเป็น การดีดพิณไฟฟ้า ในครั้งนี้ทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของครูทองใส คือ การปรับวิธีการดีดพิณไฟฟ้าที่เสียงดังมากกว่าพิณโปร่ง ให้ออกมาน่าฟัง ซึ่งมีปัญหาบ้างในระยะแรก แต่ต่อมาสามารถที่จะแก้ไข ทดลอง เรียนรู้และประยุกต์จนสามารถที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงได้
จากการเรียนรู้จากครูพิณ หลายคน ความพยายามในการฝึกฝน ปฏิบัติจริงด้วยตนเอง และการปรับเปลี่ยนจากจุดพัฒนา คือ การประยุกต์ลายพิณโบราณกับแนวดนตรีสากล เมื่อครั้งเป็นทหาร มาถึงโอกาสที่ได้รับ คือ การปรับวิธีการเล่นพิณโปร่งมาเป็นพิณไฟฟ้า และเล่นร่วมกับวงดนตรีเพชรพิณทอง ของ อ.นพดล ดวงพร ทำให้ ครูทองใส ทับถนน สามารถก้าวผ่านจาก มือพิณธรรมดา มาเป็น มือพิณชั้นครู ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
กว่าจะมาเป็น ครูทองใส ทับถนน วันนี้ได้ต้องใช้เวลากว่า 50 ปี ของชีวิตในการเรียนรู้ สั่งสมองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียน จากลูกชาวนาที่มีเลือดศิลปินติดตัวมาแต่กำเนิด เติบโตท่ามกลางกลิ่นไอของธรรมชาติและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนอีสาน สภาพแวดล้อมของศิลปินพื้นบ้าน จนก้าวผ่านเข้าสู่วงการศิลปินนักดนตรีมืออาชีพและร่วมเดินทางบนถนนสายดนตรี กับวงดนตรีลูกทุ่งอีสานชื่อดัง เพชรพิณทอง ในฐานะของมือพิณ
รายการ ปราชญ์เดินดิน : ทองใส ทับถนน
ตลอดเวลาครูทองใส ได้พยายามสร้างสรรค์และพัฒนาฝีมือ ผลงานการดีดพิณของตนเองมาโดยตลอด จนได้รับการยอมรับในวงการนักดนตรีมืออาชีพ และได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม ดนตรีพื้นบ้าน-พิณอีสาน อันเป็นเกียรติประวัติสูงสุดที่ครูทองใส ได้รับอีกครั้งหนึ่งในชีวิต
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการเรียนรู้ใน ระบบโรงเรียน จะสิ้นสุดที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่การเรียนรู้ในชีวิตจริงของครูทองใส ดำเนินพัฒนาองค์ความรู้ด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากการปฏิบัติจริงมาตลอดชีวิต จนกลายเป็นองค์ความรู้ที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงความชำนาญความเชี่ยวชาญใน ด้านการดีดพิณได้รับการยอมรับจากบุคคล สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการต่างๆ เห็นได้จากการมีผู้คนมาฝากตัวเป็น ลูกศิษย์ ร่วมเรียนรู้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่อง พิณ กับครูทองใสมากมาย และการได้รับเชิญไปร่วมแสดงในงานสำคัญๆ ทางด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
กว่าระยะเวลากว่า 30 ปี บน "ถนนสายดนตรี" กับอาชีพ "ศิลปิน" มือพิณประจำวงเพชรพิณทอง ครูทองใส ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศกับวิชาชีพนักดนตรี ดังนี้
นอกจาก รางวัลเกียรติยศ ที่ครูทองใสได้รับแล้ว ที่สำคัญเหนืออื่นใดที่ครูทองใสภูมิใจที่สุด คือ การยอมรับจากประชาชนที่ชมการแสดงของวงดนตรีเพชรพิณทอง และให้การยอมรับว่า ทองใส ทับถนน คือ คนดีดพิณสองสายลายพื้นบ้าน และลายประยุกต์ที่ไพเราะที่สุดของภาคอีสานและประเทศไทย
กว่าที่จะก้าวมาสู่ความสำเร็จบนถนนสายนักดนตรีอาชีพได้ในวันนี้ ครูทองใสบอกว่า มีหลักในการดำเนินชีวิตอย่างง่ายๆ แบบพิณสามสาย คือ ใช้ ทางสายกลาง อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ และครูทองใสก็ใช้หลักข้อนี้ดำเนินชีวิตมาโดยตลอด นอกจากนั้น คุณธรรมประจำใจ ที่ครูทองใส ยึดมั่นในการเป็นนักดนตรีอาชีพมาตลอดกว่า 50 ปีที่ทุกคนรู้จัก ครูทองใส จะเห็นชัดเจนในคุณธรรม 4 ประการ คือ
ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร : ตำนานเสียงพิณ
นอกจากนี้ ครูทองใส ทับถนน ยังได้ฝากข้อคิดในการทำงาน เป็นสิ่งเตือนใจส่งไปยังศิลปินพื้นบ้านรุ่นหลัง ดังนี้
เช้าตรู่ของวันที่ 20 มีนาคม 2567 ได้รับข่าวเศร้าจาก ทองเบส ทับถนน ว่า พ่อทองใส ทับถนน ครูภูมิปัญญาไทย/ศิลปินมรดกอีสาน ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของลูกหลาน และลูกศิษย์ลูกหาด้านการดีดพิณ ที่ได้ร่ำเรียนกับครูผู้อุตสาหะสั่งสอนตลอดมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี
ปิดตำนาน พิณไฟฟ้าดวงแรกของประเทศไทย พ่อครูทองใส ทับถนน ที่สรรสร้างเสียงดนตรีพิณอีสานให้เป็นที่รู้จักจดจำ คงอยู่จนบัดนี้
ทอง ประกายเจิดจ้า จรัสอีสานเฮย
ใส เสนาะดีดพิณดี เด่นล้ำ
ทับ พิณอื่นหมองศรี หมดสว่าง สิ้นนอ
ถนน แห่งดนตรีย้ำ ยอดชั้นครูพิณ
ลูกศิษย์ลูกหาทุกคน จะสืบสานเสียงพิณ อย่างที่พ่อตั้งใจไว้ จะไม่มีวันเลือนหาย ไปจากแผ่นดินอีสาน ขอให้พ่อไปดีดพิณอยู่บนสวรรค์ให้เทวดาฟังเสียงพิณก้องกังวานอยู่บนบนสวรรค์ มีแต่ความม่วนโฮแซว
ลำเพลินโบราณ แบบอีสานบ้านเฮา
กำหนดสวดอภิธรรม พ่อทองใส ทับถนน ที่ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย (บ้านหนองกินเพล) วันที่ 20-24 มีนาคม 2567 เวลา 18.00 น. ทุกวัน กำหนดประชุมเพลิง วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 ณ วัดบ้านหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
"นพดลเป็นนักรบผู้กล้าแกร่ง และยืนหยัดต่อสู้ยาวนาน วงดนตรีเพชรพิณทองเป็นวงดนตรีวงเดียวที่มีอายุมากที่สุด สามารถยืนระยะและเก็บรับความนิยมจากแฟนๆ ได้ยาวนาน"
นพดล ดวงพร เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ชื่อจริงคือ นายณรงค์ พงษ์ภาพ เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บิดาเป็นหมอลำกลอน มารดาเป็นนักร้องเพลงโคราช
ที่อยู่ปัจจุบัน 162-164 บ้านเพชรพิณทอง ถนนนิคมสายกลาง (ท่าวังหิน) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 โทรศัพท์ 081-9667552
เพชรพิณทอง 20 ธันวาคม 2514
นพดล ดวงพร เคยอยู่กับวงดนตรี คณะพิพัฒน์ บริบูรณ์ (ซึ่งมี ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เจ้าของเพลง ผู้ใหญ่ลี เป็นแม่เหล็กสำคัญ) นานหลายปี ต่อมาได้เป็นลูกศิษย์และเข้าร่วม วงดนตรีจุฬารัตน์ ของ ครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อ นพดล ดวงพร ให้ ต่อมาได้ลาออกจากวงกลับมาอุบลราชธานีบ้านเกิด เป็นนักจัดรายการวิทยุ AM โดยมีการเชิญคณะหมอลำ วงดนตรีมาแสดงสดหน้าสถานีวิทยุ จนเป็นที่นิยมของผู้ฟังผู้ชมในยุคนั้น แต่ก็ประสบปัญหามาโดยตลอด เพราะวงดนตรี/หมอลำเหล่านั้นมาไม่ตรงเวลาในการออกอากาศ จึงได้ก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมาเองเพื่อใช้ในการออกอากาศวิทยุเสียเอง เป็นวงดนตรีที่รวมเอาเครื่องดนตรีอีสานคือ พิณ แคน เป็นหลัก โดยได้มือพิณคู่ใจคือ ทองใส ทับถนน ที่เพิ่งจะพ้นการเกณฑ์ทหารมาร่วมงาน ใช้ชื่อวงว่า วงดนตรีพิณประยุกต์ จังหวัดอุบลราชธานี และได้กลายมาเป็นวงดนตรี เพชรพิณทอง ที่โด่งดังในภาคอีสาน ในปี พ.ศ. 2514 ช่วงหลังได้ผันตัวไปเป็นนักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง
เมื่อออกจากคณะจุฬารัตน์แล้ว มุ่งหน้ากลับบ้านเกิดเมืองนอน อุบลราชธานี ใจอยากกลับไปอยู่บ้าน เพื่อไปตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง อยากเสนอแนวความคิด เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี อยากเสนอของดีอีสานให้เป็นที่ประจักษ์บ้าง ของแบบนี้ถ้าไม่ทำเองคงไม่มีใครทำให้ กลับไปบ้านเกิดแล้วเลยก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมาทันที ตั้งชื่อวงว่า วงดนตรีพิณประยุกต์ ลักษณะวงดนตรีเป็นแนวอีสานแท้ๆ นำเสนอดนตรีพื้นบ้าน พื้นเมืองอีสานอย่างเต็มรูปแบบ เรียกว่า วงพิณแคน
สารคดี ก(ล)างเมือง : เพชรพิณทอง
แล้วสิ่งที่ถือเป็นความภูมิใจมากที่สุดในชีวิตคือ ได้นำพาชาวคณะไปแสดงออกรายการสดที่ สถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 5 (ขาว-ดำ) จังหวัดขอนแก่น (ในขณะนั้น) แสดงได้ดีเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชม จนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเลือกให้เป็นวงพิเศษ ได้ไปแสดงหน้าพระที่นั่งต่อหน้าพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) - สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2514 วงดนตรีพิณแคนวงแรกของเมืองไทย ที่ได้รับเกียรติสูงส่งอย่างนี้แสดงหน้าพระที่นั่ง ที่ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
นพดล ดวงพร ร่วมกับ ทองใส ทับถนน (มือพิณคู่ใจ) ได้ถวายพิณแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านตรัสว่า "เพชร นี้เป็นเพชรน้ำเอก.." ของเครื่องดนตรีอีสาน ในครานั้นสร้างความปลื้มปิติแก่ นพดล ดวงพร และชาวคณะเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้นพดล ดวงพร ได้เปลี่ยนชื่อวงดนตรีเพลงลูกทุ่งอีสานจาก "วงดนตรีพิณประยุกต์" ใหม่เป็น "วงดนตรีเพชรพิณทอง" ที่ถือว่าเป็นมงคลนาม อันเกิดจากการถวายพิณในครั้งนั้น
ด้วยความมุมานะอุตสาหะเป็นที่ตั้ง ผู้ชายคนนี้ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา จากกรรมกรหาเช้ากินค่ำกรำอยู่กับความยากจนข้นแค้น เขาผ่านความยากจนเหล่านั้นมาได้ อย่างสง่าผ่าเผยจนกลายเป็นหัวหน้าวงดนตรีชื่อดัง ที่เป็นตำนานของพี่น้องชาวอีสาน เขาไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ เขาสร้างสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ ตลอดเวลา จากคนเสียงไม่ดีที่คนรังเกียจ เขาอัดแผ่นเสียงจนเพลง ค้นหาคนดัง ดังสนั่นหวั่นไหวเขาอัดเสียงกลอนหมอลำ ชุดหมอลำบันลือโลก ก็ดังแบบสุดๆ
จุดเด่นของวงเพชรพิณทองอยู่ที่ ทีมพิธีกร ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานเป็นหลักในการนำเสนอเนื้อหา รีวิวประกอบเพลง เป็นทีมตลกที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ประกอบด้วย นพดล ดวงพร, ลุงแนบ, หนิงหน่อง, จ่อย จุกจิก, ใหญ่ หน้ายาน, และอาว์แท็กซี่ เป็นต้น การแสดงของเพชรพิณทอง เต็มไปด้วยศิลปะ ที่ละเอียดอ่อน ซื่งประกอบด้วย 1) เวทีการแสดง ง่ายๆ แต่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง 2) นักดนตรี และ หางเครื่อง ก็มีเอกลักษณ์ของเพชรพิณทอง 3) ลีลาตัวแสดงทุกตัว มีเอกลักษณ์ของตนเอง ทุกคน 4) การประสมประสานกัน หรือ จังหวะในการแสดง เก็บรายละเอียดได้ดี ดนตรีสอดประสานได้ไพเราะ โดยเฉพาะเสียงพิณ เสียงแคน เสียงแซ็กโซโฟน กลอง ฯลฯ
เพชรพิณทอง และ นพดล ดวงพร คือนักรบทางวัฒนธรรมของภาคอีสาน ที่เกิดขึ้นจากมันสมองและการสั่งสมประสบการณ์ของนพดล ดวงพร เป็นการมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวด้วยตัวของตัวเอง เป็นความแน่วแน่ในอันจะจรรโลงและอนุรักษ์สิ่งดีงาม พร้อมๆ กับการผสมผสานของใหม่เข้าด้วยกัน
“แม่นแล้ว” “เบิ่งกันแหน่เด้ออาว” “น้อยทิง” “นางเอย” “เด้อนางเดอ เด๊อเด๊อนางเดอ ตึ้งๆ” อีกหลากหลายคำ อีกเป็นร้อยเป็นพันคำและวลีที่ติดหู ติดปากผู้คน ที่เพชรพิณทองไปหยิบจับจากท้องถิ่นที่อีสานเป็นและอยู่ มาใช้ทำการแสดง ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของคำและวลีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือการละเล่นแสดงในภาคอีสานกลับมาอยู่ในความนิยม ทำให้เห็นความลึกซึ้งและมิติลุ่มลึกของภาษา และนี่คืออานุภาพของภาษา อานุภาพของวัฒนธรรม ความสำคัญอยู่ที่เกาะเกี่ยวเหนี่ยวพันคนเข้าด้วยกันด้วยภาษา เป็นทั้งเครื่องผูกพันและเป็นรหัสให้ผู้คนได้ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กัน
อาวุธสำคัญ ของวงดนตรีและของบุคคลผู้นี้คือ การใช้ภาษาอีสาน ขณะที่สังคมอีสานกำลังเกิดความสับสนในอัตลักษณ์ของตัวเอง ท่ามกลางการดูถูกชาติพันธุ์ของสังคมไทย ที่มีต่อคนลาว ต่อชาวอีสาน ซึ่งปรากฏการณ์อย่างนี้ได้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมบนแผ่นดินอีสานตามมา คือ ได้เพาะเชื้อความรังเกียจกำพืดของตัวเอง ดูถูกตัวเอง เกลียดความเป็นลาวในสายเลือดตัว และพยายามหนีสุดชีวิตเพื่อให้พ้นไปจากความเป็นลาว เป็นคนอีสาน ด้วยการสร้างปมเขื่องให้กับตนเองด้วยการ “ไม่พูดสำเนียงภาษาอีสาน หรือภาษาลาว”
เพชรพิณทอง และ นพดล ดวงพร ก็โผล่ออกจากเงามืด และออกมายืนท้าทาย ต่อสู้ฟาดฟัน และที่สุด นพดลและเพชรพิณทองก็ประสบชัยชนะ นำพาผู้คนในภาคอีสาน และคนเชื้อสายลาวในจังหวัดอื่นๆ แม้กระทั่งคนลาวในต่างแดน และคนลาวในประเทศ สปป.ลาว เอง ก็ยังได้รับอานิสงส์และเก็บรับความภาคภูมิใจพร้อมกัน
คงไม่เกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า คนที่ใช้ภาษาลาวหากได้ฟังเพชรพิณทองเป็นต้องยิ้ม หัวเราะ ขบขัน และหลังจากนั้นก็จะเกิดความรักในภาษา รักในสิ่งที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างไว้ หลายคนบอกกับตัวเอง ถ้าไม่รู้ภาษาลาว ถ้าไม่เป็นคนลาว คงขาดทุนแย่ เพราะความงามในคำ ในนัยที่แฝงในลีลา และคำพูดมันวิจิตรและงดงามยิ่งนัก แล้วทุกคนก็มอบความรักให้กับเพชรพิณทองอย่างเต็มหัวใจ
เขาและชาวคณะได้ใช้ภาษาของพ่อแม่อย่างมีประสิทธิภาพ แง่มุมและมุกตลกของเพชรพิณทอง มาจากความงดงามของภาษาอีสาน ภาษาลาว มาจากวิถีชีวิตของชาวอีสาน มาจากคำหยอกล้อ มีจากภาษิต ผญา โตงโต่ย และภาษาถ้อยคำของคนสมัยใหม่ รวมทั้งได้สะท้อนวิถีความเป็นไปในภาคอีสาน ที่สำคัญไปกว่านั้น เพชรพิณทองได้สอดแทรกศิลปะ วัฒนธรรมของอีสานอย่างหลากหลาย และถ่ายทอดอย่างมีศิลปะ ทำให้ศิลปะและคุณค่าที่ดีเลิศอยู่แล้ว กลับผุดผาดส่องใสยิ่งขึ้น เมื่อมีการประยุกต์และนำมานำเสนอและจัดแสดงได้อย่างลงตัว
เพชรพิณทอง และ นพดล ดวงพร ได้ก่อกระแสความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นในใจคนอีสาน ทำให้คนอีสานได้ประจักษ์ว่า ภาษาอีสานหรือภาษาลาวนั้น มีความงาม มีมิติล้ำลึก การเสียเวลากว่า 3 ชั่วโมงในการนั่งชมการแสดง เป็นความคุ้มค่าอย่างที่สุด เสียงปล่อยหัวเราะ เสียงโห่ฮา เพื่อบำบัดระบายอารมณ์ความสนุกจุกแน่น ที่เพชรพิณทองก่อให้เกิดมีขึ้นตลอดเวลาในการแสดง เมื่อการแสดงจบลง ทุกคนเดินออกจากวงผ้าล้อมวิก หรือโรงภาพยนตร์ ทุกใบหน้ายังคงประด้วยรอยยิ้มและไมตรี หันมองคนรอบข้าง และยิ้มให้กันอย่างมีความสุข มีหวัง แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ที่สามารถยิ้มหัวให้กันได้ก็เพราะทุกคนก็รู้ว่า คนที่เข้าชมเพชรพิณทอง คือ คนอีสาน คนบ้านเดียวกัน เป็นคนที่ฟังภาษาเพชรพิณทองแล้ว ขบขันจนตัวโก่งเหมือนกัน
ในยุคที่โด่งดังของเพชรพิณทองนั้น การปิดวิกล้อมผ้าเก็บค่าเข้าชมคนละ 50 บาท สามารถทำรายได้มากกว่าวงดนตรีสตริงวัยรุ่นที่โด่งดังยุคนั้น หรือแม้แต่กับวงดนตรีลูกทุ่งชื่อดัง สายัณห์ สัญญา มาประชันการแสดงในวัดเดียวกัน ก็มีรายได้น้อยกว่าเพชรพิณทองมาแล้ว วงดนตรีเพชรพิณทอง ไม่ได้ดังแค่ในภาคอีสานเท่านั้น ภาคใต้ก็ไปเปิดวิกล้อมผ้าโกยเงินมาแล้ว ยิ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง โรงภาพยนตร์ที่ไปเช่าที่แสดงโรงแทบแตกกันมาแล้วทั้งนั้น
จากคนที่แทบไม่มีอะไรเลย เขามีหมดทุกอย่างทั้งบ้าน ที่ดิน รถเก๋ง รถบัส รถเวที รถขนสัมภาระ อะไรที่อยากมีก็มีหมดทุกอย่าง ด้วยความสามารถทางการแสดง เป็นอย่างเดียวที่เชี่ยวชาญจนคนยอมรับ ก้าวจากเด็กถีบสามล้อ ไปถึงคนส่งหนังสือพิมพ์ จนกลายเป็น โฆษกวิทยุ เป็นนักร้อง เป็นหมอลำ เป็นได้กระทั่งดารานักแสดงหนัง ละคร มีรางวัลเกียรติยศ ประดับเกียรติความสามารถอีกต่างหาก
จากภาพยนตร์เรื่อง วิวาห์พาฝัน ถึงเรื่องที่ดังที่สุดคือ ครูบ้านนอก (2521) - รับบทเป็น ครูใหญ่คำเม้า แก้วใส แห่งโรงเรียนบ้านหนองหมาว้อ และอีกหลายๆ เรื่อง จนเมื่อไม่นานมานี้ยังได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง สิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด และผลงานละครโทรทัศน์ โคกคูนตระกูลไข่ เพลงรักริมฝั่งโขง (2550) เรไรลูกสาวป่า (2551) ดังแค่ไหนคงไม่ต้องเอ่ยกันแล้ว
ปั้นลูกศิษย์ลูกหานักร้องให้ดังมาแล้วทั่วบ้านทั่วเมือง อาทิ นกน้อย อุไรพร, วิเศษ เวณิกา, ชุติมา ดวงพร, นพรัตน์ ดวงพร อีกทั้งยังปั้นนักแสดงตลกที่ยิ่งใหญ่มาเยอะ อาทิ สุนทร คางแพะ, ลุงแนบ (ณรงค์ โกษาผล), หนิงหน่อง, แท็กซี่, จ่อย จุกจิก, ใหญ่ หน้ายาน ฯลฯ จะไม่มีใครลืมเขาได้-ผู้ชายคนเก่งนักเพลงเมืองอุบล นพดล ดวงพร
ณรงค์ พงษ์ภาพ (นพดล ดวงพร) - ประวัติ และผลงาน
นพดลยังได้เป็นผู้อำนวยการผลิตและสร้างสรรค์งาน นำเอาประวัติศสาตร์เมืองอุบล และเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของเมืองอุบล มาบอกเล่าผ่านบทเพลง ในวาระที่เมืองอุบล ครบรอบ 200 ปี ใน พ.ศ. 2535 เพื่อเฉลิมฉลองฉลอง 200 ปีอุบลราชธานี โดยมีผู้ประพันธ์เพลง คือ ชลธี ธารทอง, พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา, ณรงค์ โกษาผล, สยาม รักษ์ถิ่นไทย, ธนรรษต์ ผลพันธ์, ประพนธ์ สุริยะศักดิ์, เฉลิมพร เพชรศยาม, นคร พงษ์ภาพ
นพดล ดวงพร - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
นับเป็นการระดมนักแต่ง นักร้อง คนเมืองอุบล และที่มีชื่อเสียง มาสร้างสรรค์เพลงเมือง รวม 22 เพลง ซึ่งมีทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่ที่ตั้งขึ้น และบางเพลงได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ เช่น เพลงลูกแม่มูล ของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เป็นต้น
ตำนานพิณ แคน ซอ - นพดล ดวงพร ตอนที่ 1
ตำนานพิณ แคน ซอ - นพดล ดวงพร ตอนที่ 2
ตำนานพิณ แคน ซอ - นพดล ดวงพร ตอนที่ 3
ได้รับการแจ้งข่าวจาก คุณอรนุช โกศัลวัฒน์ บุตรสาวของ นายณรงค์ พงษ์ภาพ หรือ "นพดล ดวงพร" ผู้ก่อตั้งวงดนตรี "เพชรพิณทอง" ที่คนในวงการลูกทุ่งอีสานรู้จักกันทั่วไปว่า คุณพ่อได้จากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เวลา 20.19 น. ณ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ กรุงเทพมหานคร สิริอายุรวมอายุ 77 ปี
ทางญาติได้บำเพ็ญกุศลและมีกำหนดการพิธีพระราชทานเพลิงศพ กรณีพิเศษ คุณพ่อณรงค์ พงษ์ภาพ (นพพดล ดวงพร) ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2562 ณ เมรุวัดท่าวังหิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เหลือไว้เพียงตำนานอันยิ่งใหญ่ของ วงดนตรีมหาสนุก ลูกทุ่งอีสาน เพชรพิณทอง
มรดกเพชรพิณทอง : ความจริงไม่ตาย ThaiPBS
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2529
ศิลปินหมอลำ คือผู้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ด้วยทำนองเพลงที่เป็นเอกลักษณ์แห่งท้องถิ่นอีสาน ซึ่งหากจะกล่าวถึง ศิลปินหมอลำระดับปรมาจารย์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคอีสาน ถึงขั้นที่เรียกว่า "แตกลำ" อันเป็นคำที่ใช้ในวงการหมอลำ ซึ่งหมายถึงผู้มีความสามารถในการลำกลอน โดยไมว่าจะเป็นกลอน 7 กลอน 8 และกลอน 9 ก็สามารถลำได้สดๆ โดยไม่ติดขัด อีกทั้งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติที่เป็นหมอลำคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2529 ท่านผู้นั้นก็คือ หมอลำทองมาก จันทะลือ
นอกจากลำกลอนแล้ว ท่านยังมีความสามารถในการทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง ได้แก่ โหวด อีกทั้งยังมีความสามารถใน การเป่าแคน เป่าใบไม้ และด้วยความแตกฉานในกลอนลำ ท่านจึงเป็นหมอลำที่เก่งหาตัวจับยาก โดยมีเอกลักษณ์สำคัญคือ การสร้างความสนุกสนาน จากท่าทางลีลา ยกคิ้วหลิ่วตา ทำให้เป็นที่ถูกอกถูกใจคนดู จนได้รับการยกยองเป็นหมอลำชั้นหนึ่งในภาคอีสาน และได้สร้างลูกศิษย์ไว้สืบสานหมอลำอีกด้วย
อีกชื่อหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นใช้เรียก หมอลำทองมาก จันทะลือ คือชื่อ "หมอลำถูทา" เนื่องจากท่านได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุ และเป็นโฆษกผู้โฆษณายาให้กับ บริษัท โอสถสภาเต็กเฮงหยู โดยท่านได้นำเอาศิลปะหมอลำเข้าไปประยุกต์ใช้ในการโฆษณา ส่งผลให้ยอดขายของทางบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โฆษณาทางวิทยุชิ้นหนึ่งอันเป็นผลงานของท่าน ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และติดหูของชาวอีสานในยุคนั้น ได้แก่ โฆษณายาหม่องถ้วยทอง ที่มีถ้อยคำติดหูผู้ฟังทั่วไปว่า "ถูทา ถูทา" ทำให้ชาวบ้านพากันเรียก หมอลำทองมาก ว่า "พ่อถูทา" นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
หมอลำทองมาก จันทะลือ เริ่มเข้าสู่วงการหมอลำเมื่ออายุ 14 ปี โดยบิดาได้พาไปสมัครเรียนหมอลำ กับพระรูปหนึ่งนามว่า พระอาจารย์อ่อน ที่วัดประดู่น้อย โดยได้เรียนรู้ทั้งด้านกลอนลำ และพระธรรมคำสอนทาง พระพุทธศาสนาอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่หมอลำจะต้องเรียนรู้อย่างละเอียด ท่านได้ร่ำเรียนอยู่กับพระอาจารย์อ่อน อยู่เป็นเวลา 2 ปี จึงได้ลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมกับครูหมอลำอื่นๆ อีกหลายท่าน อาทิ หมอลำคำอ้าย อาจารย์คำผาย โยมา ที่สอนให้รู้จัก การวาดลำ (คือจังหวะในการรำและฟ้อน) และแตกฉานในกลอนลำ นอกจากนั้นยังมี สิบตรีภิรมย์ อาจารย์กึม อาจารย์เคน อามาตย์บัณฑิต อาจารย์หลวย และอาจารย์บุญคา เป็นต้น ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านล้วนมีความชำนาญในด้านต่างๆ เกี่ยวกับหมอลำที่แตกต่างกันไป ทำให้หมอลำทองมาก ได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์ของหมอลำอย่างกว้างขวางจนแตกฉาน
ท่านเริ่มแสดงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2491 และแสดงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนมีชื่อเสียงโด่งดัง จนได้รับการยกย่องว่า เป็นหมอลำชั้นหนึ่ง หาผู้มาประชันได้ยาก โดยท่านยึดถือคุณสมบัติหมอลำที่ดีควรมีหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) มีความรู้ฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม 2) เสียงดังมีเสน่ห์ รูปร่างหนาตาดี และ 3) มีลีลาบทบาท มารยาทอ่อนโยน
ในด้านสังคม ท่านเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ ส.ส. อุบลราชธานี 1 สมัย ต่อมาได้ตั้ง สมาคมหมอลำถูทาบริการ และรับงานแสดง ตลอดจนช่วยเหลืองานราชการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในงานรณรงค์ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยการนำเอาศิลปะพื้นบ้านมารับใช้สังคม
หมอลำทองมาก จันทะลือ ได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายครั้ง อันไดแก่
แม้ว่า นายทองมาก จันทะลือ จะไม่ได้เป็นคนอุบลฯ โดยกำเนิด (ชาติกำเนิด จังหวัดขอนแก่น) แต่ก็มาสร้างครอบครัว และทำงานที่จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงหลังๆ เป็นทั้งนักจัดรายการวิทยุ ตั้งสำนักงานหมอลำถูทาบริการ (กกตาลคู่) ใกล้กับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ซึ่งต่อมาได้ให้บริการที่พักสำหรับญาติผู้ป่วยได้เข้าพักนอนฟรี เมื่อมาเยี่ยมญาติที่โรงพยาบาล ย้ายสำนักงานไปฝั่งอำเภอวารินชำราบ (บริเวณข้างๆ กับอุบลวัสดุ (ดูโฮม)) และโยกย้ายไปอยู่บ้านสวนเลขที่ 156 หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จนสิ้นอายุขัย
หมอลำทองมาก จันทะลือ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554 ด้วยโรคชรา ขณะอายุ 87 ปี (ตามอายุจริงที่เกิดในปี พ.ศ. 2467 แต่แจ้งเกิดตามบัตรประชาชน วันที่ 6กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 ซึ่งหากนับตามบัตรประชาชน ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุ 82 ปี) และสุดท้ายแห่งชีวิต หมอลำถูทายังได้บริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกด้วย
สยามศิลปิน - ทองมาก จันทะลือ หมอลำถูทา
บรรณวัชร จากคอลัมน์ คมเคียวคมปากกา - จบตำนาน "หมอลำถูทา" (หนังสือพิมพ์คมชัดลึก) ไดกล่าวถึง หมอลำทองมาก จันทะลือ ว่า "สาหรับผมแล้ว "หมอลำถูทา" คือศิลปินของชาวบ้าน ผู้สร้างตำนาน การเมืองของคนรากหญ้าไว้อย่างน่าศึกษายิ่ง"
ผู้ใช้นามแฝง เลขายูฯ จากเว็ปไซต์ http://www.carabao2524.com กล่าวถึงหมอลำทองมาก จันทะลือ ว่า "การแสดงหมอลำของท่านแต่ละครั้งได้พยายามสอดแทรกวิชาเกษตรกรรม และรณรงค์การรู้หนังสือ สนับสนุนนโยบายของรัฐไปด้วย จนได้รับรางวัลดีเด่น การผลิตผลงานเพื่อเยาวชนประเภทสื่อชาวบ้าน ท่านได้อุทิศตนเพื่องานสังคมมาโดยตลอด เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายเกี่ยวกับการถ่ายทอดวิชาการเล่นหมอลำ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสาน ให้แก่ลูกศิษย์มากกว่า 300 คณะทั่วภาคอีสาน"
พ่อใหญ่ถูทา ทองมาก จันทะลือ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2548
นายฉลาด ส่งเสริม เป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในด้านน้ำเสียงที่ก้องกังวาลแจ่มใส คำร้องมีการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ยากที่คนอื่นจะลอกเลียนแบบได้ โดยเฉพาะความสามารถแต่งกลอนลำทำนองเมืองอุบล จะนำเอาสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติตามท้องถิ่น เช่น ดิน ลม ฟ้า อากาศ ต้นไม้ มาแต่งเป็นกลอนลำ กลอนลำแต่ละกลอนจะมีคติสอนใจผู้ฟังอยู่เสมอ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง และสามารถร้องหมอลำได้หลายประเภท ทั้งลำยาว ลำเพลิน ลำเรื่อง ลำต่อกลอน ผลงานเด่น ได้แก่ นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ พระเวสสันดรชาดก องคุลีมาลสำนึกบาป พุทธประวัติตอนสิทธัตถะกุมารออกบวช นางนกกระจอกน้อย ผาแดงนางไอ่ ลูกเขยไทยสะใภ้ลาว เพลงรักบุญบั้งไฟ เป็นต้น
ได้รับรางวัลทองคำฝังเพชร ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง "นางนกกระยางขาว" จากกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นสุดยอดศิลปินอีสาน ในวาระ 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายฉลาด ส่งเสริม จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พุทธศักราช 2548
นายฉลาด ส่งเสริม (ป. ฉลาดน้อย) เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ที่บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายโก่น และนางจันทร์ ส่งเสริม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวน 7 คน นายฉลาด ส่งเสริม เป็นคนบุตรคนสุดท้อง ได้สมรสกับนางสมบูรณ์ ส่งเสริม มีบุตร 3 คน คือ นายอติชาติ ส่งเสริม นางสาววาสนา ส่งเสริม และนางสาวจารุวรรณ ส่งเสริม
พ.ศ. 2500 | จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนวิจิตรราษฎร์สามัคคี ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และบิดาได้นำไปฝากพระครูเจียม วัดบูรพาพิสัย บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อบวชเรียนพระธรรมวินัยบาลีไวยากร อักษรขอม และฝึกเทศน์เสียงตามบุญมหาชาติเกือบทุกหมู่บ้านในตำบลหนองบ่อ |
พ.ศ. 2502 | จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสมเด็จ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี |
พ.ศ. 2503 | บิดาได้นำไปฝากเจ้าอาวาสวัดบูรพาพิสัย เพื่อเข้าเรียนนักธรรมโท |
พ.ศ. 2504 | ศึกษานักธรรมชั้นเอก และในขณะเดียวกันยังเทศน์เสียงในงานบุญมหาชาติในอำเภอเมืองอุบลราชธานีด้วยน้ำเสียงไพเราะ |
พ.ศ. 2505 | ขณะที่เป็นสามเณร ได้ฝึกร้องหมอลำตามเสียงทางวิทยุ ว.ป.ก. 6 ในแนวเสียงของ หมอลำทองคำ เพ็งดี และหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน โดยเฉพาะลำล่อง "นิทานนางแตงอ่อน" |
พ.ศ. 2506 | ลาสิกขาบทจากสามเณร บิดาได้พาไปฝากเป็นศิษย์อาจารย์สุวรรณ ติ่งทอง ให้ฝึกลำกลอน (ลำทางสั้น) และลำคู่ ฝึกได้ 4 เดือน ไม่เกิดความชำนาญ เพราะต้องท่องกลอนยาวซึ่งยาวมากจึงหยุดพักระยะหนึ่ง แล้วหันไปร้องหมอลำหมู่ที่บ้านหนองบ่อ กับคณะ ก.สำราญศิลป์ โดยมีอาจารย์กิ่ง ทิมา เป็นผู้ฝึกสอน |
นายฉลาด ส่งเสริม เมื่อเยาว์วัยอยู่ในท้องถิ่นที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมของชาวชนบทควบคู่การละเล่นการแสดง ความบันเทิง ตามเทศกาลงานประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะการเล่นหนังตะลุง (หนังบักตื้อ) ลิเกลาว (หมอลำหมู่ หมอลำกลอน) ชอบที่จะจดจำมาแสดงท่าทางเลียนแบบการร้อง การเต้น หนังตะลุง หมอลำหมู่ หมอลำกลอน ประกอบกับบิดาเคยบวชเป็นนักเทศน์เสียงดีมาก่อน จึงฝังใจอยากมีเสียงที่กังวานไพเราะ และเป็นนักเทศน์เสียงดีเจริญรอยตามบิดาผู้ให้กำเนิด
ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่การเป็นหมอลำกลอนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในแถบภาคอีสาน เจ้าตัวกล่าวว่า ชื่นชอบการร้องรำทำเพลงมาแต่เด็ก ทุกครั้งที่มีหมอลำมาเล่นในหมู่บ้านก็จะมี ด.ช.ฉลาด ส่งเสริม ไปเล่นไปนอน อยู่หน้าเวทีหมอลำเสมอ
กระทั่งอายุประมาณ 16 ปี จึงขอฝากตัวและฝึกหมอลำกับ อ.ติ่งทอง และ อ.กิ่ง ทิมา ฝึกเรียนประมาณ 1 ปี จึงพอจะจับทิศทางของหมอลำได้ว่าตัวเองควรจะไปจุดไหน กระทั่งปี 2507 ได้เริ่มออกรับงานลำตามงานต่างๆ ในนามของ คณะ ส.สำนึกศิลป์ ซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีชื่อเสียง จนเกิดความชำนาญ คนเริ่มขนานนามว่า ป.ฉลาดน้อย ซึ่งมีเสียงเหมือนกับ "ทองคำ เพ็งดี" หมอลำกลอนที่มีชื่อเสียงซึ่งลำคู่กับ "ฉวีวรรณ ดำเนิน" ในสมัยนั้น
ฉลาด ส่งเสริม "หมอลำ ป.ฉลาดน้อย" - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
พอการร้องลำชำนาญมากขึ้น ก็เข้าสู่ปีที่ 5 จึงร่วมกับเพื่อนๆ คิดหาทางออกไปตั้งวงของตัวเอง คือ คณะ "ป.ฉลาดน้อยรุ่งเรืองศิลป์" รับบทเป็นพระเอก
พ.ศ. 2514 ได้รับการติดต่อให้ไปร่วมแสดงเป็นพระเอกกับคณะอุบลพัฒนา โดยมีอังคนางค์ คุณไชย เป็นนางเอกบันทึกเสียงลำเป็นครั้งแรกเรื่อง นางประกายแก้ว นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ จนได้รับความนิยม เมื่อปี พ.ศ. 2518 ลาออกจากคณะอุบลพัฒนา กลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อดูแลบิดามารดา จากนั้นตั้งคณะหมอลำ ของตนเอง ชื่อ "คณะเพชรอุบล" รับแสดงหมอลำทั่วทุกภาคในประเทศไทย แสดงเป็นพระเอกหมอลำ มีนางเอกคู่ขวัญคือ โฉมไสว แสนทวีสุข เป็นคู่ลำ มีชื่อเสียงและรุ่งเรืองที่สุด ดังมาก หลังจากนั้นจะเริ่มตกลงเรื่อยๆ เนื่องจากกระแสของหมอลำสมัยใหม่เริ่มเข้ามาแทนที่
พ.ศ. 2530 หันไปประกอบอาชีพวิ่งรถสองแถวเล็กใน สหกรณ์รถยนต์บริการอุบล จำกัด ที่อำเภอเมืองอุบลราชานี จังหวัดอุบลราชธานี ใน พ.ศ. 2535 ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานกรรมการ สหกรณ์รถยนต์บริการอุบลราชธานี
พ.ศ. 2542 ได้รับเลือกให้เป็น ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองอุบลราชธานี ดูแลงานวัฒนธรรม ส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนเกิดความรักและสนใจในวัฒนธรรม พ.ศ. 2544- 2545 ดำรงตำแหน่ง "ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรม" ดำเนินการสืบค้นวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การละเล่น วรรณกรรม ของดีของเก่า ทุกตำบลในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี ตามโครงการวัฒนธรรมสัญจรการสร้างสรรค์ผลงานเผยแพร่ต่อสาธารณชน
ป.ฉลาดน้อย ได้เข้าเป็นศิลปินร่วมรณรงค์ให้กับกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องการรณรงค์ไม่กินปลาดิบ, ต้านโรคเอดส์, ไข้เลือดออก, ฉี่หนู และอื่นๆ รวมไปถึงการเป็นอาจารย์สอนพิเศษเกี่ยวกับ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ว่าด้วยการแสดงหมอลำ ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และยังเป็นประธานสภาวัฒนธรรม จังหวัดอุบลราชธานี
นายฉลาด ส่งเสริม มีผลงานทั้งทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ เป็นผู้รับงานแสดง จัดการแสดง รวมทั้งร่วมงานกุศลต่างๆ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 40 ปี ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ เริ่ม ประกอบอาชีพหมอลำ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากประชาชนทั่วทุกภาคทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พ.ศ. 2518 | บันทึกเทปออกอากาศ เรื่อง "สายแนนนาแก่น" ได้รับความนิยมจากประชาชน โดยทั่วไป |
พ.ศ. 2519 | ผลิตผลงานลำเรื่องต่อกลอนให้บริษัทสินราชบุตร เรื่อง "อยากให้เพิ่นตายโตตาย" (สีโคตรพระตะบอง) "ท้าวบัวโฮมบัวฮอง" (ขุนช้างขุนแผน) "พระเวสสันดร" (ท้าวกำพร้าปลาหลด) เป็นต้น |
พ.ศ. 2520 | ผลิตผลงานบันทึกแผ่นเสียงให้กับบริษัทเสียงสยาม ห้างแผ่นเสียงทองคำ กรุงเทพฯ เรื่อง "ผาแดงนางไอ่" "นกกระจอกน้อย" "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" เป็นต้น |
พ.ศ. 2521 |
|
พ.ศ. 2525 | อังคนางค์ คุณไชย ออกจากคณะอุบลพัฒนา มาอยู่คณะเพชรอุบล จึงเปลี่ยนชื่อเป็นคณะ ป.ฉลาดน้อย อังคนางค์ คุณไชย ได้ผลิตผลงานบันทึกเสียงร่วมกัน เช่น เต้ยเกี้ยวแรกพบ เต้ยคำสาบาน เต้ยรักน้องเต็มทน เต้ยฮักน้องอีหลี ทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศ |
พ.ศ. 2526 | อังคนางค์ คุณไชย แยกตัวออกไปตั้งวงใหม่ ป. ฉลาดน้อย จึงกลับมาบริหารคณะเพชรอุบล อีกครั้ง |
พ.ศ. 2532 | คณะเพชรอุบล โดย ป.ฉลาดน้อย สร้างผลงานบันทึกแผ่นเสียงหมอลำเพลินอีกครั้ง ในชุด สาวรอบสอง สาวโมมลึด วอนแฟนๆ และชุดเอาน้องคักๆ |
พ.ศ. 2533 | ป. ฉลาดน้อย นำ คณะกำแพงเพชร เข้าประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดมหาสารคาม ได้รับโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี |
พ.ศ. 2535 | ป. ฉลาดน้อย ผลิตผลงานลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง คู่กรรม โดยนำมาจากนวนิยายที่แสดงทางโทรทัศน์ |
พ.ศ. 2540 | ดำเนินการผลิตเทปร่วมกับยอดขุนพลลำเพลิน ทองมี มาลัย และขุนพลลำซิ่ง ประสาน เวียงสิมา ในชุดลำเพลิน ชมรมแท็กซี่ ลำซิ่ง ตระกูลเมาลำเพลินเจ้าพ่อสี่ไห |
พ.ศ. 2543 |
|
พ.ศ. 2544 | ผลิตผลงานลำยาว (ลำล่อง) ชุดลำยาวน้ำตาพ่อฮ้าง ตามน้องทั่วอีสาน ลำยาวตามน้องทั่วกรุงเทพฯ อวยพรปีใหม่ อีกทั้งต่อกลอนลำในการถ่ายทอดมิวสิควีดีโอเรื่อง ท้าวก่ำกาดำ |
พ.ศ. 2545 |
|
พ.ศ. 2546 |
|
พ.ศ. 2547 | ผลิตผลงานลำเรื่องต่อกลอนชุด ปลาบู่ทอง นางนกกระจอกน้อย ผาแดงนางไอ่ เผยแพร่ในรูปแบบของวีซีดี เพื่อสื่อให้เห็นถึงคุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน |
พ.ศ. 2548 |
|
ลำล่องถวายความอาลัย - พ่อ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม
ลำล่องอวยพรปีใหม่ - ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม
นายฉลาด ส่งเสริม ได้ทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมด้วยการช่วยเหลือหน่วยราชการและองค์กรเอกชนในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ลำล่องชุด "เลี้ยงพ่อแม่ก่อนเพิ่นตาย" - ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม - บานเย็น ศรีวงษา
"สำหรับการได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติครั้งนี้ ผมเองยอมรับว่า ทั้งชีวิตผมใฝ่ฝันที่จะได้รับรางวัลนี้มาอย่างยาวนาน เพราะนานมาแล้วที่มีหมอลำเมืองอุบล 2 ท่าน ที่ได้รับรางวัลนี้ไปแล้ว จากนั้นก็ทิ้งช่วงไปเกือบ 10 ปี ถึงมาได้ผมเป็นคนล่าสุด ซึ่งผมถือว่าผมภูมิใจ และเป็นรางวัลที่ผมและครอบครัวรู้สึกภาคภูมิ ผมจึงตั้งใจเอาไว้ว่าจะทุ่มเทชีวิตให้กับแผ่นดินนี้ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ เพื่อที่จะสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมหมอลำพื้นบ้านให้ยั่งยืน" ศิลปินแห่งชาติกล่าวทิ้งท้าย...
ปัจจุบัน นายฉลาด ส่งเสริม ใช้ชีวิตเรียบง่ายกับครอบครัว ยังสร้างผลงานทั้งทางด้านการแต่งกลอนลำ การแสดงหมอลำ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง บำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณกุศล โดยอาศัยพรสวรรค์พิเศษของตน ผสมผสานกับภาระหน้าที่ของสังคมก่อเกิดเป็นงานศิลปะเพื่อชุมชน
ป ฉลาดน้อย ส่งเสริม ยกที่ 1 บ้านหนองหญ้าป้อง ปี 2559
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)