คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปินพื้นบ้าน ปราชญ์พื้นบ้าน คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันหลากหลาย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเราชาวอีสาน จึงขอประกาศเชิดชูคุณูปการของท่านเหล่านั้นให้ลูกหลานได้รู้จัก เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง บางท่านได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น "ศิลปินแห่งชาติ" ในสาขาต่างๆ ผู้จัดทำเว็บไซต์ไม่อาจทำความรู้จักกับศิลปินพื้นบ้านทุกท่านได้ ก็ได้แต่หวังว่าจะได้รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ในท้องถิ่นต่างๆ ได้ช่วยชี้แนะกันมา ยินดีรับข้อมูลและภาพประกอบของศิลปินชาวอีสานทุกท่านนำมาเสนอ ณ ที่นี้ ขอบพระคุณทุกๆ ท่านครับ
ศิลปีนแห่งชาติ ประจำปี 2529
สาขา ทัศนศิลป๋ (การปั้นแกะสลัก) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2529
สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2529
สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2531
สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2534
สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2536
สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2540
สาขาศิลปการแสดง (หมอลำ) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2544
นักเขียนรางวัลซีไรต์คนแรกของไทย |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2549
สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2556
สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2557
สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง) |
นางคำปุน ศรีใส
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2561
สาขาทัศนศิลป์ ประณีตศิลป์ (การทอผ้า) |
นายทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2562
สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564
สาขาศิลปะการแสดง (เพลงโคราช) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564
สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง) |
นายมีชัย แต้สุจริยา
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564
สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) |
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565
สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำประยุกต์) หมอลำ ดีกรีปริญญาเอกคนแรก
|
ดร.ปรีชา พิณทองนักปราชญ์ผู้รอบรู้วิถีชีวิตคนอีสานเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเรียบเรียง ตำราทั้งคดีโลกและคดีธรรม |
ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะวัฒนธรรม
จารีตประเพณีอีสาน ได้รับการยกย่องเป็น "เจ้าโคตรเมืองอุบล" |
ปราชญ์ชาวบ้าน มีความรู้ด้านศาสนพิธี พุทธปรัชญา การปฏิบัติสมาธิ
และการจ่ายผญา |
ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรณารักษ์ สารสนเทศ
และศิลปะการฟ้อนภาคอีสาน |
พระเอกหมอลำคณะรังสิมันต์
ต้นฉบับหมอลำกลอนทำนองอุบล |
ศิลปินนักร้อง/หมอลำ
ยุคเดียวกับบานเย็น รากแก่น |
หมอลำโกอินเตอร์กว่า 20 ประเทศ
|
เทพแห่งแคน ผู้ไร้ดวงตาแต่หัวใจมีเพลง
หมอแคนมากความสามารถของไทย |
ผู้ก่อตั้งวงดนตรีลูกทุ่งพูดจาภาษาอีสาน
วงดนตรีเพชรพิณทอง |
|
ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ผู้สืบสานพิณอีสาน
แห่งจังหวัดอำนาจเจริญ |
นายอุส่าห์ จันทรวิจิตรนายช่างประติมากรรมศิลปะอีสาน
และต้นเทียนพรรษาอุบลราชธานี |
นายทองฮวด ฝ่ายเทศศิลปินดนตรีซอพื้นบ้านอีสาน
|
ผู้ประพันธ์กลอนลำฮิตติดปาก
ชมรมแท็กซี่, โบว์รักสีดำ |
"ทิดโส สุดสะแนน" นักจัดรายการวิทยุ
นักแต่งเพลงลูกทุ่งแห่งจังหวัดอำนาจเจริญ |
นักแต่งเพลงลูกทุ่ง/หมอลำ
แห่งจังหวัดสุรินทร์ |
นักแต่งเพลงลูกทุ่ง/หมอลำ
แห่งจังหวัดอุบลราชธานี |
หมอลำกลอนเพอะ (สองแง่สองง่าม)
ฉายา "หมอลำคูณหี" เมืองอุบลฯ |
หมอลำหญิงเสียงดีของเมืองอุบลราชธานี
บันทึกแผ่นเสียงลำคู่กันกับหมอลำคูณ |
หมอลำอาวุโสที่มีชื่อเสียงในอดีต
อยู่ในหมอลำคณะ สุนทราภิรมย์ |
ปราชญ์ชาวบ้านผู้ประพันธ์กลอนลำ
ชีวิตชาวนา ให้ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน |
ปราชญ์ชาวบ้านผู้ประพันธ์กลอนลำ
ให้ ศิลปินหมอลำอีสานมากมาย |
นักคิด นักเขียน นักวิชาการการศึกษา
ผู้ประพันธ์นวนิยาย ครูบ้านนอก |
ปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญาไทย
ด้านปรัชญาศาสนา และประเพณี ได้รับยกย่องให้เป็น "ปรัชญาเมธีอีสาน" |
นักประพันธ์/นักร้องเพลงลูกทุ่งดัง
เจ้าของเพลง หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ |
พระครูดีโลดพระสงฆ์ผู้สืบสานต่อพระศาสนา
เชี่ยวชาญงานช่างศิลป์เป็นเลิศ |
นายอัมพร ขันแก้วภูมิปัญญาอีสานด้านดนตรีพิณ-ซุง
และปราชญ์สมุนไพรพื้นบ้าน |
นายเทพบุตร สติรอดชมภูเจ้าของค่ายเพลงอีสานยุคแรก
ผู้สร้างตำนานหมอลำคณะรังสิมันต์ |
นายเตรียม ชาชุมพรศิลปินผู้วาดภาพประกอบแบบเรียน
ภาษาไทย ชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ |
หนิงหน่อง เพชรพิณทองดาวตลกอีสานผู้สร้างความหรรษา
กับวงดนตรีเพชรพิณทอง |
นายทอง ล้อมวงศ์ปราชญ์พื้นบ้านช่างหัตถกรรม
ทองเหลืองบ้านปะอาว |
น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ศิลปินพื้นบ้านกันตรึม
ฉายา Queen of กันตรึม |
หนุ่ม ภูไทนักเรียบเรียงเสียงประสานดนตรี
ลูกทุ่งอีสานอันเป็นเอกลักษณ์ |
นายเมฆ ศรีกำพล
ศิลปินดนตรีพื้นบ้านอีสาน
การทำและเป่าปี่ภูไท |
นายแสนคม พลโยธานักแต่งเพลงลูกทุ่ง/หมอลำ |
นายสวัสดิ์ สิงประสิทธิ์นักแต่งเพลงลูกทุ่ง/หมอลำ |
@
|
ศิลปินพื้นบ้านภาคอีสาน จากตำนานอดีตสู่ปัจจุบันนั้น มีมากมายหลายท่าน ที่ยังได้รับการกล่าวขานถึงด้วยความสามารถอย่างแท้จริง อย่าง คุณแม่หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ) โคจรมาพบกับ หมอแคนระดับเทพอย่าง หมอแคนสมบัติ สิมหล้า และ ราชาพิณอีสาน ทองใส ทับถนน ในงานมหกรรมศิลปะพื้นบ้านภาคอีสาน
ท่านใดมีประวัติส่วนตัวของศิลปินอื่นๆ ที่ยังไม่ปรากฏในเนื้อหาหน้านี้ อยากจะนำมาเผยแพร่ เพื่อยกย่องเกียรติคุณของท่านเหล่านั้น ให้ลูกหลานได้รู้จัก โปรดได้แจ้งมายัง กระผมผู้จัดทำเว็บไซต์นี้ได้ทันทีครับ ทางโทรศัพท์หมายเลข 08-1878-3521 หรือทางอีเมล์ webmaster (@) isangate.com ได้ครับ ขอขอบพระคุณทุกท่าน
สำหรับข้อมูลจะส่งให้ในรูปเอกสารเวิร์ด ภาพประกอบต่างๆ ที่ท่านได้เรียบเรียงมาดีแล้ว หรือจะแนะนำส่งลิงก์ที่เกี่ยวข้องมาให้ทางทีมงานเราได้รวบรวม เรียบเรียงให้เหมาะสมก็ได้ครับ ยินดีให้เครดิตแก่ท่านในการนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้น คงไม่มีค่าตอบแทนสำหรับท่านนะครับ นอกจากความเคารพรักในน้ำใจ เพราะผมอาจจะมีรายได้จากแบนเนอร์โฆษณาบ้างเล็กน้อย ก็ยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายค่าโดเมน/ค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ ต้องอาศัยจากเงินเดือนข้าราชการบำนาญของผมเองเข้าช่วยบ้าง จึงพออยู่รอดได้ครับ
รู้จักกับภาคอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่น | อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมประเพณี | ฮีตสิบสองคองสิบสี่
ประเพณีและความเชื่อของชาวอีสานนั้น นับว่ามีส่วนช่วยทำให้การดำรงชีวิตของสังคม มีความสงบร่มเย็น ความเชื่อในเรื่อง ภูตผี เทพาอารักษ์ ถูกกำหนดขึ้นด้วยจุดประสงค์แฝงเร้นให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นถิ่น สร้างแหล่งอาหาร พืชพันธุ์อันอุดมสมบูรณ์ และช่วยรักษาป่าไม้ให้กับชุมชน หลายๆ ประเพณีจึงมีขึ้นเพื่อเป็นการรวมใจของคนในชุมชน สร้างขวัญกำลังใจในการประกอบสัมมาอาชีพ ล้วนแล้วแต่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นอันทรงคุณค่า เมื่อท่านไปเยือนถิ่นอีสาน นอกจากจะได้ชื่นชมกับขนบธรรมเนียมประเพณี การแสดงออกทางด้านศิลปวัฒนธรรมอันสวยงาม สนุกสนานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดมิได้เลยคือ อาหารการกิน ที่มีรสแซบถูกปากเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
รู้จักกับภาคอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่น | อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมประเพณี | ฮีตสิบสองคองสิบสี่
ความบันเทิงเริงใจของคนอีสานมีมาเนิ่นนาน มีเครื่องดนตรีที่มีท่วงทำนองอันเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่านี่คือ "สำเนียงอีสาน" อันแท้จริง การขับร้องบทเพลงต่างๆ นั้นบ่งบอกได้ทั้งความอุดมสมบูรณ์ ความมีชีวิตชีวา ความสนุกสนาน การทำมาหากินของผู้คน และบางเพลงกับท่วงทำนองก็บ่งบอกถึงความห่วงหาอาทร คิดถึงบ้านที่จากมาทำงานในถิ่นอื่นๆ รวมทั้งรำพันถึงความรักต่อญาติพี่น้อง คนรักในทางไกลที่จากมา มีพัฒนาการต่อเนื่องมาเนิ่นนานจากอดีตสู่ปัจจุบัน จนในที่สุดท่วงทำนองพื้นบ้านอีสานก็มีส่วนเชื่อมโยงและเข้าถึงกับคนในทุกภาค ด้วยการนำทำนองอีสานไปร่วมกับดนตรีร่วมสมัย (เครื่องดนตรีสากลยุคใหม่) และคำร้องภาษาอีสานที่ปนกับภาษากลางไปเป็นเพลงรูปแบบใหม่ๆ ที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง
หมอลำ คือ การขับร้องลำนำ นิทานพื้นบ้านโบราณ บทกลอนบทกวีต่างๆ ทั้งที่เป็นการขับร้องเดี่ยวๆ ไม่มีดนตรีประกอบ และการขับร้องประกอบเครื่องดนตรีคือ "แคน" เป็นหลัก จากการขับร้องเดี่ยวๆ มาเป็นคู่ และเป็นหมู่คณะ มีเครื่องดนตรีหลายชนิดประกอบให้มีความไพเราะ สนุกสนาน จนเป็นที่นิยมกลายเป็นเพชรน้ำเอกของภาคอีสาน โอกาสที่จะมีการแสดงหมอลำ คือ งานทำบุญให้ทาน งานรื่นเริงในหมู่บ้าน และงานฉลองต่างๆ ในช่วงออกพรรษา
วิวัฒนาการของหมอลำดำเนินต่อเนื่องมาเป็นลำดับนานต่อเนื่อง จาก หมอลำ (ลำคนเดียว) มาเป็น หมอลำคู่ หมอลำหมู่ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมมากมาย เดินสายไปแสดงการลำกันทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ จนมาถึงยุคละครโทรทัศน์เฟื่องฟู มีการทำนายกันว่า "หมอลำตายแน่" ไม่ค่อยมีงานแสดง แต่คำทำนายไม่เป็นจริงเกิดมี หมอลำซิ่ง เป็นวงหมอลำผสมดนตรีสากลสมัยใหม่ ที่ครึกครื้นกลับมาอีกระยะหนึ่ง และพัฒนาต่อกลายเป็น วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ ที่โด่งดังมากมายในปัจจุบัน เช่น คณะเสียงอีสาน ประถมบันเทิงศิลป์ และอื่นๆ ซึ่งเมื่อมีตัวเอกชูโรงโด่งดัง จาก พระเอก นางเอกหมอลำ ก็มีการแยกตัวออกมาเป็น นักร้องลูกทุ่งเดี่ยว ออกมาตั้งคณะกันมากมาย [ อ่านเพิ่มเติมได้จาก : หมอลำศิลปะพื้นบ้านที่ไม่มีวันตาย ]
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ให้คำจำกัดความถึง เพลงลูกทุ่ง ว่า หมายถึง เพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม อุดมคติ และวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งให้บรรยากาศของความเป็นลูกทุ่ง
เพลงลูกทุ่ง เป็นเพลงมีวิวัฒนาการมาจากเพลงพื้นเมือง หรือเพลงชาวบ้าน แก่นเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งที่สะท้อนให้เห็นลักษณะของวิถีไทย ถึงแม้ว่าจะใช้เครื่องดนตรีของตะวันตกมาใช้บรรเลงทำนอง และเมื่อพิจารณาถึงเพลงพื้นเมืองอันเป็นต้นกำเนิดของเพลงลูกทุ่ง พบว่า เพลงพื้นเมืองเป็นวรรณกรรมที่บรรจุเนื้อหาของสังคม และชีวิตจริงของคนไทยในแต่ละท้องถิ่นไว้ในความเรียบง่ายของท่วงทำนองดนตรี (ภิญโญ จิตต์ธรรม, 2516 : 16) เนื้อเพลงลูกทุ่งแสดงถึงความรู้สึกนึกคิด โลกทัศน์ที่มีต่อสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเนื้อเพลง ทำนอง ดนตรีประกอบ มีรูปแบบที่เรียบง่าย ซึ่งกล่าวได้ว่า เพลงลูกทุ่งอาจจะเกิดขึ้นเพราะ คนชนบทส่วนใหญ่นิยมที่จะร้องเพลง ที่มีสำเนียงในรูปแบบของตนเองที่ติดมาจากท้องถิ่น ติดมาจากพวกเพลงลำตัด หรือ ลิเก ที่มีการเล่นลูกคอ ลูกเอื้อน หรือว่าอย่างลีลาของหมอลำ ก็มีแนวทางการร้องลูกคอของเขาพลิ้วพรายไปอีกแบบหนึ่ง ไม่ร้องตรงๆ (พยงค์ มุกดาพันธ์, 2532 : 35–36) และจากสำเนียงการร้องดังกล่าว ต่อมาจึงเกิดการเรียกรูปแบบแนวเพลงลูกทุ่งขึ้นหลายประเภท ได้แก่ ลุกทุ่งปักษ์ใต้ ลูกทุ่งล้านนา ลูกทุ่งอีสาน ลูกทุ่งหมอลำ ลูกทุ่งเพื่อชีวิต เป็นต้น
เพลงลูกทุ่งไทย ใช้ภาษาง่ายๆ ตรงไปตรงมา ในลักษณะเดียวกันกับเพลงพื้นบ้าน เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป และแพร่ขยายกว้างไกลถึงชนบททุกแห่ง เพลงลูกทุ่งหลายเพลงสะท้อนถึงสภาพสังคม ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมไทย หลายเพลงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทย บางเพลงเป็นหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์สังคมของประเทศ บางเพลงเป็นที่รวมของภูมิปัญญา และทรัพย์สินทางปัญญาของชาวบ้าน เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติที่มีค่าเป็นอย่างยิ่ง
ที่มาของคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” พัฒนาการระยะแรกของเพลงลูกทุ่งนั้น ใช้คำว่า “เพลงตลาด หรือ เพลงชีวิต” เป็นคำเรียกบทเพลงของนักร้องเพลงไทยสากลกลุ่มหนึ่ง ในช่วงภายหลังสงครามครั้งที่ 2 อย่างไม่เป็นทางการ โดย ป. วรานนท์ (ประชา วรานนท์) นักจัดรายการวิทยุพล 1 ใช้เรียกขาน เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2498 – 2499 เพลงแนวนี้ได้รับความนิยมกว้างขวาง เหล่านักร้องที่ถูกเรียกขานว่าเป็น กลุ่มนักร้องเพลงตลาด บางคนก็ถูกเรียกขานว่าเป็น นักร้องเพลงชีวิต เพราะร้องเพลงสะท้อนชีวิต สะท้อนสังคม เช่น แสงนภา บุณราศรี, คำรณ สัมบุณณานนท์, เสน่ห์ โกมารชุน (จำนง รังสิกุล, 2527 : 72) ซึ่งทั้งลีลาและการขับร้องเป็นลักษณะที่แปลกกว่าบทเพลง หรือลีลาการขับร้องเพลงของนักร้องที่มีผลงานเพลงแพร่หลายอยู่ในขณะเดียวกัน
พอจะสืบสาวได้ว่าเพลงที่มีแนวเป็นเพลงลูกทุ่ง และบันทึกไว้เป็นหลักฐานเป็นเพลงแรก คือเพลง "โอ้เจ้าสาวชาวไร่" ผลงานประพันธ์ทำนองและคำร้องของ ครูเหม เวชกร เมื่อ พ.ศ. 2481 ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์ เป็นเพลงประกอบละครวิทยุเรื่อง "สาวชาวไร่"
ส่วนคำว่า "เพลงลูกทุ่ง" อาจารย์จำนง รังสิกุล คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ปลายปีเดียวกัน ประกอบ ไชยพิพัฒน์ จัดรายการเพลงทางสถานีไทยโทรทัศน์ ตั้งชื่อรายการว่า "เพลงลูกทุ่ง" ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2509 มีการจัดงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 2 สมยศ ทัศนพันธ์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในฐานะ "นักร้องลูกทุ่งชาย" ยอดเยี่ยม โดยที่ในการจัดงานครั้งแรกเมื่อพฤษภาคม 2507 นั้น ยังไม่มีเพลงลูกทุ่งเข้าประกวด
เพลงลูกทุ่งอีสาน เนื้อหาและหลักเกณฑ์ในการเป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน สามารถมองได้จากภาษาที่ใช้ในคำร้องเพลงลูกทุ่ง ใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานปะปนภาษาภาคกลาง และสำเนียงการเอื้อนเสียง ลีลา สำเนียง แม้ว่าจะใช้เครื่องดนตรีสากลบรรเลงเพลงลูกทุ่งอีสาน แต่สำเนียงก็จะปรากฏออกมาเป็นทำนองพื้นบ้านอีสาน โดยใช้เครื่องดนตรีสากลประกอบเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน เพื่อให้เห็นบรรยากาศท้องถิ่นตามคำร้อง ทำนอง และ สำเนียงเพลงพื้นบ้านอีสาน (นิพินธุ์ สุวรรณรงค์, 2553 : 95-96)
เพลงลูกทุ่งอีสาน ได้พัฒนาการทางวัฒนธรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง มีเนื้อหาเพลงที่ฟังง่าย จำง่าย ผู้ฟังได้ฟังเพียงไม่กี่ครั้งก็สามารถร้องได้ทั่วๆ ไป บางครั้งมีการนำเอา ”ทำนองลำ” มาผสมผสานเข้ากันกับเพลงลูกทุ่งอีสาน จนทำให้เป็นที่มาของแนวเพลง “ลูกทุ่งหมอลำ” ซึ่ง “หมอลำ” นั้นนับว่าเป็นการแสดงพื้นบ้านที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย การแสดงหรือการเล่นหมอลำส่วนมาก จะเล่นเพื่อความบันเทิง ฉะนั้นจึงมักจะเล่นเมื่อมีเทศกาลงานประจำปี เช่น งานประเพณีสำคัญ และงานบุญต่างๆ การแสดงหมอลำไม่มีหลักฐานจารึกชัดเจนว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด (เจริญชัย ชนไพโรจน์, 2529: 11-59)
เพลงลูกทุ่งหมอลำ มีบทบาทสำคัญในเรื่องให้ความบันเทิง ความสนุกสนานเป็นมหรสพในงานประเพณี งานรื่นเริงต่างๆ พร้อมทั้งสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับศิลปิน นักร้อง นักประพันธ์ นักเรียบเรียง และนักดนตรี เป็นอย่างมาก และจากอดีตจนถึงปัจจุบัน กระแสธุรกิจบันเทิงได้เป็นตัวผลักดัน ในการพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานเพลงลูกทุ่งหมอลำ ให้เป็นไปตามกระแสนิยมของสังคมเพื่อความอยู่รอด จากบทบาทความสำคัญของเพลงลูกทุ่งหมอลำ ที่มีอิทธิพลต่อชาวอีสานดังกล่าว เห็นควรแก่การเรียนรู้ถึง กำเนิดเพลงลูกทุ่ง พัฒนาการของเพลงลูกทุ่งอีสาน และเพลงลูกทุ่งหมอลำ เพลงพื้นบ้านอีสานแพร่กระจายสู่เมืองกรุงในปัจจุบัน
รำโทน เป็นภูมิปัญญาและศิลปะของชาวอีสานที่มีมาก่อน รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะส่งเสริมเสียอีก ซึ่งคำว่า “รำโทน” นั้นมีสาเหตุมาจากการใช้ กลองโทน มาบรรเลงประกอบจังหวะการละเล่นพื้นบ้านของชาวอีสาน โดยลักษณะกลองโทนนั้น ใช้หนังงูเหลือมเป็นหนังหน้ากลอง บางครั้งก็ใช้หนังกบ ตัวกลองทำด้วยดินเผา จะมีเสียงดัง “ปอดป่อง ปอดป่องๆ ๆ” ซึ่งนำมาประกอบกับจังหวะการลำ ตามเสียงของหนังกลองงูเหลือม เพลงที่ผู้แต่งนำมาเลียงของการบรรเลงโทน คือ “เพลงบักหลอดปอดป่อง” ซึ่งเป็นเพลงของ “ครูเบญจมินทร์” ได้นำมาบันทึกแผ่นเสียง มีเนื้อร้องว่า... “บักหลอดปอดป่อง ไถนาวันพระ ฝนตกฮะบักหลอดปอดป่อง”
ถึงแม้ชาวอีสานจะถูกรัฐบาลในครั้งนั้น นำเอาศิลปะรำโทน ซึ่งเป็นศิลปะของตัวเอง ไปเป็นศิลปะประจำชาติ และถึงแม้ชาวอีสานจะหันไปนิยมรำโทนที่เป็นรูปแบบใหม่ของรัฐบาลก็ตาม แต่ทว่าในพื้นถิ่นของภาคอีสาน ก็ยังมีการสร้างผลงานรำโทนในรูปแบบของ “นิทานก้อม” แบบดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะรูปแบบของท่วงทำนอง ลีลาจังหวะของรำโทนนั้น เป็นลักษณะเฉพาะของชาวอีสาน ต่อมา รำโทน มีรูปแบบของท่วงทำนองลีลาจังหวะเปลี่ยนไป มีการปรับเปลี่ยนดัดแปลง และเสริมแต่งจากนักประพันธ์เพลงในแต่ภาคแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเป็นเพิ่มสีสันเพื่อให้เหมาะสมกับเพลงที่ใช้ประกอบกับการเต้นรำ แล้วมีการนำเพลงรำโทนในรูปแบบใหม่มาบันทึกแผ่นเสียง และได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย
ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ได้นำนิทานก้อมมาดัดแปลงใช้บันทึกแผ่นเสียงรำโทน ได้นำเอาเนื้อนิทานก้อมมาเป็นพื้นฐาน จัดรูปแบบพัฒนาดัดแปลงคำร้อง และจัดโครงสร้างใหม่ เพื่อให้เป็นเพลงลูกทุ่งหลายเพลง ได้แก่ เพลงบ้องกัญชา แต่งให้ กาเหว่า เสียงทอง ร้องในปี พ.ศ. 2513 และเพลงผ้าขาวม้า แต่งให้ สาลิกา กิ่งทอง ร้องในปี พ.ศ. 2514 เป็นต้น
ในยุคช่วงปี พ.ศ. 2504 ของเพลงลูกทุ่งที่ใช้คำร้องภาษาอีสาน คือ “ศักดิ์ศรี ศรีอักษร” นักร้องสาวจากจังหวัดอุบลราชธานี ในผลงานเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ซึ่ง พิพัฒน์ บริบูรณ์ ได้เลือก ชาญชัย บัวบังศร บันทึกเสียงดนตรีสากล (แอคคอเดี้ยน) แต่ถ้าเป็นทางดนตรีอีสานเลือก สมัย อ่อนวงศ์ หมอแคนชาวจังหวัดเพชรบุรี เป่าแคนบันทึกเสียง เพลง “ผู้ใหญ่ลี” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพในชนบทของชาวอีสาน กล่าวถึงในยุคก่อน ผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ของชาวอีสานไม่ชินกับการใช้ภาษาไทยกลาง พร้อมทั้งมีความรู้ก็น้อยในการปฏิบัติหน้าที่ปกครองลูกบ้าน และเป็นเรื่องเล่าขานที่ตลกสนุกสนาน ในการใช้ภาษาผิดๆ ถูกๆ ซึ่ง ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในปี พ.ศ. 2514 สถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 ขอนแก่น ได้จัดการประกวดแข่งขันลำเรื่องต่อกลอน ผลการแข่งขันปรากฏว่า “คณะอุบลพัฒนา” ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมทั่วภาคอีสาน ในขณะนั้น ครูสุรินทร์ ภาคศิริ (หรือ ทิดโส สุดสะแนน) พร้อมกับนายห้างแผ่นเสียงกรุงไทย ประเสริฐ หวังสันติพร กำลังค้นหานางเอกแสดงภาพยนตร์ ในเรื่อง “บัวลำภู” ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ โดยมีเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเพลง “อีสานลำเพลิน” ประพันธ์โดย ครูสุรินทร์ ภาคศิริ
อีสานลำเพลิน โดย อังคนางค์ คุณไชย (ต้นฉบับ)
หลังจากนั้น นายห้างประเสริฐ หวังสันติพร พร้อมทั้งนักจัดรายการวิทยุกระจายเสียง พรชัย ณ วังใหม่ และครูสุรินทร์ ภาคศิริ จึงได้มาพบกับหัวหน้าคณะอุบลพัฒนา อาจารย์อัมพร สง่าจิตร ที่สำนักงานหมอลำจังหวัดขอนแก่น เพื่อมาขอให้ อังคนางค์ คุณไชย แสดงภาพยนตร์รับบทเป็นหมอลำสาว พร้อมกับ สไบแพร บัวสด แสดงร่วมกัน หลังจากที่หัวหน้าหมอลำคณะอุบลพัฒนา อนุญาตให้ทั้งสองแสดงภาพยนตร์เรื่อง บัวลำภู แล้ว อังคนางค์ คุณไชย ก็ได้บันทึกแผ่นเสียง “เพลงอีสานลำเพลิน” และสไบแพร บัวสด ในเพลง “ลำเพลินหมอลำสาว” ซึ่งเป็นที่มาของเพลงลูกทุ่งอีสาน (สุรินทร์ ภาคศิริ, 2557 : 155-161)
อาจกล่าวได้ว่า เพลงลูกทุ่งอีสาน มีพัฒนาการมาจาก “รำโทน” สำหรับ เพลงลูกทุ่งอีสาน หมายถึง เพลงที่ใช้คำร้องเป็นภาษาอีสาน อยู่ในตัวบทเพลงลูกทุ่ง ส่วนเพลงลูกทุ่งหมอลำ คงเกี่ยวข้องกับ คำลำ และวาดลำ (ทำนองลำ) ที่ไปผสมสานอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของบทเพลงลูกทุ่ง ดังนั้นเพลงลูกทุ่งหมอลำพัฒนารูปแบบมาจากลูกทุ่งอีสาน
เพลงลูกทุ่งหมอลำ จากเพลงพื้นบ้านอีสานแพร่กระจายสู่เมืองกรุง อันเนื่องมาจาก โครงสร้างขั้นพื้นฐานทางด้านการคมนาคมขนส่ง เมื่อมีการสร้างทางรถไฟเข้ามายังภาคอีสาน เกิดการพัฒนาพื้นที่ในภาคอีสานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจกิจของประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในภาคอีสานเริ่มขึ้น และหลั่งไหลตามผู้คนที่อพยพโยกย้ายไปขายแรงงาน หรือนายฮ้อยนำสินค้าด้านการเกษตรเข้าไปซื้อขายแลกเปลี่ยนในถิ่นอื่น
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ "ศิลปะและวัฒนธรรมของภาคอีสาน" แพร่กระจายเข้ามาในท้องที่ของภาคกลางได้เร็วยิ่งขึ้น ดังที่ศิลปินพื้นบ้าน หมอลำกลอน เป็นส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปบันทึกแผ่นเสียง เช่น หมอลำบุญเพ็ง ไผ่ผิวไชย หมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข หมอลำเคน ดาเหลา หมอลำคำพา ฤทธิทิศ หมอลำบุญยัง สุภาพ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในคณะสุนทราภิรมย์ ที่ได้ผลักดันหมอลำอีสานให้เป็นที่แพร่หลายในกรุงเทพฯ ด้วยเพลงลูกทุ่งที่เป็นทำนองลำแบบอีสาน ต่อมาในระหว่างปี 2502 – 2503 หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ได้นำทำนองเต้ยโขง มาขับร้องในเพลง ขุ่นลำโขง
ในปี พ.ศ. 2514 อังคนางค์ คุณไชย ได้แสดงภาพยนตร์รับบทเป็นหมอลำสาว และได้บันทึกแผ่นเสียงเพลง “อีสานลำเพลิน” พร้อมด้วย สไบแพร บัวสด ในเพลง “ลำเพลินหมอลำสาว” หลังจากนั้น ความเป็นนางเอกหมอลำได้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากสถานีวิทยุกระจายเสียงได้เผยแพร่ผลงานออกไปทั่วประเทศ (สุรินทร์ ภาคศิริ, 2557 : 160)
นอกจากนั้น เพลงลูกทุ่งหมอลำ ก็โดดเด่นมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปี พ.ศ. 2523 - 2528 เริ่มมีการบันทึกเสียงมากขึ้น ได้การผสมผสานคำร้องทำนองกับลำเพลินเข้าด้วยกันกับเพลงลูกทุ่ง และมีการผสมผสานดนตรีพื้นบ้านกับดนตรีสากล โดยเฉพาะมีการนำเอา “แซกโซโฟน” มาบรรเลง (โซโล่เดี่ยว) ซึ่งที่ผู้นำเอามาบรรเลงบันทึกเสียงเป็นคนแรกคือ “ครูสำราญ บุปผาวาส” และศิลปินอีสานที่เห็นเด่นชัด ในช่วงนี้ คือ ทองมี มาลัย อัลบั้ม “ชุดชมรมแท๊กซี” สนธยา กาฬสินธุ์ อัลบั้ม “ฮักสาวผมเปีย” พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย อัลบั้ม “สาวติ๋มยิ้มบ่หวาน”และ คำเกิ่ง ทองจันทร์ อัลบั้ม “ลำเพลินพลทหารโข่ง” เป็นต้น
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2528-2540 ถือว่าเป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่งหมอลำ ในยุคนี้พบว่า มีการนำใช้วาดลำ (ทำนองลำ) หลากหลายขึ้นเช่น “ลำเพลิน” “เต้ย” “ขอนแก่น” “ลำแพน” มาผสมผสานสลับกับทำนองของ “เพลงลูกทุ่ง” สำหรับการเรียบเรียงเสียงประสาน มีการนำเครื่องดนตรีสากลชิ้นเอกของบทเพลงมาเดี่ยว (Solo) ได้แก่ แซกโซโฟน ออร์แกน กีตาร์ ผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น พิณ แคน โหวด โปงลาง และในการบันทึกเสียงนั้นผลิตเป็นทั้งแผ่นเสียง และเทปคาสเซ็ท (Cassette) ยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็นห้างแผ่นเสียง ของนายห้างมาเป็น ค่ายเทป ศิลปินลูกทุ่งหมอลำยุคนี้ที่โดดเด่น ได้แก่ เย็นจิตร พรเทวี เพลง “สาวดำรำพัน” พรศักดิ์ ส่องแสง เพลง “เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ” เฉลิมพล มาลาคำ เพลง “ตามใจแม่เถิดน้อง” สาธิต ทองจันทร์ เพลง “ปากโกรธใจคิดถึง” สมโภชน์ ดวงสมพงษ์ เพลง “เมียป๋าเพราะซาอุ” รุ่งโรจน์ เพชรธงชัย เพลง “ร้องให้ใส่เดือน” พิมพา พรศิริ เพลง “นํ้าตาเมียซาอุ” เดือนเพ็ญ อำนวยพร เพลง “สาวนาขาดรัก” จินตหรา พูนลาภ เพลง “พลังรัก” ศิริพร อำไพพงษ์ เพลง “โบว์รักสีดำ” และ สมจิตร บ่อทอง เพลง “กุหลาบแดง”
ธุรกิจเพลงลูกทุ่งหมอลำยุคนี้โดดเด่นมาก โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ. 2530 เพลง “เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ” ของ พรศักดิ์ ส่องแสง ซึ่งมียอดขายเทปคาสเซ็ท ถึงหลายล้านตลับ และนำมาบันทึกแผ่นซีดีที่นำมาผลิตซํ้าได้ง่าย (เข้าสู่ยุคเทปผี ซีดีเถื่อน) และเป็นช่วงที่เกิดนายทุนสร้างวงดนตรีให้กับศิลปินลูกทุ่งหมอลำ ที่กล่าวมาทั้งหมดทุกๆ คน ถือว่าเป็นยุคทองของธุรกิจเพลงลูกทุ่งหมอลำ
คิดฮอด (Kid Haud) Bodyslam feat.ศิริพร อำไพพงษ์
สภาพปัจจุบัน มีรูปแบบการพัฒนาที่โดดเด่น คือ การอำนวยการผลิตแนวคิดใหม่ มีการนำทำนองหรือ "วาดลำ” ผสมผสานสลับกับ “ทำนองเพลงร็อค” เมื่อมีการ Featuring ระหว่าง ลูกทุ่งหมอลำ กับ วงเพลงร็อค เช่นเพลง “คิดฮอด” ศิลปินวงร็อค Body-slam featuring ศิลปินลูกทุ่งหมอลำ ศิริพร อำไพพงษ์ อีกทั้งมีการนำเอาเพลงเก่ามาผลิตซํ้า เช่น เพลง “ชะทิงนองนอย” ศิลปินลูกทุ่งรุ่นครู ชาย เมืองสิงห์ featuring ศิลปินลูกทุ่งหมอลำ จินตหรา พูนลาภ
ชะทิงนองนอย : ชาย เมืองสิงห์ feat. จินตหรา พูนลาภ
แม้แต่ดนตรีแดนอีสานใต้อย่าง "กันตรึม" ก็มีการผสมผสานกับดนตรีสมัยใหม่อย่างร็อคได้ไม่ขัดเขิน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็เช่น ดาร์กี้ กันตรึมร็อค นั่นเอง
ดาร์กี้ กันตรึมร็อค - สุดยอดตำนานเพลงอีสานใต้
ข้อมูลบางส่วนจาก : จากเพลงพื้นบ้านอีสานแพร่กระจายเข้าสู่เมืองกรุง โดย จินดา แก่นสมบัติ
เพลงลูกทุ่งและหมอลำ นับเป็นความบันเทิงที่คู่กันกับชีวิตของฅนอีสานอย่างแท้จริง มีศิลปินตัวจริงของชาวอีสานมากหน้าหลายตา ที่เข้าไปครองใจคนฟังทั้งประเทศ ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ ครึกครื้น เนื้อหากินใจ ตรงใจของหลายๆ คน เพราะการพูดอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม สะท้อนการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน
พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ขายรูปร่างหน้าตา ความหล่อเหลา การเป็นดารา หรือปริญญาชั้นสูง แต่พวกเขาขายน้ำเสียงที่ไพเราะ เนื้อหาของเพลงที่ตรงใจใครต่อใครหลายคนนั่นต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นแหบเสน่ห์อย่างหมอลำสาวศิริพร อำไพพงษ์ หรือสาวเสียงพิณ จินตหรา พูนลาภ จะมีสาวสวยบ้างอย่าง น้องฝน ธนสุนทร, ต่าย อรทัย และคนอื่นๆ คนผู้ฮ้ายแท้ๆ หนุ่มบ้านนาก็มีอย่าง บักเถิง มนต์สิทธิ์ คำสร้อย หรือหนุ่มอุดรตัวดำชื่อฝรั่งอย่าง ไมค์ ภิรมย์พร พวกเขาเหล่านี้เป็นขวัญใจของฅนอีสานอย่างแท้จริง ท่ามกลางความชื่นชมของคนไทยทั่วประเทศ
[ ปรับปรุงเนื้อหาใหม่ยาว เลยแยกไปเป็น : ข้อมูลศิลปินลูกทุ่งและหมอลำดัง ]
ภาคอีสาน นับเป็นดินแดนที่ร่ำรวยทางอารยธรรม และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน หนึ่งในวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่นั้นก็คือ นาฏศิลป์และการร่ายรำ เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงความโดดเด่นที่เป็นคนอีสานอย่างแท้จริง ไม่ต้องมีคำอธิบายก็เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า นี่คือการแสดงของชาวอีสาน ซึ่งเรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ด้วยการแต่งกายด้วยผ้าแพรพรรณพื้นเมือง ท่วงทำนองที่สนุกสนานเร้าใจ ดนตรีมีเอกลักษณ์ แม้แต่ชนชาติอื่นเมื่อได้ฟังก็อดที่จะปรบมือ ขยับแข้ง ขยับขาไปตามจังหวะในทันที
กันตรึมมาแล้ว โดย เจน สายใจ
(เจน สายใจ สาวไทยชาวสุรินทร์ ที่เป็นขวัญใจยอดนิยมของชาวกัมพูชา)
การแสดง การละเล่นพื้นเมือง
รวมศิลปินฅนอีสาน
การฟ้อนรำ การเซิ้ง การแสดงในภาคอีสาน
หมวดงานประเพณีพื้นบ้าน
ความรู้ของคนไทยอีสาน
บายศรีสู่ขวัญ
อาหารการกินฅนอีสาน
พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย
ปราชญ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)