foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

dance header

bulletการฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ

ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

fon silapa cheep

3diamondรำบ้านประโดก 

บ้านประโดก ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงมากในเรื่องทำขนมจีน ซึ่งมีเส้นเหนียวและน้ำยาหอมรสกลมกล่อม และน้ำยาบ้านประโดกก็แตกต่างจากที่อื่นคือ แทนที่จะนำเครื่องแกงสดมาโขลกทันที แต่กลับนำเอาไปต้มให้สุกก่อนจึงจะนำมาโขลกให้ละเอียด ส่วนทางภาคกลางนิยมต้มเครื่องแกงและปลากับน้ำปลาร้าก่อน แต่น้ำยาบ้านประโดกไม่ใส่ปลาร้าจึงต้มเครื่องแกงและปลากับหางกะทิ

การทำเส้นขนมจีนบ้านประโดก มีเครื่องปรุงเส้นขนมจีนคือ ข้าวเจ้า (ใช้ปลายข้าวละเอียด) ประมาณ 10 กิโลกรัม มีวิธีการทำดังนี้

  1. นำปลายข้าวแช่น้ำประมาณ 1 ชั่วโมง
  2. สงปลายข้าวขึ้นจากน้ำที่แช่ไว้ ใส่ตะกร้าไม้ไผ่ที่สานค่อนข้างถี่
  3. หมักไว้ 3 คืน
  4. เมื่อหมักได้ตามกำหนดแล้ว นำมายีด้วยฝ่ามือพร้อมกับน้ำเพื่อให้ละลายเป็นน้ำแป้ง
  5. นำน้ำแป้งมากรอง เพื่อจะได้น้ำแป้งที่ละเอียดและสะอาดขึ้น
  6. นำน้ำแป้งที่กรองดีแล้วใส่ถุงผ้า แล้วใช้ของหนักทับเพื่อให้น้ำที่ผสมกับแป้งออกเหลือแต่เนื้อแป้ง
  7. เอาเนื้อแป้งมายีให้เป็นเนื้อเดียวกัน ปั้นเป็นก้อนกลมโตพอสมควร (ระยะนี้เรียกว่า ลูกแป้ง)
  8. นำลูกแป้งนั้นลงต้มในน้ำร้อนให้สุกสักครู่หนึ่ง
  9. นำแป้งที่ต้มสุกแล้วมาใส่ครกขนาดใหญ่ (ส่วนใหญ่จะเป็นครกไม้ใช้ตำข้าวตามชนบท เรียกว่า ครกมอง)
  10. โขลกแป้งที่ต้มแล้วจนเหนียวดี แล้วใส่แป้งที่โขลกลงในเครื่องมือที่ใช้บีบโรยเส้นขนมจีน
  11. ต้มน้ำร้อนในหม้อขนาดใหญ่พอสมควร พอน้ำร้อนจัด (แต่ยังไม่ถึงกับเดือดพล่าน เพราะจะทำให้เส้นขนมจีนขาด) ก็โรยเส้นขนมจีนลงในน้ำที่ต้มนั้น
  12. พอเส้นขนมจีนสุก ก็ตักเส้นขนมจีนนั้นแช่ในน้ำเย็นที่เตรียมไว้ หยิบเส้นขนมจีนทำให้เป็นตับ จัดวางเรียงในกระจาด

การรำบ้านประโดก จึงได้แนวคิดมาจากการประกอบอาชีพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของชาวบ้าน ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูนครราชสีมา จึงได้นำลีลาการประกอบอาชีพโดยประดิษฐ์ท่าฟ้อนแสดงขั้นตอนการทำขนมจีนตั้งแต่ การแช่แป้ง โขลกนวดแป้ง โรยขนมจีน แล้วนำไปขายที่ตลาด

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวม เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบนุ่งซิ่นมัดหมี่ ฝ่ายชายสวม เสื้อคอกลมแขนสั้นนุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้ามัดเอว

เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน

รำขนมจีนประโดก

ขั้นตอนการทำขนมจีนประโดก

3diamondเซิ้งปลาจ่อม

ปลาจ่อม เป็นอาหารชนิดหนึ่งของชาวอีสานซึ่งชาวอีสานส่วนใหญ่เรียกว่า "ส้มปลาน้อย" ปลาจ่อมเป็นอาหารซึ่งประกอบด้วย ปลาตัวเล็ก หมักด้วยเกลือและข้าวคั่ว ใช้เป็นเครื่องจิ้ม ซึ่งอำเภอประโคนชัยได้ชื่อว่า "เมืองข้าวมะลิหอม ปลาจ่อมประโคนชัย" การทำปลาจ่อมส่วนใหญ่นิยมใช้ปลาซิวแก้ว ปลาอีด ลูกปลาช่อน ลูกปลาหมอ เกลือและข้าวคั่ว นิยมใช้ข้าวคั่วป่นที่ทำจากข้าวสารเจ้า

วิธีการทำปลาจ่อม จะนำปลาที่เตรียมไว้มาคลุกเคล้ากับเกลือให้หมดคาว คนให้เข้ากันหมักทิ้งไว้หนึ่งคืน แล้วนำข้าวคั่วป่นมาเคล้าให้เข้ากับปลาที่หมักไว้ โดยใช้ไม้พายคนให้ทั่วๆ นำไปบรรจุขวดโหล ปิดปากขวดให้มิดชิดด้วยถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ใช้เชือกฟางรัดปากขวดให้แน่นทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน ก็สามารถนำมารับประทานได้

ปลาจ่อมหรือส้มปลาน้อย เป็นอาหารพื้นบ้านอีสานที่รู้จักกันดี ทางศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์จึงได้จัดทำเป็นชุดฟ้อนขึ้น

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นใช้ผ้าแถบรัดอก สวมหมวก ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อม่อฮ่อมใช้ผ้าขาวม้าคาดพุง

เครื่องดนตรี ที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้

อุปกรณ์การแสดง อวน (ดาง) ไซ กระชัง ไห

ลำดับขั้นตอนการแสดง เซิ้งปลาจ่อม เริ่มโดยชายและหยิงนำอวน และไซดักปลา ซึ่งจะได้ปลาที่มีขนาดเล็ก หลังจากนั้นฝ่ายหญิงก็จะนำปลาที่ได้มาทำปลาจ่อม ฝ่ายชายจะเอาไหมาใส่ปลาจ่อมเพื่อหมักไว้จนกว่าจะได้ที่

 

3diamondเซิ้งแหย่ไข่มดแดง

อาหารอีสานส่วนใหญ่จะได้มาจากธรรมชาติ ทั้งที่เป็นสัตว์เล็ก สัตว์น้อย และพืชพันธุ์ต่างๆ นับได้ว่าชาวอีสานเป็นนักกินผู้หนึ่งทีเดียว ไข่มดแดงนับเป็นอาหารประจำถิ่นอีสาน จนสามารถนำมาขายจนกลายเป็นอาชีพได้ ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ เห็นว่าควรจะอนุรักษ์อาชีพแหย่ไข่มดแดงนี้ในรูปของการแสดง จึงได้ทำการศึกษาถึงขั้นตอนการนำไข่มดแดงลงมาของชาวบ้าน โดย อาจารย์ประชัน คะเนวัน และ อาจารย์ดรรชนี อุบลเลิศ เป็นผู้เขียนรายละเอียดของขั้นตอนการแหย่ไข่มดแดงโดยละเอียด การแสดงเซิ้งแหย่ไข่มดแดงเป็นการอนุรักษ์อาชีพของชาวอีสานอย่างหนึ่ง

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคาดเอว และใช้ผ้าขาวม้าโพกศีรษะ ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก 3 ส่วนคอกลม ห่มสไบ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สั้นแค่เข่า

เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานลายเซิ้ง

อุปกรณ์สำหรับการแสดง ครุใส่น้ำ ตะกร้าผูกปลายไม้ยาว ผ้าสำหรับกวนมดแดง การจัดการแสดงลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • เดินทางออกจากบ้าน หญิงถือครุใส่น้ำ ชายถือไม้ยาวสำหรับแหย่รังมดแดง และเหน็บผ้าสำหรับกวนมดแดง
  • มองหารังมดแดง
  • แหย่มดแดงได้เทลงในครุใส่น้ำ
  • นำผ้ากวนมดแดง เพื่อแยกตัวมดออกจากไข่มดแดง
  • เทน้ำออกจากครุ
  • เก็บอุปกรณ์เดินทางกลับบ้าน

ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง

3diamondเรือมศรีผไทสมันต์

ชาวอีสานรู้จักการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไม่ว่าจะเป็นอีสานเหนือ หรืออีสานใต้ ถึงแม้อีสานใต้จะไม่มีผ้าไหมที่โดดเด่นในทางลวดลายเช่นอีสานเหนือ แต่ผ้าไหมของอีสานใต้ก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งพอมองเห็นก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นผ้าไหมจากอีสานใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเรือมศรีผไทสมันต์นี้เป็นชุดฟ้อนที่ประดิษฐ์ท่าฟ้อนมาจากอาชีพการเลี้ยงไหม ทอผ้าของชาวอีสานใต้ ตั้งแต่เริ่มปลูกต้นหม่อน การเลี้ยงไหม จนทอผ้าเป็นผืน ซึ่งคณาจารย์โรงเรียนสิรินธร และโรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนขึ้น นับเป็นชุดฟ้อนศิลปาชีพอีกชุดหนึ่งที่มีความสวยงามแปลกตา ทั้งในด้านชุดการแสดงและจังหวะดนตรี

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้หญิงล้วนสวม เสื้อคอกลมแขนกระบอกสีออกชมพู นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่พื้นเมืองของสุรินทร์ ใช้ผ้าเบี่ยงโพกศีรษะ และพาดไหล่ด้วยผ้าขาวม้าพื้นเมืองสุรินทร์

เครื่องดนตรี ที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้ วงกันตรึมหลายเพลงประกอบท่าฟ้อน

เรือมศรีผไทสมันต์

 

blueline

next green คลิกไปอ่าน  การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง

 

redline

backled1

dance header

bulletการฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ

ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

fon silapa cheep

3diamondฟ้อนเข็นฝ้าย

ชาวอีสานได้รู้จักทำเครื่องนุ่งห่มขึ้นมาใช้เองแต่โบราณกาลแล้ว นับได้ว่าชาวอีสานเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องผ้า ซึ่งมีการทอผ้าทั้งที่เป็นผ้าไหมและผ้าฝ้าย จังหวัดเลยนับว่าเป็นจังหวัดที่มีการปลูกฝ้ายมากที่สุด จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในงาน "ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย" การปลูกฝ้ายนั้นนิยมปลูกในราวเดือนพฤษภาคม เมื่อถึงราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ฝักฝ้ายก็จะแก่และแตกปุยพอดี ชาวอีสานก็จะลงมือเก็บฝ้ายโดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการเข็นฝ้าย

  1. เก็บฝ้าย จะเริ่มเก็บฝ้ายเมื่อเห็นว่า ฝ้ายแตกกอและมีปุยฝ้ายฟูเต็มที่แล้ว เก็บโดยถือเอาเฉพาะปุยฝ้ายออกจากกลีบสมอใส่ตะกร้าหรือถุงผ้าซึ่งคล้องไหล่ไว้ข้างหลัง
  2. ตากฝ้าย นำฝ้ายที่เก็บไว้ออกผึ่งแดดเพื่อให้ปุยฝ้ายที่เก็บไว้นั้นฟูขึ้นเพื่อสะดวกในเวลาแยกเม็ดฝ้ายออกจากปุย นำปุยฝ้ายไปแยกเม็ดออกเรียกว่า อิ้วฝ้าย
  3. ดีดฝ้าย นำฝ้ายที่แยกเม็ดออกแล้วนำมาดีดโดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นคันโค้งเหมือนคันธนู โดยเอาเชือกผูกปลายให้โค้งเข้าหากัน ดีดฝ้ายเพื่อให้ฝ้ายมีเนื้อละเอียดเหมือนสำลี แล้วเอาฝ้ายที่ได้ไปล้อเป็นติ้วกลมๆ ยาวประมาณ 9 นิ้ว
  4. เข็นฝ้าย การเข็นฝ้ายจะใช้ "หลา" การเข็นฝ้ายต้องเอาปลายของฝ้ายที่ล้อเป็นติ้วข้างใดข้างหนึ่งไปจ่อที่เหล็กไนพร้อมกับหมุนกงหลาซึ่งมีสายต่อมาถึงเหล็กไน เหล็กไนก็จะหมุนปั่นเอาฝ้ายซึ่งติ้วแล้วออกเป็นเส้นเล็กๆ เมื่อปั่นได้เต็มเหล็กไนก็จะใช้ไม้ซึ่งเรียกว่า "เปีย" เปียออกจากเหล็กไนเพื่อจะนำให้เป็นไนฝ้าย นำฝ้ายที่ได้ไปย้อมสีตากให้แห้งสนิท นำเอาไปใส่ในกงปั่นฝ้ายเรียกว่า "การกวักฝ้าย" แล้วนำเส้นด้ายไปขึงกับ "เผือ" เพื่อให้เส้นด้ายไม่ยุ่ง แล้วเอาเส้นด้ายที่เฝือนั้นไปกรอเข้ากับฟืม โดยกรอจนเต็มฟืมและนำไปสืบหูก คือการร้อยเส้นฝ้ายจากรูแล้วสอดกับฟันฟืม
  5. การทอ เมื่อเตรียมเส้นยืนและเส้นพุ่งเรียบร้อยแล้วจะหวีด้าย เพื่อให้แผ่กระจายออกเป็นแผ่นเรียบเสมอกัน เมื่อขึงด้ายเข้ากี่เรียบร้อยแล้วก็ใช้กระสวยซึ่งบรรจุไว้ในร่องของกระสวยสำหรับสอดเส้นด้ายในแนวทางขวาง การสอดก็จะต้องสอดสลับกลับไปกลับมาเสมอ เวลาสอดครั้งหนึ่งก็เหยียบครั้งหนึ่ง และใช้ฟืมกระทบเพื่อให้เส้นด้ายแน่น เมื่อทอผ้าได้ยาวจนฟืมยืดออกไปไม่ถึงก็ม้วนผ้าเก็บไว้ กระทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสำเร็จ

ฟ้อนเข็นฝ้าย จึงได้นำเอาวิธีการเก็บฝ้ายและเข็นฝ้ายของชาวอีสานมาจัดทำเป็นชุดฟ้อนขึ้น

เครื่องแต่งกาย การแสดงใช้ผู้หญิงแสดงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำนุ่งผ้าถุงมัดหมี่ โดยนุ่งให้เห็นหัวซิ่นสีแดงคาดเข็มขัดเงิน โพกหัวด้วยหัวซิ่นสีแดง คล้องด้วยฝ้ายเฉวียงไหล่

เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ทำนองเพลงคอนสวัน ทำนองเซิ้งและทำนองตังหวาย ซึ่งในการฟ้อนเข็นฝ้ายของวิทยาลัยครูอุบลราชธานีจะมีเพลงประกอบการฟ้อนเฉพาะ

ลำดับขั้นตอนของการแสดง การฟ้อนชุดเข็นฝ้ายเป็นการนำวิธีการและขั้นตอนของการทอผ้าฝ้าย เริ่มใช้ผู้แสดง 10 คน แบ่งเป็น 5 คู่ ดังนี้

  1. คู่แรก จะแสดงขั้นตอนของการเก็บฝ้าย โดยใช้กระทอห้อยข้างหลัง
  2. คู่ที่สอง จะแสดงขั้นตอนของการตากฝ้าย โดยใช้กระจาดแล้วนำฝ้ายไปเรียงในกระจาดเพื่อตากฝ้าย
  3. คู่ที่สาม จะแสดงขั้นตอนการดีดฝ้าย โดยใช้ไม้ไผ่โค้งเป็นรูปะธนูแสดงวิธีดีดฝ้ายให้ฟู
  4. คู่ที่สี่ จะแสดงการปั่นฝ้าย
  5. คู่ที่ห้า จะแสดงวิธีการทอฝ้าย

สาวเข็นฝ้าย จิ๋ว อมรรัตน์

3diamondเซิ้งสาวไหม

ผ้าไหมเป็นผ้าพื้นเมืองของชาวอีสานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ชาวอีสานส่วนใหญ่รู้จักวิธีทอผ้า ทั้งที่ใช้เองในครอบครัวและประกอบเป็นอาชีพในครัวเรือน โดยชาวบ้านอีสานจะเลี้ยงไหมเอง เมื่อได้รังไหมแล้วก็จะนำมาสาวไหม

วิธีการสาวไหม โดยนำหม้อมาใบหนึ่งใส่น้ำต้มให้เดือด นำฝักไหมหรือรังไหมใส่ลงไปในหม้อพอประมาณ ปากหม้อนั้นทำเป็นวงโค้งคล้ายวงครุมีไม้อันหนึ่งลักษณะแบนๆ เจาะรูไว้ตรงกลาง เมื่อนำเดือดแล้วเอาเส้นไหมสอดรูไม้ที่ปากหม้อ สาวขึ้นมาพันกับรอกรอบหนึ่ง ซึ่งที่บนรอกมีไม้ซึ่งเรียกว่า ไม้ขืนยาวประมาณ 2 คืบ ใช้มือหนึ่งสาวไหมจากรอกลงไปในภาชนะที่รองรับอีกมือหนึ่งถือไม้ขืนกด และเขย่ารังไหมที่ลอยตัวอยู่ในหม้อเพื่อทำให้ไหมไม่แน่น การสาวไหมแบ่งเป็นสองชนิดคือ การสาวไหมหลืบ และการสาวไหมลวด ซึ่งเป็นไหมน้อย

sao mai

เมื่อสาวไหมเสร็จจะนำไปใส่ไว้ในกระบุง แล้วจึงทำเป็นไจ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เส็ง เมื่อทำไหมเป็นไจแล้วจึงนำเอามาใส่กงแล้วนำอักมาสาวเส้นไหมออกจากกง เพื่อให้เส้นไหมแน่นขึ้น

ก่อนที่จะย้อมไหมเป็นสีต่างๆ ต้องซักฟอกให้ขาวเสียก่อน วิธีการฟอกไหมของชาวบ้านแบบพื้นเมืองนั้นใช้ ผักหม เหง้ากล้วย ใบกล้วย ก้านกล้วย งวงตาล ไม้ขี้เหล็ก ใบเพกา ทั้งหมดนี้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ นำมาหั่นฝานให้บางตากแดดให้แห้ง แล้วเอาไปเผาจนกระทั่งเป็นเถ้า จากนั้นจึงนำเถ้าไปแช่ในน้ำตั้งทิ้งไว้ให้นอนก้น แล้วจึงเอาไหมที่จะฟอกลงไปแช่ในน้ำด่าง พอไหมเปียกชุ่มดีแล้วก็เอาใส่หม้อต้มได้เวลาพอสมควร จึงเอาไหมขึ้นจากหม้อไปแช่ล้างน้ำเย็น ล้างให้สะอาดสงไหมขึ้นจากน้ำใช้มือกระทกให้ไหมหายยุ่ง แล้วใส่ไหมลงในกระเส่า เขย่าให้แห้งหมาด จึงนำไปผึ่งให้แห้ง หากไหมยังไม่สะอาดก็เอาไปแช่น้ำด่างตามวิธีการเติมอีกครั้งหนึ่ง

การย้อมไหมของชาวพื้นเมืองอีสานในสมัยโบราณนั้น ย้อมสีต่างๆ ด้วยครั่ง เข คราม ลูกกระจายดินแดง และแถลง ซึ่งมีวิธีการอย่างเดียวกันกับการย้อมผ้าฝ้าย แต่เนื่องจากการย้อมไหมและฝ้ายด้วยรากไม้และลูกไม้ป่าชนิดต่างๆ เป็นวิธีการที่ยากและกินเวลามาก ทำให้ชาวพื้นเมืองในปัจจุบันที่ยังทอผ้าใช้อยู่หันมาใช้สีวิทยาศาสตร์ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งสะดวกสบายกว่ามาย้อมไหมแทนวิธีการย้อมแบบดั้งเดิม

วิธีการทอผ้าซิ่นมัดหมี่

เครื่องมือที่ใช้ทอ ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทอผ้าฝ้าย แต่มีวิธีการแตกต่างกว่าคือก่อนที่จะทอเป็นซิ่นหมี่ จะต้องมัดหมี่เสียก่อนแล้วจึงนำไปทอ คือคัดเลือกไหมที่ฟอกแล้วเอามาดันใส่หลักหมี่ วิธีค้นไหม ค้นกลับไปกลับมาสองหน เรียกว่า หนึ่งคู่ เรียงลำดับไปจนพอผืนไหมที่ต้องจะทอ เอาเชือกกล้วยมาผูก แล้วแต่จะเอาลวดลายอย่างไร เช่น หมี่ขอ หมี่นาค หมี่ดอกหญ้า หมี่เฮื้อ หมี่หงส์ เป็นต้น การที่เอาเชือกกล้วยมาผูกไว้นั้นเพื่อป้องกันมิให้สีถูกที่ผูก เวลาย้อมสีต้องเอาสีแต้มตามลาย เสร็จแล้วเอาไหมที่ผูกทำไว้แล้วนั้นมากรอเข้ากับหลอด เวลาทอก็เอาหลอดที่กรอไว้พุ่งไป ก็จะได้ลายไปในตัว ส่วนผ้าผืนสำหรับนั้นจะเอาสีอะไรสุดแต่ความพอใจของผู้ทอ ลายต่างๆ ของผ้าซิ่นมัดหมี่ เช่น ลายหมี่นาคน้อย หมี่นาคต้นสน หมี่ดอกแก้ว หมี่ขอ ฯลฯ

เซิ้งสาวไหม ได้แนวความคิดจากการทำผ้าไหมพื้นเมืองของชาวอีสาน ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสกลนคร จึงได้ประดิษฐ์เป็นชุดฟ้อนขึ้น เพื่อถ่ายทอดลีลาของการทอผ้าไหม

รำสาวไหม วงโปงลางมรดกอีสาน

เครื่องแต่งกาย การแสดงใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ใช้ผ้าขาวม้าห่มแบบผ้าแถบนุ่งซิ่นมัดหมี่ ใช้ผ้าพันรอบเอว ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้

เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานลายเซิ้ง

 

3diamondฟ้อนแพรวา 

แพรวา คือผ้าขิดชนิดหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งนิยมทำกันในหมู่ของชาวผู้ไท เพื่อใช้ห่มไปในงานพิเศษ เช่น งานแต่งงาน ที่เรียกว่า แพรวา นั้น เพราะขนาดความยาวของผืนผ้าแต่เดิมนี้ความยาวขนาด "วา" ของผู้ทอซึ่งมักจะอยู่ในเกณฑ์ 2 เมตร กว้าง 50 - 60 เซนติเมตร ถิ่นแพรวาที่มีชื่อเสียงอยู่ที่บ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ การทอผ้าแพรวานับเป็นศิลปการช่างที่มีมาแต่บรรพบุรุษ ถือว่าผ้าแพรวานั้นเป็นของสูงที่มีค่ามาก ชาวผู้ไทจะเก็บรักษาเป็นอย่างดี เปรียบได้กับของมีค่าอื่นๆ การจะใช้ก็จะใช้ในงานพิธีสำคัญ เช่น งานบุญประจำปี หรือ งานแต่งงาน ชาวอีสานถือว่า "การก้าวข้ามผ้าขิด หรือนั่งบนหมอนขิดไม่เหมาะสมยิ่ง"

การทอผ้าแพรวาต้องใช้ความประณีตบรรจงละเอียด ผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานจึงถือว่า ผ้าที่ทอด้วยลายขิดเป็นของสูง และจะเก็บไว้ในที่อันควร

ฟ้อนแพรวา เป็นชุดฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ได้นำวิธีการทอผ้าแพรวา แสดงให้เห็นทุกขั้นตอน ผ้าแพรในที่นี้หมายถึงผ้าที่มีความยาว 1 วา ปกติใช้คลุมไหล่ผู้หญิงหรือทำผ้าสไบ มีทั้งทำด้วยผ้าและทำด้วยไหม ท่าฟ้อนแพรวาจะแสดงลำดับขั้นตอนของการทอผ้าแพรวาตามแบบพื้นเมือง โดยเริ่มจากการเก็บฝ้าย การตากฝ้าย ล้อฝ้าย เปียฝ้าย ย้อมฝ้าย ค้นหูก จนกระทั่งถึงการทอเป็นผืน ผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนคือ คุณจริยา เปาว์อินทร์ และอาจารย์วีณา วีสเพ็ญ

ฟ้อนแพรวากาฬสินธุ์

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน แต่งกายด้วยผ้าถุงมัดหมี่สีดำ สวมเสื้อคอกระเช้าสีขาว ซึ่งเป็นเสื้อที่ชาวบ้านอีสานนิยมสวมอยู่กับบ้าน คลุมไหล่ด้วยผ้าแพรวา

เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองเพลงลาวอุบล

ลำดับขั้นตอนของการแสดง

ท่าที่ 1 การเก็บดอกฝ้าย - ชาวอีสานจะต้องออกไปเก็บดอกฝ้ายที่ในไร่ ฝ้ายแก่จัดและเริ่มแตก
ท่าที่ 2 การตากฝ้าย - ฝ้ายที่เก็บมาใหม่ๆ จะต้องนำมาตากให้แห้ง เพื่อให้ปุยฝ้ายร่วนดี
ท่าที่ 3 อิ้วฝ้าย - เมื่อดอกฝ้ายแห้งดี ก็นำมาอิ้วเพื่อรีดเอาเมล็ดออก แล้วดีดในลักษณะเดียวกัน
   เพื่อให้ได้ปุยสำลี
ท่าที่ 4 ล้อฝ้าย - แล้วนำสำลีมาปั่นให้เป็นหลอด เพื่อใช้เข็นให้เป็นเส้นด้าย
ท่าที่ 5 เข็นฝ้าย - ดึงสำลีที่ใช้ติดปลายเข็มที่หลาเป็นฝ้าย เพื่อให้ได้เส้นด้ายที่ยาวติดต่อกัน
ท่าที่ 6 เปียฝ้าย - ใช้วาเปียคล้องเส้นด้ายเพื่อให้ได้ไจฝ้าย พร้อมที่จะนำมาย้อมสีต่างๆ
ท่าที่ 7 ย้อมฝ้าย - ใช้ฝ้ายชุบสีต่างๆ ตามที่ต้องการแล้วตากให้แห้งกระตุกไจฝ้าย เพื่อไม่ให้เส้นฝ้าย
   ติดกัน
ท่าที่ 8 ค้นหูก - ปั่นใส่อักแล้วนำมาขึงเส้นยืน เพื่อทอเป็นผืนผ้าต่อไป
ท่าที่ 9 ทอผ้า - เมื่อขึงเส้นยืนเสร็จนำมาตรึงที่กี่ สอดกระสวยด้ายกระตุกเขาที่ผ่านเส้นด้าย ขึ้นลง
   สลับกับการสอดฝ้าย กระทบให้แน่นด้วยฟืม ก็จะได้ผืนผ้าตามต้องการ

 

3diamondเซิ้งข้าวปุ้น

ข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน ชาวอีสานโดยเฉพาะในจังหวัดมหาสารคามนิยมทำกันในงานบุญพระเวส หรือบุญมหาชาติ และงานกฐินของทุกๆ ปี จนเรียกกันติดปากของชาวมหาสารคามว่า บุญข้าวปุ้น

บุญข้าวปุ้นจะมีพิธีการแบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกหรือวันโฮมนั้น ชาวบ้านจะเตรียมอาหารพวกข้าวต้ม ข้าวปุ้น พอเวลาประมาณ 4 โมงเย็นก็จะมารวมกันที่วัด แล้วมีพิธีแห่พระเวสสันดรและพระอุปคุต เข้ามาในเมือง หลังจากนั้นจะมีพิธีเทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ตามบ้านต่างๆ ชาวบ้านจะมีการกินเลี้ยงกันอย่างสนุกสนาน

การทำข้าวปุ้น มีอุปกรณ์ดังนี้คือ เผีย ซึ่งทำด้วยโลหะ กระชอน ถาดหรือบม ครกมอง ถุงผ้า ตระกร้า ข้าวสารเจ้า ใบตอง ปี๊บ มีขั้นตอนการทำคือ จะนำข้าวสารเจ้าแช่น้ำหมักในตระกร้าโดยใช้ใบตองปูรองปิดไว้ประมาณ 2-3 วัน จะนำข้าวที่หมักไว้นั้นยุ่ยเปื่อย จากนั้นนำมาตำโดยใช้ครกมอง แล้วนำแป้งมาผสมกับน้ำโดยใช้มือขยี้ จากนั้นนำถุงผ้าใส่แป้งเก็บทิ้งไว้ในตระกร้าประมาณ 2-3 วัน ซึ่งเรียกว่า การนอนแป้ง เพื่อให้แป้งจับตัวกัน

นำแป้งมาทำเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ แล้วไปต้มในปิ๊บประมาณ 15 นาที นำไปบดหรือตำด้วยครกมองอีกครั้งหนึ่ง จนกว่าแป้งจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน นำมานวดบนถาดไม้หรือบ่มให้มีความเหนียวพอประมาณ โดยใช้น้ำร้อนและน้ำเย็นผสมลงทีละนิด นวดไปเรื่อยๆ จนได้ที่ แล้วนำไปบีบเป็นเส้นแป้งลงไปในน้ำเดือด พอแป้งสุกก็จะฟูลอยขึ้น ใช้กระชอนตักนำไปใส่ลงในน้ำเย็น แล้วซาวขึ้นมาเพื่อนำข้าวปุ้นที่ได้มาม้วนเป็นไจหรือหัวอีกครั้งหนึ่ง นำไปใส่ในตระกร้าหรือกระจาดที่มีใบตองรองไว้

ทางวิทยาลัยครูมหาสารคาม เห็นว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีของชาวอีสานไว้ให้ชนรุ่นหลังได้รู้จักขั้นตอนในการทำข้าวปุ้นแบบดั้งเดิม อาจารย์ทิวา นวราช จึงได้จัดทำชุดเซิ้งข้าวปุ้นขึ้น

เซิ้งข้าวปุ้น แกนอีสาน

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน แต่งกายด้วยผ้าถุงมัดหมี่ สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียง

เครื่องดนตรี ที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานลายลำเพลิน

 

blueline

next green คลิกไปอ่าน  การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง

 

redline

backled1

dance header

bulletการฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ

ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

fon silapa cheep

3diamondเรือมกลอเดียล (ระบำเสื่อ)

อาชีพทอเสื่อ เป็นอาชีพเสริมอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งรวมทั้งอีสานเหนือและอีสานใต้ ทางอีสานเหนือที่มีการทอเสื่อกันแพร่หลายก็ได้แก่ที่ บ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย และบ้านท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ส่วนทางอีสานใต้ที่หมู่บ้านโคกเมือง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับยกย่องว่าทอเสื่อได้สวยที่สุดในเขตอีสานใต้ ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์เห็นว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการดึงเอาอาชีพพื้นบ้านมาจัดแสดงในรูปแบบของการฟ้อนประกอบดนตรีพื้นเมืองของอีสานใต้ คือ วงกันตรึม

kok yom tor

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นพื้นเมืองของอีสานใต้ สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลม ห่มสไบทับ ผมเกล้ามวยติดดอกไม้ ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาสามส่วน สวมเสื้อคอกลมใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว และสวมหมวก

อุปกรณ์การแสดง เสื่อผืนเล็กๆ ซึ่งเขียนชื่อย่อของวิทยาลัยครูบุรีรัมย์

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้คือ วงกันตรึม ใช้เพลงชื่อว่า แฮเนี๊ยก (แห่นาค) ซึ่งมีจังหวัดคล้ายๆ ทำนองเซิ้งของอีสานเหนือ

 

3diamondเซิ้งสาวย้อต่ำสาด

ชาวย้อ เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยกระจายทั่วไปในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน เช่น ในจังหวัดนครพนม อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร และสกลนคร ชาวย้อในจังหวัดสกลนคร นอกจากจะมีอาชีพในการทำไร่ทำนาแล้ว ยังมีการทอผ้าและทอเสื่อไว้ใช้ในเวลาว่างจากการทำไร่นา ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสกลนคร จึงประดิษฐ์ชุดฟ้อน "เซิ้งสาวย้อต่ำสาด" ขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีการต่างๆ ในการต่ำสาด หรือการทอเสื่อ

kok keb kiew tor

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงเป็นหญิงล้วนตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป โดยแต่งกายแบบชาวย้อคือ นุ่งซิ่น มัดหมี่ทบชายข้างหนึ่ง ใช้ผ้าขาวม้าห่มแบบผ้าแถบ ผมเกล้ามวย

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ใช้เพลงชื่อว่า เพลงตังหวาย และเพลงเต้ยหัวโนนตาล

ลำดับขั้นตอนการแสดง เริ่มตั้งแต่สาวชาวย้อชวนกันออกไปหาต้นกกหรือต้นผือ เมื่อได้แล้วจะแบกกกกลับบ้าน นำมาซอยกก แล้วนำกกไปตาก เมื่อกกแห้งได้ที่ก็นำไปย้อมสี แล้วจึงนำไปทอหรือต่ำสาด เมื่อได้เป็นผืนแล้วก็จะนำไปตัดริมให้เรียบ

 

3diamondรำปั้นหม้อ 

ชาวบ้านหม้อ ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่นครราชสีมา โดยอาศัยอยู่แถบบริเวณอำเภอพิมาย อำเภอบัวใหญ่ อำเภอโนนสูง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบอาชีพค้าขายสินค้าประเภทผ้าแพร ถ้วยชาม และเครื่องปั้นดินเผา ได้เดินทางมาขายที่จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม พบว่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดมหาสารคามมีหนองน้ำและดินดิบมากมาย จึงมาตั้งรกรากที่นี่ ได้ทำการปั้นหม้อและเครื่องมือเครื่องใช้ดินเผาอื่นๆ เช่น ครก ถ้วย ฯลฯ ปรากฏว่ามีผู้นิยมกันมากจนทำให้มีชื่อเสียง จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านหม้อ"

อุปกรณ์ในการปั้นหม้อมีดังนี้ ดินเชื้อ ดินดิบ แกลบ น้ำ ไม้กลิ้ง ไม้ตีราบ ไม้สักลาย หินดุ ครกหรือแท่นไม้ หนังควาย ถุงพลาสติก เขิงหรือตะแกรง ค้อนทุบดิน อ่างใส่น้ำเวลาปั้นและครกมอง

ขั้นตอนการปั้นหม้อ

  1. จัดทำดินเชื้อ โดยใช้ดินเหนียวมาทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน ผสมกับแกลบในอัตราส่วนเท่ากัน เคล้าให้เข้ากันปั้นเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ นำไปตากให้แห้งแล้วจึงนำไปเผาไฟ หลังจากทิ้งไว้ 2 วันก็นำดินเชื้อมาตำให้ละเอียดโดยใช้ครกมอง
  2. นำดินดิบมาทุบด้วยค้อนให้เป็นก้อนเล็กๆ ตากแดดให้แห้งพอหมาดๆ นำไปแช่น้ำพอดินอมน้ำก็นำไปทุบให้แตกแล้วย่ำดินดิบผสมกับดินเชื้อ ย่ำบนหนังควาย กระสอบหรือเสื่อรำแพน
  3. เมื่อนวดดินจนเข้ากันดีแล้วก็นำมาปั้นเป็นเบ้าคือ การหล่อเป็นแท่งใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับขนาดของหม้อ
  4. ทิ้งไว้พอหมาดๆ แล้วนำมาสวีปากและส่วนคอของหม้อโดยการนำใบสับปะรดซึ่งต้มและขูดเปลือกเขียวๆ ออก ซึ่งจะมีลักษณะเกลี้ยงจะได้ลื่นสะดวกในการสวีปากหม้อ โดยนำใบสับปะรดทาบลงบนปากหม้อ จับสองมือเดินหมุนไปรอบหม้อ
  5. สวีเสร็จก็นำไปตากแดดพอหมาดๆ จึงนำเบ้ามาตีด้วยไม้ตีราบ และใช้หินดุดันไว้ด้านใน ตีเป็นรูปร่างหม้อจนสมบูรณ์
  6. นำไปสักลายโดยใช้ไม้สักลายบริเวณคอหม้อ นำไปตากแดดให้แห้งรอการเผา
  7. การเผาของชาวบ้านหม้อ นิยมเผาง่ายๆ ในที่โล่งทั่วๆ ไป มีแดดส่องถึงโดยนำหลักกองเตามาวางเรียงกันจัดระยะห่าง เพื่อวางเป็นฐานสำหรับวางฟืนและฟาง นำหม้อที่จะเผาไปวางบนกองฟืน โดยคว่ำปากหม้อลงจุดไฟทางด้านล่างใช้เวลาเผาประมาณ 30 นาที

รำปั้นหม้อ จึงได้แนวคิดจากวิธีการปั้นหม้อ ซึ่งมีเอกลักษณ์และยังคงวิธีการอันดั้งเดิม ซึ่งแตกต่างจากการปั้นหม้อสมัยใหม่ และในปัจจุบันยังคงทำสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ทางวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ โดยอาจารย์สนอง จิตโคกกรวด และอาจารย์พัชราภรณ์ จันทร์เหลือง จึงได้ประดิษฐ์ชุดรำปั้นหม้อขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของอาชีพที่ควรอนุรักษ์ไว้ของชาวมหาสารคาม

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายจะใส่เสื้อม่อฮ่อมกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนสีพื้น ใช้ผ้าขาวม้ารัดอกและโพกศีรษะ ซึ่งเป้นลักษณะการแต่งกายของชาวโคราชเดิม

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน โดยใช้ลายลำเพลิน

ลำดับขั้นตอนของการแสดง ขบวนการฟ้อนเริ่มจากการที่ชายหนุ่มไปขนดินมาให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงจะเริ่มกระบวนการปั้นจนให้เป็นรูปหม้อ และฝ่ายชายจะนำฟืนมาเพื่อเตรียมเผาหม้อ ในระหว่างที่รอให้เผาหม้อให้เรียบร้อยจะมีการเกี้ยวพาราสีกัน

rabam pan mor

 

ฟ้อนปั้นหม้อดินถิ่นสารคาม

3diamondระบำปั้นหม้อ

ระบำปั้นหม้อ นี้ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสุรินทร์ได้จัดทำขึ้นเป็นชุดฟ้อน โดยนักศึกษาระดับปริญญาตรี อคป. รุ่น 7 ได้เขียนขึ้นเป็นวิทยานิพนธ์ เดิมเป็นลีลาท่วงทำนองสำเนียงลาว ทางภาควิชานาฏศิลป์จึงได้นำมาปรับปรุงให้เป็นสำเนียงเขมรสุรินทร์ ให้เหมาะสมกับอาชีพของชาวบ้านใหม่ ตำบลคอโด อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

ลำดับขั้นตอนการแสดง ท่าฟ้อนเริ่มตั้งแต่การขุดดิน นำดินมาร่อน นำดินมานวดจนได้ที่แล้วจึงนำมาปั้นขึ้นเป็นรูปหม้อเสร็จแล้วเขียนลายปากหม้อ นำหม้อไปเผาจนดินสุก เมื่อดินแกร่งจึงนำไปจำหน่ายและใช้สอยต่อไป

 rabam pan mor 2

blueline

next green คลิกไปอ่าน  การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง

 

redline

backled1

dance header

bulletการฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ

ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

fon silapa cheep

 

การฟ้อนศิลปาชีพ นับเนื่องได้ว่า พัฒนาขึ้นมาจากการประชุมของยูเนสโก (UNESCO) เมื่อราวปี พ.ศ. 2513 เพื่อที่จะส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประจำภาคในท้องถิ่นต่างๆ จึงได้มีการนำเอาการประกอบอาชีพต่างๆ มาจัดทำเป้นชุดฟ้อนขึ้น การฟ้อนศิลปาชีพนี้จะสะท้อนให้เห็นขั้นตอนในการประกอบอาชีพนั้นๆ

ชุดฟ้อนศิลปาชีพ นี้มีการแสดงในหลายภาค เช่น ในภาคเหนือก็มี ฟ้อนสาวไหม จ้องบ่อสร้าง ในภาคตะวันออกก็มี ระบำข้าวหลามหนองมน ระบำพัดพนัสนิคม ระบำทอผ้า ระบำศิลปาชีพ ส่วนในภาคใต้มีระบำสิลปาชีพที่มีชื่อเสียงมาก คือ ระบำปาเต๊ะ ระบำทำตาลบ้านระโนด ระบำร่อนแร่ ระบำปั้นหม้อ ส่วนในภาคอีสานก็เช่นเดียวกัน มีการประดิษฐ์ระบำศิลปาชีพขึ้นมาในหลายๆ รูปแบบด้วยกัน ซึ่งระบำศิลปาชีพของอีสานนั้น จะเน้นให้เห็นถึงอาชีพหลักของชาวอีสานนั้นก็คืออาชีพการทอผ้า

farmer thai

ชาวอีสานส่วนใหญ่มีอาชีพทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา เพราะฉะนั้นหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ชาวอีสานก็จะว่างจากการทำงานก็จะทำอาชีพรอง เช่น การทอผ้า การจักสาน การทอเสื่อ ฯลฯ ซึ่งพอจะทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นได้ อาชีพรองที่ชาวอีสานทำกันในแทบทุกจังหวัดของภาคอีสาน คือ การทอผ้า ดังนั้นชุดฟ้อนของภาคอีสานจึงมีชุดฟ้อนศิลปาชีพ ที่เกี่ยวกับการทอผ้ามากที่สุด เช่น รำตำหูกผูกขิด เซิ้งสาวไหม ฟ้อนเก็บฝ้าย ฟ้อนเข็นฝ้าย และฟ้อนแพรวา ฟ้อนอาชีพจึงเป็นการอนุรักษ์อาชีพของชาวอีสาน และเป็นการเผยแพร่ให้คนในท้องถิ่นอื่น เห็นความสำคัญของหัตถกรรมพื้นบ้านอีกด้วย ฟ้อนศิลปาชีพอีสานมีหลายชุดด้วยกัน

fon silapa cheep

farmer thai 2

3diamondรำต่ำหูกผูกขิด

การทอผ้าขิด เป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อนเป็นอย่างมาก ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการทอผ้าขิด ชาวอีสานจึงถือว่าผ้าขิด เป็นของสูงจะใช้ในพิธีสำคัญๆ เท่านั้น เช่น พิธีแต่งงาน เป็นต้น อุปกรณ์ที่สำคัญในการทอผ้าลายขิด

  1. ด้าย ในสมัยก่อนด้ายที่จะนำมาทอผ้า ไม่ว่าจะทอผ้าชนิดใดก็ตามผู้ทอจะต้องปลูกฝ้ายเอง แล้วนำฝ้ายมาผ่านกรรมวิธีต่างๆ จนได้เป็นเส้นด้ายออกมา แล้วจะนำมาย้อมสี ส่วนมากจะย้อมเป็นสีดำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ผ้าย้อมหม้อนิล"
  2. หลอดปั่นด้าย ใช้วัสดุที่หาง่ายๆ ไม่สิ้นเปลือง เช่น ไม้ลำปอ ที่มีขนาดพองาม มีรูกลวงข้างในพอที่จะสอดไส้ใส่กระสวยได้ หลอดปั่นด้ายมี 2 ขนาด และใช้ต่างกัน คือ ขนาดสั้นยาวประมาณ 2 นิ้ว ใช้สำหรับกระสวยที่จะทอผ้า วันหนึ่งๆ ประมาณ 10 - 20 หลอดขนาดความยาวนั้นใช้สำหรับค้นด้ายใส่หลักเผือ เพื่อเอามาทำเป็นเครือหูกใส่ฟืมทอ
  3. กระสวย คือ เครื่องมือใส่หลอดด้าย ทำด้วยไม้เนื้อแข็งขัดมัน เพื่อสะดวกในการสอดเข้าไปในผืนผ้า ขนาดความยาว 14 - 16 นิ้ว หนา 2 ซ.ม. เจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกลางกระสวยกว้างประมาณ 15 - 17 ซ.ม. ส่วนปลายทั้งสองข้างของกระสวยนั้นทำคล้ายเรือขุดคือเหลาให้งอนขึ้นทั้งสองข้าง เพื่อสะดวกในการสอดด้ายพุ่งเข้าไปในฟืมทวี
  4. อัก เป็นอุปกรณ์สำหรับเก็บเส้นด้าย
  5. กง เป็นอุปกรณ์ใส่ด้าย "ปอย" เพื่อจะสาวใส่อัก
  6. ไน ใช้สำหรับปั่นด้ายใส่หลอด เพื่อจะนำไปทอหูกบางทีเรียกว่า "หลา"
  7. หลักเผือ คือที่ค้นหูก การค้นหูกคือการนำด้ายจาก "อัก" ต่างๆ มาเกาะกับหลักเผือ แล้วสาวด้ายกลับไปกลับมา เพื่อให้ได้หูกยาวตามต้องการ การสาวด้ายไปตามหลักต่างๆ นี้ ด้ายจะขาดไม่ได้ ถ้าขาดก็ต้องต่อใหม่ แล้วสาวไปจนครบจำนวนเส้นตามต้องการ หลักเผือทำด้วยไม้ทั้งสี่ด้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 150 ซ.ม. ยาวประมาณ 200 ซ.ม. ทั้งสองด้านทำเป็นเดือยให้สูงขึ้นประมาณ 4 นิ้ว ระยะห่างระหว่างเดือยห่างกันประมาณ 4 นิ้ว จะทำกี่เดือยก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมและพอใจของผู้ทอ
  8. ฟืม (ฟันหวี) คือเครื่องมือทอผ้าสำหรับการกระแทกให้เส้นด้ายทอเรียงตัวกันชิดแน่นในเนื้อผ้า มีหลายขนาดแล้วแต่ความต้องการขนาดของความกว้างของหน้าผ้า เริ่มตั้งแต่ 12 นิ้ว ไปจนถึง 42 นิ้ว
hook kee
  1. เขา (ไม้เก็บเขา) คือเส้นต้ายที่ถักขึ้นเพื่อกันเส้นด้ายยืน (เครือหูก) ให้อยู่คงที่ในตำแหน่งตรงกับฟันหวีในฟืม เขาแต่ละเส้นจะเก็บด้ายไว้ 1 เส้น จึงมีจำนวนมากเท่ากับขนาดของฟืม
  2. กี่ คือโครงสร้างสำหรับขึ้งด้ายใส่หูก และรองรับชุดฟืมหวีและเขา ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเปนโครงสร้างที่แข็งแรง สามารถรับน้ำหนักของคนนั่งทอได้ สามารถยกเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ เพื่อให้สะดวกแก่การทอ
  3. แปรงหวีหูก คือแปรงทำด้วยเส้นใยต้นตาล ทำเป็นแปรงโตๆ ใช้ในการหวีเส้นด้าย ทำให้ทอง่ายขึ้นด้ายจะไม่ยุ่งหรือพันกัน
  4. ไม้เก็บขิด คือไม้ทำเป็นพื้นแบนๆ กว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ทำด้วยไม้ไผ่ ปลายของไม้เก็บขิดนี้จะแหลมข้างหนึ่ง เพื่อสะดวกในการเก็บด้ายตามลวดลายที่กำหนดไว้แล้ว
  5. ไม้ค้ำขิด คือไม้ที่ทำเป็นพื้นแบนๆ เหมือนกับไม้เก็บขิดแต่จะมีความกว้างมากกว่าประมาณ 5 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ปลายแหลมข้างหนึ่งเหมือนกัน ใช้สำหรับค้ำยกเส้นด้ายตามลวดลายที่ออกแบบไว้ให้สูงขึ้นเพื่อสอดกระสวยด้ายสีต่างๆ สร้างลวดลายให้ผ้าขิด จะใช้งานร่วมกันกับไม้เก็บขิด
  6. ไม้ไขว้ (ไม้ขนัด) คือไม้เล็กๆ 2 อัน กว้างประมาณ 1 ซ.ม. ยาวประมาณ 1 เมตร ใช้สอดด้ายเครือหูกให้ไขว้กันข้างบน และข้างล่าง เพื่อกันด้ายเครือหูกยุ่ง ทำด้วยไม้ไผ่เหลากลมๆ เพื่อสะดวกในการร้อยด้ายหรือเชือกใช้สำหรับขัดเส้นยืนให้เป็นลายขิด
  7. ไม้เหยียบหูก คือไม้ไผ่กลมๆ 2 อันยาวประมาณ 1 เมตร สำหรับสอดใส่ในเชือกร้อยเขา (ตะกรอ) ของฟันหวี ลงข้างล่างให้ผู้ทอหูกเหยียบให้เส้นด้ายเครือหูกเปิดอ้าขึ้นอ้าลงตามแรงเหยียบ เพื่อสอดกระสวยด้ายเส้นตั้งผ่านจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง แล้วกระแทกด้วยฟืมหวีให้แน่น การเหยียบสลับกันแต่ละครั้งก็จะสอดกระสวยจากด้านหนึ่งไปด้านหนึ่งสลับไปมา
  8. ไม้หาบหูก คือไม้ที่แข็งแรงสำหรับสอดหูเชือกที่ร้อยฟืมและเขาแขวนไว้บนกี่ บางทีเรียก ไม้หาบลูกกลิ้ง ทำจากไม้ไผ่ขนาดใหญ่พอประมาณ แข็งแรง ความยาวมากกว่าความกว้างของกี่ โดยทั่วไปยาวประมาณ 180 ซ.ม.
  9. ไม้ลายขิด เป็นไม้ไผ่เหลากลมๆ เล็กๆ ความยาวประมาณ 1 เมตร สำหรับใช้สอดในด้ายหูกเพื่อกำหนดลายขิด มีจำนวนเท่ากับลายขิดที่ออกแบบไว้
  10. ไม้กำพั้น (ไม้ม้วนผ้า) เป็นไม้เนื้อแข็งขนาดประมาณ 2.5 x 2.5 นิ้ว ปลายข้างหนึ่งเหลาให้กลม อีกข้างหนึ่งเป็นรูปเหลี่ยม เพื่อกันไม่ให้ลื่นพลิกคลายตัวออกไป ใช้สำหรับม้วนเก็บผ้าที่ทอเสร็จแล้ว จะอยู่ถัดจากฟืม (ฟันหวี) มาทางผู้ทอ
hook kee 2

ขบวนการในการเตรียมฝ้ายก่อนทอ

  1. การเลือกซื้อด้าย ก่อนที่จะทำสิ่งอื่นใดในการทอผ้าลายขิด เราจะต้องทำการเลือกซื้อด้ายสีต่างๆ ตามที่เราชอบ เช่น สีเหลือง สีส้ม สีชมพู สีดำ สีฟ้า แต่สีที่จะขาดไม่ได้คือสีขาว ที่ใช้เป็นสีพื้นตามความกว้างความยาวของหูก ตามที่เราต้องการ
  2. การฆ่าด้าย ด้ายที่ซื้อมาจะนำไปทอเลยทันทีไม่ได้ ต้องทำให้ด้ายมีความคงทนและเส้นเรียบเสมอกัน ด้วยการนำมาฆ่า กล่าวคือ ต้มข้าวเจ้าเละๆ เทน้ำต้มข้าวลงไปในด้ายคลุกให้เข้ากันแล้วนำไป "ทก" โดยสอดด้ายใส่ในไม้กั้นประตูบ้าน กระแทกไม้นั้นไปเรื่อยๆ ด้ายจะแยกกันออกเรียงเส้นด้ายดียิ่งขึ้น นำด้ายไปตากให้แห้ง เป็นเสร็จกระบวนการฆ่าด้าย
  3. การกวักด้าย นำด้ายที่ฆ่าแล้วตากแห้งใส่ลงไปใน "กง" กวักด้ายออกจากกงให้เข้าไปอยู่ในอัก โดยการหมุนอักไปเรื่อยๆ ด้ายจากกงก็จะเคลื่อนที่ออกมาเข้าสู่อักตามต้องการ เมื่อกวักด้ายเสร็จแล้ว เราก็จะได้ด้ายไปอยู่ในอักหลายๆ อัก
  4. การค้นหูก เป็นขั้นตอนของการนำด้ายออกจากอักใส่ลงในไม้หลักเผือ เพื่อให้ได้ความยาวของหูกตามที่ต้องการ โดยนำด้ายใส่ลงในเดือยของหลักเผือวนจากซ้ายไปขวาไปมาเรื่อยๆ จนได้ความยาวตามต้องการ
  5. การปั่นหลอด เป็นการปั่นด้ายจากกงใส่หลอด บรรจุในกระสวย เพื่อทำการทอเป็นด้ายเส้นพุ่ง
  6. การสืบหูก เป็นการนำด้ายที่ค้นหูกเรียบร้อยแล้วมาต่อเข้ากับเขาหูก ด้วยการใช้นิ้วมือหมุนปลายด้ายให้พันติดกัน โดยใช้ข้าวสุกช่วย
  7. การกางหูก หลังจากเตรียมสิ่งต่างๆ แล้ว ก็ถึงขั้นกางหูก ส่วนใหญ่นิยมกางใต้ถุนบ้านเพื่อสะดวกในการทอหูก ไม่ต้องกลัวฝนตก แดดออก ทอได้ตลอดเวลา
  8. การทอ ในการทอผ้าลายขิดจะเป็นการทอผ้าทางยืน ยาวตามความต้องการของผู้ทอ การทอผ้าขิดต่างจากการทอผ้าอื่นตรงที่จะต้องมีไม้แบนๆ ประมาณ 2 นิ้วครึ่งช่วย นอกจากนี้จะมีไม้เล็ก ขนาดก้านมะพร้าว เป็นไม้สอดตามไม้เก็บขิดอีก 20 - 30 อัน ขั้นแรกจะใช้กระสวยสอดไปตามธรรมดาก่อน โดยใช้สีตามต้องการ พอถึงตอนที่เป็นลายขิดถ้าต้องการให้ด้ายกี่โผล่ก็สอดไม้คั่น ถ้าต้องการให้ด้ายขาวโผล่ก็สอดไม้ลง สอดกระสวยและกระตุกฟืม ก็จะได้ลายขิดตามต้องการ

ลายขิด มีอยู่มากมายแต่แบ่งออกเป็นลายใหญ่ๆ ได้ 4 ประเภท คือ ขิดลายสัตว์ ขิดลายพันธุ์ไม้ ขิดลายสิ่งของ เครื่องใช้ และขิดลายเบ็ดเตล็ด

การแสดงชุด "รำต่ำหูกผูกขิด" เป็นการแสดงให้เห็นขั้นตอนต่างๆ ในการทอผ้าลายขิด ตั้งแต่เริ่มเก็บฝ้าย การกวักฝ้าย การค้นหูก การปั่นด้าย จนกระทั่งทอเป็นผืน

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงหญิงล้วน เสื้อแขนกระบอกคอกลมนุ่งซิ่น ใช้ผ้าผูกเอว เกล้ามวยทัดดอกไม้

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ใช้ลายลำเพลิน และทำนองเซิ้ง

 

3diamondฟ้อนทอเสื่อบ้านแพง

ชาวบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีอาชีพหลักในการทำนา ส่วนอาชีพรองที่ทำชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านคือ การทอเสื่อกก "กก" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไหล ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการทอเสื่อนั้น ชาวบ้านแพงจะปลูกเอง โดยนำหน่อกกไปปลูกบนผักตบชวาที่นำมามัดรวมกันเป็นเกาะ ลอยน้ำกลบด้วยดินโคลน และหาไม้ค้ำไว้ไม่ให้ผักตบชวาลอยไปตามน้ำ การปลูกลักษณะนี้จะได้กกที่มีความสมบูรณ์ มีคุณภาพดีและสามารถเก็บเกี่ยวกกได้ตลอดทั้งปี

kok keb kiew tor

เมื่อกกโตเต็มที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ชาวบ้านใช้เคียวเกี่ยวกกโดยเกี่ยวลำต้นจนติดดินให้เหลือตอสั้นที่สุด เมื่อได้มาแล้วก็คัดขนาด นำไป "สอย" คือการจักกกให้เป็นเส้นๆ โดยใช้มีดตอก เอาเฉพาะเปลือกข้างนอกให้มีเนื้อสีขาวๆ ข้างในติดเล็กน้อย นำไปตากจนแห้ง แล้วนำไปย้อมสีและตากแดดอีกครั้ง ก่อนนำไปทอเป็นผืน โดยใช้คนสองคน คนหนึ่งทำหน้าที่สอดกกทีละเส้นให้เส้นหัวและเส้นหางกกสลับกันไป อีกคนหนึ่งจะเป็นคนกระแทกฟึมให้เส้นกกชิดกันแน่น เมื่อเส็จแล้วก็นำไป "ไพ" คือการพับเก็บริมเสื่อทั้งสองข้างให้เรียบร้อยสวยงาม

kok yom tor

ฟ้อนทอเสือบ้านแพง ได้แรงบันดาลใจมาจากอาชีพการทอเสื่อของชาวบ้านแพง ซึ่งวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ โดยอาจารย์พัชราภรณ์ จันทร์เหลือง และอาจารย์สนอง จิตรโคกกรวด เป็นผู้คิดค้นท่ารำเป็นชุดฟ้อนขึ้น ต่อมาอาจารย์ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม) ได้ร่วมปรับปรุงชุดฟ้อนให้สวยงามยิ่งขึ้น และเปลี่ยนทำนองเพลงเป็นลาวแพนน้อย และเพิ่มทำนองลำเพลินและเซิ้งบั้งไฟเข้าไปในปี พ.ศ. 2531 เพื่อให้ดนตรีประกอบมีสีสันทั้งเร็วและช้า

การแสดงชุด "ฟ้อนทอเสือบ้านแพง" ท่าฟ้อนก็ประดิษฐ์ดัดแปลงมาจาก การนำกกไปปลูก เกี่ยวกก สอยกก (หรือจักกก) นำกกไปตาก พรมน้ำกก ย้อมสีกก ตากกก ต่ำกก (หรือทอกก) จนเป็นผืน

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงหญิงล้วน ห่มผ้าแถบสีสด จับจีบหน้าอกด้านซ้าย นุ่งผ้าถุงยาวสีพื้นมีเชิง คาดเอวด้วยผ้าขิด ผมเกล้ามวยติดดอกไม้สีเหลือง

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ประกอบกัน 3 ทำนองคือ ทำนองเพลงลาวแพนน้อย ทั้งจังหวะช้าและเร็ว ลายลำเพลินและลายเซิ้งบั้งไฟ

รำทอเสื่อกกบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย

 

blueline

next green คลิกไปอ่าน  การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง

 

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)